โควิดระลอกสาม : การคุกคามและคดีความที่เกี่ยวเนื่องกับการเรียกร้องในสถานการณ์โควิด 19

 
 
 
 
เข้าสู่ปีที่สองของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่ผ่านมาไทยเผชิญกับไวรัสดังกล่าวสามระลอกคือ ระลอกหนึ่งและสอง ในเดือนมีนาคมและธันวาคม 2563 และระลอกสาม ในเดือนเมษายน 2564  ซึ่งเป็นช่วงที่มีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตมากที่สุด ประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่องคือ การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโรคของรัฐที่ยังไม่ได้สัดส่วนต่อความเสียหายทางธุรกิจและโอกาสในการเลี้ยงชีพและการจัดหาวัคซีนที่ล่าช้าและในระยะแรกจำกัดอยู่สองชนิดคือ แอสตร้าเซเนก้าและซิโนแวค 
 
ข้อถกเถียงที่นำมาสู่การคุกคามตั้งแต่การทำร้ายร่างกายไปจนถึงคดีที่มีโทษหนักอย่างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112  ไม่น้อยกว่าหกคดี  ในจำนวนนี้ห้าคดีเป็นการวิจารณ์เรื่องวัคซีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าที่ผลิตโดยสยามไบโอไซเอนซ์ที่มีรัชกาลที่สิบถือหุ้นส่วนเป็นอันดับหนึ่ง ก่อนหน้านี้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเรียกขานบริษัทนี้ว่า เป็นบริษัทในพระปรมาภิไธย และ “เมื่อรับวัคซีนมาแล้ว จะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งอันนี้ก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชทานให้บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์” นำมาซึ่งวลี #วัคซีนพระราชทาน ขณะที่อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเชื่อว่า การฝากความหวังไว้ที่แอสตร้าเซเนก้าของรัฐบาลไทยครั้งนี้คือ การแทงม้าเต็ง
 

 

เจ้าหน้าที่ไอคอนสยามตบหน้าเบนจาระหว่างถือป้ายวิจารณ์วัคซีน
ผู้เสียหาย : เบนจา อะปัญ แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม
ผู้กระทำผิด : เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของไอคอนสยาม
 
 
กรุงเทพฯ – 19 มกราคม 2564 ที่ไอคอนสยาม ฝั่งท่าเรือ เบนจา อะปัญ แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมชูป้าย “ผูกขาดวัคซีน หาซีนให้เจ้า” จากนั้นรปภ.ดึงป้ายไป เบนจาจึงไปดึงป้ายชื่อของเจ้าหน้าที่ห้างเพื่อดู แต่ป้ายชื่อขาดติดมากับมือเบนจา เจ้าหน้าที่ห้างจึงตบแก้มซ้ายของเบนจาและดึงป้ายชื่อกลับ รวมทั้งมีการยึดโทรศัพท์และป้ายข้อความไปด้วย ต่อมาเบนจาได้เข้าแจ้งความที่สน.ปากคลองสาน ขณะที่เจ้าหน้าที่รายดังกล่าวก็ได้มาแสดงตัวเช่นกัน ตำรวจมีการเปรียบเทียบปรับเจ้าหน้าที่รายดังกล่าวเป็นเงิน 1,000 บาทตามมาตรา 391 เรื่องการทำร้ายร่างกายไม่ถึงขนาดเป็นอันตราย
 
ด้านไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอก พร้อมพวกพากันไปรวมตัวที่บริเวณลานท่าเรือไอคอนสยามและชูป้ายข้อความเดิม พร้อมเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่และห้างออกมากล่าวขอโทษ ระหว่างนั้นมีเจ้าหน้าที่ของห้างอีกคนหนึ่งกระชากที่คอของภูมิ-ศศลักษณ์ สุขเจริญ จนเป็นเหตุวิวาทะกัน ต่อมาเวลา 18.38 น. ผู้บริหารไอคอนสยามแถลงระบุว่า ทางห้างมีนโยบายให้ปฏิบัติต่อลูกค้าอย่างประนอมรอมชอม ทางห้างจะตรวจสอบและลงโทษตามกระบวนการต่อไป รวมทั้งเจ้าหน้าที่ได้ออกมากล่าวขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จากนั้น ภาณุพงศ์ประกาศยุติการชุมนุม
 
ในวันเดียวกันไอคอนสยามโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กของห้างระบุว่า  จะเร่งสอบสวนเรื่องดังกล่าวและลงโทษหากเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวมีความผิดจริง  อย่างไรก็ตามไอคอนสยามได้ขอความร่วมมือไม่จัดกิจกรรมหรือการแสดงออกใดๆ ที่ ไม่เหมาะสมในพื้นที่ของไอคอนสยาม เหตุการณ์นี้ทำให้ #แบนไอคอนสยาม ถูกทวีตกว่า 521,000 ครั้งบนทวิตเตอร์จนติดเทรนด์ยอดนิยมในไทย
 
อ้างอิง
https://www.mobdatathailand.org/case-file/1612517128723/
https://prachatai.com/journal/2021/01/91276
 
 
 
ธนาธร ปมไลฟ์เฟซบุ๊กกรณี “วัคซีนพระราชทาน ใครได้-ใครเสีย”
ผู้ถูกกล่าวหา : ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
ผู้กล่าวหา : อภิวัฒน์ ขันทอง
ข้อกล่าวหา : ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ 
 
 
กรุงเทพฯ – บีบีซีไทยรายงานว่า เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จัทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้อภิวัฒน์ ขันทองในฐานะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและทนายความของพล.อ.ประยุทธ์ฯ แจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธาณคณะก้าวหน้า ฐานเผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จ   สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2564 เวลา 21.30 น. จากการไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊ก “Thanathorn Juangroongruangkit-ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ”  ในหัวข้อ “วัคซีนพระราชทาน: ใครได้ใครเสีย?” ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการวิจารณ์นโยบายจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ว่าเป็นไปด้วย  “ความล่าช้า”และเป็นการ “ทุ่มหมดหน้าตัก” ให้กับวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าจากสยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นผู้ถือหุ้นโดยตรง
 
ในชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานเชื่อได้ว่า เนื้อหาของไลฟ์ดังกล่าวนั้นเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จึงออกหมายเรียกให้ธนาธรมารับทราบข้อกล่าวหา วันที่ 30 มีนาคม 2564 ธนาธรเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายข้างต้นและปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาพร้อมย้ำชัดว่า เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความบริสุทธิ์ใจเพื่อปกป้องผลประโชน์ของประชาชนทุกคน  นอกจากคดีมาตรา 112 แล้วยังมีกรณีที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาให้ระงับการเผยแพร่ไลฟ์ดังกล่าว แต่ศาลสั่งยกคำร้องระบุว่า เนื้อหาของไลฟ์มุ่งเน้นการกล่าวหารัฐบาลบกพร่อง ข้อมูลเรื่องผู้ถือหุ้นเป็นเพียงส่วนน้อย ไม่เป็นประเด็นหลักในการนำเสนอ ไม่สามารถเห็นได้ชัดเจนถึงกับกระทบความมั่นคง 
 
อ้างอิง
https://www.bbc.com/thai/thailand-57312017
https://www.prachachat.net/general/news-598681
https://www.matichon.co.th/politics/news_2567766
 
 
 
เพนกวิน-เบนจา ปราศรัย “กระชากหน้ากากสยามไบโอไซน์” 
ผู้ถูกกล่าวหา : พริษฐ์ ชิวารักษ์ และ เบนจา อะปัญ
ผู้กล่าวหา : รพีพงษ์ ชัยยารัตน์ (ผู้กล่าวหาเบนจา) 
ข้อกล่าวหา : ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯและการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้ขออนุญาต
 
 
กรุงเทพฯ – 25 มกราคม 2564 หน้าอาคารศรีจลุทรัพย์ ที่ทำการของสยามไบโอไซเอนซ์ เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์และเบนจา อะปัญจัดการปราศรัย “กระชากหน้ากากสยามไบโอไซน์” ตั้งคำถามเช่น เหตุใดประเทศไทยจึงใช้วัคซีนจากสองแหล่งเท่านั้นคือ ซิโนแวคและแอสตราเซนกา, เหตุใดไทยถึงได้วัคซีนล่าช้า และขอให้รัฐบาลเปิดข้อตกลงการจัดหาวัคซีน นอกจากนี้ยังตั้งข้อสังเกตถึงความน่าเชือถือของสยามไบโอไซเอนซ์ที่เพิ่งรับผลิตวัคซีนเป็นครั้งแรก
 
ต่อมาศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ ในฐานะประชาชนทั่วไป แจ้งความดำเนินคดีกับเบนจา ต่อมาวันที่ 11 มีนาคม 2564 เบนจาได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สน. ปทุมวัน พร้อมปฏิเสธทุกข้อกล่าวและไม่ยินยอมลงลายมือชื่อในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา ในส่วนของเพนกวิน พ.ต.ท. เจริญสิทธิ์ จงอิทธิ รอง ผกก. (สอบสวน) สน. ปทุมวัน ได้เดินทางไปแจ้งข้อกล่าวหาต่อเพนกวินซึ่งถูกคุมขังในระหว่างพิจารณาคดี 112 ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา
 
 
อ้างอิง
https://www.facebook.com/iLawClub/posts/10164951242440551
https://tlhr2014.com/archives/26869
 
 
 
 
นศ. ลำปางโดนแจ้งม.112 ปมแขวนป้ายผ้า “งบสถาบันกษัตริย์>วัคซีนCOVID-19”
ผู้ถูกกล่าวหา : พินิจ ทองคำ, วรรณพร หุตะโกวิท, ภัทรกันย์ แข่งขัน, ยุพดี กูลกิจตานนท์และหวาน (นามสมมติ)
ผู้กล่าวหา : พ.ต.ท.สืบสกุล ขุนเพิ่ม รองผู้กำกับสอบสวนสภ.เมืองลำปาง
ข้อกล่าวหา : ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ. ความสะอาดฯ
 
 
ลำปาง – 25 มกราคม 2564 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า พ.ต.ท.สืบสกุล ขุนเพิ่ม รองผู้กำกับสอบสวน สภ.เมืองลำปาง แจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าราย ได้แก่ พินิจ ทองคำ นักศึกษาวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง และสมาชิกกลุ่มพิราบขาวเพื่อมวลชน, วรรณพร หุตะโกวิท บัณฑิตคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และสมาชิกกลุ่ม NU-Movement, ภัทรกันย์ แข่งขัน นักศึกษาคณะมนุษย์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง, ยุพดี กูลกิจตานนท์ แม่ค้าในจังหวัดลำปาง และหวาน (นามสมมติ) นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ด้วยมาตรา 112 จากกรณีแขวนป้ายผ้าที่มีข้อความเขียนว่า “งบสถาบันกษัตริย์>วัคซีนCOVID-19” บริเวณสะพานรัษฎาภิเศกเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2564 
 
วันที่ 25 มกราคม 2564 ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา พร้อมให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ทั้งนี้ทางตำรวจได้ขอตรวจและเก็บดีเอ็นเอของผู้กล่าวหาอีกด้วย มูลเหตุของคดีนี้เกิดขึ้นในขณะที่ ร.ต.อ.วิเชียร ดอนชาไพร ผู้ปฏิบัติหน้าที่เวรสืบสวน ระหว่างวันที่ 30 ธค. 2563 เวลา 09.00 น. ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2563 09.00 น. ตรวจพบโพสต์ภาพที่มีป้ายผ้าแขวนอยู่บริเวณสะพานรัษฎาภิเศกจากเพจเฟซบุ๊กชื่อ “กลุ่มพิราบขาวเพื่อมวลชน” 
 
โดยป้ายภาพนี้ได้ถูกยึดในเวลาต่อมาหลังเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวน สภ.ลำปางและเจ้าหน้าที่สายตรวจเวรไปตรวจ ณ สถานที่เกิดเหตุ จึงได้มีการตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิด ทำให้มีความเชื่อว่าทั้งห้าคนเกี่ยวข้องกับกรณีนี้  ก่อนหน้านี้วันที่ 18 มกราคม 2564 ได้มีการขอหมายศาลเข้าตรวจค้น คณะก้าวหน้าจังหวัดลำปางและบ้านพักนักศึกษาสองราย และยึดสิ่งจำนวน 7 รายการ ได้แก่ ป้ายไวนิล ถังสีแดงและเหลือง ขวดตัดครึ่งสำหรับผสมสี แปรงทาสี และเชือกฟาง ก่อนมีการส่งหมายเรียกตามมาตรา 112 
 
ทั้งนี้ตำรวจระบุว่า การขอเก็บดีเอ็นเอกระพุ้งแก้มเพิ่มเติมนั้นเป็นไปเพื่อขอเก็บหลักฐาน โดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีความอาญา นอกจากนี้ตำรวจยังได้มีการพิมพ์ลายนิ้วมือสำหรับประวัติอาชญากรรมและปล่อยตัวผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด 
 
 
อ้างอิง https://tlhr2014.com/archives/25502
 
 
แอดมินเพจเชียงรายปลดแอกโดนบุกจับ 112 อ้างป้าย “งบสถาบัน>งบเยียวยาประชาชน”
ผู้ถูกกล่าวหา : สุปรียา ใจแก้ว
ผู้กล่าวหา : พ.ต.ท. ภาสกร สุขะ
ข้อกล่าวหา : ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ  และพ.ร.บ.ความสะอาดฯ
 
 
เชียงราย – มติชนออนไลน์รายงานว่า วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564  เวลาประมาณ 16.00 น. ตำรวจสภ.เมืองเชียงรายจับกุมสุปรียา ใจแก้ว นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายซึ่งเป็นหนึ่งในแอดมินเพจเฟซบุ๊ก Free Youth CEI-เชียงรายปลดแอกตามหมายจับของศาลจังหวัดเชียงรายที่ 20/2564  ผู้ร้องคือ พ.ต.ท.ภาสกร สุขะ รองผู้กำกับการสอบสวน สภ.เมืองเชียงราย ระบุเหตุผลที่ออกหมายจับว่า ได้หรือน่าจะได้กระทำความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานพฤติการณ์ตามข้อกล่าวหาที่พนักงานสอบสวนได้แจ้งต่อสุปรียาว่า เหตุสืบเนื่องจากวันที่ 4 มกราคม 2564 เวลา 03.30 น. ผู้ต้องหาได้นำป้ายข้อความ “งบสถาบัน>งบเยียวยาประชาชน” ไปแขวนที่ป้ายข้อความ “ทรงพระเจริญ”  ซึ่งมีพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่สิบบริเวณห้าแยกพ่อขุนเม็งราย  และเพจเฟซบุ๊ก Free Youth CEI-เชียงรายปลดแอก ที่มีผู้ต้องหาดูแลได้แชร์ภาพดังกล่าวด้วย คณะพนักงานสอบสวนพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของผู้ต้องหาเข้าข่ายการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 
 
 
อ้างอิง 
https://tlhr2014.com/archives/26313
https://prachatai.com/journal/2021/02/91861
https://www.matichon.co.th/local/crime/news_2597185
 
 
 
อายัดซ้ำโตโต้-ปิยรัฐ แกนนำวีโว่ กรณีป้ายวิจารณ์วัคซีนโควิด-19
ผู้ถูกกล่าวหา : ปิยรัฐ จงเทพ
ผู้กล่าวหา : พ.ต.ท. ไพศาล ใจเกษม
ข้อหา : ประมวลกฎหมายอาญา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 
 
 
กาฬสินธุ์ – ประชาไทรายงานว่า วันที่ 2 เมษายน 2564 หลังจากที่ศาลอาญาให้ประกันตัวโตโต้-ปิยรัฐ จงเทพ We Volunteer ในข้อหาอั้งยี่ ตำรวจเข้าทำการอายัดตัวเขาภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครตามหมายจับมาตรา 112 ที่ออกโดยศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ในวันเดียวกัน เหตุสืบเนื่องมาจากกรณีที่โตโต้ถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้จัดทำป้ายไวนิลไปติดบริเวณทางสาธารณะในพื้นที่อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์จำนวนเจ็ดแผ่น เนื้อหาวิจารณ์การจัดซื้อวัคซีนของรัฐบาลและมีบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ฯ 
 
หลังจากนั้นได้นำไปโพสต์ลงเฟซบุ๊กชื่อ “โตโต้ ปิยรัฐ -Piyarat Chongthep” และทวิตเตอร์ชื่อ “We Volunteer” พนักงานสอบสวนพิจารณาว่า เข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และนำมาซึ่งการขออำนาจศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ออกหมายจับ ต่อมาศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ทำให้โตโต้ต้องถูกคุมขังต่อไป จนกระทั่งวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์เปลี่ยนแปลงคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราว ให้วางหลักทรัพย์เป็นเงิน 200,000 บาทและติดกำไลอีเอ็ม (Electronics Monitoring)
 
อ้างอิง
https://www.voicetv.co.th/read/jW7fFfeGe
https://prachatai.com/journal/2021/04/92406
 
 
 
ฮาร์ท นักร้องดัง โดน 112 กรณีโพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์วัคซีนโควิด-19 “ยาเจ้านาย ขายไม่ออก”
ผู้ถูกกล่าวหา : สุทธิพงศ์ ทัดพิทักษ์กุล 
ผู้กล่าวหา : อภิวัฒน์ ขันทอง
ข้อกล่าวหา : ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ
 
 
กรุงเทพฯ – ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า ในวันที่ 13 พ.ค. 2564 อภิวัฒน์ ขันทอง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเข้าพบ พ.ต.ท.อธิชย์ ดอนนันชัย รองผู้กำกับ (สอบสวน) สน.นางเลิ้ง เพื่อแจ้งความดำเนินคดีต่อ ฮาร์ท-สุทธิพงศ์ ทัดพิทักษ์กุล กรณีโพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์มาตรการวัคซีนของรัฐ
 
คดีนี้เริ่มต้นจากการโพสต์สเตตัสเฟซบุ๊กของ สุทธิพงศ์ ทัดพิทักษ์กุล หรือ ฮาร์ท อดีตพิธีกรและนักร้องชื่อดัง ซึ่งมีข้อความว่า “ยาเจ้านายขายไม่ออก สต๊อคไม่เคลื่อนที่ ลิ่วล้อต้องออกมาช่วยเรื่องการตลาด (ผมไปก๊อปคนอื่นเขามาอีกที) #ผูกขาดวัคซีนนี่ถ้าไม่เหี้ยมจริงนี่ทำไม่ได้นะ” อภิวัฒน์ระบุว่า แม้ข้อความเหล่านั้นจะถูกคัดลอกมาจากผู้อื่นและหลังจากตรวจสอบก็พบว่ามีการใช้ในลักษณะนี้หลายครั้งจึงเล็งเห็นว่าเป็นการเจตนา ซึ่งทำให้คนเข้าใจผิดว่า “เจ้านาย”พาดพิงไปถึงกษัตริย์ ทั้งนี้ พ.ต.อ. ภูมิยศ เหล็กกล้าเสริมว่าจะรับเรื่องและหลักฐานไว้พิจารณาว่ามีความผิดจริงหรือไม่ พร้อมทั้งจะเรียกตัว ฮาร์ท สุทธิพงศ์มาให้ปากคำ รวมถึงจะดำเนินคดีต่อเจ้าของโพสต์ต้นทางเช่นกัน
 
 
อ้างอิง https://www.thairath.co.th/news/crime/2091108