Reflection from Prison: เมื่อกระบวนการยุติธรรมไม่เหมือนในตำรา ‘บีม’ บัณฑิตกฎหมายเล่าประสบการณ์ถูกคุมขัง

“ศาลบอกว่าพวกเราไม่ได้มีเหตุผลใหม่ในการคัดค้านฝากขัง หากไปดูตามกฎหมาย เหตุในการคัดค้านฝากขังมันก็มีอยู่แค่นั้น … ตอนที่ศาลให้ฝากขังต่อ เราคุยกันว่าถ้ากระบวนการยุติธรรมเป็นแบบนี้ก็น่าจะอยู่กันยาวๆ 5 ผัด แต่อยู่ดีๆ ศาลอุทธรณ์ก็สั่งปล่อย ยอมรับว่าดีใจ แต่พี่ไผ่ (ดาวดิน) ยังอยู่ข้างใน … มันสะเทือนใจ”

‘บีม’ บัณฑิตนิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น หนึ่งในผู้ถูกจับจากการสลายการชุมนุมคณะราษฎรอีสานนำโดยไผ่ ดาวดิน เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2563 เปิดใจหลังได้รับอิสรภาพจากการถูกคุมขังในเรือนจำเป็นเวลา 6 วัน

“ผมเป็นคนจันทบุรีแต่ไปเรียนนิติศาสตร์ที่ มข. เรียนจบมาเกือบปีแล้ว ตอนนี้กลับมาอยู่บ้านทำงานฟรีแลนซ์เพื่อรอสอบทนาย พอผมรู้ว่าจะมีม็อบวันที่ 14 ต.ค. เลยติดต่อกับไผ่ ดาวดิน ที่เป็นรุ่นพี่ว่าจะมาช่วย ตัวผมไม่เคยเป็นสมาชิกกลุ่มดาวดินแต่สนิทกัน เคยลงพื้นที่ด้วยกันช่วงปี 58 ช่วงปี 62 หลังเลือกตั้งก็ไปช่วยจัดกิจกรรม ‘บัตรเขย่ง เราขยับ’ ที่ขอนแก่น”

“ก่อนหน้านี้ผมเป็นพวกไม่สนใจการเมือง เริ่มออกมาเคลื่อนไหวเพราะรู้สึกว่ามันมีความไม่ชอบมาพากลในกระบวนการยุติธรรม คดีทั่วไปเป็นไปตามระบบ แต่พอเป็นคดีการเมืองไม่ใช่แบบนั้น อย่างคดี 112 พอพี่ไผ่โดนมันกระตุ้นผมว่า ทำไมพี่กูโดน ไม่ได้ทำอะไรเลย แค่แชร์เฟซบุ๊กติดคุก 2 ปีทั้งที่ไม่ใช่อาชญากร”

“ผมมาล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 13 เพราะรุ่งขึ้นจะเป็นการชุมนุมใหญ่ที่คนมาจากทั่วประเทศ คนต่างจังหวัดบางส่วนจะมาก่อนล่วงหน้า เลยตั้งใจมารอมวลชน อยากมาช่วยดูแลเขาก่อน”

“เรากำลังจับจองพื้นที่กางเต็นท์แล้วก็มีเวทีปราศรัย เริ่มปราศรัยไปได้พักเดียวตำรวจชุดน้ำเงินก็เริ่มบีบเข้ามา ตอนนั้นผมอยู่ใกล้รถเครื่องเสียงของกลุ่มที่มาจากเมืองนนท์ ยืนเป็นแถวกับเพื่อนล้อมเวทีไว้ ผมบอกกับตำรวจที่ล้อมว่าขอให้พี่ตำรวจใจเย็น ผมกับเพื่อนอยู่ตรงนี้เพื่อคอยช่วยให้มวลชนสงบลง แต่ดูจากท่าทีแล้วเจ้าหน้าที่เหมือนจะสลายให้ได้ ผมเห็นว่าตำรวจมาจากทุกทาง เราพยายามป้องกันอย่างสันติก็คือใช้ตัวบัง”

“ตำรวจที่บีบเข้ามาบอกว่า พี่ไม่ทำอะไรน้องหรอก พี่ทำตามหน้าที่ เข้าใจพี่นะ พี่อยู่ฝั่งน้อง แต่พอมีคนที่เหมือนจะเป็นเจ้านายเดินมาด้านหลังบอกให้ จับมัน จับมัน ตำรวจคนเดิมก็พูดว่า จับแม่งเลย จับแม่งเลย ผมรู้สึกเฟลมาก ระหว่างนั้นดันกันไปมาพักหนึ่งก่อนผมจะถูกทำให้ล้ม”

“พอล้ม ตำรวจประมาณ 6-7 คนกรูกันเข้ามาจับแขนจับขาฝั่งละ 2 คน อีกคนหนึ่งล็อคคอ เขาบอกว่าอย่าขัดขืน พอผมทำท่าจะพูดเขาก็บอกว่าหุบปาก พวกเขาเอาตัวผมไปที่รถขังผู้ต้องหาแล้วใช้เท้าถีบให้ขึ้นรถ ผมกับคนที่ถูกจับมาพยายามตะโกนถามว่าจับด้วยข้อหาอะไร ถ้าจะจับต้องแจ้งข้อหาแต่ก็ไม่มีใครตอบ สักพักหนึ่งเหมือนกับเขาล็อคไว้แล้วว่าจะจับกี่คน พอพี่ไผ่ขึ้นรถก็ปิดประตูแล้วขับรถออกไปเลย”

“ในฐานะคนเรียนกฎหมาย เหตุที่ถูกจับ ผมมองว่ามันผิดหลักที่เรียนมา กฎหมายมีรูปแบบของมันแต่เวลาเจ้าหน้าที่ใช้กฎหมายดูเหมือนจะใช้ดุลพินิจแบบเอียงข้าง ถ้าเป็นตาชั่ง ฝั่งหนึ่งขึ้นสุดอีกฝั่งลงสุด พอไปถึงกองบังคับการ ตชด.(ปทุมธานี) เราพยายามติดต่อทนายแต่สัญญาณมือถือแย่มาก คนที่พอมีสัญญาณติดต่อได้ก็รู้ว่าทนายมาแล้วแต่เข้ามาหาพวกเราไม่ได้ ไม่มีใครมาแจ้งข้อหาเรา เหมือนจับมาก่อนแล้วค่อยไปคิดว่า เฮ้ย กูจะเอามึงด้วยคดีอะไรวะ สุดท้ายผมถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่มีโทษจำคุก 2 ปี กับข้อหาตาม พ.ร.บ.ความสะอาด ซึ่งนี่ก็ไม่เหมือนที่เคยเรียนมา เพราะตำรวจจะต้องแจ้งข้อหากับเราตั้งแต่ตอนจับ พอไปถามตำรวจเขาบอกว่าพวกผมถูกจับเพราะทำความผิดซึ่งหน้า แต่พอถามว่าข้อหาอะไร เขาตอบไม่ได้ ต่อให้เป็นการจับกุมเพราะทำความผิดซึ่งหน้าก็ต้องแจ้งข้อหาเดี๋ยวนั้น แต่นี่ไม่ใช่ เหมือนเขารอธงจากนาย”

“ถ้าถามว่าถูกจับมานี่กลัวไหม ไม่กลัว แต่โกรธ เราทำอะไรผิดวะ คุณตำรวจเขาชอบพูดกับเราว่าเขาอยู่ข้างเรานะ อยู่ฝ่ายเรานะ แต่สุดท้ายก็เป็นพวกเขาที่ทำกับเรา คำพูดของพวกเขามันไม่ได้มีความหมายอะไรเลย”

“มาถึง ตชด.ก็เย็นมากแล้ว แต่เขาก็ยังไม่ยอมถอดกุญแจมือ มาถอดออกตอน 2 ชั่วโมงผ่านไป สอบปากคำจนดึก เช้าวันรุ่งขึ้นทุกคนถูกเอาตัวไปศาล พวกเรามั่นใจว่าจะได้ประกันตัวเพราะข้อหาเล็กมาก ตอนแรกเหมือนศาลจะให้ประกัน แต่ไปๆ มาๆ เกิดอะไรขึ้นก็ไม่รู้ สุดท้ายศาลสั่งไม่ให้ประกัน พวกผมตกใจกันมาก ตำรวจฝากขังพวกเราอ้างว่าจะไปก่อความวุ่นวาย กำลังหาพยานหลักฐานเลยกลัวพวกผมไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน แล้วก็กลัวหลบหนี ทนายก็โต้แย้งไปว่าสิ่งที่พวกผมทำมันเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การก่อความวุ่นวาย เป็นการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ และพวกผมมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หลายคนเป็นนักศึกษามีภาระต้องไปเรียนและสอบจึงไม่น่าจะหลบหนี แต่ศาลก็สั่งขังโดยอ้างเหตุผลของตำรวจ”

“ตอนที่รู้ว่าต้องติดคุก ผมแบบทำใจไม่ทันเลย ผมโกรธนะ คือแบบกูไม่ผิดนะ ทำไมกูต้องโดนด้วยวะ แล้วพฤติการณ์ที่เขากล่าวหาก็ไม่ได้เป็นแบบนั้นเลย กลายเป็นว่าผมต้องติดคุก ถูกจับตัดผม เสียอิสรภาพ”

“ชีวิตในคุกมันแย่ วันแรกที่เข้าไปเรือนจำพวกเราไม่ได้กินมื้อเย็น พอไปถึงเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์บอกเราว่าจะเลี้ยงอาหารพวกเรา อร่อยมาก มื้อนี้อิ่มแน่ๆ สิ่งที่เอามาให้เราคือข้าวเปล่าคนละจาน ไข่ต้มฟองหนึ่ง แล้วก็น้ำอะไรซักอย่างเหมือนเป็นพะโล้แต่ไม่ใช่ เป็นน้ำแกงสีน้ำตาลใส่น้ำตาลมาเฉยๆ พวกผมกินกันคนละสองคำกินไม่ลง”

“ช่วงที่ถูกขังต้องเข้ากักตัว 14 วัน แต่มันไม่ค่อยมีประโยชน์ เพราะต้องนอนเบียดกัน ช้อนต้องใช้วนกันหลายคนโดยล้างแค่น้ำก๊อกซึ่งอยู่ตรงที่ที่เราใช้ถ่ายหนัก ถ่ายเบา อาบน้ำ แปรงฟัน แต่ละวันเราต้องอยู่ในห้องแคบๆ เกือบ 24 ชั่วโมง ยกเว้นช่วงที่ลงไปคุยกับทนาย การขาดเสรีภาพและต้องอยู่ในห้องแคบๆ 24 ชั่วโมงมันบั่นทอนจิตใจมาก แต่ยังดีที่มีพี่ไผ่ที่คอยปลุกและให้กำลังใจพวกผม”

“พอถึงวันครบกำหนดฝากขัง พวกผมมีหวังที่จะได้ออกกัน จำได้ว่าก่อนหน้าที่จะต้องวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับศาล พวกผมทำการบ้านกันอย่างดี ดูข้อกฎหมายจากหนังสือที่มีอยู่ในห้องขังเพื่อโต้แย้งเรื่องการฝากขังต่อเป็นผัดที่ 2 พอถึงเวลาศาลแจ้งเราแบบรวบรัดว่าตำรวจขอฝากขังต่อ พวกเราจะคัดค้านกันไหม เราแถลงต่อศาลไปตามที่เตรียมตัวกันมาว่า พวกเราถูกดำเนินคดีที่มีโทษสถานเบา จำคุกสูงสุดไม่เกิน 2 ปี ไม่จำเป็นต้องฝากขัง พวกเราไม่ได้ออกไปก่อความวุ่นวายใดๆ เพราะการชุมนุมไม่ใช่การก่อความวุ่นวายแต่เป็นสิทธิเสรีภาพที่สามารถทำได้ พวกเรามีอาชีพหรือยังเรียนหนังสือ มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง แต่ศาลชั้นต้นก็สั่งให้ฝากขังต่อ พอพวกเราถามเหตุผลศาล ศาลบอกว่า พวกเราให้เหตุผลแบบเดิมๆ ไม่ได้มีเหตุผลใหม่ในการคัดค้าน หากไปดูตามกฎหมายเหตุในการคัดค้านการฝากขังมันก็มีอยู่แค่นั้น เรื่องโทษ, หลบหนี, ยุ่งกับพยานหลักฐาน”

“ตอนที่ศาลชั้นต้นให้ฝากขังต่อ เราคุยกันว่าถ้ากระบวนการยุติธรรมเป็นแบบนี้ก็น่าจะอยู่กันยาวๆ 5 ผัด เป็นเดือนแน่ๆ แต่อยู่ดีๆ ศาลอุทธรณ์ก็สั่งปล่อยตัว ยอมรับว่าดีใจ พวกเราจะมีเสรีภาพข้างนอกแล้ว แต่พี่ไผ่ยังอยู่ข้างใน เหมือนเราออกมาหมดทุกคนเหลือแกคนเดียว เราอยู่กันแบบครอบครัว เวลาใครทุกข์ใครร้อนก็จะเยียวยากัน ก็ร้องไห้อยู่ตอนรู้ว่าจะไม่ได้ออกมาด้วยกัน มันสะเทือนใจ เป็นห่วงคนข้างใน”

“พ่อแม่ผมรู้เรื่องแล้ว หนักอยู่ ผมเคยทะเลาะกับพ่อแม่ด้วยเรื่องอะไรแบบนี้มาก่อน พอรู้ว่าผมติดคุกก็โดนด่าซ้ำ เหมือนเขาตัดผมออกจากครอบครัวไปแล้ว ผมไม่โกรธเขา แต่แค้นกับระบบที่มันทำกับผมแบบนี้ พ่อแม่ผมเป็นข้าราชการครู พอผมออกมาทำอะไรเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองเขาก็จะโดนกดดันจากระบบ โดนตำรวจคุกคาม ช่วงที่ผมเริ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่จันทบุรี พอตำรวจรู้ว่าเป็นผม เขาก็โทรหาพ่อผมทุกเช้าทุกเย็น”

“สภาพจิตใจตอนนี้คือ ผมพร้อมชน มันไม่ถูกต้อง จะมีคนต้องโดนแบบผมอีกกี่คน ถ้าผมโดนแล้วบอก ‘แม่งไม่เอาแล้ว’ มันเหมือนคุณยอมต่อระบบแบบนี้ไปแล้ว ซึ่งผมเกลียดคนแบบนี้ คนที่รู้แต่ยอมทนรับระบบแย่ๆ โดยไม่ออกมาต่อสู้เรียกร้องเพื่อสิทธิของตัวเอง ผมเลยไม่อยากเป็นคนแบบที่ผมเกลียด”

———-
วันที่ 13 ตุลาคม นักกิจกรรมซึ่งส่วนหนึ่งเรียกตัวเองว่า “คณะราษฎรอีสาน” เดินทางมาตั้งเต็นท์เตรียมเข้าร่วมการชุมนุมใหญ่ของคณะราษฎรในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 หลังพวกเขาตั้งเต็นท์บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยฝั่งแมคโดนัลด์ราชดำเนินแล้วเสร็จและเริ่มตั้งเวทีปราศรัย เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ใช้กำลังเข้ารื้อเต็นท์และทำการจับกุมผู้ชุมนุมรวม 21 คน ไปควบคุมตัวที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 ปทุมธานี หนึ่งคืน 

ผู้ถูกจับกุมทั้ง 21 คน ถูกตั้งข้อกล่าวหารวม 10 ข้อกล่าวหา ได้แก่ 

  • ชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่ 10 คน ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง, ร่วมกันทําให้เสียทรัพย์, ไม่ปฏิบัติตามคําสั่งเจ้าพนักงาน, ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะจนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร, ร่วมกันใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ  ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215, 358, 368, 385, 391 ตามลำดับ  
  • ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชุมนุมทำกิจกรรมในลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค
  • กระทำการซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายแพร่ระบาดออกไป ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 (6)
  • ร่วมกันวาง ตั้ง ยื่น หรือแขวนสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 114
  • ร่วมกันขูด กระเทาะ ขีด เขียน พ่นสี บนพื้นถนน, ร่วมกันตั้ง วาง หรือกองวัตถุใดๆ บนถนน ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 12, 19 ตามลำดับ
  • ขณะที่จตุภัทร์หรือ ไผ่ ดาวดิน ถูกตั้งข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 เพิ่มเติมอีกข้อหาหนึ่ง

ในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ซึ่งเป็นวันที่คณะราษฎรนัดชุมนุมใหญ่ ผู้ต้องหา 19 คน ไม่รวมจตุภัทร์ หรือไผ่ ดาวดิน ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่นที่ถูกดำเนินคดีในศาลอาญาและผู้ต้องหาเยาวชนอีกหนึ่งคนที่ถูกดำเนินคดีในศาลเยาวชน ถูกนำตัวไปที่ศาลแขวงดุสิตเพื่อขออำนาจศาลฝากขัง ซึ่งศาลมีคำสั่งให้ฝากขังตามคำร้องของพนักงานสอบสวนและไม่อนุญาตให้ผู้ต้องหาทั้งหมดประกันตัวโดยอ้างเหตุว่าผู้ต้องหามีพฤติการณ์รุนแรงและต่อสู้กับเจ้าพนักงาน ผู้ต้องหาทั้ง 19 คนถูกฝากขังเป็นเวลา 6 วัน ก่อนจะได้รับการประกันตัวในวันที่ 19 ตุลาคม 2563 เบื้องต้นศาลแขวงดุสิตไม่อนุญาตให้ผู้ต้องหาทั้ง 19 คน ประกันตัว แต่ทั้งหมดอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ประกันตัวผู้ต้องหาทั้งหมดในวันเดียวกัน