ข้อห้ามชุมนุมตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ไม่ชัดเจน ปราบโรคไม่อยู่ ปราบชุมนุมด้วยกำลัง

 

1744 Credit : Sirachai Shin Arunrugstichai

 

พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 (พ.ร.บ.ชุมนุมฯ) เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นครั้งแรกโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร คสช.​ หลังการประกาศใช้เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 กฎหมายฉบับนี้ถูกใช้ซ้อนกับคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ที่สั่งห้ามการชุมนุมตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ส่งผลให้เกิดการปราบปรามเสรีภาพอย่างเป็นระบบ การชุมนุมที่ไม่ได้เข้าเงื่อนไขต้องห้ามตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ เจ้าหน้าที่รัฐก็จะอ้างคำสั่งหัวหน้า คสช. แทน สภาพการณ์ดังกล่าวทำให้พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไม่ใช่บทบัญญัติหลักและไม่ใช่กฎหมายที่เอื้ออำนวยเสรีภาพการชุมนุมอย่างที่ควรเป็น

 

ต่อมาวันที่  9 กรกฎาคม 2562 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2562 ยกเลิกข้อห้ามการชุมนุมตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ยกเลิก นับแต่นั้นพ.ร.บ.ชุมนุมฯ จึงเป็นบทบัญญัติหลักในการดูแลการชุมนุมเพียงฉบับเดียว ผ่านไปแปดเดือน วันที่ 25 มีนาคม 2563 พลเอกประยุทธ์ คนเดิมอาศัยอำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และสถานการณ์การบังคับใช้กฎหมายซ้ำซ้อนเพื่อควบคุมการชุมนุมก็กลับมาอีกครั้ง

 

ระบาดระลอก 1 : เริ่มใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ควบคุมโควิด ไม่ได้ห้ามการชุมนุมโดยตรง แต่ใช้ดำเนินคดี 

 

ตามมาตรา 3 ของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ เว้นการใช้บังคับพ.ร.บ.ในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ดังนั้น ตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ยุคพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ การควบคุมการชุมนุมจึงต้องเป็นไปตามกฎหมายอื่น และเงื่อนไขภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เอง วันที่ 25 มีนาคม 2563 นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดฉบับที่ 1 ข้อ 5 ระบุว่า “ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ภายในพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงกำหนด” 

 

วันที่ 3 เมษายน 2563 พลเอกพรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงออกประกาศกำหนดว่า “ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค หรือการกระทำอันเป็นการฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชนหรือการกลั่นแกล้งเพื่อแพร่เชื้อโรค” 

 

วันที่ 29 เมษายน 2563 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเริ่มทรงตัว นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดฉบับที่ 5  ห้ามให้จัดกิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากในลักษณะ “มั่วสุมประชุมกันหรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย” เว้นแต่เป็น การจัดโดยเจ้าพนักงานหรือได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ โดยต้องเว้นระยะห่าง อยู่ในที่ไม่แออัดและใช้ระยะเวลาทำกิจกรรมไม่นาน รวมทั้งมีมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด 

 

จากข้อกำหนดและประกาศทั้งสามฉบับ เห็นได้ว่า ไม่มีคำสั่ง “ห้ามการชุมนุม” เพื่อแสดงออกซึ่งข้อเรียกร้องต่างๆ อันเป็นการใช้เสรีภาพตามปกติ การชุมนุมจะเกิดขึ้นได้ในเงื่อนไขที่ต้องไม่มีลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค หรือเป็นกิจกรรมที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่และมีมาตรการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนด แนวปฏิบัติของตำรวจในระยะแรกเริ่มก็สะท้อนให้เห็นว่า การชุมนุมยังเป็นสิ่งที่ทำได้ เช่น การชุมนุมรำลึกวันครบรอบการเสียชีวิตของพลตรีขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2563 อนุรักษ์ เจนตวณิชย์ หรือ ฟอร์ด เส้นทางสีแดง ผู้จัดกิจกรรมประสานงานกับตำรวจสน.ลุมพินี โดยไม่ได้แจ้งการชุมนุม ตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ขณะที่ท่าทีของตำรวจไม่ได้มีการห้ามไม่ให้จัดกิจกรรมโดยสิ้นเชิง 

 

1745

 

ตำรวจมีการจัดจุดคัดกรองและจัดหาพยาบาลตรวจวัดอุณหภูมิ มีการอำนวยความสะดวกและให้คำแนะนำในการจัดกิจกรรมที่จะไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด อย่างไรก็ตามในช่วงท้ายของการชุมนุมมีการถ่ายภาพร่วมกัน อันเป็นเหตุให้มีการกล่าวหาว่า ฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามความพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ด้วยเชื่อได้ว่า อาจเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคโควิด 19 

 

ระยะต่อมาลักษณะการอำนวยความสะดวกจากตำรวจเช่นนี้ไม่เกิดขึ้นแล้ว แต่แนวปฏิบัติที่เกิดขึ้นและคงอยู่ คือ การเอาเครื่องเสียงมาอ่านประกาศข้อกำหนดที่ออกตามความพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และอาจตามมาด้วยการกล่าวหาคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯตามหลัง เช่น 

 

๐ วันที่ 5 มิถุนายน 2563 สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทยนำโดยอั๋ว-จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์, รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุลและเพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ จัดกิจกรรมที่สกายวอล์คปทุมวัน เพื่อเรียกร้องกรณีการหายตัวไปของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองในประเทศกัมพูชา วันดังกล่างมีการเตรียมเจลล้างมือและเครื่องวัดอุณหภมิ ต่อมาทั้งหมดถูกแจ้งข้อกล่าวหาฐานฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 

 

๐ วันที่ 8 มิถุนายน 2563 ที่สถานทูตกัมพูชา ตัวแทนคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) 4 คนยื่นหนังสือต่อสถานทูตร้องขอให้รัฐบาลกัมพูชาติดตามหาตัววันเฉลิมสัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยการเมืองชาวไทยที่ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์พาตัวขึ้นรถไป ต่อมาพนักงานสอบสวนสน.วังทองหลางกล่าวหาทั้ง 4 คนในคดีฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 

 

 

ผ่อนคลายระลอก 1 : กลับมาใช้พ.ร.บ.ชุมนุมฯ แต่พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็ยังใช้อยู่ 

 

วันที่ 31 กรกฎาคม 2563 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 13  กำหนดว่า การจัดกิจกรรมรวมกลุ่มหรือการใช้สิทธิของประชาชนเพื่อการชุมนุมใดๆ ย่อมกระทำได้ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายตามหลักเกณฑ์กฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะและและให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดกิจกรรมจัดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดด้วย เป็นเหตุให้พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ถูกนำกลับมาใช้อีกครั้ง ควบคู่ไปกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

 

ระหว่างข้อกำหนดฉบับที่ 13 บังคับใช้นั้น ตำรวจได้รับมือและดูแลการชุมนุมโดยอ้างพ.ร.บ.ชุมนุมฯ เช่น การพิจารณาว่าการชุมนุมที่ไม่ได้แจ้งล่วงหน้านั้นผิดกฎหมาย การห้ามชุมนุมในรัศมี 150 เมตรจากเขตพระราชฐานและการออกคำสั่งห้ามการชุมนุมในรัศมี 50 เมตรจากศาล ขณะที่ยังปรากฏว่า มีการแจ้งเตือนโดยอ้างอิงข้อกำหนดและประกาศตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ด้วย 

 

การชุมนุมภายใต้เงื่อนไขที่ให้ใช้ทั้งพ.ร.บ.ชุมนุมฯ และพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เดินหน้าไปด้วยความสับสน ผู้ชุมนุมบางรายตัดสินใจ “แจ้งการชุมนุม” ล่วงหน้าก่อน บางรายไม่แจ้งก่อน จากการบันทึกข้อมูลพบว่ามีการชุมนุมเกิดขึ้น ระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม-24 ธันวาคม 2563 อย่างน้อย 467 ครั้ง มีการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมที่ตำรวจกล่าวหาผู้ชุมนุมว่าฝ่าฝืนทั้งพ.ร.บ.ชุมนุมฯ และพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปพร้อมกันอย่างน้อย 35 คดีและมีผู้ถูกกล่าวหารวม 67 คน 

 

ตัวอย่างการบังคับใช้กฎหมายที่ซ้ำซ้อน ทำให้รัฐมีทางเลือกว่าจะอ้างกฎหมายใดก็ได้เพื่อให้อำนาจตัวเองปฏิบัติหน้าที่ได้ง่าย เช่น กรณีการสลายการชุมนุมของคณะราษฎรอีสาน

 

13 ตุลาคม 2563 ตั้งแต่เวลา 9.00 น. คณะราษฎรอีสาน นำโดย ไผ่ -จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา พร้อมพวกได้รวมตัวกันตั้งเตนท์พักคอยที่หน้าแมคโดนัลด์อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เวลา 13.08 น. ตำรวจจราจรจากสน.สำราญราษฎร์มาเจรจาให้เลื่อนรถออกจากไหล่ทางหน้าแมคโดนัลด์ แต่จตุภัทร์แจ้งว่า หากกระทำผิดข้อหาใดให้มาแจ้ง ต่อมา 15.11 น. ตำรวจขอให้หยุดทำกิจกรรรม ระบุว่า วันนี้ตรงกับวันสวรรคตของรัชกาลที่ 9 และขอให้ขึ้นฟุตบาท แต่ผู้ชุมนุมยืนยันทำกิจกรรมต่อบริเวณเดิม รถยนต์ยังคงสัญจรผ่านไปมาได้ จากนั้นตำรวจจึงเริ่มต้นสลายการชุมนุมด้วยการจับกุมประชาชน 21 คนอันเป็นผลให้การชุมนุมดังกล่าวเป็นอันยุติลง

 

1750

 

1746 Credit : Kan Sangtong

 

วันดังกล่าวตำรวจไม่ได้ใช้มาตรการตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ กล่าวคือ หากเป็นการชุมนุมที่ไม่ได้แจ้งต่อผู้รับแจ้งล่วงหน้า 24 ชั่วโมง ตำรวจมีอำนาจในการสั่งให้เลิกการชุมนุมภายในเวลากำหนด หากผู้ชุมนุมยังไม่เลิก ตำรวจจะต้องไปขออำนาจศาลแพ่งให้ไต่สวนการชุมนุม กรณีที่ศาลสั่งให้เลิกการชุมนุมแล้ว หากผู้ชุมนุมยังไม่ปฏิบัติตาม ตำรวจจึงจะประกาศเป็นพื้นที่ควบคุม หากพ้นระยะเวลาที่กำหนดแล้ว ผู้ชุมนุมที่อยู่ภายในพื้นที่จึงจะถือเป็นผู้กระทำผิด และจึงใช้กำลังเข้าจับกุมได้ 

 

1751

 

ภายหลังกองบัญชาการตำรวจนครบาลแจ้งว่า การจับกุมดังกล่าวเป็นการจับกุมผู้ชุมนุมที่ “กระทำผิดซึ่งหน้า” ในช่วงเย็นวันเดียวกันมีผู้ชุมนุมไปรวมตัวเรียกร้องความเป็นธรรมที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หลังจากนั้นมีการตั้งข้อกล่าวหาตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ จากการชุมนุมดังกล่าว และในการชุมนุมวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ของคณะราษฎรเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปทำเนียบรัฐบาล ตำรวจอ้างอำนาจตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯอีกครั้ง เช่น ให้แจ้งการชุมนุมและสั่งให้เลิกการชุมนุม แต่วิธีการสลายการชุมนุมตามขั้นตอนศาลถูกละเว้นอีกครั้ง เมื่อนายกรัฐมนตรีออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครตั้งแต่เวลา 04.00 น.ของวันที่ 15 ตุลาคม 2563 การบังคับใช้พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ในช่วงเวลานั้นจึงเป็นไปอย่างลักปิดลักเปิด

 

อ่านการสลายการชุมนุมคณะราษฎรอีสานเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2563

อ่านการสลายการชุมนุมคณะราษฎรเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563

 

8 วันภายใต้ “ฉุกเฉินร้ายแรง” ก็ยังใช้พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เพิ่มความสับสน

 

เวลาประมาณ 4.00 น.ของวันที่ 15 ตุลาคม 2563 นายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานคร ตามมาด้วยการออกข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เรื่องห้ามชุมนุมเกินห้าคน 

 

ซึ่งเท่ากับเป็นการเลิกใช้ข้อกำหนดฉบับที่ 13 ฉบับวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 และทำให้ประเทศอยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง ซึ่ง พ.ร.บ.ชุมนุมฯ จะไม่ถูกบังคับใช้ในระหว่างนั้น ในสถานการณ์นี้ตำรวจใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมโดยอ้างอำนาจของสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงถึงสองครั้ง คือ ช่วงเช้ามืดวันที่ 15 ตุลาคม 2563 และวันที่ 16 ตุลาคม 2563

 

แต่ปรากฏว่า มีตั้งข้อกล่าวหากับสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ และทศพร เสรีรักษ์ ในความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไปพร้อมกัน จากการเข้าร่วมกิจกรรมที่แยกเกษตร เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 สร้างความไม่ชัดเจนขึ้นไปอีกว่า สถานะของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ในช่วงเวลานี้จะเป็นอย่างไร

 

1752 Credit : Sirachai Shin Arunrugstichai

 

1753 Credit : Sirachai Shin Arunrugstichai

 

หลังจากวันที่ 22 ตุลาคม 2563 นายกรัฐมนตรียกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง แนวปฏิบัติของตำรวจกลับมาเป็นเช่นระยะก่อนหน้า คือ การอ้างขั้นตอนของตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ อีกครั้ง เห็นได้ชัดเจนในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 ที่ตำรวจระดับสูงออกมาย้ำหลายครั้งให้ผู้ชุมนุมปฏิบัติตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ (อ่านลำดับเหตุการณ์ด้านล่างประกอบ) จึงพอสรุปได้ว่า ตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2563 จนกระทั่งวันที่ 24 ธันวาคม 2563 เป็นช่วงที่ตำรวจดูแลการชุมนุมโดยอ้าง พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ที่อิงกับข้อกำหนดฉบับที่ 13 เป็นหลัก

 

ระบาดระลอก 2 :  พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ห้ามชุมนุมในสถานที่แออัด

 

กลางเดือนธันวาคม 2563 เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่จังหวัดสมุทรสาคร และทำให้สุานการณ์โรคระบาดเริ่มน่ากังวลอีกครั้ง วันที่ 25 ธันวาคม 2563 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 15 ข้อ 3 ระบุว่า “ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ภายในพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงกำหนด” 

 

วันที่ 29 ธันวาคม 2563 พลเอกเฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดออกประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ดังนี้

 

ข้อ 2 ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือการทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคในพื้นที่ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด ประกาศหรือมีคำสั่งให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด และข้อ 3 การชุมนุมหรือการทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัด...ต้องขออนุญาตจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัดก่อนดำเนินการ และต้องแสดงแผนการจัดงานและมาตรการควบคุมโรคประกอบการพิจารณา

 

เมื่อข้อกำหนดฉบับที่ 15 มีเนื้อหาขัดกับข้อกำหนดฉบับที่ 13 เท่ากับต้องบังคับใช้ฉบับที่ใหม่กว่า จึงส่งผลให้กลับไปสู่สภาวะที่ไม่บังคับพ.ร.บ.ชุมนุมฯ อีกครั้ง ลักษณะดังกล่าวเด่นชัดขึ้นในการสลายการชุมนุมเขียนป้ายผ้ายกเลิกมาตรา 112 ของการ์ดปลดแอกที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2564 ที่ตำรวจอ้างเพียงประกาศและข้อกำหนดที่ออกตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 15 ที่ระบุว่า ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย โดยไม่อ้างพ.ร.บ.ชุมนุมอีก

 

อย่างไรก็ตาม ข้อห้ามการชุมนุมตามกฎหมายจะต้องมีองค์ประกอบสำคัญ คือ การชุมนุมในสถานที่แออัด ซึ่งผู้ชุมนุมในกิจกรรมดังกล่าวมีประมาณ 50 คน และการสลายการชุมนุมทำโดยตำรวจที่ยืนเรียงแถวติดกันทั้งบริเวณเกาะพญาไทและหน้าป้ายรถเมล์ไม่น้อยกว่า 200 นาย 

 

ผ่อนคลายระลอก 2 : อ้างพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกนำหน้า ไม่กลับมาใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ แล้ว

 

ปลายเดือนมกราคม 2564 แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเริ่มทรงตัวอีกครั้ง และประชาชนกลับมาใช้ชีวิตประจำวันตามปกติมากขึ้น การชุมนุมทางการเมืองเริ่มกลับมามากขึ้น แต่ข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังไม่ผ่อนคลายลง วันที่ 3 มกราคม 2564 นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนด ฉบับที่ 16 กำหนดห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ห้ามการจัดกิจกรรมในเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากและมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้โดยง่าย เช่น การประชุม การสัมมนา การจัดเลี้ยง  ต่อมาวันที่ 29 มกราคม 2564 นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนด ฉบับที่ 18 กำหนดให้กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ตามข้อกำหนดฉบับที่ 16 

 

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ผู้บัญชาการทหารสูงสุดออกประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ฉบับที่ 3 ยกเลิกประกาศฉบับที่ 2 ระบุว่า ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือการทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากและมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้โดยง่าย ซึ่งมีประกาศหรือคำสั่งให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และพื้นที่ควบคุมสูงสุด ใจความสำคัญคือ การรวมคนที่มีความแออัด 

 

1760

 

1761

 

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 14.00-16.00 น. ที่หน้าสหประชาชาติ ชาวเมียนมานัดชุมนุมต้านรัฐประหาร เริ่มแรกตำรวจวางแผงเหล็กล้อมพื้นที่การชุมนุมที่ฟุตบาทด้านหน้าสหประชาชาติผู้ชุมนุมเริ่มมากันตั้งแต่เวลาประมาณ 12.30 น. และเนื่องด้วยวันดังกล่าวเป็นวันอาทิตย์ทำให้มีชาวเมียนมาที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครมารวมตัวกันมาก ต่อมาเวลา 13.59 น. ตำรวจสั่งให้เลิกการชุมนุมระบุว่า ไม่ต้องการให้เกิดคำถามเรื่องมาตรการการชุมนุมระหว่างคนไทยและเมียนมา จากนั้นใช้ตำรวจควบคุมฝูงชนตั้งแถวรุกไล่ผู้ชุมนุมให้ถอยร่นไปเรื่อยๆทางสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ท้ายที่สุดการชุมนุมต้องยุติลง ผู้ชุมนุมตัดสินใจย้ายไปที่สถานทูตเมียนมาต่อและสามารถจัดต่อได้

 

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 เวลาประมาณ 18.30 น. ราษฎรประกาศเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปศาลหลักเมือง ระหว่างนั้นตำรวจวางแนวสิ่งกีดขวาง 2 แนว คือ ที่แยกสะพานผ่านพิภพลีลาและที่บริเวณศาลฎีกา ใกล้กับศาลหลักเมือง ในการประกาศให้เลิกการชุมนุมตำรวจอ้างข้อกำหนดของนายกรัฐมนตรีรวม 3 ฉบับ คือ ฉบับที่ 15 ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2563, ฉบับที่ 16 ลงวันที่ 3 มกราคม 2564 และฉบับที่ 18 ลงวันที่ 29 มกราคม 2564 รวมทั้งประกาศของผู้บัญชาการทหารสูงสุด ฉบับที่ 3  และใช้กำลังเข้าจับกุมผู้ชุมนุมอย่างรุนแรงโดยอ้างว่า เป็น “ความผิดซึ่งหน้า” จากการฝ่าฝืนข้อกำหนดเหล่านี้

 

การชุมนุมในครั้งต่อๆ มาก็ยังสามารถจัดได้เช่นกัน จากการสังเกตการณ์ชุมนุมส่วนใหญ่ไม่ปรากฏว่า ตำรวจได้อ้างอำนาจหรือแนวปฏิบัติตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ อีก อ้างแต่เพียงข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างไรก็ตามหลังสถานการณ์โควิด 19 คลายตัวการชุมนุมขยายตัวมากขึ้น 

 

ยกระดับปราบการชุมนุมหนัก ละเลยหลักสากล

 

19 กุมภาพันธ์ 2564 พลเอกเฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดออกประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ฉบับที่ 4 ระบุว่า ปัจจุบันยังปรากฏสถานการณ์การชุมนุมที่มีความแออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประกอบกับคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 4/2563 ให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นหน่วยหลักในการ “ปฏิบัติตามมาตรการที่จำเป็นและเหมาะสมในการระงับยับยั้ง การยุติการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือมั่วสุม” ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ให้ผบ.ตร.พิจารณาตามความเหมาะสมของสถานการณ์ ทั้งนี้ต้องไม่เป็นการก่อความเดือดร้อนแก่ประชาชน เกินสมควรแก่เหตุ

 

หลังจากนั้นการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมโดยตำรวจยกระดับขึ้นอย่างรวดเร็ว ไปจนถึงการใช้กระสุนยางต่อผู้ชุมนุมโดยชัดเจนครั้งแรก นับปี 2553 

 

1762 Credit : Thikamporn Tamtiang

 

๐ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 รีเด็มจัดชุมนุม #28กุมภาไปรังขี้ข้าปรสิต เคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ที่เป็นบ้านพักหลวงของพลเอกประยุทธ์ หลังผู้ชุมนุมเก็บลวดหนามหีบเพลงหน้าตู้คอนเทนเนอร์และเลื่อนเปิดตู้คอนเทนเนอร์ แม้ผู้ชุมนุมไม่ได้ท่าทีว่า จะเข้าไปในพื้นที่ราบ 1 แต่ตำรวจก็ตัดสินใจเคลื่อนกำลังจากสโมสรทหารบกและใช้กำลังในการจับกุม โดยไม่มีการเจรจาและทำร้ายร่างกายผู้ถูกจับด้วย ต่อมาในช่วงค่ำยังเริ่มใช้กระสุนยางที่ถือในแนวระนาบกับศีรษะ โดยไม่มีการแจ้งเตือน ตรงกันข้าม การใช้กระสุนยางเกิดขึ้นไล่เลี่ยกับตำรวจประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงว่า “วันนี้ไม่มีการสลายการชุมนุม” 

 

แม้ตำรวจจะพิจารณาแล้วเห็นว่า ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินการชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดที่มีอยู่ และขั้นตอนการสลายการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไม่ได้บังคับใช้ แต่การกระทำใดๆจำต้องอยู่บนหลัก “ความจำเป็น” และ “ความเหมาะสม” ทั้งสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ที่นำกำลังเข้าสลายการชุมนุมได้พยายามหลีกเลี่ยงการใช้กำลังอย่างดีที่สุดแล้ว

 

1763 Credit : Thikamporn Tamtiang

 

1754 Credit : Thikamporn Tamtiang

 

1755 Credit : Thikamporn Tamtiang

 

๐ วันที่ 20 มีนาคม 2564 รีเด็มจัดชุมนุม #20มีนาไปสนามราษฎร เป็นการชุมนุมแบบปักหลักไม่เคลื่อนขบวน ก่อนหน้าเวลานัดหมายเจ้าหน้าที่ได้นำตู้คอนเทนเนอร์มาขวางเป็นแนวตั้งแต่กำแพงศาลฎีกา ถนนราชดำเนินในยาวไปปิดถนนหน้าพระลาน และพื้นที่โดยรอบเช่น ถนนมหาราชและถนนอัษฎางค์ พื้นที่ที่วางแนวกั้นนั้นเป็นพื้นที่ที่เดิมเคยจัดการชุมนุมได้และกรณีที่มีการปิดกั้นมักจะอ้างอำนาจตามมาตรา 7 ของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ เรื่องการห้ามชุมนุมในรัศมี 150 เมตรจากเขตพระราชฐานคือ พระบรมมหาราชวัง ในขณะที่พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไม่ได้บังคับใช้ จึงไม่แน่ชัดว่า ตำรวจได้ใช้ฐานอำนาจตามกฎหมายใดในการปิดกั้นพื้นที่

 

ต่อมาเมื่อผู้ชุมนุมบางส่วนเปิดแนวตู้คอนเทนเนอร์ออกหนึ่งแนว ตำรวจตัดสินใจสลายการชุมนุม โดยไม่ได้พิจารณาถึงมาตรการที่อาจหลีกเลี่ยงการจำกัดสิทธิการชุมนุมของผู้ชุมนุมรายอื่นๆ ที่ยังคงชุมนุมโดยสงบ แม้ว่า ตำรวจจะมีขั้นตอนในการแจ้งล่วงหน้าว่า จะให้ชุมนุมได้ในพื้นที่ที่กำหนด แจ้งเตือนขั้นตอนการใช้อุปกรณ์ควบคุมฝูงชนและมาตรการอื่นๆ เช่น ทางออกที่ปลอดภัย แต่ยังคงละเลยมาตรฐานสากลว่าด้วยการใช้กระสุนยางใช้ยิงในระดับศีรษะ โดยไม่มีการเจรจาและการแจ้งเตือนก่อนการใช้กระสุนยาง

 

อ่านการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2564

 

ระบาดระลอก 3 : เสรีภาพล้มตายในยามที่โควิดยังยืนเด่นท้าพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

 

สถิติของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 ถึงปลายเดือนมีนาคม 2564 มีผู้ถูกดำเนินคดีตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่น้อยกว่า 581 คน หรือคิดเป็น 268 คดี วัตถุประสงค์แรกเริ่มของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และบรรดาข้อกำหนดต่างๆ เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากความต้องการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 แต่ท้ายสุดผู้ชุมนุมทางการเมืองตกเป็นเป้าเฝ้าระวังการใช้มาตรการตามกฎหมายและถูกดำเนินคดีตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยที่ยังไม่มีรายงานว่า จุดเริ่มต้นการแพร่ระบาดของโรคเกิดจากการมารวมตัวกันเพื่อแสดงออกทางการเมืองในครั้งใด

 

1759 Credit : Sirachai Shin Arunrugstichai

 

ในทางตรงกันข้าม แม้จะใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พร้อมกับข้อกำหนดต่างๆ ต่อเนื่องมานานกว่า 1 ปีเต็มแล้ว การระบาดของโรคโควิด19 ก็ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในการระบาดระลอกที่ 3 ในเดือนเมษายน 2564 ที่มีจุดแพร่กระจายของเชื้อจากสถานบันเทิง และอีกหลายแห่งที่ไม่ใช่การชุมนุมทางการเมือง ซึ่งกฎหมายที่อ้างว่ามีขึ้นเพื่อควบคุมสถานการณ์นี้นั้นไม่สามารถป้องกันหรือแก้ไขปัญหาได้

 

จากหลักฐานเชิงประจักษ์ ยังแสดงให้เห็นว่า ตำรวจมักหยิบเอาข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ขึ้นมาอ้างต่อผู้ชุมนุมว่า การชุมนุมนั้นๆ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และสั่งให้เลิกการชุมนุมโดยไม่จำเป็นต้องพิจารณาว่า เป็นการชุมนุมในสถานที่แออัดหรือไม่ มีการคัดกรองโรคหรือไม่ ผู้ชุมนุมเดินทางมาจากพื้นที่ใด หรือเป็นช่วงเวลาที่สถานการณ์แพร่ระบาดของโรครุนแรงเพียงใด จนกระทั่งการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมก็ยังอ้างว่า เป็นเพราะผู้ชุมนุมฝ่าฝืนข้อกำหนดของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

 

การใช้อำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งสั่งห้าม จับกุม และดำเนินคดี ประชาชนที่ใช้เสรีภาพในการชุมนุม โดยมีเงื่อนไขการห้ามชุมนุมที่กว้างขวางและเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้ตลอดเวลา ทั้งที่ยังมีพ.ร.บ.ชุมนุมฯ เป็นกฎหมายหลักในการควบคุมดูแลการชุมนุมอยู่ เป็นสถานการณ์คล้ายกับยุครัฐบาลเผด็จการทหาร ที่มีทั้งพ.ร.บ.ชุมนุมฯ และคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ใช้ควบคู่กันไป ให้อำนาจและดุลพินิจกับเจ้าหน้าที่ของรัฐเต็มที่ในการเลือกหยิบกฎหมายที่มีประโยชน์กับตัวเองมาอ้างอิง

 

 


 

ลำดับเหตุการณ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

 
6 มีนาคม 2563
 
ที่เวทีมวยลุมพินี มีการจัดรายการมวย “ลุมพินิแชมเปียนเกริกไกร เกียรติเพชร” ก่อนหน้านี้วันที่ 4 มีนาคม 2563 การกีฬาแห่งประเทศไทยทำหนังสือขอความร่วมมือนายสนามมวยลุมพินีงดจัดการแข่งขัน แต่การแข่งขันยังคงเกิดขึ้นได้และเป็นจุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาดของโควิด 19 ระลอกที่หนึ่ง
 
 
25 มีนาคม 2563
 
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศ และออกข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 1 ข้อ 5 ระบุว่า “ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ภายในพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงกำหนด”
 
 
3 เมษายน 2563
 
พลเอกพรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ออกประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม โดยกำหนด “ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค หรือการกระทำอันเป็นการฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชนหรือการกลั่นแกล้งเพื่อแพร่เชื้อโรค”
 
 
29 เมษายน 2563
 
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 4 ระบุว่า ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกียวข้องประเมินสถานการณ์เพื่อพิจารณาผ่อนคลายหรือเพิ่มความเข้มงวดการบังคับใช้บางมาตรการ โดยมุ่งให้การควบคุมและการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินสามารถยุติได้โดยเร็วและไม่ย้อนกลับมาอีก ขณะเดียวกันประชาชนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข ภายใต้มาตรการป้องกันโรคและคำแนะนำของทางราชการ โดยจะพิจารณาผ่อนคลายเป็นลำดับขั้นตอนตามหลักเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนด
 
1 พฤษภาคม 2563
 
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 5 ห้ามให้จัดกิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากในลักษณะ “มั่วสุมประชุมกันหรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย” เว้นแต่เป็นการจัดโดยเจ้าพนักงานหรือได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ โดยต้องเว้นระยะห่าง อยู่ในที่ไม่แออัดและใช้ระยะเวลาทำกิจกรรมไม่นาน รวมทั้งมีมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด
 
23 กรกฎาคม 2563
 
พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) มีมติขยายการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อไปอีก 1 เดือน ระหว่างนี้จะไม่ใช้บังคับพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ทำให้การชุมนุมในช่วงเวลานี้เป็นการละเมิดกฎหมาย ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 
 
 
31 กรกฎาคม 2563 
 
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 13  การจัดกิจกรรมรวมกลุ่มหรือการใช้สิทธิของประชาชนเพื่อการชุมนุมใดๆ ย่อมกระทำได้ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายตามหลักเกณฑ์กฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะและและให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในกำรจัดกิจกรรมจัดให้ผู้เข้ำร่วมกิจกรรมปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดด้วย 
 
 
7 สิงหาคม 2563
 
ประชาชนรวมตัวกันที่สน.บางเขนติดตามการควบคุมตัวอานนท์ นำภาที่ถูกหมายจับตามมาตรา 116 จากการปราศรัยในเวทีเยาวชนปลดแอกเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ต่อมาพนักงานสอบสวนสน.บางเขนได้กล่าวหาประชาชนเจ็ดคนในคดีพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไม่มีข้อกล่าวหาตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
 
 
9 สิงหาคม 2563 
 
เวลา 17.37 น. ตำรวจสถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงใหม่ประกาศระหว่างการชุมนุมของพรรควิฬาร์ที่ข่วงประตูท่าแพว่า การชุมนุมนี้เป็นการชุมนุมที่มิชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากการชุมนุมดังกล่าวไม่ได้มีการแจ้งการชุมนุมต่อเจ้าพนักงานตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ประกอบกับการชุมนุมดังกล่าวยังเป็นความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้มีการกำหนดมาตรการการควบคุมโรคตามพ.ร.บ.โรคติดต่อฯ  ไม่ได้จัดให้มีการตั้งจุดคัดกรอง เว้นระยะห่างผู้เข้าร่วมการชุมนุม ไม่ได้จัดให้มีเจลแอลกอฮอล์สำหรับการล้างมือ ประกาศให้เลิกการชุมนุมภายในเวลา 18.00 น.
 
 
20 สิงหาคม 2563
 
พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า "...การชุมนุมในสถานศึกษาไม่จำเป็นต้องมีการร้องขอแต่การรักษาความสงบเรียบร้อย ในสถานที่ที่สุ่มเสี่ยงต่อการกระทำที่ดูแล้วไม่เกิดความเรียบร้อยในอนาคตก็คงต้องมีการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจไปเฝ้าติดตามสถานการณ์อยู่แล้ว อย่างน้อยทุกอย่างต้องดำเนินไปตามกระบวนการของกฎหมาย เท่าที่ทราบสถานที่หลายแห่งมีการเปิดกว้างในเรื่องของการแสดงความคิดของนักศึกษา อยากจะเรียนว่า ในส่วนของการแสดงความคิดเป็นเรื่องของสิทธิส่วนบุคคลแต่อยากจะฝากถึงการกระทำอะไรที่มันสุ่มเสี่ยงกับการกระทำผิดกฎหมายก็อยากจะให้ช่วยกันดึงสติเอาไว้ คงไม่ใช่เรื่องของหลักนิติศาสตร์อย่างเดียวแต่เป็นเรื่องหลักนิติศาสตร์ด้วย..."
 
ในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายกับเด็กนั้น พ.ต.อ. กฤษณะตอบว่า "...เรื่องอายุเป็นรายละเอียดแต่โดยหลักแล้วการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมาย การที่จะบังคับตามหมายต่างๆ หมายจับลักษณะแบบนี้ เราก็คงจะปฏิบัติหน้าที่ไปตามปกติ แต่เราก็อยากจะฝากถึงในส่วนของผู้ที่ยังไม่ได้กระทำอะไร อาจจะทำอะไรที่มันสุ่มเสี่ยงความผิดหรือฝ่าฝืนกฎหมายก็อยากจะให้ไปดูตรงนี้ด้วย...ในเวลานี้เป็นหน้าที่ของสถานศึกษาแต่ละที่ต้องไปดูนักเรียน นักศึกษาในปกครอง ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจเราก็เฝ้าดูอยู่ห่างๆอยู่แล้ว เพราะโดยหลักการแล้ว ในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ชุมนุม มันมีหลักเกณฑ์ มันมีเงื่อนไข มันมีข้อบังคับให้เดินตามอยู่แล้ว ตามที่นำเรียนมาโดยตลอดว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายที่สำคัญสองฉบับคือ ในส่วนของพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะและในส่วนของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ การกระทำที่สุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโรค..."
 
นอกจากนี้ยังระบุเรื่องการออกหมายจับในสองพื้นที่คือ พื้นที่นครบาลและตำรวจภูธรภาคหนึ่ง ส่วนของนครบาลนั้นมีการออกหมายจับจำนวน 15 คนและตำรวจภูธรภาคหนึ่งมีการออกหมายจับจำนวนหกคน การดำเนินการไม่ได้มีเป็นการปฏิบัติสองมาตรฐานและไม่ได้หมายความเราจะไปจับผู้ที่มาชุมนุม แต่ตำรวจพิจารณาการกระทำที่เป็นการ 'เลยเถิด' ย้ำว่า การออกหมายจับเป็นไปตามขั้นตอน ส่วนการจับกุมเมื่อใดนั้นคงจะดูตามสถานการณ์ที่เหมาะสม ไม่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย
 
 
4 กันยายน 2563
 
ประชาชนนัดรวมตัวที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรม ต่อมาผู้นัดหมายทำกิจกรรมถูกกล่าวหาตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไม่มีข้อกล่าวหาตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
 
 
18 กันยายน 2563 
 
เวลา 16.30 น. เพจเฟซบุ๊ก “กิจกรรมนี้ไม่มีชื่อ At Suratthani” นัดจัดกิจกรรม #18กันยาตามหาประชาธิปไตย ก่อนหน้านี้วันที่ 17 กันยายน 2563 เวลา 16.30 น. ตัวแทนกลุ่มได้ส่งหนังสือแจ้งการชุมนุมสาธารณะผ่านทางอีเมล์ [email protected] ที่ได้แจ้งไว้ตามรายละเอียดเว็บไซต์ https://demonstration.police.go.th/?fbclid=IwAR019ew6de5EIyQEt3xovBzxL8QCoxG8s-9Um6aUz8ODbo3bRuis2aGl-KI 
 
ต่อมาในช่วงเช้าของวันทึ่ 18 กันยายน 2563 แอดมินเพจได้โพสต์ภาพของหนังสือแจ้งการชุมนุมสาธารณะ จากนั้นมีเฟซบุ๊กชื่อว่า “สภ.เมืองสุราษฎร์ธานี สุราษฎร์ธานี” คอมเมนท์ว่า “จากการตรวจสอบใบขออนุญาตการชุมนุมดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม  ปัจจุบันไม่ได้มีการขอนุญาตการชุมนุมในพื้นที่สภ.เมืองสุราษฎร์ธานี แต่อย่างใด จึงขอประชาสัมพันธ์ประชาชนอย่าได้หลงเชื่อผู้ที่นำเอกสารดังกล่าวมากล่าวอ้าง และขอประชาสัมพันธ์ หากผู้ใดประสงค์จะจัดการชุมนุมให้แจ้งการชุมนุมต่อหัวหน้าสถานีตำรวจในพื้นที่ ก่อนเริ่มการชุมนุมก่อนไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง”
 
เวลาใกล้เคียงกันแอดมินเพจโพสต์ลิงค์ชี้แจงกรณีการแจ้งชุมนุมว่า อีเมล์ที่ส่งไปนั้นเป็นอีเมล์ที่แจ้งไว้ในเว็บไซต์ของทางการและได้โทรศัพท์ไปที่ สภ.เมืองสุราษฎร์ธานีว่า ได้แจ้งการชุมนุมผ่านอีเมล์แล้ว เฟซบุ๊กชื่อว่า “สภ.เมืองสุราษฎร์ธานี สุราษฎร์ธานี” ก็ได้คอมเมนท์อีกครั้งว่า อีเมล์ของสภ.เมืองสุราษฎร์ธานีนั้นคือ [email protected] ไม่ใช่อีเมล์ที่แจ้งในเว็บไซต์ทางการ
 
ต่อมาเมื่อตัวแทนกลุ่มโทรศัพท์ไปสอบถามตำรวจสภ.เมืองสุราษฎร์ธานี ตำรวจตอบว่า ถือว่าการแจ้งตามอีเมล์ดังกล่าวถือว่า เป็นการรับแจ้งแล้ว เมื่อตรวจสอบคอมเมนท์ดังกล่าวอีกครั้งก็พบว่า คอมเมนท์ดังกล่าวถูกลบไปแล้วจากการตรวจสอบเฟซบุ๊กชื่อว่า “สภ.เมืองสุราษฎร์ธานี สุราษฎร์ธานี” มีเพื่อนอยู่ 1,504 คนและมักจะโพสต์ภาพอาคารสภ.เมืองสุราษฎร์ธานี
 
 
19 กันยายน 2563
 
ในการชุมนุม 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ที่ท้องสนามหลวง เวลา 15.08 น. ปิยรัฐ จงเทพ หัวหน้าทีมการ์ด We Volunteer เจรจากับพ.ต.อ.อัศวยุทธ นุชพุ่ม  ปิยรัฐบอกหลังจากการเจรจาตำรวจจะประกาศให้ทราบเรื่องรายละเอียดพื้นที่และสิทธิการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ
 
เวลา 15.12 น. ที่หน้ารถเครื่องขยายเสียงผู้ชุมนุมไม่น้อยกว่า 10 คนตั้งแถวห่างจากตำรวจประมาณ 5 เมตรชู 3 นิ้วและกล่าวออกมาว่า หยุดคุกคามประชาชน ตำรวจเพิ่มกำลังออกมาใกล้กับผู้ชุมนุมกลุ่มดังกล่าว มีการโต้เถียงกันโดยผู้ชุมนุมแสดงความไม่พอใจตำรวจที่จะประกาศกฎหมายการชุมนุมทั้งที่เมื่อสักครู่เจรจากับจตุภัทร์แล้วบอกว่า จะรอให้ทีมแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมมาเจรจาให้ได้ข้อสรุป ตนขอได้ไหมว่า ให้รอทีมแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมมาเจรจาก่อนได้ไหม เมื่อไม่ได้คำตอบผู้ชุมนุมคนดังกล่าวหันไปบอกกับผู้ชุมนุมที่ทยอยเข้ามาเสริมว่า พวกเราบอกเจ้าหน้าที่หน่อยว่า หยุดคุกคามประชาชน ผู้ชุมนุมร้องตาม พร้อมทั้งชู 3 นิ้วไปด้วย 
 
สิ้นเสียงประกาศผู้ชุมนุมก็โห่ร้องออกมา จากนั้นตำรวจประกาศต่อว่า "เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์โควิด 19 ระบาดอยู่..." ผู้ชุมนุมยิ่งโห่ร้องหนักขึ้น ตำรวจตอบกลับว่า “ไม่เป็นไรครับผมพูดด้วยความเป็นห่วง ขอพูดก่อนว่า การชุมนุมต้องระมัดระวังเรื่องโควิด 19
 
 และเว้นระยะห่าง ผมเข้าใจน้องๆ เราจะทำตามกรอบของกฎหมายที่ให้ไว้ตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯและเรื่องสาธารณสุขเท่านั้น”  โดยระหว่างที่ประกาศตำรวจได้นำแผงเหล็กกั้นมาตั้งที่ด้านหน้ารถเครื่องขยายเสียง ทำให้ตอนนี้มีแผงเหล็กกั้น 2 ชั้น แต่ผู้ชุมนุม
 
ในช่วงเวลาเดียวกันสื่อมวลชนรายงานว่าผู้บัญชาการตำรวจนครบาลออกประกาศกองบัญชาการตำรวจนครบาล ที่ 376/2563 เรื่องห้ามการชุมนุมสาธารณะในรัศมีไม่เกิน 50 เมตร รอบพื้นที่ ศาลฎีกา และทำเนียบรัฐบาล ลงวันที่ 18 กันยายน 2563 อ้างว่า การชุมนุมสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนและรบกวนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในสถานที่ดังกล่าว
 
เวลา 15.19 น. ตำรวจประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงต่อว่า การชุมนุมไม่เป็นไปตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไม่ได้แจ้งการชุมนุมก่อนล่วงหน้า 24 ชั่วโมง และห่วงเรื่องการแพร่กระจายของโรคโควิด 19 จากนั้นหยุดใช้เครื่องขยายเสียงให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวว่า นโยบายของผู้บังคับบัญชาคือให้ประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจข้อกฎหมายเรื่องโรคโควิด 19 และความปลอดภัย ยังไม่มีการวางแผนขั้นตอนต่อไป
 
 
20 กันยายน 2563
 
ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า แม้ว่าเจ้าหน้าที่จะใช้แผนการชุมนุม 63 แล้วแต่ตำรวจไม่ได้มุ่งที่จะใช้กำลังในการเข้าสลายการชุมนุม เป็นเพียงการปรับแผนให้เข้ากับสถานการณ์ เรานำบทเรียนที่ผ่านมา หลักรัฐศาสตร์และหลักการเจรจามาใช้เพื่อให้ทุกอย่างนั้นสามารถมีทางออกได้ ภาพที่เกิดขึ้นเมื่อเช้าถือว่า เป็นความสำเร็จของการเจรจา ระหว่างในส่วนของผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจ 
 
 
14 ตุลาคม 2563 
 
ในการชุมนุมของคณะราษฎรที่เคลื่อนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปทำเนียบรัฐบาล ระหว่างที่ขบวนเคลื่อนไปถึงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ เวลา 14.35 น. ตำรวจใช้เครื่องขยายเสียงประกาศเรื่องเสรีภาพในการชุมนุมระบุว่า มีบทบัญญัติคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ 2560 "...แต่อย่างไรก็ตามการใช้สิทธิเสรีภาพนั้นจำต้องอยู่ใต้บทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคงของชาติและความปลอดภัยสาธารณะ ตลอดจนการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน การชุมนุมที่พี่น้องประชาชนยังคงดำเนินการ ซึ่งได้กำหนดหลักเกณฑ์การใช้เสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะให้เป็นไปตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตลอดจนสุขอนามัยหรือความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะและต้องไม่กระทบกระเทือนสิทธิเสรีภาพและความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นจึงขอความร่วมมือพี่น้องประชาชน ผู้ร่วมชุมนุมทุกท่านได้โปรดปฏิบัติตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ โดยเคลื่อนย้ายกลับไปชุมนุมยังบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
 
ทั้งนี้ทุกภาคส่วนจะคอยอำนวยความสะดวกดูแลความปลอดภัยให้แก่พี่น้องประชาชนทุกคน เรียนพี่น้องประชาชนผู้ร่วมชุมนุมทุกท่าน ผมได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ทำการสื่อสารทำความเข้าใจและขอความร่วมมือไปยังพี่น้องประชาชน ผู้ร่วมชุมนุมทุกท่าน การชุมนุมของพี่น้องประชาชนในห้วงเวลาที่ผ่านมา ซึ่งได้ชุมนุมที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ได้มีการเคลื่อนขบวนออกมาตามถนนราชดำเนิน ซึ่งเจ้าหน้าที่พยายามทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน ขอความร่วมมือให้อยู่ในพื้นที่ที่กำหนด..."
 
เวลา 20.45 น. ตำรวจประกาศให้เลิกการชุมนุมเวลา 22.00 น. ระบุว่า การชุมนุมอยู่ในระยะ 50 เมตรจากทำเนียบรัฐบาลและไม่ได้มีการแจ้งการชุมนุมถือว่า เป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ จึงขอให้เลิกการชุมนุมภายในเวลา 22.00 น. มิฉะนั้นเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อไป 
 
 
15 ตุลาคม 2563 
 
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร
 
16 ตุลาคม 2563 
 
ตำรวจสลายการชุมนุมที่แยกปทุมวัน
 
 
17 ตุลาคม 2563 
 
เวลา 13.30 น. กอร.ฉ.แถลงข่าวสถานการณ์การชุมนุม พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติระบุว่า การปฏิบัติการเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ตำรวจทำไปโดยยึดหลักกฎหมาย ยึดหลักทางสากลเป็นหลัก กระบวนการขั้นตอนทุกอย่างมีการแจ้งเตือนด้วยการแถลงข่าว แจ้งเตือนในพื้นที่การชุมนุม ซึ่งการชุมนุมถือว่า เป็นการละเมิดพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และการแสดงกำลัง การใช้กำลังเข้าควบคุมพื้นที่ตามกฎหมาย ตำรวจได้ดำเนินการตามยุทธวิธีตามหลักสากล ไม่มีการใช้อาวุธรุนแรงตามที่เป็นข่าวปรากฏตามสื่อต่างๆ ขอเรียนเน้นย้ำว่า ตำรวจไม่อยากจัดการใดๆทั้งสิ้นที่จะเกิดผลกระทบทั้งทางร่างกายและจิตใจกับพี่น้องประชาชน แต่ตำรวจจำเป็นต้องทำตามหน้าที่เนื่องจากเวลานี้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ขอให้ประชาชนที่จะวางแผนการเข้าร่วมชุมนุมหรือว่าการสนับสนุนให้มีการชุมนุม หรือการดำเนินการใดๆก็ตามที่เป็นการเข้ามาชุมนุมทางการเมืองในช่วงเวลานี้ ยืนยันว่า เป็นเรื่องผิดกฎหมาย ตำรวจในฐานะเจ้าพนักงานที่บังคับใช้กฎหมายจำเป็นต้องปฏิบัติการตามกฎหมาย แต่ทำอยู่กรอบของหลักกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชน รวมทั้งหลักสากล
 
พล.ต.ต.ยิ่งยศตอบคำถามผู้สื่อข่าวสอบถามถึงสารเคมีที่ผสมในน้ำที่ใช้ฉีดในการสลายการชุมนุมว่า เครื่องมือที่ใช้เป็นกระแสน้ำ ไม่ใช่เครื่องมือที่เป็นอาวุธร้ายแรง "แก๊สน้ำตายังไม่ได้มีการใช้ครับ...ไม่มีครับ" ในกระแสน้ำที่ใช้เป็นกระแสน้ำแรงดันเบา อาจจะมีสารเคมีอยู่บ้าง ยืนยันว่า ไม่ได้มีอันตรายกับกลุ่มผู้ชุมนุม อาจจะมีการเปรอะเปื้อนตามเนื้อตัวเสื้อผ้า "แต่ว่า ถ้าท่านศึกษาตามหลักสากลแล้ว เครื่องมือชนิดนี้ไม่ใช่เครื่องมือที่มีความรุนแรง" ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า แต่ว่ากลิ่นและอาการเหมือนแก๊สน้ำตา แพทย์ที่ร่วมแถลงข่าวตอบว่า "สำหรับสารอะไร ผมจะไปศึกษา พอดีผมยังไม่ทราบว่า สารตัวใด แต่ว่ารายงานจากตำรวจระบุว่า เป็นสารเคมี ที่ส่งข้อมูลให้ทราบ เป็นอาการแค่ระคายเคืองผิวหนังเล็กน้อยและก็ไม่เป็นอันตรายต่อเยื่อบุตา และไม่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต" 
 
วันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 พ.ต.ท.ชวลิต หรุ่นศิริ รองผู้กำกับการกองกำกับการควบคุมฝูงชน 2 ยอมรับในที่ประชุม กมธ.สิทธิมนุษยชนฯ ว่า การสลายการชุมนุมวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ตำรวจฉีดน้ำแรงดันสูงที่มีส่วนผสมของสารเคมี 2 ชนิด คือ สารเคมีสีฟ้า หรือสารเมทิลไวโอเลตทูบี ในอัตราส่วนน้ำร้อยละ 97 และแก๊สน้ำตาอย่างเจือจาง ไม่เป็นอันตรายต่อผู้สัมผัส
 
ถอดความจาก : https://www.youtube.com/watch?v=ZcXGsfOIqpI
 
 
18 ตุลาคม 2563
 
ประชาชนรวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ต่อมาผู้ชุมนุม 2 คนถูกกล่าวคดีฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงฉบับที่ 4 เรื่องห้ามการชุมนุม
 
19 ตุลาคม 2563
 
ประชาชนรวมตัวกันที่แยกเกษตร ต่อมาผู้ชุมนุม 2 คนถูกกล่าวคดีฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงฉบับที่ 4 เรื่องห้ามการชุมนุมและพ.ร.บ.ชุมนุมฯ
 
 
20 ตุลาคม 2563
 
ประชาชนจัดกิจกรรมที่ด้านข้างเดอะมอลล์บางแค ต่อมาถูกกล่าวหาคดีฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงฉบับที่ 4 เรื่องห้ามการชุมนุม
 
 
22 ตุลาคม 2563
 
ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร
 
 
23 ตุลาคม 2563
 
ประชาชนจัดการชุมนุมที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร โดยวันที่ 22 ตุลาคม 2563 ผู้จัดการชุมนุมได้แจ้งการชุมนุมต่อผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลประชาชื่น ต่อมาการชุมนุมมีการกีดขวางการจราจร ผู้กำกับการสน.ประชาชื่นได้แจ้งให้แก้ไขการชุมนุม แต่การชุมนุมยังคงดำเนินไปต่อจนเสร็จสิ้นและมีการกล่าวหาคดีตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯต่อผู้แจ้งการชุมนุม
 
 
24 ตุลาคม 2563
 
ประชาชนนำโดย ณัฐวุฒิ สมบูรณ์ทรัพย์จัดกิจกรรมที่แยกกิ่งแก้ว ต่อมาตำรวจสน.ลาดกระบังได้แจ้งข้อกล่าวหาชุมนุมไม่แจ้งก่อนล่วงหน้า 24 ชั่วโมงตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ
 
 
5 พฤศจิกายน 2563
 
พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า “ในเรื่องของการชุมนุมนั้นอยากจะให้ท่านยึดถือตามตัวบทกฎหมายเป็นหลักโดยเฉพาะอย่างยิ่งการแจ้งการชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รับผิดชอบตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ เนื่องจากว่า การแจ้งการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯนั้นจะเป็นการแจ้งเพื่อให้เจ้าหน้าที่รับทราบและเจ้าหน้าที่เราจะได้จัดกำลังไปเพื่อที่จะอำนวยความสะดวกด้านการจราจรไปดำเนินการรักษาความสงบเรียบร้อย...ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ในหลายๆส่วนที่ผ่านมามีทั้งการแจ้งและไม่แจ้งให้เจ้าหน้าที่รับทราบ นอกจากนี้แล้ว แม้ว่าจะมีการแจ้งการชุมนุมให้เจ้าหน้าที่รับทราบแต่ก็ยังมีการฝ่าฝืนกฎหมายในหลายๆส่วนเพราะฉะนั้นแล้วอยากจะเรียนว่า ท่านที่จะออกมาชุมนุมนั้นไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็แล้วแต่ท่านสามารถที่จะใช้สิทธิตามกฎหมายได้ กฎหมายบอกไว้ชัดเจนว่า ท่านจะต้องดำเนินการอย่างไร ซึ่งท่านก็มีการเรียนรู้มาแล้ว 
 
สิ่งที่ผมจะพูดวันนี้ก็คือว่า หลังจากที่มีการออกมาชุมนุมโดยที่ไม่มีการแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือจะมีการแจ้งแต่มีการกระทำผิดกฎหมายในส่วนอื่นนั้น สุดท้ายแล้วพนักงานสอบสวนก็จะดำเนินการตามกรอบกฎหมายที่ให้อำนาจ ให้หน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยที่ไม่ได้มีสองมาตรฐาน…”
 
 
14 พฤศจิกายน 2563
 
พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลกล่าวว่า "...อย่างที่นำเรียนการชุมนุมขอให้ปฏิบบัติตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ซึ่งทั้งสามกลุ่มที่ชุมนุมในวันนี้มีการแจ้ง ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็มีการแจ้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับข้อกำหนดให้ทั้งสามกลุ่มรับทราบ...วัตถุประสงค์อย่างที่นำเรียนในเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยเท่านั้นเอง ไม่ใช่ว่าจะกีดกั้นไม่ให้เขาชุมนุม แต่ขอการชุมนุมก็ขอให้เขาปฏิบัติตามกฎหมาย อย่างที่นำเรียนหลายครั้งว่า ณ ปัจจุบันมันก็มีทั้งผู้ชุมนุม ทั้งประชาชนทั่วไปที่ใช้ทางสาธารณะหรือต้องการใช้ชีวิตเป็นปกติสุข ขอให้ปฏิบัติตามในกรอบของกฎหมายจะได้อยู่ร่วมกันในสังคมได้..."
 
ตอบคำถามเรื่องการเดินขบวนว่า "...เขาเดินได้ตามกฎหมายแต่ต้องแจ้งและทำตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ ถ้าเกิดสมมติว่า เขาไม่ทำตามกรอบของกฎหมาย...เจ้าหน้าที่ตำรวจก็เก็บหลักฐานพิสูจน์ทราบตัวบุคคล ถ้าพิจารณาว่า กระทำความผิดในข้อหาไหนก็ดำเนินคดีแค่นั้น..."
 
 
17 พฤศจิกายน 2563
 
เวลา 12.29 น. ไทยพีบีเอสรายงานว่า พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) พร้อมด้วยตำรวจที่ควบคุมและสั่งการดูแลความเรียบร้อยการรักษาความปลอดภัยบริเวณโดยรอบอาคารรัฐสภา ได้ลงพื้นที่เดินตรวจตรา ตั้งแต่ที่แยกเกียกกาย ถนนสามเสน มาจนถึงที่หน้าทางเข้ารัฐสภา พร้อมซักถามการวางแนวทางป้องกันไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดก็ตาม เข้าไปทำกิจกรรมในพื้นที่ควบคุมดังกล่าว ก่อนเปิดเผยสั้นๆ “ยืนยันว่า ขณะนี้พื้นที่บริเวณหน้ารัฐสภา ถูกประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมในระยะ 50 เมตร ไม่อนุญาตให้กลุ่มผู้ชุมนุมเข้าไปทำกิจกรรมใดๆ ทั้งสิ้น”
 
มีรายงานคำสัมภาษณ์ของพ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติกล่าวว่า ในทางการข่าวที่ได้รับทราบว่า วันนี้ (17 พฤศจิกายน 2563) จะมีผู้ชุมนุมจากสองกลุ่มคือ กลุ่มไทยภักดีและคณะราษฎร การที่ประกาศเชิญชวนในลักษณะนี้อยากจะให้ผู้ที่จัดกิจกรรม ผู้ที่เป็นแกนนำของกลุ่มได้ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ซึ่งกำหนดให้ผู้ที่จัดการชุมนุมต้องมีการดำเนินการแจ้งการชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ที่รับผิดชอบเพื่อที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้มีการจัดวางกำลัง รักษาความสงบเรียบร้อย อำนวยความสะดวกด้านการจราจรให้กับทั้งกลุ่มผู้ชุมนุมและพี่น้องประชาชนที่มีการสัญจรบริเวณนั้น
 
เขากล่าวต่อว่า ในการแจ้งการชุมนุมสาธารณะจะต้องแจ้งให้ทราบว่า จะใช้ระยะเวลาการชุมนุมเท่าไหร่และจำนวนคนประมาณเท่าใด เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับแจ้งแล้วจะมีการประมวลและดำเนินการแจ้งผู้ชุมนุมเรื่องของเงื่อนไขเพื่อให้การชุมนุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยย้ำว่า เจตนารมณ์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องการให้การชุมนุมเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อยและไม่ต้องการให้เกิดเรื่องบานปลายขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เห็นต่าง 
 
"การใช้สิทธิตามกฎหมายในการชุมนุมดำเนินการได้ แต่ท่านต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่ต้องปฏิบัติตามโดยเฉพาะอย่างยิ่งการแจ้งการชุมนุม" 
 
เวลา 13.32-13.54 น. กองบัญชาการตำรวจนครบาลแถลงข่าวเรื่องการชุมนุม พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลกล่าวสรุปสถานการณ์การชุมนุมรอบรัฐสภาจำนวน 4 กลุ่ม ขณะนี้กองบัญชาการตำรวจนครบาลได้ออกคำสั่งที่ 485/2563 กำหนดระยะ 50 เมตรโดยรอบห้ามมีการชุมนุมประกาศตั้งแต่เมื่อวานนี้มีผลตั้งแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 เวลา 00.00 น. ถนนสามเสนยาวถึงประตู 3 ของบริษัทบุญรอด แยกเกียกกาย ถนนประชาราษฎร์สาย 1 บางส่วน ถนนทหารบางส่วน บริเวณดังกล่างกองบัญชาการตำรวจนครบางจะมีการตั้งแนวตำรวจให้กลุ่มผู้ชุมนุมปฏิบัติตามกฎหมาย
 
พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติกล่าวว่า มาจนถึงบัดนี้แกนนำคณะราษฎรยังไม่ได้มีการแจ้งการชุมนุมตามกฎหมาย พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวอธิบายเพิ่มเติมว่า ตอนนี้มีการเตรียมแผนในการอพยพและนำพาผู้เข้าร่วมประชุมออกจากสภาทั้ง 1,000 คนออกจากสภาได้ ส่วนเรื่องการกินหมูกระทะมีการบันทึกภาพทั้งภาพนิ่งภาพเคลื่อนไหวและพิจารณาดำเนินคดีภายหลัง ผู้สื่อข่าวถามว่า จะปล่อยให้ชุมนุมได้ก่อนและแจ้งข้อหาตามหลังใช่หรือไม่ พล.ต.ต.ปิยะตอบว่า ใช่ 
 
ขณะที่พ.ต.อ.กฤษณะขยายความเพิ่มว่า การแจ้งชุมนุมแล้วไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีคดีความเพราะหากระหว่างการชุมนุมมีการละเมิดกฎหมายก็อาจนำมาสู่คดีความได้ ในเรื่องการถีบเรือเป็ด บางครั้งการชุมนุมไม่ใช่แค่สนุกอย่างเดียว ต้องคำนึงถึงชีวิตของผู้มาร่วมชุมนุมด้วย เจ้าหน้าที่เตือนด้วยความห่วงใย ผู้จัดการชุมนุมมีเจตนาหรือเล็งเห็นผล นำเรือที่สภาพไม่เหมาะสมกับพื้นที่ที่เล็งเห็นผลให้เกิดอันตรายอาจนำไปสู่การดำเนินคดีได้ 
 
18 พฤศจิกายน 2563 
 
พ.ต.อ. นิติวัฒน์ แสนสิ่ง ผู้กำกับการสน.ลุมพินีออกคำสั่งเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ สน. ลุมพินี ที่ 2/2563 ให้เลิกการชุมนุมสาธารณะ ระบุว่า การนัดหมายชุมนุมของอานนท์ นำภา ที่แยกราชประสงค์นั้นไม่มีการแจ้งการชุมนุมก่อนล่วงหน้าเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ถือเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและให้เลิกการชุมนุม
 
 
24 พฤศจิกายน 2563  
 
พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า คณะราษฎรและเยาวชนปลดแอกยังไม่ได้มีการแจ้งการชุมนุมต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่รับผิดชอบ การชุมนุมเป็นสิทธิตามกฎหมายแต่ต้องมีการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยเฉพาะพ.ร.บ.ชุมนุมฯ เจ้าหน้าที่จะกำหนดเงื่อนไขกลับไป การแจ้งต้องไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง
 
 
27 พฤศจิกายน 2563
 
เวลาประมาณ 16.20 น. พ.ต.อ. อรรถวุฒิ นิวาตโสภณ ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลพหลโยธิน ได้อ่านประกาศคำสั่งให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมภายในเวลา 16.30 น. เนื่องจากเป็นการชุมนุมที่ไม่ได้แจ้งขออนุญาตตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ จึงถือว่าเป็นการชุมนุมที่มิชอบด้วยกฎหมาย แต่กิจกรรมยังคงดำเนินไปด้วยความสงบและยุติลงเวลาประมาณ 22.45 น.
 
 
28 พฤศจิกายน 2563 
 
13.00 น. ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลและพ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติกล่าวถึงสถาการณ์การชุมนุม พล.ต.ต. ปิยะ กล่าวย้อนถึงการชุมนุมที่บริเวณห้าแยกลาดพร้าวเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้ยื่นชุมนุมตามกฎหมายและผู้กำกับสน.พหลโยธินได้ดำเนินการตามกฎหมายเพื่อดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งแล้ว วันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน 2563 มีการชุมนุมที่ห้างอิมพีเรียลสำโรงและมีการเชิญชวนให้เคลื่อนตัวไปที่แยกบางนา จากการตรวจสอบสภ.สำโรงเหนือและสน.บางนา สถานีตำรวจท้องที่ผู้จัดยังไม่ได้มีการยื่นชุมนุมตามกฎหมายแต่อย่างใด และในวันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน 2563 มีการนัดหมายที่บริเวณหน้าห้างอิมพีเรียล ลาดพร้าว ท้องที่สน.โชคชัย ขณะนี้ยังไม่มีการยื่นชุมนุมแต่อย่างใด บช.น.จัดเตรียมกำลังตามความเหมาะสม
 
พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวว่า "ช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมากลุ่มที่มีความเห็นต่างกับรัฐบาลไม่ได้มีการชี้แจง ไม่ได้มีการแจ้งการชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจตามที่กฎหมายได้กำหนด ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงมีความจำเป็นที่จะต้องบังคับใช้กฎหมาย แต่ท่านจะเห็นอยู่แล้วว่า ถ้าไม่มีการแจ้งการชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจที่รับผิดชอบในท้องที่จะต้องดำเนินการประกาศว่า การชุมนุมนั้นเป็นการชุมนุมที่มิชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยุติการชุมนุม...ส่วนตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจเองก็ได้ปฏิบัติตามกฎหมายตามได้ให้อำนาจเอาไว้ ส่วนการดำเนินการ ดำเนินคดีก็เป็นเรื่องของพนักงานสอบสวน เป็นเรื่องของข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น คงไม่มีการดำเนินการสองมาตรฐาน...
 
...การแจ้งการชุมนุมถือว่า เป็นจุดแรกที่ผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้มีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ในเรื่องของการวางกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยให้เกิดขึ้น เจตนารมณ์ของกฎหมายนั้นไม่ได้ห้ามการชุมนุม แต่อยากจะให้เป็นการชุมนุมที่สงบเรียบร้อย ปราศจากอาวุธ และก็ดำเนินการเรียกร้องอะไรก็แล้วแต่ ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจเองก็ต้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายเหมือนกัน ไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้ง...ภาพที่เกิดขึ้นที่ดีคือ ผู้ชุมนุมแจ้งการชุมนุมเจ้าหน้าที่ตำรวจจะช่วยกัน ปฏิบัติงานร่วมกับผู้ชุมนุม กลุ่มแกนนำ...เพื่อให้การชุมนุมลุล่วงไปตามวัตถุประสงค์ ต้องอยู่ในกรอบกฎหมาย... "
 
 
25 ธันวาคม 2563
 
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 15 ข้อ 3 ระบุว่า “ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ภายในพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงกำหนด”
 
 
29 ธันวาคม 2563 
 
พลเอกเฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดออกประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมดังนี้
 
ข้อ 1 ห้ามมิให้มีการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค หรือกระทำอันเป็นการฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน หรือการกลั่นแกล้งเพื่อแพร่เชื้อโรค
 
ข้อ 2 ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือการทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคในพื้นที่ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด ประกาศหรือมีคำสั่งให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด
 
ข้อ 3 การชุมนุมหรือการทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัด...ต้องขออนุญาตจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัดก่อนดำเนินการ และต้องแสดงแผนการจัดงานและมาตรการควบคุมโรคประกอบการพิจารณา
 
 
3 มกราคม 2564 
 
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 16 ข้อ 2 ระบุว่า ห้ามการจัดกิจกรรมในเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากและมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้โดยง่าย 
 
 
7 มกราคม 2564
 
พลเอกเฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดออกประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ฉบับที่ 2 ยกเลิกประกาศฉบับที่ 1 โดยกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการรวมตัวดังนี้ 
 
ข้อ 1 ห้ามมิให้มีการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค หรือกระทำอันเป็นการฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน หรือการกลั่นแกล้งเพื่อแพร่เชื้อโรค
 
ข้อ 2 ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือการทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากและมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้โดยง่าย ซึ่งมีประกาศหรือคำสั่งให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด
 
 
16 มกราคม 2564
 
เวลา 12.00 น. การ์ดปลดแอกทำกิจกรรมเขียนป้ายผ้ายกเลิกมาตรา 112 ที่ลานเกาะพญาไท ซึ่งเป็นพื้นที่โล่งแจ้ง มีอากาศถ่ายเท และเวลาดังกล่าวมีผู้ชุมนุมอยู่ไม่มากนักประมาณ 50 คน ต่อมาเวลา 12.19 น. ตำรวจนำกำลังมาที่ฟุตบาทหน้าป้ายรถเมล์เกาะพญาไท พ.ต.อ.บวรภพ สุนทรเรขา ผู้กำกับการสน.พญาไทประกาศข้อกฎหมาย เข้าใจได้ว่า เป็นข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 15 และพ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และประกาศว่า ขอชี้แจงให้สื่อมวลชนทราบว่า การกระทำแบบนี้มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิดระลอกที่สองในขณะนี้ไม่สมควรที่จะมารวมตัวหรือทำกิจกรรมใดๆทั้งสิ้น จากนั้นเมื่อประกาศจบเวลา 12.20 ประกาศเรียกชุดจับกุมและนำกำลังคฝ.เข้าไปจับกุมผู้ที่ทำกิจกรรมในพื้นที่ทันที ไม่มีการเจรจาและการเว้นระยะให้ผู้ชุมนุมได้เตรียมตัวตัดสินใจ  ประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงว่า จับกุมให้หมด
 
เวลา 12.22 น. ตำรวจคุมตัวนักกิจกรรมคนแรก โดยตำรวจสองนายมีการลากตัวผู้ถูกจับกุมที่ทิ้งตัวไปกับพื้นถนน ทั้งสองนายลากแขนผู้ชุมนุมคนละทาง ทำให้แขนข้างขวาของชายคนดังกล่าวเหมือนถูกลากไขว่รั้งไปทางด้านหลัง กำลังตำรวจไม่น้อยกว่า 200 นาย
 
เดอะสแตนดาร์ดรายงานคำให้สัมภาษณ์ของพล.ต.อ. อรรถวิทย์ สายสืบ รักษาราชการแทนผู้บังคับการตำรวจนครบาลหนึ่ง กรณีการสลายการชุมนุมเขียนป้ายผ้า #ยกเลิก112 ว่า ตำรวจในฐานะผู้รักษากฎหมาย จำเป็นต้องดำเนินการตามมาตรการอย่างเต็มที่ ขอให้สื่อมวลชนและพวกเราพี่น้องให้เข้าใจตรงนี้ พร้อมทั้งกล่าวว่ากิจกรรมใดๆ ก็ตามแต่ขอให้ผ่านช่วงโควิด-19 ระบาดไปก่อน และขอให้มองในมุมการป้องกันโรคไม่ใช่การเมือง
 
 
29 มกราคม 2564
 
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 18 ข้อ 1  (2) กำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ที่ต้องบังคับใช้มาตรการที่กำหนดไว้สำหรับเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามข้อกำหนดฉบับที่ 16
 
ข้อ 3 (2) ห้ามการจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากและมีโอกาสแพร่ระบาดของโรคได้ง่าย เว้นแต่เป็นกิจกรรมที่มีลักษณะตามข้อยกเว้นที่กำหนดในข้อ 2 ของข้อกำหนดฉบับที่ 16
 
 
3 กุมภาพันธ์ 2563 
 
พลเอกเฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดออกประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ฉบับที่ 3 ยกเลิกประกาศฉบับที่ 2 โดยกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมดังนี้ 
 
ข้อ 1 ห้ามมิให้มีการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค หรือกระทำอันเป็นการฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน หรือการกลั่นแกล้งเพื่อแพร่เชื้อโรค
 
ข้อ 2 ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือการทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากและมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้โดยง่าย ซึ่งมีประกาศหรือคำสั่งให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และพื้นที่ควบคุมสูงสุด
 
 
12 กุมภาพันธ์ 2564
 
ที่หน้าโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย ราษฎรใต้นัดทำกิจกรรมเกี่ยวข้องกับมาตรา 112 เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่ แจกใบประชาสัมพันธ์เนื้อหาว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่ยังต้องมีการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง การชุมนุมนั้นจะต้องตระหนักถึงการระวังป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคและไม่เป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, การใช้สิทธิแสดงความคิดเห็นตามกฎหมายสามารถกระทำได้เท่าที่ไม่เข้าข่ายการกระทำที่เป็นความผิดตามกฎหมาย  และในการทำกิจกรรม เจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีการบันทึกภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวไว้เป็นพยานหลักฐาน
 
 
13 กุมภาพันธ์ 2564
 
เวลาประมาณ 18.30 น. ครูใหญ่-อรรถพล บัวพัฒน์ แกนนำราษฎรประกาศเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรียฺประชาธิปไตยไปศาลหลักเมือง เวลา 19.00 น. ตำรวจประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงว่า “ประกาศจากสน.พระราชวัง...การกระทำดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินตามข้อกำหนดฉบับที่ 15 ข้อ 3 เรื่องห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัด หรือ การกระทำดังกล่าวเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ทั้งนี้ภายในเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง ประกาศประกอบข้อกำหนดฉบับที่ 16 และ 18 ซึ่งกำหนดให้พื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด 
 
ทั้งนี้ได้มีระกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาด ข้อ 3 ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือการทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากและมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้โดยง่าย ซึ่งมีประกาศหรือคำสั่งให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และพื้นที่ควบคุมสูงสุดที่กำหนดไว้คามข้อกำหนดฉบับที่ 18 …
 
ทั้งนี้เพื่อประโยชน์รักษาความสงบเรียบร้อยและการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จึงให้ท่านยุติการชุมนุม...หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเจ้าหน้าที่มีความจำเป็นจะต้องดำเนินคดีตามกฎหมายขั้นเด็ดขาดต่อไป…”
 
 
19 กุมภาพันธ์ 2564
 
พลเอกเฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดออกประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ฉบับที่ 4 ระบุว่า ปัจจุบันยังปรากฏสถานการณ์การชุมนุมอยู่จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประกอบกับคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 4/2563 ให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นหน่วยหลักในการ “ปฏิบัติตามมาตรการที่จำเป็นและเหมาะสมในการระงับยับยั้ง การยุติการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือมั่วสุม” ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
 
 
28 กุมภาพันธ์ 2564 
 
เวลาประมาณ 17.30 น. ผู้ชุมนุมรีเด็มเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยถึงหน้ากองพลทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หรือ ‘ราบ1’ จากนั้นมีการตัดลวดหนามและเลื่อนตู้คอนเทนเนอร์เพื่อเปิดถนนด้านหน้า ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า ทหารด้านในราบ 1 ประกาศว่า ราบ 1 เป็นเขตพระราชฐาน แต่เสียงประกาศนั้นไม่ได้ครอบคลุมพื้นที่การชุมนุมทั้งหมด ผู้สังเกตการณ์หกคนที่ยืนอยู่ที่ซอยพหลโยธิน 2, ด้านหน้าตู้คอนเทนเนอร์ราบ 1 และบริเวณหน้าปั๊มปตท. ไม่ได้รับทราบข้อมูลดังกล่าว การประกาศเรื่องเขตพระราชฐานอาจสามารถตีความถึงข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมในพื้นที่ดังกล่าว โดยกฎหมายที่ห้ามการชุมนุมในพื้นที่เขตพระราชฐานนั้น เท่าที่สามารถติดตามได้มีเพียงมาตรา 7 ของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ 
 
 
 
5 มีนาคม 2564 
 
พลเอกเฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดออกประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ฉบับที่ 5 "...ห้ามมิให้มีการชุมนุม หรือการทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัด ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดและอาจเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคโควิด 19 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากและมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้โดยง่ายในพื้นที่กรุงเทพมหานคร..."
 
 
6 มีนาคม 2564 
 
ไทยรัฐออนไลน์รายงานคำสัมภาษณ์ของพล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติกล่าวว่า พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร.ได้มีความห่วงใย และเน้นย้ำเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อย และป้องกันสถานที่ราชการที่สำคัญ โดยเฉพาะศาลอาญา ทั้งนี้ก็ให้เจ้าหน้าที่ยึดถือกฎหมายเป็นหลัก ซึ่งได้เตรียมมาตรการรับมือและกำลังเพียงพอต่อจำนวนของกลุ่มผู้ชุมนุม ทั้งนี้ หากผู้ชุมนุมเข้ามาทำลายทรัพย์สิน หรือบุกฝ่าเข้ามาในศาล ก็ถือเป็นการละเมิดอำนาจศาล เป็นความผิดนอกจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และรวมกลุ่มมั่วสุมให้เกิดความวุ่นวายตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 ซึ่งตำรวจจะสามารถควบคุมตัว หรือจับกุมตัวได้ตามกฎหมายทันที เพราะการชุมนุมถือว่าผิดกฎหมายอยู่แล้ว ซึ่งตอนนี้ไม่ได้บังคับใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะใช้มาตรการควบคุมสูงสุด โดยไล่จากเบาไปหาหนัก
 
 
20 มีนาคม 2564
 
ไทยพีบีเอสรายงานคำสัมภาษณ์ของพล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลว่า ตำรวจมีการเตรียมกำลังพร้อมดูแลความสงบเรียบร้อยในการชุมนุมของรีเด็มเหมือนทุกการชุมนุมที่ผ่านมา เบื้องต้นใช้กำลัง 22 กองร้อย แต่จะปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์การชุมนุม ยืนยันว่า การชุมนุมในที่ทางสาธารณะโดยไม่แจ้งต่อเจ้าพนักงานนั้นผิดต่อกฎหมาย พ.ร.บ.การชุมนุมฯ อยู่แล้ว และยังเข้าข่ายผิดต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯและ พ.ร.บ.ควบคุมโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วย
 
 
ด้านพ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญกล่าวในการแถลงข่าวร่วมกับกองบัญชาตำรวจนครบาลว่า ในห้วงปกติที่ไม่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน การชุมนุมต้องเป็นไปตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ตอนนี้อยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษการชุมนุมไม่สามารถเกิดขึ้นได้ 
 
 
22 มีนาคม 2564
 
พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลชี้แจงการสลายการชุมุนมเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2564 ว่า ผู้ชุมนุมมีการรื้อแนวสิ่งกีดขวางของตำรวจและ “...พยายามฝ่าฝืนเข้าไปในพื้นที่สำคัญ ใจกลางกรุงเทพมหานครที่ประกอบด้วยสถานที่สำคัญและเป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของพี่น้องประชาชนชาวไทย ไม่ว่าจะเป็นศาลเจ้าพ่อหลักเมือง วัดพระแก้วและกระทรวงกลาโหม…”  
 
 
30 มีนาคม 2564
 
ที่ทำเนียบรัฐบาล ถนนราชดำเนินนอก ฝั่งทางเข้าถนนลูกหลวง มีการนำแผงเหล็กมากั้นและติดป้ายไวนิล เขต 50 เมตรทำเนียบรัฐบาล
 
 
7 เมษายน 2564 
 
พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า กองบัญชาการตำรวจนครบาลขอยืนยันว่า การชุมนุมใดๆในเขตกรุงเทพมหานครในขณะนี้เป็นการกระทำผิดกฎหมาย ผู้ที่ประกาศเชิญชวนไม่ว่าจะเป็นการเชิญชวนทางโซเชียลเน็ตเวิร์คหรือเชิญชวนด้วยประการหนึ่งประการใด ผู้ร่วมชุมนุม ผู้ที่มีส่วนในการปราศรัยในการชุมนุม ตลอดจนผู้ให้การสนับสนุนการชุมนุมไม่ว่าจะเป็นรถสุขา เวที เครื่องเสียงเหล่านี้ถือว่า เป็นผู้ร่วมกระทำผิดตามกฎหมายทั้งสิ้น ซึ่งท่านอาจจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย