ชนินทร์ วงษ์ศรี: ท้ายที่สุดเราอาจไม่ชนะ แต่อย่างน้อยก็ได้สู้

ชนินทร์ วงษ์ศรี หรือ “บอล” นักศึกษาจากวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อายุ 20 ปี คือ หนึ่งในนักกิจกรรมที่ร่วมอ่านแถลงการณ์ที่หน้าสถานทูตเยอรมนีเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเยอรมันตรวจสอบว่า พระมหากษัตริย์ไทยได้ใช้อำนาจระหว่างทรงประทับที่ประเทศเยอรมันหรือไม่ สำหรับชนินทร์การอ่านแถลงการณ์ครั้งนั้นเป็นเพียงการแสดงออกอย่างสันติซึ่งทำได้ในสังคมประชาธิปไตย ทว่าสำหรับผู้มีอำนาจ การแสดงออกในประเด็นพระมหากษัตริย์เป็นเรื่องใหญ่โตกว่านั้น
ชนินทร์กับเพื่อนๆ อีก 13 คนที่ร่วมอ่านแถลงการณ์หรือกล่าวคำปราศรัยในวันนั้นต่างถูกดำเนินคดีด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ข้อหาร้ายแรงแห่งยุคสมัย ที่ทำให้นักกิจกรรมส่วนหนึ่งต้องสูญเสียอิสรภาพ แม้ศาลจะยังไม่มีคำพิพากษาว่าพวกเขามีความผิด
“ครอบครัวและประสบการณ์หลายๆ อย่างในวัยเด็ก คือ สิ่งที่หล่อหลอมให้ผมกลายเป็นผมในวันนี้ ครอบครัวของผมสนใจเรื่องการเมือง ชอบดูข่าวหรือรายการการเมืองในทีวี และเคยไปร่วมชุมนุมทางการเมืองด้วย ส่วนตัวผมเองก็สนใจเรื่องเศรษฐกิจ รวมถึงเรื่องเกี่ยวกับต่างประเทศ ผมเคยไปต่างประเทศทั้งสิงคโปร์และญี่ปุ่น ซึ่งทั้งสองที่แม้จะไม่ได้มีความเป็นประชาธิปไตย แต่ก็ต้องยอมรับว่าเขาดีกว่าเรา ผมก็แค่หวังว่าจะได้เอาสิ่งที่ได้พบเห็น เอาตัวอย่างดีๆของเขามาปรับให้เข้ากับบ้านเรา”
“การมีโอกาสไปต่างประเทศ และได้พูดคุยกับผู้คนที่หลากหลาย ทำให้ผมเริ่มตั้งคำถามหลายๆอย่างกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศนี้ ประเทศเราก็เคยมีการทำแผนพัฒนาออกมาใช้หลายฉบับนะ แต่ดูเหมือนว่าแผนที่เขียนไว้สวยหรูอาจจะใช้งานไม่ได้จริง ปัญหาหลายๆ อย่างยังคงดำเนินไป”
“พอเข้ามาเรียนในระดับมหาวิทยาลัยที่ธรรมศาสตร์ ตอนแรกผมก็ยังไม่ได้ทำกิจกรรมอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ส่วนใหญ่จะเป็นเข้าไปช่วยเพื่อนตามโอกาส เช่น ช่วยทำงานพีอาร์หรือประสานงานในการจัดงานเสวนา หรือช่วยเขียนบทความ ที่ผมเคยช่วยเขียนในโอกาสวันแรงงานและวันสิทธิสตรี กระทั่งมาปี 2563 ผมเข้ามาทำกิจกรรมแบบจริงจังมากขึ้นด้วยการทำพรรคการเมืองของนักศึกษาอย่างพรรคโดมปฏิวัติ”
“การมาทำงานกับพรรคโดมปฏิวัติผมมีโอกาสรู้จักกับพี่เพนกวิ้น (พริษฐ์ ชิวารักษ์) ซึ่งต่อมาได้ช่วยเปิดโลกให้ผมหลายๆ อย่าง ตอนแรกที่มาเข้าพรรคผมก็แค่คิดว่า ในฐานะนักศึกษาคนหนึ่งผมจะทำอะไรเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในม. หรือพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักศึกษาได้ แต่พรรคโดมปฏิวัติเราไม่ได้ทำแค่กิจกรรมในม. เราออกไปทำกิจกรรมร่วมกับคนกลุ่มอื่นๆ ในสังคมด้วย”
“ครั้งหนึ่งที่ผมคิดว่าเปลี่ยนชีวิตผมเลยก็คือการไปลงพื้นที่การชุมนุมของสมัชชาคนจน ผมได้ไปสัมผัสกับปัญหาที่ผู้ชุมนุมพบเจอทั้งเรื่องเขื่อน เรื่องที่ดินทำกิน ได้ไปเห็นว่ามีนโยบายหลายอย่างของรัฐที่เขียนขึ้นอย่างสวยหรู ไม่ตอบโจทย์คนในพื้นที่ แต่ไปตอบโจทย์นายทุนหรือคนไม่กี่กลุ่ม ได้ฟังเรื่องราวของคนที่ต้องสูญเสียที่ดินทำกิน พอมองไปลึกๆ ก็ได้เห็นว่า ปัญหาที่ผู้ชุมนุมสมัชชาคนจนประสบพบเจอมีที่มาจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่รัฐไทยบริหารจัดการแบบรวมศูนย์อำนาจ และยิ่งรัฐรวมศูนย์มากแค่ไหนคนก็ยิ่งถูกกดทับมากขึ้นเท่านั้น การได้ไปพูดคุยกับคนที่ประสบปัญหาจริงสร้างแรงบันดาลใจให้กับผมทำงานหนักในการหาข้อมูลและเรียนรู้มากขึ้น สำหรับตัวผมเองเริ่มมีบทบาทมากขึ้น ก็ช่วงที่ออกมาทำกิจกรรมผูกโบว์ขาว จนถูกจับ”
“สำหรับการชุมนุมที่สถานทูตเยอรมนี ช่วงที่มีการชุมนุมเพื่อนของพวกเราบางส่วนถูกจับตัวไปแล้ว บางคนก็อยู่ในเรือนจำ ผมที่ยังอยู่ข้างนอกก็แค่คิดว่า ถ้ามีอะไรพอทำได้ก็จะทำ ถึงได้ไปร่วมเดินในวันนั้น แล้วผมก็ได้ขึ้นไปอ่านแถลงการณ์ฉบับภาษาไทยที่หน้าสถานทูต การเดินไปสถานทูต ผมคิดว่า มันเป็นสิ่งที่ทำได้และมีความชอบธรรมที่จะทำ เราแค่อยากให้รัฐบาลเยอรมันตรวจสอบว่าพระมหากษัตริย์ไทยใช้อำนาจอธิปไตยบนดินแดนของเยอรมันหรือไม่ ตัวผมเองตอนที่อ่านแถลงการณ์ก็แอบกังวลอยู่เหมือนกันว่า จะมีปัญหาตามมาทีหลังและหากจะต้องสูญเสียอิสรภาพจริงๆ ผมก็กังวลนะ ทั้งเรื่องเรียน เรื่องอนาคตตัวเอง แต่ที่สุดแล้วผมก็พร้อมรับสถานการณ์ที่จะเข้ามา”
“สิ่งที่อยู่ในแถลงการณ์ คือ สิ่งที่เราต้องนำมาพูดเพื่อยืนยันหลักการบางอย่าง และต่อให้ผมไม่พูดก็จะมีคนพูดอยู่ดี เพราะสังคมมันเปลี่ยนแปลงและมาถึงจุดที่จะต้องมีการพูดถึงเรื่องหลายๆ เรื่องที่เคยถูกห้ามพูดแล้ว”
“ตอนแรกคดีนี้ตำรวจตั้งข้อหาตามมาตรา 116 ก่อน ส่วนมาตรา 112 ถูกเอามาใช้เพิ่มเติมทีหลัง ผมเองพอรู้ว่า ตัวเองโดนคดีทีแรกก็ตกใจอยู่นะ แต่ก็แอบเชื่อลึกๆว่าท้ายที่สุดกฎหมายนี้มันก็จะต้องหายไป ความกังวลก็พอจะลดลงไปบ้าง เรื่องมาตรา 112 ผมคิดว่าถ้ายกเลิกได้สุดท้ายจะเป็นผลดีกับทุกฝ่าย ไม่ใช่แค่สำหรับพวกเรา สถาบันฯ เองก็จะได้ประโยชน์ ในทางหนึ่งประชาชนก็กล้าที่จะสะท้อนปัญหามากขึ้น เช่น โครงการต่างๆ ของรัฐหลายโครงการมักเอาเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ พอมีมาตรา 112 บางทีคนไม่กล้าพูด ไม่กล้าวิจารณ์ แต่ถ้ายกเลิกไปเชื่อว่าคนจะกล้าสะท้อนปัญหา กล้าแลกเปลี่ยนมากขึ้น การถกเถียงนั้นผมเชื่อว่าสุดท้ายแล้วมันจะนำไปสู่พัฒนาการในทางที่ดี ถ้าไม่มีมาตรา 112 การสะท้อนความเห็นของคนก็จะเป็นไปอย่างมีเหตุผลตรงไปตรงมามากขึ้น ไม่ใช่พูดกันแบบลับๆ จนมีข่าวลือเสียๆหายๆแบบที่เป็นอยู่นี้ ใครพูดอะไรแบบลอยๆในทางที่ไม่ดีก็จะถูกตอบโต้ด้วยเหตุผลและข้อมูลซึ่งนั่นก็น่าจะเป็นเรื่องที่ยุติธรรมกับทุกฝ่าย”
“ถ้าถามว่าถึงวันนี้เสียใจไหมที่การไปอ่านแถลงการณ์ครั้งนั้นทำให้ถูกดำเนินคดี ผมไม่เสียใจแต่รู้สึกแย่ที่การใช้เสรีภาพทำให้คนหลายๆ คนต้องถูกดำเนินคดีเพื่อปิดปาก ยิ่งไปกว่านั้นมีคนอีกจำนวนหนึ่งต้องสูญเสียอิสรภาพทั้งที่ศาลยังไม่มีคำตัดสินเป็นที่สุด ซึ่งผิดกับหลักการที่เราต้องถูกสันนิษฐานไว้ก่อนว่า เป็นผู้บริสุทธิ์ ผมคงได้แต่หวังและฝากถึงผู้พิพากษาว่า ขอให้ยึดมั่นในหลักกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชน ตุลาการต้องรับใช้ประชาชน ไม่ใช่รับใช้อำนาจอื่น”
“เท่าที่เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับเพื่อนที่โดนคดีมาตรา 112 คนอื่นๆ ผมก็อดตั้งข้อสังเกตไม่ได้เลยว่า มันมีการตั้งธงไว้แล้วว่าคนที่ถูกดำเนินคดีไม่บริสุทธิ์ เพื่อนหลายคนที่ศาลยังไม่ตัดสินว่ามีความผิดก็ถูกเอาไปขัง แต่ท้ายที่สุดถ้าผมจะต้องสูญเสียอิสรภาพจากการแสดงออกครั้งนี้ ผมก็ยืนยันว่า ไม่เสียใจ เพราะอย่างน้อยผมก็ได้ทำในสิ่งที่ผมเชื่อ และแม้สุดท้ายถึงเราจะไม่ชนะแต่ก็ถือว่าเราได้ต่อสู้แล้ว ถ้าเราไม่ทำอะไรเลยเราก็ไม่มีโอกาสชนะ แต่ถ้าเราออกมาสู้มันก็ยังมีโอกาสที่จะชนะ และถึงจะแพ้ก็ถือว่าเราได้สู้แล้วและไม่มีอะไรต้องเสียใจ