วชิรวิชญ์ ลิมป์ธนวงศ์: ว่าด้วยศรัทธาและราคาที่ต้องจ่ายเพื่อพาสังคมไทย “ทะลุฟ้า”

วชิรวิชญ์ ลิมป์ธนวงศ์ หรือ พีค ทะลุฟ้า เป็นหนึ่งในผู้ชุมนุมกลุ่มทะลุฟ้า ที่ร่วมการชุมนุมเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564 ที่หน้า กองบังคับการตํารวจปราบปรามยาเสพติด การชุมนุมครั้งดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากในวันที่ 1 สิงหาคม สมาชิกเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรีบางส่วนถูกจับกุมระหว่างร่วมคาร์ม็อบและถูกควบคุมตัวไปที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 ปทุมธานี ในช่วงเย็นจึงมีประชาชนบางกลุ่มเดินทางไปชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวคนที่ถูกจับกุมหลังการชุมนุมที่หน้ากองบังคับการตชด.ภาค 1 ยุติ รถเครื่องเสียงของกลุ่มผู้ชุมนุมถูกสกัดจับ คนขับถูกควบคุมตัวและรถเครื่องเสียงถูกยึดโดยเจ้าหน้าที่ 

กลุ่มทะลุฟ้าจึงไปจัดการชุมนุมที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพย์ติดซึ่งเป็นสถานที่ที่รถเครื่องเสียงถูกยึดไว้ในวันรุ่งขึ้น ระหว่างการชุมนุมเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนเข้าล้อมพื้นที่และทำการจับกุมผู้ร่วมชุมนุมไปรวม 29 คน 

ในวันที่ 3 สิงหาคม ผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมจากการชุมนุมในวันที่ 2 สิงหาคม ถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง  ในความผิดฐานร่วมกันพยายามข่มขืนใจเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติการอันมิชอบด้วยหน้าที่หรือให้ละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย และร่วมข้อหากันชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ที่มีการประกาศหรือคำสั่งกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด หลังได้รับการประกันตัวภายใต้เงื่อนไข ห้ามก่อความวุ่นวายหรือกระทำกิจกรรมในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหา ผู้ต้องหาถูกพาตัวไปแสดงออกปล่อยตัวที่สน.ทุ่งสองห้องซึ่งพวกเขาได้ไปแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่หน้าสน.และมีการทำกิจกรรมสาดสี จนเป็นเหตุให้พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนสัญญาประกันรวม 16 คน

“ครอบครัวผมเป็นครอบครัวที่มีความตื่นตัวทางการเมือง แต่เป็นอีกฝั่งหนึ่ง ตอนผมเด็กๆ ประมาณสิบขวบที่กลุ่มพันธมิตรฯ (พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย) เค้าชุมนุมกัน พ่อกับแม่ผมก็พาผมมาชุมนุมด้วย ตอนนั้นผมยังเด็กก็ยังไม่รู้เรื่องอะไร รู้แค่ว่าตรงนั้นมันวุ่นวาย”

“ตอนที่กลุ่มกปปส. ออกมาชุมนุม พ่อก็มาร่วมชุมนุมที่กรุงเทพ และก็ได้เป็นตัวแทนจากภาคตะวันออกขึ้นไปพูดบนเวทีด้วย ตอนนั้นผมเรียนอยู่ประมาณ ม.5 ยังไม่ได้สนใจการเมืองอะไร แค่ใช้ชีวิตแบบเด็กมัธยมทั่วไป อยู่กับเพื่อนเล่นเกมไปตามเรื่อง แล้วผมก็ไม่ชอบเรื่องที่พ่อไปชุมนุม ไม่ใช่เพราะเรื่องอุดมการณ์แต่เป็นเรื่องเงินเพราะการไปชุมนุมของพ่อมันมีค่าใช้จ่ายเยอะ แม่ผมเค้าก็ว่าพ่อ คือเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองพ่อกับแม่ก็ไม่ได้ต่างกันหรอก แต่แม่เค้ามีปัญหาเรื่องการใช้จ่ายของพ่อ”

“ถ้าถามว่าตัวผมเองมาสนใจการเมืองได้อย่างไร ก็ต้องบอกเลยว่าหลักๆ เป็นเพราะเพื่อน ตอนเรียนมัธยมที่จันทบุรี ผมมีกลุ่มเพื่อนสนิทที่ไปไหนไปกัน พอจบมัธยมเราก็แยกย้ายกันไปเรียนมหาลัยแต่ก็จะนัดรวมตัวกันที่จันทบุรีเป็นระยะเพื่อนผมส่วนนึงไปเรียนที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นแล้วก็ได้รู้จักพวกพี่ไผ่ (จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา) ก็มาเล่าให้ผมฟังว่าพวกเค้าทำกิจกรรมอะไรกันแล้วก็เคยชวนพี่ไผ่มาที่จันทบุรีด้วย สุดท้ายผมก็เลยได้เข้ามาร่วมกิจกรรมแล้วก็ได้เรียนรู้จากพี่ไผ่หลายอย่างจนผมเป็นผมอย่างทุกวันนี้”

“ผมมาเริ่มทำกิจกรรมครั้งแรกช่วงเดือนกันยายน 2563 ตัวผมเองไม่เคยทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยมาก่อน มาถึงก็โดดมาทำกิจกรรมที่ส่วนกลางเลย ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะผมไม่ได้รู้สึกผูกพันอะไรกับมหาวิทยาลัย กับการเรียนภายใต้ระบบการศึกษาไทย มันเหมือนกับว่าผมเรียนมหาลัยตามที่ผู้ใหญ่ต้องการก็เท่านั้น”

“ช่วงเดือนกันยา 63 ผมยังไม่ได้ไปทำกิจกรรมสังกัดกลุ่มไหนเป็นพิเศษ ส่วนใหญ่ก็จะคอยตามพี่ไผ่ ไปชุมนุมนี่ก็ไปทั้งในฐานะทีมงานและไปเป็นมวลชนให้เขานับหัว ไม่ได้สนใจว่ากลุ่มไหนจัด ผมก็ร่วมชุมนุมเรื่อยมากระทั่งมาโดนจับตอน ม็อบ 13 ตุลาฯ (13 ตุลาคม 2563) ซึ่งผมถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญครั้งหนึ่งในชีวิต หลังถูกจับและเข้าคุกไปหกวัน พอออกมาผมก็ดรอปเรียน เข้ามาเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างจริงจัง”

“วันที่ 13 ตุลาฯ ผมกับกลุ่มคณะราษฎรอีสานไปชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ผมไปยืนล้อมรถเวทีกันไม่ให้ตำรวจขึ้นไปจับคนบนรถเวที ก็ยอมรับว่าตอนนั้นผมยังควบคุมอารมณ์ได้ไม่ดี ตอนที่ตำรวจพยายามจะฝ่าเข้ามาผมก็ด่าแบบสาดเสียเทเสียไปยกใหญ่ ตำรวจคงหมั่นไส้ ตอนผมโดนจับเลยโดนจัดหนักไปด้วย จำได้ว่าตอนนั้นผมยืนกางแขนหันหน้าเข้าไปทางรถเครื่องเสียง ตอนที่จับตำรวจก็ล็อกคอผมแล้วก็ถีบผม พอผมล้มหงายหลังก็ตุ้บตั้บๆอยู่พักหนึ่งก่อนจะเอาผมขึ้นไปที่รถผู้ต้องขัง ผลคือผมได้แผลมาทั้งตัวแล้วก็ดั้งร้าว หลังถูกจับครั้งนั้นตอนที่เราถูกเอาตัวไปศาลยังคิดอยู่ว่าไม่ได้โดนข้อหาหนัก เป็นแค่ข้อหาพ.ร.บ.ความสะอาดแล้วก็ข้อหาตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังไงก็คงได้ประกัน ปรากฎว่าศาลไม่ให้ ผมก็ช็อก”

“ชีวิตในเรือนจำมันแย่มาก ตอนพวกผมเข้าไปมันมีโควิดแล้ว เค้าเอาตัวเราไปกักโรค ไม่ได้กักเฉพาะพวกเราที่เข้าไปใหม่ เอาไปกักรวมกับคนที่โดนคดีอื่น จำได้ว่าตอนนั้นช้อนก็มีไม่พอใช้ต้องเวียนกัน พออยู่ในเรือนจำได้หกวันตำรวจไปขอฝากขังพวกเราต่อ ศาลบอกพวกเราว่าจะให้ฝากขังต่อ ตอนนั้นพวกเราก็เข้าห้องขังกันแบบหงอยๆ จ๋อยๆ ปรากฎพอสองทุ่มวันเดียวกันมีคำสั่งตกมาว่าให้ประกันตัวแบบไม่บอกล่วงหน้า ผมก็งง เพื่อนคนอื่นๆที่เรียนนิติฯ ก็งงกันหมดว่ากระบวนการที่เกิดขึ้นกับตัวเองมันคืออะไร”

“พอผมออกมาผมก็โดนที่บ้านด่าที่หน้าเรือนจำ ทำนองว่ารู้ใช่ไหมที่เข้าไปก็ทำตัวเอง ผมรู้สึกแย่มาก ไม่เข้าใจทำไมต้องพูดแบบนั้น เป็นครั้งหนึ่งที่รู้สึกว่าตัวเองโดนทำร้ายโดยสถาบันครอบครัว แต่หลังๆมาผมก็ได้คุยกับที่บ้าน แลกเปลี่ยนพุดคุยกัน จนคิดว่าเดี๋ยวนี้เค้าเข้าใจผมมากกว่าเดิมแล้ว” 

“การถูกดำเนินคดีและถูกขังในเรือนจำทำให้ผมเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ผมถูกกระทำในสิ่งที่ผมไม่เคยคิดมาก่อน ผมได้เห็นสภาพที่เลวร้ายในเรือนจำ ผมคิดว่าผมคงไม่ใช่คนสุดท้ายที่จะเจออะไรแบบนี้ผมเลยตัดสินใจออกมาสู้ เพื่อคนอื่นๆจะได้ไม่ต้องเจออะไรแบบที่ผมเจอ พอออกมาจากเรือนจำผมก็ดร็อปเรียน 3 วิชาที่เหลือแล้วก็มาเคลื่อนไหวกับเพื่อนๆแบบเต็มที่ จนกระทั่งได้มาร่วมกิจกรรมเดินทะลุฟ้าช่วงต้นปี 64 ก่อนที่พี่ไผ่จะเข้าเรือนจำ” 

“ทะลุฟ้ามันเริ่มมาจากชื่อกิจกรรมเดินทะลุฟ้า ที่ราษฎรจัดร่วมกับเครือข่าย People Go การเดินครั้งนั้นมันเป็นการทดลองวิธีเคลื่อนไหวใหม่ พอเราเดินมาถึงกรุงเทพและส่งพี่ไผ่เข้าศาลเรียบร้อยเราก็เปิดประชุมกันหน้าศาลนั่นแหละว่าจะเอายังไงต่อ สุดท้ายก็ได้ข้อสรุปกันว่าก่อนหน้านี้มันมีการเคลื่อนไหวแบบแฟลชม็อบ แบบปราศรัยแต่ยังไม่มีชุมนุมค้างคืนเราก็เลยตกลงกันว่าจะตั้งหมู่บ้านทะลุฟ้าแล้วก็ไปตั้งแคมป์กันที่ทำเนียบเลย เราชุมนุมตรงนั้นได้ประมาณสอมสัปดาห์หมู่บ้านก็โดนสลาย ยังจำได้ว่าคืนนั้นผมคุยงานเสร็จกว่าจะเข้านอนก็ตีสาม พอตีห้ามีคนมาปลุกบอกคฝ.มา ผมได้ยินเขาประกาศว่าให้เวลาสามนาที ตอนนั้นเก็บของยังไม่ทันไรก็โดนจับแต่รอบนั้นเราแค่ถูกคุมตัวไปตชด.แล้วได้ประกัน ไม่ต้องเข้าเรือนจำ”

“หลังถูกจับรอบหมู่บ้านทะลุฟ้าผมก็เคลื่อนไหวเรื่อยมา ช่วงที่พี่ไผ่อยู่ข้างนอกผมเป็นผู้ช่วยพี่ไผ่คอยดูแลประสานงานอะไรต่างๆ พอพี่ไผ่เข้าเรือนจำผมก็หาตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองในทะลุฟ้าจนช่วงหลังๆผมจะทำหน้าที่หางานศิลปะมาแสดงในพื้นที่การชุมนุมรวมทั้งประสานศิลปินมาทำผลงานในที่ชุมนุม” 

“สำหรับเหตุการณ์ที่หน้าตำรวจปราบปรามยาเสพติด (กองบังคับการตํารวจปราบปรามยาเสพติด) วันนั้นคนขับรถเครื่องเสียงของเพื่อนเราถูกจับและรถเครื่องเสียงถูกยึด พวกเราก็เลยไปชุมนุมที่นั่นเพื่อเรียกร้องให้เขาปล่อย ตัวผมเองก็เอารถของผมไปร่วมด้วยสุดท้ายวันนั้นผมก็ถูกจับอีกรอบ”

“เอาจริงๆเลยนะตอนที่พวกเราถูกเอาตัวไปที่ตชด. (กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน) ในวันที่ 2 สิงหาฯ ผมกับเพื่อนๆไปในโหมดของ “เด็กขี้น้อยใจ” คือ ไอ้เหี้ย รถเครื่องเสียงมึงก็เอาไป พี่กูที่ขับรถเครื่องเสียงพวกมึงก็จับไป ละพวกมึงกูยังจะจับกูอีก นี่มาหาดีๆก็ยัดข้อหาโน่นนี่นั่น พวกผมก็เลยคุยกันตอนที่ไปตชด.ละกันว่าเราจะขบถให้เขาดูให้รู้ว่าทะลุฟ้ามาเยือน แล้วก็แบบที่เห็น 

พี่เห็นตัวหนังสือสีน้ำตาล(ตัวหนังสือที่เขียนในห้องที่ผู้ชุมนุมกลุ่มทะลุฟ้าถูกควบคุมตัวในกองบังคับการตชด.ภาค 1) มั้ย อันนั้นพวกผมเอาผงโอวันตินกะกาแฟมาละลายใส่น้ำน้อยๆข้นๆ แล้วก็แบบที่เห็น ส่วนพวกสีดำนั่นพวกผมแกะพวกถ่านรีโมทแอร์ออกมาแล้วข้างในมันจะมีผงดำๆ แล้วก็เอาไปเขียน แน่นอนวันนั้นพวกเราตั้งใจป่วน แต่มันก็มีเหตุผลรองรับคือ พวกเราถูกจับมาเพียงเพราะไปแสดงออก ถึงเราจะไปพ่นสีสถานที่ราชการ แต่การพ่นสีของพวกเรามันก็เทียบไม่ได้เลยกับสิ่งที่รัฐทำ การพ่นสีของเรามันอาจจะทำให้เกิดความสกปรกในสายตาผู้มีอำนาจแต่ผมไม่คิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันจะมีน้ำหนักพอให้ใครบางคนต้องติดคุก แล้วที่สำคัญวันนั้น (2 สิงหาคม) ถ้าตำรวจไม่ได้จับเพื่อนเราไป ไม่ได้ยึดรถเครื่องเสียงไว้เราก็คงไม่ได้ไปที่นั่น (กองบังคับการตํารวจปราบปรามยาเสพติด) 

วันรุ่งขึ้นพอศาลให้ประกันตัว พวกเราถูกพาตัวจากตชด.มาปล่อยตัวที่สน.ทุ่งสองห้อง ตอนนั้นมีเพื่อนๆเราเตรียมมารอรับอยู่ที่สน. เราก็เลยจัดเต็มกัน คือปกติทุกๆกิจกรรมของทะลุฟ้าก็จะใช้สีอยู่แล้ว ซึ่งพวกเราถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการสันติวิธี เราก็ละเลงสีกันที่หน้าสน. มีแสดงสัญลักษณ์ติดธงติดอะไรแล้วก็สลายตัว แล้วจากเหตุวันนั้นเราก็ถูกถอนประกัน” 

“ผมไม่แปลกใจหรอกกับสิ่งที่ตัวเองกำลังเผชิญ อย่างที่บอกว่าผมเคยเข้าเรือนจำมาแล้ว และผมไม่ได้มีความกังวลใจอะไร เพราะมันเป็นเรื่องธรรมดา สำหรับคนที่ต่อสู้กับรัฐไทยนี่เป็นราคาที่ต้องจ่ายอยู่แล้ว ครั้งนี้ผมถึงรู้สึกเฉยๆ หลังจากที่เคยเข้าคุกเคยถูกกระทำโดยกระบวนการยุติธรรม ตัวผมเองไม่เหลือความเชื่อมั่นอะไรในกระบวนการยุติธรรมหรือศาลอีกแล้ว สิ่งที่ผมเชื่อมั่นตอนนี้คือเชื่อในความเปลี่ยนแปลง เชื่อในประชาชนว่าข้อเรียกร้องสามข้อที่เราผลักกันมาเมื่อปีที่แล้วมันต้องเป็นไปได้อย่างน้อยๆก็ข้อหนึ่ง ถ้าวันที่ 16 ผมจะถูกถอนประกันก็อยากบอกคนที่อยู่ข้างนอกว่าไม่ต้องเรียกร้องปล่อยเพื่อนเราแล้ว ให้เดินหน้าสามข้อเรียกร้องไปเลย”