1863 1144 1882 1275 1735 1987 1748 1283 1899 1332 1545 1862 1895 1857 1924 1021 1035 1044 1763 1130 1703 1025 1227 1770 1410 1292 1743 1840 1023 1865 1157 1734 1052 1109 1096 1313 1357 1250 1648 1711 1121 1011 1157 1501 1548 1128 1253 1898 1639 1121 1247 1535 1775 1188 1805 1480 1903 1791 1344 1241 1658 1597 1231 1217 1502 1606 1774 1352 1926 1971 1439 1656 1943 1401 1738 1178 1011 1307 1269 1112 1863 1519 1859 1185 1412 1514 1607 1192 1616 1836 1235 1750 1789 1489 1582 1829 1320 1081 1219 กองทุนราษฎรประสงค์ - เพราะทุกคนต้องเข้าถึงสิทธิในการประกันตัว | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

กองทุนราษฎรประสงค์ - เพราะทุกคนต้องเข้าถึงสิทธิในการประกันตัว

แม้จะมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ และมีการออกข้อกำหนดห้ามชุมนุมโดยอ้างเหตุการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 แต่ความไม่พอใจต่อสภาวะเศรษฐกิจและการบริหารประเทศโดยเฉพาะการแก้ปัญหาโควิดและการจัดหาวัคซีนทำให้ผู้คนเลือกที่จะลงสู่ท้องถนนโดยไม่หวั่นเกรงต่อโทษทางอาญาที่อาจตามมา ความเข้มข้นของสถานการณ์ทางการเมืองยังทำให้การวิพากษ์วิจารณ์ที่ครั้งหนึ่งมีเพดานอยู่ที่การพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างตรงไปตรงมาได้ถูกทลายลง ผู้มีอำนาจรัฐที่มุ่งหวังจะดำรงรักษาสถานภาพและความสัมพันธ์ระหว่างคนในช่วงชั้นต่างๆ ให้เหมือนเดิมจึงใช้วิธีกดปราบอย่างหนัก จำนวนผู้ถูกดำเนินคดีในรัฐบาลประยุทธ์ 2 จึงพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ 
 
นับจากเริ่มประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2564 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ความช่วยเหลือคดีของผู้ที่เข้าร่วมการชุมนุมเพื่อแสดงออกทางการเมือง แล้วถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดและประกาศฉบับต่างๆ ที่ออกมาโดยอำนาจของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และติดตามรวบรวมข้อมูลได้อย่างน้อย 483 คดี มีผู้ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 1,171 คน  ขณะที่คดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากเดือนพฤศจิกายน 2563 ถึง 8 ตุลาคม 2564 มีผู้ถูกตั้งข้อกล่าวหาไปแล้วอย่างน้อย 150 คน จาก 151 คดี  ขณะที่ห้าปีในยุครัฐประหาร คสช. มีผู้ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 98 คน 
 
ปริมาณคดีที่เพิ่มขึ้นส่งผลโดยตรงกับความต้องการหลักทรัพย์ที่ใช้เป็นหลักประกันในการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยเฉพาะในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มักต้องวางเงินประกันในหลักแสน กองทุนราษฎรประสงค์คือหนึ่งในกองทุนที่คอยให้ความช่วยเหลือผู้ต้องหาและจำเลยในคดีที่มีมูลเหตุจากการแสดงออกทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมหรือการแสดงออกบนโลกออนไลน์ ก่อนที่จะถูกคุมขัง ทนายอานนท์ นำภา เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการประกาศระดมทุนโดยใช้เฟซบุ๊กส่วนตัวของเขาที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก แต่เมื่อทนายอานนท์ถูกดำเนินคดีมากขึ้นและถูกคุมขังเป็นเวลานานในช่วงต้นปี 2564 จึงมีการเปิดเพจเฟซบุ๊ก "กองทุนราษฎรประสงค์" เป็นช่องทางสื่อสารและระดมทุนอย่างเป็นทางการ 
 
2024
  
จุดเริ่มต้นการระดมเงินประกันตัวประชาชนในคดีการเมือง
 
ไอดา อรุณวงศ์ หนึ่งในผู้ดูแลกองทุนราษฎรประสงค์ระบุว่า แนวคิดเรื่องการระดมทุนประกันตัวผู้ต้องขังและคดีการเมืองเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยที่มีการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงในปี 2553 แล้ว ครั้งนั้นทนายอานนท์ ซึ่งเพิ่งเป็นทนายความใหม่ๆ ได้ร่วมกับเพื่อนทนายจัดตั้งสำนักกฎหมายราษฎรประสงค์ขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายกับผู้ต้องหาและจำเลยที่ถูกดำเนินคดีจากการร่วมการชุมนุมกับคนเสื้อแดง โดยชื่อราษฎรประสงค์นำมาจากชื่อแยกราชประสงค์ สถานที่ที่มีการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงช่วงปี 2553 แต่เปลี่ยนคำว่า "ราช" เป็น "ราษฎร" เพื่อให้ชื่อมีความหมายว่า "เจตจำนงค์ของประชาชน" 
 
ไอดาระบุว่าในยุคนั้น (ช่วงหลังการสลายการชุมนุมปี 2553) ยังไม่มีการจัดตั้งองค์กรแบบศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ต้องหาและจำเลยคดีการเมืองอย่างเป็นรูปธรรม ประกอบกับไม่ค่อยมีทนายความด้านสิทธิมนุษยชนอยากออกตัวมาทำคดีการเมืองในท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งเหลืองแดง อานนท์จึงจัดตั้งสำนักกฎหมายดังกล่าวขึ้นและเปิดระดมทุนจากประชาชนเพื่อใช้ทำคดีรวมทั้งใช้วางเป็นเงินประกันให้กับผู้ต้องหาหรือจำเลยคดีบางส่วนด้วย
 
อย่างไรก็ตามสำนักกฎหมายดังกล่าวก็อยู่ได้ไม่นานนักเพราะทรัพยากรที่มีไม่พอ ทนายอานนท์จึงตัดสินใจว่าความให้คนเสื้อแดงที่ถูกดำเนินคดีต่อไปในฐานะทนายความอิสระ พอมาถึงช่วงของการรัฐประหาร 2557 ทนายอานนท์ออกมาร่วมกิจกรรม "เลือกตั้งที่ลัก" ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ร่วมกับนักกิจกรรมอีกสามคนได้แก่ พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ วรรณเกียรติ ชูสุวรรณ และสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ครั้งนั้นทั้งสี่คนถูกดำเนินคดีในความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศ คสช.ฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนในศาลทหาร ทนายอานนท์จึงใช้เฟซบุ๊กส่วนตัวของเขาประกาศระดมทุนจากประชาชนเพื่อนำมาใช้เป็นเงินประกันตัวเขากับผู้ต้องหาที่เหลือ ซึ่งปรากฎว่าในเวลาเพียงชั่วข้ามคืนมีคนโอนเข้ามาในบัญชีราวแปดแสนบาท    
 
ไม่ใช่เงินบริจาคแต่เป็นม็อบอีกแบบหนึ่ง
 
ไอดาระบุว่าบัญชีที่ใช้ในการระดมทุนครั้งนั้นเป็นบัญชีที่เปิดโดยใช้ชื่อคนสามคนได้แก่ตัวเธอ ทนายอานนท์ และคนรู้จักของเธออีกคนหนึ่ง สิ่งที่น่าสนใจคือในเงินแปดแสนที่เข้ามาส่วนใหญ่เป็นเงินบริจาคของผู้บริจาครายย่อยคนละร้อยสองร้อย จะมีหลักพันหรือหลักหมื่นแทรกมาบ้างแต่ไม่มากนัก
 
ไอดามองว่าการที่คนจำนวนมากร่วมโอนเงินแม้เพียงหลักร้อยเป็นเพราะสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศในขณะนั้น (ปี 2558 ซึ่ง คสช.ปกครองโดยใช้อำนาจพิเศษทั้งการเรียกคนปรับทัศนคติและออกกฎห้ามชุมนุมทางการเมือง) ค่อนข้างปิด คนไม่มีพื้นที่ในการแสดงออก บางคนจะออกไปชุมนุมก็ไม่อยากถูกดำเนินคดี การบริจาคเงินประกันตัวจึงเป็นเสมือน "ม็อบ" รูปแบบหนึ่งคือแทนที่คนจะลงถนนก็ร่วมสนับสนุนเงินประกันซึ่งไม่เสี่ยงต่อการผิดกฎหมายแทน
 
ทนายอานนท์โพสต์ข้อความระดมทุนในวันที่ 15 มีนาคม 2558 เวลาประมาณ 20.00 น. พอถึงเช้าวันถัดมาที่เขามีกำหนดเข้ารายงานตัวกับตำรวจและต้องไปที่ศาลทหาร มีเงินโอนมาที่บัญชีที่ใช้ระดมทุนประมาณแปดแสนบาท แต่ปรากฎว่าในวันนั้นศาลทหารไม่อนุญาตให้ฝากขัง เพราะเห็นว่าผู้ต้องหาทั้งสี่คนไม่มีพฤติการณ์หลบหนี เงินที่ระดมทุนมาจึงไม่ได้ถูกนำมาใช้ อย่างไรก็ตามเมื่อมีประชาชนกลุ่มอื่นถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองและต้องการนำหลักทรัพย์ไปใช้ประกันตัว ทนายอานนท์จึงเริ่มนำเงินที่ระดมมาเพื่อใช้ในคดีตัวเองมาใช้ประกันตัวผู้ต้องหาคนอื่นๆ โดยก่อนใช้เงินเขามักจะโพสต์ข้อความขอความเห็นบนเฟซบุ๊กของตัวเองก่อนเพราะถือว่าเงินดังกล่าวไม่ใช่เงินของเขาแต่เป็นเงินบริจาคของประชาชน 
 
เมื่อมีคนถูกดำเนินคดีมากขึ้นจนเงินที่ระดมมาครั้งก่อนๆ ไม่เพียงพอ ทนายอานนท์ก็จะใช้เฟซบุ๊กของเขาระดมทุนเป็นระยะ ขณะเดียวกันก็มีการเปลี่ยนตัวผู้ถือบัญชีโดยนำทนายอีกคนหนึ่งที่ให้ความช่วยเหลือจำเลยคดีการเมืองหลังการรัฐประหาร 2557 หลายคดีมาเป็นผู้ถือบัญชีร่วมแทนคนรู้จักของไอดาอีกคนหนึ่งเพื่อความสะดวก   
 
ก่อกำเนิด กองทุนราษฎรประสงค์
 
ในช่วงปี 2563 ทนายอานนท์ เคลื่อนไหวทางการเมืองเข้มข้นขึ้นจนตัวเขาเองตกเป็นผู้ต้องหาและจำเลยเสียเองในหลายคดี จึงมีการปรับปรุงโครงสร้างผู้ถือบัญชีใหม่ ลดผู้ถือบัญชีเหลือสองคนคือตัวของไอดาและชลิตา บัณฑุวงศ์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อความคล่องตัวและเพื่อความสะดวกในการดำเนินงาน เนื่องจากตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 ทนายอานนท์เคยถูกคุมขังไปแล้วช่วงหนึ่งรวมถึงต้องเดินทางไปขึ้นศาลหรือสถานีตำรวจในคดีที่ตัวเองตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย
 
ไอดาระบุว่าก่อนจะถึงปี 2564 การระดมทุนของกองทุนยังไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์หรือจัดการทำงานในลักษณะ "กองทุน" อย่างเป็นทางการ ในช่วงที่ทนายอานนท์ไม่ถูกคุมขัง เวลาที่ต้องระดมทุนเขามักเป็นคนประกาศระดมทุนผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ในวันที่ 7 มกราคม 2564 ไอดากับทีมงานตัดสินใจเปิดเพจเฟซบุ๊ก กองทุนราษฎรประสงค์ขึ้นมาเพื่อใช้เป็นช่องทางสื่อสาร ระดมทุน รวมถึงชี้แจงรายรับรายจ่ายต่อสาธารณะอย่างเป็นกิจจะลักษณะเพื่อความโปร่งใสและเป็นระบบในการทำงาน หลังจากนั้นระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมิถุนายน 2564 ทนายอานนท์ถูกคุมขังในเรือนจำเพราะศาลยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในคดีการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร การเปิดเพจเฟซบุ๊กชองกองทุนในครั้งนั้นจึงนับเป็นจังหวะก้าวที่สำคัญเพราะเป็นการจัดระบบให้กองทุนสามารถทำงานได้ด้วยตัวเอง โดยสถานะเฟซบุ๊กที่กองทุนเขียนขึ้นเพื่อชี้แจงเหตุผลของการเปิดเพจและตั้งชื่อกองทุนนี้ว่ากองทุนราษฎรประสงค์เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2564 ตอนหนึ่งระบุว่า
 
เหตุที่ตัดสินใจใช้ชื่อว่ากองทุนราษฎรประสงค์ ก็เพื่อเป็นการรำลึกกลับไปยังจุดริเริ่มตั้งต้นของแนวคิดจัดตั้งองค์กรทนายความอาสาและการตั้งกองทุนช่วยเหลือเรื่องการประกันตัวแก่ผู้ต้องหาคดีการเมืองเมื่อปี 2553 หลังการสลายการชุมนุมของประชาชนในนามคนเสื้อแดงที่ถนนราชประสงค์ โดยในครั้งนั้นเราใช้ชื่อว่า “ราษฎรประสงค์” เพื่อสะท้อนถึงวาระอันเป็นเหตุตั้งต้นคือการสังหารหมู่ที่ราชประสงค์ และเพื่อบอกถึงพลังของการแสดงเจตจำนงประสงค์ของประชาชนผ่านการระดมเงินประกันตัว ซึ่งความพยายามอย่างมวยวัดในครั้งนั้นค่อยคลี่คลายมาจนในปัจจุบันที่มีการตั้งองค์กรอาชีพทนายความขึ้นมารองรับอย่างเป็นกิจจะลักษณะ รวมทั้งเกิดกองทุนประกันตัวขึ้นมาอีกหลายกองทุนอย่างน่ายินดี และอีกเหตุผลหนึ่งที่ใช้ชื่อดังกล่าวนี้ก็เพราะเห็นถึงความพ้องกันโดยบังเอิญของสปิริตอย่าง “ราษฎรประสงค์” ในวันนั้น กับ “(คณะ)ราษฎร--ประสงค์” ในวันนี้ " และจากวันที่ 7 มกราคม 2564 จนถึงวันที่ 12 ตุลาคม 2564 มีผู้ใช้เฟซบุ๊กกดติดตามเพจกองทุนราษฎรประสงค์ 33922 คน (เวลา 5.03 น.) 
 
ไอดาระบุด้วยว่าแม้ทนายอานนท์จะต้องเข้าออกในเรือนจำอยู่บ่อยครั้งโดยเฉพาะหลังปี 2564 แต่เมื่อไม่ได้ถูกคุมขังเขาก็ยังมีส่วนร่วมกับการทำงานของกองทุนราษฎรประสงค์ โดยหลายๆ กรณีทนายอานนท์ก็เป็นคนประสานงานให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยได้รู้จักกับกองทุนเพื่อรับความช่วยเหลือ
 
ไม่ว่าจนหรือรวยทุกคนต้องมีสิทธิเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม
 
สำหรับเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือของกองทุนราษฎรประสงค์ ไอดาระบุว่าประชาชนทุกคนที่ถูกดำเนินคดีเพราะการแสดงออกทางการเมืองความเสมอภาค มีสิทธิเข้าถึงเงินของกองทุนเพื่อนำไปใช้เป็นหลักทรัพย์ในการเข้าถึงสิทธิในการประกันตัวอย่างเท่าเทียม ไอดาระบุว่าเลือกใช้คำว่าความเสมอภาคแทนคำว่า "ประชาธิปไตย" เป็นเพราะคำว่า "เสมอภาค" เป็นคำที่มีความหมายกว้างกว่า ถ้ามีใครสักคนรณรงค์เพื่อความเสมอภาคแต่ตัวเขาเชื่อมั่นในแนวคิดแบบสังคมนิยมเขาก็ยังมีสิทธิเข้ารับการช่วยเหลือจากกองทุนนี้ 
 
สำหรับสถานะทางการเงินของผู้รับความช่วยเหลือ ไอดาระบุว่าไม่ใช่สาระสำคัญที่กองทุนจะนับเป็นเกณฑ์ในการเลือกให้หรือไม่ให้ความช่วยเหลือ บางคนครอบครัวอาจมีฐานะแต่ตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีฐานะ นอกจากนั้นการต่อสู้เพื่อความเสมอภาคไม่เกี่ยวกับฐานะทางเศรษฐกิจ นอกจากนั้นประชาชนที่บริจาคเงินก็ประสงค์ที่จะให้ความช่วยเหลือกับนักต่อสู้ทุกคนโดยไม่สนใจว่าคนคนนั้นจะยากดีมีจนอย่างไร และตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยก็จะไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับเงิน เป็นเรื่องของทางกองทุนที่จะนำเงินไปวางให้ศาลโดยตรง
 
สำหรับคำถามที่ว่าหากเป็นคดีการแสดงออกทางการเมืองที่มีการใช้กำลังหรือทำลายทรัพย์สินซึ่งอาจถูกมองว่าเป็นการใช้ความรุนแรงเข้ามาเกี่ยวข้องทางกองทุนจะให้ความช่วยเหลือหรือไม่ ไอดาระบุว่า "ความรุนแรง" เป็นคำที่ต้องหาอาศัยการตีความ สิ่งที่คนหนึ่งมองว่ารุนแรงอีกคนหนึ่งอาจมองว่าเป็นการแสดงออกโดยสันติก็ได้ กองทุนเพียงแต่ให้ความช่วยเหลือในการเข้าถึงสิทธิในการประกันตัวระหว่างการสู้คดีเท่านั้น สุดท้ายแล้วการพิสูจน์ข้อเท็จจริงจะนำไปสู่คำตัดสินว่าจำเลยถูกหรือผิดอย่างไรข้อนั้นไม่เกี่ยวข้องกับกองทุน ขอเพียงทนายความร้องขอความช่วยเหลือเข้ามาทางกองทุนก็พร้อมจะให้ความช่วยเหลือเพราะถือว่าทางทนายความน่าจะคัดกรองผู้รับความช่วยเหลือมาแล้ว ที่ผ่านมาทางกองทุนก็เคยให้ความช่วยเหลือหลักทรัพย์ประกันตัวกับจำเลยที่ถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับทำลายทรัพย์สินแล้ว เช่น จำเลยคดีทุบรถผู้ต้องขัง (กรณีที่ผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งทุบกระจกรถผู้ต้องขังที่พริษฐ์และภาณุพงศ์ถูกควบคุมตัวหลังทั้งสองมีอาการเป็นลมเพราะไม่มีอากาศหายใจเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2563)
 
ไอดาระบุว่าทางกองทุนจะให้ความช่วยเหลือเฉพาะเงินที่ใช้ในการประกันตัวเท่านั้น เนื่องจากคนที่มาช่วยงานต่างมาทำในลักษณะอาสาสมัครที่ทุกคนมีงานประจำ การช่วยเหลือเฉพาะเงินประกันที่มีใบเสร็จกำกับชัดเจนยังพออยู่ในวิสัยที่ทีมงานจะบริหารจัดการได้ แต่หากกองทุนให้ความช่วยเหลือด้านอื่น เช่น ค่าเดินทาง หรือค่าอาหาร การทำบัญชีก็จะยิ่งซับซ้อนและเกินกำลังของทีมงาน สำหรับตัวเธอเองในบางครั้งก็จะใช้เงินส่วนตัวให้ความช่วยเหลือซื้ออาหารหรือออกค่าเดินทางกับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่มีความเดือดร้อนเป็นรายกรณี โดยระบุว่าการทำลักษณะนั้นจะทำให้ไม่มีปัญหาในเรื่องบัญชีและก็เหมือนเธอได้ร่วมสมทบกองทุนราษฎรประสงค์ด้วยเพียงแต่เธอไม่ต้องบริจาคเงินเข้ากองทุน
 
จนถึงเดือนพฤษภาคม 2564 กองทุนราษฎรประสงค์มีเงินอยู่ในความดูแลราวแปดล้านบาทซึ่งส่วนใหญ่จะกระจายอยู่ตามศาลและสถานีตำรวจต่างๆ (ในวันที่ 9 ตุลาคม 2564 กองทุนมีเงินคงเหลือในบัญชี 1,943,814.95 บาท) สำหรับอนาคตหากสถานการณ์ทางการเมืองดีขึ้นและคดีทางการเมืองทั้งหมดยุติ ทีมงานก็คุยกันว่าอยากจะเอาเงินไปตั้งกองทุนเพื่อให้ความช่วยเหลือจำเลยคดีอาญาทั่วไปที่มีฐานะยากจนให้มีโอกาสเข้าถึงสิทธิประกันตัวแต่ดูเหมือนว่ากว่าวันนั้นจะมาถึงคงยังไม่ง่ายนัก
 
หมายเหตุ
 
ไอดาให้ข้อมูลเพิ่มเติมในเดือนตุลาคม  2564 ว่า ในเดือนกรกฎาคม 2564 กองทุนราษฎรประสงค์ได้รับมอบเงินอีกก้อนหนึ่งที่เฟซบุ๊กของทนายอานนท์เคยระดมทุนระหว่างที่เขาถูกคุมขังในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมิถุนายน 2564 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของเขาและผู้ต้องขังคดีการเมืองคนอื่นๆระหว่างถูกคุมขัง เมื่ออานนท์และผู้ต้องขังคดีการเมืองคนอื่นๆที่ถูกคุมขังในครั้งนั้นถูกปล่อยตัวออกมาจนหมด ทนายอานนท์จึงโอนเงินที่เคยระดมทุนส่วนที่เหลือให้กองทุนราษฎรประสงค์ ทางกองทุนจึงนำเงินส่วนนั้นมาใช้เป็นเงินช่วยเหลือผู้ต้องขัง แต่เนื่องจากข้อจำกัดในการทำงาน ทางกองทุนจึงจะไม่ระดมทุนในส่วนเงินช่วยเหลือผู้ต้องขังเพิ่มเติม แต่หากในอนาคตมีความจำเป็นและทีมงานมีความพร้อมก็อาจพิจารณาดำเนินการต่อไป
 
สำหรับการวางเงินประกันสูงสุดในคราวเดียว ไอดาระบุว่าจนถึงเดือนตุลาคม 2564 การวางเงินประกันที่ใช้เงินสูงสุดในคราวเดียวคือเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ทางกองทุนวางเงินประกันผู้ชุมนุมกลุ่มทะลุฟ้า 31 คน ที่ถูกดำเนินคดีในความผิดฐานร่วมกันข่มขืนใจเจ้าพนักงานฯ และความผิดฐานชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงแต่การแพร่ระบาดของโรค 

สำหรับผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองและต้องการรับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ หรือประสงค์จะร่วมสมทบทุนเงินประกันของทางกองทุน สามารถดูรายละเอียดและติดต่อได้ที่เพจ กองทุนราษฎรประสงค์
ชนิดบทความ: