ประมวลการสลายการชุมนุมรีเด็ม #จำกัดอำนาจสถาบันกษัตริย์

20 มีนาคม 2564 การชุมนุม #จำกัดอำนาจสถาบันกษัตริย์ ของรีเด็มกลายเป็นการสลายการชุมนุมครั้งที่ 10 ของปี เฉลี่ยในทุกๆ 8 วันมีการสลายการชุมนุมเกิดขึ้น 1 ครั้ง โดยในระยะหลังการชุมนุมของรีเด็มกลายเป็นเป้าในการสลายการชุมนุม อาจด้วยสาเหตุจากพื้นที่การชุมนุมที่เป็นเขตพระราชฐานอันเป็นพื้นที่ที่รัฐมองว่า ล่วงละเมิดไม่ได้ เงื่อนไขในการเริ่มต้นสลายการชุมนุมเกิดขึ้นเมื่อผู้ชุมนุมช่วยกันเลื่อนเปิดแนวตู้คอนเทนเนอร์ที่ตำรวจกั้นขวางเอาไว้ แม้จะไม่มีพฤติการณ์ที่ชัดเจนถึงการเข้าไปในพื้นที่ของหวงห้ามก็ตาม แต่เจ้าหน้าที่ก็ได้ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมจนมีผู้สื่อข่าวและประชาชนได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ซึ่งลักษณะการเปิดแนวป้องกันดังกล่าวไม่ใช่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในอดีต หากแต่การชุมนุมในระยะหลังไม่สามารถกระทำได้อีกแล้ว เมื่อการเลื่อนเปิดแนวกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญในการสลายการชุมนุม

เปิดแนวคอนเทนเนอร์จุดตัดการสลายการชุมนุม

ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินฯ ส่งผลให้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ยกเว้นการใช้บังคับ อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวก็ยังคงเป็นแนวทางในการดูแลการชุมนุมสาธารณะของตำรวจ เห็นได้จากการยึดถือพื้นที่ที่อยู่ในรัศมี 150 เมตรจากเขตพระราชฐานเป็นพื้นที่ห้ามชุมนุมในการชุมนุมหลายครั้งที่ผ่านมา เช่น พระบรมมหาราชวัง, กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ที่ 1 (ราบ1) และกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ราบ 11)
วันที่ 20 มีนาคม 2564 เวลา 18.00-21.00 น. รีเด็มนัดชุมนุมเป็นครั้งที่ 3 บริเวณสนามหลวง หรือสนามราษฎร์ตามที่ผู้ชุมนุมเรียก ตั้งแต่เวลาประมาณ 06.30 น. เจ้าหน้าที่เริ่มวางตู้คอนเทนเนอร์เป็นแนวภายในสนามหลวงและเมื่อใกล้เวลานัดชุมนุมในเวลาประมาณ 16.00 น. ตำรวจวางแนวตู้คอนเทนเนอร์ยาวตั้งแต่ถนนราชดำเนินในหน้าศาลฎีกา ยาวข้ามไปสนามหลวงและถนนหน้าพระลาน นอกจากนี้ยังใช้ตู้คอนเทนเนอร์ปิดที่ถนนมหาราช ถนนอัษฎางค์และถนนหลักเมืองหลังกระทรวงกลาโหม
แนวคอนเทนเนอร์ที่กลายเป็นจุดตัดสู่การสลายการชุมนุมคือ แนวถนนราชดำเนินใน ด้านหน้าศาลฎีกา จากการใช้ Google map วางกรอบพิกัดพระบรมมหาราชวัง (เขตพระราชฐาน) และใช้โปรแกรม QGIS วัดรัศมี 150 เมตรจากพระบรมมหาราชวังพบว่า ระยะของแนวตู้คอนเทนเทนเนอร์อยู่นอกรัศมีจากพระบรมมหาราชวังเป็นระยะทางประมาณ 220 เมตร เดิมทีในการชุมนุมบริเวณดังกล่าวครั้งที่แล้วมาแนวของตำรวจมักจะตั้งอยู่ที่ขอบรัศมี 150 เมตร บริเวณหน้าศาลฎีกา เยื้อง “ซอยหน้าหับเผย” (ซอยที่อยู่ระหว่างศาลฎีกากับศาลหลักเมืองและสำนักงานอัยการสูงสุด) เล็กน้อย ระยะห่างดังกล่าวเคยเป็นพื้นที่ที่ประชาชนสามารถชุมนุมได้โดยสงบจนกระทั่งตัวแทนประกาศยุติกิจกรรม อย่างน้อยก็คือ การชุมนุมวันที่ 19-20 กันยายน 2563  #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร , 8 พฤศจิกายน 2563 #ราษฎรสาสน์  และ 13 กุมภาพันธ์ 2564 #นับหนึ่งถึงล้านคืนอำนาจให้ประชาชน
ในการชุมนุม #จำกัดอำนาจสถาบันกษัตริย์ ของรีเด็มเวลา 17.50 น. มีมวลชนนำโดยกลุ่มบุคคลที่มักวางบทบาทเป็นการ์ดในที่ชุมนุมได้เริ่มเก็บสิ่งกีดขวางของตำรวจ ลำดับแรกคือ ลวดหนามหีบเพลง ซึ่งเป็นมาตรการทั่วไปที่มวลชนมักจะม้วนเก็บเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บจากลวดหนาม ต่อมาเวลา 18.03 น. กลุ่มดังกล่าวปีนตู้คอนเทนเนอร์และรื้อสแลนสีเขียวที่ขึงบนตู้ออก จากนั้น 25 นาทีถัดมาเริ่มนำเชือกไปผูกที่ตู้คอนเทนเทนเนอร์หน้าศาลฎีกาและดึงลง โดยขอแรงของมวลชนที่มีลักษณะทั่วไปประกอบมวลชนที่วางตัวเป็นการ์ดไม่น้อยกว่า 50 คน (ไม่นับรวมผู้ที่มายืนดูหรืออยู่บริเวณดังกล่าว)
ระหว่างนั้นตำรวจประกาศเตือนไม่น้อยกว่า 4 ครั้ง ทั้งขอให้หยุดการกระทำและเตือนมาตรการตามขั้นตอน ขณะเดียวกันมีมวลชนไม่น้อยกว่า 1,500 คนกระจายกันทำกิจกรรมรอบพื้นที่ เช่น ในสนามหลวงมีการสกรีนลายว่าว, เล่นสเกตบอร์ดและบางส่วนกำลังนั่งกินข้าวที่ร้านค้าบริเวณก่อนไฟแดงแยกผ่านพิภพลีลา เวลา 19.01 น. ผู้ชุมนุมดึงตู้คอนเทนเนอร์ด้านล่างออกเปิดแนว 1 แนวจากจำนวนไม่น้อยกว่า 30 แนว ตั้งแต่กำแพงหน้าศาลฎีกายาวไปจนถึงตึกแดง ถนนหน้าพระลาน ด้านในมีรถเครื่องขยายเสียงและรถฉีดน้ำ 2 คันจอดอยู่  หน้าแนวกั้นมีกลุ่มผู้ชุมนุมไม่น้อยกว่า 20 คนและผู้สื่อข่าวจำนวนมาก เท่าที่เห็นยังไม่มีการขยับเข้าไปแนวหลังตู้คอนเทนเนอร์ จากนั้นตำรวจนับถอยหลังจาก 9-2 และฉีดน้ำเข้ามาที่บริเวณชุมนุมเป็นเวลา 20 วินาที ผู้สังเกตการณ์และผู้ที่อยู่บริเวณนั้นไม่รู้สึกถึงอาการระคายเคืองทางเดินหายใจและดวงตา
เวลา 19.02 น. ผู้ชุมนุมมีการปาสิ่งของเช่น ขวดน้ำและวัตถุติดไฟเข้าไปในที่แนวตำรวจ ตำรวจฉีดน้ำระลอกสั้นอีก 1 ครั้งและประกาศว่า ถ้ายังฝ่าฝืนจะใช้น้ำผสมสารเคมี และมีการฉีดเป็นระลอกสั้นๆ อีกไม่น้อยกว่า 2 ครั้งพร้อมทั้งมีการประกาศว่า ไม่ให้ผู้ชุมนุมล้ำแนวตู้คอนเทนเนอร์เข้ามา   ต่อมาเวลา 19.05 น. ผู้ชุมนุมคนหนึ่งเดินไปที่แนวเปิดพร้อมส่งสัญญาณมือให้ตำรวจไม่ทำอะไรเขา จากนั้นลากแผงเหล็กมาปิดแนวตู้คอนเทนเนอร์ที่เปิดออก เวลา 19.06 น. มีเสียงปังดังขึ้นเป็นระยะไม่น้อยกว่า 5 ครั้ง  บริเวณหน้าศาลพระแม่ธรณี ผู้ชุมนุมมีการนำผ้าสีขาวขนาดใหญ่มาปูและให้เขียนข้อความลงบนผ้า
ไล่เลี่ยกันในเวลา 19.10 น. ที่แยกคอกวัว แทบไม่มีรถยนต์ผ่านเข้าแยกคอกวัวมุ่งหน้าแยกผ่านพิภพลีลาแล้ว ตำรวจควบคุมฝูงชนทยอยออกจากลานจอดรถกองสลากเก่าและตั้งแถวเตรียมพร้อมแล้วและประกาศว่า พื้นที่บริเวณที่ปักหลักคือแยกคอกวัวยาวไปถึงราชดำเนินในเป็นพื้นที่ควบคุม จำเป็นต้องปิดการจราจร โดยแนวเดินจะไปประกบทางด้านหลังของผู้ชุมนุมบริเวณสะพานผ่านพิภพลีลา นับรวมระยะเวลาตั้งแต่เปิดแนวตู้คอนเทนเนอร์จนถึงระยะที่ตำรวจตัดสินใจตั้งแถวที่แยกคอกวัวมุ่งหน้าสะพานผ่านพิภาพลีลาใช้เวลาประมาณ 9 นาที
เวลา 19.13 น. ที่แนวตำรวจด้านหน้าศาลฎีกา ตำรวจประกาศว่า ใครเข้ามา [ด้านหลังตู้คอนเทนเนอร์] ให้จับเลย ผู้ชุมนุมพยายามควบคุมสถานการณ์ เวลา 19.17 น. ชินวัตร จันทร์กระจ่างประกาศอย่างต่อเนื่องให้ผู้ชุมนุมเข้าไปในสนามหลวง ซึ่งมีแนวคอนเทนเนอร์กั้นอยู่ เขากล่าวด้วยว่า  “ปล่อยให้ตำรวจมันบ้าไป อย่าไปปะทะ” และในเวลา 19.24 น. ผู้ชุมนุมที่อยู่บนผิวการจราจรถนนราชดำเนินในเริ่มกรูออกมาที่แยกสะพานผ่านพิภพลีลา ส่วนที่หน้าแนวตู้คอนเทนเนอร์ผู้ชุมนุมใช้ลวดหนามและแผงเหล็กกั้นมาปิดแนวตู้คอนเทนเนอร์ที่เปิดไว้ ขณะที่ตำรวจบนรถเครื่องเสียงที่เดินแถวมาจากแยกคอกวัวประกาศว่า ชุดตอบโต้เตรียมพร้อม ถ้ามีการดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน อนุญาตให้ใช้อุปกรณ์พิเศษได้
ต่อมาเวลา 19.33 น. ตำรวจควบคุมฝูงชนออกมาจากแนวตู้คอนเทนเนอร์และเดินเข้าหาผู้ชุมนุมและมีรายงานการใช้กระสุนยางเวลา 19.37 น. จากลำดับเหตุการณ์เห็นได้ว่า แม้ผู้ชุมนุมจำนวนมากจะขยับพื้นที่เข้าไปภายในสนามหลวงที่เป็นพื้นที่ที่ตำรวจประกาศให้มีการจัดกิจกรรมจนลุล่วงได้และผู้ชุมนุมบางส่วนหน้าแนวกั้นนำแผงเหล็กมาปิดแนวแล้ว แต่ไม่สามารถยับยั้งหรือเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจสลายการชุมนุมของตำรวจได้  และแม้การประกาศของตำรวจจะระบุว่า ต้องการรักษาแนวสิ่งกีดขวางไว้เท่านั้น แต่เมื่อรุกไล่ผู้ชุมนุมให้พ้นจากแนวแล้วก็ไม่มีท่าทีที่จะหยุดเพื่อรักษาแนวดังกล่าวไว้

พัฒนาการการแจ้งเตือนและความไม่ย่นย่อในการใช้กำลังของตำรวจ

ที่ผ่านมารีเด็มจัดการชุมนุมมาแล้ว 3 ครั้งคือ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ที่หน้ากองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ที่ 1 (ราบ1), วันที่ 6 มีนาคม 2564 ที่หน้าศาลอาญาและครั้งล่าสุดวันที่ 20 มีนาคม 2564 ที่สนามหลวง โดยครั้งแรกที่ราบ 1 และครั้งที่ 3 ที่สนามหลวง ตำรวจใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม จุดร่วมกันคือเรื่องเขตพระราชฐาน เจ้าหน้าที่ได้อ้างว่า ราบ 1 เป็นเขตพระราชฐาน และสนามหลวงที่มีพื้นที่บางส่วนทางสนามหญ้าอยู่ในรัศมี 150 เมตรจากเขตพระราชฐาน
ทั้งยังเป็นที่น่าสังเกตว่า เหตุของการสลายการชุมนุมมาจากการเลื่อนตู้คอนเทนเนอร์ทั้ง 2 ครั้ง ทั้งที่การชุมนุมในปี 2563 ไม่ว่า ผู้ชุมนุมจะฝ่าแนวกั้นที่สนามหลวง หรือเลื่อนแนวรถเมล์ที่หน้าศาลฎีกาและหน้าราบ 11 ก็ดี การชุมนุมยังสามารถเกิดขึ้นต่อไปได้
ในเรื่องของพัฒนาการการแจ้งเตือนนั้น การสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงของรัฐที่หน้าราบ 1 (อ่านเพิ่มเติม) นำไปสู่การปรับตัวเตรียมพร้อมของผู้ชุมนุมในการเข้าร่วมการชุมนุมครั้งต่อมาของรีเด็มเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ห้าแยกลาดพร้าว ผู้ชุมนุมตั้งเป้าเดินขบวนไปที่ศาลอาญา รัชดา ธีมของการชุมนุมครั้งนี้คือ การเผาขยะ เมื่อผู้ชุมนุมเดินไปถึงพบว่า ตำรวจได้ตั้งแนวภายในศาลอาญา เว้นระยะจากรั้วของศาลอาญา จากนั้นตำรวจได้ทำการประกาศข้อกฎหมายที่แตกต่างไปจากการประกาศในครั้งก่อนๆ เดิมทีตำรวจมักจะอ่านข้อความลักษณะที่ว่า ขณะนี้อยู่ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และโทษของการฝ่าผืนกฎหมาย แต่ครั้งนี้มีการประกาศรูปแบบใหม่โดยมีการอ้างอิงถึงเสรีภาพการชุมนุมที่รัฐธรรมนูญกำหนด แต่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาเป็นเงื่อนไขให้กระทำไม่ได้เช่นเดิม สุดท้ายการชุมนุมก็ดำเนินไปจนเสร็จสิ้น
อย่างไรก็ตามการสลายการชุมนุมก็กลับมาอีกครั้งในวันที่ 20 มีนาคม 2564 ตำรวจมีการแจ้งเตือนผู้ชุมนุมเรื่องการห้ามฝ่าแนวกีดขวางอยู่ไม่น้อยกว่า 4 ครั้งและพยายามชี้แจงต่อผู้ชุมนุมตามกรอบคิดของตำรวจ เช่น
๐ เวลา 18.56 น. ตำรวจประกาศว่า ในแนวรัฐศาสตร์ เราต้องมาคุยกันเพื่อจะแก้ปัญหาของท่าน…เราต้องแก้ปัญหาไปด้วยกัน พวกเราเจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่รักษาปลอดภัย  ระหว่างนั้นมีฉีดน้ำในลักษณะทดสอบ 1 ครั้งประมาณ 2 วินาที
๐ เวลา 18.58 น. ตำรวจประกาศต่อเนื่องทำนองว่า หากผู้ชุมนุมทำกิจกรรมบริเวณหน้าแนวคอนเทนเนอร์จะไม่ว่าอะไรเลยเพื่อสร้างบรรทัดฐานในการชุมนุม เมื่อมีแนวกั้นตรงนี้ก็ทำกิจกรรมตรงนี้ให้ลุล่วงไป เจ้าหน้าที่ตำรวจจะอยู่ตรงนี้เพื่อรักษาความปลอดภัยของทุกคนที่มาร่วมการชุมนม ฉะนั้นอย่างทำลายแนวกั้นตรงนี้เลย…หากมีแนวคิดที่ดี มีความรู้ความสามารถที่ดี เราจะนำไปแก้ไขปรับปรุงให้ประเทศเจริญก้าวหน้าต่อไป เราอยากให้พี่น้องจัดกิจกรรมอย่างสงบ
ตำรวจมีการแจ้งเตือนมาตรการการใช้เครื่องมือในการควบคุมฝูงชน เช่น การฉีดน้ำ, การฉีดน้ำผสมสารเคมี และการใช้อุปกรณ์พิเศษ แต่ไม่ได้ระบุว่า เป็นอุปกรณ์ชนิดใด อย่างไรก็ตามเมื่อตำรวจเริ่มใช้กระสุนยาง ผู้สังเกตการณ์ที่อยู่ในพื้นที่หน้าศาลฎีกา, สนามหลวงและเชิงสะพานพระปิ่นเกล้าฯ ไม่ได้ยินการแจ้งเตือนเรื่องการใช้กระสุนยาง นอกจากนี้ตำรวจยังคงยิงกระสุนยางในลักษณะขนานกับศีรษะและยิงในระยะประชิด มีรายงานผู้ถูกยิงบริเวณเหนือเอว เช่น ผู้สื่อข่าวช่อง 8 ถูกยิงเข้าที่ศีรษะ, ผู้สื่อข่าวประชาไทถูกกระสุนยางยิงเข้าที่บริเวณเหนือเอวด้านหลัง และผู้ชุมนุมรายหนึ่งถูกยิงเข้าที่แขนขวาด้านบน นอกจากนี้ระหว่างการสลายการชุมนุมบริเวณหน้าศาลฎีกายังมีรายงานว่า เยาวชน 1 คนถูกยิงด้วยกระสุนยาง
ตามแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุยชนของสหประชาชาติว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำในการบังคับใช้กฎหมาย (United Nations Human Rights Guidance on Less-Lethal Weapons in Law Enforcement) ของ OHCHR  ขอบเขตของการใช้กระสุนยางต้องใช้โดยเจ้าหน้าที่รัฐ (ตำรวจ) เพื่อใช้รับมือกับบุคคลที่ใช้ความรุนแรงและใช้ในการยิงที่เล็งไปที่ช่วงท้องส่วนล่าง หรือ ขา ของบุคคลที่ใช้ความรุนแรงเท่านั้น และเฉพาะในกรณีที่เล็งเห็นว่ากำลังจะเกิดอันตรายต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือสาธารณชน
การชุมนุมครั้งนี้ตำรวจมีการขอตัวแทนเจรจาแต่ไม่มีความชัดเจนว่า ตัวแทนคือใครและข้อเสนอเป็นอย่างไร , มีการเปิดเส้นทางให้ผู้ชุมนุมออกที่ทางสะพานพระปิ่นเกล้า และมีการเจรจาให้ออกบริเวณถนนอัษฎางค์ด้วย นอกจากนี้ยังประกาศให้ผู้ที่มีรถคงค้างในพื้นที่ควบคุมสามารถนำรถออกได้ แต่ผู้ชุมนุมไม่น้อยกว่า 200 คนยังคงไม่ยินยอมล่าถอยไปที่ 3 จุดหลัก ได้แก่ เชิงสะพานพระปิ่นเกล้า, แยกคอกวัว และสะพานวันชาติ ดังนี้
๐ เชิงสะพานพระปิ่นเกล้า เหตุการณ์บริเวณนี้อยู่ระหว่างเวลา 19.49 – 21.00 น. แนวตำรวจบริเวณนี้ปักหลักอยู่ที่เชิงสะพานพระปิ่นเกล้า มีลักษณะวางกำลังอยู่กับที่เพื่อผลักดันผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ ในระหว่างเวลา 19.49 – 20.14 น. ผู้ที่อยู่ด้านหน้าแนวตำรวจมีการขว้างปาสิ่งของเรื่อยๆ ต่อมาเวลา 19.58 น. มีเสียงดังปัง 1 ครั้ง และเวลา 20.04 น. ผู้ที่รวมตัวอยู่แนวด้านหน้าตำรวจมีการปาวัตถุที่ก่อเสียงคล้ายระเบิด 1 ครั้ง หลังจากนั้นมีควันคละคลุ้งที่หน้าแนวตำรวจเป็นเวลาประมาณ 15 วินาที ต่อมาเวลา 20.17 น. ตำรวจเริ่มใส่กระสุนยางอย่างต่อเนื่อง และเวลา 20.39 น. จึงเริ่มใช้แก๊สน้ำตา จนผู้ชุมนุมล่าถอยและบางส่วนไปรวมกันที่แยกคอกวัวในเวลา 21.00 น. ไม่มีรายงานการจับกุมผู้ชุมนุมบริเวณนี้
๐ แยกคอกวัว เหตุการณ์บริเวณนี้อยู่ระหว่างเวลา 19.44 – 23.00 น. ตั้งแต่เวลา 19.10 น. ที่แยกคอกวัวตำรวจตั้งแนวมุ่งหน้าสลายการชุมนุมที่ท้องสนามหลวงและหน้าศาลฎีกา เวลา 19.44 น. เริ่มมีการรวมตัวของกลุ่มมอเตอร์ไซด์ด้านหลังแนวตำรวจที่แยกคอกวัว และมีการใช้แก๊สน้ำตาในเวลา 21.03 น. ทำให้ต่อมาเวลา 21.19 น.ตำรวจได้ตั้งแนวและใช้แก๊สน้ำตาขยับดันผู้ชุมนุมมาทางอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ผู้ชุมนุมบางส่วนล่าถอยจากแยกคอกวัวมาที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยระหว่างนั้นได้นำกระถางต้นไม้มาโยนกลางถนนเพื่อชะลอการเดินหน้าของตำรวจ แต่มีผู้ชุมนุมบางส่วนเดินย้อนหลบไปทางถนนดินสอ ถนนข้าวสารและตามซอยเล็กซอยน้อยบริเวณดังกล่าว ทำให้ยังมีมวลชนคงค้างที่บริเวณดังกล่าว บริเวณนี้มีการจับกุมผู้ชุมนุม 5 คน
เวลาประมาณ 22.20 น. ได้รับรายงานว่า ผู้สื่อข่าวประชาไทถูกกระสุนยางยิงเข้าที่บริเวณเหนือเอว ด้านหลังและมีรายงานด้วยว่า ผู้สื่อข่าวช่อง 8 ถูกกระสุนยางยิงบริเวณขมับ
๐ สะพานวันชาติ  รายงานจากกรองข่าวแกงระบุว่า เหตุการณ์บริเวณนี้อยู่ระหว่างเวลา 22.00-23.46 น. มีมวลชนขับมอเตอร์ไซด์ไปปักหลักที่บริเวณแยก สะพานวันชาติและขว้างปาสิ่งของ เช่น ขวดและประทัดเข้าไปที่แนวตำรวจควบคุมฝูงชน จากนั้นเวลา 22.55 น. ตำรวจเริ่มใช้กระสุนยาง และเวลา 23.16 น. ผู้ชุมนุมยังคงปักหลักทำแนวกั้นบนสะพานวันชาติ ตำรวจมีการเติมกำลัง พร้อมรถฉีดน้ำเข้าไปที่บริเวณดังกล่าวเรื่อยๆ จากนั้นตำรวจบุกข้ามแยกสะพานวันชาติเข้าไปกระชับพื้นที่ ด้านผู้ชุมนุมถอยร่นไปทางถนนประชาธิปไตย บริเวณนี้มีการจับกุมผู้ชุมนุม 8 คน
ระหว่างการเข้ากระชับพื้นที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Baipat Nopnom  เผยแพร่คลิปวิดีโอขณะที่ตำรวจเข้าจับกุมมีการกระทืบผู้ชุมนุมรายที่ 1 จนล้มลง จากนั้นมีการเตะและใช้กระบองตีซ้ำๆ อีกครั้งแม้ผู้ชุมนุมจะลงไปนอนหมอบแล้วก็ตาม และมีการใช้เท้าเตะและกระบองตีผู้ชุมนุมที่นอนหมอบกับพื้นซ้ำๆ อีก 1 ราย

การสลายการชุมนุมไม่คำนึงผลกระทบของผู้ไม่เกี่ยวข้อง

ในการสลายการชุมนุมตำรวจไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงนัก เช่น เวลา 21.03 น. ที่แยกคอกวัว ตำรวจวางแนวกั้นและนำรถฉีดน้ำแรงดันสูงหันหน้าเข้าหาผู้ชุมมุมที่อยู่บริเวณป้อมจราจรฝั่งตรงข้าม จากนั้นมีการใช้แก๊สน้ำตายิงเข้าหาผู้ชุมนุมที่อยู่ด้านหน้า แต่เวลาดังกล่าวกระแสลมย้อนลงมาทางแนวตำรวจหรือทางแยกสะพานผ่านพิภพลีลา ทำให้แก๊สน้ำตาส่งผลกระทบต่อคนที่อยู่ใต้ลม รวมทั้งประชาชนทั่วไปที่กำลังอยู่บริเวณถนนข้าวสาร ขณะที่ประชาชนกำลังทานอาหารและเดินผ่านไปมา เกิดอาการแสบตา แต่เมื่อไม่ทราบสาเหตุทุกคนจึงต่างมองหน้ากันด้วยความไม่เข้าใจ
จากนั้นประมาณ 30 วินาทีมีประชาชนวิ่งจากถนนข้าวสาร บริเวณใกล้แยกคอกวัวเข้ามา มีบางคนตะโกนว่า แก๊สน้ำตา ผู้คนจึงเข้าใจและต้องวิ่งเข้าตึกเพื่อหนีแนวลมที่ส่งแก๊สน้ำตาเข้ามา ต่อมาเวลา 22.07 น. ระหว่างที่ตำรวจตั้งแนวขยับไล่ผู้ชุมนุมจากแยกคอกวัวมาที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมีการใช้แก๊สน้ำตาส่งผลกระทบต่อผู้ที่อยู่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย บางส่วนวิ่งกรูเข้ามาในแมคโดนัลด์และร้องขอการปฐมพยาบาลไม่น้อยกว่า 20 คน บางคนคลื่นไส้อาเจียน จำนวนมากแสบที่ดวงตา แก๊สน้ำตายังเข้ามาภายในร้านแมคโดนัลด์อีกด้วย

ลำดับเหตุการณ์การชุมนุม

11 มีนาคม 2564
เทเลแกรมรีเด็ม เปิดให้สมาชิกเลือกวันชุมนุมใหญ่ระหว่างวันที่ 15-21 มีนาคม 2564 โดยมีผู้ร่วมออกเสียง 11,700 เสียง มากสุดคือ วันเสาร์ที่ 20 มีนาคม 2564 ที่ร้อยละ 61 หรือ 7,148 เสียง
12 มีนาคม 2564
เทเลแกรมรีเด็มประกาศนัดชุมนุมใหญ่วันที่ 20 มีนาคม 2564
17 มีนาคม 2564
เทเลแกรมรีเด็มประกาศนัดนัดชุมนุมวันที่ 20 มีนาคม 2564 เวลา 18.00-21.00 น. ที่สนามหลวง ทำกิจกรรมพับจดหมาย “จำกัดอำนาจกษัตริย์” ส่งข้ามรั้ววัง
18 มีนาคม 2564
เทเลแกรมรีเด็มประกาศว่า 20 มีนาคม 2564 เวลา 19.19 น. กลุ่มเพื่อนอานนท์จะอ่านบทปราศรัยประวัติศาสตร์ของอานนท์ นำภา โดยผู้เข้าร่วม 10,000 คนแรกรับฟรีหนังสือสถาบันกษัตริย์กับสังคมไทย
19 มีนาคม 2564
วอยซ์ทีวีรายงานว่า พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวถึงการชุมนุมของ REDEM ในวันที่ 20 มีนาคม 2564 บริเวณสนามหลวง ว่า ผู้จัดกิจกรรมและผู้เข้าร่วมจะมีความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งทั้งหมดจะต้องได้รับโทษตามกฎหมาย เบื้องต้นกองบัญชาการตำรวจนครบาลได้เตรียมกำลังตำรวจควบคุมฝูงชนไว้รองรับสถานการณ์ 22 กองร้อย ซึ่งจะมีการใช้ตามความจำเป็น โดยหากไม่มีความรุนแรงหรือกระทบต่อสถานที่สำคัญ และไม่ทำให้ประชาชนทั่วไปเดือดร้อนก็จะไม่ตั้งเครื่องกีดขวางใดๆ ซึ่งทางการข่าวขณะนี้ยังเชื่อว่า ไม่มีความรุนแรงเพราะยังไม่พบสิ่งบ่งชี้ความรุนแรง  ถ้าหากกลุ่มผู้ชุมนุมจะมีการปรับเปลี่ยนแผน หรือ เปลี่ยนพื้นที่ในการชุมนุมตำรวจก็มีแผนในการรองรับอยู่แล้ว เพื่อให้เกิดความวุ่นวายให้น้อยที่สุด ขณะที่ด้านพล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ระบุว่า หากผู้ชุมนุมมีการแจกจ่ายเอกสาร หรือสื่อสิ่งพิมพ์เนื้อหาที่ผิดกฎหมาย ทั้งผู้พิมพ์ ผู้ผลิต ผู้แจกจ่ายและ ผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ก็ถูกดำเนินคดีด้วย
ที่มา : https://www.voicetv.co.th/read/FfR3QxAlr?fbclid=IwAR3_OF7R2Y1B3-Tvf3Z5tUwt1a554Si5Set7lcMCipQ_U28cslRAfJAlOoQ
20 มีนาคม 2564
11.05 น. ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล พ.ต.อ. กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงข่าวว่า ตามที่มีการประกาศเชิญชวนว่า จะมีการชุมนุมที่สนามหลวงของ 3 กลุ่ม ก่อนหน้านี้ได้มีการประกาศแจ้งเตือนให้กลุ่มผู้ชุมนุม กลุ่มที่มาเสริมหรือชักชวนให้มาชุมนุมได้ทราบว่า การชุมนุมที่เกิดขึ้นเป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย
พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลกล่าวว่า ขอแจ้งเตือนว่า ขณะนี้กทม.เป็นพื้นที่ควบคุมตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประกอบกับประกาศฉบับที่ 5 ของหัวหัวหน้าผู้รับผิดชอบฯ ห้ามการชุมนุมในเขตพื้นที่กทม.ประกอบกับพ.ร.บ.โรคติดต่อ ฯ ขณะนี้การชุมนุมทุกอย่างถือว่า เป็นการกระทำผิดกฎหมาย  ฝากเรียนเตือนผู้ชุมนุมอีกกลุ่มหนึ่งว่า กรณีที่จะมีการแจกจ่ายหนังสือบางอย่าง หรือ สิ่งพิมพ์บางอย่างที่มีเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย ไม่ว่าเนื้อหานั้นจะเป็นความผิดหมิ่นประมาทผู้ใดหรือหมิ่นประมาทตามมาตรา 112 ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา ผู้จำหน่าย ผู้จ่ายแจกหรือผู้ที่เกี่ยวข้องประการใด ถือว่า เป็นผู้ร่วมกระทำผิดด้วยทั้งนั้น
วันนี้บช.น.จัดกำลังตำรวจตามสถานการณ์และการข่าว รวมทั้งตำรวจจราจรอำนวยความสะดวกประชาชน นับตั้งแต่มึการชุมนุมมาตำรวจได้มีการจับกุมและควบคุมตัวผู้กระทำผิดตามกฎหมาย 179 คดี ส่งฟ้อง 129 คดีที่เหลืออยู่ระหว่างสืบสวนสอบสวน
และตอบคำถามเรื่องนักกิจกรรมยื่นหนังสือไม่ให้ตั้งสิ่งกีดขวางที่จะกระทบต่อการสอบของนักเรียนว่า จริงๆแล้วแก้ปัญหาได้ง่าย…แก้ได้นิดเดียวคือถ้าผู้ชุมนุมไม่มาก็ไม่มีปัญหาใดๆ ผลกระทบต่อเด็กที่สอบเพราะกลุ่มผู้ชุมนุมทั้งนั้น ไม่ใช่การระวังป้องกันของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
พ.ต.อ.กฤษณะเสริมว่า ความจำเป็นในการวางสิ่งกีดขวางเป็นการระวังป้องกันไม่ให้มีการกระทำผิดซ้ำ ระวังป้องกันสถานที่ราชการสำคัญ การป้องกันไม่ให้เกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ หรืออาจจะเป็นการป้องกันไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมเองที่บางครั้งแล้วอาจจะไม่มีความตั้งใจที่จะบุกรุก แต่ในขณะชุมนุมอาจจะมีลักษณะอารมณ์ร่วม ฉะนั้นการวางสิ่งกีดขวางเป็นการป้องกันไม่ให้กระทำความผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า อย่างไรก็ตามในการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งก็คงจะมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันอยู่แล้ว
และกล่าวต่อว่า ในห้วงปกติที่ไม่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน การชุมนุมต้องเป็นไปตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ตอนนี้อยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษการชุมนุมไม่สามารถเกิดขึ้นได้ รวมถึงถ้าไปดูตามคอมเมนท์มีการเชิญชวนใช้สิ่งของที่ไม่เหมาะสมบุกรุกเข้าไปในสถานที่ การขว้างปาสิ่งของต่างๆนอกจากจะผิดกฎหมายแล้วยังไม่สมควรอีกด้วย การวางแนวป้องกันเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดที่รุนแรงมากไปกว่าเดิม
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า เวลา 13.15 น. ตร.สภ.รัตนาธิเบศร์ นนทบุรี นำหมายค้นของศาลจังหวัดนนทบุรี เข้าค้นออฟฟิศของสำนักพิมพ์ ฟ้าเดียวกัน โดยระบุว่าเพื่อพบและยึด “หนังสือ สถาบันพระมหากษัตริย์กับสังคมไทย”
15.30 น. เริ่มมีมวลชนมารอที่ฟุตบาทหน้ามธ. ถนนหน้าพระลาน ขณะที่สนามหลวงมีการปิดประตู้รั้วทั้งหมด ภายในมีเจ้านห้าที่เทศกิจอยู่
15.43 น. ที่ถนนมหาราชตัดเข้าพระบรมมหาราชวัง เจ้าหน้าที่นำตู้คอนเทนเนอร์มาวางขวางถนน  สอบถามแม่ค้าที่อยู่บริเวณดังกล่าวระบุว่า เจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการมาแจ้งก่อนปิดการจราจร ผู้ค้าต้องเดินไปสอบถามเจ้าหน้าที่เรื่องเส้นทางด้วยตนเอง
15.48 น. รถยนต์ที่สัญจรผ่านเข้ามาที่ถนนมหาราชแล้วต้องกลับรถไปทางท่าพระจันทร์ ชาวบ้านบางคนตั้งคำถามว่า ทำไมไม่ปิดทางเข้าท่าพระจันทร์ก่อนและเมื่อรถสะสมออกไปหมดแล้วค่อยปิด
16.14 น. ปิดการจราจรบริเวณเจดีย์ขาวเข้าถนนหน้าพระลาน กลุ่มผู้ชุมนุมที่หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พูดคุยกันว่า จะไปรวมตัวกันที่พระแม่ธรณี
16.38 น. ถนนอัษฎางค์ตลอดแนวที่สามารถเลี้ยวไปพระบรมหหาราชวังมีตู้คอนเทนเนอร์ขวางไว้
16.48 น.ถนนราชินี ด้านหลังศาลฎีกา ตำรวจวางแผงเหล็กกั้นและวางกำลังด้วย (ถนนจะตัดเข้าซอยหน้าหับเผย ศาลหลักเมืองได้) มวลชนรวมตัวไม่น้อยกว่า 300 คน
16.59 น. ถนนหลักเมือง หลังกระทรวงกลาโหมเจ้าหน้าที่กำลังตั้งตู้คอนเทนเนอร์และติดลวดหนามหีบเพลงบนหลังคาตู้
17.03 น. บริเวณปากซอยบูรณศาสตร์ถนนราชดำเนินมุ่งหน้าสนามหลวง ตำรวจตั้งกรวยจราจรและจอดรถตู้ตำรวจไว้ มีตำรวจในเครื่องแบบเฝ้าอยู่ประมาณ 10 คน แต่ยังไม่มีการปิดการจราจร
17.04 น. บริเวณใต้สะพานไปปิ่นเกล้ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจราว 5-6 นาย ตั้งจุดสกัดไม่ให้รถจักรยานยนต์เข้าไปทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ประตูท่าพระอาทิตย์ และสนามหลวง โดยแผงกั้นที่ตั้งไว้มีป้ายระบุเหตุผลที่ไม่ให้ผ่านว่า มีการชุมนุม
17.20 น. หน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมีการตั้งแผงกั้นระบุว่า มีการชุมนุมฯ หลีกเลี่ยงเส้นทางถนนราชินีและหน้าพระธาตุ แต่แผงกั้นไม่ได้กั้นจนสุดเขตถนน รถยนต์ยังพอผ่านได้ ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรจะคอยสอบถามผู้ขับขี่ตลอดว่า จะไปที่ไหน ถ้าไปบริเวณหน้าพระธาตุ ตำรวจจราจรจะแจ้งว่า ไปไม่ได้
17.35 น. ผู้ชุมนุมมีการตัดลวดที่คล้องประตูสนามหลวงไว้และเปิดออก จากนั้นมวลชนเข้าไปรวมตัวในสนามหลวง เวลาเดียวกันผู้กำกับการสน.ชนะสงครามมาประกาศข้อกฎหมาย มีตำรวจควบคุมฝูงชนมาตั้งแนวล้อมรักษาความปลอดภัย ระหว่างประกาศมีผู้ชุมนุมไปตีตีนตบที่ด้านหน้าแนวพร้อมร้องรำทำเพลง เมื่อประกาศเสร็จจึงถอยหลังกลับสน.ชนะสงคราม ผู้ชุมนุมโห่ไล่ออกไปจนข้ามถนนไปถึงเกาะกลางแล้วหยุด บอกว่า พวกเราพอ กลับที่ตั้ง
17.40 น. ขบวนรถเครื่องเสียงมาจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมุ่งหน้าเข้าสู่สนามสนามหลวง มีมวลชนเดินตามรถประมาณ 50 คน  พร้อมชูป้ายกระดาษสีเขียวที่มีรูปผู้ถูกขัง และข้อความ #ปล่อยเพื่อนเรา
17.48 น. มวลชนที่มีลักษณะของการ์ดเก็บลวดหนามหน้าตู้คอนเทนเนอร์ ศาลฎีกา
17.54 น. ด้านในสนามหลวงกลุ่มศิลปะปลกแอกเริ่มทำกิจกรรมเพนท์รูปนักกิจกรรมที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำลงบนว่าว
18:03  น. มวลชนที่มีลักษณะของการ์ดพยามปีนตู้คอนเทนเนอร์และดึงแสลนเขียวออก
18.08 น. มีมวลชนผูกผ้าที่มีลักษณะเหมือนคน ห้อยติดต้นไม้ สอบถามระบุว่า เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ระลึกถึงเหตุการณ์ 6ตุลาที่มีศพนิรนามถูกแขวนคอที่บริเวณสนามหลวง
18:09 น. หลังตู้คอนเทนเนอร์ข้างศาลฎีกาพบเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบนำตู้เชื่อมเหล็กและเชื่อมตู้คอนเทนเนอร์เข้าด้วยกัน
18.11 น. พบโดรนบินเหนือสนามหลวง
18:19 น. หน้าศาลฎีกามีรถเข็นเครื่องเสียง 3 คันยังไม่เปิดใช้
18:24 น. หน้าศาลฎีกา มวลชนที่มีลักษณะของการ์ดมีการขว้างขวดและยิงหนังสติ๊กข้ามไปหลังตู้คอนเทนเนอร์
18.28 น. มวลชนหน้าศาลฎีกาเริ่มกันคนออกแนวคอนเทนเนอร์และมีการนำเชือกไปดึงตู้แล้วตั้งเชือกยาวและช่วยกันดึง
18.31 น. ที่หน้าศาลฎีกาตำรวจประกาศว่า ไม่ให้ทำลายแนวกั้น
18.42 น. ตำรวจประกาศไม่ให้ทำลายแนวกั้น
18:42 น. การ์ดตะโกนใครไม่พร้อมออกจากแนวตู้ อาจจะมีการฉีดน้ำ
18.44 น. รถเครื่องเสียงแดงก้าวหน้าประกาศให้ประชาชนออกจากแนวตู้ กลัวว่า ถ้าดึงลงมาตู้หนึ่งแล้วจะตามมาเป็นแนว ขณะที่เครื่องเสียงของตำรวจประกาศว่า มีการใช้โซ่ล่ามตู้คอนเทนเนอร์ไว้ด้วยกันเป็นแนวหากมีการดึงลงมาหนึ่งตู้จะล้มตามเป็นแนว
18.45 น. ตู้คอนเทนเนอร์ชั้น 2 ถูกดึงลงมาแล้ว
18.46 น. ตำรวจประกาศอีกครั้ง หากท่านฝ่าฝืนอีก เราจะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
18.51 น. การ์ดนำแผงเหล็กมาตั้งเป็นแนวไม่ให้มวลชนเข้าใกล้ตู้คอนเทนเนอร์ ที่หน้าศาลฎีกามีการจุดไฟที่พระบรมฉายาลักษณ์ฯ มีคนนำน้ำไปดับ
18.55 น.ตำรวจประกาศว่า หากยังกระทำต่อจะดำเนินการตามขั้นตอนคือ 1. ฉีดน้ำ และ 2. ฉีดน้ำผสมแก๊สน้ำตา ฉะนั้นอย่าพึงกระทำเลย
18.56 น. ตำรวจประกาศทำนองว่า ในแนวรัฐศาสตร์ เราต้องมาคุยกันเพื่อจะแก้ปัญหาของท่าน…เราต้องแก้ปัญหาไปด้วยกัน พวกเราเจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่รักษาปลอดภัย ระหว่างนั้นมีฉีดน้ำในลักษณะทดสอบ 1 ครั้งประมาณ 2 วินาที
18.58 น. ตำรวจประกาศต่อเนื่องทำนองว่า หากผู้ชุมนุมทำกิจกรรมบริเวณหน้าแนวคอนเทนเนอร์จะไม่ว่าอะไรเลยเพื่อสร้างบรรทัดฐานในการชุมนุม เมื่อมีแนวกั้นตรงนี้ก็ทำกิจกรรมตรงนี้ให้ลุล่วงไป เจ้าหน้าที่ตำรวจจะอยู่ตรงนี้เพื่อรักษาความปลอดภัยของทุกคนที่มาร่วมการชุมนม ฉะนั้นอย่างทำลายแนวกั้นตรงนี้เลย…หากมีแนวคิดที่ดี มีความรู้ความสามารถที่ดี เราจะนำไปแก้ไขปรับปรุงให้ประเทศเจริญก้าวหน้าต่อไป เราอยากให้พี่น้องจัดกิจกรรมอย่างสงบ
19.01 น. ผู้ชุมนุมดึงตู้คอนเทนเนอร์ด้านล่างออกเปิดแนว ด้านในมีรถเครื่องขยายเสียงและรถฉีดน้ำจอดอยู่  หน้าแนวกั้นมีกลุ่มผู้ชุมนุมที่ดึงตู้คอนเทนเนอร์ออกและผู้สื่อข่าวจำนวนมาก เท่าที่เห็นยังไม่มีการขยับเข้าไปหลังตู้คอนเทนเนอร์ จากนั้นตำรวจนับถอยหลัง 9 8 7 4 3 2 และฉีดน้ำเข้ามาที่บริเวณชุมนุมเป็นเวลา 20 วินาที ผู้สังเกตการณ์และผู้ที่อยู่บริเวณนั้นไม่รู้สึกถึงอาการระคายเคือง
19.02 น. ผู้ชุมนุมมีการปาสิ่งของเช่น ขวดน้ำและวัตถุติดไฟเข้าไปในที่แนวตำรวจ ลักษณะของสียงไม่ดังมากคล้ายประทัด ตำรวจประกาศว่า ถ้ายังฝ่าฝืนจะใช้น้ำผสมสารเคมี
19.02 น. ตำรวจฉีดน้ำระลอกสั้นอีกครั้งหนึ่ง
19.03 น. ที่หน้าศาลฎีกา เจ้าหน้าที่ตำรวจประกาศว่าให้ส่งตัวแทนมา อย่าฝ่าฝืนเข้ามาบริเวณตู้คอนแทนเนอร์
19.06 น. มีเสียงดังปังไม่น้อยกว่า 4 ครั้ง ตำรวจบนรถเครื่องขยายเสียงประกาศว่า ห้ามเข้ามาในเขตที่กำหนดหากใครฝ่าฝืนเข้าไปให้ทำการจับกุมทันที พร้อมกับมีเสียงดังอย่าต่อเนื่อง ก่อนจะเริ่มฉีดน้ำอีกครั้ง
19.08 น.  เจ้าหน้าที่ประกาศเตรียมชุดจับกุม เสียงดังปัง 1 ครั้ง ตำรวจประกาศว่า อย่าเข้ามาแม้แต่คนเดียว ตอนนี้เราได้เตรียมชุดจับกุมเรียบร้อยแล้ว ห้ามเข้ามาหากเข้ามาเราจะดำเนินการจับกุมทันที ตำรวจควบคุมฝูงชนตั้งแถวมาปักหลักหลังแนวตู้คอนเทนเนอร์ ตำรวจประกาศต่อว่า ขอบคุณที่ให้ความร่วมมือ ขอให้ท่านจัดกิจกรรมด้วยความสงบและปลอดภัย
19.09 น. ที่หน้าศาลพระแม่ธรณีมีการปูผ้าขาว  ตำรวจประกาศว่า ห้ามเข้ามาในพื้นที่เด็ดขาดหากเข้ามาจะทำการจับกุมทันที มวลชนตะโกนว่า “ไอ่เหี้ยตู่”
19.10 น. ตำรวจประกาศว่าให้อยู่ในแนวนั้น มีการส่งตัวแทนผู้ชุมนุมเข้าเจรจา  ขณะที่แยกคอกวัวแทบไม่มีรถยนต์มุ่งหน้าแยกสะพานผ่านฟ้าลีลาศแล้ว
19.11 น. ผู้ชุมนุมขยับผ้าขาวไปใกล้แนวคอนเทนเนอร์มากขึ้น มีเสียงชินวัตร จันทร์กระจ่างอยู่บนรถเครื่องเสียงประกาศจากเครื่องขยายเสียงว่า ขอเสียงปรบมือให้กับราษฎรทุกคนและประกาศให้มวลชนเข้าไปในสนามหลวง มีเสียงเคาะหม้อไปด้วย
19.12 น. มวลชนนำผ้าขาวขนาดใหญ่ไปขยับเป็นคลื่นที่หน้าแนวตู้คอนเทนเนอร์และตะโกนว่า “ปล่อยเพื่อนเรา”
19.13 น. ตำรวจปิดถนนราชดำเนินกลางจากแยกคอกวัว
19.14 น. ตำรวจควบคุมฝูงชนตั้งแถวตรงแยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง ตำรวจประกาศเป็นพื้นที่ควบคุม ใครเข้ามาจับเลย
ที่หน้าศาลฎีกามีเสียงประกาศจากหลังแนวคอนเทนเนอร์ว่า อย่าเข้ามาอยู่นั่นแหละ เราคุยกันแล้วนะ
19:15 น. ที่หน้าศาลฎีกาตำรวจฉีดน้ำอีกครั้ง ที่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลางตำรวจสั่งถือโล่และประกาศว่า ขณะนี้มีการปาระเบิดควันด้านหน้า หน่วยพิเศษตชด. ไปด้านหน้า
19.15 น.ที่หน้าศาลฎีกาตำรวจฉีดน้ำอีกครั้ง ระลอกสั้นไม่ถึง 3 วินาที 1 ครั้งและอีก 1 ครั้งประมาณ 10 วินาที และประกาศว่า ห้ามเข้ามานะครับ อยู่บริเวณที่กำหนดนะครับ อย่าล้ำเข้ามา อยู่ตรงนั้นๆ ไม่เข้ามานะครับ
19.16 น. ตำรวจแจ้งว่า มีการปาระเบิดควันแนวหน้า ตำรวจเต็มถนนราชดำเนินกลางทั้งซ้ายขวา
19.17 น. ชินวัตรประกาศต่อเนื่องให้ผู้ชุมนุมเดินเข้าไปในสนามหลวง ประกาศว่า “ปล่อยให้ตำรวจมันบ้าไป อย่าไปปะทะ” มวลชนทยอยเข้าสนามหลวงรวมทั้งผู้ชุมนุมที่ถือผ้าข้าวด้วย
19.18 น. ผู้ชุมนุมพยายามดึงตู้คอนเทนเนอร์ชั้น 2 ลงอีกครั้ง ตำรวจประกาศว่าอย่าทำลายเครื่องกีดขวางนะครับ ขอให้ท่านจัดกิจกรรมบริเวณรอบนอก อย่าฝ่าฝืน ตัวแทนของท่านเสนอข้อตกลงเรียบร้อยเพราะฉะนั้นปฏิบัติตามข้อตกลง ไม่ฝ่าฝืนเครื่องกีดขวางเข้ามานะครับ เจ้าหน้าที่ยิงน้ำวิถีสูง
19.18 น. มวลชนนำแผงกั้นมาวางที่ทางขึ้นสะพานผ่านพิภพลีลา
19.19 น. ตำรวจตั้งโล่เดิน เป้าหมายสะพานผ่านพิภพลีลา สำหรับประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้อง บริเวณนี้เป็นพื้นที่ควบคุม ผู้ใดฝ่าฝืนจะถูกจับกุม
19.20 น. ภายในสนามหลวง ผู้ชุมนุมประกาศว่า ห้ามให้มวลชนเข้าใกล้ตู้คอนเทนเนอร์และให้มวลชนมารวมกันตรงบริเวณผ้าขาวผืนใหญ่ที่แสดงออกถึงกิจกรรมที่ต้องการให้ปล่อยเพื่อนเรา ขณะที่ตำรวจประกาศว่า ไม่อยากให้บาดเจ็บ ให้ดูแลซึ่งกันและกัน หากไม่เชื่อฟัง เราจะทำการจับกุมทันที เจ้าหน้าที่ฉีดน้ำอีกครั้ง ครั้งนี้เริ่มมีอาการระคายเคือง ที่แยกคอกวัว ตำรวจประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงว่า ชุดคฝ. เดินหน้าต่อ เดินอยู่ประมาณแนวซอยบูรณศาสตร์
19.23 น. ที่แยกคอกวัว ตำรวจประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงว่า มวลชนที่อยู่อยู่บริเวณสะพานผ่านพิภพฯนะครับ ขณะนี้เจ้าพนักงานควบคุมการชุมนุมได้ประกาศให้เป็นพื้นที่ห้ามชุมนุม ให้ท่านเลิกการชุมนุม
19.24 น. ตำรวจประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงว่า ชุดตอบโต้เตรียมพร้อม ถ้ามีการดำเนินการกับคฝ.อนุญาตให้ใช้อุปกรณ์พิเศษได้ ที่หน้าแนวกั้นผู้ชุมนุมใช้ลวดหนามและแผงเหล็กกั้นมาปิดแนวตู้คอนเทนเนอร์ที่เปิดไว้
19.25 น. บริเวณสนามหลวง ผ้าสีขาวที่เป็นสัญลักษณ์การแสดงออกในกิจกรรม วันนี้เริ่มมีมวลชนมาแสดงออกถึงการเขียนลงบนผ้าสีขาวแล้ว ขณะที่มวลชนบางกลุ่มพยายามจะดันตู้คอนเทนเนอร์ ขณะเดียวกันที่แยกคอกวัว ตำรวจควบคุมฝูงชนเดินถึงแนวโรงแรมรัตนโกสินทร์แล้ว มีมวลชน 1 คนปาสีใส่ตำรวจ ตำรวจประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงว่า สำหรับมวลชนที่อยู่ตรงนี้ ถ้าท่านขว้างปาสิ่งของเข้าใส่กองร้อยควบคุมฝูงชน เราจะใช้อุปกรณ์พิเศษกับท่าน ให้ท่านออกจากบริเวณนี้
19.26 น. รถเครื่องเสียงขยับออกจากพื้นที่สนามหลวง โดยชินวัตรประกาศว่า ให้ผู้ชุมนุมขึ้นไปอยู้บนท้องสนามหลวง เพราะมีทางออกอีกฝั่งหนึ่ง
19.27 น. แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมมีการแจกกระดาษเพื่อเขียนข้อความและพับจรวด
19.29 น. ตำรวจถึงแยกสะพานผ่านพิภพลีลา
19.30 น. ที่หน้าศาลฎีกา ตำรวจยังคงฉีดน้ำเป็นระยะและผู้ชุมุนมยังปาข้าวของอยู่เป็นระยะเช่นเดียวกัน ที่แยกคอกวัว ตำรวจประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงว่า มวลชนที่อยู่ด้านหลังพื้นที่การชุมนุม บริเวณนี้เป็นพื้นที่ควบคุมให้ท่านเชื่อฟัง
19.30 น. ชินวัตรประกาศให้ออกทางใต้สะพานปิ่นเกล้า มีการแจกข้อเรียกร้อง 1 ฉบับและมวลชนทยอยเดินออกจากสนามหลวง
19.31 น. ที่แยกสะพานผ่านพิภพลีลา มีเสียงปังขึ้น 5 ครั้ง ตำรวจประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงว่า กลุ่มผู้ชุมนุมที่อยู่ด้านหน้าให้เลิกการกระทำและขอให้ประชาชนเดินกลับทางสะพานปิ่นเกล้า ชุดอุปกรณ์พิเศษเตรียมพร้อม พบเห็นผู้ใดปาของเข้ามาในกองร้อยดำเนินการได้เลย ขณะที่ทางมุ่งหน้าสะพานพระปิ่นเกล้า ตำรวจประกาศว่า จับคนไหนได้จับเลย
19.32 น. ที่ท้องสนามหลวง มวลชนประกาศว่า ให้รีบออกจากพื้นที่ทางฝั่งโรงละครแห่งชาติเนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ดันเข้ามาแล้ว
19.34 น. ตำรวจออกมาจากหลังตู้คอนเทนเนอร์หน้าศาลฎีกา
19.34 น. มวลชนทยอยเดินออกไปทางสะพานพระปิ่นเกล้า
19.37 น. ตำรวจเริ่มใช้กระสุนยางที่หน้าศาลฎีกา
19.38 น. มวลชนบางส่วนวิ่งออกมาทางตรอกสาเกและมีรายงานการจับกุมผู้ชุมนุม โดยเน้นจับผู้ชุมนุมที่อยู่บนพื้นผิวการจราจร
19.47 น. ที่ตรอกสาเก ตำรวจควบคุมฝูงชนขยับแนวเข้ามา ขณะที่อรรถพล บัวพัฒน์ หรือ ครูใหญ่ ตะโกนนำประชาชนให้ออกจากพื้นที่สนามหลวงข้ามสะพานพระปิ่นเกล้า
19.48 น. ตำรวจประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงว่า ชุดพิเศษวิ่งไปที่คลองหลอด มีคำสั่งให้วางกำลังที่หน้าตรอกสาเก เวลานี้ตำรวจควบคุมฝูงชนที่เดินมาจากแยกคอกวัวแบ่งเป็น 3 เส้นทางคือ มุ่งหน้าคลองหลอด, เชิงสะพานปิ่นเกล้าและราชดำเนินใน
19.51 น. ที่สะพานผ่านพิภพลีลา มีคนไปชูป้ายที่หน้าแนวตำรวจ จากนั้นตำรวจประมาณ 3 นายเข้าล้อมและดันเข้าไปที่ท้ายรถเครื่องเสียงใหญ่ ที่ตรอกสาเก ตำรวจวางกำลังปิดทางเข้า
19.54 น. ตำรวจมีการประกาศว่ามียุติการชุมนุม แล้วให้แยกย้ายเดินทางกลับบ้าน
19.57น. มีมวลชนหลงเหลืออยู่ที่หน้าเจดีย์ขาว ตำรวจไม่รุกไล่แต่ประกาศว่า กลับบ้านไป
19.58 น. มีเสียงปังขึ้น 1 ครั้ง
20.00 น. มวลชนสามารถเดินออกทางถนนข้าวสารได้
20.00 น. ตำรวจเริ่มไล่ทีมพยาบาลออกนอกพื้นที่
20.05 น. เชิงสะพานปิ่นเกล้า ตำรวจประชิดผู้ชุมนุม ผู้ชุมนุมมีการขว้างปาสิ่งของเรื่อยๆ
20.07 น. เชิงสะพานปิ่นเกล้ามีเสียงปังดังมาก 1 ครั้ง หลังจากนั้นมีควันคละคลุ้ง
20.09 น. ตำรวจประกาศว่า สื่อให้เข้าไปในสนามหลวง
20.14 น. ที่เชิงสะพานพระปิ่นเกล้า เสียงดังปัง 1 ครั้ง
20.17 น. ที่เชิงสะพานพระปิ่นเกล้า ตำรวจใช้กระสุนยางยิงเข้าใส่ผู้ชุมนุม
20.21 น. ที่ตรอกสาเก มีตำรวจควบคุมฝูงชนมาเสริมกำลัง
20.22 น. ที่เชิงสะพานพระปิ่นเกล้า ตำรวจสั่งเคลียร์พื้นที่เข้าจับกุมและมีการยิงกระสุนยางต่อเนื่อง
20.25 น. ที่หน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์ ตำรวจมีการใช้กระสุนยาง
20.28-20.30 น. ตำรวจขว้างวัตถุติดไฟไปทางผู้ชุมนุมไม่น้อยกว่า 7 ครั้ง ผู้สังเกตการณ์ที่อยู่บริเวณนั้นแจ้งว่า เป็นการยิงแก๊ซน้ำตา
20.34 น. ที่เชิงสะพานพระปิ่นเกล้า ผู้ชุมนุมประกาศขอน้ำและน้ำเกลือ
20.39 น. ตำรวจยิงแก๊สน้ำตา 2 ครั้ง
20.30 น. ที่เชิงสะพานพระปิ่นเกล้า ตำรวจบอกว่า ให้เวลาผู้ชุมนุมอีก 5นาที
20.40 น. ที่คลองหลอด ด้านหลังศาลฎีกา มีผู้ชุมนุมคงค้าง มีการเจรจากับตำรวจให้ออกทางตรอกสาเกได้
20.41 น. ที่แยกคอกวัว ตำรวจประกาศให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกลับออกไป ขอเตือนครั้งที่ 1 ชุดตอบโต้เตรียมอุปกรณ์พิเศษ
20.57 น. ตำรวจเปิดทางให้ผู้ชุมนุมที่จอดรถไว้หน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์เข้าไปเอารถออกมาได้
21.03 น. ที่แยกคอกวัว ตำรวจวางแนวกั้นและนำรถฉีดน้ำแรงดันสูงหันหน้าเข้าหาผู้ชุมมุมที่อยู่บริเวณป้อมจราจรฝั่งตรงข้าม จากนั้นมีการใช้แก๊สน้ำตายิงเข้าหาผู้ชุมนุมที่อยู่ด้านหน้า แต่เวลาดังกล่าวกระแสลมย้อนลงมาทางแนวตำรวจหรือทางแยกสะพานผ่านพิภพลีลา ทำให้แก๊สน้ำตาส่งผลกระทบต่อคนที่อยู่ใต้ลม รวมทั้งประชาชนทั่วไปที่กำลังอยู่บริเวณถนนข้าวสาร ขณะที่ประชาชนกำลังทานอาหารและเดินผ่านไปมา เกิดอาการแสบตา แต่เมื่อไม่ทราบสาเหตุทุกคนจึงต่างมองหน้ากันด้วยความไม่เข้าใจ จากนั้นประมาณ 30 วินาทีมีประชาชนวิ่งจากถนนข้าวสาร บริเวณใกล้แยกคอกวัวเข้ามา มีบางคนตะโกนว่า แก๊สน้ำตา ผู้คนจึงเข้าใจและต้องวิ่งเข้าตึกเพื่อหนีแนวลมที่ส่งแก๊สน้ำตาเข้ามา
21.06 น. สหายปูน ธนภัทร อายุ 18 ปีถูกจับกุม
21.11 น. ที่แยกคอกวัว มีมวลชนไม่น้อยกว่า 200 คนอยู่หน้าแนวตำรวจ มีการบีบแตรมอเตอร์ไซด์
21.14 น. ที่แยกคอกวัว ตำรวจประกาศว่า ท่านกำลังขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่
21.16 น. ที่แยกคอกวัว ตำรวจประกาศว่า ขอเตือนน้องๆที่อยู่ด้านหน้าให้เลิก มีเสียงปัง 3 ครั้ง มีการตะโกนว่า ตำรวจเดินหน้ามาแล้ว
21.17 น. ที่แยกคอกวัว ตำรวจมีการยิงกระสุนยางต่อเนื่อง ผู้ชุมนุมถอยร่นลงมาทางอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย บางส่วนเข้าไปในถนนดินสอ ฝั่งข้าวสาร
21.27 น. ที่แยกคอกวัว ตำรวจฉีดน้ำอีกครั้ง
21.36 น. ที่แยกคอกวัว มวลชนที่ถอยร่นจากแนวตำรวจ นำกระถางต้นไม้ที่เกาะกลางถนนมาวางขวางถนนเพื่อชะลอการเดินแนวของตำรวจ
22.00 น. ตำรวจดันผู้ชุมนุมมาถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและฉีดแก๊สน้ำตา มีผู้ได้รับผลกระทบไม่น้อยกว่า 20 คน
22.03 น. ตำรวจเดินมาถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
22.08 น. ตำรวจยึดพื้นผิวการจราจรบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยทั้งหมด
22.36 น. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตำรวจควบคุมฝูงชนบางส่วนถอยหลังไปที่แยกคอกวัว พร้อมด้วยรถเครื่องเสียงของตำรวจถอยตามไปด้วย
22.20 น. มีรายงานว่า ผู้สื่อข่าวประชาไทถูกกระสุนยางเข้าที่ด้านหลังในระดับเหนือเอวประมาณ 1 ฟุต
22.45 น. ที่ถนนข้าวสาร ตำรวจควบคุมฝูงชนพยายามจะปิดถนน แต่นักท่องเที่ยวโห่ไล่ตำรวจพร้อมกับมีคนตะโกนว่า “ไอ้เหี้ย กูจะแดกเหล้า” และ “ปล่อยเพื่อนกู”
22.54 น. ที่สะพานวันชาติ ตำรวจมีการยิงกระสุนยาง
23.00 น. ที่สะพานวันชาติ ยังมีผู้ชุมนุมอยู่หน้าแนวตำรวจ
23.25 น. ตำรวจควบคุมฝูงชน พร้อมด้วยรถฉีดน้ำเข้าเสริมแนวที่สะพานวันชาติ
23.42 น. ที่สะพานวันชาติ ตำรวจประกาศใช้กำลังเต็มรูปแบบ จากนั้นเข้ายึดพื้นที่กลางแยกสะพานวันชาติ
23.40 น. มีรายงานว่า คนขับรถเมล์สาย 59 ถูกจับกุมที่แยกคอกวัว หลังจากขับพุ่งเข้าไปที่แยกและบีบแตรด้านหน้าแนวตำรวจ
21 มีนาคม 2564
00.03 น. ถนนราชดำเนินนอก ตำรวจปิดแยกมัฆวานฯ ช่องทางมุ่งหน้าลานพระรูปฯ
00.27 น. รถ EOD เข้าไปที่สะพานวันชาติ
01.21 น. ตำรวจยังตั้งแนวหลวมๆที่แยกคอกวัวฝั่งข้าวสาร ตามซอยเล็กซอยน้อยก่อนเข้าแยกผ่านพิภพยังคงวางกำลังขวางอยู่ รถทำความสะอาดเริ่มทำความสะอาดไล่ลงมาจากแยกผ่านพิภพ
01.45 น. ตำรวจปิดแยกวัดเบญจฯ มุ่งหน้าลานพระรูป
You May Also Like
อ่าน

กสม.ชี้หน่วยงานรัฐไทยเอี่ยวใช้สปายแวร์เพกาซัส ชงครม.สั่งสอบ-เรียกเอกสารลับ

กสม. เชื่อว่า มีการใช้สปายแวร์ เพกาซัสละเมิดสิทธิจริง โดยพิจารณาจากความน่าเชื่อถือของการตรวจสอบทางเทคนิคคอมพิวเตอร์ และบริบทแวดล้อมในต่างประเทศ นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า หน่วยงานรัฐไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้สปายแวร์
อ่าน

ขนุน สิรภพ “คงแค่ยิ้มสู้” ระหว่างศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัวในคดีมาตรา 112

ขนุน สิรภพ “คงแค่ยิ้มสู้” ระหว่างศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัวในคดีมาตรา 112 . สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ หรือขนุน นิสิตรัฐศาสตร์จากมศว จำเลยในคดีมาตรา 112 จากการกล่าวปราศรัยระหว่างการชุมนุม #ม็อบ18พฤศจิกา . 25 มีนาคม ที่ผ่านมาศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษา จำคุก 3 ปี แต่เนื่องจากการนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง ศาลจึงลดโทษหนึ่งในสามคงจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา . จนถึงวันนี้(4 เมษายน 2567) เป็นเวลา 10 วันแล้วที่ศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัว