- เว็บไซต์ไอลอว์
- ศูนย์ข้อมูลฯ
ฐานข้อมูลคดี

ชื่อคดี
ผู้ต้องหา
สุดสงวน
สถานะคดี
คำอธิบายสถานะคดี ภาษาไทย
ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด
สถานะผู้ต้องหา
ครบกำหนดโทษ
ข้อหา / คำสั่ง
อื่นๆ (มาตรา 198 ตามประมวลกฎหมายอาญาและมาตรา 31(1) ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง)
ผู้ต้องหา | สถานะผู้ต้องหา |
---|---|
ดารุณี | ยังหาผู้กระทำผิดไม่ได้ |
พิชา | อื่นๆ (เสียชีวิต) |
เนื้อหาคดีโดยย่อ
21 ก.พ. 2557 ดารุณี, สุดสงวน และพิชา นำกลุ่มมวลชนกว่าร้อยคนที่ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลแพ่ง ในคดีเพิกถอนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวมตัวกันหน้าอาคารศาลแพ่ง วางพวงหรีดและชูป้ายข้อความ ต่อมาผู้อำนาวยการสำนักอำนวยการประจำศาลแพ่งได้ยื่นฟ้องทั้งสามฐานละเมิดอำนาจศาล
ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น ดารุณีไม่มารายงานตัวต่อศาล ศาลออกหมายจับและจำหน่ายคดีส่วนของดารุณี สุดสงวนและพิชารับสารภาพ ศาลแพ่งจึงพิพากษาว่า มีความผิดลงโทษจำคุกเป็นเวลาสองเดือน ลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือหนึ่งเดือนไม่รอลงอาญา จำเลยยื่นอุทธรณ์
ระหว่างอุทธรณ์ พิชาเสียชีวิต คดีนี้เหลือผู้ต้องหาเพียงคนเดียวคือ สุดสงวน โดยศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้โทษจำคุกเป็นกักขังเป็นเวลาหนึ่งเดือน สุดสงวนยื่นฎีกา ก่อนที่ศาลฎีกาจะพิพากษาตามศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกหนึ่งเดือนไม่รอการลงโทษ
ภูมิหลังผู้ต้องหา
ดารุณี หรือเจ๊ดา ผู้ถูกกล่าวหาที่หนึ่ง เป็นนักธุรกิจแนวร่วมกลุ่มประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หลังรัฐประหารปี 2557 ดารณีลี้ภัยทางการเมืองไปต่างประเทศ
สุดสงวน หรืออาจารย์ตุ้ม ผู้ถูกกล่าวหาที่สอง จบการศึกษานิติศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนไปศึกษาต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ในสาขาอาชญวิทยาละการบังคับใช้กฎหมาย ก่อนหน้านี้เคยดำรงตำแหน่งเป็นอาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พิชา ผู้ถูกกล่าวหาที่สาม เป็นอดีตทนายความ นปช. เสียชีวิตจากอุบัติเหตุระหว่างการสู้คดีในชั้นศาล เมื่อปี 2558
ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลแพ่ง
ข้อกล่าวหา
อื่นๆ (ละเมิดอำนาจศาล)
-
รูปแบบการจำกัดเสรีภาพ
การดำเนินคดี
-
ประเภทสื่อ
การชุมนุมสาธารณะ
-
จังหวัด
กรุงเทพมหานคร
-
ศาล
ศาลแพ่ง รัชดาภิเษก
วันที่ 21 ก.พ. 2559 ดารุณี, สุดสงวน และพิชา พร้อมกับมวลชนกว่าร้อยคน วางพวงหรีดและป้ายเขียนข้อความต่างๆ มีข้อความกล่าวหาศาลแพ่ง เช่น แด่ความอยุติธรรมของศาลแพ่ง และใช้เครื่องขยายเสียงร้องเพลงเสียดสีเกี่ยวกับการตัดสินคดีของศาลแพ่งพร้อมกับตะโกนว่า ความอยุติธรรม รวมทั้งมีผู้นำตาชั่งและปลัดขิกมาถือและถ่ายภาพที่หน้าศาลแพ่ง อันเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล
21 กุมภาพันธ์ 2559
ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า เวลาประมาณ 10.00 น. ที่หน้าอาคารศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ดารุณี กฤตบุญญาลัย พร้อมด้วยกลุ่มมวลชนมาประท้วง อ่านแถลงการณ์และวางพวงหรีด กรณีศาลแพ่งมีคำพิพากษาห้ามไม่ให้ศูนย์รักษาความสงบ หรือ ศรส. ใช้มาตรการและข้อกำหนดรวมเก้าข้อ เช่น ห้ามใช้กำลังสลายการชุมนุมกับผู้ชุมนุม กปปส.ซึ่งชุมนุมด้วยความสงบ ปราศจากอาวุธ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550
ภายหลังอ่านแถลงการณ์แล้วนางดารณีและผู้ชุมนุมได้นำพวงหรีดระบุว่า “แด่..ความอยุติธรรมของศาลแพ่ง” และชูมือโห่ร้อง พร้อมทั้งชูป้ายข้อความต่างๆ ประท้วงคำพิพากษาศาลแพ่ง และนำตะเกียงส่องสว่างและมีการนำถุงปลาร้ามาชูเป็นสัญลักษณ์ ก่อนวางพวงหรีดไปวางที่เสาอาคารศาลแพ่ง พร้อมร้องเพลงและตะโกนโห่ร้องว่า “ความยุติธรรม” หลายครั้ง
9 มิถุนายน 2557
ข่าวสดออนไลน์รายงานว่า ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำสั่งคดีละเมิดอำนาจศาลในคดีที่ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการศาลแพ่ง กล่าวหาดารุณี, สุดสงวน และพิชาว่า ละเมิดอำนาจศาลจากการประท้วงวางพวงหรีดและถือป้ายประท้วง เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ผ่านมา
ในวันเดียวกัน สุดสงวน และพิชา ผู้ถูกกล่าวหาเดินทางมาที่ศาล ส่วนดารุณี ไม่ได้เดินทางมา โดยทนายความแถลงขอศาลเลื่อนนัดฟังคำสั่งออกไปก่อน เนื่องจากดารุณีเกรงจะเกิดอันตราย แต่ศาลเห็นว่า ดารุณีมีเจตนาหลบหนี จึงออกหมายจับ และจำหน่ายคดีเฉพาะดารุณี
โดยศาลพิเคราะห์ข้อเท็จจริงประกอบภาพวิดีโอเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว เห็นว่าในวันเกิดเหตุมีกลุ่มคน130 คน มาชูป้ายคัดค้าน และเสียดสีศาลแพ่ง ภายหลังจากคดีที่นายถาวร เสนเนียม เป็นโจทก์ฟ้องน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯกับพวกรวมสามคน ให้เพิกถอนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และศาลแพ่งมีคำสั่งคุ้มคราวเป็นคุณแก่ฝ่ายผู้ขอ ผู้ประท้วงจึงวางพวงหรีดและใช้โทรโข่งตะโกนเอะอะเสียงดังในบริเวณศาล มีการชูป้ายข้อความว่า “แด่ความอยุติธรรม” ซึ่งสุดสงวน และพิชา ผู้ถูกกล่าวหาที่สอง และสาม ยอมรับว่าเป็นบุคคลเดียวกับคนในภาพ และขอแถลงถอนคำให้การปฏิเสธทั้งหมด โดยแถลงรับสารภาพและอ้างว่าไม่รู้จักกับหญิงชุดดำที่ถือตราชั่งและปลัดขิก
ศาลจึงมีคำสั่งว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่สองและสาม มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ลงโทษจำคุก 2 เดือน แต่คำรับสารภาพเป็นประโยชน์ ลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุกคนละหนึ่งเดือน ขณะที่คดีนี้ถือเป็นการกระทำอุกอาจ ท้าทายศาล ผู้ถูกกล่าวหาที่สองเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่วนผู้ถูกกล่าวหาที่สาม เป็นทนายความ ย่อมมีความรู้ดีว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการประพฤติที่ไม่สมควร จึงควรลงโทษเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง ไม่สมควรให้รอการลงโทษได้
หลังศาลแพ่งมีคำพิพากษา สุดสงวน และพิชา ได้ยื่นหลักทรัพย์เป็นเงินสด คนละ 50,000 บาท เพื่อขอปล่อยชั่วคราว ศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้ปล่อยตัวได้
26 พฤศจิกายน 2558
มติชนออนไลน์รายงานว่า ตามที่ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดี ละเมิดอำนาจศาล ที่สุดสงวน เป็นผู้ถูกกล่าวหา ร่วมกับดารุณี ซึ่งลี้ภัยทางการเมืองไปต่างประเทศ และพิชา ซึ่งเสียชีวิตแล้ว ศาลอุทธรณ์จึงสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
ในคดีนี้ สุดสงวน ให้การรับสารภาพ แต่อุทธรณ์ว่าเป็นการร่วมชุมนุมภายใต้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ และไม่ทราบว่ามีการนำพวงหรีดมาศาล ซึ่งตัวเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพวงหรีด ส่วนการร้องเพลงก็เป็นเพลงประจำกลุ่ม ไม่มีเจตนาส่งเสียงดังรบกวนการพิจารณาคดีของศาลแพ่ง นั้น เห็นว่าเป็นการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ จึงไม่รับวินิจฉัย
ส่วนเหตุให้รอการลงโทษ ศาลเห็นว่า สุดสงวนจบการศึกษาคณะนิติศาสตร์ ระดับปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจบปริญญาโท จากสหรัฐอเมริกา ย่อมทราบดีถึงขั้นตอนกระบวนการพิจารณาคดีในชั้นศาล การนำพวงหรีดมาวางหน้าศาล และร้องเพลงเสียดสีเกี่ยวกับการตัดสินคดีของศาลแพ่ง ถือว่าไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมายเป็นเรื่องร้ายแรง แม้สุดสงวน ไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนก็ไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ อย่างไรก็ดีศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้โทษจำคุกเป็นกักขังเป็นเวลาหนึ่งเดือนแทน
หลังจากศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแล้ว สุดสงวนยื่นฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ ก่อนจะขอประกันตัวด้วยหลักทรัพย์เป็นเงินสดห้าหมื่นบาท
8 พฤศจิกายน 2559
ประชาไทรายงานว่า ที่ศาลแพ่ง รัชดาภิเษก สุดสงวน ผู้ถูกกล่าวหาที่สองเดินทางมาศาลเพื่อฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ที่สุดสงวนฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษนั้น ศาลเห็นว่า ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลมีระวางโทษจำคุกสูงสุดหกเดือน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 33 ที่ศาลชั้นต้นให้ละวางโทษจำคุกสองเดือนลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกผู้ถูกกล่าวหาที่สอง มีกำหนดหนึ่งเดือนนั้นเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว และพฤติการณ์เป็นเรื่องร้ายแรง จึงไม่มีเหตุรอการลงโทษ
อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องพิจารณาตามฎีกาของพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุดว่า ควรเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นโทษกักขังหรือไม่ เห็นว่า พฤติการณ์ที่สุดสงวนนำประชาชนมากดดันดุลยพินิจของศาลถือเป็นการบ่อนทำลายสถาบันศาล ด้วยการลิดรอนความเป็นอิสระของศาลให้เป็นไปตามอารมณ์ของคู่ความ นำไปสู่ความวุ่นวาย ไม่เคารพกติกาของกฎหมาย สะท้อนถึงความเหิมเกริมไม่หวั่นเกรงต่อกฎหมาย
ศาลฎีกาพิจารณาแล้วมีคำพิพากษาให้ลงโทษนางสุดสงวน ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คือให้จำคุกหนึ่งเดือน โดยไม่ลงอาญา
8 ธันวาคม 2559
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์รายงานว่า เมื่อเวลา 06.00 น. เจ้าหน้าที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ได้ปล่อยตัวสุดสงวน หลังครบกำหนดต้องโทษหนึ่งเดือน
คำพิพากษาศาลฎีกา
คดีนี้สืบเนื่องจากที่ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลแพ่งมีบันทึกข้อความรายงานอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งโดยกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2557 ดารุณี, สุดสงวนและพิชา พร้อมพวกประมาณ 130 คน นำพวงหรีดหนึ่งพวง ป้ายข้อความกล่าวหาศาลแพ่ง และตะโกนว่า อยุติธรรม รวมทั้งมีผู้นำตราชั่งและปลัดขิกมาถือหน้าศาลแพ่ง จึงเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมบริเวณศาล
ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น ดารุณีไม่มารายงานตัวต่อศาล ทำให้ศาลออกหมายจับและจำหน่ายคดีของดารุณีออกไป เหลืองเพียงสุดสงวนและพิชา ทั้งสองแถลงต่อศาลรับสารภาพ ศาลแพ่งจึงพิพากษาว่า มีความผิดลงโทษจำคุกเป็นเวลาสองเดือน แต่ทั้งสองให้การรับสารภาพจึงลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือหนึ่งเดือนไม่รอลงอาญา สุดสงวนและพิชายื่นอุทธรณ์และประกันตัว
ต่อมาในชั้นอุทธรณ์ พิชาเสียชีวิตระหว่างการพิจารณา ศาลจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะของพิชาออกจากสารบบความ ทำให้คดีนี้เหลือผู้ต้องหาเพียงคนเดียวคือ สุดสงวน โดยศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้โทษจำคุกเป็นกักขังเป็นเวลาหนึ่งเดือนไม่รอลงการลงโทษแทน
ในชั้นฎีกา ศาลพิจารณาตามที่สุดสงวนขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษนั้น ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลมีระวางโทษจำคุกสูงสุดหกเดือน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 33 ที่ศาลชั้นต้นให้ละวางโทษจำคุกสองเดือนลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกผู้ถูกกล่าวหาที่สองมีกำหนดหนึ่งเดือนนั้นเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว
อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องพิจารณาตามฎีกาของพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุดว่า ควรเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นโทษกักขังหรือไม่ เห็นว่า สุดสงวน เป็นผู้มีความรู้ทางกฎหมายและเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย ย่อมรู้ว่า การพิพากษาของศาลก่อทั้งความพอใจและไม่พอใจได้ ฝ่ายที่ไม่พอใจจากการแพ้คดีมีสิทธิยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา แต่การที่สุดสงวนนำประชาชนมากดดันดุลยพินิจของศาลถือเป็นการบ่อนทำลายสถาบันศาล ด้วยการลิดรอนความเป็นอิสระของศาลให้เป็นไปตามอารมณ์ของคู่ความ นำไปสู่ความวุ่นวาย ไม่เคารพกติกาของกฎหมาย พฤติการณ์ของสุดสงวนสะท้อนถึงความเหิมเกริมไม่หวั่นเกรงต่อกฎหมาย จึงไม่มีเหตุผลใดๆที่ศาลควรปราณีเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขัง พิพากษาตามศาลชั้นต้น