บันทึกข้อมูลการชุมนุมของนักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชน ตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2563

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ พร้อมทั้งตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลาสิบปี คล้อยหลังเพียงหนึ่งวันนักศึกษาได้ออกมาเคลื่อนไหวแสดงความไม่เห็นด้วยต่อคำวินิจฉัยดังกล่าว เริ่มด้วยนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และตามมาด้วยสถานศึกษาทั่วประเทศอีกหลายแห่ง นอกจากนี้ยังมีประชาชนทั่วไปและนักศึกษาในประเทศอังกฤษออกมาทำกิจกรรมเคลื่อนไหวร่วมด้วย แม้เริ่มแรกของการชุมนุมนั้นจะเริ่มมาจากการยุบพรรคอนาคตใหม่ แต่ไม่นานบรรดาผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ตกผลึกข้อเรียกร้องที่มากกว่านั้น สถานศึกษาหลายแห่งเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นแนวทางในการออกจากวังวนของรัฐบาล คสช. 

การเรียกร้องของพวกเขาอยู่ภายใต้การจับตาของผู้มีอำนาจ และมีการใช้กฎหมายที่อาจส่งผลกระทบต่อการใช้เสรีภาพเช่น พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มา ‘เตือน’ เหล่านักศึกษาผู้ใช้เสรีภาพ และการคุกคามในรูปแบบอื่นๆ ทั้งจากเจ้าหน้าที่รัฐหรือประชาชนทั่วไป ดังนั้นในฐานะองค์กรที่เก็บรวบรวมข้อมูลเรื่องเสรีภาพการแสดงออกจึงได้จัดทำบันทึกสังเกตการณ์ชุมนุม ข้อมูลที่เรารวบรวมมาจากการสัมภาษณ์ การสังเกตการณ์ของเจ้าหน้าที่ การแจ้งข้อมูลจากผู้ใช้เสรีภาพโดยตรง และการนำเสนอของเครือข่ายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน สื่อมวลชนตามที่เราได้ทำการอ้างอิงไว้ รวมทั้งโพสต์ทางโซเชียลมีเดียที่ผ่านการยืนยันข้อเท็จจริงแล้วในเบื้องต้น โดยสรุปดังนี้

 

22 กุมภาพันธ์ 2563

ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

แฮชแท็ก:
ข้อเสนอ: 

เวลา 17.30 น. บริเวณลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สหภาพนักเรียน นิสิตและนักศึกษาแห่งประเทศไทยจัดกิจกรรม “ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม” สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ เพิกถอนสิทธิการสมัครรับเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลาสิบปี ตั้งแต่เวลา 16.30 น. เริ่มมีประชาชนทยอยมารวมตัวกันที่ลานปรีดี โดยมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบวางกำลังโดยรอบคอยสังเกตการณ์และถ่ายภาพผู้ที่เข้าร่วมชุมนุม ต่อมาตัวแทนสหภาพฯ ผลัดกันปราศรัยถึงเรื่องการยุบพรรคการเมือง ปัญหาเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง จากนั้นจึงร่วมกันจุดเทียนและแยกย้ายกันในเวลา 18.30 น.

ก่อนเริ่มกิจกรรม พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า กองบัญชาการตำรวจนครบาลจัดกำลังตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบดูแลความสงบเรียบร้อย และเตือนผู้จัดกิจกรรมจุดเทียนและผู้เข้าร่วมว่า ขอให้คำนึงถึงการกระทำภายใต้กรอบกฎหมายทุกมิติและไม่ละเมิดกฎหมายบ้านเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พ.ร.บ.ชุมนุมฯ แต่มาตราสามของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ บัญญัติว่า พ.ร.บ.นี้ไม่ใช้บังคับแก่การชุมนุมสาธารณะภายในสถานศึกษา ดังนั้นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมในวันนี้จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เมื่อสอบถามตัวแทนสหภาพฯ ระบุว่า ช่วงเย็นตำรวจจาก สน.ชนะสงครามได้มาพูดคุยโดยบอกว่า ตำรวจไม่มีอำนาจเหนือพื้นที่กิจกรรม และในการพูดคุยไม่มีการสั่งห้ามหรือแสดงคำขอใดๆ

 

23 กุมภาพันธ์ 2563

ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

แฮชแท็ก:
ข้อเสนอ:

มติชนออนไลน์รายงานว่า นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีได้รวมตัวกันเคลื่อนไหวต่อกรณีการยุบพรรคอนาคตใหม่ โดยอ่านแถลงการณ์แสดงความเสียใจและให้กำลังใจต่อทุกคนที่อยากเห็นสังคมประชาธิปไตย ต่อมาไอลอว์ได้รับรายงานว่า วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 ตำรวจไม่ทราบสังกัดโทรศัพท์ไปหานักศึกษาขอรายละเอียดของงาน ถามชื่อผู้เข้าร่วม องค์กรและสังกัด อ้างว่าต้องนำไปรายงานนาย  และไปที่คณะรัฐศาสตร์ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจึงให้ไปพูดคุยกับเอกรินทร์ ต่วนศิริ อาจารย์ประจำคณะ ตำรวจจึงขึ้นไปพบและสอบถามรายละเอียดงาน ระหว่างการพูดคุยตำรวจมีความพยายามถ่ายรูปของเอกรินทร์ไว้ แต่เมื่อเอกรินทร์เห็นจึงขอไม่ให้ถ่ายภาพ ก่อนจะกลับไป

ที่มหาวิทยาลัยบูรพา

แฮชแท็ก: #ขบถบางแสน #บูรพามาแล้ว
ข้อเสนอ:

ที่หน้าตึกคณะรัฐศาสตร์ กลุ่มโกงกางจัดกิจกรรมสืบเนื่องจากการยุบพรรคอนาคตใหม่ มีกิจกรรม เช่น การจุดเทียนกับเขียนป้ายผ้าทวงคืนความอยุติธรรม การปราศรัย มีพูดเรื่องศาลรัฐธรรมนูญ ภายในงานมีตำรวจคอยสังเกตการณ์ประมาณ 20 นาย โดยคอยถ่ายภาพผู้จัดกิจกรรมและผู้เข้าร่วม

 

24 กุมภาพันธ์ 2563

ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แฮชแท็ก: #เสาหลักจะไม่หักอีกต่อไป #จุฬารวมพล
ข้อเสนอ:

เวลา 16.00 น. บริเวณสถานที่จัดกิจกรรมจุฬารวมพล #cuassemble มีตำรวจในเครื่องแบบจาก สน.ปทุมวันห้านายมาวางกำลังสังเกตการณ์ 16.25 น. นิสิตจุฬาฯ ประมาณ 100 คนทยอยมารวมตัวกันที่ลานด้านข้างหอประชุมฯ ขณะที่ตำรวจจาก สน.ปทุมวันยังคงวางกำลังอยู่บริเวณคณะวิศวกรรมศาสตร์ ฝั่งตรงข้ามพื้นที่จัดกิจกรรม เวลา 16.40 น. นิสิตจุฬาฯ เริ่มทำกิจกรรมด้วยการอ่านบทกวีและสลับกันขึ้นพูด มีกิจกรรมเขียนป้ายข้อความแสดงออก ตำรวจในเครื่องแบบยังอยู่ฝั่งตรงข้ามพื้นที่กิจกรรม แต่ในพื้นที่มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไม่น้อยกว่าห้านายคอยสังเกตการณ์ ถ่ายภาพผู้เข้าร่วมกิจกรรม เวลา 18.00 น. ผู้เข้าร่วมได้เคารพธงชาติพร้อมเพรียงกัน จากนั้นร่วมกันจุดเทียนและร้องเพลง Do you hear the people sing? ก่อนจะแยกย้ายกันกลับ

นอกจากนี้หลังการเคารพธงชาติเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้เก็บธงชาติเพื่อรอการนำขึ้นสู่เสาในเช้าวันถัดมา ตัวแทนนิสิตหญิงได้นำธงดำขึ้นสู่เสาธง แต่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเห็นจึงได้ห้ามปราม เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอีกคนหนึ่งได้ถ่ายคลิปวิดีโอเหตุการณ์เอาไว้โดยไม่ได้รับการยินยอมจากนิสิตรายดังกล่าว ต่อมาคลิปดังกล่าวถูกเผยแพร่ผ่านเพจเฟซบุ๊กแห่งหนึ่งและกล่าวในทำนองว่า ตัวแทนนิสิตหญิงรายดังกล่าวย่ำยีธงชาติด้วยการนำธงดำขึ้นสู่เสาธงแทนธงชาติ ทั้งที่จริงธงชาติถูกนำออกไปตั้งแต่เคารพธงชาติเมื่อเวลา 18.00 น. แล้ว ความเข้าใจผิดดังกล่าวทำให้ตัวแทนนิสิตหญิงถูกเข้าใจผิดว่าย่ำยีธงชาติ นำไปสู่การคุกคามความเป็นส่วนตัวและการคุกคามทางเพศผ่านคอมเมนท์บนโลกออนไลน์

ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

แฮชแท็ก: #kuไม่ใช่ขนมหวานราดกะทิ
ข้อเสนอ:

การชุมนุมที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีผู้มาเข้าร่วมประมาณ 1,000 คน พื้นที่การชุมนุมอยู่หน้าหอประชุมใหญ่ฝั่งถนนพหลโยธินโดยตั้งเวทีบริเวณเสาธงหันหน้าไปทางหน้าหอประชุม ผู้ชุมนุมทยอยมาถึงพื้นที่จัดกิจกรรมในเวลาประมาณ 17.30 น. เมื่อผู้นำการชุมนุมเริ่มปราศรัยและทีมผู้จัดงานเริ่มปูป้ายผ้าให้ผู้ร่วมกิจกรรมเขียนข้อความ ผู้ชุมนุมที่น่าจะเป็นนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทยอยกันเข้าไปต่อแถวเพื่อเขียนข้อความบนป้ายผ้าขณะที่ผู้จัดกิจกรรมก็ทยอยผลัดเปลี่ยนกันขึ้นปราศรัย จากการสังเกตการณ์ในที่ชุมนุม มีทั้งเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบเข้ามาถ่ายภาพบรรยากาศในกิจกรรม ในเวลาประมาณ 18.00 น. นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และประชาชนทยอยเข้ามาในพื้นที่จนถนนระหว่างธงชาติกับอาคารหอประชุมเต็มไปด้วยผู้ชุมนุมจนรถไม่สามารถขับผ่านไปมาได้

ระหว่างการชุมนุม ผู้ชุมนุมมีการปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล พูดถึงมรดกของคณะราษฎรที่ถูกลบล้างและพูดถึงทางออกของประเทศที่ต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านกลไก สสร. จากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมจึงประกาศยุติการชุมนุมในเวลาประมาณ 19.00 น. หลังการชุมนุมยังมีผู้ชุมนุมบางส่วนอยู่รอเขียนความรู้สึกบนป้ายผ้าที่ทางผู้จัดเตรียมมาให้

 

25 กุมภาพันธ์ 2563

ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แฮชแท็ก: #ช้างเผือกจะไม่ทน
ข้อเสนอ: เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกและให้ยุบสภา

กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดกิจกรรมแฟลชม็อบ บริเวณหน้าศาลาธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กิจกรรมเริ่มเวลา 17.00 น. คนทยอยเข้าร่วมกิจกรรมตั้งแต่ 16.00 น. มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 1,000 คน มีตำรวจนอกเครื่องแบบแทรกอยู่ในพื้นที่กิจกรรม 20-30 คน ทำการถ่ายรูป และวีดีโอการชุมนุมตลอดเวลา และได้ตั้งกล้องไว้ที่หน้าเวทีการปราศรัยด้วย รูปแบบกิจกรรมมีการสลับกันขึ้นพูดปราศรัยของนักศึกษา โดยมีข้อเสนอของนักศึกษาให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ ในช่วงท้ายมีการเล่นดนตรีก่อนที่จะเลิกงาน โดยกิจกรรมเป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย ทางผู้จัดแจ้งว่าเลิกงานประมาณ 19.00 น. แต่ทางผู้จัดมีปัญหาในการจัดด้านเครื่องเสียงที่เตรียมมากำลังไม่เพียงพอกับคนเข้าร่วมกิจกรรมส่งผลให้ผู้เข้าร่วมที่อยู่ด้านหลังไม่ได้ยินเสียงจากเครื่องเสียง ทำให้ต้องเลิกงานเร็วขึ้น 

ที่มหาวิทยาลัยมหิดล

แฮชแท็ก: #muneedsdemocracy #ศาลายางดกินของหวานหลายสี
ข้อเสนอ:

การชุมนุมที่มหิดลศาลายาจัดที่ลานอาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล ผู้จัดงานนัดหมายเริ่มทำกิจกรรมในเวลา 18.15 น. ก่อนถึงเวลานัดมีรายงานว่าอนุสาวรีย์ของพระบรมราชชนกซึ่งตั้งอยู่ใกล้พื้นที่ลานที่ใช้จัดงานถูกเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยนำผ้าใบสีฟ้ามาคลุมโดยรอบและมีการนำป้าย “อยู่ระหว่างการทำความสะอาด” จากการสอบถามผู้เข้าร่วมกิจกรรมคนหนึ่งได้ความว่าผ้าใบสีฟ้าเพิ่งถูกนำมาติดตั้งในวันที่ทำกิจกรรมแต่ไม่อาจยืนยันว่าถูกติดตั้งก่อนเพราะเหตุใด เกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมครั้งนี้หรือไม่ แต่ทางมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้มีการห้ามใช้พื้นที่ในการชุมนุมแต่อย่างใด

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยมหิดลศาลายาส่วนใหญ่เป็นนักศึกษามหิดลแต่ก็มีบุคคลภายนอกเข้ามาบ้าง จากการประมาณด้วยสายตาผู้เข้าร่วมกิจกรรมน่าจะมีไม่ต่ำกว่า 1,000 คน สังเกตเห็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบที่สวมเสื้อกั๊กตำรวจประมาณห้าคน คอยถ่ายภาพในพื้นที่การชุมนุม และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบอย่างน้อยแปดนาย ยืนประจำการอยู่ภายนอกลานที่ใช้จัดการชุมนุม การชุมนุมที่มหาวิทยาลัยมหิดลใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง ผู้จัดการชุมนุมประกาศยุติการชุมนุมในเวลาประมาณ 19.30 น. เนื้อหาการปราศรัยส่วนใหญ่พูดถึงเรื่องการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญกรณียุบพรรคอนาคตใหม่ที่มีความน่ากังขา

ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

แฮชแท็ก: #BUกูไม่ใช่สลิ่ม
ข้อเสนอ:

มติชนออนไลน์รายงานว่า นักศึกษาออกมาร่วมกิจกรรม มีการปราศรัยในประเด็นการเมือง ร่วมกันยืนไว้อาลัยให้กับประชาธิปไตย และเขียนป้ายผ้าข้อความ

 

26 กุมภาพันธ์ 2563

ที่โรงเรียนสตรีวิทยา

แฮชแท็ก: #สวที่อยู่ข้างประชาธิปไตย
ข้อเสนอ:

กลุ่มสวที่อยู่ข้างประชาธิปไตย จัดกิจกรรมแฟลชม็อบภายในโรงเรียนสตรีวิทยา โดยนัดหมายเวลา 15.00 น. แต่ก่อนเวลานัดหมายมีรายงานว่า ตำรวจเข้าไปในพื้นที่โรงเรียน และมีนักเรียนที่น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมนี้ถูกครูเรียกไปพูดคุยแต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าพูดคุยเรื่องอะไร เวลาต่อมาผู้จัดกิจกรรมต้องย้ายออกมาจัดนอกพื้นที่โรงเรียนเพราะทางโรงเรียนไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่โดยให้เหตุผลว่า โรงเรียนเป็นสถานที่ราชการไม่ควรเลือกข้าง และไม่ใช่ว่าทุกคนในโรงเรียนจะเห็นด้วยกับผู้จัดกิจกรรม

เวลาประมาณ 15.00 น. ซึ่งเป็นเวลาที่มีการนัดหมายทำกิจกรรม มีรายงานว่าตำรวจในเครื่องแบบสองนาย และนอกเครื่องแบบอีกห้านายเข้าไปในพื้นที่โรงเรียนและคุยกับครูท่านหนึ่ง หลังจากพูดคุยเสร็จตำรวจนอกเครื่องแบบชุดดังกล่าวมาประจำการบริเวณทางเข้าออก และมีครูมายืนบอกศิษย์เก่าและประชาชนที่ต้องการมาร่วมงานว่าไม่มีการจัดกิจกรรมแล้ว เวลาประมาณ 15.10 น. นักเรียนที่ประสงค์จะทำกิจกรรมประมาณ 20-30 คน เดินออกมาชูป้ายที่นอกโรงเรียนเพื่อแสดงออกซึ่งจุดยืนของพวกเขา โดยเริ่มจากการยืนถือป้ายบริเวณใกล้ๆ ป้ายโรงเรียนก่อนจะย้ายมายืนหันหลังให้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อให้สื่อมวลชนถ่ายภาพ

ระหว่างที่มีการทำกิจกรรมมีเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจนอกเครื่องแบบประมาณสิบนาย มาคอยถ่ายภาพผู้ร่วมกิจกรรมอยู่ตลอดเวลา กิจกรรมดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยก่อนจะยุติในเวลาประมาณ 15.40 น. จากนั้นนักเรียนบางส่วนเดินทางไปร่วมกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยศิลปากรโดยเดินทางไปแบบส่วนตัวตามความสมัครใจ มีรายงานเพิ่มเติมว่า ตำรวจนอกเครื่องแบบเดินติดตามนักเรียนไปที่มหาวิทยาลัยศิลปากรด้วย พร้อมทั้งพยายามพูดคุยสอบถามข้อมูลกับนักเรียน

ที่โรงเรียนเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี

แฮชแท็ก:
ข้อเสนอ:

ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อว่า ว่าที่ ร.ต. ฉัตรชัย แก้วคำปอด รายงานว่า นักเรียนโรงเรียนเดชอุดมออกมาแสดงออกให้กำลังใจพรรคอนาคตใหม่และต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ เดิมนักเรียนจะทำกิจกรรมบนสะพานลอยหน้าโรงเรียน แต่ตำรวจห้ามไม่ให้ขึ้นไปทำกิจกรรม และโรงเรียนได้ปิดประตูทุกด้าน ทำให้นักเรียนต้องปีนรั้วออกมาจากโรงเรียนเพื่อทำกิจกรรม

ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ

แฮชแท็ก: #วังท่าพระไม่สายลมแสงแดด
ข้อเสนอ: ให้มีการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.), ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และให้ประชาชนลงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญใหม่

กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากรจัดกิจกรรม #วังท่าพระไม่สายลมแสงแดด ที่บริเวณลาน อ.ศิลป์ พีระศรี มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตวังท่าพระ กิจกรรมเริ่มเวลาประมาณ 17.20 น. มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 150 คน ในงานยังมีกลุ่มนักเรียนสตรีวิทยาที่จัดกิจกรรม #สวที่อยู่ข้างประชาธิปไตย มาร่วมขึ้นปราศรัยด้วย และมีตำรวจ ทหาร นอกเครื่องแบบแทรกอยู่ในงานประมาณ 20 คน ทำการถ่ายรูปและวิดีโอผู้เข้าร่วมกิจกรรม รวมไปถึงตั้งกล้องหน้าเวทีปราศรัยด้วย ส่วนเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยก็เข้ามาทำการถ่ายรูปผู้เข้าร่วมกิจกรรมเช่นกัน

รูปแบบกิจกรรมมีการสลับกันขึ้นพูดปราศรัยของนักศึกษาศิลปากร สลับกับการอ่านกวี และช่วงสุดท้ายมีการร้องเพลง Do you hear the people sing? ก่อนที่กิจกรรมจะสิ้นสุดลงอย่างสงบเรียบร้อย ในเวลาประมาณ 19.00 น. ข้อเสนอของกลุ่มผู้จัดได้แก่ หนึ่ง ให้มีการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) สอง ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ สาม ให้ประชาชนลงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญใหม่

ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

แฮชแท็ก: #utccเรือใบไม่ใช่เรือดำน้ำ #ลูกแม่ไทรไม่เอาเผด็จการ
ข้อเสนอ:

การชุมนุมที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจัดที่สนามหญ้าหน้าอาคาร 24 (อาคารเรือใบ) มีนักศึกษามาร่วมกิจกรรมประมาณ 200 – 300 คน กิจกรรมใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง จากการสังเกตมีบุคคลที่น่าจะเป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบประมาณสิบนาย กระจายตัวบันทึกภาพและวิดีโอการปราศรัย กิจกรรมที่มหาวิทยาลัยหอการค้ามีเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยคนหนึ่งมาคอยดูแลและประสานงานกับผู้จัดกิจกรรมตลอดเวลาเพื่อคอยอำนวยความสะดวก กิจกรรมที่นี่นอกจากจะมีนักศึกษาปัจจุบันขึ้นปราศรัยแล้วยังมีศิษย์เก่าอีกสองคนที่มาร่วมการปราศรัยด้วย เนื้อหาการปราศรัยที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การยึดอำนาจและความล้มเหลวของรัฐบาลโดยเฉพาะนโยบายทางเศรษฐกิจ กิจกรรมใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงผู้จัดกิจกรรมก็ประกาศยุติการชุมนุม การชุมนุมที่นี่ผู้จัดเพิ่งประกาศจัดกิจกรรมบนเฟซบุ๊กหนึ่งคืนก่อนกิจกรรม ผู้จัดบอกด้วยว่าไม่คาดคิดว่าคนจะมาร่วมเยอะขนาดนี้

ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

แฮชแท็ก:
ข้อเสนอ:

เวลาประมาณ 18.00 น. ที่ ลานหน้าเสาธงตึกคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานี มีการนัดรวมตัวกันของกลุ่มนักศึกษาและคนรักประชาธิปไตยในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวนกว่า 200 คน โดยกิจกรรมเริ่มต้นด้วยการร้องเคารพเพลงชาติเวลา 18.00 น. ต่อด้วยการเล่นดนตรีของนักศึกษา มีการขึ้นปราศรัยของนักศึกษา เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการขาดความชอบธรรมของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่ทำรัฐประหารเข้ามา โดยกล่าวถึงเนื้อหาและความหมายของการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ซึ่งขัดต่อแนวทางการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

กิจกรรมวันนี้ยังมีให้เขียนป้ายผ้าเพื่อแสดงความรู้สึกเกี่ยวกับประชาธิปไตยและเหตุการณ์ทางการเมือง และกิจกรรมสำคัญของงาน คือ การอ่านแถลงการณ์ของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญที่แสดงถึงความห่วงกังวลเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่จะส่งผลต่อกระบวนการยุติธรรมโดยรวม ซึ่งเป็นการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่ร่วมกันก่อตั้งพรรคการเมือง เพื่อแสดงเจตจำนงทางการเมืองตามแนวทางระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทั้งยังขัดต่อหลักการสำคัญต่างๆ เช่น หลักความได้สัดส่วนและหลักนิติธรรม เป็นต้น อีกทั้งพรรคการเมืองไม่ควรจะถูกยุบได้โดยง่าย เพราะเป็นช่องทางหลักของการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ซึ่งการยุบพรรคการเมืองได้โดยง่าย จะส่งผลต่อการแสดงเจตจำนงของประชาชนโดยรวมซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต

โดยภายหลังจากการอ่านแถลงการณ์ นักศึกษาและประชาชนทั้งหมดกว่า 200 คน ได้ร่วมกันเปิดแฟลชมือถือเพื่อไล่ความมืดมิดแห่งยุคสมัย พร้อมร่วมกันร้องเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา, เพลงดอกไม้ และปิดท้ายด้วยการปิดแฟลช ยืนตรงอย่างสงบและร่วมกันร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี เป็นเพลงสุดท้ายก่อนจบการชุมนุม

ทั้งนี้ตลอดทั้งงานมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบกว่าสิบนายเข้าติดตามและถ่ายรูปตลอดทั้งงาน อีกทั้งมีการขอความร่วมมือไม่ให้นำสิ่งที่มีเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเข้ามาภายในที่ชุมนุม เพื่อไม่ให้เกิดภาพของความไม่เป็นกลางทางการเมือง และจะสร้างความขัดแย้งทางการเมืองได้ และทั้งนี้ตลอดการจัดกิจกรรม ไม่มีการใช้เครื่องขยายเสียง โดยนักศึกษาที่จัดกิจกรรมเล่าให้ฟังว่า เป็นเงื่อนไขของทางมหาวิทยาลัย

ที่มหาวิทยาลัยบูรพา

แฮชแท็ก: #ทีมลูกระนาดอยากจะฟาดบ้างแม่
ข้อเสนอ: 

ก่อนหน้าการจัดกิจกรรมนิสิตได้แปะป้ายประชาสัมพันธ์ในมหาวิทยาลัย แต่ปรากฏว่า มีการดึงป้ายประชาสัมพันธ์ออกทั้งหมด วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 เวลาประมาณ 12.00 น. มีรถตู้ตำรวจมาจอดที่อาคารในมหาวิทยาลัย เวลา 15.40 น. เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยพูดคุยกับผู้จัดกิจกรรม ขณะที่มีสภานิสิตส่งคณะทำงานและตำรวจได้ส่งฝ่ายสืบสวนจาก สภ.แสนสุข มาสังเกตการณ์ชุมนุมด้วย ต่อมามีผู้เข้าร่วมประมาณ 700 คน กิจกรรมเสร็จสิ้นในเวลา 19.30 น.

ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร

แฮชแท็ก: #มศวขอมีจุดยืน
ข้อเสนอ: การแก้ไขหลักสูตรการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย

ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า นิสิตรวมตัวกันจัดกิจกรรมแฟลชม็อบแสดงออกทางการเมือง ร่วมกันแสดงพลังเชิงสัญลักษณ์ เปิดแสงไฟจากโทรศัพท์มือถือเรียกร้องความยุติธรรมให้กับพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญพิพากษายุบพรรคและตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลาสิบปี รวมทั้งเรียกร้องให้มีการแก้ไขหลักสูตรของมหาวิทยาลัย ด้วยการยกเลิกกิจกรรม 100 ชั่วโมงจิตอาสา ยกเลิกกลุ่มวิชาคนดี อาทิ วิชาการศึกษาทั่วไปเพื่อพัฒนามนุษย์, วิชามนุษย์ในสังคมแห่งการเรียนรู้ ฯลฯ ยกเลิกระบบโซตัสในมหาวิทยาลัย

ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต

แฮชแท็ก: #ธรรมศาสตร์และการชุมนุม
ข้อเสนอ:

ประชาไทรายงานว่า นักศึกษามากกว่า 1,000 คนรวมตัวกันที่ลานพญานาค กิจกรรมมีการผลัดเปลี่ยนปราศรัยในประเด็นต่างๆ หนึ่งในนั้นคือการประณามอนาวิล รัตนสถาพร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ที่ย้ายไปอยู่พรรคภูมิใจไทย เสียงจำนวนไม่น้อยที่สนับสนุนอนาวิลนั้นมาจากนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

แฮชแท็ก:
ข้อเสนอ: ให้เลือกตั้งสมาชิก สสร.เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

มติชนออนไลน์รายงานว่า นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ประมาณ 200 คนร่วมกันจัดกิจกรรมแฟลชม็อบจากรูสะมิแล ไม่แคร์เผด็จการ มีการเขียนข้อความลงบนป้ายผ้า การปราศรัยของนักศึกษาและการอ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการร่างรัฐธรรมนูญ เปิดให้มีการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ให้ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระที่ได้รับการแต่งตั้งหรือขยายระยะเวลาการดำรงตำแหน่งจาก คสช.ให้ลาออก และให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง

ที่มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

แฮชแท็ก: #หนังสือก็ต้องอ่านของหวานไม่ชอบกิน
ข้อเสนอ:

เดอะสแตนดาร์ดรายงานว่า เวลา 17.00 น. นักศึกษารวมตัวกันจัดกิจกรรม มีการเขียนข้อความแสดงความเห็นทางการเมืองลงบนป้ายผ้าขนาดใหญ่ โพสต์อิท และถือแผ่นป้ายที่มีหลากหลายข้อความ การแสดงจุดยืนทางการเมืองในครั้งนี้เป็นการต่อต้านความไม่เป็นประชาธิปไตย สืบเนื่องมาจากหลังศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

จากนั้นนักศึกษาได้ยืนสงบนิ่งหนึ่งนาที เพื่อไว้อาลัยให้กับวีรชนผู้สูญเสียจากการต่อสู้ทางการเมืองในอดีต และร่วมกันร้องเพลง “เพื่อมวลชน” โดยมีคุณลุงที่ขายเฉาก๊วยในมหาวิทยาลัยมาร่วมร้องนำ ซึ่งคุณลุงท่านนี้เป็นหนึ่งในนักศึกษาที่เคยเข้าร่วมเหตุการณ์ 14 ตุลา

ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม

แฮชแท็ก: #ราชภัฏอยากงัดกับสลิ่ม
ข้อเสนอ:

นักศึกษาประมาณ 50 คนรวมกันทำกิจกรรมแสดงออกด้วยการชูป้ายผ้าที่เขียนข้อความ เช่น ไม่เอาเผด็จการ พร้อมทั้งแสดงออกเชิงสัญลักษณ์สามนิ้ว โดยใช้เวลาเพียง 15 นาทีจึงแยกย้าย ระบุว่า ทางมหาวิทยาลัยไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่แสดงออกทางการเมือง

ที่จังหวัดเชียงราย

แฮชแท็ก:
ข้อเสนอ:

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า มีประชาชนสวมใส่เสื้อดำรวมตัวกันที่ลาน ร. 5 หน้าศาลากลางหลังเก่า มีการปราศรัย เขียนป้ายข้อความแสดงออก กิจกรรมนี้ผู้จัดมีการแจ้งการชุมนุมอย่างถูกต้องตามกฎหมายต่อพันตำรวจเอกกิตติพงษ์ สุขวัฒนพันธ์ ผู้กำกับการ สภ.เมืองเชียงราย เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และต่อมา พ.ต.อ.กิตติพงษ์ได้ทำหนังสือสรุปสาระสำคัญของการชุมนุมสาธารณะกลับมาให้ผู้แจ้งการชุมนุมโดยมีการกำหนดเงื่อนไขของการชุมนุมจำนวนหกข้อ ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องการใช้เครื่องขยายเสียง

ผู้จัดกิจกรรมจึงเห็นว่า ต้องดำเนินการขอใช้เครื่องขยายเสียงกับเทศบาลนครเชียงราย ก่อนการเริ่มชุมนุม จึงไปยังเทศบาลนครเชียงราย เพื่อแจ้งขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง และเจ้าหน้าที่เทศบาลนครเชียงรายก็ได้นำเอกสารการขออนุญาตดังกล่าวให้กรอก แต่ส่วนหนึ่งของเอกสารดังกล่าวกลับต้องมีการให้เจ้าหน้าตำรวจในท้องที่รับผิดชอบลงชื่อรับทราบด้วย แต่เมื่อผู้จัดพยายามติดต่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจของ สภ.เมืองเชียงรายลงชื่อรับทราบในเอกสารดังกล่าว ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้พยายามบ่ายเบี่ยงไม่ยอมลงชื่อในเอกสาร จนใกล้เวลาเริ่มกิจกรรม ผู้จัดจึงตัดสินใจจัดกิจกรรมทั้งที่การแจ้งขออนุญาตใช้เครื่องเสียงยังไม่แล้วเสร็จ

ต่อมาวันที่ 3 มีนาคม 2563 ผู้จัดได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ตำรวจให้เดินทางไปยัง สภ.เมืองเชียงราย เพื่อจ่ายค่าปรับจากข้อกล่าวหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 เปรียบเทียบปรับเป็นเงินจำนวน 200 บาท

ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร สนามจันทร์

แฮชแท็ก: #ศิลปากรขอมีซีน
ข้อเสนอ:

นักศึกษากว่า 500 คน จัดเวทีปราศรัยและแสดงพลังภายใต้กิจกรรมศิลปากรเสรีเพื่อประชาธิปไตย ออกแถลงการณ์และจัดตั้งภาคีนักศึกษาศิลปากรเพื่อเดินหน้าสังคมประชาธิปไตยเรียกร้องสังคมที่เป็นธรรม ต่อต้านความอยุติธรรม ชูป้ายขับไล่พลเอกประยุทธ์ ยืนไว้อาลัยเป็นเวลา 88 วินาที ก่อนจะสลายตัว

ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตเพชรบุรี

แฮชแท็ก: #ศิลปากรขอมีซีน
ข้อเสนอ:

เมเนเจอร์ออนไลน์รายงานว่า นิสิต นักศึกษากว่า 150 คน นัดรวมตัวกันบริเวณสวนออกกำลังกายภายในมหาวิทยาลัย พร้อมทำกิจกรรมศิลปากรเสรีเพื่อประชาธิปไตย มีการชูป้ายข้อความแสดงออกพร้อมเปิดไฟแฟลชโทรศัพท์เป็นเวลา 30 วินาที ชูนิ้วมือสามนิ้วเป็นเวลา 30 วินาที เพื่อร่วมกันแสดงออกถึงจุดยืนที่ต้องการประชาธิปไตย โดยมีเจ้าหน้าที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดเพชรบุรี ตำรวจนครบาล สืบสวนจังหวัดเพชรบุรี ฝ่ายปกครองอำเภอชะอำ สถานีตำรวจภูธรชะอำ เข้าร่วมสังเกตการณ์ 20 นาย

ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น

แฮชแท็ก: #มขพอกันที
ข้อเสนอ:

ประชาไทรายงานว่า นักศึกษาและประชาชนกว่า 2,000 คน รวมตัวแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ “มข.พอกันที” นำรถแห่มาตั้งเป็นจุดศูนย์กลางติดป้ายข้อความว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” มีนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษาหรือ “ไผ่ ดาวดิน” นักเคลื่อนไหวทางการเมืองพร้อมเพื่อนพ้อง มาร่วมแสดงดนตรี ไผ่กล่าวว่า ทุกคนต่างหมดความอดทนกับรัฐบาลกลั่นแกล้งพรรคการเมืองและประชาชน จนต้องออกมาแสดงจุดยืนจนเกิดแฮชแท็กคำว่า “มข.พอกันที ยึดมั่นเชิดชูเสรี สิทธิที่เราใฝ่ฝัน”

ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

แฮชแท็ก:
ข้อเสนอ:

ประชาไทรายงานว่า นักศึกษาจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง ‘คนยังยืนโดดเด่นโดยท้าทาย’ ที่บริเวณลานไทร ใกล้กับโรงอาหารกิจกรรมนักศึกษา โดยมีนักศึกษาและคณะอาจารย์ร่วมกิจกรรมกว่า 500 คน ภายในกิจกรรมมีการเขียนข้อความแสดงความคิดเห็นถึงรัฐบาล พร้อมทั้งชูป้ายต่างๆ เช่น งดกินของหวานหลากสี, อหอต. และประเทศนี้เป็นของราษฎร เป็นต้น รวมถึงมีนักเรียนมัธยมจากโรงเรียนแห่งหนึ่งในภาคใต้ ขึ้นร่วมปราศรัยในกิจกรรมดังกล่าวอีกด้วย

 

27 กุมภาพันธ์ 2563

ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

แฮชแท็ก: #เกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ
ข้อเสนอ: รัฐบาลที่มาจากเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง

เวลา 8.30 น. มีการจัดกิจกรรมแฟลชม็อบเกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ โดยมีนักเรียนเข้าร่วมเต็มลานประตูทางเข้า มีตำรวจมาดูแลพื้นที่ราวหกนาย และตำรวจนอกเครื่องแบบอีกจำนวนหนึ่ง นักเรียนได้ผลัดกันกล่าวปราศรัยโดยพูดถึงสิทธิที่จะมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนโดยอายุและการศึกษาไม่อาจขัดขวาง และเชิญชวนให้เยาวชนลุกขึ้นมาส่งเสียง ร่วมกำหนดอนาคตของตนเอง นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงบทบาทของโรงเรียนที่ไม่อาจแยกขาดจาการเมือง และกล่าวถึงรุ่นพี่อย่างจิตร ภูมิศักดิ์ ฯลฯ รวมถึงการไปร่วมเคลื่อนไหวตั้งแต่สมัยพันธมิตร กปปส. ดังนั้นพวกเขาจึงยิ่งมีความชอบธรรมที่จะเคลื่อนไหวในฐานะนักเรียนเตรียมอุดมฯ สำหรับจุดประสงค์สำคัญคือ การเรียกร้องให้บ้านเมืองมีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ไม่ใช่รัฐบาลที่มาจากรัฐธรรมนูญที่บิดเบี้ยว นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมให้นักเรียนร่วมกันเขียนข้อความลงกระดาษและป้ายผ้า

ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาเขตพายัพ (มทร.เชียงใหม่)

แฮชแท็ก: #ตีนดอยjoinชุมนุม
ข้อเสนอ: ให้นายกรัฐมนตรีลาออกและยุบสภา

กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาเขตพายัพ  (มทร.เชียงใหม่) จัดกิจกรรม #ตีนดอยjoinชุมนุม บริเวณสนามบาสในมหาวิทยาลัย กิจกรรมเริ่มเวลาประมาณ 17.00 น. มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 300-400 คน เป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่บางส่วนด้วย และมีตำรวจนอกเครื่องแบบประมาณ 20 คน ถ่ายรูปและวิดีโอตลอดกิจกรรม และมีอาจารย์มายืนดู แล้วให้ รปภ.ของมหาวิทยาลัยถ่ายรูป และถ่ายวิดีโอนักศึกษาด้วย

รูปแบบกิจกรรมเป็นการปราศรัยของนักศึกษา มทร.เชียงใหม่ เกี่ยวกับความไม่ชอบธรรมของรัฐบาล และศาลรัฐธรรมนูญ มีข้อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก และให้ทำการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ กิจกรรมสิ้นสุดลงอย่างสงบเรียบร้อยในเวลาประมาณ 18.00 น. ผู้จัดกิจกรรมรายงานว่า ก่อนเริ่มจัดกิจกรรมว่าอาจารย์เรียกผู้จัดเข้าไปคุย กำชับเรื่องเวลาในการจัดไม่ให้ยืดยาว, ระวังคำหยาบคายในการปราศรัย, ให้เน้นผู้ร่วมกิจกรรมเป็นนักศึกษาใน มทร.เชียงใหม่ และแจ้งกับผู้จัดว่า ทางอาจารย์ได้ประสานกับทางตำรวจไว้แล้วเกี่ยวกับงานดังกล่าว

ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

แฮชแท็ก: #ศาลาวีรชนจะไม่ใช่ที่หลบฝนอีกต่อไป
ข้อเสนอ:

เวลา 17.00 น. นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีทยอยมารวมตัวกันที่บริเวณศาลาวีรชน โดยมีการขอให้ผู้เข้าร่วมล้างมือด้วยแอลกอฮอล์และใส่แมสก์เพื่อป้องกันโรคด้วย ท่ามกลางการสังเกตการณ์ของเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไม่น้อยกว่าสิบนาย ซึ่งคอยถ่ายภาพบรรยากาศกิจกรรม เอกสารที่ผู้จัดกิจกรรมแจกต่อผู้เข้าร่วม ต่อมาเวลา 17.30 น. ตำรวจในเครื่องแบบสี่นายได้เข้าพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยและกลับออกไปโดยไม่ได้เข้าไปในพื้นที่จัดกิจกรรม

กิจกรรมเริ่มขึ้นในเวลา 17.30 น. ผู้จัดกิจกรรมเริ่มปราศรัยด้วยเรื่อง 14 ตุลา 2516 ตอนหนึ่งได้กล่าวถึงสมพงษ์ พลอยเรืองรัศมี นักศึกษาที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ 14 ตุลา อันเป็นที่มาของศาลาวีรชน จากนั้นจึงผลัดเปลี่ยนกันปราศรัย เช่น เรื่องการบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เสมอภาคเท่าเทียมกัน การละเมิดสิทธิมนุษยชนและปัญหาเศรษฐกิจ รวมทั้งแสดงความต้องการที่นำพาประเทศกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ต่อมาเวลา 19.00 น. ผู้เข้าร่วมได้ร่วมกันร้องเพลงแสงดาวแห่งศรัทธาของจิตร ภูมิศักดิ์ พร้อมเปิดแฟลชจากโทรศัพท์มือถือไปด้วย หลังจากนั้นจึงแยกย้ายกลับบ้านด้วยความเรียบร้อย

ที่มหาวิทยาลัยศรีปทุม

แฮชแท็ก: #spuไม่กล้าขยับอยู่ใกล้ราบ11 #บัวบานต่อต้านรัฐบาลโง่
ข้อเสนอ:

การชุมนุมที่มหาวิทยาลัยศรีปทุมมีผู้เข้าร่วมประมาณ 100 คน กิจกรรมเริ่มเวลา 17.00 น. มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาคอยสังเกตการณ์และถ่ายรูปประมาณสิบนาย การปราศรัยส่วนใหญ่พูดเรื่องการยุบพรรคและปัญหาเศรษฐกิจ ผู้ที่มาปราศรัยมีนายแพทย์ทศพร เสรีรักษ์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.แพร่ พรรคไทยรักษาชาติ มีศิษย์เก่าศรีปทุมสองคน และนักศึกษาปัจจุบันสองคน กิจกรรมที่นี่ต่างจากที่อื่นคือไม่มีการเปิดแฟลช กิจกรรมเสร็จสิ้นในเวลาประมาณ 18.30 น.

ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี

แฮชแท็ก:
ข้อเสนอ:

กลุ่มนักศึกษาจำนวนกว่า 50 คนรวมตัวกันทำกิจกรรมแฟลชม็อบ ภายในกิจกรรมได้จัดให้มีการเขียนข้อความเพื่อแสดงออกบนป้ายผ้าและกระดาษเอสี่ โดยมีกฎคือไม่เขียนข้อความที่ดูหมิ่นสร้างความเสียหายต่อผู้อื่น ตลอดการจัดกิจกรรมมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายมั่นคงกว่าสิบคนเข้ามาในพื้นที่จัดกิจกรรม ถ่ายภาพผู้เข้าร่วม ยืนประชิดกับผู้ที่เขียนข้อความบนป้ายผ้าและกระดาษเอสี่และติดตามการจัดกิจกรรมอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งยังได้มีการขอชื่อ นามสกุลจริง และเบอร์โทรของผู้เข้าร่วม

ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร

แฮชแท็ก: #เด็กSNRUร่วมสู้อยุติธรรม
ข้อเสนอ:

กิจกรรมเริ่มในเวลา 17.00 น. มีตำรวจในเครื่องแบบสามนายเข้ามาขอถ่ายภาพกับผู้จัดกิจกรรม ระหว่างกิจกรรม โดยมีตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบเข้าตรวจสอบกิจกรรม ถ่ายภาพ และตรวจสอบป้ายที่นักศึกษาจัดทำขึ้น แต่ไม่ได้ขัดขวาง

ที่มหาวิทยาลัยนครพนม

แฮชแท็ก: #อิงโขงไม่อิงเผด็จการ
ข้อเสนอ:

กิจกรรมดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย ท่ามกลางการสังเกตการณ์ของตำรวจสันติบาล ก่อนหน้าวันจัดกิจกรรมมีทหารจาก กอ.รมน.จังหวัดเข้ามาที่มหาวิทยาลัยเพื่อพูดคุยกับอาจารย์ด้วย ตอนแรกไม่แจ้งว่ามาจาก กอ.รมน. แต่บอกว่าเป็นผู้ใหญ่บ้านและแจ้งสถานะที่แท้จริงต่ออาจารย์ในภายหลัง

ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลำปาง

แฮชแท็ก: #มธศูนย์ป่าปงเกลียดเผด็จการ
ข้อเสนอ:

เวลาประมาณ 17.00 น. นักศึกษารวมตัวกันประมาณ 200 คน มีกิจกรรมให้ผู้เข้าร่วมเขียนข้อความบนกระดาษและนำไปแปะบนกระดานที่จัดไว้ให้ มีตำรวจนอกเครื่องแบบคอยสังเกตการณ์โดยรอบ จากนั้นตัวแทนนักศึกษาได้ผลัดกันปราศรัย หลังจากนั้นในเวลา 18.30 น. จึงร่วมกันร้องเพลง เปิดแฟลชจากโทรศัพท์มือถือ และแยกย้ายกันด้วยความสงบเรียบร้อย

ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศรีราชา

แฮชแท็ก: #KUหน้าทะเลหลังเขาไม่เอาลุง
ข้อเสนอ:

ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า นิสิตประมาณ 500 คนรวมตัวกันจัดกิจกรรมแฟลชม็อบในมหาวิทยาลัย โดยมีพันตำรวจเอกประสงค์ ศิริทิพย์วาณิชย์ ผู้กำกับการ สภ.แหลมฉบัง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สืบสวนและนริศรา ทิพยางกูร ปลัดฝ่ายความมั่นคง อำเภอศรีราชา และเจ้าหน้าที่อาสาสมัครศรีราชา วางกำลังสังเกตการณ์ ภายในงานมีการปราศรัยและเขียนป้ายผ้าแสดงออก มีการแสดงสัญลักษณ์สามนิ้ว ไม่เอาเผด็จการ

ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง

แฮชแท็ก: #ลูกพ่อขุนไม่รับใช้เผด็จการ
ข้อเสนอ:

ประชาไทรายงานว่า นักศึกษาและประชาชนรวมตัวที่ลานพ่อขุนมหาวิทยาลัยรามคำแหง บนเวทีปราศรัย มีการหยิบยกหลายประเด็นตั้งแต่การเมืองในสภา เรื่องแหวนและนาฬิกาของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ กรณีประวัติเกี่ยวข้องกับยาเสพติดของธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พันตำรวจเอกเลิศศักดิ์ เขียมทรัพย์ ผู้กำกับการ สน. หัวหมาก ระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจมาวันนี้เพื่อนำกำลังมาดูแลความเรียบร้อยและเมื่อถามว่านำเจ้าหน้าที่ตำรวจมากี่นาย พันตำรวจเอกเลิศศักดิ์ไม่ตอบจำนวนเพียงแต่ตอบว่า แฝงๆ มาเพราะกลัวว่าจะมีมือที่สาม

ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่

แฮชแท็ก: #ฝุ่น6ล้านหรือจะสู้ท่าน9เสียง
ข้อเสนอ:

มติชนออนไลน์รายงานว่า เวลา 17.00 น. มีการรวมตัวของกลุ่มนักศึกษา ผลัดกันปราศรัย ตอนหนึ่งมีการเรียกร้องประชาธิปไตย อำนาจเป็นของประชาชน

ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

แฮชแท็ก: #ถึงจะอยู่ไกลขอส่งใจที่ลานแปดเหลี่ยม
ข้อเสนอ: ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

นิสิตรวมตัวชุมนุมแสดงจุดยืนทางการเมือง ตัวแทนนิสิตผลัดเปลี่ยนกันปราศรัย ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเขียนข้อความลงบนกระดาษในทำนองวิพากษ์วิจารณ์และเสียดสีทางการเมือง โดยมีข้อเรียกร้องให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง

ที่มหาวิทยาลัยรังสิต

แฮชแท็ก: #รังสิตขับไล่เผด็จการ #บลูบานเย็นไม่ได้เป็นขนมหวาน
ข้อเสนอ:

ประชาไทรายงานว่า มหาวิทยาลัยรังสิต กลุ่มรังสิตพะยอมเก๋า จัดชุมนุม “รังสิตขับไล่เผด็จการ” ที่ลานหลังพระศรีศาสดา มหาวิทยาลัยรังสิต โดยมีนักศึกษาหลายร้อยคนเข้าร่วมกิจกรรมการชุมนุม

ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

แฮชแท็ก: #สวนสุนันทาไม่เป็นขี้ข้าเผด็จการ
ข้อเสนอ:

ที่มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

แฮชแท็ก: #อ่านหนังสือรื้อเผด็จการ
ข้อเสนอ:

ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ศาลายา

แฮชแท็ก:
ข้อเสนอ:

 

28 กุมภาพันธ์ 2563

ที่โรงเรียนศึกษานารี

แฮชแท็ก: #ศอนอไม่พอใจเผด็จการ
ข้อเสนอ:

เวลา 10.00 น. นักเรียนศึกษานารีประมาณ 30 คน รวมตัวกันทำกิจกรรมแฟลชม็อบที่สวนหย่อมหน้าโรงเรียน เดิมนักเรียนนัดรวมตัวกันที่สนามภายในโรงเรียนแต่เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้สถานที่จึงต้องออกมาที่สวนหย่อมแทน นักเรียนคนหนึ่งแจ้งว่า ช่วงนี้อยู่ระหว่างการปิดเทอม เมื่อมาถึงก็ไม่สามารถเข้าไปภายในโรงเรียนได้ พื้นที่นัดหมายเดิมก็มีเจ้าหน้าที่เข้ามาทำความสะอาด ผู้จัดกิจกรรมเริ่มต้นพูดคุยกับผู้เข้าร่วม มีการปราศรัย อ่านกลอน และเขียนข้อความแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ในการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน ผู้จัดกิจกรรมกล่าวว่า การยุบพรรคอนาคตใหม่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอออกมาแสดงออกในวันนี้ อีกส่วนหนึ่งคือสถานการณ์เศรษฐกิจการเมืองตอนนี้ที่ย่ำแย่ และย้ำว่า “นักเรียนรู้ค่ะ เขาไม่ได้โง่”

ระหว่างกิจกรรมมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไม่ต่ำกว่า 10 นายคอยสังเกตการณ์ บางส่วนเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบจาก สน.บุปผาราม กิจกรรมเสร็จสิ้นในเวลา 11.00 น. หลังกิจกรรมตำรวจนอกเครื่องแบบจาก สน.บุปผาราม 3 นายไปพูดคุยกับผู้จัดกิจกรรมทำนองว่า วันหน้าหากมีการจัดกิจกรรมอีกให้แจ้งด้วยเพื่อจะได้มาสังเกตการณ์

ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

แฮชแท็ก:
ข้อเสนอ:

โรงเรียนสวนกุหลาบที่กิจกรรมมีกำหนดจัดในช่วงเย็นวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 มีผู้ใช้ทวิตเตอร์นำเอกสารซึ่งผู้ใช้ทวิตเตอร์คนดังกล่าวระบุว่าเป็นประกาศโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เรื่องมาตรการควบคุมการใช้พื้นที่ในการจัดกิจกรรมต่างๆ ภายในโรงเรียนมาเผยแพร่ เอกสารดังกล่าวสรุปความได้ว่า ตามที่มีการประกาศจัดกิจกรรมต่างๆ ทั้งกิจกรรมการเมืองและกิจกรรมกีฬาภายในโรงเรียนโดยไม่มีการขออนุญาต เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องในการใช้สถานที่ของทางโรงเรียน

การจัดกิจกรรมที่มีการขออนุญาตสามารถทำได้แต่ต้องอยู่ภายใต้ข้อบังคับและแนวปฏิบัติของทางโรงเรียน หากมีการฝ่าฝืน เช่น การจัดกิจกรรมที่ขัดต่อกฎหมายบ้านเมือง สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ หรือกิจกรรมทางการเมืองที่กระทบต่อความสามัคคีของคนในชาติ ที่โรงเรียนเห็นว่ามีความไม่เหมาะสม จะไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่ของโรงเรียน ท้ายที่สุดไม่ปรากฏว่ามีการจัดกิจกรรมแต่อย่างใด

ที่โรงเรียนหอวัง นนทบุรี

แฮชแท็ก:
ข้อเสนอ:

ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า กลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมปลายประมาณสิบคน รวมตัวกันอยู่ที่บริเวณสนามฟุตบอลของโรงเรียน นำป้ายผ้าและปริ้นต์ข้อความลงบนกระดาษเนื้อหาเป็นการเรียกร้องอยากมีประชาธิปไตย ไปติดบนที่นั่งของอัฒจันทร์ ซึ่งเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ทางการเมือง ราว 30 นาที ต่อมาเจ้าหน้าที่สายตรวจของ สภ.ปากเกร็ด จำนวนห้านาย เข้าไปตรวจสอบ จากนั้นกลุ่มนักเรียนได้ปีนขึ้นไปปลดป้ายข้อความออก และแยกย้ายกันไป

ที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

แฮชแท็ก: ประชาธิปไตยจะเบ่งบานบนลานดาว‬
ข้อเสนอ:

28 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 17.30 น. กลุ่มผู้สนับสนุนประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จัดกิจกรรมแฟลชม็อบ ‪ประชาธิปไตยจะเบ่งบานบนลานดาว‬ โดยกิจกรรมมีการขออนุญาตจากทางมหาวิทยาลัยอย่างถูกต้อง ภายในงานมีการปราศรัยและการร้องเพลงร่วมกัน มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบประมาณห้าคน มีนักศึกษาเข้าร่วมประมาณ 1,000 คน เสร็จสิ้นด้วยความเรียบร้อยในเวลา 19.00 น.‬‬‬

ที่จังหวัดจันทบุรี

แฮชแท็ก: #จันรีไม่รอกู้เดี๋ยวสู้เอง
ข้อเสนอ: 

28 กุมภาพันธ์ 2563 บริเวณสนามสามเหลี่ยมทุ่งนาเชย อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี นักเรียนมัธยม นักศึกษา และประชาชนในจังหวัดจันทบุรีไม่น้อยกว่า 800 คน ร่วมกันจัดกิจกรรมจันรีไม่รอกู้เดี๋ยวสู้เอง เพื่อแสดงจุดยืนต่อการใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ในงานมีกิจกรรมเขียนป้ายผ้าแสดงออกต่อรัฐบาลชุดปัจจุบัน มีการปราศรัยปัญหาความไม่ชอบธรรมของรัฐบาล การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยนักเรียน นักศึกษา และประชาชน หลังจบงานผู้เข้าร่วมกิจกรรมร่วมกันส่องไฟแสดงออกและร้องเพลง “Do you hear the people sing?” ภายในงานมีการสังเกตการณ์จากตำรวจในเครื่องแบบ 8 นายและนอกเครื่องแบบไม่น้อยกว่า 5 นาย

กิจกรรมดังกล่าวสืบเนื่องมาจากนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณีมีความคิดริเริ่ม แต่ทางมหาวิทยาลัยไม่อนุญาตให้จัดกิจกรรม ทำให้นักศึกษาออกมาใช้สนามสามเหลี่ยมทุ่งนาเชยแทน ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวอยู่ภายใต้อำนาจของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ที่ผู้จัดการชุมนุมมีหน้าที่ต้องแจ้งการชุมนุมก่อนล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง แต่ผู้จัดกิจกรรมดำเนินการแจ้งการชุมนุมในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 10.00 น. ต่อตำรวจ สภ.เมืองจันทบุรี ก่อนหน้าการชุมนุมไม่ถึง 24 ชั่วโมง และแจ้งการใช้เครื่องขยายเสียงต่อเทศบาลเมืองจันทบุรี ซึ่งทั้งหมดร้อยเวรที่อยู่ประจำวันได้รับแจ้งไว้แล้ว

ต่อมา พ.ต.อ.พงศ์รพี รพีถวิลวรรณ ผู้กำกับการ สภ.เมืองจันทบุรีแจ้งต่อผู้จัดกิจกรรมว่า การชุมนุมของผู้จัดกิจกรรมไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ผู้จัดกิจกรรมไม่สามารถเลื่อนเวลาออกไปได้แล้ว ยืนยันที่จะจัดตามกำหนดเดิม ระหว่างงาน ผู้กำกับการ สภ.เมืองจันทบุรีได้ออกประกาศเรื่อง ให้ผู้ชุมนุมยกเลิกการชุมนุมภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยสรุปว่า การชุมนุมนี้เป็นการชุมนุมที่มิชอบด้วยกฎหมาย จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 21 ของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมภายในเวลา 20.00 น. และขอให้ผู้ชุมนุมปฏิบัติตามหน้าที่ของผู้ชุมนุมที่ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ กำหนดไว้

หลังจัดกิจกรรมตำรวจได้เรียกผู้จัดกิจกรรมไปเปรียบเทียบปรับฐานกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ 2 ข้อหาคือ ไม่แจ้งการชุมนุมล่วงหน้าเป็นเวลา 24 ชั่วโมงและไม่ยื่นคำร้องขอผ่อนผันกำหนดเวลา ข้อหาละ 10,000 บาท อันเป็นอัตราปรับสูงสุดของแต่ละข้อหา อย่างไรก็ตามผู้จัดกิจกรรมได้พยายามต่อรองค่าปรับจนท้ายที่สุดตำรวจคงสั่งปรับข้อหาละ 2,500 บาท รวม 5,000 บาท

ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์

แฮชแท็ก: #บักขามบ่มักสลิ่ม
ข้อเสนอ: เลือกตั้งสมาชิก สสร., ยุบสภาจัดการเลือกตั้งใหม่

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า มีการจัดกิจกรรมแฟลชม็อบที่บริเวณลานพ่อขุนผาเมือง ภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ โดยเป็นการจัดร่วมกันระหว่างกลุ่มคนรุ่นใหม่ไม่รับใช้เผด็จการ กับกลุ่มประชาชนเพชรบูรณ์เพื่อประชาธิปไตย ก่อนกิจกรรม มีรายงานว่ามีอาจารย์ในบางคณะสั่งห้ามนักศึกษาไม่ให้มาร่วม แต่ก็ยังมีนักศึกษาและประชาชนมาร่วมกิจกรรมประมาณ 150 คน โดยผู้จัดมีการจัดทำป้ายผ้าเรียกร้องประชาธิปไตย และยืนยันเรื่องอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนมาติดที่อาคาร

ภายในกิจกรรมมีการเปิดพื้นที่ให้ผู้เข้าร่วมขีดเขียนแสดงความเห็นเพื่อสังคม และตัวแทนประชาชนได้ออกแถลงการณ์ต่อต้านเผด็จการ เรียกร้องให้รัฐบาลเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน เรียกร้องให้มีการยุบสภา จัดการเลือกตั้งใหม่ รวมทั้งให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของวุฒิสภาให้มาจากประชาชน และสร้างการมีส่วนร่วมโดยให้ สสร. มีที่มาจากประชาชน

ระหว่างกิจกรรมมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบหลายนายเข้าติดตามถ่ายรูป และมีเจ้าหน้าที่เดินเข้ามาสอบถามชื่อและคณะของนักศึกษาผู้จัดงานด้วย หลังเสร็จสิ้นกิจกรรมแล้ว ทางผู้จัดได้เดินทางไปรับประทานอาหารร่วมกัน ในร้านที่อยู่ห่างจากมหาวิทยาลัยหลายสิบกิโลเมตร พบว่าได้มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ จำนวนสี่นาย ซึ่งจำได้ว่าเป็นชุดเดียวกันกับที่เข้ามาติดตามจับตากิจกรรม เข้ามานั่งรับประทานอาหารที่โต๊ะข้างๆ ด้วย จึงคาดว่าเจ้าหน้าที่มีการขับรถติดตามมา หลังจากรับประทานอาหารเสร็จแล้ว กลุ่มผู้จัดกำลังเดินกลับไปที่รถ เจ้าหน้าที่รายหนึ่งได้เดินมาสอบถามว่าจะมีการจัดกิจกรรมอีกเมื่อไรหรือไม่ สร้างความรู้สึกไม่ปลอดภัยจากการถูกติดตามในลักษณะนี้อย่างยิ่ง

ที่มหาวิทยาลัยพะเยา

แฮชแท็ก: #ฟ้ามุ่ยไม่คุยกับเผด็จการ
ข้อเสนอ:

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า เวลา 17.00 น. นักศึกษากว่า 500 คนรวมตัวกันในกิจกรรมแฟลชม็อบ มีการปราศรัย เขียนข้อความแสดงออกบนป้ายผ้า ช่วงเริ่มกิจกรรมตำรวจได้นำรถมาจอด วางกรวยกั้นทางและเปิดสัญญาณไฟด้านหน้ามหาวิทยาลัยและจัดการจราจรบริเวณใกล้กับพื้นที่กิจกรรม

ที่มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรี

แฮชแท็ก: 
ข้อเสนอ:

มติชนออนไลน์รายงานว่า นักศึกษาประมาณ 200 คนรวมตัวกันจัดกิจกรรมแฟลชม็อบ เพื่อแสดงพลังต่อต้านเผด็จการ มีตำรวจสันติบาล ตำรวจนอกเครื่องแบบ และวุฒิชัย ประเสริฐสุข ผู้อำนวยการกองงาน วิทยาเขตปราจีนบุรีมาสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด ภายในงานมีตัวแทนผลัดกันปราศรัย ขณะที่นักศึกษาหลายคนมาพร้อมกับป้ายกระดาษเขียนข้อความแสดงออกด้วย

ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ

แฮชแท็ก:
ข้อเสนอ:

ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนครเหนือ

แฮชแท็ก: #ราชมงคลไม่ทนอีกต่อไป
ข้อเสนอ: –

ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

แฮชแท็ก:
ข้อเสนอ:

ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ

แฮชแท็ก: #ดอกกระเจียวจะเบ่งบานที่ลานน้ำพุ
ข้อเสนอ:

ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช

แฮชแท็ก: #ราชภัฏอยากงัดกับสลิ่ม
ข้อเสนอ:

ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์

แฮชแท็ก:
ข้อเสนอ:

ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง

แฮชแท็ก:  #อาจารย์ราชภัฏยืนหยัด
ข้อเสนอ:

 

29 กุมภาพันธ์ 2563

ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

แฮชแท็ก: #คืนสู่เหย้าไม่เอาไอโอ(ชา)
ข้อเสนอ: การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560

29 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 17.00 น. ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีการจัดกิจกรรมแฟลชม็อบ คืนสู่เหย้าไม่เอาไอโอ(ชา) ตั้งแต่ช่วง 16.30 น. มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทยอยมารวมตัวกันที่หอประชุมใหญ่ของมหาวิทยาลัย จากนั้นตัวแทนนักศึกษาเริ่มผลัดกันขึ้นปราศรัย คาดการณ์ว่า มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 1,000 คน ส่วนใหญ่สวมใส่เสื้อดำ ท่ามกลางการสังเกตการณ์ของเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ

เวลาประมาณ 18.20 น. พิธีกรได้ประกาศว่า ขอให้ระมัดระวังข้อความที่เขียนเพื่อแสดงออกบนป้าย ต่อมาเวลาประมาณ 18.40 น. ระหว่างที่พริษฐ์ ชิวารักษ์(เพนกวิน) ตัวแทนจากสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทยปราศรัยอยู่ ชายคนหนึ่งขึ้นมาบนเวทีและพูดกับพริษฐ์ทำนองว่า ที่น้องพูดมานี่แน่ใจว่า มันใช่แล้วหรอ จากนั้นจึงถูกตำรวจชาร์จตัวไปที่ด้านหลังเวที มีเสียงโห่ร้องจากผู้ชุมนุม เกิดเหตุชุลมุนตามมาเนื่องจากมีกลุ่มประชาชนส่วนหนึ่งวิ่งตามขึ้นไปที่ด้านหลังเวที

ผู้จัดกิจกรรมจึงกันทุกคนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องให้กลับลงไป ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถควบคุมมวลชนด้านล่างได้ ระหว่างการระงับเหตุดังกล่าวพริษฐ์ยังคงปราศรัยต่อไปอย่างสงบ เมื่อเหตุการณ์จบลงผู้จัดกิจกรรมได้เรียกตัวผู้ร่วมจัดมาทำหน้าที่การ์ดยืนคล้องแขนกันไม่ให้ใครเข้าไปด้านหลังเวทีที่คุมตัวชายคนดังกล่าวไว้อีก หลังจากนั้นประมาณ 20 นาทีตำรวจจึงพาตัวชายคนดังกล่าวออกไปจากพื้นที่กิจกรรมเพื่อนำไปเปลี่ยนเสื้อที่สถานีตำรวจท้องที่ จากนั้นกิจกรรมจึงดำเนินไปตามปกติและเสร็จสิ้นด้วยความเรียบร้อย

ที่ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) นครราชสีมา

แฮชแท็ก:
ข้อเสนอ:

มติชนออนไลน์รายงานว่า เวลา 16.00 น. กลุ่มวัยรุ่นประมาณหกคนยืนรวมตัวกัน ต่อมาหญิงสวมใส่เสื้อสีขาวและผ้าปิดปากยืนถือป้ายกระดาษเขียนข้อความว่า “ไม่เอาเผด็จการ ต้องการประชาธิปไตย” หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ความมั่นคงได้มาตรวจสอบและบันทึกภาพ ประมาณสิบนาทีกลุ่มดังกล่าวก็แยกย้ายออกไป จากการตรวจสอบทราบว่า กลุ่มดังกล่าวเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยรัฐแห่งหนึ่งในจังหวัด

ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

แฮชแท็ก:
ข้อเสนอ:

 

1 มีนาคม 2563

ที่สี่แยกราชประสงค์

แฮชแท็ก: #ประชาชนไล่หัวหน้าio
ข้อเสนอ:

ก่อนเริ่มกิจกรรมในเวลา 17.00 น. ตำรวจตรึงกำลังบนสกายวอล์คและเอาแผงกั้นมาวางตีกรอบพื้นที่ทั้งหมด พร้อมจัดทีมแพทย์ตั้งจุดคัดกรองตรวจไข้ผู้เข้าร่วม นอกจากจะตั้งจุดตรวจไข้แล้วยังตั้งจุดตรวจกระเป๋าโดยตำรวจหญิงด้วย การตั้งจุดและตั้งรั้วกั้น ทำให้คนที่มาร่วมส่วนหนึ่งยืนอยู่นอกรั้ว ไม่ได้เดินเข้ามาด้านในเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมด้วย โดยรวมมีกลุ่มผู้จัดที่นัดหมายกันมาราว 20-30 คน และมีประชาชนที่มาร่วมแสดงออกอีกหลายสิบคน ผู้เข้าร่วมกิจกรรมน่าจะไม่เกิน 100 คน ขณะที่มีตำรวจในเครื่องแบบและนอกเครื่องแบบจำนวนมากกว่า

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมส่วนใหญ่ยืนชูป้ายให้ถ่ายภาพ และมีหลายคนปราศรัย ทั้งประเด็นสิทธิทางเพศสภาพ สิทธิในเนื้อตัวร่างกาย การทำแท้ง สิ่งแวดล้อม ฯลฯ สลับกับการร้องเพลง Do you hear the people sing? จนกระทั่งเวลาประมาณ 18.15 น. เมื่อกิจกรรมเสร็จสิ้น ตำรวจก็เอาแผงกั้นหน้าห้างเกษรออก กิจกรรมวันนี้ผู้จัดได้แจ้งการชุมนุมตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ

ที่สวนทับเที่ยง จังหวัดตรัง

แฮชแท็ก: #เด็กตรังไม่ชังชาติแต่ชังเผด็จการ
ข้อเสนอ:

กิจกรรมนำโดยนักเรียนโรงเรียนสภาราชินี จังหวัดตรัง แต่ทางโรงเรียนไม่สะดวกให้ใช้สถานที่จัดกิจกรรม จึงต้องออกไปใช้สวนทับเที่ยงแทน นักเรียนดำเนินการแจ้งการชุมนุมตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ภายในงานมีการวางกำลังจากตำรวจ ทหาร และเจ้าหน้าที่ กอ.รมน. เจ้าหน้าที่มีการขอชื่อข้อมูลของคนที่เข้าร่วมกิจกรรม ถ่ายภาพทะเบียนรถยนต์ของผู้ร่วมกิจกรรม และขอให้ผู้ร่วมกิจกรรมกลับบ้าน กิจกรรมเสร็จสิ้นด้วยความเรียบร้อย นอกจากนี้หลังวันจัดกิจกรรมตำรวจได้โทรมาสอบถามข้อมูลของผู้จัดกิจกรรมด้วย

ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร

แฮชแท็ก: #เสลาออกจากกะลาพร้อมปิดฉากอำนาจนิยม
ข้อเสนอ:

 

2 มีนาคม 2563

ที่โรงเรียนสวนกุหลาบนนทบุรี

แฮชแท็ก: 
ข้อเสนอ:

ผู้จัดประกาศยกเลิกกิจกรรมเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2563 ก่อนหน้านี้ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 ผู้จัดได้ประกาศจัดกิจกรรมแฟลชม็อบ วันเดียวกันผู้จัดประกาศว่า กิจกรรมจะถูกย้ายมาจัดที่บริเวณด้านหน้าของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี เนื่องจาก ”ทางโรงเรียนไม่มีนโยบายให้นักเรียนรวมกลุ่มกันในสถานศึกษาในการแสดงออกเกี่ยวกับการเมืองในสถานศึกษา” และไปดำเนินการแจ้งการชุมนุมตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ต่อมาวันที่ 1 มีนาคม 2563 ผู้จัดได้ถอนการแจ้งชุมนุมตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ แล้ว เนื่องด้วยการจัดกิจกรรมดังกล่าวขัดต่อ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 8 ว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะต้องไม่กีดขวางทางเข้าออกของสถานที่ทำการหน่วยงานของรัฐ

ที่มหาวิทยาลัยหัวเฉียว

แฮชแท็ก: #มอดังย่านบางนาโบกมือลาของหวานสามสี
ข้อเสนอ:

กิจกรรมแฟลชม็อบสามารถจัดได้โดยสะดวก โดยก่อนหน้ากิจกรรมมีรายงานว่า นักศึกษามหาวิทยาลัยหัวเฉียวติดป้ายแสดงออกบริเวณมหาวิทยาลัย แต่เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยแกะออกอย่างรวดเร็ว และมีการตักเตือนทีมงานที่ติดป้าย เนื่องจากระเบียบของมหาวิทยาลัยห้ามติดป้ายก่อนได้รับอนุญาต แต่นักศึกษาไม่สะดวกเปิดเผยตัวด้วยหวาดกลัวจึงไม่ดำเนินการขออนุญาตก่อน หากนักศึกษาถูกตักเตือนสามครั้งก็จะมีผลต่อคะแนน ต่อมามหาวิทยาลัยเรียกอาจารย์เข้าประชุมเรื่องการเมืองด้วย

ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์

แฮชแท็ก:
ข้อเสนอ:

ก่อนเริ่มกิจกรรมตำรวจได้ขอให้ผู้ประสงค์จะเข้าร่วมแสดงบัตรประชาชน พร้อมระบุสถานศึกษาและสถานที่ทำงาน โดยให้เหตุผลเกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19  ทำให้ผู้เข้าร่วมหวาดกลัวไม่กล้าเข้าไปในพื้นที่กิจกรรม มีตำรวจในเครื่องแบบประมาณห้านายวางกำลังอยู่ในพื้นที่กิจกรรม ไม่ชัดเจนว่าตำรวจนอกเครื่องแบบมีกี่นาย ระหว่างการทำกิจกรรมตำรวจมีการถ่ายรูปกิจกรรม แต่ไม่มีปัญหาขัดแย้ง เสร็จสิ้นกิจกรรมด้วยความเรียบร้อย

ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

แฮชแท็ก: #มรย_ขออยู่เคียงข้างประชาชน
ข้อเสนอ:

ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา

แฮชแท็ก: 
ข้อเสนอ:

 

4 มีนาคม 2563

ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง วิทยาเขตบางนา

แฮชแท็ก:
ข้อเสนอ:

มติชนออนไลน์รายงานว่า เวลา 17.00 น. มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทยอยมาที่งาน ก่อนที่ตัวแทนจะผลัดกันปราศรัย หลังจบกิจกรรม ประชาชนนำงูยางโยนลงพื้นแล้วใช้เท้าเหยียบ ตะโกน “มณฑลออกไป” เพื่อสื่อถึงมณฑล โพธิ์คาย ส.ส.ของอดีตพรรคอนาคตใหม่ เขต 20 กทม. ที่ย้ายไปพรรคภูมิใจไทย

ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

แฮชแท็ก:
ข้อเสนอ:

ที่มหาวิทยาลัยทักษิณ

แฮชแท็ก: #นิสิตหนึ่งเดียว_ณ_แดนใต้_อยากไฝว้เผด็จการ
ข้อเสนอ: 

เฟซบุ๊กเพจศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ รายงานว่า นิสิตมหาวิทยาลัยทักษิณ ชมรมอาสาพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา รวมตัวกันจัดกิจกรรมแฟลชม็อบ โดยผู้เข้าร่วมสวมใส่เสื้อสีดำ เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในการต่อต้านเผด็จการ

 

5 มีนาคม 2563

ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

แฮชแท็ก:
ข้อเสนอ:

วันที่ 5 มีนาคม 2563 ผู้จัดประกาศยกเลิกการจัดกิจกรรมแฟลชม็อบเพราะการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน ระบุว่า เป็นไปเพื่อความสบายใจของผู้บริหารและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง

 

6 มีนาคม 2563

ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แฮชแท็ก: #ลูกช้างไม่ทนขอชนเผด็จการ #มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง #มหาวิทยาลัยเป็นของประชาชน
ข้อเสนอ: เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก, ให้ยุบสภา, รัฐธรรมนูญฉบับใหม่, การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และเรียกร้องให้ทางมหาวิทยาลัยคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกของนักศึกษา

วันที่ 6 มีนาคม 2563 นำโดยชมรมประชาธิปไตย สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมทั้งนักศึกษา มช. และมหาวิทยาลัยใกล้เคียงกันอย่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลเชียงใหม่ รวมถึงประชาชนทั่วไป ได้เข้าร่วมชุมนุมกัน เพื่อแสดงออกต่อต้านรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ฯ ณ บริเวณหน้าศาลาธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กิจกรรมเริ่มเวลา 17.00 น. คนทยอยเข้าร่วมกิจกรรมตั้งแต่ 16.00 น. มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 400-500 คน ซึ่งก่อนหน้าที่การชุมนุมจะเริ่มหนึ่งวัน ทางมหาวิทยาลัยได้แจ้งมายังแกนนำนักศึกษาให้ย้ายสถานที่ชุมนุมจากบริเวณหน้าศาลาธรรม เป็นศาลาอ่างแก้ว แต่ผู้จัดยังคงยืนยันขอจัดสถานที่เดิมต่อไป

นอกจากนี้ ในวันที่ 4 มีนาคม 2563 ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้มีประกาศแนวปฏิบัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่สำหรับการจัดกิจกรรมของนักศึกษาและบุคลากรที่มีผู้ร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก เพื่อให้มีการแจ้งการจัดกิจกรรมล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 48 ชั่วโมงก่อนจัดกิจกรรม ด้วยเหตุผลว่าเป็นไปเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ COVID-19 แต่ประกาศดังกล่าวเผยแพร่ลงบนเฟซบุ๊กวันที่ 5 มีนาคม 2563 ทำให้ไม่ว่าอย่างไรนักศึกษาก็ไม่สามารถแจ้งการจัดกิจกรรมล่วงหน้าตามกำหนดได้ อย่างไรก็ตาม แม้ทางด้านกลุ่มนักศึกษาไม่ได้แจ้งไปยังมหาวิทยาลัยตามเวลาที่กำหนด แต่ก็ได้แก้ไขโดยการล้อมเชือกสถานที่จัดกิจกรรม ตั้งจุดคัดกรองโรคด้วยตนเอง โดยมีทีมงานอาสาสมัครนักศึกษาเป็นคนตรวจวัดไข้ผู้มาเข้าร่วม ณ จุดคัดกรองที่มีอยู่สามจุด บริการแอลกอฮอล์ล้างมือ และติดสติกเกอร์เพื่อเป็นตัวแสดงว่าบุคคลนั้นได้รับการตรวจคัดกรองแล้ว

รูปแบบกิจกรรมหลักมีการสลับกันขึ้นพูดปราศรัยของนักศึกษา และคั่นด้วยการแสดงดนตรีสดที่เหล่านักดนตรีอาสามาเล่นโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย มีข้อเสนอหรือข้อเรียกร้องของการชุมนุมอยู่หลายประเด็น ซึ่งประเด็นหลักคือ หนึ่ง เรียกร้องให้ต้องมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และจะต้องมาจากการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริงผ่านการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ สอง เรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี และยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ที่เป็นธรรม สาม ต้องมีการชำระล้างผลพวงของคณะรัฐประหาร คสช. และเอาคณะบุคคลซึ่งได้กระทำการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญมาลงโทษตามกฎหมาย นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอเรียกร้องจากนักศึกษาที่ขึ้นปราศรัยเพิ่มเติมอีกสองประการ ได้แก่ การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ด้วยการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร พ.ศ. … ให้เกิดขึ้นจริงให้ได้ และเรียกร้องให้ทางมหาวิทยาลัยคุ้มครองเสรีภาพทางวิชาการ และเสรีภาพในการแสดงออกของนักศึกษา

ขณะเดียวกัน ระหว่างการดำเนินกิจกรรม เหล่าบรรดานักศึกษาได้ชูป้ายกระดาษที่แต่ละคนตระเตรียมมาพร้อมด้วยถ้อยคำที่มีความหมายโดยนัยที่เป็นการต่อต้านรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ฯ และการแสดงชิ้นงานศิลปะที่เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองของนักศึกษากลุ่มหนึ่งด้วยเช่นกัน กิจกรรมการชุมนุมได้ดำเนินไปอย่างเรียบร้อย ในช่วงท้ายเวลาเกือบ 20.00 น. ได้มีกิจกรรมร่วมกันร้องเพลง “เพื่อมวลชน” และ “แสงดาวแห่งศรัทธา” พร้อมกับการเปิดไฟแฟลชมือถือแสดงเป็นเชิงสัญลักษณ์ ก่อนเลิกการชุมนุม

ข้อสังเกตของกิจกรรมในวันนี้ คือ แม้ผู้จัดกิจกรรมจะมีความพร้อมในด้านเครื่องเสียง แต่จำนวนผู้เข้าร่วมชุมนุมกลับมีปริมาณน้อยกว่ากิจกรรมการชุมนุมเมื่อวันที่  25 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมาอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้ อาจเนื่องจากความกังวลเรื่องโรคระบาดที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้น ณ ขณะนี้ รวมถึงเวลาจัดกิจกรรมยังซ้อนทับกับเวลาเรียนของนักศึกษาบางส่วน ส่วนเรื่องการแทรกแซง คุกคาม กลุ่มนักศึกษาขณะจัดกิจกรรมรวมตัวชุมนุมในวันนี้ ไม่พบสิ่งผิดปกติแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมีเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจนอกเครื่องแบบแฝงอยู่กับกลุ่มผู้ชุมนุม แต่ด้วยเครื่องแต่งกาย การใส่หน้ากากอนามัยป้องกันโรค และหมวกเพื่อปกปิดทรงผม ทำให้เจ้าหน้าที่ดูกลมกลืนไปกับกลุ่มผู้ชุมนุมและยากแก่การระบุตัวตนของเจ้าหน้าที่มากกว่ากิจกรรมการชุมนุมครั้งอื่น ๆ ที่ผ่านมา

ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์

แฮชแท็ก:
ข้อเสนอ:

 

7 มีนาคม 2563

ที่จังหวัดแพร่

แฮชแท็ก:
ข้อเสนอ:

เครือข่ายผู้รักประชาธิปไตยแพร่นัดหมายไปเยี่ยมบ้านของเอกการ ซื่อทรงธรรม อดีต ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ จังหวัดแพร่ เขต 1 ที่ย้ายเข้าสังกัดพรรคภูมิใจไทย โดยมีการแจ้งการชุมนุมตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่เวลา 15.00 น. หน้าร้านแพร่ซีเมนต์บริเวณบ้านพักของครอบครัวเอกการ แกนนำและผู้เข้าร่วมจำนวน 40-50 คนได้มาตระเตรียมสถานที่ที่หน้าบ้านของเอกการ มีเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบประมาณ 15 คนและนอกเครื่องแบบอีกประมาณ 10 คนคอยสังเกตการณ์ ถ่ายทั้งวิดีโอและภาพนิ่ง

กิจกรรมวันนี้มีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ผ่านพิธีฌาปนกิจวิญญาณอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่ตายไปพร้อมกับ ส.ส. งูเห่า วางพวงหรีด, ดอกไม้จันทน์, โลงศพ ประดับรูปของ ส.ส. คล้ายกับงานศพ ต่อมาเวลา 15.38 น. อาทิตย์ ขวัญยืน อ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้เอกการลาออกจากตำแหน่ง ส.ส. จากนั้นแกนนำและผู้เข้าร่วมได้ผลัดเปลี่ยนกันปราศรัย เวลา 16.00 น. บิดาของเอกการปรากฏตัวที่บริเวณจัดกิจกรรมและมีการปะทะคารมกับผู้ชุมนุม

เมื่อผู้ชุมนุมสอบถามว่า ทำไมเอกการถึงทรยศต่อประชาชนและอุดมการณ์ประชาธิปไตย บิดาของเอกการตอบว่า เมื่อพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบแล้วก็เป็นสิทธิของ ส.ส.ที่จะย้ายพรรค ซึ่งไม่ได้เป็นการทรยศประชาชน ถ้าจะบอกว่า ลูกตนทรยศต่อคะแนนเสียงของประชาชน สิ่งที่ลูกตนทำคือการทรยศตรงไหน ถ้าพูดแบบนี้ถือเป็นการดูถูกลูกของตน ซึ่งในการเลือกตั้งที่ผ่านมาลูกชายก็ไม่ได้โกงคะแนนมา หลังเสร็จสิ้นกิจกรรมแกนนำถูกปรับเป็นเงิน 200 บาท เนื่องจากใช้เครื่องขยายเสียงในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต

ข้อมูลเพิ่มเติม: แถลงการณ์เครือข่ายผู้รักประชาธิปไตยจังหวัดแพร่ ฉบับที่ 4/2563 ทวงถามคะแนน / ทวงถามสิทธิ / ทวงถามประชาธิปไตยจาก ส.ส.งูเห่าส้มจังหวัดแพร่

ประชาชนผู้ใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดแพร่ ในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ตัดสินใจใช้สิทธิเลือกเบอร์ 7 พรรคอนาคตใหม่ยกจังหวัด จำนวนทั้งสิ้น 127,741 คะแนนในจำนวนผู้ใช้สิทธิทั้งหมด 295,251 คะแนน เลือกพรรคอนาคตใหม่คิดเป็นร้อยละ 43.27 ด้วยเหตุผลที่ต้องการให้คุณเอกการ ซื่อทรงธรรม เขตเลือกตั้งที่ 1 และคุณกฤดิเดช สันติวชิระกุล เขตเลือกตั้งที่ 2 ปักหมุดหมายดำเนินงานทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย สามัคคีแนวร่วมฟากฝ่ายประชาธิปไตย ล้างมรดกรัฐประหาร สร้างการเมืองแบบใหม่ เจ้านายคือประชาชน ทลายเศรษฐกิจผูกขาด จัดขนส่งสาธารณะเพื่อทุกคน เกษตรกรก้าวหน้า เศรษฐกิจดิจิตอลเพื่อประชาชน กำจัดทุจริตคอรัปชัน โอบรับความหลากหลายทางเพศ สิ่งแวดล้อมยั่งยืน ปฏิรูปกองทัพ ยุติระบบราชการรวมศูนย์ ปฏิวัติการศึกษา และสร้างรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า

แนวทางมวลชนให้ประชาชนเป็นใหญ่ มีอุดมการณ์โดดเด่น และมีนโยบายที่ก้าวหน้าแน่นอนชัดเจน เหล่านี้ปรากฏชัดเจนในพรรคอนาคตใหม่ ทำให้ประชาชนเทคะแนน มอบความไว้วางใจให้ ส.ส. งูเห่าทั้ง 2 คนอย่างท่วมท้น เพื่อไปปฏิบัติหน้าที่ในรัฐสภา บัดนี้พรรคอนาคตใหม่สิ้นสุดความเป็นพรรคการเมืองตามคำสั่งศาล ท่านทั้งสองคงตระหนักดีว่าในที่ประชุมร่วมของ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ได้ร่วมลงสัตยาบันว่า จะไม่แตกแยก จะไปอยู่พรรคใหม่โดยพร้อมเพรียงกัน

แต่ปรากฏว่า ส.ส.งูเห่าจังหวัดแพร่ทั้งสองคน ละทิ้งแนวทาง อุดมการณ์ นโยบายทางการเมืองที่ประชาชนมอบหมาย แสดงพฤติการณ์กักขฬะดูแคลนเจ้าของคะแนนเสียง และเป็นที่น่าละอายไปกว่านั้นคือเลือกไปสังกัดพรรคการเมืองที่สนับสนุนรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจเผด็จการ

ในนามของประชาชนเจ้าของคะแนน 127,741 คะแนน ซึ่งเคยเสนอให้ ส.ส.งูเห่าทั้ง 2 คน ตอบคำถามคาใจของประชาชน ตามแถลงการณ์ฉบับที่ 3/2563 ปรากฏว่า ส.ส.งูเห่าทั้งสองไม่ได้ให้ความสนใจ ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อเสียงคะแนน ข้ามและเหยียบหัวประชาชนแพร่ จึงเสนอต่อ ส.ส.งูเห่าแพร่ทั้งสองคือ

“แสดงสปิริตโดยลาออกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสถานเดียว เพื่อเปิดช่องให้มีการเลือกตั้งซ่อม เปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงเจตนารมณ์ใหม่อีกครั้ง”

หากเพิกเฉย ไม่กระทำตามที่เสนอ พวกเราคนแป้และพี่น้องใน 9 จังหวัดที่มีงูเห่าสีส้ม จะไปแสดงเจตนารมณ์ที่หน้ารัฐสภาอย่างแน่นอน

 

14 มีนาคม 2563

ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น

แฮชแท็ก: #ขอนแก่นพอกันที
ข้อเสนอ: ร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยต้องมีที่มาจากประชาชน, ยุบสภาและให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายใต้กติกาที่เป็นธรรมและยุติบทบาทของวุฒิสภา รวมไปถึงการยุติบทบาทขององค์กรอิสระที่สรรหาแต่งตั้งโดย คสช.

เวลา 17.30 น.ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นักกิจกรรมในนามขอนแก่นพอกันทีจัดกิจกรรมแฟลชม็อบ โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 300 คน ขณะที่มีการวางกำลังจากฝ่ายตำรวจ เท่าที่สังเกตได้มีตำรวจในเครื่องแบบประมาณ 15 นายและนอกเครื่องแบบประมาณ 5 นาย ตัวแทนกลุ่มผลัดกันขึ้นปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล คสช.สอง เช่น เรื่องการเมืองและสิ่งแวดล้อม ในช่วงท้ายของกิจกรรมแกนนำได้ประกาศให้ผู้เข้าร่วมร่วมกันยืนไว้อาลัยแด่คณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา จากนั้นตัวแทนกลุ่มจึงอ่านแถลงการณ์ทำนองว่า หลังรัฐประหารรัฐบาล คสช. ได้ใช้อำนาจออกกฎหมายตามอำเภอใจ มีการคุกคามประชาชน รวมไปถึงการใช้อำนาจรัฐและกฎหมายในการเอื้อประโยชน์ให้นายทุน

ที่ผ่านมามีการสืบทอดอำนาจผ่านรัฐธรรมนูญ การปิดปากประชาชนระหว่างการออกเสียงประชามติ การให้อำนาจกับวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ย่อมแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลปัจจุบันสืบทอดอำนาจมาจากรัฐบาล คสช. รัฐสภาเต็มไปด้วยการซื้อขายตำแหน่ง องค์กรศาลกลายเป็นผู้เล่นทางการเมืองเป็นเหตุให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลและผู้มีอำนาจแสดงความจริงใจและดำเนินการตามข้อเรียกร้องหลักสามข้อคือ

หนึ่ง ร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยต้องมีที่มาจากประชาชน
สอง ยุบสภาและให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายใต้กติกาที่เป็นธรรม
สาม ยุติบทบาทของวุฒิสภา รวมไปถึงการยุติบทบาทขององค์กรอิสระที่สรรหาแต่งตั้งโดย คสช.

You May Also Like
ConCourt Judges
อ่าน

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพร้อมหน้า ร่วมยินดีสว. สมชาย แสวงการ รับป.เอก

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ร่วมแสดงความยินดีที่สว. สองคนได้รับปริญญาเอก เรื่องนี้มีที่มาเพราะสมชาย แสวงการ สว. ที่รับปริญญาผ่านการคัดเลือกโดยศาลรัฐธรรมนูญให้มาเรียน และกรรมการสอบเล่มจบก็ไม่ใช่ใครอื่น
อ่าน

ศาลรธน. ไม่รับคำร้อง ปมรัฐสภาถามเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทำประชามติกี่ครั้ง ทำตอนไหน

17 เมษายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเไม่รับคำร้องที่รัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาว่า รัฐสภาจะมีอำนาจในการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญได้เลยหรือต้องทำประชามติก่อน