ม็อบดินแดง: เสียงสะท้อนจาก “ผู้สื่อข่าวภาคสนาม” ต่อท่าทีของรัฐ

51602873104_725cae2a35_o
“อยากฝากถึงเจ้าหน้าที่นะครับว่า เราเองก็ต่างทำหน้าที่เหมือนกัน คุณอยากมีอิสระของคุณ เราไม่เคยเข้าไปเกะกะ ก้าวก่ายเรื่องของคุณ คุณเองก็ควรเคารพสิทธิของเราบ้าง” คือ เสียงสะท้อนของ “เอิ๊ก-กิตติธัช วิทยาเดชขจร” ผู้สื่อข่าว The Reporters ผู้ปักหลักรายงานสถานการณ์การชุมนุมบริเวณแยกดินแดงแบบใกล้ชิดและสม่ำเสมอ
ท่ามกลางความดุเดือดของสถานการณ์การชุมนุมในพื้นที่ดินแดง การปะทะไม่ได้จำกัดอยู่แค่รัฐกับผู้ชุมนุม แต่ยังมี “ลูกหลง” ที่สะเทือนมาถึงประชาชนในพื้นที่รวมไปถึงบรรดาผู้สื่อข่าวในพื้นที่ ซึ่งบางครั้งก็มาในรูปแบบของการพยายามปิดกั้นหรือจำกัดการรายงานข่าว และบางครั้งก็มาในรูปแบบของการด่าทอหรือคุกคาม เสมือนว่า ผู้สื่อข่าวภาคสนามเป็น “สนามอารมณ์” ขอเจ้าหน้าที่รัฐ

เมื่อสื่อภาคสนามถูกคุกคามและห้ามนำเสนอข่าวในพื้นที่

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2564 หรือการชุมนุม #ม็อบ11กันยา ที่แยกดินแดง วันดังกล่าวนับเป็นครั้งแรกๆ ที่สื่อมวลชนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสั่งให้หยุดการถ่ายทอดสด ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เจ้าหน้าที่มีปฏิบัติการสลายการชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นการยิ่งกระสุนยาง ขึ้นไปตามแฟลต และอาคาร มีการจับผู้ชุมนุมที่ส่งผลต่อการเสียหายของบ้านเรือนประชาชนบริเวณนั้น และยังตรวจค้นเต๊นท์พยาบาลด้วย อีกทั้ง ยังมีการตรวจสอบสื่อที่อยู่ในพื้นที่ด้วยการตรวจบัตรสื่อของสื่อมวลชน ซึ่งหนึ่งในสื่อที่โดนตรวจบัตรและสั่งหยุดถ่ายทอดสดก็คือ สำนักข่าว The Reporters
แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สื่อมวลชนถูกสั่งให้หยุดนำเสนอข่าว จากคำบอกเล่าของ “เอิ๊ก-กิตติธัช วิทยาเดชขจร” ผู้สื่อข่าว The Reporters ระบุว่า เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2564 ในระหว่างเจ้าหน้าที่มีการกระชับพื้นที่ที่บริเวณด้านหน้าแฟลตดินแดง เขากำลังรายงานข่าวผ่านการถ่ายทอดสดในเพจอยู่บริเวณนั้น ต่อมามีคนแจ้งว่า รถของเขาถูกเจ้าหน้าที่ล้อมเอาไว้ เขาจึงเดินกลับไปที่รถพร้อมกับถ่ายทอดสดสถานการณ์ แต่เมื่อเจอเจ้าหน้าที่ เขาก็ถูกขอให้ยุติการถ่ายทอดสด 
จากนั้น ก็มีจ้าหน้าที่ก็เดินเข้ามากล่าวหาว่า เขาคอยเป็นสายรายงานสถานการณ์ของเจ้าหน้าที่ให้ม็อบ แล้วตำรวจก็ทำการการตรวจค้นรถ ค้นตัว ตรวจกระเป๋า แล้วก็กล่าวหาว่ารถยี่ห้อนี้ สังกัดนี้ ของบุคคลท่านนี้ซึ่งเป็นตัวผม มีแนวโน้มที่จะเข้ามาสอดแนม แล้วก็กล่าวหาว่าคอยทำงานให้ม็อบ แต่ทางเอิ๊ก ก็ได้โชว์หลักฐานว่า เขามาจากสื่อมีสังกัดจริงๆ แล้วไม่ได้รายงานความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด แล้วพอเจ้าหน้าที่ตำรวจเห็นหลักฐาน ตำรวจก็ถอยออกมาพร้อมกับกล่าวขอโทษกับเขา
ถัดมาในวันที่ 13 ตุลาคม 2564  ‘เอิ๊ก’ ผู้สื่อข่าว The Reporters ต้องเจอกับการคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐอีกครั้ง โดยครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากมีกลุ่มผู้ชุมนุมขว้างปาประทัดใส่แนวเจ้าหน้าที่บริเวณซอยต้นโพธิ์ และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้ามาถามกับเขาที่กำลังรายงานสถานการณ์สดอยู่ว่า “มึงอยู่ฝ่ายไหน” เมื่อโชว์บัตรสำนักข่าวให้เขาดู เขาบอกว่า “กูรู้ แต่กูอยากรู้ว่ามึงอยู่ฝ่ายไหน” จากนั้นก็ดึงโทรศัพท์ที่กำลังถ่ายทอดสดไป ให้ลูกน้องอ่านคอมเมนต์ว่ามีการรายงานอะไรให้ทางฝั่งม็อบดูหรือไม่
“ตอนนั้นมีความตกใจ แต่พูดจากับเขาอย่างมีเหตุผลว่ามาจากองค์กรนี้ มีบัตรของ บช.น. มีเอกสารครบ เขาก็บอกว่า อ๋อ กูว่าแล้ว พวกมึงมาแทรกซึมหาข่าวตำรวจนี่หว่า” เอิ๊ก เล่านาทีปะทะกับเจ้าหน้าที่ให้ฟัง

เราทุกคนล้วนทำหน้าที่ ต้องรู้จักเคารพซึ่งกันและกัน

เอิ๊ก-กิตติธัช กล่าวว่า “อย่างเหตุการณ์ตอนเจ้าหน้าที่มีการจับกุมผู้ก่อเหตุ เรารู้สึกว่า ในเมื่อภาพที่เราไลฟ์สดไปก็เห็นแล้วว่าผู้ก่อเหตุก่อเหตุจริงๆ เจ้าหน้าที่เข้าจับกุมก็ควรจะเปิดโอกาสให้ไลฟ์สด ไม่ได้จะเข้าไปกระชั้นชิดติดถึงตัวเจ้าหน้าที่ เราก็แค่ขอระยะห่าง เพื่อให้เห็นว่ากลุ่มผู้ชุมนุมถูกจับกุมแล้ว ก็มีการปฏิบัติอย่างไร รวมทั้งอีกส่วนหนึ่งคือการตรวจสอบสื่อหรือคนที่กำลังไลฟ์สดอยู่ เพื่อความเป็นกลางและความสบายใจของคนดูด้วยว่า การที่คุณตรวจสอบนั้นคุณไม่ได้มีการกล่าวหาหรือประทุษร้ายแต่อย่างใด”
เอิ๊ก-กิตติธัช อธิบายการทำงานของเขาด้วยว่า “มีหลายท่านสอบถามเข้ามาว่าทำไมไม่ไปถ่ายหลังแนวของทางเจ้าหน้าที่บ้าง ถ้าเราไปถ่ายหลังแนวของเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่เองก็จะกันเราออกเพื่อความปลอดภัยของตัวเราที่ทางเจ้าหน้าที่กล่าวอ้าง แต่จริงๆ แล้วถ้าเกิดเราถ่ายหลังแนวเจ้าหน้าที่เราจะไม่เห็นเหตุการณ์อะไรเลย หรือถ้าเราไปถ่ายหลังแนวผู้ชุมนุมเอง เจ้าหน้าที่ก็จะให้เราออกอีก บอกว่าเป็นอันตรายหากผู้ชุมนุมมีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งเราพยายามหามุมที่เราจะอยู่ตรงกลางที่สุด เพื่อให้เห็นภาพรวมของสถานการณ์”
เอิ๊ก-กิตติธัช ผู้สื่อข่าว The Reporters กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า “อยากฝากถึงเจ้าหน้าที่นะครับว่า เราเองก็ต่างทำหน้าที่เหมือนกัน คุณอยากมีอิสระของคุณ เราไม่เคยเข้าไปเกะกะ ก้าวก่ายเรื่องของคุณ คุณเองก็ควรเคารพสิทธิของเราบ้าง ไม่ใช่ว่าเราเดินเข้าไปแนบชิดกับทางเจ้าหน้าที่ เรามีการเว้นระยะห่างเพื่อความปลอดภัยตลอด แต่คุณมาขอให้ปิดไลฟ์ มีการตรวจค้นรถ ตรวจเอกสาร เรายินดีครับ เราให้ข้อมูลตรวจสอบแน่นอน เพราะว่าเอกสารทุกอย่างของเราถูกต้อง แต่ขออย่างเดียวว่า เรื่องของการตรวจค้นนั้น ให้เราถ่ายทำได้ไหมเพื่อความสบายใจของคนดู อีกทั้งเรื่องของคำพูดคำจา คุณอาจจะมองว่าคุณเป็นตำรวจชั้นผู้ใหญ่มีอายุเยอะกว่าเรา แต่มันไม่ใช่ตัวบ่งบอกวุฒิภาวะครับ เราควรใช้คำอย่างคนที่ไม่รู้จักกันมากกว่า อย่างเช่น คุณกับคุณ ไม่ใช่มึงกับกู”