ตำรวจดุ ศาลเข้ม : รวมข้อมูลนักกิจกรรมที่ถูกส่งเข้าเรือนจำ ในเดือนสิงหาคม 2564

51386665135_5cfc0679d3_w
ในเดือนสิงหาคม 2564 ท่ามกลางการระบาดอย่างหนักของโควิด19 และอุณหภูมิทางการเมืองที่ร้อนแรงขึ้นจากความล้มเหลวในการบริหารจัดการของรัฐบาล นักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวทางการเมืองถูกส่งเข้าเรือนจำอย่างน้อย 11 คน ในจำนวนดังกล่าวเป็นผู้ที่ถูกยกเลิกสัญญาประกันในคดีมาตรา 112 หนึ่งคน เป็นผู้ถูกฝากขังในคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์คดีใหม่หนึ่งคน ส่วนที่เหลืออีกเก้าคน ศาลไม่ให้ประกันตัวด้วยข้อกล่าวหาฐานชุมนุมมั่วสุมก่อความวุ่นวาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 และความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดห้ามชุมนุมตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ   
ทั้งนี้การเพิ่มความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมายของกลไกตามกระบวนการยุติธรรมทั้งตำรวจและศาลในเดือนสิงหาคม 2564 ดูจะเกิดขึ้นสอดคล้องกัน ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม จนถึง 17 สิงหาคม 2564 ตำรวจใช้กำลังสลายการชุมนุมที่เกิดขึ้นในพื้นที่แยกดินแดงใกล้กรมทหารราบที่ 1 อย่างน้อย 8 ครั้ง การชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และพื้นที่แยกนางเลิ้ง ใกล้ทำเนียบรัฐบาลก็ถูกใช้กำลังเข้าสลายอีกที่ละหนึ่งครั้ง ด้วยอุปกรณ์พิเศษทั้งแก๊สน้ำตา กระสุนยาง รถฉีดน้ำแรงดันสูงสลับกันไป รวมทั้งเครื่องขยายเสียงคลื่นความถี่สูง (LRAD) โดยอ้างเหตุว่าผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรงกับตำรวจ ทำลายทรัพย์สินราชการ รวมทั้งพยายามฝ่าแนวป้องกันที่เจ้าหน้าที่ตั้งไว้
ตำรวจยังคงเดินหน้าออกหมายเรียก และออกหมายจับผู้ต้องหาจากการชุมนุมให้ต้องมีภาระทางคดีความมากขึ้น ขณะที่ศาลเองก็เพิ่มความเข้มข้นในมาตรการควบคุมตัวผู้ต้องหาเช่นเดียวกับตำรวจ โดยเมื่อตำรวจนำตัวผู้ที่ถูกจับกุมจากการร่วมการชุมนุมไปขออำนาจศาลฝากขัง แนวโน้มการส่งตัวเข้าเรือนจำก็มีสูงขึ้น และขยายไปยังความผิดอื่นนอกจากคดี มาตรา112 ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้ต้องหาและจำเลยส่วนใหญ่จะได้ประกันตัว

ศาลจังหวัดธัญบุรียกคำร้องปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ต้องหาคดีชุมนุมหน้ากองบังคับการตชด. ภาค 1

ผู้ต้องหา 9 คน ถูกออกหมายจับจากการชุมนุมที่หน้ากองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 ในวันที่ 2 สิงหาคม 2564 เรียกร้องให้ตำรวจปล่อยผู้ต้องหากลุ่มทะลุฟ้าและประชาชนรวม 32 คน ที่ถูกจับระหว่างร่วมการชุมนุมที่หน้าสโมสรตำรวจในวันเดียวกัน ผู้ต้องหาแปดคนเข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวน ในวันที่ 8-9 สิงหาคม 2564 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขณะที่ผู้ต้องหาอีกหนึ่งคนถูกจับกุมตัวตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม หลังเข้าร่วมการชุมนุมที่แยกดินแดงกลับกลุ่ม Free Youth เยาวชนปลดแอก โดยมีรายละเอียดดังนี้

พรหมศร วีระธรรมจารี (ฟ้า) เข้ามอบตัววันที่ 8 สิงหาคม 2564 พรหมศรเป็นสมาชิกกลุ่มราษฎรมูเตลู ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 อย่างน้อย 4 คดี (นับถึง 16 สิงหาคม 2563)

แซม สาแมท ถูกจับตัวหลังเข้าร่วมชุมนุม #ม็อบ7สิงหา ของ #เยาวชนปลดแอก แซมเป็นบุคคลไร้สัญชาติ เคยถูกคุมขังชั้นสอบสวนในคดี #ม็อบ28กุมภา ของกลุ่ม REDEM

พริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิ้น) เข้ามอบตัววันที่ 8 สิงหาคม 2564 พริษฐ์เป็นสมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 อย่างน้อย 20 คดี (นับถึง 16 สิงหาคม 2563)

ณัฐชนน ไพโรจน์ เข้ามอบตัววันที่ 8 สิงหาคม 2564 ณัฐชนนเป็นสมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมถูกดำเนินคดีมาตรา 112 อย่างน้อย 2 คดี (นับถึง 16 สิงหาคม 2563)

สิริชัย นาถึง (นิว) เข้ามอบตัววันที่ 8 สิงหาคม 2564 สิริชัยเป็นสมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมถูกดำเนินคดีมาตรา 112 อย่างน้อย 1 คดี (นับถึง 16 สิงหาคม 2563)

ชาติชาย แกดำ (บอย) เข้ามอบตัววันที่ 9 สิงหาคม 2564 ชาติชายเป็นอดีตสมาชิกกลุ่ม YPD เคยร่วมเคลื่อนไหวกับภาคีsaveบางกลอย และกลุ่มราษฎร

ภาณุพงศ์ จาดนอก (ไมค์) เข้ามอบตัววันที่ 9 สิงหาคม 2564 ภาณุพงศ์เป็นสมาชิกแนวร่วมภาคตะวันออกเพื่อประชาธิปไตย ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 อย่างน้อย 9 คดี (นับถึง 16 สิงหาคม 2563)

ปนัดดา ศิริมาศกูล (ต๋ง) เข้ามอบตัววันที่ 9 สิงหาคม 2564 ปนัดดาเป็นสมาชิกกลุ่มทะลุฟ้า

นพัฒน์ กาเพ็ง (ปูน) เข้ามอบตัววันที่ 9 สิงหาคม 2564 เป็นสมาชิกกลุ่มราษฎรเอ้ย และกลุ่มทะลุฟ้า 

ผู้ต้องหาทั้งเก้าคนถูกตั้งข้อกล่าวหาหลัก 5 ข้อ ได้แก่

1. มั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ก่อให้เกิดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้าหรือผู้สั่งการ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 วรรค 1 และ 3 (ผู้ต้องหาที่สอง แซม สาแมทถูกตั้งข้อกล่าวหาเพียงวรรคหนึ่ง แต่ไม่ถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าเป็นหัวหน้าหรือผู้สั่งการ)

2. ร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดฯ ตามข้อกำหนดฉบับที่ 28 ออกตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ข้อ 8

3. ร่วมกันจัดให้มีการชุมนุมหรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยงการแพร์โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ฯ ตามข้อกำหนดฉบับที่ 28 ออกตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ข้อ 8

4. ร่วมกันกระทำการใดๆ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่อแพร่ระบาดออกไปฯ พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558มาตรา 35,51,52

5. ร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดฯ ตามคำสั่งจังหวัดปทุมธานีที่ 7022/2564 เรื่องกำหนดมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

นอกจากนี้ก็มีข้อกล่าวหาที่เจ้าหน้าที่ตั้งตามพฤติการณ์เฉพาะของผู้ต้องหาบางคน ได้แก่

ข้อหาร่วมกันทำโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาด้วยเครื่องขยายเสียง (ผู้ต้องหาที่สอง แซม สาแมทและผู้ต้องหาที่ห้า สิริชัย ไม่ถูกตั้งข้อหานี้)

ข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295 ประกอบมาตรา 289 (ผู้ต้องหาที่หนึ่ง พรหมศร ผู้ต้องหาที่สาม พริษฐ์ ผู้ต้องหาที่หกชาติชาย และผู้ต้องหาที่เก้า ธนพัฒน์ ไม่ถูกตั้งข้อกล่าวหานี้)

ทั้งหมดถูกนำตัวไปฝากขังต่อศาลจังหวัดธัญบุรีในวันที่ 9 สิงหาคม 2564   ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ผู้ต้องหาทั้งหมดปล่อยตัวชั่วคราวโดยอ้างเหตุ ดังนี้

“ผู้ต้องหาได้กระทำการโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง ทั้งไม่คำนึงถึงความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยรวมในภาวะที่เกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในวงกว้าง ทั้งที่ผู้ต้องหาอยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีอื่นอันเป็นพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าผู้ต้องหาไม่ยำเกรงต่อกฎหมาย หากปล่อยชั่วคราวไปเชื่อว่าผู้ต้องหาจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นอีก จึงยกคำร้อง” 

ในส่วนของพริษฐ์ นอกจากจะไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวแล้ว ในวันเดียวกันศาลอาญายังมีคำสั่งให้ยกเลิกสัญญาประกันที่เขาทำไว้กับศาลอาญาในคดีการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร โดยไม่ทำการไต่สวน

หลังศาลจังหวัดธัญบุรีมีคำสั่งยกคำร้อง ปนัดดาซึ่งเป็นผู้ต้องหาหญิงเพียงคนเดียวถูกนำตัวไปคุมขังที่ทัณฑสถานบําบัดพิเศษหญิง ซึ่งตั้งอยู่ที่คลองห้า ปทุมธานี โดยทนายที่เข้าเยี่ยมปนัดดาระบุว่าการกักตัวตามมาตรการป้องกันโควิด19 ของทัณฑสถานหญิงปทุมธานีจะให้ผู้ต้องขังแยกตัวอยู่คนเดียวในห้องขัง

สำหรับผู้ต้องหาชายอีก 8 คน ถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำชั่วคราวรังสิต ซึ่งเป็นเรือนจำที่เพิ่งถูกจัดตั้งขึ้นในวันที่ 9 มิถุนายน 2564 สมศักดิ์ เทพสุธิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ลงนามในประกาศกระทรวงยุติธรรม เรื่อง กำหนดอาณาเขตชั่วคราวเรือนจำรังสิต มีสาระสำคัญว่า เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด19 จึงจำเป็นต้องจัดหาผู้ต้องขังใหม่ จึงกำหนดให้พื้นที่บางส่วนของสถานกักขังกลางปทุมธานี เป็นเรือนจำชั่วคราวโดยให้สังกัดเรือนจำธัญบุรี 

หลังผู้ต้องหาชายทั้งแปดคนถูกควบคุมตัวที่เรือนจำนี้ในวันที่ 9 สิงหาคม 2564 พวกเขาได้รับการตรวจโควิดด้วยชุดตรวจ ATK ในวันที่ 10 สิงหาคม 2564 ซึ่งผลของผู้ต้องหาทั้งแปดออกมาเป็นลบ ต่อมาวันที่ 14 สิงหาคม 2564 ธนพัฒน์ กาเพ็ง หนึ่งในผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ทางเรือนจำจึงตรวจโควิดด้วยชุดตรวจ ATK อีกครั้งหนึ่ง พบว่าผลตรวจของธนพัฒน์เป็นบวก ทางเรือนจำจึงทำการตรวจหาเชื้อผู้ต้องขังที่อยู่ร่วมห้องกับธนพัฒน์ ในวันที่ 16 สิงหาคม 2564 เพจเฟซบุ๊กของพริษฐ์ซึ่งมีแอดมินเป็นผู้ดูแลโพสต์ข้อความว่า พริษฐ์คิดโควิด เช่นเดียวกับผู้ต้องขังคดีเดียวกันได้แก่พรหมศร ศิริชัย และธนพัฒน์ซึ่งได้รับการประกันตัวไปก่อนหน้านั้นแล้ว 

ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนซึ่งเคยเดินทางเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังคดีนี้เคยให้ข้อมูลไว้กับประชาไทว่า การเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังที่เรือนจำนี้เป็นไปอย่างยากลำบากโดยเฉพาะปัญหาความไม่พร้อมของสถานที่อย่างระบบอินเทอร์เน็ตที่ช้าจนทำให้การพูดคุยกับผู้ต้องขังหลุดอยู่บ่อยๆ นอกจากนั้นก็มีการยืนยันด้วยว่าทนายศศินันท์ ทนายความอาสาของศูนย์ฯก็ติดเชื้อโควิดหลังเข้าเยี่ยมผู้ต้องหาที่เรือนจำนี้ด้วยเช่นกัน โดยหลังเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังทนายศศินันท์ป่วยเป็นหวัดและเมื่อทราบว่ามีเจ้าหน้าที่เรือนจำเจ็ดคนติดเชื้อ เธอจึงตรวจโควิดด้วยชุด ATK และพบว่าผลเป็นบวก  ต่อมาทางกรมราชทัณฑ์ก็ยืนยันข่าวนี้เช่นกัน 

ขังไผ่ ศาลเกรงจะไปก่อภยันตรายหากได้รับการปล่อยตัว

วันที่ 9 สิงหาคม 2564 จตุภัทร์หรือไผ่เดินทางเข้ารายงานตัวกับพนักงานสอบสวนสน.ทุ่งสองห้อง หลังทราบว่าตัวเองถูกออกหมายจับในข้อหาชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่ 10 คน ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง ใช้กำลังประทุษร้ายเจ้าหน้าที่และข้อหาทำให้เสียทรัพย์ซึ่งทรัพย์สาธารณะ เหตุแห่งคดีนี้เกิดขึ้นในวันที่ 3 สิงหาคม 2564 จตุภัทร์กับพวกนัดหมายประชาชนชุมนุมที่หน้าสน.ทุ่งสองห้อง ระหว่างการชุมนุมมีผู้ชุมนุมนำสีสเปรย์มาพ่นทับป้ายสถานีตำรวจทุ่งสองห้อง หลังเข้ารายงานตัว พนักงานสอบสวนทำการฝากขังจตุภัทร์ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ศาลอาญามีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวจตุภัทร์โดยระบุเหตุผลว่า 

“ผู้ต้องหาที่ 1 ถูกดำเนินคดีในลักษณะเดียวกันอีกจำนวนมาก ทั้งเมื่อได้รับการปล่อยชั่วคราวจากศาล โดยศาลได้กำหนดเงื่อนไข ห้ามผู้ต้องหาที่ 1 ไปทำการในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหา หรือก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยผู้ต้องหาที่ 1 มิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไข จนพนักงานสอบสวน ได้มีหนังสือเพื่อขอให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาที่ 1 ที่ได้อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวของศาลนี้ไป กรณีมีเหตุเชื่อว่าหากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาที่ 1 จะมีเหตุหลบหนี หรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นอีก จึงไม่สมควรอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาที่ 1 ให้ยกคำร้อง” 

จตุภัทร์ ถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง ซึ่งเป็นสถานที่กักตัวเพื่อดูอาการของโรคโควิด หากครบ 14 วันแล้วก็จะถูกส่งตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ

ต่อมาทนายความยื่นขอประกันตัวจตุภัทร์ใหม่ ศาลมีคำสั่งในวันที่ 17 สิงหาคม 2564 ว่า “อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา และผู้พิพากษาหัวหน้าคณะแผนกคดีค้ามนุษย์ ได้ร่วมประชุมปรึกษาคดี แล้วมีมติเห็นว่า แม้จตุภัทร์จะไม่ได้กระทำผิดเงื่อนไขของศาล แต่หลังจากได้รับประกันตัวได้เข้าร่วมชุมนุมหลายครั้งจนถูกดำเนินคดีอาญาหลายคดี ในการชุมนุมบางครั้งมีข้อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุม บางครั้งมีการสาดสีใส่สถานีตำรวจหรือที่ทำการพรรคการเมือง ซึ่งเป็นการก่อให้บ้านเมืองไม่สงบเรียบร้อย พอจะถือได้ว่าเป็นการก่อภยันตรายประการอื่นตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108 (3) อันเป็นเหตุให้ศาลสามารถเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวได้ทันทีโดยไม่ต้องมีการกำหนดเงื่อนไขให้ทราบล่วงหน้า” 

ทนายอานนท์ เข้าเรือนจำหลังปราศรัยในโอกาสครบรอบ 1 ปี ม็อบแฮรีพ็อตเตอร์

“เป็นปีสุดท้ายที่จะพูดถึงการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์แล้ว หลังจากนี้อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด พวกคุณไม่มีทางห้ามพระอาทิตย์ไม่ให้ขึ้นได้หรอก คุณห้ามความคิดคนไม่ได้ จะใช้ความรุนแรง ใช้อาวุธมากแค่ไหน คุณก็ฆ่าพวกเราตายไม่ได้หมดหรอก การต่อสู้ต่อไปนี้มันจะมีความหมายมากๆ เพราะมันไม่ใช่อีเวนท์ ไม่ใช่กิจกรรมสัมมนาแล้วกลับ แต่ทุกการชุมนุม คือการเอาชีวิตเข้าแลก เอาความเจ็บปวดเข้าแลก ไปเสี่ยงกับกระสุน เสี่ยงโควิด ที่เรียกว่าสู้ตาย”

คือตอนหนึ่งจากการปราศรัยของทนายอานนท์ นำภา เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ในการชุมนุมเสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาชน ซึ่งเป็นการชุมนุมในโอกาสครบรอบ 1 ปี การชุมนุมเสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย ของวันเดียวกันเมื่อ 1 ปีก่อน ซึ่งเป็นการชุมนุมครั้งแรกที่มีการนำประเด็นปัญหาเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์มาปราศรัยในการชุมนุมอย่างเปิดเผย

หลังขึ้นปราศรัย ทนายอานนท์ถูกออกหมายจับในคดีมาตรา 112 เป็นคดีที่ 13 ของเขา หลังทราบว่า ตัวเองถูกออกหมายจับ ทนายอานนท์เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนในช่วงค่ำวันที่ 9 สิงหาคม 2564 ตามคำบอกเล่าของทนายความ กระบวนการสอบสวนทนายอานนท์แล้วเสร็จตั้งแต่คืนวันที่ 9 สิงหาคมแล้ว แต่ปรากฎว่าในวันที่ 10 สิงหาคม พนักงานสอบสวนก็ยังไม่นำตัวทนายอานนท์ไปส่งต่อศาล ทนายความได้ขอประกันตัวทนายอานนท์กับพนักงานสอบสวนในวันที่ 10 สิงหาคม 2564 แต่พนักงานสอบสวนไม่อนุญาตโดยให้เหตุผลว่า อานนท์เป็นแกนนำหลักในการชุมนุม และการชุมนุมหลายครั้งมีการกระทำความผิด อีกทั้งขณะนี้อยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด หากปล่อยตัวไปก็อาจมีการยุยงให้รวมกลุ่มหรือจัดกิจกรรมที่สุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด นอกจากนี้ยังอาจไปยุยงให้เกิดความไม่สงบ

จากนั้นวันที่ 11 สิงหาคม ทนายอานนท์ถูกพนักงานสอบสวนนำตัวไปที่ศาลอาญากรุงเทพใต้เพื่อขออำนาจศาลฝากขัง ซึ่งศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวทนายอานนท์ คำสั่งซึ่งลงนามโดย อาคม รุ่งแจ้ง อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ ให้เหตุผลว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่าคดีมีอัตราโทษสูงและพนักงานสอบสวนคัดค้านว่า หากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นอีก และมีการฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวของศาลอาญาด้วย จึงเห็นควรไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว      

หลังจากนั้นทนายอานนท์จึงถูกส่งตัวไปคุมขังที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลางเช่นเดียวกับไผ่จตุภัทร์