เก็บตกงานเสวนา เสาหลักต้องเป็นหลักอันศักดิ์สิทธิ์ – ศาลคือหน่วยงานสาธารณะที่ต้องถูกวิจารณ์และตรวจสอบโดยสาธารณะ

วันที่ 7 ตุลาคม 2563 เวลา 13.00-16.30 น. ณ ห้อง 321 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนจัดเสวนาในหัวข้อเรื่อง “เสาหลักต้องเป็นหลักอันศักดิ์สิทธิ์: บทบาทศาลท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบัน” เพื่อพูดคุยถึงการออกข้อกำหนดของศาลรวมถึงใช้กฎหมายละเมิดอำนาจศาลในบริบทที่ศาลถูกดึงมีเข้ามาเป็นผู้ตัดสินคดีทางการเมืองท่ามกลางสถานการณ์ที่กำลังคุกรุ่น รวมถึงร่วมแลกเปลี่ยนหาตำแหน่งที่ของศาลที่ควรจะเป็นท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความแหลมคม งานวันนี้มีนักศึกษาประมาณ 20 คนและมีประชาชนทั่วไปราว 15 คนร่วมฟังการเสวนา โดยมีผู้ร่วมเสวนาสามคนได้แก่ รัษฎา มนูรัษฎา ทนายความสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน  ผศ.สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  และสัณหวรรณ ศรีสด จากคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ)

สาวตรี สุขศรี: แก้กฎหมายละเมิดอำนาจศาล กำหนดบทลงโทษผู้พิพากษา และสร้างกลไกตรวจสอบอิสระจากภายนอก คือสามเรื่องเร่งด่วนของการปฏิรูประบบยุติธรรมไทย 

สาวตรีระบุว่า หน้าที่หลักๆ ของศาลคือการค้นหาความจริง ตัดสินข้อพิพาท รวมทั้งกำหนดบทลงโทษแก่ผู้กระทำความผิด การที่ศาลสามารถให้คุณให้โทษรวมถึงสามารถสั่งจำกัดสิทธิเสรีภาพของคนได้ย่อมจะทำให้มีผู้ที่เสียประโยชน์จากการทำหน้าที่ของศาล จึงต้องการกลไกเรื่องเครื่องมือพิเศษที่จะใช้เพื่อคุ้มครองให้ศาลสามารถอำนวยความยุติธรรมไปตามข้อเท็จจริงของพยานหลักฐานโดยปราศจากการแทรกแซง 

กฎหมายละเมิดอำนาจศาลเป็นกฎหมายที่ใช้กันในหลายประเทศรวมทั้งประเทศประชาธิปไตย ประเทศอย่างอังกฤษซึ่งใช้ common law หรือกฎหมายจารีต จะให้ความคุ้มครองผู้พิพากษาในกฎหมายละเมิดอำนาจศาลอย่างกว้างขวางโดยหมายรวมถึงการคุ้มครองเกียรติของผู้พิพากษา ขณะที่ในสหรัฐอเมริกาซึ่งใช้ระบบ common law เหมือนกันจะมีขอบเขตกฎหมายละเมิดอำนาจศาลที่แคบกว่าคือมุ่งเน้นคุ้มครองความสงบภายในศาลและห้องพิจารณาเท่านั้น แต่การวิพากษ์วิจารณ์ศาลเป็นเรื่องที่สาธารณชนสามารถทำได้ เพราะ Free Speech หรือเสรีภาพในการพูดถือเป็นคุณค่าที่สหรัฐให้ความสำคัญอันดับต้นๆ ในฐานะบทบัญญัติเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ 1  

สำหรับประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายแบบลายลักษณ์อักษรหรือ civil law กำหนดกรอบความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลไว้แค่การรักษาความเรียบร้อยระหว่างการพิจารณาคดีเท่านั้น หากการกระทำเป็นความผิดอื่น เช่น คู่ความหมิ่นประมาทผู้พิพากษา หากจะดำเนินคดี ผู้พิพากษาต้องไปฟ้องคดีตามปกติ แต่ไม่ใช่การละเมิดอำนาจศาล นอกจากนั้นโทษของความผิดนี้ก็เป็นแค่เชิญออกนอกห้องพิจารณาคดีหรือหากไม่เชื่อฟังก็จะเป็นโทษกักขังแต่ไม่ใช่โทษจำคุก และระยะเวลาของการละเมิดข้อกำหนดศาลก็ไม่เกิน 1 สัปดาห์เท่านั้น  

ที่สำคัญความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลก็เป็นความผิดที่มีการประกันหลัก due process หรือการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมรับรองไว้ด้วย เช่นการมีทนายความหรือต้องใช้องค์คณะอื่นที่ไม่ใช่องค์คณะที่มีข้อพิพาทเรื่องการละเมิดอำนาจศาลเป็นผู้พิจารณา ซึ่งต่างจากกรณีของไทยที่การไต่สวนและการมีทนายความไม่ได้เป็นการบัญญัติไว้ในตัวบทกฎหมายแต่เป็นดุลพินิจหรือความเมตตาของศาลในแต่ละองค์คณะ 

ในกรณีของไทยกฎหมายละเมิดอำนาจศาลที่มีครั้งแรกย้อนไปถึงสมัยกฎหมายตราสามดวงที่พูดด้วยภาษาปัจจุบันสรุปได้ว่า หากคู่ความโต้เถียงกัน ให้ศาลห้ามปราม หากผู้ใดไม่ฟังให้เสมียนศาลนำไปจำขื่อไว้จนค่ำ ซึ่งจะเห็นได้ว่ากฎหมายเพียงแต่มุ่งคุ้มครองกระบวนการพิจารณาคดี มากระทั่งใน ร.ศ. 127 ที่มีการใช้กฎหมายลักษณะวิธีพิจารณาความแพ่ง กฎหมายไทยถูกตราโดยได้รับอิทธิพลจากกฎหมายอังกฤษ จึงมีการขยายความกฎหมายละเมิดอำนาจศาลให้กว้างจนกระทั่งต่อมาถึงในปัจจุบันที่เป็นความผิดตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง อย่างไรก็ตามสาวตรีเห็นว่าถ้าจะมีกฎหมายละเมิดอำนาจศาลในระบบกฎหมายไทยที่ยังพอทันสมัยอยู่บ้างก็คงเป็นในส่วนของศาลปกครองที่กำหนดเป็นลายลักษณ์อักษรว่า องค์คณะที่จะทำหน้าที่พิจารณาจะต้องไม่ใช่องค์คณะที่มีเหตุละเมิดอำนาจศาล และโทษจำคุกอยู่ที่ไม่เกิน 1 เดือน แต่ไปเพิ่มโทษปรับแทนเป็นไม่เกิน 50,000 บาท และมีข้อยกเว้นว่าหากการวิพากษ์วิจารณ์การพิจารณาหรือคำพิพากษาเป็นไปโดยสุจริตหรือด้วยวิธีทางวิชาการไม่ถือเป็นการละเมิดอำนาจศาล 

สาวตรีย้ำด้วยว่า แม้ประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนแล้วแต่ศาลยังคงตัดสินใต้พระปรมาภิไธย จนบางครั้งอาจรู้สึกว่าสถาบันศาลไปยึดโยงกับความศักดิ์สิทธิ์บางประการ 

“หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 อำนาจกษัตริย์ในการตัดสินคดีถูกยกเลิกไป แต่วาทกรรมที่ว่าศาลตัดสินใต้พระปรมาภิไธยยังคงอยู่ ทำให้ศาลรู้สึกว่าตนเองยังคงมีความศักดิ์สิทธิ์บางอย่างเหนือประชาชน”

สาวตรีระบุด้วยว่าแม้ระบบยุติธรรมไทยจะมีกลไกตรวจสอบถ่วงดุลอยู่ แต่ก็เป็นระบบตรวจสอบภายในที่ไม่อยู่ในความรับรู้ของสาธารณะ ซึ่งตรงนี้ก็อาจทำให้สาธารณะมีคำถามถึงความเป็นอิสระของศาลได้ ที่ผ่านมาศาลมักกลัวว่าการกดดันของประชาชนในคดีที่เป็นประเด็นสาธารณะและเป็นที่สนใจจะกระทบต่อความเป็นอิสระของศาลจนเราเห็นกรณีที่มีคนไปชุมนุมที่หน้าศาลถูกดำเนินคดีละเมิดอำนาจศาล (คดีนักกิจกรรมละเมิดอำนาจศาลจังหวัดขอนแก่น) แต่ก็มีกรณีที่ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ทำคำพิพากษาแล้วถูกเรียกสำนวนไปตรวจแก้ในสาระสำคัญดังกรณีผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ ตรงนั้นมีคำถามว่าเป็นการแทรกแซงภายในหรือไม่ 

สาวตรีทิ้งท้ายว่าหากในอนาคตจะมีการปฏิรูประบบศาล ส่วนตัวมองว่ามีประเด็นเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข 3 อย่าง 1. ควรมีการกำหนดบทลงโทษที่ชัดเจนกับผู้พิพากษาที่ตัดสินคดีไปโดยไม่ชอบ ที่ไม่ใช่แค่เรื่องโทษทางวินัยแต่ต้องเป็นโทษทางแพ่งหรืออาญาด้วย 2. องค์กรตรวจสอบศาลต้องเป็นองค์กรภายนอก ส่วนที่มาจะเป็นอย่างไรก็ไปถกเถียงกันต่อได้ แต่ถ้ายังใช้กลไกตรวจสอบภายในเพียงอย่างเดียว สาธารณะก็คงอดมีข้อกังขาไม่ได้ เหมือนที่มีข้อกังขาต่อการตัดสินคดีทหารโดยศาลทหารว่าจะเที่ยงธรรมมากน้อยแค่ไหน และ 3. ต้องไปแก้ไขกฎหมายละเมิดอำนาจศาลให้มีความชัดเจนและแคบเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ คือ เพื่อคุ้มครองความเป็นอิสระให้ศาลตัดสินคดีได้รวดเร็วและยุติธรรมเท่านั้น

สัณหวรรณ ศรีสด: ในทางสากลผู้พิพากษาถือเป็นบุคคลสาธารณะที่ต้องถูกตรวจสอบหรือวิพากษ์วิจารณ์ได้มากกว่าคนทั่วไป      

สัณหวรรณระบุว่า กติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองหรือ ICCPR เป็นกติการะหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี และมีพันธกรณีต้องให้ความคุ้มครองต่อประชาชน จริงอยู่ว่าการจำกัดเสรีภาพการแสดงออกสามารถทำได้ แต่ต้องเป็นไปตามหลักความจำเป็น มีกฎหมายเขียนชัดเจน และสมควรแก่เหตุ ในบริบทของการแสดงความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์ศาลหรือกระบวนการยุติธรรม ในทางสากลถือว่าองค์กรของรัฐรวมทั้งศาลถือเป็นบุคคลสาธารณะที่ต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้มากกว่าบุคคลทั่วไป 

“ผู้พิพากษาของศาลถือเป็นบุคคลสาธารณะ ดังนั้นเขาก็สามารถจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้มากกว่าคนทั่วไป มากกว่า ไม่ใช่เท่ากับ เพราะเป็นบุคคลสาธารณะ และที่สำคัญผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ไม่ควรมีโทษทางอาญา”

กลับมาที่ประเด็นความเป็นอิสระของศาล สัณหวรรณระบุว่า หลักการบังกาลอร์ว่าด้วยจริยธรรมของตุลาการซึ่งผู้พิพากษาจากหลายประเทศทั่วโลกร่วมกันจัดทำขึ้น ก็มีประเด็นเกี่ยวกับการใช้กฎหมายละเมิดอำนาจศาลว่า ต้องเป็นทางเลือกสุดท้าย ต้องใช้อย่างระมัดระวัง ต้องรักษาสมดุลระหว่างความเรียบร้อยในกระบวนพิจารณาคดีกับการเปิดพื้นที่ให้ถกเถียงในทางสาธารณะ ผู้พิพากษาในฐานะที่เป็นบุคคลสาธารณะต้องเป็นผู้มั่นคงไม่อ่อนไหว ผู้พิพากษาไม่ใช่ผู้อยู่พ้นไปจากคำวิพากษ์วิจารณ์ และศาลไม่ควรตอบโต้ประชาชนหรือคำวิจารณ์ด้วยการดำเนินคดี 

ในระดับสากลเคยมีกรณีที่ศาลในฝรั่งเศสและตุรกีสั่งลงโทษนักวิชาการ สื่อมวลชน และทนายความที่วิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งศาลด้วยกฎหมายละเมิดอำนาจศาลซึ่งต่อมาศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปก็มีคำวินิจฉัยว่าการกระทำดังกล่าวถือเป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออก และผู้พิพากษาในฐานะบุคคลสาธารณะต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้มากกว่าคนทั่วไป ซึ่งดูจะต่างจากระบบกฎหมายไทยที่มีทั้งกฎหมายดูหมิ่นศาลซึ่งเป็นกฎหมายอาญาและกฎหมายละเมิดอำนาจศาลที่ถูกนำมาใช้ดำเนินคดีผู้แสดงออกในลักษณะวิพากษ์วิจารณ์ศาล

สัณหวรรณตั้งข้อสังเกตด้วยว่า กฎหมายละเมิดอำนาจศาลไทยยังมีความขัดแย้งกันเองกับข้อกำหนดของศาลที่หากฝ่าฝืนจะเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลด้วย กล่าวคือ หากสื่อมวลชนรายงานการพิจารณาในลักษณะบิดเบือนจะเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล แต่เมื่ออยู่ในห้องพิจารณาศาลก็เคยสั่งว่าห้ามจดเท่ากับว่าตัวสื่อจะตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะรายงานผิดพลาดจนเป็นการละเมิดอำนาจศาล  

ในส่วนของสถานการณ์ปัจจุบันที่ศาลเข้ามามีบทบาทตัดสินคดีการเมืองที่ประชาชนมีความสนใจและบางครั้งคำสั่งศาลนำไปสู่ความไม่พอใจจนมีคนมาชุมนุมแสดงออก สัณหวรรณระบุว่าหากพิจารณาเฉพาะกฎหมายละเมิดอำนาจศาล ไม่พูดถึงข้อกำหนดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ศาลในฐานะที่เป็นพื้นที่ของรัฐย่อมถือเป็นพื้นที่สาธารณะจึงควรจำกัดข้อห้ามการชุมนุมให้แคบที่สุด เช่น ห้ามใช้เสียงดังที่อาจรบกวนการพิจารณาคดี อย่างกรณีการไปชุมนุมที่ป้ายศาลก็น่าจะยังไม่เข้าข่ายกระทบต่อการพิจารณาคดี นอกจากนั้น ที่ในช่วงหลังๆ ศาลมักจำกัดการเข้าถึงห้องพิจารณาคดีโดยเฉพาะคดีที่มีคนสนใจ การเปิดให้สาธารณะชนเข้าไปร่วมฟังการพิจารณาคดีถือเป็นหลักประกันที่สำคัญของการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมเพราะไม่เช่นนั้นก็จะไม่มีใครรับรู้ว่าศาลตัดพยานหลักฐานหรือรับฟังพยานหลักฐานอย่างไร 

รัษฎา มนูรัษฎา: การใช้อำนาจของศาลต้องคำนึงถึงความเป็นธรรม ไม่ใช่แค่มีอำนาจก็ใช้  

รัษฎาตั้งข้อสังเกตถึงการใช้อำนาจของศาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีของภาณุพงศ์ จาดนอก และอานนท์ นำภา ที่เพิ่งเกิดขึ้น โดยในกรณีของอานนท์ นำภา รัษฎาระบุว่าตัวเขาไม่ได้อยู่ในห้องพิจารณาคดีด้วยตัวเอง แต่ได้ยินอานนท์ปราศรัยตอนหนึ่งว่า ระหว่างพิจารณาถอนประกันคดีของอานนท์ ศาลรับโทรศัพท์ที่มีคนโทรเข้ามา ซึ่งเขาก็เชื่อว่าอานนท์น่าจะพูดความจริงเพราะอานนท์ปราศรัยต่อสาธารณะ กรณีนี้หากเกิดขึ้นจริงมีคำถามว่าศาลทำผิดกฎเสียเองหรือเปล่าเพราะประชาชนทั่วไปไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้โทรศัพท์ในห้องพิจารณาคดีระหว่างที่มีการพิจารณาคดี 

รัษฎากล่าวต่อไปว่าในวันที่มีการพิจารณาคดีของอานนท์และภาณุพงศ์ ศาลมีการออกข้อกำหนดห้ามนำโทรศัพท์เข้าไปในบริเวณศาล ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าปัจจุบันนี้โทรศัพท์มือถือไม่ได้ใช้แค่โทร หากแต่ใช้ทำงานจัดการอื่นๆ สำหรับทนายความอย่างเขาก็ใช้บันทึกวันนัดความและบางกรณีก็อาจมีลูกความติดต่อเรื่องทางคดีเร่งด่วนเข้ามา แต่ศาลกลับออกข้อกำหนดไม่ให้นำโทรศัพท์เข้ามาในห้องพิจารณาคดี ซึ่งตัวเขาในฐานะทนายความก็ยืนยันไปว่าเขาทราบดีเรื่องการห้ามบันทึกภาพหรือเสียงภายในศาล และยินดีปฏิบัติตาม สุดท้ายเขาจึงนำโทรศัพท์เข้าไปได้ รัษฎาระบุว่าการออกข้อกำหนด ซึ่งหากฝ่าฝืนจะเป็นการละเมิดอำนาจศาล จำเป็นต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์เบื้องต้นด้วย เช่นศาลห้ามบันทึกภาพและเสียงในคดีก็เพื่อคุ้มครองบุคคลที่อยู่ในห้องพิจารณาคดี และเพื่อคุ้มครองไม่ให้มีการบันทึกคำพยานไปให้พยานฝ่ายเดียวกันปากต่อไปฟังอันอาจกระทบต่อรูปคดี แต่การห้ามถึงขั้นห้ามนำโทรศัพท์เข้าห้องพิจารณาอาจเป็นการออกข้อกำหนดที่กว้างขวางเกินไป 

ในส่วนของการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนกับการละเมิดอำนาจศาล รัษฎาระบุว่าศาลที่รู้หลักการจะไม่ห้ามการจดเพียงแต่อาจจะเตือนสื่อไปว่าการรายงานหากมีลักษณะบิดเบือนหรือมีการเปิดเผยคำพยานในรายละเอียดจนอาจกระทบสิทธิทางคดีของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อาจเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลและเป็นความรับผิดชอบของตัวสื่อเอง แต่ศาลบางองค์คณะก็อาจใช้อำนาจสั่งห้ามจดเสียทีเดียวซึ่งการสั่งเช่นนั้นก็จะกระทบการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อรวมทั้งอาจกระทบสิทธิของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลพื้นฐานของคดีที่อยู่ในความสนใจของสาธารณชน เช่น มีพยานคนใดมาบ้าง จะมีนัดพิจารณาต่อไปเมื่อใด 

รัษฎาระบุด้วยว่าศาลไทยดูจะมีความกังวลเรื่องความเป็นอิสระและการวิพากษ์วิจารณ์ที่อาจถูกมองว่าเป็นการกดดันหรือครอบงำจากภายนอก แต่ก็มีคำถามถึงความเป็นอิสระภายในศาลเอง ดังกรณีของผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ ที่ท่านระบุว่าท่านพิพากษายกฟ้องจำเลยเพราะมีความสงสัยในพยานหลักฐานตามสมควร แต่เมื่อส่งสำนวนไปให้ผู้ใหญ่ตรวจกลับถูกปรับแก้ในสาระสำคัญซึ่งที่จริงแล้วผู้บังคับบัญชาหรือผู้พิพากษาอาวุโสอาจให้คำแนะนำหรือความเห็นในการปรับแก้ได้ แต่ไม่ใช่มาตัดสินเองซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้ก็ไม่แปลกที่ศาลจะถูกตั้งคำถามว่าผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนตัดสินคดีด้วยความอิสระไปตามพยานหลักฐานจริงหรือไม่ ซึ่งสุดท้ายผู้พิพากษาท่านนี้ก็ตัดสินใจใช้อาวุธปืนทำร้ายตัวเองจนเสียชีวิต

รัษฎาระบุว่า เท่าที่ตัวเขาเองเคยมีประสบการณ์มาก็มีอยู่บ้างที่ศาลเองแสดงบทบาทในฐานะเสาหลักและที่พึ่งของประชาชน เช่น กรณีประชาชนไปชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้งแล้วถูกฟ้องคดีมาตรา 116 ซึ่งสุดท้ายศาลก็พิพากษาว่าจำเลยไม่มีความผิดเพราะการเรียกร้องการเลือกตั้งเป็นการเรียกร้องตามรัฐธรรมนูญ จะเป็นความผิดตามมาตรา 116 ได้อย่างไร รวมถึงคดีแจกเอกสารรณรงค์ประชามติที่จังหวัดราชบุรีซึ่งศาลยกฟ้องจำเลยที่ถูกจับดำเนินคดีเพียงเพราะไปรณรงค์คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญซึ่งทุกวันนี้ก็เห็นกันว่าเป็นปัญหา 

You May Also Like
อ่าน

กสม.ชี้หน่วยงานรัฐไทยเอี่ยวใช้สปายแวร์เพกาซัส ชงครม.สั่งสอบ-เรียกเอกสารลับ

กสม. เชื่อว่า มีการใช้สปายแวร์ เพกาซัสละเมิดสิทธิจริง โดยพิจารณาจากความน่าเชื่อถือของการตรวจสอบทางเทคนิคคอมพิวเตอร์ และบริบทแวดล้อมในต่างประเทศ นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า หน่วยงานรัฐไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้สปายแวร์
อ่าน

ขนุน สิรภพ “คงแค่ยิ้มสู้” ระหว่างศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัวในคดีมาตรา 112

ขนุน สิรภพ “คงแค่ยิ้มสู้” ระหว่างศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัวในคดีมาตรา 112 . สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ หรือขนุน นิสิตรัฐศาสตร์จากมศว จำเลยในคดีมาตรา 112 จากการกล่าวปราศรัยระหว่างการชุมนุม #ม็อบ18พฤศจิกา . 25 มีนาคม ที่ผ่านมาศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษา จำคุก 3 ปี แต่เนื่องจากการนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง ศาลจึงลดโทษหนึ่งในสามคงจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา . จนถึงวันนี้(4 เมษายน 2567) เป็นเวลา 10 วันแล้วที่ศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัว