1628 1294 1712 1591 1172 1545 1571 1119 1692 1077 1913 1284 1113 1902 1928 1195 1466 1147 1518 1147 1181 1774 1315 1397 1320 1906 1850 1772 1783 1362 1169 1265 1047 1814 1151 1256 1653 1083 1922 1976 1955 1476 1072 1768 1922 1565 1688 1726 1242 1301 1500 1726 1587 1121 1290 1751 1980 1050 1475 1907 1949 1487 1301 1372 1752 1938 1230 1405 1472 1326 1623 1006 1304 1654 1875 1175 1031 1460 1875 1878 1506 1878 1477 1554 1809 1711 1957 1033 1774 1040 1246 1472 1878 1612 1764 1379 1304 1006 1539 บันทึกการคุกคามนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว ก่อนเวทีรับฟังความคิดเห็นสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

บันทึกการคุกคามนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว ก่อนเวทีรับฟังความคิดเห็นสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ

ก่อน และหลังการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นอุตสาหกรรมจะนะ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2563 มีประชาชนถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคามโดยการเยี่ยมบ้าน และโทรหาอย่างน้อย 14 คน แบ่งเป็นเยี่ยมบ้าน 11 คน และโทรศัพท์สอบถาม 3 คน
 

กรณีเยี่ยมบ้าน
 
1. บรรจง นะแส 
 
บรรจงเล่าว่า วันที่ 6 กรกฎาคม 2563 รองผู้ว่าฝ่ายความมั่นคง (โควต้าจากกองทัพเรือ) จังหวัดนราธิวาส พร้อมผู้ติดตามอีก 1 คน แต่งกายนอกเครื่องแบบราชการ เข้ามาพบที่บ้านในจังหวัดสงขลา เข้ามาสอบถามเรื่องหลักๆ คือเรื่องที่บรรจงโพสต์เฟซบุ๊กเรื่องน้ำมันตราสมอ ที่ทหารเรือทุจริตน้ำมันกองทัพเรือ นำน้ำมันจากเรือหลวงออกมาขาย ในพื้นที่ทัพละมุ จังหวัดพังงา โดยรองผู้ว่าฯ เข้ามาพูดคุยสอบถามเกี่ยวกับพยานหลักฐานที่บรรจงได้รับมาว่าได้มาอย่างไร และเข้ามาปรับความเข้าใจกับบรรจงว่าในกองทัพเรือน้ำมันในเรือไม่สามารถนำออกมาขายได้ตามที่บรรจงกล่าวอ้าง เนื่องจากของหลวงมีระบบการเบิกจ่ายที่ต้องตรวจสอบตลอด ใช้ไม่หมดก็ต้องคืน 
 
ส่วนเรื่องของนิคมอุตสาหกรรมที่จะนะ รองผู้ว่าฯ ได้พูดคุยกับบรรจงในเชิงที่ว่าต้องช่วยกันเสนอทางออกให้กับปัญหาที่เกิดขึ้นไปแล้ว แต่ไม่ได้สอบถามบรรจงถึงเรื่องการไปร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 11 กรกฎาคม 2563 แต่อย่างใด การพูดคุยที่บ้านทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 30 นาที
 
วันที่ 7 กรกฎาคม 2563 บรรจงโพสต์เฟสบุ๊คส่วนตัวว่า มีคลิปวงจรปิด ที่บันทึกภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาบุกสำนักงาน เพื่อเข้ามาสอบถามว่ามีใครไปร่วมเวทีรับฟังความเห็นสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ในวันที่11 กรกฎาคม 2563 บ้าง
 
จากการสอบถามเพิ่มเติมเหตุการณ์ดังกล่าวจาก สมยศ โต๊ะหลัง ซึ่งเป็นผู้ส่งข้อมูลให้กับบรรจงในวันเกิดเหตุ สมยศ แจ้งว่า ในวันที่ 7 กรกฎาคม 2563 สมยศ ทำกิจกรรม #SAVECHANA อยู่ที่หอศิลป์กรุงเทพฯ แต่มีโทรศัพท์เข้ามาจากชาวบ้านในเครือข่ายที่ใช้สำนักงานมูลนิธิ Saveอันดามัน ที่จังหวัดตรัง เพื่อการประชุมกิจกรรมเครือข่าย ว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกครื่องแบบ 7 คน มาโดยรถกระบะ 2 คัน ทราบว่าเป็นตำรวจสันติบาล จาก สภ.ตรัง มาสอบถามถึงสมยศ ซึ่งมีชื่อเป็นผู้เช่าสำนักงานมูลนิธิ Saveอันดามัน ซึ่งชาวบ้านคนดังกล่าวตอบไปว่า สมยศไม่อยู่ อยู่ที่กรุงเทพฯ จากนั้นชาวบ้านคนดังกล่าวจึงโทรหาสมยศ และถามว่าจะคุยกับตำรวจหรือไม่ ซึ่งสมยศได้ปฏิเสธการพูดคุยกับตำรวจไป ตำรวจจึงสอบถามชาวบ้านว่าจะไปร่วมเวทีที่จะนะในวันที่ 11 หรือไม่ และจะมีคนจากกลุ่มนี้ไปร่วมเวทีกันกี่คน ชาวบ้านคนดังกล่าวไม่ได้ให้คำตอบไป หลังจากพูดคุยเสร็จ สมยศจึงให้คนในสำนักงานไปดูกล้องวงจรปิดในสำนักงาน แล้วแจ้งให้บรรจงทราบ จึงมีการโพสต์ภาพลงในเฟซบุ๊กของบรรจง
 
1471 ภาพประกอบจากกล้องของวงจรปิดมูลนิธิSAVEอันดามัน วันที่ 7 กรกฎาคม 2563
 
 
หลังจากสิ้นสุดเวทีรับฟังความเห็นจะนะ บรรจงแจ้งว่าไม่ได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายใดอีกเลย
 
 
2. รุ่งเรือง ระหมันยะ
 
รุ่งเรือง ระหมันยะ นายกสมาคมรักษ์ทะเลจะนะ แจ้งว่า เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2563 มีทหารมาหาถึงบ้านจำนวน 2 ชุดรวม 6 คน มาสอบถามเรื่องโรงไฟฟ้า และสอบถามว่าจะไปเวทีรับฟังความเห็นสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2563 หรือไม่  
 
รุ่งเรืองให้สัมภาษณ์กับประชาไท แจ้งรายละเอียดเพิ่มเติมว่าเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2563 มีทหารจำนวน 3 นาย มาที่บ้านของเขาแสดงตัวว่ามาจากค่ายเสนาณรงค์ และแจ้งว่าได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาว่าให้มาติดตามบ้านแกนนำ แต่บอกเพียงชื่อเล่นเท่านั้นโดยไม่ได้บอกชื่อจริง ตอนแรกเจ้าหน้าที่ไม่ได้ถามเขาตรงๆ เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวเรื่องนิคมอุตสาหกรรมจะนะ แต่ถามอ้อมไปเรื่องการเคลื่อนไหวค้านโรงไฟฟ้าและเรื่องความขัดแย้งในหมู่บ้านแต่เขาก็ปฏิเสธว่าไม่ได้ความขัดแย้งอะไรกันภายในหมู่บ้าน ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเข้าเรื่องถามเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวคัดค้านการสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ
 
 
3. ไกรวุฒิ ชูสกุล
 
ไกรวุฒิแจ้งว่า เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2563 ขณะที่เขาอยู่ในสวนยางพาราของเขาเอง ได้มีตำรวจเข้ามาพบเขาที่สวนยางพารา 2 ชุด เวลาประมาณ 10.00 น. ตำรวจชุดแรกเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบ สภ. ละงู จังหวัดสตูล จำนวน 1 คน เข้ามาหาเขาที่สวน เพื่อสอบถามว่าเขาจะไปร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นจะนะหรือไม่ แล้วมวลชนจากสตูลจะไปเยอะหรือไม่ ซึ่งไกรวุฒิไม่ได้ให้คำตอบที่ชัดเจนกับตำรวจคนดังกล่าว
 
หลังจากนั้นประมาณ 11.00 น. ตำรวจในเครื่องแบบ 3 คน จาก สภ.ละงู เดินทางไปหาเขาในสวนยางพาราเช่นเดียวกัน โดยถามว่าจะไปร่วมเวทีรับฟังความเห็นที่จะนะหรือไม่ เดินทางอย่างไร และคนไปเยอะหรือไม่ รวมถึงถามถึงมวลชนที่สตูลจะทำกิจกรรมอะไรหรือไม่ ซึ่งไกรวุฒิ ไม่ได้ให้คำตอบที่ชัดเจนกับตำรวจชุดดังกล่าวเช่นเดียวกัน 
 
ในวันเดียวกันนั้นกำนันในชุมชุน และคนอื่นๆ แจ้งกับไกรวุฒิว่า มีตำรวจสันติบาลจากเมืองสตูล และสภ.ละงู โทรหากำนัน และชาวบ้าน คนอื่นๆเพื่อสอบถามว่าไกรวุฒิจะไปร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นที่จะนะหรือไม่ ไกรวุฒิให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ขณะนั้นตัวเขาไม่มีเบอร์โทรศัพท์ และไม่ใช้โทรศัพท์มากว่า 1 ปี จึงทำให้ไม่สามารถติดต่อเขาทางโทรศัพท์ได้เลย(หมายเหตุไกรวุฒิเพิ่งเปิดเบอร์โทรศัพท์ใหม่จึงสามารถสัมภาษณ์ได้) 
 
วันที่ 9 กรกฎาคม 2563 ไกรวุฒิแจ้งว่า เวลาประมาณ 11.00 น. มีตำรวจในเครื่องแบบ 3 คน จาก สภ.ละงู จังหวัดสตูล ไปรอพบไกรวุฒิที่บ้านน้องสาว พอไกรวุฒิกลับจากสวนจึงได้พบกับทั้ง 3 คน ซึ่งนั่งรออยู่ที่ม้าหินอ่อน ในบ้านน้องสาวแล้ว จากการพูดคุยตำรวจแนะนำตัวว่าเป็นผู้กอง จาก สภ.ละงู เข้ามาพูดคุยกับไกรวุฒิเรื่องเวทีที่จะนะ โดยสอบถามไกรวุฒิเกี่ยวกับการไปร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นจะนะ สอบถามถึงมวลชลจากจังหวัดสตูลว่าจะไปกันกี่คน จะไปเวลาไหน ใช้รถอะไรในการขนส่งคน 
 
จากนั้นไกรวุฒิจึงถามกลับว่าแล้วมาพบเขาที่บ้านทำไม ตำรวจคนดังกล่าวตอบว่านายสั่งให้มาดู จากนั้นไกรวุฒิจึงพูดแลกเปลี่ยนกับตำรวจคนดังกล่าวว่า การไปร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นจะนะนั้นเป็นสิทธิของประชาชน สามารถไปเข้าร่วมได้ รวมไปถึงเล่าถึงปัญหาที่จะนะให้ตำรวจคนดังกล่าวฟัง ทั้งปัญหาที่รัฐอนุมัติโครงการก่อน แล้วค่อยทำเวทีรับฟังความคิดเห็น และปัญหาของ ศอ.บต. ที่เริ่มจากเป็นองค์กรไกล่เกลี่ยปัญหาระหว่างรัฐกับชาวบ้าน กลายเป็นองค์กรทำเวทีรับฟังความคิดเห็นและรับผิดชอบโครงการเอง
หลังจากพูดคุยกันประมาณ 30 นาที ตำรวจชุดดังกล่าวก็กลับไป
 
วันที่ 11 กรกฎาคม 2563 ไกรวุฒิ แจ้งว่า ในวันเดินทางจากสตูลไปจะนะ ที่จุดรวมมวลชนเพื่อขึ้นรถบัสจากสตูลไปจะนะ เวลาประมาณ 06.00 น. พบเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบ มาพร้อมรถ 1 คัน เป็นชุดผู้กองที่มาเยี่ยมบ้านของไกรวุฒิในวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 มีตำรวจในเครื่องแบบ 2 นาย และมีรถอีกคันตามมาเป็นตำรวจไม่ทราบสังกัด มาเพื่อจดชื่อชาวบ้านที่อยู่บนรถบัสทั้งหมด 27 คน  รวมไปถึงรถกระบะที่ไกรวุฒินั่งอยู่อีก 3 คนไป พร้อมทั้งถ่ายรูปบัตรประชาชนและคนบนรถทั้งหมดไป
 
 
1472 ภาพประกอบตำรวจขึ้นตรวจบนรถบัสจากสตูล

 

ไกรวุฒิ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า หลังจากรถบัส และรถกระบะของเขาเดินทางออกจากสตูล เพื่อไปจะนะ เขาถูกตรวจค้น และถูกเรียกลงไปให้การในบันทึกของตำรวจทั้งหมด 7 ด่าน โดยคนบนรถบัสซึ่งเป็นสตรี และเด็ก จะถูกถ่ายรูปและรวบรวมบัตรประชาชน ถ่ายรูป และจดชื่อทุกคน ส่วนตัวของไกรวุฒิจะถูกทุกด่านสอบถาม และจะเป็นคนที่ถูกเรียกตัวไปให้การลงในบันทึกของตำรวจโดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาหรือความผิดใดๆตลอดทั้ง 7 ด่านตรวจ ซึ่งแต่ละด่านจะใช้เวลาอย่างมากในการทำกระบวนการซ้ำๆกันในทุกด่าน

 

ปกติแล้วการเดินทางจากสตูล ไปจะนะ ระยะทางทั้งหมด 142 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทางเฉลี่ยไม่เกิน 3 ชั่วโมง แต่ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2563 การเดินทางของรถบัสดังกล่าว ออกจากจังหวัดสตูลประมาณ 6.00 น. แต่ไปถึงที่จะนะในเวลาประมาณ 15.00 น. หรือใช้เวลาเดินทางทั้งหมดถึง 8 ชั่วโมง 

 

4. อัครเดช ฉากจินดา
 
อัครเดช ฉากจินดา ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน จังหวัดกระบี่ แจ้งว่า เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 มีเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลจังหวัดกระบี่ เข้าไปพบเขาที่ร้านค้า เพื่อสอบถามเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวในเรื่องนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ซึ่งเขาได้ตอบปฏิเสธเจ้าหน้าที่ตำรวจคนดังกล่าวไป
 
 
5. ประสิทธิ์ชัย หนูนวล 
ประสิทธิ์ชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน แจ้งว่า เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 4 คน จาก สภ.เขาชัยสน จังหวัดพัทลุง เข้าไปเยี่ยมแม่เขาที่บ้าน เพื่อทำการถ่ายรูปบ้าน และสอบถามแม่ของเขาเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวประท้วงของเขา 
 
จากการสัมภาษณ์ประสิทธิ์ชัย เพิ่มเติม ประสิทธิ์ชัย แจ้งว่า แม่ของเขาโทรมาหาเขาวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 เวลาประมาณ 08.20 น. บอกกับเขาว่า ตอนเวลาประมาณ 08.00 น. ตำรวจจำนวน 4 คน มาตามหาเขาที่บ้าน สอบถามแม่ของเขาว่า ประสิทธิ์ชัยอยู่ที่บ้านหรือไม่ แม่ของเขาตอบว่าไม่รู้อยู่ที่ไหน เนื่องจากประสิทธิ์ชัยทำงานในหลายจังหวัด จากนั้นตำรวจจึงถามถึงเบอร์โทรของประสิทธิ์ชัย แม่ของเขาก็ตอบว่า ไม่ทราบ เนื่องจากไม่ได้จดเบอร์โทรไว้ คุยกันสักพักสุดท้ายแม่เขาก็บอกกับตำรวจไปว่าตอนนี้ประสิทธิ์ชัยเขาเลิกประท้วงแล้ว ไม่ต้องมาหาที่บ้านหลังนี้แล้ว โดยใช้เวลาในการพูดคุยกันไม่นานประมาณ ไม่เกิน 10 นาที โดยไม่มีการถามถึงเรื่องจะนะ
 
ประสิทธิ์ชัยจึงโพสต์เฟซบุ๊กต่อว่าตำรวจ ซึ่งตอนแรกเข้าใจผิดว่าเป็นตำรวจสันติบาลที่ไปที่บ้านของเขา แต่มีตำรวจสันติบาลโทรเข้ามาหาเขาว่าไม่ได้เป็นหน่วยที่ไปที่บ้านของเขาที่จังหวัดพัทลุง น่าจะเป็นตำรวจในพื้นที่ 
 
จากนั้นเวลาประมาณ 10.00 น. ประสิทธิ์ชัย จึงโทรหา สภ.เขาชัยสน ซึ่งเป็นสถานีตำรวจในพื้นที่บ้านของเขาเพื่อสอบถาม จึงทราบว่าคนที่ไปที่บ้านเป็น รองผู้กำกับฝ่ายสืบสวน สภ.เขาชัยสน จากนั้นเขาจึงโทรหาผู้กำกับคนดังกล่าวว่าไปหาเขาเพราะเรื่องอะไร เมื่อได้พูดคุยกันจึงทราบว่า รองผู้กำกับการฯคนดังกล่าวไปหาเขาที่บ้านแม่เนื่องจากจะสอบถามเรื่องไปเวทีรับฟังความเห็นจะนะหรือไม่ ซึ่งเขายืนยันกับทางตำรวจแล้วว่าเขาทำเรื่อง CPTPP จะไม่มีทางไปที่จะนะได้เด็ดขาด 
 
หลังจากวันดังกล่าวจนพ้นวันที่เวทีรับฟังความเห็นจะนะจบลง ก็ไม่มีตำรวจหรือเจ้าหน้าที่รัฐหน่วยงานใดติดต่อไปหาประสิทธิ์ชัยเลย
 
 
6. สมพร ช่วยอารีย์
 
สมพร ช่วยอารีย์ อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว แจ้งว่า เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ปัตตานี เข้ามาเยี่ยมถึงบ้านพักในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เพื่อสอบถามว่าเป็นแกนนำทำเรื่องจะนะด้วยหรือไม่ และในวันที่ 11 กรกฎาคม 2563 จะไปร่วมเวทีที่จะนะหรือไม่
 


7. บัลยาน แวมะนอ

บัลยาน สมาชิกกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ PERMATAMAS เปิดเผยกับทางประชาไทว่า เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 มีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่แสดงตัวว่าเป็นสารวัตรจากกองปราบฯ ในอำเภอเมืองปัตตานี มาพร้อมกับเจ้าหน้าที่ที่ไม่แสดงตัวอีก 4 คน ตำรวจจากกองปราบฯ ถามว่า จะพาสมาชิกในเครือข่ายไปชุมนุมที่จะนะ ในวันเสาร์ที่ 11 กรกฎาคม 2563 หรือไม่

 

จากการโทรศัพท์พูดคุยเพิ่มเติมบัลยานเล่าว่า เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 เวลาประมาณ 18.00 น. มีรถยนต์กระบะสีเทา ยี่ห้อ TOYOTA REVO ไม่มีตราตำรวจ มีตำรวจนอกเครื่องแบบ 5 คนลงมาจากรถ คนที่เข้ามาแนะนำตัวกับเขาแจ้งว่าเป็นสารวัตรจากกองปราบฯ สภ.เมืองปัตตานี บัลยานสังเกตจากเสื้อของคนที่อ้างว่าเป็นสารวัตรกองปราบฯ พบว่ามีโลโก้กองปราบฯติดอยู่ที่เสื้อด้วย และผู้ติดตามก็ได้บอกกับเขาด้วยว่า “วันนี้โชคดีนะสารวัตรมาเองเลย” ซึ่งคนที่อ้างตัวว่าเป็นสารวัตร เป็นคนพูดคุยกับเขาทั้งหมด
 
ตำรวจคนดังกล่าวเริ่มพูดคุยกับบัลยาน บัลยานถามว่ามาหาเขาเพราะอะไร ตำรวจคนดังกล่าวแจ้งว่า บัลยานมีชื่อเป็น 1 ในแกนนำต่อต้านนิคมอุตสาหกรรมจะนะ เมื่อถามกลับว่าเอาข้อมูลที่ว่าเขาเป็นแกนนำมาจากไหน ตำรวจคนดังกล่าวตอบว่า ไม่ทราบ ผู้ใหญ่เขาส่งมาให้ ส่วนตัวเขามีหน้าที่มาตรวจสอบข้อเท็จจริงตามผู้ใหญ่บอกเท่านั้น
 
ตำรวจคนดังกล่าวจึงถามต่อว่าจะไปร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นจะนะหรือไม่ บัลยานตอบไปว่า เขายังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับเวทีดังกล่าว เพราะยังวุ่นอยู่กับงานศพของยายที่เพิ่งเสียไปกำลังจะจัดงานครบรอบ 7 วัน แต่ในเฟซบุ๊กก็แชร์ข้อมูลเกี่ยวกับงานที่จะเกิดขึ้นที่จะนะไปบ้าง แล้วก็พูดประมาณว่า ถ้าศึกษาเรื่องที่จะนะแล้วเห็นเป็นเรื่องสำคัญก็อาจจะไปร่วมได้ ตำรวจคนดังกล่าวจึงบอกกับบัลยานว่า ไม่ต้องไปเวทีที่จะนะหรอก กลัวจะไปกระทบกระทั่งกับกลุ่มผู้สนับสนุนนิคมอุตสาหกรรมจะนะเสียเปล่าๆ บัลยาลจึงถามกลับไปว่า ถ้าเขาไปจะผิดกฎหมายอะไรหรือไม่ ตำรวจคนดังกล่าวตอบว่า ไม่ผิด แต่เป็นห่วงกลัวเรื่องการกระทบกระทั่งกันไม่อยากให้ไปร่วมเวทีดังกล่าว 
 
บัลยานเล่าต่อว่า เจ้าหน้าที่ได้ถามความคิดเห็นของเขาที่มีต่อการสร้างนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ด้วยว่าถ้ามันกระทบกับในพื้นที่จริงเขาก็ไม่เห็นด้วย แต่ทางที่ดีก็ควรถามชาวบ้านก่อนว่ามันจะมีผลกระทบอะไรบ้างและชาวบ้านจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง และเขาคิดว่ากลุ่มที่คัดค้านก็ไม่ได้มีการปลุกปั่นชาวบ้านให้ใช้ความรุนแรงหากมีเขาก็คงไม่ร่วมด้วยอยู่แล้ว แต่เขากลัวว่าการกระทำของรัฐที่ไปกระทบกับชาวบ้านอาจจะสร้างปัญหาในภายหลังมากกว่า 
 
ตำรวจคนดังกล่าวจึงให้ข้อมูลกับบัลยานว่า เรื่องของพื้นที่ที่จะนะไม่ส่งผลกระทบกับพื้นที่จังหวัดปัตตานีหรอก ฝ่ายรัฐเขาทำวิจัยมาหมดแล้ว ไม่เห็นมีผลกระทบถึงจังหวัดปัตตานีเลย บัลยานจึงพูดให้เรื่องนี้จบไปว่าสุดท้ายตัวเขาเป็นคนที่รับฟังข้อมูลจากเวทีทั้งสองฝ่าย จึงกลัวผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ซึ่งก็เป็นสิทธิของเขาที่จะกลัวได้ 
 
หลังจากพูดคุยกันประมาณ 30 นาที สรุปสาระสำคัญที่พูดคุยกันคือเรื่องที่ว่าบัลยานจะไปร่วมงานเวทีที่จะนะหรือไม่ ก่อนตำรวจชุดดังกล่าวจะกลับได้เน้นย้ำกับบัลยานว่า “เดี๋ยววันนี้บอกว่าไม่ไปแล้ววันเสาร์ไม่ใช่ว่าไปเจอกันที่งานนะ” และได้ขอเบอร์โทรศัพท์ของบัลยาน ซึ่งบัลยานได้ให้เบอร์ที่ถูกระงับแล้วไป ระหว่างการพูดคุยตำรวจถ่ายรูปบัลยาน พร้อมทั้งบริเวณบ้านของเขาด้วย
 
1473 ภาพประกอบบ้านบัลยาน วันที่ 8 กรกฎาคม 2563
 
วันที่ 10 กรกฎาคม 2563 บัลยาน แจ้งว่าในวันดังกล่าวเป็นวันที่เขาจัดงานครบรอบ 7 วันที่ยายของเขาเสียชีวิตลง มีการจัดงานบุญที่บ้าน แต่ในวันดังกล่าวพบรถยนต์กระบะสีเทา ยี่ห้อ TOYOTA REVO ขับวนแถวบ้านเขาตลอดทั้งวัน 4-5 ครั้ง แต่ไม่มีการลงมาพูดคุยแต่อย่างไร ซึ่งเขาจำได้ว่ารถคันดังกล่าวเป็นรถที่ตำรวจกองปราบฯ ขับมาที่บ้านของเขา
 
ในวันเดียวกันมีเจ้าหน้าที่รัฐ มาพร้อมกับผู้ติดตามอีก 3 คน แต่งกายนอกเครื่องแบบ มาที่บ้านเขา เข้ามานั่งบริเวณเต็นท์ เขาไม่ทราบสังกัดแน่ชัด แต่เคยเจอกันเมื่อประมาณ 4 ปีก่อน ซึ่งตอนนั้นเจ้าหน้าที่คนนี้แจ้งว่าเป็นเจ้าหน้าที่ในฝ่ายสันติวิธี ของ กอ.รมน. แต่ที่มาในวันที่ 10 นั้นเขาไม่ได้แจ้งว่ามาจากสังกัดใด 
 
เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวเข้ามาพูดคุยเรื่องสารทุกข์สุขดิบทั่วไปกับเขา เช่น เรื่องอยากให้เงินสนับสนุนบัลยานทำโรงเรียนสอนศาสนา และเรื่องการพัฒนาอื่นๆ แต่ไม่ได้พูดคุยเกี่ยวกับเรื่องเวทีจะนะ ในขณะที่พูดคุยกันอยู่นั้นผู้ติดตามที่มากับเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวก็เดินไปถ่ายรูปบริเวณบ้าน บริเวณที่จัดงาน ถ่ายรูปบัลยานขณะพูดคุย และถ่ายหน้าของผู้มาร่วมงานทำบุญงานศพด้วย
 
หลังจากพูดคุยกันเสร็จสิ้น เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวได้ขอเบอร์โทรศัพท์ของบัลยาน บัลยานบอกว่าจะให้เบอร์ด้วยปากเปล่า แต่เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวไม่ยอม ให้บัลยานกดเบอร์โทรศัพท์ของเขาใส่ในเครื่องแล้วโทรออก เพื่อให้เบอร์โทรศัพท์ไปแสดงที่เครื่องของเจ้าหน้าที่คนดังกล่าว 
 
การพูดคุยทั้งหมดเกิดขึ้นประมาณ 30 นาที สุดท้ายเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวบอกกับบัลยานว่า มีอะไรติดต่อกับเขาได้ตลอดเวลา ตามเบอร์ที่แลกกันไว้
 
วันที่ 11 กรกฎาคม 2563 เวลาประมาณ 09.30 น. รถยนต์กระบะสีเทา ยี่ห้อ TOYOTA REVO คันเดิมมาจอดที่บ้านของเขา มีตำรวจนอกเครื่องแบบลงรถมา 3 คน อยู่บนรถ 2 คน ขณะที่เขานำเต็นท์ไปคืนที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน โดยมีพี่สาว และน้องสาวของบัลยานออกมาต้อนรับแทน ตำรวจกองปราบฯ ชุดดังกล่าวถามว่าบัลยานเอาเต็นท์ไปคืนจริงหรือไม่ ตามไปหาที่บ้านผู้ใหญ่ได้หรือไม่ แต่พี่สาวและน้องสาวบัลยาน บอกว่าเดี๋ยวเขาก็กลับมา 
 
หลังจากนั้น 5 นาที บัลยานกลับมาถึงบ้าน ตำรวจถามประมาณว่าที่บ้านมีเต็นท์เยอะมีงานอะไร และขอร่วมทำบุญในงานได้หรือไม่ บัลยานจึงตอบไปประมาณว่า ผมบอกพี่แล้วว่าผมไม่ไปที่จะนะหรอก ตำรวจทั้ง 3 คน ก็ตอบกลับมาว่าเขาไม่ได้มาดูเรื่องจะนะ จะมาดูเฉยๆว่ามีงานอะไร 
 
บัลยานยังได้ถามถึงรถกระบะที่ตำรวจชุดดังกล่าวขับมาว่า เมื่อวานเห็นขับมาวนที่บ้านหลายรอบ ตำรวจชุดดังกล่าวตอบว่า ไม่ใช่รถเขา เขาไม่ได้มาแถวนี้ อาจจะเป็นรถคนอื่นที่เหมือนกันเฉยๆก็ได้ จากนั้นตำรวจทั้ง 3 คน จึงถ่ายรูปบัลยาน และครอบครัวของเขา และถ่ายรูปบ้านของบัลยานด้วย โดยใช้เวลาพูดคุยกันประมาณ 10 นาที ก่อนจะกลับไป หลังจากสิ้นสุดเวทีรับฟังความเห็นจะนะ บัลยานแจ้งว่าไม่ได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายใดอีกเลย
 
 
8. อิดาเรศ หะยีเด 
 
อิสดาเรส หะยีเด รองนายกเทศมนตรีตำบลเทพาแจ้งว่า เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2563 มีตำรวจมาหาที่บ้าน และได้สอบถามว่าไปร่วมเวทีอุตสาหกรรมจะนะในวัน11 กรกฎาคม 2563 หรือไม่
 
 
9. หมิด ชายเต็ม
 
สมยศ โต๊ะหลัง ให้ข้อมูลว่า หมิด ซายเต็ม ชาวบ้านในเทพา ถูกตำรวจไปหาที่บ้านในเวลากลางคืน 4 ครั้ง ในสัปดาห์ก่อนมีเวทีรับฟังความคิดเห็นจะนะ
 
 
10. สมยศ โต๊ะหลัง
 
สมยศ โต๊ะหลัง แจ้งว่า เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2563 หลังจากเขาโพสต์เฟซบุ๊กว่าจะไปร่วมเวทีรับฟังความเห็นจะนะ ด้วยจำนวนคน 1 รสบัส ตำรวจสันติบาลจังหวัดสตูล โทรหาเขา (ที่ทราบว่าเป็นตำรวจสันติบาลสตูล เนื่องจากรู้จักกันมาก่อนมีการบันทึกเบอร์โทรศัพท์ไว้) โดยตำรวจคนดังกล่าวสอบถามเขาว่า วันที่ 11 กรกฎาคม 2563 จะไปร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นที่จะนะหรือไม่ ไปกันกี่คน ไปด้วยรถอะไร ข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่โพสต์เฟซบุ๊กหรือไม่ ซึ่งสมยศก็ได้ให้ข้อมูลไปตามความจริง สุดท้ายตำรวจสันติบาลคนดังกล่าวบอกกับเขาว่างานนี้ถ้ามีตำรวจโทรหาน่าจะเป็นตำรวจภูธรจังหวัด เนื่องจากตำรวจสันติบาลไม่ได้รับงานนี้ ตำรวจภูธรจังหวัดรับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง ก่อนจะวางสายไป
 
วันที่ 8 กรกฎาคม 2563 มีตำรวจในเครื่องแบบ 1 คน เข้ามาพบเขาที่บ้านในจังหวัดสตูล ทราบว่าเป็นตำรวจจาก สภ.ดวนโดน ซึ่งมีพื้นที่รับผิดชอบอยู่บริเวณบ้านของเขา โดยตำรวจคนดังกล่าวมาพบเพื่อสอบถามว่าจะมีชาวบ้านในพื้นที่บ้านของสมยศไปร่วมเวทีที่จะนะหรือไม่ เมื่อตอบคำถามไป ตำรวจคนดังกล่าวก็กลับไป
 
หลังจากสิ้นสุดเวทีรับฟังความเห็นจะนะ สมยศแจ้งว่าไม่ได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายใดอีกเลย
 
ข้อมูลเพิ่มเติมจากสมยศ 
 
สมยศแจ้งว่า ตลอดสัปดาห์ก่อนที่จะมีเวทีรับฟังความเห็นจะนะ มีเบอร์โทรศัพท์แปลกๆโทรหาเขาทุกวัน วันละหลายครั้ง แต่เขาเลือกจะรับแต่เบอร์โทรศัพท์ตำรวจที่รู้จัก จะไม่รับเบอร์แปลกเลยในช่วงนั้น ซึ่งคำถามที่ถามจะถามเกี่ยวกับการเดินทางไปจะนะ ว่าไปด้วยรถอะไร ไปกี่คน ป้ายทะเบียนอะไร เป็นต้น
 
 
11. สมบูรณ์ คำแหง
 
สมบูรณ์ คำแหง แจ้งว่า เขาเริ่มถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจโทรคุกคามตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2563 เนื่องจากได้โพสต์เฟซบุ๊กว่าจะเดินทางไปกรุงเทพฯ ไปทำกิจกรรม #SAVECHANA หลังจากโพสต์เฟซบุ๊กแล้วก็มีตำรวจโทรมาหาต่อเนื่องวันละหลายสาย แยกคนที่โทรมาได้เป็น 3 กลุ่ม คือ 1. ตำรวจสันติบาลจากส่วนกลาง (กรุงเทพฯ) 2. ตำรวจสันติบาลจังหวัดสตูล 3. สายข่าวสืบข่าวให้ทหาร (สมบูรณ์ให้ข้อมูลว่า เป็นนักข่าวในพื้นที่สตูล แต่เมื่อแจ้งข่าวไปทหารจะทราบข่าวทั้งหมด) โดยทั้ง 3 คน จะสลับกันโทรมา ตอนอยู่ที่กรุงเทพฯ ช่วงวันที่ 30 มิถุนายน – 9 กรกฎาคม 2563 จะเป็นสันติบาลจากส่วนกลางที่โทรหาบ่อย อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง ส่วนสันติบาลจากสตูลจะโทรมาถามวันละ 1 ครั้ง ส่วนสายข่าวทหารจะโทรหาทุกวันอย่างน้อย 2 ครั้ง คือเช้า - เย็น หรือบางวันก็ 3 ครั้ง เนื้อหาในการโทรพูดคุยจะคล้ายๆกันคือ อยู่ที่ไหน จะทำกิจกรรมอะไรบ้างในวันนี้ เป็นต้น
 
หลังจากนั้นช่วงวันที่ 9 - 11 กรกฎาคม 2563 เป็นช่วงรอยต่อการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปในพื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา การโทรหาสมบูรณ์ จะเปลี่ยนเป็นตำรวจสันติบาลสตูล มากกว่าส่วนกลาง ส่วนสายข่าวทหารยังโทรหาบ่อยเช่นเดิม ซึ่งคำถามที่ตำรวจสันติบาลโทรสอบถามจะเปลี่ยนคำถามไปเน้นที่เรื่องเวทีรับฟังความเห็นจะนะมากขึ้น เช่นถามว่าขอบเขตของการทำกิจกรรมที่จะนะของสมบูรณ์คืออะไร จะทำกิจกรรมอะไรบ้าง มีมวลชนกี่คน จะล้มเวทีรับฟังความเห็นหรือไม่ เป็นต้น ซึ่งโทรสอบถามจนถึงวันที่เวทีรับฟังความคิดเห็นจะนะจบลง 
 
หลังจากนั้นวันที่ 12 กรกฎาคม 2563 ก็ไม่มีการโทรหรือติดต่อจากเจ้าหน้าที่รัฐหรือสายข่าวเลย จนกระทั่งวันที่ 13 กรกฎาคม 2563 มีตำรวจสันติบาลจังหวัดสตูล แต่งกายนอกเครื่องแบบเข้าไปหาสมบูรณ์ที่บ้าน ซึ่งขณะนั้นสมบูรณ์อยู่ที่บ้านพอดี จึงได้พูดคุยด้วยตนเอง ตำรวจสอบถามคำถามใหญ่ๆ 2 ข้อคือ 1. จะเอาอย่างไรต่อกับพื้นที่จะนะ และ 2. จะไปร่วมสมทบกับประสิทธิ์ชัย หนูนวล ทำเรื่องคัดค้าน CPTPP หรือไม่ ซึ่งสมบูรณ์แจ้งว่าเขาไม่ได้ให้คำตอบที่ชัดเจนกับตำรวจไปทั้งสองคำถาม การพูดคุยเกิดขึ้นไม่นานก่อนที่ตำรวจจะกลับไป
 
1474 สมบูรณ์ และตำรวจนอกเครื่องแบบ
 
 
กรณีโทรศัพท์สอบถาม
 
 
1. ฟาเรนน์ นิยมเดชา
 
ฟาเรนน์ กลุ่มเพื่อนนักศึกษา ม.อ.และกรรมการกลางภาคใต้สนท. แจ้งว่า เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2563 เพื่อนของเขาที่อยู่ในองค์การบริหารนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี แจ้งกับเขาว่า ตำรวจสันติบาลจังหวัดปัตตานี โทรเข้าไปที่องค์การบริหารนักศึกษาฯ เพื่อสอบถามเบอร์ของฟาเรนน์ แต่เพื่อนของเขาไม่ได้ให้เบอร์ไปเนื่องจากไม่มีเบอร์ของฟาเรนน์
 
หลังจากนั้นในวันเดียวกันเพื่อนของฟาเรนน์ที่ทำงานอยู่ในสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้รับโทรศัพท์จากตำรวจสันติบาลจังหวัดปัตตานี สอบถามถึงเบอร์โทรศัพท์ของฟาเรนน์ ซึ่งขณะนั้นฟาเรนน์นั่งอยู่ข้างๆเพื่อนคนนั้นพอดี แต่ไม่ได้คุยกับตำรวจในสายดังกล่าว และให้เพื่อนบอกไปว่าไม่ได้อยู่ด้วยกัน และไม่ให้เบอร์โทรศัพท์ไป
 
ตำรวจคนดังกล่าวจึงสอบถามต่อไปว่าทราบหรือไม่ว่าฟาเรนน์จะไปร่วมงานเวทีรับฟังความคิดเห็นที่จะนะหรือไม่ และฝากให้เพื่อนแจ้งเตือนกับฟาเรนน์ว่าไม่ให้ฟาเรนน์ไปเวทีจะนะ เนื่องจากเวทีดังกล่าวไม่เหมาะกับนักศึกษา เวทีอาจจะมีการประทะกันได้ระหว่างผู้สนับสนุนและผู้คัดค้าน และในเวทีดังกล่าวมีการระดมเจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจ ทหาร จาก 5 พื้นที่จังหวัดภาคใต้กว่า 1,000 คน จึงให้แจ้งเตือนฟาเรนน์ว่าอย่าไปร่วมเวทีดังกล่าว การพูดคุยใช้เวลาประมาณ 4-5 นาที ก่อนที่จะวางสายไป
 
ฟาเรนน์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าปกติแล้วจะถูกโทรคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐตลอดทั้ง กอ.รมน., ฝ่ายปกครองจังหวัด และตำรวจสันติบาลจังหวัดปัตตานี ก่อนจะมีกิจกรรมต่างๆในจังหวัด เช่นเวทีแก้รัฐธรรนูญ จัดงานวิ่งไล่ลุง และFlashMob หลังยุบพรรคอนาคตใหม่ ดังนั้นจึงเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์บ่อยครั้ง ครั้งนี้ก่อนมีเวทีจะนะ ไม่ได้ถูกโทรมาคุกคามหลายเดือน อาจจะเพราะเป็นช่วงมหาวิทยาลัยปิด และฟาเรนน์ได้เปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ครั้งล่าสุดก่อนหน้านี้ไม่นาน จึงอาจจะทำให้ตำรวจไม่สามารถโทรหาเขาโดยตรงได้
 
หลังจากสิ้นสุดเวทีรับฟังความเห็นจะนะ ฟาเรนน์แจ้งว่าไม่ได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายใดอีกเลย
 
 
2. อัฟนาน เล็มโดย 
 
อัฟนาน ประธานสภานักศึกษา ม.อ. เล่าว่า วันที่ 10 กรกฎาคม 2563 สันติบาลจังหวัดโทรสอบถามเกี่ยวกับการไปร่วมเวทีรับฟังความเห็นจะนะ
 
 
3. สะมะแอ  เจะมูดอ
 
สมยศ โต๊ะหลัง แจ้งว่า สะมะแอ  เจะมูดอ ถูกตำรวจไม่ทราบสังกัดโทรถาม 5 ครั้ง เกี่ยวกับการไปร่วมเวทีจะนะ ตลอด 1 สัปดาห์ก่อนจะมีเวทีรับฟังความเห็นจะนะ
 
ชนิดบทความ: