1897 1956 1151 1542 1386 1115 1160 1469 1616 1520 1799 1677 1537 1345 1598 1878 1592 1798 1133 1692 1691 1521 1081 1273 1597 1286 1100 1959 1547 1786 1475 1640 1496 1812 1779 1148 1311 1320 1660 1090 1386 1652 1339 1124 1915 1031 1573 1458 1109 1699 1773 1357 1517 1477 1271 1433 1944 1144 1697 1167 1178 1001 1872 1822 1729 1870 1368 1587 1905 1062 1631 1833 1581 1856 1245 1889 1222 1176 1350 1074 1517 1582 1170 1771 1231 1250 1328 1436 1059 1186 1315 1729 1966 1631 1902 1395 1650 1304 1145 หน้ากากขาว กูKult และชีวิตที่ยากจะถึงฝันของนรินทร์ | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

หน้ากากขาว กูKult และชีวิตที่ยากจะถึงฝันของนรินทร์

คนที่มีโอกาสไปร่วมการชุมนุมตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 จนถึงต้นปี 2564 อาจเคยพบเห็นคนรูปร่างผอมที่ปรากฎกายในพื้นที่ชุมนุมด้วยเสื้อยืดสีขาว บนหน้าอกมีสัญลักษณ์คล้ายนมเปรี้ยวบรรจุขวดยี่ห้อหนึ่งแต่ตัวหนังสือเขียนคำว่า "กูKult" ซึ่งเป็นชื่อเพจเฟซบุ๊กเสียดสีการเมืองแทนยี่ห้อนมเปรี้ยวชื่อดัง และที่โดดเด่นกว่าเสื้อยืดคงจะหนีไม่พ้นใบหน้าของเขาที่ซ่อนอยู่ใต้หน้ากากสีขาวที่ครั้งหนึ่งเคยถูกมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มต่อต้านอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ชุมนุมร่วมกับกลุ่ม กปปส. ช่วงปลายปี 2556 ต่อต้นปี 2557
 
นรินทร์ ชายวัย 32 ปี ผู้อยู่เบื้องหลังหน้ากากขาวมักแบกเสื้อสกรีนข้อความ กูKult ไปขายในพื้นที่การชุมนุมซึ่งตัวเขาเองก็ใส่เสื้อลายเดียวกันนั้นไปในพื้นที่การชุมนุมด้วย บางคนที่อยู่ในแวดวงการเมืองมานานก็รู้ความเป็นมาเป็นไปของเสื้อของเขาและซื้อมาใส่ แต่คนที่ตามการเมืองรุ่นใหม่ๆ หรือคนมีอายุที่นิยมเสพย์ข่าวการเมืองจากช่องทางอื่นที่ไม่ใช่เฟซบุ๊กก็อดถามนรินทร์ไม่ได้ว่าไอ้คำว่า กูKult นี่มันคืออะไร ทว่าในขณะที่ใครหลายคนงงว่า กูKul คืออะไร คนที่รู้จักมันดีคงหนีไม่พ้นเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่จับตาดูความเคลื่อนไหวของเพจดังกล่าวด้วยความไม่สบายใจ กระทั่งในเดือนกันยายน 2563 หลังการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ได้ไม่กี่วันเจ้าหน้าที่ก็นำกำลังเข้าจับกุมนรินทร์ถึงที่บ้าน หลังปรากฎภาพบุคคลที่เจ้าหน้าที่เชื่อว่าน่าจะเป็นนรินทร์นำสติกเกอร์โลโก กูkult ไปติดบนพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่สิบซึ่งติดตั้งอยู่หน้าศาลฏีกาใกล้พื้นที่การชุมนุม 
 
จนถึงบัดนี้นรินทร์ถูกตั้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 ไปแล้วสามคดี ดูเหมือนว่าเจ้าหน้าที่จะเชื่อว่าเขาเป็นแอดมินเพจเสียดสีการเมืองชื่อดัง ทว่านรินทร์ติวเตอร์อิสระผู้มีความฝันจะเป็นนักวิชาการด้านคณิตศาสตร์ยืนยันว่าเขาไม่ได้เป็นแอดมินของเพจ กูKult เขาเพียงแต่เป็นแฟนคลับของเพจคนหนึ่ง ที่นำโลโกของเพจไปทำเป็นของที่ระลึกมาขายให้คนที่สนใจเพื่อหารายได้ และเขาก็เชื่อว่าปรัชญาของเพจ กูKult คือ "ทุกคนเป็นแอดมิน" เหมือนที่ครั้งหนึ่งผู้ชุมนุมเคยใช้สโลแกน "ทุกคนคือแกนนำ" ก่อนหน้านี้นรินทร์เลือกที่จะเก็บเรื่องคดีของเขาไว้เงียบๆ แต่ด้วยพัฒนาการที่น่ากังวลบางอย่างนรินทร์ตัดสินใจตอบรับคำเชิญของไอลอว์มาเล่าเรื่องราวของเขาให้ฟัง
 
1857
 
จากเด็กวิทย์สู่การเมืองคีย์บอร์ด
 
"พ่อแม่ผมเป็นคนต่างจังหวัดมาจากอยุธยา แต่เขาก็ย้ายมากรุงเทพนานแล้วอย่างผมกับพี่น้องที่มีด้วยกันทั้งหมดห้าคนก็เกิดกันที่กรุงเทพนี่แหละ ตัวผมเองเป็นลูกคนรองสุดท้าย" นรินทร์เริ่มเล่าถึงพื้นเพของเขา "จะว่าไปครอบครัวของเราก็เป็นชนชั้นกลางที่ค่อนไปทางล่าง ที่บ้านผมเพิ่งมาลืมตาอ้าปากมีบ้านของตัวเองก็เมื่อไม่นานนี้เอง พ่อแม่ของผมทำงานรับจ้างทั่วไป ที่บ้านก็ปากกัดตีนถีบมาตั้งแต่จำความได้"
 
"ผมคิดว่าฐานะที่บ้านน่าจะมีส่วนที่ทำให้ผมสนใจการเมือง ด้วยความที่ผมเป็นคนขี้สงสัยผมเลยตั้งคำถามว่า ทำไมประเทศเราไม่เป็นรัฐสวัสดิการ แต่ผู้ปกครองกลับต้องเป็น "สวัสดิการให้ลูกหลาน"แทน  ทำไมเรื่องพื้นฐานอย่างการศึกษาถึงไม่เป็นสวัสดิการที่รัฐจัดให้ประชาชนจนถึงปริญญาตรี อย่างผมด้วยความที่ครอบครัวก็ไม่ได้มีมากเลยกลายเป็นต้องกู้ กยศ. เป็นหนี้ตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ"
 
"ผมเข้าเรียนปริญญาตรีที่จุฬา ในสาขาเกี่ยวกับชีวะช่วงปี 2551 แน่นอนอาจารย์กับเพื่อนๆ ของผมหลายคนมีแนวคิดทางการเมืองแบบอนุรักษ์นิยม พอถึงช่วงปี 2553 ที่มีการสลายคนเสื้อแดงผมเองก็พอจะได้รับรู้ความคิดความเชื่อของพวกเขาที่ไม่ค่อยชอบคนเสื้อแดง ตัวผมเองก็ไม่ได้เป็นคนเสื้อแดงหรอกนะ ตอนเรียนปริญญาตรีผมก็ไม่ได้ไปร่วมชุมนุมอะไรกับเขาหรอก เพียงแต่ผมเข้าใจคนเสื้อแดงเพราะฐานะทางบ้านผมก็ปากกัดตีนถีบคล้ายๆ กับคนเสื้อแดงที่มาลืมตาอ้าปากยุคทักษิณ ส่วนเรื่องที่เขาบอกว่าทักษิณโกง ผมก็รับฟังนะเพียงแต่อยากให้พวกเขายกหลักฐานมาให้ดู"
 
"ตอนหลังที่มีนิสิตจุฬากล่าวขอโทษคนเสื้อแดงผมก็คิดว่าเป็นเรื่องที่ดีแต่พวกเขาอาจไม่จำเป็นต้องขอโทษก็ได้เพราะคนที่เคยทำหรือพูดอะไรแย่ๆ ไว้ไม่ใช่พวกเขาที่เพิ่งเข้ามาเรียนกันแต่เป็นเรื่องของคนรุ่นเก่า"
 
"ด้วยความที่ผมเป็นพวกอินโทรเวิร์ท ไม่ค่อยสุงสิงกับใคร การแสดงออกทางการเมืองของผมจึงจำกัดอยู่บนโลกออนไลน์เสียเป็นส่วนใหญ่ ตัวผมเองเรียนสายวิทย์ไม่ได้มีความรู้ทฤษฎีการเมืองอะไรกับเขา การโพสต์แสดงความเห็นก็มักเป็นการตั้งคำถามแซว เสียดสี หรือบางคนอาจจะบอกว่าผมมันพวก "เกรียนคีย์บอร์ด" ผมก็เข้าใจได้นะ คือถึงผมจะไม่มีความรู้ด้านสังคมศาสตร์หรือการเมือง แต่ผมก็เป็นพวกขี้สงสัยและชอบตั้งคำถาม"
 
กูKult และพลังของ "มีม"
 
การท่องโลกออนไลน์ของนรินทร์นำพาเขาไปพบเจอกับเพจเฟซบุ๊กที่มีชื่อสุดแปลกอย่าง กูKult ซึ่งนรินทร์เป็นแฟนคลับมาตั้งแต่ช่วงก่อนการสลายการชุมนุมเสื้อแดง เพจ กูKult เป็นเพจการเมืองที่แอดมินไม่เปิดตัวตนแต่เป็นที่รู้กันว่ามีหลายคน รวมทั้งมีการส่งต่อเพจในลักษณะรุ่นต่อรุ่น บางครั้งเพจก็ถูกปิดไปแล้วเปิดใหม่ในภายหลังภายใต้แบรนด์เดิม 
 
"ผมจำไม่ได้ว่ารู้จักเพจ กูKult แบบจริงๆ จังๆ ตอนไหน รู้แค่ว่ารู้จักตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรี จริงๆ เพจนี้มันไม่ใช่เพจการเมืองแต่แรกหรอกนะ ผมยังจำได้ว่าทางเพจยังเคยเอาโลโก้โค้กมาดัดแปลงตลกๆ อยู่เลย ผมเข้าใจว่า กูKult น่าจะมาทำมีมการเมืองจริงๆ จังๆ ก็ช่วงสลายชุมนุมคนเสื้อแดงนี่หล่ะ"
 
"ในยุคที่ผมเริ่มตาม กูKult การพูดเรื่องการเมืองยังไม่ได้เปิดเหมือนตอนนี้ มีมการเมืองที่ กูKult ทำในยุคนั้นเลยต้องอาศัยการตีความ ไม่เหมือนมีมในยุคนี้ที่ดูทีเดียวรู้เลย อันหนึ่งที่ผมจำของ กูKult ได้ คือเขาเอารูปปกหนังสือ Das Capital ของ คาร์ล มารกซ์มาเปลี่ยนคำแป็น Dad Capital เป็นคำพ้องเสียงแต่ก็ต้องอาศัยการตีความนิดหนึ่ง"
 
"ถ้าถามความเห็นส่วนตัวระหว่างมีมบนโลกอินเทอร์เน็ตยุคนี้กับยุคเก่าๆ ผมชอบของสมัยก่อนมากกว่านะ เพราะมันต้องอาศัยการตีความมันต้องคิด มันไม่สำเร็จรูป คือถึงมันจะไม่แบบเห็นแล้วเก็ตเลยแต่ผมว่าไอ้การตีความนั่นแหละที่มันเปิดพื้นที่ให้สมองเราได้ทำงาน เราได้คิด"
 
"ถ้าถามว่าไอ้มีมพวกนี้มันมีพลังพอจะไปกระเทือนความมั่นคงของรัฐหรือเปล่า ผมว่าไม่นะ มันไม่ได้มีพลังทำลายล้างอะไรขนาดนั้น สิ่งที่เป็นพลังของมีมคือมันเปิดให้เราได้ทำงานกับความคิดตัวเอง ได้ตีความ ตั้งคำถาม ซึ่งตรงนั้นจะไปทำให้อะไรบางอย่างที่เคยถูกโฆษณาชวนเชื่ออย่างหนักต้องสูญเสียอำนาจในการครอบงำของมันไป"
 
หน้ากากขาว กับ กูKult เพราะทุกคนคือแอดมิน
 
เพจกูKult เป็นเพจการเมืองที่เปิดมาตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 2550 แล้ว เพจจึงเป็นที่รู้จักในหมู่คนบางกลุ่มเท่านั้น และส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในหมู่คนที่ติดตามการเมืองตั้งแต่ยุคก่อนหน้านี้ เมื่อเยาวชนปลดแอกจัดการชุมนุมในเดือนกรกฎาคม 2563 นรินทร์ที่ออกไปร่วมชุมนุมก็เห็นว่าเด็กรุ่นใหม่ๆ ก็มีสัญลักษณ์ของกลุ่มตัวเอง เช่น สามนิ้ว แต่ตัวเขาเป็นคนมาจากโลกอินเทอร์เน็ตยุคเก่าที่มีพื้นที่เฉพาะ จึงอยากจะแสดงตัวตนของเขาให้ชัดเจน นรินทร์จึงมักสวมเสื้อสกรีนข้อความ กูKult และหน้ากากขาวไปร่วมชุมนุมตั้งแต่นั้น จนภาพชายร่างเล็กสวมหน้ากากขาวและเสื้อสกรีนข้อความ กูKult เริ่มกลายเป็นที่สะดุดตาของผู้คน 
 
"หน้ากากขาวที่ผมใส่ไปชุมนุมผมก็ซื้อมาจากร้านค้าแห่งหนึ่ง ถ้าใครเคยดูหนังเรื่อง V for Vendeta ก็น่าจะรู้ความหมายของหน้ากากนี้ที่เคยถูกใช้โดยกาย ฟอร์ก นักเคลื่อนไหวยุคโบราณที่เคยต่อต้านราชวงศ์อังกฤษ ถ้าจำฉากจบได้พระเอกทำการไม่สำเร็จตายตอนจบแต่ก็มีคนเอาหน้ากากแบบนี้ที่เขาเคยใส่มาใส่ต่อเหมือนจะสื่อว่าจะสานต่องานของเขาและมันไม่สำคัญว่าใครอยู่ภายใต้หน้ากากนี้ มันสำคัญแค่ว่าทุกคนมีความคิดความเชื่อบางอย่าง มันก็เหมือนเพจ กูKult ที่ไม่มีการเปิดเผยว่าใครเป็นแอดมิน แล้วแอดมินก็มีการทำงานลักษณะรุ่นต่อรุ่น เพราะเพจอยู่มานานแล้ว และที่สำคัญมันก็คงไม่สำคัญว่าใครเป็นแอดมิน มันสำคัญแค่ว่าเพจผลิตเนื้อหาอะไรออกมา การที่เพจไม่เปิดเผยตัวตนแอดมินมันก็เหมือนกับว่าไม่ว่าใครที่เราเคยเห็นเคยคุยด้วยก็อาจเป็นแอดมินกูKult ได้ คล้ายกับที่ช่วงหลังเขาบอกว่าในการชุมนุมทุกคนคือแกนนำอะไรแบบนั้น"
 
"หน้ากากขาวอันนี้เคยถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มแฮคเกอร์เมืองนอก Ananonamous ที่มักแฮคหรือโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ของรัฐบาล องค์กรหรือหน่วยงานรัฐที่เขามองว่าเป็นเผด็จการ สัญลักษณ์หน้ากากขาวนอกจากใช้เพื่อปิดบังตัวตนแล้วยังเป็นสัญลักษณ์ว่าใครจะเป็น Ananomous ก็ได้และใบหน้าภายใต้หน้ากากก็ไม่ได้สำคัญเท่าอุดมการณ์ของพวกเขา คล้ายๆ กับแนวคิดของกายฟอร์กในหนัง V for Vendetta แต่ในเมืองไทยหน้ากากนี้ถูกกลุ่มที่ขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ร่วมกับกลุ่ม กปปส.เอามาใช้ ซึ่งถ้าดูอุดมการณ์เบื้องหลังของกลุ่มหน้ากากขาวในไทยแล้วน่าจะอยู่ตรงข้ามกับอุดมการณ์ที่เป็นต้นฉบับหรือที่มาของสัญลักษณ์หน้ากากขาวจริงๆ การที่ผมเอาสัญลักษณ์หน้ากากขาวนี้มาใช้ ทางหนึ่งผมเองก็แค่อยากคืนความหมายที่แท้จริงให้กับมัน"
 
"ของที่ระลึก เล่นว่าวสนามหลวง และคดีความ"
 
นอกจากจะไปร่วมชุมนุมแล้ว นรินทร์ก็ทำเสื้อสกรีนข้อความ กูKult รวมทั้งของที่ระลึกอื่นๆ เช่น หมวกหรือสติกเกอร์ ไปขายในพื้นที่การชุมนุมด้วย ส่วนหนึ่งก็เพื่อหารายได้และอีกส่วนหนึ่งก็เพื่อให้แฟนคลับของเพจ กูKult ด้วยกันมีโอกาสเข้าถึงสัญลักษณ์ที่จะเอาไปแสดงตัวตนในพื้นที่การชุมนุม
 
"ผมเริ่มทำเสื้อขายตั้งแต่ปี 2562 แล้ว เพราะตอนนั้นผมเจอมรสุมชีวิตบางอย่างแล้วก็อยากจะหารายได้ เลยลองทำเสื้อลาย กูKult ขาย ก็คงเป็นอารมณ์เดียวกับคนสมัยนี้ทำเสื้อการเมืองขาย แล้วก็ไม่ใช่ผมคนเดียวหรอกนะที่ทำเสื้อลาย กูKult ซึ่งการทำเสื้อนี่แหละที่ทำให้ผมเริ่มถูกจับตาโดยเจ้าหน้าที่"
 
"พอมาถึงปี 2563 ช่วงที่เยาวชนปลดแอกชุมนุม ผมก็เอาเสื้อ กูKult ไปขายในม็อบ ตอนนั้นเขาใส่สีดำกันผมก็มีสีขาวใส่แปลกตาจากคนอื่น ก็มีคนสนใจมาถามว่า กูKult คืออะไร คนที่ถามก็ไม่ได้มีแต่เด็กรุ่นใหม่หรอกนะ คนมีอายุที่ไม่ค่อยเล่นเฟซบุ๊กเขาก็ไม่รู้จัก ผมก็เล่าให้เขาฟังไป บางคนเขาก็ซื้อเสื้อผมแต่ก็ขายไม่ได้มาก"
 
"พอถึงการชุมนุม 19 กันยา (19กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร) ผมก็ไปกับเขาด้วย ตอนนั้นผมก็คิดว่าสนามหลวงครั้งหนึ่งเคยเป็นที่พักผ่อนของประชาชนก็เลยเอาว่าวไปเล่น แล้วว่าวของผมมันก็จะมีสติกเกอร์ กูKult ติดไว้ด้วย แล้วเพจ กูKult ก็ดันโพสต์ว่าจะมีคนไปเล่นว่าวที่สนามหลวง พอเห็นผมเล่นว่าติดสติกเกอร์เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบที่ปะปนอยู่ในพื้นที่วันนั้นเริ่มตามตัวผม คงคิดว่าผมเป็นแอดมินหรือเกี่ยวข้องกับเพจ ผมมารู้ก็เพราะตอนโดนจับเขาเอาภาพมาโชว์ปรากฎว่ามีภาพผมทั้งตอนผมเล่นว่าว ตอนแจกสติกเกอร์ แปลว่าเขาตามผมแบบละเอียดมาก"
 
"ตอนที่เขามาจับผมเมื่อวันที่ 21 กันยายน ผมเข้าใจว่าเขามาเพราะเรื่องสติกเกอร์ที่สนามหลวง แต่ที่ไหนได้เขาต้องการเล่นงานผมเรื่องเพจ เหมือนเขาเชื่อไปแล้วว่าผมเป็นแอดมินของเพจ กูKult เพราะผมทำของขายแล้วก็เคยแชร์โพสต์ของเพจ ก็เลยพยายามจะโยงผมเป็นพวกขบวนการใต้ดินอะไรสักอย่าง ทั้งๆ ที่ผมเองเวลาติดต่อ กูKult ก็ได้แต่ทักแชทไปทางหลังบ้าน (แมสเซนเจอร์) เหมือนแฟนเพจคนอื่นๆ เท่าที่ผมเข้าใจดูเหมือนเจ้าหน้าที่จะมองว่าเพจ กูKult เป็นพวกสมาคมลับแบบกลุ่มสหพันธ์รัฐไทยอะไรแบบนั้น ถึงแม้ตัวผมจะไม่ใช่แอดมิน แต่เพจกูKult มันก็เป็นแค่เพจเสียดสีการเมืองเพจนึงที่เปิดๆ ปิดๆ แล้วก็ไม่รู้ว่าใครเป็นแอดมิน แต่ไปๆ มาๆ ก็กลายเป็นตำรวจเชื่อว่าผมเป็นแอดมินแล้วดำเนินคดีผมอีกสองคดีรวมกับคดีสติกเกอร์เป็นสามคดี"
 
 
อนาคตที่จมดิ่ง
 
"วันที่ผมถูกจับผมอยู่กับหลานที่เพิ่งกลับมาจากมหาวิทยาลัย ตอนนั้นคนในครอบครัวคนอื่นๆ ไปงานศพญาติที่ต่างจังหวัดกันหมด จู่ๆ ก็มีตำรวจบุกมาที่บ้านผม แสดงหมายค้นของศาลอาญาให้ผมดูแล้วก็ทำการยึดข้าวของในบ้านผมซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์เทคโนโลยี หลานผมโดนยึดโทรศัพท์กับคอมไป ส่วนผมโดนยึดมือถือ พวกฮาร์ดไดร์ฟหรืออะไรก็ตามที่บันทึกข้อมูลได้เขาเอาไปหมด กระทั่งกล้องวงจรปิดเขาก็เอาไปก็ไม่รู้เอาไปทำไมเหมือนกัน"
 
"หลังถูกตรวจค้นเสร็จเขาก็เอาตัวผมไปที่ ปอท. (กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี) ญาติผมรู้เรื่องผมโดนจับก็รีบเดินทางจากงานศพที่ต่างจังหวัดมาหาผมที่ ปอท. ตอนอยู่ด้วยกันต่อหน้าตำรวจที่บ้านผมเขาก็คุยเหมือนเข้าใจ แต่พอกลับบ้านเท่านั้นแหละ อีกเรื่องเลย โดยเฉพาะแม่ของหลานที่ถูกยึดคอม เขาเป็นคนที่มีแนวคิดทางการเมืองตรงข้ามผมอยู่แล้วก็เลยไม่พอใจกัน หาว่าผมไปทำลูกเขาเดือดร้อน"
 
"เวลาผ่านไปญาติผมบางส่วนก็ดูเหมือนจะเข้าใจผมมากขึ้น แต่บางทีเขาก็ยังแอบห้ามโน่นห้ามนี่ผม เขาบอกว่าห้ามเพราะหวังดีแต่ผมก็พอจะดูออกว่าเขาห้ามเพราะกลัว คือบ้านผมนี่เรียกได้ว่าเป็นอินโทเวิร์ตทั้งบ้าน ชีวิตแต่ละวันคือตื่น ไปทำงาน กลับบ้านนอนวนลูปไป ผมก็พอเข้าใจว่าเขาคงไม่เข้าใจในสิ่งที่ผมทำอยู่หรอก"
 
"ปัญหาที่มีกับคนที่บ้านหลังถูกดำเนินคดีก็เรื่องหนึ่ง เรื่องการประกอบอาชีพของผมก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เกิดจากการถูกดำเนินคดี"
 
"หลังเรียนจบ ผมเคยไปสมัครเป็นครูติวเตอร์ที่สถาบันแห่งหนึ่ง ตอนที่ผมไปสมัครมันเป็นช่วง กปปส. ปิดเมือง เรียกร้องการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง พอถึงวันเลือกตั้งผมก็ไปบอกหัวหน้างานว่าผมจะขอเข้างานเลทนิดนึงเพราะต้องไปเลือกตั้งก่อน แล้วปรากฎว่าเขาเป็นพวกเอาปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ไปๆ มาๆ ด้วยสถานภาพทางอำนาจที่ต่ำกว่าผมก็ยอมไม่ไปใช้สิทธิ แต่ถึงอย่างนั้นการเปิดเผยจุดยืนทางการเมืองก็น่าจะมีผลอยู่บ้างต่อการประเมินการทำงานของผม ผมเชื่อแบบนั้นนะ สุดท้ายพอครบ 3 เดือนผมก็ไม่ผ่านโปร เขาบอกว่าผมดูแลเด็กไม่ได้ แต่ผมคิดว่าจุดยืนทางการเมืองของผมน่าจะมีส่วนต่อการประเมินอยู่พอสมควร เพราะหลังเขารู้จุดยืนทางการเมืองของผมท่าทีของเขาก็ดูจะเปลี่ยนไป"
 
"พอตกงาน สิ่งที่ผมพอจะทำได้ก็คือเปิดสอนพิเศษแบบฟรีแลนซ์ ทีนี้การสอนแบบฟรีแลนซ์ส่วนใหญ่เขาจะสอนแบบต่อเนื่องตั้งแต่ ม.4 จนเด็กจบ แต่ตัวผมพอมาโดนคดี ก็ไม่รู้เลยว่าจะถูกเอาตัวไปขังคุกระหว่างการพิจารณาคดีตอนไหน แล้วช่วงแรกหลังถูกจับผมก็ต้องวนเวียนขึ้น สน. ไปศาล อยู่บ่อยๆ ไปๆ มาๆ เลยหยุดสอนไปหกเดือน แล้วช่วงนี้เศรษฐกิจไม่ดีก็ยิ่งหาเด็กสอนยาก ตอนนี้ผมมีรายได้แค่เดือนละประมาณสี่ถึงห้าพันบาทเท่านั้นก็ต้องอยู่อย่างประหยัดไม่จำเป็นก็ไม่ออกไปไหน" 
 
"อีกเรื่องที่ผมรู้สึกแย่คือการถูกติดตาม จริงๆ แล้วก่อนหน้านี้ผมเป็นคนเงียบๆ ไม่ได้อยากให้เรื่องตัวเองเป็นประเด็น แต่ที่ผมตัดสินใจออกมาพูดเรื่องตัวเองให้เป็นที่รับรู้ของคน เป็นเพราะผมถูกติดตาม บ้านผมเป็นซอยตัน เมื่อก่อนมันก็จะมีแค่แมสเซนเจอร์หรือรถขายของเข้ามา แต่หลังๆ มีคนแปลกหน้าเข้ามาบ่อยๆ จะว่าแมสเซนเจอร์ก็ไม่ใช่เพราะคนพวกนี้ขี่รถเข้ามาจอดแถวหน้าบ้านผมเฉยๆ ไม่ได้มีของมาส่ง บางทีดูก็เป็นคนหัวเกรียนๆ คนแปลกหน้าพวกนี้เริ่มเข้ามาหลังจากผมถูกจับผมเลยรู้สึกไม่ค่อยปลอดภัย จริงๆ เมื่อก่อนบ้านผมมีกล้องวงจรปิดแต่วันที่ถูกจับตำรวจเอาไปด้วยตอนนี้ก็เลยไม่มีอะไรบันทึกภาพพวกคนแปลกหน้าไว้เป็นหลักฐาน"
 
ความฝันที่คงไม่เห็นฝั่ง
 
แม้จะเรียนสายวิทยาศาสตร์ด้านชีวะ แต่นรินทร์เพิ่งมาค้นพบหลังเรียนจบว่าจริงๆ แล้วสิ่งที่เขาสนใจจริงๆ คือตัวเลขและวิชาคณิตศาสตร์ และตัวเขาเองก็ใช้ความรู้ด้านคณิตศาสตร์หาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นติวเตอร์ นรินทร์เคยมีความฝันว่าเขาอยากจะเรียนต่อด้านคณิตศาสตร์และไปทำงานวิจัยหรือทำงานเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยแต่มาถึงวันนี้ความฝันก็ดูจะเป็นจริงได้ยาก
 
"ผมเพิ่งมาค้นพบว่าตัวเองชอบคณิตศาสตร์หรือตัวเลขก็หลังเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว แต่ตอนนั้นตัวผมเรียนโดยกู้ กยศ. ถ้าจะเลิกเรียนแล้วไปแอดมิดชั่นใหม่ผมก็กลัวว่าจะมีผลกับเงินกู้ อีกอย่างคนสมัยนั้นก็มีทัศนคติที่ไม่ดีกับการซิ่วไปเรียนใหม่ซึ่งตอนนี้เป็นเรื่องปกติไปแล้ว ผมก็เลยยอมทนเรียนสาขาที่ตัวเองไม่ได้ชอบจนจบ"
 
"หลังจบปีสี่ ผมตัดสินใจสมัครเรียนปริญญาตรีใหม่ในสาขาคณิตศาสตร์ ถึงแม้ว่าสาขาที่ผมเรียนจบมาจะไปต่อโทด้านคณิตศาสตร์มันก็ได้อยู่ แต่พื้นจะไม่แน่น ผมเลยคิดว่าน่าจะดีกว่าถ้ายอมเรียนใหม่ แต่ปรากฎว่าเรียนได้เทอมเดียวก็ต้องออกเพราะปัญหาเรื่องเงินแล้วยิ่งมาโดนคดีแบบนี้ก็คงยากที่จะกลับไปทางนั้นแล้ว" 
 
"ถ้าถามว่าคณิตศาสตร์มันเชื่อมโยงกับการเมืองไหม ผมคิดว่าเราก็อาจจะลองใช้กรอบการวิเคราะห์แบบคณิตศาสตร์ไปจับกับปรากฎการณ์ทางการเมืองได้นะ อย่างเรื่องเซ็ตที่มีการจัดจำแนกประเภท เราก็อาจมาใช้มองว่าแนวคิดทางการเมืองฝ่ายซ้ายฝ่ายขวามมันก็มีเฉดมีสเปคตรัมของมัน จะแยกกันยังไงและแต่ละอันมันมีส่วนคล้ายคลึงหรือเชื่อมโยงอินเตอร์เซคกันไหม"
 
"คณิตศาสตร์มันเป็นการมองโครงสร้างแบบนามธรรม ถ้าเราจะเอามามองกับโครงสร้างทางสังคม เช่นว่ามนุษย์เป็นสมาชิกของเซตหนึ่งๆ ซึ่งอาจเป็นประเทศ แต่ละหน่วยมีฟังก์ชันมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างไรแล้วปฏิสัมพันธ์ฟังก์ชันนั้นมันจะนำไปสู่ผลลลัพธ์อะไรผมว่ามันก็พอมองได้คือใช้วิธีวิเคราะห์แบบคณิตศาสตร์แต่แทนค่าตัวเลขเป็นมนุษย์อะไรแบบนี้"
 
 
 
 
 
 
ชนิดบทความ: