Reflection from Prison: ประสบการณ์ 6 วันในเรือนจำของ ‘ฟ้า’ นักศึกษาหญิงผู้ถูกจับพร้อมคณะราษฎรอีสาน

“มันเป็นจุดตกต่ำที่สุดในชีวิตของหนูเลย ได้แต่ถามตัวเองว่าทำไมต้องเจออะไรแบบนี้ แค่ออกมาเรียกร้องสิทธิ เรียกร้องสังคมที่ดีกว่า ตอนที่ปล่อยตัว ที่บ้านก็ไม่ได้มารอรับหนูนะ คุยกับแม่ทีหลังเขาบอกว่าอย่าไปทำอะไรแบบนี้ได้มั้ย หนูบอกว่าเรื่องอื่นหนูยินดีทำให้ เรื่องเรียนหรือเรื่องอะไรก็แล้วแต่ แต่เรื่องอุดมการณ์มันคงไม่ได้จริงๆ และมันเป็นทางที่หนูเลือกเอง“

‘ฟ้า’ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง หนึ่งในผู้ถูกจับจากการสลายการชุมนุมคณะราษฎรอีสานนำโดยไผ่ ดาวดิน เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2563 เปิดใจหลังได้รับอิสรภาพจากการถูกคุมขังในเรือนจำเป็นเวลา 6 วัน

“วันที่ 13 ตุลาคม หนูกับพี่ๆ ในเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตยไปที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วันนั้นยังไม่ใช่วันชุมนุมใหญ่แต่ทางเครือข่ายฯ อยากไปให้กำลังใจพี่น้องที่มาชุมนุมและมาตั้งเต็นท์ล่วงหน้า ตอนแรกหนูก็ไม่ได้ตั้งใจจะอยู่ยาวแต่พอช่วงบ่ายพี่ไผ่ (ไผ่ ดาวดิน) ขึ้นเวที หนูกับพี่ๆ ในเครือข่ายก็เลยอยู่ต่อ ไปๆ มาๆ พอตำรวจเขาร่วมกระชับวงล้อมเวทีหนูก็เลยมายืนคล้องแขนเป็นโล่มนุษย์ด้านหน้าเวทีกับเขาด้วย เนื่องจากตอนนั้นคนน้อยมากจริงๆ“

“ตอนแรกที่ตำรวจควบคุมฝูงชนใส่ชุดกันฝนสีส้มๆ ล้อมรถเวที หนูก็ยังไม่ได้รู้สึกกลัวอะไรมาก ระหว่างนั้นตำรวจก็พยายามบอกให้เราถอย พวกเราก็ได้แต่ตอบไปว่าเราไม่ได้ทำอะไรหรือจะบุกไปไหนเลย หลังจากนั้นตำรวจอีกชุดหนึ่งที่สวมชุดสนามสีน้ำเงินทำท่าจะดันเข้ามา ตอนนั้นที่หนูเริ่มกลัว ตำรวจชุดหนึ่งแบ่งกำลังไปรื้อเต็นท์ที่กางไว้ พวกเราก็พะว้าพะวังเพราะหลายคนวางของไว้ที่เต็นท์จนมีส่วนหนึ่งไปที่เต็นท์ คนที่อยู่ตรงรถเวทีก็เหลือน้อยลง เรายื้อกันไปมาตรงนั้นประมาณครึ่งชั่วโมงได้ จริงๆ ตำรวจที่ใส่ชุดกันฝนสีส้มเขาไม่ได้มีท่าทีที่รุนแรงกับพวกเรา ดูจากสีหน้าเหมือนบางคนก็ไม่ได้อยากจะเข้ามาทำอะไรพวกเรา แต่ก็มีคนที่น่าจะเป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบด้านหลังและเจ้าหน้าที่บางคนที่บอกให้ดันไปเลย แล้วสุดท้ายก็มีพวกเราส่วนนึงถูกจับตามข่าว“

“ตอนที่เขาเริ่มจับยอมรับว่าตอนนั้นไม่ได้คิดว่าตัวเองจะโดนด้วย เพราะหนูเองไม่ได้มีบทบาทอะไร และไม่เคยขึ้นปราศรัยเลย แต่ที่ไปยืนคล้องแขนกับเขาด้านล่างรถเวทีเป็นเพราะสถานการณ์ตอนนั้นมันถอยไม่ได้แล้ว แล้วตำรวจก็มาจับพี่คนหนึ่งที่คล้องแขนกับหนู หนูพยายามล็อกพี่เขาไว้ไม่ให้ตำรวจเอาไป ยื้อกันอยู่สักพักเหมือนเขาหมดความอดทนก็เลยมากระชากแขนหนูอีกข้างเลยโดนไปพร้อมกัน ตำรวจที่จับหนูเป็นผู้ชายแต่เขาก็ไม่ได้ทำอะไรหนู ได้แต่บอกว่าอย่าขัดขืนแล้วก็จับแขนหนูไว้ คงเป็นเพราะหนูไม่ได้ขัดขืนก็เลยไม่โดนอะไรเหมือนพี่ๆ ผู้ชายบางคนที่น่าจะมีกระทบกระทั่งกับตำรวจระหว่างถูกจับ” 

“รถตำรวจที่ใช้คุมตัวพวกเราอยู่ห่างออกไปจากจุดที่หนูถูกจับไม่มาก จำได้ว่าถูกจับแป๊ปเดียวก็มาถึงรถแล้ว หนูคิดว่าเขาตั้งใจจับพี่ไผ่ (จตุภัทร์หรือไผ่ ดาวดิน) เพราะพอพี่ไผ่มาที่รถเขาก็ปิดประตูแล้วออกรถไปเลย”

“พอไปอยู่ที่รถตอนแรกจำได้ว่าตัวเองรู้สึกกลัวมาก ใจเต้นแรงมาก แต่บนรถนอกจากหนูก็ยังมีพี่ๆ แล้วก็มีคนที่ดูมีอายุ 2 คนเป็นผู้หญิง 1 คน ผู้ชาย 1 คนรวมเป็น 19 คน แล้วก็มีตำรวจในชุดสีน้ำเงิน 2 คนนั่งอยู่ด้วย บนรถพี่ๆ ผู้ชายถูกใส่กุญแจมือที่เป็นพลาสติก ส่วนหนูกับพี่ผู้หญิงที่มาจากขอนแก่นแล้วก็คุณป้าอีกคนไม่ได้ใส่ พวกพี่ๆ พยายามถามตำรวจว่าจะเอาพวกเราไปที่ไหน แต่ตำรวจที่อยู่บนรถก็ไม่ยอมตอบอะไรพวกเราเลย แล้วพี่ไผ่กับพี่ๆ ในเครื่อข่ายฯ ก็ไลฟ์เฟซบุ๊กกันช่วงที่รถกำลังวิ่ง ตำรวจที่นั่งอยู่ข้างหลัง 2 คนก็ไม่พูดอะไรเลยว่าจะพาไปไหน ทำอะไร จับเพราะอะไร“

“ตอนนั้นมีหลายอารมณ์ความรู้สึก ทั้งเครียด ทั้งกลัว แต่พอหันไปเห็นพวกพี่ๆ ที่รู้จัก ก็รู้สึกสงบขึ้น บอกตัวเองว่าต้องอดทน เพราะรู้อยู่แล้วว่าการมาอยู่ตรงนี้ (มาร่วมชุมนุม) ถึงจุดจุดนึงมันก็มีโอกาสจะโดนจับหรือโดนคดี“

“พวกเราอยู่บนรถตำรวจประมาณชั่วโมงเศษๆ ก็มาถึง ตชด.ในเวลาประมาณ 5 โมงเศษ พอมาถึงทุกคนถูกเอาตัวมาอยู่รวมกันในห้องที่เป็นคล้ายห้องโถงใหญ่ห้องหนึ่ง รอในห้องนั้น พี่ๆ ผู้ชายที่ถูกใส่กุญแจมือก็ยังถูกใส่กุญแจมือต่อไปกระทั่งเวลาผ่านไปประมาณ 1-2 ชั่วโมงเขาถึงมาถอดออกให้ ระหว่างที่อยู่ในห้องพวกเราไม่ได้ถูกยึดโทรศัพท์ ทำให้ยังพอติดตามข่าวสารจากข้างนอกได้ เลยได้รู้ว่าจริงๆ ทนายมาแล้วแต่เขายังไม่สามารถเข้ามาพบพวกเราได้ แล้วก็ได้รู้ข้อหาต่างๆ ที่เจ้าหน้าที่เตรียมจะดำเนินคดีกับเรา แต่กลับไม่มีเจ้าหน้าที่แจ้งเราเลยว่าถูกควบคุมตัวเพราะอะไร“

“กระทั่งเวลาประมาณ 5 ทุ่มหรือเที่ยงคืนเขาถึงเรียกพวกเราไปสอบสวน ห้องที่ใช้สอบสวนเป็นห้องโถงอีกห้องหนึ่ง ตำรวจเอาโต๊ะมาตั้งเรียงๆ กันแล้วแยกพวกเราไปสอบตามโต๊ะ ตอนที่สอบสวนก็มีทนายมานั่งข้างๆ ตำรวจแจ้งสิทธิแล้วก็ทำไปตามขั้นตอน เราให้การปฏิเสธอย่างเดียว ตอนนั้นหัวมันแบลงค์ไปหมด ไม่ใช่กลัวนะเพราะมันเลยจุดนั้นไปแล้ว ตอนที่นั่งสอบมีพี่ทนายอยู่ใกล้ๆ ก็รู้สึกสบายใจ หลังสอบปากคำเสร็จตำรวจก็ให้ไปพิมพ์ลายนิ้วมือกับถ่ายรูปทำประวัติ หนูไม่อยากพิมพ์เลยเพราะมันเหมือนว่าเราเป็นอาชญากรไปแล้วทั้งๆ ที่เราก็แค่เรียกร้องสิทธิของเรา“

“ตำรวจสอบปากคำหนูเสร็จประมาณตี 2 พี่บางคนเขาก็นอนกันหลังสอบปากคำเสร็จ หนูพยายามนอนแต่ก็ไม่หลับ จากนั้นพวกเราถูกพาตัวมารอที่ศาลตั้งแต่เช้า อยู่ที่ศาลจนค่ำ เวลาหมดไปกับการรอ รอจนเกือบหลับไปก็มี ตอนแรกไม่ได้กลัวอะไรเพราะข้อหานี้ไม่ใช่ข้อหาร้ายแรง อีกอย่างเราก็ไม่ได้ทำอะไรผิด ยังไงก็น่าจะได้ประกัน เชื่อแบบนั้น แล้วพอเข้ากระบวนการของศาล ตอนแรกก็เหมือนจะได้ประกันแล้วนะ แต่สุดท้ายศาลก็มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว พอได้ยินอย่างงั้นหนูก็ตกใจ อึ้งและโกรธมาก รู้สึกเลยว่าเราไม่ได้รับความยุติธรรม แล้วความรู้สึกอื่นๆ มันก็ประเดประดังเข้ามาเต็มไปหมด ทั้งกังวลว่าเข้าไปข้างในจะเป็นยังไง กังวลเรื่องเรียน แล้วก็เรื่องที่บ้าน หนูไม่ได้บอกเรื่องที่ตัวเองโดนจับหรือเรื่องที่จะถูกขังด้วยหลายๆ เหตุผล ทั้งกลัวเขาจะเป็นกังวล กลัวเขาจะโกรธ กลัวว่าเขาจะห้ามเราทำกิจกรรมอีกในอนาคต แต่ก็เชื่อว่าที่บ้านคงรู้อยู่แล้วเพราะเรื่องนี้เป็นข่าวดัง“

“เสร็จจากศาลมันก็ค่ำแล้ว พอรู้ว่าต้องไปเรือนจำก็ต้องเอาของมีค่าและโทรศัพท์ฝากพี่ทนายไว้ รถของเรือนจำแบ่งเป็น 2 ตอนมีลูกกรงกั้น หนูกับพี่ผู้หญิงจากขอนแก่นและคุณป้าอีกคนหนึ่งนั่งอยู่ตอนหน้า ส่วนพี่ผู้ชายอยู่ด้านหลัง พวกเราตะโกนคุยเพื่อปลุกขวัญกำลังใจกันตลอด เราตะโกน ‘ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎรจงเจริญ’ แล้วก็ท่องบทกลอนที่เกี่ยวกับเสรีภาพและประชาธิปไตยไปตลอดทาง”

“ความรู้สึกตอนนั้นไม่รู้จะอธิบายยังไง ได้แต่บอกตัวเองว่ายังไงก็ต้องเข้มแข็ง เข้มแข็งเท่านั้น รถเรือนจำวนไปส่งผู้ชายก่อน จากนั้นพวกเราที่เหลืออีก 3 คนก็ถูกพามาที่เรือนจำหญิง พอเห็นประตูเรือนจำตอนนั้นทั้งเครียดทั้งกลัวแล้วก็รู้สึกอยากจะหนี อยากจะหายตัวไปจากตรงนั้น แต่ก็ต้องตั้งสติให้ได้“

“พอเข้าเรือนจำเราก็ต้องเอาของทั้งหมดไปฝาก เจ้าหน้าที่นำผ้าถุงมาให้เรานุ่งแล้วถอดเสื้อผ้าที่เราใส่มาจากนอกเรือนจำต่อหน้าเขา ขั้นตอนนี้ทำในห้องที่ไม่ได้มิดชิดอะไรและทำพร้อมกันทั้ง 3 คนและจะมีเจ้าหน้าที่มาจับคู่กับพวกเราคนละคนตลอดขั้นตอน หลังเปลี่ยนเสื้อผ้าเสร็จเราถูกสั่งให้ลุกนั่ง 3 ครั้ง รู้สึกแย่นิดหน่อยค่ะที่ต้องมาทำอะไรแบบนี้ อายเขา อายตัวเองด้วย เสร็จจากตรงนั้นเขาก็พาไปตรวจร่างกายและทำประวัติ กว่าจะได้อาบน้ำและขึ้นเรือนนอนก็ประมาณตี 1 แล้ว หนูกับคุณป้าถูกขังไว้ในห้องเดียวกันส่วนพี่ที่มาจากขอนแก่นถูกแยกออกไปอีกห้องนึง“

“ห้องที่หนูถูกพาไปขังมีคนที่ถูกขังอยู่ประมาณ 40 กว่าคน จากนั้นทุกๆ วันก็จะมีคนเข้าคนออกอยู่ตลอด แต่จำนวนผู้ต้องขังจะอยู่ประมาณนี้ พวกเรานอนเรียงกันเป็น 3 แถว ต้องนอนตะแคงแล้วก็ต้องงอขา ไม่อย่างงั้นเท้าเราจะไปโดนคนที่นอนแถวถัดไป คนที่เข้าเรือนจำใหม่ช่วงนี้จะถูกกักตัว 14 วัน ตามมาตรการป้องกันโควิด เราไม่ได้รับอนุญาตให้ออกจากห้องขัง ยกเว้นช่วงที่ไปอาบน้ำและพบทนาย แล้วก็ไม่ได้รับอนุญาตให้พบญาติ“

“เอาเข้าจริงหนูว่าการกักตัวแทบไม่มีประโยชน์อะไรเลย อย่างแรกในห้องขังมันแออัดมาก ต้องนอนติดกันเพราะฉะนั้นลืมเรื่องเว้นระยะห่างไปได้เลย ส่วนการใช้น้ำล้างมือก็เป็นถังน้ำที่อยู่ตรงส้วม น้ำที่นี่จะไหลเฉพาะเวลากลางวันเท่านั้น พวกเราจะต้องรองน้ำให้เต็มก่อนมืดแล้วพอตกกลางคืน ผู้ต้องขังที่เป็นหัวหน้าห้องหรือ “แม่ห้อง” จะสั่งพวกเราว่าให้ใช้น้ำได้แค่คนละครึ่งขันเท่านั้นไม่อย่างงั้นคนที่ทำธุระกลางดึกจะไม่มีน้ำใช้“

“หนูถูกขังในเรือนจำทั้งหมด 6 วัน ถ้าถามว่าเรื่องอะไรที่รู้สึกแย่หรือรับไม่ค่อยได้ หลักๆ จะมีอยู่ 3 อย่าง เรื่องแรกคือการอาบน้ำที่เขาให้เวลาแค่คนละ 15 วินาที เรียกว่าถ้าถูสบู่ทั้งตัวก็ล้างออกไม่ทัน พี่ที่เป็นผู้ช่วยผู้คุมเขาก็ช่วยด้วยการจัดให้หนูเป็นคิวแรกๆ แล้วนับ 1-15 ช้ากว่าคนอื่นนิดหน่อย หนูเองเพิ่งเข้าไปอยู่ในเรือนจำยังไม่ได้บัตรประจำตัวซึ่งเอาไว้ใช้ซื้อของกินของใช้ก็เลยซื้อผ้าเช็ดตัวหรือผ้าถุงไม่ได้ เวลาอาบน้ำต้องอาศัยผ้าถุง กองกลางที่มีคนใช้อาบเสร็จแล้วทิ้งไว้มานุ่งอาบน้ำต่อ เสร็จแล้วก็ต้องสวมเสื้อผ้าทับผ้าถุงเพื่อผลัดผ้ากลายเป็นว่าต้องใส่เสื้อผ้าชื้นๆ ผู้ต้องขังที่ไม่ค่อยมีเงินเลยมักมีปัญหาเป็นผื่นหรือโรคผิวหนัง เนื่องจากเวลาอาบน้ำไม่พอและอับชื้น”   

“เรื่องที่สองคืออาหาร ที่นี่มันจะมีกลิ่นเหม็นฉุนบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นกับข้าวประเภทไหนก็จะมีกลิ่นแบบนั้นติดมา จะกินไม่หมดก็ไม่ได้เพราะถ้ามีคนในห้องกินไม่หมดเขาจะไม่ให้เติมอาหารในมื้อถัดไป คนที่กินเยอะเขาก็จะกินไม่พอ หนูเลยต้องฝืนกินให้หมดไป อีกอย่างคือเราจะได้รับแจกช้อนพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งมา 1 อัน แต่หนูต้องเอากลับมาล้างแล้วใช้ช้อนนั้นกินข้าวทุกมื้อ น้ำที่ใช้ล้างก็คือน้ำในส้วมนั่นแหละ“

“เรื่องที่สามคือการขับถ่าย เชื่อไหมว่าหนูไม่ถ่ายหนักเลยตลอดเวลาที่อยู่ในนั้น 6 วันแล้วก็ถ่ายเบาทั้งหมดแค่ 3 ครั้ง ยังแอบคิดอยู่ว่าถ้าต้องถูกฝากขังต่อมันจะเป็นยังไง“

“อีกเรื่องที่หนูติดใจมากๆ คือการปฏิบัติของผู้คุม ในเรือนจำเราจะต้องเรียกผู้คุมว่า “คุณ” ทุกครั้งที่คุณเดินผ่านเราจะต้องย่อตัว หนูก็แบบอิหยังวะมาก หนูไม่อยากจะย่อเลยเพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่ใช่ทาส แต่ถ้าไม่ทำก็อาจมีบทลงโทษตามมาเลยต้องยอม“

“สำหรับกิจวัตรประจำวัน เราจะถูกปลุกมาตอนตี 5 เพื่อสวดมนต์ จากนั้นนอนต่อได้นิดหน่อย แล้วก็ไปอาบน้ำเคารพธงชาติ กินข้าว แล้วก็อยู่ในห้องนั้นทั้งวัน ตั้งแต่ถูกควบคุมตัวหนูกับอีก 2 คนที่ถูกจับจากการชุมนุมถูกสั่งห้ามพูดคุยหรือมีปฏิสัมพันธ์กับนักโทษคนอื่น ผู้คุมคงกลัวเราไปปลุกระดมคนในนั้น มันตลกแล้วก็ดูเป็นคำสั่งที่ประหลาดมากๆ แต่เราก็ต้องทำตาม เวลาผู้ต้องขังคนอื่นจะมาคุยด้วย หนูต้องหันหลังใส่กล้องแล้วทำปากขมุบขมิบเอา หนูไม่ใช่คนที่พูดเยอะ เป็นพวก introvert ไม่ชอบสุงสิงกับใครมากเลยพอจะจัดการอารมณ์ความรู้สึกตัวเองจากการถูกสั่งห้ามพูดคุยกับคนอื่นได้“

“พอคุยกับใครไม่ได้ สิ่งที่ยากที่สุดคือต้องจัดการตัวเองจากความคิดฟุ้งซ่าน บางทีหนูก็ใช้วิธีร้องเพลงเงียบๆ ในใจ แต่ละวันหนูจะนั่งดูนาฬิกาให้มันผ่านไปจนถึงเวลาที่ได้พบทนาย เพราะนั่นจะเป็นเวลาที่เรามีโอกาสได้รับรู้ข่าวสารจากโลกภายนอกและได้คุยกับคนอื่น หนูยังแอบคิดอยู่เหมือนกันว่า ถ้าพี่ๆ ทนายไม่ได้มาเยี่ยมเลยหนูคงอึดอัดไม่น้อย“

“พอครบ 6 วันหนูก็เฝ้ารอด้วยความหวังว่าเราน่าจะได้ออก แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะได้ปล่อยตัวมั้ย พอถึง 6 โมงเย็นมีเจ้าหน้าที่เข้ามาหาที่ห้อง เอาเอกสารมาให้เซ็นรับทราบว่าเขาจะฝากขังต่อ ตอนนั้นเครียดมาก จิตตก คือแบบเราทนมาได้ 6 วัน แต่ถ้าต้องอยู่ต่อมันคงไม่ไหวแล้ว สภาพจิตใจมันย่ำแย่จนไม่รู้จะบรรยายออกมายังไง แต่พอ 2 ทุ่มเขาก็มาบอกว่าตกลงจะได้ปล่อยตัวนะ ตอนนั้นคือแทบจะกรี๊ดออกมาเลย“

“ถามว่า 6 วันร้องไห้บ้างไหม หนูร้องไห้แบบหนักมากอยู่ครั้งเดียวคือ ช่วงบ่ายวันที่ 15 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันที่อยู่เรือนจำแบบเต็มวันเป็นครั้งแรก มีผู้คุมคนหนึ่งเรียกให้หนูกับคุณป้าที่ถูกจับมาด้วยกันไปคุยที่ห้องทำงาน ตอนนั้นหนูเก็บความรู้สึกอะไรหลายๆ อย่างเอาไว้ พอเขาถามว่าเป็นไงบ้างเท่านั้นแหละ ร้องเลย ความรู้สึกมันท่วมท้น หนูร้องออกมาจนหมด จากนั้นก็ไม่ร้องอีกเลย“

“มันเป็นจุดตกต่ำที่สุดในชีวิตของหนูเลย ได้แต่ถามตัวเองว่าทำไมต้องเจออะไรแบบนี้ แค่ออกมาเรียกร้องสิทธิ เรียกร้องสังคมที่ดีกว่า ตอนที่ปล่อยตัว ที่บ้านก็ไม่ได้มารอรับหนูนะ คุยกับแม่ทีหลังเขาบอกว่าอย่าไปทำอะไรแบบนี้ได้มั้ย หนูบอกว่าเรื่องอื่นหนูยินดีทำให้ เรื่องเรียนหรือเรื่องอะไรก็แล้วแต่ แต่เรื่องอุดมการณ์มันคงไม่ได้จริงๆ และมันเป็นทางที่หนูเลือกเอง“

“พูดถึงเรื่องครอบครัวหนูนึกย้อนไปถึงตอนอยู่ในเรือนจำ เราได้เห็นวิธีคิดและอคติของเจ้าหน้าที่ ตอนซักประวัติเขาจะถามเรื่องส่วนตัวโดยเฉพาะเรื่องครอบครัวเราเยอะมาก ทั้งที่บางคำถามเรากรอกเอกสารไปแล้ว แล้วก็ยังมาพูดอีกว่า ทำแบบนี้แม่จะเสียใจมั้ย ทำอะไรคิดเยอะๆ บ้างนะ อะไรทำนองนี้ เราก็ได้แต่คิดว่ามันไม่ใช่เรื่องของคุณที่จะมาพูดแบบนี้กับเรา แถมยังพูดอีกว่าระวังนะมาติดคุกแบบนี้จะหางานลำบาก เรื่องนี้เราคุยกับพี่ๆ นักกฎหมายแล้วว่าคดีแบบนี้มันคือคดีการเมือง ไม่น่าจะมีผลกระทบกับการทำงาน เพราะเราไม่ได้ไปก่ออาชญากรรมอะไร ส่วนถ้าองค์กรไหนจะไม่รับเราเพราะเหตุผลแบบนี้ เราคิดว่าเราคงไม่อยากอยู่ในองค์กรที่นิยมหรือมีวิธีคิดแบบเผด็จการเหมือนกัน“

“การที่เขาเอาเราไปขังคงหวังให้เรากลัวแล้วเลิกเคลื่อนไหว แต่เขาคงไม่รู้ว่านั่นยิ่งทำให้เราโกรธ การที่เราได้มาเห็นความเหลื่อมล้ำในเรือนจำที่คนมีเงินสามารถจ้างผู้ต้องขังด้วยกันซักผ้าหรือทำอะไรให้ได้ เรายิ่งอยากสู้ต่อ เราไม่อยากปล่อยให้สังคมมันเป็นแบบนี้อีกแล้ว”

———-
วันที่ 13 ตุลาคม นักกิจกรรมซึ่งส่วนหนึ่งเรียกตัวเองว่า “คณะราษฎรอีสาน” เดินทางมาตั้งเต็นท์เตรียมเข้าร่วมการชุมนุมใหญ่ของคณะราษฎรในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 หลังพวกเขาตั้งเต็นท์บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยฝั่งแมคโดนัลด์ราชดำเนินแล้วเสร็จและเริ่มตั้งเวทีปราศรัย เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ใช้กำลังเข้ารื้อเต็นท์และทำการจับกุมผู้ชุมนุมรวม 21 คน ไปควบคุมตัวที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 ปทุมธานี หนึ่งคืน 

ผู้ถูกจับกุมทั้ง 21 คน ถูกตั้งข้อกล่าวหารวม 10 ข้อกล่าวหา ได้แก่ 

  • ชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่ 10 คน ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง, ร่วมกันทําให้เสียทรัพย์, ไม่ปฏิบัติตามคําสั่งเจ้าพนักงาน, ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะจนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร, ร่วมกันใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ  ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215, 358, 368, 385, 391 ตามลำดับ  
  • ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชุมนุมทำกิจกรรมในลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค
  • กระทำการซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายแพร่ระบาดออกไป ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 (6)
  • ร่วมกันวาง ตั้ง ยื่น หรือแขวนสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 114
  • ร่วมกันขูด กระเทาะ ขีด เขียน พ่นสี บนพื้นถนน, ร่วมกันตั้ง วาง หรือกองวัตถุใดๆ บนถนน ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 12, 19 ตามลำดับ
  • ขณะที่จตุภัทร์หรือ ไผ่ ดาวดิน ถูกตั้งข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 เพิ่มเติมอีกข้อหาหนึ่ง

ในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ซึ่งเป็นวันที่คณะราษฎรนัดชุมนุมใหญ่ ผู้ต้องหา 19 คน ไม่รวมจตุภัทร์ หรือไผ่ ดาวดิน ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่นที่ถูกดำเนินคดีในศาลอาญาและผู้ต้องหาเยาวชนอีกหนึ่งคนที่ถูกดำเนินคดีในศาลเยาวชน ถูกนำตัวไปที่ศาลแขวงดุสิตเพื่อขออำนาจศาลฝากขัง ซึ่งศาลมีคำสั่งให้ฝากขังตามคำร้องของพนักงานสอบสวนและไม่อนุญาตให้ผู้ต้องหาทั้งหมดประกันตัวโดยอ้างเหตุว่าผู้ต้องหามีพฤติการณ์รุนแรงและต่อสู้กับเจ้าพนักงาน ผู้ต้องหาทั้ง 19 คนถูกฝากขังเป็นเวลา 6 วัน ก่อนจะได้รับการประกันตัวในวันที่ 19 ตุลาคม 2563 เบื้องต้นศาลแขวงดุสิตไม่อนุญาตให้ผู้ต้องหาทั้ง 19 คน ประกันตัว แต่ทั้งหมดอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ประกันตัวผู้ต้องหาทั้งหมดในวันเดียวกัน