คืนไม่เห็นจันทร์ กลางวันไม่เห็นพระอาทิตย์ ชีวิตในเรือนจำของ “ปูนทะลุฟ้า”

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564 กลุ่มทะลุฟ้า นำโดยไผ่-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นัดรวมตัวที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดเพื่อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่คืนรถเครื่องเสียงที่ถูกยึดในช่วงค่ำวันที่ 1 สิงหาคมหลังคนขับรถเครื่องเสียงคันดังกล่าวถูกสกัดจับหลังไปร่วมการชุมนุมที่กองบังคับการตชด.ภาค 1 เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ชุมนุมกลุ่มคนรุ่นใหม่นนทบุรีที่ถูกควบคุมตัวระหว่างร่วมชุมนุมคาร์ม็อบในช่วงบ่ายวันเดียวกัน
ระหว่างที่กลุ่มทะลุฟ้ากำลังชุมนุมที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพย์ติด เจ้าหน้าที่ทำการสลายการชุมนุมและควบคุมตัวผู้ชุมนุมกลุ่มทะลุฟ้าส่วนหนึ่งไปที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 ส่งผลให้สมาชิกกลุ่มทะลุฟ้าบางส่วนที่ไม่ได้ถูกจับ ติดตามไปสมทบกับกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมที่หน้ากองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังทั้งหมด ผู้ชุมนุมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการปราศรัยและมีการนำสีแดงไปสาดใส่เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน
ธนพัฒน์ กาเพ็ง หรือ “ปูน ทะลุฟ้า”  ไปร่วมการชุมนุมด้วยโดยเขาไม่ได้ไปร่วมสาดสีแต่มีบทบาทเป็นคนปราศรัย ธนพัฒน์เป็นหนึ่งในเก้านักกิจกรรมที่ถูกออกหมายจับจากเหตุดังกล่าว เขาเข้ามอบตัวที่สภ.คลองห้าซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบท้องที่เกิดเหตุในวันที่ 9 สิงหาคม ศาลจังหวัดธัญบุรีอนุญาตให้ฝากขังเขาและมีคำสั่งยกคำร้องปล่อยตัวชั่วคราวของเขาในวันเดียวกันโดยอ้างเหตุว่า 
ผู้ต้องหากระทําการโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง ทั้งไม่คํานึงถึงความปลอดภัย และความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยรวม ในภาวะที่เกิดการระบาดของ COVID-19 หากปล่อยชั่วคราวไป เชื่อว่าผู้ต้องหาจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นอีก
ธนพัฒน์ถูกคุมขังในเรือนจำตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม จนถึง 14 สิงหาคม จึงได้รับการประกันตัว โดยธนพัฒน์ติดโควิดระหว่างถูกคุมขังในเรือนจำเพราะเมื่อเขาถูกนำตัวไปที่เรือนจำครั้งแรกผลการตรวจออกมาเป็นลบแต่ก่อนได้รับการปล่อยตัวผลการตรวจออกมาเป็นบวก หลังได้รับการปล่อยตัว ธนพัฒน์ถ่ายทอดชีวิตความเป็นอยู่ในเรือนจำของเขากับพร้อมตั้งคำถามถึงความสมเหตุสมผลของการนำตัวเขากับเพื่อนไปคุมขัง

จากการเคลื่อนไหวด้านการศึกษาสู่การเคลื่อนไหวทางการเมือง

“ตอนนี้ผมเรียนชั้นม.5 อยู่ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดกาญจนบุรี ผมเริ่มสนใจการเมืองมาตั้งแต่ตอนเรียนอยู่ชั้นป.6 แล้ว ผมเคยพูดคุยกับคนแถวบ้านที่เป็นคนเสื้อแดง ทำให้รู้จักขบวนการคนเสื้อแดง ตอนนั้นผมก็รู้สึกว่าอยากมาชุมนุมกับคนเสื้อแดงนะ แต่ผมยังมาไม่ได้เพราะยังเด็กอยู่ เลยได้แต่ติดตามข่าวอยู่ห่างๆ”
“ตัวผมเองออกมาเริ่มเคลื่อนไหวจากประเด็นอำนาจนิยมในโรงเรียนก่อน ผมเห็นความไม่เท่าเทียม เช่น ครูใส่รองเท้าขึ้นตึกเรียนได้แต่นักเรียนใส่ไม่ได้ ครูกินอาหารในห้องเรียนได้ นักเรียนกินในห้องเรียนไม่ได้ จากประเด็นที่ดูเหมือนเรื่องเล็กๆเหล่านี้ พอผมได้เริ่มออกมาเคลื่อนไหวผมก็เริ่มตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพของตัวเองแล้วก็เลยกล้าที่จะยืนยันในสิทธิเสรีภาพที่จะทำอะไรบางอย่างได้ อย่างเรื่องในโรงเรียนการกินขนมการใส่รองเท้า ถ้าครูทำได้ไม่ผิด นักเรียนก็ควรมีสิทธิทำได้เช่นกัน”
“ช่วงแรกที่ผมออกมาเคลื่อนไหวในโรงเรียนก็ถูกมองว่าเป็นเด็กก้าวร้าว เุัด็กหัวรุนแรงอะไรแบบนี้ แต่ผมก็ไม่สนใจเพราะถือว่าสิ่งที่ทำมันถูกแล้ว ผมไม่ได้ละเมิดกฎหมาย ผมแค่ทำในสิ่งที่พึงกระทำได้”
“ในช่วงปี 2564 ผมเริ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างจริงจังมากขึ้น ผมเลือกที่จะร่วมกิจกรรมกับกลุ่มทะลุฟ้าเพราะ ผมทำงานกับกลุ่มทะลุฟ้าแล้วรู้สึกเข้าถึงเขามากๆ รู้สึกเป็นกันเองด้วย รู้สึกว่าการทำงานกับทะลุฟ้าเปิดโลกให้ผมได้เรียนรู้อะไรหลายๆอย่าง มันเหมือนเป็นการเซ็ตซีโร่ความรู้เก่าๆของตัวเองมาเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ พี่ๆในกลุ่มทะลุฟ้าก็มีความเป็นกันเองดูแลผมเป็นอย่างดี”
“สิ่งที่ได้รับทำให้ผมรักและศรัทธาในองค์กรทะลุฟ้า ตัวผมเองพอเข้ามาก็ทำหน้าที่เป็นทั้งผู้ปราศรัยบ้าง เป็นคนรันเวทีบ้าง อย่างตอนที่มีการจัดตั้งหมู่บ้านทะลุฟ้าผมเองก็ร่วมด้วยแต่ตอนนั้นยังไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่ม”

ไปทวงคืนเพื่อนกลับได้หมายจับ

“วันที่ 2 สิงหาคมที่ไปชุมนุมหน้ากองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ผมแค่ปราศรัยอย่างเดียว ไม่ได้สาดสี ไม่ได้ทำอย่างอื่น ประเด็นที่ผมปราศรัยก็เป็นแค่เรื่องสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ พร้อมตั้งคำถามว่าทำไมถึงมีการจับกุมกลุ่มคนที่มาชุมนุมอย่างสันติ ปราศจากอาวุธ รัฐต้องปล่อยตัวคนที่ถูกจับ เพื่อนเราไม่ได้ทำอะไรผิด ผมยังพูดด้วยว่า ตำรวจต้องเป็นคนที่รับใช้ประชาชน ไม่ใช่รับใช้ทรราชย์ ผมเชื่อว่าผมพูดในสิ่งที่พูดได้ พูดเรื่องปล่อยเพื่อนเรา ไม่ได้พูดประเด็นอะไรอื่นนอกจากนั้น”
“หลังจากนั้นผมก็ถูกออกหมายจับ ผมไม่ได้รับหมายจับเองโดยตรง แต่ได้ยินมาว่าพี่ฟ้า (พรหมศร วีระธรรมจารี สมาชิกกลุ่มราษฎรมูเตลู) ถูกออกหมายจับและทราบจากพี่ทนายว่ามีคนถูกออกหมายจับจากการชุมนุมในวันเดียวกันทั้งหมดเก้าคน ผมก็รู้เลยว่าตัวเองคงเป็นหนึ่งในนั้น ภายหลังผมถึงรู้ว่าตัวเองถูกดำเนินคดีด้วยความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ”
“ตัวผมกับพี่ๆไปมอบตัวแสดงความบริสุทธิใจ แต่ตำรวจให้เหตุผลที่ไม่ให้ประกันตัวพวกเราในชั้นสอบสวนว่า คดีนี้เรื่องนี้มันมาถึงศาลแล้วเพราะมีการออกหมายจับเลยต้องส่งศาล พอไปถึงศาลก็มีการไต่สวนในห้องพิจารณาคดี แต่พอถึงเวลาอ่านคำสั่งศาลบอกว่าจะไม่อ่านคำสั่งบนบัลลังก์ศาล ผมกับพี่ๆก็รู้สึกว่ามันแปลกๆ พวกเราคิดกันว่าคงจะไม่รอด พวกเรารออยู่ที่ศาลกระทั่งสองหรือสามทุ่มผมกับพี่ๆเลยทำใจกันว่าได้นอนเรือนจำแน่นอน”
“คำสั่งศาลออกมาตอนประมาณสี่ทุ่มว่าพวกเราจะต้องถูกคุมขัง ตอนนั้นผมเองไม่รู้สึกเสียใจ เพราะคุยกับแม่แล้ว แม่ยอมรับในการต่อสู้ แม่บอกให้สู้ต่อไป ผมก็เลยรู้สึกว่าไม่เสียใจในสิ่งที่ตัวเองทำและคิดว่ามันก็ทำกับเราได้เพียงเท่านี้ สิ่งที่เราต้องจ่ายเมื่อต่อสู้กับรัฐคืออิสรภาพ สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ผมยิ่งตระหนักสิ่งที่ผู้มีอำนาจทำมันไม่ถูกต้อง”
“เอาจริงๆก่อนเข้าเรือนจำผมกับพวกพี่ๆก็คุยกับคนในขบวนไว้แล้วว่าให้ไล่ประยุทธ์ต่อ อย่ามาโฟกัสที่ปล่อยเพื่อนเรา อย่าให้ขบวนหยุดเพราะพวกเราติดคุก”

คืนไม่เห็นจันทร์ กลางวันไม่เห็นพระอาทิตย์: ชีวิตในเรือนจำชั่วคราวรังสิต

“หลังพวกเราไม่ได้ประกันตัวก็ถูกส่งตัวไปที่เรือนจำชั่วคราวรังสิต ไปถึงประมาณเที่ยงคืนกว่าๆ พอพวกเราลงจากรถผู้ต้องขังเจ้าหน้าที่ก็พ่นยาฆ่าเชื้อให้เราแบบพ่นทั้งตัว จากนั้นเราถูกพาตัวมานั่งรวมกันที่ลานกว้างๆเพื่อตรวจโควิด ปรากฎว่าผลตรวจของพวกเราทั้งแปดคนคือ ผม พี่ไมค์ (ภาณุพงศ์ จาดนอก) พี่เพนกวิน (พริษฐ์ ชิวารักษ์) พี่ฟ้า พี่บอย (ธัชพงศ์ แกดำ) พี่ฮิวโก้ (สิริชัย นาถึง) แซม (แซม สาแมท) แล้วก็พี่นัท (ณัชนนท์ ไพโรจน์) เป็นลบ จากนั้นพวกเราทั้งแปดคนก็ถูกเอาตัวไปขังในห้องเดียวกันทั้งหมด”
“ตึกที่พวกเราถูกพาไปขังเป็นอาคารสองชั้น เป็นห้องขังทั้งสองชั้น ห้องขังที่พวกเราอยู่เป็นห้องยาวประมาณ 15 เมตร กว้าง 3 – 4 เมตร ในห้องเป็นห้องโล่งๆมีอิฐก่อประมาณระดับเอว เป็นห้องน้ำ”
“ผมอยู่ในเรือนจำทั้งหมด 6 วัน อยู่ข้างในก็อ่านหนังสือที่พี่ๆทนายฝากเข้าไป คุยกับพี่ๆที่ถูกขังด้วยกัน อาบน้ำ นอน ในห้องขังมีแค่พัดลมและผ้าสามผืน เอามาทำผ้าห่ม หมอน ผ้าปู ด้วยความที่มันเป็นเรือนจำชั่วคราวที่เขาน่าจะเอาอาคารเก่ามาดัดแปลงเพื่อใช้เฉพาะกิจ ห้องขังที่พวกเราอยู่สภาพค่อนข้างเก่า ไม่มีทีวีเหมือนเรือนจำอื่นๆอย่างที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ พวกเราเลยรู้สึกว่าถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ไม่ได้รับข่าวสารอะไรเลย ยิ่งในสถานการณ์โควิดแบบนี้การไม่รู้ข่าวสารยิ่งแย่ พี่ๆบางคนที่ไม่ได้เตรียมใจมาเขาก็รู้สึกดาวน์กัน ส่วนพี่ๆที่ปรับตัวได้เขาก็พยายามพูดคุยใช้ชีวิตปกติ”
“ในช่วงกักตัวพวกเราต้องใช้ชีวิตในห้องขังเกือบ 24 ชั่วโมง อาบน้ำก็อาบในนั้น กินข้าวก็กินในห้องขัง ไม่ได้เห็นดวงจันทร์ตอนกลางคืน ไม่ได้เห็นพระอาทิตย์ตอนกลางวัน เห็นแต่แสงที่ส่องเข้ามาผ่านลูกกรง พวกเราจะได้ออกจากข้องขังบ้างก็เวลาพี่ทนายมาเยี่ยม วันแรกๆเขาจัดให้เราวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับทนายตรงลานกว้างที่เราเคยนั่งตรวจโควิด ระหว่างนั้นก็มีผู้คุมคอยเดินมาดู บางทีเวลามาดูเขาก็ไม่ได้ใส่แมสแบบมิดชิด ต่อมามีข่าวว่าเจ้าหน้าที่เรือนจำติดโควิด บางคนที่ติดก็เป็นคนที่ดูแลพวกเรา หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็เปลี่ยนมาตรการเป็นว่าเอาคอมพิวเตอร์มาตั้งที่หน้าห้องขังให้พวกเราคอนเฟอเรนซ์ตรงนั้นเลยแล้วพวกเราก็ไม่ได้ออกจากห้องขังอีก”  
“ทีนี้พอถูกขังได้หกวัน ผมเริ่มมีอาการที่คล้ายจะเป็นโควิด เลยแจ้งเจ้าหน้าที่เขาก็เลยจัดคนมาตรวจให้ จำได้ว่าวันนั้นตื่นเช้ามาผมมีอาการปวดหัว พี่เพนกวินก็ขอยามาให้ ทีนี้พอตรวจเสร็จปรากฎว่าผลที่ออกมาเป็นบวกผล แล้วในวันเดียวกันนั้นก็มีผลออกมาว่าผมได้รับการประกันตัว เพื่อนๆข้างนอกก็เลยเร่งประสานว่าจะให้ผมไปรักษาตัวที่ไหน เพราะผมได้รับแจ้งว่าว่าหากยังไม่สามารถหาสถานที่กักตัวและรับการรักษาไม่ได้ทางเรือนจำก็ยังไม่สามารถปล่อยผมออกมาได้ สุดท้ายคนข้างนอกสามารถประสานให้ผมไปรักษาที่ศูนย์พักคอยวัดสิงค์ได้ ผมจึงได้รับการปล่อยตัวออกมาและไปเข้ารับการรักษาตัว ต้องเล่าย้อนไปด้วยว่าตอนอยู่ในเรือนจำเรามาทราบเรื่องว่าเจ้าหน้าที่ติดโควิดเป็นเพราะมีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งมาบอกว่าจากนี้พี่เขาจะมาดูแลพวกเราเพียงคนเดียวเพราะเจ้าหน้าที่คนอื่นติดโควิดกันหมดแล้ว”

ก้าวต่อไปหลังได้อิสรภาพ

“ระหว่างที่ผมอยู่ในเรือนจำ 6 วัน ผมกับพวกพี่ๆไม่เคยท้อเลย พวกเราคิดกันว่างวดนี้คงติดยาว พวกเราเลยห่วงแค่ว่าขบวนข้างนอกจะสู้ต่อไปยังไง สำหรับผมเองก็คิดว่าสิ่งที่ต้องเผชิญ (ถูกคุมขัง) มันคือสิ่งที่เราต้องแลก ช้าเร็วยังไงก็ต้องโดน ผมเตรียมใจไว้แล้วและผมระลึกเสมอว่าผมเป็นนักสู้ ไม่ใช่นักโทษ”
“ตอนที่ผมกับพี่ๆยื่นประกันไป พวกเราก็หวังว่าจะได้ออก วันที่ผมยื่นประกันไม่มีการไต่สวน ศาลให้ประกันโดยกำหนดเงื่อนไขว่าต้องติดกำไลติดตามตัว (EM)  การใส่ EM มันค่อนข้างกระทบกับการใช้ชีวิต จะเดิน จะนอน มันลำบากไปหมด แล้วก็ต้องคอยพะวงเพราะต้องชาร์จไฟเครื่องทุกๆหกชั่วโมง”
“ตัวผมเองถึงต้องใส่ EM แต่ศาลไม่ได้จำกัดว่าห้ามออกนอกกรุงเทพหรือห้ามเดินทาง นอกจากนั้นผมก็ไม่ได้กังวลเรื่องการเคลื่อนไหวต่อด้วยเพราะการชุมนุมของเราเป็นการชุมนุมแบบสันติ ปราศจากอาวุธ มีและกฎหมายสูงสุดคือรัฐธรรมนูญรับรอง”
“สำหรับการถูกคุมขังที่ผ่านมา ผมคิดว่าสิ่งที่แย่ที่สุดคือเหตุผลที่ศาลให้ในการฝากขังและไม่ให้ประกันผมกับพี่ๆคือเพื่อไม่ให้เราออกมาชุมนุม”
“หลังจากออกมาสิ่งที่ผมตกผลึกคืออุดมการณ์และสิ่งที่พวกพี่ๆทุกคนต่อสู้มา ผมจะสานต่อด้วยสติ เราจะใช้สตินำการต่อสู้ ไม่เอาความเคียดแค้นมานำการต่อสู้ จะไม่ลืมว่าพี่ๆทุกคนเอาอิสรภาพมาแลกในการต่อสู้ครั้งนี้”