The royalists strike back: การโต้กลับของกลุ่ม “ปกป้อง” ท่ามกลางข้อเรียกร้อง “ปฏิรูปสถาบัน”

IMG_5114
ปี 2563 จนถึงอย่างน้อยกรกฎาคม 2564 เป็นช่วงเวลาที่การชุมนุมและการเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่ในกระแสสูง ข้อเรียกร้อง “ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์” ถูกยกมาพูดในพื้นที่การชุมนุมอย่างเปิดเผย มีการชุมนุมที่ตั้งชื่อและเป้าหมายการชุมนุมสื่อถึงพระมหากษัตริย์อย่างตรงไปตรงมา เช่น การชุมนุมที่หน้าสถานทูตเยอรมนีประจำประเทศไทยที่เรียกร้องให้รัฐบาลเยอรมันตรวจสอบว่า พระมหากษัตริย์ไทยทรงใช้พระราชอำนาจระหว่างประทับในดินแดนเยอรมันหรือไม่ การชุมนุมราษฎรสาส์น ส่งจดหมายถึงพระมหากษัตริย์ และการชุมนุมที่หน้าสำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งย้ายมาจากจุดหมายเดิม คือ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
นอกจากนั้นก็มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตไปแสดงความคิดเห็นในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ที่วิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ เช่น เฟซบุ๊กสมศักดิ์เจียมธีรสกุล เพจเฟซบุ๊กKTUK คนไทยยูเค ไปจนถึงกลุ่มเฟซบุ๊กตลาดหลวง Royalist Market Place เป็นต้น ขณะเดียวกันปริมาณคนที่ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 พุ่งสูงขึ้นถึงอย่างน้อย 110 คน จากอย่างน้อย 107 คดี (นับถึง 15 กรกฎาคม 2564) อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสนใจว่าในจำนวนดังกล่าวเป็นคดีที่ประชาชนทั่วไปเป็นผู้ริเริ่มคดีด้วยการไปร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนถึง 52 คดี
แม้ในทางกฎหมายประชาชนทั่วไปจะไม่สามารถเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องร้องคดีมาตรา 112 ดังมีคนพูดทำนองว่า “ใครฟ้องก็ได้”  แต่การที่ประชาชนทั่วไปเป็น “ผู้ริเริ่ม” กล่าวโทษให้ดำเนินคดีมาตรา 112 มากเกือบครึ่งของจำนวนคดีเท่าที่ยืนยันได้ ก็สะท้อนว่าปรากฎการณ์ “ทะลุเพดาน” ที่เกิดขึ้นสร้างความรู้สึก “ไม่มั่นคงปลอดภัย” ให้ประชาชนส่วนหนึ่งจนพวกเขาเหล่านั้นเลือกที่จะลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง  

“พลเมืองดี” กล่าวโทษคนใกล้ตัว

คดีที่ประชาชนร้องทุกข์กล่าวโทษกันเองประเภทแรกเป็นคดีที่ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษประสบเหตุและดำเนินการเป็นการส่วนตัว ในลักษณะ “พลเมืองดี” พบเห็นการกระทำความผิดแล้วนำไปร้องทุกข์กล่าวโทษกับตำรวจ โดยมีทั้งกรณีที่ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษมีความสัมพันธ์หรือปฏิสัมพันธ์บางอย่างกับผู้ถูกกล่าวโทษโดยตรง ทั้งการกล่าวโทษบุคคลในครอบครัว เคยมีกรณีที่พ่อ-แม่ ร้องทุกข์กล่าวโทษลูกของตัวเองด้วย และมีทั้งกรณีที่ทั้งสองฝ่ายไม่เคยรู้จักหรือมีความสัมพันธ์กันมาก่อน ผู้กล่าวหาเพียงแต่พบเห็นการกระทำระหว่างการใช้อินเทอร์เน็ตของตัวเองซึ่งกรณีนี้มักทำให้ผู้ถูกกล่าวโทษต้องเดินทางข้ามจังหวัดเพื่อมารับทราบข้อกล่าวหา
ตัวอย่างเช่น 
กรณีพี่ร้องทุกข์กล่าวโทษน้อง พี่ชายของยุทธภูมิเห็นแผ่นซีดีที่หน้าแผ่นเขียนว่า “หยุดก้าวล่วงพระเจ้าอยู่หัว เนวินขอทักษิณ” แล้วมีคำไม่สุภาพเป็นเขียนต่อหลังคำว่าพระเจ้าอยู่หัว จึงนำซีดีแผ่นดังกล่าวไปส่งมอบให้พนักงานสอบสวนในเดือนพฤษภาคม 2553 จนเป็นเหตุให้ยุทธภูมิถูกดำเนินคดี แม้ในเดือนกันยายน 2556 ศาลอาญาจะมีคำพิพากษายกฟ้อง แต่ระหว่างถูกดำเนินคดีในศาลชั้นต้นยุทธภูมิถูกคุมขังในเดือนจำโดยตลอดตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2553 มีข้อน่าสังเกตว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ออกมา ในเดือนพฤศจิกายน 2557 ศาลให้เหตุผลหนึ่งในการยกฟ้องว่า จำเลยกับพี่ชายซึ่งเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษมีข้อพิพาทกันมาก่อน  
กรณีพ่อแม่ร้องทุกข์กล่าวโทษลูกสาวตัวเอง ในเดือนเมษายน 2557 สุรพงศ์ และจินตนา อมรพัฒน์ เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับฉัตรวดี อมรพัฒน์ หรือโรส ลูกสาวคนเล็กบุตรสาวคนเล็ก ในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯโดยได้นำหลักฐานเป็นคลิปวิดีโอไปมอบให้พนักงานสอบสวน
อย่างไรก็ตามเนื่องจากฉัตรวดีอยู่ต่างประเทศจึงไม่สามารถติดตามตัวมาดำเนินคดีได้ 
กรณีผู้พิการทางสายตาร้องทุกข์กล่าวโทษกันเอง พัฒน์ธนชัย สระกวี นายกสมาคมประชาคมคนตาบอด เคยร้องทุกข์กล่าวโทษคดีมาตรา 112 แล้วอย่างน้อยสองคดี หนึ่งในนั้นเป็นผู้พิการทางสายตาที่พัฒน์ธนชัยระบุว่าเป็นรุ่นพี่ของเขาที่โรงเรียน โดยบุคคลดังกล่าวแสดงความคิดเห็นในลักษณะหมิ่นประมาทพระราชินีบนโลกออนไลน์ ช่วงเดือนมิถุนายน 2564 ก่อนหน้านั้นพัฒน์ธนชัย เคยร้องทุกข์กล่าวโทษนูรฮายาตี ผู้พิการทางสายตาอีกคนหนึ่งซึ่งไม่มีข้อมูลว่าเขารู้จักกับเธอหรือไม่จากกรณีที่เธอเเชร์บทความของใจลล์ อึ๊งภากรณ์บนเฟซบุ๊กของตัวเองช่วงหลังการสวรรคตของรัชกาลที่เก้า โดยมีข้อมูลสุดท้ายว่าเธอถูกพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา 3
กรณีของผู้โดยสารกับคนขับแท็กซี่ เหตุแห่งคดีนี้เกิดขึ้นในเดือนมกราคม 2557 ช่วงที่มีการชุมนุมของกลุ่มกปปส. ยุทธศักดิ์ขับรถแท็กซี่พาผู้โดยสารคนหนึ่งไปส่งย่านซอยอารีย์ ระหว่างทางยุทธศักดิ์คุยเรื่องสถานการณ์การชุมนุมกับผู้โดยสาร ทั้งสองดูจะมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน ผู้โดยสารได้ใช้เครื่องอัดเสียงบันทึกบทสนทนาและไปร้องทุกข์กล่าวโทษยุทธศักดิ์ต่อพนักงานสอบสวน ยุทธศักดิ์มาถูกจับกุมหลังการรัฐประหาร 2557 และไม่ได้รับการประกันตัวตั้งแต่ถูกจับกุม ในเดือนสิงหาคม 2557 ศาลพิพากษาให้จำคุก 2 ปี 6 เดือน ก่อนที่จะได้รับการปล่อยตัวในเดือนพฤษภาคม 2559 

“พลเมืองดี” กล่าวโทษ ส่งคดีให้เดินทางไกล

ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า มีการดำเนินคดี มาตรา 112 จำนวนเก้าคดีที่มีการร้องทุกข์กล่าวโทษในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ โดยผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษทั้งเก้าคดี คือ ศิวพันธุ์ มานิตย์กุลซึ่งเป็นนักธุรกิจ ทุกคดีเหตุแห่งคดีเกิดขึ้นบนสื่อสังคมออนไลน์ มีคดีของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตซึ่งพำนักอยู่ที่จังหวัดเชียงรายรวมอยู่ด้วย ก่อนหน้านี้ในเดือนตุลาคม 2563 ผู้ถูกกล่าวหาเคยได้รับหมายเรียกให้มาให้การกับพนักงานสอบสวน สภ.บางแก้ว จ.สมุทรปราการ ในฐานะพยาน ก่อนที่จะถูกออกหมายเรียกในฐานะผู้ต้องหาในเดือนมีนาคม 2564 
 
จากเก้าคดีที่ศิวพันธุ์เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ มีสามคดีมาจากการเเชร์โพสของเพจ “KonThaiUK”, สามคดีที่ไม่ได้มีการระบุที่มาของโพสต์เเละการเเชร์, หนึ่งคดีมาจากการโพสในเฟสบุ๊กส่วนตัวเเละสองคดีมาจากโพสต์เเละคอมเมนต์ในกลุ่ม “รอยัลลิสต์ มาเก็ตเพลส, รอยัลลิสต์ มาเก็ตเพลส-ตลาดหลวง” ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ศิวพันธุ์อาจจะอยู่เข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มเเละคอยรวบรวมหลักฐานเพื่อดำเนินคดี
กัลย์ฐิตา ชวนชม ข้าราชการองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นเเห่งหนึ่งในจังหวัดพังงา ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ตำรวจดำเนินคดีกับ “บุญลือ” (นามสมมติ) เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2563 โดยกัลย์ฐิตา กล่าวว่า ข้อความที่ “บุญลือ” เขียนเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ “บุญลือ”ซึ่งอยู่ที่จังหวัดสุโขทัย ต้องเดินทางมาที่จังหวัดพังงาเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ข้อมูลจากศูนย์ทนายฯ ระบุว่า แม้จะได้รับการประกันตัวแต่ “บุญลือ” ก็มีภาระในการเดินทางมาหาตำรวจและขึ้นศาล เธอต้องนั่งรถโดยสารเข้ากรุงเทพเพื่อนั่งเครื่องบินไปที่ภูเก็ตก่อนจะนั่งรถโดยสารมาที่จังหวัดพังงา และในนัดก่อนหน้านี้เธอยังต้องเสียเงินตรวจโควิดก่อนเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ตด้วย 
วริษนันท์ ศรีบวรธนกิตติ์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งและแอดมินเพจเชียร์ลุง ร้องทุกข์กล่าวโทษ จตุพร แซ่อึง และ “เอฟ” เยาวชนอายุ 17 ปี ที่เข้าร่วมกิจกรรมเดินแฟชันที่สีลม โดยวริษนันท์เห็นว่า จตุพรมีเจตนาแต่งกายเลียนแบบพระราชินีในลักษณะเสียดสี ส่วนเอฟเขียนข้อความที่อาจเข้าข่ายความผิดบนร่างกายของตัวเอง
ฐิติวัฒน์ ธนการุณย์ ผู้จัดการร้านอาหารแห่งหนึ่ง เปิดดูเฟซบุ๊กของกลุ่มบุคคลที่มักจะโพสต์ข้อความที่เขาเห็นว่าเข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์จนไปพบบัญชีเฟซบุ๊กของประสงค์ โคตรสงครามโพสต์ข้อความในลักษณะหมิ่นประมาทพระเจ้าอยู่หัวจึงนำหลักฐานไปร้องทุกข์กล่าวโทษ ฐิติวัฒน์คือบุคคลเคยไปชูพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่เก้าระหว่างการชุมนุมของกลุ่มราษฎรฝั่งธนที่สถานีรถไฟฟ้าท่าพระ และเป็นบุคคลที่รัชกาลที่สิบเคยมีพระราชปฏิสันถารด้วยว่า “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563

จากเครือข่ายเฝ้าระวังฯ ถึงศชอ.: การร้องทุกข์กล่าวโทษผู้ที่ “น่าจะ” ทำผิดมาตรา 112 อย่างเป็นระบบ

คดีที่พลเมืองร้องทุกข์กล่าวโทษกันประเภทที่สองเป็นคดีที่ผู้ร้องทุกข์มีการดำเนินการในลักษณะ “รวมหมู่” ไม่ว่าจะเป็นการรวมตัวอย่างหลวมๆ เฉพาะกิจหรือการรวมตัวในลักษณะมีโครงสร้างเป็นองค์กรชัดเจนในระดับหนึ่ง
เครือข่ายเฝ้าระวัง พิทักษ์และปกป้องสถาบันฯ ไม่มีข้อมูลว่าเครือข่ายถูกจัดตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อใด ทราบเพียงว่าเฟซบุ๊กเพจอย่างเป็นทางการของกลุ่มถูกสร้างในวันที่ 12 กรกฎาคม 2554 โดยวัตถุประสงค์การก่อตั้งกลุ่มที่เขียนอยู่ใน “เกี่ยวกับ” ของเพจพอสรุปได้ว่า จากกรณีที่สำนักข่าวทีนิวส์เคยนำเสนอข้อมูลและเปิดโปงเกี่ยวกับกลุ่มบุคคลที่มีแนวคิดต่อต้านสถาบันฯ ก็มีผู้ส่งข้อมูลต่างๆเข้ามาให้เป็นสำนวนมาก สำนักข่าวทีนิวส์ จึงจัดตั้งเครือข่ายเฝ้าระวัง พิทักษ์และปกป้องสถาบันฯ เพื่อเป็นช่องทางในการรับแจ้งข้อมูล ประสานและนำส่งข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเพื่อจัดกิจกรรมเพื่อปกป้องสถาบันฯ อาทิ การเข้าชื่อประชาชนเพื่อคัดค้านการแก้ไขมาตรา 112 
จากการเข้าถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 เฟซบุ๊กของเครือข่ายฯมีผู้กดถูกใจ 13,180 บัญชี ที่ผ่านมาทางเครือข่ายเคยร้องทุกข์กล่าวโทษให้มีการดำเนินคดีมาตรา 112 อย่างน้อยหนึ่งคดี คือ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับละครเวทีเจ้าสาวหมาป่า ซึ่งจัดแสดงที่หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2556 คลิปบันทึกภาเคลื่อนไหวของละครเวทีเรื่องนี้ยังถูกนำไปเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ตด้วย แต่ก็มีคนเข้าถึงในวงจำกัด
ในวันที่ 30 ตุลาคม 2556 เครือข่ายเฝ้าระวัง พิทักษ์และปกป้องสถาบันฯ จัดประชุมสมาชิกเครือข่าย โดยมีผู้เข้าร่วมราว 200-300 คน ภายในงานมีการพูดถึงขบวนการล้มล้างสถาบันฯ และมีการเปิดฉายคลิปบางส่วนของละครเวที “เจ้าสาวหมาป่า” และมีการแจกจ่ายแผ่นซีดีหลักฐานพร้อมนัดแนะให้สมาชิกนำคลิปละครดังกล่าวเข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่ที่อยู่อาศัยในความผิดมาตรา 112 โดยมีสมาชิกกลุ่มจำนวน 52 คน ที่แสดงเจตนารมณ์จะดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษ จากนั้นในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2556 สมาชิกกลุ่มเดินทางเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องพร้อมกันในวันเดียวกันที่สถานีตำรวจ 13 แห่ง จำเลยสองคนที่เกี่ยวข้องกับละครเรื่องนี้ถูกศาลพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน
องค์กรเก็บขยะแผ่นดิน เปิดเพจอย่างเป็นทางการบนเฟซบุ๊กในวันที่ 16 เมษายน 2557 และจนถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 มีผู้ใช้เฟซบุ๊กกดไลค์เพจนี้ 295,955 บัญชี ผู้มีบทบาทสำคัญในองค์กรเก็บขยะแผ่นดินคือ นพ.พล.ต.เหรียญทอง แน่นหนา ตามรายงานของสำนักข่าวอิศรา ระหว่างการประชุมองค์กรเก็บขยะแผ่นดินครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2557 นพ.พล.ต.เหรียญทองเคยกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งองค์กรว่า
“เราทำในสิ่งที่ประชาชนคนหนึ่งที่ทำตามหน้าที่ เพื่อถวายอารักขา และปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้องค์กรเก็บขยะแผ่นดินเป็นองค์กรเปิดเผย ไม่ใช่องค์กรลับ จัดตั้งเป็นองค์กรมหาชน ไม่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีวาระซ่อนเร้นหรือแอบแฝง”
“เราจะเก็บขยะ และทำให้สังคมไทยกลับมาสะอาดอีกครั้ง แม้อาจจะต้องใช้เวลาอีกหลายปีก็ตาม เราจะรณรงค์และปลูกฝังในทุกชุมชนให้ถูกต้อง เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก แม้จะทำสำเร็จแล้วก็จะทำต่อไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะอีกกี่เดือนหรือกี่ปีก็ตาม”
รายงานของอิศรายังระบุด้วยว่า องค์กรเก็บขยะแผ่นดินมีการแบ่งโครงสร้างการทำงานอย่างชัดเจน อาทิ มีหน่วยปฏิบัติงานสำรวจขยะ ทำหน้าที่ประมวลข่าวกรอง มีเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีสารสนเทศทำหน้าที่สืบค้นข้อมูลหาชื่อนามสกุล ที่อยู่ปัจจุบัน และเก็บหลักฐาน และมีชุดสืบค้นเป็นจิตอาสาทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลจากสื่อต่างๆ รวบรวมข้อมูล ชื่อ – นามสกุล ภาพถ่าย และพฤติกรรม
ที่ผ่านมาองค์กรเก็บขยะแผ่นดินเคยมีบทบาทในการริเริ่มดำเนินคดีมาตรา 112 เช่น
วันที่ 19 มิถุนายน 2557 องค์กรเก็บขยะแผ่นดินโดยพล.ต.นพ.เหรียญทองเคยเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับบุคคลรวมห้าคน ได้แก่ ฉัตรวดี อมรพัฒน์ หรือ โรส สองคดี, มนูญ ชัยชนะ หรือ อเนก ซานฟราน สองคดี, ชูพงษ์ ถี่ถ้วน หรือชูพงษ์ เปลี่ยนระบอบ สองคดี, และการร่วมกันกระทำความผิดโดยฉัตรวดี มนูญ เสน่ย์ และ อำนวย แก้วชมพู หนึ่งคดี รวมเก้าคดี โดยมีข้อกล่าวหาทั้งยุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 112 ทั้งนี้มนูญ เสน่ย์  ชูพงค์ เป็นผู้ที่น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำรายการวิเคราะห์การเมืองที่มีเนื้อหาพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ 
วันที่ 12 พฤษภาคม 2558 องค์การเก็บขยะแผ่นดินยังเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ให้ดำเนินคดีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งด้วย 
สำหรับพล.ต.นพ.เหรียญทอง เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ที่เคยไล่แพทย์ออกจากงานเนื่องจากร่วมลงชื่อคัดค้านการใช้กำลังสลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ยังเป็นบุคคลที่ใช้เฟซบุ๊กส่วนตัวโพสต์แสดงความคิดเห็นทางการเมืองเป็นระยะ ช่วงต้นปี 2563 เขาเคยเข้าร่วมกิจกรรม “เดินเชียร์ลุง” ที่สวนลุมพินีและล่าสุดยังได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกระแส #แบนฟู๊ดแพนดาด้วย
ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน หรือ ศปปส. เปิดเพจอย่างเป็นทางการบนเฟซบุ๊กในวันที่ 4 ตุลาคม 2563 และจนถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 มีผู้ใช้เฟซบุ๊กกดไลค์เพจนี้ 34,442 บัญชี โดยมีจักรพงศ์ กลิ่นแก้ว ผู้มีบทบาทสำคัญในกลุ่ม วันที่ 22 มิถุนายน 2564 ศปปส. โพสต์แถลงการณ์เรื่อง อุดมการณ์, ปณิธานและจุดยืนของศปปส. ลงเพจเฟสบุ๊กว่าทางกลุ่ม “จะปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมไปถึงขัดขวางการปฎิรูปกษัตริย์ทุกรูปแบบ เเละคัดค้านการเเก้รัฐธรรมนูญปี 60 รวมไปถึงจะสืบทอดเจตนารมณ์ของกลุ่ม กปปส. ในการปฎิรูปนักการเมือง” 
ในช่วงการชุมนุมของคณะราษฎร 63 ในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีหมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพระราชกรณียกิจที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามและเส้นทางเสด็จจะต้องผ่านพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มราษฎรบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กลุ่มศปปส.ประกาศว่า จะมารับเสด็จและสังเกตการณ์ว่ามีการหมิ่นประมาทสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่เท่านั้น หากมีการยั่วยุให้เกิดการปะทะจะกลับทันที
ศปปส. ยังร้องทุกข์กล่าวโทษ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผลหรือมายด์ นักกิจกรรมกลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากกรณีขึ้นปราศรัยในการชุมนุมของราษฎรที่แยกราชประสงค์เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 ด้วย จักรพงศ์ในฐานะสมาชิกคนสำคัญของกลุ่มเคยให้สัมภาษณ์ด้วยว่าทางกลุ่มจะต่อสู้กับกลุ่มผู้เห็นต่างด้วยข้อมูลทางวิชาการและข้อกฎหมาย
ศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ หรือศชอ. เป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีบุคคลที่แสดงความคิดเห็นในลักษณะหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ในยุคการชุมนุมของราษฎร
เฟซบุ๊กเพจของศชอ.สร้างขึ้นในวันที่ 2 กันยายน 2563 หรือประมาณ 1 เดือนหลังทนายอานนท์ นำภา ปราศรัยวิพากษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ในการชุมนุม #เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 จนถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 เพจของศชอ.มีผู้ใช้เฟซบุ๊กกดไลค์ 59,687 บัญชี
แน่งน้อย อัศวกิตติกร อดีตผู้สมัครสมาชิกสภาผู้เเทนราษฎรพรรครวมพลังประชาชาติไทย เคยให้สัมภาษณ์กับประชาไทว่า ศชอ.ถูกตั้งขึ้นมาเพราะตัวเธอและนพดล พรหมภาสิต รองประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย ถูกคุกคามหรือ “บุลลี่” จากผู้มีความเห็นต่างทางการเมืองบนโลกออนไลน์ ต่อมาเมื่อมีการวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ในลักษณะที่อาจเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทไปในวงกว้างมากขึ้น ศชอ. ก็เข้ามาดำเนินการในประเด็นนี้โดยแน่งน้อยให้เหตุผลว่า “พวกเราผ่านการอบรมการใช้มาตรา 112 กันมาแล้ว”
ศชอ. จะเน้นหาตัวคนที่อาจโพสต์เนื้อหาเข้าข่ายผิดกฎหมายผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งเฟสบุ๊ก, ทวิตเตอร์ และช่องทางอื่นๆ เมื่อพบเห็น เมื่อเจอโพสหรือคอมเมนต์ที่อาจเกี่ยวข้องกับการดูหมิ่นสถาบันฯ ก็จะมีการรวบรวมหลักฐานการโพส,คอมเมนต์ และข้อมูลส่วนตัวในโปรไฟล์ของบุคคลนั้น รวมไปถึงเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไป สามารถให้ข้อมูลของบุคคลที่โพสหรือคอมเมนต์ผ่านแบบฟอร์มของทาง ศชอ. และ ศชอ. จะรวบรวมรายชื่อก่อนยื่นไปที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เพื่อให้ดำเนินคดี
ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาศชอ.นำรายชื่อผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่า 1400 รายชื่อ ที่เก็บข้อมูลจากสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และติ๊กต๊อก ที่เผยแพร่หรือส่งต่อเนื้อหาเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ไปมอบให้บก.ปอท.เพื่อดำเนินคดี 
ศชอ.ยังเคยจัดทำแผนที่ปักหมุดสถานที่พำนักของผู้ที่ทางกลุ่มสามารถหาข้อมูลได้ว่าเคยโพสต์หรือส่งต่อข้อความที่อาจเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ 466 คนพร้อมทั้งเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว เช่น สถานศึกษา หรือที่ทำงานของบุคคลดังกล่าว รวมทั้งยังใช้บัญชีอวตารส่งข้อความหรือข้อมูลบางอย่างในลักษณะที่อาจสร้างความหวาดกลัวไปให้ผู้แสดงความคิดเห็นด้วย 
ไทยภักดี เปิดเพจอย่างเป็นทางการบนเฟซบุ๊ก วันที่ 20 สิงหาคม 2563 และจนถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 มีผู้ใช้เฟซบุ๊กกดไลค์เพจนี้ 56,640 บัญชี  มีนพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตผู้สมัคร ส.ส.พิษณุโลกพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำกลุ่มเละมีผู้ร่วมก่อตั้ง 27 คนเช่น หฤทัย ม่วงบุญศรี หรืออุ๊ และว่าที่ ร.ต.นรินทร์ ศักดิ์เจริญชัยกุล เป็นต้น
กลุ่มไทยภักดีเริ่มต้นบทบาทในฐานะกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีจุดยืนปกป้องสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ แต่ในภายหลังนพ.วรงค์ได้จดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองชื่อ“พรรคไทยภักดีประเทศไทย” เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564 

ก่อนหน้านั้นในเดือนธันวาคม 2563 กลุ่ม “ไทยภักดี” แถลงประชาสัมพันธ์แคมเปญ “1 สิทธิ์ 1 เสียง สนับสนุนมาตรา 112 ด้วยยุทธการหักคอเวียดกง” เชิญชวนประชาชนไปร้องทุกข์กล่าวโทษคดีมาตรา 112 กรณีประสบเหตุ โดยให้เก็บหลักฐานและส่งหลักฐานมาที่เพจไทยภักดี ซึ่งจะมีผู้ทำสำนวนส่งกลับไปให้ผู้ส่งข้อมูลนำไปใช้ร้องทุกข์กล่าวโทษผู้กระทำความผิดที่สถานีตำรวจใกล้บ้าน 

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 นพ.วรงค์ในฐานะรักษาการหัวหน้าพรรคไทยภักดีประเทศไทย ยังประกาศเตรียมระดมรายชื่อประชาชน 100,000 คน เพื่อคัดค้านข้อเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลด้วย 
อย่างไรก็ดี ในการดำเนินคดีที่เป็นความผิดต่อแผ่นดินทุกฐานความผิด ไม่ได้หมายความว่า เมื่อมีการกล่าวโทษว่าใครเป็นผู้กระทำความผิดเกิดขึ้นแล้ว ตำรวจจะต้องดำเนินคดี จับกุมผู้ต้องหา และสั่งฟ้องคดีเสมอไป แต่ตำรวจที่รับเรื่องไว้ก็มีหน้าที่ต้องแสวงหาพยานหลักฐานว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ถ้าหากเป็นกรณีที่ไม่มูลความผิด ตำรวจก็จะไม่ดำเนินคดีและสั่งไม่ฟ้องเพื่อให้คดีจบไปได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ที่ถูกกล่าวหา นอกจากนี้หากตำรวจตัดสินใจดำเนินคดีและส่งฟ้องคดีต่ออัยการ อัยการก็ยังมีดุลพินิจที่จะพิจารณาว่าคดีมีมูลและมีเหตุควรจะฟ้องคดีต่อศาลหรือไม่อีกชั้นหนึ่ง
สำหรับคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีคำสั่งฉบับที่ 122/2553 แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่ง มีรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นประธานเพื่อพิจารณาว่า คดีใดควรจะสั่งฟ้องหรือจะดำเนินคดีหรือไม่ ตำรวจที่อยู่ประจำสถานีตำรวจแต่ละแห่งซึ่งเป็นผู้รับเรื่องกล่าวโทษจากประชาชนทั่วไปไม่ได้มีดุลพินิจที่จะดำเนินคดีด้วยตัวเอง ด้านสำนักงานอัยการสูงสุดก็มีแนวปฏิบัติที่ไม่ให้อัยการเจ้าของคดีทุกคนตัดสินใจเองได้ แต่ให้ส่งเรื่องไปให้อัยการสูงสุดเป็นผู้สั่งคดีเท่านั้น ดังนั้น คดีที่จะถูกส่งฟ้องต่อศาลจึงต้องผ่านความเห็นของตำรวจระดับสูง และอัยการระดับสูงมาแล้วเท่านั้น