เสียงจากผู้ถูกดำเนินคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับโควิด 19

‘แชมป์ 1984’ นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยผู้โด่งดังจากการกินแซนด์วิชแล้วอ่านหนังสือ 1984 และเป็นหนึ่งในหกผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการไปเรียกร้องกรณีวันเฉลิมหน้าสถานทูตกัมพูชาเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2563

“8 มิถุนายน เราไปที่หน้าสถานทูตกัมพูชาเพื่อเรียกร้องในกรณีวันเฉลิมถูกอุ้มหายที่กัมพูชา ตอนเราได้ยินข่าวก็รู้สึกตกใจ รู้แค่ว่าเขาต่อต้านรัฐบาลและลี้ภัยอยู่ แต่มันก็ตกใจเพราะไม่มีคนโดนอุ้มมาเป็นปีแล้ว ยุคประชาธิปไตยมันยังอุ้มกันอีกเหรอ และมันต่างไปจากคนก่อนๆ วันเฉลิมเขาไม่ได้แตะสถาบัน ทำไมเขายังโดนอุ้มทั้งๆ ที่เขาไม่ได้ทำอะไรสุ่มเสี่ยงเลย วันนั้นเราก็รู้ว่าเขายังใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อยู่ แต่เราไม่ได้สนใจด้วยซ้ำว่ามันมีหรือไม่ ถ้าเรารู้สึกว่ามันทนไม่ได้ก็ต้องออกไปเท่านั้นเอง”

แชมป์

“วันนั้นเราก็ไปยืนถือป้ายเรียกร้องหน้าสถานทูต มีคนอื่นทำรูปมาแจก เราก็ไปยืนถือ ผมไม่ได้พูดอะไรเพราะผมพูดไม่เก่ง ถ้าคุณคิดว่าชุมนุมมันก็อาจจะใช่ เพราะมันคือการที่คนไปรวมกันเรียกร้องอะไรสักอย่าง”

“เรารู้ว่าเราโดนหมายเรียกจากแม่บ้านเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน แล้วผมก็แจ้งคนอื่น ผมตกใจว่ามันจะเอาอะไรกันอีก เพราะนี่ก็ไม่ใช่คดีแรกของผม ผมโดนครั้งแรกตั้งแต่คดีนั่งรถไฟไปราชภักดิ์เพราะไม่ยอมเซ็นใบยอมเลิกเคลื่อนไหว ต่อมาก็คือ MBK39 แล้วก็ RDN50 ที่ตอนนั้นผมไปสาย แต่ก็โดนถ่ายรูปไว้ อีกอันคือ ARMY56 คดีเก่าๆ มันก็ทยอยหลุดไปเรื่อยๆ คิดว่าโล่งแล้ว เลือกตั้งแล้ว แต่ก็ดันมาโดนคดีซ้ำอีก”

“ตอนผมโดนก็ตกใจตามประสาคนที่ทำตามกฎหมายมาตลอดชีวิตแล้วมาโดนคดีการเมือง สักพักนึงก็เฉยๆ นี่เป็นคดีที่ห้าแล้ว ผมก็คิดว่าสู้กันไป สุดท้ายแล้วเขาทำอะไรเราไม่ได้หรอก เราไม่ได้ทำอะไรผิด กฎหมายถูกใช้ผิดวัตถุประสงค์ ถ้าคุณจะบอกว่าวันนั้นมันเสี่ยงโรคติดต่อ คุณไปดูได้เลย ทุกคนใส่หน้ากากกันหมด แล้วความเสี่ยงของการติดโรค การติดต่อมันเกิดจากอะไร วันนั้นใครไปจับหน้าจับตาไหมก็ไม่มี ไอจามใส่หน้ากันก็ไม่มี ถ้าเทียบกัน มันมีกรณีรูปภาพรัฐมนตรีสาธารณสุขไปกินข้าวกันหลายคนไม่ใส่หน้ากากไม่เว้นระยะห่าง ตรงนั้นเสี่ยงมากกว่าด้วยซ้ำ ผมเลยคิดว่ากฎหมายนี้มันใช้อย่างไม่เป็นธรรม แต่นั่นแหละ เราก็สู้ไป ไม่รู้จะกลัวอะไร”

“สน. เขาแจ้งข้อหาเราฐานชุมนุมมั่วสุม ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยุยงปลุกปั่น ผมก็ไม่รู้เราไปยุยงอะไร แล้วเหมือนในใบแจ้งข้อกล่าวหาจะไม่ได้เขียนด้วยซ้ำว่าเป็นการเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด เวลาเขาอ้างจะออกข้อหาเขาบอกเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค แต่ในใบแจ้งข้อหากลับไม่ใช้เหตุผลนี้ มันกลับเป็นเหตุผลอื่น แบบนี้ พ.ร.ก.ไม่ได้มีไว้ปราบโรคแล้ว มันมีไว้ปราบม็อบ”

“จริงๆ เรื่องกิจกรรมเราอยากพักมาตลอดนะ ตั้งแต่รัฐประหาร 49 เราก็เริ่มสนใจ แล้วก็ตามๆ การเคลื่อนไหวในสมัยนั้น ติดตามมาจนปี 54 นึกว่าเราชนะแล้ว ก็ไปเรียนต่อ พอเรียนเสร็จก็รัฐประหารปี 57 พอดี ก็เลยไม่ได้พัก ครั้งนี้เป็นการต่อสู้ที่นานที่สุด ไม่มีใครรู้ว่าเผด็จการจะอยู่นานขนาดนี้ ไม่มีใครต้องการสู้ตลอดหรอกครับ มันก็ต้องออกไปทำงานทำการ แต่พอมันทนไม่ไหวก็ต้องออกมา จะให้นิ่งเฉยดูดายก็คงไม่ได้”

 

ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี หรือ ฟอร์ด นักกิจกรรมกลุ่มเยาวชนปลดแอก หนึ่งในบุคคลที่ถูกแจ้งข้อหาชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการไปทำกิจกรรมที่หน้าสถานทูตกัมพูชา 8 มิถุนายน 2563

“คุณวันเฉลิมนี่ผมไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัวนะ แต่เรารู้สึกว่าเคสนี้เป็นเคสที่เราต้องทำอะไรสักอย่าง เราทนไม่ไหวแล้วที่จะเห็นคนคนหนึ่งที่เรียกร้องประชาธิปไตย ใช้เสรีภาพในการแสดงออกโดยไม่ได้ผิดกฎหมาย ไม่ได้ละเมิดสิทธิใคร กลับต้องมาถูกทำร้ายเพียงเพราะเห็นต่าง เพียงเพราะวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เราเลยต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและกัมพูชาเร่งรัดหาตัวคนร้ายและผู้อยู่เบื้องหลังมาลงโทษให้ได้ และรับรองความปลอดภัยของคุณวันเฉลิมให้เร็วที่สุด”

“วันนั้นเราก็รู้ดีนะว่าเขาใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อยู่ เราประเมินแล้วว่ามันเสี่ยงที่จะโดน วันที่เราไปเราก็เตรียมป้ายไป เราเห็นคนอื่นเขาไปแปะป้ายที่กำแพงสถานทูต เราก็แค่ไปถือป้าย มีพี่สื่อมาสัมภาษณ์บ้าง แต่หลักๆ ก็แค่ถือป้าย มันไม่ควรเรียกว่าเป็นการชุมนุมได้นะ ตอนไปทำกิจกรรม ทุกคนใส่มาส์ก ทุกคนป้องกันตัวเองหมด มันแทบไม่มีความเสี่ยงในการแพร่โรคเลยนะ แล้วคุณมาตั้งข้อกล่าวหาแบบนี้มันหมายความว่ายังไง”

“ตอนเราโดนหมายมันตลกมาก เราไปวันที่ 8 พอวันที่ 13-14 ไปเที่ยวพัทยา แต่ตอนนั้นเริ่มเห็นพี่สมยศลงหมาย ก็เอะใจ ตอนกรณี ‘คนอยากเลือกตั้ง’ เราก็ไปแต่เราไม่โดน ก็เลยลองโทรถามที่บ้าน เขาบอกว่าโดนแล้ว ตลกดี กำลังพักผ่อนอยู่โดนหมายเรียกซะงั้น”

“ก็ไม่ได้กลัวหรอกครับ ผมเองเคลื่อนไหวทางการเมืองมานานแล้ว เริ่มจากเพื่อนมาทาบทามระหว่างป่วยให้ไปช่วยงานที่คณะ แล้วก็เลยทำมาตลอด ออกถนนเราก็เคยมาแล้ว ครั้งแรกคือตอนต่อต้าน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ต่อมาเป็นคนอยากเลือกตั้ง ผมกับแฟนและเพื่อนๆ ยังได้ร่วมกันตั้งกลุ่ม Free Youth Movement ขึ้นมาด้วยในช่วงประมาณ 3 ถึง 4 เดือนก่อนการยุบพรรคอนาคตใหม่ เพราะเรารู้สึกว่าตอนนั้นเยาวชนยังไม่มี platform ที่เป็นปากเสียงของพวกเราเองอย่างแท้จริง”

ฟอร์ด

“เรื่องคดีจากการเคลื่อนไหว เรายอมรับความเป็นไปได้ตรงนี้มาส่วนหนึ่งแล้ว เพื่อนๆ เราพอรู้ก็ให้กำลังใจ ทางบ้านก็ไม่ได้ว่าอะไร เขาเห็นเราเป็นแบบนี้มาตั้งแต่ปีหนึ่ง ตอนนี้ทำมาห้าปีแล้ว เขาเตรียมใจแล้ว พ่อก็ไว้ใจบอกให้เราจัดการให้ดี”

“พอมาโดนเรื่อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เอาจริงๆ ผมคิดว่าตอนนี้สถานการณ์มันคุมได้แล้วนะ แทบจะร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว มันน่าจะหมดความจำเป็นแล้ว จริงๆ มันมีกฎหมายอื่นที่ใช้แทน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ด้วยซ้ำ เช่น พ.ร.บ.โรคติดต่อ ดังนั้นจึงฟังไม่ขึ้น ถ้าคุณบอกจะควบคุมโรค คุณก็ไม่ควรที่จะออกหมายหรือแจ้งข้อกล่าวหากับคนที่เขาออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม มาใช้เสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย ผมจึงคิดว่าการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ น่าจะเป็นเหตุผลอื่น ก็ได้ยินกันใช่ไหมว่าในรัฐบาลเขามีปัญหาอะไรกัน พรรคร่วมรัฐบาลเขามีปัญหากัน การประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ มันเป็นการรวบอำนาจมาให้นายกรัฐมนตรี มันอาจไม่ใช่ความผิดของรัฐบาลหรอก แต่ระบบการเมืองทำให้มีเบี้ยหัวแตกแบบนี้ จะแก้ได้ต้องเปิดทางให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ประชาชนร่างขึ้น หรือนอกจากนั้นที่เขาใช้ พ.ร.ก.ก็อาจจะเพราะมีเรื่องเบิกจ่ายด้วยที่ทำได้ง่ายกว่าในช่วงเวลาปกติ”

“แล้วที่ผมโดนหมายเรียก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีกรอบนึงเมื่อเดือนมิถุนายนตอนไปทำกิจกรรมอ่านประกาศคณะราษฎรที่สกายวอล์กแยกปทุมวัน วันนั้นผมไปยืนอ่านหนังสือนะ ต่อไปมีคนไปอ่านมานีมีชัย ไปยืนร้องเพลง แล้วคนมาดูเขาเยอะๆ อย่างนี้เขาต้องโดน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ด้วยไหมล่ะ นี่เลยเป็นข้อพิสูจน์ว่าการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของรัฐบาลไทยน่าจะเป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างชัดเจน”

 

มัทนา อัจจิมา หรือ รูน นักกิจกรรมทางสังคม หนึ่งในผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการไปทำกิจกรรมหน้าสถานทูตกัมพูชา วันที่ 8 มิถุนายน 2563

“ส่วนตัวรู้จักและเป็นเพื่อนกับคุณต้าร์ใน Facebook มานานแล้ว รู้ว่าเขาเป็นผู้ลี้ภัยคนหนึ่ง แต่ช่วงหลังเราเห็นเขาต่อว่ารัฐบาล อาจจะเป็นผู้ถูกติดตามคนหนึ่ง เราก็ห่วงว่าเขาจะปลอดภัยไหม”

“เราเริ่มจากไปร่วมชุมนุมเสื้อแดงเมื่อปี 53 เราเป็นคนหนึ่งที่โดนแก๊สน้ำตาที่ผ่านฟ้า หลังจากนั้นพอมีเวลาถ้ามีเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย เรียกร้องความเป็นธรรม มีกลุ่มไหนเราก็ไปหมด เรื่องเลือกตั้งเราก็ไป ราชภักดิ์เราก็ไป แต่วันนั้นเราไม่โดนคดีเพราะไปเซ็นสัญญาไม่เคลื่อนไหวของตำรวจเลยรอดไป แต่รวมแล้วตอนนี้เราก็โดนมาแล้ว 4 คดีนะ จาก ‘คนอยากเลือกตั้ง’ ทั้งนั้นเลย ฮ่าๆๆ”

“ตอนเราจะไปวันที่ 8 ก็รู้ว่าเขาประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อยู่ แต่เราไม่คิดว่าเขาจะใช้อันนี้เล่นงานเรา เราไปเรียกร้องตามหาคนหายนะคะ ตามหาคนหายเนี่ยมันฉุกเฉินกว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถูกอุ้มสดๆ ร้อนๆ มีภาพวิดีโอมีข่าวให้เห็น แล้วมันไม่ใช่เหมือนคนอื่นที่มาเห็นศพแล้ว นี่เพิ่งหาย มันฉุกเฉินกว่าไหมล่ะ แล้ววันนั้นเรามาตามหาคนหาย แล้วคุณมาใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับเรา เราไม่ได้ไปต่อต้านรัฐบาลคุณเลยนะ ทำแบบนี้มันใช่หรือ แล้วชีวิตคนคนหนึ่งไม่สำคัญหรือ”

รุน-พรกฉฉ

“วันนั้นเราก็ไม่ได้ทำอะไรนอกเหนือไปจากถือป้ายเรียกร้องให้คุณวันเฉลิม ป้าย #saveวันเฉลิม ธรรมดาทั้งนั้นเลย ไม่ได้เป็นป้ายที่น่าจะผิดกฎอะไรเลย ติดโบขาวกันอะไรอย่างนี้มันผิดตรงไหน ตอนเราโดนหมายเรียกเราเลยตกใจว่ามันโดนได้ยังไง หมายก็ไปที่บ้าน โชคดีว่าวันนั้นไม่มีใครอยู่บ้านสักคน เพราะในบ้านเราไม่มีใครเห็นด้วยกับที่เราเคลื่อนไหวกันสักคน คือเขารู้นะว่าเราเคลื่อนไหว ตั้งแต่สมัยเสื้อแดงปี 53 แล้วหลังสลายการชุมนุมนี่ไม่มีใครพูดกับเราสักคนในบ้าน แต่เราจะไม่ค่อยให้เขารู้เรื่องคดีแล้ว ทุกวันนี้เขาก็ไม่รู้เรื่องคดี ก็เลยยังไม่มีปัญหาเท่าไร ถามว่าอึดอัดไหมก็อึดอัดแหละ”

“เขาก็แจ้งข้อหาเราว่าผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่เราก็ไม่รับทราบข้อกล่าวหา เขาบอกเรายุยงปลุกปั่น แล้วมันใช่เหรอ วันนั้นน่ะเราแค่ไปถาม ยื่นหนังสือให้คุณตามหาวันเฉลิม”

“จริงๆ วันที่เราออกมา ตัวเลขโควิดมันก็จะเป็นศูนย์แล้ว ถ้าคุณคิดว่ามันเป็นเรื่องโควิด ทุกคนก็ใส่แมสก์กันหมด อย่างนี้ถ้าเราผิดตำรวจก็ต้องผิดด้วย เขามากันไม่ใช่น้อยเลย แล้วก็ยืนติดๆ กันด้วย”

“ในเรื่องวันเฉลิม เราว่าเราก็จะเคลื่อนไหวต่อถ้ามีคนนำ ถ้าเป็นเรื่องประชาธิปไตย ความยุติธรรม เอาเป็นว่าเราไม่หยุด ไม่มีใครมาหยุดเราได้”

 

โชติศักดิ์ อ่อนสูง นักกิจกรรมทางสังคม อดีตสมาชิกกลุ่ม 19 กันยาต้านรัฐประหาร หนึ่งในผู้ได้รับหมายเรียกฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการไปชูป้ายหน้าสถานทูตกัมพูชา

“วันที่ 8 มิถุนา ผมไปชูป้ายเรียกร้องให้มีการสืบหาข้อเท็จจริงต่อกรณีการหายตัวของวันเฉลิมที่หน้าสถานทูตกัมพูชา แล้วผมก็ถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ”

“ผมติดตามเรื่องของวันเฉลิมตั้งแต่วันพฤหัส (4 มิถุนายน 2563) แล้ววันศุกร์ (5 มิถุนายน 2563) ก็มีคนไปทำกิจกรรมเรื่องวันเฉลิมที่หน้าหอศิลป์ฯ ผมก็ไปร่วมกิจกรรมด้วย ทีนี้พอมาวันเสาร์ อาทิตย์ (6 – 7 มิถุนายน 2563) มีการพูดถึงเรื่องวันเฉลิมกันดุเดือดมาก แล้วก็มีการกดดันเรียกร้องให้คนโน้นคนนี้ออกมาทำอะไรบางอย่าง แต่เท่าที่ดูก็ไม่ได้มีใครนัดทำอะไรกันเป็นกิจจะลักษณะ ผมก็เลยโพสต์เฟซบุ๊กช่วงเย็นวันอาทิตย์ว่าถ้าผมจะไปทำกิจกรรมชูป้ายจะมีใครไปร่วมด้วยไหม กะว่าถ้ามีสัก 2-3 คนก็เอาแล้ว ปรากฏว่ามีคนทักเข้ามา 3-4 คน”

“คนที่ทักผมเข้ามามาส่วนใหญ่เป็นคนที่พอรู้จักเห็นหน้าค่าตากันอยู่บ้าง เรียกว่าเป็นคนในแวดวงกิจกรรมนี่แหละ ผมก็ให้เขาลองเสนอดูว่าอยากไปทำกิจกรรมกันที่ไหน บางคนไม่พอใจการทำงานของสื่อ บางคนไม่พอใจการทำงานของ UNHCR แต่สุดท้ายก็ตกลงกันว่าจะไปสถานทูตกัมพูชาเพราะเป็นสถานที่ที่เกิดเรื่อง คือกรณีของวันเฉลิมเรารู้เรื่องกันเร็ว ก็เลยยังพอมีความหวังเรื่องการติดตามตัวอยู่บ้าง เลยคิดกันว่าอยากไปเรียกร้องให้รัฐบาลกัมพูชาเร่งดำเนินการสืบสวนติดตามตัว”

“กิจกรรมครั้งนี้ต้องถือว่าฉุกละหุกพอสมควรเพราะกว่าจะประกาศ กว่าจะมีคนมีตอบมา กว่าจะไฟนอลว่าตกลงจะไปแอคชันจริงๆ ก็เหลือเวลาแค่ประมาณ 10 กว่าชั่วโมง (คืนวันที่ 7 ต่อเช้าวันที่ 8 มิถุนายน) ผมก็ทำป้ายแบบง่ายๆ ปริ้นท์ข้อความแล้วก็แปะบนฟิวเจอร์บอร์ดเพื่อเอาไปถือ ส่วนคนที่บอกว่าจะมาก็ต่างคนต่างเตรียมป้ายมากันเอง”

“พอถึงวันนัดปรากฏว่ามีคนมาที่หน้าสถานทูตน่าจะถึง 40 คน ซึ่งครั้งนี้จริงอยู่ผมเป็นคนโพสต์เฟซบุ๊กบอกว่าตัวเองจะมา และถามว่าจะมีใครมากับผมบ้าง แต่ผมก็ไม่คิดว่าตัวเองเป็นแกนนำสำหรับกิจกรรมในครั้งนี้หรอกนะ มันเหมือนว่ามีคนอยากทำอะไรบางอย่างอยู่แล้ว พอคนอื่นเห็นว่ามีคนจะทำอะไรก็ตามกันมา เหมือนเราไปเที่ยวภูทับเบิกแล้วเราถ่ายรูปสวยๆ มาลง พอมีคนเห็นก็เลยไปบ้าง อะไรแบบนั้น”

“ผมก็รู้อยู่นะว่ามันมีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ตอนผมไปทำกิจกรรมก็ไม่ได้คิดถึงเรื่องคดีหรอกว่าจะโดนหรือไม่โดน แล้วตอนนั้นก็ไม่รู้ว่ามีใครถูกดำเนินคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปแล้วหรือยัง ทีนี้พอได้ยินว่ามีคนที่ไปร่วมกิจกรรมเดียวกันนี้ถูกออกหมายก็รู้เลยว่าผมคงไม่รอด เพราะผมก็เป็นคนที่โพสต์ในเฟซบุ๊กว่าตัวเองจะไปแล้วถามด้วยว่าจะมีใครมากับผมมั้ย”

“ผมแอบสังเกตอยู่เหมือนกันว่ามันมีการเปลี่ยนแนวในการดำเนินคดี ตอนแรกเขาเลือกเฉพาะหัวๆ พอมาช่วง ‘คนอยากเลือกตั้ง’ ก็ตั้งข้อหาคนที่มาร่วมชุมนุมไปทั่ว แต่เขาอาจเห็นว่ามันมีปัญหาบางอย่าง ตอนนี้เลยเปลี่ยนเป็นเลือกตั้งข้อหาเฉพาะคนที่พอเป็นที่รู้จักตามเดิม”

“ที่ว่าการชุมนุมเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด ผมไม่คิดว่าการไปยกป้ายของผมมันเสี่ยงอะไรนะ เพราะเราก็พอรู้กันว่าโควิดติดกันผ่านสารคัดหลั่งอย่างน้ำมูก น้ำลาย ตัวผมเองไปไหนมาไหนก็ใส่หน้ากาก แล้วคนที่มาหน้าสถานทูตเขาก็ใส่หน้ากากกัน ไม่ได้สัมผัสตัวกัน ผมยังมองว่าโอกาสแพร่กระจายของโควิด กินข้าวอาจจะเสี่ยงกว่าด้วย เพราะกลับบ้านเราก็ยังมีวัฒนธรรมกินข้าวด้วยกันอยู่”

“ผมไม่เชื่อเลยนะว่าไอ้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มันจะคุมโรคได้จริง แต่ถ้าเป็นเรื่องการเมืองหรืออย่างอื่นก็ไม่แน่ คือมองจากมุมของพวกเราที่เจอคดีก็มองว่า พ.ร.ก.ใช้เพื่อคุมม็อบ แต่เอาเข้าจริง พ.ร.ก.มันก็ทำอย่างอื่นได้ด้วย อย่างรวบอำนาจของรัฐมนตรีมาเป็นอำนาจของนายกฯ ตรงนี้ก็ว่ากันไป เป็นเรื่องของการวิเคราะห์”

“ตัวผมเองจริงๆ เคยค้านการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตั้งแต่สมัยทำกิจกรรมนักศึกษาแล้ว ผมมองว่ามันมีปัญหาตั้งแต่เรื่องที่มาแล้ว เพราะตอนที่ออกกฎหมายนี้เป็นรัฐบาลปกติ มีสภา รัฐบาลคุณทักษิณเองมีเสียงข้างมากในสภา แต่กลับเลือกออกกฎหมายนี้เป็นระดับ พ.ร.ก.ซึ่งมันตัดขั้นตอนตามระบบสภาที่อย่างน้อยย่อมมีการตั้งกรรมาธิการ ฝ่ายค้านยังสามารถเข้าไปถ่วงดุลปรับเปลี่ยนอะไรได้บ้าง แต่ก็ตลกดีที่หลังจากนั้นกลายเป็นรัฐบาลฝ่ายคุณทักษิณก็เอากฎหมายนี้มาใช้ไม่บ่อยนัก ยกเว้นกรณีภาคใต้”

พรกฉุกเฉิน-โชติศักดิ์

“เข้าใจว่าตอนที่รัฐบาลทักษิณออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาใช้ก็มีข้ออ้างทำนองว่ากฎอัยการศึกดูจะรุนแรงไป เลยออก พ.ร.ก.เพื่อเอาไปใช้ในภาคใต้ให้มันซอฟต์ลง แล้วตอนหลังก็มีการออก พ.ร.บ.ความมั่นคงมาอีกฉบับบอกว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มันแรงไป และดูเหมือนว่าในภาคใต้ก็ใช้ซ้อนกันไปหมด ไม่แน่ใจว่าซ้อนกันทั้งสามฉบับเลยหรือเปล่า ที่ตลกอีกอย่างคือ พ.ร.ก.ชื่อ ‘ฉุกเฉิน’ ในความเข้าใจของผม ฉุกเฉิน มันน่าจะเป็นเรื่องชั่วคราวรีบใช้รีบจบแต่นี่กลายเป็นขยายต่อไปเรื่อยๆ”

“พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังมีปัญหาเรื่องเนื้อหาด้วย อย่างการเว้นการรับผิดของเจ้าหน้าที่ ไม่ให้ศาลมีอำนาจตรวจสอบ ผมคิดว่าเป็นปัญหา แม้เชื่อว่าเราจำเป็นต้องมีกฎหมายที่ใช้ในการจัดการสถานการณ์พิเศษ แต่คำถามคือสถานการณ์ไหนพิเศษ สถานการณ์ไหนไม่ใช่ ใครเป็นคนวินิจฉัย ส่วน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ใช้อยู่นี้ผมคิดว่ามันมีปัญหาทั้งที่มาและเนื้อหา ลำพังแค่เรียกร้องการแก้ไขคงไม่พอ ต้องร่างใหม่เท่านั้น”

 

ทศพร เสรีรักษ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดแพร่

“ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ผมเห็นว่าคนได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มากกว่าผลกระทบจากโควิดเสียอีก อย่างเช่นตัวเลขคนฆ่าตัวตายจากปัญหาเศรษฐกิจดูจะสูงกว่าคนที่ตายเพราะโควิดจริงๆ มีกรณีหนึ่งที่น่าสงสารมาก คือกรณีน้องปลายฝน เธออายุประมาณยี่สิบเอง แล้วก็มีลูกอายุแปดเดือน เธอฆ่าตัวตายด้วยจากเหตุผลทางเศรษฐกิจ ซึ่งก่อนที่เธอจะฆ่าตัวตายบนเฟซบุ๊กของเธอก็โพสต์ภาพวาด พล.อ.ประยุทธ์พร้อมกับมีข้อความตัดพ้อว่าในรัฐบาลยุคนี้ชีวิตลำบากเหลือเกิน ตัวผมเองก็ไปงานศพเธอที่ฉะเชิงเทราแล้วเจอคุณตาเธอ เป็นครอบครัวที่น่าสงสาร ผมก็วาดรูปน้องปลายฝนแล้วก็วาดรูป พล.อ.ประยุทธ์จำลองมาจากที่น้องปลายฝนวาด แล้วผมก็บอกคุณตาเธอไว้ว่า รูปวาดนี้ผมจะเอามาประมูล เอามารับบริจาค เป็นค่านมไปให้น้องต้นกล้าลูกของน้องปลายฝน”

“ก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม ผมก็โพสต์เฟซบุ๊กเรื่องที่จะไปทำกิจกรรมระดมทุนด้วยการประมูลภาพวาดและร้องเพลงที่หน้าหอศิลป์ฯ จริงๆ แล้วผมก็ไม่ได้ชวนคนให้มาชุมนุมนะ ผมแค่บอกว่าผมจะไปเปิดหมวกรับบริจาคคนที่ผ่านไปผ่านมาแถวนั้น แล้วบอกให้คนติดตามผ่านทางเฟซบุ๊กไลฟ์ ผมบอกเจตนาชัดเจนว่าผมไม่ได้จัดกิจกรรมให้คนมาชุมนุม แล้วผมก็รู้อยู่ว่าผมไม่ใช่แม่เหล็ก ที่พอประกาศว่าผมจะมาตรงนี้แล้วคนเฮมากันเป็นพันเป็นหมื่นคน ที่ผมเลือกไปจัดระดมทุนในวันที่ 22 พฤษภาคมส่วนหนึ่งผมก็แค่ต้องการสะท้อนความต่อเนื่องและความเชื่อมโยงว่าวันที่ 22 พฤษภา ปี 57 มันมีการรัฐประหาร จากนั้นก็มีการสืบทอดอำนาจแล้วก็แก้ไขปัญหากันไม่ได้โดยเฉพาะช่วงโควิดที่ปัญหาหนักขึ้นจนมีคนฆ่าตัวตาย ส่วนที่ผมต้องมาใช้สถานที่ตรงหอศิลป์ฯ ก็เป็นเพราะอยากให้มันได้บรรยากาศเท่านั้นเอง เพราะในการระดมทุนผมก็เอาภาพวาดมาประมูลด้วย ถ้าผมนัดไลฟ์เฟซบุ๊กอยู่กับบ้านเนี่ยคนอาจจะไม่อยากดู เพราะมันแห้งและจืดชืด”

“ถึงวันที่ 22 ปรากฏว่ามีรั้วกั้นรอบลานหอศิลป์ฯ ไว้ ผมที่ตอนแรกตั้งใจเข้าไปอยู่ในลานก็งงว่าจะมากั้นทำไม ในเมื่อถ้าผมเข้าไปอยู่ในลานคนก็จะไม่แออัด มันเหมือนจะแกล้งกัน เอารั้วมาตั้งไว้แบบไม่มีเหตุผลอะไรทั้งสิ้น มีตำรวจมาคุยกับผมว่าจะมาทำอะไร ผมก็บอกว่าจะมาแสดงภาพเท่านั้นเองแล้วก็จะรับบริจาคเงิน ตำรวจเขาก็ไม่ได้ว่าอะไร ตอนหลังเขาก็มาแจ้งบอกว่าตอนนี้มันมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ไม่ได้บอกว่าถ้าผมทำแล้วเขาจะจับ” 

พรกฉุกเฉิน_ทศพร

“ตำรวจถามผมอีกว่าผมจะทำอะไรบ้าง ผมก็ตอบว่าผมก็แค่จะแสดงภาพแล้วก็เป่าเมาธ์ออร์แกน พอเห็นว่าเขา (ตำรวจ) ไม่ได้ห้าม ผมก็คิดว่าอย่างงี้ก็แปลว่าไม่ผิด ถ้าเขาห้าม บอกว่า ‘ไม่ได้นะคุณ ถ้าทำผมจะจับ’ ถ้าเป็นแบบนั้นเราก็รู้ว่าผิด แต่พอผมบอกว่าผมจะทำอะไรแล้วเขาเฉยๆ ปล่อยให้ผมทำ ผมก็เข้าใจว่าสิ่งที่ทำมันไม่ได้ผิดอะไร และจริงๆ แล้วคนที่มาร่วมก็มาไม่เยอะนะ คนที่มาเยอะคือผู้สื่อข่าว แต่ปรากฏว่าพอใกล้เสร็จตำรวจก็บอกว่า ‘เชิญไปโรงพักนะครับ’ ผมก็ตกใจนิดนึง รู้สึกเหมือนกับว่าเราขับรถแล้วตำรวจไปดักอยู่ใต้สะพานลอย พอเราเลี้ยวมาปั๊บก็จับปุ๊บเลย แทนที่จะยืนให้เห็นบอกว่าตรงนี้ไม่ให้เลี้ยวนะ ถ้าบอกไม่ให้เลี้ยวเราก็ไม่เลี้ยว แต่อันนี้เราไม่รู้จริงๆ ว่าถ้าเลี้ยวแล้วจะถูกจับ”

“ตัวผมเองเป็นประธานศูนย์โควิดเพื่อไทย เพราะฉะนั้นที่จะมาจัดชุมนุมแล้วก่อให้เกิดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคผมไม่ทำเด็ดขาด ตอนที่ผมโพสต์ข้อความถึงได้บอกชันเจนว่าให้ติดตามทางเฟซบุ๊กไลฟ์ ไม่ได้ชวนให้ออกมาร่วมกับผมที่หน้าหอศิลป์ฯ เลย ผมมองว่ามันเป็นความเลวร้ายที่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาจัดการทางการเมือง คือแต่ละคนที่ออกมาแล้วถูกดำเนินคดีเขาไม่ได้ไปเชิญประชาชนที่ไหนมาชุมนุมกัน อย่างเพนกวิ้นออกมาผูกโบขาวก็ออกมากันสองสามคน ตำรวจก็ไปกีดกันแล้วก็ไปจับมาที่โรงพัก แต่ที่สุดตำรวจไม่กล้าทำอะไรก็ตั้งข้อหาแค่ผิด พ.ร.บ.ความสะอาดฯ แบบนี้มันตลกนะ หรือเมื่อล่าสุด 24 มิถุนาที่สภา ก็เห็นมีคนเยอะแต่ก็ไม่มีอะไร ผมไม่ได้หมายความว่าตำรวจควรต้องจับนะแต่พยายามจะชี้ว่าสิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้มันไม่มีมาตรฐานอยากจะจับก็จับ ไม่อยากจับก็ไม่จับ”

“ผมก็เป็นแพทย์ ยังรู้สึกว่าในตอนนี้มาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดยังมีความจำเป็น แต่มันไม่ต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็ได้ ใช้ พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อหรือกฎหมายอื่นๆ ก็ได้ทั้งนั้น แล้วตัวเลขคนติดเชื้อโควิดในไทยก็เป็นศูนย์มา 30 กว่าวันแล้ว เพราะฉะนั้นเรื่องติดเชื้อในประเทศ เราสามารถมั่นใจในระดับนึงได้แล้วว่ามาตรการเราเอาอยู่ มาตรการต่างๆ ก็คือเรื่องการสวมหน้ากาก ใช้ช้อนกลาง ซึ่งตรงนี้ประชาชนปฏิบัติกันอยู่แล้ว ส่วนการชุมนุมมันเป็นสิทธิของประชาชน คนมาชุมนุมเขาก็มาด้วยความระมัดระวัง คงไม่มีใครบ้าที่จะเสี่ยงตัวชีวิตเอง โห อุดมการณ์กูยิ่งใหญ่เหลือเกิน ยอมแม้กระทั่งโควิด มันก็มีระยะห่างพอสมควร แล้วเขาก็สวมหน้ากากกัน”

 

ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง กลุ่มสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ถูกออกหมายเรียกในความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการจัดกิจกรรม #Saveวันเฉลิม และอ่านประกาศคณะราษฎร

“เรื่องคดีอุ้มหาย เท่าที่หนูจำได้ หนูไม่เคยเห็นว่ามีใครจะออกมาเรียกร้องเรื่องนี้ตั้งแต่แรกเริ่ม เพราะปกติกว่าเราจะรู้ว่ามีเรื่องนี้ก็คือเขาหายไปนานแล้ว หรือเขาได้เสียชีวิตไปแล้ว แต่ในกรณีพี่วันเฉลิมเรารู้ตั้งแต่สองชั่วโมงหลังจากเขาโดนอุ้มเลย เพราะว่าได้คุยกับผู้มีสัมพันธ์กับพี่วันเฉลิมส่วนตัวด้วย ตอนเกิดเหตุการณ์ก็เลยรู้ว่า โอเคมีเรื่องนี้เกิดขึ้น เราก็เลยคิดว่าต้องทำอะไรซักอย่าง เราจะไม่ปล่อยให้เรื่องนี้มันผ่านไปแล้วจบ”

“การเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์ มันเรียกว่าการเคลื่อนไหวได้ แต่มันจะไม่ได้ผลเท่าการออกมาข้างนอก เพราะในโลกออนไลน์เราไม่รู้ว่าใครเป็นใคร เราไม่รู้ว่าเขามีตัวตนอยู่จริงไหม เป็นแอคหลุมหรือเปล่า มันอาจจะมีทวิตเตอร์ขึ้นเป็นเทรนด์หลักแสนหลักล้าน แต่ว่าเราจะรู้ได้จริงๆ ว่ามีคนแคร์เกี่ยวกับประเด็นใดประเด็นหนึ่ง เมื่อเราเห็นคนออกมาเรียกร้องข้างนอก”

“วันนั้นเรากังวลว่าคนจะออกมาไหม คนจะกลัวโควิดกันไหม เพราะตัวเราเองก็กลัวแต่ถ้าเราไม่ลองออกไปดู เราก็ไม่มีวันรู้เลยว่าเราจะสามารถออกมาชุมนุมได้ไหม เพราะถ้าในระยะที่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่มีใครออกมาเคลื่อนไหว ไม่มีใครออกมาชุมนุมเลย เข้าทางเขานะ เขาต้องการให้เป็นอย่างงั้นไง เราไม่อยากเดินตามเกมเค้า”

“จริงๆ เราก็มีความกังวล เราก็เลยมีการตรวจวัดอุณหภูมิของทุกคนก่อนเข้าร่วมกิจกรรม มีการให้เจลแอลกอฮอล์ และมีการบอกทุกคนให้สวมหน้ากากอนามัยด้วย และมีการบอกทุกคนให้ยืนห่าง ในงานจะมีการบอกตลอดเมื่อเห็นคนเริ่มแออัดแล้ว หรือเริ่มมามุงกันแล้ว เราจะตะโกนไปตลอดว่า ยืนห่างกันหน่อยค่ะ”

“ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเขามีการมาคอยมาดูบริเวณที่จัดงานว่าเป็นใคร มาทำอะไร พยายามจะมาบอกว่า อย่าทำเลย อะไรแบบนี้ เพราะว่าตอนนี้อยู่ในช่วงที่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อยู่ เราจะชุมนุมไม่ได้นะ แต่เราดื้อดึงที่จะทำต่อไป เพราะเราคิดว่าการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้ผู้ที่หายไปมันจะผิดอะไร คือเราเป็นมนุษย์นะ เราต้องมีความเห็นใจกับเพื่อนมนุษย์กันสิ เราก็ทำต่อไป”

“จริงๆ ประเมินกันไว้อยู่แล้วว่าโดนแน่ๆ แต่ด้วยความเป็นนักศึกษา เราก็สองจิตสองใจว่า เขาจะทำนักศึกษาหรือเปล่านะ แต่พอโดนมาจริงๆ ก็โอเค ก็เข้าใจแหละว่า นี่คือเรื่องการเมือง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีมา คือยังอยู่ในจุดที่ยังคุมอยู่ได้ ไม่ใช่เพราะเขาจะคุมโรคระบาดอะไร แต่เราประเมินกันไว้คือ เขามีไว้เพื่อควบคุมม็อบ”

“คือถ้าเขากังวลเรื่องโรคระบาดจริงเขาจะไม่ทำอย่างงั้นเลย เขาจะมาให้ความรู้ว่า ตอนนี้มีโรคอยู่นะ ป้องกันตัวเองแล้วหรือยัง เขาจะทำอย่างนี้ แต่นี่ทุกๆ ครั้งที่เราออกไปเขาจะใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ขู่ อย่างหนูไปรถแห่ตอนไปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เขาก็ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาขู่ว่า เนี่ยมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อยู่นะ ถ้าน้องยังทำต่อพวกพี่จะดำเนินคดีนะ เขาพูดอย่างนี้ทุกงาน มันเลยเป็นเครื่องตอกย้ำว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มันไม่ได้มาควบคุมโรคระบาดของประชาชน มันเห็นได้ชัดมาก”

พรกฉุกเฉิน_รุ้ง

“เราก็มีการประเมินมาก่อนว่าอาจจะโดนดำเนินคดีได้ พอมาโดนจริงๆ ยิ่งโทษมันคือจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท เราก็มีความกังวลว่าเราจะได้เข้าคุกกี่ปี อย่างที่บ้านหนูแม่เครียดมากว่าลูกจะติดคุกไหม ไม่อยากให้ลูกออกไปทำแล้ว แต่สุดท้ายแล้วพอเรานั่งคุยกับนักกิจกรรม พี่ๆ เพื่อนๆ เรา มันทำให้เรานึกย้อนกลับมาอีกครั้งว่าที่เราทำเราไม่ได้ทำผิดนะ ที่เราทำก็คืออุดมการณ์ของเรานะ เพื่อสิทธิของเรานะ เพื่อความเป็นอยู่ของเรานะ เพื่อชีวิตของเรานะ เราไม่ได้ทำผิดอะไร เราไม่ได้ฆ่าใคร เราไม่ได้ลักทรัพย์ ถ้าเราโดนก็คือคดีการเมืองล้วนๆ”

“มันทำให้หนูกลับมาอีกครั้งว่าทำไมเราต้องสู้ขนาดนี้ ทำไมเราต้องออกมาเรียกร้อง ทำไมเราต้องออกมาเคลื่อนไหว ก็เพื่อทุกคน ตอนนี้ก็เลยไม่ใช่ความกังวลแล้ว เป็นความโกรธยิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ว่า คุณมาทำอย่างนี้กับประชาชนได้ยังไง มันทำให้หนูมีแรงในการสู้ขึ้น ตอนนี้หนูถึงขั้นว่าก็ให้มันรู้ไปว่าสิ่งที่เราทำคุณมากดเรา ไม่ใช่เราไปทำผิดอะไร”

“หนูอยากให้ทุกคนรู้ว่าการที่เขาจะจับเราเข้าคุก หนูอยากให้ทุกคนตระหนักถึงสิทธิและเสรีภาพของตัวเองที่มันไม่เคยใครเลยควรถูกจำกัดเพียงเพราะว่าเห็นต่างจากผู้มีอำนาจ ไม่ว่ายังไงเรามีสิทธิและเราทำได้ หนูไม่อยากให้คนตื่นกลัว จริงๆ หนูก็กลัวว่าถ้าหนูโดนคดีมันจะตอกย้ำคนอื่นค่ะว่าออกมาแล้วมันอันตราย แต่เอาจริงๆ หนูอยากให้คนรู้ว่า นี่คือเหตุที่ทำให้เราต้องสู้และต้องสู้มากกว่านี้”

“ผู้ติดเชื้อในประเทศไทยก็ไม่มีมากว่าเดือนหนึ่งแล้ว ถ้าหนูจำไม่ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่จำเป็นแล้ว ถ้าจะมีก็ พ.ร.บ.ควบคุมโรคระบาด (พ.ร.บ.โรคติดต่อ) ไง ทำไมไม่ใช้ นี่เป็นคำถามของกลุ่มนักศึกษามาตลอดว่า พ.ร.บ.ควบคุมโรคระบาด มันมีนะ มันใช้ได้ทำไมไม่ใช้ ทำไมถึงเลือกใช้เป็น พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ”

“ในฐานะที่เป็นคนทำกิจกรรม สำหรับหนูมันเป็นสิ่งที่จำกัดสิทธิหน้าที่ในการแสดงออกของประชาชนมากเลย เพราะไม่สามารถออกมาชุมนุมกันได้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แค่สองคนก็เป็นการชุมนุมได้แล้ว เพราะฉะนั้นมันเป็นการจำกัดกรอบชัดเจนว่า ห้ามออกมาชุมนุมนะ เพราะมันจะผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตรงนี้เป็นสิ่งที่รับไม่ได้มากๆ”

“หนูคิดว่าเรื่องโรคโควิดควรให้ผู้เชี่ยวชาญจริงๆ เขาประเมิน แล้วให้ทำตามเขาด้วย ไม่ใช่เอาแต่ว่า เฮ้ย! อยากจะควบคุมประชาชนนะ อยากให้สถานการณ์การเมืองอยู่ในพื้นที่นิ่งเงียบซักพัก หนูคิดว่าเขาไม่ควรทำอย่างนั้น เขาควรมองสถานการณ์ตามความเป็นจริงว่ามันเป็นไงบ้างแล้ว แล้วควรตระหนักถึงความเดือดร้อนของประชาชนให้มากกว่านี้”

“ก่อนหน้านี้ที่มีเคอร์ฟิว มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คนมันลำบาก บางคนตกงาน อย่างเพื่อนหนูที่ทำงานส่งตัวเองเรียน ล่าสุดโดน Lay Off (ให้ออกจากงาน) เพราะว่าบริษัทไม่สามารถที่จะจ้างงานคนได้มากเท่าเดิม แล้วเงินเยียวยาควรได้ถ้วนหน้าทุกคนเลยตั้งแต่อายุ 18 ปี เพราะว่ามันก็มีบางคนที่ทำงานตั้งแต่อายุเท่านี้ และทุกคนได้รับผลกระทบจากโควิดด้วยกันทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม แล้วควรส่งแบบโอนเงินเข้าบัญชีไปเลย ไม่ใช่ให้คนมาลงทะเบียนแล้วคนได้บ้างไม่ได้บ้าง ถ้านึกอยากจะมาเป็นรัฐบาลเขาก็ควรใส่ใจประชาชนไม่ใช่ใส่ใจแต่อำนาจของตัวเอง”

 

วศิน พงษ์เก่า หรือ ต้น เจ้าหน้าที่กลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน (Land Watch) ถูกออกหมายเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการไปยื่นจดหมายที่สถานทูตกัมพูชาเพื่อให้ติดตามกรณีการหายตัวไปของวันเฉลิม

“หลังเกิดเรื่อง (การหายตัวไป) ของ ‘วันเฉลิม’ เราก็คิดว่าเราจะทำยังไงดีกับปรากฏการณ์นี้ เราก็เลยตั้งใจจะไปถามหาข้อเท็จจริงว่ามันเกิดอะไรขึ้น เลยตั้งใจไปยื่นหนังสือกับสถานทูตกัมพูชา แล้วก็ไปที่ทำเนียบรัฐบาลต่อ”

“ในข้อเรียกร้องของเรา เราเรียกร้องให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับติดตามความเคลื่อนไหว จดหมายนี่มันเน้นไปที่ข้อเท็จจริงคืออะไร ไม่ได้ประณาม ไม่ได้ด่า แค่ต้องการให้นำข้อเท็จจริงนำสู่สาธารณะ”

“ตอนแรกก็งง! ที่โดนหมาย เพราะตอนอยู่ ม.ขอนแก่น ผมทำกิจกรรมมากกว่านี้ทั้งประณาม ทั้งด่า ในยุค คสช. มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาไถ่ถามแต่ยังไม่โดนคดี แต่นี่เราแค่มาถามเฉยๆ ว่าข้อเท็จจริงมันเป็นยังไง กลับโดน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เฉย…”

“วันนั้น… พวกผมสี่คน ไปกันก็ใส่หน้ากากอนามัย แม้เราจะไม่ได้ห่างกันมาก แต่เราใส่หน้ากาก เราก็คิดว่ามันมีมาตรการในการดูแลตัวเองและดูแลไม่ให้ตัวเองไปแพร่เชื้อด้วย ส่วนตำรวจมีกันสักสามสิบสี่สิบคนที่มายืนกั้นอยู่บริเวณหน้าสถานทูต (กัมพูชา) และตำรวจยศสูงๆ ที่เข้ามาคุยกับเรา ซึ่งผมคิดว่า ผมกับเขาแต่งตัวเหมือนกัน ใส่หน้ากากอนามัยเหมือนกัน นักข่าวบางคนใส่บ้างไม่ใส่บ้าง ผมเลยงงว่า เราทำตัวเหมือนตำรวจแต่ทำไมถึงบอกว่าเราเป็นคนแพร่เชื้อ”

พรกฉุกเฉิน-ต้น

“ตอนที่ทุกคนได้หมายเรียกแรก ผมไม่ได้ ผมมาได้ตอนที่ทุกคนโดนหมายเรียกครั้งที่สอง คือ ไปด้วยกันสี่คน แต่สามคนโดน ผมก็เอ๋… หรือผมจะรอดวะ ที่นี้พอพี่ๆ โดนหมายแล้วผมไม่โดน ทางทนายฯ จากศูนย์ทนายฯ (ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน) เขาก็ไปเช็คให้ว่าผมโดนหรือไม่โดน ตำรวจก็บอกว่า ‘โดน’ จากนั้นผมกับพี่ที่โดนคดีด้วยกันก็ไปทำหนังสือเลื่อนขอเข้าพบพนักงานสอบสวนเป็นวันที่ 9 กรกฎาคม”

“พอโดนคดี ผมตั้งข้อสังเกตแบบนี้ ผู้ทำผิดตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เช่น ฝ่าฝืนเคอร์ฟิว กรีดยางแต่กลับบ้านไม่ทัน นั่งเล่นโดมิโน่ แล้วโดนจับ พวกนี้ตำรวจเข้าไปจับเลย ถือว่าเป็นความผิดซึ่งหน้า แต่ทำไมพวกผมอยู่ตรงนั้น ทำไมพวกเขาถึงออกหมายเรียกทีหลัง ผมเลยรู้สึกว่า อำนาจในการตัดสินใจว่าผิดหรือไม่ผิด หรือควรจะกล่าวหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไหม คงมีอำนาจเหนือมาตัดสินใจ พอหมายออกทีหลังมันเหมือนคุณรอตัดสินใจอะไรอยู่หรือเปล่า”

“มันมีข่าวลือบ้าง ไม่ลือบ้าง ผมไม่รู้ข้อเท็จจริงแค่ไหน เรื่องถ้าใครไปเคลื่อนไหวเรื่องวันเฉลิมจะโดน อย่าไปเคลื่อนไหวเรื่องวันเฉลิมนะจะโดนนู่นนี่นั่น มีการกดดันว่า ครั้งนี้เขาเอาจริงนะ แล้วหลังจากออกหมายกับผมก็มีการออกหมายกับคนอื่นอีก”  

“ในมุมผม การชุมนุมไม่ใช่ปัญหา ปัญหาคือชุมนุมอย่างไรมากกว่า… หรือที่เขาห้ามรวมตัวกัน ผมก็รู้สึกรวมตัวไม่ใช่ปัญหาแต่รวมตัวกันยังไงให้ปลอดภัยมากกว่า…”

“พอโดนคดีแล้วมันยุ่งยาก ตอนผมเป็นนักศึกษาผมก็เคลื่อนไหวนะ เคลื่อนไหวเต็มที่ มันไม่ต้องแบกอะไรเยอะ แต่พอทำงานแล้ว เราทำงานกับชาวบ้าน เราทำงานในพื้นที่ มันเลยมีเรื่องให้ต้องจัดการอีกเยอะแยะนอกไปจากคดี และถึงไม่มีคดี รัฐไทยก็ยังกดขี่ประชาชนอยู่ร่ำไป ทำให้พอโดนคดีความคล่องตัวมันน้อยลง ทั้งที่เราควรจะเอาเวลาไปทุ่มเทร่างกายจิตใจ แรงงาน เวลา ให้กับการเปลี่ยนแปลงสังคมที่เราคิดและเราฝันได้มากกว่านี้”

“ผมคิดว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่จำเป็นตั้งแต่แรก ผมไม่เชื่อเลยว่ามันจำเป็น ผมรู้สึกว่า ถ้าบอกว่า พ.ร.บ.โรคติดต่อไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ ผมก็คิดว่า เราก็แก้สิ ที่ผ่านมาเราประเมินโควิดต่ำเกินไป นี่เราประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาสี่เดือนแล้วจะต้องประกาศต่อไปจนถึงมีวัคซีนเลยหรือเปล่า?”

“ถ้าเราเตรียมพร้อมตั้งแต่มกราคม ตั้งแต่จีนประกาศให้มันเป็นโรคระบาดและเราทราบว่าจะเป็นโรคระบาดระดับโลก เราสามารถใช้กลไกสภาที่เป็นตัวแทนประชาชนจัดการได้ เราไม่จำเป็นต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และยิ่งเห็นมาตรการของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มันยิ่งรู้สึกไม่มีประโยชน์”

“อย่างน้อย พ.ร.บ.โรคติดต่อ ผู้ที่เดือดร้อนจากผู้ใช้อำนาจรัฐจนเกินไปยังสามารถฟ้องได้ตรวจสอบได้ แต่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มันครอบจักรวาลเกินไป แล้วก็ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง เช่น เคอร์ฟิวตอน 4 ทุ่ม ถึงตี 4 ผมถามว่า ถ้าผมจะออกไปกรีดยางตอนตีสองในสวนร้อยไร่ ผมจะไปติดเชื้อกับใคร ไปติดกับยุงเหรอ?”

“เมื่อไรก็ตามที่ให้สุขภาพมานำเสรีภาพ มันทำให้ไม่เกิดทางเลือก ซึ่งการไม่เกิดทางเลือกมันทำให้มาตรการมันไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนทุกคน เพราะทุกคนไม่ได้มีทางเลือกเดียวกัน การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จโดยไม่ได้ฟังผู้มีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย หรือมีช่องทางวิธีการเดียว โดยไม่สอดคล้องกับชีวิตเขา มันก็ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต สุขภาพกาย ความอยู่ดีมีสุข”

“เราจะเห็นเลยว่าตัวเลขของการฆ่าตัวตายของคนจนเพิ่มขึ้นมาก อย่างเป็นนัยสำคัญ สุดท้ายแล้ว การบังคับใช้อำนาจแบบนี้ หรือเสรีภาพในการใช้อำนาจอย่างเกินขอบเขตไม่ต้องรับผิดรับชอบของรัฐ จะเป็นเพียงเพื่อรักษาชีวิตข้าราชการ คนรวยที่เข้าถึงการรักษา คนที่มีที่ดินที่อยู่อาศัยโดยไม่ต้องเช่า แล้วก็เหยียบย่ำเดินผ่านชีวิตคนจนที่เจ็บปวดและต้องตายไปโดยไม่ต้องรับผิดชอบเพียงเพราะเขาเหล่านั้นจนหรือเปล่า”

 

ณัฐวุฒิ หรือ ต้อ รองเลขาธิการของคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ผู้ถูกออกหมายเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณียื่นหนังสือทวงถามชะตากรรมของวันเฉลิม สัตย์ศักดิสิทธิ์ ที่หน้าสถานทูตกัมพูชา 

“วันที่ไปก็ใส่หน้ากากอนามัยป้องกันตัวเองอย่างดี ไม่ได้รวมตัวมากมายเพราะไปกันแค่สี่คน ซึ่งถ้าจะตีความว่าการไปแค่สี่คนของเรามีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายโรคนะ ตำรวจที่ยืนเข้าแถวติดกันบริเวณนั้นมีความเสี่ยงมากกว่าอีก เพราะมีตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบประมาณ 20 คน ยังไม่รวมนักข่าวอีกประมาน 15 คน”

“วัตถุประสงค์ของการนำหนังสือไปยื่นที่สถานทูตกัมพูชาเพื่อส่งถึงนายกรัฐมนตรีกัมพูชานั้น หนึ่ง คือ เราเห็นข่าวการหายตัวไปของวันเฉลิม ในฐานะ กป.อพช.ก็คิดว่า เรื่องแบบนี้ควรมีข้อเท็จจริงปรากฏสู่สังคม รวมถึงควรมีกลไกที่จะเร่งรัดในการติดตามตัววันเฉลิมจากทั้งสองรัฐบาล ให้เขาได้รับความปลอดภัยโดยเร็วที่สุด สอง คือ เราอยากยืนยันว่าการถูกอุ้มหายมันไม่ควรเกิดขึ้นกับใครก็ตาม ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะหรือสถานที่ใด”

ต้อได้กล่าวถึงกรณีของวันเฉลิมที่ถูกอุ้มหายไว้ด้วยว่า “ในช่วงหลังๆ มานี้ เรามักจะได้เห็นการคุมคามนักกิจกรรม นักเรียกร้องสิทธิ และในกรณีของวันเฉลิมมันมีภาพชัดเจน ถึงจะรู้จักกับวันเฉลิมเป็นการส่วนตัว แต่เราคิดว่า เราทำในฐานะที่เขาเป็นพลเมืองไทย ไม่ว่าเขาจะทำผิดหรือมีสถานะอย่างไร เมื่อมีกฎหมายในการคุ้มครองพลเมืองและกระบวนการยุติธรรมสำหรับผู้กระทำผิดอยู่แล้ว เราก็ควรดำเนินการตามนั้น” 

“กระบวนการอุ้มหายมันไม่ควรเกิดขึ้นเพราะมันอธิบายอะไรไม่ได้เลย ถ้าปรากฏว่า วันเฉลิมทำผิดจริงก็นำเขาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อให้ข้อเท็จจริงมันปรากฏ”

เมื่อถามเหตุการณ์วันที่ไปยื่นหนังสือ เมื่อ 8 มิถุนายน 2563 ที่เป็นสาเหตุของการได้รับหมายเรียกฐานฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต้อเล่าว่า “วันนั้น ไปถึงสถานทูตกัมพูชาประมาณสิบโมง ไปกันแค่สี่คน ไปถึงก็ไปแจ้งกับเจ้าหน้าที่หน้าประตูว่า เราอยากยื่นหนังสือ แล้วก็นั่งรอกันประมาณ 15 นาที ก็ยังไม่มีคนออกมารับ สุดท้ายเราก็ตัดสินใจวางหนังสือไว้ที่หน้าป้ายสถานทูตแล้วเราก็กลับ”

“เสร็จจากสถานทูตกัมพูชา เราก็ไปที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนของสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อเอาหนังสือที่มีเนื้อความแบบเดียวกันยื่นถึงนายกรัฐมนตรีไทย ที่นั่นมีเจ้าหน้าที่ออกมารับหนังสือเรา ทุกอย่างเป็นไปอย่างเรียบร้อย”

“การจะส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีต่างประเทศ วิธีที่ทำได้โดยเร็วที่สุดวิธีหนึ่ง คือ การไปยื่นหนังสือต่อสถานทูต ซึ่งเราปฏิบัติตามกลไกลระหว่างประเทศ เราไม่ได้ไปชุมนุมอะไรเลย”

และเมื่อถามถึงความจำเป็นของการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของรัฐบาลในการจัดการกับโรคโควิด 19 ต้อแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “ระยะแรกที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการควบคุมโรค เราเข้าใจ แต่ตอนนี้มันควรยกเลิกได้แล้ว เพราะระยะในการควบคุมโรค ระยะปลอดภัย เราผ่านมาแล้ว ไม่มีคนติดเชื้อในประเทศเกินกว่า 28 วันมานานแล้ว รวมถึงมาตรการอื่น เช่น พ.ร.บ.โรคติดต่อ ก็สามารถใช้ได้” 

พรกฉุกเฉิน_ต้อ

“ที่สำคัญคือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มันไม่ควรถูกนำมาสู่การจำกัดสิทธิในประเด็นอื่นๆ”

นอกจากนี้ ต้อยังเล่าให้ฟังอีกว่า “ก่อนหน้าที่ยังไม่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กป.อพช. ก็ไปยื่นหนังสือกันเป็นเรื่องปกติวิสัยมากๆ หรือแม้กระทั่งในช่วงที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้วก็ตาม เราก็มีไปยื่นหนังสือหลายเรื่อง ก็ไม่มีปัญหาอะไร ครั้งนี้เป็นครั้งแรกเลยที่มีการออกหมายเรียกฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” 

“เราควรมองสิทธิตามรัฐธรรมนูญให้มันคงอยู่ทุกสถานะมากกว่าการใช้ พ.ร.ก.ในบางช่วงที่จำเป็นแล้วมาจำกัดสิทธิตามรัฐธรรมนูญของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ควรถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อปิดกั้นเสรีภาพของประชาชน เพราะในตอนนี้ สังคมเริ่มตั้งคำถามแล้วว่าการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มันมีไว้เพื่อควบคุมโรคระบาดอย่างเดียวจริงหรือเปล่า”

 

แสงศิริ หรือ ตุ้ย จากเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ผู้ถูกออกหมายเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาในความผิดฐาน ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณียื่นหนังสือหน้าสถานทูตกัมพูชาในวันที่ 8 มิถุนายน 2563 เพื่อทวงถามชะตากรรมของ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักเคลื่อนไหวและผู้ลี้ภัยไทยในกัมพูชา

“ต้าร์ เป็นคนรุ่นใหม่ยุคแรกๆ ที่ทำงานเคลื่อนไหวเรื่องเอดส์ด้วยกันกับพี่ น้องเป็นคนแอคทีฟ กล้าคิด กล้าพูดในสิ่งที่เขาคิดว่า มันถูก กล้าตัดสินใจ กล้าทำ แต่ก็เป็นคนที่รับฟังคนอื่นเสมอ รู้จักกันมานาน มีแค่หลังๆ ที่ไม่ค่อยได้เจอ”

“สะเทือนใจกับการหายตัวไปของต้าร์ พี่รู้สึกว่า เขาเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีอนาคต การที่ต้องลี้ภัย มันก็หนักหนาพอแล้วสำหรับเขา คือเขาอาจจะมีธุรกิจ แต่พี่เชื่อว่า ลึกๆ ต้าร์ยังอยากทำงานเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวอยู่ แต่มันขาดโอกาสตรงนั้นไปแล้ว พี่คิดว่า คนรุ่นใหม่มันคือความหวังนะ อยู่ๆ คนรุ่นใหม่หายไป พี่รู้สึกแย่พอสมควร”

พี่ตุ้ยเล่าถึงกิจกรรมที่ไปแสดงออกเพื่อถามหาความรับผิดชอบของกรณีวันเฉลิมว่า “พอเห็นโพสต์ของ กป.อพช. (คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน) ชวนไปยื่นหนังสือให้ติดตามกรณีการหายตัวของวันเฉลิม ส่งถึงนายกรัฐมนตรีกัมพูชา พี่พอมีเวลา ก็ลงชื่อไปกับเขา พี่อยากทำไรสักอย่างเพื่อต้าร์”

และจากเหตุการณ์ไปยื่นจดหมายในวันที่ 8 มิถุนายน 2563 พี่ตุ้ยและเพื่อนที่ไปร่วมยื่นจดหมายอีกสามคน ถูกออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ สน.วังทองหลาง ตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2563 พี่ตุ้ยเล่าถึงเหตุการณ์วันนั้นว่า

“จากที่เห็นข่าวประชาสัมพันธ์เชิญชวนคนให้ไปร่วมยื่นจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่สถานทูตกัมพูชา ผ่านทางเฟซบุ๊กของทาง กป.อพช. พี่ก็ลงทะเบียนไป พอไปถึงสถานทูตเวลาประมาณ 10 โมง ก็ยังไม่เจอใคร เจอแต่ตำรวจ นักข่าว เขาก็เข้ามาถามว่า เป็นแกนนำหรือเปล่า เราก็บอกว่า เปล่า แค่มาร่วมยื่นจดหมาย”

“พออีกสามคนที่เหลือมาถึง เราก็ไปติดต่อที่ป้อม ถามว่า จะมีคนออกมารับจดหมายมั้ย เขาก็ตอบไม่ได้ ได้แต่บอกว่าให้รอ เรารอไป 15 นาทีก็ไม่มีไรเกิดขึ้น สุดท้ายเราก็ตัดสินใจกันว่า ให้เอาจดหมายวางทิ้งไว้ แล้วก็ทาง กป.อพช.อ่านแถลงการณ์ เสร็จก็แยกย้าย รวมแล้วใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงครึ่ง ไม่เกิน 2 ชั่วโมง”

“ถ้าเจ้าหน้าที่ออกมารับแต่แรกก็คงจบไปแล้ว ใช้เวลาไม่นานเท่านั้น ตอนที่ไป ทุกคนก็ดูแลตัวเองอย่างดี ใส่หน้ากากอนามัยกันหมด”

พรกฉุกเฉิน_ตุ้ย

“พอได้หมายเรียก ก็ไม่ได้ตกใจมาก แต่มีความกังวลใจว่า การโดนหมายเรียกฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มันจะมีผลกับชีวิตเรามากน้อยแค่ไหน ต้องสู้คดีและใช้เวลานานแค่ไหน อย่างไร แต่เบื้องต้นได้ปรึกษากับทนายฯ ก็จะสู้ไปตามกระบวนการเพราะเรายืนยันว่า เราไม่ได้ละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อไปทำให้เกิดโรคระบาด”

ในส่วนความจำเป็นของการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับการควบคุมโรคโควิด 19 พี่ตุ้ยกล่าวว่า “ตอนที่โควิดระบาดแรกๆ แล้วมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็รู้สึกว่า มันเหมาะสม เพราะมันอาจจำเป็นที่ต้องออกคำสั่งบางอย่างเพื่อควบคุมโรค สถานการณ์ตอนนั้นทั้งในและนอกประเทศ จำนวนผู้ติดเชื้อมันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เราก็เชื่อว่า มันน่าจะช่วยได้ แต่พอผ่านไปสักพัก มาตรการในการรับมือนั้นทำได้ดี กระทรวงสาธารณสุขก็มีวิธีจัดการโรคได้ดี ก็รู้สึกแปลกๆ แล้วว่า ทำไมถึงไม่ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ สักที”

“ตอนแรกคิดว่า ประกาศใช้เดือนเดียวก็น่าจะพอ เพราะตัวเลขมันเริ่มลดลง มันทำให้เห็นว่า จริงๆ แล้วมันมีมาตรการอื่นที่เข้ามาจัดการได้โดยไม่ต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เริ่มแรกเลยมีคนออกมาพูดว่า การออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มันจะเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ตอนนั้นก็ยังเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งเพราะโรคมันระบาด มีความจำเป็นจริงๆ แต่หลังๆ คิดว่าไม่ใช่แล้ว”

“ยิ่งพอมาเจอกับตัว ก็รู้เลยว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ยื้อกันมาสองสามเดือน คือ ยื้อเพื่อที่จะครองอำนาจไว้กับมือตัวเอง เพื่อที่จะสั่งการอะไรแบบไหนก็ได้ เราคิดว่า มันเป็นการใช้ที่เกินเลยไปแล้ว มันเหมือนไม่ได้มีไว้เพื่อควบคุมโรคเพราะตอนนี้โควิด 19 ก็เริ่มดีขึ้น ไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศแล้ว แต่มีไว้เพื่อรัฐบาลต้องการกุมอำนาจไว้ในมือแล้วไปลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการพูด การสื่อสาร การร้องเรียนต่อนโยบายรัฐของประชาชนมากกว่า”

“เรื่องคนหาย ถ้ามีคนนำ เราก็ออกมาทุกครั้งนะ เมื่อไม่มีความยุติธรรม เราก็ออกมา คนคนหนึ่งถึงเขาจะอยู่ต่างประเทศแต่เขาก็ไม่ควรถูกอุ้มหายหรือถูกอุ้มฆ่า ผู้ลี้ภัยเป็นคนไทยเขาหายไปอย่างนี้รัฐบาลก็ควรจะออกมาติดตาม จะหนีหมายหรืออะไรไปก็จริงแต่เขาก็เป็นคนไทย เขาไม่ควรจะต้องเสียชีวิต”

 

นภัสสร บุญรีย์ หรือ นก จำเลยคดีผู้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง และนักกิจกรรมทางสังคมผู้ถูกออกหมายเรียกรับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีร่วมชุมนุมทวงถามชะตากรรมของวันเฉลิม สัตย์ศักดิสิทธิ์ ผู้ลี้ภัยการเมืองไทยในกัมพูชาเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2563 

“จริงๆ เราเองก็เคลื่อนไหวทางการเมืองมาตั้งแต่ปี 35 แล้ว มาฟังจำลอง (ศรีเมือง) ตอนนั้นลูกเราเพิ่ง 5 ขวบเราก็โดนจับให้นอนอยู่กลางถนนตั้งแต่หนึ่งทุ่มยันเที่ยงคืน โอ้โห ร้อนมากหน้าแทบจะไหม้ หรืออย่างตอนสนธิ (ลิ้มทองกุล) เราก็เคยไปนะ แล้วตอนหลังปฏิวัติเราก็ไปฟังคดียุบพรรคไทยรักไทยแล้วเราก็เริ่มเข้าร่วมทุกกลุ่ม เลิกงานเราก็จับแท็กซี่ไปฟัง ไม่ตีสอง เวทีไม่ปิด เราก็ไม่กลับนะ เวทีเสวนาเราก็ไป เราเรียนน้อย จบ ป.4 ก็ไปฟังเก็บความรู้ ไม่เคยพลาดหรอก”

“ที่ออกไปวันนั้นรู้ว่าเขาใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ คุณบอกว่าต้องใช้ พ.ร.ก. เพื่อโควิด แต่ตอนนี้โควิดมันก็ไม่ค่อยมีแล้ว อันนี้คนทั้งคนหายไป จะไม่ให้เรียกร้องเหรอคะ”

“วันนั้นเราก็ไปถือป้าย #Saveวันเฉลิม ป้ายส่วนใหญ่เราทำมาเอง คิดอะไรได้เราก็เขียน แล้วก็หิ้วมาให้เพื่อนถือด้วย ถามว่าเราไปชุมนุมไหม ป้าว่ามันก็ไม่เชิงชุมนุม แค่มาเรียกร้อง มาถือป้าย มายื่นหนังสือ วันเฉลิมเขาหายไป เรามาขอให้ทางสถานทูตช่วยดูแลเพราะวันเฉลิมอยู่ในประเทศของเขา ก็ให้ช่วยดูหน่อยว่าหายจริงไหม มันยังไง”

“ตอนโดนหมายเรียกคนอื่นเขาก็รู้ตัวกันหมดแล้ว เขาตามหาเรายุ่งเลย แล้วทนายฯ ค่อยโทรมาบอก เราก็คิด อ้าว รอบนี้เลขออกที่เราเหรอ ไม่ได้ตื่นเต้นนะ มันเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับเราแล้ว โดนมา 5 คดีแล้วแต่ก็ยังไม่โดนขังนะ ตอนรู้เรื่องก็อยู่บ้าน ตัวเองตกงานมาตั้งแต่ปี 53 แล้วก็เคลื่อนไหวทางการเมืองมาตลอด อาศัยลูกส่งเงินให้เรื่อยๆ เราเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวส่งเสียเขามาคนเดียว เมื่อก่อนเราทำ jewelry ตั้นแต่ปี 34-35 จนมาถึง 53 เป็นระดับหัวหน้า คุยประสานกับฝรั่ง แต่เรามาฝักใฝ่เรื่องการเมืองมากไง เลขาฯ เขาก็ไม่ชอบ งานการเราก็เลยเสีย แต่ก่อนป้าเนี่ยเจ้านายรักที่สุด เป็นที่ไว้วางใจ ทำงานเก่ง เข้างานเช้า แต่ตั้งแต่ปฏิวัติมา ความคิดเราก็ไม่อยากมัวแต่ทำงานอะ นึกออกไหม”

“ที่บ้านเราตอนนี้เขาไม่ห่วงแล้วแหละ ตอนที่เขาห่วงมากก็คือตอนปี 53 ที่เขายิงกันปุ้งปั้ง เราอยู่ตรงนั้น เขาก็โทรมาถามโทรมาเช็คอยากให้เราออก แต่ตอนนี้จะเป็นรูปแบบตำรวจหรือทหารเข้ามาที่หมู่บ้าน เราเป็นคนอุบลฯ อ.ม่วงสามสิบ เราก็ชินแล้ว เพื่อนบ้านเราก็ชินแล้วแหละ”

“มันคงมีคนบอกว่าที่เราไปรวมตัววันนั้นมันอาจสุ่มเสี่ยงใช่ไหม แต่เราก็ใส่มาสก์ป้องกันอยู่ เอาจริงเดี๋ยวนี้รถเมล์มันยืนเบียดกว่าที่เราไปกันวันนั้นอีก คดีนี้เราก็ไม่รู้จะเป็นยังไงนะ แต่ชีวิตนี้เราตั้งใจแล้วจะอุทิศให้ประชาธิปไตย เราก็จะเคลื่อนไหวต่อไป มีที่ไหนไปที่นั่น แต่ถ้าต่างจังหวัดเราก็คงไม่ไปนะ ตอนนี้เราใช้เงินลูก แต่ถ้าไม่ไกลมาก เราก็จะไป”