หนังสือ ‘ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า’ กับปฏิบัติการ ‘ปิดแผ่นฟ้าด้วยฝ่ามือ’

ในภาพรวมต้องถือว่าการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 ผ่านไปด้วยดี ไม่มีเหตุรุนแรงใดๆ ดังที่หลายฝ่ายกังวล แต่หากดูในรายละเอียดจะพบกรณีเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจจำกัดเสรีภาพของประชาชนอยู่บ้าง หนึ่งในเหตุการณ์ที่น่าสนใจคือ การยึดหนังสือ ‘ปรากฎการณ์สะท้านฟ้า 10 สิงหา ข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันกษัตริย์’ ไม่ต่ำกว่า 40,000 เล่ม

นอกจากนั้นยังมีรายงานว่าเมื่อมีประชาชนบางส่วนนำไฟล์หนังสือเล่มนี้ไปแชร์ก็ถูกเจ้าหน้าที่ติดตามคุกคาม แถมการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามวันที่ 4 ตุลาคม หนังสือเล่มนี้ก็ถูกเจ้าหน้าที่ยึดไปอีก 2 เล่ม ขณะที่กรุงเทพฯ มีการจัดงาน 44 ปี 6 ตุลา ผู้อภิปราย 3 คนที่คำปราศรัยของพวกเขาถูกถอดความมาอยู่ในหนังสือ และมีกำหนดขึ้นพูดในงาน 6 ตุลาก็ถูกแบนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เจ้าของพื้นที่

เล่มแรกถอดคำปราศรัย ‘แฮร์รี่ พอตเตอร์’ แจกฉลุย

หนังสือเล่มนี้นับเป็น ‘เล่มที่ 2’ ก่อนหน้านี้คำปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์เคยถูกนำมาทำเป็นหนังสือแจกเล่มหนึ่งแล้ว โดยกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยถอดเทปคำปราศรัยของอานนท์ นำภา จากการชุมนุม ‘เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย’ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 มาจัดพิมพ์เป็นเล่มเล็กๆ (วันดังกล่าวอานนท์แต่งกายคล้ายแฮร์รี่ พอตเตอร์ มาพร้อมไม้กายสิทธิ์) พร้อมทั้งเติมบทความ 4 ประเด็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคำปราศรัยซึ่งเผยแพร่บนเฟซบุ๊กของ iLaw ก่อนหน้านี้มาเป็นภาคผนวกของหนังสือ 

ภาพจากเฟซบุ๊กแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม

โดยวันที่ 9 สิงหาคม 2563 เฟซบุ๊กเพจ แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เผยแพร่ภาพปกหนังสือ ‘สถาบันพระกษัตริย์กับสังคมไทย’ พร้อมข้อความประกอบว่า การชุมนุม 10 สิงหาที่ มธ.รังสิต จะมีการแจกหนังสือเล่มนี้ให้ผู้มาชุมนุม 1,000 เล่ม  

เมื่อถึงวันชุมนุม หนังสือ 1,000 เล่มถูกแจกจ่ายในพื้นที่การชุมนุมอย่างเปิดเผยตั้งแต่บริเวณทางเข้าพื้นที่ ไม่มีรายงานว่ามีการยึดหนังสือในวันนั้น และจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีรายงานว่ามีการยึดหนังสือเล่มนี้แต่อย่างใด แม้ว่าต่อมาในวันที่ 19 สิงหาคม อานนท์ นำภา จะถูกนำตัวไปรับทราบข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จากการปราศรัยซึ่งเป็นเนื้อหาหลักของหนังสือเล่มนี้ก็ตาม

สาระสำคัญตอนหนึ่งในหนังสือระบุว่า เหตุที่มีการชุมนุมเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีคนต้องการตั้งคำถามกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และที่ผ่านมาในการชุมนุมก็มีการกล่าวถึงบุคคลที่ตีความได้ว่าหมายถึงพระมหากษัตริย์ แต่การพูดในลักษณะดังกล่าวจะไม่มีน้ำหนักหากไม่มีการหยิบยกประเด็นนี้มาพูดอย่างตรงไปตรงมาตามหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

ชุมนุมใหญ่รอบสอง จัดใหญ่ 100,000 เล่ม ถูกยึดไปเกือบครึ่ง

19 กันยายน 2563 แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมประกาศจัดการชุมนุมใหญ่ครั้งที่ 2 โดยข้ามมาจัดที่มธ.ท่าพระจันทร์ ก่อนหน้านั้นในวันที่ 1 กันยายน 2563 อานนท์ นำภา โพสต์ภาพปกหนังสือ ‘ปรากฎการณ์สะท้านฟ้า 10 สิงหา ข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันกษัตริย์’ พร้อมข้อความว่า 

“วัดใจ พิมพ์ 100,000 เล่ม แจกวันที่ 19 กันยายน ที่ธรรมศาสตร์ คำปราศรัยของ 4 ผู้ปราศรัยว่าด้วยการขยายอำนาจของสถาบันกษัตริย์ ไม่พิมพ์เพิ่ม !!!” 

วันที่ 18 กันยายน 2563 หรือ 1 วันก่อนวันนัดชุมนุม อานนท์โพสต์ข้อความอีกครั้งว่า

“ออกจากโรงพิมพ์เรียบร้อย 50,000 เล่ม สำหรับ 50,000 คนแรกของพรุ่งนี้ 19 กันยายน ที่ธรรมศาสตร์ เข้าใจว่าจะขายเล่มละ 10 บาท เพื่อนำไปพิมพ์ล็อตต่อไปสำหรับเผยแพร่ทั่วประเทศ”

หนังสือ ‘ปรากฎการณ์สะท้านฟ้า 10 สิงหา ข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันกษัตริย์’ เป็นการถอดความการปราศรัยแบบคำต่อคำของผู้ปราศรัย 4 คนที่ขึ้นเวที 10 สิงหาคม ได้แก่ อานนท์, รุ้ง ปนัสยา, ไมค์ ภาณุพงศ์ และเพนกวิ้น พริษฐ์ (คำปราศรัยของพริษฐ์มาจากเวทีของกลุ่มขอนแก่นพอกันที 25 สิงหาคม 2563) และมีการนำประกาศของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ฉบับที่ 1 ซึ่งมีข้อเรียกร้อง 10 ข้อ เพื่อการปฏิรูปสถาบันฯ มาตีพิมพ์เป็นภาคผนวก

จากนั้นวันที่ 19 กันยายน 2563 เวลาประมาณ 10.00 น. ก่อนถึงเวลานัดหมายการชุมนุม มีรายงานว่าตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบนำกำลังไปที่บ้านพักแห่งหนึ่งย่านรังสิตซึ่งเป็นบ้านของหนึ่งในนักกิจกรรมเพื่อทำการตรวจยึดหนังสือ โดยตำรวจไม่ได้แสดงหมายหรือเอกสารใดในการตรวจค้น เพียงอ้างว่าเนื้อหาในหนังสือมีลักษณะเป็นการล้มล้างการปกครองและไม่ได้ระบุให้ชัดเจนว่าเนื้อหาส่วนใด และเป็นความผิดตามกฎหมายใด ท้ายที่สุดหนังสือกว่า 40,000 เล่มก็ถูกยึดไปโดยที่จนถึงบัดนี้ (5 ตุลาคม 2563) ยังไม่มีการระบุความผิดหรือข้อกล่าวหาอันเป็นเหตุแห่งการยึดที่แน่ชัด 

ด้านเพจประชาชนปลดแอกหรือ Free People ที่แม้ไม่ได้เป็นเจ้าของเอกสารได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กในวันที่ 19 กันยายน 2563 ในเวลา 15.16 น. ว่า  

“นี่มันยุคไหนแล้วคะคุณพรี่!!
พบกับหนังสือปกแดง “ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า ๑๐ สิงหา ๑๐ ข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันกษัตริย์” ที่ตั้งใจจะแจก 50,000 คนแรกใน #19กันยาทวงอํานาจคืนราษฎร (แต่ดันถูกยึดไปเสียก่อน…) ในรูปแบบไฟล์ PDF พร้อมให้ดาวน์โหลดแล้วตอนนี้”

ทั้งนี้ ปรากฏว่าต่อมามีหนังสือบางส่วนที่ไม่โดนยึดถูกนำมาแจกจ่ายในพื้นที่การชุมนุมและพื้นที่อื่นๆ เช่นในการชุมนุมที่มหาสารคามเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม หรือ 16 วันหลังการยึดหนังสือ มีการนำหนังสือปรากฏการณ์สะท้านฟ้าไปแจกในพื้นที่การชุมนุมด้วย โดยเพจแนวร่วมนิสิต มมส.เพื่อประชาธิปไตยโพสต์ข้อความในเช้าวันนั้นว่า  

“เล่มไหนกันนะ ! แล้วพบกันที่ เวทีต้านเผด็จการ #อีสานลั่นกลองรบ
เวลา 16.00 ณ เป็นต้นไป
ณ สนามฟ้า มหาวิทยาลัยมหาสารคาม”

ภาพประกอบข้อความข้างต้นเป็นกราฟิกเขียนข้อความ “เตรียมพบกับหนังสือที่ทุกคนต้องมี ชุดเดียวกันกับที่พี่ตำรวจขอไปอ่านให้นายฟัง แจกฟรีในงาน มีจำนวนจำกัด”

หลังโพสต์ข้อความได้ไม่นาน ในช่วงใกล้เที่ยงเฟซบุ๊กแนวร่วมนิสิต มมส.เพื่อประชาธิปไตยก็โพสต์ข้อความพร้อมภาพชาย 3 คน คนกลางถือหนังสือ ‘ปรากฏการณ์สะท้านฟ้าฯ’ ปกสีแดง 1 เล่มพร้อมข้อความว่า

“เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนสอบสวน ตรวจยึดหนังสือเล่มแดง และ หนังสือรวมบทกวีประชาชนปลดแอก แต่ทางเราเตรียมแจกผ่าน ลิงก์ Download ครับ”  

เจ้าหน้าที่ตรวจยึดหนังสือ “ปรากฎการณ์สะท้านฟ้าฯ” ในพื้นที่การชุมนุม
ภายในมหาวิทยาลัยมหาสารคามก่อนถึงเวลาเริ่มชุมนุม
(ภาพจากเฟซบุ๊กแนวร่วมนิสิต มมส.เพื่อประชาธิปไตย)

จากการสอบถามนิสิต มมส.ที่ไปร่วมชุมนุม เธอระบุว่าหนังสือถูกยึดไปเพียง 2 เล่มเพราะเจ้าหน้าที่บังเอิญเห็นแล้วขอยึดไปโดยอ้างเหตุว่าหนังสือดังกล่าวเป็น “ภัยต่อความมั่นคง” และหลังจากนั้นก็ไม่ได้มีการตรวจค้นโดยละเอียดแต่อย่างใด ในตอนท้ายของการชุมนุม ผู้ปราศรัยบนเวทีนำหนังสือบางส่วนมาถือเป็นอุปกรณ์ประกอบระหว่างอ่านแถลงการณ์และยังมีการนำหนังสือมาเดินแจกด้วย การกระทำทั้งหมดเป็นไปโดยเปิดเผยและคาดว่าจะอยู่ภายใต้การจับตาของเจ้าหน้าที่แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการยึดหนังสือเพิ่มเติม 

จะขอปิดแผ่นฟ้าด้วยฝ่ามือ?

นอกจากการยึดหนังสือปรากฏการณ์สะท้านฟ้าฯ มากกว่า 40,000 เล่มที่กรุงเทพฯ และอีก 2 เล่มที่มหาสารคามแล้ว ความพยายามในการสกัดกั้นเนื้อหาที่มีลักษณะวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ยังมีวิธีการอื่นด้วย เช่น

– วันที่ 1 ตุลาคม 2563 เวลา 22.46 น. ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Tewarit Bus Maneechai ซึ่งเป็นผู้สื่อข่าวประชาไทโพสต์ลิงก์การปราศรัยของอานนท์ นำภา ในเวทีธรรมศาสตร์จะไม่ทนซึ่งเผยแพร่ในช่องยูทูบของประชาไท พร้อมสอบถามผู้ใช้เฟซบุ๊กรายอื่นว่าสามารถเข้าถึงลิงก์ดังกล่าวได้หรือไม่ ปรากฏว่าผู้ใช้เฟซบุ๊กในไทยตอบว่าเข้าถึงไม่ได้ แต่คนที่อยู่ต่างประเทศเข้าถึงได้ ขณะที่ข้อความบนวิดีโอก็ระบุว่า 

Video unavailable
This content is not available on this country domain due to a legal complaint from the government.

ภาพบันทึกหน้าจอ หน้ายูทูบเผยแพร่คำปราศรัย อานนท์ นำภา ที่เข้าถึงไม่ได้ บันทึกเมื่อ 6 ตุลาคม 2563

แปลโดยสรุปได้ว่า วิดีโอไม่สามารถใช้งานได้ เนื้อหานี้ไม่สามารถใช้งานในโดเมนของประเทศนี้ได้เพราะถูกรัฐบาลร้องเรียนด้วยข้อกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่าลิงก์วิดีโอการปราศรัยอื่นๆ อาทิ การปราศรัยของ รุ้ง ปนัสยา จากเวทีวันที่ 19 กันยายนที่เผยแพร่บนช่องยูทูบของกลุ่มดาวดิน ยังสามารถเข้าถึงได้ หรือคลิปปราศรัยของอานนท์ในวันที่ 3 สิงหาคม ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เขาปราศรัยวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ในที่ชุมนุมก็ยังคงเข้าถึงได้ในยูทูบ

– วันที่ 3 ตุลาคม 2563 ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่งสัญญาณมายังคณะกรรมการจัดงานครบรอบ 44 ปี 6 ตุลา 19 ว่าขอให้ถอดทนายอานนท์ รุ้ง ปนัสยา และเพนกวิ้น พริษฐ์ ออกจากการเป็นผู้ร่วมเสวนา ซึ่งคงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าบทบาทของทั้งสามในฐานะผู้เปิดประเด็นปัญหาสถาบันฯ และพูดถึงการปฏิรูปสถาบันฯ อย่างต่อเนื่อง มีผลต่อการตัดสินใจของผู้บริหารธรรมศาสตร์