เก็บตก ‘ขบวนเสด็จ’ กับคณะราษฎรตลอดปี 2563 จากข้อหาหนักสู่การแบ่งครึ่งถนน

ขบวนเสด็จ ไม่ได้เพิ่งมาเป็นประเด็นตอนมีม็อบชู 3 นิ้วและมีคนโดนแจ้งข้อหามาตรา 110 แต่เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ถูกตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 แล้ว โดยครั้งนั้นการตั้งคำถามเป็นเรื่องความไม่สะดวกในชีวิตประจำวันของประชาชนและอยู่บนพื้นที่ออนไลน์อย่างทวิตเตอร์เป็นหลัก ในคลื่นการชุมนุมของคณะราษฎร ขบวนเสด็จ กลายเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้รัฐประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ใช้ความรุนแรงกับประชาชน แต่นั่นยิ่งทำให้เกิดการชุมนุมไม่รู้จบ จนในที่สุดต้องนำไปสู่มาตรการที่ผ่อนคลายขึ้นของรัฐในหลายเรื่อง นี่อาจเป็นก้าวแรกๆ และชัยชนะเล็กๆ ของผู้เรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เพื่อให้ทุกส่วนอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติและเป็นธรรม

ทวิตเตอร์เดือดมาก่อนใคร ซ้อมกระหน่ำคำถามหนัก 

เป็นที่ทราบกันดีว่า พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์จำเป็นจะต้องได้รับการถวายความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกในการเสด็จพระราชดำเนินตามสถานที่ต่างๆ หากแต่กรณีของการเสด็จในพื้นที่เมืองที่มีการจราจรหนาแน่นโดยเฉพาะกรุงเทพมหานครนั้นกลายเป็นเชื้อไฟแห่งคำถามในการปรับตัวของขบวนเสด็จ 

ย้อนกลับไปในปี 2544 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้มีพระราชปรารภกับพระราชเลขาธิการเรื่องปัญหาการจราจรในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดที่มากขึ้น โดยเฉพาะหากต้องปิดการจราจรเวลานานเพราะมีขบวนเสด็จก็จะทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนมากขึ้น จึงมีพระราชกระแสให้ราชเลขาธิการพิจารณาร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันหาแนวทางการแก้ไข ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการจัดทำแนวทางและคู่มือปฏิบัติไว้แล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะเจ้าหน้าที่ภาคสนามเกรงกลัวจะถูกตำหนิและถูกลงโทษ

จนกระทั่งในปี 2553 ราชเลขาธิการได้น้อมพระราชกระแสในเรื่องดังกล่าวมาอีกครั้งหนึ่ง จึงจัดตั้งคณะกรรมการอำนวยการจราจรในการเสด็จพระราชดำเนิน เป้าหมายหลักสำคัญ คือ ถวายความสะดวกการจราจรและถวายความปลอดภัย, อย่าให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน หรือหากจะมีต้องให้น้อยที่สุด และสนับสนุนผู้ปฏิบัติงานสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  หนึ่งในแนวปฏิบัติคือ กรณีที่ขบวนเสด็จฯ ผ่านถนนที่มีช่องทางคู่ขนาน ให้รถวิ่งในช่องทางคู่ขนานได้ตามปกติ รวมทั้งให้อำนาจผู้ที่เกี่ยวข้องออกสืบสวนพฤติการณ์และสืบสวนหาข่าวที่อาจจะเป็นภัย หรือ ‘พฤติการณ์ที่ไม่เหมาะสม’ อื่นๆ ก่อนเวลาที่จะเสด็จพระราชดำเนินถึง โดยเปิดช่องว่า หากพบพฤติการณ์ที่ไม่เหมาะสมให้ดำเนินการตามอำนาจและหน้าที่ได้

ช่วงเดือนตุลาคม 2562 มีการถกเถียงเรื่องขบวนเสด็จอีกครั้งบนโลกทวิตเตอร์ผ่านแฮชเท็ค #ขบวนเสด็จ เหตุจากภาพที่อ้างว่า เป็นการปิดกั้นทางจราจรที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยมีรถฉุกเฉินที่กำลังเปิดสัญญาณฉุกเฉินอยู่ในเส้นทางดังกล่าวด้วย แต่หลังจากที่ตำรวจไปลงไปในบริเวณดังกล่าว รถฉุกเฉินกลับปิดสัญญาณฉุกเฉินทั้งไฟฉุกเฉินและเสียงไซเรน ขณะที่บางรายระบุว่า การปิดกั้นทางจราจรเนื่องจากขบวนเสด็จ เรื่องครั้งนั้นจบลงที่การกล่าวหาคดีมาตรา 14 (3) ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กับกาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์ นักกิจกรรมจากการโพสต์แสดงความคิดเห็นที่เกี่ยวเนื่องกับขบวนเสด็จ มาตราดังกล่าวเป็นวิธีการใหม่ในการดำเนินคดีกับผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์แทนการดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 โดยตรง

เชื้อไฟยังไม่ทันจะมอดดี ต้นปี 2563 เกิดการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องขบวนเสด็จอีกครั้งจากการเสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ที่จังหวัดภูเก็ตและกระบี่ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ประชาไทรายงานว่า โซเชียลเน็ตเวิร์กปรากฏการเผยแพร่เอกสารที่อ้างว่าเป็นประกาศของอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา หมู่เกาะพีพี ขอความร่วมมือหลีกเลี่ยงการใช้พื้นที่บริเวณเกาะบิด๊ะนอกและเกาะบิด๊ะใน ในเขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ในวันที่ 29 ธ.ค. 62 โดยอ้างถึงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ จะเสด็จปฏิบัติพระราชกรณียกิจเป็นการส่วนพระองค์ แต่จากการตรวจสอบเว็บไซต์ขององค์กรไม่ปรากฏประกาศดังกล่าวเผยแพร่

อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ดังกล่าวนำไปสู่การถกเถียงอย่างหนักในโลกทวิตเตอร์ภายใต้สองแฮชแท็คหลักคือ #ขบวนเสด็จ และ #ปิดเกาะ มีการกล่าวถึงความเดือดร้อนจากการปิดพื้นที่สาธารณะในกิจกรรมส่วนพระองค์ในช่วงที่ปีใหม่ที่เป็นฤดูกาลท่องเที่ยว

วันที่ 12 มกราคม 2563 สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงได้กำหนดแนวทางอำนวยความสะดวกด้านการจราจร โดยไม่ให้ปิดการจราจร ให้จัดช่องทางขบวนเสด็จส่วนพระองค์และช่องทางประชาชนโดยใช้อุปกรณ์เพื่อความสะดวก กรณีที่มีเกาะกลางถนน เส้นทางฝั่งตรงข้ามสามารถใช้ได้ตามปกติ กรณีไม่มีเกาะกลางถนนให้ใช้กรวยยางวาง สอดคล้องกับแนวปฏิบัติในปี 2553 สำหรับแฮชแท็คขบวนเสด็จทั้ง 2 ครั้งในช่วงปลายปี 2562 และต้นปี 2563 นั้นแพร่ขยายผ่านสื่อสังคมออนไลน์ยอดนิยมอย่างทวิตเตอร์ซึ่งเป็นฐานที่มั่นสำคัญของคนรุ่นใหม่ โดยสะท้อนให้เห็นว่าการตั้งคำถามต่อเรื่องขบวนเสด็จของประชาชนนั้นขยายตัวอย่างมาก การเรียกร้องดังกล่าวไม่ได้ต้องการสิ่งใดไปมากกว่าการอยู่ร่วมกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย

เมื่อ ‘ขบวนเสด็จ’ ถูกใช้เป็นเงื่อนไขวัดใจการเผชิญหน้า

วันที่ 3 สิงหาคม 2563 อานนท์ นำภา ปราศรัยเรื่องการขยายพระราชอำนาจของกษัตริย์ในยุค คสช. ไม่กี่วันหลังจากนั้นแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมประกาศข้อเรียกร้องให้สถาบันกษัตริย์ดำเนินการปฏิรูป แม้ว่าข้อเรียกร้องทั้ง 10 ข้อจะไม่มีข้อใดที่เกี่ยวข้องกับขบวนเสด็จโดยตรง แต่มีการเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 ที่ใช้ปราบปรามเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ตลอดมาและหนักหน่วงขึ้นในยุครัฐประหารของคสช. นอกจากนี้ข้อเรียกร้องของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมได้ผลักเพดานการเรียกร้องเดิมทีที่เนื้อหาเรียกร้องโดยตรงต่อรัฐบาลให้สูงขึ้นกลายเป็นการเรียกร้องต่อสถาบันกษัตริย์ด้วย

การชุมนุมครั้งนี้ถือเป็นการพูดคุยเรื่องสถาบันกษัตริย์ในพื้นที่สาธารณะที่ถูกเผยแพร่ผ่านโลกออนไลน์สู่สายตาคนจำนวนมากเป็นรอบแรกๆ ตั้งแต่ถูกปิดกั้นอย่างหนักหน่วงในช่วง 6 ปีหลังรัฐประหาร การชุมนุมอีกหลายครั้งหลังจากนั้นเริ่มมีการพูดถึงการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์มากขึ้น ผู้เข้าร่วมจำนวนมากเป็นคนรุ่นใหม่และพื้นที่ชุมนุมถูกขยายตามกลยุทธ์ของแกนนำคือการเคลื่อนขบวนเพื่อไปยังสถานที่อันเป็นพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ เช่น ทำเนียบองคมนตรี แต่ไม่สามารถกระทำได้ ตำรวจมีการปิดกั้นเส้นทางไปถึงสถานที่ดังกล่าว

สถานการณ์แปลกประหลาดเริ่มขึ้นเมื่อคณะราษฎรนัดหมายชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ก่อนหน้าวันดังกล่าวมีการเผยแพร่ข่าวว่า จะมีการเสด็จพระราชดำเนินผ่านถนนราชดำเนิน แต่คณะราษฎรยังคงยืนยันว่าจะจัดการชุมนุมต่อไป หากขบวนเสด็จผ่านก็จะชู 3 นิ้วเท่านั้น ความรุนแรงเริ่มต้นขึ้นเมื่อคณะราษฎรอีสาน นำโดยจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน เข้าเตรียมจัดสถานที่ชุมนุมก่อนล่วงหน้า 1 วันในวันที่ 13 ตุลาคม 2563 บริเวณฟุตบาทหน้าแมคโดนัลด์ แต่ยังไม่ทันตระเตรียมอะไรได้เรียบร้อย ตำรวจนำกำลังเข้าสลายการชุมนุมตั้งแต่บ่ายโดยละเลยขั้นตอนตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ต่อมามีการชี้แจงว่าเป็นเพราะความผิดที่คณะราษฎรอีสานกระทำเป็นความผิดซึ่งหน้าในข้อหาอื่น  การสลายการชุมนุมครั้งนี้อ้างว่าจะมีขบวนเสด็จผ่าน ซึ่งมีการเสด็จพระราชดำเนินจริงในช่วงเย็นและตำรวจมีการแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่บริเวณนั้นก่อนด้วย

ไม่มีการชูสามนิ้ว ไม่มีการเผชิญหน้า มีเพียงการสลายการชุมนุม

วันที่ 14 ตุลาคม 2563 ภาพบนถนนราชดำเนินไม่คุ้นตาและเป็นสถานการณ์ที่หลายฝ่ายกังวลใจ เนื่องจากฝั่งหนึ่งเป็นกลุ่มคณะราษฎร อีกฝั่งหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจในชุดเสื้อสีเหลือง จิตอาสา ประชาชนที่มารอรับเสด็จรวมถึงกลุ่มทางการเมืองขั้วตรงข้าม เช่น อดีตพุทธอิสระ นพ.เหรียญทอง ตำรวจที่ควบคุมเหตุการณ์บริเวณถนนราชดำเนินก็มีไม่มากนัก แต่แม้สองฝ่ายจะอยู่ใกล้กันมากเพียงคนละฝั่งถนนก็ไม่มีเหตุรุนแรงร้ายแรงใด

วันนั้นแกนนำคณะราษฎรตัดสินใจเคลื่อนขบวนออกจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเร็วกว่ากำหนด ก่อนที่ขบวนเสด็จจะผ่านถนนราชดำเนิน แม้ไม่มีการแจ้งเหตุผลชัดเจนแต่คาดกันได้ว่าเพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์ตึงเครียด โดยมีการนัดหมายว่าจะเคลื่อนไปปักหลักที่หน้าทำเนียบรัฐบาล กระนั้น ในการเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังทำเนียบรัฐบาล ตำรวจมีการวางแนวกั้นไว้ 3 แนว ตั้งแต่แยกสะพานผ่านฟ้า แยกเทวกรรม และด้านหน้าพาณิชยการพระนครก่อนถึงแยกนางเลิ้ง เจ้าหน้าที่ต่อรองให้ผู้ชุมนุมใช้ถนนนครสวรรค์ซึ่งก็ได้รับการตอบรับอย่างดี เมื่อเดินทางกันไปถึงแนวกั้นสุดท้ายก่อนถึงแยกนางเลิ้งมีการปิดกั้นอยู่อย่างแน่นหนาด้วยรถบัสของตำรวจตระเวนชายแดนโดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ทำให้มวลชนหลายพันคนติดค้างอยู่บริเวณดังกล่าวเป็นเวลานาน

แนวดังกล่าวอยู่ห่างจากทำเนียบรัฐบาลประมาณ 500 เมตร ระหว่างที่มวลชนก้อนใหญ่รอการต่อรองให้ด่านสุดท้ายเปิดทางอยู่นั้น ก็พบว่ามีประชาชนกลุ่มเล็กๆ และสื่อบางส่วนใช้ซอยเล็กซอยน้อยริมถนนนครสวรรค์เดินไปทะลุถนนพิษณุโลกบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ ใกล้ทำเนียบรัฐบาลได้ ต่อมาเวลา 17.30 น. ขบวนเสด็จของพระราชินีผ่านพื้นที่ดังกล่าว ท่ามกลางประชาชนที่ยืนอยู่ใกล้กับขบวนเสด็จ มีการปะทะคารมระหว่างประชาชนม็อบราษฎรส่วนหนึ่งและมวลชนเสื้อเหลือง แต่ขบวนเสด็จก็ผ่านไปได้ในที่สุด

หลังขบวนเสด็จผ่านไปได้ เจ้าหน้าที่ก็ให้คณะราษฎรกลุ่มใหญ่ที่ถูกกั้นอยู่บริเวณพาณิชยพระนคร ถนนนครสวรรค์ ผ่านด่านเคลื่อนตัวมาปักหลักที่ทำเนียบรัฐบาลตามประสงค์ เหตุการณ์ดังกล่าวตามมาด้วยการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กระทรวงต่างประเทศได้ชี้แจงต่อทูตประเทศต่างๆ ว่า สถานการณ์มีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดความรุนแรงและก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยของสาธารณะในภาพรวม ในบางช่วงยังมีการดำเนินการที่ส่งผลกระทบต่อขบวนเสด็จ ประกอบกับสถานการณ์ของโรคโควิด19 จึงทำให้รัฐบาลตัดสินใจออกประกาศดังกล่าว และการสลายการชุมนุมในเช้าตรู่ของวันที่ 15 ตุลาคม 2563

มีการชูสามนิ้ว มีการเผชิญหน้า และการสลายการชุมนุม (อีกครั้ง)

ข้อกังขาต่อขบวนเสด็จ มาตรา 110 และความกราดเกรี้ยวของคนรุ่นใหม่

ขบวนเสด็จครั้งนั้นยังคงเป็นปริศนาจนบัดนี้ ปากคำของผู้อยู่บริเวณทำเนียบรัฐบาลตอนที่ขบวนเสด็จผ่าน ระบุว่า ไม่มีการประกาศเรื่องขบวนเสด็จที่จะผ่านถนนพิษณุโลกแต่อย่างใด ในขณะที่กลุ่มใหญ่ยังมาไม่สามารถฝ่าด่านสุดท้ายมาได้ บริเวณถนนพิษณุโลกใกล้ทำเนียบฯ ในเวลานั้นนอกจากผู้สื่อข่าว ประชาชนจากกลุ่มคณะราษฎรจำนวนไม่มากแล้ว ยังมีประชาชนคนเสื้อเหลืองอยู่บริเวณดังกล่าวด้วย เมื่อตรวจสอบจากคลิปวิดีโอเหตุการณ์จำนวน 3 คลิป

  • คลิปแรกจากผู้สังเกตการณ์พบว่า เวลาประมาณ 17.30 น.ที่เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ใกล้ทำเนียบรัฐบาล มีตำรวจชุดควบคุมฝูงชนจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ไม่มีการแจ้งว่าจะมีขบวนเสด็จหรือให้ประชาชนยืนอย่างเป็นระเบียบแต่อย่างใด มีเพียงความพยายามผลักดันให้ประชาชนออกไปจากสะพานชมัยมรุเชฐ มีการผลักดันกันช่วงหนึ่ง ระหว่างนั้นเองมีเสียงประชาชนช่วยกันตะโกนว่า “ให้ขบวนเสด็จผ่านไปๆ”  จากนั้นตำรวจเริ่มตั้งแนวล้อมประชาชนและสื่อมวลชนที่อยู่บริเวณดังกล่าว ด้านหน้าเป็นรถยนต์พระที่นั่งที่ค่อยๆ เคลื่อนตัวไปอย่างช้าๆ มีเสียงตะโกนว่า “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” และ “ทรงพระเจริญ” จากประชาชนเสื้อเหลือง ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งก็มีบางส่วนที่ชู 3 นิ้วและตะโกนว่า “ชาติ ศาสนา ประชาชน” 
  • คลิปที่ 2 เป็นของ วาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวสายทหารซึ่งอัพโหลดลงทวิตเตอร์เห็นว่า การถ่ายภาพมาจากบริเวณริมฟุตบาทถนนพิษณุโลก บริเวณแนวรั้วสำนักงาน ก.พ.ร. เยื้องกับประตูหนึ่งทำเนียบรัฐบาล รถยนต์พระที่นั่งสีงาช้าง ตามด้วยรถยนต์สีแดงเคลื่อนมาชะงักที่เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ด้านข้างมีตำรวจในชุดควบคุมฝูงชนคล้องแขนกั้นเป็นแนว แต่ไม่ได้มีลักษณะที่เป็นระเบียบนัก มีคนสวมเสื้อเหลืองอยู่ด้านหลังตำรวจและสะบัดธงชาติ จากนั้นรถยนต์พระที่นั่งเคลื่อนตัวไปอย่างช้าๆ มีเสียง “ทรงพระเจริญ” ด้านบนสะพานมีประชาชนชูสามนิ้ว
  • คลิปที่ 3 เป็นของ นพเก้า คงสุวรรณ ผู้สื่อข่าวข่าวสดถ่ายมุมสูงที่บริเวณใกล้แยกนางเลิ้ง เห็นว่า ขบวนเสด็จค่อยๆ เคลื่อนผ่านไปและมีประชาชนตะโกนว่า “ประชาธิปไตยจงเจริญ” มีประชาชนหลายสิบคนชูสามนิ้วและมีคนยืนถือธงชาติอยู่ด้วย มีเสียงผู้ชายที่ประกาศคล้ายจากลำโพงขนาดเล็กว่า “อย่าเพิ่งเดินผ่านหน้ารถนะครับ ขอบคุณครับ ขอผ่านก่อนนะครับ ขอบคุณครับ” ท้ายที่สุดขบวนเสด็จสามารถผ่านไปได้ 

เหตุการณ์ดังกล่าวนำไปสู่ข้อกังขาของประชาชนจำนวนไม่น้อย เพราะเป็นการจัดการถวายความปลอดภัยที่แตกต่างจากการเสด็จที่คุ้นชินกัน เห็นได้จากบรรยากาศความไม่เรียบร้อย การไม่จัดการเส้นทางล่วงหน้า ไม่มีการประกาศให้ประชาชนบริเวณนั้นทราบ สวนทางกับเมื่อ 13 ตุลาคมที่มีการเคลียร์เส้นทางและนำคณะราษฎรอีสานให้พ้นออกจากเส้นทางเรียบร้อยก่อนหน้าการเสด็จร่วม  2 ชั่วโมง รวมทั้งเส้นทางการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้ หลายฝ่ายมองว่ามีลักษณะอ้อม ทั้งที่สามารถใช้เส้นทางอื่นที่ใกล้มากกว่านี้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านบริเวณชุมนุม แต่ขบวนเสด็จกลับเลือกที่จะวิ่งผ่านเส้นทางที่กลุ่มผู้ชุมนุมจะผ่านแม้ว่าผู้ชุมนุมจะเลี่ยงจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปทำเนียบรัฐบาลแล้วก็ตาม

ไม่ว่าอย่างไรเหตุการณ์ขบวนเสด็จผ่านคณะราษฎรและมวลชนเสื้อเหลืองครั้งนี้นำไปสู่การกล่าวหาคดีประทุษร้ายต่อเสรีภาพพระราชินีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 คือ เอกชัย หงส์กังวาน, บุญเกื้อหนุน เป้าทอง, สุรนาถ แป้นประเสริฐ และประชาชนอีก 2 คน รวม 5 คน

ก้อนเหตุการณ์ดังกล่าวกลายเป็นตัวแปรในสถานการณ์ทางการเมืองอันแหลมคมและเป็นเชื้อไฟคำถามรอบใหม่ต่อขบวนเสด็จที่หลายฝ่ายตั้งคำถามต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่กลับถูกรัฐฉกฉวยมาเป็นเงื่อนไขในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงจำกัดเสรีภาพการแสดงออกและใช้ความรุนแรงต่อประชาชน การปราบปรามนักกิจกรรมด้วยคดีความและผู้ชุมนุมด้วยแก๊ซน้ำตา นำไปสู่ประสบการณ์ร่วมกันของคนจำนวนมากถึงความรุนแรงที่รัฐกระทำต่อประชาชน ความรุนแรงนี้เป็นแรงขับดันสำคัญให้ประชาชนออกมาเคลื่อนไหวหลังจากนั้น 

แม้ พล.ต.ต. ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลให้สัมภาษณ์ต่อบีบีซีไทยในเรื่องขบวนเสด็จว่า ตำรวจปฏิบัติตามกฎหมายทุกประการ แต่การกล่าวเช่นนั้นคงไม่สามารถคลี่คลายสถานการณ์ให้ดีขึ้น เห็นได้จากการชุมนุมจำนวนมากทั่วประเทศหลังการสลายการชุมนุมในเดือนตุลาคม 2563 ที่กระจายตัวราวดอกเห็ดและประชาชนออกมาร่วมทั้งที่ไม่มีแกนนำและเวทีปราศรัย ซึ่งเราเรียกกันว่า organic mob นั่นอาจเป็นเงื่อนไขที่นำไปสู่การยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง เพราะประกาศไปก็ไม่ได้ผล การชุมนุมทุกครั้งผู้คนยังเข้าร่วมจำนวนมากโดยเฉพาะเยาวชน การชุมนุมเป็นไปโดยสงบ จากนั้นรัฐจึงตัดสินใจปล่อยตัวชั่วคราวนักกิจกรรมที่ถูกฝากขังในเรือนจำทั้งหมดออกมา 

แนวโน้มการจัดการของตำรวจต่อผู้ชุมนุมในระยะต่อมาก็คือ ปล่อยให้จัดการชุมนุมได้และแจ้งดำเนินคดีในภายหลัง แนวทางการดำเนินการดังกล่าวอยู่บนฐานของการซื้อเวลาที่จะคลายอารมณ์และความสนใจของประชาชนลงไป ความรุนแรงไม่ได้หยุดยั้งเพียงแต่ซ่อนแอบในรูปแบบใหม่เท่านั้น

ขบวนเสด็จ การชุมนุม และสามนิ้วของเหล่าราษฎร

หลังจากนั้น แม้การชุมนุมเริ่มซาลงอันเป็นเรื่องธรรมชาติตามเงื่อนไขของเวลาและเศรษฐกิจ แต่ดูเหมือนการต่อสู้ของเหล่าราษฎรจะมีผลอยู่บ้างเห็นได้จากการชุมนุมของกลุ่มม็อบเฟสและเครือข่ายนักกิจกรรมหลายกลุ่มเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2563 

“…จะมีขบวนเสด็จขับผ่านแต่เราจะไม่ไปไหนเราจะอยู่ที่นี่ รอรับเสด็จร่วมกันแต่การรับเสด็จจะไม่เหมือนที่เคยผ่านมา เราจะหันหลังให้ขบวนเสด็จๆ ไม่พอจะชูสามนิ้วให้ดูด้วย และร้องเพลงชาติร่วมกัน…แสดงให้เขาเห็นว่า เราต้องการให้สถาบันกษัตริย์ปฏิรูป…”

คำกล่าวของแกนนำคนหนึ่งบนเวทีในวันนั้น นี่นับเป็นก้าวย่างที่สำคัญยิ่งเพราะก่อนหน้านี้ไม่นาน เพิ่งมีผู้ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 110 ซึ่งเป็นข้อหาอุจฉกรรจ์ มีโทษหนักถึงจำคุก 20 ปีหรือตลอดชีวิต แต่ประชาชนยังคงยืนยันที่จะมีปฏิบัติการเช่นเดียวกับครั้งก่อนๆ คือ ชูสามนิ้วให้ขบวนเสด็จ  แม้จะเป็นภาพที่ไม่คุ้นชินอย่างยิ่งสำหรับสังคมไทย แต่ท้ายที่สุดก็พบว่าไม่มีการแจ้งความดำเนินคดีจากกรณีนี้เพิ่มเติม 

การจัดการเริ่มต้นตั้งแต่เวลา 14.00 น. มีการวางกำลังตำรวจที่บริเวณแผงเหล็กเกาะกลางถนนราชดำเนินกลาง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กั้นพื้นที่ชุมนุมฝั่งแมคโดนัลด์และพื้นที่ขบวนเสด็จฝั่งเมธาวลัย จากนั้นเริ่มวางกำลังหนาแน่นขึ้นในเวลาประมาณ 16.00 น. มีการนำแผงเหล็กมากั้นพื้นที่ชุมนุมม็อบเฟสและรัดด้วยลวดอีกชั้นไม่ให้เลื่อนออกได้ และให้ตำรวจตั้งแถวเป็นแนวกั้นอย่างหนาแน่น ระหว่างนั้นตำรวจมีการประกาศถึงแนวปฏิบัติเป็นระยะๆ ก่อนที่ขบวนเสด็จจะเคลื่อนผ่านในเวลาประมาณ 17.30 น. ระหว่างที่ขบวนเคลื่อนราษฎรยืนหันหลัง ร้องเพลงชาติและชูสามนิ้ว ขณะที่ตำรวจตะโกนใส่เครื่องขยายเสียงว่า “ทรงพระเจริญ” ตลอดเวลาที่ขบวนเคลื่อนผ่าน เป็นต้นเสียงเดียวท่ามกลางความเงียบของถนนฝั่งขบวนเสด็จ 

กล่าวได้ว่า การชุมนุมและการต่อสู้ของประชาชนในรูปแบบต่างๆ ที่ผ่านมาสามารถยกระดับแนวปฏิบัติของตำรวจในการดูแลการชุมนุมและขบวนเสด็จร่วมกันได้ นอกจากนี้ยังสื่อสารให้สาธารณชนเห็นด้วยว่า แม้ราษฎรจะเรียกร้องโดยตรงต่อสถาบันกษัตริย์ แต่ราษฎรไม่ใช่ภัยต่อประมุขของรัฐและสามารถอยู่ร่วมกันได้ ทั้งการอยู่ร่วมกันได้นี้หมายรวมถึงการอยู่ร่วมกันในชีวิตประจำวันที่สังคมเคยตั้งคำถามไว้แล้วตั้งแต่ปลายปี 2562 

You May Also Like
อ่าน

กสม.ชี้หน่วยงานรัฐไทยเอี่ยวใช้สปายแวร์เพกาซัส ชงครม.สั่งสอบ-เรียกเอกสารลับ

กสม. เชื่อว่า มีการใช้สปายแวร์ เพกาซัสละเมิดสิทธิจริง โดยพิจารณาจากความน่าเชื่อถือของการตรวจสอบทางเทคนิคคอมพิวเตอร์ และบริบทแวดล้อมในต่างประเทศ นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า หน่วยงานรัฐไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้สปายแวร์
อ่าน

ขนุน สิรภพ กับความเติบโตในสายตาของอาจารย์

ชวนฟังมุมมองของอาจารย์ที่มีต่อลูกศิษย์ผู้ถูกคุมขังด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112