ดินแดง : สำนักข่าวราษฎรกับความท้าทายของสื่อพลเมือง

สำนักข่าวราษฎรเป็นหนึ่งในสำนักข่าวออนไลน์ที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการรายงานการชุมนุมทางการเมืองที่แยกดินแดง การรายงานข่าวส่วนใหญ่เป็นการไลฟ์สถานการณ์ยาวผ่านทางเฟซบุ๊กและยูทูบ อาจมีรายงานสรุปสถานการณ์บ้าง เบื้องหลังการรายงานการชุมนุมต่อเนื่องคือ โอปอ-ณัฐพงศ์ มาลี ผู้ก่อตั้งและผู้สื่อข่าวคนเดียวของสื่อพลเมืองสำนักนี้

การชุมนุมที่แยกดินแดง ไลฟ์รายงานข่าวของเขาจับภาพสำคัญๆได้อย่างน้อย คือ เหตุการณ์การยิงกระสุนยางในระยะประชิด เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2564 และเหตุการณ์ที่ตำรวจใช้กระบองยางทุบที่ท้ายทอยผู้ถูกจับกุมแม้ว่า จะถูกคุมตัวได้แล้วและไม่ได้มีท่าทีจะต่อสู้ เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2564 เขาเป็นสื่อพลเมืองคนแรกที่ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564 ระหว่างการสลายการชุมนุมบริเวณถนนมิตรไมตรีตำรวจกล่าวหาเขาว่า ฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องการรวมตัวและข้อกำหนดเรื่องการเคอร์ฟิว ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่รัฐมองว่า เขาเป็นหนึ่งในผู้ที่มาร่วมชุมนุมที่แยกดินแดง

ชวนทำความรู้จักโอปอและการทำงานของเขาที่แยกดินแดงที่นำมาสู่คดีความร่วมชุมนุมที่แยกดินแดง

จากราษฎรคนหนึ่งสู่สำนักข่าวราษฎร

โอปอเล่าว่า เขาเรียนจบจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อปีที่ผ่านมา ก่อนหน้าการก่อตั้งสำนักข่าวราษฎร เขาเคยเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มนักกิจกรรมที่เรียกร้องประชาธิปไตยมาก่อน ระหว่างนี้เขาเห็นว่า บางครั้งสื่อมวลชนก็ไม่ได้นำเสนอข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมนัก อาจด้วยประเด็นที่เรียกร้องมีความแหลมคม เขาจึงเริ่มก่อตั้งสำนักข่าวราษฎรขึ้นมาเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2564  “เราเห็นว่า สถานการณ์ทางการเมืองโดยเฉพาะการชุมนุมมันเข้มข้นมาก อยากเติมเต็มข่าวสาร อยากให้ประชาชนได้เห็นการเคลื่อนไหวของการชุมนุมว่าข้อเรียกร้องเป็นอย่างไร สื่อบางครั้งไม่ได้บอกข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม”

การร่วมชุมนุมในปี 2563 ทำให้เขาเป็นที่คุ้นเคยกับบรรดานักกิจกรรม ซึ่งกลายเป็นจุดแข็งของเขาในการเข้าถึงแหล่งข้อมูล เขาบอกว่า ตอนช่วงที่ข่าวแรกๆก็จะเป็นการรายงานงานข่าวประจำวัน เช่น นักกิจกรรมไปทำกิจกรรมที่ไหนและไลฟ์สถานการณ์ระยะเวลาไม่นานมาก รวมทั้งสรุปข่าวสั้น หรือบางครั้งหากมีเวลาและกำลังมากพอเขาอาจจะมาย้อนฟังถอดความอย่างละเอียดแล้วรายงานต่อสาธารณะ โอปอยอมรับว่า เขาคือมือใหม่ บางครั้งอาจมีความผิดพลาดบ้างเช่น ชื่อและตำแหน่งของแหล่งข่าว แต่ก็พยายามแก้ไขสอบทานตลอด

ทะลุแก๊ซ ดินแดงและขาขึ้นของสำนักข่าวราษฎร

เดือนสิงหาคม 2564 ทะลุฟ้าจัดการชุมนุมต่อเนื่องโดยมีเป้าหมายที่กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ราบ 1) แต่ถูกสลายการชุมนุมทุกครั้ง เริ่มจากวันที่ 11 สิงหาคม 2564 ตำรวจสลายการชุมนุมที่เกาะพญาไท อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ทำให้ผู้ชุมนุมอิสระไปปรากฏตัวที่แยกดินแดง บริเวณใกล้กับแนวสิ่งกีดขวางของตำรวจเพื่อตอบโต้การกระทำของตำรวจและถูกสลายการชุมนุมซ้ำอีกครั้ง

ตามมาด้วยวันที่ 13 สิงหาคม 2564 ที่ครั้งนี้ทะลุฟ้าสามารถเคลื่อนขบวนมาได้ถึงแยกดินแดง แต่ตำรวจยังคงไม่ให้ผ่านแนวสิ่งกีดขวางไปที่ราบ 1 การถูกสลายการชุมนุมซ้ำๆ ในที่เดิม ทำให้ดินแดงกลายเป็นพื้นที่ต่อสู้ใหม่ที่ไม่ว่าการชุมนุมหลักของทะลุฟ้าจะเปลี่ยนไปที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยหรือกลุ่มอื่นๆจะหลีกเลี่ยงพื้นที่ดินแดงเช่นไรก็จะมีผู้ชุมนุมอิสระกลับมาที่แยกดินแดง

วันที่ 18 สิงหาคม 2564 ทะลุฟ้าจัดการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ผู้ชุมนุมอิสระเริ่มแยกตัวออกจากการชุมนุมหลักของทะลุฟ้าชัดเจนมารวมตัวกันเองที่แยกดินแดงโดยไม่ได้รอให้เกิดการสลายการชุมนุมของกลุ่มหลักก่อน สื่อมวลชนจำนวนมากปักหลักรายงานข่าวที่การชุมนุมของทะลุฟ้า ขณะที่สำนักข่าวราษฎรและสื่อพลเมืองจำนวนหนึ่งเบนเข็มมาที่แยกดินแดง ภาพที่เห็นซ้ำๆคือ ตำรวจยิงแก๊สน้ำตาจนกลายเป็นควันสีขาวปกคลุมพื้นที่ดินแดง ระหว่างที่ผู้ชุมนุมอิสระเหล่านี้ก็ฝ่าควันแก๊สน้ำตาไปทางราบ 1 เวลานี้เองที่โอปอกล่าวอย่างขบขันว่า อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมีทะลุฟ้า ขณะที่ดินแดงมีทะลุแก๊ส…แก๊สน้ำตาของตำรวจ

“ที่เลือกจะไปดินแดงตอนแรกๆ เพราะการชุมนุมมันมีความสำคัญหมด เราชื่อสำนักข่าวราษฎร ทุกการชุมนุมมันก็สำคัญอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหนก็ตาม เราก็ทำหน้าที่เพื่อนำเสนอข่าวสารเพื่อยืนยันข้อเท็จจริง”

การรายงานของสำนักข่าวราษฎรที่แยกดินแดงจะเป็นการไลฟ์ขนาดยาว เขารายงานพฤติการณ์และรายละเอียดของ “สิ่งของ” ที่ผู้ชุมนุมใช้ด้วยการสอบถามข้อเท็จจริงจากผู้ชุมนุมและรายงานต่อสาธารณะอย่างตรงไปตรงมา เช่น ระเบิดปิงปองและระเบิดไล่นก ผู้ชุมนุมบอกวัตถุประสงค์ของการชุมนุมที่แยกดินแดงกับเขาว่า เป็นการกระทำเพื่อตอบโต้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำต่อขบวนการประชาธิปไตย

“ถามน้องว่า ที่เอามามันเรียกคืออะไรบ้าง น้องก็ตอบมาว่า อันนี้เรียกว่าอะไร ชิ้นไหนเป็นอะไร เป็นการใช้ที่ไม่ได้คาดหมายชีวิต เอาแบบตอบโต้ น้องๆมองว่า เจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2563 ที่แยกปทุมวัน [ผู้ชุมนุม]ใช้อาวุธที่เขาหามาได้ ไม่ได้หวังเอาถึงชีวิต จนถึงตอนนี้ก็ไม่มีการยกระดับอาวุธ แต่มีเหตุเรื่องอาวุธปืนในวันที่ 6 ตุลาคม 2564 ที่ยังไม่สิ้นสุดกระบวนการสืบสวน”

ไลฟ์ของเขาเต็มไปด้วยความมีชีวิตชีวา บางครั้งเมื่อสถานการณ์ไม่ตึงเครียดเขาก็ร้องเพลงให้ผู้ชมทางบ้านฟัง บางครั้งก็อธิบายก็อ่านข้อวิจารณ์ของผู้ชมที่ขอให้เขาระวังการรายงานการกระทำของผู้ชุมนุม และบ่อยครั้งที่มีผู้ชุมนุมมาดูที่หน้าจอโทรศัพท์เขาและถามว่า “พี่มาจากไหนอ่ะ” เขาก็ตอบตามตรงว่า มาจากสำนักข่าวราษฎร เมื่อเขาเริ่มเป็นที่รู้จักในที่ชุมนุมก็จะมีผู้ชุมนุมมาพูดคุยทักทายกับเขามากขึ้น

การรายงานข่าวการชุมนุมที่ดินแดงทำให้ยอดผู้ติดตามของสำนักข่าวราษฎรเพิ่มขึ้นจากเดิมมาก ปัจจุบันสำนักข่าวราษฎรมีผู้ติดตามทั้งสิ้น 285,020 บัญชี  โอปอมองว่า เป็นเพราะประชาชนให้ความไว้วางใจในการรายงานข่าวพลเมืองแห่งนี้

ความท้าทายไม่ใช่ความรุนแรง แต่คือทัศนคติของรัฐต่อสื่อพลเมือง

แม้จะถูกมองว่า สำนักข่าวราษฎรเป็นสื่อเลือกข้างผู้ชุมนุม แต่ก็ยังคงมีข้อครหาว่า การไลฟ์ของเขาชี้เป้าการเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมให้แก่ตำรวจ โอปอปฏิเสธและระบุว่า “ที่ผ่านมาเรื่องการไลฟ์ มีการตั้งคำถามว่า ทำไมไปถ่ายกลุ่มผู้ชุมนุมใกล้ขนาดนั้น บางครั้งเรากำลังหามุมอยู่ จริงๆเราไปถ่ายหน้างานมันก็เห็นตัวผู้ชุมนุมอยู่แล้ว มันเป็นข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นหน้างาน ถ้าเราไม่ถ่ายกลุ่มผู้ชุมนุมเราจะไปถ่ายนกถ่ายไม้หรือ เราไม่ได้ถ่ายแบบเห็นหน้าค่าตา ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อจะชี้ตัวผู้ชุมนุมให้ตำรวจ จุดประสงค์ในการรายงานข่าวข้อเท็จจริง”

โอปอบอกว่า ความท้าทายมากที่สุดในการรายงานข่าวที่แยกดินแดงแห่งนี้ไม่ใช่การตกเป็นเป้าหมายของความรุนแรงทางกายภาพแต่คือ ทัศนคติที่รัฐมีต่อสื่อพลเมืองอย่างสำนักข่าวราษฎรและสื่อพลเมืองรายอื่นๆ “ดินแดงทำให้ท้าทาย…ไม่ได้ท้าทายเรื่องการรายงานข่าว แต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เห็นว่า เราเป็นสื่ออิสระ สื่อพลเมืองที่ไม่มีคนรับรอง ปลอกแขนของสมาคมสื่อ เป็นช่องโหว่ทีทำให้เล่นงานได้และถูกกล่าวหาว่า ร่วมชุมนุม”

เขาเล่าว่า เขาเคยถูกตำรวจขอตรวจบัตรประจำตัวสื่อมวลชนประมาณ 3-4 ครั้ง เท่าที่จำได้คือ วันที่ 20 สิงหาคม 2564 ระหว่างที่เขากำลังไลฟ์การตั้งด่านตรวจของตำรวจและวันดังกล่าวเขาก็สามารถจับภาพขณะที่ตำรวจยิงกระสุนยางใส่ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ในระยะประชิด และวันที่ 3 กันยายน 2564 ที่บริเวณตลาดศรีวณิช ตำรวจขอให้เขาปิดไลฟ์และตรวจบัตรประจำตัวสื่อมวลชน ช่วงดังกล่าวเขาอธิบายว่า เขาเป็นสื่อพลเมืองเผยแพร่ข่าวออนไลน์ ตำรวจก็ไม่ได้ว่าอะไรและปล่อยตัวเขาไป

ต้นเดือนกันยายน 2564 ผู้ชุมนุมเริ่มเปลี่ยนพื้นที่ปักหลักไปที่ถนนมิตรไมตรี ฝั่งตรงข้ามกรมดุริยางค์ทหารบก ระหว่างการรายงานข่าวมีผู้ติดตามเพจแชทมาบอกเขาว่า ฟังจากไลฟ์สื่ออื่นและได้ยินตำรวจมาถามว่า คนไหนคือเพจราษฎร ทำให้เริ่มรู้ว่า ตำรวจกำลังจับตาสำนักข่าวราษฎร อย่างไรก็ตามโอปอยังคงอยู่ในพื้นที่รายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่องเรื่อยมา บทบาทสำคัญของเขาคือ เหตุการณ์วันที่ 11 กันยายน 2564 หลังจากเข้าสู่ช่วงเวลาเคอร์ฟิว ตำรวจเข้าสลายการชุมนุมโดยสั่งให้สื่อมวลชนไปรวมกันที่แยกดินแดง บริเวณใกล้กับโรงเรียนนิธิปริญญา มีการตรวจบัตรประจำตัวสื่อมวลชนและให้ออกนอกพื้นที่มิเช่นนั้นอาจจะถูกดำเนินคดีฐานฝ่าเคอร์ฟิว

โอปอบอกว่า คืนนั้นเขารู้สึกถึงสัญญาณไม่ดีจึงออกจากถนนมิตรไมตรีมาที่แฟลตดินแดงก่อนการเข้าพื้นที่ของตำรวจ เขาตั้งใจจะอยู่บริเวณแฟลตดินแดงด้วยเชื่อว่า ที่ผ่านมาตำรวจไม่ขึ้นแฟลต ซึ่งนั่นหมายความว่า แฟลตจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เขาได้รายงานสถานการณ์ จากนั้นเมื่อตำรวจเข้าล้อมแฟลตดินแดงและใช้ข้อกำหนดเรื่องการเคอร์ฟิวจำกัดการรายงานของสื่อมวลชน เขารู้และเลือกที่จะไลฟ์สถานการณ์ต่อไปโดยปักหลักที่บริเวณซอยต้นโพธิ์ ข้างแฟลตดินแดง วันดังกล่าวสำนักข่าวราษฎรแทบจะเป็นช่องเดียวที่สามารถไลฟ์สถานการณ์การสลายการชุมนุม

“วันนั้นคนดูก็แบกความคาดหวังกับเรา เราก็คิดว่า จะรายงานอย่างไร ซอยต้นโพธิ์ก็มีผู้ชุมนุมอยู่มีการประทัด เราก็อยู่เพื่อความเท่าเทียมในการรายงานข่าว คนดูก็บอกว่า อย่าถ่ายน้องๆ เราก็รักษาระยะห่างให้มากที่สุด อย่างน้อยเป็นประจักษ์พยาน เครื่องบันทึกให้สังคมให้เห็นว่า มันเกิดอะไร”

คืนนั้นตำรวจระดมยิงแก๊สน้ำตาและกระสุนยางเข้าใส่แฟลตดินแดงต่อเนื่อง 40 นาทีก่อนถอนกำลังออกไป ปากคำผู้อยู่ในเหตุการณ์บอกว่า “อย่างกับหนังสงคราม” โดยตำรวจจับกุมผู้ชุมนุม ประชาชนและอาสาพยาบาลไป 78 คน โดยตั้งข้อกล่าวหาเช่น ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 53 คน ส่วนอีก 25 คนเป็นอาสาพยาบาลต้องทำประวัติ ตรวจสอบข้อมูล ก่อนปล่อยตัวที่สน.ดินแดงโดยไม่แจ้งข้อกล่าวหา

ตำรวจหมายหัวสื่อไร้สังกัด ก่อนถูกคดีร่วมชุมนุมและฝ่าเคอร์ฟิว

หลังการรายงานสถานการณ์การชุมนุมในคืนวันที่ 11 กันยายน 2564 โอปอบอกว่า เขาทำใจแล้วว่า อาจจะถูกดำเนินคดีได้ แต่คิดว่า คงมาในรูปแบบหมายเรียกให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานสอบสวน เขามองว่า สำหรับการใช้เสรีภาพนั้น การถูกปราบปราบด้วยคดีความเป็นรูปแบบที่น่าจะเบาที่สุดแล้ว มันเป็นเรื่อง “เล็กน้อย” เมื่อเปรียบเทียบกับการอุ้มหาย เขายอมรับว่า คิดไปไกลถึงเรื่องนี้ วันใดวันหนึ่งเขาอาจเป็นเหยื่อของการอุ้มหายก็เป็นได้ แต่โอปอก็ยังคงไปรายงานข่าวการชุมนุมที่แยกดินแดงต่อ

วันที่ 13 กันยายน 2564 ช่วงค่ำพล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการและโฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาล ให้สัมภาษณ์ทางรายการตอบโจทย์ไทยพีบีเอสในช่วงค่ำอ้างว่า ได้รับการร้องเรียนจากสื่อมวลชนว่า มีกลุ่มผู้ชุมนุมหรือมีผู้แอบแฝงมาเป็นสื่อมวลชนปลอมและจะนำผู้ที่แฝงตัวเข้ามาจำนวน 2-3 คนมาดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยยืนยันว่า สื่อมวลชนยังทำหน้าที่ในระหว่างการเคอร์ฟิวได้แต่ผู้ที่ถูกเจ้าหน้าที่ให้ออกจากพื้นที่คือสื่อไม่มีสังกัด อ้างว่า เป็น “สื่อราษฎร” บ้าง เป็นสื่อยูทูบเบอร์เล็กๆน้อยๆบ้าง

เวลาประมาณ 21.30 น. ระหว่างที่โอปอทำการไลฟ์ที่ถนนมิตรไมตรี ตำรวจชุดเคลื่อนที่เร็วเข้ามาในพื้นที่ ผู้ชุมนุมผละออกไป แต่เขาตัดสินใจไม่ตามไป ตำรวจตรวจสอบบัตรประจำตัวของสื่อมวลชนที่อยู่บริเวณนี้ เขาแสดงต่อตำรวจว่า เป็นสื่อจาก “Thaivoice” เขาก็ปล่อยไปและกลับมาอีกครั้ง ตำรวจมีการเปิดดูไลฟ์ของเขาและเห็นว่า เขายังอยู่ในพื้นที่ จากนั้นเขาถูกตำรวจคุมตัวบอกว่า จะพาไปตรวจสอบสถานะที่กรมดุริยางค์ทหารบก

แต่เมื่อไปถึงกรมดุริยางค์ทหารบก ตำรวจบอกว่า นี่คือการจับกุมและยึดโทรศัพท์ เขาจึงบอกว่า หากจะตรวจสอบโทรศัพท์ให้ตำรวจไปขอศาลออกหมายค้นมาแต่ตำรวจไม่ยอม มีการเจรจาทำนองว่า ถ้าใช้หมายค้นโทรศัพท์ก็จะยึดไปนานหน่อย แต่ถ้าให้ตอนนี้รุ่งเช้าจะคืนให้ เขามองว่า เขาต้องใช้โทรศัพท์ทำมาหาเลี้ยงชีพและบริสุทธิ์ใจจึงยอมให้โทรศัพท์ไปพร้อมกับรหัส ต่อมาเขาถูกคุมตัวไปที่สน.พหลโยธิน ระหว่างนี้พบกับแอดมินเพจปล่อยเพื่อนเราด้วย ตำรวจมีการถามประวัติความเป็นมา การศึกษาและรายได้ ทั้งยังบอกว่า รายงานข่าวเบาๆหน่อยนะ

พนักงานสอบสวนกล่าวหาว่า เขาฝ่าฝืนเรื่องข้อห้ามการรวมตัวและการออกนอกเคหสถานหลังเวลา 21.00 น. ตามข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เขาให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ต่อมาวันที่ 14 กันยายน 2564 ศาลแขวงพระนครเหนือมีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องวางหลักประกัน หลังการปล่อยตัวเขามารายงานสถานการณ์ที่แยกดินแดงในทันที ท่ามกลางผู้ชุมนุมที่เข้ามาทักทาย สอบถามเขาจำนวนมาก โดยโอปอยืนยันว่า คดีความที่เกิดขึ้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่สื่อมวลชน “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ทำให้ลดเพดานในการรายงานข่าว”

จนถึงปัจจุบันการชุมนุมที่แยกดินแดง ตำรวจดำเนินคดีกับสื่อพลเมืองไปแล้วอย่างน้อยห้าคนคือ โอปอ-ณัฐพงศ์ มาลี สำนักข่าวราษฎร, พนิดา อเนกนวน แอดมินเพจปล่อยเพื่อนเรา, สถิตย์ คำเลิศและพรชัย แซ่ซิ้มจากเพจกะเทยแม่ลูกอ่อนและแอดมินนินจา จากเพจ Live Real