สำรวจการชุมนุมยุคโควิด 19 ในต่างประเทศ

“ผมไม่ได้ไปปิดกั้นประชาชนเลยนะ ประชาชนถ้าจะชุมนุมก็ไปขอตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ของท่านนะ ในส่วนตรงนี้เขาไม่ต้องการให้คนไปอยู่รวมกลุ่มมากๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด ก็แล้วแต่ท่าน จะกลัวหรือไม่กลัวก็ไม่รู้เหมือนกันนะ ผมไม่ได้ไปขู่อะไรท่านอยู่แล้ว” – ประยุทธ์ จันทร์โอชา – 30 มิถุนายน 2563

“ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ทั้งนี้ ภายในเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงประกาศกำหนด” – ข้อกำหนดฉบับที่ 1 ออกตามความในมาตรา 9 ของพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 – 25 มีนาคม 2563

“มาตรการความมั่นคงและมาตรการฉุกเฉิน หากจำเป็น ต้องใช้เพียงชั่วคราว ได้สัดส่วน และใช้เพื่อปกป้องประชาชน” – รายงานสหประชาชาติ: โควิด-19 และสิทธิมนุษยชน – 23 เมษายน 2563

การแพร่ระบาดของโรค “โควิด 19” ในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายนเป็นไปอย่างรวดเร็วในหลายประเทศทั่วโลก โดยมี “ความแออัด” เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งของการแพร่ระบาด รัฐบาลของหลายประเทศจึงตัดสินใจจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมและการรวมตัวในหลายรูปแบบเพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาด 

ในกรณีของไทย เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 9 ของพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ออกข้อกำหนดฉบับที่ 1 และให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 26 มีนาคม 2563 โดยมีข้อกำหนดห้ามการชุมนุมอยู่ในข้อ 5 ซึ่งหากพิจารณาจากสถานการณ์ขณะออกข้อกำหนดก็พอเข้าใจได้ว่าเป็นไปเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดของโรคในช่วงเวลานั้น

อย่างไรก็ตามสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ภายในประเทศช่วงเดือนมิถุนายนต้องถือว่าคลายตัวแล้ว โดยข้อมูลจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) ระบุว่าตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม ถึงวันที่ 28 มิถุนายน 2563 ไม่มีผู้ติดเชื้อภายในประเทศรวมแล้วกว่า 34 วัน  แต่ข้อกำหนดห้ามการชุมนุมที่อ้างว่าเป็นไปเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด 19 กลับยังถูกคงไว้ ทำให้ประชาชนหลายภาคส่วนที่ต้องการใช้เสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญเพื่อสะท้อนปัญหาและสื่อสารความต้องการของตัวเองในประเด็นสาธารณะไปยังผู้มีอำนาจต้องเผชิญความเสี่ยงกับการถูกดำเนินคดีในความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งเท่าที่มีข้อมูลมีผู้ถูกตั้งข้อกล่าวหาในความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ไปแล้วอย่างน้อย 23 คน

ในขณะที่ผู้มีอำนาจในประเทศไทยพยายามอ้างเหตุผลในการจำกัดเสรีภาพว่า “สุขภาพสำคัญกว่าเสรีภาพ” แต่ในต่างประเทศมีกรณีศึกษาว่าการดำเนินมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสควบคู่กับการเปิดพื้นที่การแสดงออกของประชาชนสามารถทำได้ และการชุมนุมหากมีการบริหารจัดการที่ดี ก็ไม่ได้เป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงมากไปกว่ากิจกรรมกลางแจ้งอื่นๆ และยังไม่พบว่ามีการชุมนุมที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ที่มีการดำเนินมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสกลายเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดครั้งใหม่ 

 

อิสราเอล: ต้นแบบการชุมนุมแบบเว้นระยะห่างทางสังคม

ประเทศอิสราเอลเป็นตัวอย่างของการชุมนุมแบบเว้นระยะห่างทางสังคม เมื่อวันที่ 16 และ 19 เมษายน ปรากฏภาพผู้ชุมนุมมากกว่า 2,000 คน ชุมนุม ณ จตุรัสใจกลางเมืองหลวงบนจุดที่ผู้จัดการชุมนุม-ผู้ชุมนุม-เจ้าหน้าที่ได้ช่วยกันจัดให้มีการเว้นระยะห่างกันสองเมตร ผู้ชุมนุมเกือบทุกคนสวมหน้ากากพร้อมถือป้ายสโลแกนประท้วงนายกรัฐมนตรีประกอบกับถือธงดำคู่ธงชาติอิสราเอล จนเป็นที่กล่าวขานกันไปทั่วโลกในฐานะการชุมนุมแบบ new normal

วันที่ 15 มีนาคม 2563 รัฐบาลอิสราเอลสั่งห้ามการรวมกลุ่มกันเกินสิบคนหลังมียอดผู้ติดเชื้อโควิดสะสม 193 คน ในวันเดียวกันรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมก็ประกาศให้ศาลยุติการทำงาน ส่งผลให้การพิจารณาคดีทุจริตสามคดีของนายกรัฐมนตรีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาถูกเลื่อนออกไปจนถึงวันที่ 24 พฤษภาคม 2563 ต่อมาในวันที่ 19 มีนาคม รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมภายในประเทศพุ่งสูงถึง 707 คน ในวันเดียวกันประธานรัฐสภาก็สั่งปิดสมัยประชุมเพื่อลดความเสี่ยงในการระบาดของโควิด 19  ต่อมาวันที่ 25 มีนาคม รัฐบาลเห็นชอบมาตรการฉุกเฉินเพื่อควบคุมการระบาดทางสังคมหลังอัตราการแพร่ระบาดเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง สั่งห้ามออกจากเคหสถานและรวมกลุ่มทางสังคม แต่มาตรการดังกล่าวได้ละเว้นการออกจากเคหสถานเพื่อการชุมนุมไว้อย่างชัดเจน 

แม้จะมีประกาศห้ามรวมกลุ่มเกินสิบคนในที่สาธารณะออกมาตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2563 แล้ว แต่ในวันที่ 19 มีนาคม 2563 วันเดียวกับที่มีประกาศปิดสภา มีประชาชนมากกว่า 100 คนรวมตัวถือธงดำประท้วงที่หน้ารัฐสภาอิสราเอล ผู้ประท้วงกล่าวหานายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ว่าอาศัยวิกฤติโควิดรวมอำนาจ ภายหลังจากที่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพได้ รวมทั้งตัวเขาเองก็กำลังถูกพิจารณาคดีทุจริตในชั้นศาลระหว่างที่การชุมนุมดำเนินไป เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมผู้ประท้วงจำนวนหนึ่งในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งห้ามรวมตัวเกินสิบคน แต่ไม่มีข้อมูลว่าหลังการจับกุมมีการดำเนินคดีหรือไม่ 

หลังการประท้วงในวันที่ 19 มีนาคม 2563 กระแสการต่อต้านรัฐบาลคลายตัวลง นักกิจกรรมบางส่วนเปลี่ยนไปประท้วงบนโลกออนไลน์ ขณะที่บางส่วนยังเลือกที่จะลงถนน เมื่อมีข่าวลือว่านายกรัฐมนตรีมีความพยายามที่จะจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติร่วมกับพรรคฝ่ายค้าน ก็มีนักกิจกรรมและประชาชนบางส่วนออกมาชุมนุมในที่สาธารณะ การชุมนุมครั้งนั้นส่งผลให้แกนนำและผู้ร่วมชุมนุมบางส่วนถูกลงโทษปรับ แม้ว่ามาตรการล็อกดาวน์และจำกัดระยะทางออกนอกเคหสถานจะยกเว้นไม่ให้ใช้บังคับกับคนที่ออกมาเพื่อร่วมชุมนุมก็ตาม 

ในวันที่ 16 เมษายน 2563 ผู้ชุมนุมกว่า 2,000 คน รวมตัวกันโบกธงดำกลางกรุงเทลอาวีฟ เมืองหลวงของอิสราเอลเพื่อประท้วงรัฐบาลของเนทันยาฮู โดยมีการวางมาตรการรักษาระยะห่าง 2 เมตร ระหว่างบุคคล  

“ประชาชนชาวอิสราเอลกำลังพิสูจน์ให้เห็นในวันนี้ว่า ประชาธิปไตยของอิสราเอลจะไม่ยอมให้มีการทำ ‘รัฐประหารทางการแพทย์’ โดยใช้โควิด 19 เป็นข้ออ้าง” หนึ่งในผู้จัดการชุมนุมเปิดเผยกับไทม์สออฟอิสราเอล สื่อท้องถิ่นฉบับหนึ่ง 

ต่อมาในวันที่ 19 เมษายน รัฐบาลส่งสัญญาณผ่อนคลายมาตรการทางสังคม ทำให้ในคืนนั้นมีการชุมนุมที่ใหญ่ขึ้น โดยประชาชนราว 2,800 คนรวมตัวกันที่จตุรัสกลางกรุงเทลอาวีฟ เพื่อประท้วงการใช้อำนาจโดยมิชอบของนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนตันยาฮู ในประเด็นการพยายามจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติและการยุติการสืบสวนคดีของศาลอีกครั้ง โดยผู้จัดงานได้ทำเครื่องหมายจุดแสดงที่ยืนของผู้ชุมนุมกลางจตุรัสให้ห่างกันสองเมตร ระหว่างการชุมนุมเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยสอดส่องการเว้นระยะห่างทางสังคม กิจกรรมมีการถือป้าย ธง การตะโกน และการปราศัย โดยภาพข่าวแสดงให้เห็นว่าผู้ชุมนุมทั้งหมดสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างและยืนเรียงกันจนเต็มจตุรัส กิจกรรมเป็นไปอย่างสงบ จนเป็นที่กล่าวขานไปทั่วโลกในฐานะตัวอย่างการชุมนุมในยุคโควิด และอิสราเอลก็มีการประท้วงหลังจากนั้นตลอดทุกสัปดาห์   

ในช่วงเดือนมิถุนายนเมื่อมีกระแสข่าวแผนการผนวกดินแดนปาเลสไตน์ก็มีประชาชนกลุ่มหนึ่งออกมาชุมนุมประท้วง การชุมนุมครั้งนั้นเป็นไปอย่างเรียบร้อยแต่อาจจะมีความหละหลวมในมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมไปบ้าง ระหว่างที่การชุมนุมดำเนินไปมีเจ้าหน้าที่เข้ามาติงผู้ชุมนุมเรื่องความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโควิด 19 แต่สุดท้ายการชุมนุมก็ดำเนินต่อไปโดยไม่มีข้อมูลว่ามีการจับกุมดำเนินคดีกับบุคคลใด และไม่มีรายงานว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้นในอิสราเอลกลายเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดโควิด 19 

อย่างไรก็ดี รายงานของรัฐบาลอิสราเอลในวันที่ 20 มิถุนายน ระบุว่า ประเทศได้เข้าสู่การระบาดระลอกที่สองแล้วหลังอัตราผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละ 7% ตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มขึ้นจาก 17,071 คน เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563 เป็น 24,441 คนในวันที่ 30 มิถุนายน 2563 โดยรัฐมนตรีสาธารณสุขระบุว่าประชาชนไม่ปฏิบัติตามข้อแนะนำเว้นระยะห่างทางสังคมและสวมใส่หน้ากาก 

ข้อสังเกตที่น่าสนใจ – อิสราเอล

– รัฐใช้มาตรการฉุกเฉินคุมโควิดแต่ยกเว้นใช้สามารถชุมนุมประท้วงได้

– ชุมนุมเว้นระยะห่างทางสังคมทำได้ ถ้ารัฐอำนวยความสะดวกและไม่ใช้สถานการณ์ระบาดมาเป็นข้ออ้าง

– ไม่มีรายงานว่าการชุมนุมเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของโควิด 19 ในอิสราเอล

 

นิวซีแลนด์: โควิดหมด เลิกมาตรการพิเศษ ไม่หมกเม็ดลิดรอนเสรีภาพ

เมื่อมีการระบาดของโควิด 19 ภายในประเทศ รัฐบาลนิวซีแลนด์ประกาศใช้มาตรการที่เข้มข้นเพื่อควบคุมการระบาดของไวรัส เมื่อประเทศเข้าสู่สภาวะปลอดภัยและไม่ตรวจพบการระบาดภายในประเทศ รัฐบาลนิวซีแลนด์ก็ผ่อนคลายมาตรการต่างๆ รวมทั้งคืนเสรีภาพในการชุมนุมให้ประชาชนโดยไม่รอช้า

รัฐบาลนิวซีแลนด์ประกาศมาตรการล็อกดาวน์ในวันที่ 23 มีนาคม 2563 (มีผลบังคับใช้ 25 มีนาคม 2563) หลังมีตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมในประเทศ 102 คน หลังมีการประกาศมาตรการดังกล่าว นายกรัฐมนตรีจาซินดา อาร์เดิร์น ระบุว่า ประชาชนยังมีสิทธิออกจากเคหสถานแต่ห้ามเข้าใกล้บุคคลอื่น 

หลังจากนั้นเมื่อสถานการณ์ในประเทศเริ่มคลี่คลายรัฐบาลก็ทยอยผ่อนปรนมาตรการต่างๆ จนสามารถประกาศว่าประเทศปลอดโรคโควิด 19 เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2563 หลังไม่พบผู้ติดเชื้อภายในประเทศตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2563 (รวม 17 วัน) ในวันเดียวกันรัฐบาลประกาศยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ทั้งหมดซึ่งรวมถึงการห้ามรวมตัว และนับจากการยกเลิกมาตรการเหล่านั้นจนถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2563 ไม่พบว่ามีการระบาดระลอกใหม่ในประเทศนิวซีแลนด์แต่อย่างใด ในวันที่ 16 มิถุนายนมีการตรวจพบผู้ติดเชื้อรายใหม่แต่เป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศเป็นกรณีพิเศษ ไม่ใช่ผู้ติดเชื้อในประเทศ และจนถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อในประเทศรายใหม่อีก 

ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2563 เกิดกรณีจอร์จ ฟลอยด์ ชาวผิวดำในสหรัฐอเมริกาเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวโดยตำรวจในสหรัฐฯ ก่อให้เกิดกระแสประท้วงต่อต้านการเหยียดผิวและเลือกปฏิบัติ #BlackLivesMatter ไปทั่วโลกรวมทั้งที่นิวซีแลนด์ ซึ่งมีการจัดประท้วงดังกล่าวในวันที่ 1 มิถุนายน 2563 โดยมีผู้เข้าร่วมชุมนุมมากกว่า 1,000 คน ซึ่งเป็นเวลาสิบวันนับจากที่ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศ

หลังการประท้วงดังกล่าวรัฐบาลตำหนิผู้จัดงานและผู้ร่วมชุมนุมว่า แม้รัฐบาลจะเห็นด้วยว่าการเหยียดสีผิวเป็นปัญหาร่วมของนิวซีแลนด์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกปฏิบัติต่อชาวพื้นเมือง แต่ก็ขอให้ประชาชนใช้วิธีอื่นในการแสดงออกเพื่อไม่ให้ความพยายามป้องกันการระบาดของโควิดสูญเปล่า พร้อมชี้ว่าผู้ชุมนุมฝ่าฝืนกฎเว้นระยะห่างทางสังคม หลังปรากฏภาพผู้ชุมนุมบางส่วนไม่ได้ใส่หน้ากากและไม่เว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเคร่งครัด อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรการเฝ้าระวังระดับสองของรัฐบาลนิวซีแลนด์ที่ประกาศใช้อยู่ในเวลานั้น 

อย่างไรก็ดีไม่มีรายงานว่าการชุมนุมนำไปสู่การติดเชื้อ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่และผู้จัดกิจกรรมมีการสื่อสารและวางแนวทางการจัดกิจกรรมในครั้งต่อไปให้เป็นไปอย่างเรียบร้อย โดยผู้จัดงานได้เตรียมเจลแอลกอฮอล์ให้กับผู้ชุมนุม และกิจกรรมในครั้งต่อมาก็เป็นไปอย่างเรียบร้อย ไม่มีการกีดกันจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งได้คำนึงถึงความสำคัญทางการเมืองของการประท้วง โดยเจ้าหน้าที่ของนิวซีแลนด์นายหนึ่งระบุว่า การปราบปรามและจับกุมผู้ชุมนุมในประเด็นที่สำคัญต่อการเมืองระดับโลกในสภาวะที่การระบาดของโควิดเริ่มน้อยลงอาจนำไปสู่ความรุนแรงได้ ทางตำรวจจึงระบุว่าจะไม่มีการดำเนินคดีใดๆ

การชุมนุม #BlackLivesMatter ในนิวซีแลนด์ได้ขยายไปเป็นการชุมนุมเพื่อสิทธิคนพื้นเมือง ซึ่งแกนนำตั้งข้อสังเกตว่าคนพื้นเมืองมีโอกาสตกเป็นเหยื่อความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจมากกว่าคนผิวขาวถึง 66% จึงมีการชุมนุมต่อเนื่อง โดยมีรายงานการชุมนุมครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2563 ซึ่งก็ไม่มีรายงานความวุ่นวาย การจับกุมตามมา รวมทั้งไม่มีรายงานว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้นเป็นจุดศูนย์กลางการระบาดของโควิด 19 ระลอกใหม่ 

ข้อสังเกตเพิ่มเติมในทางกฎหมาย คือภายใต้มาตรการเฝ้าระวังระดับสองที่ห้ามการรวมตัวทางสังคม แต่กฎหมายไม่นับการรวมตัวทางสังคมที่มีการเว้นระยะห่างทางสังคมมากกว่าสองเมตร และหลังเปลี่ยนเป็นมาตรการเฝ้าระวังระดับหนึ่งเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2563 ไม่มีข้อจำกัดในการรวมกลุ่มทางสังคมอีกต่อไป ซึ่งเป็นข้อแตกต่างที่สำคัญจากข้อห้ามตามมาตรา 9 ข้อ 5 ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของไทย ซึ่งมักถูกใช้กับผู้จัดกิจกรรมชุมนุม 

การควบคุมการระบาดของโควิด 19 ในนิวซีแลนด์มีความคล้ายกับกรณีของไทยที่มากที่สุดหากเปรียบเทียบเฉพาะกรณีศึกษาทั้งหมดในงานชิ้นนี้ คือนายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยใช้อำนาจฝ่ายบริหารที่มีข้อกำหนดห้ามการชุมนุมในที่สาธารณะในเวลาไล่เลี่ยกับไทย (ไทยประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในวันที่ 26 มีนาคม 2563 ส่วนนิวซีแลนด์ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินวันที่ 25 มีนาคม 2563) ขณะที่การปลอดผู้ติดเชื้อในประเทศติดต่อกันเกินระยะ 14 วัน ซึ่งเป็นระยะเวลาฟักตัวของไวรัส ระหว่างวันที่ 25 พฤษภาคม 2563 ถึงวันที่ 28 มิถุนายน 2563 ไม่มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศไทย ส่วนที่นิวซีแลนด์ไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศช่วงวันที่ 23 พฤษภาคม 2563 ถึงวันที่ 16 มิถุนายน 2563 เท่ากับว่าทั้งสองประเทศมีระยะเวลาปลอดผู้ติดเชื้อภายในประเทศในช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกัน แต่ไทยยังคงห้ามการชุมนุม ขณะที่นิวซีแลนด์ยกเลิกการห้ามชุมนุมตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2563 

ข้อสังเกตที่น่าสนใจ – นิวซีแลนด์

มาตรการห้ามการชุมนุมถูกผ่อนคลายหลังไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศเป็นเวลา 17 วัน

– ชุมนุมเว้นระยะห่างทางสังคมทำได้ โดยรัฐช่วยอำนวยความสะดวก

– ไม่มีรายงานว่าการชุมนุมเป็นศูนย์กลางการระบาดของโรค

 

ฝรั่งเศส: ใช้มาตรการฉุกเฉินผ่านกลไกสภา ก่อนผ่อนคลายเมื่อหมดความจำเป็น

ขบวนการเสื้อกั๊กเหลืองจัดการชุมนุมในฝรั่งเศสตั้งแต่ก่อนมีการระบาดของโควิด 19 เมื่อมีการระบาดของโควิด 19 รัฐสภาฝรั่งเศสผ่านกฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการสาธารณสุขที่มีเนื้อหาจำกัดเสรีภาพของประชาชนบางประการเพื่อควบคุมการระบาดของไวรัส การชุมนุมของกลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองที่มีมาก่อนหน้านี้จึงถูกจำกัดและเกิดเหตุสลายการชุมนุมเป็นครั้งคราวเมื่อมีผู้ฝ่าฝืนมาตรการออกมาชุมนุม แต่การผ่านกฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินนี้ก็ดำเนินการผ่านกลไกรัฐสภาที่มีการตรวจสอบถ่วงดุล นอกจากนั้นเมื่อสถานการณ์ระบาดของไวรัสเริ่มคลายตัว มาตรการจำกัดเสรีภาพรวมทั้งเสรีภาพการชุมนุมก็ถูกผ่อนคลายตามลำดับ

ประเทศฝรั่งเศสเริ่มยกระดับมาตรการควบคุมโรคตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2563 หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมพุ่งถึง 3,661 คน โดยกระทรวงสาธารณสุขฝรั่งเศสสั่งห้ามการรวมตัวหรือชุมนุมมากกว่า 100 คนในสถานที่ใดๆ จากนั้นในวันที่ 22 มีนาคม 2563 หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมในประเทศพุ่งถึง 14,459 คน สภาล่างของฝรั่งเศสเห็นชอบให้ออกกฎหมายใหม่คือ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข เป็นเวลาสองเดือน ซึ่งตามกฎหมายนี้ประธานาธิบดีมีอำนาจสั่งปิดสถานที่สาธารณะที่มีความเสี่ยงในการแพร่ระบาดและห้ามการเคลื่อนย้ายหรือเดินทางที่ไม่จำเป็นของประชาชนได้ โดยมีข้อน่าสังเกตว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของฝรั่งเศส ยังคงให้อำนาจศาลปกครองในการพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจของประธานาธิบดี และการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวก็ไม่ได้เป็นการดำเนินการโดยลำพังของฝ่ายบริหาร หากแต่กลไกด้านนิติบัญญัติได้เข้ามามีส่วนร่วมตรวจสอบถ่วงดุลด้วย 

สำหรับสถานการณ์การชุมนุมในประเทศฝรั่งเศส กลุ่ม “เสื้อกั๊กเหลือง” เริ่มการประท้วงทุกวันเสาร์อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2561 โดยประเด็นที่ผู้ประท้วงหยิบยกมาพูดถึงมีทั้งปัญหาปากท้อง การขึ้นภาษีที่กระทบต่อผู้ใช้แรงงาน และประเด็นความอยุติธรรมในสังคมในภาพรวม กลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองเคยจัดการประท้วงใหญ่ในหลายหัวเมืองพร้อมกันทั่วประเทศแล้วอย่างน้อย 17 ครั้ง ซึ่งการชุมนุมบางครั้งอาจมีผู้ร่วมชุมนุมสูงถึง 2,000 คน ระหว่างการชุมนุมเคยมีกรณีที่ผู้ชุมนุมกีดขวางการจราจรและพยายามฝ่าเครื่องกีดขวางของเจ้าหน้าที่ ในบางครั้งก็มีผู้ชุมนุมบางส่วนกระทำการในลักษณะที่เจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นการยั่วยุ จนเป็นเหตุให้การชุมนุมบางครั้งต้องจบลงด้วยการสลายการชุมนุมที่มีการใช้แก๊สน้ำตา 

เมื่อมีการแพร่ระบาดของโควิด 19 ในประเทศฝรั่งเศส กลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองยังคงจัดการชุมนุมต่อไป ในวันที่ 14 มีนาคม 2563 ทางกลุ่มจัดการชุมนุมใจกลางกรุงปารีส ครั้งนั้นประเด็นสำคัญในการชุมนุมคือการต่อต้านการปฏิรูประบบบำนาญแห่งชาติ ทางการฝรั่งเศสประมาณการว่าน่าจะมีผู้เข้าร่วมการชุมนุมครั้งนั้นประมาณ 400 คน แม้ผู้ชุมนุมบางส่วนจะสวมหน้ากากอนามัย แต่การชุมนุมดำเนินไปโดยที่มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมเป็นไปอย่างหละหลวม การชุมนุมที่เริ่มตั้งแต่ช่วงเช้าทวีความตึงเครียดขึ้นในช่วงบ่ายและจบลงด้วยการสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตา เจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสจับกุมผู้ชุมนุมในความผิดฐานฝ่าฝืนกฎการเว้นระยะห่างทางสังคม 

ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2563 ทางการฝรั่งเศสเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ระยะที่หนึ่ง แต่ยังคงมาตรการห้ามรวมตัวมากกว่าสิบคนในที่สาธารณะ และจำกัดการเคลื่อนย้ายหรือเดินทางของประชาชนให้อยู่ในระยะไม่เกิน 100 กิโลเมตรจากเคหสถาน ต่อมาในวันที่ 2 มิถุนายน 2563 ทางการฝรั่งเศสผ่อนคลายมาตรการรล็อกดาวน์ระยะที่สอง อนุญาตให้จัดการชุมนุมได้ตามปกติแต่ต้องเคารพกฎการเว้นระยะห่างทางสังคม  ข้อสังเกตที่สำคัญคือการผ่อนคลายมาตรการห้ามการรวมตัวในพื้นที่สาธารณะเป็นไปในทิศทางเดียวกันสำหรับกิจกรรมลักษณะคล้ายกัน คือไม่มีการห้ามการชุมนุมในขณะที่ผ่อนคลายการรวมตัวกันในพื้นที่สาธารณะในที่คล้ายกันได้แล้ว (ซึ่งต่างจากกรณีของไทย)

สำหรับการประท้วงของกลุ่มเสื้อกั๊กเหลือง มีรายงานว่าผู้ชุมนุมในบางพื้นที่ออกมาเคลื่อนไหวตั้งแต่วันเสาร์แรกหลังการผ่อนคลายมาตรการในระยะที่หนึ่ง ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2563 ทางกลุ่มจัดการชุมนุมในหลายหัวเมือง ในบางพื้นที่มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 100 คน ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนมาตรการผ่อนคลายระยะแรกและปรากฏภาพผู้ชุมนุมบางส่วนทะเลาะกับผู้ที่ใช้เส้นทางสัญจรไปมาด้วย ในบางพื้นที่ที่มีผู้ร่วมชุมนุมเกิน 100 คน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการเปรียบเทียบปรับผู้ชุมนุมบางส่วนในความผิดฐานฝ่าฝืนมาตรการของรัฐ  

ในเดือนมิถุนายน 2563 ที่มีการเคลื่อนไหวต่อต้านการแบ่งแยกเหยียดผิว #BlackLivesMatter ที่ฝรั่งเศสก็มีการชุมนุมระลอกใหม่เช่นกัน ซึ่งเบื้องต้นทางการฝรั่งเศสขอความร่วมมือให้ผู้ชุมนุมเคารพกฎการเว้นระยะห่างทางสังคม ในวันที่ 3 มิถุนายน 2563 มีการชุมนุมของประชาชนราว 20,000 คน ในช่วงสองชั่วโมงแรกของการรวมตัว การชุมนุมเป็นไปอย่างสงบ แต่หลังจากนั้นเริ่มมีเหตุจลาจล และมีการจุดไฟกลางถนนในบางพื้นที่ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงตอบโต้ด้วยแก๊สน้ำตา ทั้งนี้การสลายการชุมนุมเกิดขึ้นเมื่อเริ่มมีเหตุรุนแรงเท่านั้น ในช่วงที่การชุมนุมดำเนินไปอย่างสงบเจ้าหน้าที่ไม่ได้ใช้กำลังเข้ามาระงับหรือห้ามการชุมนุมแต่อย่างใด   

สถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ในประเทศฝรั่งเศสโดยรวมมีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ อย่างช้าๆ ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมถึงวันที่ 26 มิถุนายน 2563 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ยประมาณ 500 คนต่อวันจากที่ในช่วงกลางเดือนมีนาคมถึงเมษายนมีตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่เฉลี่ยประมาณ 4,000 คนต่อวัน สาเหตุที่ฝรั่งเศสมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการออกมาตรการตอบสนองมีความล่าช้า แม้การชุมนุมจะเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการระบาดของโควิด 19 และที่ฝรั่งเศสก็มีการชุมนุมในช่วงเดือนมีนาคมซึ่งเป็นช่วงที่โควิด 19 มีการระบาดแล้ว แต่จนบัดนี้ยังไม่มีข้อมูลว่ามีผู้ป่วยที่ติดเชื้อจากการเข้าร่วมการชุมนุมหรือมีการชุมนุมที่เป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของไวรัส 

ข้อสังเกตที่น่าสนใจ – ฝรั่งเศส

– รัฐใช้มาตรการฉุกเฉิน แต่เป็นกฎหมายใหม่และผ่านการเห็นชอบของสภา 

– การชุมนุมในช่วงที่ไวรัสระบาดหนักถูกควบคุมอย่างเข้มข้น

– เมื่อกิจกรรมที่มีลักษณะและความเสี่ยงคล้ายหรือใกล้เคียงกับการชุมนุมได้รับการผ่อนคลาย การชุมนุมก็ได้รับการผ่อนคลาย

 

ฮ่องกง: เสรีภาพหดตัวแม้ไวรัสร้ายคลายตัว

แม้ฮ่องกงจะเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการระบาดของโควิด 19 เพราะอยู่ติดกับจีนแผ่นดินใหญ่ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการระบาดของโควิด 19 อย่างหนัก อีกทั้งยังเผชิญการชุมนุมยืดเยื้อคัดค้านร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยและต่อต้านอำนาจจีน อย่างไรก็ตามสถานการณ์ระบาดของโควิด 19 ในฮ่องกงกลับไม่รุนแรงแต่อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ซึ่งมีผู้วิเคราะห์ว่าที่การชุมนุมในฮ่องกงไม่กลายเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของโควิด 19 อาจเป็นเพราะผู้ชุมนุมสวมหน้ากากร่วมชุมนุมกันเป็นปกติอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนมีการระบาดของโควิด 19

การชุมนุมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562 โดยพุ่งเป้าไปที่การต่อต้านร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่เปิดทางให้ฮ่องกงส่งตัวผู้กระทำความผิดไปดำเนินคดีในจีนแผ่นดินใหญ่ได้ ในเวลาต่อมาการคัดค้านร่างกฎหมายได้พัฒนาเป็นการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยและอย่างรวดเร็ว นอกจากนั้นก็มีผู้ชุมนุมบางกลุ่มที่มีข้อเรียกร้องแหลมคมถึงขั้นเรียกร้องให้ฮ่องกงแยกตัวจากจีน 

กฎหมายความเรียบร้อยสาธารณะ (Public Order Ordinance) คือกฎหมายที่ถูกใช้เพื่อควบคุมการชุมนุมในฮ่องกงตั้งแต่ก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 โดยมีสาระสำคัญคือ การชุมนุมของคนตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป จะต้องแจ้งทางตำรวจไม่เกินเวลา 11 โมงเช้าของวันในสัปดาห์เดียวกับวันที่จะจัดกิจกรรมในสัปดาห์ถัดไป และตำรวจก็มีอำนาจที่จะไม่อนุญาตให้ผู้ชุมนุมจัดการชุมนุมโดยอ้างเหตุว่าเป็นการชุมนุมที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ ซึ่งกฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่าความมั่นคงในที่นี้หมายถึงความมั่นคงของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกสูงสุดห้าปี โดยมีข้อมูลว่าจนถึง 28 พฤษภาคม 2563 มีผู้ชุมนุมและนักเคลื่อนไหวถูกจับกุมจากการชุมนุมในฮ่องกงไปแล้วอย่างน้อย 9,000 คน นอกจากนี้ยังมีกฎหมายอีกฉบับคือ กฎหมายห้ามใส่หน้ากาก (Anti-Mask Law) ซึ่งเริ่มประกาศใช้ครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม 2562 มีเนื้อหาห้ามผู้ชุมนุมทุกกรณีใส่หน้ากากเพื่อปิดบังตัวตนหลังการชุมนุมมีความรุนแรงและยืดเยื้อ แต่ต้องหยุดบังคับใช้ไประยะหนึ่งเนื่องจากศาลชั้นต้นวินิจฉัยเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 ว่ากฎหมายดังกล่าวขัดกับกฎหมายพื้นฐานฮ่องกง (Basic Law) แต่เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2563 (ในวันดังกล่าวฮ่องกงมีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดสะสม 974 ราย) ศาลอุทธรณ์ตัดสินให้กฎหมายบังคับใช้ได้กับผู้ที่เข้าร่วมการชุมนุมที่ไม่ได้รับอนุญาตจากทางการก่อน ท่ามกลางเสียงวิจารณ์จากผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขว่าอาจเพิ่มความเสี่ยงในการระบาดของโควิดในฮ่องกงมากขึ้นในอนาคต โดยจนถึงวันดังกล่าว มี 682 รายถูกจับกุมด้วยความผิดตามกฎหมายฉบับนี้และมี 61 รายถูกดำเนินคดี 

ในส่วนของการแพร่ระบาดของโควิด 19 ฮ่องกงยืนยันผู้ป่วยโควิดสองรายแรกเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2563  หรือประมาณครึ่งปีหลังของการประท้วงใหญ่ในฮ่องกงเพื่อต่อต้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนในเดือนมิถุนายน 2562 การแพร่ระบาดของโควิด 19 ในวันที่ 27 มีนาคม 2563 เมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมพุ่งขึ้นไปถึง 518 คน ทางการฮ่องกงก็ดำเนินมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสอย่างเข้มข้นด้วยการประกาศใช้กฎหมายป้องกันและควบคุมโรค ซึ่งส่งผลให้การรวมกลุ่มมากกว่าสี่คนในที่สาธารณะกลายเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ แม้กฎหมายดังกล่าวจะยกเว้นการรวมตัวเพื่อกิจกรรมบางประเภท แต่การชุมนุมประท้วงไม่ใช่การรวมตัวที่ได้รับการยกเว้นให้ทำได้ตามกฎหมาย 

การระบาดของโควิด 19 ส่งผลให้การชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยลดขนาดและความถี่ลงตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์จนถึงเดือนเมษายน 2563 นักกิจกรรมบางส่วนเปลี่ยนไปใช้โลกออนไลน์รวมทั้งเกมออนไลน์เป็นพื้นที่แสดงออกทางการเมือง แต่การชุมนุมในพื้นที่สาธารณะก็ไม่ได้ยุติไปโดยสิ้นเชิง ประชาชนบางส่วนยังคงออกมาชุมนุมอยู่เป็นระยะ โดยผู้ชุมนุมต่างสวมหน้ากากในที่ชุมนุม อย่างไรก็ตามผู้ชุมนุมในฮ่องกงสวมใส่หน้ากากมาตั้งแต่ก่อนการระบาดของโควิด 19 แล้ว เพราะพวกเขาต้องการปกปิดตัวตนจากการสอดส่องโดยรัฐ รวมถึงหากมีการใช้แก๊สน้ำตา การสวมหน้ากากก็จะช่วยลดผลกระทบของแก๊สน้ำตา 

ข้อสังเกตที่สำคัญประการหนึ่งคือ ในช่วงระหว่างเดือนมกราคมถึงมีนาคมซึ่งยังมีการชุมนุมในที่สาธารณะกลับไม่พบการติดเชื้อเป็นวงกว้างแต่อย่างใด โดยอัตราการติดเชื้อใหม่รายวันระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนมีนาคมอยู่ที่ประมาณ 3-10 ราย แล้วจึงพุ่งสูงขึ้นไปอยู่ที่ 30-60 รายในช่วงครึ่งหลังของเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่มีการระบาดอย่างกว้างขวางทั่วโลก

แม้การแพร่ระบาดของโควิด 19 จะลดความร้อนแรงของการประท้วงในฮ่องกงไปบ้าง แต่ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2563 กระแสการประท้วงในฮ่องกงก็กลับมาปะทุอีกครั้ง หลังมีข่าวในวันที่ 25 พฤษภาคม 2563 ว่า สภาประชาชนแห่งชาติจีนต้องการผ่านกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งจะมีผลกระทบโดยตรงต่อขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลจีนในฮ่องกง โดยกำหนดให้ความผิดฐานแบ่งแยกตินแดน ยุยงปลุกปั่น ก่อการร้าย และการร่วมมือกับรัฐบาลต่างชาติ สามารถลงโทษจำคุกได้ตลอดชีวิต กฎหมายดังกล่าวเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 จากนั้นในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 มีชาวฮ่องกงออกมาชุมนุมประท้วงกฎหมายดังกล่าว มีผู้ชุมนุมบางส่วนถือป้ายและตะโกนคำขวัญของกลุ่มเรียกร้องให้ฮ่องกงแยกดินแดนเป็นอิสระ ซึ่งตำรวจได้ถือป้ายคำเตือนใหม่ว่าการกระทำดังกล่าวอาจมีความผิดตามกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ได้ การชุมนุมครั้งนั้นส่งผลให้มีผู้ชุมนุม 370 คน ถูกจับกุม โดยมีสิบคนที่ถูกจับด้วยกฎหมายความมั่นคงที่เพิ่งออกมาใหม่ตามรายงานของทางการฮ่องกง

แม้ว่าในช่วงเดือนมิถุนายนต่อเนื่องถึงต้นเดือนกรกฎาคม สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ในฮ่องกงจะเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีและไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อภายในตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2563 ส่งผลให้ในวันที่ 16 มิถุนายน 2563 ทางการฮ่องกงเริ่มผ่อนปรนมาตรการระยะห่างทางสังคม และขยายจำนวนการรวมตัวในที่สาธารณะ จากเดิมที่จำกัดให้ไม่เกิน 8 คน เป็นไม่เกิน 50 คน ทว่าการผ่อนปรนดังกล่าวก็ดูจะสวนทางกับเสรีภาพที่เริ่มหดหายหลังการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ที่ผ่านโดยทางการจีน

ข้อสังเกตที่น่าสนใจ – ฮ่องกง

– ผู้ชุมนุมสวมใส่หน้ากากและเว้นระยะห่างทางสังคมช่วยป้องกันการระบาดของไวรัสในพื้นที่การชุมนุม

– ศาลมีคำสั่งให้การสวมหน้ากากในพื้นที่การชุมนุมถือเป็นความผิด เพิ่มความเสี่ยงการระบาดของโควิด 19

 

สหรัฐอเมริกา: มาตรการตอบโต้การชุมนุมของรัฐก็อาจเป็นปัจจัยเสี่ยง

สหรัฐอเมริกาต้องเผชิญกับการชุมนุมสองระลอกในท่ามกลางการระบาดของโควิด 19 ช่วงแรกเป็นการชุมนุมต่อต้านมาตรการควบคุมโรคซึ่งผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ไม่สวมหน้ากาก ไม่เว้นระยะห่างทางสังคม ช่วงต่อมาคือการชุมนุม #BlackLivesMatter ซึ่งผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรค จนถึงปัจจุบันยังไม่มีรายงานว่าการชุมนุมในสหรัฐฯ เป็นศูนย์กลางการระบาดของโควิด 19 ขณะเดียวกันก็มีรายงานออกมาว่าวิธีการสลายการชุมนุมที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ อาจกลายเป็นปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงในการระบาดของโควิด 19 เสียเอง

สหรัฐอเมริกาพบผู้ติดเชื้อรายแรกเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2563 ที่มลรัฐวอชิงตัน thinkglobalhealth ผู้ติดเชื้อเป็นคนที่เดินทางกลับมาจากมณฑลอู่ฮั่นประเทศจีน จากนั้นในวันที่ 30 มกราคม 2563 มีรายงานการตรวจพบผู้ติดเชื้อภายในประเทศรายแรกที่มลรัฐอิลลินอยส์ มาตรการรับมือการระบาดของโควิด 19 ในสหรัฐฯ มีความหลากหลายตามแต่มลรัฐเนื่องจากรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ให้อำนาจรัฐบาลมลรัฐในการบริหารกิจการภายในมลรัฐ โดยรัฐบาลกลางสามารถประสานแต่ไม่สามารถบังคับนโยบายภายในได้ 

ซานฟรานซิสโกเป็นเมืองแรกที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 ห้าวันต่อมา มลรัฐวอชิงตันประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นมลรัฐแรก หลังจากนั้นจนถึงวันที่ 17 มีนาคม 2563 ซึ่งมีผู้ติดเชื้อสะสมในสหรัฐฯ 4,661 คน มลรัฐต่างๆ รวม 48 มลรัฐต่างทยอยประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งซึ่งทำให้รัฐบาลของแต่ละมลรัฐมีอำนาจกำหนดมาตรการล็อกดาวน์ต่างๆ เช่น ห้ามประชาชนออกจากเคหสถาน เป็นต้น การประกาศมาตรการล็อกดาวน์ส่งผลให้การชุมนุมเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายในบางมลรัฐ อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีทรัมป์มักให้สัมภาษณ์โจมตีมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมและข้อบังคับการใส่หน้ากากผ่านทางสื่ออยู่บ่อยครั้งจนทำให้กลุ่มผู้สนับสนุนของเขาซึ่งส่วนมากอยู่ในรัฐทางใต้ออกมาประท้วงมาตรการควบคุมโรคของมลรัฐ เช่น การบังคับสวมหน้ากากในที่สาธารณะหรือมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม  

มาตรการตอบสนองของมลรัฐต่างๆ ทำให้เกิดการประท้วงระลอกแรกใน 18 มลรัฐเมื่อช่วงกลางเดือนเมษายน มีข้อมูลว่าผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยมอเมริกันที่สนับสนุนประธานาธิบดีทรัมป์และสิทธิในการครอบครองอาวุธ บางส่วนเป็นผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากมาตรการล็อกดาวน์ การชุมนุมของกลุ่มผู้ต่อต้านมาตรการล็อกดาวน์โดยรัฐบาลมลรัฐ เกิดขึ้นในหลายมลรัฐโดยมีจำนวนผู้เข้าร่วมแตกต่างกันไปตั้งแต่หลักสิบถึงหลักพันคนแล้วแต่พื้นที่ 

ผู้ชุมนุมประท้วงมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมและข้อบังคับใส่หน้ากากเพราะรู้สึกว่ารัฐบาลกำลังล้ำสิทธิในร่างกายของตน ทำให้ปรากฏภาพผู้ชุมนุมกลุ่มนี้เกือบทั้งหมดไม่ใส่หน้ากากและไม่มีการเว้นระยะห่างทางสังคม ในบางพื้นที่ ผู้ชุมนุมถืออาวุธและพยายามเข้าไปในที่ว่าการมลรัฐแต่ไม่มีเหตุการณ์ปะทะรุนแรง เป็นที่สังเกตว่าการชุมนุมดังกล่าวในมลรัฐเท็กซัสเกิดขึ้นไม่กี่วันหลังผู้ว่าการมลรัฐประกาศจะผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ในเดือนพฤษภาคม  

ในบางพื้นที่ความพยายามในการบุกรุกที่ทำการของรัฐโดยผู้ชุมนุม นำไปสู่การปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุมแต่ก็ไม่มีเหตุรุนแรงบานปลาย ทั้งนี้มีข้อมูลว่าการชุมนุมของกลุ่มประชาชนที่คัดค้านมาตรการควบคุมโรคของรัฐบาลระดับมลรัฐมีความเสี่ยงที่จะเป็นจุดศูนย์กลางของการแพร่ระบาดของไวรัส เนื่องจากผู้ชุมนุมไม่เคารพมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ไม่สวมหน้ากากอนามัยและมีรายงานว่าผู้ชุมนุมที่ตรวจพบเชื้อโควิดรายหนึ่งไม่ยอมกักตัวและไปร่วมการชุมนุม กระแสการชุมนุมของคนกลุ่มนี้เริ่มเบาลงหลังหลายมลรัฐ ซึ่งส่วนมากเป็นรัฐที่มีผู้ว่าการรัฐสังกัดพรรครีพับลิกัน เริ่มผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม (ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 สหรัฐฯ มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมประมาณ 1.1 ล้านคน) 

การประท้วงระลอกสองในสหรัฐอเมริกาปะทุขึ้นหลังวันที่ 25 พฤษภาคม 2563 เกิดกรณีจอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวดำถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเมืองมินิอาโปลิส มลรัฐมินิโซตา จับกุมโดยใช้เข่ากดคอของเขาไว้ การจับกุมด้วยวิธีดังกล่าวทำให้ฟลอยด์หายใจไม่ออกและเสียชีวิตในที่สุด 

หลังเกิดเหตุตำรวจแถลงว่าฟลอยด์ขัดขืนการจับกุมแต่คลิปวิดีโอที่มีคนบันทึกเหตุการณ์ขณะที่ฟลอยด์ถูกจับกุมไม่ปรากฏเหตุการณ์ว่าฟลอยด์ขัดขืนการจับกุม คลิปวิดีโอบันทึกเหตุการณ์ยังแสดงด้วยว่าฟลอยด์ถูกเจ้าหน้าที่ใช้เข่ากดทับคอเป็นเวลาประมาณ การเสียชีวิตของฟลอยด์ทำให้เกิดความไม่พอใจการทำงานของเจ้าหน้าที่ในวงกว้างโดยเฉพาะในหมู่คนผิวดำ หนึ่งวันหลังการเสียชีวิตของฟลอยด์ วันที่ 26 พฤษภาคม 2563 มีการประท้วงทั้งในเมืองมินิอาโปลิสที่เกิดเหตุและเมืองอื่นๆ ทั่วประเทศ 

ผู้ชุมนุมเรียกร้องให้นำตัวเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาลงโทษ ให้ยุติการใช้กำลังเกินเหตุของตำรวจและเรียกร้องความยุติธรรมทางเชื้อชาติ ตำรวจเมืองมินิอาโปลิสใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยางสลายการชุมนุมหลังมีรายงานว่ามีผู้ชุมนุมบางส่วนหรือมือที่สามก่อการจลาจล ซึ่งนอกจากเมืองมินิอาโปลิสแล้วยังมีการชุมนุมประท้วงการกระทำของตำรวจเกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ ในบางพื้นที่การประท้วงบานปลายเป็นการจลาจลและมีการปล้นสะดม ตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2563 หลายเมืองทยอยประกาศเคอร์ฟิว และในบางพื้นที่มีการเรียกกองกำลังรักษาดินแดนแห่งชาติมาสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ 

แม้ในบางพื้นที่ความรุนแรงจะเกิดจากผู้ประท้วง แต่ก็ปรากฏว่ามีหลายกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้ยุยงให้เกิดความรุนแรงเสียเอง เช่น ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2563 ทรัมป์ทวิตข้อความประณามการปล้นสะดม เรียกผู้ชุมนุมทั้งหมดว่าเป็นพวกโจรพร้อมขู่ส่งกองกำลังรักษาดินแดนแห่งชาติไปปฏิบัติหน้าที่เพิ่มเติม ขณะเดียวกันก็มีรายงานการใช้ความรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างต่อเนื่อง เช่น ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2563 ที่เมืองมินิอาโปลิส ผู้สื่อขาวผิวดำจากสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นถูกตำรวจจับโดยไม่มีข้อกล่าวหาขณะรายงานสดการประท้วง

ในวันที่ 1 มิถุนายน 2563 เจ้าหน้าที่ยิงแก๊สน้ำตาและระเบิดพริกไทยใส่กลุ่มคนที่รวมตัวประท้วงใกล้ทำเนียบขาวในกรุงวอชิงตัน ดีซี เพื่อเปิดทางให้ประธานาธิบดีทรัมป์เดินไปถ่ายรูปที่โบสถ์ใกล้ทำเนียบขาว และช่วงต้นเดือนมิถุนายน มีกรณีตำรวจเมืองบัฟฟาโล มลรัฐนิวยอร์ก ผลักชายอายุ 75 ปีลงไปบนพื้นขณะพยายามเดินผ่านเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนที่กำลังกระชับพื้นที่ ทำให้ชายคนดังกล่าวกะโหลกศีรษะร้าว ขณะที่ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวหาว่าการทำร้ายร่างกายกรณีนี้เป็นการจัดฉาก และระบุว่าชายชราคนดังกล่าวอาจเป็นสมาชิกกลุ่มติดอาวุธ   

มีการวิเคราะห์ว่าเทคนิคการควบคุมฝูงชน #BlackLivesMatter ของเจ้าหน้าที่อาจมีส่วนเพิ่มความเสี่ยงในการระบาดของโรคโควิด เนื่องจากปรากฏภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจในนิวยอร์กและฟิลาเดลเฟียสลายการชุมนุมของผู้ที่ชุมนุมอย่างสงบโดยการดึงหน้ากากและพ่นสเปรย์พริกไทยใส่ใบหน้าของผู้ชุมนุมโดยตรง และยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ที่ชุมนุมอย่างสงบแต่กีดขวางการจราจรบางส่วนโดยไม่มีการส่งสัญญาณเตือนล่วงหน้า การสลายการชุมนุมในลักษณะดังกล่าวก่อให้เกิดความตื่นตระหนก ซึ่งเพิ่มโอกาสในการสัมผัสซึ่งกันและกันระหว่างผู้ชุมนุม นอกจากนั้นก็มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ระบุว่าแก๊สน้ำตามีผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินหายใจในระยะยาว ซึ่งจะทำให้ผู้ชุมนุมที่สูดดมแก๊สน้ำตาระหว่างการสลายการชุมนุมมีความเสี่ยงต่อการติดโควิด 19 ในระยะยาวมากขึ้น 

สำหรับมาตรการรับมือกับผู้ชุมนุมในสหรัฐฯ มีความน่าสนใจว่าในบางพื้นที่ผู้ว่าการรัฐพยายามเปิดทางให้ประชาชนใช้เสรีภาพโดยที่ทางรัฐเป็นผู้อำนวยความสะดวกด้านมาตรการควบคุมโรค เช่น ในวันที่ 18 มิถุนายน 2563 มีการชุมนุมในมลรัฐแมสซาชูเซทส์ รัฐบาลของมลรัฐช่วยอำนวยความสะดวกการชุมนุมโดยตั้งจุดคัดกรองเพื่อเฝ้าระวังผู้ติดเชื้อ ผู้ว่าการรัฐแมสซาชูเซทส์กล่าวถึงมาตรการควบคุมโรคว่า 

“เมื่อมีการรวมกลุ่มของคนหมู่มากย่อมมีโอกาสที่โรคจะระบาด เราสนับสนุนการแสดงออกอย่างสันติ แต่เราต้องร่วมป้องกันและชะลอการระบาดของโควิดในรัฐแมสซาชูเซทส์” ทั้งนี้นอกจากการจัดตั้งจุดคัดกรองโรคซึ่งถือเป็นมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของไวรัสตามปกติแล้ว มลรัฐแมสซาชูเซทส์ก็ไม่ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินรอบใหม่เพื่อรับมือกับการชุมนุมแต่อย่างใด 

ทั้งนี้ การชุมนุมระลอกที่สองในสหรัฐฯ แตกต่างไปจากการชุมนุมระลอกแรกในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมาตรการควบคุมโรค โดยผู้ชุมนุม #BlackLivesMatter ส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือในการป้องกันตัวเองและผู้ชุมนุมคนอื่น ทั้งการเว้นระยะห่างและสวมหน้ากาก และไม่มีรายงานว่ามีการชุมนุมระลอกสองครั้งใดที่กลายเป็นศูนย์กลางการแพร่กระจายของไวรัส นอกจากนี้ก็มีงานวิจัยที่เปรียบเทียบข้อมูลการระบาดของไวรัสระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายนในเมืองที่มีประชากรมากกว่า 100,000 คน กับเมืองที่มีและไม่มีการประท้วงของคนมากกว่า 1,000 คน ซึ่งพบว่าการชุมนุม #BlackLivesMatter ไม่มีความสัมพันธ์กับการระบาดระลอกใหม่โดยตรงแต่อย่างใด

ข้อสังเกตที่น่าสนใจ – สหรัฐอเมริกา

– แต่ละมลรัฐมีสถานการณ์ระบาดของโควิด 19 และวิธีรับมือต่างกัน

– การชุมนุมต้านล็อกดาวน์มีความเสี่ยงเพราะผู้ชุมนุมไม่สวมหน้ากากหรือรักษาระยะห่าง

– การชุมนุม #BlackLivesMatter มีความเสี่ยงน้อยกว่าเพราะผู้ชุมนุมสวมหน้ากากและรักษาระยะห่าง

– วิธีการสลายการชุมนุมอาจเพิ่มความเสี่ยงการระบาดของโควิด 19 

 

ประเทศไทย: ชุมนุมแบบปลอดภัยทำได้ ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่แทรกแซง

ไทยประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศมาตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม 2563 และอาจถูกขยายเวลาได้อีก หลังครบกำหนดในเดือนกรกฎาคม 2563 การชุมนุมเป็นหนึ่งในสิ่งที่ถูกห้ามตามข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในช่วงเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน 2563 หลังสถานการณ์ระบาดของโควิด 19 ในประเทศเริ่มคลายตัว ประชาชนบางกลุ่มเริ่มออกมาชุมนุมตามโอกาสสำคัญๆ มีความน่าสนใจว่าในบางโอกาส เจ้าหน้าที่ก็ช่วยอำนวยความสะดวกด้านมาตรการคัดกรองโรค แต่บางครั้งเจ้าหน้าที่ก็ใช้มาตรการจำกัดการชุมนุมในลักษณะที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการระบาดของโควิด 19 เสียเอง  

การจัดกิจกรรมรำลึกครบรอบสิบปีการสลายการชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 มีผู้เข้าร่วมประมาณ 50 คน ในครั้งนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจและพยาบาลได้กั้นบริเวณที่จัดกิจกรรมตรงป้ายแยกราชประสงค์โดยรอบเพื่อตั้งจุดคัดกรองโรคและมีการเตรียมเจลล้างมือไว้บริการซึ่งแสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะวางมาตรการคัดกรองโรคและให้ผู้ทำกิจกรรมสามารถใช้เสรีภาพของตัวเองได้ อย่างไรก็ตามมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่กั้นไว้ดูจะแคบเกินไป ทำให้บางช่วงเวลาอาจมีสภาพแออัดบ้าง และเจ้าหน้าที่เองก็ใช้เครื่องเสียงเตือนเรื่องการเว้นระยะห่างอยู่ตลอดเวลาซึ่งอาจไปรบกวนการทำกิจกรรม แต่ถึงที่สุดกิจกรรมครั้งนั้นก็จบลงด้วยดี ไม่มีการดำเนินคดีหรือปิดกั้นการใช้เสรีภาพโดยตรง

ขณะที่ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2563 ซึ่งมีการจัดกิจกรรมระดมทุนผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 ในโอกาสครบรอบหกปีรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่กลับนำแผงเหล็กมากั้นพื้นที่ลานหน้าหอศิลปกรุงเทพฯ ซึ่งน่าจะกว้างพอที่ผู้ร่วมกิจกรรมจำนวน 30 – 40 คน จะสามารถทำกิจกรรมโดยเว้นระยะห่างทางสังคมได้ในระยะปลอดภัย ส่งผลให้ผู้ร่วมกิจกรรมต้องมายืนออกันบริเวณทางเท้าแคบๆ นอกแนวรั้วจนกลายเป็นว่ามาตรการของเจ้าหน้าที่ดูจะสร้างความเสี่ยงในการระบาดของโควิด 19 เสียเอง ท้ายที่สุดมีการตั้งข้อกล่าวหากับผู้ที่เจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นผู้จัดกิจกรรมสองคนด้วย 

ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่าลานกว้างหน้าหอศิลปกรุงเทพฯ น่าจะมีพื้นที่ประมาณ 500 ตารางเมตร ซึ่งกิจกรรมที่มีคนร่วมไม่เกิน 40 คน จะสามารถบริหารพื้นที่ให้ทำกิจกรรมโดยมีการรักษาระยะห่างได้มากกว่าแนวปฏิบัติเรื่องการรักษาระยะห่างในการทำกิจกรรม ในการผ่อนคลายมาตรการระยะที่สี่

นอกจากนี้ก็มีตัวอย่างของกิจกรรมรำลึกการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่จัดที่ลานสกายวอล์กปทุมวันในช่วงเย็นวันที่ 24 มิถุนายน 2563 ซึ่งผู้เข้าร่วมเท่าที่เห็นจะสวมหน้ากากกันทั้งหมด แต่เจ้าหน้าที่กลับไม่ได้ช่วยอำนวยความสะดวก จัดมาตรการคัดกรองโรค เจ้าหน้าที่ได้แต่เตือนว่าการกระทำดังกล่าวอาจเป็นการขัดต่อข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งยังมีการติดตามตัวแกนนำที่จัดกิจกรรมในลักษณะที่ผู้ถูกติดตามเห็นว่าเป็นการคุกคามด้วย 

โดยลักษณะของกิจกรรมการชุมนุมอาจไม่ใช่กิจกรรมที่มีความเสี่ยงมากไปกว่ากิจกรรมอื่นๆ ในชีวิตประจำวันของคนอย่างมีนัยสำคัญ แม้การรวมกลุ่มของคนในพื้นที่จำกัดจะเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด 19 แต่มีงานวิจัยที่พบว่า การใส่หน้ากากและเว้นระยะห่างทางสังคมหนึ่งเมตรขึ้นไปสามารถช่วยลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาด เท่ากับว่าหากไม่มีการสลายการชุมนุมที่ทำให้คนตื่นตระหนกและเบียดเสียดเข้าหากัน ไม่มีการใช้แก๊สน้ำตาโดยไม่จำเป็นที่กระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ไม่มีการปิดกั้นกีดขวางพื้นที่สาธารณะ หรือไม่มีคำสั่งห้ามสวมหน้ากากในการชุมนุม การชุมนุมก็อาจไม่เป็นศูนย์กลางการระบาดใหม่ นอกจากนั้นยังมีงานวิจัยบางชิ้นที่พบว่ากิจกรรมในพื้นที่โล่งมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด 19 น้อยกว่ากิจกรรมในร่มอีกด้วย

การชุมนุมในประเทศไทยส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่โล่ง และผู้ชุมนุมก็ป้องกันตัวเองด้วยการสวมหน้ากาก เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ไม่มีการพบผู้ติดเชื้อภายในประเทศรายใหม่นานกว่า 28 วันซึ่งเท่ากับระยะฟักตัวของโควิด 19 สองรอบ การชุมนุมโดยสงบก็สมควรเป็นกิจกรรมที่ต้องได้รับการผ่อนคลายให้ทำได้โดยที่ผู้เข้าร่วมไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงถูกดำเนินคดีในความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีก 

ภาพ thumbnail โดย Anthony Quintano