1617 1224 1957 1198 1415 1458 1907 1800 1531 1639 1050 1609 1830 1662 1299 1485 1894 1593 1924 1088 1283 1603 1022 1436 1386 1077 1236 1432 1281 1447 1063 1497 1643 1808 1882 1906 1441 1354 1911 1017 1866 1734 1781 1168 1260 1643 1547 1282 1230 1756 1986 1277 1169 1891 1422 1376 1002 1390 1277 1846 1173 1862 1630 1911 1233 1973 1327 1646 1881 1576 1445 1591 1062 1231 1539 1878 1567 1433 1883 1056 1009 1334 1278 1834 1518 1463 1363 1410 1035 1766 1720 1287 1381 1483 1064 1379 1569 1411 1694 เก็บตกเวที Media Inside Out จำเลยรัฐ จาก NDM ถึง MBK 39 | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

เก็บตกเวที Media Inside Out จำเลยรัฐ จาก NDM ถึง MBK 39

ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2561 การเมืองไทยกลับมาเคลื่อนไหวคึกคักอีกครั้ง แม้คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปจะยังมีผลบังคับใช้ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับ คสช. หวาดกลัว ตรงกันข้ามเมื่อมีข่าวว่า พ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส.ฯ จะมีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้วเก้าสิบวัน และทำให้การเลือกตั้งอาจจะถูกเลื่อนออกไปได้ไกลจากโรดแมปเดิมถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ก็กลายเป็นแรงกระตุ้นให้ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับ คสช. ทั้งคนรุ่นใหม่และคุณลุงคุณป้าออกมาเคลื่อนไหวเพื่อทวงสัญญาให้มีการเลือกตั้งภายในปี 2561 จนนำไปสู่การดำเนินคดี ฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 กับผู้ร่วมชุมนุมที่ลานสกายวอล์ก บีทีเอส สนามกีฬาแห่งชาติ เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2561 อย่างน้อย 39 คนจนกลายเป็นคดี #MBK39
 
ในบรรดาผู้ถูกดำเนินคดีทั้ง 39 คน มีสื่อมวลชนสองคนได้แก่ สงวน คุุ้มรุ่งโรจน์ ผู้สื่อข่าวอิสระอาวุโส และนพเก้า คงสุวรรณ ผู้สื่อข่าวข่าวสด รวมอยู่ด้วย Media Inside Out จึงชวนผู้สื่อข่าวสองคนที่เคยถูกดำเนินคดีระหว่างการทำงาน ได้แก่ ทวีศักดิ์ เกิดโภคา ผู้สื่อข่าวประชาไทที่ถูกดำเนินคดีตามพ.ร.บ.ประชามติฯ จากการไปทำข่าวของประชาชนที่ร่วมกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงที่สภ.บ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี และสงวน คุ้มรุ่งโรจน์ ผู้สื่อข่าวอิสระอาวุโสที่ถูกดำเนินคดีชุมนุมฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 จากการไปทำข่าวการชุุมนุมของกลุ่มประชาชนที่เรียกร้องการเลือกตั้งที่บริเวณสกายวอล์กบีทีเอสสนามกีฬาแห่งชาติ (คดี MBK39) นอกจากนี้ทางผู้จัดยังได้เชิญอ้อมทิพย์ เกิดผลานันท์ นิสิตคณะนิเทศศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่ถูกดำเนินคดีร่วมกับผู้ต้องหา MBK39 มาร่วมพูดคุยด้วย โดยมีรศ.ดร อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์จากณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินรายการ 

815
 

ลุ้นคดียิ่งกว่าลุ้นหวย!

 
ทวีศักดิ์ ผู้สื่อข่าวประชาไทเริ่มบทสนทนาโดยเล่าถึงเหตุการณ์ในวันที่ 27 มกราคม 2561 ว่า ตัวเขาเองไปทำข่าวการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งด้วย ซึ่งเมื่อปรากฎว่า มีนักข่าวสองคนคือ "พี่หงวน" (สงวน) และนพเก้า ผู้สื่อข่าวข่าวสดถูกดำเนินคดีเขาก็แอบลุ้นว่า ตัวเองจะมีชื่อด้วยหรือเปล่าเพราะทางตำรวจเปิดเผยว่าจะมีการออกหมายเรียกผู้ต้องหาเพิ่มเติมอีก แต่จนถึงบัดนี้เขาก็ไม่ได้ถูกดำเนินคดีเพิ่มเติม อุบลรัตน์ขอให้ทวีศักดิ์เล่าถึงประสบการณ์ของเขาที่ถูกดำเนินคดีขณะไปทำหน้าที่สื่อมวลชน ถึงแม้ว่าทวีศักดิ์จะอายุน้อยกว่าสงวนแต่ในทางคดีต้องถือว่าทวีศักดิ์เป็น "รุ่นพี่" เพราะเขาถูกดำเนินคดีตั้งแต่ปี ก่อนหน้าที่สงวนจะมาถูกดำเนินคดี #MBK39
 

Vote No ไม่ได้เพราะบ้านเมืองต้องการ 5 ปีเพื่อปฏิรูป

 
เกี่ยวกับคดีของเขา ทวีศักดิ์เล่าว่า ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2559 ชาวบ้านที่บ้านโป่งไปรายงานตัวในคดีเปิดศูนย์ปราบโกง เขาขออาศัยรถของปกรณ์นักกิจกรรมจากขบวนการประชาธิปไตยใหม่ไปที่สน.บ้านโป่งเพื่อทำข่าว เนื่องจากช่วงนั้นกลุ่มประชาธิปไตยใหม่จัดกิจกรรมรณรงค์ประชามติบ่อยครั้ง ปกรณ์จึงไม่ได้ขนเอกสารรณรงค์ที่มีทั้งโหวตโนและเยสลงจากรถ เมื่อไปถึงที่สภ.บ้านโป่งตัวเขาแยกไปทำข่าวส่วนนักกิจกรรมก็แยกไปให้กำลังใจคนที่มารายงานตัว
 
เมื่อเสร็จธุระ เขาและนักกิจกรรมเดินกลับมาที่รถเพื่อเดินทางกลับ ก็พบว่า มีตำรวจกำลังตรวจค้นท้ายกระบะ พอเห็นปกรณ์ตำรวจก็ขอตรวจค้นภายในรถ ด้วยความบริสุทธิใจปกรณ์ก็ยินยอมเจ้าหน้าที่ก็พบเอกสารทั้งรณรงค์โหวตเห็นชอบและไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ จึงถามว่าโนหรือเยสมากกว่ากัน พอปกรณ์บอกว่าโนมากกว่า เจ้าหน้าที่ก็พูดทำนองว่า "โหวตโนไม่ได้ ผิดกฎหมาย เพราะประเทศต้องการเวลาห้าปีในการปฏิรูป"
 
หลังจากนั้นตัวเขาและนักกิจกรรมก็ถูกเชิญไปบนโรงพักโดยได้รับการแจ้งว่า เพื่อลงบันทึกประจำวัน แต่ตอนหลังปรากฎว่าเจ้าหน้าที่กลับนำบันทึกการจับกุมมาให้ลงชื่อซึ่งเขากับนักกิจกรรมที่เหลือก็ปฏิเสธที่จะลงชื่อเพราะเห็นว่า มีความไม่ชอบมาพากลและพฤติการณ์ในเอกสารก็ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ทวีศักดิ์ย้ำว่า เขายืนยันและแสดงตัวโดยตลอดว่าตัวเองเป็นสื่อมวลชนทั้งยังได้โทรศีพท์ไปสัมภาษณ์สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้งด้วยว่า การครอบครองเอกสารโดยยังไม่ได้แจกนั้นผิดกฎหมายหรือไม่ รวมทั้งได้ส่งโทรศัพท์ของตัวเองให้ตำรวจคุยกับสมชัยด้วย แต่สุดท้ายเขาก็ยังถูกดำเนินคดีร่วมกับนักกิจกรรม
 
"ถ้าถามตามทัศนคติผม ถึงแม้ว่ามันจะไม่ได้มีการลงโทษจำคุกหรือลงโทษปรับหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ว่าโทษทัณฑ์ที่รัฐยัดให้เรามันได้เกิดขึ้นแล้วตั้งแต่เรามีคดีความ หมายความว่า เราเสียเวลาไปเป็นจำนวนมากกับการที่ต้องเดินทางไปราชบุรี เสียสุขภาพจิตที่ต้องมาคิดเรื่องเหล่านี้" ทวีศักดิ์เล่าย้อนถึงความหลังว่า แม้สุดท้ายแล้วศาลจะยกฟ้องคดีของเขาเพราะไม่มีหลักฐานเพียงพอว่ามีการแจกจ่ายเอกสารที่สภ.บ้านโป่ง แต่ระหว่างสู้คดีก็ต้องนอนคุกในสน.หนึ่งคืน จากนั้นพอถูกพาไปศาล ศาลก็ให้ฝากขังต้องประกันตัวเสียค่าประกันอิสรภาพสูงถึง 140,000 บาท แถมยังต้องเสียเวลาค่าเดินทางไปกลับราชบุรีและต้องนั่งในห้องพิจารณาคดีตลอดเวลาช่วงที่มาศาลทำให้ได้รับฟังทัศนคติของพยานโจทก์ที่มาเบิกความจนเกิดคำถามกับตัวเองว่า "บ้านเมืองเราขนาดนี้เลยเหรอ"
 
814
 
ทวีศักดิ์ยังระบุด้วยว่า "หลายคนอาจคิดว่าคดีประชามติ คดีสติกเกอร์โหวตโนที่บ้านโป่งมันเป็นคดีที่ไร้สาระ แต่ด้วยความไร้สาระตรงนั้นมันทำให้เราเสียสุขภาพจิตพอสมควรกับการที่ต้องมาอยู่กับเรื่่องเหล่านี้ ครั้งละหลายๆ วัน เวลามาขึ้นศาลสืบพยาน"
 
เมื่อผู้ดำเนินรายการตั้งข้อสังเกตว่า ช่วงนี้ทาง คสช. และฝ่ายรัฐจะมีการจับกุมผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวแบบเหวี่ยงแหหรือเปล่า ทวีศักดิ์ตอบว่า เขาไม่คิดว่าจะเป็นการจับแบบเหวี่ยงแห แต่น่าจะเป็นการใช้วิธีการจัดกลุ่ม โดยมีการให้ข้อมูลว่าผู้ถูกจับกุมจากการออกมาเคลื่อนไหวเป็นคนเสื้อแดงหรือเคยเคลื่อนไหวร่วมกับเสื้อแดง รวมทั้งการจับยังมีลักษณะเป็นการจับแบบไม่มีระบบ เพราะกระทั่งเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบยังมีชื่อเป็นผู้ต้องหา ก่อนจะถูกเอาออกในภายหลัง
 
ทวีศักดิ์ยังเชื่อว่า การจับคนเป็นจำนวนมากที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นความพยายามสร้างความกลัวไม่ให้คนออกมาเคลื่อนไหว จะเห็นได้จากการที่เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่อย่างรองผบ.ตร.ฝ่ายความมั่นคงลงมาดูแลเรื่องนี้เอง อย่างไรก็ตามท่าทีของภาครัฐโดยเฉพาะศาลก็ดูจะเปลี่ยนไป จากที่คดีช่วงประชามติศาลให้ฝากขังไว้ระหว่างการสอบสวนแต่กรณี #MBK39 ศาลไม่ให้ฝากขัง
 
เมื่ออุบลรัตน์ถามทวีศักดิ์ถึงกรณีที่มีผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองพูดถึงกลุ่ม #MBk39 ว่าเป็นพวกคนหน้าเดิมและมีท่อน้ำเลี้ยง ทวีศักดิ์ระบุว่า ตั้งแต่สมัยเขาเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ช่วงปีท้ายๆ ก็เคยเห็นรังสิมันต์ โรมที่เป็นรุ่นน้องสถาบันเดียวจัดกิจกรรมต่างๆ ระหว่างกิจกรรมก็จะมีการเอากล่องบริจาคมาส่งให้คนที่มาร่วมเพื่อเป็นทุนทำกิจกรรมต่อไป ซึ่งถ้าเจ้าหน้าที่มาดูกิจกรรมที่มีการจัดตอนนี้ก็มีคนที่มาร่วมกิจกรรมใส่กล่องบริจาคเช่นกันไม่ต้องไปสืบหาท่อน้ำเลี้ยงให้ยุ่งยาก
 

เทียนอันเหมิน พม่า ไคโร หรือจะสู้ MBK

 
"การที่สิบนิ้วของผมถูกจิ้มกับหมึกดำมันถือว่าผมเป็นอาชญากรสำเร็จรูปไปแล้ว ซึ่งมันเป็นการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นสื่อของผมซึ่งทำมาสี่สิบปี" ความในใจที่สงวน ผู้สื่อข่าวอิสระอาวุโสที่ผ่านการทำงานกับสื่อชื่อดังหลายแห่งเช่นอาซาฮีชิมบุนของญี่ปุ่นสะท้อนออกมาด้วยความอึดอัดหลังตกเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาคดี #MBK39 "ผมก็ไม่เข้าใจว่าชีวิตผมที่ผ่านมาสี่สิบปีเนี่ย ผมก็ทำข่าวชุมนุมมาเยอะแยะ ทั้งการเดินขบวนของพม่าในปี 1988 1989 ผมอยู่ในเหตุการณ์เทียนอันเหมินที่ปักกิ่ง ที่กัมพูชาช่วงที่อยู่ภายใต้การดูแลของยูเอ็น ที่อินโดนีเซียช่วงการเปลี่ยนผ่าจากรัฐบาลซูฮาร์โตแม้กระทั่งที่ไคโรเมื่อประมาณหกเจ็ดปีที่แล้วที่มีการโค่นล้มมูบารักแต่ไม่มีครั้งไหนเลยที่ผมถูกจับเพราะทำข่าว" สงวนสะท้อนต่อไปว่าถ้าเปรียบเทรียบแล้วดีกรีความตึงเครียดของเหตุการณ์ #MBK39 กับเหตุการณ์ที่ตัวเขาเคยไปทำข่าวในอดีตถือว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยมากแต่ปรากฎว่าเหตุการณ์ในอดีตเขากลับไปทำข่าวได้อย่างราบรื่นแต่กลับมาถูกดำเนินคดีจากการมารายงานเหตุการณ์ #MBK39
 
คนข่าวอาวุโสยังตั้งข้อสังเกตว่า เนื่องจากเขาติดตามทำข่าวการเคลื่อนไหวของนักกิจกรรมทื่รณรงค์เรื่องประชาธิปไตยในยุคคสช.มาโดยตลอด จึงกลายเป็นหนึ่งในบุคคลที่ถูกทางการจับตา ก่อนหน้านี้ช่วงที่รังสิมันต์ โรมกับเพื่อนๆไปแจกใบปลิวรณรงค์ประชามติที่เคหะบางพลี(ปี 2559) ตัวเขาก็ตามไปทำข่าวแล้วถูกจับไปด้วยแต่ครั้งนั้นเขาโวยวายว่าเขามาทำข่าวแล้วไม่ยอมลงชื่อในเอกสารใดๆ สุดท้ายก็เลยไม่ถูกดำเนินคดีจนกระทั่งมาเป็นหนึ่งใน #MBK39 สงวนยังระบุด้วยว่าเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2560 สหประชาชาติได้ผ่านมติเรื่องความปลอดภัยและการสิทธิของผู้สื่อข่าวที่ทำงานภาคสนามโดยเฉพาะในเขตสงครามหรือพื้นที่ที่มีความขัดแย้งเฉกเช่นเดียวกับสิทธิที่แพทย์สนามได้รับการคุ้มครอง แต่ในคดีนี้กลับมีสื่ออย่างน้อยสองคนคือตัวเองและนพเก้าที่ถูกดำเนินคดี
 
813


ส่งหมายเที่ยงคืน ภาพหลักฐาน Photoshop และความผิดเพี้ยนในการตั้งข้อกล่าวหา

 
สงวนสะท้อนต่อว่าการที่เขาถูกดำเนินคดีครั้งนี้มีเรื่องน่าสงสัยหรือไม่ชอบมาพากลอยู่หลายประการ เช่น เขาได้รับหมายเรียกสองฉบับ ฉบับแรกส่งมาในวันที่ 30 มกราคม 2561 ระบุแค่ข้อหาร่วมชุมนุมในรัศมี 150 เมตรจากเขตพระราชฐาน แต่หมายเรียกฉบับที่สองซึ่งออกในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ กลับมีเพิ่มข้อหาชุมนุมทางการเมือง ตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 โดยหมายเรียกฉบับแรกมีเจ้าหน้าที่ตำรวจนำไปส่งที่บ้านของแม่เขาซึ่งอายุ 90 ปีแล้วในเวลาเที่ยงคืน ขณะที่สุดสงวนหรืออาจารย์ตุ้มซึ่งเป็นผู้ต้องหาคดี #MBK39อีกหนึ่งคนก็มีตำรวจไปส่งหมายที่บ้านแม่ของเธอซึ่งอายุมีประมาณ 80 ปีในเวลาประมาณ 22.00 น. นอกจากนี้ภาพถ่ายที่นำมาใช้กล่าวหาเขาก็เป็นภาพโฟโต้ชอป โดยภาพดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ขณะที่เขากำลังพูดคุยกับผู้กำกับของสน.แห่งหนึ่งระหว่างการชุมนุมในวันที่ 27 มกราคม 2561 เนื่องจากเขาต้องการคำยืนยันว่าทางผู้กำกับมาขอให้ผู้ชุมนุมยุติกิจกรรมเนื่องจากถึงเวลาที่ตกลงกันแล้วจริงหรือไม่ เขาจำได้ว่าขณะที่พูดคุยกับนายตำรวจคนนั้นมีพวกป้าๆรายนล้อมอยู่ด้านหลังแต่ภาพที่ตำรวจนำมาใช้เป็นหลักฐานกล่าวหาเขากลับปรากฎว่ามีภาพของเอกชัยหนึ่งในผู้ต้องหาคดี #MBK39 รวมอยู่ด้วยทั้งๆที่ในวันเกิดเหตุเอกชัยไม่น่าจะอยู่ในมุมนั้น
 
สงวนระบุด้วยว่าระหว่างการสอบสวนยังมีการกล่าวหาด้วยว่าก่อนการชุมนุมในวันที่ 27 มกราคม 2561 ตัวเขาได้ไปร่วมประชุมวางแผนโค่นล้มรัฐบาลกับรังสิมันต์โรมและสิรวิชญ์ ผู้ต้องหาอีกสองคนในคดีนี้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้จัดการชุมนุมทั้งที่ตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม - 27 มกราคม 2561 สงวนเดินทางไปต่างประเทศ แม้ว่าวันที่27 มกราคม 2561 เขาจะไปอยู่ในที่ชุมนุมจริงแต่ก็เป็นการไปตามที่ได้รับการร้องขอจากน้องๆที่รู้จักให้ไปทำข่าวแต่ว่าก่อนหน้านั้นเขาไม่ได้ร่วมพูดคุยกับนักกิจกรรมแต่อย่างใดเพราะอยู่ต่างประเทศ
 
เมื่อผู้ดำเนินรายการ ถามถึงกรณีที่นายทหารในคสช.ออกมาระบุทำนองว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งเป็นการเคลื่อนไหวของคนหน้าเดิมและเป็นการเคลื่อนไหวที่มีท่อน้ำเลี้ยง สงวนตอบว่าถ้าไปดูการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ จะเห็นว่ามีคนออกมามากขึ้นและหลายคนก็เป็นคนหน้าใหม่ที่ตัวเขาไม่เคยเห็นในการชุมนุมครั้งก่อนๆ ส่วนเรื่องท่อน้ำเลี้ยงตัวเขาเคยไปเห็นผังว่าตัวเองมีชื่อเป็นท่อน้ำเลี้ยงของกลุ่มนักศึกษาซึ่งก็จริงเพราะตอนที่นักกิจกรรมบางคนจบการศึกษาเขาก็พาไปเลี้ยงข้าวหรือตอนที่นิว(สิรวิชญ์)ไปไต้หวันแล้วเขาตอนนั้นเขาอยู่ที่ไต้หวันพอดีก็เคยพาไปเที่ยวรอบๆอยู่
 

สถานะ จรรยาบรรณ และการคุ้มครอง "สื่อพลเมือง"

 
มีผู้ร่วมฟังการสัมนาคนหนึ่งถามสงวนว่าสถานะของสงวนในขณะนี้น่าจะเป็นการทำงานในฐานะ "นักข่าวพลเมือง" จึงอยากทราบว่านักข่าวพลเมืองต้องการได้รับความคุ้มครองในการรายงานข่าวอย่างไรบ้าง และตัวนักข่าวพลเมืองควรจะต้องมีกรอบในการรายงานอย่างไรโดยเฉพาะในกรณีที่ต้องรายงานเรื่องตัวนักข่าวพลเมืองเองมีความคิดเห็นหรือจุดยืน สงวนตอบว่าเขาคิดว่านักข่าวพลเมืองน่าจะมีความเป็นอิสระมากกว่าสื่อมีสังกัด อย่างไรก็ตามก็ควรทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านโดยเฉพาะในสภาวะที่ประเทศไม่มี "ฝ่ายค้าน" เช่นนี้ สงวนยังระบุด้วยว่าความเป็นสื่อมีสังกัดกับนักข่าวพลเมืองก็มีความทับซ้อนกันเช่นกรณีของนักข่าวสายทหารคนหนึ่งที่แม้จะเป็นผู้สื่อข่าวมีสังกัดแต่การแสดงความคิดเห็นหรือรายงานของเธอในบางครั้งก็น่าจะเป็นการรายงานในฐานะนักข่าวพลเมือง และไม่ว่าจะเป็นนักข่าวมีสังกัดหรือนักข่าวพลเมืองสงวนก็เห็นว่าสุดท้ายแล้วเมื่อเกิดปัญหาก็ต้อง"ดูแล"ตัวเองเหมือนๆกัน อย่างในสมัยที่เขารายงานข่าวเรื่องการสลายการชุมนุมที่จตุรัสเทียนอันเหมิน ตอนแรกต้นสังกัดก็ชื่นชมการทำงานของเขา แต่พอสถานทูตจีนโทรมาตำหนิต้นสังกัดของเขากลับไปขอขมาสถานทูตจีน
 
สงวนปิดท้ายการสนทนาว่าเขาเห็นข่าวผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ถูกจับที่พม่าแล้วก็มาคิดว่าตัวเองอาจโดนแบบนั้นได้เหมือนกัน ที่ผ่านมาเคยมีสโลแกนว่ามหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหารเลยอยากจะบอกว่าเรือนจำก็ไม่ใช่ที่ทำงานของสื่อฯ
 

ไปสาย ไม่ได้ยินเสียง แต่โดนคดี

 
อ้อมทิพย์นิสิตจากรั้วจามจุรีเริ่มบทสนทนาด้วยการเล่าถึงเหตุการณ์วันที่ 27 มกราคมว่า ก่อนวันเกิดเหตุหนึ่งวันมีเพื่อนส่งข้อความมาบอกเธอว่า จะมีกิจกรรมที่ลานสกายวอล์ก เธอก็รับปากกับเพื่อนว่าเดี๋ยวซ้อมละครเสร็จแล้วจะตามไป พอถึงวันเธอก็มายังสถานที่จัดกิจกรรมตามที่นัดกับเพื่อนไว้ แต่ไปถึงสาย ตอนนั้นกิจกรรมเริ่มไปสักพักแล้ว เธอเห็นผู้สื่อข่าวล้อมรอบรังสิมันต์และสิรวิชญ์ซึ่งเป็นคนที่เป็นที่รู้จักของคนในสังคมอยู่ แต่ตัวเธอไม่ได้เดินเข้าไปใกล้ เลยไม่ได้เห็นและไม่ได้ยินว่า บริเวณที่มีผู้สื่อข่าวรุมล้อมเกิดอะไรขึ้นบ้าง
 
อ้อมทิพย์เล่าต่อว่า ระหว่างที่ยืนอยู่วงนอกของกิจกรรมเธอสังเกตเห็นเพื่อนที่ยืนอยู่รอบนอกเช่นกัน ก็เลยเดินเข้าไปคุยด้วย เนื่องจากเสียงของการปราศรัยในบริเวณนั้นเบามากและมีทั้งประชาชนและผู้สื่อข่าวมุงดู เธอก็เลยบ่นกับเพื่อนว่า มองไม่เห็นและไม่ได้ยินอะไรเลย ไม่รู้ว่าข้างในวงนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้างแล้วมีการพูดถึงเรื่องอะไร หลังจากยืนคุยกันได้พักหนึ่งเธอก็สังเกตเห็นว่า นักข่าวที่มุงอยู่เริ่มกระจายตัวก็เข้าใจว่ากิจกรรมน่าจะจบแล้ว เธอก็เลยชวนเพื่อนไปกินข้าวต่อ พอมาเห็นชื่อตัวเองเป็นหนึ่งในผู้ต้องหา #MBK39 เธอจึงรู้สึกแปลกใจ
 
"วันนั้นคือเราค่อนข้างงงมาก เอาในฐานะส่วนตัวก่อน คือ เคยทำแรงกว่านี้แล้วไม่โดนอะไรเลย แต่วันนั้นเราไม่ได้ทำอะไร ถ้ามองตามข้อเท็จจริง คือ เราไม่ได้ชูป้าย ไม่ได้ตะโกนหรือทำอะไรเลย ก็เลยงงแล้วก็ตกใจว่าเค้าจะจับเหวี่ยงแหขนาดนี้เลยเหรอ"
 

นิ้วเปื้อนหมึกแบบงงๆ

 
อ้อมทิพย์เล่าต่อไปว่า พอถึงวันที่ตำรวจนัดมารับทราบข้อกล่าวหา เธอก็มาพร้อมกับผู้ต้องหาคนอื่นๆ มาพิมพ์ลายนิ้วมือจนนิ้วเปื้อนหมึกดำ และให้การปฏิเสธ โดยบรรยากาศในวันนั้นผู้ที่มารับทราบข้อกล่าวหาต่างมีกำลังใจดีมาก หลังเสร็จกระบวนการที่สน. เธอกับผู้ต้องหาคนอื่นๆ ในกลุ่ม 32 คน (ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่า มาร่วมชุมนุม) ก็ไปศาลแขวงปทุมวัน ส่วนเซ็ต 7 คน (ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้จัดกิจกรรม) ไปศาลอาญากรุงเทพใต้
 
สำหรับกรณีที่เธอถูกตั้งข้อหาชุมนุมในรัศมีไม่เกิน 150 เมตรจากเขตพระราชฐาน อ้อมทิพย์ระบุว่า เธอรู้สึกแปลกใจเพราะมาทราบภายหลังว่าในวันเกิดเหตุมีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นคนดูแลการชุมนุมบริเวณนั้นเป็นคนแจ้งกับผู้ชุมนุมเองว่า ให้ขึ้นมาบนสกายวอล์กและก็ไม่ได้มีการห้ามปรามในวันนั้นว่าเป็นการชุมนุมในพื้นที่ที่อยู่ในรัศมี 150 เมตร จึงดูขัดแย้งกันเองกับการที่มาตั้งข้อกล่าวหาในภายหลัง
 
"มันค่อนข้างขัดแย้งกันเองมาก ถ้าคุณจะมากล่าวหาว่า เราอยู่ในเขตพื้นที่ 150 เมตร แต่คุณเองก็กลับบอกว่า เฮ้ย ขึ้นมาข้างบนสิ แล้วก็ไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า"
 
ผู้ดำเนินรายการตั้งคำถามต่อไปว่า ในวันเกิดเหตุอ้อมทิพย์ไม่ได้เข้าไปด้านในที่ทำกิจกรรมแล้วก็ไม่ได้ยินด้วยซ้ำว่า มีการปราศรัยอะไรกัน แล้วพอจะรู้หรือไม่ว่าเป็นเพราะเหตุใดจึงถูกออกหมายเรียกด้วย เพราะดูเหมือนว่าใน 39 คนจะมีผู้ต้องหาส่วนหนึ่งที่ถูกดำเนินคดีในลักษณะคล้ายๆ กันนี้มาก่อนอยู่แล้ว อ้อมทิพย์ตอบว่า ตอนที่ถูกสอบสวน เจ้าหน้าที่นำรูปภาพจากวันเกิดเหตุมาให้ดู แล้วถามว่า ใช่เราหรือไม่ เลยเข้าใจว่าตำรวจน่าจะถ่ายรูปคนมาร่วมกิจกรรมไว้ทั้งหมดแล้วใครที่ทางตำรวจรู้จักชื่อก็จะเรียกมา
 
เมื่อถูกถามว่ากลัวหรือไม่ตอนที่ไปรายงานตัวกับตำรวจ อ้อมทิพย์ตอบว่าเธอไม่รู้สึกกลัวเลย บรรยากาศในวันนั้นอบอุ่นมากเพราะมีคนมาเยอะมาก เพราะคนที่มาที่หน้าสน.ปทุมวัน ในวันนัดรับทราบข้อกล่าวหาไม่ได้มีแค่ผู้ต้องหา แต่มีคนมาให้กำลังใจด้วย ทุกคนดูมีพลังมากและภาพที่เต็มเปี่ยมด้วยพลังนั้นก็ถูกส่งผ่านสู่สังคมวงกว้างผ่านสื่อ อ้อมทิพย์จึงมั่นใจว่า การมารายงานตัวของเธอและผู้ต้องหาคนอื่นๆ จะถูกจับตาอย่างใกล้ชิดจากสังคม และหากมีอะไรไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นคนในสังคมก็จะต้องออกมาพูดเรื่องนี้เป็นแน่
 
812


คนหนุ่มสาว - A New Hope

 
ในตอนท้ายของการสนทนาอ้อมทิพย์สะท้อนว่าท่าทีของรัฐที่จำกัดการเคลื่อนไหวมากขึ้นน่าจะมาจากความกลัวของรัฐเอง จึงต้องใช้กฎหมายให้เข้มงวดเพื่อสร้างความกลัวให้คนไม่กล้าออกมาเคลื่อนไหว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นดูจะเป็นไปในทางตรงข้ามกับที่รัฐมุ่งหวัง เพราะมันยิ่งทำให้คนรุ่นใหม่บางส่วนที่ก่อนหน้านี้อาจจะไม่ค่อยสนใจประเด็นทางสังคม เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว เริ่มมาสนใจมากขึ้น เพราะคนรู้จักได้รับผลกระทบจนรู้สึกว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว
 
"สำหรับคนวัยนิสิตนักศึกษา เรามองว่า การที่ทางรัฐบาลตระหนัก หรือกลัวอะไรซักอย่างจนทำให้เค้าทำแบบนี้มากขึ้นมันยิ่งทำให้นิสิตนักศึกษาเริ่มเห็นว่า คสช. เป็นตัวตลก"
 
"อยากจะบอกว่า เค้า (คสช.) ทำตัวเอง ต้องยอมรับว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่มีความเป็นปัจเจก อาจจะไม่ได้สนใจเรื่องสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นมากนัก ตอนที่เกิดเหตุการณ์ปี 49 ก็ยังเด็กอยู่และด้วยสภาพสังคมหลายๆ อย่างก็อาจจะทำให้เราไม่ได้สนใจเรื่องสถานการณ์ทางการเมือง แต่ว่าพอคนรุ่นใหม่เริ่มเห็นคนใกล้ตัวอย่างเพื่อนนักศึกษาอยู่ดีๆ ก็โดนคดี มันก็เริ่มทำให้เพื่อนหลายคนเริ่มมาตระหนักถึงปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้น"
 
"ถ้าให้สรุปกว้างๆ การที่ คสช. ทำอะไรลงไปไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม เป็นการปลูกเมล็ดพันธุ์ให้นิสิตนักศึกษาและคนรุ่นใหม่หันมาสนใจสถานการณ์ทางการเมืองมากขึ้น"
 
อ้อมทิพย์ทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า "จริงๆแล้วเรา (คนรุ่นใหม่) มีความสนใจ แต่ด้วยสภาพแวดล้อมที่หล่อหลอมเรามาอาจจะทำให้เราแสดงออกต่างจากคนรุ่นก่อนๆ หรือพลังของนักศึกษาที่เราเคยเห็นมาในประวัติศาสตร์ แต่ว่าอยากให้เชื่อมั่นและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งการเคลื่อนไหวแบบใหม่"
 
ชนิดบทความ: