1936 1879 1415 1442 1021 1397 1393 1044 1075 1730 1073 1082 1709 1025 1834 1034 1571 1942 1043 1277 1864 1537 1161 1800 1817 1074 1771 1011 1090 1253 1671 1694 1200 1227 1018 1310 1178 1139 1428 1577 1467 1134 1810 1717 1183 1824 1257 1095 1153 1703 1828 1054 1860 1346 1132 1532 1576 1837 1813 1284 1523 1850 1626 1239 1268 1951 1955 1102 1199 1102 1373 1930 1301 1333 1319 1109 1727 1624 1904 1131 1805 1268 1087 1575 1820 1617 1312 1141 1313 1728 1092 1476 1795 1171 1963 1870 1385 1527 1509 ตุลาคม 2558: จับคนดังและตำรวจแอบอ้าง "สถาบัน", มอบดอกไม้ให้ "พลเมืองรุกเดิน" เจอข้อหา "ยุยงปลุกปั่น", สื่อมวลชนยังถูกเรียกเข้าค่าย | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

ตุลาคม 2558: จับคนดังและตำรวจแอบอ้าง "สถาบัน", มอบดอกไม้ให้ "พลเมืองรุกเดิน" เจอข้อหา "ยุยงปลุกปั่น", สื่อมวลชนยังถูกเรียกเข้าค่าย

 

ช่วงเวลา ยอดรวมตั้งแต่รัฐประหาร - 31ตุลาคม 2558 ยอดรวมเฉพาะเดือนตุลาคม 2558

คนถูกเรียกรายงานตัว

790 5
คนถูกจับกุมคุมขัง 485 2
คนถูกจับกุมคุมขังจากการชุมนุมโดยสงบ 212 3
คนถูกดำเนินคดีที่ศาลทหาร 149 5
คนถูกดำเนินคดีที่ศาลพลเรือน 47 1
คนถูกดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (ม.112) 54 1
 
จำนวนคนที่ถูกคุมขังด้วยคดีตามมาตรา 112 ทั้งที่ศาลมีคำพิพากษาแล้วและที่ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี ในเดือนตุลาคม 2558 47
 

 

เซีย ไทยรัฐ และนักข่าวประชาไท ถูกเรียกเข้าค่าย ส่วน"บุคคลเป้าหมาย"ยังคงมีทหารไปเยี่ยม

เดือนตุลาคม 2558 บุคคลที่ถูกมองว่าเป็นภัยและเป็นปฏิปักษ์ต่อแนวคิดและการบริหารประเทศ ของ คสช. โดยเฉพาะสื่อมวลชน ที่ทำหน้าที่เสนอข่าวสถานการณ์ทางการเมืองและสิทธมนุษยชน รวมทั้งนักวิชาการ นักศึกษา และนักกิจกรรม ที่ออกมาเคลื่อนไหวในเชิงสัญลักษณ์ ยังคงถูกเรียกไปเข้าค่ายหรือมีทหารมาเยี่ยมบ้านเพื่อปรับทัศนคติ  
 
4 ตุลาคม 2558 ศักดา แซ่เอียว หรือเซีย การ์ตูนนิสต์ของหนังสือพิพม์ไทยรัฐ เปิดเผยว่า ทหาร ติดต่อผ่านตำรวจท้องที่ เชิญให้ไปพบที่กองบัญชาการกองทัพบก ในวันที่ 3 ตุลาคม 2558  เพื่อชี้แจงเรื่องเนื้อหาการ์ตูน ที่สะท้อนปัญหาการเมือง แต่ตนอยู่ต่างจังหวัด จึงขอเลื่อนไปรายงานตัวในวันอาทิตย์ที่ 4 ตุลาคม 2558แทน ต่อมามีรายงานว่า เซียเข้าพบทหารแล้ว และได้รับการปล่อยตัวโดยไม่ต้องเซ็นเอกสารใดๆ
 
347
 
เซียไทยรัฐ ขณะเดินทางไปกองบัญชาการกองทัพบก ภาพจากเว็บไซต์ประชาไท
 
7 ตุลาคม 2558 ธิชานนท์ พิทักษ์ประชา และสมชาย กู้วัฒนะสกุล สองนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เข้าพบทหารที่ ค่ายเม็งรายมหาราช จังหวัดเชียงราย หลังจัดกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ภายในมหาวิทยาลัย โดยทหารแสดงความกังวลว่า ข้อความบนโพสต์อิทที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเขียน อาจมีเนื้อหาเป็นการปลุกระดมทางการเมือง เจ้าหน้าที่แจ้งด้วยว่า จะจับตาดูนักศึกษากลุ่มนี้ต่อไป 
 
8 ตุลาคม 2558 เทวฤทธิ์ มณีฉาย ผู้สื่อข่าวประชาไท โพสต์เฟซบุ๊กว่า ทหารจาก ร1 พัน2 มาที่ออฟฟิศประชาไท โดยแจ้งว่า มาสอบถามข้อมูลส่วนตัว และติดตามคนที่เคยถูกเรียกรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. เนื้อหาการสอบถามเป็นข้อมูลทั่วไปและมีการถามเรื่องที่อยู่และชื่อของหอพักซึ่งเทวฤทธิ์อาศัยอยู่ที่กรุงเทพฯ
 
15 ตุลาคม 2558 วินัย ผลเจริญ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการเมืองการปกครอง วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า อธิการบดี(ผู้รักษาราชการแทนอธิการบดี)เรียกไปพบที่ห้อง เมื่อไปถึงเห็นว่ามีมีอาจารย์อีกสองคนและทหาร 4 นายนำโดยนายทหารยศพันเอก อยู่ในห้องด้วย ทหารแจ้งว่า มาเพื่อขอร้อง ให้งดโพสต์เกี่ยวกับการเมือง ครั้งนี้จะมาขอร้องเป็นครั้งสุดท้าย ถ้าไม่ให้ความร่วมมือจะดำเนินการอย่างอื่นตามที่เห็นสมควรต่อไป 
 
วันเดียวกัน กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย กองทัพภาคที่ 1 เชิญ ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย มาพูดคุย จากกรณีที่ศรีสุวรรณ ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้ตรวจสอบจริยธรรม พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายก  รัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กรณีแต่งตั้งเครือญาติ และบุคคลที่เคยร่วมอาชีพเดียวกันเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูประเทศ  
 
27 ตุลาคม  2558 ทหารเรียก ทวีพร คุ้มเมธา ผู้สื่อข่าวเว็บไซต์ประชาไท เข้าพูดคุยเพื่อปรับความเข้าใจ หลังเผยแพร่อินโฟกราฟฟิกเกี่ยวกับลักษณะพฤติกรรมที่อาจเข้าข่ายการละเมิดกฎหมายอาญามาตรา 112 ในวันที่ 21 ตุลาคม 2558 
 
 
 
ในวันเดียวกัน สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า มีทหารมาที่บ้าน 4 นาย โดยอ้างว่ามาทำความรู้จัก เนื่องจากเปลี่ยนหัวหน้าหน่วย
 
16 ตุลาคม 2558 ทหารพรานในพื้นที่อ.แม่สอด เดินทางเข้าแจ้งกับชาวบ้านวังตะเคียนบางส่วนว่าทาง พล.ต. นพพร เรือนจันทร์ ผู้บัญชาการกองกำลังนเรศวร ให้ชาวบ้านกลุ่มคนแม่สอดรักษ์ถิ่นไปพบที่สำนักงาน อบต.ท่าสายลวด ในวันที่ 17 ตุลาคม 2558  แต่ชาวบ้านเห็นว่า เจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งให้ชัดเจนถึงวัตถุประสงค์ ว่าเรียกไปพูดคุยเรื่องใด รวมทั้งไม่ได้มีการระบุว่าให้ใครไปบ้าง ชาวบ้านหลายคนก็ไม่ทราบว่าทหารเรียกไปพบ เช้าวันที่ 17 ตุลาคม จึงมีชาวบ้านราว 3 คนไปสังเกตการณ์ที่อบต.ท่าสายลวด แต่ไม่มีชาวบ้านเดินทางไปพบเจ้าหน้าที่ 
 
ทหารยังคงเชิญตัว และเยี่ยมบ้าน กลุ่ม นปช. ในภาคเหนือ
 
8 ตุลาคม 2558 สราวุทธิ์ กุลมธุรพจน์ อดีตกลุ่มนักรบไซเบอร์เชียงราย โพสต์ภาพและข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า มีทหารมาพบที่ร้านเพื่อพูดคุยปรับทัศนคติ
 
18 ตุลาคม 2558 ทหารจากมณฑลทหารบกที่ 34 จังหวัดพะเยา เดินทางไปพบศิริวัฒน์ จุปะมัดถา ผู้ประสานงาน นปช.พะเยา ถึงที่ทำงาน โดยขอให้งดโพสต์แสดงความเห็นเรื่องการเมืองและการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล 
 
26 ตุลาคม 2558 ทหารจากมณฑลทหารบกที่ 34 เชิญตัวศิริวัฒน์ ไปที่ค่ายขุนเจืองธรรมิกราชเพื่อพบกับ ผู้บัญชาการ มทบ.34 ศิริวัฒน์ถูกขอความร่วมมือไม่ให้ใส่เสื้อแดง ตามที่มีการนัดหมายใส่เสื้อแดงในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2558  
 
ในเดือนตุลาคม 2558 มีคนถูกเรียกรายงานตัวหรือมีทหารมาเยี่ยมบ้านอย่างน้อย 10 คน รวมแล้วนับตั้งแต่การรัฐประหารถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2558 มีคนถูกเรียกรายงานตัวหรือมีทหารมาเยี่ยมบ้านแล้ว อย่างน้อย 790 คน
 

กิจกรรมรำลึกตลอดเดือนตุลาคม ไม่ถูกปิดกั้น เจ้าหน้าที่มีท่าทีผ่อนคลายลง

เดือนตุลาคม เป็นเดือนที่มีความสำคัญกับประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพราะเป็นเดือนที่มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นอย่างน้อย 2 เหตุการณ์ ได้แก่ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และเหตุการณ์ล้อมปราบ 6 ตุลาคม 2519 
 
กลุ่มนักกิจกรรมในนาม กลุ่มพลเมืองโต้กลับ และ ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญทั้งสอง นอกจากนี้ยังได้จัดกิจกรรมรำลึก เนื่องในโอกาสครบรอบ 9 ปี การทำอัตวินิบาตกรรมของนวมทอง ไพรวัลย์ คนขับแท็กซี่เพื่อประท้วงการรัฐประหาร 19 กันยา 2549 ด้วย กิจกรรมทั้ง 3 ได้รับการจับตาเป็นพิเศษ เพราะเป็นการจัดกิจกรรมทางการเมืองภายใต้สถานการณ์ที่ไม่ปกติ รวมทั้งนักกิจกรรมที่เป็นผู้จัดหรือผู้เข้าร่วมส่วนหนึ่ง ก็เป็นผู้ที่อยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมทางการเมือง    
 
6 ตุลาคม 2558 กิจกรรม 6 ตุลา พิราบคืนรัง ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต และกิจกรรมที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ผ่านไปด้วยดี แม้จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ เข้ามาสังเกตการณ์อยู่เยอะรวมทั้งสองงานกว่า 100 นาย  แต่เจ้าหน้าที่ ก็ไม่มีท่าทีจะสั่ง
ห้ามหรือปิดกั้นกิจกรรมแต่อย่างใด
 
14 ตุลาคม 2558 กลุ่มพลเมืองโต้กลับ กลุ่มประชาธิปไตยใหม่ และกลุ่มประชาธิปไตยศึกษาจัด กิจกรรม “รำลึก14ตุลาฯ ฉบับพลเมือง จาก 3 ทรราชย์ สู่ 3 ป. เผด็จการไม่เคยสูญ” การจัดกิจกรรมครั้งนี้ตัวแทนผู้จัดแจ้งว่า ก่อนวันงานหนึ่งวันได้ทำหนังสือแจ้งจัดกิจกรรมที่อนุสรณ์ 14ตุลาฯ ถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้รับผิดชอบท้องที่ ซึ่งต่อมา เจ้าหน้าที่จากสน.ชนะสงครามแจ้งว่าให้จัดกิจกรรมได้ แต่ห้ามเคลื่อนย้ายไปที่อื่น
 
อย่างไรก็ตาม ในวันงาน ผู้ชุมนุมก็เคลื่อนขบวนออกนอกสถานที่ เวลาประมาณา 18.30 น. ผู้ชุมนุมตั้งขบวนเพื่อที่จะเดินจากอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เบื้องต้นตำรวจตั้งแถวปิดทางเท้าด้านที่มุ่งหน้าไปอนุสาวรีย์ และแจ้งต่อผู้ชุมนุมว่า จะดำเนินการตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ หากมีการเดินขบวน ผู้จัดและตำรวจเจรจากันราว 10 นาที ตำรวจก็ยอมให้เดินไปที่ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สำหรับกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลา ไม่มีรายงานว่ามีการจับกุมผู้จัดหรือผู้เข้าร่วมแต่อย่างใด
 
31 ตุลาคม 2558 กลุ่มพลเมืองโต้กลับจัดงานรำลึก เนื่องในโอกาสครบรอบ 9 ปี การเสียชีวิตของนวมทอง ไพรวัลย์ คนขับรถแท็กซี่ที่แขวนคอตัวเองเพื่อต่อต้านการรัฐประหารเมื่อปี 2549 ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา แยกคอกวัว
 
นอกจากการทำกิจกรรมในที่ตั้งคือบริเวณอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ผู้เข้าร่วมกิจกรรมยังเดินไปหน้ากองบัญชาการ กองทัพบก เพื่อยื่นข้อเสนอปฏิรูปกองทัพด้วย การเดินเป็นไปอย่างเรียบร้อยภายใต้การสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิดของเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบราวอย่างน้อย 50 นาย ที่หน้ากองทัพบก ผู้ชุมนุมเจรจากับเจ้าหน้าที่เพื่อขอข้ามไปฝั่งกองทัพบก แต่เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตเนื่องจากขัดเงื่อนไขที่เคยแจ้งไปก่อน เจ้าหน้าที่เตือนผู้ชุมนุมและสื่อมวลชนว่า หากใครข้ามฝั่งจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ 
 
344
 
บรรยากาศกิจกรรม "ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปกองทัพ" ที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก เนื่องในโอกาสครบรอบ 9 ปี การเสียชีวิตของ นวมทอง ไพรวัลย์"
 
เจ้าหน้าที่ให้ผู้ชุมนุมทำกิจกรรมบริเวณเกาะกลางถนน หน้ากองทัพบก และให้เวลาจัดกิจกรรมเพียง 30 นาทีเท่านั้น กิจกรรมที่หน้ากองทัพบกเสร็จสิ้นเวลา 17.00 น. หลังจากนั้นผู้ชุมนุมมุ่งหน้ากลับไปที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา กิจกรรมในวันนี้ผ่านไปด้วยดี โดยไม่มีรายงานว่ามีผู้ถูกจับกุม หรือถูกตั้งข้อหาใหม่แต่อย่างใด
 

ความเคลื่อนไหวคดี 112  จับหมอหยองเครือข่ายแอบอ้าง ส่วนคดีแชร์แถลงการณ์ปลอมศาลทหารให้รอลงอาญา

ความเคลื่อนไหวคดี 112 ที่เกิดจากการแสดงออก
 
16 ตุลาคม 2558 ศาลทหารนัดสอบคำให้การ  โอภาส ในคดี 112 จากการเขียนฝาผนังห้องน้ำ คดีที่ 2  โอภาสให้การ รับสารภาพ และศาลพิพากษาจำคุก 3 ปี เนื่องจากจำเลยรับสารภาพจึงลดโทษให้เหลือ 1 ปี 6 เดือน แต่การนับโทษของคดีนี้ จะเริ่มนับโทษหลังครบกำหนดโทษคดีเก่า โอภาสจะถูกจำคุกรวม 3 ปี จากสองคดี ในวันนี้มีผู้สังเกตการณ์จากหลายสถานทูตมารอฟังการพิจารณาคดี แต่สุดท้ายศาลทหารสั่งให้พิจารณาลับ - ดูรายระเอียดคดีของ โอภาส
 
345
 
โอภาส จำเลยคดี 112 จากการเขียนข้อความบนผนังห้องน้ำ ที่หน้าศาลทหารกรุงเทพ
 
19 ตุลาคม 2558 ศาลทหารนัดสืบพยาน คดีเนส แชร์แถลงการณ์สำนักพระราชวังปลอม ก่อนที่ศาลจะขึ้นบัลลังก์ "เนส" เปลี่ยนคำให้การจากปฏิเสธเป็นรับสารภาพและยื่นคำแถลงประกอบคำรับสารภาพให้ศาลก่อนเริ่มการพิจารณา ศาลจึงให้งดการสืบพยานคดีนี้ พร้อมกับพิพากษา จำคุก "เนส" เป็นเวลา 5 ปี จำเลยรับสารภาพลดโทษเหลือ 2 ปี 6 เดือน แต่โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี เพราะจำเลยรีบเยียวยาความเสียหายด้วยการลบโพสต์ทันทีที่ทราบว่าเป็นข้อมูลเท็จ  
349 ภาพเนส ที่ศาลทหาร
 
คดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯตามมาตรา 112 ของ" เนส" นับเป็นคดีที่ 2 ที่ศาลทหารให้รอการลงโทษจำคุกจำเลย ดูรายละเอียดคดีของ "เนส" ดูรายละเอียดคดีของ นิรันดร์ คดีเกี่ยวกับแถลงการณ์เท็จอีกคดีหนึ่งที่ศาลทหารรอการลงโทษจำคุก
 
20 ตุลาคม 2558 ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดี นพวรรณ โพสต์ข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯบนเว็บบอร์ดประชาไท พ่อของนพวรรณซึ่งเป็นนายประกัน มาฟังคำพิพากษา แต่ตัวจำเลยไม่มา ก่อนหน้านี้ในวันที่ 11 กันยายน 2558 จำเลยก็ไม่มาฟังคำพิพากษาตามนัดเช่นกันและศาลออกหมายจับไปแล้ว ก่อนอ่านคำพิพากษาศาลแจ้งกับนายประกันว่า ได้ออกหมายจับจำเลยครบ 1 เดือนเเล้วหลังจากไม่มาตามนัดศาลคราวก่อน ศาลอ่านคำพิพากษาฎีกาสรุปความได้ว่า "ตัวเลข IP address บ่งชี้ไม่ได้ว่าจำเลยมีความเกี่ยวโยงกับข้อความที่โพสต์และพยานโจทก์ก็มีความสงสัยตลอดมา ศาลฎีกาจึงกลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ยกฟ้องจำเลย" ดูรายละเอียดคดีของนพวรรณ
 
ในวันเดียวกัน ศาลอาญารัชดาเบิกตัว ธานัทหรือ ทอม ดันดี ไปสอบคำให้การคดี 112 คดีที่ 2 โดยกระบวนพิจารณาเกิดขึ้นในห้องผู้พิพากษาเวรชี้ ที่บุคคลภายนอกเข้าไปสังเกตการณ์ไม่ได้ หลังศาลอ่านบรรยายฟ้อง ธานัทแถลงปฏิเสธข้อกล่าวหาและขอสู้คดี ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 25 มกราคม 2559 ดูรายละเอียดคดี 112 คดีแรก ของธานัท
 
22 ตุลาคม 2558 นัดตรวจพยานหลักฐานคดีธาราโพสต์ไฟล์เสียง "บรรพต" อัยการทหารแถลงต่อศาลทหารกรุงเทพว่าจะสืบพยานโจทก์ 11 ปาก ขณะที่จำเลยประสงค์สืบพยาน 3 ปาก ศาลนัดสืบพยานวันแรก 21 ธันวาคม 2558
 
วันเดียวกัน ศาลทหารกรุงเทพนัดสืบพยานโจทก์คดีของธานัท หรือ ทอม ดันดี (คดีที่ 1) ด้วย เนื่องจากพยานโจทก์ไม่มาศาลเพราะติดราชการ ศาลจึงนัดสืบพยานใหม่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2558 
 
29 ตุลาคม 2558 ศาลทหารนัดสืบพยาน คดีอัญชัญโพสต์คลิปบรรพต เจ้าหน้าที่แจ้งกับทนายจำเลยว่า พยานโจทก์ไม่มาศาล อัยการขอเลื่อนสืบพยานเป็นวันที่ 4 ธันวาคม 2558
 
นับจากการรัฐประหารถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2558 มีผู้ถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 112 อย่างน้อย 54 คน
 
ความเคลื่อนไหวคดี 112 จากการแอบอ้างสถาบันฯเพื่อเรียกรับผลประโยชน์
 
นอกจากความเคลื่อนไหวคดี 112 ที่เกิดจากการใช้เสรีภาพการแสดงออกเเล้ว เดือนตุลาคม 2558 ยังมีความเคลื่อนไหวคดี 112 จากการแอบอ้างสถาบัน ที่เป็นข่าวใหญ่โตด้วย
 
15 ตุลาคม 2558 ไพรัตน์ เพชรยวน นายอำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับ รัชชานนท์ บุญญาพิกษ์ หรือ 'ต้อม โอรส' ในความผิดตาม ม.112 หลังนำภาพเด็กพิการไปแอบอ้าง เพื่อระดมเงินบริจาค พร้อมกับมีการแอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย 
 
อีกกรณีหนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2558 มีข่าวลือแพร่สะพัดในโลกออนไลน์ว่าสุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือหมอหยอง หมอดูชื่อดัง ถูกจับตัวและจะถูกดำเนินตามมาตรา 112 แต่ก็มีเจ้าหน้าที่ออกมาปฏิเสธข่าว
 
ต่อมาในวันที่ 21 ตุลาคม 2558 พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมกำลังตำรวจคอมมานโด กองปราบปราม อาวุธครบมือ ควบคุมตัว สุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือหมอหยอง พ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา สารวัตรกองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท. และจิรวงศ์ วัฒนเทวาศิลป์ คนสนิท และ เลขาส่วนตัวนายสุริยัน ผู้ต้องหาตามหมายจับในข้อกล่าวหา หมิ่นสถาบันฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาฝากขังต่อศาลทหาร ซึ่งศาลอนุญาตให้ฝากขังผลัดแรก 12 วันตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม - 1 พฤศจิกายน จากนั้นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้นำตัวผู้ต้องหาทั้งหมด ไปควบคุมที่เรือนจำชั่วคราว แขวงถนนนครไชยศรี ซึ่งอยู่ในมณฑลทหารบกที่ 11
 
350 ภาพการควบคุมตัวคดี 112 แอบอ้างเบื้องสูง
 
24 ตุลาคม 2558 กรมราชทัณฑ์แถลงข่าวว่า 'ปรากรม วารุณประภา' เสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวในเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี เจ้าหน้าที่พบว่า ผู้ต้องหาผูกคอกับลูกกรงในคืนวันที่ 23 ตุลาคม 2558 จึงดำเนินการช่วยเหลือ และส่งโรงพยาบาล แต่ผู้ต้องหาเสียชีวิตในเวลาต่อมา 
 
30 ตุลาคม 2558 เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ และทหารจากมทบ.11 พร้อมด้วยพนักงานสอบสวน นำตัวจิรวงศ์ เลขาส่วนตัวหมอหยอง ไปฝากขังต่อศาลทหารกรุงเทพ เป็นผลัดที่ 2 อีก 12 วัน โดยไม่มีการนำตัวหมอหยองมาด้วย เจ้าหน้าที่ นำใบรับรองแพทย์มายืนยันต่อศาลทหารว่า หมอหยองไม่สบาย จึงต้องพักรักษาตัวในเรือนจำ ไม่สามารถมาศาลได้ เจ้าหน้าที่ยืนยันกับผู้สื่อข่าวด้วยว่า หมอหยอง ยังไม่เสียชีวิต
 
ตั้งแต่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ถึง 31 ตุลาคม 2558 มีผู้ถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการใช้เสรีภาพการแสดงออก อย่างน้อย 54 คน และผู้ถูกดำเนินคดีจากการแอบอ้างสถาบันฯอีกอย่างน้อย 36 คน
 

 

ความเคลื่อนไหวคดีเสรีภาพคดีอื่นๆ : สั่งฟ้องธนพร คดีหมิ่นทหารในเหตุการณ์ ฮ.ตก จับผู้ต้องหาข้าราชการเกษียณเพราะมอบดอกไม้ให้จำเลยคดีพลเมืองรุกเดินด้วยมาตรา 116

 
8 ตุลาคม 2558 ศาลทหารกรุงเทพนัดสืบพยานโจทก์ คดีจิตรา ฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัว ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองผู้ร่วมจับกุมจิตตราที่เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2557 เวลาประมาณ 7.20 น. ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ตรวจผู้โดยสารขาเข้าว่า มีผู้โดยสารติดแบล็คลิสต์มาตรวจลงตราเข้าประเทศ จึงทำการตรวจสอบ เมื่อพบว่าเป็นบุคคลตามหมายจับ จึงทำการควบคุมตัวไปสอบสวนเบื้องต้น ก่อนจะส่งตัวไปสอบสวนที่กองบังคับการปราบปราม หลังเสร็จสิ้นการสืบพยาน อัยการทหารขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานมาสืบในเดือนพฤศจิกายน แต่จำเลยแถลงว่าต้องเดินทางไปต่างประเทศ 3 เดือน และได้รับอนุญาตจากคสช.แล้ว จึงนัดวันสืบพยานปากต่อไปเป็นวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2559
 
346
 
จิตรา จำเลยคดีฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัว ที่หน้าศาลทหารกรุงเทพ
 
ในวันเดียวกัน ศาลทหารกรุงเทพนัดสอบคำให้การ คดีเลือกตั้งที่รัก(ลัก) จำเลยทั้ง 4 แถลงว่ายังไม่พร้อมให้การ และมีความประสงค์ที่จะคัดค้านเขตอำนาจศาลทหาร จึงยื่นคำร้องต่อศาล ศาลรับคำร้องของจำเลยและสั่งให้อัยการทำความเห็นส่งศาลภายใน 15 วัน เพื่อที่ศาลจะทำความเห็นเรื่องเขตอำนาจศาลให้ส่งให้ศาลแขวงปทุมวัน ซึ่งเป็นศาลยุติธรรมที่มีอำนาจพิจารณาคดีในท้องที่เกิดเหตุทำความเห็นต่อไป
 
19 ตุลาคม 2558 ศาลอาญากรุงเทพใต้ นัดสอบคำให้การ อานดี้ ฮอลล์ ในคดีหมิ่นประมาทโรงงานเนเชอรัลฟรุต แต่ตัวจำเลยไม่มาศาล จึงยังสอบคำให้การไม่ได้ เมื่อศาลขึ้นบัลลังก์ก็เรียกทนายโจทก์และทนายจำเลยไปพูดคุยที่หน้าบัลลังก์ ทนายโจทก์บอกกับศาลว่า เชื่อว่าจำเลยรู้เรื่องวันนัดแล้ว ในนัดก่อน จำเลยก็มาที่ศาล แต่ไม่ยอมขึ้นมาที่ห้องพิจารณาคดี ทนายจำเลยแจ้งศาลว่า หมายเรียกที่ส่งไปให้จำเลยครั้งแรกส่งไปที่อยู่เก่า จำเลยจึงยังไม่ได้รับหมายเรียก ส่วนหมายที่นำไปปิดที่สำนักงานของทนายจำเลย ก็เพิ่งไปติดเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2558 ซึ่งไม่ถึง 15 วันตามที่กฎหมายกำหนด ศาลนัดสอบคำให้การใหม่ในวันที่ 18 มกราคม 2559
 
26 ตุลาคม  2558 กลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน (กนส.) ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ปรีชา แก้วบ้านแพ้ว อดีตข้าราชการบำนาญ ที่ถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในสังคม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ ข้อหาร่วมกัน ฝ่าฝืนประกาศห้ามชุมนุมของคสช. 
 
ปรีชาถูกจับกุมขณะกำลังเดินทางข้ามแดนไปเที่ยวประเทศลาว เจ้าหน้าที่จับตัวเขาหลังพบว่ามีหมายจับในฐานข้อมูล หลังการจับกุมปรีชาถูกถูกส่งตัวมาสอบสวนที่สน.ชนะสงคราม ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบท้องที่เกิดเหตุ 
 
เหตุการณ์แห่งคดีนี้เกิดขึ้นในวันที่ 15 มีนาคม 2558 ปรีชา ไปสังเกตการณ์ พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ ทำกิจกรรมพลเมืองรุกเดิน คัดค้านการเอาพลเรือนขึ้นศาลทหาร ระหว่างสังเกตการณ์ มีคนบอกให้ปรีชาเอาดอกไม้ไปให้พันธ์ศักดิ์ ซึ่งเขาก็นำไปให้ ปรีชาไม่รู้เรื่องว่าตนเองถูกตั้งข้อหาเลยจนกระทั่งถูกจับกุม ดูรายละเอียดคดีของปรีชา
 
28 ตุลาคม 2558 ศาลทหารนัดสืบพยานโจทก์ คดีวรเจตน์ฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัว การพิจารณาวันนี้ติดปัญหา เพราะพยานโจทก์ปากนี้เป็นพยานที่เพิ่มเข้ามาใหม่ ไม่มีในบัญชีพยานเดิม ทนายจำเลยจึงคัดค้านพยานปากนี้ ศาลจึงเลื่อนการสืบพยานออกไปเป็นวันที่ 29 มีนาคม 2559 
 
29 ตุลาคม 2558 ศาลอาญา นัดสอบคำให้การคดี ธนพร หมิ่นประมาททหารที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตก หลังพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องธนพรต่อศาลอาญา แม่ของธนพรใช้โฉนดที่ดินมูลค่า 132,500 บาท ยื่นขอประกันตัว ซึ่งต่อมาศาลอนุญาตให้ประกันตัวธนพร และนัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2559 
 

สถานการณ์เสรีภาพอื่นๆ: เยี่ยมบ้านจิตรา 3 ครั้ง ไม่พบตัว แบนหนังอาบัติ ไอซีทีบล๊อกเพจรีเฟรชหน้าจออัตโนมัติ

1 ตุลาคม 2558  พล.ต.ท. ประวุฒิ ถาวรศิริ รักษาราชการแทนที่ปรึกษา (สบ 10) ด้านสืบสวนทางเทคโนโลยีและนิติวิทยาศาสตร์ เปิดเผยว่า กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท. กำลังตรวจสอบความเสียหายจากกรณีมีผู้เข้าใช้งานเว็บไซต์หน่วยงานของรัฐบาล เป็นจำนวนมากในเวลาเดียวกัน อย่างน้อย 5 เว็บไซต์ ทำให้เว็บไซต์ใช้งานไม่ได้ชั่วคราว และจะดำเนินการเอาผิดผู้ที่เข้ามาก่อกวน 
 
2 ตุลาคม 2558 จิตรา คชเดช นักกิจกรรมด้านแรงงาน โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า มีทหารมาบ้านที่สุพรรณบุรี 
โดยทหารสามนาย สวมเครื่องแบบลายพราง เดินทางด้วยรถตรวจการณ์ของทหารมาที่บ้านของจิตราในจังหวัดสุพรรณบุรี ทหารเข้ามาถามหาจิตราว่ามาบ้านหรือยัง และสอบถามเรื่องการเคลื่อนไหวทางการเมืองของจิตรา ต่อมาวันที่ 19 ตุลาคม 2558 ทหารมาถ่ายรูปหน้าบ้านพร้อมถามหาตัวจิตรา หลังจากนั้นในวันที่ 28 ตุลาคม 2558 จิตราโพสต์เฟซบุ๊กอีกครั้งว่ามีทหารมาที่บ้านพี่สาวของตนที่จังหวัดสุพรรณบุรี ทหารบอกว่าจะขอพบจิตราเพื่อขอถ่ายรูป ก่อนกลับ ทหารกำชับว่าหากจิตรากลับบ้านให้โทรแจ้งด้วย โดยอ้างมาจากค่าสุรสีห์ จังหวัด กาญจนบุรี  
 
3 ตุลาคม 2558 นักข่าวพลเมืองรายงานว่า เครือข่ายรักษ์บำเหน็จณรงค์ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินประมาณ 100 คน สวมเสื้อสีขาวสกรีน “ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน” เข้าร่วมการประชุม คณะกรรมการเฝ้าระวังติดตามความคิดเห็นของประชาชนต่อการประกอบกิจการของ บริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเพชร อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ แต่ถูก พ.ท.สุรชัย ชอบชื่น รองหัวหน้าศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดชัยภูมิ ฝ่ายทหาร ไล่ออกจากห้องประชุม พร้อมบอกว่า การใส่เสื้อคัดค้านเป็นการสร้างความแตกแยก  
 
4 ตุลาคม 2558 เว็บไซต์ www.refreshthis.com ที่เปิดให้บริการรีเฟรชหน้าเพจอัตโนมัติถูกกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารหรือไอซีที ปิดกันการเข้าถึง เพื่อป้องกันชาวเน็ตใช้เป็นเครื่องมือโจมตีเว็บไซต์รัฐบาล โดยเมื่อเข้าถึงจะพบข้อความว่า "เว็บไซต์นี้มีเนื้อหาและข้อมูลที่ไม่เหมาะสม ถูกระงับโดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร" 
 
6 ตุลาคม 2558 บีบีซีไทยชี้แจงเหตุที่ไม่เปิดเผยชื่อผู้เขียนบทความ “การประชุมยูเอ็นเริ่มในบ้าน”  โดยระบุว่า แม้ผู้เขียนจะไม่ใช้ชื่อจริง แต่ทีมงานได้ตรวจสอบกับผู้เขียนอย่างถี่ถ้วน และพบว่าข้อมูลที่ได้มา ได้มาด้วยวิธีการที่ถูกต้อง และควรค่าแก่การที่จะนำเสนอให้สังคมไทยได้รับรู้ แม้มีผู้ท้วงติงว่าความละเอียดอ่อนของข้อมูลยังไม่ถึงระดับต้องปกป้องชื่อของผู้เขียน เรื่องนี้ บีบีซีไทยขอน้อมรับไว้พิจารณา แต่เมื่อผู้เขียนบทความชิ้นนี้ยืนยันว่าไม่ต้องการให้เปิดเผยชื่อเพราะหวั่นเกรงต่อการคุกคามอันสืบเนื่องจากบรรยากาศในปัจจุบันที่มีแรงกดดันต่อการแสดงความเห็น ซึ่งบีบีซีต้องเคารพความต้องการของแหล่งข่าว 
 
12 ตุลาคม 2558 คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์มีมติสั่งห้ามฉายภาพยนต์อาบัติ หากผู้สร้างต้องการจะฉายภาพยนต์ต้องนำกลับไปแก้ไขมาใหม่ โดยตัดบางส่วนออกไป ต่อมาในวันที่ 16 ตุลาคม 2558 หลังทางผู้สร้างตัดเนื้อหาบางส่วนออก พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อภาพยนตร์จาก "อาบัติ" เป็น "อาปัติ" ซึ่งเป็นภาษาบาลีแต่มีความหมายคงเดิม คณะกรรมการฯก็อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์ ได้ในเรต 18+ ดูรายละเอียดการแบนภาพยนตร์อาบัติ  
 
14 ตุลาคม 2558 ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. โพสต์เฟซบุ๊กห้ามภาคีเคลื่อนไหวต้าน หลังนายกฯ สั่งตีกรอบการทำงานขอบเขตสุขภาพ โดยอ้าว่า ไม่อยากให้บ้านเมืองวุ่นวาย ต้องร่วมมือกันเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อได้
 
 
 
 
 
ประเภทรายงาน: