หนึ่งปีเยาวชนปลดแอก หลากเหตุผลสลายการชุมนุม พื้นที่กษัตริย์-ขบวนเสด็จ-โควิด 19

เส้นทางการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา หนึ่งในการชุมนุมครั้งสำคัญที่จุดชนวนการเคลื่อนไหวให้มีชีวิตชีวา คือ การชุมนุมในวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 เยาวชนปลดแอก นำโดยทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี นัดรวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยมีผู้เข้าร่วมไม่น้อยกว่า 2,000 คน การกล่าวถึงเลขหลักพันในวันนี้อาจให้ความรู้สึกว่าไม่มากมาย แต่ย้อนกลับไปวันดังกล่าวคนจำนวนเท่านี้มากพอที่จะสร้างความหวังให้แก่ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่ซบเซายาวนานมาหลายปีภายใต้ระบอบ คสช. 

ข้อเรียกร้องของการชุมนุมคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ, ยุบสภาและหยุดคุกคามประชาชน ซึ่งมาจนถึงวันนี้ไม่มีข้อเรียกร้องใดที่สำเร็จเลย อย่างไรก็ตามการชุมนุมได้ก่อร่างสร้างตัวขยายแนวร่วมเคลื่อนไหวทั้งจำนวนคนและประเด็นในการต่อสู้  เพดานสูงสุดคือ การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่เริ่มด้วยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ซึ่งต่อมาทัตเทพ ในนามของคณะประชาชนปลดแอกได้ยอมรับข้อเรียกร้องดังกล่าวในฐานะหนึ่งความฝันเพิ่มเติมจากสามข้อเรียกร้อง นอกจากนี้ยังควบรวมข้อเรียกร้องทางสังคมไม่ว่าจะประเด็นแรงงาน ทรัพยากรธรรมชาติ กระบวนการยุติธรรมและความเท่าเทียมทางเพศเข้ามาในการเคลื่อนไหว

ระหว่างการต่อสู้ขบวนการเคลื่อนไหวที่ออกดอกผลมาจากการชุมนุมในวันดังกล่าวและก่อนหน้านั้นก็ต้องเผชิญกับความยากลำบาก ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการคุกคามนอกกฎหมาย, การดำเนินคดีและการเผชิญความรุนแรงของรัฐในการสลายการชุมนุม

หนึ่งปีผ่านมารัฐใช้กำลังในการสลายการชุมนุมไปแล้วไม่น้อยกว่า 20 ครั้ง การสลายการชุมนุมเกิดขึ้นครั้งแรกในเดือนตุลาคม 2563 อันเป็นช่วงที่การเรียกร้องเรื่องสถาบันกษัตริย์ไต่ระดับสูงและสาธารณะต่างถกเถียงประเด็นนี้อย่างเปิดเผย ในจำนวนนี้มีห้าครั้งที่การสลายการชุมนุมเกี่ยวพันกับพื้นที่ของสถาบันกษัตริย์และขบวนเสด็จ มีหกครั้งเป็นการสลายการชุมนุมที่อ้างการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19  ส่วนอีกหกครั้งเป็นการอ้างการฝ่าแนวสิ่งกีดขวางไปที่หน้ารัฐสภา, กีดขวางทางจราจรและเหตุที่ไม่ชัดเจนตามลำดับ ดังนี้

  • 13 ตุลาคม 2563 สลายการชุมนุมราษฎรอีสาน จากการไม่แจ้งการชุมนุมและวันสวรรคตรัชกาลที่ 9
  • 15 ตุลาคม 2563 สลายการชุมนุมราษฎรจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปทำเนียบรัฐบาล จากเหตุขบวนเสด็จผ่านม็อบที่แยกพาณิชยการ
  • 16 ตุลาคม 2563 สลายการชุมนุมคณะประชาชนปลดแอกที่แยกปทุมวัน อ้างผู้ชุมนุมเข้าใกล้วังสระปทุม
  • 17 พฤศจิกายน 2563 สลายการชุมนุมราษฎรที่รัฐสภา อ้างเหตุผู้ชุมนุมฝ่าแนวกั้นเข้าไปชุมนุมด้านหน้ารัฐสภา
  • 31 ธันวาคม 2563 สลายการชุมนุม We Volunteer ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ ไม่ระบุสาเหตุชัดเจน
  • 4-5 มกราคม 2564 จับกุมหมอบูรณ์ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล 2 ครั้ง อ้างกีดขวางจราจรฯและพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
  • 16 มกราคม 2564 สลายการชุมนุม 3 ครั้ง อนุสาวรีย์ชัยฯ-สน.พญาไท-สามย่าน อ้างพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
  • 1 กุมภาพันธ์ 2564 สลายการชุมนุม #SaveMyanmar  ของ We Volunteer  อ้างพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
  • 7 กุมภาพันธ์ 2564 สลายการชุมนุม #SaveMyanmar อ้างว่า หมดเวลาทำกิจกรรม
  • 13 กุมภาพันธ์ 2454 สลายการชุมนุมราษฎร หลังผู้ชุมนุมไม่ออกนอกพื้นที่ตามเวลากำหนด
  • 28 กุมภาพันธ์ 2564 สลายการชุมนุมรีเด็ม อ้างผู้ชุมนุมเลื่อนเปิดแนวกั้นนอกเขตพระราชฐาน
  • 20 มีนาคม 2564 สลายการชุมนุมรีเด็ม อ้างผู้ชุมนุมเลื่อนเปิดแนวกั้นนอกเขตพระราชฐาน
  • 28 มีนาคม 2564 สลายการชุมนุมทะลุฟ้า อ้าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
  • 2 พฤษภาคม 2564 สลายการชุมนุมหลังจบชุมนุมรีเด็ม ไม่ระบุสาเหตุชัดเจน
  • 18 กรกฎาคม 2564 สลายการชุมนุมของเยาวชนปลดแอก อ้างผู้ชุมนุมฝ่าแนวกั้นเพื่อไปทำเนียบรัฐบาล
  • 1 สิงหาคม 2564 สลายการชุมนุมหลังจบคาร์ม็อบสมบัติทัวร์ ไม่ระบุสาเหตุชัดเจน
  • 2 สิงหาคม 2564 สลายการชุมนุมทะลุฟ้า อ้างกีดขวางทางจราจร

ห้าครั้งอ้างพื้นที่กษัตริย์และขบวนเสด็จ

การสลายการชุมนุมห้าครั้งเป็นเหตุการณ์ที่มีความเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ เช่น ขบวนเสด็จและพื้นที่เขตพระราชฐาน แบ่งเป็นสามครั้งแรกในระหว่างวันที่ 13, 15-16 ตุลาคม 2563 สืบเนื่องมาจากคณะราษฎร(ชื่อในขณะนั้น) ซึ่งเป็นการรวมตัวของนักกิจกรรมหลากหลายเช่น อานนท์ นำภา, เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์, ไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอก และไผ่-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา อันเป็นการพัฒนาวงการเคลื่อนไหวที่สืบเนื่องมาจากคลื่นการชุมนุมเยาวชนปลดแอก และอีกสองครั้งเป็นการชุมนุมของรีเด็มในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ และ 20 มีนาคม 2564  ซึ่งเป็นชื่อกลุ่มเคลื่อนไหวใหม่โดยใช้พื้นที่ออนไลน์เดิมของเยาวชนปลดแอกในการสื่อสาร 

ในการสลายการชุมนุมแต่ละครั้งยังคงมีความคลุมเครือของเหตุการณ์ดังนี้

กรณีของคณะราษฎรอีสานวันที่ 13 ตุลาคม 2563 บริเวณแมคโดนัลด์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ขณะนั้นข้อกำหนดฉบับที่ 13 ที่ออกตามความ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ใช้บังคับให้ใช้สิทธิการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญและพ.ร.บ.ชุมนุมฯ  การชุมนุมดังกล่าวเป็นการจัดชุมนุมรอวันจริงในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ซึ่งไม่ทราบมาก่อนว่า วันดังกล่าวจะมีการเสด็จราชดำเนินผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีเพียงข่าวสารการเสด็จฯ ในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 เท่านั้น ทั้งเริ่มแรกตำรวจอ้างเรื่องการกีดขวางทางจราจรและเปลี่ยนเป็นวันสวรรคตของรัชกาลที่เก้า จากนั้นเมื่อสลายการชุมนุมเสร็จสิ้นก็อ้างว่า การกระทำของผู้ชุมนุมเป็นการฝ่าฝืนพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไม่แจ้งการชุมนุมล่วงหน้า 24 ชั่วโมง หากแต่ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มีขั้นตอนให้แจ้งแก้ไขการชุมนุมที่ไม่ถูกต้องและหากจะสลายการชุมนุม ตำรวจต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด 

กรณีคณะราษฎรวันที่ 15 ตุลาคม 2563 บริเวณทำเนียบรัฐบาลเป็นผลสืบเนื่องมาจากวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ขบวนเสด็จผ่านบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ โดยไม่มีใครทราบมาก่อนว่าจะผ่านบริเวณดังกล่าว ทั้งขบวนของคณะราษฎรยังไม่ได้มีพฤติการณ์ที่ต้องการเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ เลี่ยงเคลื่อนขบวนออกจากราชดำเนินเมื่อขบวนพร้อมในทันทีและยินยอมรอในจุดเหนี่ยวรั้งของตำรวจบริเวณก่อนเข้าแยกนางเลิ้งเป็นเวลาหลายชั่วโมง แต่มีมวลชนของคณะราษฎรและฝ่ายที่รอรับเสด็จบางส่วนเล็ดลอดไปที่ถนนพิษณุโลกล่วงหน้าได้ ทำให้เผชิญกับเหตุการณ์ขบวนเสด็จอันเป็นเหตุในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานครและการสลายการชุมนุมในที่สุด

กรณีของคณะประชาชนปลดแอกวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ที่แยกปทุมวัน ผู้ชุมนุมถูกบีบให้ออกจากแยกราชประสงค์อันเป็นพื้นที่นัดหมายเดิมไปที่แยกปทุมวัน โดยพื้นที่ชุมนุมใช้พื้นที่ใต้แยกปทุมวันและตัดท้ายขบวนมาทางแยกสามย่าน ต่อมาในการสลายการชุมนุมตำรวจอ้างการชุมนุมในสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงและอ้างเหตุที่ต้องใช้แก๊สน้ำตาโดยไม่แจ้งเตือนว่า ผู้ชุมุนมเข้าใกล้วังสระปทุม ทั้งที่ในวันดังกล่าวเป็นตำรวจเองที่บีบล้อมพื้นที่ราชประสงค์ จนผู้ชุมนุมต้องเปลี่ยนสถานที่

กรณีของรีเด็มวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ที่กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ราบ 1) ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปที่ราบ 1 ซึ่งเป็นที่พักของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการประกาศเตือนมีเพียงการประกาศที่เกี่ยวกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่มีการกล่าวถึงเขตพระราชฐาน เมื่อไปถึงราบ 1 แล้ว สื่อรายงานว่า ทหารภายในประกาศว่า ราบ 1 เป็นเขตพระราชฐาน แต่เสียงไม่ได้กระจายรอบบริเวณ จากนั้นนำไปสู่การสลายการชุมนุม ประชาไทรายงานว่า เดิมทีราบ 1 เป็นที่ราชพัสดุอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ และถูกเพิกถอนในวันที่ 5 กรกฎาคม 2562  ทั้งยังไม่มีข้อมูลอย่างเป็นทางการที่แน่ชัดว่า ที่ดินราบ 1 ถูกโอนกรรมสิทธิ์ไปยังหน่วยงานใดแล้ว มีเพียงข้อมูลของวาสนา นาน่วมที่โพสต์ผ่านโซเชียลมีเดียว่า ราบ 1 คือ เขตพระราชฐาน

กรณีของรีเด็มวันที่ 20 มีนาคม 2564 ที่สนามหลวง ผู้ชุมนุมบางส่วนเลื่อนเปิดแนวตู้คอนเทนเนอร์ที่ด้านหน้าศาลฎีกา ซึ่งห่างจากขอบรัศมี 150 เมตรของพระบรมหาราชวังเป็นระยะ 220 เมตร หลังจากนั้นตำรวจเริ่มขยับกำลังสลายการชุมนุม แม้ว่า ผู้ชุมนุมจำนวนมากจะขยับพื้นที่เข้าไปภายในสนามหลวงที่เป็นพื้นที่ที่ตำรวจประกาศให้มีการจัดกิจกรรมจนลุล่วงได้และผู้ชุมนุมบางส่วนหน้าแนวกั้นนำแผงเหล็กมาปิดแนวแล้ว แต่ไม่สามารถยับยั้งหรือเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจสลายการชุมนุมของตำรวจได้  นอกจากนี้การประกาศของตำรวจยังระบุว่า ต้องการรักษาแนวสิ่งกีดขวางไว้เท่านั้น แต่เมื่อรุกไล่ผู้ชุมนุมให้พ้นจากแนวแล้วก็ไม่มีท่าทีที่จะหยุดเพื่อรักษาแนวดังกล่าวไว้ การเปิดแนวสิ่งกีดขวางเคยเกิดขึ้นครั้งหนึ่งที่หน้าราบ 11 ซึ่งวาสนาได้ระบุว่า เป็นเขตพระราชฐาน แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้นำมาใช้เป็นเงื่อนไขในการสลายการชุมนุม

จุดแตกต่างของการสลายการชุมนุมของคณะราษฎรในปี 2563 และรีเด็มในปี 2564 คือ วิธีการเลือกพื้นที่จัดชุมนุม ในปี 2563 ช่วงเดือนตุลาคมยังเป็นช่วงที่คณะราษฎรเคลื่อนไหวในพื้นที่ประวัติศาสตร์และรวมตัวกันง่ายอย่างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย, แยกราชประสงค์และแยกปทุมวัน  และต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2563 ราษฎรจึงเริ่มใช้กลยุทธ์เปิดแผลตามสถานที่สำคัญของสถาบันกษัตริย์ เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์และราบ 11 หลังการใช้กลยุทธ์นี้ราษฎรยังไม่เคยถูกสลายการชุมนุมเพราะกลยุทธ์ดังกล่าว เนื่องด้วยเป็นช่วงหลังการชุมนุมแบบดาวกระจายจำนวนมากทั่วประเทศ ขณะที่กรณีของรีเด็มเป็นการเคลื่อนไหวในปี 2564 ที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากกลยุทธ์เปิดแผลและเลือกที่จะไปตามสถานที่ที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์หรือใกล้กับเขตพระราชฐาน คือ ราบ 1 เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 และสนามหลวงเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2564 แต่กลับนำไปสู่การสลายการชุมนุมโดยอ้างพื้นที่เขตพระราชฐานทั้ง 2 ครั้ง

หกครั้งอ้างโควิด แม้ชุมนุมไม่แออัด มีมาตรการก็อ้างเป็นเหตุสลายชุมนุมได้

25 มีนาคม 2563 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เหตุจากการแพร่ระบาดของโควิด 19  และออกข้อกำหนดฉบับที่หนึ่ง “ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย” สถานการณ์การแพร่ระบาดดีขึ้นจึงเริ่มผ่อนคลายในช่วงปลายเดือนเมษายน 2563 ตามมาด้วยวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 พลเอกประยุทธ์ออกข้อกำหนดฉบับที่ 13 ให้ใช้สิทธิการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ  การชุมนุมของเยาวชนปลดแอกเกิดขึ้นในช่วงคาบเกี่ยวก่อนการออกข้อกำหนดฉบับที่ 13 อย่างไรก็ตามการชุมนุมดังกล่าวเกิดขึ้นในพื้นที่โล่ง บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

การชุมนุมระลอกดังกล่าวเติบโตมาพร้อมกับระดับการพูดถึงสถาบันกษัตริย์ในพื้นที่สาธารณะ ตัวแปรที่สำคัญอีกหนึ่งอย่างคือ การเกิดขึ้นของกรุ๊ปเฟซบุ๊ก รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลสหรือตลาดหลวง นำไปสู่การดึงพื้นที่ออนไลน์สู่พื้นที่ชุมนุมจริงด้วยป้ายไวนิลตลาดหลวง ระหว่างนั้นแม้ไม่มีการสลายการชุมนุมแต่มีกระบวนการนอกกฎหมายเกิดขึ้นระหว่างทาง เช่น การเยี่ยมบ้านและการต่อรองไม่ให้ชูป้ายตลาดหลวงหรือข้อความที่เกี่ยวกับกษัตริย์ รวมไปถึงการจับกุมและกล่าวหาคดีตามมา 

การชุมนุมยังคงเดินหน้าไปได้จนมีเหตุการสลายการชุมนุมสามครั้งแรกในเดือนตุลาคม 2563 อันเป็นเหตุที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ จนนำไปสู่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและจับกุมแกนนำหลายคน เช่น อานนท์ นำภา, เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ และ รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แต่ประกาศดังกล่าวไม่สามารถหยุดยั้งการชุมนุมและตามมาด้วยการชุมนุมดาวกระจายทั่วประเทศ เมื่อไม่อาจยับยั้งความโกรธของประชาชนได้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจึงเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมถอยคนละก้าวและยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ แม้จะขอร้องให้ถอยคนก้าว แต่การจับกุมประชาชนและคดีความยังดำเนินต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามการชุมนุมหลังจากนั้นยังคงเดินหน้าต่อไปได้ มีการสลายการชุมนุมนที่หน้ารัฐสภาในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 แต่ไม่ใช่ด้วยเหตุเกี่ยวกับโควิด-19 

จนกระทั่งในเดือนธันวาคม 2563 มีการแพร่ระบาดที่จังหวัดสมุทรสาคร นำไปสู่การออกข้อกำหนดฉบับที่ 5 “ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย” เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2563 และข้อกำหนดฉบับที่ 16 “ห้ามการจัดกิจกรรมในเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากและมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้โดยง่าย” เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2564 

เวลาดังกล่าวเป็นเป็นการแพร่ระบาดระลอกที่สอง กรุงเทพมหานครรายงานว่า คลัสเตอร์ของผู้ติดเชื้อระลอกใหม่ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2563 ถึงวันที่ 13 มกราคม 2564 เป็นการแพร่ระบาดที่เชื่อมโยงกับบ่อนการพนันในภาคตะวันออก, สนามชนไก่ในจังหวัดอ่างทอง และตลาดกุ้งในจังหวัดสมุทรสาคร ขณะที่ผู้ติดเชื้อใหม่หลังจากนั้นเกิดจากการสัมผัสผู้ติดเชื้อยืนยันก่อนหน้า อย่างไรก็ตามแม้ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์จะเห็นได้ว่า การชุมนุมแต่ละครั้งไม่ใช่จุดเริ่มต้นในการแพร่ระบาดและจัดขึ้นในที่โล่งแจ้งที่มีความเป็นไปได้ในการติดเชื้อต่ำกว่าในที่แออัดมาก แต่รัฐเลือกสลายการชุมนุมโดยอ้างข้อกำหนดที่ออกตามความพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อการป้องกันโควิด-19

สลายการชุมนุมรอบแรกอ้างกีดขวางทางสาธารณะ รอบสองอ้างโควิด 19

วันที่ 5 มกราคม 2564 ตำรวจ สน.ดุสิต จับกุมบูรณ์ อารยพล กลุ่มขอคืนไม่ได้ขอทานกับพวกรวมสี่คน ฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ระหว่างปักหลักเรียกร้องให้รัฐนำเงินบำนาญชราภาพมาชดเชยให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ก่อนหน้านี้วันที่ 4 มกราคม 2564 บูรณ์กับเพื่อนรวมสองคนถูกตำรวจ สน.ดุสิต จับกุมในข้อหากีดขวางทางสาธารณะ หลังได้รับการปล่อยตัวบูรณ์กลับมาปักหลักใหม่ในช่วงเย็น ระหว่างนั้นตำรวจ สน.นางเลิ้ง มาแจ้งประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง ห้ามไม่ให้ชุมนุมในสถานที่แออัด จากนั้นวันที่ 5 มกราคม 2564 จึงทำการจับกุมอีกครั้งและกล่าวหาคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

เห็นได้ว่า การบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่มีการไต่ระดับขึ้นจากข้อหาและโทษปรับกีดขวางทางสาธารณะ เป็นข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แทน ขณะที่การชุมนุมของกลุ่มขอคืนไม่ได้ขอทานเป็นการชุมนุมขนาดเล็กและอยู่ในพื้นที่โล่งแจ้ง

สลายการชุมนุมการ์ดปลดแอกสามครั้งในหนึ่งวัน

วันที่ 16 มกราคม 2564 ที่เกาะพญาไท การ์ดปลดแอกจัดกิจกรรมเขียนข้อความเรื่องมาตรา 112  ตำรวจอ้างเพียงประกาศและข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 15 ที่ระบุว่า ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ข้อห้ามการชุมนุมตามกฎหมายจะต้องมีองค์ประกอบสำคัญ คือ การชุมนุมในสถานที่แออัด ซึ่งผู้ชุมนุมในกิจกรรมดังกล่าวมีประมาณ 50 คน และการสลายการชุมนุมทำโดยตำรวจที่ยืนเรียงแถวติดกันทั้งบริเวณเกาะพญาไทและหน้าป้ายรถเมล์ไม่น้อยกว่า 200 นาย 

ตำรวจยึดป้ายผ้าและจับกุมผู้ชุมนุมไปไม่น้อยกว่าสองคน ก่อนจะปิดล้อมพื้นที่กิจกรรม และในการจับกุมมีการลากตัวผู้ชุมนุมรายหนึ่งอีกด้วย หลังตำรวจเข้าสลายการชุมนุมและไม่แน่ชัดว่า จะนำตัวผู้ชุมนุมทั้งสองคนที่ถูกจับกุมไปที่ใด ผู้ชุมนุมจึงไปรวมตัวกันใหม่ที่ สน.พญาไท เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ชุมนุม แต่เมื่อไปถึงตำรวจควบคุมฝูงชนเตรียมตั้งแถวล้อมและประกาศให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมย้ายสถานที่ไปชุมนุมบริเวณสามย่าน แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็เข้าสลายการชุมนุมอีกครั้ง และจับกุมประชาชนในที่เกิดเหตุไปไม่น้อยกว่าสี่คน

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า ตำรวจเร่งรัดใช้ความรุนแรงเพื่อเข้าจับกุมและสลายการชุมนุมครั้งดังกล่าว แม้การชุมนุมจะไม่มีลักษณะรุนแรง และยิ่งสะท้อนถึงแนวนโยบายของรัฐที่ให้เด็ดขาดกับผู้ชุมนุม ตามคำให้สัมภาษณ์ของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ต่อเหตุการณ์ที่นักกิจกรรมนำธงแดง 112 ขึ้นแทนธงชาติที่ สภ.คลองหลวง ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2564 ว่า “หากจำเป็นต้องใช้กำลังหรือบังคับใช้กฎหมายก็ต้องทำ อย่าลังเล”

สลายการชุมนุมต้านรัฐประหารเมียนมา หน้าสถานทูตเมียนมา

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 14.00 น. ที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทย มีประชาชนชาวเมียนมาเดินทางมารวมตัวกันเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อต่อต้านการก่อรัฐประหารที่เกิดขึ้นในเมียนมา พร้อมกับมีกลุ่ม We Volunteer นำโดย โตโต้-ปิยะรัฐ จงเทพ นัดทำกิจกรรมเพื่อแสดงจุดยืนร่วมกับประชาชนเมียนมา และมีกิจกรรมอ่านแถลงการณ์นำโดย โตโต้-ปิยรัฐ เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ และรุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล 

เวลา 15.45 น. หลังการแถลงการณ์ ปิยะรัฐเห็นว่า ยังมีมวลชนทยอยมาต่อเนื่องจึงตัดสินใจว่า จะทิ้งทีมรักษาความปลอดภัยและรถเครื่องเสียงไว้ให้มวลชนที่ทยอยมา บรรยากาศการชุมนุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ประชาชนลงไปอยู่บนพื้นผิวการจราจรบ้าง ต่อมาเวลา 16.16 น. ตำรวจประกาศให้ยุติการชุมนุม และเวลา 17.00 น. ตำรวจนำกำลังชุดควบคุมฝูงชนตั้งแถวเข้าหาผู้ชุมนุม จนเกิดการปะทะ ขว้างปาสิ่งของที่คว้าได้ในบริเวณดังกล่าวใส่ตำรวจ หลังจากนั้นพบว่า มีการจับกุมประชาชนไปไม่น้อยกว่าสี่คน มีรายงานว่า ก่อนหน้าการสลายการชุมนุมตำรวจได้ประกาศข้อกำหนดเกี่ยวกับรวมตัวไม่น้อยกว่าสองครั้ง 

สลายการชุมนุมทะลุฟ้า อ้างพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แม้มีมาตรการป้องกันโรค

วันที่ 28 มีนาคม 2564  เวลา 05.57 น. ตำรวจควบคุมฝูงชนนำกำลังเข้าสลายการชุมนุม #หมู่บ้านทะลุฟ้าV2 ที่ถนนพระราม 5 ข้างศาลกรมหลวงชุมพรฯ โดยอ้างว่า ผู้ชุมนุมกระทำความผิดฐานฝ่าฝืนพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) และก่อนการสลายการชุมนุม ตำรวจได้ประกาศให้เวลาชาวหมู่บ้านเก็บของเพียงสามนาที หลังจากนั้นจึงเข้าคุมตัวบุคคลไม่น้อยกว่า 67 คน บางส่วนขึ้นรถผู้ต้องขังไปที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนภาคที่ 1 ปทุมธานี (ตชด.ภาค 1) ขณะที่พระสองรูปที่จำวัดภายในหมู่บ้านถูกพาไปบังคับลาสิกขาที่วัดเบญจมบพิตร ซึ่งการกระทำดังกล่าวนับว่าเป็นการใช้อำนาจรัฐเพื่อจำกัดอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพราะแม้จะอ้างเรื่องการป้องกันโรคระบาด แต่หมู่บ้านทะลุฟ้าก็มีการดำเนินการตามมาตรการของรัฐ อาทิ ให้คนสวมใส่หน้ากากอนามัย มีการตรวจวัดอุณหภูมิ ดังนั้น เหตุในการสลายการชุมนุมจึงไม่ชอบธรรมและไม่เป็นไปตามหลักความได้สัดส่วน

สลายการชุมนุมสองครั้งอ้างฝ่าแนวสิ่งกีดขวาง

วันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 สลายการชุมนุมราษฎรที่หน้ารัฐสภา อ้างเหตุผู้ชุมนุมฝ่าแนวสิ่งกีดขวางเข้ามาที่หน้ารัฐสภาและเมื่อฝ่าไปที่หน้ารัฐสภาได้ผู้ชุมุนมไม่ได้มีท่าทีที่จะเข้าไปในพื้นที่รัฐสภาแต่อย่างใด ก่อนประกาศยุติการชุมนุมและแยกย้าย

วันที่ 18 กรกฎาคม 2564 ขบวนเยาวชนปลดแอกเคลื่อนตัวจากราชดำเนินไปทำเนียบรัฐบาล และยืนยันที่จะเดินไปทางถนนราชดำเนินนอก แต่ไม่สามารถผ่านไปได้เนื่องจากตำรวจตั้งแนวที่แยกสะพานผ่านฟ้าลีลาศสองชั้นคือ บริเวณแยกสะผานผ่านฟ้าฯและบริเวณใกล้กับสำนักงานสปก. จากนั้นมีการประกาศเตือนให้ออกจากแนวและย้ำอย่างต่อเนื่องถึงการดำเนินการที่ได้สัดส่วน มวลชนยังยืนยันไปต่อเก็บลวดหนามชั้นแรก เวลา 15.38 น. เริ่มฉีดน้ำครั้งแรกโดยมีการเตือนก่อน ระหว่างนั้นมีผู้สื่อข่าวได้รับบาดเจ็บ เมื่อตรวจสอบแผลทีมพยาบาลยืนยันว่า เป็นบาดแผลจากกระสุนยาง ทั้งที่ขณะนั้นยังไม่มีการเตือนเรื่องกระสุนยาง

ตำรวจประกาศจะใช้แก๊สน้ำตา หากไม่หยุดฝ่าเข้ามาและเริ่มใช้แก๊สน้ำตาครั้งแรกเวลา 16.10 น. จากนั้นเวลา 16.11 น. ตำรวจประกาศว่า “ต่อไปเป็นการใช้กระสุนยาง” หนึ่งนาทีต่อมาตำรวจยิงกระสุนยางต่อเนื่อง เมื่อตำรวจใช้กระสุนยางหนักขึ้น บอย-ธัชพงศ์ แกดำประกาศเปลี่ยนเส้นทางไปทางถนนนครสวรรค์เข้าแยกนางเลิ้งแทน แต่ก็ยังไม่สามารถผ่านเข้าไปที่ทำเนียบรัฐบาลได้ เนื่องจากตำรวจตั้งแนวสิ่งกีดขวางอย่างแน่นหนามีลวดหนาม 2 ชั้นบริเวณพาณิชย์พระนคร และที่แนวศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์มีการใช้รถตู้ตำรวจ รถผู้ต้องขังใหญ่ขวางไว้ ด้านหลังมีรถฉีดน้ำและตู้คอนเทนเนอร์บนสะพานชมัยมรุเชฐ การ์ดพยายามที่จะฝ่าแนวที่ศาลกรมหลวงชุมพรฯ แต่เมื่อเข้าไปใกล้ ตำรวจจะยิงแก๊สน้ำตาและใช้น้ำสกัดเป็นระยะ ทำให้ไม่สามารถฝ่าเข้าไปได้ 

สลายการชุมนุมสองครั้งอ้างกีดขวางทางจราจร

วันที่ 4 มกราคม 2564 สลายการชุมนุมด้วยการจับกุมกลุ่มขอคืนไม่ได้ขอทานที่ปักหลักเรียกร้องเงินบำนาญชราภาพที่หน้าทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2563 สาเหตุของการสลายการชุมนุมไม่ได้ระบุชัดนัก แต่ภายหลังมีการกล่าวหาคดีกีดขวางทางสาธารณะแก่สมาชิกกลุ่มทั้งสองคน จึงอนุมานได้ว่า มาจากการที่ทั้งสองคนกีดขวางทางหน้าทำเนียบรัฐบาล

วันที่ 2 สิงหาคม 2564 เวลา 10.00 น. ทะลุฟ้านำโดยไผ่-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษานัดหมายรวมตัวกันที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ใกล้กับสโมสรตำรวจเพื่อติดตามตัวคนขับรถเครื่องเสียง 3 คนที่ถูกจับกุมเมื่อวานนี้หลังจบ #ม็อบ1สิงหา ต่อมาศาลแขวงดุสิตมีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวทั้งสามคน แต่ยังไม่มีการคืนทรัพย์สินที่ยึดไป อย่างเครื่องเสียง ซึ่งเป็นอุปกรณ์ทำมากิน ผู้ชุมนุมจึงปักหลักที่ด้านหน้าประตูทางเข้าเพื่อเรียกร้องให้ตำรวจคืนเครื่องเสียงหรือให้เข้าไปตรวจสอบ  ต่อมาถูกตำรวจนำกำลังเข้าสลายการชุมนุม โดยจับกุมไปทั้งสิ้น 32 คน ในจำนวนนี้มีเยาวชนหนึ่งคน

พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลกล่าวว่า ผู้ชุมนุมได้มีการปิดทางเข้าออกกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดและโรงพยาบาลสนาม รวมทั้งพยายามที่จะบุกเข้าไปในสถานที่ราชการ ทำการกดดันเจ้าหน้าที่ให้คืนรถของกลาง รวมทั้งผลักดันเจ้าหน้าที่ที่อยู่บริเวณนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องระงับยับยั้งเพื่อไม่ให้เกิดเหตุลุกลามบานปลาย จึงบังคับใช้กฎหมาย (สลายการชุมนุม) จากบันทึกภาพวิดีโอหลากหลายมุมเห็นว่า ขณะการสลายการชุมนุม ผู้ชุมนุมยังไม่ได้มีท่าทีจะบุกเข้าไปในกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ทั้งเงื่อนไขที่เรียกร้องคือ ไม่คืนหรือให้นำมาให้เห็น ให้ประชาชนตรวจสอบ เนื่องจากรถเครื่องเสียงและอุปกรณ์เป็นสิ่งที่ผู้ต้องหาทั้งสามคนในคดี #ม็อบ1สิงหา ใช้เลี้ยงชีพ 

ส่วนประเด็นเรื่องการกีดขวางจราจรบริเวณสถานที่ราชการนั้น ไผ่-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา แกนนำทะลุฟ้าได้กล่าวขอโทษต่อประชาชนที่สัญจรผ่านไปมาตั้งแต่ช่วงเช้าแล้ว ไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดเรื่องโรงพยาบาลสนาม นอกจากนี้จากปากคำของเจษฎา ศรีปลั่ง เครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรีกล่าวว่า เวลาดังกล่าวผู้ชุมนุมใส่สีแดงจุ่มนิ้วไปเขียนที่กำแพง มีการติดป้ายจึงคิดว่า เดี๋ยวอีกสักพักการชุมนุมคงจบแล้ว แต่อยู่ๆมีตำรวจชุดคุมฝูงชนเข้าทำการจับกุมทีมทะลุฟ้า รวมทั้งตัวเขาเองด้วย เขาระบุว่า เขาไม่ได้ยินเลยว่า ตำรวจมีการประกาศเรื่องการให้ยุติการชุมนุมหรือหากไม่เลิกจะทำการจับกุม

นอกจากการสลายการชุมนุมทั้ง 15 ครั้งที่กล่าวมาแล้วยังมีอีกห้าครั้งที่ไม่สามารถจัดหมวดหมู่ได้ดังนี้

  • ไม่มีสาเหตุแน่ชัด – วันที่ 31 ธันวาคม 2563 สลายการชุมนุมตลาดขายกุ้งของ We Volunteer ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ก่อนหน้านี้ทางกลุ่มนัดหมายขายกุ้งจากเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบที่สนามหลวง แต่ตำรวจไม่ให้ใช้สถานที่และจับกุมทีมงานบางส่วน จากนั้นทางกลุ่มยินยอมล่าถอยมาที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา มวลชนนัดหมายรวมตัวกัน (ครั้งนี้เริ่มนับว่า เป็นการชุมุนม) แต่ตำรวจได้ตั้งแนววิ่งไล่ทางกลุ่มอีกครั้งโดยไม่ทราบสาเหตุ ท้ายสุดจึงไปขายที่กองสลากเก่า
  • เปลี่ยนใจไม่ให้ชุมนุมตามสัญญาเดิม – วันที่ 7 มกราคม 2564 สลายการชุมนุม #Savemyanmar ที่หน้าสหประชาชาติ แรกเริ่มตำรวจตกลงให้ทำกิจกรรมได้เป็นเวลาสองชั่วโมงเริ่มตั้งแต่เวลา 14.00-16.00 น. ผู้ชุมนุมทยอยมามากขึ้นเรื่อยๆ ต่อมาเวลา 13.59 น. ตำรวจสั่งให้เลิกการชุมนุมระบุว่า เริ่มทำกิจกรรมตั้งแต่ 12.00 น. แล้ว ดังนั้นจะต้องยุติการชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมที่ได้รับนัดหมายยังทยอยมาต่อเนื่อง ตำรวจึงสลายการชุมนุมด้วยการตั้งแนวแสดงกำลังและไล่ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่หน้าสหประชาชาติ
  • ไม่ออกนอกพื้นที่ภายในเวลากำหนด – วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 สลายการชุมนุมหลังจบการชุมนุมราษฎรที่สนามหลวง เหตุการณ์เกิดขึ้นหลังราษฎรยุติการชุมนุมในเวลา 20.30 น. มีผู้ชุมนุมบางส่วนยังคงอยู่ที่หน้าศาลฎีกา บางส่วนอยู่ภายในสนามหลวง ไม่ยินยอมที่จะเลิกตามคำประกาศของแกนนำ และมีการขว้างปาสิ่งของ เช่น วัตถุที่มีประกายไฟ บ้างเกิดเสียงดังคล้ายระเบิด บ้างไม่มีเสียง, อิฐภายในท้องสนามหลวง, ไม้และรั้วเหล็กที่อยู่บริเวณดังกล่าว จากนั้นตำรวจให้เวลา 30 นาทีในการออกนอกพื้นที่สนามหลวง แต่คล้อยหลังไม่ถึง 30 นาทีตำรวจเริ่มสลายการชุมนุมจับกุมผู้ชุมนุมและทีมแพทย์อาสาที่ยังตกค้างในบริเวณดังกล่าว
  • ไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด – วันที่ 2 พฤษภาคม 2564 สลายการชุมนุมหลังจบการชุมนุมรีเด็มที่หน้าศาลอาญา วันดังกล่าวเวลา 15.00 น. รีเด็มเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปศาลอาญา เมื่อไปถึงหน้าศาลอาญามีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์และประกาศยุติการชุมนุมในเวลา 17.56 น. แต่ยังมีมวลชนประมาณ 20 คนอยู่ทำกิจกรรมที่ฝั่งตรงข้ามศาลอาญา ต่อมาเวลา 19.07 น. ตำรวจใช้เครื่องขยายเสียงประกาศออกมาจากศาลอาญาว่า ถ้าอีกห้านาทียังไม่ยุติกิจกรรมจะสลายการชุมนุมและเริ่มการสลายการชุมนุม
  • ไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด-1 สิงหาคม 2564 สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุดจัดกิจกรรมคาร์ม็อบเพื่อขับไล่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีการจัดกิจกรรมคู่ขนานห้าแห่ง มีชุมนุมใกล้กับพื้นที่หวงห้ามคือ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยใกล้กับทำเนียบรัฐบาลและถนนวิภาวดี ซึ่งเป็นที่ตั้งของราบ 1 ตำรวจวางแนวสิ่งกีดขวางบริเวณสะพานผ่านฟ้า ฝั่งราชดำเนินนอกและหน้าราบ 1 หลังบก.ลายจุด ประกาศยุติกิจกรรมแล้วยังมีผู้ชุมนุมจำนวนมากอยู่ที่ถนนวิภาวดี ใกล้กับกรมทหารราบที่ 1  ซึ่งเป็นที่พักของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี