เสียงจากนักเรียนนายร้อยตำรวจ ในวันที่ความฝันพังทลาย

Police interview
Police interview
สำหรับใครก็ตามที่ฝันใฝ่อยากเป็นตำรวจ จุดตั้งต้นที่ดีที่สุดอย่างหนึ่ง คือการสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารและต่อเข้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจ “เอก” เป็นหนึ่งในเด็กหลายคนที่มีความตั้งใจอยากเป็นตำรวจ และในที่สุดก็สามารถฝ่าฟันการสอบมหาโหดทั้งทางวิชาการและสภาพร่างกาย เพื่อมาใช้ชีวิตอยู่ในรั้วโรงเรียนนายร้อยตำรวจได้
ปัจจุบัน “เอก” เพิ่งจบการศึกษาและเริ่มทำงานเป็นข้าราชการตำรวจได้ไม่นาน ช่วงชีวิตของเขาตั้งแต่เป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจจนถึงตอนนี้ เป็นช่วงเวลาสำคัญที่สถาบันตำรวจต้องเผชิญกับ “การเปลี่ยนผ่าน” ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบ วัฒนธรรมภายใน ไปจนถึงแรงกดดันจากสังคมที่สืบเนื่องมาจากบทบาทของตำรวจในการเป็นด่านหน้าที่ต้องปะทะกับผู้ชุมนุม ความเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่างที่เกิดขึ้นนำไปสู่ความไม่พอใจในหมู่เด็กนักเรียนเตรียมทหารจนมีนักเรียนผู้หนึ่งออกมาให้สัมภาษณ์ถึงความผิดหวังต่อระบบการเรียนการสอน เช่น มีการให้เด็กไปทำปฏิบัติการ  “ไอโอ” 
เราชวน “เอก” ซึ่งเรียกตนเองว่าเป็น “เสื้อแดง” มาพูดคุยถึงความฝันในการเป็นตำรวจ ความเห็นต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโรงเรียนนายร้อยตำรวจ รวมถึงมุมมองของเขาในฐานะตำรวจรุ่นใหม่ที่มีต่อสถาบันตำรวจท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน

ทำไมถึงตัดสินใจเข้าเรียนที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ

“พ่อเป็นตำรวจและเราก็โตอยู่หลังโรงพัก เลยคุ้นชินและโตมาก็อยากเป็นตำรวจเหมือนพ่อมาตั้งแต่เด็ก ส่วนที่เลือกเหล่าตำรวจเพราะส่วนตัวไม่ชอบทหารอยู่แล้ว ที่บ้านเป็นเสื้อแดงจากฝั่งตาและชอบทักษิณมาก เราเลยชอบทักษิณตามไปด้วย พอทักษิณโดนปฏิวัติก็เป็นจุดเริ่มต้นให้เราเกลียดทหาร เราเริ่มศึกษาว่าทำไมทหารต้องทำแบบนั้น แล้วก็รู้ว่าเขาทำแบบนี้กันมาตลอด เลยไม่ชอบมากขึ้น และเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงไม่เลือกเหล่าทหารทั้งที่สอบติดทหารทุกเหล่าแล้วมาเลือกเหล่าตำรวจแทน”

โรงเรียนเตรียมทหาร/นายร้อยตำรวจมีชื่อเสียงว่าระเบียบโหดมาก ตอนเข้าไปเจอเองคิดอย่างไร

“จริง ๆ ตอนเข้าไป [โรงเรียนเตรียมทหาร] ก็ไม่ได้แปลกใจกับระเบียบมาก พอจะคาดเดาได้อยู่แล้ว แต่ยังมีระเบียบยิบ ๆ ย่อย ๆ ที่เราไม่ค่อยใจว่าทำไปทำไม เช่น ต้องขัดรองเท้าให้เงายันพื้นรองเท้า แต่สุดท้ายตอนเช้าก็ต้องเอาไปเดินให้มันเละและตอนกลางคืนกลับมาขัดให้มันเงาใหม่ ระบบมันคือระบบทหาร ใช้ระบบลงโทษ จวก แดก กักอิสรภาพ มากดดัน มีถูกเนื้อต้องตัวบ้างแต่ก็ไม่มาก มีการลงโทษส่วนรวมเยอะ แต่ถามว่าเราต่อต้านระบบไหม ก็ต้องบอกว่าไม่ ตอนเราเข้าไปยังไฟแรงอยู่ เขาสั่งอะไรมาก็ทำหมด เคยมีความรู้สึกท้อและอยากลาออกบ้าง เพราะรู้สึกว่ามันเหนื่อยเกินไป แต่สุดท้ายเราก็อยู่ต่อเพราะมีเพื่อนคอยช่วยกันดึงขึ้นมา”
“พวกที่เข้าไปส่วนใหญ่ 98 เปอร์เซ็นต์ผ่านระบบค่ายติวที่ปูพื้นฐานการใช้ชีวิตในโรงเรียนทหาร ทำให้พอจะคุ้นชินระดับหนึ่ง แต่พวกที่รับไม่ได้เลยก็มี ทั้งเรื่องการลงโทษ หรือบางอย่างที่มันผิดวิสัยของมนุษย์ปกติ เช่นการให้ผู้ชายต่อแถวกัน ‘จูงช้าง’ เรื่องแบบนี้ก็ทำให้มีคนออกไปบ้างพอสมควร อย่างรุ่นเราก็มีคนออกไปสิบกว่าคน”

คิดอย่างไรกับการที่มีเด็กเตรียมทหารออกมาเล่าถึงความผิดหวังของตนเองต่อโรงเรียน

“ที่มีคนออกมาให้สัมภาษณ์ แม้จะห่างกันไม่กี่ปี แต่มันเป็นคนละยุคกับตอนที่เราเรียนอยู่ สมัยเรายังไม่มีการมาล้างสมอง ยัดเยียดความคิดอะไรกันแบบนี้ ตอนนั้นแค่ท่องว่ารักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งก็ไม่ได้มีคนต่อต้านอะไรเพราะถึงสังคมอาจจะไม่ได้ปกติมาก แต่ก็ไม่ได้แย่ แต่จากที่มีคนออกมาเปิดเผยก็คิดว่ามันแย่มาก ๆ เด็กส่วนใหญ่แยกออกอยู่แล้วว่าอะไรควรไม่ควรทำ แต่พอเด็กเข้ามาแล้วถูกบังคับให้ไปทำไอโอ ทำให้เป็นเครื่องจักรไร้ค่า เหมือนเอาความฝันของเด็กสี่ร้อยคนที่อยากเป็นทหาร อยากเป็นตำรวจที่ดี มาทำลายทิ้ง”
“การเปลี่ยนรัชกาลเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ หลังจากที่รัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต เราอยู่โรงเรียนนายร้อยตำรวจพอดี ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด การตัดผม การแสดงออก การแสดงความคิด มีคำสั่งมาใหม่มาให้รีเซ็ตระเบียบทุกอย่าง อย่างจิตอาสาก็บังคับทุกคนเป็น ให้ไปสร้างภาพเก็บขยะ ปลูกต้นไม้ และทำปฏิบัติการไอโอ ให้ไปเรียนเรื่องพระมหากษัตริย์ ไล่ยาวมาตั้งแต่พ่อขุนรามคำแหงยันรัชกาลที่ 10 เรียกง่าย ๆ ก็คือล้างสมอง แต่เอาตรง ๆ เด็กส่วนใหญ่รู้กันอยู่แล้ว จะมาล้างสมองในยุคนี้มันยาก รู้ ๆ กันอยู่ว่าความจริงเป็นอย่างไร”
“เอาเรื่องพื้นฐานที่สุด แทนที่พอขึ้นปีสองในโรงเรียนนายร้อยตำรวจแล้วจะได้ไว้ผมยาวขึ้น ต้องมาโกนหัวทุกอาทิตย์ นิ้วต้องหยิบผมไม่ได้ ส่วนเรื่องการแสดงออกก็ต้องทำอย่างไรก็ได้ให้แสดงความจงรักภักดีออกมา เจอพระบรมฉายาลักษณ์เมื่อไหร่ก็ต้องยืนตรง เดินผ่านก็ต้องทำความเคารพทันที ซึ่งต่างกับเมื่อก่อน เราอาจจะทำความเคารพด้วยใจอยู่แล้ว แต่ไม่มีมาจับผิดแบบในตอนนี้ เรื่องตำรวจถอดเสื้อครึ่งท่อนตอนกินข้าว ก็จะมีคนมาถ่ายรูปแล้วก็เอาไปฝึกทำโทษ คนไม่พอใจกันมาก อย่างหนังสือขอความเมตตาที่เอาออกมาเผยแพร่ก็เป็นเรื่องจริง เขาฝึกกันมานานเพื่อจะได้ทำงานเป็นตำรวจ แต่ถึงเวลาก็เอาเขาไปฝึกทรมาน ถ้าขัดขืนว่าไม่อยากไปก็โดนเอาไปขังอีก”

แล้วตอนนี้ที่เป็นตำรวจอยู่ รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงนี้ด้วยไหม

“[ความเปลี่ยนแปลง] ส่งมาถึงตำรวจด้วยแน่ ๆ ทุกวันนี้ยังมีตำรวจที่ถูกเอาไปฝึกล้างสมองเพื่อเป็น local cat ซึ่งคล้าย ๆ กับหน่วยเฉพาะกิจตามโรงพักที่เอาไว้ทำงานของวัง แต่ก็ไม่มีใครอยากไป  วันที่เราไปคัด เอาทั้งหมด 8 คน จาก 14 คน มีคนสมัครใจไปแค่คนเดียว สุดท้ายก็ต้องใช้การจับฉลากซึ่งก็คือการบังคับ อย่างเราโชคดีที่ไม่โดน งานที่พวกนี้จะโดนสั่งไปทำคืองาน ว.5 ซึ่งหมายถึงภารกิจลับที่ไม่สามารถบอกได้ว่าใครสั่งมาหรือทำเพื่อจุดหมายอะไร อย่างงานไอโอหรือให้สืบว่าในพื้นที่มีใครเป็นแบบไมค์ ไผ่ หรืออานนท์ไหม งานแบบนี้เรียกงาน ว.5”
“ถ้าเป็น local cat จะได้เงินประจำตำแหน่งมากขึ้น 4,000 บาท ถ้าสมัครใจไปฝึกอาจจะได้เป็นตำรวจดีเด่น การพิจารณาเลื่อนขั้นก็อาจได้รับการพิจารณาก่อนคนอื่น แต่ถึงได้ขนาดนี้คนยังไม่อยากไป เพราะเขารู้ว่าต้องไปทำงานอะไรหรือทำงานให้ใคร การไปฝึกไม่ได้สบาย ต้องไปฝึกประมาณสามเดือนในศูนย์ฝึกที่คล้าย ๆ กับค่ายกักกันล้างสมอง พอออกมาต้องทำงานที่ไม่ชอบ ตำรวจรู้กันอยู่แล้วว่ายุคสมัยนี้มันเป็นอย่างไร พวกเราขอทำงานแบบปกติดีกว่า”
“อีกความเปลี่ยนแปลงหนึ่งคือเคยเห็นพระบรมฉายาลักษณ์ที่ตั้งตามถนนไหม ตั้งแต่มีม็อบมา สิ่งนี้คือสิ่งที่สำคัญที่สุด ไม่ได้สนใจเรื่องม็อบ ประชาชน หรือแม้กระทั่งภาพลักษณ์ตำรวจหรอก เขาสนใจแค่ว่าพระบรมฉายาลักษณ์ในพื้นที่ทุกจุดต้องปลอดภัย ทุกครั้งที่มีการประชุมก็จะพูดแต่เรื่องนี้ ให้มีการออกตรวจบริเวณที่มีการวางพระบรมฉายาลักษณ์ ห้ามมีการขีดเขียน ปาสี หรือแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ใด ๆ เด็ดขาด คือมันเปราะบางมาก ระดับผู้กำกับเจ้าของพื้นที่ก็กลัว เพราะถ้ามีภาพหลุดไปว่ามีการปาสีใส่พระบรมฉายาลักษณ์ก็จะมีปัญหาทันที หรือถ้าเผา ผู้กำกับคือซวยแบบไม่ต้องตั้งคำถามเลย โดนย้ายหรือตั้งกรรมการสอบทันที แต่ถามว่ามีประโยชน์อะไรกับประชาชนไหม ก็ไม่มี แถมแนวนโยบายแบบนี้ก็ลำบากตำรวจ ไปเพิ่มงานให้สายตรวจอีก”

ในฐานะที่เรียกตัวเองว่า “เสื้อแดง” และยังทำงานเป็นตำรวจ คิดเห็นอย่างไรกับการที่ตำรวจตกเป็นเป้าโจมตีจากสังคมในปัจจุบัน

“จากที่คุยกับเพื่อนตำรวจที่ถูกส่งไปคุมม็อบมา เราพอจะแบ่งกันได้สามกลุ่มอาจจะไม่ครอบคลุมทั้งหมด กลุ่มแรกคือพวกที่ไม่ได้ชอบรัฐบาล แต่พอโดนสั่งไปคุมม็อบก็ไม่ชอบม็อบด้วยเพราะทำให้ตัวเองทำงานลำบากขึ้น บางคนโดนเกณฑ์มาจากต่างจังหวัด ต้องจากหน้าที่การงาน ครอบครัว เพื่อมาคุมม็อบ กลายเป็นว่าตำรวจพวกนี้เริ่มอคติกับผู้ชุมนุม กลุ่มที่สองคือกลุ่มที่ไปเพราะหมั่นไส้ม็อบ พวกนี้คือตำรวจสลิ่ม ถ้าผู้ชุมนุมมาก็อยากจะกระทืบอยากจะยิงให้ตาย แต่พวกนี้ถือว่าเป็นส่วนน้อยมาก ตำรวจชุดคุมฝูงชน (คฝ.) แถวหนึ่ง 20 คนอาจจะมีสักสองคน กลุ่มที่สามคือกลุ่มที่เกลียดรัฐบาล เข้าใจและสนับสนุนม็อบ แต่ด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่างทำให้การตัดสินใจตรงหน้างานมันเป็นไปได้ยาก สำหรับตำรวจผู้น้อยชั้นปฏิบัติ มันมีทั้งเรื่องหน้าที่การงานกับครอบครัวเข้ามาเกี่ยวข้องมาก บางคนมีลูกเมีย หาเงินเลี้ยงครอบครัวคนเดียว พอเขาสั่งให้ไปม็อบก็ต้องไป หากไม่ไปก็จะโดนลงโทษตัดเงินเดือนหรือลดขั้น พอไปม็อบถ้าเขาสั่งให้ยิงแล้วไม่ยิง จะโดนขังก่อน หลังจากนั้นก็โดนสอบสวนวินัย ถ้าให้เหตุผลเข้าข้างผู้ชุมนุมก็โดนไล่ออกเลย ถามว่าถ้าตำรวจโดนไล่ออก ใครรับผิดชอบชีวิตครอบครัวของเขาได้บ้าง มันเป็นการตัดสินใจที่ถ้าไม่เจอกับตนเองก็พูดได้ยาก”
“เคยอ่านที่มีคนเขียนว่าคนที่ถูกตำรวจยิงก็มีครอบครัวเหมือนกัน เราก็เอามาคิด ระหว่างครอบครัวคนอื่นกับครอบครัวตัวเอง เราก็ต้องเลือกครอบครัวตัวเองอยู่แล้ว อาจจะมีรู้สึกผิดบ้าง แต่ทุกคนก็มีความเห็นแก่ตัวอยู่ ถามว่าถ้าไม่ยิง สุดท้ายเขาก็หาคนอื่นมาทำแทนอยู่ดี นี่คือเหตุผลว่าทำไมตำรวจถึงยังเป็นหมารับใช้จนถึงทุกวันนี้”
“เรายอมรับคำว่าหมารับใช้ของรัฐบาล มันเถียงไม่ได้ พอไปคุมม็อบก็คือไปรับคำสั่งอย่างเดียว มีคนเคยถามเราว่าถ้าเราถูกส่งไปเราจะยิงไหม เราบอกเลยว่าเราไม่ยิง อาจจะเป็นเพราะว่าพ่อเราเป็นตำรวจเลยทำให้มีอีโก้ว่าถ้าซวยขึ้นมาจะมีคนช่วย ครอบครัวเราไม่ได้เดือดร้อนเรื่องเงินทอง ดังนั้นเราจะไม่ยิง แล้วจะทำโทษอะไรก็ทำ ถ้าโดนไล่ออกก็จะไปหาทางรอดเอง แต่พอเราไม่ทำเขาก็หาคนอื่นที่มีปัจจัยบังคับมายิงอยู่ดี”
“ที่ผ่านมา มีตำรวจหลายคนที่โดนขังหรือลดขั้นเพราะแสดงความคิดเห็นไปในทางม็อบ ที่เห็นชัดเลยตำรวจที่ไป คฝ. แล้วชูป้าย โดนขังและลดขั้น พอมีกรณีแบบนี้เยอะ ๆ ตำรวจก็ไม่กล้า ต้องทำใจยอมรับคำด่าไป ถ้าเชียร์ม็อบแล้ววันหนึ่งเราต้องซวยขึ้นมา จะมีใครมาช่วยเราได้ไหม ก็คงไม่มี”

อุดมคติที่คิดไว้กับความเป็นจริงต่างกันอย่างไร

“ความคิดของตำรวจทุกคนคืออยากจับคนเลวมาลงโทษ แต่พอมาทำจริง ๆ แล้วมันยากที่จะบอกว่าใครดีใครเลวบ้าง เลยทำให้รู้สึกเหนื่อยบ้าง แต่อีกประเด็นหนึ่งก็คือตำรวจต้องรับใช้ประชาชนหรือเปล่า อุดมคติที่ท่อง ๆ กันมาทำไม่ได้หรอก ในความเป็นจริงตำรวจรับใช้ใคร ไม่ใช่ประชาชนอย่างเดียวแน่ ๆ มันมีคนอื่นอีก พอมีตำแหน่งหน่อยก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว พอมาเจอกับตัวเลยเข้าใจประโยคประโยคนึงเลยว่า ‘กฎหมายหมายมีไว้ใช้กับคนจนและคนที่ไม่มีเส้นสาย’ เหมือนกฎหมายในไทยมีไว้ใช้กับคนแค่บางกลุ่ม หรือพูดอีกแนวก็คือมีไว้ใช้รังแกฝ่ายตรงข้ามนั่นแหละ ดูตัวอย่างชัด ๆ ก็ม็อบเนี่ย ทำไมม็อบฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลถึงโดนหมายจับ แต่ม็อบฝ่ายรัฐบาลไม่มีใครไปยุ่งเลย ทั้ง ๆ ที่อยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน พอเจอแบบนี้หลายครั้ง ก็ท้อนะ หลายครั้งก็เคยคิดอยากจะลาออกจริง ๆ”

ฝากอะไรทิ้งท้ายหน่อย

“สุดท้ายนี้ก็คงไม่ได้มาขอความเห็นใจให้ตำรวจนะ แค่อยากให้รู้ว่าว่าสาเหตุจริง ๆ แล้วมันเป็นยังไง แต่ก็สงสารตำรวจที่ไป คฝ. เขาไม่ได้อยากทำแบบนั้นทุกคน บางครั้งมันเลือกไม่ได้ แค่อยากให้รู้ไว้ว่าไม่ใช่ตำรวจทุกคนที่อยากทำร้ายประชาชน ยังมีตำรวจที่เข้าใจประชาชนอยู่ อยากให้ช่วย ๆ เหลือกัน แล้วไว้ไปเจอกันที่ม็อบครับ”