1845 1713 1827 1017 1669 1595 1500 1079 1090 1629 1775 1334 1055 1675 1777 1472 1381 1668 1218 1669 1057 1218 1124 1070 1912 1627 1525 1349 1696 1155 1687 1093 1813 1275 1447 1918 1207 1060 1435 1546 1830 1032 1135 1937 1406 1304 1719 1161 1159 1563 1381 1110 1618 1920 1303 1399 1639 1488 1814 1606 1516 1313 1307 1767 1912 1072 1811 1881 1355 1481 1266 1791 1311 1680 1703 1344 1195 1452 1131 1969 1548 1335 1225 1787 1015 1237 1146 1186 1305 1582 1152 1226 1583 1850 1897 1758 1860 1804 1308 พฤศจิกายน 2558: ออกหมายจับคดี 112 ล็อตใหญ่ ตัดไฟกิจกรรมนักศึกษา ปิด "ฟ้าให้ทีวี" | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

พฤศจิกายน 2558: ออกหมายจับคดี 112 ล็อตใหญ่ ตัดไฟกิจกรรมนักศึกษา ปิด "ฟ้าให้ทีวี"

ช่วงเวลา ยอดรวมตั้งแต่รัฐประหาร 
30 พฤศจิกายน
2558
ยอดรวม
เฉพาะเดือน
พฤศจิกายน 
2558
คนถูกเรียกรายงานตัว 798 8
คนถูกจับกุมคุมขัง 501 16
คนถูกจับกุมคุมขัง
จากการชุมนุมโดยสงบ
212 -
คนถูกดำเนินคดีที่ศาลทหาร 152 3
คนถูกดำเนินคดีที่ศาลพลเรือน 47 -
คนถูกดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาท
พระมหากษัตริย์ฯ (ม.112)
58 4
จำนวนคนที่ถูกคุมขังด้วยคดีตามมาตรา 112 ทั้งที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว
และที่ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี 
ในเดือนพฤศจิกายน 2558
46
 

สตช.แถลงออกหมายจับนายทหารและตำรวจชั้นผู้ใหญ่คดีแอบอ้างเพิ่ม 4 ราย ขณะที่ "หมอหยอง" เสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวอีกราย  

 
เดือนพฤศจิกายน 2558  คดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการแอบอ้างสถาบันฯ ยังคงครองความสนใจจากสื่อและคนในสังคมไม่ต่างจากเดือนก่อน
 
ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนตุลาคม มีข่าวลือว่าสุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือ "หมอหยอง" หนึ่งในผู้ต้องหาคดีแอบอ้างสถาบันเสียชีวิต ด้านพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ออกมาปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง แต่ก็ยอมรับว่าสุริยันมีอาการป่วย แต่แล้ว วันที่ 9 พฤศจิกายน 2558 พล.อ.ไพบูลย์ก็แถลงว่า สุริยัน เสียชีวิตตั้งแต่ 7 พฤศจิกายนแล้ว จากภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด 
 
358
สุริยัน ขณะถูกนำตัวมาขออำนาจศาลทหารฝากขัง เมื่อ 21 ตุลาคม 2558 (ภาพจากเฟซบุ๊ก ประชาไท)
 
สุริยันเป็นผู้ต้องหารายที่ 2 ที่เสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวที่เรือนจำชั่วคราวแขวงนครไชยศรี (มทบ.11) การเสียชีวิตของสุริยัน ก่อให้เกิดคำถามถึงสภาพของสถานที่ที่ใช้ควบคุมตัว การปฏิบัติต่อผู้ต้องหา และการเข้าถึงการรักษาพยาบาล ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนออกความเห็นถึงการเสียชีวิตของทั้งสุริยัน และ พ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา ที่เสียชีวิตไปก่อนหน้านี้ว่า สภาพที่คุมขังมีความไม่เหมาะสม เป็นการขังเดี่ยวในที่แคบๆ ไม่มีโอกาสติดต่อโลกภายนอก และอาจเข้าข่ายเป็นการปฏิบัติที่ไร้มนุษยธรรม ศูนย์ทนายความฯ ยังแสดงความกังวลด้วยว่า เรือนจำตั้งอยู่ในเขตทหาร ทำให้ยากที่จะตรวจสอบโดยบุคคลภายนอก ศูนย์ทนายฯ เห็นด้วยกับกรมราชทัณฑ์ที่จะตั้งกรรมการตรวจสอบการเสียชีวิต รวมถึงเรียกร้องให้ปิดเรือนจำดังกล่าว 
 
นอกจากสุริยัน พ.ต.ต.ปรากรม และจิรวงศ์ วัฒนเทวาศิลป์ แล้ว ในเดือนพฤศจิกายนยังมีการออกหมายจับผู้ต้องหาคดีแอบอ้างฯ เพิ่มอีก 4 ราย ได้แก่ พ.อ.คชาชาต บุญดี นายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำกองทัพภาคที่ 3 ถูกออกหมายจับในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2558  พล.ต.สุชาติ พรมใหม่ ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก พ.ต.อ.ไพโรจน์ โรจนขจร ผู้กำกับ 2 กองบังคับการป้องกันและปราบปราม และ พ.ต.ท.ธรรมวัฒน์ หิรัณยเลขา รองผู้กำกับ 2 กองบังคับการป้องกันและปราบปราม ถูกออกหมายจับในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2558 
 
สำหรับผู้ต้องหาทั้ง 4 คน ที่ถูกออกหมายจับใหม่ ยังไม่มีการยืนยันว่ามีรายใดถูกจับกุม มีเพียงกระแสข่าวว่า พ.อ.คชาชาต หนีไปประเทศพม่าแล้ว  
 
นับตั้งแต่การรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 ถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2558 มีผู้ถูกตั้งข้อหา ถูกจับกุม หรือถูกดำเนินคดีในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการแอบอ้างสถาบันอย่างน้อย 40 คน คลิกที่นี่เพื่อดูตาราง
 
 

คดี 112 จากการแสดงออกฯ กลับมาอีกครั้ง

 
23 พฤศจิกายน 2558 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเปิดเผยว่า มีมวลชนกลุ่มหนึ่งวางแผนก่อเหตุช่วงเทศกาลสำคัญ ทั้งเทศกาลลอยกระทงและกิจกรรม "Bike for Dad" ต่อมาในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2558 สำนักงานตำรวจแห่งชาติแถลงข่าวการจับกุม จ.ส.ต.ประทิน และณัฐพล สองผู้ต้องหากรณีวางแผนก่อเหตุร้ายช่วงเทศกาล เจ้าหน้าที่ระบุว่า นอกจากวางแผนก่อเหตุและมีอาวุธในครอบครองแล้ว ผู้ต้องหาทั้งสองยังมีพฤติการณ์ส่งข้อความที่เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทางสื่อสังคมออนไลน์ด้วย เจ้าหน้าที่เปิดเผยต่อไปว่า มีผู้เกี่ยวข้องที่ต้องติดตามจับกุมอีก 7 คน และในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2558 ก็มีการจับกุมผู้ต้องหาในกรณีเดียวกันเพิ่มอีก 2 ราย ได้แก่ วัลลภและพาหิรัญ โดยทั้งสองถูกจับในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 
 
สำหรับผู้ต้องหาที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการวางแผนครั้งนี้ เจ้าหน้าที่อ้างว่า หลายคนมีความเชื่อมโยงกับผู้ต้องหาคดี "ขอนแก่นโมเดล" ที่ถูกจับกุมเมื่อ 23 พฤษภาคม 2557 ก่อนจะได้รับการประกันตัวระหว่างสู้คดี ขณะที่ทนายของผู้ต้องหา 1 ใน 9 คนตามแผนผังของเจ้าหน้าที่ ออกมาเปิดเผยถึงความไม่ชอบมาพากลว่า ธนกฤต ลูกความของตน ขณะนี้อยู่ในเรือนจำจังหวัดขอนแก่น จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะทำความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ตามที่เจ้าหน้าที่แถลงข่าว 
 
นับจากการรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2558 มีผู้ถูกจับกุม ตั้งข้อหา และดำเนินคดีด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการแสดงออกด้วยวิธีการต่างๆ อย่างน้อย 58 คน คลิกที่นี่เพื่อดูตาราง
 
ปล่อยแล้ว เอกชัย ผู้ต้องขังคดีสารคดีเอบีซี
 
353
เอกชัย ผู้ต้องขังคดีขายสารคดีช่อง ABC ได้รับการปล่อยตัวแล้ว
 
15 พฤศจิกายน 2558 เอกชัย ผู้ต้องขังคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการขายซีดีสารคดีของสำนักข่าว ABC ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพแล้ว หลังครบกำหนดโทษ 
 
เอกชัยถูกจับกุมเมื่อเดือนมีนาคม 2554 ขณะขายซีดีที่สนามหลวงหลังไปร่วมงานปราศรัยของคนเสื้อแดง เอกชัยได้รับการประกันตัวระหว่างสู้คดี แต่มาสูญเสียอิสรภาพในเดือนมีนาคม 2556 เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกเขาเป็นเวลา 3 ปี 4 เดือน ต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2557 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ลงโทษจำคุกเอกชัย 3 ปี 4 เดือน จากนั้นในเดือนตุลาคม 2558 ศาลฏีกาลดโทษจำคุกเอกชัยจาก 3 ปี 4 เดือน เหลือ 2 ปี 8 เดือน ทำให้เขาพ้นโทษและได้รับการปล่อยตัวในเดือนพฤศจิกายน 2558  
 
 

ตัดไฟ-ยกเก้าอี้-ตามไปดู (หนัง) สถานการณ์การปิดกั้นกิจกรรมสาธารณะ ประจำเดือนพฤศจิกายน 

 
13 พฤศจิกายน 2558 กลุ่มเสรีนนทรี กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ และขบวนการประชาธิปไตยใหม่ จัดเสวนาหัวข้อ “จากทุ่งบางเขนสู่ราชดำเนิน: เกษตรศาสตร์กับการเมืองไทย” ที่ลานกิจกรรมหน้าตึก 8 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก่อนเริ่มงาน เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยแจ้งผู้จัดว่า ไม่ให้จัดงานเพราะยังไม่ได้ขออนุญาตกองกิจการนิสิต ขณะที่เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยส่วนหนึ่งเข้ามาเก็บเก้าอี้ที่เตรียมไว้ให้ผู้ฟังเสวนาไป ทางผู้จัดจึงทำกิจกรรมต่อโดยนั่งกับพื้นแทน หลังการเสวนาเริ่มไปได้ครู่หนึ่ง ก็มีการตัดไฟในพื้นที่ทำให้บริเวณที่จัดกิจกรรมตกอยู่ในความมืด ขณะที่เครื่องเสียงก็ใช้ไม่ได้ ผู้จัดกิจกรรมจึงแก้ปัญหาด้วยการนำเทียนมาจุดและดำเนินกิจกรรมต่อไปจนถึงเวลา 19.00 น. ตามกำหนดการ มีรายงานด้วยว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งกับผู้ชุมนุมว่า หากดำเนินกิจกรรมก็จะถูกดำเนินคดีด้วยพ.ร.บ.ชุมนุมฯ แต่ทางผู้จัดยืนยันว่าจะดำเนินการต่อไป เพราะกิจกรรมนี้เป็นการเสวนาวิชาการในมหาวิทยาลัย ไม่ใช่การชุมนุมตามกฎหมายดังกล่าว 
 
20 พฤศจิกายน 2558 กลุ่มนักกิจกรรมทางสังคมจำนวนหนึ่งนัดดูภาพยนตร์ม็อกกิ้งเจย์ร่วมกันที่โรงภาพยนตร์ของห้างสยามพารากอน จากการสังเกตการณ์ของไอลอว์ พบว่าในเวลา 17.40 น. ที่หน้าโรงภาพยนตร์ มีผู้มาร่วมกิจกรรมประมาณ 15 คน และมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบอย่างน้อย 20 คน คอยบันทึกภาพและวิดีโอผู้มาร่วมกิจกรรม ผู้ร่วมกิจกรรมคนหนึ่งให้ข้อมูลว่า พร็อพประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์เรื่องม็อกกิ้งเจย์ถูกเก็บออกไปจากบริเวณหน้าโรงภาพยนตร์ ขณะเดียวกันการจองตั๋วภาพยนตร์รอบที่นักกิจกรรมนัดกันดูก็เป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะไม่สามารถจองผ่านระบบออนไลน์หรือผ่านตู้อัตโนมัติได้ ต้องไปซื้อที่เคาน์เตอร์เท่านั้น ผู้ให้ข้อมูลยังบอกด้วยว่า ที่นั่งแถวบนถัดจากแถวที่นักกิจกรรมจองไว้ถูกจองจนเต็ม เป็นไปได้ว่าเจ้าหน้าที่อาจตามเข้าไปนั่งสังเกตการณ์ในโรงภาพยนตร์ด้วย 
 
355
บรรยากาศงานเสวนา "ลายพรางโกงชาติ" หลังถูกตัดไฟ (ภาพจากเฟซบุ๊ก ขบวนการประชาธิปไตยใหม่)
 
21 พฤศจิกายน 2558 ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ และกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย จัดงานนิทรรศการและเสวนา "ลายพรางโกงชาติ" ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ตั้งแต่เวลา 12.00-20.00 น. โดยในงานมีทั้งการจัดแสดงนิทรรศการและการเสวนาในหัวข้อ "จอมพลสฤษดิ์ และมรดกที่ประกอบสร้างจากยุคพัฒนา" โดยตั้งแต่ช่วงเที่ยงเจ้าหน้าที่เจรจาขอให้ผู้จัดย้ายนิทรรศการบางส่วน ที่เกี่ยวกับการจัดซื้อยุทโธปกรณ์และอุทยานราชภักดิ์ออกไป เหลือไว้แต่นิทรรศการเกี่ยวกับจอมพลสฤษดิ์ หากไม่ให้ความร่วมมือเจ้าหน้าที่อาจสั่งให้ยุติการทำกิจกรรม ผู้จัดจึงยอมให้ความร่วมมือ กิจกรรมดำเนินไปจนถึงเวลาประมาณ 18.30 น. ปรากฎว่าเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตัดไฟบริเวณหอประชุม ทำให้ผู้จัดต้องออกมาทำกิจกรรมต่อด้านนอกโดยใช้โทรโข่ง 
 
25 พฤศจิกายน 2558 กลุ่มประชาธิปไตยศึกษา จัดกิจกรรม "ลอยกระทงขับไล่ (เผด็จการ) อัปมงคล" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ร่วมกิจกรรมคนหนึ่งเล่าถึงการแทรกแซงกิจกรรมครั้งนี้ว่า มีเจ้าหน้าที่มาติดต่อผู้จัด ตั้งแต่ก่อนเวลางานว่าไม่ให้จัดกิจกรรม เจ้าหน้าที่ยังแสดงความกังวลถึงโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์งานที่มีทั้งภาพของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมด้วย ผู้ร่วมงานคนเดียวกันยังบอกด้วยว่า ผู้จัดถูกเจ้าหน้าที่กดดันว่า หากไม่เลิกงานภายในเวลา 20.00 น. รถเครื่องเสียงที่จ้างมาจะถูกล็อคล้อ
 
 

"บุคคลเป้าหมาย" ยังถูก "เยี่ยมเยียน" อย่างต่อเนื่อง 

 
11 พฤศจิกายน สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า มีทหารไปที่บ้านพักของแม่ โดยไปถ่ายภาพในบ้าน และเมื่อถามว่ามาหาใครก็ไม่ตอบ 
 
17 พฤศจิกายน 2558 อภิสิทธิ์ นักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ โพสต์เฟซบุ๊กว่ามีทหารในเครื่องแบบ 6 นาย ไปที่บ้านของพ่อและแม่ที่ต่างจังหวัด พร้อมทั้งฝากพ่อและแม่มาบอกตนว่า ให้หยุดเคลื่อนไหว หากไม่หยุดจะถูกดำเนินคดี 
 
18 พฤศจิกายน 2558 จิตรา คชเดช โพสต์เฟซบุ๊กว่า มีทหารมาถ่ายรูปบ้านของพี่สาวในจังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมต่อว่าพี่สาวว่า ทำไมเวลาจิตรากลับมาแล้วไม่ยอมแจ้งทหาร 
 
ในวันเดียวกัน อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย ก็ถูกเชิญตัวไปพูดคุยที่กองทัพภาคที่ 1 โดยคาดว่าน่าจะเป็นผลมาจากการที่เจ้าตัวออกมาพูดถึงกรณีอุทยานราชภักดิ์ อนุสรณ์เดินทางไปที่กองทัพภาคที่ 1 ในช่วงเช้าและเดินทางกลับในช่วงบ่ายวันเดียวกัน 
 
27 พฤศจิกายน 2558 ณัฐ อดีตผู้ต้องขัง คดี 112 ซึ่งเคยถูกคสช.สั่งให้ไปรายงานตัวหลังการรัฐประหาร โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า มีทหารติดต่อขอพบ ตนจึงขอว่าอย่ามาที่บ้านและให้ไปพบที่ห้างบิ๊กซีลาดพร้าวแทน โดยนัดกันในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2558 เวลา 9.00 น. หลังการพูดคุย ณัฐโพสต์เฟซบุ๊กว่า ทหารมาพบบุคคลเป้าหมายตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา พร้อมกำชับว่าหากจะเดินทางไปต่างจังหวัดต้องแจ้งทหารเพื่อให้ทราบความเคลื่อนไหว และหากไปร่วมกิจกรรมทางการเมืองใดๆ ก็จะถูกจับตาอย่างใกล้ชิด การพูดคุยครั้งนี้มีเจ้าหน้าที่จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนร่วมสังเกตการณ์ด้วย 
 
สำหรับสถานการณ์ในภาพรวม เดือนพฤศจิกายนมีบุคคลถูกเรียกรายงานตัว หรือถูกทหารเยี่ยมบ้านอย่างน้อย 12 คน และเป็นจำนวน 798 คน นับจากการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 
 
 

สถานการณ์เสรีภาพอื่นๆ ที่น่าสนใจในรอบเดือน

 
ดำเนินคดีอาจารย์มหาวิทยาลัย เหตุจัดแถลงข่าว "มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร"
 
356
คณาจารย์มหาวิทยาลัยเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ที่ สภ.ช้างเผือก (ภาพจาก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน)
 
24 พฤศจิกายน 2558 อาจารย์มหาวิทยาลัย 5 คน ได้แก่ มานะ นาคำ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ และสมชาย ปรีชาศิลปกุล จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, จรูญ หยูทอง และณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ จากมหาวิทยาลัยทักษิณ เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนที่ สภ.ช้างเผือก จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 
 
การแจ้งข้อกล่าวหาครั้งนี้เกิดขึ้นหลังกลุ่มอาจารย์ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ "มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร" เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2558 ที่โรงแรมไอบิส จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อยืนยันความจำเป็นของเสรีภาพทางวิชาการ เนื่องจากก่อนหน้านี้ หัวหน้าคสช. ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า การจัดการเรียนการสอนในสถาบันอุดมศึกษาเป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดการต่อต้านรัฐบาล 
 
รวบสองแกนนำนปช.เข้าค่าย หลังประกาศเดินทางไปอุทยานราชภักดิ์
 
จากกรณีสื่อหลายแขนงรายงานปัญหาคอร์รัปชันในการสร้างอุทยานราชภักดิ์ ทำให้ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2558 ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า ตนจะชวน จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช. ไปอุทยานราชภักดิ์เพื่อตรวจสอบสถานที่จริง ต่อมาในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2558 ณัฐวุฒิและจตุพรเปิดเผยต่อสื่อว่า หลังพวกตนประกาศว่าจะไปอุทยานราชภักดิ์ ก็มีรถทหารมาจับตาที่บ้าน 
 
ตั้งแต่ช่วงเช้าวันที่ 30 พฤศจิกายน 2558 ซึ่งเป็นวันนัด มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารจำนวนมากเข้าตรึงกำลังบริเวณตลาดมหาชัยเมืองใหม่ อันเป็นจุดตั้งขบวนของณัฐวุฒิและจตุพร การควบคุมตัวสองแกนนำเกิดขึ้นในเวลาประมาณ 10.20 น. ทั้งสองถูกควบคุมตัวขึ้นรถตู้ออกจากพื้นที่ โดยไม่มีการแจ้งว่าจะนำตัวไปที่ใด 
 
357
แกนนำนปช.ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวขึ้นรถตู้ ขณะจะเดินทางไปอุทยานราชภักดิ์ (ภาพจากเฟซบุ๊ก Peace TV)
 
หลังการควบคุมตัว แกนนำกลุ่มนปช.นำโดยก่อแก้ว พิกุลทอง ออกมาเรียกร้องให้ทหารปล่อยตัวบุคคลทั้งสองโดยไม่มีเงื่อนไข และให้เปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานของอุทยานราชภักดิ์อย่างตรงไปตรงมา ขณะที่พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช. ออกมาชี้แจงว่า ทั้งสองถูกควบคุมตัวเนื่องจากพยายามเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างชัดเจน มีการป่าวประกาศชี้นำ ปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบหลายครั้ง รวมทั้งให้ข้อมูลที่ไม่รอบด้านต่อสาธารณะ โดยเฉพาะการใช้คำว่า “ทุจริต” ทั้งที่ยังไม่มีหน่วยงานหรือผู้มีหน้าที่โดยตรงในการสอบสวนคนใดออกมากล่าวเช่นนั้น 
 
ณัฐวุฒิและจตุพร ได้รับการปล่อยตัวจากกองพลทหารราบที่ 9 จ.กาญจนบุรี ในช่วงค่ำวันเดียวกัน โดยก่อนปล่อยตัว ทั้งสองต้องทำข้อตกลงกับทหารเพิ่มเติม จากที่เคยทำข้อตกลงไม่เคลื่อนไหวทางการเมืองไว้ก่อนหน้านี้แล้ว 
 
ในวันเดียวกัน เจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคง เข้าไปพูดคุยและคุมตัวแกนนำนปช.อีก 2 คน คือ สมหวัง อัสราษี และธนาวุฒิ วิชัยดิษฐ์  ที่ร้านกาแฟภายในปั๊มน้ำมัน จ.ราชบุรี โดยถูกเชิญมาพูดคุยที่เขตราชบูรณะ กทม. เสร็จแล้วก็ปล่อยตัวออกมา พร้อมขอความร่วมมือให้ยุติการเคลื่อนไหวในเชิงการเมืองทั้งหมด 
 
ปิดฟ้าให้ทีวี
 
18 พฤศจิกายน 2558 พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ อาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 นำกำลังเจ้าหน้าที่ไปตรวจค้นสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม "ฟ้าให้ทีวี" หลังตรวจสอบพบว่า รายการหนึ่งที่ออกอากาศทางช่องนี้ มีเนื้อหาเข้าข่ายยุยงปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบ 
 
หลังการตรวจค้น เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวบุคคลผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง 5 คน ซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุ รวมทั้ง พรทิพา สุพัฒนุกูล หรือดีเจฟ้า เจ้าของสถานีผู้เคยร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่ม กปปส. ไปตั้งข้อหา โดยการบุกค้นและควบคุมตัวครั้งนี้ น่าจะเป็นผลมาจากการที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส จัดรายการวิพากษ์วิจารณ์กองทัพผ่านทางฟ้าให้ทีวี 
 
โพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์ทุจริตอุทยานราชภักดิ์ ถูกตั้งข้อหา 116 คดีศาลทหาร
 
30 พฤศจิกายน 2558 พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร นำตัว จุฑาทิพย์ เดินทางมามอบตัวกับพนักงานสอบสวน หลังตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ตรวจสอบพบว่า จุฑาทิพย์โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กเกี่ยวกับการทุจริตก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวไม่ตรงกับความจริงและถือเป็นการกล่าวหาในลักษณะหมิ่นประมาทบุคคลอื่น จึงส่งไปดำเนินคดีที่สถานีตำรวจนครบาลพระโขนง โดยจุฑาทิพย์ถูกแจ้งข้อหาปลุกปั่นยั่วยุตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 
 
ประเภทรายงาน: