Reflection from Prison: ความในใจของเอ็กซ์ นักศึกษาที่ถูกคุมขังจากเหตุสลายการชุมนุมคณะราษฎรอีสาน 13 ตุลาคม 2563

“พอโดนล็อกคอผมก็โดนตำรวจกดลงพื้นไถผมไปกับพื้นและฉีกเสื้อผมถอดรองเท้าผม พอใกล้ถึงรถขังผู้ต้องหาตำรวจก็บอกกับผมว่าขึ้นๆ ไปเถอะมันไม่มีอะไรหรอก แล้วก็ไม่แจ้งว่าพวกเราโดนข้อหาอะไร จับเพราะอะไร แล้วก็ไม่แจ้งว่าจะพาผมไปไหน”

เสียงจากเอ็กซ์ หนึ่งในผู้ถูกจับกุมวันที่ 13 ตุลาคม 2563

เอ็กซ์ นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ปี 2 ผู้ที่รับหน้าที่เป็นฝ่ายสถานที่ของกิจกรรมชุมนุมวันที่ 14 ตุลาคม 2563 บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนถึงวันนัดหมายชุมนุมเอ็กซ์และเพื่อนๆ ไปสังเกตการณ์ว่า จะตั้งเวทีตรงไหน และไปตั้งเต็นท์นอนเพื่อรอตั้งเวทีวันที่ 14 ระหว่างนั้นมีตำรวจมาบอกว่า ให้เอาเต็นท์ออกเพราะว่าจะมีขบวนเสด็จผ่านแล้วจะเป็นภาพทิวทัศน์ที่ไม่สวยงาม แต่ทีมงานไม่เอาเต็นท์ลง

เอ็กซ์เล่าเหตุการณ์การสลายการชุมนุมในวันที่ 13 ตุลาคม 2563 ว่า เวลาประมาณ 15.00-16.00 น. มีตำรวจนครบาลใส่ชุดกันฝนสีส้มเข้ามาล้อมเต็นท์เอาไว้ ทีมงานจึงไปล้อมป้องกันรถเครื่องเสียงและเต็นท์จากตำรวจ ตอนที่มาสลายทีมงานมีประมาณ 30-50 คน แต่ตำรวจมี 4-5 กองร้อย ประกอบด้วย ตำรวจภูธรชลบุรี และตำรวจ สน.สำราญราษฎร์ที่คอยอยู่ด้านหลัง ในตอนสลายไม่รู้ว่าใครเป็นอะไรบ้าง แต่มีป้าคนนึงกำลังยืนร้องไห้อยู่ เอ็กซ์จึงเข้าไปปกป้องป้าคนนั้นเอาไว้ หลังจากนั้นเอ็กซ์จึงโดนล็อกคอออกไป

“พอโดนล็อกคอผมก็โดนตำรวจกดลงพื้นไถผมไปกับพื้นและฉีกเสื้อผมถอดรองเท้าผม พอใกล้ถึงรถขังผู้ต้องหาตำรวจก็บอกกับผมว่าขึ้นๆ ไปเถอะมันไม่มีอะไรหรอก แล้วก็ไม่แจ้งว่าพวกเราโดนข้อหาอะไร จับเพราะอะไร แล้วก็ไม่แจ้งว่าจะพาผมไปไหน”

เมื่อขึ้นไปบนรถผู้ต้องขังก็เจอกับน้องฟ้า เอ็กซ์ได้เข้าไปปกป้องน้องเกรงว่าน้องจะขวัญเสียจากเหตุการณ์ที่เจอ ในระหว่างที่อยู่บนรถมีเจ้าหน้าที่ 6 นาย คุมตัวไปด้วย เอ็กซ์ได้หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาถ่ายไลฟ์ แต่ตำรวจข่มขู่ว่า ให้เก็บโทรศัพท์ถ้ายังคงไลฟ์อยู่จะยึดโทรศัพท์มือถือ แต่เอ็กซ์ได้ส่งโทรศัพท์ไปไว้ด้านในรถให้ไกลจากมือเจ้าหน้าที่และไลฟ์ต่อไปเพื่อให้สังคมได้รับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ระหว่างที่เขาและเพื่อนๆ กำลังถูกจับอยู่บนรถผู้ต้องขัง เจ้าหน้าที่ที่คุมอยู่จึงไม่กล้าทำอะไรเพราะจะมีหลักฐานจากการไลฟ์

เมื่อไปถึง ตชด. เอ็กซ์จึงถูกล็อกข้อมือด้วยสายเคเบิ้ลไทร์ขนาดใหญ่ จากนั้นเจ้าหน้าที่นำตัวเอ็กซ์และเพื่อนๆ รวม 21 คนไปกักตัวและเขียนประวัติ แต่เอ็กซ์ปฏิเสธการเขียนข้อมูลส่วนตัว เขาจึงเขียนแค่ชื่อนามสกุลอย่างเดียว ตำรวจอนุญาตให้ติดต่อกับญาติได้ เอ็กซ์จึงบอกกับญาติว่า ตนเองถูกจับและกำลังถูกนำตัวส่งไปที่ ตชด. ส่วนเรื่องการติดต่อทนายความเอ็กซ์กล่าวว่า ไผ่และณัฐพงษ์ได้ติดต่อไว้ตั้งแต่อยู่บนรถว่า ให้ไปเจอที่ ตชด. เอ็กซ์รู้ข่าวว่าทนายได้เตรียมตัวไปรอตั้งแต่ช่วงเย็น แต่กว่าทนายจะเข้าไปเยี่ยมได้ก็เลยเวลาเข้าไปถึง 23.00 น.

ที่สถานที่ควบคุมตัว ตชด.ภาค1 อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เจ้าหน้าที่ได้ให้เอ็กซ์และเพื่อนรอที่ห้องประชุมเรือนจำ จากนั้นได้นำข้าวมาให้กินแต่เอ็กซ์และเพื่อนมีข้อแม้ว่าจะต้องถอดกุญแจมือออกก่อนกินข้าว แต่เจ้าหน้าที่ไม่ยอมทำตามข้อเรียกร้องทำให้ทุกคนยังไม่ได้กินข้าว เอ็กซ์และเพื่อนพยายามที่จะเจรจากับเจ้าหน้าที่ว่า พวกเขาไม่ได้กระทำความผิดอะไรขอให้ปลดเครื่องพันธนาการออกแต่ก็ไม่เป็นผล จนเวลาเลยเข้าไปถึง 23.00 น. ได้มี ส.ส.พิธาเข้ามาเยี่ยม จากนั้น ส.ส.จึงเจรจาให้นำทนายเข้ามายังห้องประชุม และมีการสอบสวนในเวลาประมาณ 02.00-03.00 น.

เช้าวันนั้น ตำรวจบอกกับเอ็กซ์และเพื่อนว่า จะไปศาลตอนแปดโมงเช้า เอ็กซ์และเพื่อนได้ตื่นมารอตำรวจ แต่ตำรวจกลับพาเอ็กซ์ไปศาลตอนบ่ายโมง เมื่อถึงห้องเวรชี้มีเจ้าหน้าที่หนึ่งคนพูดประมาณว่า ไม่อยากให้ทนายเข้าไปหา ทั้งที่ทนายได้มารอเอ็กซ์และเพื่อนนานแล้ว

“ตอนแรกผู้พิพากษาตัดสินให้พวกผมสามารถประกันตัวได้ แล้วมีโทรศัพท์โทรหาผู้พิพากษา ผู้พิพากษาเข้าไปรับโทรศัพท์กลับมาก็พูดเหมือนว่า พวกผมประกันตัวไม่ได้ … ผมทำเรื่องประกันตัวก็ประกันไม่ได้ เขาไม่อยากให้ผมออกมาทำเรื่องวุ่นวายให้บ้านเมือง”

หลังจากไม่ได้ประกันตัว เอ็กซ์และเพื่อนได้ฝากโทรศัพท์และบัตรต่างๆ ให้ทนายความ จากนั้นได้ขึ้นรถผู้ต้องขังเดินทางไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ พอมาถึงเรือนจำเอ็กซ์และเพื่อนก็ถูกกระทำเยี่ยงนักโทษ ตรวจร่างกาย ฝากเสื้อผ้า เมื่อทุกคนทำทุกอย่างเสร็จแล้วจึงได้เข้าไปในแดนกักตัวและได้ตรวจร่างกายว่ามีใครบาดเจ็บ เอ็กซ์บอกว่าการตรวจร่างกายควรทำตั้งแต่อยู่ในห้องประชุมที่ ตชด.ภาค1 แล้ว แต่เจ้าหน้าที่เพิ่งมาตรวจที่เรือนจำ เมื่อตรวจร่างกายเสร็จจึงได้เดินเข้าห้องขังโดยมีอุปกรณ์ในการนอนสามชิ้น ได้แก่ หมอนหนุน แผ่นปูนอน ผ้าห่ม และมียาพาราให้คนละ 1 แผง

วันรุ่งขึ้นเอ็กซ์และเพื่อนโดนตัดผมให้เกรียนสามด้าน เมื่อไปอยู่ในห้องขังเอ็กซ์กับเพื่อนได้กินข้าวกับน้ำเปล่าทุกมื้อ ส่วนเรื่องห้องน้ำและสุขลักษณะโดยรวมนั้นลำบากมากเพราะเป็นห้องน้ำรวมที่ไม่มีสิ่งกั้นมิดชิด การล้างภาชนะต่างๆ ไม่มีอ่างล้างแยกแต่ทำกันไปโดยอาศัยที่แคบๆ บนส้วมนั่งยอง

“จะมีบล็อกอยู่หนึ่งบล็อกที่เราใช้ทั้งอาบน้ำ-ล้างจาน-แปรงฟัน ทำทุกอย่างที่เกี่ยวกับการใช้น้ำ ห้องผมมี 28 คน ในวันถัดไปคนที่มีคดีพยายามฆ่าถูกประกันตัวออก ส่วนพวกผมเป็นคดีการเมืองที่ไม่ได้ประกันตัว”

การใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำไม่สามารถรับรู้ข่าวสารได้ มีเพียงข่าวในพระราชสำนักและช่องหนัง mono29 เท่านั้น การเข้าเยี่ยมไม่สามารถทำได้เพราะเรือนจำอ้างว่าอยู่ในช่วงกักตัว ทั้งๆ ที่ห้องเยี่ยมมีกระจกหนากั้นอยู่ คนที่สามารถเยี่ยมได้มีเพียงแค่ทนายความเท่านั้น

“การมีคดีติดตัวคิดว่าไม่ส่งผลอะไรต่อการเคลื่อนไหวในอนาคต เพราะคิดว่าถ้าเราอยู่กับที่มันก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ยิ่งเรามีคดีติดตัวแล้วเราออกไปเคลื่อนไหวมันก็ยิ่งส่งผลให้ทุกคนออกมามากขึ้น อย่างตอนที่ผมออกมาก็มีเพื่อนๆ คอยจัดงานต้อนรับแล้วทุกคนก็มาร่วมงานกันเยอะมาก”

“ผมเรียนคณะศิลปกรรมศาสตร์ ผมเล่นดนตรี ถ้าวันหนึ่งมีคนมาห้ามเล่นดนตรี เหมือนที่คนออกมาห้ามเล่นเพลง 1-2-3-4-5 I love you ของพี่แอมมี่ ถ้าวันหนึ่งมันเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นกับผม ผมไม่สามารถจะไปทำอะไรได้เพราะผมเรียนดนตรีมาตั้งแต่ ปวช. ไม่มีความรู้ด้านอื่นเลย ก็เลยมาเคลื่อนไหวประเด็นส่วนตัว แต่สุดท้ายก็ได้มาเคลื่อนไหวในประเด็นของส่วนรวม ตอนแรกมาด้วยความไม่รู้กฎหมายแบบสุดๆ เห็นแก่ตัวทำเรื่องของตัวเอง พอได้ออกมาแล้วก็มาทำเพื่อส่วนรวมเพื่อคนทั้งประเทศ”

———-
วันที่ 13 ตุลาคม นักกิจกรรมซึ่งส่วนหนึ่งเรียกตัวเองว่า “คณะราษฎรอีสาน” เดินทางมาตั้งเต็นท์เตรียมเข้าร่วมการชุมนุมใหญ่ของคณะราษฎรในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 หลังพวกเขาตั้งเต็นท์บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยฝั่งแมคโดนัลด์ราชดำเนินแล้วเสร็จและเริ่มตั้งเวทีปราศรัย เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ใช้กำลังเข้ารื้อเต็นท์และทำการจับกุมผู้ชุมนุมรวม 21 คน ไปควบคุมตัวที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 ปทุมธานี หนึ่งคืน 

ผู้ถูกจับกุมทั้ง 21 คน ถูกตั้งข้อกล่าวหารวม 10 ข้อกล่าวหา ได้แก่

  • ชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่ 10 คน ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง, ร่วมกันทําให้เสียทรัพย์, ไม่ปฏิบัติตามคําสั่งเจ้าพนักงาน, ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะจนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร, ร่วมกันใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ  ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215, 358, 368, 385, 391 ตามลำดับ
  • ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชุมนุมทำกิจกรรมในลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค
  • กระทำการซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายแพร่ระบาดออกไป ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 (6)
  • ร่วมกันวาง ตั้ง ยื่น หรือแขวนสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 114
  • ร่วมกันขูด กระเทาะ ขีด เขียน พ่นสี บนพื้นถนน, ร่วมกันตั้ง วาง หรือกองวัตถุใดๆ บนถนน ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 12, 19 ตามลำดับ
  • ขณะที่จตุภัทร์หรือ ไผ่ ดาวดิน ถูกตั้งข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 เพิ่มเติมอีกข้อหาหนึ่ง

ในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ซึ่งเป็นวันที่คณะราษฎรนัดชุมนุมใหญ่ ผู้ต้องหา 19 คน ไม่รวมจตุภัทร์ หรือไผ่ ดาวดิน ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่นที่ถูกดำเนินคดีในศาลอาญาและผู้ต้องหาเยาวชนอีกหนึ่งคนที่ถูกดำเนินคดีในศาลเยาวชน ถูกนำตัวไปที่ศาลแขวงดุสิตเพื่อขออำนาจศาลฝากขัง ซึ่งศาลมีคำสั่งให้ฝากขังตามคำร้องของพนักงานสอบสวนและไม่อนุญาตให้ผู้ต้องหาทั้งหมดประกันตัวโดยอ้างเหตุว่าผู้ต้องหามีพฤติการณ์รุนแรงและต่อสู้กับเจ้าพนักงาน ผู้ต้องหาทั้ง 19 คนถูกฝากขังเป็นเวลา 6 วัน ก่อนจะได้รับการประกันตัวในวันที่ 19 ตุลาคม 2563 เบื้องต้นศาลแขวงดุสิตไม่อนุญาตให้ผู้ต้องหาทั้ง 19 คน ประกันตัว แต่ทั้งหมดอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ประกันตัวผู้ต้องหาทั้งหมดในวันเดียวกัน