ฟรานซิส บุญเกื้อหนุน เด็กเรียนจากเมืองปากน้ำโพกับบททดสอบที่ 110

วันที่ 14 ตุลาคม 2563 คณะราษฎร 63 จัดการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและมีกำหนดเคลื่อนขบวนไปที่ทำเนียบรัฐบาล ระหว่างที่การชุมนุมดำเนินไปรถยนต์พระที่นั่งของสมเด็จพระราชินีเคลื่อนผ่านมาบนถนนที่เต็มไปด้วยผู้ชุมนุมโดยไม่มีการประกาศเตือนล่วงหน้า ผ่านทางแยกนางเลิ้งและทำเนียบรัฐบาลไปอย่างช้าๆ เนื่องจากมีผู้ชุมนุมอยู่บนถนน ระหว่างผู้ชุมนุมกับขบวนรถพระที่นั่งมีแถวของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนยืนกั้นกลางถวายความปลอดภัย ผู้ชุมนุมบางส่วนตะโกน “ประชาธิปไตยจงเจริญ” บางส่วนชูสัญลักษณ์สามนิ้วขณะที่ขบวนเคลือนผ่าน
ต่อมาในช่วงเช้ามืดวันที่ 15 ตุลาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานครโดยอ้างว่ามีคนพยายามขัดขวางขบวนเสด็จและเข้าสลายการผู้ชุมนุมที่ปักหลักค้างคืนบริเวณทำเนียบรัฐบาล  
หลังจากนั้นมีประชาชนอย่างน้อยสามคนที่น่าจะถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวที่แฝงตัวอยู่กับผู้ชุมนุมถ่ายภาพได้ว่าอยู่ในบริเวณที่รถยนต์พระที่นั่งวิ่งผ่านถูกออกหมายจับ บุญเกื้อหนุน หรือฟรานซิส นักศึกษาชั้นปีที่ 2 และอดีตนักกิจกรรมกลุ่มภาคีนักศึกษาศาลายาจากมหาวิทยาลัยมหิดลคือหนึ่งในนั้น 
+++วิกิพีเดียและครอบครัวคือเบ้าหลอมความตื่นตัวทางการเมือง +++
“ผมเป็นคนนครสวรรค์ ถ้าจะเอาให้ถูกต้องบอกว่าเป็นคนอำเภอชุมแสง ถ้าถามว่าชุมแสงมีอะไรดังก็ต้องบอกว่า “ละครกรงกรรม” นั่นแหละ ชีวิตวัยเด็กของผมอยู่ที่อำเภอชุมแสงเสียเป็นส่วนใหญ่ ครอบครัวทำธุรกิจส่วนตัว ผมเรียนหนังสือที่โรงเรียนในชุมแสงจนกระทั่งเรียนม.ปลายถึงได้เข้ามาเรียนหนังสือต่อที่ตัวเมืองนครสวรรค์” 
ฟรานซิสเล่าถึงครอบครัวของเขาว่า ครอบครัวของเขาค่อนข้างเป็นอนุรักษ์นิยม คุณพ่อ คุณแม่ และย่าของเขามีความตื่นตัวทางการเมืองและเข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่มการเมืองที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมทั้งกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. ในช่วงที่ครอบครัวไปร่วมการชุมนุมฟรานซิสจะถูกพาไปด้วยทำให้เขามีโอกาสสัมผัสกับบรรยากาศของการเมืองบนท้องถนนตั้งแต่เด็กๆ นอกจากปัจจัยด้านครอบครัว ความสนใจส่วนตัวของฟรานซิสเองก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้เขากลายเป็นคนที่กระตือรือล้นที่จะมีส่วนร่วมทางการเมือง
“ถ้าพูดตรงๆ ผมก็คงเป็นเด็กเนิร์ดคนหนึ่ง ผมชอบภาษาอังกฤษแต่ไม่ได้เรียนจากในห้อง ผมเลือกเรียนรู้เองผ่านการดูหนังและฟังเพลง พอเริ่มพูดได้อ่านภาษาอังกฤษได้ ผมก็เริ่มอ่านสารานุกรมออนไลน์วิกิพีเดีย เลยมีโอกาสอ่านองค์ความรู้เกี่ยวกับการเมืองหลายๆอย่างที่เป็นภาษาอังกฤษ และพอผมย้ายมาเรียนในตัวเมืองก็ได้เรียนกับครูชาวต่างชาติคนหนึ่งซึ่งเขาไม่ได้แค่สอนความรู้ทางวิชาการให้ผมแต่ยังสอนเรื่องวิธีคิดวิเคราะห์ให้ด้วย ทำให้ผมเติบโตทางความคิดมากขึ้น”
“ตอนแรกที่คุณประยุทธ์รัฐประหารสำเร็จผมก็เฮไปด้วยนะ แต่หลังจากนั้นก็เริ่มรู้สึกว่ามันแปลกๆ ตอนแรกเราก็คิดก็เชื่อกันว่า ได้คุณประยุทธ์มาประเทศคงจะพ้นจากวังวนความวุ่นวาย แต่ไปๆมาๆคุณประยุทธ์ก็ไม่ได้ต่างจากนักการเมืองคนอื่นๆ ยิ่งได้อ่านวิกิพีเดีย อ่านความรู้ต่างๆจากอินเทอร์เน็ตมากขึ้นผมก็เริ่มคิดว่าประเทศนี้มันมีอะไรบางอย่างผิดปกติ เพราะมันมีการรัฐประหารเกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง”
ความสนใจทางการเมืองที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นทำให้ในปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงรอยต่อระหว่างชีวิตมัธยมกับมหาลัย ฟรานซิสตัดสินใจสมัครเป็นสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ พรรคการเมืองที่ถูกจัดตั้งขึ้นในปี 2561 โดยเสนอตัวว่าจะทำงาน “การเมืองแบบใหม่”
+++อนาคตใหม่ ชีวิตมหาลัย และแฟลชม็อบ+++
แม้จะเติบโตมาในครอบครัวที่สมาทานแนวคิดอนุรักษ์นิยม แต่เนื่องจากเขาเริ่มแสดงหาความรู้จากแหล่งข้อมูลภาษาต่างประเทศ ฟรานซิสจึงเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับอุดมการณ์ทางการเมืองที่กว้างขวางมากขึ้น จนในที่สุดเขาเลือกสมาทานแนวคิดทางการเมืองที่ต่างจากคนในครอบครัว
“พอได้อ่านมากขึ้นผมเริ่มสนใจนโยบายแบบรัฐสวัสดิการ ผมคิดว่าตัวเองเริ่มมีแนวคิดทางการเมืองมาทางซ้ายมากขึ้น ก็เลยตัดสินใจเข้าไปเป็นสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ เพราะนโยบายหลายอย่างของพรรคสอดคล้องกับความคิดความเชื่อของผม แต่ผมไม่ได้เข้าไปเพราะธนาธรหรืออาจารย์ปิยบุตร ผมเป็นสมาชิกพรรคอนาคตใหม่จนกระทั่งพรรคถูกยุบไป”
ฟรานซิสระบุว่า ช่วงที่เรียนม.ปลาย เขาเริ่มตกผลึกกับตัวเองแล้วว่าอยากเรียนสายสังคมศาสตร์ อยากเรียนเรื่องการเมือง เขาตั้งใจจะไปสมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แต่คะแนนไม่ถึง ระหว่างนั้นก็มีเพื่อนแนะนำให้ไปลองดูสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของมหาวิทยาลัยมหิดลภาคอินเตอร์ ตอนแรกฟรานซิสเองก็ยังแปลกใจเพราะเข้าใจว่ามหิดลมีแต่สาขาวิทยาศาสตร์หรือการแพทย์ แต่เมื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมเขาก็ตัดสินใจยื่นใบสมัครเข้าศึกษาต่อที่มหิดลซึ่งเขาก็ถูกเรียกตัวมาสอบสัมภาษณ์และได้เข้าเรียน 
ฟรานซิสเริ่มเข้าเรียนที่มหิดลในปี 2562 ในช่วงนั้นสถานการณ์ทางการเมืองยังไม่คุกรุ่นเหมือนปี 2563 กิจกรรมที่เขาทำในช่วงขวบปีแรกของชีวิตนักศึกษาส่วนใหญ่จึงเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชา
“ปีแรกที่เข้าเรียนผมต้องปรับตัวกับชีวิตใหม่ในมหาวิทยาลัย เลยยังไม่ได้ทำกิจกรรมอะไรมากนัก ผมไปช่วยงานพรรคอนาคตใหม่อยู่พักหนึ่งแต่ก็มีปัญหากับตารางชีวิตและตารางเรียน สุดท้ายผมเลยไม่ค่อยได้ไปช่วย แต่มาทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับการเรียนมากขึ้นอย่างกิจกรรมประชุมสหประชาชาติจำเลอง วันที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบผมเองก็ไปร่วมกิจกรรมการประชุมสหประชาชาติจำลองที่จุฬา”
“เรื่องยุบพรรคผมรู้สึกว่า มันไม่ใช่ละ มันไม่ได้ช่วยทำให้อะไรดีขึ้น ผมเห็นนักเรียนศึกษาอย่างที่สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ออกมาเคลื่อนไหวแล้วหลังจากนั้นก็มีนิสิตของจุฬาจัดม็อบ คืออย่างที่ธรรมศาสตร์มันก็ค่อนข้างชัดเจนเรื่องความเข้มข้นของการเคลื่อนไหวอยู่แล้ว ส่วนที่จุฬาอาจจะไม่เข้มข้นเท่าแต่ก็มีการเคลื่อนไหวอยู่บ้าง แต่ที่มหิดลมันไม่ใช่”
ฟรานซิสเล่าต่อว่าเมื่อเขากลับมาที่มหาวิทยาลัยก็มีเพื่อชวนเขาว่าลองจัดแฟลชม็อบกันดูดีไหม  เบื้องต้นฟรานซิสก็ยังลังเลแต่สุดท้ายก็ตอบตกลง
“ตอนแรกผมก็ยังลังเลว่าจะทำดีไหมเพราะรู้ว่ามันจะมีความเสี่ยงตามมาแต่สุดท้ายผมก็ตอบตกลงกับเพื่อนไป เพราะคิดว่ามันก็คงเป็นครั้งหนึ่งในชีวิต ผมเลยเริ่มต้นด้วยการโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวประกาศว่าถ้าจะจัดม็อบที่มหิดลจะมีใครสนใจไหมก็มีเพื่อนกลุ่มหนึ่งทักมา หลังจากนั้นเราก็ตั้งกลุ่มชื่อว่า “ภาคีนักศึกษาศาลายา” ขึ้นมา เราเลือกใช้ชื่อนี้เพราะไม่ต้องการให้มีการเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัย เราเห็นที่อื่นๆเขาใช้ แฮชแท็กกัน เราก็เลยคิด #MUneeddemocracy ขึ้นมาใช้กับกิจกรรมของเรา ตอนที่พวกเราประกาศจัดแฟลชม็อบผมคิดว่าถ้ามีคนมาสักสี่ห้าร้อยคนก็หรูแล้ว ก่อนจะถึงวันนัดก็มีคนทักหาผมว่าพวกเขารอมาร่วมม็อบอยู่เป็นระยะ แต่ก็มีเพื่อนนักศึกษาบางส่วนที่ไม่เข้าใจว่าพวกเราจะจัดม็อบกันทำไม แต่พวกเราก็เดินหน้ากันต่อไป
พอถึงวันนัดก็มีสันติบาลเข้ามาในพื้นที่ แต่อะไรมันก็คงหยุดพวกเราไม่ได้แล้ว วันนั้นมีคนมาร่วมหลักพันซึ่งผมเองก็ถือว่าเกินคาด งานครั้งนี้ประสบความสำเร็จและที่ผมประทับใจที่สุดคงเป็นตอนที่เพื่อนๆที่มาชุมนุมร่วมกันร้องเพลงรักน้อง วันนั้นผมกับเพื่อนๆถือว่าพวกเราทำออกมาได้ดี เหมือนพวกเราปลุกจิตวิญญาณที่มันเงียบไปตั้งแต่ช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลากลับมา”
การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศในเดือนมีนาคม 2563 ส่งผลให้การเคลื่อนไหวแฟลชม็อบระลอกแรกต้องหยุดชะงักไป ฟรานซิสเองก็เดินทางกลับบ้านที่จังหวัดนครสวรรค์เช่นเดียวกับเพื่อนของเขาอีกหลายๆคน การเคลื่อนไหวของภาคีนักศึกษาศาลายาจึงปรับรูปแบบมาเป็นการเคลื่อนไหวบนโลกออนไลน์ กระทั่งทั่งเมื่อสถานการณ์การเมืองบนท้องถนนเริ่มกับมาคึกคักอีกครั้งช่วงหลังเดือนกรกฎาคม กลุ่มนักศึกษาที่มหิดลบางกลุ่มจึงเริ่มออกมาเคลื่อนไหวนอกรั้วมหาวิทยาลัยร่วมกับขบวนใหญ่โดยพวกเขาเข้ามาทำงานในส่วนของหน่วยปฐมพยาบาล สำหรับตัวของฟรานซิสที่เริ่มมีภาระการเรียนมากขึ้น จึงมาร่วมการชุมนุมในฐานะผู้ชุมนุมอิสระตามโอกาส เช่น เข้าร่วมการเคลื่อนไหวต่อต้านนโยบายจีนเดียว และการชุมนุมในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ซึ่งน่าจะเป็นการชุมนุมที่เปลี่ยนชีวิตเขาไปแบบที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน    
+++14 ตุลา 63 ขบวนเสด็จและชีวิตที่เปลี่ยนผัน+++
ฟรานซิสเล่าว่าการชุมนุมวันวันที่ 14 ตุลาคม 2563 เขาไปร่วมในฐานะประชาชนคนหนึ่ง โดยนัดกับเพื่อนว่าจะไปเจอกันแถวหน้าทำเนียบรัฐบาล ระหว่างที่เข้าร่วมชุมนุมประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าว Khaosod English ได้เข้ามาสัมภาษณ์เขา ประวิตรตั้งข้อสังเกตระหว่างการสัมภาษณ์ว่าการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจยอมปล่อยให้ผู้ชุมนุมเดินเข้ามาจนเกือบถึงทำเนียบรัฐบาลมันดูแปลกๆหรือไม่ ซึ่งตอนแรกฟรานซิสก็ไม่ได้รู้สึกแปลกอะไร แต่ก็มารู้สึกแปลกใจในภายหลัง 
“ตอนที่ผมกับผู้ชุมนุมมาอยู่แถวๆ แยกนางเลิ้งก็เห็นว่าเจ้าหน้าที่มีการตั้งแถว พวกเราส่วนหนึ่งเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่เตรียมจะสลายก็เลยเข้ามายันกับเจ้าหน้าที่ ตัวผมเคยเป็นคนจัดการชุมนุมมาก่อนมันก็จะมีความรู้สึกว่าเราต้องปกป้องผู้ชุมนุม หรืออย่างน้อยก็ต้องช่วยชะลอการเข้ามาของตำรวจให้นานที่สุด ทีนี้แถวตำรวจก็บีบเข้ามา ผู้ชุมนุมอีกส่วนก็กรูกันเข้ามากลายเป็นว่าผมติดอยู่กึ่งกลางเหมือนแฮมเบอร์เกอร์ ระหว่างนั้นผมก็หันไปเห็นขบวนเสด็จกำลังเข้ามา ผมก็แบบ แย่ละ เอาไงดี เลยบอกคนข้างๆ ที่ต่อมารู้ว่า เค้าถูกดำเนินคดีเดียวกับผมว่าพี่ขอผมออกก่อน ผมพยายามเอาตัวออกมาจากแนวที่ตำรวจกับผู้ชุมนุมประจันกัน ผมมีโทรโข่งในมือเลยพยายามใช้โทรโข่งสื่อสารให้ผู้ชุมนุมอยู่ในความสงบ ให้ขบวนผ่านไป ตอนนั้นนอกจากบอกให้ผู้ชุมนุมอยู่ในความสงบแล้วผมก็ไม่ได้ทำอะไรอีกนอกจากชูสามนิ้ว แล้วผมก็เห็นพี่เอกชัยคู่คดีอีกคนที่อยู่แถวนั้นยืนชูสามนิ้วเหมือนกัน”
“ตอนอยู่ที่ม็อบแม่ผมโทรมาแล้วบอกผมว่า ให้กลับหอเดี๋ยวนี้ ถ้าแม่มาถึงศาลายาแล้วผมยังไม่กลับก็ไม่ต้องไปเรียนแล้ว ผมก็บอกแม่ว่าเดี๋ยวผมกลับค่ำๆ”
ฟรานซิสเล่าว่า พอตกค่ำเขาก็กลับบ้านโดยที่เหตุการณ์ในพื้นที่การชุมนุมจนถึงตอนที่เขาเดินทางกลับก็เรียบร้อยดี และตัวเขาก็ไม่ได้คิดว่าจะมีอะไรร้ายแรงจนกระทั่งเช้าวันถัดมา
“เช้าวันที่ 15 ตุลาคม มีโทรศัพท์ลึกลับโทรเข้ามาบอกว่าผมจะโดนยัดข้อหา ตอนแรกผมก็นึกว่าคงเป็นพ.ร.บ.ชุมนุมฯ หรือมาตรา 116 ซึ่งก็คงไม่ได้ร้ายแรงอะไร แล้วแม่ผมก็สังเกตเห็นว่ามีคนที่น่าจะเป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาป้วนเปี้ยนแถวหน้าหอพักผมแต่ไม่ได้เข้ามา กระทั่งมารู้จากข่าวตอนหลังว่าเป็นมาตรา 110 ตอนนั้นผมก็สตันท์ไปเลย”
“ยอมรับว่าช็อคนะเพราะหมายแรกในชีวิตเราก็เป็นอันนี้เลย คือปกติที่ผมไปโรงพักอย่างมากก็ไปจ่ายค่าปรับเพราะรถถูกล็อคล้อหรืออะไรแบบนั้น ได้แต่คิดว่า เฮ้ย! เราก็แค่นักศึกษาคนนึงจะเอากันขนาดนั้นเลยเหรอ”
“ตอนนั้นแม่ผมหลุดไปละ ร้องไห้ ผมต้องพยายามรวบรวมสติตัวเอง โทรปรึกษาคนนั้นคนนี้ สุดท้ายก็ไปได้เบอร์ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พวกเขาเองก็บอกว่าขอคุยกันก่อนแล้วจะรีบติดต่อกลับเพราะพวกเขาก็ไม่เคยเจอข้อหาอะไรแบบนี้เหมือนกัน”
“ผมกับแม่ตอนแรกก็คุยกันว่า เราไปตั้งหลักที่บ้านก่อนดีไหม ก็เลยเตรียมขับรถกลับนครสวรรค์ ระหว่างนั้นผมได้คุยกับญาติคนหนึ่งที่เป็นตำรวจศาล เขาบอกผมว่าอย่ากลับบ้าน ให้รีบเข้ามอบตัวให้เร็วที่สุดเพราะถ้าผมกลับบ้านแล้วตำรวจไปจับผมที่บ้านมันจะกลายเป็นว่าผมหลบหนีและอาจไม่ได้ประกันตัว ก็หักรถกลับเลยตอนนั้นเราขับไปถึงประมาณเมืองนนท์ละ”
ฟรานซิสเล่าต่อว่าระหว่างที่กำลังขับรถกลับจากเมืองนนท์เขาติดต่อกับทนายได้ จึงเข้าไปพูดคุยกับทนายที่สำนักงานเดี๋ยวนั้นเลย หลังปรึกษาทนายฟรานซิสก็ตัดสินใจที่จะมอบตัวต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเอง เขาตกลงกับทนายว่า ขอให้ประสานกับตำรวจว่าขอเวลาจัดการเรื่องต่างๆสามวัน แล้วเขาจะเข้ามอบตัวในวันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม แต่เมื่อเขากลับไปถึงศาลายาได้พูดคุยกับเพื่อนๆ เขาก็ได้ยินข่าวว่าเจ้าหน้าที่จะไปจับเอกชัย หงส์กังวานก่อนแล้วจะมาจับเขา ฟรานซิสจึงตัดสินใจขอให้ทนายประสานตำรวจว่าจะเข้ามอบตัวในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 16 ตุลาคม 2563 เลย
“เพื่อนหลายคนส่งข้อความมาให้กำลังใจผม บนทวิตเตอร์ผมเห็น #Saveบุญเกื้อหนุน ผมก็มีกำลังใจดีขึ้น คืนนั้นผมพยายามนอนแต่ก็ไม่ได้หลับมากนัก พอรุ่งเช้าผมก็รีบกินข้าวแล้วไปที่สน.ดุสิตเพื่อมอบตัว ถึงตอนนั้นผมทำใจแล้วว่าอะไรจะเกิดก็ต้องเกิด มีเพื่อนผมบางส่วนตามไปให้กำลังใจที่สน.ดุสิต หลังเสร็จขั้นตอนการสอบสวนผมก็ถูกเอาตัวไปที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน พอผมไปถึงที่นั่นก็มีผู้ชุมนุมบางส่วนถูกควบคุมตัวอยู่แล้ว เลยไม่รู้สึกเหงาเท่าไร พอถึงวันรุ่งขึ้นผมก็ถูกพาตัวมาศาลแต่เช้าตรู่จำได้ว่าน่าจะมาถึงศาลอาญาประมาณ 7 โมงเช้าของวันที่ 17 ตุลาคม”
“ระหว่างที่มาศาล ผมยืมโทรศัพท์ของพี่เอกชัยโทรหาแม่ ผมอยากพูดถึงพี่เอกชัยนิดนึง ไม่ว่าคนอื่นจะมองพี่เอกชัยเป็นอย่างไร สำหรับผมพี่เขาเป็นคนมีน้ำใจมาก ตอนที่อยู่ที่ศาลระหว่างรอประกันเขาก็ซื้อข้าวเลี้ยงผม พี่เอกชัยเฝบอกกับผมว่าไม่ต้องห่วงเขาเพราะเขาเคยอยู่ในเรือนจำแล้ว เขาพอจะจัดการตัวเองได้ พี่เอกชัยพูดคล้ายๆคุณสมยศที่ถูกเอาตัวไปตชด.วันเดียวกับผม แต่สำหรับผม ผมว่ามันไม่โอเคเพราะไม่มีใครสมควรโดนอะไรแบบนี้”
“วันนั้นผมอยู่ที่ศาลทั้งวันกระทั่งช่วงเย็นถึงได้ประกันตัว ผมเลยคิดว่าพี่เอกชัยก็น่าจะได้ประกันเหมือนกัน พอดีว่าแกเตรียมหลักทรัพย์ไปไม่พอในวันศุกร์ ผมเลยคิดว่าแกน่าจะยื่นและได้ประกันวันจันทร์แต่ปรากฎว่าแกไม่ได้ประกัน…” 
+++ความหวังที่ดูเหมือนจะริบหรี่+++
ในวันที่ 26 มีนาคม สองวันหลังการสัมภาษณ์ ฟรานซิสทวิตข้อความว่าเขาได้รับแจ้งจากอัยการด้วยวาจาว่าในนัดวันที่ 31 มีนาคมนี้ อัยการจะฟ้องเขาและคู่คดีต่อศาลอาญา สิ่งที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับสิ่งที่ฟรานซิสเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า คงเป็นความหวังที่ริบหรี่ ที่อัยการจะไม่ฟ้องคดีเขา เพราะดูจากการไล่ดำเนินคดีมาตรา 112 ทั้งกับแกนนำและผู้ชุมนุมทั่วไป ตัวเขาเองก็คงไม่รอด ฟรานซิสระบุว่าเขารู้สึกไม่มีหวังถึงขั้นเตรียมทำพินัยกรรมไว้แล้ว แต่เฝก็จะสู้คดีให้ถึงที่สุด ส่วนอะไรจะเกิดก็คงต้องให้มันเกิด
“ถ้าการเมืองดี ถ้าเสร็จจากเรื่องนี้แล้วยังได้ไปต่อ ผมคงเล่นการเมืองหรือเขียนหนังสือ ผมเองก็เหมือนคนอื่นๆ อยากทำงาน อยากใช้ชีวิต อยากมีความสุข แต่ด้วยเงื่อนไขและโครงสร้างสังคมแบบนี้ แค่การมีชีวิตที่ดีก็เป็นเรื่องที่เรายังต้องออกมาเรียกร้องทั้งๆที่ความจริงมันเป็นเรื่องที่เราควรจะได้รับมาตั้งแต่ต้น และด้วยเงื่อนไขของสังคมนั่นแหละที่ทำให้ผมต้องออกมาต่อสู้เพราะถ้าไม่ก้าวออกมามันก็ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ถ้าทุกคนเพิกเฉยเราก็คงต้องอยู่ภายใต้สังคมแบบนี้ไปตลอด”