ชุมนุม 64 : บททดสอบของราษฎรยามเพื่อนถูกจองจำ

กระแสการชุมนุมในปี 2564 ดูผิวเผินเหมือนจะลดความร้อนแรงลงด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ระลอก 2 ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม 2563 ราษฎรในฐานะผู้จัดการชุมนุมหลักพยายามปรับเปลี่ยนรูปแบบไปตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเช่น จัดกิจกรรมให้กำลังใจผู้ถูกดำเนินคดีผ่านโปรแกรมซูม (Zoom) และจัดการปราศรัยในพื้นที่เป้าหมายแบบไม่นัดมวลชนให้มาร่วมและเผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดียและสื่อมวลชนแทน ขณะที่การชุมนุมให้กำลังใจผู้ถูกจับกุมและดำเนินคดีกลายเป็นวัตถุประสงค์หลักของการชุมนุมที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ล้อไปกับสถานการณ์การจับกุมและดำเนินคดีประชาชนที่แสดงออกทางการเมืองซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง  โดยสถานที่จัดการชุมนุมก็มักจะเป็นสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม เช่น สถานีตำรวจ ศาล รวมถึงหน้าเรือนจำ
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 สถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกที่ 2 เริ่มคลี่คลายลง ประกอบกับสถานการณ์การรัฐประหารในพม่าซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 การชุมนุมทางการเมืองและการเมืองบนท้องถนนจึงเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง ขณะเดียวกันประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด19 ก็เริ่มกลับมาใช้การชุมนุมเป็นเครื่องมือในการเรียกร้องให้ภาครัฐเข้ามาแก้ปัญหา เช่น การออกมาเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการนวดแผนโบราณ ผู้ประกอบการธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ใช้แรงงานและกลุ่มเกษตรกร 
สำหรับการชุมนุมของราษฎรเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกครั้ง นับจากวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งเป็นวันที่ศาลอาญามีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยคดีมาตรา 112 ได้แก่ เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์, อานนท์ นำภา, สมยศ พฤกษาเกษมสุขและหมอลำแบงค์-ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้มประกันตัวระหว่างการพิจารณาคดีมาตรา 112 จากการชุมนุม 19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร  ระหว่างวันที่ 19-20 กันยายน 2564 โดยให้เหตุผลว่า หากปล่อยตัวจำเลยทั้ง 4 คนระหว่างการพิจารณาจะมีการกระทำอย่างเดียวกับที่กระทำในคดีนี้อีก 
จากกรณีที่จำเลยทั้งหมดมีแนวโน้มว่าจะถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีอย่างยาวนาน นักกิจกรรมส่วนหนึ่งจำเป็นต้องกลับมาเคลื่อนไหวบนท้องถนนอีกครั้ง และแม้ว่าข้อเรียกร้องหลัก 3 ข้อของกลุ่มราษฎร ได้แก่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ, พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และองคาพยพต้องลาออกและปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ จะยังคงถูกพูดถึงต่อไปแต่เนื้อหาที่ถูกสื่อสารหลักในการเคลื่อนไหวระลอกนี้กลายเป็นข้อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวของผู้ต้องหาและจำเลยที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 และข้อหาอื่นๆที่มีมูลเหตุจากการแสดงออกทางการเมือง สำหรับจำนวนผู้ชุมนุมเพื่อเรียกร้องอิสรภาพให้ผู้ถูกคุมขังจากการแสดงออกทางการเมืองแต่ละครั้งจะแตกต่างกันไป จากน้อยที่สุดที่ประมาณ 1-20 คน ในกรณีการชุมนุมของกลุ่มเคลื่อนไหวเกิดใหม่อย่างราษฎรเอ้ยและกลุ่มอาชีวะฯ  ไปจนถึงมีจำนวนผู้เข้าร่วมสูงสุดที่ไม่น้อยกว่า 2,500 คนในการชุมนุมของแกนนำเดิมอย่างแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564
ท่ามกลางความพยายามในการสั่งสมมวลชน การชุมนุมแต่ละครั้งต้องเผชิญความยากลำบากจากการปราบปรามที่ไต่ระดับรุนแรงมากขึ้นของเจ้าหน้าที่รัฐ ในแง่หนึ่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุมอาจแปรเป็นความหวาดกลัวและส่งผลให้ผู้ชุมนุมบางส่วนตัดสินใจไม่เข้าร่วมการชุมนุมในครั้งต่อๆไป แต่ในอีกแง่หนึ่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นก็อาจเป็นแรงผลักดันให้ผู้ชุมนุมตัดสินใจเข้าร่วมการชุมนุมในครั้งต่อๆไปได้ อาทิ การสลายการชุมนุมที่สนามหลวงเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2564 (ซึ่งเจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นพื้นที่เกี่ยวพันกับเขตพระราชฐาน) ได้นำไปสู่การชุมนุมใหญ่ที่แยกราชประสงค์ของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 
แม้ว่าแยกราชประสงค์จะเป็นพื้นที่ที่มีประวัติการสลายการสลายการชุมนุมในปี 2553 แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันด้วยเป็นพื้นที่ พื้นที่นี้อยู่ห่างจากเขตพระราชฐานและมีความสะดวกในการเดินทาง จึงกลายเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่ผู้ชุมนุมมักใช้จัดการชุมนุมตอบโต้การใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมของรัฐซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้านั้น เช่น ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ราษฎรจัดการชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์เพื่อตอบโต้การสลายการชุมนุมที่หน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 และล่าสุดแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมจัดการชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ในวันที่ 24 มีนาคม 2564 เพื่อตอบโต้การสลายการชุมนุมที่เกิดขึ้นในวันที่ 20 มีนาคม 2564 
ทั้งนี้การชุมนุมครั้งดังกล่าวเป็นการชุมนุมที่มีผู้เข้าร่วมมากที่สุดนับตั้งเดือนมกราคม ปี 2564 และสามารถสื่อสารในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง 3 ข้อได้อย่างครบถ้วน ทั้งข้อเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์และองคาพยพลาออกไป ข้อเรียกร้องให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์
นับจากเดือนมกราคม 2564 จนถึงวันที่ 19 เมษายน 2564 มีการชุมนุมเกิดขึ้นทั่วประเทศไม่น้อยกว่า 317 แบ่งเป็นการชุมนุมในเดือนมกราคม 47 ครั้ง กุมภาพันธ์ 73 ครั้ง มีนาคม 96 ครั้งและระหว่างวันที่ 1-19 เมษายน 2564  101 ครั้ง ใน 29 จังหวัด กรุงเทพมหานครยังคงเป็นจังหวัดที่มีการชุมนุมมากที่สุดคือ 216 ครั้ง,  เชียงใหม่ 23 ครั้ง, ขอนแก่น 12 ครั้ง,  เชียงราย 11 ครั้ง และอุบลราชธานี 9  ครั้ง โดยมีการชุมนุมอย่างน้อย 34 ครั้งที่กลายเป็นคดีความ 
ขณะที่วัตถุประสงค์หลักหรือมีลักษณะเฉพาะหน้าร่วมกับวัตถุประสงค์อื่นของการชุมนุมตั้งแต่ต้นปี 2564 คือ เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรมและจำเลยคดีทางการเมืองที่ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีไม่น้อยกว่า 151 ครั้ง หากแบ่งเป็นช่วงเวลาตั้งแต่การคุมขังนักกิจกรรมชุดแรกเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ถึงปัจจุบันคือการมีไม่น้อยกว่า 147 ครั้งที่แสดงออกเรียกร้องในประเด็นนี้

เดินขบวน-ไร้แกนนำ-ปักหลักยาว…สร้างความเป็นไปได้แบบใหม่

แม้ว่าจะประสบความยากลำบากในการรวมผู้ชุมนุม แต่ความเคลื่อนไหวยังปรากฏเรื่อยมาในรูปแบบใหม่ที่ต่างไปจากการตั้งเวทีปราศรัยอย่างที่เคยเป็นมาในปี 2563 โดยมีเป้าหมายเพื่อสั่งสม ขยายฐานมวลชนและปลุกกระแสการเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ 2 อีกครั้ง ดังนี้
  • การเดินขบวนระยะไกล 

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 ไผ่-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา จำเลยร่วมคดี 19 กันยาทวงอำนาจราษฎรและเครือข่ายพีเพิ้ลโก จัดกิจกรรมเดินทะลุฟ้า ซึ่งเป็นกิจกรรมเดินเท้าจากนครราชสีมาเข้ากรุงเทพมหานคร รวมระยะทาง 247.5 กิโลเมตร โดยมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย การเดินขบวนนี้ใช้วิธีการสื่อสารกับประชาชนผู้รับสารต่างจากเดิมคือทางผู้จัดเป็นคนเดินเข้าหาประชาชนถึงในพื้นที่ต่างจากเดิมที่ใช้วิธีประกาศสถานที่นัดหมายแล้วให้ประชาชนเดินเข้ามาร่วมการชุมนุม ข้อเรียกร้องหลักของกิจกรรมเดินทะลุฟ้า คือ ปล่อยเพื่อนเรา ซึ่งหมายถึงปล่อยตัวผู้ถูกกล่าวหาคดีการเมืองที่ถูกคุมขังโดยที่คดียังไม่ถึงที่สุด, ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ, ให้ยกเลิกมาตรา 112 และให้พล.อ.ประยุทธ์ลาออกจากตำแหน่ง
เมื่อขบวนเดินเข้าใกล้กรุงเทพมากขึ้นผู้ที่ไปร่วมเดินทะลุฟ้าก็มีจำนวนมากขึ้น ในวันที่ 7 มีนาคม 2564 ซึ่งขบวนเดินถึงจุดหมายคืออนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมีผู้เข้าร่วมชุมนุมไม่น้อยกว่า 1,500 คน  ทั้งนี้ กิจกรรมเดินทะลุฟ้า ถือเป็นการเคลื่อนไหวอย่างเสรีนอกเรือนจำครั้งท้ายสุดของไผ่-จตุภัทร์ และเพื่อนร่วมทางอย่าง รุ้ง-ปนัสยาและไมค์-ภาณุพงศ์  เพราะในวันที่ 8 มีนาคม 2564 ศาลอาญามีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวทั้ง 3 คน และต้องสูญเสียอิสรภาพตามจำเลยร่วมในคดีชุมนุม 19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร อีก 4 คนที่ถูกคุมขังมาแล้วตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 
  • การชุมนุมไร้แกนนำ 

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 เยาวชนปลดแอกเปิดตัวรีเด็ม (REDEM) หรือ ประชาชนสร้างตัว วิธีการจัดชุมนุมของรีเด็มคล้ายคลึงกับปรากฏการณ์ไร้แกนนำในเดือนตุลาคม 2563 ตอบสนองต่อสถานการณ์ที่แกนนำทยอยเดินเข้าเรือนจำ เน้นการสื่อสารบนโลกออนไลน์และการให้อำนาจสมาชิกออกเสียงเลือกสถานที่หรือวันชุมนุมผ่านแอพลิเคชันเทเลแกรม ข้อเรียกร้องหลักของรีเด็มมุ่งตรงไปที่การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ การชุมนุมของรีเด็มนับเป็นการชุมนุมที่มีจำนวนผู้เข้าร่วมจำนวนมากกว่าการชุมนุมของกลุ่มอื่นๆ อยู่ที่ประมาณ 1,500-2,000 คนต่อครั้ง จนถึงปัจจุบันการชุมนุมของรีเด็มจัดขึ้นทั้งหมด 3 ครั้ง คือ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 เดินเท้าจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปกรมทหารราบ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ราบ 1) , วันที่ 6 มีนาคม 2564 เดินเท้าจากห้าแยกลาดพร้าวไปศาลอาญา และวันที่ 20 มีนาคม 2564 ที่สนามหลวง  ใน 2 ครั้งแรกคือ วันที่ 28 กุมภาพันธ์และ 6 มีนาคม 2564 ยังอาศัยวิธีการเดินขบวนที่เป็นแนวทางเดิมที่เกิดขึ้นในเดือนตุลาคม 2563
การชุมนุมของรีเด็มสองใน 3 ครั้งเกิดขึ้นในพื้นที่อ่อนไหวของรัฐ คือ ราบ 1 และสนามหลวง เหตุที่เป็นพื้นที่อ่อนไหวเนื่องจากราบ 1 ถูกประกาศให้เป็นเขตพระราชฐาน ส่วนสนามหลวงอยู่ใกล้เขตพระราชฐานอย่างพระบรมมหาราชวัง การชุมนุมของรีเด็มในพื้นที่อ่อนไหวนี้นำไปสู่การยกระดับสลายการชุมนุมอย่างเต็มรูปแบบภายใต้เงื่อนไขเดียวกันคือเมื่อผู้ชุมนุมบางส่วนเปิดแนวสิ่งกีดขวาง การสลายการชุมนุมเริ่มจากการใช้กำลังจับกุม การใช้อุปกรณ์ควบคุมฝูงชนตั้งแต่การฉีดน้ำเปล่า การฉีดน้ำผสมแก๊สน้ำตาไปจนถึงการใช้กระสุนยางที่ตำรวจยอมรับว่า ใช้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สลายการชุมนุม นปช. ปี 2553
  • การปักหลักพักค้างคืน 

วันที่ 13 มีนาคม 2564 เครือข่ายพีเพิ้ลโกและกลุ่ม Unme of Anarchy จัดกิจกรรมหมู่บ้านทะลุฟ้าที่ทำเนียบรัฐบาล ใช้วิธีการปักหลักชุมนุมต่อเนื่อง โดยเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ จากเครือข่ายพีเพิ้ลโกระบุว่า การปักหลักค้างคืนเป็นการทดลองมองหาความเป็นไปได้แบบใหม่ในการสั่งสมมวลชน มีการนัดหมายทำกิจกรรมในช่วงเวลา 18.00-21.00 น.ของทุกวัน การทำกิจกรรมเช่นนี้อาศัยมวลชนตั้งต้นในการยืนระยะและพักค้างแรม ส่วนที่เหลือจะมีประชาชนซึ่งส่วนใหญ่น่าจะมีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานครสลับกันเดินทางมาร่วมกิจกรรมที่จัดขึ้นในช่วงเย็น  จำนวนประชาชนมาร่วมมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับกิจกรรมของแต่ละวัน โดยครั้งที่มีประชาชนมาร่วมกิจกรรมน้อยที่สุดอยู่ที่ประมาณ 100 คน ส่วนครั้งที่มีคนมาร่วมมากที่สุดอยู่ที่ประมาณ 400 คน
ข้อสังเกตของการพักค้างคืนของหมู่บ้านทะลุฟ้าคือ เป็นการพักค้างตามหลังกลุ่มพีมูฟและชาวกะเหรี่ยงบางกลอย จังหวัดเพชรบุรีที่มาพักค้างตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2564 และเมื่อหมู่บ้านทะลุฟ้ามาปักหลักร่วมด้วยในสัปดาห์ต่อมาหรือวันที่เสาร์ที่ 13 มีนาคม 2564 ข้อเรียกร้องของพีมูฟและชาวบ้านบางกลอยมีความคืบหน้ามากขึ้นรวดเร็วจากเดิม ผู้ที่เกี่ยวข้องเปิดประชุมพูดคุยในวันอาทิตย์ที่ 14 มีนาคม 2564 ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ หลังจากนั้นเมื่อข้อตกลงบรรลุผลทั้ง 2 กลุ่มจึงออกจากพื้นที่ข้างทำเนียบรัฐบาลไปเหลือเพียงชาวหมู่บ้านทะลุฟ้า ท้ายสุดตำรวจนำกำลังเข้าสลายการชุมนุมหมู่บ้านทะลุฟ้าในวันที่ 28 มีนาคม 2564 โดยอ้างว่าผู้ชุมนุมกระทำผิดหลายกฎหมายหลายบทและมีการเจราให้ออกนอกพื้นที่หลายครั้งแล้ว
จาก 3 วิธีการนี้จะเห็นได้ว่า การชุมนุมแบบไร้แกนนำและปักหลักนั้นมีแนวโน้มที่จะถูกรัฐปราบปรามได้ อาศัยเงื่อนไขของสถานการณ์และระยะเวลาที่เหมาะสม เช่น กรณีการชุมนุมแบบไร้แกนนำใกล้พื้นที่ “อ่อนไหว” การสลายการชุมนุมมักมีมูลเหตุมาจากการเปิดแนวสิ่งกีดขวางของผู้ชุมนุม 
การชุมนุมแบบปักหลักของหมู่บ้านทะลุฟ้า แม้ในครั้งแรกเจ้าหน้าที่จะกล่าวว่า อนุโลมให้พักค้างคืนได้แต่กี่วันจะพิจารณาอีกที แต่เมื่อการชุมุนมเริ่มแตะต้องหรือสร้างความไม่สบายใจให้แก่ศูนย์กลางอำนาจอย่างนายกรัฐมนตรี การสลายการชุมนุมก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน วาสนา นาน่วม นักข่าวสายทหารเคยระบุผ่านเฟซบุ๊กทำนองว่า มีความเกี่ยวพันกับการถ่ายภาพคณะรัฐมนตรีในวันที่ 30 มีนาคม 2564 จากนั้นพล.อ.ประยุทธ์ออกมาให้สัมภาษณ์ในภายหลังว่าการสลายการชุมนุมไม่เกี่ยวกับการถ่ายรูปแต่เป็นเรื่องปัญหาการจราจรและก็อดทนมาหลายสัปดาห์แล้ว 
ในส่วนของการเดินขบวนก็ใช่ว่าจะไม่มีอุปสรรคเสียทีเดียว กรณีของการเดินทะลุฟ้าในพื้นที่ต่างจังหวัดที่อยู่ห่างไกลศูนย์กลางอำนาจอาจทำได้อย่างสะดวก แต่เมื่อเข้าเขตปริมณฑลอย่างปทุมธานี ก็เริ่มมีอุปสรรคในการเดินขบวนและการแสดงออก มีการนำกำลังตำรวจควบคุมฝูงชนมาปิดเส้นทางเดินบังคับให้ผู้เดินเปลี่ยนเส้นทาง, การห้ามแขวนป้ายผ้าแสดงออกและการสร้างอุปสรรคในการใช้สถานที่ เป็นต้น 

โควิดระลอก 3 : ยืน หยุด ขัง ยังสู้ต่อ

 

ต้นเดือนเมษายน 2564 ไทยเข้าสู่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ในระลอกที่ 3 ซึ่งเริ่มต้นจากสถานบันเทิงในทองหล่อ ก่อนแพร่กระจายไปในหลายจังหวัด สถานการณ์ดังกล่าวทำให้การชุมนุมเรียกร้องของราษฎรและแนวร่วมเริ่มกลับสู่ภาวะชะลอตัวอีกครั้ง มีการประกาศพักการชุมนุมของผู้จัดการชุมนุมอย่างน้อย 2 กลุ่มคือ รีเด็มและสามัคคีประชาชน แม้สภาวะเช่นนี้ไม่เอื้อต่อการชุมนุมของผู้คนจำนวนมาก แต่จำนวนวันของผู้ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาที่มากขึ้นและการอดอาหารที่ยาวนานของ 2 นักกิจกรรมอย่างเพนกวิน-พริษฐ์ และรุ้ง-ปนัสยา กลายเป็นอีกปัจจัยหลักที่ทำให้มีประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งออกมาทำกิจกรรมในที่สาธารณะเพื่อเรียกสิทธิในการประกันตัวของผู้ต้องขังและจำเลยคดีการเมือง
การเคลื่อนไหวในเดือนเมษายน 2564 พุ่งเป้าไปที่การเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี กลุ่มพลเมืองโต้กลับ นำโดยพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ ประกาศจัดกิจกรรม “ยืน หยุด ขัง” ที่หน้าศาลฎีกาเพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้ต้องหาและจำเลยคดีการเมืองรวมทั้งเคารพสิทธิในการประกันตัวของประชาชน กิจกรรมนี้เริ่มจัดครั้งแรกในวันที่ 22 มีนาคม 2564 รูปแบบของกิจกรรมคือการยืนเฉยๆหรือยืนชูป้ายในสถานที่ที่กำหนดเป็นเวลาต่อเนื่องกัน 112 นาทีตั้งแต่เวลา 17.00-18.52 น. ในวันแรกมีผู้มาเข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 10 คน และมีการจัดกิจกรรมต่อเนื่องเกือบทุกวัน จนมีผู้เข้าร่วมสูงสุดที่ประมาณ 450 คน เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2564
กิจกรรม “ยืน หยุด ขัง” กลายเป็นต้นแบบของการเคลื่อนไหวในช่วงการแพร่ระบาดของโรค ด้วยรูปแบบของกิจกรรมที่ง่าย ไม่ต้องใช้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนมากนักและสามารถออกแบบพื้นที่ให้เกิดระยะห่างระหว่างกันได้ เริ่มมีคนในพื้นที่อื่นๆ นำกิจกรรม “ยืน หยุด ขัง” ไปจัดในพื้นที่ของตัวเอง โดยวันแรกที่มีการยืนในพื้นที่ต่างจังหวัดคือ วันที่ 5 เมษายน 2564 คณะอุบลปลดแอกจัดกิจกรรม “ยืน หยุด ขัง” ที่ศาลจังหวัดอุบลราชธานี จากนั้นกิจกรรมเริ่มขยายตัวไปในหลายจังหวัดอย่างเชียงราย, เชียงใหม่, ลำพูน, พิษณุโลก, นครราชสีมา, ขอนแก่น, สกลนคร, พระนครศรีอยุธยาและสงขลา ขณะที่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กิจกรรมการยืนเริ่มกระจายในสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมอื่นๆ เช่น เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร
วันที่ 16 เมษายน 2564 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ข้อกำหนดนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ 20 ที่ออกตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ระบุว่า “…ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 50 คน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่…” จำนวน 50 คนถือเป็นครั้งแรกๆที่นายกรัฐมนตรีได้ระบุในข้อกำหนดและการเป็นจำนวนที่ผู้ชุมนุมนำมาปรับกลยุทธ์รับมือกับความเสี่ยงของโควิด 19 และยืนระยะในการเรียกร้องต่อไปได้
การปรับตัวของกิจกรรมยืนหยุดขังเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2564 ที่เชียงใหม่กลุ่ม We, The People ประกาศจะใช้พื้นที่ในการแสดงออกเพิ่มขึ้น เพื่อกระจายกลุ่มลดความเสี่ยงของการสร้างปฏิสัมพันธ์ที่อาจเกิดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อได้และคดีความ ระบุว่า “…เราจะขอแบ่งผู้ร่วมยืนออกเป็นกลุ่ม กลุ่มละไม่เกิน 49 คน โดยสามารถแบ่งกลุ่มออกไปยืนบนลานหน้าศาลแขวงเก่าตรงข้ามลานสามกษัตริย์ หรือกระจายไปสู่จุดอื่นๆ ได้อีก จึงเรียนมาเพื่อทราบ ยังไม่เคยปรากฏว่า มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จากการชุมนุม แต่รัฐพยายามใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ  มาจัดการผู้ประท้วงเสมอ…”
ต่อมาในส่วนของพลเมืองโต้กลับ วันที่ 17 เมษายน 2564 ได้ออกแถลงการณ์ปรับรูปแบบของกิจกรรมให้มีการลงทะเบียนล่วงหน้าและรับจำนวน 40 คนต่อวันเท่านั้น เพื่อไม่ให้เกินจำนวน 50 คนตามข้อกำหนดนายกรัฐมนตรีฉบับที่ 20 และจะต้องผ่านการคัดกรองโรค เว้นระยะห่างและสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดทั้งกิจกรรม  กรณีที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมครบ 40 คนแล้ว ทางกลุ่มสนับสนุนให้มีการยืนในพื้นที่ที่ห่างเช่น หน้าศาลหลักเมืองและศาลพระแม่ธรณี 
การเคลื่อนไหวนับแต่นี้เป็นบททดสอบสำคัญที่จะพิสูจน์ให้เห็นอีกครั้งว่า การเด็ดหัวหรือการจองจำแกนนำไม่ใช่ตอนจบของการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยและไม่ใช่ทางออกของความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำรงอยู่มาอย่างยาวนาน

 

You May Also Like
อ่าน

กสม.ชี้หน่วยงานรัฐไทยเอี่ยวใช้สปายแวร์เพกาซัส ชงครม.สั่งสอบ-เรียกเอกสารลับ

กสม. เชื่อว่า มีการใช้สปายแวร์ เพกาซัสละเมิดสิทธิจริง โดยพิจารณาจากความน่าเชื่อถือของการตรวจสอบทางเทคนิคคอมพิวเตอร์ และบริบทแวดล้อมในต่างประเทศ นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า หน่วยงานรัฐไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้สปายแวร์
อ่าน

ขนุน สิรภพ “คงแค่ยิ้มสู้” ระหว่างศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัวในคดีมาตรา 112

ขนุน สิรภพ “คงแค่ยิ้มสู้” ระหว่างศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัวในคดีมาตรา 112 . สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ หรือขนุน นิสิตรัฐศาสตร์จากมศว จำเลยในคดีมาตรา 112 จากการกล่าวปราศรัยระหว่างการชุมนุม #ม็อบ18พฤศจิกา . 25 มีนาคม ที่ผ่านมาศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษา จำคุก 3 ปี แต่เนื่องจากการนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง ศาลจึงลดโทษหนึ่งในสามคงจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา . จนถึงวันนี้(4 เมษายน 2567) เป็นเวลา 10 วันแล้วที่ศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัว