ความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ต้องเผยแพร่ “ข้อมูลเท็จ” การแชร์ของ “แหม่มโพธิ์ดำ” ถ้าไม่มีเจตนาทุจริต ก็ไม่ผิด

จากข่าวที่เจ้าหน้าที่ตำรวจออกมาแถลงข่าวว่ากำลังตามหาตัวเจ้าของเพจแหม่มโพธิ์ดำ เนื่องจากอาจจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ) เนื่องจากแชร์ภาพวิดีโอของ “เสี่ยบอยมิดไนท์” ที่โฆษณาขายหน้ากากอนามัย 200 ล้านชิ้นลงเฟซบุ๊ก

มาดู พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กันว่า มีมาตราไหนจะมาใช้เอาผิดเพจแหม่มโพธิ์ดำได้จริงหรือไม่

 

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีนี้

4 กุมภาพันธ์ 2563 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประกาศให้หน้ากากอนามัยและเจลล้างมือเป็นสินค้าควบคุมเป็นเวลาหนึ่งปี 

หลังจากนั้น เพจ “แหม่มโพธิ์ดำ” จึงได้เผยแพร่ภาพบันทึกหน้าจอเกี่ยวกับเบาะแสการกักตุนหน้ากากอนามัยของขบวนการกักตุนหน้ากาก จากโพสต์ของ ”เสี่ยบอยมิดไนท์” หรือศรสุวีร์ ภู่รวีรัศวัชรี ที่ได้โพสต์ภาพหน้ากากอนามัยในโกดังจำนวนหลายลัง และเขียนบรรยายอ้างว่า ตนมีหน้ากากอนามัยพร้อมขายกว่า 200 ล้านชิ้น ลงบนเฟซบุ๊ก

9 เมษายน 2563 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ออกมาแถลงผลการจับกุมผู้ต้องหาจำหน่ายหน้ากากอนามัย และเวชภัณฑ์ หลังจากที่มีการประกาศให้เป็นสินค้าควบคุม และยังได้แถลงการณ์เกี่ยวกับคดีที่สำคัญ อีก 2 คดี ได้แก่

1. คดีการจับกุมศรสุวีร์ ภู่รวีรัศวัชรี (เสี่ยบอยมิดไนท์) จากการโพสต์อ้างว่า ตนมีหน้ากากอนามัย กว่า 200 ล้านชิ้น และการจับกุมพันธ์ยศ อัครอมรพงศ์ พร้อมของกลาง เนื่องจากมีหลักฐานเชื่อมโยงว่าเป็นพ่อค้าขายหน้ากากรายใหญ่ของประเทศ

2. คดีนำเข้าข้อมูลเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ของเพจ “แหม่มโพธิ์ดำ” เนื่องจากได้แคปภาพเบาะแสการกักตุนหน้ากากอนามัยของขบวนการกักตุนหน้ากาก จากโพสต์ของศรสุวีร์ ที่ได้มีการโพสต์ลงบนเฟซบุ๊ก หลังจากที่มีการประกาศให้หน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุม และได้นำภาพนั้นมาเผยแพร่ต่อ โดยตำรวจอ้างว่า การกระทำของ “แหม่มโพธิ์ดำ” นั้นเป็นการทำผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฐานโพสต์ข้อมูลเท็จ เนื่องจากภาพเคลื่อนไหวที่เพจ “แหม่มโพธิ์ดำ” แชร์จากโพสต์ของศรสุวีร์นั้น ศรสุวีร์ได้รับสารภาพกับตำรวจไปเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 ว่า สิ่งที่โพสต์ลงเฟซบุ๊กนั้นเป็นเรื่องที่โกหกขึ้นมา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับตัวเองเพราะทำอาชีพนายหน้า ซึ่งตำรวจจึงแจ้งข้อกล่าวหานำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กับศรสุวีร์ และจะดำเนินคดีกับเพจ “แหม่มโพธิ์ดำ”  

ซึ่งขณะนี้ตำรวจกำลังสืบหาตัวตนเจ้าของเพจเพื่อมาให้ปากคำ

 

ความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(1) ต้องมีเจตนาทุจริต โพสต์ข้อมูลเท็จ

สำหรับบทบัญญัติตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับแก้ไขเมื่อปี 2560 ที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าข้อมูลเท็จ อยู่ในมาตรา 14 ดังนี้

          มาตรา 14 ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

          (1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทําความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา

          (2) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

          (3) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา

          (4) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้

          (5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)

กรณีของเพจแหม่มโพธิ์ดำนั้น ตำรวจตั้งประเด็นว่า ข้อกล่าวหาเกิดจากการ “แชร์” ข้อมูลเท็จมาจากโพสต์ของศรสุวีร์อีกต่อหนึ่ง ซึ่งมาตราที่จะเอาผิดผู้ที่ไม่ได้ผลิตเนื้อหาขึ้นเอง เพียงแค่ “แชร์” อีกต่อหนึ่ง คือ มาตรา 14(5) และหากเพจแหม่มโพธิ์ดำจะมีความผิดตามมาตรา 14(5) ได้ หมายความว่า ศรสุวีร์ เจ้าของโพสต์เองจะต้องมีความผิดตามมาตรา 14 วงเล็บใดวงเล็บหนึ่งก่อน 

องค์ประกอบสำคัญที่จะชี้ขาดว่า โพสต์ใดเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) (2) หรือไม่ คือ ข้อมูลที่โพสต์นั้นต้องเป็น “ข้อมูลอันเป็นเท็จ” โดยคนที่โพสต์ต้องมีเจตนา รู้อยู่แล้วว่า ข้อมูลเหล่านั้นเป็นเท็จ แต่ก็ยังโพสต์ไปเช่นนั้น ถ้าหากข้อมูลที่โพสต์ไปนั้นเป็นความจริง เช่น คลิปวิดีโอที่ถ่ายจากเหตุการณ์จริง หรือเป็นความคิดเห็น เช่น การติชมรัฐบาล การวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต ก็ไม่เข้าองค์ประกอบ “ข้อมูลอันเป็นเท็จ” และไม่อาจเอาผิดตามมาตรา 14 (1) (2) ได้ 

นอกจากนี้การโพสต์ที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 14(1) ต้องพิจารณา “เจตนา” ของผู้โพสต์ด้วยว่า โพสต์ไปโดยมีเจตนา “โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง” หรือไม่ ซึ่งคำว่า “โดยทุจริต” มีคำนิยามอยู่ในมาตรา 1 ของประมวลกฎหมายอาญา หมายความว่า เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น หากข้อความที่แชร์ดังกล่าวไม่ได้มีเจตนาทุจริตแต่แรก ก็จะไม่สามารถเป็นความผิดตาม มาตรา 14(1) ได้เลย

 

คนแชร์จะผิด ก็ต่อเมื่อมีเจตนาแชร์สิ่งที่เป็นเท็จ

คนที่ “แชร์” ข้อมูล แล้วจะเป็นความผิดฐาน “เผยแพร่หรือส่งต่อ” ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(5) ได้ ต้องมีองค์ประกอบการกระทำความผิดสองอย่าง ได้แก่ หนึ่ง เป็นการเผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ และสอง โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)

ดังนั้น ในการดำเนินการเอาผิดคนที่แชร์ข้อความตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จึงต้องพิสูจน์ “เจตนา” ของผู้กระทำความผิดให้ได้ เนื่องจากบางครั้งการแชร์โพสต์จากแฟนเพจต่างๆ ผู้แชร์อาจจะเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่า สิ่งที่แชร์นั้นเป็นความจริง หรือเป็นความคิดเห็น ซึ่งไม่ใช่ข้อมูลเท็จที่เป็นความผิดตามมาตรา 14 (1) (2) และหากผู้ที่โพสต์พิสูจน์ได้ว่าไม่รู้จริงๆ ก็จะไม่มีความผิดตามมาตรานี้ เนื่องจากขาดเจตนา

กรณีของเพจ แหม่มโพธิ์ดำ ที่เผยแพร่รูปภาพเบาะแสการกักตุนหน้ากากของขบวนการกักตุนหน้ากากจากโพสต์ของศรสุวีร์นั้น เป็นการกระทำที่ปราศจากเจตนากระทำความผิด ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(5) เพราะในวันดังกล่าวที่เพจแหม่มโพธิ์ดำแชร์คลิปนั้น ข้อมูลที่ถูกเผยแพร่ส่งต่อก็ยังไม่เป็นที่ยุติว่า เป็นเท็จหรือไม่  

แม้ว่าตัวศรสุวีร์เองจะยอมรับว่า สิ่งที่ตัวเองนำเสนอไปนั้นไม่เป็นความจริง ทำให้ตัวศรสุวีร์ก็ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 14 ไปแล้ว แต่การเผยแพร่ข้อมูลเท็จอันจะเป็นความผิดตามมาตรา 14 (5) ได้ก็จะต้องมีเจตนาที่จะเผยแพร่ข้อความเท็จนั้นๆ ด้วย แต่การเผยแพร่รูปภาพเบาะแสดังกล่าวโดยเพจ “แหม่มโพธิ์ดำ” เป็นไปเพื่อนำเสนอข้อเท็จจริงแก่ประชาชนให้รับทราบเท่านั้น และมุ่งให้เกิดการตรวจสอบแสวงหาความจริง รวมทั้งเป็นการเปิดโปงการกระทำซึ่งอาจเป็นความผิดฐานกักตุนหน้ากากอนามัย ที่เกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจด้วย โดยไม่ได้มีเจตนาเช่นเดียวกับศรสุวีร์เจ้าของโพสต์ที่จะมุ่งแสวงหาผลประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย อันจะถือได้ว่าเป็นเจตนาโดยทุจริต ตามมาตรา 14(1) ในทางกฎหมายจึง “ห่างไกล” มากที่จะนำ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาใช้กับผู้ดูแลเพจแหม่มโพธิ์ดำได้