“…ถ้าเด็ก 13 14 ที่ถูกพวกคุณวิ่งไล่ยิงไล่กระทืบเป็นลูกพวกคุณบ้าง จะรู้สึกยังไง” เสียงจากเบนท์ สมรภูมิดินแดง

ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 แยกดินแดงถูกขนานนามโดยใครหลายคนว่าเป็นสมรภูมิ พื้นที่ปะทะและประลองกำลังกันระหว่าง “ผู้ชุมนุมต่อต้านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” กับ “ตำรวจชุดคุมฝูงชน” บทสรุปของการปะทะเกือบทุกครั้งจบลงด้วยการสลายการชุมนุมโดยตำรวจ เริ่มต้นด้วยการเขย่าเส้นความอดทนของตำรวจด้วยการใช้ประทัดยักษ์ พลุ ระเบิดเพลิง หรือขวดแก้วตามแต่จะหยิบฉวยได้ปาใส่แนวคอนเทนเนอร์หลายครั้ง ด้วยแนวสิ่งกีดขวางและระยะห่างของตำรวจก็ยากที่จะทะลุทะลวงอุปกรณ์ป้องกันของฝ่ายรัฐที่มีทั้งโล่ ชุดเกราะ แต่ทุกครั้งจบด้วยแก๊สน้ำตา กระสุนยางและอุปกรณ์อื่นๆ ในความครอบครองของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนที่ถูกประเคนคืนกลับมาในฐานะ “การบังคับใช้กฎหมาย”
สมรภูมิดินแดงกลายเป็นพื้นที่อันตรายในสายตาของใครหลายคน แม้แต่คนที่เคยร่วมชุมนุมขับไล่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์บางส่วนเองก็แสดงความเห็นในลักษณะไม่เห็นด้วยกับแนวทางของผู้ชุมนุมอิสระที่มักปะทะกับเจ้าหน้าที่ที่แยกดินแดง บางส่วนให้ความเห็นในลักษณะเป็นห่วงว่าปะทะอย่างไรก็คงสู้เจ้าหน้าที่ที่มีอุปกรณ์ครบมือไม่ได้และอาจถูกตอบโต้จนเกิดความสูญเสีย บางส่วนแสดงความกังวลว่า การใช้วิธีปะทะตรงอาจทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวในภาพใหญ่สูญเสียความชอบธรรม บางส่วนอาจมองว่าผู้ที่เลือกเคลื่อนไหวในแนวทางนี้ไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวเพราะอุดมการณ์ทางการเมืองใดๆ บางคนถึงขั้นปรามาสว่าพวกเขาเป็นแค่วัยรุ่นที่ไม่มีอนาคตและคิดไม่เป็น ทว่าที่จริงแล้วสมรภูมิดินแดงเป็นพื้นที่ที่มีความซับซ้อนกว่านั้น
ผู้คนที่สมรภูมิดินแดงหลายคนเคยเข้าร่วมการชุมนุมกับราษฎรมาหลายต่อหลายครั้ง หลายคนเข้าร่วมการต่อสู้ทางการเมืองมาตั้งแต่สมัยการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง แม้พวกเขาจะไม่เคยจับไมค์ขึ้นปราศรัยแต่เสียงก่นด่าที่บ่อยครั้งเป็นคำหยาบคายก็ไม่ใช่แค่การแสดงออกด้วยความคึกคะนอง หากแต่เป็นถ้อยคำที่เปล่งออกมาด้วยความคับแค้นที่อัดแน่นและตกผลึกจากประสบการณ์ชีวิตที่ถูกกดทับด้วยโครงสร้างทางสังคมที่เหลื่อมล้ำ ดังเช่นเสียงสะท้อนของ “เบนท์” นักศึกษารามคำแหงชาวสุราษฎร์ธานี ที่ไปร่วม #ม็อบ22สิงหา จนถูกยึดรถจักรยานยนต์ที่เป็นเครื่องมือหาเลี้ยงชีพของเขา
แม้จะมีพื้นเพเป็นชาวสุราษฎร์ แต่คุณย่าของเขาที่เป็นคนเสื้อแดงได้พาเบนท์ไปสัมผัสการต่อสู้ของคนเสื้อแดงตั้งแต่สมัยเด็กๆ จนเบนท์ในวัยไม่ถึง 15 ปี ได้รู้จักกับแก๊สน้ำตาเป็นครั้งแรก 11 ปี ต่อมาเบนท์ออกมาต่อสู้อีกครั้ง แม้เขาจะไม่ใช่คนที่มีเงิน ต้องเรียนไปทำงานไป แต่เขาก็เชื่อว่าถ้าเขาไม่ออกมาสู้ ก็คงยากจะมีชีวิตที่ดีภายใต้รัฐบาลเผด็จการประยุทธ์ จันทร์โอชา

จากลุ่มน้ำตาปีถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยา

“ผมเป็นคนจังหวัดสุราษฎร์ธานี พ่อของผมเป็นช่างทำกระจกส่วนแม่ก็ค้าขายก็อกแก็กๆ เรียกได้ว่าครอบครัวเราเป็นครอบครัวระดับล่างเลยก็ว่าได้ พ่อกับแม่ผมมีลูกคนเดียวถึงวันนี้ผมก็ต้องส่งเงินไปให้แม่บ้างเป็นครั้งคราว”
เบนท์เริ่มเปิดใจเล่าเรื่องราวในวัยเด็กของเขา การเกิดในครอบครัวที่ต้องปากกัดตีนถีบทำให้เบนท์ต้องมีจิตใจที่เข้มแข็งและมีความเป็นนักสู้ตั้งแต่เด็ก ในช่วงปิดเทอมเบนท์มีโอกาสเดินทางเข้ากรุงเทพมาอยู่ที่บ้านยายที่จังหวัดนนทบุรี คุณยายของเบนท์เป็นคนเสื้อแดงและเข้าร่วมการชุมนุมในปี 2553 เบนท์ที่ขณะนั้นอายุไม่ถึง 15 ปี จึงมีโอกาสสัมผัสการต่อสู้ของคนเสื้อแดงเป็นครั้งแรก
“ผมมีญาติเป็นน้องสาวของคุณยายที่ผมเคารพนับถือเป็นคุณยายอยู่ที่เมืองนนท์ บางครั้งเวลาปิดเทอมผมก็ขึ้นมาอยู่กับแก ช่วงที่กลุ่ม นปช. ชุมนุมที่สี่แยกคอกวัวคุณยายเคยพาผมไปด้วย ก็ไปวันที่เขาสลายการชุมนุมตรงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยนั่นแหละ ตอนนั้นผมก็ยังเด็ก ผมก็ไม่รู้ว่าตัวเองจะตกใจอะไรดีระหว่างตกใจแก๊สน้ำตา หรือตกใจเวลาผู้คนวิ่งหนีแก๊สน้ำตา”
“ตอนนั้นผมยังเด็ก ผมไม่ได้เข้าใจเรื่องประชาธิปไตยอะไรหรอก ผมเข้าใจแค่ว่าคนเสื้อแดง เป็นชาวบ้าน ชาวนาไม่มีจะกินแล้วมาชุมนุม ตอนนั้นผมยังเด็กผมก็เข้าใจอยู่แค่นั้น แต่พอโตขึ้นผมก็ได้รู้เรื่องอะไรๆ มากขึ้น แต่ตอนอยู่ที่สุราษฎร์ผมก็ทำอะไรไม่ได้ พี่ก็รู้ที่นั่นพื้นที่ใคร ผมก็ได้แค่คุยเรื่องการเมืองกับคุณพ่อคุณแม่ผม พ่อกับแม่ผมเขาก็เป็นคนที่ฟังแบบกลางๆ ไม่ได้ว่าอะไร ไม่ได้ห้ามอะไร เขาบอกผมว่าถ้าคิดถ้าเชื่อว่าอะไรถูกต้องก็ทำไปเลยแต่ก็ขอให้เซฟตัวเองนิดนึง”
“ผมเรียนจบ ม.6 ตอนปี 61 แล้วก็หยุดพักการเรียนไปหนึ่งปี พอปี 62 ผมก็เข้ามาเรียนสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง ครั้งนี้ผมออกมาเช่าหออยู่ของผมเองไม่ได้อาศัยอยู่กับยายที่เมืองนนท์แล้ว”
“ที่บ้านผมก็ไม่ได้มีฐานะอะไร พอเข้ากรุงเทพผมก็ต้องหางานทำ ตอนแรกผมได้งานเป็นตัวแทนขายประตูหน้าต่างของบริษัทหนึ่งที่เช่าพื้นที่ในโฮมโปร ตอนหลังถึงได้ออกมาเป็นไรเดอร์ส่งอาหารซึ่งผมก็ทำเรื่อยมาจนกระทั่งผมมาถูกยึดรถเมื่อวันที่ 22 สิงหา ทำให้ผมไม่มีเครื่องมือทำมาหากินและขาดรายได้ แล้วรถที่ถูกยึดผมก็ยังผ่อนไม่หมดแต่ก็ใกล้ละ”
“ก่อนจะถูกยึดรถ ผมวิ่งส่งอาหารหาเงินได้ประมาณวันละ 300 – 500 บาท ก็มีเงินพอเก็บนิดหน่อย แต่ละเดือนก็ต้องจ่ายค่าเช่าห้องเดือนละ 3,000 ถ้าบางเดือนที่บ้านเดือดร้อนต้องส่งเงินกลับไปก็จะไม่มีเงินเก็บ อย่างช่วงหน้าฝนถ้าวันนั้นวิ่งรถพอได้ค่าข้าวแล้วผมก็อาจจะหยุดพักรอฝนหยุด แต่ถ้าวันไหนออเดอร์ไม่ค่อยเข้าฝนตกก็ยังต้องวิ่ง อย่างน้อยก็พอให้ได้ตังกินข้าวก่อน” 

เพราะชีวิตไม่ดีถึงต้องเคลื่อนไหว

แม้เบนท์จะเคยไปในพื้นที่การชุมนุมตั้งแต่สมัยเขายังเด็กแต่ครั้งนั้นเขาก็แค่ถูกพาไป เบนท์มาร่วมการต่อสู้ทางการเมืองด้วยตัวเองครั้งแรกในปี 2563 โดยวันแรกที่เขาไปร่วมชุมนุมก็ถูกรับน้องด้วยน้ำจากรถจีโน่
“ผมมาร่วมชุมนุมครั้งแรกจริงๆ ก็วันที่ 16 ตุลา 63 ตอนนั้นถ้าจำกันได้การชุมนุมช่วงนั้นมันเป็นการชุมนุมที่สงบ เป็นการชุมนุมของนักศึกษาแล้วก็มีเด็กนักเรียนมัธยมมาร่วมชุมนุมด้วย ครั้งนั้นผมไม่ได้เตรียมอะไรไปเลยเพราะไม่คิดว่าเขาจะใช้ความรุนแรง ปรากฎว่าวันนั้นพวกเราถูกเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมโดยใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง มีทั้งน้ำเปล่าแล้วก็น้ำผสมสารเคมี แต่วันนั้นตัวผมเองไม่ได้รับบาดเจ็บอะไร”
“หลังจากนั้นในช่วงเดือนพฤศจิกายนผมก็เห็นว่าทางเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตยประกาศรับสมัครการ์ด ผมเองที่ผ่านมาไปชุมนุมแบบผู้ชุมนุมอิสระไปไหนมาไหนคนเดียวก็เลยตัดสินใจสมัครเข้าร่วมกับทางเครือข่ายฯ พอเข้ามาก็ช่วยงานของทางเครือข่ายหลายๆ อย่าง รวมถึงได้เป็นพิธีกรแล้วก็เป็นคนปราศรัยด้วย” 
“ตัวผมเองไม่ได้สบายนะ ผมต้องเรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย แต่ผมก็ตัดสินใจออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองก็เพราะผมต้องการให้ชีวิตดีขึ้น ประยุทธ์เข้ามาสู่อำนาจด้วยวิธีที่ไม่ชอบธรรมแล้วก็บริหารเศรษฐกิจได้ไม่ดี ถ้าประเทศนี้เศรษฐกิจดี เงินสะพัด พ่อแม่ผมก็น่าจะมีกำลังส่งเสียผมได้เต็มที่ ผมก็คงได้เรียนอย่างเดียวไม่ต้องเรียนไปทำงานไป แล้วเชื่อว่าพ่อแม่ผมหรือพ่อแม่ของคนอื่นๆ ที่มีชะตาชีวิตคล้ายๆ กับผมเขาก็คงอยากให้ลูกเรียนหนังสืออย่างเต็มที่ไม่ต้องมาพะวงกับการหาเงิน แต่เพราะการบริหารของประยุทธ์เศรษฐกิจแย่ลงลงทุกวัน ถ้าปล่อยไว้แบบนี้เราคงไม่มีโอกาสมีชีวิตที่ดี ผมเองเคยเห็นเคยซึมซับการต่อสู้ของคนเสื้อแดงตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก มาตอนนี้ผมโตพอแล้วผมคิดว่าผมควรออกมาต่อสู้เพื่อชีวิตตัวเองได้แล้ว” 

เผชิญหน้าความรุนแรง จากปืนฉีดน้ำแรงดันสูงถึงกระสุนยาง

ก่อนที่เบนท์จะมาถูกจับกุมด้วยพฤติการณ์ที่รุนแรงเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2564 เขาเคยเผชิญหน้ากับความรุนแรงจากการสลายการชุมนุมมาบ้างแล้ว ครั้งแรกคือการสลายการชุมนุมที่แยกปทุมวันเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ต่อมาระหว่างการชุมนุมที่หน้ารัฐสภาในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 เบนท์และสมาชิกเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตยก็เข้าร่วมการชุมนุมด้วยและเผชิญกับการสลายการชุมนุมด้วยปืนฉีดน้ำแรงดันสูงและแก๊สน้ำตา 
จากนั้นในวันที่ 11 สิงหาคม ในการชุมนุมของกลุ่มทะลุฟ้าที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เบนท์ไปร่วมการชุมนุมด้วย และอยู่ร่วมในเหตุปะทะ เมื่อใกล้ถึงช่วงเคอร์ฟิวส์เบนท์ขี่รถกลับบ้านพร้อมกับเพื่อน ปรากฎว่าระหว่างทางเขาถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนที่นั่งรถสวนมายิงด้วยกระสุนยางทั้งที่เขาเพียงแค่ขับรถกลับบ้าน ในสามครั้งแรกที่เผชิญความรุนแรงเบนท์ยังไม่ถูกจับกุมหรือดำเนินคดี 
“การชุมนุมที่แยกปทุมวันเมื่อวันที่ 16 ตุลา 63 นับเป็นครั้งแรกที่ผมไปร่วมชุมนุมด้วยตัวเอง และเป็นครั้งแรกที่ผมเผชิญกับการสลายการชุมนุม ตอนแรกผมก็ไม่ได้คิดว่ามันจะมีเหตุการณ์อะไรเพราะวันนั้นคนส่วนใหญ่ที่ไปชุมนุมก็เป็นเด็กหลายคนยังเป็นนักเรียน ม.ต้น อยู่เลย แต่เจ้าหน้าที่ก็มาสลายการชุมนุมนุม ครั้งนั้นตัวผมเองถือว่ายังไม่ได้รับผลกระทบหรือบาดเจ็บอะไรมาก”
“พอมาถึงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ผมกับสมาชิกเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตยก็ไปร่วมชุมนุมที่หน้ารัฐสภาด้วย พวกเราตั้งใจจะไปร่วมติดตามการพิจารณารัฐธรรมนูญ ผมไม่รู้ว่าเหตุปะทะอะไรต่างๆ มันเริ่มยังไง รู้แค่ว่าพอไปถึงที่หน้าสภาประมาณบ่ายสามกว่าก็ฉีดน้ำกันแล้ว ตอนเข้าพื้นที่กลิ่นแก๊สนี่คลุ้งเลย พวกผมไปอยู่แถวแนวปะทะฝั่งบุญรอด อย่างแรกที่ผมทำคือพาน้องๆผู้หญิงไปอยู่ไกลๆ จากนั้นก็สนับสนุนคนที่อยู่แนวหน้า วิ่งเอาน้ำไปส่งบ้างอะไรบ้าง”    
“เอาจริงๆ วันนั้นผมยังไม่ได้รู้สึกโกรธตำรวจนะ ผมเข้าใจว่าเขาก็ห่วงหน้าที่การงาน และครอบครัวของตัวเอง แต่ผมโกรธรัฐบาลมากกว่า คือที่ตรงนี้ (รัฐสภา) มันเป็นที่ของประชาชน แต่ประชาชนเข้าไม่ได้ มันคืออะไร พวกคุณหวงอะไรกัน ที่สำคัญคือในขณะที่พวกเราถูกสกัดกั้น กลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อเหลืองพวกคุณให้เข้ามาในพื้นที่ได้ แถมยังปล่อยให้มาทำร้ายพวกเรา มันเหมือนกับรัฐบาลรับฟังหรือให้ความสำคัญกับคนที่อวย แต่ปิดกั้นไม่รับฟังเสียงคนเห็นต่าง”
“ผมมาเจอกับตัวจังๆ ก็เป็นการชุมนุมของกลุ่มทะลุฟ้าเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2564 ตอนนั้นกลุ่มทะลุฟ้าชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยฯ แล้วเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุม หลังจากนั้นผมก็ไปรวมตัวกับคนที่ดินแดง พอใกล้เคอร์ฟิวผมก็ตัดสินใจกลับบ้าน ผมกับน้องอีกคนนึงก็ขี่รถมอเตอร์ไซค์กลับออกจากแยกดินแดงมุ่งหน้าไปทางพระรามเก้า ก่อนที่จะขึ้นสะพานที่วิ่งไปทางพระรามเก้า มีรถกระบะบรรทุกเจ้าหน้าที่ คฝ. วิ่งสวนมา ตอนนั้นผมไม่ได้ทำอะไรก็ขี่รถตามปกติ ปรากฎว่ามี คฝ.ยกปืนขึ้นยิงใส่ผมมาสามนัด หนึ่งนัดโดนเข้าแถวๆืไหปลาร้าข้างขวาของผม ตอนแรกที่ถูกยิงผมไม่เจ็บนะ มันชาไปประมาณนาทีเศษ แต่หลังจากนั้นผมรู้สึกวันมันไม่ใช่ละมันเริ่มเจ็บแบบบอกไม่ถูก แต่ตอนนั้นผมยังพอประคองรถให้กลับบ้านได้ ส่วน คฝ.พอยิงใส่เขาก็ไม่ได้ขับรถตามมา”

ทำไมต้องมา “ทะลุแก๊ส”

ตัวเบนท์เองเป็นสมาชิกเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย และแนวทางการเคลื่อนไหวของทางเครือข่ายก็เป็นการชุมนุมในลักษณะการจัดเวที หลีกเลี่ยงการปะทะ แต่ตัวเบนท์เองเลือกที่จะเคลื่อนไหวทั้งสองแนวทาง ไปร่วมการชุมนุมปราศรัยกับทางเครือข่าย นอกจากนั้นตัวเขาเองก็ยังคงมาร่วมการชุมนุมกับผู้ชุมนุม “ทะลุแก๊ส” ในนามส่วนตัวอยู่ตลอด ตั้งแต่ผู้ชุมนุมที่ดินแดงเพิ่งเริ่มรวมตัวกันประมาณสิบคันรถมอเตอร์ไซค์จนถึงวันที่ 22 สิงหาคม ที่เขาถูกจับกุมตัวด้วยวิธีการรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่
“ผมมาร่วมกับกลุ่มทะลุแก๊สตั้งแต่มีรถมอเตอร์ไซค์ประมาณสิบคัน การเกิดขึ้นของกลุ่มทะลุแก๊สผมคิดว่ามันเป็นปฏิกิริยาโต้กลับต่อการกระทำของรัฐนะ คือก่อนหน้านี้มันมีกรณีที่ผู้ชุมนุมไปชุมนุมเฉยๆ แล้วถูกเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุม  ที่ชัดที่สุดก็คงเป็นวันที่ทะลุฟ้าชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ยังไม่ทันทำอะไรก็โดนสลายการชุมนุม พวกเราก็เลยมารวมตัวกันต่อที่ดินแดง สำหรับตัวผมเองเป็นคนที่ไม่นิ่งนะ ถ้าถูกตีมาผมจะตอบโต้ ยิ่งปี 64 นี่ผมเห็นว่าตำรวจใช้ความรุนแรงหนักขึ้นเรื่อยๆ ผมก็คิดว่าเราต้องตอบโต้ให้หนักขึ้น แต่สำหรับผมการตอบโต้ที่ดินแดงมันก็ยังอยู่ในสโคปสันติวิธีอยู่ เพราะเราไม่ได้ไปทำร้ายร่างกายหรือคร่าชีวิตใคร”
“สำหรับผมเวลาไปดินแดงผมไม่เคยมีของอะไรไปนะ ผมแค่อยากไปช่วยเขา บางวันผมก็ไปคอยเอาน้ำเกลือล้างตาให้คนที่เข้าไปแนวหน้า ผมแค่รู้สึกว่าผมผูกพันกับคนที่ดินแดง หลายคนก็รู้จักกันตั้งแต่สมัยเริ่มมีม็อบทะลุแก๊สช่วงแรกๆ ผมก็เลยอยากไปช่วยพวกเขา ช่วยล้างหน้าล้างตาบ้าง ช่วยพาคนเจ็บออกจากแนวหน้ามาปฐมพยาบาลบ้าง”

เผชิญความรุนแรงก่อนถูกจับ

การชุมนุมของกลุ่มทะลุแก๊สที่ดินแดงมักจบลงด้วยการสลายการชุมนุม เช่นเดียวกับวันที่ 22 สิงหาคม 2564 เวลาประมาณ 17 นาฬิกาเศษ เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนใช้กำลังทำการจับกุมผู้ชุมนุมที่อยู่บริเวณแยกดินแดง ภาพคลิปวิดีโอที่เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนใช้กำลังเข้าไปปะทะเพื่อสกัดผู้ชุมนุมที่ขับขี่รถจักรยานยนต์จนล้มระเนระนาดน่าจะเป็นภาพที่ใครหลายคนคงเคยได้เห็นตามการรายงานของสื่อมาบ้าง เบนท์เองก็เป็นหนึ่งในคนที่ถูกจับกุมด้วยความรุนแรงก่อนถูกนำตัวไปควบคุมที่สถานีตำรวจ
“วันที่ 22 (สิงหาคม) ผมขับรถส่งอาหารอยู่แถวพหลโยธิน ตอนแรกผมตั้งใจว่าส่งอาหารเสร็จจะไปดูการชุมนุมของกลุ่มทะลุฟ้าที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แต่ก็ห่วงเพื่อนๆ ที่ดินแดงเลยตัดสินใจแวะมาดู ประมาณห้าโมงเย็นผมขี่รถเวียนไปดูที่แนวหน้าแถวคอนเทนเนอร์ ไปแถวนั้นได้ไม่ถึงสามนาทีเจ้าหน้าที่ คฝ. ก็ปิดกล่อง”
“พอเขาปิดกล่อง ผมเห็น คฝ.คนหนึ่งเอาโล่ขว้างใส่รถมอเตอร์ไซค์ด้านหน้า พอคันนึงล้มคันที่ตามมาก็ล้มระเนระนาด ตอนนั้นผมยังพอบังคับรถไว้ได้ พอเห็นว่าผมไม่ล้ม คฝ.คนหนึ่งก็วิ่งเอาโล่มากระแทกจนรถผมล้ม ลองคิดดูถ้าผมไม่ใส่หมวกวันนั้นจะเป็นยังไง”
“พอรถล้มผมก็ทิ้งรถวิ่งหนีจากบริเวณนั้นทั้งๆ ที่ยังใส่หมวกกันน็อคอยู่ จากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่ คฝ.คนหนึ่งวิ่งเข้ามาชนจนเราล้มกันไปทั้งคู่  พอผมล้มก็มี คฝ.เข้ามาหาผมสองคน คนหนึ่งเอาปืนจ่อหลัง “มึงอย่ามาเก่ง มึงเก่งมากนักเหรอ” เจ้าหน้าที่คนหนึ่งพูดกับผม ขณะที่อีกคนก็เอากระบองตีหัวผม รอบแรกตีถูกหมวกกันน็อค เจ้าหน้าที่ก็ลงทุนถอดหมวกผมออกแล้วตีอีกสองรอบ รอบแรกผมเอามือบังจนเจ็บโดนหัวบริเวณเหนือคิ้วฝั่งซ้าย พอตีเสร็จเขาก็กดผมลงกับพื้นเอาเคเบิลไทร์มัดมือผมไพล่หลังก่อนจะเอาตัวผมไปขึ้นรถผู้ต้องขัง ตำรวจมัดมือผมแน่นมากจนผมต้องบอกตำรวจว่าให้ช่วยคลายเคเบิลไทร์ให้หน่อยเพราะมือผมมันชาไปหมด คฝ.ก็ไม่คลายให้ อ้างว่าเดี๋ยวก็ไป สน.แล้ว แต่สุดท้ายผมก็ถูกรัดมือแน่นๆ แบบนั้นจนกระทั่งถูกพาตัวไป สน.ห้วยขวางช่วงดึกวันนั้น” 
“หลังถูกจับผมถูกยึดโทรศัพท์มือถือ ตำรวจอ้างว่าต้องยึดเป็นของกลางเพราะผมถ่ายวิดีโอและคลิปการชุมนุมในวันนั้น ส่วนรถมอเตอร์ไซค์ของผมก็ถูกยึดไปด้วยเช่นกันแต่ตำรวจก็ไม่ได้แจ้งอะไรที่ชัดเจนว่ารถของผมถูกยึดด้วยสาเหตุอะไร สำหรับผมการถูกยึดโทรศัพท์มือถือและรถมอเตอร์ไซค์นั่นคือการตัดช่องทางทำมาหากินเพราะงานไรเดอร์มันต้องใช้ทั้งรถทั้งโทรศัพท์มือถือ”
“หลังถูกพาไป สน.ช่วงประมาณสี่ทุ่มกว่าตำรวจก็ตรวจค้นกระเป๋าผม จากนั้นก็พาผมกับคนที่ถูกจับไปขังรวมกันไว้ในห้องขัง ผมถูกขังประมาณชั่วโมงเศษเกือบสองชั่วโมงตำรวจก็เรียกเจ้าหน้าที่กู้ภัยมาทำแผลให้คนที่ถูกจับรวมทั้งตัวผม จากในช่วงใกล้ๆ เที่ยงคืนเราก็ได้พบทนาย เสร็จแล้ววันรุ่งขึ้นพอถูกเอาตัวไปศาลผมก็ได้รับการประกันตัว”

แผลตกสะเก็ด และตะกอนความคิดที่ตกผลึกหลังถูกจับ

วันที่เบนท์ให้ข้อมูลกับไอลอว์คือวันที่ 1 กันยายน 2564 บาดแผลที่เกิดจากการจับกุมทั้งแผลที่ถูกตีเหนือคิ้วข้างซ้ายก็เริ่มจางไปแล้วเช่นเดียวกับแผลขนาดใหญ่ที่เท้าข้างขวาของเขาซึ่งเกิดระหว่างที่ถูกเจ้าหน้าที่ลากตัวขณะถูกจับก็เริ่มตกสะเก็ดแล้ว แต่ความรู้สึกข้างในของเบนท์ที่คุกรุ่นมาตั้งแต่ถูกจับทั้งต่อเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน ต่อรัฐบาล รวมทั้งต่อคนที่เรียกตัวเองว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” บางส่วน
“หลังถูกดำเนินคดีชีวิตผมที่ลำบากอยู่แล้วก็ยิ่งลำบากหนักขึ้นไปอีก เพราะเครื่องมือทำมาหากินทั้งโทรศัพท์และรถมอเตอร์ไซค์ถูกยึดโดยเฉพาะมอเตอร์ไซค์ที่เจ้าหน้าที่ไม่ได้ระบุว่ายึดไว้เพราะอะไรแต่พอตามไปเอาคืนก็ยังไม่ได้รถคืน ผมตามไปทั้งที่ สน.ห้วยขวางที่ถูกคุมตัวกับ สน.ดินแดงที่เป็นท้องที่เกิดเหตุต่างคนต่างบอกว่ารถไม่อยู่กับตัวเอง ส่วนโทรศัพท์ผมพบว่าข้อมูลบางส่วนบนเฟซบุ๊กตัวเองถูกลบไปแล้ว แต่ก็ไม่ใช่ผมคนเดียว เท่าที่คุยกับคนอื่นๆ ที่ถูกจับและยึดโทรศัพท์เหมือนผมก็มีข้อมูลบางส่วนที่อยู่บนเฟซบุ๊กถูกลบไปเหมือนกัน ทุกวันนี้ผมต้องเปลี่ยนรหัสเฟซบุ๊กใหม่” 
“ถ้าถามว่าผมอยากฝากอะไรถึงตำรวจที่จับและทำร้ายผมวันนั้น ผมก็อยากถามว่าพอใส่ ชุด คฝ. แล้วความเป็นคนของพวกคุณมันหล่นหายไปหรือไง ผมคิดว่าสิ่งที่พวกเขาทำในวันนั้นมันเกินเหตุ คุณจะจับก็จับไปเราไม่ขัดขืนอยู่แล้วแต่วันนั้นคุณมากระทืบพวกเราทำไม มันเหมือนพวกเอาแต่ใจ เหมือนกระทืบเอามัน ใช้กำลังเกินกว่าเหตุ เท่าที่ผมสัมผัส คฝ. ที่ดูมีอายุหน่อยพวกนั้นจะสุขุมและพอจะควบคุมอารมณ์ได้บ้าง แต่พวกที่อายุน้อยๆ 20 ปีเศษๆ ไม่ถึง 30 ปีพวกนี้เหมือนยังคึกคะนอง ชาวบ้านด่าหน่อยก็วิ่งใส่”
“แล้วที่คุณบอกว่าไม่อยากทำแต่นายสั่งมา ก็ถามกลับว่าถ้าเด็ก 13 14 ที่ถูกพวกคุณวิ่งไล่ยิงไล่กระทืบเป็นลูกพวกคุณบ้าง จะรู้สึกยังไง”
“ผมมีอีกเรื่องหนึ่งที่อยู่ในใจมาตั้งแต่วันที่ถูกจับ ตอนที่ผมถูกจับคว่ำอยู่กับพื้น มีพลุของผู้ชุมนุมยิงมาตกใกล้ๆ ตัวผม ผมก็ขอให้ คฝ.เลื่อนตำแหน่งผมไปหน่อย เพราะพลุเกือบโดนผม คฝ.ที่จับผมตรงนั้นบอกว่า มึงมาที่นี่เองมึงจะกลัวอะไร ผมก็เฮ้ย ผมมีชีวิตเลือดเนื้อ คุณกลัวตายผมก็กลัวตาย ผมมาที่นี่ไม่ใช่ผมไม่กลัว” 
“ส่วนที่บอกว่าพวกเรารุนแรงก็สมควรโดนแล้ว ผมขอถามกลับไปว่า พลุของเรา ประทัดของเรา มันทำอะไรพวกคุณได้สักแค่ไหน พลุที่เรายิง ประทัดที่ปา ส่วนใหญ่ก็ปาไม่ถึงพวกคุณอย่างมากก็มีเสียงดัง แต่มันไม่สามารถทำอันตรายพวกคุณได้เท่ากับแก๊สน้ำตา หรือกระสุนยางที่พวกคุณใช้ เอาเข้าจริงประเทศนี้ถ้าจะหา “ของ” ที่มันแรงกว่านี้ผมว่าไม่ยากแต่ถามว่าทำไมไม่มีใครใช้ ก็เพราะพวกเราไม่ได้คิดจะทำให้พวกคุณบาดเจ็บหรือตายไง”
“ที่เราทำมันก็แค่การตอบโต้ เราอยากเดินไปหาเผด็จการประยุทธ์ จันทร์โอชา แล้วพวกคุณมาขวาง เราก็ตอบโต้พวกคุณมันก็แค่นั้น เอาจริงๆ ถ้าพวกคุณให้พวกเราเดินไปถึงหน้าบ้านประยุทธ์ จันทร์โอชา แค่หน้าค่ายก็ได้ แล้วให้ประยุทธ์ จันทร์โอชาหรือตัวแทนออกมาชี้แจงว่าทำไมเราเดินมาหน้าราบหนึ่งไม่ได้ แล้วคุณจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจยังไง จะช่วยให้ชีวิตพวกเราดีขึ้นยังไง ถ้าเป็นแบบนี้ผมคิดว่าเรื่องที่ดินแดงจบ แต่พอเรามาเจอคอนเทนเนอร์ เจอ คฝ.แบบนี้ มันก็ไม่มีทางออก”    
“สำหรับคนที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตย ประชาธิปไตยมันคือความหลากหลาย ยึดเสียงข้างมาก รับฟังเสียงข้างน้อย ถ้าคุณบอกว่าคุณเป็นประชาธิปไตยเราก็อยากให้คุณฟังเราบ้าง เปิดใจบ้าง ว่าในการต่อสู้เรียกร้องมันก็มีหลายวิธี การปะทะตรงแบบที่ดินแดงมันก็เป็นแนวทางการต่อสู้แบบหนึ่งเราเห็นมาแล้วในฮ่องกง ในฝรั่งเศส เราตอบโต้ แต่การตอบโต้ของเราก็ไม่ได้หวังให้ใครบาดเจ็บหรือตาย และสุดท้ายเราก็มีเป้าหมายเดียวกับพวกคุณคือเอาประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกไป เอาประชาธิปไตยกลับมา”
“ถ้าฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกันมาบอกสิ่งที่พวกเรากำลังทำว่าเป็นการก่อความวุ่นวายหรืออะไรก็ตาม สุดท้ายนั่นจะเป็นใบอนุญาตฆ่าที่เปิดทางให้รัฐใช้กระสุนจริงแบบที่เคยเกิดกับคนเสื้อแดง” 
“สุดท้ายผมอยากฝากว่า อยากให้คนฝ่ายเดียวกันเปิดใจรับฟังเด็กๆ ที่ดินแดงบ้าง ไม่ใช่มาแสดงท่าทีรังเกียจ มาด้อยค่าหรือเอาอคติตัวเองมาบังตาจนไม่ฟังกัน”