อัญชัญ: คดีประวัติศาสตร์ 29 กรรม เผยแพร่คลิปเสียงบรรพต เพราะ “อยากช่วยเท่าที่จะช่วยได้”

ในยุคก่อนที่โซเชียลมีเดียจะแพร่หลาย ช่องทางสำคัญที่กลุ่มคอการเมืองใช้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ยากจะหาได้จากสื่อกระแสหลัก ก็คือ รายการวิทยุใต้ดิน ที่มักจะเผยแพร่กันตามยูทูปบ้าง หรือตามช่องทางอื่นๆ บ้าง ประเด็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์หรือข่าวการเมืองแบบ “ข่าวซีฟ” มักถูกผู้จัดรายการหยิบมาใช้สร้างสีสันให้กับรายการของตัวเอง และ “บรรพต” ก็เป็นนามแฝงของหนึ่งในผู้จัดรายการที่ได้รับความนิยมในช่วงเวลาหนึ่ง คลิปของเขามีคนฟังหลักหลายหมื่นอยู่อย่างสม่ำเสมอ 

คลิปแรกของบรรพตถูกเผยแพร่มาเกือบสิบปีแล้ว (ในหน้ายูทูปไม่ได้ระบุวันและเวลาเผยแพร่คลิปที่ชัดเจนไว้) และจนถึงวันที่ 14 ธันวาคม 2563 พบว่าคลิปดังกล่าวมีการเข้าถึงอย่างน้อย 101664 ครั้ง และเท่าที่สืบค้นบรรพตเผยแพร่คลิปเสียงบนยูทูปต่อเนื่องกันหลายร้อยตอน จนะกระทั่งในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558 ตำรวจเปิดเผยว่าสามารถจับกุมหัสดินทร์ บุคคลที่ยอมรับว่า เป็น “ดีเจบรรพต” ได้แล้ว รวมทั้งมีการจับกุมบุคคลที่เชื่อว่า มีความเชื่อมโยงกับบรรพตหรือเผยแพร่เนื้อหารายการของบรรพตรวมอย่างน้อย 15 คน 

หัสดินทร์ ให้การรับสารภาพต่อศาลทหารกรุงเทพว่า เขาคือเจ้าของเสียง “บรรพต” และถูกศาลทหารกรุงเทพพิพากษาว่า มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการจัดทำและเผยแพร่คลิปหนึ่งครั้ง ศาลทหารกรุงเทพพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 10 ปี ลดเหลือ 5 ปีเพราะจำเลยรับสารภาพ หัสดินทร์ถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558 ก่อนที่เขาจะได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำวันที่ 29 ธันวาคม 2559 รวมระยะเวลาถูกคุมขังจริง 1 ปี 10 เดือน กับ 19 วัน ผู้ร่วมชะตากรรมคนอื่นๆ ในคดีเดียวกับเจ้าของเสียงถูกตัดสินจำคุกในอัตราเดียวกัน และได้รับโทษครบจนทยอยได้ปล่อยตัวออกจากเรือนจำหมดแล้ว

แต่ชะตากรรมของอัญชัญ อดีตข้าราชการวัยใกล้เกษียณกลับไม่เป็นเช่นนั้น เธอถูกจับกุมและถูกกล่าวหาว่า มีส่วนร่วมในการเผยแพร่คลิปเสียงของบรรพต ที่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 แต่กลายเป็นคนพิเศษที่ตำรวจยกคลิปต่างๆ มาดำเนินคดีทั้งหมด 29 คลิป รวมเป็นความผิด 29 ครั้ง กลายเป็นผู้ที่ถูกตั้งข้อหาอย่างหนักที่สุดในชุดของเครือข่ายบรรพต และเป็นคดีมาตรา 112 ที่หนักที่สุดเท่าที่เคยบันทึกได้

หากถูกตัดสินว่า เป็นความผิดทั้งหมดตามมาตรา 112 โทษสูงสุดที่เธออาจได้รับ คือ 15 ปี x 29 กรรม = จำคุก 435 ปี ซึ่งศาลอาจลงโทษจริงได้สูงสุดที่ 50 ปี อัญชัญจึงตัดสินใจต่อสู้คดี เธอถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีเป็นเวลา 3 ปี 9 เดือน 9 วัน นับตั้งแต่ถูกจับและเข้าเรือนจำเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2558 จนถึง 2 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งเธอได้รับการประกันตัวออกมาเพื่อต่อสู้คดี 

เวลาสามปีในเรือนจำกับคดีร้ายแรงแห่งยุคสมัย ความฝันของอัญชัญถึงชีวิตครอบครัวอันอบอุ่นหลังเกษียณของอัญชัญได้พังทลายลง เหลือเพียงชีวิตที่โดดเดี่ยวในบั้นปลายซึ่งยังไม่อาจรู้ได้ว่า จะได้อยู่ในหรือนอกเรือนจำ

ชีวิตในวัยเยาว์

อัญชัญเกิดและเติบโตที่บ้านในย่านฝั่งธน แม้ที่บ้านจะมีที่ดินพอสมควร แต่ฐานะทางเศรษฐกิจไม่สู้ดีนัก เพราะพ่อของเธอเสียชีวิตลงในวัยเพียง 41 ปี ทำให้แม่ของเธอที่เพิ่งอายุได้ 39 ปีต้องกลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ต้องดูแลลูกถึง 6 คน ขณะที่อัญชัญเพิ่งเรียนอยู่ชั้นป.3 หลังจบชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น อัญชัญเลือกเรียนสายอาชีพที่ วิทยาลัยพณิชยการบางนา หลังจากนั้นเธอจึงสมัครเรียนระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยระหว่างนั้นเธอก็ใช้วุฒิที่ได้รับจากการเรียนพาณิชย์สมัครงานในหน่วยราชการแห่งหนึ่ง

ตอนที่สมัครเรียนปริญญาตรีที่รามคำแหงครั้งแรกอัญชัญสมัครเรียนด้านบัญชี แต่ต่อมาเธอก็ตัดสินใจย้ายมาเรียนรัฐศาสตร์แทนเพราะคิดว่า น่าจะง่ายกว่า จะได้จบเร็วๆ การเปลี่ยนสาขาวิชาทำให้อัญชัญได้ค้นพบตัวตนอีกด้านหนึ่งของเธอ นั่นคือความสนใจในเหตุบ้านการเมือง เธอเริ่มตั้งคำถามว่า เหตุใดการเมืองไทยจึงมีแต่การรัฐประหาร ตั้งคำถามว่า “เอ๊ะ ทหารนี่มันอะไรยังไง” แต่ช่วงเวลานั้นเธอก็ได้แต่ติดตามเหตุการณ์บ้านเมืองจากการรายงานของสื่ออย่างเงียบๆ โดยไม่ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมใดๆ

รู้จักคลิป ”บรรพต” และพบปะในฐานะแฟนคลับ

อัญชัญเริ่มเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์สลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง หลังจากฟังข้อมูลข่าวสารจากแหล่งต่างๆ มาพอสมควร เธอจึงอยากลองไปหาข้อมูลในพื้นที่จริงบ้าง แต่ตัวเธอเองก็ไม่ได้มีกลุ่ม จึงมักไปชุมนุมคนเดียว เนื่องจากบ้านอยู่ไกลจากที่ชุมนุมอัญชัญจึงไม่ได้ไปร่วมการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง ในวันที่มีการสลายการชุมนุมช่วงปี 2553 อัญชัญไม่ได้ร่วมการชุมนุมแต่เธอก็ติดตามข่าวอยู่ตลอด จนรู้สึกเครียดและยิ่งรู้สึกว่าคนเสื้อแดงถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมเพราะถูกกระทำอยู่ฝ่ายเดียว

อัญชัญเริ่มรู้จักรายการวิเคราะห์การเมืองของบรรพตผ่านเว็บไซต์คนเสื้อแดงแห่งหนึ่ง เมื่อฟังรายการของบรรพตครั้งแรกก็ชอบเพราะรู้สึกว่าเขาวิเคราะห์สถานการณ์ได้อย่างน่าสนใจ มีการเปรียบเทียบสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบันกับสถานการณ์ในอดีตที่ดูมีเค้าความเป็นจริงและมีเหตุมีผล จึงติดตามรับฟังรายการมาเรื่อยๆ จนรู้สึกศรัทธา บรรพตไม่ได้เพียงแค่วิเคราะห์การเมืองอย่างเดียวแต่ยังพูดเรื่องสุขภาพในรายการด้วย

หลังจากนั้นคนที่เป็นแฟนคลับของบรรพตด้วยกันก็เริ่มนัดพบปะกินข้าวพูดคุยกัน โดยคนที่เป็นแฟนคลับส่วนหนึ่งสร้างบัญชีเฟซบุ๊กเพื่อให้คนที่ฟังคลิปเหมือนกันได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน โดยส่วนใหญ่เป็นคนที่อายุเลยวัยกลางคนไปแล้ว อัญชัญกับคนอื่นๆ จึงนัดหมายกันผ่านช่องทางนั้น เพื่อพบปะพุดคุยและกินข้าวร่วมกัน เป็นกิจกรรมของกลุ่มแฟนคลับเท่านั้น ส่วนตัวผู้จัดรายการซึ่งระมัดระวังในการเคลื่อนไหวอย่างสูง และไม่เปิดเผยตัวตน ทั้งใช้เครื่องเปลี่ยนเสียงในการจัดรายการและไม่ได้มาร่วมโต๊ะด้วย

ตัวของอัญชัญเคยพบเจ้าของเสียงบรรพตจริงๆ เพียงแค่ครั้งเดียว โดยเธอกับสามีซึ่งก็ติดตามการเมืองและฟังบรรพตเช่นกันไปรับประทานอาหารร่วมกับเจ้าของเสียงเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องที่เธออาสาเข้าไปช่วยเหลือเรื่องงานจัดการ เนื่องจากเจ้าของรายการขอรับบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนการทำรายการ เธอจึงอาสาเข้าไปช่วยดูแลจัดระบบการเงินที่ได้รับบริจาคมา ซึ่งเจ้าตัวก็รู้สึกยินดีเพราะอัญชัญในขณะนั้นยังรับราชการและดูมีความน่าเชื่อถือ โดยในหมู่แฟนคลับ เธอกับสามีของเธอเป็นที่รู้จักในนาม “เพชรจรัญ” และ “เพชรประกาย” 

ทหารบุกจับแล้วขังยาว เพื่อจะตามหาตัวบรรพตให้ได้

ช่วงที่เกิดการรัฐประหารโดย คสช. อัญชัญใกล้เกษียณอายุราชการแล้ว เธอจึงเริ่มมองหาธุรกิจที่จะทำเพื่อหารายได้หลังเกษียณโดยมองไปที่ธุรกิจขายตรง ช่วงเดือนมกราคม 2558 ระหว่างที่อัญชัญจัดงานประชุมที่บ้านเพื่อพูดคุยเรื่องการทำธุรกิจขายตรงกับเพื่อนและคนที่สนใจ ทหารพร้อมอาวุธ ตำรวจและเจ้าหน้าที่ไม่ทราบสังกัดหลายนายมาที่บ้านของเธอ คนที่มาประชุมต่างตกใจว่าเกิดอะไรขึ้น 

เจ้าหน้าที่กลุ่มหนึ่งเดินมาหาและถามว่า รู้หรือไม่ว่าพวกเขามาเพราะอะไร อัญชัญจึงตอบว่า “รู้สิเรื่องบรรพตใช่ไหม” เพราะนอกจากเรื่องนั้นแล้วเธอก็ไม่คิดว่าจะเป็นเรื่องอื่นได้อีก เธอถูกคุมตัวไปที่บ้านอีกหลังที่เธอใช้เป็นที่อยู่อาศัย ส่วนบ้านหลังที่ใช้เป็นที่จัดประชุมเจ้าหน้าที่ให้คนที่มาร่วมประชุมนั่งรวมกันและบอกทำนองว่า “ไม่มีอะไร พวกคุณไม่เกี่ยว” 

อัญชัญเล่าต่อว่า เจ้าหน้าที่กล่าวคล้ายจะขู่เธอทำนองว่า “คุณรู้ไหมว่าเราเฝ้าติดตามคุณมานานแล้ว” เมื่อเข้าไปถึงในบ้านเครื่องคอมพิวเตอร์ของอัญชัญยังเปิดอยู่ พอเธอทำท่าจะปิดเครื่องเจ้าหน้าที่ก็รีบเข้ามาห้ามเธอเป็นพัลวันก่อนจะเอาไปดูแล้วยึดเครื่องไป โทรศัพท์มือถือ รวมทั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เสียแล้ว กับเซิร์ฟเวอร์เปล่าที่สามีของเธอซื้อมาเตรียมขายต่อก็ถูกยึดไปเช่นกัน 

หลังทำการตรวจค้นบ้านเสร็จเจ้าหน้าที่พาอัญชัญไปที่ลานจอดรถสาธารณะที่เธอจอดรถไว้เพราะรถยนต์ไม่สามารถเข้าซอยบ้านเธอได้ เมื่อค้นรถเสร็จก็พาตัวของเธอไป โดยไม่ให้โอกาสเธอแม้แต่จะปิดบ้าน อัญชัญได้แต่ตะโกนบอกคนข้างบ้านซึ่งเป็นญาติห่างๆ ให้ช่วยปิดบ้านให้แทน เพื่อนของอัญชัญบางคนพยายามจะขอติดตามอัญชัญไปแต่ทหารไม่ยอม เมื่อใกล้จะถึงค่ายทหาร เธอถูกเอาผ้าคลุมศีรษะ และไม่รู้ว่าถูกพาตัวไปยังสถานที่ใด

“เป้าหมายของทหารคือต้องจับบรรพตให้ได้” อัญชัญหวนย้อนถึงความหลัง 

“ตอนอยู่ในค่ายทหาร พี่นอนที่เรือนนอนของทหาร พอถึงเวลาสอบสวนเขาจะเอาตัวพี่ออกมา ก่อนออกนอกห้อง ทหารจะปิดตาและเอาถุงดำครอบหัวพี่เหมือนไม่อยากให้เห็น ทำให้พี่แทบหายใจไม่ออกแล้วค่อยเอาออกตอนถึงห้องสอบสวน การสอบก็ใช้เวลานานมาก ระหว่างนั้นพี่จะถูกล้อมด้วยทหา-รตำรวจ นั่งกันเป็นวงกลมประมาณ 30-40 คน”

อัญชัญเล่าย้อนกลับไปว่า ในวันที่เธอถูกจับกุมสามีของเธออยู่ต่างจังหวัด จึงไม่ถูกจับกุมและหาทางลี้ภัยออกจากประเทศไทยได้ในเวลาต่อมา การที่สามีของเธอสามารถหลบหนีไปได้ ประกอบกับการที่เธอถูกจับกุมไปสอบสวนเป็นคนแรก ทำให้มีอดีตคนในเครือข่ายบรรพตบางคนเข้าใจว่าเธอกับสามีเป็นสายให้เจ้าหน้าที่รัฐซึ่งข้อนี้อัญชัญรู้สึกเจ็บปวด 

“พี่ไม่ได้เป็นอะไรแบบนั้นเลย ได้แต่ช่วยเขาขายของ เปิดบัญชีรับบริจาค ไปจัดการเรื่องทำเสื้อ บรรพตเขาก็ได้แต่โฆษณาแล้วก็บอกมาว่าอยากได้เสื้อแบบไหนๆ แต่คนไปทำเสื้อคือพี่ ช่วงนั้นบรรพตยังเป็นที่นิยม แฟนคลับก็ฟังเยอะทหารก็ฟังเยอะ แล้วพอรายการเขามีคนตามเยอะก็มีคนบริจาคเข้ามาพี่ก็เป็นคนจัดการให้เขา ที่มันเจ็บก็คือตัวบรรพตที่เป็นคนทำเขาถูกฟ้องจากรายการแค่ตอนเดียว ทั้งๆที่เขาทำคลิปไปน่าจะเกิน 1000 ตอนแล้ว แต่ตัวพี่แค่แชร์มาบนเฟซบุ๊กตัวเอง”

นรกในเรือนจำ ที่ไม่รู้จะต้องกลับไปอีกไหม

“นี่มันนรก นรกเห็นๆ” อัญชัญบรรยายถึงสภาพความเป็นอยู่ของเธอตลอด 3 ปี 9 เดือน ที่ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี อัญชัญเล่าว่า เธอถูกส่งเข้าไปเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2558 หลังศาลทหารมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว อัญชัญเล่าว่า สภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำสำหรับเธอถือว่าเป็นเรื่องที่เลวร้ายมาก “พี่ว่ามันเหมือนไม่ใช่คน เค้าคุมเราเข้มไปหมดจะทำอะไรก็ไม่ได้ การกินข้าว อาบน้ำ หลับนอน ทุกอย่างลำบากไปหมด”

“ในห้องขังมีคนอยู่รวมกันมากจนเรานอนหงายไม่ได้ต้องนอนตะแคงเบียดๆกัน จริงๆ ตอนแรกห้องที่พี่อยู่มันก็เป็นห้องที่ใช้ขังผู้สูงอายุนะ แต่ไปๆมาๆพอมีคนถูกเอามาขังมากขึ้นก็เหมือนจะกลายเป็นห้องคละอายุไป” 

อัญชัญยอมรับว่าการเข้าไปอยู่ในเรือนจำนี่ถือเป็นจุดตกต่ำที่สุดจุดหนึ่งในชีวิตและเธอต้องปรับตัวขนานใหญ่ เรื่องหนึ่งที่เธอลำบากใจโดยเฉพาะในฐานะอดีตข้าราชการคงหนีไม่พ้นระเบียบที่ผู้ต้องขังทุกคนต้องคุกเขาหรือย่อตัวลงเมื่อผู้คุมเดินผ่าน จะยืนเสมอผู้คุมไม่ได้ “ผู้คุมบางคนเห็นเราเหมือนไม่ใช่คน พูดคำหยาบใส่เรา พี่รู้สึกว่ามีผู้คุมบางคนเหมือนจะมองพี่เป็นไส้เดือนยังไงยังงั้น” 

อัญชัญเล่าต่อว่าช่วงที่เข้าไปในเรือนจำใหม่ๆ กอล์ฟ (พรทิพย์ ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 จากกรณีละครเจ้าสาวหมาป่า) เป็นคนที่คอยช่วยเหลือให้คำแนะนำเรื่องการปรับตัวกับเธอ

อัญชัญหวนรำลึกถึงความหลัง พร้อมกับเล่าต่อว่า จริงๆแล้วผู้คุมเองก็ดูจะไม่ค่อยสบายใจนักเวลาที่ผู้ต้องขังคดีการเมืองจับกลุ่มกัน เธอและผู้ต้องขังคดีการเมืองทั้งดารณี (ดา ตอปิโด) และกอล์ฟ รวมถึงผู้ต้องขังคดีการเมืองคนอื่นๆ ต่างก็ถูกติดตามอยู่ตลอดเวลาว่า จับกลุ่มกินข้าวหรือพูดคุยกับใคร 

หลังถูกจองจำเป็นเวลา 3 ปี 9 เดือน อัญชัญก็ได้รับอิสรภาพในเดือนพฤศจิกายนปี 2561 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นโยบายเกี่ยวกับคดีมาตรา 112 ดูจะผ่อนคลายลง อัญชัญเล่าว่า เธอทราบเรื่องที่แหวน-ณัฏฐธิดา จำเลยคดีมาตรา 112 อีกคนหนึ่งได้รับการประกันตัวมาก่อน เธอจึงเริ่มมีความหวัง ก่อนที่ตัวเธอจะได้รับการประกันตัวออกมา โดยเธอทราบจากทนายความภายหลังว่า เจ้าหน้าที่ศาลเป็นฝ่ายติดต่อทนายของเธอว่า ให้นำหลักทรัพย์มายื่นประกันตัว

การดิ้นรนภายใต้ “อิสรภาพ” ชั่วคราว

แม้จะได้รับอิสรภาพในช่วงปลายของยุค คสช. แต่ชีวิตของอัญชัญก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปเพราะเธอแทบไม่เหลืออะไรเลย ทรัพย์สินของเธอหลายๆ อย่างถูกยึดไปเนื่องจากก่อนจะถูกคุมขังเธอมีหนี้สินกับธนาคาร เมื่อเธอถูกคุมขังในเรือนจำ หนี้ที่เคยชำระตามกำหนดก็ไม่ได้ชำระต่อ ธนาคารจึงมายึดทรัพย์สินไปจนแทบไม่เหลืออะไร ระหว่างที่อยู่ในเรือนจำก็มีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานของเธอเข้าไปพบที่เรือนจำและแจ้งว่าจะมีการสอบวินัย เพราะคดีมาตรา 112 ถือเป็นคดีที่ร้ายแรง หลังได้รับการประกันตัว อัญชัญถูกเรียกไปรายงานตัวและทราบว่า ไม่ได้ถูกไล่ออกแต่เป็นการ “ปลดออก” ซึ่งทำให้เธอยังมีสิทธิได้รับเงินบำนาญอยู่ อย่างไรก็ตามคำสั่งปลดออกจากราชการคาดว่า จะมีผลเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว การขาดรายได้และปัญหาเศรษฐกิจจึงเป็นปัญหาใหญ่ที่อัญชัญต้องเผชิญ

อัญชัญเมื่ออายุได้ 65 ปี ต้องพยายามหาอาชีพเสริมด้วยการทำขนมและรับหมูฝอยมาขาย เธอยังหัดทำขนมเผือกหิมะ ขณะที่หลานของเธอก็แบ่งเงินให้เธอใช้ประมาณเดือนละ 5,000-6,000 บาท ทำให้เธอพอที่จะประคองชีวิตไปได้ ทุกวันนี้อัญชัญใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านเพียงลำพัง ทำขนมขายบ้าง ส่งหมูฝอยบ้าง บางครั้งก็อาศัยเปิดรายการวิเคราะห์การเมืองบนอินเทอร์เน็ตฟังเป็นเพื่อน 

“พี่ไม่คิดเลยว่าชีวิตจะมาถึงจุดนี้ ก่อนหน้านี้พี่กับสามีวางแผนกันว่า หลังเกษียณจะใช้ชีวิตกันสงบๆ สองคนตายาย ถ้าว่างก็ไปเยี่ยมลูกที่อเมริกา แต่กลายเป็นว่าชีวิตเปลี่ยน สามีพี่ต้องลี้ภัยไปอยู่ฝรั่งเศส ส่วนพี่ก็ต้องติดคุกไปเกือบสี่ปี พอออกมาก็ไม่เหลืออะไรแล้ว พี่รับราชการมาทั้งชีวิต เกือบ 40 ปี ถ้าศาลพิพากษาจำคุก พี่ก็คงไม่ได้เงินบำนาญ ไม่ได้อะไรเลยทั้งที่ตลอดเวลาที่ทำงานพี่ไม่เคยมีเรื่องเสียหายหรือบกพร่องต่อหน้าที่เลย” 

“สำหรับตอนนั้นพี่ก็ไม่ได้คิดอะไร ตั้งใจจะช่วยเพราะเห็นว่าเค้าทำรายการวิเคราะห์การเมืองที่ทำให้เรารู้สึกมีความหวังในการเมืองไทยที่มันดูมีแต่แย่กับแย่ แล้วก็แค่คิดว่าอยากช่วยเค้าจัดการเรื่องเงินบริจาคและขายเสื้อเพื่อให้เค้าทำรายการต่อไปได้ ตอนนั้นพี่คิดแค่นั้นจริงๆ แค่อยากช่วยเท่าที่ช่วยได้” 

เมื่อ คสช. จะหมดอายุลงได้สั่งให้โอนคดีพลเรือนที่ศาลทหารกลับมาที่ศาลปกติทั้งหมด ในกระบวนการพิจารณาคดีที่ศาลอาญา อัญชัญตัดสินใจเปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพและศาลนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 19 มกราคม 2564 อิสรภาพของอัญชัญจึงยังแขวนอยู่บนเส้นด้าย แต่ก่อนจะถึงวันนั้นเธอยังต้องทำขนมเผือกหิมะ แซนด์วิช และข้าวเหนียวหมูฝอยขายเลี้ยงชีวิตต่อไปจนกว่าศาลจะตัดสินชะตากรรมของเธอ

“พี่ได้แต่หวังว่าศาลท่านจะเมตตาพี่บ้าง พี่ถูกฟ้องถึง 29 กรรม ติดคุกมาแล้วเกือบๆ 4 ปี ทั้งๆ ที่พี่แค่แชร์ แต่ตัวบรรพตที่เป็นคนทำคลิปและทำมาไม่ต่ำกว่า 1000 ตอนกลับถูกฟ้องแค่กรรมเดียว ติดคุกไม่นานก็ออกมาแล้วและยังทำคลิปต่อไปอีก ถ้าพี่ต้องติดคุกอีกก็คงต้องวานสังคมช่วยกันถามแล้วว่ามาตรฐานการบังคับใช้กฎหมายมันอยู่ตรงไหน”