หกปีผ่านมา “คสช.1” ลาจอ แต่คดีต้านอำนาจ คสช. ยังต้องสู้ต่อ

22 พฤษภาคม 2563 ครบรอบหกปีการรัฐประหารยึดอำนาจของ คสช. เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 แม้ว่าปัจจุบันคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะหมดอำนาจไปแล้วในทางกฎหมาย แต่แกนนำของ คสช. อย่างพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำการรัฐประหาร รวมถึงบุคคลที่เคยร่วมงานกับ คสช. ก็ยังคงนั่งอยู่ในอำนาจจนถึงปัจจุบันผ่านช่องทางการสืบทอดอำนาจหลักตามรัฐธรรมนูญ 2560 และการแต่งตั้งให้นั่งในตำแหน่งต่างๆ ขณะที่อีกด้านหนึ่งประชาชนผู้ที่ต่อต้านอำนาจเผด็จการด้วยการยืนยันในสิทธิและเสรีภาพในยุคที่ปกครองด้วยระบอบทหารเต็มรูปยังคงต้องเผชิญกับคดีความที่ถูกกล่าวหามาตั้งแต่ยุค คสช. จนวันนี้ยังไม่จบสิ้น

ระหว่างการยึดอำนาจของ คสช. ข้อหาหลักที่มักนำมาใช้ปราบปรามประชาชนผู้ใช้เสรีภาพ ซึ่งแสดงออกคัดค้านอำนาจของ คสช.โดยตรง คือ บรรดาประกาศและคำสั่ง คสช. อย่างคำสั่งเรียกบุคคลรายงานตัว และสำหรับผู้ที่ยังไม่สยบยอมง่ายๆ ก็จะตามมาซึ่งข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 คดีความเหล่านี้ส่วนใหญ่ต้องขึ้นศาลทหาร และใช้เวลาพิจารณาคดีที่ยาวนานทำให้ยืดเยื้อมาหลายปี

 

คดียุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 หรืออีกชื่อหนึ่งคือ ข้อหายุยงปลุกปั่น บัญญัติไว้ว่า ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี

ก่อนหน้าการรัฐประหาร ข้อหายุยงปลุกปั่นถูกหยิบมาใช้ไม่มากนัก ก่อนจะมาเพิ่มขึ้นหลัง คสช. ขึ้นสู่อำนาจ ข้อหาดังกล่าวถูกนำมาใช้มากขึ้น ผลทางตรงคือ การสร้างบรรยากาศความหวาดกลัวในสังคมเพราะเป็นข้อหาที่มีอัตราโทษสูง และเมื่อถูกกล่าวหาด้วยมาตรา 116 จะทำให้คดีต้องขึ้นสู่การพิจารณาในศาลทหารตามประกาศ คสช. ที่ 37/2557 ต่อมาวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 ได้มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 9/2562 ยกเลิกประกาศและคำสั่งของ คสช. ที่หมดความจำเป็น กำหนดให้คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลทหารตามประกาศและคำสั่งดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหารตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป แต่ให้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกติ หลายคดีเกิดขึ้นหลังจากรัฐประหารไม่นาน แต่มาถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีคำพิพากษา บางคดีเพิ่งจะพิพากษาได้หลังการโอนย้ายคดีกลับสู่ศาลพลเรือน เช่น

จาตุรนต์แถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ

วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คสช.ออกคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 1/2557 เรียกจาตุรนต์ ฉายแสง ในฐานะนักการเมืองพรรคเพื่อไทยเข้ารายงานตัว จาตุรนต์ไม่เข้ารายงานตัวตามกำหนดพร้อมทั้งโพสต์เฟซบุ๊กประกาศว่า เขาไม่ยอมรับการรัฐประหารจึงไม่อาจปฏิบัติตามคำสั่งรายงานตัวได้ ต่อมาจาตุรนต์นัดหมายผู้สื่อข่าวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศแถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 โดยมีการประกาศเรื่องการแถลงข่าวต่อสาธารณะด้วย หลังเขาแถลงข่าวไปได้ครู่หนึ่งก็ถูกเจ้าหน้าที่ทหารเข้าควบคุมตัว

เขาถูกกล่าวหาในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวของ คสช. ยุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ต่อมาจาตุรนต์ยื่นคำร้องคัดค้านว่าศาลทหารไม่มีอำนาจพิจารณาคดีของเขา คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจระหว่างศาลมีคำสั่งว่า ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวของ คสช. ให้อยู่ในอำนาจศาลปกติ ส่วนความผิดข้อหามาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ให้อยู่ในอำนาจศาลทหาร ศาลทหารจึงสั่งให้จำหน่ายคดีในส่วนของข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ไปศาลปกติ

วันที่ 22 กรกฎาคม 2562 ศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีของจาตุรนต์ออกจากสารบบความของศาลทหาร และสั่งให้ย้ายคดีไปอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลพลเรือน จนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งย้ายคดีสามารถสืบพยานแล้วเสร็จเพียงสองปาก และมีการเลื่อนนัดเพราะพยานโจทก์ไม่มาศาลอย่างน้อยสามครั้ง เหตุที่เริ่มสืบพยานนัดแรกช้า เพราะใช้เวลาไปมากกับการพิจารณาเรื่องเขตอำนาจศาลทหาร

ศาลอาญานัดสืบพยานโจทก์วันที่ 5-6, 12-13, 19-20, 24-26 พฤศจิกายน 2563 และวันที่ 1 ธันวาคม 2563 สืบพยานจำเลยวันที่ 2-3, 8-9, 15-16 ธันวาคม 2563 และ 19-20, 26-27 มกราคม 2564

พรรณมณีและสมบัติเจาะยางรถฮัมวี่ค้านรัฐประหาร

วันที่ 28 พฤษภาคม 2557 พรรณมณีและสมบัติได้ร่วมชุมนุมทางการเมืองกับบุคคลอื่นอีกประมาณ 200 คน เพื่อคัดค้านต่อต้านการเข้าควบคุมอำนาจปกครองประเทศของ คสช. บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ระหว่างนั้นมีนายทหารประทวนประจำการได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้นำรถยนต์ของทางราชการออกประชาสัมพันธ์ความเข้าใจกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่คัดค้านการยึดเข้าอำนาจการปกครองประเทศของ คสช. ทั้งสองร่วมกันปล่อยลมยางรถยนต์ ซึ่งเป็นทรัพย์สินของทางราชการกองทัพบกจนไม่สามารถใช้ขับต่อไปได้ แล้วพรรณมณีจำเลยที่หนึ่งใช้สีสเปรย์พ่นที่รถยนต์เป็นคำว่า NO COUP

จากนั้นทั้งสองถึงถูกจับกุมและกล่าวหาว่า ชุมนุมทางการเมืองขัดต่อประกาศ คสช. ที่ 7/2557 ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ และต่อสู้ขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ทั้งสองให้การรับสารภาพในข้อหาร่วมกันชุมนุมทางการเมืองและร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ แต่ให้การปฏิเสธความผิดเรื่องต่อสู้ขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ คดีนี้ศาลทหารเริ่มสืบพยานปากแรกในเดือนพฤศจิกายน 2557 แต่ยังไม่เสร็จสิ้น จนกระทั่งศาลทหารมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีของทั้งสองออกจากสารบบความของศาลทหาร และสั่งให้ย้ายคดีไปอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลพลเรือน

อย่างไรก็ตามวันที่ 27 มกราคม 2563 หลังจากศาลอาญารับคดีที่โอนมาและได้ตรวจสำนวนแล้วเห็นว่า ข้อหาตามฟ้องโจทก์มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปี ดังนั้น คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลอาญา แต่อยู่ในอำนาจของศาลแขวงดุสิตจึงให้รวบรวมสำนวนคืนศาลทหารกรุงเทพ เพื่อพิจารณาสั่งต่อไป และจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

สิทธิทัศน์และวชิรโปรยใบปลิวต้านรัฐประหาร

วันที่ 23 พฤศจิกายน 2557 สิทธิทัศน์และวชิรร่วมกันจัดทำกระดาษใบปลิวมีข้อความ เช่น อำนาจเป็นของประชาชน เสรีภาพ FREEDOM ค.ส.ช.ก้าวล่วงพระราชอำนาจ ฯลฯ จำนวน 7,500 แผ่น และนำไปโปรยบริเวณวงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ต่อมาทั้งสองถูกเจ้าหน้าที่จับกุมพร้อมยึดอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำใบปลิว

วันที่ 25 พฤศจิกายน 2557 สิทธิทัศน์และวชิรถูกเจ้าหน้าที่ทหารจากกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์และตำรวจสันติบาล มาเชิญตัวที่บ้าน ตรวจค้นและยึดอุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดทำใบปลิว ต่อมาวันที่ 2 ธันวาคม 2557 ทั้งสองได้ยื่นหลักทรัพย์ขอประกันตัวในชั้นสอบสวน 200,000 บาท ต่อมาอัยการศาลทหารกรุงเทพมีความเห็นสั่งฟ้องคดี โดยกล่าวหาว่า ทั้งสองกระทำการยุยงปลุกปั่นและไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ 368 รวมทั้งความผิดตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ

คดีถูกพิจารณาที่ศาลทหารกรุงเทพและยังสืบพยานไม่เสร็จ เนื่องจากมีการเลื่อนนัดสืบพยานจากเหตุที่จำเลยป่วยไม่สามารถมาศาลได้ จนกระทั่งศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีของทั้งสองออกจากสารบบความของศาลทหาร และสั่งให้ย้ายคดีไปอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลพลเรือน ซึ่งคือ ศาลอาญา ศาลนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยวันที่ 2-4 กุมภาพันธ์ 2564

บก.ลายจุดโพสต์กิจกรรมนัดใหญ่สามนิ้ว

สมบัติ บุญงามอนงค์ ชื่อเล่นว่า “หนูหริ่ง” และมีนามแฝงที่ใช้ในอินเทอร์เน็ตว่า “บก.ลายจุด” เป็นอดีตประธานกรรมการมูลนิธิกระจกเงา เป็นเว็บมาสเตอร์ของเว็บไซต์เพื่อสังคมหลายแห่ง นอกจากนี้ยังเป็นแกนนอนกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง ระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม – 5 มิถุนายน 2557 สมบัติได้โพสต์ข้อความในทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “นัดใหญ่ 3 นิ้ว วันอาทิตย์ที่ 8 มิย เที่ยงตรง เห็นชอบกด Like ไปร่วมกด Share” “มีรุ่นใหญ่บอกผมว่า เราล้ม คสช ไม่ได้ผมไม่อยากฟันธง หลุดจากอาทิตย์ ผมจะเสนอกิจกรรม ล้ม คสช” ช่วงกลางคืนวันที่ 5 มิถุนายน 2557 สมบัติถูกเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมตัวที่บ้านพักในจังหวัดชลบุรี จากนั้นจึงนำตัวไปสอบสวนที่ค่ายกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์

เขาถูกกล่าวหาว่า ยุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และคดีดำเนินเรื่อยมา สืบพยานไปได้แล้วหลายปาก จนกระทั่งวันที่ 6 สิงหาคม 2562 ศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีของพันธ์ศักดิ์ออกจากสารบบความของศาลทหาร และสั่งให้ย้ายคดีไปอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลพลเรือน ซึ่งคือศาลอาญา ศาลนัดสืบพยานจำเลยวันที่ 19 มิถุนายน 2563

พันธ์ศักดิ์จัดกิจกรรมพลเมืองรุกเดิน

พันธศักดิ์เป็นผู้สูญเสียลูกชายจากเหตุการณ์การสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 พันธ์ศักดิ์และพวกถูกตั้งข้อหาชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคนและถูกพิจารณาคดีที่ศาลทหาร พวกเขาจึงจัดกิจกรรม “พลเมืองรุกเดิน” เพื่อตามหาความยุติธรรมและเรียกร้องไม่ให้ดำเนินคดีกับพลเรือนที่ศาลทหาร เวลาประมาณเที่ยงคืนครึ่งของวันที่ 26 มีนาคม 2558 ซึ่งเป็นวันที่พันธ์ศักดิ์ประกาศจะจัดกิจกรรมเดินเท้าจากบ้านไปรายงานตัวที่ สน.พญาไทอีกครั้ง เขาถูกควบคุมตัวขณะจอดรถเข้าบ้านพักเพื่อดำเนินคดี

เขาถูกกล่าวหาว่า ยุยงปลุกปั่นตามกฎหมายอาญามาตรา 116, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) และฝ่าฝืนประกาศ คสช. ที่ 7/2557 อย่างไรก็ดีศาลทหารกรุงเทพให้ประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 70,000 บาท คดีนี้ถูกพิจารณาในศาลทหารกรุงเทพเป็นระยะเวลากว่าสี่ปี สืบพยานโจทก์ไปได้รวมห้าปาก คดีนี้ก่อนเริ่มการสืบพยาน พันธ์ศักดิ์เคยยื่นคัดค้านเขตอำนาจศาลทหารกรุงเทพ แต่ศาลอาญามีความเห็นว่าคดีของพันธ์ศักดิ์อยู่ในเขตอำนาจศาลทหารเพราะเหตุเกิดระหว่างมีประกาศ คสช. ฉบับที่ 37 ที่กำหนดให้คดีของพลเรือนบางประเภทรวมทั้งคดีนี้อยู่ในเขตอำนาจของศาลทหาร โดยระหว่างการสืบพยานโจทก์ที่ศาลทหารมีการเลื่อนวันนัดสืบพยานออกไปอย่างน้อยสี่ครั้ง เพราะพยานโจทก์ที่เป็นเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจติดราชการด่วน

จนกระทั่งวันที่ 26 กรกฎาคม 2562 ศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีของพันธ์ศักดิ์ออกจากสารบบความของศาลทหาร และสั่งให้ย้ายคดีไปอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลพลเรือน ซึ่งคือศาลอาญา ศาลนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยวันที่ 3-6 พฤศจิกายน 2563 

พลวัฒน์โปรยใบปลิวต้านรัฐประหาร

พลวัฒน์ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2558 จากการโปรยใบปลิวต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหาร สี่จุดในจังหวัดระยอง เป็นข้อความว่า “ตื่นและลุกขึ้นสู้ได้แล้วผู้รักประชาธิปไตยทั้งหลาย เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” เขาถูกกล่าวหาว่ายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ 368 และโปรยใบปลิวขัด พ.ร.บ.ความสะอาดฯ คดีพิจารณาที่ศาลทหารในจังหวัดชลบุรีเป็นเวลานานกว่าสี่ปี การสืบพยานเป็นไปอย่างล่าช้าเพราะเลื่อนนัดหลายครั้งเนื่องจากพยานไม่มาศาล จนกระทั่งคดีถูกโอนกลับไปพิจารณาที่ศาลพลเรือนคือศาลจังหวัดระยอง

เมื่อขึ้นศาลจังหวัดระยอง การสืบพยานเสร็จไปอย่างรวดเร็ว และในวันที่ 26 มีนาคม 2563 ศาลจังหวัดระยองพิพากษาให้จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ให้จำคุกสี่เดือน ไม่รอลงอาญา คดีอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ โดยจำเลยได้ประกันตัวเพื่อสู้คดีต่อในชั้นอุทธรณ์

ธเนตรด่าประเทศหน้าx – ชวนคนใส่เสื้อแดงไปอุทยานราชภักดิ์

ธเนตร นักกิจกรรมทางการเมืองถูกเจ้าหน้าที่จับกุมเมื่อ 13 ธันวาคม 2558 และถูกกล่าวหาว่า กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากการโพสต์เฟซบุ๊กเผยแพร่ภาพข้อความ แสดงความคิดเห็น และแชร์เฟซบุ๊กของผู้อื่น โจมตีรัฐบาล, กองทัพ และประเด็นการทุจริตก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ โดยระหว่างฝากขัง เจ้าหน้าที่ยังไม่ได้ระบุว่า ข้อความใดบนเฟซบุ๊กที่เป็นพฤติการณ์ให้ถูกดำเนินคดี

วันที่ 18 ธันวาคม 2558 ธเนตรได้รับการประกันตัวและปล่อยตัวจากเรือนจำ แต่ 20 มกราคม 2559 ธเนตร ผู้ต้องหาไม่มาตามกำหนดนัด ศาลทหารกรุงเทพจึงยึดหลักทรัพย์ประกันและออกหมายจับ วันที่ 26 กรกฎาคม 2559 ธเนตรเข้ามอบตัวและนัดส่งตัวให้ศาลทหารในอีกสองวันถัดไป จากนั้น 17 ตุลาคม 2559 ธเนตรถูกฟ้องต่อศาลทหารกรุงเทพ เป็นความผิดจากการโพสต์เฟซบุ๊ก จำนวน 5 ครั้ง เขาไม่ได้ประกันตัวและถูกคุมขังเรื่อยมาระหว่างที่การพิจารณาคดีเดินไปอย่างล่าช้า จนกระทั่งหลัง คสช.ออกคำสั่งยกเลิกการเอาพลเรือนขึ้นศาลทหาร คดีของธเนตรจึงถูกโอนไปพิจารณาต่อที่ศาลพลเรือน

วันที่ 12-13 พฤษภาคม 2563 ศาลอาญานัดสืบพยานโจทก์และจำเลยต่อจากการสืบพยานในศาลทหารกรุงเทพเสร็จสิ้นแล้ว นัดฟังคำพิพากษาวันที่ 25 มิถุนายน 2563 ธเนตรถูกควบคุมก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาเป็นเวลาสามปี สิบเดือน

แปดแอดมินเพจ ‘เรารักพลเอกประยุทธ์’ ชวนคนไปลอยกระทงไล่เผด็จการ

วันที่ 27 เมษายน 2559 จำเลยทั้งแปดคนถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจนำกำลังบุกจับที่บ้านของแต่ละคนในเวลาไล่เลี่ยกัน ทั้งหมดถูกควบคุมตัวที่ค่ายทหารเป็นเวลาหนึ่งคืนก่อนจะถูกนำตัวมาที่กองบังคับการปราบปรามในช่วงเย็นวันที่ 28 เมษายน 2556 และถูกกล่าวหาว่า ทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการทำเพจเฟซบุ๊ก “เรารักพล.อ.ประยุทธ์”

วันที่ 29 เมษายน 2559 ผู้ต้องหาทั้งแปดถูกนำตัวไปขออำนาจศาลทหารฝากขังและถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพและทัณฑสถานหญิงกลางเป็นเวลา 12 วัน หลังศาลทหารมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวเพราะพฤติการณ์แห่งคดีมีความร้ายแรงและทำเป็นขบวนการ อย่างไรก็ตามในวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ศาลทหารก็อนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหาทั้งแปดคนด้วยหลักทรัพย์คนละ 200,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามออกนอกประเทศหรือมีพฤติการณ์ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง

ระหว่างการพิจารณาคดีในศาลทหารกรุงเทพสามารถสืบพยานโจทก์ไปได้เพียงเพียงปากเดียว คือ ปากของพลเอกวิจารณ์ จดแตง ผู้กล่าวหาและยังไม่เสร็จสิ้น วันที่ 25 กรกฎาคม 2562 ศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีของทั้งแปดออกจากสารบบความของศาลทหาร และสั่งให้ย้ายคดีไปอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลพลเรือน ซึ่งคือศาลอาญา

ศาลอาญานัดสืบพยานโจทก์วันที่ 2-5 และ 19 กุมภาพันธ์ 2564 9-10 มีนาคม 2564 และนัดสืบพยานจำเลยวันที่ 10-12 และ 25 มีนาคม 2564

 

คดีฝ่าฝืนการรายงานตัวตามคำสั่ง คสช.

เมื่อเข้ายึดอำนาจ คสช.ได้มีคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัวไม่น้อยกว่า 929 คน เช่น นักการเมืองและนักกิจกรรมทางการเมือง ต่อมาวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 คสช. ได้ออกประกาศ คสช. ที่ 41/2557 เรื่อง กำหนดให้การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกบุคคลมารายงานตัวเป็นความผิด ต้องโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และถูกสั่งห้ามกระทำการใดๆ หรือสั่งให้กระทำการใดๆ เกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงินหรือการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สิน ซึ่งประกาศดังกล่าวถูกเผยแพร่ลงในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 30 พฤษภาคม 2557 เท่าที่ติดตามได้มีคดีที่ยังคงค้างพิจารณาดังนี้

คดีของจาตุรนต์

วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เมื่อเข้ายึดอำนาจ คสช. ออกคำสั่ง ฉบับที่ 1/2557 เรียกจาตุรนต์ ฉายแสง ร่วมกับนักการเมืองพรรคเพื่อไทยอีกหลายคนให้เข้ารายงานตัว จาตุรนต์ไม่เข้ารายงานตัวตามกำหนดพร้อมทั้งโพสต์เฟซบุ๊กประกาศว่า เขาไม่ยอมรับการรัฐประหารจึงไม่อาจปฏิบัติตามคำสั่งรายงานตัวได้ ต่อมาเขาถูกอัยการศาลทหารกรุงเทพสั่งฟ้องในข้อหาฝ่าฝืนการรายงานตัวตามคำสั่ง คสช.

ช่วงต้นของการพิจารณาคดีจาตุรนต์ได้ยื่นคัดค้านอำนาจการพิจารณาคดีของศาลทหารระบุว่า การกระทำของเขาเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22-24 และวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 และสิ้นสุดลงก่อนที่ประกาศ คสช. ที่ 37 และ 38 เรื่องคดีที่อยู่ในเขตอำนาจศาลทหารจะมีผลบังคับใช้ โดยประกาศทั้งสองฉบับประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 30 พฤษภาคม 2557 และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2557 คดีของจำเลยจึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม ไม่ใช่ศาลทหาร คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจระหว่างศาลมีคำสั่งว่า ในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัว คดีอยู่ในอำนาจวินิจฉัยของศาลพลเรือน ขณะนี้ยังไม่สามารถติดตามนัดคดีได้

คดีของวรเจตน์

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งคณะนิติราษฎร์ ถูก คสช. ประกาศเรียกให้มารายงานตัวตามคำสั่ง ที่ 5/2557 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 แต่ไม่สามารถมารายงานตัวภายในกำหนด ต่อมาวันที่ 17 มิถุนายน 2557 เขาประสานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อรายงานตัว จากนั้นเจ้าหน้าที่ทหารกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ นำตัววรเจตน์ออกจากกองบังคับการปราบปราม ไปยังศาลทหารกรุงเทพเพื่อยื่นขอฝากขัง ครอบครัวของวรเจตน์ได้ยื่นหลักทรัพย์เงินสด 20,000 บาทเพื่อขอประกันตัว

ศาลทหารมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว โดยมีเงื่อนไขห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง ต้องขออนุญาตก่อนออกนอกราชอาณาจักรและให้มารายงานตัวตามวันที่นัดหมาย หลังจากนั้นวันที่ 4 สิงหาคม 2557 อัยการศาลทหารกรุงเทพมีความเห็นสั่งฟ้องวรเจตน์ในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัว คดีมีนัดสืบพยานหลายนัดจนกระทั่งสืบพยานฝ่ายโจทก์เสร็จสิ้นและเริ่มสืบพยานฝ่ายจำเลย กลางปี 2562 ศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีของวรเจตน์ออกจากสารบบความของศาลทหาร และสั่งให้ย้ายคดีไปอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลพลเรือน ซึ่งคือศาลแขวงดุสิต โดยนัดสืบพยานที่เหลืออีกสามปาก วันที่ 27-29 กรกฎาคม 2563

You May Also Like
อ่าน

กสม.ชี้หน่วยงานรัฐไทยเอี่ยวใช้สปายแวร์เพกาซัส ชงครม.สั่งสอบ-เรียกเอกสารลับ

กสม. เชื่อว่า มีการใช้สปายแวร์ เพกาซัสละเมิดสิทธิจริง โดยพิจารณาจากความน่าเชื่อถือของการตรวจสอบทางเทคนิคคอมพิวเตอร์ และบริบทแวดล้อมในต่างประเทศ นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า หน่วยงานรัฐไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้สปายแวร์
อ่าน

ขนุน สิรภพ “คงแค่ยิ้มสู้” ระหว่างศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัวในคดีมาตรา 112

ขนุน สิรภพ “คงแค่ยิ้มสู้” ระหว่างศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัวในคดีมาตรา 112 . สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ หรือขนุน นิสิตรัฐศาสตร์จากมศว จำเลยในคดีมาตรา 112 จากการกล่าวปราศรัยระหว่างการชุมนุม #ม็อบ18พฤศจิกา . 25 มีนาคม ที่ผ่านมาศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษา จำคุก 3 ปี แต่เนื่องจากการนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง ศาลจึงลดโทษหนึ่งในสามคงจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา . จนถึงวันนี้(4 เมษายน 2567) เป็นเวลา 10 วันแล้วที่ศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัว