นอกจาก แก๊สน้ำตา กระสุนยาง คฝ. และเยาวรุ่น แล้วมีอะไรอีก ที่สมรภูมิดินแดง?

การรวมตัวกันของกลุ่มผู้ชุมนุม “ทะลุแก๊ส” บริเวณแยกดินแดงได้ปรากฎภาพการปะทะกันระหว่างเยาวชนและเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนครั้งแล้วครั้งเล่า โดยมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยาง แก๊สน้ำตา ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นต่างก็ได้รับผลกระทบทั้งในแง่ความปลอดภัยและการใช้ชีวิตประจำวัน จนภาพ “ความรุนแรง” กลายเป็นภาพจำของการชุมนุมในบริเวณนี้ อย่างไรก็ตามจากการลงพื้นที่ของผู้สังเกตการณ์สิ่งที่ได้พบเห็นไม่ได้มีเพียงความรุนแรง แต่ ณ สมรภูมิดินแดง ยังมีพ่อค้าแม่ค้ามาตั้งร้านขายของ มีเต็นท์ปฐมพยาบาล บางวันก็มีศิลปินมาเล่นดนตรีสร้างสีสันให้ผู้เข้าร่วมชุมนุม มีหลายมุมที่ไม่ต่างจากการพื้นที่ชุมนุมอื่นๆมากนัก ขาดไปแค่เวทีสำหรับปราศรัยเท่านั้น 

๐ #ข้าวไข่เจียว เพื่อประชาธิปไตย

เวลา 17.00 น.ของทุกวัน คนที่ไปรวมตัวกันบริเวณแยกดินแดงจะได้เห็นรถปิ๊กอัพเปิดท้ายขายข้าวไข่เจียว ติดป้ายท้ายรถว่า #ข้าวไข่เจียว เพื่อประชาธิปไตย เจ้าของร้านเล่าให้ฟังว่า มาขายที่บริเวณสามเหลี่ยมดินแดงเป็นประจำทุกวัน โดยเกือบทุกวันก็จะมีคนมาเหมาแล้วให้แจกคน คนส่วนใหญ่ที่มาเข้าคิวรับข้าวก็ไม่ได้มีแต่คนมาที่ม็อบ มีทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ คนไร้บ้าน นักข่าว เจ้าของร้านบอกว่า “เราไม่ได้แบ่งแยกว่าให้เฉพาะม็อบหรือเด็ก เห็นใครเดินผ่านไปมาแถวนี้ก็เรียกให้กินหมด กวักมือเรียกให้มากินข้าวฟรี”

๐ คุณลุงขายน้ำอ้อย คนต้องสงสัยกลางสมรภูมิดินแดง

เกรียงศักดิ์ บุญหยืด คุณลุงขายน้ำอ้อย คือ ขาประจำอีกคนของม็อบทะลุแก๊ส วันที่ 21 สิงหาคม 2564 เราเห็นเขาเข็นน้ำอ้อยออกมาจากซอยดินแดง 1 และมาขายที่แยกดินแดง หมดบ้าง ไม่หมดบ้าง แต่กลับออกจากพื้นที่หลังการชุมนุมยุติหรือเริ่มไม่สามารถปักหลักที่แยกดินแดงได้แล้ว ช่วงที่ตำรวจสลายการชุมนุม เขาใช้หน้ากากกันแก๊สน้ำตาแบบเต็มหน้า คล้ายกับของที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้กัน ต่อมาวันที่ 5-6 กันยายน 2564 ในห้องสนทนาของกลุ่มทะลุแก๊สที่เต็มไปด้วยผู้คนที่ไม่เปิดเผยตัวตนตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมคุณลุงขายน้ำอ้อยคนนี้ถึงยังขายของกลางแนวปะทะ หรือว่า เป็นสายตำรวจกันแน่?
และยิ่งเกิดความสงสัยหนักเข้าไปอีกเมื่อหลายคนนำชื่อของคุณลุงไปค้นใน Google และชื่อไปคล้ายไปนายตำรวจคนหนึ่ง ในกล่าวทำนองว่า “พรุ่งนี้มาอีกก็กระทืบเลย” ท้ายสุดในวันที่ 7 กันยายน 2564 เวลาประมาณ 18.00 น. ตำรวจเข้าสลายการชุมนุมและจับกุมผู้ชุมนุมที่แยกดินแดงตั้งแต่ยังไม่เริ่มกิจกรรม หลังจากตำรวจคุมตัวผู้ถูกจับกุมออกจากแยกดินแดงแล้ว คุณลุงขายน้ำอ้อยก็ยังคงเข็นรถขายน้ำอ้อยเลี้ยงชีพในบริเวณนี้โดยไม่มีใครเข้าทำร้ายแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตามในประเด็นชื่อคล้ายตำรวจ ทวีศักดิ เกิดโภคา ผู้สื่อข่าววอยซ์ทีวีได้โทรศัพท์ไปสอบถาม ร.ต.ท.เกรียงศักดิ์ บุญหยืด ได้ข้อมูลว่า ตำรวจนายนี้ไม่ได้เข้ากรุงเทพฯมานานแล้วและเสียงจากปลายสายก็เป็นคนหนุ่ม ไม่ได้ติดสำเนียงอีสาน
ทั้งนี้คุณลุงเกรียงศักดิ์ ก็ยังคงขายน้ำอ้อยอยู่กับสมรภูมิดินแดงเรื่อยมา วันที่ 11 กันยายน 2564 เป็นครั้งล่าสุดที่เราพบเขา ภายในซอยดินแดง 1 ช่วงเวลาประมาณ 20.40 น. ระหว่างที่มีผู้ชุมนุมรายหนึ่งปา “สิ่งของ” พลาดถูกผู้ชุมนุมกันเอง ทุกคนต่างตื่นตระหนกเข้าใจว่า ตำรวจเข้าสลายการชุมนุม วิ่งแตกฮือ ระหว่างนั้นเราก็ยังพบกับคุณลุงน้ำอ้อยที่เข็นรถเข็นน้ำอ้อยมาหลบที่ซอกตึกและยืนสูบบุหรี่อย่างเยือกเย็น

๐ “โอปอ” สหายสำนักข่าวราษฎร เจ้าของวลี “ทะลุแก๊ส”

“โอปอ”-ณัฐพงศ์ มาลี ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวราษฎร เป็นที่รู้จักในวงกว้างหลังถูกจับกุมเมื่อคืนวันที่ 13 กันยายน 2564 ระหว่างการไลฟ์สดสถานการณ์การชุมนุมที่ถนนมิตรไมตรี ตรงข้ามกรมดุริยางค์ทหารบก ย้อนกลับไปในช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2564 เยาวรุ่นทะลุแก๊สเริ่มรวมตัวและนัดมาชุมนุมกันที่แยกดินแดงอย่างเป็นอิสระ ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับที่กลุ่มทะลุฟ้าย้ายไปทำกิจกรรมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เขาจึงเปรียบเปรยผู้ชุมนุมที่แยกดินแดงแห่งนี้ว่า ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมีทะลุฟ้า ที่แยกดินแดงมี “ทะลุแก๊ส” ชาวทวิตเตอร์นำไปทวีตอย่างขบขันว่า แอดมินสำนักข่าวราษฎรเรียกผู้ชุมนุมที่นี่ว่า “ทะลุแก๊ส” ซึ่งต่อมาผู้ชุมนุมก็เรียกขานตนเองเช่นนั้น
“โอปอ” รายงานสถานการณ์การชุมนุมด้วยการไลฟ์ยาวหลายชั่วโมง เริ่มต้นจากการขว้างปาสิ่งของของผู้ชุมนุม แม้หลายฝ่ายอาจมองว่า สำนักข่าวราษฎรเป็น “สื่อเลือกข้าง” ฝ่ายผู้ชุมนุม แต่เขากล้าที่จะรายงานสิ่งของที่ผู้ชุมนุมขว้างปาจริงๆ เช่น ระเบิดไล่นก ในการไลฟ์แต่ละครั้งอาจจบลงที่การแยกย้ายกลับบ้านหรือจบลงที่การสลายการชุมนุมของตำรวจ ซึ่งที่ผ่านมาเขามักจะได้ภาพเหตุการณ์สำคัญๆ เสมอ บางครั้งอาจเป็นสัญชาตญาณเฉพาะตัวที่เข้าวิ่งไปหาเหตุการณ์ตรงหน้าเพื่อยืนยันข้อเท็จจริงด้วยสายตาโดยไม่หวาดกลัว และอาจเป็นความโชคดีที่อยู่ถูกที่ถูกเวลา แต่ทั้งหลายทั้งปวง คือ ประสบการณ์ของผู้ที่เกาะติดสถานการณ์การชุมนุมมาต่อเนื่องทุกวัน
ไลฟ์ของเขาจับภาพสำคัญๆได้อย่างน้อย คือ เหตุการณ์การยิงกระสุนยางในระยะประชิด เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2564 และเหตุการณ์ที่ตำรวจใช้กระบองยางทุบที่ท้ายทอยผู้ถูกจับกุมแม้ว่า จะถูกคุมตัวได้แล้วและไม่ได้มีท่าทีจะต่อสู้ เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2564
ก่อนหน้านี้เขาเคยถูกตำรวจตรวจสอบบัตรสื่อในคืนวันที่ 3 กันยายน 2564 แต่ตำรวจไม่ได้คุมตัวแต่อย่างใด ในข้อความประกอบ (Caption) ของไลฟ์วันดังกล่าว เขายังเขียนเองว่า “โดนแล้ว นักข่าวราษฎร ตำรวจคฝ. เรียกเช็ค เหตุชอบถ่ายช็อตเด็ด ตอนคฝ.คุกคามประชาชน” สะท้อนให้เห็นว่า เขารู้ดีถึงจุดแข็งของการรายงานข่าวของเขา วันถัดมาผู้ชุมนุมต่างเข้ามาสอบถามเขาด้วยท่าทีเป็นห่วงเป็นใย เขาก็ตอบด้วยข้อเท็จจริงอย่างสุภาพว่า ตำรวจไม่ได้ทำอะไร แต่ตรวจสอบบัตรสื่อเฉยๆ
ในคืนวันที่ 11 กันยายน 2564 ผู้สื่อข่าวถูกตรวจสอบบัตรสื่ออีกครั้ง ถูกสั่งให้หยุดไลฟ์และให้ออกนอกพื้นที่ ตำรวจระบุว่า จะดำเนินคดีฐานฝ่าเคอร์ฟิว แต่ “โอปอ” ยังคงอยู่ในพื้นที่และบันทึกเหตุการณ์การสลายการชุมนุมวันดังกล่าวไว้ หลังตำรวจถอนกำลัง เขาขึ้นไปพูดคุยกับชาวบ้านบนแฟลตห้าชั้น ในคืนนั้นไลฟ์ของสำนักข่าวราษฎรคือ หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่ง
ต่อมาวันที่ 13 กันยายน 2564 เวลาประมาณ 21.30 น. ระหว่างการไลฟ์ที่ถนนมิตรไมตรี ตำรวจตรวจสอบบัตรสื่อของเขา เขาแสดงต่อตำรวจว่า เป็นสื่อจาก “Thaivoice” อย่างไรก็ตามตำรวจทำการจับกุมเขาและกล่าวหาว่า เขาฝ่าฝืนเรื่องข้อห้ามการรวมตัวและการออกนอกเคหสถานหลังเวลา 21.00 น. ตามข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เขาให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ต่อมาวันที่ 14 กันยายน 2564 ศาลแขวงพระนครเหนือมีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องวางหลักประกัน
หลังได้รับการปล่อยตัวเขากลับมาไลฟ์สถานการณ์การชุมนุมที่แยกดินแดงทันทีและยืนยันจะรายงานข่าวต่อไป ในไลฟ์วันที่ 14 กันยายน 2564 มีประชาชนและผู้ชุมนุมเดินเข้ามาทักทายเข้าอยู่เรื่อยๆ ตอนหนึ่งเขาเล่าว่า ตอนที่ตำรวจเข้าจับกุมมีการเปิดไลฟ์ของสำนักข่าวราษฎรดูอยู่ด้วย  

๐ อาสาพยาบาล มิตรภาพเกิดที่สามเหลี่ยมดินแดง

ตู่-ชาญชัย หัวหน้ากลุ่มปฐมพยาบาล People for people เล่าให้ฟังว่า “จุดเริ่มต้นของเต็นท์ปฐมพยาบาล People for people เกิดขึ้นจากช่วงที่มีการปะทะบริเวณสามเหลี่ยมดินแดงแรกๆ ที่ยังไม่มีทีมแพทย์ลงพื้นที่ วันที่มีการใช้แก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมแรกๆ เราอยู่ในพื้นที่ เห็นคนเจ็บ คนโดนแก๊สน้ำตา เรามีน้ำเกลือเยอะก็แจกจ่าย มีหลายคนช่วยกันล้างตาให้คนที่โดน ปรากฎพอได้คุยกัน ก็รู้ว่า คนนี้เป็นพยาบาล คนนี้มีความรู้เรื่องปฐมพยาบาล ก็มารู้จักกันที่นี่ทั้งนั้น”
“พอเราเห็นว่าไม่มีทีมแพทย์ เราก็เลยตั้งกลุ่มขึ้นมา น้องๆอาสาหลายคนก็มาอยู่ด้วยกัน ช่วยรักษาปฐมพยาบาลคนที่บาดเจ็บ เพราะเจ้าหน้าที่ร่วมกตัญญูเขาจะไม่ทำเบื้องต้น ทำให้เกิดปัญหา คือ เด็ก จะติดเรื่องอายุ พอเจ็บก็จะส่งโรงพยาบาลเลยไม่ได้ เราก็ดูว่าปฐมพยาบาลให้ก่อนได้มั้ย ดูว่าเคสหนักมั้ย ถ้าหนักก็ดูแลให้พ้นวิกฤติก่อนแล้วค่อยส่งไปโรงพยาบาล เวลามีคนเจ็บในพื้นที่ก็จะส่งมาที่นี่ก่อน”
ชาญชัยเล่าให้ฟังว่าก่อนหน้านี้ เขาเคยเป็นคนเสื้อแดงมาก่อน ในการชุมนุมครั้งก่อนๆ จะเป็นคนแจกข้าวแจกน้ำ เป็นตัวกลางสำหรับรับของบริจาคและแจกจ่ายต่อ โดยปกติแล้วเขามีอาชีพรับเหมาก่อสร้างเล็กๆ แต่ทำกิจกรรมทางการเมืองมานาน เขาเล่าว่า  “ทีมเราไม่มีท่อน้ำเลี้ยง ที่มาทำงานอาสาตั้งหน่วยปฐมพยาบาลนี้ ก็ใช้เงินส่วนตัว เติมน้ำมันเอง แต่บางทีคนเห็นใจ ก็ให้เงินมา บอกช่วยเติมน้ำมันนะ”
ชาญชัยบอกกับผู้สังเกตการณ์ว่า ช่วงหลังๆ ตำรวจจะมาขอความร่วมมือให้ถอนออกจากพื้นที่ก่อนสามทุ่ม ทีมพยาบาลก็ปฏิบัติตามนั้น โดยที่จะเก็บเต็นท์ออกแล้วใช้วิธีให้อาสาพยาบาลแยกย้ายกันไปตามจุดต่างๆ เขายืนยันว่า ทีมอาสาพยาบาลจะออกจากพื้นที่เมื่อการชุมนุมเลิกแล้วเท่านั้น เขาเล่าว่า “เมื่อวันที่ 11 ทีมพยาบาลโดนจับไปกรมดุริยางค์ทหารฯ มีเคสบาดเจ็บสองคนก็ไม่มีคนดูแล ต้องรอให้รถร่วมมารับตัวไป”
สุดท้าย ชาญชัยบอกว่า “ที่เรามาทำวันนี้ก็คิดว่ากำลังสร้างเมล็ดพันธุ์ใหม่ขึ้นมา เผื่อเราเป็นอะไรก่อน ไม่รู้ว่ามันจะจบที่รุ่นเราหรือเปล่า เราสร้างเมล็ดใหม่ๆขึ้นมาเพื่อให้เค้าทำงานเป็น ให้เค้าโตมาแทนเรา การโค่นไม้ใหญ่ต้องใช้เวลา เราเป็นรุ่นใหญ่แล้วก็ต้องดูแล ต้องสอน เด็กที่มาช่วยเยอะนะ ของกลุ่มพี่เกือบ 20 คน น้องๆอาสาที่รวมกันก็อีก 20 คน เราก็สอนให้เอาตัวรอดในม็อบ ทำงานให้เป็น ถ้าพี่ไม่เป็นตัวหลักแล้วใครจะสอนน้องๆเหล่านี้”