ชุมนุม 64 : ความท้าทายและความจำเป็นภายใต้โควิด19

นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 แม้ประเทศไทยจะอยู่ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด19 อย่างต่อเนื่อง และมีประกาศห้ามทำกิจกรรมรวมตัวหลายฉบับใช้ซ้ำซ้อนกันเปลี่ยนแปลงไปมา แต่กระแสความไม่พอใจต่อรัฐบาลชุดปัจจุบันก็ยังทำให้มีการชุมนุมเกิดขึ้นทั่วประเทศแล้วไม่น้อยกว่า 766 ครั้ง 

photo_2021-07-02_19-21-15

เดือนเมษายนเป็นเดือนที่มีการชุมนุมมากที่สุดที่ 260 ครั้ง รองลงมาคือ เดือนพฤษภาคมที่ 138 ครั้ง ขณะที่เดือนกรกฎาคม 2564 มีการชุมนุมแล้วไม่น้อยกว่า 56 ครั้ง จังหวัดที่มีการชุมนุมมากที่สุดคือ กรุงเทพมหานครที่ 428 ครั้งและเชียงใหม่ที่ 62 ครั้ง ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 มีการสลายการชุมนุมไปแล้วทั้งสิ้น 12 ครั้ง เนื้อหาและข้อเรียกร้องส่วนใหญ่ของการชุมนุมในเดือนกรกฎาคมเป็นเรื่องปัญหาการจัดการโรคโควิด 19 และการขับไล่รัฐบาลที่นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ขยับจากบรรยากาศในเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมที่เป็นการชุมนุมเรียกร้องความยุติธรรมในระบบศาลเป็นส่วนใหญ่ เนื่องด้วยแนวโน้มการ “ไม่ปล่อยตัวชั่วคราว” ผู้ถูกดำเนินคดีการเมือง

ต้นปีการชุมนุมเผชิญกับความรุนแรงที่ยกระดับไปถึงกระสุนยาง

เดือนมกราคม 2564 ระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด 19 ระลอกที่ 2 ซึ่งเริ่มการแพร่ระบาดจากคลัสเตอร์ตลาดกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร และบ่อนการพนันในภาคตะวันออก แม้ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดในจังหวัดที่มีการชุมนุมจำนวนมากอย่างกรุงเทพมหานคร, ขอนแก่นและเชียงใหม่ ยังไม่ได้เข้าสู่ภาวะตึงเครียดนัก แต่ผู้จัดกิจกรรมก็ระมัดระวังและนัดหมายจัดกิจกรรมน้อยลง, หลีกเลี่ยงการระดมพลและพยายามใช้พื้นที่ออนไลน์มากขึ้น ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2564 นักกิจกรรมทยอยถูกฝากขังระหว่างการพิจารณาคดีทั้งในชั้นตำรวจและระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ทำให้กิจกรรมที่ใช้การระดมพลเกิดขึ้นอีกครั้ง แต่ช่วงต้นยังจำนวนคนเข้าร่วมยังไม่มากนัก

ในระยะนี้การชุมนุมมีแนวโน้มที่ผู้ชุมนุมบางส่วนจะปะทะกับเจ้าหน้าที่ โดยมีกลุ่มผู้ชุมนุมที่เชื่อว่าการเผชิญหน้าเหล่านี้ คือ การยกระดับ แต่ผลลัพธ์ที่ได้ไม่สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของการชุมนุม เกิดการปะทะประปรายระหว่างตำรวจและผู้ชุมนุมในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 นำไปสู่การพูดคุยอย่างกว้างขวางถึงแนวทาง ซึ่งท้ายสุดขบวนการเคลื่อนไหวยืนยันในแนวทาง “สันติวิธี” ระหว่างการปรับขบวนผู้ชุมนุมก็ต้องเผชิญกับการปราบปรามอย่างรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐ ในการชุมนุมของรีเด็มเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 บริเวณกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ราบ 1) ถ.วิภาวดี เป็นครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้กระสุนยางยิงใส่ผู้ชุมนุม  

ต่อมาตำรวจยังใช้กระสุนยางมาในการปราบปรามผู้ชุมนุมอีกอย่างน้อย 2 ครั้ง คือ การชุมนุมของรีเด็มเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2564 บริเวณท้องสนามหลวง และการสลายการชุมนุม หลังรีเด็มประกาศยุติกิจกรรมเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2564 ที่หน้าศาลอาญา ความแตกต่างของการใช้กระสุนยางทั้ง 3 ครั้ง คือ  2 ครั้งแรกเป็นการชุมนุมขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นในพื้นปกป้องของรัฐ มีเงื่อนไขก่อนการเริ่มใช้กำลังเหมือนกัน คือ เมื่อผู้ชุมนุมเลื่อนเปิดแนวตู้คอนเทนเนอร์ของเจ้าหน้าที่ ขณะที่ครั้งที่ 3 เป็นการสลายการชุมนุมหลังเลิกการชุมนุมแล้ว แต่มีกลุ่มผุ้ชุมนุมที่ยังคงอยู่ในพื้นที่หน้าศาลอาญาอย่างต่อเนื่อง ประมาณ 20 คน แต่เจ้าหน้าที่สั่งให้เลิกการชุมนุมและสลายการชุมนุมด้วยกระสุนยาง, แก๊สน้ำตาและรถฉีดน้ำแรงดันสูง 

อย่างไรก็ดี การกดปราบของรัฐด้วยกำลังไม่สามารถหยุดการเคลื่อนไหวของประชาชนได้ ในการชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์วันที่ 24 มีนาคม 2564 มีผู้เข้าร่วมไม่น้อยกว่า 2,500 คน ในการชุมนุมครั้งนั้นตำรวจไม่ได้ห้ามและใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม แต่ความตึงเครียดระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมที่รู้สึกโกรธแค้นกับตำรวจชุดควบคุมฝูงชนยังมีอยู่ต่อไป

โควิดระบาดระลอก 3 การชุมนุมต้องปรับรูปแบบตาม

การชุมนุมชะลอตัวลงในช่วงต้นเดือนเมษายน 2564 เนื่องจากจากการแพร่ระบาดระลอก 3 เริ่มจากคลัสเตอร์สถานบันเทิงย่านทองหล่อ กิจกรรมของกลุ่ม “ไทยไม่ทน” ที่นัดหมายว่าจะชุมนุมต่อเนื่องประกาศหยุดลงชั่วคราว แต่กิจกรรมยืนเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวชั่วคราวนักกิจกรรมที่ถูกคุมขังในเรือนจำยังไปต่อ โดยมีการปรับเข้ากับโรคระบาดด้วยการเว้นระยะห่าง การชุมนุมซาลงในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2564 หลังนักกิจกรรมได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวทั้งหมดแล้ว โดยระหว่างนี้ยังมีการเรียกร้องจากกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด 19 แต่เป็นการรวมตัวโดยมีจำนวนคนไม่เยอะและใช้เวลาไม่นานนัก

การชุมนุมกลับมานัดหมายกัน “เต็มรูปแบบ” อีกครั้งในวันที่ 24 มิถุนายน 2564 วันครบรอบ 89 ปีการอภิวัฒน์สยามเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหาษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ วันดังกล่าวไม่เพียงเป็นการรวมตัวในวันครบรอบ แต่ยังเป็นวันที่รัฐสภามีกำหนดลงมติเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และยังมีนัยยะแสดงออกถึงข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ 

แม้ว่า โรคระบาดยังไม่ทุเลาลง แต่สถานการณ์เริ่มชัดเจนขึ้นว่า การจัดการของรัฐบาลชุดนี้ล้มเหลว จัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพและแจกจ่ายอย่างเท่าเทียมไม่ได้ การชุมนุมจึงมุ่งเป้าไปที่การเรียกร้องให้ “เปลี่ยนม้า” เพื่อหาผู้บริหารที่มีความสามารถมากกว่ามาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเร่งด่วนด้วย ไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอกกล่าวทำนองว่า อยู่บ้านก็นอนรอความตาย 

ต่อเนื่องมาในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 สถิติผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตรายวันเพิ่มสูงขึ้น หากการชุมนุมยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องโดยมีกลุ่มเคลื่อนไหวหลัก คือ ราษฎร, แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, เยาวชนปลดแอก, ไทยไม่ทนและประชาชนคนไทย รวมทั้งกลุ่มแรงงานต่างๆ เช่น เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนและสหภาพคนทำงาน รวมทั้งบุคลากรด้านสาธารณสุข ขณะที่สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ก็ริเริ่มการประท้วงแบบรักษาระยะห่างโดยการขับรถมา หรือคาร์ม็อบ

ความท้าทายของผู้ชุมนุมในเวลานี้ คือ การปกป้องตนเองอย่างดีที่สุดจากโรคระบาด แต่ยังคงไม่ถอยที่จะแสดงออกเพื่อยืนยันข้อเรียกร้องเดิม และกดดันให้รัฐมีมาตรการในการเยียวยาและจัดหาวัคซีนที่ดี มีประสิทธิภาพที่จะช่วยบรรเทาสถานการณ์การแพร่ระบาดได้

โควิดบทพิสูจน์ว่ารัฐธรรมนูญและปากท้องคือเรื่องเดียวกัน

รัฐธรรมนูญ 2560 เขียนขึ้นระหว่างการรัฐประหารและผ่านการประชามติที่เต็มไปด้วยข้อกังขา ไม่ว่าจะการปราบปรามผู้คัดค้านและการเขียนคำถามพ่วงด้วยประโยคซับซ้อน เรื่องการให้ส.ว.แต่งตั้ง 250 คนสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ในระยะ 5 ปีแรก หลังรัฐธรรมนูญผ่านและเลือกตั้งเสร็จสิ้น พรรคพลังประชารัฐลงสมัครรับเลือกตั้งท่ามกลางกติกาที่เขียนขึ้นเองและกลไกต่างๆที่จัดตั้งขึ้นเอง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. ได้รับเสียงท่วมท้นจากทั้งส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและส.ว. 250 คนที่แต่งตั้งมาเอง เครื่องมือต่างๆ ที่รัฐธรรมนูญ 2560 ปูทางเอาไว้ทำงานได้อย่างเห็นผล และทำให้พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อได้ ไม่ใช่มาจากการเลือกตั้ง แต่มาจากรัฐธรรมนูญของเขาเอง

หลังจากนั้นข้อเรียกร้องเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญในการตัดวงจรสืบทอดอำนาจ คสช. เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 เยาวชนปลดแอกวางข้อเรียกร้อง 3 ข้อ หนึ่งในนั้นคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ตามมาด้วยแคมเปญแก้ไขรัฐธรรมนูญของภาคประชาชนที่มีผู้เข้าร่วมเสนอชื่อ 100,732 รายชื่อ ในเวลา 42 วัน เปิดทางให้เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ได้ทุกหมวดทุกมาตราจาก สสร. ท่ี่มาจากการเลือกตั้ง 100% อย่างไรก็ตามที่ประชุมสภาปัดตกเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 แต่ความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญยังคงเดินหน้าต่อไป และกลับมาเป็นกระแสอีกครั้งในเดือนมิถุนายน 2564 กลุ่ม Resolution รวบรวมรายชื่อประชาชนอีกครั้งได้ 150,921 รายชื่อและนำเสนอต่อรัฐสภาในวันที่ 30 มิถุนายน 2564 กิจกรรมครั้งนี้เดินไปในช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดหนักหนาสาหัสที่รัฐธรรมนูญและปัญหาปากท้องของทุกชนชั้นมาบรรจบกัน

การระบาดในระลอกที่ 4 เดือนกรกฎาคม คือ จุดตัดสำคัญของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ โรคระบาดทำให้มีผู้เสียชีวิตและผู้ติดเชื่้อกระจายเป็นวงกว้างโดยไม่อาจควบคุมได้ ประเทศไทยวางแผนจะกระตุ้นเศรษฐกิจกลับมาด้วยการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายในปีนี้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นไปในทางตรงกันข้าม ผลกระทบทางเศรษฐกิจ วิถีชีวิต และคุณภาพชีวิตของประชาชนตกต่ำอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน วัคซีนซิโนแวคที่รัฐบาลนำเข้าและจัดให้บุคลากรทางการแพทย์ แสดงผลให้เห็นว่าไม่อาจป้องกันการติดเชื้อได้ ขณะที่ประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนได้ แม้พร้อมจะจ่ายเงินเนื่องจากวัคซีนที่รัฐบาลจัดหาไม่เพียงพอ

ความไม่พอใจในรัฐบาลเรื่องการแก้ปัญหาโควิด 19 กระจายไปในทุกวงการ โดยเฉพาะภาคธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจกลางคืน ธุรกิจร้านอาหารที่ต้องปิดตัว และบุคลากรสาธารณสุขที่เป็นด่านหน้า เป็นกลุ่มเสี่ยง และเป็นกลุ่มที่ต้องเผชิญกับผลกระทบโดยตรง กลุ่มบุคลากรทางสาธารณสุขเสนอข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์แตกต่างไปจากรัฐบาล โดยชี้ให้เห็นว่า การที่รัฐบาลเลือก “แทงม้าเต็ง” อย่างแอสตร้าเซเนก้า เป็นวัคซีนหลักเพียงตัวเองส่งผลร้ายถึงชีวิตของประชาชน และซิโนแวค “ม้าตัวรอง” ที่บุคลากรด่านหน้าจำนวนมากได้รับก็ไม่อาจนำพาชาติพ้นจากวิกฤตครั้งนี้ได้ ขณะที่กลางเดือนกรกฎาคมก็เข้าสู่สภาวะที่ระบบสาธารณสุขไม่อาจรองรับผู้ป่วยได้อีกต่อไป มีผู้ป่วยโรคโควิด19 ที่เข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาลและต้องเสียชีวิต รัฐบาลก็ยังไม่เร่งร้อนที่จะนำเข้าวัคซีนเทคโนโลยี mRNA หรือวัคซีนที่มีประสิทธิภาพกว่า

ขณะที่โควิด 19 เป็นอุปสรรคท้าทายการจัดการชุมนุม แต่ก็กลายเป็นปัจจัยเร่งให้การชุมนุม “จำเป็น” เพื่อเปลี่ยนแปลงทิศทางบริหารของประเทศ

แต่ระหว่างที่กระแสเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกจากตำแหน่งดังขึ้นเรื่อยๆ ก็ยังไม่เห็นท่าทีการตอบสนองของผู้อยู่ในตำแหน่งสูงสุดแต่อย่างใด ในเมื่อรัฐธรรมนูญยังคงค้ำยันอำนาจให้กับรัฐบาลสืบทอดอำนาจ คสช.  ก็ไม่มีปัจจัยเร่งที่พล.อ.ประยุทธ์ต้องยอมลาออกจากตำแหน่ง หรือยุบสภา และตราบใดที่รัฐบาลยังคงอยู่ในตำแหน่งได้โดยไม่ต้องห่วงสถานะและความนิยม ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนหรือปรับปรุงแนวทางการแก้ไขปัญหา สถานการณ์ทางสาธารณสุขและเศรษฐกิจของประเทศก็ยังไม่มีแนวโน้มที่จะกลับมาตั้งหลักได้

การชุมนุมวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 ครบรอบ 1 ปีเยาวชนปลดแอกเป็นการชุมนุมที่หมายมั่นรวมพลจำนวนมาก โดยมีข้อเรียกร้องเดิมในปีที่ผ่านมาอย่างการให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาลาออกมา ภายใต้สถานการณ์โควิด 19 มีข้อเรียกร้อง คือ ปรับลดงบสถาบันฯ และใช้วัคซีนชนิด mRNA โดยเป็นครั้งแรกๆ ที่เครือข่ายบุคลากรด้านสาธารณสุขประกาศเข้าร่วมการชุมนุม พร้อมกับเครือข่ายแรงงานกลุ่มต่างๆ บ้างเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวเดิม บ้างเป็นหน้าใหม่ ซึ่งนับเป็นการขยายฐานการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญ