แกะรอยการสร้างความกลัว: สรุปการคุกคามเยาวชน-แกนนำจัดชุมนุม ก.ค.- ส.ค.63

Fcebook_สรุปชุมนุม

ปี 2563 เป็นปีที่มีการบริหารเสรีภาพกันคึกคักเป็นพิเศษ นับตั้งแต่กิจกรรมวิ่งไล่ลุงเริ่มจุดติดใน กทม. ก็เกิดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงทั่วประเทศอีกอย่างน้อย 39 ครั้ง หลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ แฟลชม็อบตามสถานศึกษาต่างๆ ทยอยเกิดขึ้นอย่างไม่เคยเห็นมาก่อน นับได้ประมาณ 95 ครั้งทั่วประเทศ ข้อเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเริ่มปรากฏให้เห็น 

จากนั้นเจอวิกฤตโควิด 19 ล็อคดาวน์ทั่วประเทศ ก่อนสถานการณ์จะดีขึ้นและเกิดกระแสการชุมนุมใหญ่อีกครั้งในราวเดือนมิถุนายน เพื่อรำลึกการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 พร้อมๆ กับเรียกร้องให้รัฐสืบหาตัววันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยไทยที่หายตัวไปในกัมพูชา

เดือนกรกฎาคม กลุ่มเยาวชนปลดแอกจัดชุมนุมพร้อมข้อเสนอรูปธรรรม 3 ข้อ คือ 1) ต้องประกาศยุบสภา  2) ต้องหยุดคุกคามประชาชน และ 3) ต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ข้อเสนอนี้ได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวางและมีการจัดชุมนุมย่อยๆ ตามมาอีกหลายครั้ง ส่วนใหญ่นำโดยเยาวชนทั้งนักศึกษาและนักเรียนมัธยม 

ท่ามกลางม็อบที่ผู้จัดอายุน้อยลงเรื่อยๆ ทั้งยังมีความกระจายตัวและความต่อเนื่องสูง ภาครัฐก็มีมาตรการจัดการแบบใหม่โดยเน้น ‘สร้างความกลัว’ ให้เกิดขึ้น 2 ทางหลัก ได้แก่ 

1. ผู้จัด – เจ้าหน้าที่บุกบ้านเพื่อข่มขู่ให้ผู้จัดเกิดความกลัวหรือกังวล, เจ้าหน้าที่กดดันครอบครัวผู้จัด, สถานศึกษากดดันผู้จัด และห้ามนักเรียนเข้าร่วมหากฝ่าฝืนจะลงโทษ, เจ้าหน้าที่กดดันไปยังผู้ให้บริการเช่าลำโพง-ติดตั้งเวที 

2. ผู้ชุมนุม – ถ่ายภาพ/บันทึกวิดีโอผู้เข้าร่วมการชุนุม และยังมีการใช้เครื่องมือใหม่อย่างโดรนหรือกล้องวงจรปิดเพื่อบันทึกภาพในที่ชุมนุม รวมไปถึงการถ่ายป้ายทะเบียนรถผู้เข้าร่วมด้วย ส่วนกรณีที่มีการดำเนินคดีนั้นพบว่า โดยส่วนใหญ่เผชิญกับข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดห้ามชุมนุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ชุมนุมที่เชียงใหม่มีการดำเนินคดี 4 คน ชุมนุมที่กองทัพบก ดำเนินคดี 5 คน ชุมนุมที่ลำพูนดำเนินคดี 2 คน ชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยดำเนินคดีไม่น้อยกว่า 2 คนและมีหลายข้อหา 

หากนับตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม – 14 สิงหาคม 2563 เท่าที่สามารถเก็บข้อมูลได้ พบการคุกคามผู้จัด-ผู้ร่วมกิจกรรมการชุมนุมทั้งหมด 79 ครั้ง เป็นกรณีเปิดเผยได้ตามรายงานฉบับนี้ 63 ครั้ง และเป็นกรณีที่เจ้าตัวไม่ขอเปิดเผยเพราะเกรงผลกระทบอีก 16 ครั้ง ทั้งนี้ นิยามของ “การคุกคาม” คือ การกระทำนอกเหนือจากกระบวนการดำเนินคดี ไม่ใช่การแจ้งข้อกล่าวหาตามกฎหมายใดๆ แต่เป็นการกระทำที่ไม่เป็นทางการซึ่งมีผลสร้างความหวาดกลัวหรือความกังวลใจให้แก่ประชาชนที่ต้องการใช้เสรีภาพในการแสดงออก (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ การคุกคามที่สืบเนื่องจากการชุมนุมตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 หลังการชุมนุมของเยาวชนปลดแอก)

การคุกคามโดยการไปพูดคุยที่บ้าน สถานศึกษา มีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดความกลัวหรือกังวลในการจัดหรือร่วมการชุมนุม การดำเนินการเช่นนี้เกิดขึ้นทั้งจากเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบ นอกเครื่องแบบ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง รวมถึงผู้บริหารโรงเรียน/มหาวิทยาลัย และครูอาจารย์ ซึ่งส่งผลให้เยาวชนหลายคนถูกสั่งห้ามร่วมกิจกรรมโดยเด็ดขาดจากผู้ปกครอง (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ ย้อนดู “การเยี่ยมบ้าน” นักกิจกรรมในยุค คสช. กับคำถามถึงสถานะทางกฎหมาย)

จากการเก็บข้อมูลพบว่า แกนนำจัดชุมนุมมีเจ้าหน้าที่ไปเยี่ยมบ้านหลายกรณี ส่วนใหญ่เกิดขึ้นก่อนจัดการชุมนุม เช่น ในจังหวัดลำพูน เพชรบูรณ์ แพร่ เลย พัทลุง นครศรีธรรมราช ปัตตานี สมุทรปราการ กาญจนบุรี นนทบุรี สงขลา ขอนแก่น อำนาจเจริญ อุดรธานี กระบี่ กรุงเทพมหานคร ฯลฯ 

กรณีบทบาทของโรงเรียนนั้นพบว่า มีผู้อำนวยการโรงเรียนหรือครูเรียกพบนักเรียนที่เป็นแกนนำจำนวน 4 ครั้ง โดยมีเป้าหมายเพื่อห้ามปรามการชุมนุม บ้างเป็นการขอความร่วมมือ บ้างเป็นการข่มขู่ว่าจะมีการลงโทษ กระทั่งจะไม่ได้รับใบประกาศจบการศึกษา อย่างไรก็ดี การชุมนุมโดยส่วนใหญ่ก็ยังคงจัดขึ้นตามกำหนดการ มีเพียงไม่กี่กรณีที่ยุติการจัดการชุมนุม เช่น กรณีโรงเรียนสตรีวิทยา 2 ที่นักเรียนที่จะจัดกิจกรรมถูกผู้อำนวยการเรียกพบในวันที่นัดจัดกิจกรรม และในโรงเรียนมีรถตำรวจจาก สน.โชคชัย มาจอดหลายคันพร้อมทั้งบันทึกภาพนักเรียนไปด้วย จนสุดท้ายแกนนำนักเรียนจึงยกเลิกการจัดกิจกรรมที่นัดหมายไว้ กรณีโรงเรียนหอวัง กลุ่มนักเรียนผู้จัดกิจกรรมถูกผู้อำนวยการเรียกพบหลังประกาศจัดกิจกรรม 1 วัน โดยในการพูดคุยมีคุณครูกว่า 10 คน รวมถึงตำรวจจาก สน.พหลโยธินเข้าร่วมพูดคุยด้วย 2 คน โดยพยายามสร้างเงื่อนไขในการจัดงาน และการห้ามใช้ชื่อโรงเรียน จนสุดท้ายกลุ่มนักเรียนผู้จัดกิจกรรมจึงยกเลิกการจัดกิจกรรมไป 

ที่น่าสังเกตคือ เจ้าหน้าที่ในท้องที่ที่เข้าพบเยาวชนหรือประชาชนมักอ้างว่า มีลิสต์หรือแบล็คลิสต์ซึ่งเป็นข้อมูลจากส่วนกลาง ระบุชื่อและข้อมูลส่วนบุคคลของแกนนำต่างๆ ด้วย

จุดเปลี่ยนที่สำคัญมากที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้นการปราศรัยของกลุ่มนักศึกษาที่ลานพญานาค ม.ธรรมศาสตร์รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2560 ที่มีข้อเรียกร้องถึงสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ ข้อมูลเบื้องต้นพบว่า การคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐมุ่งเน้นไปที่แกนนำในการจัดงานและผู้ที่ปราศรัยในประเด็นข้อเสนอดังกล่าว โดยพบการคุกคามอย่างน้อย 3 ครั้งตั้งแต่จบเวทีดังกล่าว เช่น 

  • ปพัสยา หนึ่งในผู้ขึ้นปราศรัยถูกตำรวจนอกเครื่องแบบขับรถตามตั้งแต่เลิกจากเวทีดังกล่าวจนถึงที่บ้าน และตำรวจยังได้เฝ้าอยู่บริเวณบ้านต่ออีกจนเธอต้องหนีออกมา
  • ปนัสยา และพริษฐ์ แกนนำในการจัดงานที่มีข่าวลือว่าทางตำรวจจะจับตัวในคืนวันที่ 12 สิงหาคม 2563 และถูกตำรวจนอกเครื่องแบบจำนวนหลายคนเฝ้าอยู่ที่บริเวณหอพักของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งแต่ช่วงค่ำไปจนถึงเช้ามืดของอีกวัน 
  • จุฑาทิพย์ แกนนำที่เคยจัดชุมนุมของนักศึกษาหลายครั้งก็รายงานว่าถูกตำรวจนอกเครื่องแบบมารอที่บริเวณหอพักในคืนวันที่ 12 เช่นเดียวกัน ส่วนรายงานการคุกคามของผู้ร่วมชุมนุมจากงานดังกล่าวนั้นยังไม่มีเข้ามา 

จะเห็นได้ว่าหลังวันที่ 10 สิงหาคม 2563 นั้นการคุกคามจะเน้นหนักไปที่แกนนำในการจัดงานหรือผู้ที่ขึ้นอภิปรายประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยมุ่งหวังที่จะควบคุมตัวไปดำเนินคดี ซึ่งจนถึงวันที่ 15 ส.ค. มีการจับกุมตัวไปแล้ว 3 รายและได้รับการประกันตัวออกมาแล้วคือ  อานนท์ นำภา, ภาณุพงศ์ จาดนอก, พริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิน) นอกจากนี้การนัดหมายชุมนุมใหญ่อีกครั้งในวันที่ 16 ส.ค. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก็กำลังเป็นที่สนใจอย่างยิ่งของสังคม โดยเฉพาะเมื่อมีข่าวว่าศาลอาญาอนุมัติหมายจับแกนนำ 15 คน (อ่านที่นี่)

 

เยี่ยมบ้าน กดดัน สุ่มหาแกนนำ

การติดตามและการเยี่ยมบ้านกลายเป็น New Normal แบบใหม่ ในกิจกรรมวิ่งไล่ลุงในเดือนมกราคม 2563 นั้นพบการเยี่ยมบ้านในกลุ่มผู้ริเริ่มกิจกรรมในช่วงก่อนวันกิจกรรมไม่น้อยกว่า 3 กรณี คือ 1. กรณีการเยี่ยมบ้านของธนวัฒน์ ผู้ริเริ่มกิจกรรมวิ่งไล่ลุง สวนรถไฟ กรุงเทพมหานคร 2. ผู้ริเริ่มกิจกรรมวิ่งไล่ลุงในจังหวัดนครศรีธรรมราช 3. ผู้ริเริ่มกิจกรรมที่ดอยแม่สลอง จังหวัดเชียงราย ในช่วงหลังกิจกรรมมีการเยี่ยมบ้านไม่น้อยกว่า 2 กรณีคือ 1. กรณีการสอบถามข้อมูลของผู้ริเริ่มกิจกรรมในจังหวัดปัตตานี 2. การเยี่ยมบ้านของจิรพงศ์ มาศทอง อดีตผู้สมัคร ส.ส.จังหวัดพังงา พรรคอนาคตใหม่ ในฐานะผู้เข้าร่วมกิจกรรมวิ่งไล่ลุงที่ตะกั่วป่า จังหวัดพังงา 

ขณะที่การชุมนุมหลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่จัดขึ้นไม่น้อยกว่า 95 ครั้งนั้นมีรายงานการติดตามหรือการเยี่ยมบ้านไม่น้อยกว่า 5 ครั้ง

 

‘1984’ Big Brother is watching you. 

สอดส่องละเอียดยิบอัตลักษณ์ผู้เข้าร่วม

แทบทุกกิจกรรมมีบุคคลนอกเครื่องแบบ ผมเกรียน ถือโทรศัพท์ กล้องวิดีโอคอยบันทึกเหตุการณ์และถ่ายภาพของผู้เข้าร่วมกิจกรรม โดยเฉพาะหลังการชุมนุมของเยาวชนปลดแอกนั้น การชุมนุมมีจำนวนมากขึ้นและข้อความที่ตรงไปตรงมาเกี่ยวกับสถาบันฯ เกิดขึ้นไปพร้อมกับการที่เจ้าหน้าที่รัฐเริ่มมีความพยายามในการสอดส่องเจาะจงอัตลักษณ์ผู้เข้าร่วมที่ชัดแจ้งขึ้น เจ้าหน้าที่ใช้กล้อง DSLR ที่มีเลนส์ระยะไกลถ่ายภาพผู้เข้าร่วมชุมนุม จนหลายครั้งผู้ทำกิจกรรมต้องขอร้องให้บุคคลเหล่านั้นยุติการถ่ายภาพ 

เท่าที่สามารถติดตามได้ การชี้แจงของตำรวจอย่างเป็นทางการเรื่องการถ่ายภาพเกิดขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 ในกิจกรรมวาดรูปที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย คลองหวะ จังหวัดสงขลา มีใบปลิวแจ้งว่า ในการชุมนุม หากมีการกระทำใดที่ฝ่าฝืนกฎหมายจะมีการบันทึกภาพและเสียงไว้ และอาจถูกดำเนินคดีตามกฎหมายได้ในภายหลัง 

31 กรกฎาคม 2563 ในกิจกรรมนักเรียนไทยไม่ไหวแล้วโว้ยขององค์กรนักเรียนเลว ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นนักเรียนมัธยมศึกษา ตำรวจจาก สน.ดุสิต ได้ชี้แจงด้วยวาจาต่อผู้จัดกิจกรรมถึงข้อกฎหมายและระบุด้วยว่า กิจกรรมวันนี้จะมีการถ่ายภาพและวิดีโอ หากมีการกระทำความผิดจะดำเนินคดีตามกฎหมายย้อนหลัง

2 สิงหาคม 2563 ในกิจกรรมแฟลชม็อบปาตานีจะไม่ทนที่จังหวัดปาตานี มีใบปลิวแจ้งว่า ในการชุมนุม หากมีการกระทำใดที่ฝ่าฝืนกฎหมายจะมีการบันทึกภาพและเสียงไว้ และอาจถูกดำเนินคดีตามกฎหมายได้ในภายหลัง 

ทั้ง 3 กรณีไม่ได้มีการระบุฐานอำนาจทางกฎหมายที่เจ้าพนักงานจะสามารถกระทำไว้อย่างชัดแจ้ง และไม่มีแนวปฏิบัติในการแจ้งทราบเรื่องการถ่ายภาพที่มีมาตรฐานเดียวกันในทุกพื้นที่

กล้องวงจรปิด-โดรน นวัตกรรมใหม่บันทึกภาพการชุมนุม

ขณะเดียวกันพบการติดตั้งกล้องวงจรปิดชั่วคราวในกิจกรรมไม่น้อยกว่า 7 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมที่ทุ่งศรีเมืองจังหวัดอุดรธานี, ที่ลานกิจกรรมท่าน้ำนนท์ จังหวัดนนทบุรี, ที่ลานใต้สะพานกลับรถ ตรงข้ามฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต, ที่วงเวียนสะพานหิน จังหวัดภูเก็ต, ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จังหวัดสกลนคร, ที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง จังหวัดสมุทรสาคร, ที่สวนสุขภาพ จังหวัดแพร่ และที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพมหานคร โดยหกกิจกรรมแรกสามารถตรวจสอบได้ว่า เป็นกล้องวงจรปิดที่ติดตั้งโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ 

ในหลายกิจกรรมยังพบโดรนบินเหนือพื้นที่กิจกรรม เช่น เกษตรศาสตร์ ผู้จัดปฏิเสธความเป็นเจ้าของ, อุดรธานี บินไปลงในกลุ่มตำรวจ , สมุทรสาคร คอนเฟิร์มว่า ตำรวจ,  ปทุมธานี ตำรวจเตรียมแต่ไม่ได้บิน, ราชบุรี บินไปลงใกล้เต็นท์ตำรวจ

ถ่ายป้ายทะเบียนกดดัน ติดตามย้อนหลัง

การชุมนุมที่ผ่านมารัฐมีความพยายามในการตรวจสอบป้ายทะเบียนพาหนะที่เข้าร่วมกิจกรรมอย่างเด่นชัดขึ้นไม่น้อยกว่า 6 กิจกรรมดังนี้ บางกิจกรรมมีการติดตามและคุกคามตามหลังดังนี้

1. กิจกรรมของเยาวชนปลดแอกเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 หลังกิจกรรมมีผู้ถูกหมายเรียกเป็นพยาน 2 คนเนื่องจากสืบความเจ้าของป้ายทะเบียนรถยนต์ที่นำไปจอดไว้บริเวณดังกล่าว

2. กิจกรรมของอานนท์ นำภา และพวก ที่หน้ากองทัพบกเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 มีการถ่ายภาพทะเบียนรถยนต์ขนเครื่องเสียงเข้าไปในพื้นที่กิจกรรม หลังจากนั้นมีตำรวจจราจรขับรถตามและขอตรวจบัตรประชาชน เจ้าของรถแจ้งว่า ตอนที่จอดรถก็ได้ภาพทะเบียนไปเยอะแล้ว หากมีการกระทำความผิดใดให้เรียกไปที่สถานีตำรวจ

3. กิจกรรมที่แหลมแท่น จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2563  หลังกิจกรรมยังไม่มีรายงานการคุกคาม

4. กิจกรรมของกลุ่ม IGNORANCE DEMOCRACY ที่จังหวัดเลย เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 ครั้งที่ 2-3 เจ้าหน้าที่ไม่ทราบสังกัดมีการถ่ายภาพป้ายทะเบียนของรถเครื่องเสียงที่ผู้จัดจ้างมา และต่อมาตำรวจในเครื่องแบบได้ไปที่บ้านของป้าของเทวากรณ์ บุคคลที่เป็นผู้ให้เช่าเครื่องเสียง แต่เหตุที่ไปที่บ้านของป้าเนื่องจากพี่สาวของเทวากรณ์มีชื่อเป็นเจ้าของรถ

5. กิจกรรมที่วงเวียนสะพานหิน จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2563 หลังกิจกรรมยังไม่มีรายงานการคุกคาม

6. กิจกรรมของกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2563 หลังเสร็จสิ้นกิจกรรมในเวลา 19.50 น. พบเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบถ่ายภาพทะเบียนรถที่จอดบริเวณลานจอดรถคณะนิติศาสตร์ ยังไม่มีรายงานการคุกคาม

==========

รายละเอียดการคุกคามทั่วประเทศเท่าที่รวบรวมได้มีดังนี้ 

จังหวัดลำพูน กิจกรรม #คนลำพูนก็จะไม่ทนโว้ย 

กรณีที่หนึ่ง: ฟ้า (นามสมมุติ) นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดลำพูน ถูกคุณครูตามหาตัว
วันที่ 20 กรกฎาคม 2563
เหตุการณ์โดยสังเขป: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ก่อนจัดงาน 4 วัน ฟ้า (นามสมมุติ) หนึ่งในคนจัดกิจกรรม #คนลำพูนก็จะไม่ทนโว้ย ถูกคุณครูในโรงเรียนตามหาตัว ฟ้าได้หลบหนีไปอยู่ในห้องน้ำ และหนีออกจากโรงเรียนเพื่อกลับบ้าน

กรณีที่สอง: ฟ้า (นามสมมุติ) นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดลำพูน ถูกตำรวจเยี่ยมบ้าน
วันที่ 20 กรกฎาคม 2563
เหตุการณ์โดยสังเขป:  ในช่วงหัวค่ำมีตำรวจนอกเครื่องแบบไปพบฟ้าและแม่ที่บ้าน โดยตำรวจระบุว่า ฟ้าได้ประกาศทำกิจกรรมทางการเมือง #คนลำพูนก็จะไม่ทนโว้ย ในวันที่ 24 กรกฎาคม ทำให้มีรายชื่อเป็นแกนนำระดับชาติและมีชื่ออยู่ใน “แบล็คลิสต์” ตำรวจจึงต้องมาพูดคุยเพื่อให้ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และให้ตั้งใจเรียนหนังสือดีกว่า หลังจากนั้น “ฟ้า” ได้ถอนตัวจากการเป็นแกนนำ และไม่เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว

กรณีที่สาม: ตำรวจไปที่บ้านนักเรียนโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดลำพูน
วันที่ 20 กรกฎาคม 2563
เหตุการณ์โดยสังเขป:  ฟ้า นักเรียกที่ถูกคุกคามในลำพูน แจ้งเพิ่มเติมว่า ในช่วงเย็นเพื่อนของเธออีกคนหนึ่งที่ประกาศจัดกิจกรรมด้วยกันมีตำรวจเดินทางไปที่บ้านด้วยเช่นกัน ตำรวจเตือนเพื่อนของเธอว่ายังเป็นเด็กอยู่ อยากให้เรียน และทำหน้าที่ของตัวเองไปก่อน

 

จังหวัดเพชรบูรณ์ กิจกรรม #เพชรบูรณ์จะไม่ทน

กรณีที่หนึ่ง: ซัน (นามสมมติ) นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดเพชรบูรณ์ถูกโทรหาแม่
วันที่ 21 กรกฎาคม 2563
เหตุการณ์โดยสังเขป: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ซัน (นามสมมติ) ถูกตำรวจจาก สภ.นาเฉลียง โทรศัพท์ติดต่อแม่ของเขาถามว่า ลูกจะไปเข้าร่วมกิจกรรม #เพชรบูรณ์จะไม่ทน ในวันที่ 22 กรกฎาคม หรือไม่ และขอเบอร์ซันจากแม่ แต่แม่ปฏิเสธที่จะให้เบอร์โทรศัพท์ 

กรณีที่สอง: ซัน (นามสมมติ) นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดเพชรบูรณ์ ถูกรอง ผอ. เรียกพบ
วันที่ 21 กรกฎาคม 2563
เหตุการณ์โดยสังเขป:  ซันถูกรองผู้อำนวยการโรงเรียนเรียกพบเพื่อสอบถามเกี่ยวกับการเผยแพร่ภาพโปสเตอร์เตรียมจัดการชุมนุมแฟลชม็อบในเพชรบูรณ์ ซันได้ปฏิเสธความเกี่ยวข้องไป รองผู้อำนวยการยังบอกเขาอีกว่า ตำรวจอยากเข้ามาพูดคุยกับซันที่โรงเรียนแต่ทางโรงเรียนไม่อนุญาต

กรณีที่สาม: ซัน (นามสมมติ) นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดเพชรบูรณ์ถูกนายอำเภอเยี่ยมบ้าน
วันที่ 21 กรกฎาคม 2563
เหตุการณ์โดยสังเขป: ในช่วงเย็นนายอำเภอเข้าไปที่บ้านของซันเพื่อสอบถามแม่ของซันว่าซันอยู่บ้านหรือไม่

กรณีที่สี่: พิม (นามสมมติ) นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยในกรุงเทพมหานคร ถูกเยี่ยมบ้าน
วันที่ 21 กรกฎาคม 2563
เหตุการณ์โดยสังเขป: พิม (นามสมมติ) ถูกตำรวจนอกเครื่องแบบไม่ระบุสังกัด 2 นายเข้าไปที่บ้านใน อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์ สอบถามหาตัวพิม และขอให้คนที่บ้านโทรศัพท์ติดต่อให้พิมพูดคุยกับตำรวจ ตำรวจอ้างว่า พิมมีรายชื่อเป็นเครือข่ายของกลุ่มเยาวชน พรรคอนาคตใหม่เพชรบูรณ์ จึงอยากสอบถามว่า พิมจะไปร่วมกิจกรรม #เพชรบูรณ์จะไม่ทน ในวันที่ 22 กรกฎาคมหรือไม่ และเป็นกลุ่มผู้จัดกิจกรรมหรือไม่ พิมปฏิเสธทั้งสองคำถาม ตำรวจจึงเดินทางกลับ 

กรณีที่ห้า: บิว (นามสมมติ) ศึกษาชั้น ปวส.ปี 1 วิทยาลัยการอาชีพแห่งหนึ่งในเพชรบูรณ์ ถูกตำรวจเยี่ยมบ้าน
วันที่ 21 กรกฎาคม 2563
เหตุการณ์โดยสังเขป: บิว (นามสมมติ) ถูกตำรวจนอกเครื่องแบบชุดสืบสวนจาก สภ.ชนแดน จำนวน 4-5 คน ไปที่บ้านเพื่อถามหาตัวบิว ยายจึงไปตามบิวออกมาพบ ตำรวจถามชื่อจริงของบิว และถามว่าจะไปร่วมกิจกรรม #เพชรบูรณ์จะไม่ทน ในวันที่ 22 กรกฎาคมหรือไม่ บิวจึงสอบถามว่า ชุมนุมอะไรเพราะไม่ทราบมาก่อน บิวระบุว่าไม่ได้จะไปเข้าร่วม ระหว่างพูดคุยตำรวจขอดูบัตรประชาชนเพื่อถ่ายรูปเก็บไว้ แต่บิวปฏิเสธพร้อมกับสอบถามกลับว่าเจ้าหน้าที่ได้ข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลทั้งหมดนี้จากที่ใด ตำรวจระบุว่า ข้อมูลมาจากส่วนกลางและมีสายข่าวแจ้งมาว่าบิวจะไปร่วมกิจกรรม 

 

จังหวัดแพร่ กิจกรรม #คนแพร่เล่าขวัญเผด็จการ

กรณีที่หนึ่ง: โรงเรียนนารีรัตน์จังหวัดแพร่ข่มขู่นักเรียนห้ามไปร่วมชุมนุม
วันที่ 22 กรกฎาคม 2563
เหตุการณ์โดยสังเขป: ในเช้าวันที่ 22 กรกฎาคม พบว่ามี Line จากโรงเรียนนารีรัตน์จังหวัดแพร่ ซึ่งคุณครูแจ้งผ่านแอปพลิเคชันไลน์ว่า หากนักเรียนคนไหนไปร่วมชุมนุม #คนแพร่เล่าขวัญเผด็จการ ในตอนเย็นอาจจะไม่ได้รับใบจบการศึกษาจากทางโรงเรียน

กรณีที่สอง: ผู้อำนวยการโรงเรียนพิริยาลัยจังหวัดแพร่ข่มขู่นักเรียนห้ามไปร่วมชุมนุม
วันที่ 22 กรกฎาคม 2563
เหตุการณ์โดยสังเขป: มีการรายงานจากเด็กนักเรียนในโรงเรียนพิริยาลัยจังหวัดแพร่ว่า ในเวลาประมาณ 13.00 น. ผู้อำนวยการโรงเรียนประกาศเสียงตามสายห้ามนักเรียนและบุคลากรเข้าร่วมกิจกรรม #คนแพร่เล่าขวัญเผด็จการ ที่จะจัดขึ้นในตอนเย็น หากฝ่าฝืนจะมีมาตรการลงโทษ และในช่วงบ่ายวันเดียวกันยังมีรายงานว่าตำรวจได้เข้าไปในโรงเรียนดังกล่าวด้วยแต่ไม่ทราบว่าเข้าไปโดยมีวัตถุประสงค์ใด

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม

กรณีที่สาม: ประเสริฐ หงวนสุวรรณ ประชาชนในจังหวัดแพร่ถูกเยี่ยมบ้าน
วันที่ 22 กรกฎาคม 2563
เหตุการณ์โดยสังเขป: ในช่วงบ่าย ประเสริฐ หงวนสุวรรณ หนึ่งในแกนนำจัดกิจกรรม #คนแพร่เล่าขวัญเผด็จการ ถูกตำรวจไปที่บ้านขณะที่เขาไม่อยู่บ้าน แม่ของเขาจึงออกมาคุยกับตำรวจชุดดังกล่าว และทำการถ่ายรูปแม่ของเขาพร้อมบัตรประชาชน โดยแจ้งแม่เขาว่า ไม่ให้ประเสริฐไปร่วมงาน #คนแพร่เล่าขวัญเผด็จการ เย็นวันนี้ได้ไหมเพราะอาจจะถูกจับดำเนินคดีได้ แต่สุดท้ายเขาก็ยังจัดงานต่อไป

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม

กรณีที่สี่: นักศึกษาถูกเยี่ยมบ้านหลังขึ้นปราศรัย
วันที่ 9 สิงหาคม 2563
เหตุการณ์โดยสังเขป: กร (นามสมมติ) นักศึกษาคนหนึ่งในจังหวัดแพร่ แจ้งว่าหลังจากที่ได้ขึ้นปราศรัยในกิจกรรม #คนแพร่เล่าขวัญเผด็จการ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2563 ต่อมาวันที่ 9 สิงหาคม 2563 ย่าของเขาแจ้งว่า เวลาประมาณ 13.00 น. มีตำรวจนอกเครื่องแบบอ้างว่าเป็นตำรวจสันติบาล 1 คน มาที่บ้านของเขา แต่มีเพียงปู่กับย่าอยู่ที่บ้าน จากนั้นตำรวจได้คุยกับย่าเพื่อสอบถามว่าบ้านหลังนี้เป็นบ้านของนักศึกษาคนที่ขึ้นปราศรัยใช่หรือไม่ เข้าเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยXXXใช่หรือไม่ เขาอยู่บ้านหรือไม่ และถามว่าเขาอยู่บ้านหลังนี้จริงๆ ใช่หรือไม่ และได้ถ่ายรูปบ้าน พร้อมทั้งถ่ายรูปปู่กับย่าของเขาไปด้วย

 

จังหวัดพัทลุง กิจกรรม #พัทลุงไม่ทนแล้วโว้ย

กรณีที่หนึ่ง: ตำรวจส่งหนังสือให้ผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีพัทลุง ขอให้ห้ามนักเรียนไปร่วมชุมนุม
วันที่ 22 กรกฎาคม 2563
เหตุการณ์โดยสังเขป: มีการเปิดเผยหนังสือราชการ ที่ออกโดย พ.ต.อ.ต่อศักดิ์ สารีรัตน์ ผกก.สภ.เมืองพัทลุง ส่งถึงผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีพัทลุง เรื่องขอความร่วมมือประชาสัมพันธ์นักเรียนนักศึกษาไม่ไปเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมสาธารณะ โดยในหนังสือมีรายละเอียดขอความร่วมมือให้ผู้อำนวยการประชาสัมพันธ์ไม่ให้นักเรียนและผู้ปกครองไปร่วมชุมนุมในวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 โดยอ้างถึงความผิดในการรวมตัวชุมนุมแนบด้วย

 

กรุงเทพมหานคร โรงเรียนสตรีวิทยา 2 จัดกิจกรรม #ลูกพิกุลไม่สนับสนุนเผด็จการ

กรณีที่หนึ่ง: นักเรียนที่เป็นแกนนำในการจัดกิจกรรมถูกผู้อำนวยการโรงเรียนเรียกพบ
วันที่ 23 กรกฎาคม 2563
เหตุการณ์โดยสังเขป: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า วันที่จัดกิจกรรมมีนักเรียนเปิดเผยว่าแกนนำนักเรียนผู้จัดกิจกรรม #ลูกพิกุลไม่สนับสนุนเผด็จการ ถูกผู้อำนวยการโรงเรียนเรียกพบ พร้อมทั้งมีรถตำรวจจาก สน.โชคชัย หลายคันมาจอดในโรงเรียนในช่วงพักกลางวัน โดยตำรวจพร้อมกับอาจารย์ของโรงเรียนคอยยืนคุมในหลายจุดทั้งโรงเรียน และตำรวจยังมีการบันทึกภาพนักเรียนไปด้วย

 

จังหวัดนครศรีธรรมราช กิจกรรมของกลุ่ม Against Dictatorship (Nakhon Sri Tammarat)

กรณีที่หนึ่ง: นักเรียนที่จัดกิจกรรมในโรงเรียนถูกเรียกเข้าห้องปกครอง
วันที่ 23 กรกฎาคม 2563
เหตุการณ์โดยสังเขป: มีรายงานว่า ในช่วงเลิกเรียนเวลาประมาณ 16.00 น. มีเด็กนักเรียนชายชั้น ม.3 ของโรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช จำนวน 1 คน ซึ่งเป็นเเอดมินกลุ่ม Against Dictatorship (Nakhon Sri Tammarat) โดนเรียกเข้าห้องปกครองโดยมีอาจารย์ไปตามที่ห้องเรียน เนื่องจากได้เเสดงออกทางการเมืองด้วยวิธีการติดเเผ่นป้าย เเละการประชาสัมพันธ์ข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับการประท้วงรัฐบาลเพื่อนำมาสู่การให้รัฐบาลทำตามข้อเรียกร้องสามข้อภายในโรงเรียน 

 

จังหวัดปัตตานี กิจกรรม “หมุดหมายประชาธิปไตย ร่วมเเฟลชม็อบไล่เผด็จการไปด้วยกัน”

กรณีที่หนึ่ง: นักเรียน 3 คน จากโรงเรียนในจังหวัดปัตตานีถูกคุณครูฝ่ายปกครองเรียกผู้ปกครองเข้าพบ
วันที่ 24 กรกฎาคม 2563
เหตุการณ์โดยสังเขป: เวลาประมาณ 11.38 น. มีนักเรียนชั้น ม.6 จากโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดปัตตานี จำนวน 3 คน โทรมาแจ้งว่า ทางครูฝ่ายปกครองเชิญนักเรียนทั้ง 3 คน เเละผู้ปกครองมาพบที่โรงเรียน โดยโรงเรียนเเจ้งว่ามีตำรวจสันติบาลโทรศัพท์มาหา เเละบอกว่ามีนักเรียนของโรงเรียนดังกล่าวไปชุมนุมที่ ม.อ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 เเละถือป้ายรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส โดยอ้างว่าอาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยเเจ้งผ่านครูฝ่ายปกครอง 

เวลาประมาณ 12.21 น. นักเรียนกลุ่มเดิมโทรมาแจ้งว่าโรงเรียนให้ทั้ง 3 คนกลับบ้าน โดยให้อยู่ในความดูเเลของผู้ปกครอง เเละครู และแจ้งให้นักเรียนทั้ง 3 คน ปิดเครื่องมือสื่อสาร โดยนักเรียนกลุ่มดังกล่าวแจ้งว่าพวกเขากังวลเรื่องความปลอดภัยของครอบครัว

 

จังหวัดสมุทรปราการ กิจกรรม #สมุทรปราการจะไม่ทน

กรณีที่หนึ่ง: เอกภพ ถูกตำรวจนอกเครื่องแบบ สภ.กิ่งแก้วเยี่ยมบ้าน
วันที่ 18 กรกฎาคม 2563
เหตุการณ์โดยสังเขป: เอกภพแจ้งว่า เวลาประมาณ 7.00 น. ตำรวจนอกเครื่องแบบอ้างตัวว่า เป็นตำรวจสืบสวน สภ.กิ่งแก้ว สมุทรปราการ มาที่บ้านของเอกภพ และถ่ายรูปเขาไป

กรณีที่สอง: เอกภพ ถูกตำรวจนอกเครื่องแบบเยี่ยมบ้านครั้งที่สอง
วันที่ 19 กรกฎาคม 2563
เหตุการณ์โดยสังเขป: เอกภพแจ้งว่า เวลาประมาณ 10.00 น. ตำรวจนอกเครื่องแบบหนึ่งคนมาที่บ้าน สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางการเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับกลุ่ม #เยาวชนปลดแอก และสหภาพนักเรียนฯ เอกภพตอบว่า หากมีการเคลื่อนไหวอีกจะเข้าร่วม

กรณีที่สาม: เอกภพ ถูกตำรวจนอกเครื่องแบบเยี่ยมบ้านครั้งที่สาม
วันที่ 24 กรกฎาคม 2563
เหตุการณ์โดยสังเขป: เอกภพแจ้งว่า เวลาประมาณ 10.00 น. ตำรวจนอกเครื่องแบบหนึ่งคนมาที่บ้าน และถ่ายรูปเขา

กรณีที่สี่: เอกภพ ถูกตำรวจนอกเครื่องแบบเยี่ยมบ้านครั้งที่สี่
วันที่ 25 กรกฎาคม 2563
เหตุการณ์โดยสังเขป: เอกภพแจ้งว่า เวลาประมาณ 10.00 น. ตำรวจนอกเครื่องแบบหนึ่งคนมาที่บ้าน และถ่ายรูปเขาไปอีก

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม

 

จังหวัดกาญจนบุรี กิจกรรม #กาญจน์ปลดแอก 

กรณีที่หนึ่ง: นักเรียนกลุ่มผู้จัดงานถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเยี่ยมบ้าน
วันที่ 25 กรกฎาคม 2563 
เหตุการณ์โดยสังเขป: มติชนออนไลน์รายงานว่า ก่อนจัดงาน #กาญจน์ปลดแอก 1 วัน มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงไม่ระบุสังกัด เดินทางไปที่บ้านของนักเรียนในกลุ่มผู้จัดงาน โดยพูดคุยกับญาติของนักเรียนหลายคนพร้อมทั้งขอให้ลบโพสต์นัดชุมนุม และแจ้งกับทางผู้ปกครองว่า รู้ตัวแกนนำและผู้เกี่ยวข้องในการจัดชุมนุมหมดแล้ว

 

จังหวัดเลย กิจกรรม #เมืองเลยสิบ่ทนก๋อ 

กรณีที่หนึ่ง: ผู้เข้าร่วมกิจกรรมถูกตำรวจและทหารในพื้นที่ไปเยี่ยมบ้าน
วันที่ 29 กรกฎาคม 2563 
เหตุการณ์โดยสังเขป: ก่อนวันจัดงาน ตำรวจสันติบาล และทหาร โทรศัพท์ไปหาครอบครัวของผู้เข้าร่วมกิจกรรม #เมืองเลยสิบ่ทนก๋อ สอบถามเรื่องสถานะการเป็นแกนนำจัดกิจกรรม แต่ครอบครัวของผู้เข้าร่วมปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นแกนนำแต่อย่างใด นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมหลายคนยังถูกติดตามจากตำรวจนอกเครื่องแบบโดยการนัดทานข้าว และพูดคุยส่วนตัว

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม

กรณีที่สอง: ผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดเลยถูกเรียกตัวไปที่สถานีตำรวจ
วันที่ 30 กรกฎาคม 2563
เหตุการณ์โดยสังเขป: ผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดเลยถูกเรียกตัวไปที่สถานีตำรวจ เนื่องจากในงาน #เมืองเลยสิบ่ทนก๋อ มีนักเรียนจากโรงเรียนดังกล่าวขึ้นปราศรัย 

กรณีที่สาม: คนให้เช่ารถเครื่องเสียงถูกเยี่ยมบ้าน ครั้งที่ 1 
วันที่ 30 กรกฎาคม 2563 
เหตุการณ์โดยสังเขป: เทวากรณ์ผู้ให้เช่ารถกระบะเครื่องเสียงที่ใช้ในการจัดกิจกรรม #เมืองเลยสิบ่ทนก๋อ ได้รับโทรศัพท์จากป้า แจ้งว่าในเช้าวันที่ 30 กรกฎาคม 1 วันหลังการชุมนุม ผู้ใหญ่บ้าน บ้านนาหลัก หมู่ที่ 6 ต.วังสะพุง อ.วังสะพุง จ.เลย เดินทางมาที่บ้านของป้าเขาซึ่งเป็นที่อยู่ตามทะเบียนราษฎรของพี่สาวของเขา ซึ่งมีชื่อเป็นเจ้าของรถเครื่องเสียงคันที่เขาให้กลุ่มผู้จัดการชุมนุมเช่า และสอบถามว่าพี่สาวของเขาซึ่งเป็นเจ้าของรถเป็นใคร ไปทำอะไรในการชุมนุม แต่ป้าไม่ได้บอกเขาว่าการสนทนาดังกล่าวใช้เวลานานเท่าไหร่

กรณีที่สี่: คนให้เช่ารถเครื่องเสียงถูกเยี่ยมบ้าน ครั้งที่ 2
วันที่ 3 สิงหาคม 2563
เหตุการณ์โดยสังเขป: เทวากรณ์ผู้ให้เช่ารถกระบะเครื่องเสียงที่ใช้ในการจัดกิจกรรม #เมืองเลยสิบ่ทนก๋อ แจ้งว่าในวันที่ 3 สิงหาคม 2563 ในช่วงเช้ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจเดินทางมาที่บ้านของป้าเขาอีกครั้งหนึ่งแต่ไม่ทราบว่ามากี่นาย ตำรวจที่มาได้สอบถามป้าของเขาเกี่ยวกับพี่สาวของเขาว่ามีความเกี่ยวข้องกับการชุมนุมอย่างไรเช่นเดียวกับที่ผู้ใหญ่บ้านถาม เทวากรณ์คาดว่าเจ้าหน้าที่น่าจะถ่ายภาพทะเบียนรถของเขาไว้และนำไปตรวจสอบจึงติดตามไปหาพี่สาวของเขาซึ่งเป็นเจ้าของรถ หลังจากนั้นยังไม่มีข้อมูลการคุกคามลักษณะอื่นเพิ่มเติม

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม

 

จังหวัดนนทบุรี กิจกรรม #เด็กนนท์พร้อมชนเผด็จการ

กรณีที่หนึ่ง: เด็กนักเรียนถูกสารวัตรนักเรียน และคุณครูสกัดไม่ให้ไปร่วมชุมนุม
วันที่ 29 กรกฎาคม 2563
เหตุการณ์โดยสังเขป: ระหว่างการชุมนุมแกนนำประกาศว่า โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดนนทบุรีมีสารวัตรนักเรียน และคุณครูสอบถามนักเรียนว่าไปชุมนุม #เด็กนนท์พร้อมชนเผด็จการ หรือไม่ หากไปชุมนุมจะสกัดกั้นไม่ให้ขึ้นรถ

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม

 

จังหวัดสงขลา กิจกรรม “ผูกโบว์ขาวต้านเผด็จการ” 

กรณีที่หนึ่ง: คุณครูขอให้นักเรียนยกเลิกการทำกิจกรรมในโรงเรียน
วันที่ 29 กรกฎาคม 2563
เหตุการณ์โดยสังเขป: กลุ่มนักเรียนที่จัดกิจกรรม “ผูกโบว์ขาวต้านเผด็จการ” ในโรงเรียน มอ.วิทยานุสรณ์ หาดใหญ่ แจ้งว่าถูกคุณครูฝ่ายพัฒนาผู้เรียนเรียกพบหลังนำกล่องแจกโบว์ขาวไปตั้งไว้ในโรงเรียน และขอให้เลิกตั้งกล่องและหยุดประชาสัมพันธ์ โดยให้เหตุผลว่า ไม่อยากให้เป็นเหยื่อของการเมือง

 

จังหวัดขอนแก่น กิจกรรม #อีสานบ่ย่านเด้อ

กรณีที่หนึ่ง: นักศึกษาถูกส่งรูปเข้าร่วมชุมนุมให้ครอบครัว
วันที่ 30 กรกฎาคม 2563
เหตุการณ์โดยสังเขป: นักศึกษาคนนี้รายงานว่าในวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 ได้ไปร่วมกิจกรรม #อีสานบ่ย่านเด้อ ที่จังหวัดขอนแก่น และขึ้นปราศรัยเรื่องกฎหมายเกณฑ์ทหารที่จังหวัดเลย ในวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 หลังจากนั้นวันที่ 30 กรกฎาคม 2563 มีคนส่งรูปขณะร่วมชุมนุมที่ขอนแก่น พร้อมกับรูปหน้าในบัตรประชาชนของเขาให้กับคนในครอบครัว และมีการเรียกคนในครอบครัวไปพูดคุย และส่งข้อความทางไลน์ไปหาคนในครอบครัวด้วย จนคนในครอบครัวบอกว่าให้เลิกยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และเรื่องกองทัพ  

 

จังหวัดอำนาจเจริญ กิจกรรม #เมืองอำนาจไม่หลงอำนาจไม่เอาเผด็จการ

กรณีที่หนึ่ง: แก้ว (นามสมมติ) ตำรวจติดตามสอบถามข้อมูล
วันที่ 30 กรกฎาคม 2563
เหตุการณ์โดยสังเขป: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ก่อนจัดกิจกรรม 1 วัน แก้ว (นามสมมติ) หนึ่งในนักศึกษาผู้จัดกิจกรรมถูกตำรวจมาติดตามสอบถามข้อมูลจากคนรอบข้างและตัวเธอเอง ทั้งยังให้ข้อมูลกับคนแถวบ้านว่า เธอมีชื่ออยู่ในลิสต์เป็นแกนนำก่อม็อบ

“แก้ว” ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมกับไอลอว์ว่า เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 เวลา 14.00 น. มีตํารวจ 2 คนที่เเทนตัวเองว่าเป็นสารวัตรได้เข้ามาที่บ้านของเเกนนําเยาวชนอำนาจเจริญ เเละขอชื่อ นามสกุล เบอร์โทร และรายละเอียดในการจัดกิจกรรม ซึ่งก่อนหน้านั้นตำรวจได้โทรศัพท์มาก่อน 2 ครั้ง เเละมีการเข้ามาบ้านอีก 1 ครั้ง รวมเป็น 3 ครั้ง ทางผู้ปกครองรู้สึกกลัวจึงสั่งให้ลูกห้ามจัดกิจกรรมเด็ดขาด 

สุดท้ายมีการยกเลิกกิจกรรมในวันที่ 30 กรกฎาคม 2563 โดยผู้จัดกิจกรรมแจ้งสาเหตุของการยกเลิก เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงรูปเเบบกิจกรรม คือจากเเต่เดิมจะมีการชูป้าย เเละให้คนมาเขียนเเสดงความคิดเห็น ระยะเวลาของกิจกรรมคือ 1 ชั่วโมง เเต่เจ้าของตลาดนัดข้างหอนาฬิกาซึ่งเป็นที่นัดหมายจัดกิจกรรมได้ประกาศหยุดวันที่ 30 เพื่อเป็นการกดดันทางผู้จัดว่าหากยังจะชุมนุมต่อ พ่อค้าเเม่ค้าจะหารายได้ไม่ได้ เเละพยายามชี้นําอีกว่าสาเหตุที่ตลาดต้องหยุดก็เพราะการชุมนุมดังกล่าว 

 

จังหวัดหนองบัวลำภู กิจกรรม #หนองบัวลำภูทนบ่ไหวแล้ว

กรณีที่หนึ่ง: ผู้จัดกิจกรรมถูกตำรวจสันติบาลเยี่ยมบ้าน
วันที่ 30 กรกฎาคม 2563 
เหตุการณ์โดยสังเขป: ได้รับแจ้งจากทางผู้จัดกิจกรรม #หนองบัวลำภูทนบ่ไหวแล้ว ว่ามีตำรวจนอกเครื่องแบบ สภ.เมืองหนองบัวลำภู 4 คน มาตามหาที่บ้าน และสอบถามผู้จัดว่าเป็นใคร ทำงานที่ไหน เคยยุ่งเกี่ยวกับการเมืองหรือไม่ สังกัดพรรคอะไร ทั้งนี้ผู้จัดไม่ได้อยู่บ้านในเวลาดังกล่าว และได้รับแจ้งจากผู้ที่อยู่ทางบ้านจึงทำให้ทราบเรื่อง

 

จังหวัดสงขลา คุกคามผู้สังเกตการณ์

กรณีที่หนึ่ง: ผู้สังเกตการณ์การชุมนุมถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเยี่ยมบ้านครั้งแรก
30 กรกฎาคม 2563
เหตุการณ์โดยสังเขป: ช. (นามสมมติ) เป็นนักศึกษาตัวแทนผู้สังเกตการณ์การชุมนุมของไอลอว์ในพื้นที่ภาคใต้ที่จะสวมใส่ป้ายผู้สังเกตการณ์ทุกครั้ง หลังการลงพื้นที่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย คลองหวะในกิจกรรมชวนวาดรูปเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 วันถัดมา (วันที่ 30 กรกฎาคม 2563) เวลาประมาณ 12.35 น. มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบขับมอเตอร์ไซค์มาพบยายของ ช. ที่บ้านใน อ.นาทวี  และมีคนไปตามพ่อกับแม่ให้มาพบเจ้าหน้าที่ 

เจ้าหน้าที่เอารูป ช. ให้พ่อกับแม่ดูว่า ช. ไปเข้าร่วมชุมนุม แล้วถามว่านี่ใช่ลูกคุณหรือไม่ และถามข้อมูลส่วนตัวของ ช. เช่น เรียนที่ไหน อยู่ปีไหนแล้ว และจะขอพบ ช. ได้หรือไม่   

แม่ของ ช. ได้ถามเจ้าหน้าที่ว่า ช. ผิดอะไรทำไมถึงมาหาถึงที่บ้าน และถ้าจะมาก็ให้มาที่บ้านแม่ อย่าไปที่บ้านยายเพราะยายอยู่คนเดียว เจ้าหน้าที่บอกว่าพวกเค้าติดตาม ช. อยู่ โดยมีทีมส่วนกลางเป็นผู้ส่งข้อมูลมา 

เจ้าหน้าที่ได้ถ่ายรูปพ่อกับแม่ของ ช. และได้ถ่ายรูปบัตรประชาชนไว้ด้วย และได้บอกว่าวันหลังจะมาอีก จะมาพร้อมกับหัวหน้าของเขา และจะมาโดยสวมชุดในเครื่องแบบ

กรณีที่สอง: ผู้สังเกตการณ์การชุมนุมถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไปหาครั้งที่สอง
วันที่ 4 สิงหาคม 2563
เหตุการณ์โดยสังเขป: มีรายงานจาก ช. ว่า เวลาประมาณ 19.50 น. ตำรวจนอกเครื่องเเบบ 5 คน แจ้งว่ามาจาก สภ.คอหงส์ เข้าไปถามเพื่อนของ ช. ว่าสนิทกันหรือไม่ เห็นเคยนั่งด้วยกัน ถามต่อว่าเรียนอยู่ปีไหนปีเดียวกับ ช. หรือไม่ เเละพักอยู่หอในหรือหอนอกของมหาวิทยาลัย จากนั้นเพื่อนของ ช. ก็ตอบไปบ้างไม่ตอบบ้าง และถามกลับว่าเเล้วพวกพี่มาทำอะไร? เขาบอกว่าได้รับคำสั่งให้มาจับตา ช. จากนั้นตำรวจชุดดังกล่าวจะถ่ายรูปป้ายทะเบียนรถเพื่อน ช. เเต่เพื่อน ช. หันไปมองก่อนเขาจึงไม่ถ่าย

 

จังหวัดร้อยเอ็ด กิจกรรม #ร้อยเอ็ดเราไม่เอาเผด็จการ

กรณีที่หนึ่ง: ตำรวจไปหาหนึ่งในผู้จัดที่หมู่บ้านเพื่อขอนัดคุยกับกลุ่มผู้จัดกิจกรรมก่อนจัดกิจกรรม
วันที่ 31 กรกฎาคม 2563
เหตุการณ์โดยสังเขป: มีรายงานว่า รอง ผกก.สืบสวน สภ.เมืองร้อยเอ็ด ไปพบนักศึกษาที่เป็นแกนนำจัดกิจกรรม ที่บ้านผู้ใหญ่บ้านในหมู่บ้านของเธอ เพื่อขอนัดหมายผู้จัดกิจกรรมไปพูดคุยกับเจ้าหน้าที่สามฝ่ายคือ ตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง ที่สถานีตำรวจในวันที่ 1 สิงหาคม 2563 เวลา 13.00 น. แต่ทีมผู้จัดขอให้พูดคุยในที่สาธารณะ รอง ผกก. ตกลงเปลี่ยนสถานที่นัดหมายเป็นบริเวณเต็นท์ข้างลานกิจกรรมหน้าบึงพลาญชัย ซึ่งกำหนดเป็นที่นัดหมายทำกิจกรรม #ร้อยเอ็ดเราไม่เอาเผด็จการ

กรณีที่สอง: เจ้าหน้าที่ไม่ทราบฝ่ายไปเยี่ยมบ้านของนักศึกษาที่มีกำหนดขึ้นร้องเพลงในกิจกรรม
วันที่ 31 กรกฎาคม 2563
เหตุการณ์โดยสังเขป: มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ไม่ทราบฝ่ายไปที่บ้านของนักศึกษารายหนึ่งในจังหวัดมุกดาหารและมีการถ่ายภาพบ้านและครอบครัวของนักศึกษารายดังกล่าวไปด้วย

 

จังหวัดอุดรธานี กิจกรรม #อุดรสิบ่ทน

กรณีที่หนึ่ง: นักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมถูกเรียกเข้าห้องปกครอง
วันที่ 5 สิงหาคม 2563 
เหตุการณ์โดยสังเขป: เวลาประมาณ 14.30 น. ผู้จัดกิจกรรม #อุดรสิบ่ทน แจ้งว่ามีนักเรียนโรงเรียนแห่งหนึ่งใจกลางเมืองอุดรธานี ที่เข้าร่วมทำกิจกรรมการชุมนุม โดนเรียกเข้าห้องปกครอง สืบเนื่องจากนักเรียนได้ทำกิจกรรมเคลื่อนไหวกันในโรงเรียน รณรงค์ให้ยกเลิกหมอบกราบ จึงถูกครูเรียกเข้าพบ เบื้องต้นมีการคุกคาม ข่มขู่นักเรียนในเรื่องการเคลื่อนไหว การติดป้ายภายในโรงเรียน และบอกนักเรียนว่าไม่มีสิทธิทำกิจกรรมภายในโรงเรียนเพราะเป็นกฎ นักเรียนจึงถามว่ากฎข้อใด แต่ไม่ได้คำตอบจากคุณครู รวมถึงข่มขู่เรื่องการอัดเสียง และจะถูกหักคะแนน 

นอกจากนี้ครูยังตามหาตัวคนชูป้ายในงานชุมนุมอุดรสิบ่ทนและยังโดนว่ากล่าวเรื่องการขึ้นปราศรัยด้วย รวมถึงขู่จะหักคะแนนความประพฤติของนักเรียน

 

กรุงเทพมหานคร กิจกรรม #หอวังจะพังเผด็จการ

วันที่ 5 สิงหาคม 2563
เหตุการณ์โดยสังเขป: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า หลังจากที่นักเรียนหอวังประกาศจัดกิจกรรมเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563 เริ่มมีการแชร์และทวีตบนโลกออนไลน์ ในช่วงเช้าวันที่ 5 สิงหาคม 2563 นักเรียนที่จะจัดกิจกรรมได้ถูกผู้อำนวยการของโรงเรียนเรียกตัวไปพูดคุย แต่เมื่อไปพบผู้อำนวยการ กลับพบว่ามีทั้งคุณครูในโรงเรียนจากฝ่ายต่างๆ มากกว่า 10 คน และยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 นาย ระบุว่า มาจากสถานีตำรวจนครบาลพหลโยธิน มาร่วมในการพูดคุยด้วย

ทางผู้อำนวยการของโรงเรียนได้แจ้งกับนักเรียนว่ากิจกรรมที่มีการประชาสัมพันธ์ จะทำให้ชื่อเสียงของโรงเรียนเสียหาย เนื่องจากมีการใช้ชื่อโรงเรียนในการทำกิจกรรม เมื่อนักเรียนแจ้งว่าจะสามารถเปลี่ยนไปใช้คำว่า “กลุ่มนักเรียนหอวัง” แทนได้หรือไม่ ทางผู้อำนวยการยังยืนยันว่าไม่สามารถใช้ได้ เพราะเป็นชื่อของโรงเรียนอยู่

ผู้อำนวยการยังระบุเรื่องการไม่อนุญาตให้จัดหรือใช้ชื่ออาคารวชิรุณหิศในการจัดกิจกรรมด้วย เพราะเป็นชื่อที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ และยังระบุว่ากิจกรรมไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกมาเข้าร่วมด้วย

นอกจากนั้นทางตำรวจจาก สน.พหลโยธินยังพยายามสอบถามแนวความคิดเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมนี้ รูปแบบของกิจกรรม และยืนยันให้นักเรียนหาวิธีไม่ให้มีบุคคลที่สามมาเข้าร่วม ตำรวจยังพยายามขอข้อมูลส่วนตัวของนักเรียน ทั้งชื่อสกุล เบอร์ติดต่อของนักเรียน และเบอร์โทรศัพท์ของผู้ปกครอง และยังมีการระบุว่าจะแจ้งผู้ปกครองของนักเรียนให้รับรู้ด้วย

ในการพูดคุย ทางโรงเรียนและตำรวจไม่ได้มีการสั่งห้ามทำกิจกรรมโดยตรง แต่ก็มีลักษณะการพยายามตั้งเงื่อนไขจำนวนมากในการจัดกิจกรรม ทำให้นักเรียนต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบไป ทั้งยังถูกย้ำว่ากิจกรรมจะส่งผลกระทบถึงชื่อเสียงของโรงเรียน

หลังจากการพูดคุย ทางกลุ่มนักเรียนจึงได้ประกาศเปลี่ยนรูปแบบการชุมนุม โดยปรับเหลือการชูกระดาษเปล่าเป็นเวลา 10 นาที โดยไม่ส่งเสียงหรือกล่าวคำพูดใดๆ ทั้งยังย้ายสถานที่จัดไปยังหอประชุมโรงเรียนหอวังแทน โดยจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมชุมนุมไม่เกิน 80 คน และให้มีการลงชื่อนักเรียนที่จะเข้าร่วมก่อน ทั้งผู้เข้าร่วมต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง และไม่ให้บุคคลภายนอกและศิษย์เก่าเข้าร่วมกิจกรรมอีกด้วย

แต่ต่อมานักเรียนเห็นว่ารูปแบบกิจกรรมในลักษณะนี้จะส่งผลถึงความปลอดภัยของผู้เข้าร่วม และอาจทำให้เกิดการคุกคามนักเรียนเกิดขึ้น จึงตัดสินใจประกาศยกเลิกกิจกรรมไปก่อน

นักเรียนผู้จัดกิจกรรมระบุว่า เริ่มแรกกิจกรรมเพียงต้องการร่วมกันเรียกร้องประชาธิปไตยในพื้นที่โรงเรียน สิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อถูกกดดันจนต้องยกเลิกกิจกรรม ทำให้รู้สึกหมดหวังนิดหน่อย แต่ก็คิดว่าเป็นประสบการณ์ และทางกลุ่มนักเรียนคิดว่าจะหาวิธีร่วมกันแสดงออกต่อไป

 

จังหวัดกระบี่ กิจกรรมชูป้ายคู่ขนานไปกับกิจกรรมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก

กรณีที่หนึ่ง และสอง ตำรวจเยี่ยมบ้าน
วันที่ 19 กรกฎาคม 2563 
เหตุการณ์โดยสังเขป: ช่วงเช้ามีตำรวจในเครื่องแบบ 1 นายและนอกเครื่องแบบ 1 นายมาที่บ้านของน้ำผึ้ง หนึ่งในผู้ทำกิจกรรมชูป้ายที่ถนนคนเดินกระบี่เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 มาพูดคุยกับแม่ของน้ำผึ้งว่า ลูกสาวต้องการอะไร ใครอยู่เบื้องหลังการทำกิจกรรมและมีการจ้างหรือไม่ วันดังกล่าวน้ำผึ้งไม่ได้พูดคุยกับตำรวจโดยตรง ปล่อยให้แม่เป็นผู้พูดคุย เย็นวันเดียวกันมีตำรวจในเครื่องแบบ 3 นายมาที่บ้านอีกครั้งหนึ่ง ทำให้รู้สึกถูกคุกคาม

กรณีที่สาม เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวโดยประชาชน
วันที่ 21 กรกฎาคม 2563
เหตุการณ์โดยสังเขป: ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อว่า สิทธิชัย อยู่เจริญ นำข้อมูลส่วนตัวของน้ำผึ้งได้แก่ ชื่อ สกุล และที่อยู่ไปโพสต์บนเฟซบุ๊ก กรณีนี้น้ำผึ้งไม่ได้ลงบันทึกประจำวันหรือแจ้งความเนื่องจากเห็นว่า มีระยะเวลาในการดำเนินคดีตามกฎหมายนาน

กรณีที่สี่ ตำรวจขอเยี่ยมบ้านแต่ยกเลิกภายหลัง
วันที่ 6 สิงหาคม 2563 
เหตุการณ์โดยสังเขป: น้ำผึ้งแจ้งว่า ตำรวจติดต่อผ่านทนายความที่รู้จักกับครอบครัวว่า จะขอเข้ามาพูดคุย น้ำผึ้งจึงโพสต์สถานการณ์บนเฟซบุ๊ก จากนั้นตำรวจนายดังกล่าวยกเลิกการเข้ามาพูดคุยที่บ้าน

 

จังหวัดกระบี่ กิจกรรม #กระบี่ไม่ทน

กรณีที่หนึ่ง: ตำรวจเยี่ยมบ้านและให้เซ็นบันทึกข้อตกลงหลังถือป้ายในงาน #กระบี่ไม่ทน
วันที่ 6 สิงหาคม 2563
เหตุการณ์โดยสังเขป: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ในช่วงเวลาประมาณ 16.00 น. วี (นามสมมติ) ถูกตำรวจสันติบาลแต่งกายนอกเครื่องแบบ 1 คน ขับรถยนต์กระบะมีตราสัญลักษณ์ตำรวจสันติบาลมาหาที่บ้าน เมื่อตำรวจเห็นวีได้ทำการสอบถามว่าใช่บ้านเลขที่ตามข้อมูลที่ตำรวจเตรียมมาหรือไม่ และตรวจสอบชื่อ-นามสกุลจริงของวี ซึ่งวีเห็นว่าตำรวจมีข้อมูลเกี่ยวกับเขาที่ถูกต้องจึงยืนยันข้อมูลไป แล้วตำรวจจึงแสดงบัตรให้ดูว่าเป็นตำรวจสันติบาล แต่วีจำชื่อไม่ได้

หลังจากนั้น ตำรวจบอกกับวีว่า “นี่คือการมาช่วยเหลือ ถ้าหากไม่อยากคุยก็ไม่เป็นไร แต่ก็ไปว่ากันในศาล” และยังกล่าวอีกว่า “ถ้าจะด่ารัฐบาลก็ด่าไปเลยไม่เป็นไร แต่อย่ามาวุ่นวายกับเรื่องสถาบัน” โดยวีสังเกตว่าในมือของตำรวจถือเอกสาร MOU ที่ถูกเซ็นแล้วไว้จำนวนหนึ่ง ซึ่งตำรวจบอกว่าเอาไปให้คนอื่นๆ เซ็นมาแล้วหลายคน และได้ให้วีดูคร่าวๆ โดยบอกว่าสำหรับกรณีของวีนั้น ตำรวจได้เอามาให้ดูก่อน โดยจะกลับมาให้เซ็นอีกครั้งพรุ่งนี้ เนื้อหาใน MOU ที่จะต้องเซ็นคือ การยอมรับว่าตนเองเป็นผู้ถือป้ายรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลสจริง และให้ยอมรับว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมและจะไม่ทำเช่นนี้อีก เบื้องต้นวีได้ยืนยันกับตำรวจว่าจะไม่เซ็น “เอกสารข้อตกลงยินยอม” หรือ MOU ดังกล่าว 

 

จังหวัดยโสธร กิจกรรม #ยโสธรบ่ออนซอนเผด็จการ

กรณีที่หนึ่ง: ตำรวจสันติบาลสอบถามข้อมูลส่วนตัวหลังปราศรัยเสร็จ
วันที่ 8 สิงหาคม 2563
เหตุการณ์โดยสังเขป: ปอ (นามสมมติ) แจ้งว่าหลังจากขึ้นปราศรัยในงานเสร็จ ได้ถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบคาดว่าน่าจะเป็นตำรวจสันติบาลเข้ามาพูดคุย และสอบถามข้อมูลส่วนตัวทั้งชื่อ-นามสกุล โรงเรียน และที่อยู่ไป

กรณีที่สอง: คุณครูเรียกไปคุยเพราะไปร่วมชุมนุม
วันที่ 8 สิงหาคม 2563
เหตุการณ์โดยสังเขป: ตาม (นามสมมติ) แจ้งว่าหลังจากไปร่วมกิจกรรม #ยโสธรบ่ออนซอนเผด็จการ ได้ถูกครูในโรงเรียนเรียกเข้าไปพูดคุยเพื่อสอบถามว่าไปเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวจริงหรือไม่

 

จังหวัดสมุทรสงคราม กิจกรรม #แม่กลองต้องขยับ

กรณีที่หนึ่ง: แกนนำถูกเจ้าหน้าที่ตามถึงบ้านหลังจัดงานเสร็จ
วันที่ 8 สิงหาคม 2563
เหตุการณ์โดยสังเขป: มีรายงานว่าหลังจัดกิจกรรมเสร็จหนึ่งในแกนนำที่จัดกิจกรรม #แม่กลองต้องขยับ ถูกเจ้าหน้าที่ไม่ทราบฝ่ายขับรถตามถึงที่บ้าน 

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม

 

จังหวัดพิษณุโลก กิจกรรม #พิษณุโลกคนกล้าไม่ก้มหัวให้เผด็จการ

กรณีที่หนึ่ง: ทีมผู้จัดถูกเจ้าหน้าที่ไม่ทราบฝ่ายควบคุมตัวก่อนเริ่มงาน
วันที่ 9 สิงหาคม 2563
เหตุการณ์โดยสังเขป: หนึ่งในกลุ่มผู้จัดกิจกรรม #พิษณุโลกคนกล้าไม่ก้มหัวให้เผด็จการ แจ้งในเฟซบุ๊กเพจ “พิษณุโลกคนกล้าไม่ก้มหน้าให้เผด็จการ” ว่า ก่อนจะเริ่มจัดงานในช่วงเย็น เวลาประมาณ 12.00 น. เขา และน้องอีก 1 คน ได้ขับรถจักรยานยนต์มาจอดที่ลานจอดรถวัดใหญ่ (วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร) เพื่อมาพบกับคนที่อาสาเข้ามาช่วยงานอีก 3 คน ซึ่งจอดรถกระบะรออยู่ที่ลานจอดรถของวัด ระหว่างที่กำลังคุยกันอยู่ 5 คน ยังไม่ถึง 10 นาที ได้มีคนกลุ่มหนึ่งจำนวนมากกว่า 10 คน อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ไม่แจ้งสังกัด ได้เข้ามาพูดคุย โดยจะขอรับทราบเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมเพื่อช่วยดูแลความเรียบร้อย โดยบอกว่าจะไม่ยุ่งกับการจัดกิจกรรมแต่จะขอทราบว่าจะทำอะไรบ้าง แล้วจะช่วยดูแลความปลอดภัย ในระหว่างนั้นมีคนในทีมผู้จัดถ่ายคลิปการพูดคุย เจ้าหน้าที่จึงพาไปคุยในศาลา เมื่อถึงในศาลา เจ้าหน้าที่ได้เข้าจับ และล็อค และค้นตัว ยึดมือถือของทุกคนไป พอทราบว่าจะถูกควบคุมตัวแน่ๆ จึงขอติดต่อญาติและเพื่อนก่อน แต่เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาต บอกเพียงว่า “ให้ความร่วมมือดีๆ จะได้ไม่ต้องใช้กำลังกัน พี่ไม่อยากทำอะไรให้มันรุนแรง เราคนพิดโลกด้วยกัน” หลังจากนั้นมีรถกระบะมาจอดหน้าศาลา 5 คัน เป็นรถกระบะ 4 ประตู มีการควบคุมตัวทั้ง 5 ขึ้นรถคนละคัน และเจ้าหน้าที่อีกส่วนหนึ่งได้นำของที่เตรียมมาจัดกิจกรรม คือขนม และป้ายผ้า ขึ้นรถไปด้วย แล้วพาไปในบ้านหลังหนึ่งซึ่งเป็นสถานที่ที่ไม่รู้จัก ก่อนจะมีคนเข้ามาคุยเพื่อปรับทัศนคติเกี่ยวกับการจัดงานแล้วควบคุมตัวไว้จนพ้นเวลาการจัดงาน และส่งกลับบ้านในเวลาประมาณ 3 ทุ่มของวันเดียวกัน

 

กรุงเทพมหานคร คุกคามนักศึกษา

กรณีที่หนึ่ง: ตำรวจนอกเครื่องแบบไปสอบถามข้อมูลจาก รปภ. ที่คอนโดนิสิตจุฬาฯ
วันที่ 9 สิงหาคม 2563
เหตุการณ์โดยสังเขป: สิรินทร์ นักกิจกรรม และนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายงานว่า มีตำรวจนอกเครื่องแบบมาถามหาที่คอนโด โดยได้ถาม รปภ. ว่าสิรินทร์อยู่ห้องไหน อยู่ในคอนโดหรือไม่ พร้อมเอารูปของสิรินทร์ในงานชุมนุมให้ รปภ. ดู

=======