1944 1401 1689 1997 1579 1123 1036 1573 1565 1644 1927 1758 1455 1781 1707 1637 1288 1411 1738 1228 1093 1466 1218 1897 1810 1228 1817 1922 1876 1984 1698 1233 1659 1962 1051 1715 1542 1274 1220 1543 1711 1767 1758 1800 1390 1216 1404 1073 1094 1459 1226 1290 1354 1529 1736 1605 1843 1975 1058 1235 1558 1537 1901 1023 1646 1140 1657 1641 1996 1586 1240 1177 1561 1685 1927 1068 1370 1445 1215 1265 1953 1733 1836 1620 1543 1562 1395 1867 1892 1576 1471 1302 1248 1112 1217 1324 1783 1778 1431 ซัน วัชรากร : หลังบ้านแนวร่วมธรรมศาสตร์กับความหวังที่ไม่เคยเหือดแห้ง | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

ซัน วัชรากร : หลังบ้านแนวร่วมธรรมศาสตร์กับความหวังที่ไม่เคยเหือดแห้ง

แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมถือเป็นหนึ่งในกลุ่มกิจกรรมที่มีบทบาทต่อหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยนับจากปี 2563 มาจนถึงปัจจุบัน ในฐานะผู้จัดการชุมนุมกลุ่มแรกๆ ที่ชูข้อเรียกร้อง "ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์" ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องหลักของการชุมนุม หากพูดถึงนักเคลื่อนไหวที่เป็นสมาชิกของกลุ่มนี้เชื่อว่าชื่อที่หลายๆ คนนึกถึงคงไม่พ้น "เพนกวิน"  พริษฐ์ ชิวารักษ์ และ "รุ้ง" ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล อย่างไรก็ตาม ภายหลังเมื่อทั้งเพนกวินและรุ้งถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีการชุมนุม 19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร เบนจา อะปัน ก็กลายเป็นสมาชิกของกลุ่มที่มีบทบาทโดดเด่นขึ้นมา แต่นอกจากทั้งสามคนแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมก็ยังมีสมาชิกอีกหลายคนที่ร่วมทำงานขับเคลื่อนขบวน ทั้งงานหน้าบ้านและงานหลังบ้านโดยที่ชื่อของพวกเขาอาจไม่ได้เป็นที่รับรู้ในสาธารณะ
 
"ซัน" วัชรากร ไชยแก้ว คือหนึ่งในสมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมที่สาธารณะอาจไม่ค่อยได้ยินชื่อหรือไม่รู้จักหน้าตาของเขา ทว่าเขาคือหนึ่งในตัวจักรสำคัญที่ร่วมขับเคลื่อนแนวร่วมฯ กับเครือข่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานประสานงานต่างๆ ซันเปิดเผยว่าเขาชอบทำงานอยู่เบื้องหลังมากกว่าจะออกไปยืนอยู่ท่ามกลางสปอตไลต์ แต่เมื่อเพื่อนของเขาทั้งเพนกวินและรุ้งถูกจองจำ เขาก็ตัดสินใจออกมาอยู่บนเวทีในการชุมนุมที่หน้าสถานทูตเยอรมนีเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563 ในฐานะผู้อ่านแถลงการณ์ฉบับภาษาอังกฤษที่มีเนื้อหาเรียกร้องให้รัฐบาลเยอรมนีตรวจสอบการใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไทยในเขตอธิปไตยของตน ครั้งนั้นเขาแค่คิดว่าเพื่อนเขาหลายคนถูกคุมขัง เขาอยากทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยเพื่อนและการไปชุมนุมที่หน้าสถานทูตเยอรมันก็น่าจะเป็นการนำสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในไทยไปบอกให้โลกได้รับรู้ ทว่าการอ่านแถลงการณ์เพียงไม่กี่นาทีในวันนั้นก็ทำให้ซันต้องถูกตั้งข้อหาด้วยมาตรา 112 และสุ่มเสี่ยงที่จะต้องสูญเสียอิสรภาพ แต่นั่นก็ไม่อาจพราก "ความหวัง" ที่จะเห็นสังคมไทยที่ดีขึ้นไปจากมโนสำนึกของเขาได้ และคำๆ นี้ก็ถูกพูดซ้ำๆ ตลอดบทสนทนากับเขา 
 
 
1782
 
 
จากแดนใต้สู่รั้วโดม
 
ซันเล่าว่าเขาเกิดและเติบโตที่จังหวัดตรังในครอบครัวเกษตรกร พ่อกับแม่ของเขามีสวนยางพารานอกจากนั้นก็เพาะเห็ดขาย สมัยเรียนมัธยมเขาเรียนอยู่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดตรัง สมัยเรียน ม.ต้น เขาสนใจเรื่องเทคโนโลยี แต่พอถึงชั้น ม.ปลาย ก็เบนเข็มมาเรียนสายศิลป์ภาษาและตอนแรกก็คิดว่าถ้าเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยคงจะเรียนด้านภาษาต่อ ทว่าในช่วงที่เขาเรียน ม.ปลาย ประมาณปี 2557 สถานการณ์ทางการเมืองเริ่มทวีความเข้มข้น กลุ่ม กปปส. จัดการชุมนุมเรียกร้องการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งซันจึงเริ่มหันมาสนใจการเมืองและตัดสินใจว่าหากเข้าเรียนมหาวิทยาลัยก็จะไปเรียนด้านสังคมศาสตร์หรือด้านรัฐศาสตร์แทนการเรียนภาษา 
 
"ช่วงที่เรียน ม.ปลาย มีการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ตามมาด้วยการรัฐประหาร 2557 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ผมไปค้น ไปอ่าน ผมก็เลยสนใจการเมืองมากขึ้นๆ ประกอบกับตัวเองเป็นคนขี้สงสัย เวลารุ่นพี่ผมคนหนึ่งที่มาเรียนธรรมศาสตร์กลับไปที่บ้านผมก็มักจะคุยกับเขาเรื่องการเมืองจนสุดท้ายก็เลยบอกตัวเองว่าภาษาคงไม่ใช่ละ สิ่งที่เราสนใจจริงๆ น่าจะเป็นการเมืองมากกว่า" ซันกล่าว
 
หลังจบชั้น ม.6 ซันตัดสินใจเข้ากรุงเทพโดยสมัครสอบตรงเข้าคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่สอบไม่ติด เขาเลยไปสมัครเรียนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่เรียนไปเรียนมาก็ไม่ชอบบรรยากาศที่รามคำแหง เลยตัดสินใจว่าจะเอาคะแนนไปลองสมัครแอดมิชชันที่วิทยาลัยสหวิทยาการ สาขาวิชาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แทน
 
"พอสอบธรรมศาสตร์ไม่ติดผมก็ลองไปเรียนที่รามอยู่ปีนึงแต่ก็รู้สึกไม่ชอบ ผมรู้สึกว่าที่รามผมหาเพื่อนยากมากอาจจะด้วยบุคลิกของผมเองแล้วก็สภาพที่นักศึกษาต่างคนต่างมา บางคนเรียนไปทำงานไป เรียนเสร็จก็รีบกลับ แล้วก็พอไปเรียนแบบห้องใหญ่ๆ แล้วคนมาไม่เยอะเป็นห้องโล่งๆ ผมก็เลยรู้สึกไม่ค่อยอยากไปเรียน แต่ก็ไปสอบอยู่นะ"
 
"ถ้าถามว่าบทเรียนที่ได้จากหนึ่งปีที่รามคืออะไรผมก็คงตอบว่าเป็นเรื่องของการใช้เวลา ถ้าปีนั้นผมใช้เวลาอย่างมีค่ากว่านี้ก็คงจะดี เพราะตอนนั้นผมรู้สึกเหมือนใช้ชีวิตไปวันๆ นอนดูซีรีส์บ้าง ไปนั่งชิลตามร้านกาแฟบ้าง ถึงเวลาก็อ่านชีทแดงไปสอบ ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน พอเวลาผ่านไปเกือบปีผมก็คิดว่าไม่ได้ละ เลยตัดสินใจว่าจะลองไปยื่นแอดมิชชันที่ธรรมศาสตร์ดู เลือกวิทยาลัยสหวิทยาการ สาขาวิชาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ ซึ่งคะแนนผมถึง ผมก็บอกที่บ้านว่าจะลองแอดมิดที่ธรรมศาสตร์ดู ถ้าได้ก็จะเอาแต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร สุดท้ายผมก็ได้เลยย้ายไปเรียนที่ธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์"
 
 
จากท่าพระจันทร์ถึงทุ่งรังสิต
 
การแอดมิดเข้าเรียนปีหนึ่งใหม่ทำให้ซันต้องเรียนช้ากว่าปกติไปหนึ่งปี ซึ่งเขามาเล่าในภายหลังว่าตัวเขากับรุ้งและเพนกวินถือว่ารุ่นเดียวกัน แต่เขาและรุ้งเข้าเรียนช้ากว่าเพนกวิน 1 ปี โดยรุ้งไปโครงการแลกเปลี่ยนต่างประเทศส่วนตัวเขาแอดมิดชั่นใหม่หลังเรียนรามได้หนึ่งปี 
 
"ผมเริ่มเรียนที่ มธ.ท่าพระจันทร์ช่วงเดือนสิงหาคม ปี 2561 ช่วงนั้นสถานการณ์ทางการเมืองก็ยังถือว่าเงียบอยู่ ผมเลยไม่ได้เคลื่อนไหวอะไร พอถึงปี 2562 ช่วงที่มีการเลือกตั้งผมกับเพื่อนบางคนที่สนใจการเมืองก็ไปนั่งร้านกาแฟด้วยกันวันเลือกตั้งเพื่อติดตามผล คือเราก็ไม่ได้เป็นอาสาสมัครสังเกตการณ์การเลือกตั้งอะไรหรอกนะ แต่เราแค่อยากไปนั่งลุ้นผลด้วยกัน เราอยู่กันทั้งวันจนถึงช่วงค่ำ พอผลการเลือกตั้งออกมาผมยอมรับว่ารู้สึกหดหู่นะ เพราะถึงตอนนั้นเขาก็คาดการณ์กันแล้วว่าใครน่าจะได้ตั้งรัฐบาล ผมได้แต่คิดว่าที่ผ่านมาสถานการณ์มันก็แย่พออยู่แล้ว ยังจะปู้ยี่ปู้ยำกันต่ออีกเหรอ"
 
"พอถึงปี 2563 ตั้งแต่ช่วงก่อนยุบพรรคอนาคตใหม ก็มีเพื่อนผมมาชวนไปทำพรรคชื่อ ท่าพระจันทร์อเวคเคน สิ่งที่พวกเราทำในตอนนั้นคือเรียกร้องให้ทางมหาวิทยาลัยเตรียมมาตรการรองรับการแพร่ระบาดของโควิด19 จริงๆ แล้วตอนนั้นการระบาดทั่วโลกมันยังไม่แย่มาก มีคนติดเชื้อประมาณ 6,000 กว่าคน แน่นอนการไปยื่นหนังสือครั้งนั้นทางมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้ตอบรับอะไร" 
 
"พอพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบผมกับเพื่อนๆ ที่ท่าพระจันทร์ก็จัดกิจกรรมจุดเทียนกัน แต่ตอนนั้นคนมาร่วมไม่มากเพราะส่วนใหญ่ไปร่วมกิจกรรมกันที่ที่ทำการพรรค หลังจากนั้นก็มีเพื่อนที่พรรคท่าพระจันทร์อเวคเคนมาชวนให้ไปช่วยสหภาพนักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมที่ มธ.ท่าพระจันทร์ วันนั้นตื่นเต้นมากเพราะคนมากันเยอะ กิจกรรมที่เราจัดวันนั้นน่าจะเป็นแฟลชม็อบนักศึกษาที่เกิดขึ้นครั้งแรก การได้ไปจัดงานวันนั้นทำให้ผมได้เจอรุ้ง เพนกวิน แต่ก็ยังไม่ได้คุยอะไรกันมาก และตัวผมเองก็ไปช่วยงานประสานงาน งานจัดการหลังฉากเสียเป็นส่วนใหญ่ กิจกรรมวันนั้นผ่านไปด้วยดีโดยที่พวกเราไม่รู้เลยว่าตอนนั้นโควิดมารอจ่อประตูบ้านเราแล้ว"
 
ช่วงเดือนมีนาคมและเมษายนการชุมนุมมีอันต้องยุติไปเพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด19 และการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน อย่างไรก็ตามในเดือนพฤษภาคม เมื่อกลุ่มนักศึกษาบางส่วนเริ่มกลับมาทำกิจกรรมซันก็ออกมาช่วยเพื่อนๆ ทำกิจกรรมด้วย หลังจากนั้นเขาก็เริ่มไปๆ มาๆ ระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์อันเป็นสถานศึกษาของเขากับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิตซึ่งเป็นสถานที่ซึ่งเพื่อนนักกิจกรรมของเขาเรียนและพักอาศัยกัน
 
"ตอนเดือนพฤษภาพวกรุ้งกับเพนกวินไปทำกิจกรรมยื่นหนังสือขอให้กระทรวงกลาโหมลดงบประมาณเพื่อนำเงินมาช่วยโควิด ผมก็ไปกับเขาด้วยไปช่วยถือป้ายแต่ก็ไม่ได้ให้สัมภาษณ์สื่อหรืออะไร กิจกรรมในวันนั้นน่าจะเป็นครั้งแรกที่ผมได้คุยกับรุ้งกับเพนกวินแบบจริงจัง แล้วผมก็เข้ามาร่วมกิจกรรมกับกลุ่มของเพนกวินบ่อยขึ้น เข้ามาช่วยงานจัดการอะไรต่างๆ มากขึ้นกระทั่งตอนหลังที่มีการจัดตั้งแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ผมก็เลยเข้ามาทำตรงนั้นเต็มตัว พอทำกิจกรรมกับเพื่อนที่รังสิตบ่อยขึ้นผมก็เลยย้ายไปอยู่ที่รังสิต เลยได้เห็นมิติชีวิตที่แตกต่างไปเป็นอารมณ์แบบวัยรุ่นมาเช่าบ้านอยู่ด้วยกัน จริงๆ ตอนที่ย้ายไปผมก็ยังเรียนอยู่ที่ท่าพระจันทร์นะแต่มันก็ไม่ได้กระทบอะไรมากเพราะตอนนั้นเราเรียนออนไลน์กันแล้ว
 
 
ธรรมศาสตร์และการชุมนุม
 
หลังย้ายมาอยู่รังสิต ซันก็เริ่มทำกิจกรรมแบบจริงจังมากขึ้น และเขาก็ได้เห็นการก่อตัวของ "แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม" หนึ่งในกลุ่มนักเคลื่อนไหวที่มีบทบาทสำคัญต่อการเมืองไทยในปี 2563
 
"ช่วงเดือนสิงหาคมรุ้งชวนผมมาช่วยทำม็อบ ครั้งนั้นถือเป็นครั้งแรกที่ผมได้ไปทำม็อบที่รังสิต เพราะแฟลชม็อบครั้งก่อนตอนเดือนมีนาคมผมยังไม่ได้ย้ายมาอยู่ที่รังสิต การชุมนุมในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่รังสิตยังไม่ถือว่าจัดในนามแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมนะ ตอนนั้นธรรมศาสตร์และการชุมนุมมันเป็นแค่แฮชแทกหรือชื่อการชุมนุมเฉยๆ ประมาณว่าธรรมศาสตร์อยู่คู่กับการชุมนุมเหมือนธรรมศาสตร์และการเมืองอะไรแบบนั้น"
 
"การชุมนุมเมื่อวันที่ 10 สิงหาพวกเราจัดการกันได้ดีนะ เราไปเช่าเครื่องตรวจโลหะมาแล้วก็มีการวางมาตรการรักษาความปลอดภัยที่ดี มีการจัดให้สื่อลงทะเบียน ผมเองวันนั้นก็รับผิดชอบเรื่องประสานงานทีมการ์ด ทำงานร่วมกับทีมอาชีวะที่มาช่วย สำหรับเรื่องแถลงการณ์เรื่องข้อเรียกร้องเพื่อการปฏิรูปสถาบันฯ สิบข้อ อันนี้รู้กันในวงจำกัดมาก ผมเองก็รู้แค่ว่าจะมีการพูดเรื่องนี้แต่ไม่ได้รู้ในรายละเอียด คิดว่าหลายคนได้ยินตอนแรกก็คงมีช็อคกันบ้างแต่คิดว่าผลตอบรับดี เพราะคนจะรับ ชั่ย ชั่ย หรือเฮรับที่รุ้งอ่านกันตลอดเลย ผมคิดว่าคนส่วนหนึ่งคงเตรียมมาฟังอะไรแบบนี้อยู่แล้วเพราะพี่อานนท์ (ทนายอานนท์ นำภา) ก็ปราศรัยเรื่องนี้ไปแล้วก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน ( วันที่ 3 สิงหาคม 2563 การชุมนุมเสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย - ผู้เขียน) วันที่พี่อานนท์พูดผมก็อยู่นะ ผมเองฟังไปก็สะดุ้งแล้วก็แอบมองดูว่าตำรวจมีท่าทีอะไรหรือเปล่าอยู่เหมือนกัน"
 
"หลังการชุมนุมวันที่ 10 สิงหาคม พวกเราก็คุยกันว่าอยากทำให้ธรรมศาสตร์และการชุมนุมมีความเป็นองค์กร มีโครงสร้างที่ชัดเจนขึ้น หลังจากคุยกันหลายนัดเราก็เลยฟอร์มทีมขึ้นมา ตัวผมเลือกไปอยู่ฝ่ายสื่อสารคอยประสานงานกับสื่อทั้งไทยและต่างประเทศ สำหรับชื่อเราก็เอาคำว่าแนวร่วมมาเติมหน้าธรรมศาสตร์และการชุมนุม เราอยากให้องค์กรนี้เปิดกว้างไม่ใช่แค่องค์กรของนักศึกษา มธ. แต่อยากให้เป็นองค์กรที่คนนอกเข้ามามีส่วนร่วมได้ด้วย ช่วงแรกเพนกวินกับรุ้งก็เป็นคนที่รับบทเป็นหน้าตาของกลุ่ม พอทั้งสองคนต้องเข้าเรือนจำ พวกเราก็มีการปรับโครงสร้างภายในกัน มีการคุยปรับกันหลายรอบ เพราะไม่ว่ายังไงองค์กรก็ต้องไปต่อ งานก็ต้องเดินไป ช่วงหลังๆ เราก็จะเห็นเบนจา กับ ณัฐชนน หรือน้องๆ คนอื่นออกหน้ากันมากขึ้น"
 
 
เพนกวิน กับรุ้ง ที่ผมรู้จัก
 
การมาทำงานร่วมกับแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมโดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานเบื้องหลังและงานประสานงานทำให้ซันมีโอกาสทำงานกับเพนกวินและรุ้งอย่างใกล้ชิด ทำให้เขารู้จักเพนกวินและรุ้งในหลายๆ มิติ เขาได้เห็นเพื่อนทั้งสองในท่าทีขึงขังและดุดันบนเวที ขณะเดียวกันเขาก็ได้เห็นรุ้งในฐานะวัยรุ่นที่มีความขี้เล่น เห็นเพนกวินในฐานะ "สารานุกรม" ที่สามารถบอกเล่าประวัติของเจดีย์หรือวัดต่างๆ ที่พวกเขาขับรถผ่านได้
 
"คนทั่วไปอาจจะรู้จักรุ้งกับเพนกวินในมุมที่เป็นนักปราศรัยท่าทางขึงขังดุดัน ฝ่ายตรงข้ามก็อาจจะบอกว่าทั้งสองคนเป็นพวกก้าวร้าว แน่นอนผมก็ได้เห็นทั้งสองในมุมนั้น ได้เห็นมุมที่พวกเขาจริงจังในการทำงาน แต่นอกเวที นอกห้องประชุม รุ้งกับเพนกวินก็เป็นแค่วัยรุ่นคนหนึ่ง รุ้งมีมุมน่ารักๆ บางก็จะพูดกับผมด้วยเสียงสองบ้าง ยื่นมือมาแล้วบอกขอความรักหน่อยอะไรแบบนั้น บางทีเวลารุ้งตื่นสายแล้วต้องไปไหนสักที่เราก็จะเห็นเธอขับรถไปในสภาพหัวยังเปียกอยู่ ส่วนเพนกวินเวลาที่พวกเราเดินทางไปต่างจังหวัด เขาก็จะชี้ผมให้ดูเจดีย์ ดูวัด แล้วก็เล่าประวัติของสถานที่เหล่านั้นให้ฟัง เพนกวินเป็นคนที่พร้อมจะรับฟังและให้คำแนะนำเพื่อนในทุกๆ เรื่อง รวมทั้งแบ่งปันเรื่องต่างๆ ที่เขาได้รู้ ขนาดวันก่อนวันที่เพนกวินจะถูกเอาตัวไปฟ้องแล้วไม่ได้ประกัน ผมไปหาเขาที่หอ เพนกวินยังอวดหนังสือประวัติศาสตร์เล่มใหม่ที่เขาเพิ่งได้มาให้ผมดูอยู่เลย"
 
"คืนก่อนที่รุ้งจะถูกขังผมเองก็อยู่ด้วย ความรู้สึกวันนั้นมันยากที่จะเล่าออกมา วันนั้นรุ้งเครียดมาก พวกเราซื้ออาหารซื้อขนมมาจะกินกันแต่รุ้งกินไปได้นิดเดียวแล้วก็ขอตัวกลับบอกว่าเดี๋ยวต้องตื่นเช้า ผมก็เห็นรุ้งร้องไห้ด้วยวันนั้น พอวันรุ่งขึ้นผมกับเพื่อนๆ ก็ไปให้กำลังใจรุ้ง แต่ก็ได้แค่มองหน้ากัน วันนั้นพวกเราก็ยังมีหวังว่ารุ้งจะได้ประกัน ถึงมันจะน้อยนิดก็ตาม หลังจากนั้นทุกครั้งที่เพนกวินกับรุ้งยื่นประกันผมก็มีความหวังอยู่เสมอ ผมว่าแม้โอกาสจะมีน้อยนิดเราก็ต้องมีหวัง เพราะชีวิตอยู่ได้ด้วยความหวัง"
 
 
แถลงการณ์เปลี่ยนชีวิต 
 
วันที่ 26 ตุลาคม 2564 ราษฎรจัดการชุมนุมที่หน้าสถานทูตเยอรมนีประจำประเทศไทยเพื่อยื่นจดหมายขอให้รัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีทำการตรวจสอบว่าพระมหากษัตริย์ไทยได้ทรงใช้อำนาจอธิปไตยหรือพระราชอำนาจระหว่างทรงประทับที่เยอรมนีหรือไม่ โดยในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั้นก็มีการอภิปรายโดย ส.ส.พรรคกรีน ในประเด็นดังกล่าวที่รัฐสภาของเยอรมันด้วย
 
สำหรับซันเขาชอบการทำงานเบื้องหลังมากกว่าที่จะต้องไปอยู่หน้าฉากหรือบนเวที ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะบุคลิกของเขาที่เป็นคนบุคลิกชอบเก็บตัว หรือ Introvert ตามคำที่เขาจำกัดความตัวเอง ซันรู้สึกสบายใจที่จะคอยทำงานประสานงาน และดูแลอยู่หลังเวทีให้การชุมนุมหรือกิจกรรมดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยมากกว่าที่จะต้องไปอยู่บนเวทีเขามองว่าเป็นงานร้อนและการอยู่ท่ามกลางสายตาของผู้คนก็ทำให้เขารู้สึกได้ถึงความกดดันบางอย่างที่เขาไม่ชอบ แต่เมื่อเพื่อนถูกเอาตัวไปคุมขัง ซันก็ตัดสินใจออกจากคอมฟอร์ทโซนของเขาขึ้นเวทีไปอ่านแถลงการณ์ฉบับภาษาอังกฤษในการชุมนุมครั้งนั้น 
 
"วันที่มีชุมนุมหน้าสถานทูต ผมก็แค่คิดว่าอยากช่วยเพื่อน อยากคอนทริบิวท์ให้กับขบวนให้มากกว่าเดิม ด้วยความที่ตัวเองก็ใช้ภาษาอังกฤษได้ดีเลยอาสาไปอ่านแถลงการณ์ฉบับภาษาอังกฤษ จำได้ว่าวันนั้นเบนจาเป็นคนทวิตข้อความขออาสาสมัครมาช่วยอ่านแถลงการณ์ฉบับภาษาเยอรมัน แล้วก็มีคนทักมาหลังไมค์ว่าอยากมาช่วย หลายคนที่ติดต่อมาพวกเราก็ไม่รู้จักมาก่อน คดีนี้ก็เลยแปลกกว่าคดีอื่นๆ ตรงที่คนที่ถูกดำเนินคดีหลายคนไม่ได้เป็นบุคคลสาธารณะ หรือไม่ได้เป็นนักกิจกรรมที่เป็นที่รู้จัก"
 
"จดหมายที่ตัวแทนของเรานำเข้าไปยื่นในสถานทูตกับฉบับที่อ่านหน้าสถานทูตจะเป็นคนละฉบับกัน ตัวผมเองตอนที่อ่านก็คิดว่ามีโอกาสเหมือนกันที่จะโดนคดี แต่ตอนนั้น ม.112 ยังไม่ได้ถูกเอามาใช้ ผมก็คิดว่าอย่างมากก็คงเป็น ม.116 ซึ่งก็เป็นตามนั้นมีหมายคดี ม.116 ส่งมาหาผมที่บ้าน แต่พอตอนหลังนโยบายเกี่ยวกับ ม.112 เปลี่ยน พวกเราก็เลยโดนไปด้วย เข้าใจว่าคดีของเราน่าจะเป็นคดีแรกที่มีการแจ้ง 112 เพิ่ม ผมยังจำวันนั้นได้เลยแม่บอกผมว่ามีหมายมาที่บ้านอีกฉบับตอนแรกผมก็คิดว่าคงเป็นหมายคดี ม.116 ส่งมาอีกครั้ง แต่ก็มีน้องบอล (ชนินทร์ วงษ์ศรี) สมาชิกแนวร่วมอีกคนที่โดนคดีนี้โทรมาบอกผมว่าพวกเราโดนหมาย ม.112 ผมเลยโทรไปบอกแม่ให้ช่วยดูหมายอีกทีก็ถึงได้เห็นว่ามีข้อหาตาม ม.112 เพิ่มมา"
 
"ตอนที่รู้ว่าตัวเองโดน ม.112 ผมจำได้ว่ากำลังนั่งอยู่บนรถ ตอนนั้นฝนก็ตกฟ้าหม่นๆ พอฟังจากแม่ผมก็แบบอุทานกับตัวเองว่า "เหี้ยละ" ผมบอกแม่ให้วางหู แล้วก็นั่งเงียบๆ คิดอะไรไปเรื่อยๆ หลังจากโดนคดี ผมกับเพื่อนๆ ในแนวร่วมฯ ก็พยายามจัดการตัวเอง เรามีการพูดคุยในขบวนอีกครั้งเพื่อจัดกำลังวางงานใหม่หากสุดท้ายสถานการณ์จะเลวร้ายถึงขั้นสุดเพราะมีสมาชิกส่วนหนึ่งถูกดำเนินคดีนี้ ส่วนตัวผมก็คุยกับอาจารย์เรื่องการเรียนและทิศทางคดี แล้วหลังถูกดำเนินคดี ม.112 ผมก็ตัดสินใจดรอปตอนเทอมสองของปีการศึกษา 2563
  
"ผมไม่คิดว่าจะมีใครมีความสุขที่ถูกดำเนินคดีหรอกนะ โดยเฉพาะข้อหาอย่าง ม.112 แต่การถูกตั้งข้อหานี้มันก็เหมือนไปปลดล็อกความกลัว คือก่อนหน้านี้ผมก็กลัวม.112 แต่พอโดนแล้วมันก็แบบ กูอยากทำไรก็ทำละ กูไม่แคร์ละ มันไม่มีเส้นความกลัวแล้ว"
 
"สิ่งเดียวที่ผมเสียใจเพราะโดนคดี ม.112 ก็คือการถูกดำเนินคดีมันสร้างภาระ ผมไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างเต็มที่ ต้องไปเตรียมคดีกับทนาย ไปตามนัดตำรวจ ไปตามนัดอัยการอะไรแบบนี้ ถ้าไม่โดนคดีผมคงคิดคงทำอะไรให้ขบวนได้มากกว่านี้"
 
 
หากยังมีชีวิต ก็ยังมีความหวัง
 
ตั้งแต่ต้นปี 2564 นักกิจกรรมที่มีบทบาทนำในการเคลื่อนไหวในปี 2563 หลายคนเช่น ทนายอานนท์ เพนกวิน และรุ้ง ทยอยถูกคุมขังในเรือนจำ ขณะที่การชุมนุมในภาพรวมก็ต้องถือว่าไม่คึกคักเท่าปีที่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการระบาดของโควิด19 ในระลอกที่ 2 และระลอกที่ 3 แต่สำหรับซันเขายังคงเชื่อมันว่าหากไม่หยุดสู้ชัยชนะก็จะมาถึงในสักวันหนึ่ง
 
"บางคนอาจมองว่าสถานการณ์ตอนนี้เหมือนพวกเราแพ้แล้ว กระแสม็อบก็แผ่ว แกนนำติดคุก แต่ผมไม่คิดอย่างงั้น ผมคิดว่าขบวนของเรามาไกลพอสมควรเลยนะ อย่างน้อยๆ ก็ในเชิงวัฒนธรรม เราเห็นปรากฏการณ์ที่คนมาตำหนิผู้พิพากษาหรือการทำหน้าที่ของศาลแบบไม่หวาดกลัว ซึ่งก่อนนี้คงไม่มีใครคิดว่าเรามาถึงจุดนี้แต่แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างมันคงต้องใช้เวลา"
 
"อย่างที่บอกไปตอนต้น ผมเป็นคนที่มีความหวังอยู่เสมอ ตอนที่เพื่อนไปศาลทุกๆ ครั้ง เราจะหวังว่าเพื่อนของเราจะได้ประกันตัว แม้จะรู้ว่าโอกาสมีน้อยแต่เราก็มีความหวัง ถึงแม้จะเผชิญกับความผิดหวังอยู่บ่อยๆ แต่พอเพื่อนเรายื่นประกันใหม่เราก็ยังคงมีความหวัง ณัฐ (ณัฐชนน ไพโรจน์) เคยพูดกับผมว่าพวกเราบางคนโดนคดีกันหลายสิบคดี ถ้าไม่สู้เราก็มีโอกาสติดคุกกันยาว แต่ถ้าเรายังสู้มันก็ยังมีโอกาสที่สุดท้าย ม.112 จะถูกยกเลิก"
 
"ตัวผมเองตอนนี้ไม่ได้มีความฝันอะไรเป็นพิเศษ ผมแค่หวังว่าถ้าการต่อสู้ครั้งนี้ประสบความสำเร็จและพวกเราชนะสังคมมันก็จะดีขึ้น มีสวัสดิการมีอะไรต่างๆ ที่ดีขึ้น ซึ่งถึงวันนั้นผมก็คงจะแก่แล้วก็คงเป็นเวลาที่จะได้พักเสียที"
 
 
 
 
ชนิดบทความ: