ข้อเท็จจริงเหตุการณ์จับกุม ‘ผู้ปราศรัย’ รวม 13 คน และพฤติการณ์สร้างความกลัว

การเมืองบนท้องถนนระอุขึ้นมากอีกครั้งหลัง #เยาวชนปลดแอก จัดการชุมนุมใหญ่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 และหลังจากนั้นก็มีการชุมนุมในรูปแบบ “แฟลชม็อบ” เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายๆ พื้นที่ทั่วประเทศแทบทุกวัน โดยข้อเรียกร้องหลักสามข้อของผู้ชุมนุมหลายๆ กลุ่ม สอดคล้องกัน ได้แก่

1. หยุดคุกคามประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหว 

2. ให้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ประชาชนมีส่วนร่วมผ่านการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือ สสร. 

3. ให้ พล.อ.ประยุทธ์ยุบสภา เปิดให้มีการเลือกตั้งใหม่

ในบรรดาการชุมนุมที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม มีอย่างน้อยสามครั้งที่ผู้ถูกจับกุมถูกตั้งข้อกล่าวหาฐาน “ยุยงปลุกปั่น”ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ได้แก่ การชุมนุม #เยาวชนปลดแอก ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2563, การชุมนุม #เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตยวันที่ 3 สิงหาคม 2563 และการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ในวันที่ 10 สิงหาคม 2563

มีข้อน่าสังเกตว่า การดำเนินคดีกับผู้ปราศรัยหรือผู้ร่วมการชุมนุมทั้งสามครั้งเกิดขึ้นหลังวันที่ 4 สิงหาคม 2563 ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังจากที่ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ถูกหยิบยกมาปราศรัยในการชุมนุมอย่างเป็นสาธารณะ ทั้งในมิติของกฎหมายและพระราชอำนาจ และการดำเนินการกับผู้ต้องหาก็มีการใช้วิธีการออกหมายจับเพื่อจับกุมทันทีโดยไม่ออกหมายเรียกให้ไปรายงานตัวก่อน ซึ่งต่างจากการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมกรณีอื่นๆ ที่หากเจ้าหน้าที่ไม่จับกุมในพื้นที่การชุมนุมเลยก็จะใช้วิธีออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหาก่อน

มีข้อน่าสังเกตด้วยว่า มีอย่างน้อยสองกรณีที่เจ้าหน้าที่จับกุมตัวผู้ต้องหาช่วงเย็นวันศุกร์และนำตัวไปฝากขังในช่วงหลังเวลาราชการ 

คดีการชุมนุม #เยาวชนปลดแอก 18 กรกฎาคม 2563

การชุมนุมที่จัดโดยกลุ่ม “เยาวชนปลดแอก” ร่วมกับสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) นับเป็นการชุมนุมขนาดใหญ่ครั้งแรกที่เกิดขึ้นบนถนนราชดำเนินหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 เริ่มคลี่คลายลงโดยมีผู้เข้าร่วมการชุมนุมไม่น้อยกว่า 5,000 คน ในวันที่จัดการชุมนุมมีเหตุกระทบกระทั่งกันเล็กน้อยระหว่างผู้ชุมนุมกับตำรวจแต่สุดท้ายไม่มีผู้ใดถูกจับกุมตัว 

ต่อมาในวันที่ 7 สิงหาคม มีการเปิดเผยว่าพนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่การชุมนุมขอให้ศาลออกหมายจับผู้ต้องหารวม 15 คน ในข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116, ชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 และร่วมกันจัดการชุมนุมในลักษณะสุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคตามข้อกำหนดออกโดยมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เบื้องต้นมีการเปิดเผยรายชื่อผู้ถูกออกหมายจับเพียงรายเดียว คือ อานนท์ นำภา และน่าสังเกตว่าการเปิดเผยข้อมูลเรื่องหมายจับนี้เกิดขึ้นสี่วันหลังอานนท์นำภาปราศรัยประเด็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในการชุมนุม #เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย ในวันที่ 3 สิงหาคม 2563

บ่ายวันที่ 7 สิงหาคม 2563 อานนท์ นำภา ถูกจับกุมตัวเป็นคนแรกจากนั้นในเวลาไล่เลี่ยกันภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ “ไมค์ ระยอง” ซึ่งเป็นผู้ปราศรัยในงานอีกคนหนึ่งก็ถูกจับกุมตัวด้วย ภาณุพงศ์ถูกนำตัวไปที่ สน.สำราญราษฎร์เพื่อสอบปากคำและแจ้งข้อกล่าวหา ส่วนอานนท์ถูกส่งตัวไปที่ สน.บางเขน และต่อมาทั้งสองคนก็ถูกส่งตัวไปที่ศาลอาญาในช่วงค่ำเพื่อขออำนาจศาลฝากขัง ซึ่งในช่วงเวลาประมาณ 22.30 น. ศาลได้สั่ง “คืนคำร้องฝากขัง” ให้พนักงานสอบสวน โดยให้เหตุผลว่า พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องฝากขังนอกเวลาราชการ หลังจากนั้นตำรวจได้นำตัวทั้งสองคนไปควบคุมไว้ที่ สน.ห้วยขวาง และนำตัวไปขออำนาจศาลอาญาฝากขังอีกครั้งในช่วงเช้าวันที่ 8 สิงหาคม 2563 ซึ่งศาลอนุญาตให้ฝากขังก่อนจะอนุญาตให้ทั้งสองประกันตัวในช่วงเย็น โดยตีราคาประกันคนละ 100,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขว่าหากทั้งสองกระทำการในลักษณะเดียวกับการกระทำในคดีนี้จะถือว่าผิดสัญญาประกัน

หนึ่งสัปดาห์ต่อมาในวันที่ 14 สิงหาคม ในเวลาประมาณ 16.30 น. เจ้าหน้าที่จับกุมตัวพริษฐ์ ชิวารักษ์ ที่เมืองทองธานีก่อนที่พริษฐ์จะไปร่วมการปราศรัยในการชุมนุมท่าน้ำนนท์ ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในช่วงเย็นวันเดียวกัน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า หลังการจับกุมเจ้าหน้าที่แจ้งว่าจะนำตัวพริษฐ์ไปที่ สน.สำราญราษฎร์โดยพริษฐ์ถูกนำตัวขึ้นไปบนรถที่ไม่มีการประทับตราของหน่วยงานราชการ เบื้องต้นมีกระแสข่าวว่าหลังพาตัวไปสอบปากคำที่ สน.สำราญราษฎร์แล้วพริษฐ์อาจถูกนำตัวไปควบคุมไว้ที่สถานีตำรวจอื่น แต่สุดท้ายก็ไม่มีการย้ายตัว พริษฐ์ถูกนำตัวส่งไปศาลอาญาในวันรุ่งขึ้นเพื่อขออำนาจศาลฝากขัง ซึ่งศาลอนุญาตตามคำร้องของตำรวจแต่ก็ให้ประกันตัวโดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ โดยกำหนดเงื่อนไขว่าหากกระทำการในลักษณะเดียวกับที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาคดีนี้อีกจะถือว่าผิดสัญญาประกัน

จนกระทั่งวันที่ 19 สิงหาคม 2563 จึงมีการจับกุมผู้ต้องหาเพิ่มเติมอีก 3 คน ได้แก่ บารมี ชัยรัตน์ ผู้ประสานงานสมัชชาคนจน, กรกช แสงเย็นพันธุ์ จากกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย และสุวรรณา ตาลเหล็ก จากกลุ่ม 24 มิถุนา ประชาธิปไตย บารมีถูกจับกุมเป็นคนแรกในเวลาประมาณ 21 นาฬิกาบริเวณใกล้วัดบวรนิเวศระหว่างที่เขากำลังเดินทางไปให้กำลังใจอานนท์ นำภา ซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่ที่ สน.ชนะสงคราม เมื่อบารมีถูกนำตัวไปที่สน.สำราญราษฎร์ สุวรรณาและกรกชได้ติดตามไปให้กำลังใจบารมีทั้งสองจึงถูกจับกุมตัวที่บริเวณใกล้เคียงกับ สน.สำราญราษฎร์ จากนั้นในวันรุ่งขึ้นจึงมีการจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับเพิ่มเติมอีก 5 คน ได้แก่ เดชาธร บำรุงเมือง นักร้องวง Rap Against Dictatorship, ทศพร สินสมบุญ, ธานี สะสม, ณัฐวุฒิ สมบูรณ์ทรัพย์ และธนายุทธ ณ อยุธยา รวมระหว่างวันที่ 19 และ 20 สิงหาคม มีผู้ถูกจับกุมในคดีนี้เพิ่มเติมทั้งหมด 8 คน 

จากนั้นวันที่ 26 สิงหาคม 2563 ในเวลา 12.00 น. ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี  หรือ “ฟอร์ด” จากกลุ่มเยาวชนปลดแอกซึ่งเป็นกลุ่มที่ประกาศจัดการชุมนุมและภานุมาศ สิงห์พรม ก็ถูกจับตัวไปที่ สน.สำราญราษฎร์และถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลในเย็นวันเดียวกันก่อนที่ทั้งสองจะได้รับการปล่อยตัวโดยใช้ตำแหน่งนักวิชาการและตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

คดีการชุมนุม #เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย 

วันที่ 3 สิงหาคม 2563 เครือข่ายมอกะเสดและกลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตยจัดการชุมนุม เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย ระหว่างการชุมนุมครั้งนั้นอานนท์ นำภา อภิปรายถึงปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในหลายๆ มิติ เช่น การแก้ไขกฎหมายและพระราชอำนาจ การชุมนุมผ่านพ้นไปด้วยดีแต่หลังจากนั้นช่วงเย็นวันที่ 19 สิงหาคม 2563 อานนท์ นำภา ก็ถูกจับกุมหลังทำงานเป็นทนายความที่ศาลอาญา 

อานนท์ นำภา โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กตั้งแต่ช่วงบ่ายว่า ตัวเขากำลังว่าความอยู่ที่ศาลอาญาและมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมารอจับกุมตัวเขาอยู่ที่ศาล แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการแสดงตัวอย่างเป็นทางการ อานนท์ไม่มั่นใจในความปลอดภัยจึงรออยู่ในบริเวณศาลจนกระทั่งเวลาประมาณ 19.30 น. ผู้อำนวยการศาลอาญาแจ้งอานนท์ว่าหมดเวลาทำการแล้วขอเชิญให้ออกนอกบริเวณศาล อานนท์จึงออกมาจากบริเวณศาลจากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงครามซึ่งรับผิดชอบท้องที่เกิดเหตุจึงแสดงตัวพร้อมหมายจับเข้าทำการจับกุม อานนท์ถูกควบคุมตัวจากศาลไปที่ สน.ชนะสงครามและถูกควบคุมตัวอยู่ที่นั่นหนึ่งคืน ในวันรุ่งขึ้นจึงถูกนำตัวมาฝากขังที่ศาลอาญา ศาลอนุญาตให้ฝากขังอานนท์ นำภา และให้ประกันตัวโดยยังไม่ต้องวางหลักทรัพย์ 

นับจนถึงวันที่ 27 สิงหาคม 2563 นอกจากอานนท์ ยังไม่มีบุคคลใดถูกออกหมายเรียกหรือจับกุมตัวเพิ่มเติมจากเหตุการชุมนุมในครั้งนี้

คดีการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน

วันที่ 10 สิงหาคม 2563 เครือข่าย #ธรรมศาสตร์และการชุมนุม จัดการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ที่ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต การชุมนุมครั้งนั้นมีไฮไลท์อยู่ที่การอ่านข้อเรียกร้องสิบข้อเพื่อการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เข้ากับการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยอานนท์ นำภา และภาณุพงศ์ จาดนอก ก็ได้ขึ้นปราศรัยและพูดถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยเช่นกัน จากนั้นมีรายงานในวันที่ 19 สิงหาคม 2563 ว่า พนักงานสอบสวน สภ.คลองหลวงขออำนาจศาลจังหวัดธัญบุรีออกหมายจับผู้ต้องหาที่ร่วมการปราศรัยในการชุมนุมครั้งนี้รวม 6 คน ได้แก่ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, ภาณุพงศ์ จาดนอก, อานนท์ นำภา, ณัฐชนน ไพโรจน์, ธนวัฒน์ จันผลึก และสิทธิ์นนท์ ทรงศิริ 

จากนั้นในวันที่ 24 สิงหาคม 2563 ระหว่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงพื้นที่จังหวัดระยอง ภาณุพงศ์ได้ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์โดยนำป้ายเขียนข้อความ “ถมทะเล 1000 ไร่ ชาวระยองได้อะไร” ไปชูประท้วงนายกรัฐมนตรี ระหว่างที่ภาณุพงศ์กำลังทำกิจกรรมเจ้าหน้าที่ตำรวจนำหมายจับศาลธัญบุรีมาแสดงและทำการจับกุมภาณุพงศ์ เขาถูกพาตัวมาที่ สภ.คลองหลวงในวันเดียวกันโดยมาถึงที่หมายในเวลาประมาณ 19.30 น. ภาณุพงศ์ถูกควบคุมตัวไว้ที่สถานีตำรวจเป็นเวลาหนึ่งคืนก่อนจะถูกนำตัวไปฝากขังในวันที่ 25 สิงหาคม 2563 

ในวันเดียวกันทางตำรวจนำหมายจับไปแสดงและทำการจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับอีกคนหนึ่งคืออานนท์ นำภา ซึ่งในช่วงเช้าเดินทางไป สน.นางเลิ้งเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาจากการจัดการชุมนุมที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบกเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 โดยเจ้าหน้าที่จาก สภ.คลองหลวงได้แสดงหมายจับกับอานนท์หลังเสร็จสิ้นขั้นตอนการรับทราบข้อกล่าวหาในคดีที่ สน.นางเลิ้งและนำตัวอานนท์ไปที่ สภ.คลองหลวงทันทีก่อนจะนำตัวไปส่งศาลในวันเดียวกัน ซึ่งศาลให้อานนท์และภาณุพงศ์ประกันตัวในช่วงเย็นวันเดียวกันโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์และไม่กำหนดเงื่อนไข

ข้อน่าสังเกตบางประการเกี่ยวกับการจับกุม

1. ตำรวจออกหมายจับผู้ชุมนุมโดยไม่ออกหมายเรียกก่อน

ประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 66 กำหนดว่า การออกหมายจับสามารถทำได้เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลที่ถูกออกหมายจับทำความผิดทางอาญาในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 3 ปี หรือเมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลที่ถูกออกหมายจับน่าจะทำความผิดและมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลดังกล่าวไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือจะไปก่อความอันตรายหรือยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือไม่มาตามหมายเรียกหรือหมายนัด 

ผู้ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 7 ปี จึงอยู่ในข่ายที่จะถูกออกหมายจับได้เลย อย่างไรก็ตามพนักงานสอบสวนก็สามารถใช้ดุลพินิจได้ว่าหากผู้ต้องหามีที่อยู่เป็นหลักแหล่งและไม่ได้มีพฤติการณ์ที่จะไปก่อความเสียหายร้ายแรงก็สามารถออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหาก่อนได้ เมื่อไม่มาตามหมายเรียกโดยไม่แจ้งเหตุอันสมควรค่อยออกหมายจับภายหลัง 

ดังเช่นกรณีของผู้ต้องหาคดีผู้จัดการชุมนุมกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่สกายวอล์กปทุมวัน ที่ถนนราชดำเนิน และที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก ทั้งสามคดีผู้ต้องหาต่างถูกตั้งข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ออกหมายจับในทันที หากแต่ออกหมายเรียกก่อนซึ่งผู้ต้องหาทั้งหมดก็มารายงานตัวเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาและเข้าสู่กระบวนการต่อสู้คดี อานนท์เองก็เคยถูกดำเนินคดีร่วมกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งทั้งสามคดีที่กล่าวมาและก็ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่อย่างดี ส่วนผู้ต้องหาคนอื่น เช่น สุวรรณาก็เคยถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งซึ่งเธอก็ไปรายงานตัวตามหมายเรียกทุกครั้ง จึงสมควรตั้งคำถามว่าการออกหมายจับทันทีโดยไม่ออกหมายเรียกเป็นการใช้อำานจเกินสมควรแก่เหตุหรือไม่

2. ความเหมาะสมของพฤติการณ์การจับกุม

การจับกุมอานนท์และภาณุพงศ์ในคดี #เยาวชนปลดแอก เจ้าหน้าที่ทำการจับกุมตัวทั้งสองในช่วงบ่ายถึงเย็นและเร่งรีบนำทั้งสองไปศาลเพื่อขอฝากขังในช่วงค่ำหลังเวลาราชการ มีคำถามว่าเหตุใดจึงไม่ควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้งสองไว้ก่อนแล้วค่อยนำตัวไปศาลในเวลาราชการเพราะพนักงานสอบสวนเองก็มีอำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหาที่สถานีตำรวจไม่เกิน 48 ชั่วโมงอยู่แล้ว

การเลือกเวลาจับกุมตัว กรณีของเดชาธร นักร้องวง Rap Against Dictatorship ซึ่งมีรายงานว่าบุคคลที่น่าจะเป็นภรรยาของเขาโพสต์ข้อความตำหนิพฤติการณ์การจับกุมของเจ้าหน้าที่ว่าทางเจ้าหน้าที่เองก็ติดตามความเคลื่อนไหวของสามีตัวเองและครอบครัว ก็น่าจะรู้ว่าเวลาที่ทำการจับกุมเดชาธรจะมีลูกเล็กไปด้วย แต่กลับเลือกจับกุมตัวในเวลานั้นรวมทั้งยังตั้งคำถามว่า เหตุใดขณะที่ขอนำรถยนต์กลับไปจอดที่บ้าน ตำรวจหญิงที่มานั่งบนรถต้องบันทึกภาพตัวเองกับลูกด้วย  

กรณีการจับกุมพริษฐ์ในวันที่ 14 สิงหาคม 2563 ซึ่งทางตำรวจก็ติดตามความเคลื่อนไหวของเขาอยู่แล้ว แต่ก็เลือกทำการจับกุมก่อนหน้าที่เจ้าตัวจะไปร่วมปราศรัยในการชุมนุมไม่นาน จึงมีคำถามว่า การเลือกจับกุมในเวลาดังกล่าวเป็นไปเพื่อสกัดกั้นการเข้าร่วมปราศรัย หรือมีเหตุผลอื่นใดให้ต้องทำการจับกุมในเวลานั้น

มีสามกรณีที่เจ้าหน้าที่เลือกจับตัวผู้ต้องหาช่วงเย็นวันศุกร์ ได้แก่ กรณีการจับกุมอานนท์และภาณุพงศ์ในวันที่ 7 สิงหาคม 2563 และการจับกุมพริษฐ์ในวันที่ 14 สิงหาคม 2563 แม้ว่าศาลจะมีระบบผู้พิพากษาเวรที่ทำหน้าที่พิจารณาคำร้องฝากขังหรือคำร้องประกันตัวช่วงเช้าวันเสาร์ แต่หากผู้ต้องหาต้องการเข้าถึงความช่วยเหลือในการประกันตัว เช่น ขออนุมัติหลักทรัพย์จากกองทุนยุติธรรมก็อาจติดขัดในเรื่องวันหยุดราชการด้วย

กรณีของสุวรรณา ผู้ต้องหาคดีการชุมนุม #เยาวชนปลดแอก ซึ่งถูกจับกุมช่วงค่ำวันที่ 19 สิงหาคม 2563 มีรายงานการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่เพื่อจับกุม โดยระหว่างที่สุวรรณากำลังจะขึ้นรถของเพื่อนไปที่ สน.สำราญราษฎร์ มีกลุ่มชายฉกรรจ์ที่อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่แต่ไม่แสดงตัวหรือหมายจับกระชากตัวเธอออกจากรถเพื่อสอบถามว่าจะไปที่ สน.สำราญราษฎรใช่หรือไม่ ถ้าใช่ ให้ไปกับพวกเขา ซึ่งสุวรรณาปฏิเสธเพราะชายฉกรรจ์กลุ่มดังกล่าวไม่ยอมแสดงตัวหรือหมายจับ จนกระทั่งเมื่อสุวรรณามาถึงที่สถานีตำรวจชายฉกรรจ์กลุ่มเดิมจึงได้แสดงตัวและหมายจับเพื่อทำการจับกุม 

3. พฤติการณ์การติดตามตัวที่มีลักษณะสร้างความหวาดกลัวและความรู้สึกไม่ปลอดภัย

นอกจากการจับกุมตัวตามหมายจับอย่างเป็นทางการแล้ว พฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ก่อนเข้าทำการจับกุมก็เป็นประเด็นที่ตั้งข้อสังเกตได้ชัดเจน ตัวอย่างเช่น กรณีการจับกุมอานนท์ในวันที่ 19 สิงหาคม 2563 ที่เจ้าหน้าที่ส่งเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไปติดตามที่ศาล ทั้งที่น่าจะทราบอยู่แล้วว่าอานนท์ว่าความอยู่ที่ศาลไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี ซึ่งหากมีการติดต่อประสานงานอย่างเป็นทางการอานนท์ก็น่าจะยินดีให้ตำรวจจับกุมหลังว่าความเสร็จ โดยไม่จำเป็นต้องส่งเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบที่เป็นชายฉกรรจ์และบางคนอาจไม่แสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่ไปติดตามในบริเวณศาลจนอานนท์รู้สึกไม่ปลอดภัย 

หรือกรณีของจุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ผู้ต้องหาตามหมายจับในคดีเยาวชนปลดแอก กับกรณีของปนัสยา ผู้ต้องหาตามหมายจับคดีการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ซึ่งทั้งสองเป็นผู้หญิง โดยมีรายงานว่ามีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไปติดตามที่หอพักโดยไม่แสดงตัวและไม่แจ้งเหตุผลจนทำให้เกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัย

การตอบสนองของประชาชนต่อการจับกุมและการรับมือของฝ่ายรัฐ

ทั้งนี้ในช่วงที่มีการจับกุมนักกิจกรรมได้มีการเคลื่อนไหวของประชาชนเกิดขึ้น ได้แก่ การไปรวมตัวที่หน้าสถานีตำรวจหรือหน้าศาลเพื่อให้กำลังใจหรือเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมตัว หากเป็นการควบคุมตัวที่สถานีตำรวจข้ามคืน ก็ปรากฏว่า จะมีประชาชนส่วนหนึ่งนอนค้างคืนที่สถานีตำรวจด้วยเพื่อรอติดตามความเคลื่อนไหวและเพื่อความมั่นใจว่าผู้ถูกจับกุมจะไม่ถูกนำตัวไปที่อื่นโดยพลการ 

ขณะเดียวกันศาลและสถานีตำรวจก็รับมือโดยการจัดการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวด ห้ามไม่ให้ผู้เกี่ยวข้องกับคดีเข้าพื้นที่ศาลหรือสถานีตำรวจทุกกรณี รวมทั้งมีการทำป้ายข้อกำหนดขนาดใหญ่มาติดด้วย เช่น

บริเวณหน้าศาลอาญามีแผ่นป้ายข้อกำหนดที่เกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาลมาติดไว้ ซึ่งเป็นประกาศที่เพิ่งออกเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2563 ส่วนที่สถานีตำรวจเช่นที่ สภ.คลองหลวงมีการติดข้อกำหนดสถานีตำรวจภูธรคลองหลวง เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยในบริเวณสถานีตำรวจ ซึ่งมีสาระสำคัญห้ามประพฤติตนก่อความวุ่นวาย ใช้คำพูดหรือกริยาในทางที่ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจตรวจคัดกรองอนุญาตให้บุคคลเข้าออกพื้นที่ ห้ามใช้โทรโข่งหรือเครื่องขยายเสียงในพื้นที่ สภ.คลองหลวงเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ และห้ามบันทึกภาพ เสียง หรือถ่ายทอดสดหรือกระทำการอื่นใดโดยปรากฏข้อมูลอันเป็นเท็จและทำให้เกิดความเสียหายต่อราชการ