“นคร” : “เราไม่เคยสนใจการเมือง แต่หลังจากโดน 112 เราจึงหันมาสนใจการเมืองมากขึ้น”

“นคร” เป็น LGBTQ+ ประกอบอาชีพเป็นช่างรับจ้างแต่งหน้า อยู่ที่จังหวัดเชียงราย และยังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงราย เดิมทีนครไม่ได้มีความสนใจเกี่ยวกับการเมือง เขาเล่าว่าเขามีหน้าที่ใช้ชีวิตไปเรื่อย ๆ ตามที่สังคมเป็น แต่เมื่อปี 2563 นครทราบข่าวว่าเขาจะถูกดำเนินคดีมาตรา 112 จากสำนักข่าวทีวีช่องหนึ่งซึ่งได้รายงานข่าวว่า นครได้แชร์เนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ พร้อมระบุวันที่แชร์เนื้อหาอย่างชัดเจน แต่นครปฏิเสธเพราะเมื่อย้อนกลับดูไม่พบว่าเขาแชร์เนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในวันดังกล่าวเลย
ต่อมา ในช่วงปลายปี 2563 นครได้รับหมายเรียกพยานจาก สภ.บางแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อไปให้ปากคำในฐานะพยาน เนื่องจากมีผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษว่า มีผู้ใช้เฟสบุ๊กโพสต์ข้อความพาดพิงสถาบันกษัตริย์ เมื่อได้รับหมายนครจึงได้เดินทางไปให้ปากคำเพียงลำพัง โดยไม่มีทนายความให้คำปรึกษาติดตามไปด้วย
ต่อมานครก็ได้รับหมายเรียกผู้ต้องหาในข้อหามาตรา 112 โดยวันที่ 9 เมษายน 2564 นครได้เดินทางไป สภ.บางแก้ว อีกครั้ง ซึ่งเขาคิดว่าครั้งนี้คงจะเป็นการให้ปากคำเหมือนครั้งแรก แต่สุดท้ายเขาถูกพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พร้อมควบคุมตัวไปขออำนาจศาลฝากขัง หลังจากศาลมีคำสั่งอนุญาตฝากขัง นครจึงถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำกลางสมุทรปราการเป็นเวลา 9 วัน จนภายหลังญาติได้เดินทางมาประกันตัว

ชีวิต 9 วันในเรือนจำ

“ตอนที่เราเข้าไปในเรือนจำวันแรกเขาให้เราแก้ผ้าต่อหน้าคนอื่นเกือบ 20-30 คน หลังจากนั้นเขาก็พาเราไปตรวจร่างกายว่ามีการนำของอะไรเข้ามามั้ย พอตรวจสอบร่างกายเสร็จแล้วเขาก็พาเราไปที่ห้องคุมขังสำหรับกักตัว เขาก็ให้เราแก้ผ้าต่อหน้าคนอีกประมาณเกือบ 200 คน เพื่อที่จะให้เขาตรวจร่างกายอีกครั้ง เพื่อที่จะส่งขึ้นเรือนนอน” นคร เล่าย้อนความหลังเมื่อต้องเข้าเรือนจำครั้งแรก
เมื่อพูดถึงความเป็นอยู่ในเรือนจำ นครเล่าว่า เขาถูกนำไปคุมขังในห้องขังสำหรับกักตัว ห้องน้ำจะอยู่ในห้องคุมขังและไม่มีกำแพงหรือประตูปิดเป็นที่โล่งที่เมื่อเข้าไปใช้ทุกคนก็จะเห็น พื้นที่ในห้องคุมขังจะมีนักโทษอยู่ในนั้นเกือบร้อยคน โดยขนาดของห้องคุมขังเท่ากับขนาดคอนโดทั่วไปจำนวนสองห้องเท่านั้น และในตอนที่นครอยู่ในนั้นมีนักโทษบางคนที่มีอาการป่วย แต่การรักษาที่ได้รับก็ไม่ได้ดี เมื่อขอยากับเจ้าหน้าที่ไป ขอไปเท่าไหร่ก็ไม่ให้ ทั้งที่เขาก็ได้เข้ามาตรวจเรียบร้อยแล้วว่านักโทษคนนั้นป่วยจริง
ส่วนเรื่องอาหารการกิน นครกล่าวว่า เมื่อเขาเข้าไปอยู่ในเรือนจำ เขาจึงได้รู้ว่าอาหารการกินนั้นไม่ได้ดีเหมือนกับที่สื่อบางสำนักบอกเลย เช่น แกงเผ็ดที่จะต้องมีเนื้อหมูและผักในจาน ๆ หนึ่งจะได้เนื้อหมูชิ้นเล็ก ๆ ไม่เกินสองชิ้นและก็จะมีผัก วันไหนโชคดีหน่อยก็จะได้ผักที่หั่นมาดี หากวันไหนโชคร้ายก็จะได้เศษผักที่สภาพเหมือนเศษอาหารเหลือกิน อาหารบางวันก็พอกิน บางวันก็ไม่พอกิน
เมื่อถามถึงความรู้สึกของคนในครอบครัว นครได้กล่าวว่า “เมื่อตอนที่เราอยู่ในเรือนจำ คนในครอบครัว เขาก็ค่อนข้างวิตกกังวล เป็นห่วงเรา ส่วนเราเองก็กังวล เป็นห่วงเขาเหมือนกันว่าเขาจะโดนอะไรมั้ย”

มิตรภาพในเรือนจำ

แม้ชีวิตในเรือนจำจะไม่ค่อยโสภานัก แต่ก็ยังมีแง่มุมที่ดีอยู่บ้าง ซึ่งนครได้กล่าวเล่าถึงผู้ต้องขังคนหนึ่งที่คอยให้ความช่วยเหลือในระหว่างที่เขาอยู่ในเรือนจำว่า “ตอนนั้นที่เราถูกคุมขังอยู่ในห้องคุมขัง เราโชคดีที่เจอกับพี่คนหนึ่งที่เขาเป็นหัวหน้านักโทษ เขาดูแลเราดีมาก เขาถามว่าเราไปโดนอะไรมา เราไม่ได้เป็นผู้ชายใช่ไหม เขาบอกเราว่าเขากลัวว่าเราจะโดนอะไร ถ้าในระยะเวลากักตัวสิบกว่าวัน เราไม่มีญาติมาประกันตัวเราจะอยู่ยังไง แต่เรามั่นใจว่าญาติเราจะมาประกันตัว เพราะก่อนที่เราจะโดนให้นำของไปฝาก เราได้ส่งข้อความไปหาญาติว่าเราถูกนำตัวมาฝากขังอยู่ที่เรือนจำกลางสมุทรปราการนะ”
ช่วงเวลาสั้น ๆ ในเรือนจำ นคร มีโอกาสสอบถามพูดคุยกับผู้ต้องขังคนอื่น ๆ ทำให้เขารู้ว่าคดีของตัวเขาเป็นคดีที่ค่อนข้างประหลาด สำหรับผู้ต้องขังคนอื่น ๆ ในเรือนจำแห่งนี้ เนื่องด้วยผู้ต้องขังในเรือนจำแห่งนี้ส่วนใหญ่จะถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับอาชญากรรม เช่น ค้าขายยาเสพติดหรือความผิดฐานฆ่าคนตาย ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่เรือนจำเองก็ค่อนข้างให้ความสนใจกับคดีของเขาว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร
นคร เล่าว่า เขาได้รับการปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่ไม่ค่อยดีเสียเท่าไหร่ โดยมีการใช้คำหยาบและข่มขู่เขา เช่น เหตุการณ์ตอนที่นครเข้าไปอยู่ในเรือนจำแรก ๆ เจ้าหน้าที่ได้มีการพูดคุยกับเขา เมื่อนครตอบกลับไปไม่ว่าจะเสียงดังหรือเบา เจ้าหน้าที่ก็จะตอบกลับมาว่าไม่ได้ยิน หรือเมื่อนครใช้เสียงดังตอบกลับ เจ้าหน้าที่ก็เริ่มใช้คำหยาบคายว่า “มึงไม่พอใจกูหรอ มึงอยากโดนพวกกูซ้อมหรือยังไง มึงรู้หรือป่าวอยู่ในนี้ใครทำอะไรมึงก็ไม่มีใครรู้หรอก” แต่ยังถือว่าโชคดีที่มีผู้ต้องขังในเรือนจำที่อยู่มาก่อนเข้ามาช่วยพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ให้ว่า นครนั้นเพิ่งจะเข้ามายังไม่รู้เรื่องอย่าไปถือสา
มากกว่านั้น นครได้เล่าต่อว่า “ในตอนที่กำลังจะเข้าไปในเรือนจำจะมีให้เราฝากของ ซึ่งเราพกเงินไปจำนวนนึงประมาณ 8 พันกว่าๆ และมีสร้อยทองอีกหนึ่งเส้น ซึ่งตอนที่เราออกจากเรือนจำเราก็ไปรับของคืน แต่เราได้เงินคืนมาไม่ครบ เราก็ถามกับเจ้าหน้าที่ไปว่านี่ไม่ใช่เงินของเรานะ เราฝากไปเยอะกว่านี้ แต่เจ้าหน้าที่กลับตอบกลับมาว่า มึงมาใช้น้ำใช้ไฟที่นี่ มึงจะไม่จ่ายเงินให้รัฐเลยหรือไง”

จุดเปลี่ยน จากคนที่ไม่สนใจการเมือง สู่คนที่อยากให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

หลังจากที่ นคร ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เหมือนเป็นจุดเปลี่ยนให้เขาสนใจการเมืองมากขึ้น “เราเริ่มหันมาสนใจการเมืองมากขึ้น เพราะจากที่เราเคยคิดว่ามันไม่น่าจะมาถึงตัวเรา จนมาถึงวันที่มันถึงตัวเราแล้ว เราจึงเข้าใจว่าทำไมประชาชนถึงลุกฮือขึ้นมา ทำไมถึงมีแต่คนต่อต้าน เราได้ไปอ่านในหลาย ๆ คอมเมนท์ หลาย ๆ โพสต์ทั้งที่เราเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เช่น ในเรื่องการเมือง มันทำให้เรารู้สึกว่าในเมื่อมันไม่ดี ทำไมมันถึงไม่เปลี่ยนแปลงสักที ในเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่วนตัวเราคิดว่ามีต่อไป หรือ ไม่มีก็ได้ แต่ถ้ามีเราก็อยากให้สถาบันปฏิรูปไปในทางที่ดีขึ้น ให้อยู่ร่วมกับประชาชนได้ สามารถตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ในสิ่งที่ผิดและไม่ถูกไม่ควรได้เหมือนกับราชวงศ์อังกฤษ เราก็ยังคิดว่าสถาบันกษัตริย์ก็ยังคงมีประโยชน์อยู่บ้างเพียงแต่จำเป็นจะต้องได้รับการปฏิรูป”
หลังจากได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 18 เมษายน 2564 ต่อมาวันที่ 2 กรกฎาคม 2564 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า นครได้เดินทางเข้ารายงานตัวที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ ตามกำหนดนัดหมายของศาล เพื่อฟังคำสั่งทางคดีของพนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการ ในตอนที่นครได้เข้าไปรายงานตัว เขาได้รับแจ้งว่าทางพนักงานอัยการยังไม่ได้ยื่นฟ้องคดี ทำให้เขาไม่ต้องมารายงานตัวที่ศาลอีก แต่ให้รอพนักงานสอบสวนประสานงานเพื่อนัดหมายส่งตัวฟ้องต่อศาลอีกครั้งในภายหลัง โดยต่อมา นครได้แจ้งว่า ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 เขามีนัดคุ้มครองสิทธิในคดีอาญาและมีนัดสืบพยาน