รวมสถิติการยื่นคำร้องขอประกันตัว ‘เพนกวิน-พริษฐ์’

รวมสถิติการยื่นคำร้องขอประกันตัว ‘เพนกวิน-พริษฐ์’  
ตั้งแต่พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้อง เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ และศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวในข้อหามาตรา 112 ตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 นับจนถึงวันนี้ (5 พฤษภาคม 2564) พริษฐ์ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมาแล้วกว่า 86 วัน อดอาหารมาแล้วเป็นเวลา 51 วัน (ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2564) และได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวหรือคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดีทั้งสิ้น 10 ครั้ง โดยศาลไม่เคยอนุญาตให้ประกันตัวมาโดยตลอด จนกระทั่งการยื่นคำร้องครั้งที่ 10 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2564 ศาลมีคำสั่งนัดไต่สวนคำร้องขอประกันตัวพริษฐ์ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2564 โดยศาลเคยทำการไต่สวนและอนุญาตให้ประกันจำเลยในคดีเดียวกันไปแล้วก่อนหน้านี้ 
+++ 4 ผู้พิพากษาศาลอาญา สั่งไม่ให้ประกัน +++
เว็บไซต์ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรวบรวมข้อมูลการยื่นขอประกันตัวในคดีนี้ พบว่า ผู้พิพากษาที่ทำหน้าที่ในการพิจารณาและลงชื่อในคำสั่งไม่ให้ประกันตัวของพริษฐ์ตั้งแต่ครั้งแรกในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 จนถึงครั้งที่เก้าในวันที่ 29 เมษายน 2564 พบว่า มีผู้พิพากษาที่ทำหน้าที่พิจารณาคำร้องและมีคำสั่ง ทั้งสิ้น 4 คน ได้แก่
เทวัญ รอดเจริญ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ลงนามในคำสั่งไม่ให้ประกันตัว 3 ครั้ง
สันติ บุตรดี ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดียาเสพติด ลงนามในคำสั่งไม่ให้ประกันตัว 3 ครั้ง 
ชนาธิป เหมือนพะวงศ์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ลงนามในคำสั่งไม่ให้ประกันตัว 3 ครั้ง
มุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดีค้ามนุษย์ ลงนามในคำสั่งไม่ให้ประกันตัว 1 ครั้ง 
การไม่อนุญาตให้ประกันตัวพริษฐ์ในครั้งแรกโดยเทวัญ รอดเจริญ เป็นผู้ลงนามในคำสั่งนั้น ศาลได้ให้เหตุผลว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่า คดีมีอัตราโทษสูงพฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง อีกทั้งการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำซ้ำๆต่างกรรมต่างวาระตามข้อกล่าวหาเดิมหลายครั้งหลายครา กรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่าหากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยอาจไปก่อเหตุลักษณะเดียวกันกับความผิดที่ถูกกล่าวหาอีก จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ให้ยกคำร้อง แจ้งคำสั่งให้ทราบ และคืนหลักประกัน” ซึ่งในคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันในครั้งต่อๆ มา ศาลได้ระบุเหตุผลลักษณะเช่นเดียวกัน คือ “ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม” จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างพิจารณา 
นอกจากการยื่นคำร้องขอประกันตัวจำเลยแล้ว ทนายความยังได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัวถึงสองครั้ง คือ เมื่อวันที่ 11 และ 26 กุมภาพันธ์ 2564 การยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัวนี้นับเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการขอให้ศาลมีคำสั่งปล่อยตัวจำเลย โดยจะเป็นการยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาคำร้องอีกครั้ง หากเห็นว่า ศาลศาลชั้นต้นสั่งไม่ถูกต้องก็สามารถเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขคำสั่งได้ 
แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีของพริษฐ์ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันเช่นเดียวกับศาลชั้นต้นทั้งสองครั้ง โดยในคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวครั้งแรกศาลอุทธรณ์ได้ระบุเหตุผลไว้ว่า 
     
“พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่าความผิดตามฟ้องมีอัตราโทษสูง การกระทำตามฟ้องมีลักษณะเป็นการร่วมกันกระทำความผิดของกลุ่มบุคคลอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือความวุ่นวายขึ้นและส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยจำเลยที่ 1 (พริษฐ์) ที่ 2 (อานนท์) และที่ 4 (สมยศ) ขึ้นปราศรัยด้วยถ้อยคำที่นำมาซึ่งความเสื่อมเสียสู่สถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นที่เทิดทูนและเคารพสักการะ กระทบกระเทือนจิตใจของปวงชนชาวไทยผู้จงรักภักดีอย่างไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย และมีลักษณะชักนำประชาชนให้ล่วงละเมิดต่อกฎหมายของแผ่นดิน” 
“นอกจากนี้ยังปรากฏพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1  และที่ 2  ว่าถูกกล่าวหาดำเนินคดีเกี่ยวกับความผิดในลักษณะทำนองเดียวกันนี้ในคดีอื่นอีก…อีกทั้งคดีนี้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถูกจับกุมตามหมายจับกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาแล้ว จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 อาจจะก่อให้เกิดอันตรายหรือความเสียหายประการอื่นอีก และน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 อาจจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ในระหว่างพิจารณา คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวนั้นชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง” 
และในครั้งที่สอง ศาลอุทธรณ์ระบุเหตุผลว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดี ประกอบกับศาลอุทธรณ์เคยไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างพิจารณามาแล้ว อีกทั้งเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างพิจารณา คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวชอบแล้ว” 
พริษฐ์ ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครจากคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เมื่อวันที่ 19-20 กันยายน 2563, คดีชุมนุม #Mobfest เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2563 ตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 และถูกย้ายไปยังสถานกักขังกลางปทุมธานีเนื่องจากถูกตัดสินให้ได้รับโทษกักขังเป็นเวลา 15 วัน (ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2564 ถึงวันที่ 6 เมษายน 2564) จากคดีละเมิดอำนาจศาลเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2564 
ในการนัดไต่สวนคำร้องขอประกันตัวในวันที่ 6 พฤษภาคม 2564 จะเป็นการไต่สวนเพื่อประกอบการสั่งตามคำร้องขอประกันตัวครั้งแรกของพริษฐ์  โดยก่อนหน้านี้ ศาลได้เคยไต่สวนคำร้องขอประกันตัวและมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันสำหรับกรณีของจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ และสมยศ พฤกษาเกษมสุข จำเลยในคดีเดียวกันเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2564 
อ่านรายละเอียดคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ได้ที่ https://freedom.ilaw.or.th/case/921