ความเชื่อ ชีวิต ความคิด เรื่องราว : สามผู้ต้องหา ม.112 คดีหน้าสถานทูตเยอรมัน

เผยชีวิตของสามผู้ต้องหา ม.112 ณ หมู่บ้านทะลุฟ้า เบญจา, มายด์ ภัสราวลี และครูใหญ่ อรรถพล ร่วมงานเสวนาที่หมู่บ้านทะลุฟ้า ข้างทำเนียบรัฐบาล เล่าถึงชีวิตวัยเด็ก ประวัติการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง ความหวัง และความฝันที่อยากเห็นในประเทศแห่งนี้
เบนจา อะปัญ จากแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม
“สมัยประถม เราอยากเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะว่าเรารู้สึกว่าประเทศเรามันดีได้มากกว่านี้ คือถ้าเราเป็นนายกฯ แล้วเรามี power (อำนาจ) เราคงแก้ไขปัญหาทุกอย่างของประเทศนี้ได้ ณ ตอนนั้นเด็กอายุ 9-10 ขวบ มันคิดอย่างนั้นจริงๆ”
“เราก็ไปบอกผู้ใหญ่ ท่ามกลางปัญหาความขัดแย้งทั้งหลายในวัยเด็ก เราถูกบล็อกความฝันเลย เขาพูดว่า นายกฯ ต้องมีเงิน ต้องมีชื่อเสียง ต้องมีอำนาจ แล้วเรา 9 ขวบ ณ ตอนนั้น เรารู้สึกแบบ มันหมดหนทางในการเป็นนายกฯ ทำให้ความฝันในการเป็นนายกฯ ของเรามันถูกพับไปเลย เพียงแค่เพราะว่า เราไม่มีอะไรทั้งหลายแหล่ที่เขาว่ามา”
“ณ ตอนนั้น เราเชื่อ แต่พอเราโตมาเรารู้ว่ามันไม่ใช่ เรารู้สึกว่า ต่อให้ได้เป็นหรือไม่เป็นนายกฯ จริงๆ ทุกคนมีพลังที่จะเปลี่ยนแปลงในตัวเอง ทุกคนต่างมีศักยภาพที่จะเปลี่ยนแปลงใน way (หนทาง) ที่ตัวเองทำได้”
“ต้องบอกตรงๆ ว่า เราอยากเคลื่อนไหวอยู่แล้ว ตั้งแต่มัธยม แต่เราไม่รู้ว่า การออกไปเคลื่อนไหวมันต้องทำยังไง เรารู้จักเพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ แต่ก็ยังไม่ได้ออกไปเคลื่อนไหวอะไรกัน ทีนี้พอขึ้นมหา’ลัย ตอนนั้นอยู่จุฬาฯ เพนกวินก็มาชวนไปทำกิจกรรมทางการเมือง ด้วยความที่เราอยากออกไป เราก็ไปเลย ก็ไปตลอด หลายครั้งมาก เจอเพื่อนในธรรมศาสตร์หลายคนทั้งที่เราอยู่จุฬาฯ จนกระทั่ง มีวันนึง เราย้ายมาอยู่ธรรมศาสตร์ วันนั้นมีสายโทรเข้ามาจากรุ้ง ปนัสยา “กูจะทำม็อบ มาช่วยหน่อย” เราเซย์เยสเลย นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เรามาอยู่ในแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม”
“หลังจากนั้นก็ช่วยงานแนวร่วมฯ มาตลอด ตั้งแต่ม็อบ 10 ส.ค. 19-20 ก.ย. ยาวมาถึงตอนตุลา เพื่อนถูกจับ จนกระทั่งมันไม่มีแกนนำแล้ว มันเป็นแฟลชม็อบรัวๆ จนกระทั่งได้ออกมาจับไมค์พูดจริงๆ ตรงหน้าสถานทูตเยอรมัน”
“ครั้งแรกที่โดนคดี ตอนเราออกมาพูดหน้าสถานทูต เราทำใจไว้ก่อนแล้วว่า ถ้าฉันเปิดหน้าแล้วพูดถึงสถาบันกษัตริย์ มันมีเปอร์เซ็นต์ที่จะต้องโดน แต่ตอนแรกมันโดน 116 ยังไม่ใช้ 112 ตอนแรกบอกจะไม่ใช้ แล้วก็มาใช้ 112 เราก็โอเค โดนแต่ก็ไม่แคร์ ถ้า 112 เป็นปัญหา เราก็สู้ยกเลิก 112 จะได้ไม่ต้องเป็นปัญหา เราก็เลยรู้สึกว่าช่างมัน ต่อให้จะออกกฎหมายมาปิดปาก ฉันจะสู้ เราถือว่าในฐานะที่เราเริ่มมีคนรู้จัก ยิ่งทำให้เราต้องออกพูด เพื่อกระจายมันให้มากที่สุด ขอให้เราได้เคลื่อนไหว ได้ออกมาต่อสู้จนถึงวันที่จะได้ขึ้นศาล ถามว่ากลัวไหม มันกลัว มันกลัวว่าเราจะได้ออกมาสู้ไหม แต่ถึงกระนั้นเองเราก็จะสู้ต่อ”
“เราไม่ใช่เขาหลายๆ คนที่อยู่ข้างบน แต่เรามีพลังประชาชน สิ่งที่เรากำลังก้าวเดินต่อจากนี้ อาจจะไม่ได้เห็นความสำเร็จเป็นรูปธรรม แต่สิ่งหนึ่งที่เราเห็นได้ชัด คือ อย่างน้อยทุกคนในสังคมเริ่มรับรู้ร่วมกันแล้วว่าเราต้องการอะไร เราได้หว่านเมล็ดพันธ์ุทางความคิดออกไปแล้ว เมล็ดพันธุ์เหล่านั้นกำลังโต และเราเชื่อว่า เวลาผ่านไป เราสะสมแนวร่วมมากขึ้น อย่าเพิ่งท้อ อย่างเพิ่งหมดหวัง การเปลี่ยนแปลงมันจะดีขึ้นอย่างมั่นคงถ้าเรามีแนวร่วมมากพอ”
“สันติวิธี เป็นสิ่งที่เราพูดมาตลอด เชื่อเถอะค่ะ อดทนก่อน เราไม่ได้ต่อสู้เพื่อความสะใจ เราต่อสู้เพื่อความเปลี่ยนแปลง และการเปลี่ยนแปลงโดยคนหมู่มากเนี่ยแหละ เป็นสิ่งสำคัญ”
คำพูดส่วนหนึ่งของเบนจา อะปัญ สมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ผู้ถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 116 สืบเนื่องจากการชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย 26 ตุลาคม 2563 จากเวทีเสวนาในหัวข้อ “ก้าวแรกคือชัยชนะ ก้าวอย่างสม่ำเสมอคือการต่อสู้” ณ หมู่บ้านทะลุฟ้า วันที่ 21 มีนาคม 2564
_______________________________________________________
ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ มายด์ จากกลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตย
“จริงๆ แล้วมีความฝันแบบธรรมด๊าธรรมดา ก็คือ อยากเรียนจบ หาเงินได้เยอะๆ แล้วก็มาเลี้ยงดูครอบครัว แค่นั้นเอง”
“ในประเทศที่มันเป็นแบบนี้ เราไม่สามารถหาเงินได้เยอะๆ แล้วก็มาเลี้ยงครอบครัว อย่างที่เราคาดฝันไว้ ถ้าประเทศนี้การเมืองมั่นคงพอ เราก็จะสามารถเสาะแสวงหาความสุขในชีวิตได้อย่างอิสระ แต่ตอนนี้เราทำไม่ได้ เราเลยต้องพยายามดิ้นรนทำอะไรก็ได้ เพื่อให้ชีวิตดีขึ้น แต่ ณ ตอนนี้ พอเรามาอยู่ในจุดที่เราไม่สามารถละทิ้งปัญหาไปได้ มุมมองเราก็เลยเปลี่ยนไป”
“ถึงเราขยันยังไงแทบตาย แต่เราอยู่ในสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ สภาพสังคมแบบนี้ การกดทับแบบนี้ เราก็ไม่รวยเท่ากับคนที่เขานอนสบายอยู่บนอะไรก็ไม่รู้ กินภาษีเราไปวันๆ แล้วก็ชี้นิ้วสั่งบอกว่า พวกเธอๆ ถ้าไม่รักชาติก็ออกไป”
“ส่วนตัวเราเรียนวิศวะมา เรามองว่าวิชาชีพที่เราเรียนน่าจะทำเงินได้ดีแล้วก็เป็นวิชาชีพที่สามารถสร้างสรรค์อะไรได้หลายอย่างที่นอกจากการสร้างตึก สร้างอาคาร อยากจะทำงานในสายที่ตัวเองเรียนมาให้มันได้ดี ในประเทศที่มันเปิดกว้างพอให้เราได้สร้างสรรค์ผลงาน แต่ตอนนี้มันสร้างสรรค์อะไรก็ไม่ได้ ถ้าเราไม่มีทุนมากพอ เราไม่สามารถสร้างสรรค์อะไรที่มันยิ่งใหญ่ได้”
“บรรทัดฐานของสังคมเรา มันค่อนข้างจำกัดกรอบไปนิดนึง คือทำไมเราถึงจะต้องมองว่า อาชีพยอดฮิตอย่าง หมอ ทหาร ตำรวจ มันดูดี มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี แต่ความเป็นจริงแล้ว  เราไม่ควรจำกัดกรอบความสร้างสรรค์ของคนคนหนึ่ง เราควรมีอิสระในการเลือกว่าจะเป็นอะไร ทุกๆ อย่างในทุกๆ อาชีพ มายด์ว่ามันมีคุณค่าในตัวของมันเอง”
“เราต้องสร้างบรรทัดฐานกันใหม่ว่า อาชีพทุกๆ อาชีพ มีคุณค่าในตัวเอง ในรูปแบบของตัวเอง ในประโยชน์ที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งทุกๆ คนควรจะต้องได้รับโอกาสในการสานต่อความฝันของตัวเองอย่างที่มันควรจะต้องเป็น”
“แม้กระทั่งปัจจัยขั้นพื้นฐานที่รัฐควรจะต้อง support (สนับสนุน) เราได้ มันไม่มี มันไม่ได้ เราเลยต้องพยายามขวนขวายหาหลักประกันชีวิตให้ตัวเอง ซึ่งถ้าเรามีหลักประกันชีวิตจากรัฐดีพอแล้ว เราก็จะสามารถเอาเวลาของเราไปสานต่อความฝันตัวเองได้ นี่คือสิ่งที่ประเทศไทยทำให้เราไม่ได้ รัฐไทยทำให้เราไม่ได้”
“เหตุการณ์แรกที่มายด์รู้สึกว่า ต้องออกมาทำความรู้จักเกี่ยวกับเรื่องการเมือง คือ เหตุการณ์หน้าหอศิลป์เมื่อปี 58 วันนั้น หนูยังไม่รู้จักใครเลย ยังไม่สนใจการเมืองมากนั้น เห็นข่าวมีการกระชาก ดึง อุ้ม ผู้ชุมนุมที่เป็นนักศึกษา ที่ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ เป็นครั้งแรกที่เราเห็นเจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงกับนักศึกษา ก็เลยตั้งคำถามว่า ทำไมพวกเขาต้องโดนแบบนี้ด้วย ในประเทศที่บอกว่าเป็นประชาธิปไตย ทำไมแค่ยืนมองเวลายังทำไม่ได้ ตกลงประชาชนที่บอกว่าอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย เราทำอะไรได้บ้าง เรามีอำนาจมากน้อยแค่ไหน ก็เลยเริ่มทำความเข้าใจการเมือง ต่อมาเราเริ่มออกมาแอคชั่นเล็กๆ น้อยๆ ติดป้ายต่อต้านรัฐประหารทุกๆ วันครบรอบ นั่นคือกิจกรรมเล็กๆ ที่เราสามารถทำได้”
“พอเราเริ่มเปิดกรอบความรับรู้ เราเริ่มเข้าใจว่าโครงสร้างการเมืองไทยมันไม่ได้มีแค่นักการเมือง มันมีรัฐซ้อนรัฐซ้อนรัฐเข้าไปอีก มันไม่ใช่ว่ามันไม่เคยมีคนพูดถึงประเด็น ‘คนที่คุณก็รู้ว่าใคร’ มาก่อน คนเขาพูดกันมาตลอด แต่เขาพูดในที่ลับๆ แม้กระทั่งฝั่งที่เขารักเขาก็คุยกัน เมาท์มอย แต่ถามว่าการเมาท์มอย มันได้สร้างประโยชน์อะไรไหม ทีนี้ พอมาถึงจุดหนึ่ง เกิดแฟลชม็อบ ในการชุมนุม เราจะเห็นป้ายข้อความพูดถึงคนที่คุณก็รู้ว่าใครอย่างอ้อมๆ เสมอ เราเลยเข้าใจว่าจริงๆ ทุกคนก็อยากจะพูดเรื่องนี้เหมือนกัน แต่ด้วยสภาวะสังคมที่จำกัดกรอบ สร้างความกลัวให้ประชาชนตลอดเวลา มันเลยทำให้เราไม่รู้ว่าจะพูดออกมายังไงได้บ้าง ก็เลยคิดว่า จำเป็นที่จะต้องเอาเรื่องนี้มาพูดในที่สาธารณะอย่างตรงไปตรงมา”
“วันแฮร์รี่ พอตเตอร์ (3 สิงหาคม 2564 ที่มีการชุมนุมเสกคาถาปกป้องประชาธิปไตย) ทีมงานที่จัดเราคุยกันว่า จะให้ใครมาพูดดี เพราะเราไม่มั่นใจว่าเราจะสื่อสารได้อย่างครบถ้วนไหม เราก็เลยคุยกันว่าจะหาคนที่พูดได้ ก็คือพี่อานนท์ นำภา หนูติดต่อพี่อานนท์ไป พี่อานนท์ตอบรับ แล้วก็สร้างปรากฏการณ์ สร้างบรรทัดฐานใหม่ในสังคมเลยว่า ต่อไปนี้ประชาชนไทยสามารถพูดถึงประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ในที่สาธารณะ”
“มายด์ทำความเข้าใจมาตั้งแต่แรกว่าการที่เราออกมาเปิดหน้าสู้กับรัฐมันมีราคาที่เราต้องจ่าย ครั้งแรกที่เห็นหมาย เราแค่รู้สึกว่า มันเริ่มขึ้นละ การต่อสู้อย่างจริงจัง เปิดหน้า เปิดฉาก แล้วเราก็แน่วแน่กับการต่อสู้ ว่าจะเดินยังไงต่อดี เราทำความเข้าใจกับมัน เราคาดการณ์ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วเราเตรียมพร้อมรับมือ”
“กระบวนการยุติธรรมที่เราเห็น ณ ตอนนี้ เราพูดได้เต็มปากเต็มคำเลยว่า มันไม่มีความยุติธรรมหลงเหลืออยู่ต่อไปแล้ว เพื่อนเราหลายคนที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ศาลยังไม่พิจารณาว่าผิดเลยด้วยซ้ำ แต่เขาถูกขัง นี่คือความอยุติธรรมที่มันเกิดขึ้นในสังคมและมันเห็นชัดเป็นรูปธรรมขนาดนี้ เมื่อเราเห็นความไม่เป็นธรรม ความไม่ถูกต้อง เราสามารถวิพากษ์วิจารณ์และบอกได้ว่ามันไม่ถูกต้องและต้องแก้ไขยังไง”
“สิ่งที่มั่นใจอย่างหนึ่งเลยก็คือ ณ ตอนนี้การเมืองไทยได้เปลี่ยนไปแล้ว สังคมไทยได้เปลี่ยนไปแล้ว การเมืองไทยไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เมื่อปีที่แล้วสิ่งที่ทุกคนพยายามทำร่วมกันก็คือการตื่นรู้ การตื่นตัว การพยายามทำให้คนรอบข้างตาสว่างเหมือนกันกับเรา การกระทำเหล่านี้จริงๆ มันคืออาวุธที่ทรงพลังมาก นี่คือการติดอาวุธทางความคิด ทั้งของเราและของคนรอบข้างเรา ของสังคม นี่ต่างหากที่เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของพวกเรา จงภูมิใจกับมันไว้”
“สิ่งที่เราต้องทำกันต่อไป คือการติดอาวุธทางความคิดให้กับคนอื่นๆ ด้วยเช่นเดียวกัน การขยายแนวร่วมที่จะทำให้คนรับฟังได้มากที่สุด คือการขยายความจริงให้เขาได้รับรู้ถึงความเป็นจริงในสังคมให้ได้มากที่สุด แล้วให้เขาวิเคราะห์ด้วยตัวเอง ให้เขาได้เลือกด้วยตัวเอง ว่าเขาจะเลือกทางไหนเมื่อความจริงมันประจักษ์แบบนี้แล้ว”
“ถ้าเมื่อไหร่ที่เขาเลือกที่จะตัดสินใจออกมายืนด้วยเหตุผลของตัวเองเขา มันจะยั่งยืน และเขาจะมีความรู้ความเข้าใจมากพอที่จะขยายและติดอาวุธทางความคิดตรงนี้ให้คนอื่นๆ ต่อไปได้อีกด้วย”
“ถึงแม้ว่าจะมีใครเข้าเรือนจำไปอีกกี่คน เราไม่จำเป็นต้องไปท้อใจ หรือกลัว หรือถอดใจ แต่ขอให้เอาเหตุการณ์เหล่านั้น มาเป็นเครื่องตอกย้ำตัวเองว่า รัฐบาลชุดนี้มันไม่ยุติธรรมกับเรา เพราะฉะนั้นเราต้องออกมายืนหยัดปกป้องทวงความยุติธรรมกลับมาให้สังคม ไม่จำเป็นต้องสู้เพื่อคนที่โดนคดี ไม่จำเป็นต้องสู้เพื่อพวกเรา แต่สู้เพื่อความถูกต้องที่มันควรจะต้องเป็นในสังคมนี้ และทำให้มันยั่งยืนยงถูกต้อง ให้ลูกหลานเรามีการเมืองที่มั่นคงและปลอดภัย ให้เขามีโอกาสในการสร้างสรรค์ชีวิตของเขาเอง”
คำพูดส่วนหนึ่งของภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ มายด์ จากกลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตย ผู้ถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 116 สืบเนื่องจากการชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย 26 ตุลาคม 2563 จากเวทีเสวนาในหัวข้อ “ก้าวแรกคือชัยชนะ ก้าวอย่างสม่ำเสมอคือการต่อสู้” ณ หมู่บ้านทะลุฟ้า วันที่ 21 มีนาคม 2564
  _______________________________________________________
อรรถพล บัวพัฒน์ หรือ ครูใหญ่
“อายุ 16 ปี ผมเข้าสอบเพื่อหวังว่าจะได้เป็นนักเรียนเตรียมทหาร สอบไม่ผ่าน ตกภาษาอังกฤษ อายุ 18 ปี คิดว่า จะเป็นนักกฎหมาย คิดว่าจะเรียนที่ธรรมศาสตร์ ไปสอบโดยความไม่เห็นชอบของบิดามารดา เพราะพ่อแม่บอกว่า อย่าไปเรียนธรรมศาสตร์เลยลูก มันหัวรุนแรง แต่ผมก็ฝืนไปอยู่ดี ติดแต่ไม่มีเงินชำระค่าลงทะเบียน พ่อไม่ให้ ผมก็อยากจะบอกพ่อว่า ต่อให้ผมไม่เรียนธรรมศาสตร์ ผมก็ยังเป็นอย่างนี้อยู่ดี คือ พ่อผมกลัวว่าผมจะติดคุกถ้าผมเรียนธรรมศาสตร์”
“ความใฝ่ฝันผมก็เปลี่ยน ผมว่าจบม. 6 ผมจะบวชเรียนนิติศาสตร์ ที่รามคำแหง แต่ตอนนั้นก็ไปสอบโอเน็ต-เอเน็ตไว้ตามหน้าที่ เอารหัสคะแนนให้เพื่อนคนหนึ่ง บอกว่า มึงจะลงอะไรให้กูก็ลงเถอะ พอติดแล้วมันก็ไม่บอกผมว่าสอบติดอะไร ตอนนั้นผมเตรียมจะบวชแล้ว อยู่ที่วัด ตีสี่มันโทรไปหาผมบอกว่า มึงมาบ้านกูหกโมงเช้า กูเตรียมของไว้ให้แล้ว มาถึงปุ๊บมันไปเอาเสื้อผ้านักเรียนผมที่บ้านผมมารีดไว้ให้ผมเรียบร้อยแล้ว แล้วก็ซ้อนมอเตอร์ไซค์กันสองคน มันบอกว่าจะพาผมไปมข. ผมก็ไม่รู้ว่าไปอะไร พอไปถึงปุ๊บ ผมก็รู้ว่าวันนี้คือวันสัมภาษณ์ แล้วมันก็บอกให้ผมไปเข้าแถว มันบอกว่า มึงไปสัมภาษณ์สาขานั้น เดี๋ยวกูไปสัมภาษณ์สาขานี้ ผมรู้ว่าผมสอบติดตอนที่เพื่อนพาไป ที่มันไม่บอกผมเพราะมันกลัวว่าผมจะไม่ไป เพราะตอนนั้นผมฝังใจในพระศาสนาอย่างเหนียวแน่น”
“ไปเรียนที่มข. แล้วก็ได้พบเจอกับเพื่อนๆ พบเจอกับครูบาอาจารย์ แล้วก็เริ่มพบเจอวงสนทนาทางด้านการเมือง จนเราก็มาถึงจุดนี้ เป็นประวัติที่ค่อนข้างสับสนครับ ช่วงที่เรียน ทั้งอยู่วัด ทั้งอยู่ในอาศรมพระฤาษี ทั้งอยู่ในวงสนทนาการเมือง ทั้งอยู่ในวงเหล้า แล้วก็อยู่ในวงการรีวิวหอพัก”
“ตอนเป็นเด็ก แม่ไปทำงานต่างประเทศ พ่อเป็นครู เราก็จะมีเวลาอยู่กับพ่อน้อยหน่อย เพราะว่าสมัยนั้นพ่อก็จะใช้ชีวิตแบบชายโสดในขณะที่แม่ไม่อยู่ หลังเลิกเรียนครูประชาบาลบ้านนอกเขาก็จะมีการสังสรรค์ หลังเลิกเรียนเราก็จะอยู่กับยายเป็นประจำ แล้วยายก็จะพาไปอยู่วัด นอกจากคนแก่เราก็จะได้เจอกับพระ ได้มีปฏิสัมพันธ์กับพระ เจ้าอาวาสรุ่นก่อนหน้านี้ ก็เป็นพี่ชายของยาย เจ้าอาวาสรุ่นก่อนหน้านี้มาอีก ก็เป็นพี่ชายคนโตของแม่ ก็คือเป็นลูกของยาย ความใฝ่ฝันของผมตอนนั้นคืออยากเป็นพระสงฆ์ ตอนนี้ผมไม่อยากเป็นแล้ว บั้นปลายชีวิตผมอยากเริ่มต้นที่ 45  ผมอยากเป็นอะไรก็ตามที่นิยามตัวเองว่าไม่ใช่ฆราวาส แล้วก็ไม่ใช่นักบวช ไม่ใช่พระสงฆ์ ไม่ใช่ฤาษี เป็นอะไรก็ได้ที่ไม่ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ”
“ถ้าไม่มีการชุมนุม ไม่มีการเรียกร้องทางการเมืองในตอนนี้ ผมก็น่าจะเป็นติวเตอร์ปกติ ถ้าไม่มีการชุมนุมวันนี้ ผมอยากเป็นพ่อคน ผมตั้งใจว่าจะแต่งงานตอนอายุ 30 แล้วมีลูกตอน อายุ 31 ตอนนี้อายุ 31 ผมไม่อยากให้ลูกผมเกิดมาเจอรัฐธรรมนูญแบบนี้”
“ผมเกิดในตระกูลครูประชาบาล ก็คือข้าราชการบ้านนอก มีหน้ามีตา มีเกียรติมียศ มีซองขาวถึงบ้านได้ทุกวัน และก็ถูกย้ำนักย้ำหนาว่า โตขึ้นยังไงก็รับราชการนะ เพราะว่ามีสวัสดิการ รักษาฟรีเพราะเป็นครู พอโตมาถึงอายุ 20 ผมไม่ได้ตาสว่างเร็วเหมือนน้องๆ มาหูตาสว่างก็อายุ 20 กว่าๆ ว่า จริงๆ มันเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องให้สวัสดิการกับทุกคนไม่ใช่แค่ข้าราชการ”
 “ผมเป็นคนหนึ่งที่สามารถทำตามความฝันของตัวเองได้ ไม่มากก็น้อย ผมไม่ต้องไปรีบสอบบรรจุ ไม่ต้องไปรีบทำงาน จนผมได้ค้นพบว่าชีวิตที่มีอิสรภาพหน่อย มีรายได้ ก็คือเป็นติวเตอร์ ผมเว้นว่างอยู่เป็นปีกว่าจะทำงาน เพราะพ่อกับแม่ผมต่อให้ป่วยยันตาย ยังไงก็รักษาฟรี แต่ถ้าพ่อแม่คนอื่นล่ะ ถ้าป่วยแล้วเขาจะเอาสวัสดิการรักษา ดังนั้น เขาจบมาแล้วเขาต้องรีบเข้าสู่ระบบแรงงานทันที โดยที่คุณไม่มีสิทธิเลือก งานอะไรที่คว้าได้ก่อน ดังนั้น คนไทยจะทำตามฝันได้ต้องมีรัฐสวัสดิการในประเทศนี้เท่านั้น นี่คือสิ่งที่ทำให้ต้องลุกขึ้นมา แม้ว่าตัวเองไม่ใช่ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะผมเป็นคนที่ได้รับผลประโยชน์จากความเหลื่อมล้ำนี้เช่นกัน”
“วันแรกที่ผมตัดสินใจกระโดดเข้ามาคลุกคลีตีโมงอยู่กับเรื่องทางการเมือง เขามีแฟลชม็อบช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ปีที่แล้ว (2563) น้องๆ ที่รู้จักผม ก็โทรมา “พี่ใหญ่ พวกผมจะทำม็อบ พี่ช่วยมาปราศรัยให้หน่อย ผมเชื่อว่าพี่ทำได้” ก็เริ่มขึ้นปราศรัยครั้งแรกม็อบที่บึงสีฐาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น”
“ภาพที่คนจำอีก คือ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วันงูเห่าศรีนวลกับวันแป้ง ผมก็คิดว่า ทำไมเวลาที่เราพูดเรื่องการเมือง เราต้องพูดอะไรที่มันเครียด เราไม่ควรจะเครียดอะไรขนาดนั้น ทุกครั้งที่มีการปราศรัยผมพยายามให้สนุก”
“ครั้งแรกที่ผมโดนหมาย ต้องยอมรับจริงๆ นะครับว่าตกใจเพราะว่าเราเพิ่งโดนสลายการชุมนุม เช้าวันที่ 15 ตุลา เหมือนต้องใช้ชีวิตหลบๆ ซ่อนๆ เพราะเป็นหมายจับ ประกาศออกทีวี แล้วแม่ต้องเจอแน่นอน คนทั้งหมู่บ้านต้องจำชื่อได้แน่นอน ก็หลบๆ ซ่อนๆ คิดว่า ก่อนที่เราจะถูกจับ เราต้องทำผลงานให้ดีที่สุดก่อน โดยการแอบและปรากฏตัวทุกที่ชุมนุม”
“หลังจากนั้นก็มีหมายมาเรื่อยๆ เริ่มชินกับความมือดำ ตอนนี้ก็น่าจะ 10 กว่าหมายแล้ว รวมถึงที่จะต้องไปวันที่ 25 มีนานี้ ข้อหา 112 ที่สน.ทุ่งมหาเมฆ จากกรณีหน้าสถาทูตเยอรมัน เราก็เพียรอ่านว่าพฤติกรรมเราเข้า 112 ตรงไหน แต่ถ้าเขาอยากให้เขา เข้าก็ได้ อำนาจมันอยู่มันอยู่ในมือคุณ คดีมันอยู่ที่ปลายปากกา ไม่เป็นไร เรายืนยันที่จะสู้กันตามระบบ หลายคนก็ปล่อยข่าวลือว่าเราจะลี้ภัย ขอโทษครับ ผมไม่คิดจะลี้ภัย เพราะภาษาอังกฤษผมติดศูนย์ครับ”
“เราอาจจะรู้สึกว่า เหนื่อยจัง ท้อแท้จัง สู้มาเป็นปีไม่เห็นได้อะไรเลย รัฐบาลก็ยังอยู่ รัฐธรรมนูญก็ยังเป็นฉบับเดิม 250 ส.ว.ก็ยังไม่ไปไหน การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ก็ยังไม่เกิดขึ้น แต่ผมอยากจะให้ความหวังว่า มันมีคนที่สู้ตั้งแต่ตุลา 16 ตุลา 19 มันมีคนที่สู้ตั้งแต่พฤษภา 35 มันมีคนที่สู้ตั้งแต่เมษา-พฤษภา 53 จนทุกวันนี้ก็ยังสู้อยู่ตรงนี้ ผมเห็นรุ่นป้าๆ นั่นอยู่ตรงนี้ จะให้ผมท้อได้ยังไงครับ”
“ถ้าเรามองไปที่เป้า 3 ข้อเรียกร้องหลักว่ามันไม่จริงสักอย่าง มันก็ด่วนสรุปเกินไป ดูสิครับว่า ในรายทางที่เราเดินเข้ามา เราเด็ดดอกไม้ไปแล้วกี่ดอก สะเทือนดวงดาวไปแล้วกี่ดวง ถ้าเราไม่ออกมาสู้กัน อย่าหวังว่าสภาเขาจะพูดถึงการแก้รัฐธรรมนูญแม้ว่าเขาจะคว่ำไปแล้วในวันนี้ ถ้าเราไม่ออกมาสู้กัน อย่าหวังเลยครับว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติซึ่งเป็นคณะกรรมการปาหี่ ถ้าเราไม่สู้กัน อย่าหวังเลยว่าพี่น้องบางกลอยจะมีโอกาสได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่รัฐ  ถ้าเราไม่สู้ อย่าหวังว่าพี่น้องจะนะที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษจะถูกทบทวนใหม่อีกครั้ง นี่คือรายทางที่เราสู้กันมามากมาย”
“เรากำลังต่อสู้กับอะไรที่สูง ที่ยิ่งใหญ่ การต่อสู้มันย่อมยาวนาน” 
คำพูดส่วนหนึ่งของอรรถพล บัวพัฒน์ หรือ ครูใหญ่ ติวเตอร์สอนวิชาสังคมและภาษาไทยให้นักเรียนมัธยมในจังหวัดขอนแก่นและเป็นสมาชิกกลุ่มขอนแก่นพอกันที ผู้ถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 116 สืบเนื่องจากการชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย 26 ตุลาคม 2563 จากเวทีเสวนาในหัวข้อ “ก้าวแรกคือชัยชนะ ก้าวอย่างสม่ำเสมอคือการต่อสู้” ณ หมู่บ้านทะลุฟ้า วันที่ 21 มีนาคม 2564
You May Also Like
อ่าน

กสม.ชี้หน่วยงานรัฐไทยเอี่ยวใช้สปายแวร์เพกาซัส ชงครม.สั่งสอบ-เรียกเอกสารลับ

กสม. เชื่อว่า มีการใช้สปายแวร์ เพกาซัสละเมิดสิทธิจริง โดยพิจารณาจากความน่าเชื่อถือของการตรวจสอบทางเทคนิคคอมพิวเตอร์ และบริบทแวดล้อมในต่างประเทศ นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า หน่วยงานรัฐไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้สปายแวร์
อ่าน

ขนุน สิรภพ กับความเติบโตในสายตาของอาจารย์

ชวนฟังมุมมองของอาจารย์ที่มีต่อลูกศิษย์ผู้ถูกคุมขังด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112