ดีเจหนึ่งประกาศปิดถนนดอยติ-ลำพูน

อัปเดตล่าสุด: 17/10/2560

ผู้ต้องหา

จักรพันธ์ บ.

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2554

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่

สารบัญ

นายจักรพันธ์ บ. ดีเจสถานีวิทยุรักเชียงใหม่51 ถูกกล่าวหาว่า ประกาศชักชวนให้ผู้ฟังรายการวิทยุไปร่วมกันปิดถนนสายดอยติ-ลำพูน เมื่อ 12 เมษายน 2552 เพื่อกดดันรัฐบาลในช่วงที่การเมืองกำลังร้อนระอุ

ภูมิหลังผู้ต้องหา

นายจักรพันธ์ บ. หรือดีเจหนึ่งเป็นนักจัดรายการวิทยุชุมชนสถานีรักเชียงใหม่ 51 (92.5MhZ)  ซึ่งมีนายเพชรวรรต  วัฒนพงศิริกุล เป็นผู้อำนวยการ  นายจักรพันธ์มีชื่อปรากฏอยู่ในผังล้มเจ้าฉบับ ศอฉ.  หลังจากหยุดจัดรายการที่สถานีวิทยุนี้ในช่วงหลังสลายการชุมนุมปี 2553  ได้ร่วมก่อตั้งกลุ่มเชียงใหม่เลี้ยวซ้าย  ทำกิจการร้านกาแฟ Red Coffee Corner (ปัจจุบันเลิกกิจการแล้ว) และร่วมก่อตั้งสถานีวิทยุชุมชนสร้างสรรค์สังคมเชียงใหม่ 99.15 Mhz (ปัจจุบันเลิกออกอากาศแล้ว) ซึ่งดำเนินกิจกรรมรณรงค์ประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2552 นายจักรพันธ์ได้ประกาศออกรายการวิทยุ FM 92.5 Mhz  อันเป็นการกระทำการให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา ชักชวน ปลุกปั่น ยุยง ให้ประชาชนที่รับฟังรายการไปร่วมกันปิดกั้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 สายเชียงใหม่-ลำปาง บริเวณแยกดอยติ เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายของแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 และพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 จนเกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร โดยที่ประชาชนที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมไม่อาจสัญจรไปมาได้ตามปกติ และอาจเกิดอันตรายหรือเสียหายแก่ยานพาหนะของประชาชนที่ใช้ทางหลวงดังกล่าว ทั้งนี้ โดยมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญหรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต
 

พฤติการณ์การจับกุม

นายจักรพันธ์ถูกจับกุม 2 ครั้งด้วยกัน ครั้งแรกในช่วงเดือนพฤษภาคม 2552 โดยถูกกักขังอยู่ที่ห้องขังสถานีตำรวจ 1 คืน ได้ประกันตัวและรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ 3 ครั้ง แต่คดีเงียบไป  จนกระทั่งมีการจับกุมอีกครั้งในวันที่ 24 มิถุนายน 2553 ที่ร้านกาแฟชื่อ Red Coffee Corner ซึ่งเป็นกิจการส่วนตัว  นายจักรพันธ์รายงานตัวต่อพนักงานสอบสวนและอัยการตามกำหนดตลอดมา ไม่เคยหลบหนี  มีการเลื่อนฟ้องโดยพนักงานอัยการหลายครั้งจนผู้ถูกจับจำจำนวนครั้งไม่ได้
 
นายจักรพันธ์ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวโดยวางหลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 200,000 บาท ผ่านการประสานของทนายความกลุ่มยุติธรรมล้านนา
 
รายการ “รายงานสถานการณ์การชุมนุม” ตามที่ถูกฟ้อง  เป็นรายการสนทนา  มีดีเจร่วมจัดทั้งสิ้น 5 คน  แต่มีเพียงนายจักรพันธ์คนเดียวที่ถูกดำเนินคดีจากกรณีนี้

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

การสืบพยานในคดีนี้ เกิดขึ้นในศาลจังหวัดลำพูน และศาลจังหวัดเชียงใหม่ รวมสืบพยานโจทก์ทั้งสิ้น 16 ปาก สืบพยานจำเลย ทั้งสิ้น 4 ปาก
 
ประเด็นต่อสู้ในคดีนี้ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยจัดรายการวิทยุคลื่น 92.5 Mhzเชิญชวน ให้คนออกมาชุมนุมปิดถนน หมายเลข 11 สายเชียงใหม่ – ลำปาง บริเวณแยกดอยติ อันเป็นการเชิญชวนให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน คือ พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ. 2535 และพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 จนเกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนที่ฟังคำชักชวน ปลุกปั่น ยุยง ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบโดยการปิดกั้นทางหลวง ก่อให้เกิดความปั่นป่วนเพราะประชาชนที่ไม่ได้ร่วมชุมนุมและจะต้องใช้เส้นทางหลวงไม่อาจสัญจรไปมาได้ตามปกติ การกระทำดังกล่าว ถือเป็นความผิดมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา หลักฐานสำคัญในคดีนี้ คือบันทึกถอดเทปเสียงการจัดรายการของดีเจหนึ่ง และมีพยานที่ได้รับความเดือดร้อนจากการปิดถนน
 
ด้านจำเลยสู้ว่า แม้จำเลยจะใช้คำว่า "ปิดถนนสามแยกดอยติ" ก็ไม่มีเจตนาชักชวนให้ประชาชนไปปิดกั้นการสัญจร เป็นเพียงการแจ้งให้ไปชุมนุมตามที่มีผู้ขอให้ประกาศออกอากาศ และใช้คำพูดเช่นนั้นเพียงสองครั้งระหว่างเวลา 9.23น. ถึง 9.35น. ของวันที่ 12 เมษายน 2552 หลังจากนั้นจำเลยใช้คำว่า "เชิญชวนไปชุมนุม" โดยมิได้ใช้คำว่าปิดถนนอีก ทั้งนี้ การชุมนุมเป็นสิทธิที่ประชาชนมีภายใต้ขอบเขตรัฐธรรมนูญ แม้จะมีผู้ได้รับความเดือดร้อนอยู่บ้าง แต่สิทธิในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธก็ยังคงมีอยู่ และการชุมนุมเหตุตามฟ้องก็ไม่มีความรุนแรงใดๆ เกิดขึ้น และจำเลยเป็นเพียงผู้จัดรายการวิทยุ ไม่ได้มีบทบาทเป็นแกนนำคนเสื้อแดง การพูดของจำเลยไม่มีผลจะชักจูงผู้ใดไปทำการใดได้ การที่ประชาชนไปชุมนุมนั้นมีแกนนำที่จัดการชุมนุมอยู่แล้ว โดยตัวจำเลยเองก็ไม่ได้ไปชุมนุมที่สามแยกดอยติในวันดังกล่าวด้วย จำเลยไม่เคยขึ้นเวทีปราศรัย อีกทั้งรัศมีสัญญาณวิทยุคลื่น 92.5Mhz เชียงใหม่ก็ส่งไปไม่ถึงพื้นที่ชุมนุม นอกจากนี้ คดีนี้ฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 อยู่ในหมวดความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ซึ่ง (3) บัญญัติว่า "เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน" นั้น ต้องตีความว่าเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ หากเป็นการละเมิดกฎหมายที่มีโทษอาญาอื่นก็ย่อมมิใช่เจตนารมณ์ของมาตรา 116 (3) นี้  การที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยยุยงให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินคือ พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 และ พ.ร.บ.การจราจรทางบก พ.ศ.2522 นั้นไม่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐแต่อย่างใด
ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดี โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน ไม่ได้เฝ้าสังเกตการณ์คดีในทุกนัด ผู้สังเกตการณ์คดีในคดีนี้ คือ นายธีระพล คุ้มทรัพย์
 
การสืบพยานโจทก์
  1. สืบพยานโจทก์ปากที่หนึ่ง นายวิวัฒน์ อูนจะนำ
    วันที่ 14 พฤษภาคม 2555 ณ ศาลจังหวัดลำพูน  (ไม่มีบันทึกสังเกตการณ์คดี)
  2. สืบพยานโจทก์ปากที่สอง นายสาธิต ศรีสุดา 
    วันที่ 14 พฤษภาคม 2555 ณ ศาลจังหวัดลำพูน (ไม่มีบันทึกสังเกตการณ์คดี)
  3. สืบพยานโจทก์ปากที่สาม นายศรัญญู ลีละศาสตร์
    วันที่ 14 มิถุนายน 2555 ณ ศาลจังหวัดลำพูน (ไม่มีบันทึกสังเกตการณ์คดี)
  4. สืบพยานโจทก์ปากที่สี่ นายสุนัย จันทร์สว่าง
    วันที่ 14 มิถุนายน 2555 ณ ศาลจังหวัดลำพูน (ไม่มีบันทึกสังเกตการณ์คดี)
  5. สืบพยานโจทก์ปากที่ห้า ด.ต. สุรศักดิ์ เนคะมานุรักษ์ สภ.เหมืองจี้
    วันที่ 20 กรกฎาคม 2555 ณ ศาลจังหวัดลำพูน (ไม่มีบันทึกสังเกตการณ์คดี)
  6. สืบพยานโจทก์ปากที่หก นางสาวเกษราภรณ์ ชุ่ยอาภัย
    วันที่ 10 กันยายน 2555 ณ ศาลจังหวัดลำพูน (ไม่มีบันทึกสังเกตการณ์คดี)
  7. สืบพยานโจทก์ปากที่เจ็ด พ.ต.ท. ยุทธนา ยะนันโต สภ.เมืองลำพูน
    วันที่ 10 กันยายน 2555 ณ ศาลจังหวัดลำพูน (ไม่มีบันทึกสังเกตการณ์คดี)
  8. สืบพยานโจทก์ปากที่แปด พ.ต.ท.ชัชวาล สุธาวา สภ.เหมืองจี้
    วันที่ 10 กันยายน 2555 ณ ศาลจังหวัดลำพูน (ไม่มีบันทึกสังเกตการณ์คดี)
  9. สืบพยานโจทก์ปากที่เก้า ดต.สุรศักดิ์ เนตะมานุรักษ์ เจ้าหน้าที่ถอดเทปบันทึกเสียงรายการวิทยุ
    วันที่ 20 กรกฎาคม 2555 ณ ศาลจังหวัดลำพูน
  10. สืบพยานโจทก์ปากที่สิบ นายวิษณุ ก๋งเจียม ผู้อยู่ในเหตุการณ์
    วันที่ 19 พฤศจิกายน 2555 ณ ศาลจังหวัดลำพูน
  11. สืบพยานโจทก์ปากที่สิบเอ็ด นางกฤษณา วิเทศ เจ้าหน้าที่สถานีขนส่งฯ จังหวัดลำพูน
    วันที่ 28 พฤศจิกายน 2555 ณ ศาลจังหวัดลำพูน (ไม่มีบันทึกสังเกตการณ์คดี)
  12. สืบพยานโจทก์ปากที่สิบสอง นายประสิทธิ์ กันดี เจ้าหน้าที่สถานีรถไฟจังหวัดลำพูน  
    วันที่ 28 พฤศจิกายน 2555 ณ ศาลจังหวัดลำพูน (ไม่มีบันทึกสังเกตการณ์คดี)
  13. สืบพยานโจทก์ปากที่สิบสาม นายพรรนา มูลกลาง และนายสุนทร วิเลิศสัก
    วันที่ 28 พฤศจิกายน 2555 ณ ศาลจังหวัดลำพูน (ไม่มีบันทึกสังเกตการณ์คดี)
  14. สืบพยานโจทก์ปากที่สิบสี่ พ.ต.ท. สมัย มูลประการ พนักงานสอบสวน สภ.ไชยปราการ
    วันที่ 12 มิถุนายน 2556 ณ ศาลจังหวัดลำพูน
  15. สืบพยานโจทก์ปากที่สิบห้า พ.ต.ท. สวัสดิ์ หล้ากาศ สวญ. นาหวาย อ.เชียงดาว
    วันที่ 12 มิถุนายน 2556 ณ ศาลจังหวัดลำพูน
  16. สืบพยานโจทก์ปากที่สิบหก พ.ต.ท. ไกรศรี จุฬพรรค์ พนักงานสอบสวน สภ.สันทราย 
    วันที่ 12 มิถุนายน 2556 ณ ศาลจังหวัดลำพูน
การสืบพยานจำเลย
  1. สืบพยานจำเลยปากที่หนึ่ง นายจักรพันธ์ บริรักษ์ จำเลย
    วันที่ 13 มิถุนายน 2556 ณ ศาลจังหวัดเชียงใหม่
  2. สืบพยานจำเลยปากที่สอง ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์
    วันที่ 13 มิถุนายน 2556 ณ ศาลจังหวัดเชียงใหม่
  3. สืบพยานจำเลยปากที่สาม นางยุพิณ เศษห้า แฟนรายการวิทยุ
    วันที่ 14 มิถุนายน 2556 ณ ศาลจังหวัดเชียงใหม่
  4. สืบพยานจำเลยปากที่สี่ นายอุดมศักดิ์ พรหมสิทธิ์ สมาชิกกลุ่มลำพูน51 ที่ไปชุมนุมบริเวณแยกดอยติ
    วันที่ 14 มิถุนายน 2556 ณ ศาลจังหวัดเชียงใหม่
บันทึกสังเกตการณ์คดี
 
20 กรกฎาคม 2555 ที่ศาลจังหวัดลำพูน 
 
สืบพยานโจทก์ปากที่เก้า ดต.สุรศักดิ์ เนตะมานุรักษ์ เจ้าหน้าที่ถอดเทปบันทึกเสียงรายการวิทยุ
 
ผู้พิพากษาขึ้นบัลลังค์เวลา 16.25 น.
 
ดต.สุรศักดิ์ เนตะมานุรักษ์ เป็นผู้พิมพ์ถอดเทปบันทึกเสียงรายการวิทยุ ตามคำสั่งของผู้กำกับการสภ.อ.เหมืองจี้ จ. ลำพูน
 
อัยการให้พยานดูเอกสารหมายจ.8 ซึ่งเป็นรายงานการถอดเทปจากแผ่นซีดีที่พยานรับมาจากผกก.ผู้บังคับบัญชา ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่เกิดเหตุมีถ้อยคำว่า “ขอเชิญชวนพี่น้องเสื้อแดงไปปิดถนนเพื่อกดดันรัฐบาล” 
 
อัยการให้พยานเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ต่อกับลำโพงเพื่อเปิดฟังเสียงจากแผ่นซีดี เอกสารหมาย จ.9 (การสืบพยานวันที่ 30 มิถุนายน 2555 ซึ่งเป็นนัดก่อนหน้า ฝ่ายโจทก์ค้นหาเสียงพูดตามช่วงเวลาที่อ้างว่ากระทำผิดไม่พบ จึงเลื่อนมาสืบวันนี้แทน) โดยใช้เวลาเปิดประมาณ 3-5 นาที 
 
อัยการถามพยานว่า พยานทราบได้อย่างไรว่าเป็นเสียงจำเลย พยานตอบว่า ในช่วงต้นรายการดีเจจะแนะนำตัว พยานจำเสียงได้
ตอบคำถามทนายจำเลยซักค้าน พยานรับราชการที่ สภ.อ.เหมืองจี้ ตำแหน่งผู้บังคับหมู่สารสนเทศมาแล้ว 5 ปี 
 
ทนายถามว่า ไฟล์เสียงในซีดีสามารถตัดต่อได้ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า เคยทราบว่าทำได้แต่ไม่เคยทำ 
 
ทนายถามว่าพยานทราบหรือไม่ว่ามีการชุมนุมทางการเมืองในลำพูนที่ใดบ้าง พยานตอบว่า ทราบว่ามีที่ศาลากลาง ดอยติ และบ้านธิ พยานไม่ได้สอบถามว่าผู้ชุมนุมมาจากที่ใด ผู้ชุมนุมมีหลายกลุ่มทั้งจากเชียงใหม่ ป่าซาง ลำพูน ฯลฯ 
 
ทนายถามว่าสถานีวิทยุมีหลายสถานีใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ลำพูนมี 1 สถานี ทนายถามว่าพยานไม่เคยฟังวิทยุชุมชนใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่ ไม่ได้ฟังประจำ พยานตอบคำถามทนายถามว่า ไม่ทราบว่าสถานีวิทยุที่เชียงใหม่มีกี่สถานี และพยานไม่เคยฟังเสียงจำเลยมาก่อน 
 
ทนายถามต่อว่า ในช่วงต้น จำเลยแนะนำตัวว่าอย่างไร พยานตอบว่า แนะนำตัวว่า ผมดีเจหนึ่ง เป็นชื่อเล่น ไม่ได้ระบุชื่อจริง จากนั้น ทนายให้พยานดูเอกสารหมายจ.8 (รายงานถอดเทป) ให้พยานค้นหาคำว่า “ดีเจหนึ่ง” พยานหาไม่พบ
 
ทนายถามพยานอีกว่า หลังชุมนุม พยานทราบหรือไม่ว่ามีการแจ้งข้อหาแกนนำ พยานตอบว่าทราบ ทนายถามว่าแจ้งกี่คนและรวมจำเลยในคดีนี้หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ทราบ
 
ทนายถามว่า พยานไม่เคยฟังวิทยุคลื่น 92.5 ใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่ เพราะคลื่นส่งไม่ถึงจ.ลำพูน ปกติวิทยุชุมชนจะส่งคลื่นได้ไม่ไกล
 
อัยการไม่ถามติง รวมเวลาสืบพยานปากนี้ทั้งสิ้นประมาณ 15 นาที
 
ศาลหารือกับอัยการและทนายจำเลยเรื่องเปลี่ยนแปลงเวลานัดต่อไป ศาลนัดส่งรายงานกระบวนพิจารณากลับไปยังศาลจังหวัดเชียงใหม่วันที่ 10 กันยายน 2555 เวลา 13.30น.
 
19 พฤศจิกายน 2555 ณ ศาลจังหวัดลำพูน 
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สิบ นายวิษณุ ก๋งเจียม ผู้อยู่ในเหตุการณ์ 
 
องค์คณะขึ้นบัลลังค์เวลา 9.45 น. โดยพิจารณาคดีอื่นก่อน และเริ่มสืบพยานในคดีนี้เมื่อเวลาประมาณ 10.00น. 
 
ศาลเรียกพนักงานอัยการมาสอบถามว่ามีพยานมากี่ปาก และสอบถามทนายจำเลยว่าคดีเป็นมาอย่างไร เนื่องจากองค์คณะเป็นคนละชุดกับชุดที่สืบพยานโจทก์มาก่อนหน้า รวมทั้งพนักงานอัยการเป็นคนละคนกับที่เคยส่งประเด็นพยานโจทก์มาศาลจังหวัดลำพูนก่อนหน้านี้ ทนายจำเลยแจ้งศาลว่าจำเลยไม่รับประเด็นที่โจทก์จะสืบ ต้องการต่อสู้
 
จากนั้นพยานโจทก์ นายวิษณุ ก๋งเจียม อายุ 40 ปี ประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัว ขึ้นเบิกความว่า วันที่ 12 เมษายน 2552 พยานขับรถยนต์กระบะขับเคลื่อนสี่ล้อ กลับจากจ.แพร่ โดยออกจากบ้านกลาง สันป่าฝ้าย เลี้ยวซ้ายไปทางเชียงใหม่เพื่อจะกลับรถมุ่งหน้าไปทางจ.ลำปาง ตรงบริเวณปั๊ม ปตท. “นายพล” หมู่ 10 ประตูโขง เมื่อไปถึงบริเวณที่มีการชุมนุมพบว่าการจราจรติดขัดหนาแน่น ไม่สามารถผ่านไปได้ สังเกตเห็นกลุ่มเสื้อแดง เวลาผ่านไปนานประมาณ 1 ชั่วโมง จึงเดินลงไปดู และเดินราว 200 เมตร แล้วพูดคุยขอร้องกลุ่มเสื้อแดงว่าขอกลับบ้าน อยากกลับไปหาแม่เพื่อรดน้ำดำหัว แต่ผู้ชุมนุมคนหนึ่งตอบกลับว่า “บ่หื้อไป มีปัญหาก้า” (ไม่ให้ไป มีปัญหาหรือ) พยานจึงกลัวว่าจะถูกทำร้ายร่างกาย
นายวิษณุเบิกความต่อว่า จะขับรถไปข้างหน้าก็ไม่ได้ ถอยหลังก็ไม่ได้ ในที่สุดตนได้ขับเลี่ยงลงข้างทางหลบออกมาได้ รวมระยะเวลาที่เสียไปประมาณ 2 ชั่วโมง โดยต้องขับอ้อมวนไปอีก 1 ชั่วโมง
 
ศาลถามว่าจากนั้นไม่มีเสื้อแดงแล้วใช่หรือไม่ นายวิษณุตอบว่า ตนเป็นสมาชิกกลุ่มวิทยุอาสากู้ภัย ฟังจากวิทยุสื่อสารแล้ว ไม่มีเสื้อแดง
 
ทั้งนี้ นายวิษณุเบิกความว่า ตนเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ได้ ว.ไปหาตำรวจ ตำรวจจึงแนะนำให้ใช้เส้นทางดอยสะม้อ พนักงานสอบสวนทราบว่าตนได้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในวันเวลาดังกล่าว จึงเรียกให้ไปเป็นพยาน จากนั้นอัยการอ้างส่งเอกสาร คำให้การชั้นสอบสวนของนายวิษณุ
 
นายวิษณุเบิกความว่าไม่รู้จักจำเลยมาก่อน
 
ศาลถามเพิ่มว่า นามเรียกขานในการใช้วิทยุสื่อสารของพยานชื่อว่าอะไร นายวิษณุตอบว่า “บ้านกลาง 101” เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านบ้านกลาง
 
ศาลบันทึกคำเบิกความตอบอัยการรวดเดียวหลังจากอัยการแถลงหมดคำถาม
 
นายสุทัน ทายดี ทนายจำเลยขึ้นซักถาม
 
พยานบอกความตอบทนายจำเลยที่ถามคำถามนำว่า การชุมนุมตามคดีนี้เป็นการชุมนุมทางการเมืองเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย เป็นการชุมนุมต่อต้านการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 ภายหลังพ.ศ. 2549 มีรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช จากนั้นเป็นรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แล้วมีการชุมนุมเพื่อขับไล่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ 
ศาลติงทนายจำเลยว่า ต้องการให้เป็นเรื่องขับไล่รัฐบาลหรือเรียกร้องประชาธิปไตย ไม่เช่นนั้น พันธมิตรยึดสนามบินก็เป็นการเรียกร้องประชาธิปไตย เมื่อพูดจบแล้วศาลหัวเราะ
 
ทนายจำเลยถามนำต่อให้พยานตอบคำถามต่างๆ ว่า “ใช่” อาทิ การชุมนุมครั้งนี้เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งใหม่ ช่วงเวลานั้นมีการชุมนุมใหญ่ที่กรุงเทพด้วย พยานไม่ทราบว่าผู้ชุมนุมมาจากจังหวัดใดบ้าง พยานไม่ทราบว่าใครเป็นแกนนำในการชุมนุมนี้พยานไม่เห็นมีการใช้อาวุธในการชุมนุมนี้ ไม่มีความรุนแรง ที่พยานไม่ได้รับความสะดวกสบายเพราะผู้ชุมนุมมีจำนวนมาก หลายร้อยคน พยานไม่เคยได้ยิน หรือไม่เคยรับฟังวิทยุคลื่น 92.5 Mhz พยานไม่ทราบว่าจำเลยคดีนี้จะเป็นดีเจหนึ่งหรือไม่ และพยานไม่ทราบว่าการชุมนุมจะยุติลงวันเวลาใด 
 
ทนายถามว่า ในคำให้การ ปจ.21 ที่พยานให้การครั้งแรก มีปรากฏชื่อ สถาพร, วัชระ, เพชรวรรต ฯลฯ แต่ไม่ปรากฏชื่อจำเลยใช่หรือไม่ นายวิษณุตอบว่า ใช่
 
จากนั้นศาลถามให้พยานอธิบาย ศาลว่าอัยการจะได้ไม่ต้องถามติง ศาลถามว่า พยานได้อ่านคำให้การนี้หลังจากที่ตำรวจสอบถามเสร็จแล้วหรือไม่ พยานตอบว่าไม่ได้อ่าน แต่ก่อนลงลายมือชื่อ ตำรวจอ่านให้ฟัง 
 
จากนั้นทนายจำเลยถามต่อว่า รถของพยานเป็นรถประเภท off road ใช่หรือไม่ นายวิษณุตอบว่า ใช่ 
 
การที่กลัวว่าจะมีการทำร้ายร่างกายเป็นการที่พยานคิดเอาเองใช่หรือไม่ พยานหันไปหาอัยการ ศาลถามทนายความ ถ้าพูดว่า “มีปัญหาหรือ” ทนายจะกลัวไหม ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม
อัยการโจทก์ไม่ถามติง
 
ศาลนัดส่งประเด็นกลับศาลจังหวัดเชียงใหม่วันที่ 12 ธันวาคม 2555 เวลา 9.00น.
 
28 พฤศจิกายน 2555 ณ ศาลจังหวัดลำพูน 
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สิบเอ็ด นางกฤษณา วิเทศ เจ้าหน้าที่สถานีขนส่งฯ จังหวัดลำพูน (ไม่มีบันทึกสังเกตการณ์คดี)
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สิบสอง นายประสิทธิ์ กันดี เจ้าหน้าที่สถานีรถไฟจังหวัดลำพูน (ไม่มีบันทึกสังเกตการณ์คดี)
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สิบสาม นายพรรนา มูลกลาง และนายสุนทร วิเลิศสัก (ไม่มีบันทึกสังเกตการณ์คดี)
 
12 ธันวาคม 2555 ณ ศาลจังหวัดเชียงใหม่ 
 
เวลา 10.00 น. พนักงานอัยการเจ้าของสำนวนไม่มา โดยโทรศัพท์มาแจ้งเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ว่า ยังไม่ได้รับสำนวนจากศาลจังหวัดลำพูน ศาลให้เลื่อนนัดไปเป็นวันที่ 25 ธันวาคม 2555 เวลา 9.00น. เป็นนัดพร้อม
 
11 มิถุนายน 2556 ณ ศาลจังหวัดเชียงใหม่
 
การสืบพยานในวันนี้ เป็นครั้งแรกที่สืบพยานที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่
 
ศาลขึ้นบันลังก์เวลาประมาณ 10.00 น. องค์คณะของศาลประกอบด้วย นายพิทักษ์ แสงสายัณห์ เจ้าของสำนวน และ นายกริชชัย เชื้อชมพู 
 
ทนายวัฒนา เจนนภา และทนายชาคริต (เพิ่งแต่งตั้งเป็นทนายในคดีนี้) มาศาล
 
อัยการแถลงต่อศาลขอเลื่อนการสืบพยานโจทก์จำนวนสองปากออกไป เพราะพยานเป็นเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งถูกย้ายไปประจำการในท้องที่อื่นแล้ว ศาลจึงให้อัยการแสดงหลักฐานเกี่ยวกับการโยกย้ายและพร้อมชี้แจงเหตุว่าทำไมจึงไม่สามารถมาเบิกความเป็นพยานได้ อัยการขอปรึกษากับพนักงานสอบสวนที่เป็นพยานปากอื่น 
 
หลังรับฟังคำชี้แจงของฝ่ายอัยการ ศาลให้ทนายจำเลยดูสำนวนคดีแล้วถามว่า ฝ่ายจำเลยจะรับฟังข้อเท็จจริงข้อไหนได้บ้าง
ทนายวัฒนา แถลงต่อศาลว่า มีการส่งพยานหลักฐานในชั้นสอบสวนจากจังหวัดเชียงใหม่ไปลำพูน เจ้าหน้าที่ผู้ถอดเทปก็อยู่ที่ลำพูน เหตุการณ์ในคดีก็คาบเกี่ยวกับหลายท้องที่ ฝ่ายโจทก์จึงควรสืบให้ชัด เพราะโจทก์อ้างว่า ทราบว่าจำเลยเป็นผู้ประกาศจากสายที่ฟังคลื่นวิทยุดังหล่าว ในวันเกิดเหตุ การจัดรายการเกิดขึ้นในช่วงเช้าแต่การชุมนุมเกิดขึ้นในช่วงเย็น นอกจากนี้ สัญญาณของคลื่น92.5 Mhz ก็ส่งไปไม่ถึงจังหวัดลำพูน
ศาลชี้แจงกับทนายว่า แผ่นบันทึกเสียงที่ถอดเทปโดยสภ.เหมืองจี้จะมาจากไหนไม่สำคัญ เพราะจำเลยประสงค์จะสู้คดีเรื่องการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ จึงควรรับว่า ได้พูดตามข้อความจริง แล้วสืบไปในทางว่าการชุมนุมจะเป็นความผิดไหม ผู้ชุมนุมจะไปเพราะการชักชวนของจำเลยหรือเปล่า มีมูลเหตุงดเว้นความผิดหรืองดเว้นโทษหรือไม่ และมีการตัดต่อย่นย่อคำพูดของจำเลยหรือไม่ เพื่อให้การสืบพยานเป็นไปโดยกระชับ 
 
หลังชี้แจง ศาลเรียกตัวจำเลยเข้าไปคุย 
 
ทนายตอบศาลว่า ข้อที่ว่าแผ่นบันทึกเสียงมีการตัดต่อหรือไม่ ตัวจำเลยจำไม่ได้แน่ชัด เพราะเหตุการณ์เกิดขึ้นนานแล้ว
 
หลังฟังคำชี้แจงของศาล จำเลยปรึกษากับทนายทั้งสอง แล้วยอมรับต่อศาลว่าพูดข้อความตามถอดเทปจริง ศาลยังกล่าวด้วยว่า เอกสารถอดเทปบางส่วน ศาลไม่เข้าใจ เพราะเป็นการใช้ภาษาท้องถิ่น
 
จำเลยชี้แจงต่อศาลว่า คดีนี้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้บงการ แต่ที่จริงเป็นเพียงผู้จัดรายการวิทยุเท่านั้น ในแผ่นบันทึกเสียงซึ่งเป็นหลักฐานทั้งสามแผ่นมีส่วนที่จำเลยเป็นคนพูดเพียงสามถึงสี่นาทีเท่านั้น จำเลยจึงไม่สามารถทำให้คน300-400คนไปร่วมชุมนุมได้ 
 
ทนายแถลงต่อศาลว่า ในบรรดาพยานโจทก์ที่ถูกตัดออกไป มีพนักงานสอบสวนเป็นผู้ให้การในชั้นสอบสวนด้วย จึงมีสองสถานะ หากตัดพยานส่วนนี้ออก โจทก์จะอ้างส่งเอกสารต่อศาลด้วยวิธีใด 
หลังกระบวนการดำเนินไปจนถึง10.25 น. มีเจ้าหน้าที่มาเรียกอัยการให้ไปสืบคดีอื่น กระบวนการจึงยุติไปประมาณ20นาที อัยการจึงกลับมาอีกครั้ง 
 
เมื่อทนายตรวจสอบสำนวนคดี จึงพบว่า ไม่มีคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยอยู่ในสำนวนคดี ทนายจึงแถลงว่าเพราะไม่มีคำให้การ จำเลยจึงไม่ทราบว่าจะรับทราบข้อเท็จจริงอันไหน
อัยการเสนอว่าให้ยุติการกระบวนการช่วงเช้าแล้วค่อยกลับมาดำเนินการต่อในช่วงบ่าย แต่ศาลยังดำเนินกระบวนการต่อโดยซักว่า ที่จังหวัดลำพูนมีดีเจหรือไม่ ทนายตอบว่ามี แต่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องโดยให้เหตุผลว่าเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ
 
ศาลขอให้อัยการส่งบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยให้แก่ทนาย พร้อมบอกว่าจะขอนำสำนวนคดีไปศึกษาเพิ่มเติมด้วย ก่อนจะสั่งพักกระบวนการเพื่อรอเริ่มกระบวนการอีกครั้งในช่วงบ่าย การพิจารณาคดีช่วงเช้าสิ้นสุดเวลา10.55 น. 
 
ต่อมา เวลา 14.00 น. ศาลขึ้นบันลังก์พิจารณาคดีต่อในภาคบ่าย
ศาลถามทนายว่า จะรับข้อเท็จจริงของพยานปาก พ.ต.อ. พงสักก์ เชื้อสมบูรณ์ และปาก พ.ต.ท. ชัชวรินทร์ บุนนาค ศูนย์ความมั่นคงตำรวจภูธรภาค 5หรือไม่ ทนายชี้แจงว่าในเอกสารไม่ปรากฎลายมือชื่อของบุคคลทั้งสอง ทนายจึงกล่าวว่าจะรับเพียงว่ามีการสอบสวนบุคคลทั้งสองตามที่ปรากฏในรายงานบันทึกการสอบสวนเท่านั้น แต่ไม่รับเนื้อหาที่ปรากฎในเอกสาร 
 
ทั้งนี้ เนื่องจากอัยการที่รับผิดชอบคดี รับช่วงต่อจากอัยการท่านอื่น จึงไม่มีต้นฉบับคำให้การชั้นสอบสวนอยู่กับตัว จึงร้องต่อศาลเพื่อขอดูบันทึกคำให้การอีกครั้ง แต่ศาลปฏิเสธโดยกล่าวว่า จำเลยก็รับว่าเป็นผู้พูดไปแล้ว โจทก์จึงไม่น่าจะติดใจสืบพยานเพิ่มอีก 
 
กระบวนพิจารณาวันนี้ไม่มีการสืบพยานเนื่องจากพยานโจทก์ไม่มาศาล
 
12 มิถุนายน 2556 ณ ศาลจังหวัดลำพูน
 
ศาลขึ้นบัลลังก์เวลา 10.50 น. ก่อนเริ่มสืบพยาน มีการพูดคุยเรื่องแนวทางการสู้คดี ทนายบอกกับอัยการว่า จะรับข้อเท็จจริงในทางสืบสวนเฉพาะที่ปรากฏในเอกสาร และขอให้ฝ่ายโจทก์รับว่า อัยการจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีท่าแพ อัยการจึงขอตรวจเอกสารดังกล่าว (เอกสารหมาย ล.6) และเสนอให้จำเลยรับว่าตนเป็นผู้ต้องหาคดีท่าแพด้วย
 
ศาลกล่าวว่า ทนายจำเลยได้ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมเป็น เอกสารข่าวช่วงเกิดเหตุ พร้อมทั้งบอกกับทนายว่า เอกสารที่นำมาเพิ่มมาจากสำนักข่าวที่เลือกข้างจึงอาจจะไม่ให้น้ำหนักกับเอกสารชิ้นนี้มากนัก 
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สิบสี่ พ.ต.ท. สมัย มูลประการ พนักงานสอบสวน สภ.ไชยปราการ 
พ.ต.ท.สมัยเบิกความว่า วันที่ 11 สิงหาคม 2552 ขณะที่ตนปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนประจำ สภ. เมืองเชียงใหม่ พ.ต.อ.ประหยัชว์ บุญศรี รองผู้กำกับตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ ได้รับมอบหมายจากที่ประชุมตำรวจภาค 5 ให้มาร้องทุกข์กล่าวโทษนายจักรพันธ์ว่า กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา116 
 
พ.ต.ท. สมัย เบิกความว่า เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2552 มีประชาชนจำนวนมากปิดถนนในเขต สภ. เมืองลำพูน และ สภ. เหมืองจี้ โดยมีการจับกุมและแยกดำเนินคดีสองจุด สองคดี เมื่อขยายผลการสืบสวนจึงทราบว่า ผู้ชุมนุมทราบเรื่องการชุมนุมจากดีเจหนึ่ง หรือนายจักรพันธ์ ซึ่งเป็นผู้จัดรายการวิทยุคลื่น92.5 Mhz ซึ่งสถานีตั้งอยู่ที่โรงแรมวโรรสแกรนด์พาเลซ หลังวัดพระสิงห์ ในเขตอำเภอเมืองเชียงใหม่ เมื่อที่ประชุมภาคห้าประชุมกัน ก็เห็นว่าควรดำเนินคดีกับนายจักรพันธ์ จึงให้พ.ต.อ. ประหยัชว์ เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ
 
พ.ต.ท.สมัย เบิกความว่า หลังรับเรื่องแล้ว ตนและพ.ต.ท.สวัสดิ์ หล้ากาศ สอบปากคำ พ.ต.ท.ประหยัชว์เพิ่มเติมก่อนจะขอออกหมายจับนายจักรพันธ์ในช่วงต้นเดือนเมษายนปีพ.ศ. 2553 แต่ศาลยกคำร้อง ต่อมามีการขอออกหมายจับอีกครั้งแต่ตนไม่ได้ร่วมดำเนินการด้วยเพราะติดอบรมอยู่ นอกจากนี้ในชั้นจับกุมตนก็ไม่ได้มีส่วนร่วมสอบปากคำ โดยในครั้งแรก พ.ต.ท.สวัสดิ์ หล้ากาศ เป็นสอบสวน ต่อมานายจักรพันธ์ร้องขอความเป็นธรรมและขอให้สอบปากคำพยานเพิ่มอีก9ปาก 
 
พยานเบิกความว่า จากการสอบสวน นายจักรพันธ์รับว่าเป็นผู้จัดรายการวิทยุของคลื่น 92.5 Mhz จริงและพูดตามที่ผู้อำนวยการสถานี คือ นายเพชรวรรต วัฒนพงศ์สิริกุล เป็นผู้บอก 
 
ศาลขอให้พยานชี้ตัวจำเลย พ.ต.ท. สมัยชี้ได้ถูกต้อง
 
พ.ต.ท. สมัย เบิกความว่า ตนไม่ได้เปิดแผ่นบันทึกเสียงให้จำเลยฟัง เพียงแต่บอกจำเลยถึงเนื้อหา ซึ่งเป็นการประกาศให้ผู้ชุมนุมไปรวมกันที่แยกดอยติ จังหวัดลำพูน อัยการให้ พ.ต.ท. สมัย ดูบันทึกคำให้การสอบสวนเพิ่มเติม ซึ่งพ.ต.ท. สมัยรับว่า อัยการมีคำสั่งให้สอบปากคำพยานเพิ่มเติม แต่ตนจำไม่ได้ว่าสอบปากคำใครเพิ่มบ้าง เพราะตนไม่ได้เป็นผู้สรุปสำนวนเนื่องจากเดินทางไปอบรมที่กรุงเทพ โดยผู้ที่สรุปสำนวนแรกคือ พ.ต.ท.สวัสดิ์ หล้ากาศ ทั้งนี้ในชั้นสืบสวน จำเลยไม่ได้อ้างนายเพชรวรรตเป็นพยาน
ทนายวัฒนา ทนายจำเลย ถามค้าน
 
พ.ต.ท. สมัย เบิกความตอบทนายว่า พยานทำคดีเกี่ยวกับความไม่สงบอีกหลายคดี ในช่วงเดือนเมษายน 2552 มีการชุมนุมทางการเมืองหลายครั้ง ทั้งในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดอื่นๆ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2552 ก็มีชุมนุมที่ประตูท่าแพ เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมหลายคดีแล้ว
 
ทนายซักพยานถึงการชุมนุมที่ศาลากลาง จังหวัดลำพูน พ.ต.ท. สมัยกล่าวว่าไม่ทราบรายละเอียดของการชุมนุม ได้ยินแต่มีคนบอกว่าคนที่เชียงใหม่นัดให้ไปรวมตัวกัน พ.ต.ท. สมัยรับว่า ทราบว่ามีการชุมนุมที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ในวันที่12 เมษายน 2552 หลังจากนั้นมีการย้ายไปชุมนุมที่หน้าศาลากลางจังหวัดลำพูน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับจำเลย ที่ได้ยินผู้ชุมนุมบอกว่าทราบเรื่องการชุมนุมจากจำเลยนั้น พยานไม่ได้เป็นผู้สอบปากคำผู้ชุมนุมด้วยตนเองเพราะติดอบรมที่กรุงเทพ แต่ทางตำรวจลำพูนเป็นคนสอบ
 
ทนายถามพ.ต.ท. สมัยว่า ทราบหรือไม่ว่าผู้ชุมนุมมารวมตัวที่ดอยติประมาณ15.00 น. พ.ต.ท. สมัยตอบว่า ไม่แน่ใจ ทนายให้พ.ต.ท.สมัยดูเอกสารการถอดเทปและถามว่า เมื่อด.ต.สุรศักดิ์ ถอดเทปเสร็จก็ส่งให้พนักงานสอบสวนที่เชียงใหม่ใช่หรือไม่ พ.ต.ท. สมัยรับว่า ใช่ ทนายถามถึงเวลาและข้อความที่จำเลยพูด พ.ต.ท. สมัยตอบว่า ได้ยินจำเลยพูดว่า "ไม่ต้องมาที่ศาลากลางแล้ว ไปลำพูนแล้ว" ส่วนเวลาที่มีเสียงของจำเลยนั้น ในเอกสารถอดเทประบุว่าพูดเวลา9.21 – 9.23 น. นอกจากนี้นายจักรพันธ์ยังได้พูดอีกช่วงหนึ่งด้วย โดยรวมเวลาทั้งหมดประมาณ10นาที
 
ทนายถามพ.ต.ท. สมัยว่า ทราบหรือไม่ว่าระหว่างที่จำเลยกำลังออกอากาศ มีการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่แล้ว และต่อมาจึงมีการเคลื่อนขบวนไปที่ดอยติ พ.ต.ท.สมัยรับว่า ทราบเรื่องการชุมนุมที่ศาลากลาง แต่เรื่องการเคลื่อนขบวนไม่แน่ใจว่าเคลื่อนตอนไหน สำหรับแผ่นซีดีที่มีเสียงของจำเลย พยานไม่ได้ฟัง ได้แต่อ่านข้อความที่ถอดเทปแล้วเท่านั้น
 
ทนายถามว่า ที่นายจักรพันธ์ให้การว่า พูดตามที่นายเพชรวรรต ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสถานีวิทยุบอกให้พูดนั้น ได้สอบสวนหรือแจ้งข้อหานายเพชรวรรตด้วยหรือไม่ พ.ต.ท. สมัยกล่าวว่า ไม่ได้เรียกมาสอบและไม่ได้แจ้งข้อหา ถึงตรงนี้อัยการแทรกขึ้นมาว่าไม่มีการเรียกตัวมาสอบเพราะจำเลยไม่ได้อ้างนายเพชรวรรตเป็นพยาน
 
อัยการไม่ถามติง
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สิบห้า พ.ต.ท. สวัสดิ์ หล้ากาศ สวญ. นาหวาย อ.เชียงดาว 
เริ่มการสืบพยานเวลา 11.20 น. 
 
พ.ต.ท. สวัสดิ์ เบิกความว่า เป็นผู้ร่วมสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานในคดีนี้ ขณะนั้นเป็นรองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่ เมื่อเดือน เมษายน พ.ศ.2552 มีการชุมนุมของกลุ่มคนรักเชียงใหม่51 และระดมคนมาที่สถานีวิทยุ 92.5 Mhzโรงแรมวโรรสแกรนด์พาเลซ ต่อมาวันที่10 เมษายน มีการชุมนุมที่ประตูท่าแพ และจุดอื่นๆ เช่น ดอนจั่น สารภี ส่วนที่จังหวัดลำพูนก็มีที่ดอยติ โดยกลุ่มคนรักเชียงใหม่51 เป็นกลุ่มคนเสื้อแดงที่ต่อต้านรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์
 
พ.ต.ท. สวัสดิ์ เบิกความต่อไปว่า ผู้ชุมนุมนัดกันมาชุมนุม เดินทางโดยรถสี่ล้อแดง และรถตุ๊กตุ๊ก มีการตั้งเวทีชั่วคราวที่ลานอเนกประสงค์ช่วงประตูท่าแพ ตั้งเตนท์ขวางถนนไม่ให้รถวิ่งผ่านบริเวณแยกดอยติด้วย ต่อมาภายหลังจึงดำเนินคดีกับผู้ัชุมนุม 
พยานกล่าวว่า พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ผู้บัญชาการภาคห้า มีคำสั่งเรียกประชุมเจ้าพนักงาน แปด จังหวัดภาคเหนือ โดยให้โรงพักในจังหวัดที่มีการปิดถนนดำเนินคดีกับกลุ่มคนเสื้อแดง และให้ดำเนินคดีกับกลุ่มแกนนำด้วย คดีท่าแพมีผู้ต้องหาทั้งหมด 11 คน มีดีเจหนึ่ง หรือ นายจักรพันธ์ จำเลยในคดีนี้รวมอยู่ด้วย หลังรับคำสั่ง ตนส่งเรื่องไปถึงผบ.ตร. เพราะคดีท่าแพเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง หลังจากนั้นจึงส่งอัยการแต่ต่อมาอัยการสั่งไม่ฟ้อง
พ.ต.ท. สวัสดิ์ กล่าวว่า ในส่วนของคดีนี้ ผบ.ภาคห้าเรียกประชุม ซึ่ง สวญ.สภ.เหมืองจี้ พ.ต.ท.ชัชวรินทร์ บุนนาค ระบุว่า คดีนี้เกิดเพราะดีเจคนหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ที่ประชุมจึงให้เจ้าพนักงานของจังหวัดเชียงใหม่เป็นผู้ดำเนินคดี มอบหมายให้ พ.ต.อ.ประหยัชว์ บุญศรี เข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดี มีการสอบพยานในท้องที่จังหวัดลำพูน โดยพยานส่วนมากเป็นตำรวจในท้องที่จังหวัดลำพูน เช่น พ.ต.ท.ชัชวรินทร์ บุนนาค พ.ต.อ.พงษ์ศักดิ์ เชื้อสมบูรณ์
 
พ.ต.ท. สวัสดิ์ ตอบอัยการว่า จำเลยเกี่ยวข้องกับคดีนี้ในฐานะที่เป็นผู้จัดรายการวิทยุของคลื่น 92.5 Mhz ทางตำรวจประสานกับกสทช. หรือที่เรียกว่าศูนย์เฝ้าฟัง เพื่อฟังและบันทึกเทปรายการ จากการฟังพบว่า บางรายการมีเนื้อหาหมิ่นเหม่ต่อการละเมิดสถาบัน 
 
ศาลถามแทรกขึ้นว่า เป็น กสทช. หรือตำรวจที่บันทึกเสียง พ.ต.ท. สวัสดิ์ ตอบศาลว่า บันทึกทั้งคู่ โดยกสทช.บันทึกโดยต่อเนื่องแต่ตำรวจไม่ได้บันทึกโดยต่อเนื่อง 
 
พ.ต.ท. สวัสดิ์ เบิกความว่า ซีดีที่ใช้ในสำนวนได้มาจากฝ่ายความมั่นคง น่าจะเป็นฝ่ายภาคห้าที่ส่งไปที่สภ.เหมืองจี้ ก่อนที่จะย้อนกลับมาที่สภ.เชียงใหม่ในภายหลังเพื่อตรวจสอบซ้ำ
 
ศาลถามว่า กสทช. คือใคร พ.ต.ท. สวัสดิ์ตอบว่า “ศูนย์เฝ้าฟัง” เมื่อศาลถามว่า กสทช.ย่อมาจากอะไร พยานตอบว่า ไม่ทราบ ศาลตำหนิว่าพ.ต.ท. สวัสดิ์เป็นเจ้าหน้าที่แต่ทำไมไม่ทราบ
 พ.ต.ท. สวัสดิ์ เบิกความตอบอัยการต่อว่า หลังรับซีดีมา ตนก็นำมาฟังเปรียบเทียบกับซีดีที่กสทช.เป็นผู้บันทึก และพบว่ามีข้อความเดียวกันในเวลาตรงกัน มีการพูดเชิญชวนให้คนมาชุมนุมในที่ต่างๆ และมาปิดถนน ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ก็มีการปิดถนนที่อื่น เช่น ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิด้วย จึงรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขอหมายจับต่อไป
 
ทนายค้านว่า ที่อื่นไม่เกี่ยวกับคดีนี้ ศาลตอบว่า ไม่เป็นไร ถ้าข้อเท็จจริงไม่เข้าก็ไม่พิจารณาอยู่แล้ว
 
พ.ต.ท.สวัสดิ์ เบิกความต่อว่า การชุมนุมเริ่มต้นที่วัดพระสิงห์ โดยมีข้อสังเกตว่า เมื่อมีการเปิดเพลง "มีงานเข้า มีงานเข้า" จะมีการปิดถนน พ.ต.ท. สวัสดิ์เบิกความเกี่ยวกับการจับกุมจำเลยว่า หลังสอบปากคำพยานที่จังหวัดลำพูน มีการลงความเห็นว่าจำเลยน่าจะกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จึงขออนุมัติหมายจับและจับกุมจำเลยที่ร้านกาแฟในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2553 ซึ่งจำเลยให้การปฏิเสธ และขอให้การในชั้นศาล โดยระหว่างสอบปากคำมีทนายร่วมฟังด้วย ทั้งนี้ พ.ต.ท. สวัสดิ์รับว่าตนรู้จักนายจักรพันธ์จากการทำคดีท่าแพ แต่ไม่มีเหตุโกรธเคืองกัน
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
 
พ.ต.ท.สวัสดิ์ เบิกความตอบทนายว่า ในช่วงปีพ.ศ. 2552 มีการชุมนุมทางการเมืองทั้งที่เชียงใหม่และลำพูนหลายครั้ง นอกจากกลุ่มเสื้อแดงแล้วก็มีกลุ่มอื่นด้วย พ.ต.ท.สวัสดิ์รับว่า วิทยุ 92.5 Mhzเป็นวิทยุชุมชน การกระจายเสียงจึงน่าจะอยู่ในระยะ 5 กิโลเมตรตามระเบียบของกสทช. พ.ต.ท.สวัสดิ์รับว่านอกจากคลื่น 92.5 Mhz แล้ว วิทยุชุมชนอื่นๆ ทั้งของเสื้อเหลืองและเสื้อแดงต่างก็เรียกร้องให้คนมาชุมนุมเช่นกัน อย่างไรก็ดี หน้าที่ของตนคือการฟังคลื่น 92.5 Mhzเป็นหลัก โดยภาพรวมสถานีวิทยุอื่นอาจจะเรียกร้องให้คนออกไปชุมนุม แต่ในความรับผิดชอบของตน เคยฟังจาก 92.5 Mhz เท่านั้น
 
พ.ต.ท. สวัสดิ์ เบิกความว่า คดีท่าแพมีผู้ต้องหา 11 คน มีทั้งคนที่เป็นนักจัดรายการและเป็นเจ้าของสถานีวิทยุ บางคนเคยอยู่กับคลื่น 92.5 Mhz แต่ภายหลังย้ายไปคลื่นอื่น คนที่เป็นเจ้าของสถานีก็มี นายสิงห์คำ นันติ ซึ่งเป็นประธานสหกรณ์สี่ล้อแดง คนที่เป็นดีเจก็มี นายไพบุญ และนายมานะ ซึ่งตนจำสังกัดไม่ได้ รวมทั้งจำเลยด้วย ทนายจึงถามต่อว่า เพราะฉะนั้นมีการประกาศแจ้งออกอากาศกันทุกสถานี ไม่ใช่แค่จำเลยประกาศอยู่คนเดียวใช่หรือไม่ พ.ต.ท. สวัสดิ์รับว่าใช่ พร้อมรับว่า เป็นไปได้ที่คนที่มาชุมนุมจะไม่ได้ฟังจากการประกาศของจำเลยคนเดียว
 
ทนายถามย้ำว่า นอกจากวิทยุชุมชนของเสื้อแดงแล้ัว ก็มีของเสื้อเหลืองด้วย ถึงตรงนี้ศาลแย้งว่า บันทึกไว้แล้ว แต่ทนายตอบว่าไม่ได้ยินที่ศาลบันทึก
 
พ.ต.ท. สวัสดิ์ เบิกความต่อว่า เท่าที่ทราบ การชุมนุมที่อื่น จำเลยไม่ได้ประกาศเชิญชวน มีเฉพาะที่ดอยติเท่านั้น ทนายหันไปชี้แจงกับศาลว่า ช่วงเกิดเหตุมีประชาชนไปชุมนุมในสถานที่ใกล้ๆ กันแต่เป็นคนละท้องที่ ทนายถามย้ำว่า ตามเอกสารหมาย จ. 8 จำเลยกล่าวว่าให้ไปที่ดอยติที่เดียว ที่อื่นไม่ได้กล่าวถึงใช่หรือไม่ พ.ต.ท. สวัสดิ์รับว่าใช่ ทนายให้พ.ต.ท.สวัสดิ์อ่านเอกสารว่าตามบันทึกให้ไปชุมนุมเพื่ออะไร พ.ต.ท.สวัสดิ์อ่านว่า “ไปกดดันรัฐบาลชุดนี้ให้ลาออก ที่บริเวณดอยติ ลำพูน” และ “พี่น้องครับ ที่อยู่หน้าโรงแรม ใครจะไปดอยติ เชิญชวนเลยนะครับ ที่ศาลากลางจะหมดแล้ว” พ.ต.ท. สวัสดิ์เบิกความต่อไปว่าคำพูดข้างต้นพูดออกมาในช่วง9.21 น.-9.23น. ซึ่งจำเลยพูดเพียงเท่านี้ 
ทนายถามต่อว่า ตอนที่จำเลยพูด มีประชาชนชุมนุมอยู่ที่ศาลากลาง แต่ที่ดอยติยังไม่มี แล้วพ.ต.ท.สวัสดิ์ทราบว่าที่ศาลากลางลำพูนมีผู้ชุมนุมหรือไม่ พ.ต.ท. สวัสดิ์รับว่าทราบว่ามี จากลำดับเหตุการณ์ในปจ.19 ทนายจึงอ่านว่า ตามเอกสารดังกล่าว วันที่ 12เมษายน 2552 เวลา10.50 น. คนเสื้อแดงชุมนุมที่ศาลากลางจังหวัดลำพูน เวลา15.20 น. เสื้อแดงลำพูนจึงย้ายไปที่ดอยติ 16.30น. นายเพชรวรรต วัฒนพงษ์ศิริกุลไปที่ดอยติ ฉะนั้นตามที่นายจักรพันธ์ประกาศในตอนเช้า จึงไม่มีใครเดินทางไปตามประกาศ 
 
ศาลแทรกขึ้นว่า พ.ต.ท.สวัสดิ์ไม่เห็นเหตุการณ์ เป็นแค่เพียงความเห็น ทนายจึงตอบว่า คนทำเอกสารไม่ได้เป็นพนักงานสอบสวน และอัยการไม่ได้นำสืบ จึงจำเป็นต้องถามพยานปากนี้ ศาลอนุญาต พ.ต.ท. สวัสดิ์ กล่าวขึ้นมาว่า ทหารเป็นคนทำเอกสารดังกล่าว ทนายขอให้พ.ต.ท.สวัสดิ์ยืนยันว่า พ.ต.ท.ชัชวรินทร์ เป็นผู้ส่งเอกสาร ปจ.19 มา ศาลจึงบอกว่าจะบันทึกว่า ทนายให้พยานดูเอกสาร ปจ.19 แล้ว ให้พยานรับว่ามีข้อความระบุเหตุการณ์การชุมนุม 12 เมษายน 2552 ตามที่มีการย้ายสถานที่ชุมนุมไปที่แยกดอยติเมื่อเวลา 15.30 น.
 
พ.ต.ท.สวัสดิ์ เบิกความรับว่า ตามเอกสาร ปจ.19 หน้า13 เวลา16.30น. ระบุว่า "คนที่นำประชาชนไปจากเชียงใหม่คือนายเพชรวรรต” ไม่ใช่จำเลย เมื่อทนายถามถึงคดีการชุมนุมที่ดอยติว่ามีการแจ้งความหรืออัยการสั่งไม่ฟ้อง พ.ต.ท. สวัสดิ์ตอบว่าตนไม่ทราบ
 
ตอบอัยการถามติง
 
พ.ต.ท.สวัสดิ์ เบิกความตอบอัยการว่า ข้อความที่ประกาศในคดีท่าแพ (เอกสารล.1) และคดีดอยติ ต่างกันตรงที่คดีท่าแพเกิดในวันที่ 10เมษายน แต่คดีดอยติ เกิดวันที่ 12 เมษายน เป็นคนละเหตุการณ์กัน โดยมีการบันทึกและถอดเทปคำพูดของคนจัดรายการเฉกเช่นคดีนี้
 
การสืบพยานปาก พ.ต.ท. สวัสดิ์ หล้ากาศ เสร็จสิ้นเวลา 12.20 
 
สืบพยานปากที่สิบหก พ.ต.ท. ไกรศรี จุฬพรรค์ พนักงานสอบสวน สภ.สันทราย
ศาลขึ้นบัลลังก์เวลา 14.00 น. การสืบพยานเริ่มในเวลา 14.30 น.
พ.ต.ท. ไกรศรี จุฬฬรรค์ เบิกความว่า เกี่ยวข้องกับคดีนี้ในฐานะผู้สืบสวนติดตาม เมื่อเดือนมีนาคม 2552 ได้รับคำสั่งให้สืบสวนพฤติกรรมของกลุ่มคนรักเชียงใหม่51 ที่เปิดสถานีวิทยุ 92.5 Mhzสถานีตั้งอยู่ที่ โรงแรมวโรรสแกรนด์พาเลซ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2551 เริ่มมีความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างกลุ่มคนเสื้อแดงกับกลุ่มคนเสื้อเหลือง
 
พ.ต.ท. ไกรศรี เบิกความต่อว่า ทราบจาก ด.ต.เมธี พรหมปัญญา ว่า สถานีวิทยุ 92.5 Mhz เปิดมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ในเดือนเมษายน พ.ศ.2552 เริ่มมีความรุนแรงมากขึ้นล้อกับสถานการณ์การชุมนุมที่กรุงเทพฯ จึงมีการใช้สถานีนี้เรียกมวลชนเข้าร่วมชุมนุม ในวันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2552 มีการเรียกมวลชนไปชุมนุมที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่นั้นมา ตนจึงฟังการกระจายเสียงของคลื่น 92.5 Mhz เป็นพิเศษ
 
พ.ต.ท. ไกรศรี เบิกความเล่าลำดับเหตุการณ์การชุมนุมว่า วันที่ 10 เมษายน พ.ศ.2552 สถานีวิทยุเรียกมวลชนมาชุมนุม ที่บริเวณลานเอนกประสงค์ท่าแพ สภ.เมืองเชียงใหม่ ต่อมาวันที่ 11 เมษายน พ.ศ.2552เรียกมวลชนมาชุมนุมอีกครั้ง ที่บริเวณแยกดอนจั่นวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2552เรียกมวลชนมาชุมนุมที่บริเวณสามแยกดอยติ และวันที่ 14 เมษายน พ.ศ.2552 เรียกมวลชนไปชุมนุมที่กรุงเทพ
 
พ.ต.ท. ไกรศรี เบิกความว่า จำเลยเป็นนักจัดรายการวิทยุ ใช้ชื่อในการจัดรายการว่า “ดีเจหนึ่ง” ซึ่งอยู่ในห้องนี้ด้วย (พยานชี้ตัวจำเลย) โดย ด.ต.เมธี พรหมปัญญา ทราบว่าจำเลยเป็นใคร (อัยการอ้างถึงเอกสารหมาย จ.7) พ.ต.ท. ไกรศรี เบิกความว่า ตนได้ส่งเอกสารหมาย จ.7 ให้พนักงานสอบสวนที่ลำพูน สภ.เหมืองจี้ ที่สามแยกดอยติ ที่เกิดเหตุคดีนี้ 
 
ตอบทนายวัฒนาถามค้าน
 
พ.ต.ท. ไกรศรี เบิกความตอบทนายว่า นอกจากสถานี 92.5 Mhzแล้ว ก็มีสถานีวิทยุชุมชนเสื้อแดงอื่นอีกแต่คลื่น 92.5 Mhzเป็นคลื่นที่อยู่ในท้องที่ของตน คลื่นอื่นจะประกาศเชิญชวนคนหรือไม่ อยู่ในความรับผิดชอบขอสภ.อื่น ตนไม่ทราบ
เมื่อทนายถามถึงความรู้เกี่ยวกับระยะการกระจายเสียงของวิทยุชุมชน พยานเบิกความว่า ไม่ทราบแต่คิดว่าคงไม่กี่กิโลเมตร ขึ้นอยู่กับกฎหมายกำหนด ซึ่งไม่น่าจะถึงลำพูน ส่วนจะถึงอ.สารภีไหม ไม่แน่ใจ
 
พ.ต.ท. ไกรศรี เบิกความว่า วันที่12เมษายน พ.ศ. 2552 จะมีการชุมนุมที่ศาลากลางก่อนการชุมนุมที่ดอยติหรือไม่ ไม่แน่ใจ เพราะอยู่นอกท้องที่รับผิดชอบ แต่น่าจะมี ทนายให้ดูเอกสาร จ.7 ซึ่งเป็นบันทึกรายงานของ พ.ต.ท.ไกรศรี จุฬพรรค์ (ตัวพยานเอง) หน้าสุดท้ายข้อห้า "…12 เมษายน 2552 มีการชุมนุมที่ศาลากลางเชียงใหม่ และเดินทางไปดอยติ..” พยานรับว่าเอกสารเป็นเช่นนั้น ทนายกล่าวต่อไปว่า ตามเอกสารที่เขียนว่า กลุ่มรักเชียงใหม่ 51เดินทางไปที่ไหน เป็นการทำรายงานของตัวพยาน ส่วนคนจัดรายการจะพูดว่าอะไร พยานไม่ทราบ พ.ต.ท.ไกรศรีตอบว่า ด.ต.เป็นผู้ถอดเทป เนื้อหาที่พูดเป็นอย่างไร ตนไม่ทราบ 
พ.ต.ท.ไกรศรี เบิกความว่า การเดินทางจากเชียงใหม่ไปดอยติจะใช้เวลาประมาณ40นาที ถ้ารถไม่ติด
 
ทนายถามพ.ต.ท.ไกรศรีว่า การชุมนุมที่คลื่น92 Mhz ชวนคนไปไม่มีความรุนแรงใช่หรือไม่ พ.ต.ท.ไกรศรีรับว่า ใช่พร้อมกับรับว่า เหตุผลที่คนเสื้อแดงชุมนุม เพราะต้องการให้นายอภิสิทธิ์ลาออกจากตำแหน่งเพราะได้ตำแหน่งมาโดยไม่ชอบ โดยที่การชุมนุมเรียกร้องเป็นการแสดงออกซึ่งความไม่พอใจ โดยที่ผู้ชุมนุมก็ไม่ได้ไปปิดล้อมสถานที่หรือไปจุดไฟเผาสิ่งใด
 
อัยการไม่ถามติง 
 
เสร็จสิ้นการสืบพยานปาก พ.ต.ท. ไกรศรี จุฬพรรค์ เวลา 15.30น.
อัยการขอให้ทนายจำเลยรับข้อเท็จจริงตามบันทึกปากคำของ พ.ต.อ.ประหยัชว์ บุญศรี ซึ่งเป็นหัวหน้าสอบสวน และของ พ.ต.ท.สวัสดิ์ หล้ากาศ ทนายจำเลยขอรับแค่ว่า ข้อเท็จจริงมีว่า มีการดำเนินการสอบสวนจริง
 
ทนายจำเลยยื่นเอกสารตามบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม ศาลรับไว้เป็นเอกสารหมาย ล.1-3 คือเอกสารคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ เลขอ้างอิง 690/52 และ 94/52 กรณีชุมนุมปิดดอยติและท่าแพ อัยการดูแล้วแถลงรับข้อเท็จจริง
 
ศาลอ่านคำให้การ พ.ต.ท.ไกรศรี และอ่านรายงานกระบวนพิจารณาคดีที่บันทึกแยกกันของทั้งช่วงเช้า-บ่าย พร้อมทั้งเน้นย้ำให้คู่ความตรงต่อเวลาในวันถัดไป
 
13 มิถุนายน 2556 ณ ศาลจังหวัดเชียงใหม่
ศาลขึ้นบัลลังก์เวลา 9.30 น. ทนายจำเลยมา 2 คน คือทนายวัฒนา เจนนภา และทนายสุทัน ทายดี
 
ทนายขอยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม เป็นพยานผู้เชี่ยวชาญ คือ นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ ศาลขอให้แนบคำร้องมาด้วยอ้างเหตุพิเศษว่าเหตุใดจึงเพิ่งจะตามตัวพยานมาได้ ศาลว่าอยากฟัง อ.นิธิ เหมือนกัน
 
ศาลไต่สวนมูลฟ้องคดีอื่นก่อน อัยการมาถึงเวลา 10.30 น. เริ่มสืบพยานจำเลยปากที่ 1 เวลา 10.40น.
 
สืบพยานจำเลยปากที่ 1 นายจักรพันธ์ บริรักษ์ จำเลย
นายจักรพันธ์ บริรักษ์ จำเลย อายุ 44 ปี อาชีพนักจัดรายการวิทยุ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ด้านภูมิทัศน์ (Landscape) เทคโนโลยีการเกษตรบัณฑิต เมื่อปี 2534 เคยประกอบอาชีพเป็นพนักงานบริษัทออกแบบจัดสวนที่กรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2548 ลาออกมารับเหมาจัดสวนเป็นธุรกิจส่วนตัว ต่อมาเกิดเหตุไม่สงบทางการเมือง และรัฐประหารปีพ.ศ. 2549 ทำให้กิจการขาดทุน งานส่วนใหญ่หากินกับคนมีรายได้ เมื่อเศรษฐกิจไม่ดีคนจึงไม่จ้างจึงมาเปิดท้ายขายของในตลาดนัดในเชียงใหม่ในเวลาเย็น 
 
นายจักรพันธ์เบิกความว่า เวลากลางวัน จะติดตามข่าวสารบ้านเมือง เพราะกระทบอาชีพโดยตรง เห็นว่าการเลือกจะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์ แต่พอมีการรัฐประหารทำให้รัฐบาลที่เลือกเข้าไปได้ถูกโค่นล้ม จากนั้นมีการจัดตั้งรัฐบาลของคณะรัฐประหาร ในฐานะประชาชนตัวเล็กตัวน้อยไม่มีสิทธิแสดงออกถึงความไม่พอใจ 
 
ต่อมาทราบว่าโรงแรมวโรรสแกรนด์พาเลซเป็นที่ตั้งของสถานีวิทยุ 92.5Mhz จึงไปเพื่อพบปะพูดคุยกับคนที่เห็นด้วยกันเรื่องนี้ ซึ่งเป็นคนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองเช่นเดียวกัน
 
ศาลถามว่า รู้อยู่แล้วหรือว่าเป็นชุมชนอะไร จำเลยเบิกความว่ารู้จักเพราะมีการพูดกันแบบปากต่อปาก สถานที่ดังกล่าวอยู่หลังวัดพระสิงห์ ประชาชนจะจับกลุ่มพูดคุยกัน ระบายความคับข้องใจ รอการเลือกตั้งครั้งใหม่ ประชาชนทำอะไรไม่ได้
 
พยานเบิกความว่า ต่อมาปีพ.ศ. 2550 เลือกตั้ง ส.ส.ทั่วประเทศ พรรคพลังประชาชนชนะได้นายกรัฐมนตรีเป็นนายสมัคร สุนทรเวช คิดว่าเหตุการณ์จะสงบแล้ว แต่ปรากฏว่านายสมัครถูกถอดถอนจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยข้อหาออกรายการทำกับข้าวทางทีวี ทำให้ประชาชนรู้สึกไม่พอใจอย่างยิ่ง กดดัน ไม่มีที่ระบายออก แต่เสียงประชาชนไม่ได้ออกตามสื่อกระแสหลัก ทำได้เพียงเก็บความไม่พอใจไว้แล้วพูดคุยกัน หลังจากนั้นมีการโหวตนายสมชาย วงษ์สวัสดิ์เป็นนายกรัฐมนตรี ก็คิดว่าความวุ่นวายน่าจะยุติ คงจะสงบแล้ว กลับมาทำมาหากินต่อไป แต่ปรากฏว่ามีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยการชุมนุม เข้าใจว่าเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่ก็ขยับเข้าไปยึดทำเนียบรัฐบาล แล้วขับไปถึงการปิดสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ รวมถึงสนามบินดอนเมือง ซึ่งพยานเห็นว่าเป็นการใช้สิทธิเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้
เหตุผลที่มีมวลชนไปปิดสนามบิน เพื่อไม่ให้นายกฯ สมชายกลับเข้าประเทศ ต้องการให้ลาออกและยุบสภา ขณะนั้นนายกฯ สมชายไปประชุมอยู่ประเทศเปรู จะกลับประเทศไทยแต่กลับไม่ได้ จึงเลี่ยงมาลงที่สนามบินเชียงใหม่ มีข่าวแถลงว่า กลุ่มพันธมิตรจะขึ้นมาปิดที่เชียงใหม่ด้วย มีข่าวออกทางสถานีวิทยุวิหคเรดิโอว่าจะระดมพลไปปิดสนามบินเชียงใหม่ มีการออกข่าวระดมผู้คนด้วย
 
ด้านวิทยุ 92.5 Mhz ก็กระจายเสียงระดมประชาชนไปอารักขาให้นายกรัฐมนตรีลงเครื่องได้ จึงเริ่มออกมาชุมนุมเป็นครั้งแรกในเชียงใหม่ที่ไปชุมนุมหน้าสนามบิน ต่อต้านการปิดสนามบิน สุดท้ายกลุ่มพันธมิตรฯ ไม่ได้ออกมา นายกฯ สมชายลงเครื่องได้ ขณะนั้นข้าพเจ้ายังไม่ได้เป็นนักจัดรายการ ก็ได้ไปที่สนามบินด้วย
จำเลยเบิกความว่า เหตุการณ์ครั้งนั้น เป็นการชุมนุมครั้งแรก ใช้ชื่อกลุ่มว่า กลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ใช้สัญลักษณ์ใส่เสื้อสีแดง จำเลยซื้อเสื้อสีแดงตัวแรกในวันนั้น ต่อมาทางกลุ่มและสื่อมวลชนเรียกว่า กลุ่มเสื้อแดง เป็นการรวมตัวครั้งแรก
 
จำเลยเบิกความตอบทนายว่า จำเลยเริ่มเกี่ยวข้องกับสถานี เมื่อมีเวลาของสถานีที่ยังว่างอยู่ ดีเจอ้อม กัญญาภัค มณีจักร์ เคยมาพูดคุยกันบ่อยจึงให้ลองจัดรายการ เริ่มช่วงหลังปิดสนามบิน โดยจัดช่วงเวลาเที่ยงวันถึงบ่ายสอง ทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ สถานีนี้มีนายเพชรวรรต วัฒนพงศ์ศิริกุลเป็นเจ้าของสถานีวิทยุ และเป็นเจ้าของโรงแรมด้วย โดยสถานีนี้มีดีเจอยู่ประมาณ 7 – 8 คน ออกอากาศ 6 – 24 น.
 
รายการของพยาน จะเน้นเอาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตและบทความของนักวิชาการมาอ่านเป็นภาษาพื้นเมือง บทความที่คัดเลือกมักเป็นทางด้านการเมือง และเปิดเพลงสากลยุคปี 60-70 มีการเปิดสายหน้าไมค์ประมาณครึ่งชั่วโมงในประเด็นที่ดีเจกำหนดในแต่ละวัน 
 
ในการจัดรายการ หนึ่งอาทิตย์มีผู้สนับสนุนรายการรายละ 2,000 บาท จำเลยไม่ต้องจัดสรรค่าตอบแทนให้กับสถานี เพราะสถานีให้ช่วยจัดเอง และจำเลยก็ไม่ได้รับค่าตอบแทนจากสถานี เมื่อมีผู้สนับสนุนหลายราย จากนั้นก็เลิกเปิดท้ายขายของ
 
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มเสื้อแดงกลุ่มอื่นๆ ในเชียงใหม่ ราว 3-4 กลุ่ม ได้แก่ สถานีวิทยุ 105.50Mhz ตำบลแม่เหียะ สถานีวิทยุ 89.5Mhz อยู่ที่คอนโดอังเกต หนองป่าครั่ง สถานีรถไฟ หรือเรียกว่า “กลุ่มแดงรถไฟ” สถานี 99.0Mhz อยู่ที่หนองหอย ที่เหลือจะเป็นต่างอำเภอ อาทิ สันกำแพง ดอยสะเก็ด สันป่าตอง 
ในการนัดประชาชนไปชุมนุม ทุกสถานีมีการเคลื่อนไหวอยู่แล้ว เช่น เปิดเพลง “มีงานเข้า” ก็จะเข้ามากัน นัดกันว่าจะไปที่ไหนอย่างไร
 
จำเลยเบิกความว่า หลังจากเป็นดีเจแล้วไม่เคยออกไปร่วมชุมนุม ไม่เคยขึ้นเวทีปราศรัย อยู่แต่ที่สถานีอย่างเดียว
 
ช่วงเกิดเหตุเดือนเมษายน 2552 มีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในเดือนเมษายน 2552 คือ 1) ให้ดำเนินคดีปิดสนามบินและปิดทำเนียบรัฐบาล 2) ปลดกษิต ภิรมย์ ที่เป็นแกนนำพันธมิตรปิดสนามบินคดีก่อการร้าย ออกจากรัฐมนตรี 3) ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ปี 2550 แล้วนำของปี 2540 กลับมาใช้ 4) ให้นายอภิสิทธิ์ลาออก เป็นข้อเสนอของคนเสื้อแดงเชียงใหม่ที่เดินทางเข้ากรุงเทพในวันที่ 7 เมษายน 2552
 
ศาลถามว่า ใครเป็นคนคิดข้อเรียกร้อง ศาลปะติดปะต่อเหตุการณ์ไม่ได้ จำเลยเบิกความว่า เมื่อรัฐบาลนายสมชาย พรรคพลังประชาชนถูกยุบ ล้อกันกับเหตุรัฐประหารที่ส่งผลให้ยุบพรรคไทยรักไทยและตัดสิทธิการเมือง 5ปี จึงเห็นว่ารัฐบาลประชาธิปัตย์เข้ามาโดยมิชอบ ไม่ได้แถลงนโยบายที่รัฐสภา ขัดรัฐธรรมนูญ เป็นการตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร นายอภิสิทธิ์ไม่ได้เกณฑ์ทหาร ขาดคุณสมบัติ หนีทหาร
 
ศาลท้วงว่า ใจเย็นๆ ให้รอศาลบันทึกพร้อมแซวว่า พอเครื่องติดแล้วไม่รอศาลเลย (หัวเราะกันทั้งห้อง)
 
จำเลยเบิกความต่อว่า ต่อมายังมีการแต่งตั้งนายกษิต ภิรมย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศด้วย ทั้งๆ ที่เป็นแกนนำพันธมิตรยึดสนามบิน มีคดีก่อการร้าย
 
ทนายความถามว่า เมื่อคราวยุบพรรคพลังประชาชน คนเชียงใหม่รู้สึกอย่างไร จำเลยเบิกความว่า ความรู้สึกสะสมมาตั้งแต่ปี 2548 ที่มีการถ่ายทอดสดการวินิจฉัยคดียุบพรรคผ่านจอโปรเจคเตอร์ ประชาชนมานั่งฟังรวมกันและให้ความสนใจกับการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ ตอนยุบพรรค ประชาชนร้องไห้ ประชาชนอึดอัดกดดัน รู้สึกถูกแย่งสิทธิไป รู้สึกว่าทำไมไม่ให้เวลาทำงานก่อน ทำไมไม่ปลดในวิถีประชาธิปไตย และมีความเข้าใจ การยุบพรรคเป็นผลจากการรัฐประหารปี 2549 จึงต้องการแสดงออกให้ผู้มีอำนาจเห็น แต่ทำได้แค่เพียงชุมนุม 
 
ศาลกล่าวว่า ศาลยังเชื่อมโยงไม่ได้ ศาลต้องว่างเปล่าจากการรับรู้ ขอให้อธิบายเพิ่ม
 
ทนายถามว่า ทำไมชาวบ้านถึงไปชุมนุม จำเลยเบิกความว่า เหตุการณ์การเมืองมีผลกระทบทั่วประเทศ มีเสื้อแดงทั่วประเทศ ที่กรุงเทพฯ มีกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. มีสื่อใหญ่อย่างดีสเตชั่นซึ่งเป็นทีวีดาวเทียม แจ้งข่าวการเคลื่อนไหว จังหวัดอื่นๆ ก็มีคล้ายเชียงใหม่ ทางสถานีเห็นพ้องก่อน แล้วจึงประกาศว่า จะเดินทางไปชุมนุมที่กรุงเทพ คนที่เห็นพ้องก็ไป คนที่ไม่เห็นพ้องก็ไม่ไป
 
ศาลถามว่า แสดงว่าฟังแล้วเห็นว่าข้อเสนอให้ระดมพลรวมตัวคนเสื้อแดงทั่วประเทศเพื่อกดดันรัฐบาลอภิสิทธิ์ของนปช. ถูกต้อง ท่านก็เลยเห็นพ้องด้วย ก็เลยไป ใช่หรือไม่ จำเลยเบิกความว่า ใช่ 
 
ทนายถามว่า ที่ว่าสถานีพิจารณาเห็นพ้องก่อน หมายความว่าอย่างไร จำเลยอธิบายว่า นโยบายสถานีคิดเห็นไปในทางเดียวกัน ตามที่นายเพชรวรรตเจ้าของสถานีตัดสินใจ
ทนายถามว่า ปกติชาวบ้านดูช่องดีสเตชั่นแล้วเห็นด้วยไหม จำเลยตอบว่า เห็นด้วย ชาวบ้านพูดตลอดเวลา มีความเห็นหลากหลาย รุนแรง ทำให้ทางสถานีต้องค่อยๆ บอกว่า ใจเย็นๆ 
 
ทางสถานีตามช่วงปกติจะมีผังรายการ การชุมนุมเริ่มจากเดือนมีนาคม วันที่ 24 จะให้เหตุผลทางวิชาการ ส่วนวันที่ 8 เมษายน ไม่มีผังรายการแล้ว เพราะย้ายห้องส่งออกมาหน้าโรงแรม มีการระดมสิ่งของอาหาร ย้ายอุปกรณ์มาตั้งหน้าโรงแรม กลุ่มคนเสื้อแดงติดตามดีสเตชั่นทำให้ทราบข้อเรียกร้องดังกล่าวอยู่แล้ว
จำเลยเบิกความว่า นายเพชรวรรต เจ้าของสถานี เป็นคนสั่งให้ออกมาตั้งรายการที่หน้าโรงแรมและรับบริจาค โดยจะมีผู้ประกาศคอยประกาศว่า ใครบริจาคเท่าใด และใครจะไปชุมนุมที่กรุงเทพฯ ก็มาลงชื่อแสดงความประสงค์ ส่วนคนที่ไม่ไปก็มาร่วมกันทำอาหารเลี้ยง ตัวจำเลยเองไม่ถนัดที่จะพูดแบบนี้ เพราะไม่ถนัดพูดสด ประชาชนส่วนใหญ่ไม่รู้จักว่าจำเลยหน้าตาเป็นอย่างไรเพราะไม่เคยออกที่สาธารณะ ช่วงต้นเดือนเมษายน รถคันแรกออกไปกรุงเทพในคืนวันที่ 7 เมษายน ส่วนเวทีหน้าโรงแรมเปิดตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนคนที่ไม่ได้ไปกรุงเทพฯ ก็ชุมนุมกันอยู่ในตัวจังหวัดในช่วงวันที่ 7-8 เมษายน 2552
 
ในวันที่ 12 เมษายน มีชุมนุมที่ศาลากลาง ที่แยกดอนจั่น หน้าโรงเรียนซินเซิง หน้าโรงแรมวโรรสแกรนด์พาเลซต่อเนื่องทุกวัน ซึ่งทางสถานีก็ตั้งโต๊ะที่หน้าโรงแรมและออกอากาศเรื่องการรับบริจาค และสลับกับการออกอากาศเวทีปราศรัย จำเลยพูดออกอากาศช่วง 9 โมงเช้า
 
การสืบพยานภาคบ่าย ศาลขึ้นบัลลังก์เวลาประมาณ 14.00 น.
นายจักรพันธ์เบิกความต่อว่า วันที่ 12 เมษายน 2552 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่มีการชุมนุมที่กรุงเทพฯ ตนมาช่วยเหลือด้านการรับบริจาคสิ่งของที่หน้าโรงแรม ช่วยสลับสับเปลี่ยน ไม่ค่อยได้พูดออกอากาศ เพราะมีคนที่ถนัดพูดสดๆ เยอะอยู่แล้ว วันดังกล่าวมีคนมาเยอะ มีรับสิ่งของบริจาค มีคนประกาศอ่านชื่อ มีคนรับจดโน้ต มีคนมากระซิบข้างหู มีคนเดินขวักไขว่ไปมาล้อมหน้าล้อมหลัง ไม่เหมือนจัดรายการในห้องส่ง ตนมาถึงตั้งแต่ 8 โมงเช้า มานั่งจัดรายการถึงประมาณ 9 โมง
 
จำเลยเล่าว่า วันดังกล่าวมีคนส่งกระดาษให้อ่านออกอากาศ บางครั้งก็เดินมากระซิบ บอกให้แจ้งข่าวสาร ให้ไปตรงนั้นตรงนี้ ในการชุมนุม แจ้งย้ายสถานที่ วันนั้นตนว่าง เลยเข้าไปนั่งประกาศ จำได้ว่ามีคนบอกเป็นคำพูด ว่า ผอ.เพชร ให้ย้ายจากศาลากลางไปดอยติ จำไม่ได้ว่าเป็นใคร ตนจึงประกาศไปสั้นๆ จำไม่ได้ว่าประกาศไปอย่างไรบ้าง มาจำได้อีกทีตอนที่มีคนเอาเทปบันทึกเสียงมาให้ฟังเมื่อฟังแล้วก็จำได้ว่าเป็นเสียงตนเอง (ศาลบันทึกว่า ประกาศตามที่ได้รับแจ้งมาอีกทอดหนึ่ง) 
 
นายจักรพันธ์อธิบายว่า สาเหตุที่จำไม่ได้เพราะความวุ่นวายจึงจำไม่ได้ว่าเป็นใครมาแจ้ง จำไม่ได้ว่าใช้คำว่า ปิดถนน คิดว่าแค่ให้ย้ายไปดอยติ อาจจะเรียบเรียงคำไม่ถูก เจตนาจริงๆ เป็นการบอกให้ย้ายคนไปชุมนุมที่ดอยติ ไม่คิดว่าเป็นถ้อยคำรุนแรง แต่อาจจะเรียบเรียงไม่ถูก เพราะตนไม่ได้ไปอยู่ที่ดอยติด้วย ไม่ทราบวิธีการว่าเขาทำกันอย่างไร
 
ทนายความถามว่า มีเจตนาให้ประชาชนไปปิดกั้นการจราจรหรือไม่ นายจักรพันธ์ตอบว่า ไม่มี ไม่ได้พูดในลักษณะใช้อารมณ์ หรือไฮปาร์ค พูดน้ำเสียงปกติเหมือนการประกาศทั่วไป ไม่มีเจตนาให้ไปปิดกั้นกีดขวางการจราจร หลังจากพูดเรื่องนี้ก็ออกไปช่วยเรื่องการบริจาคของ ไปช่วยทำกิจกรรมอื่น มาทราบภายหลังว่ามีการไปปิดถนนดอยติเวลาประมาณ 15.00-16.00 น. แต่ตนไม่ได้ไปด้วย และไม่ทราบว่าคนที่ฟังรายการจะไปหรือไม่ ไม่ทราบว่าคนที่ไปชุมนุมจะมาจากเชียงใหม่หรือลำพูน ไม่ทราบวิธีการปิด และไม่ทราบว่าเลิกชุมนุมกี่โมง
 
นายจักรพันธ์เบิกความต่อว่า หลังเหตุการณ์เมษา 52 ตนก็ทำหน้าที่จัดรายการตามผังตลอด และไปเปิดร้านกาแฟในอาคารพาณิชย์ ในบริเวณโรงแรมมณีนาราคร จนกระทั่งถูกจับกุม ไม่เคยได้รับหมายเรียกในคดีนี้มาก่อนเลย ขณะที่มีอีกคดีหนึ่งที่ตนได้รับหมายเรียกและไปเข้ามอบตัวที่โรงพักกลางเมืองเองตามหมายเรียก 
 
ทนายความถามว่า เห็นอย่างไรกับการชุมนุมของคนเสื้อแดง นายจักรพันธ์ตอบว่า คนเสื้อแดงเป็นประชาชนของประเทศไทย เวลาประชาชนมีปัญหา ก็แสดงออกถึงความต้องการต่อผู้มีอำนาจบริหาร การชุมนุมเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้ผู้มีอำนาจเห็นว่ามีความเดือดร้อน ถ้าชุมนุมในที่ที่ไม่มีคนเห็นจะไปชุมนุมทำไม อาจจะไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทันที การชุมนุมเป็นการแสดงออกในสถานที่สาธารณะเพื่อให้เป็นที่พบเห็นโดยทั่วไป
 
นายจักรพันธ์เบิกความด้วยว่า การชุมนุมในวันที่ 12 เมษายน 2552 ไม่มีการใช้อาวุธ เป็นใช้สิทธิเรียกร้องตามรัฐธรรมนูญ ขณะที่ถ้าเป็นการชุมนุมที่ใช้กำลังประทุษร้ายตนเห็นว่าจะกระทำไม่ได้ การใช้อาวุธเป็นเรื่องสงคราม ไม่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามข้อเรียกร้องได้ ทำให้นายกลาออกไม่ได้ อีกทั้งทหารก็มีกำลังและความพร้อมมากกว่า
 
ตอบคำถามอัยการถามค้าน
 
นายจักรพันธ์เบิกความว่า เริ่มสนใจการเมืองตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ทราบดีว่าก่อนเกิดเหตุจนถึงวันเกิดเหตุมีความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างพรรคใหญ่ คือ พรรคประชาธิปัตย์ กับ พรรคพลังประชาชน ส่วนตัวไม่ได้มีอุดมการณ์ไปทางพรรคพลังประชาชนหรือเสื้อแดง และไม่มีสายสัมพันธ์กับเสื้อแดง สมัยอยู่กรุงเทพฯ ก็เลือกอภิรักษ์ (นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์) 
 
อัยการถามว่า ที่พยานได้มาเป็นดีเจ คลื่นเอฟเอ็ม 92.5 รู้หรือไม่ว่าเกี่ยวกับกลุ่มเสื้อแดง นายจักรพันธ์ตอบว่า ตนเป็นประชาชน ไม่สามารถจะเข้าไปนั่งในสภาได้ จึงต้องเลือกตัวแทน ซึ่งอาจจะเลือกประชาธิปัตย์เมื่อไหร่ก็ได้ ช่วงเกิดเหตุ ตนไม่พอใจการเข้ามาบริหารประเทศของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่เกี่ยวกับวิธีการบริหาร ที่ไปเรียกร้องคือ การเข้ามาไม่ถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตย
 
อัยการถามว่า พยานไม่พอใจการเข้ามาของพรรคประชาธิปัตย์ ตามความรู้สึกใช่หรือไม่ นายจักรพันธ์ตอบว่า ไม่รู้สึก ตนมีข้อมูล ไม่ถูกต้องตามความเข้าใจคือไม่ถูกต้อง อัยการถามว่าพยานอยากใช้สถานีวิทยุแสดงออกความเห็นคัดค้านใช่หรือไม่ นายจักรพันธ์ตอบว่า ใช่
 
นายจักรพันธ์ เบิกความว่า สถานีวิทยุเป็นของนายเพชรวรรต วัฒนพงศ์ศิริกุล ตั้งอยู่ที่โรงแรมวโรรส ซึ่งเป็นของเจ้าของเดียวกัน สถานีวิทยุตั้งอยู่ชั้น 4 โรงแรมมี 6 ชั้น การออกอากาศรายการช่วงเวลาปกติของตนจัดรายการคนเดียว ตั้งแต่ 12.00-14.00 วันจันทร์ถึงศุกร์ 
 
อัยการถามว่า ในการออกอากาศ พยานเป็นคนจัดการเตรียมเนื้อหาโดยต้องให้หัวหน้าดูหรือไม่ นายจักรพันธ์ตอบว่า หาข้อมูลด้วยตัวเอง แต่ก็มีคนฝากข่าวได้ เพราะเป็นเจ้าของรายการเอง อัยการถามว่าถึงแม้ นายเพชรวรรต เป็นเจ้าของก็สั่งไม่ได้ใช่หรือไม่ นายจักรพันธ์ตอบว่า บอกได้ ช่วงเวลาปกติก็บอก ตนเป็นเด็กกว่า เขาอยากให้พูดก็ประกาศให้ ที่ตนมีอิสระพอสมควรเพราะเขาไม่มีเวลามาดู 
 
อัยการถามว่า ช่วงที่มาจัดรายการจนปัจจุบัน ทราบว่า จุดศูนย์กลางของสถานีวิทยุเสื้อแดงอยู่ที่โรงแรมนี้ใช่หรือไม่ นายจักรพันธ์ตอบว่า ทราบ แต่ไม่ได้หมายถึงทั้งหมด เพราะกลุ่มเสื้อแดงมีหลายกลุ่ม กลุ่มรักเชียงใหม่ 51 เป็นจุดสำคัญจุดหนึ่ง อีกกลุ่มเป็น นปช.แดงเชียงใหม่ อยู่ที่อำเภอสันกำแพง มีคลื่นเอฟเอ็ม 107.25
 
นายจักรพันธ์ เล่าต่อว่า ก่อนเกิดเหตุ วันที่ 12 เมษายน 2552 รู้ว่ามีการชุมนุมเกิดขึ้นประปรายแล้ว แต่ไม่ได้ไป โดยทราบว่ามีการชุมนุมที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ศาลากลางจังหวัดลำพูน วงแหวนดอนจั่น กลุ่มคนเสื้อแดงไม่ใช่ว่าจะอยู่กรุงเทพฯ ทุกคน ขึ้นอยู่กับว่าแกนนำต่างจังหวัดจะเป็นคนสั่งการ คล้ายๆ ว่าให้ไปแสดงจุดยืน ในจุดสำคัญของจังหวัดต่างๆ เป็นลักษณะนัดแนะ ว่าให้ไปชุมนุมกันที่ใด
 
นายจักรพันธ์ เล่าว่า ธรรมชาติของมวลชน เวลาเปิดเพลง “มีงานเข้า” ก็ทิ้งงานหรือทิ้งหม้อข้าวหม้อแกงออกมาแล้ว ซึ่งบางทีรุนแรงพร้อมจะแสดงออกทางการเมือง แกนนำ หรือ ผู้ปราศรัยหรือ ผู้จัดรายการ ต่างหาก ที่จะคอยบอกให้ร้องเพลง คอยพูดปลอบโยนให้ใจเย็น บอกให้เบาๆ ลง
 
อัยการถามว่า วันเกิดเหตุ 12 เมษายน 2552 มีการย้ายห้องจัดรายการจากชั้นสี่ มาข้างล่าง ทั้งที่ปกติก่อนหน้าไม่ได้ทำอย่างนั้นใช่หรือไม่ นายจักรพันธ์ตอบว่า ย้ายมาตั้งแต่วันที่ 8 จนถึงวันที่ 14 เมษา คือวันที่เลิกชุมนุม มีดีเจพูดกันหลายคน เป็นการแจ้งข่าวสาร ทั้งนี้ นายจักรพันธ์ยังกล่าวด้วยว่า คนเสื้อแดงก็รู้ว่ามีสายสืบ เช่น ด.ต.เมธี ดังนั้นจะไม่ใช้สถานีในการปลุกระดม 
 
อัยการถามว่า คลื่นวิทยุครอบคลุมถึงไหน นายจักรพันธ์ตอบว่า ถึงอำเภอสารภี เคยขับรถไปไกลกว่านี้ก็ไม่ได้ยินแล้ว ศาลถามว่า อำเภอสารภีกว้าง ช่วยบอกหน่อยว่า ไปสารภีเส้นทางใด เพราะศาลสูงจะไม่ทราบ นายจักรพันธ์ตอบว่า เส้นทางถนนต้นยาง ตำบลอุโมงค์ มีคลื่น เอฟเอ็ม 92.5 ของท้องที่เข้ามาแทรกอีกสถานีหนึ่ง 
 
นายจักรพันธ์ ยืนยันว่า วันที่ 12 เมษายน 2552 ประมาณเก้าโมงเช้า ตนได้พูดเชิญชวนให้คนจากจุดศาลากลางไปยังแยกดอยติจริง การพูดนี้เป็นการตัดสินใจจากตัวพยานเอง ผอ.ไม่ได้สั่งให้พูด ซึ่งมีเจตนาต้องการเพียงให้ประชาชนไปร่วมชุมนุมเพื่อกดดันรัฐบาล ไม่มีคำว่า “ปิดถนน” ขณะที่พูด มีคนเสื้อแดงอยู่หน้าโรงแรม ประมาณประมาณ 30-40 คน หลังจากพูดออกอากาศเสร็จ ตนก็อยู่ที่โรงแรม มวลชนก็มาที่โรงแรมไม่ได้ไปดอยติ วันนั้นกลุ่มคนที่ไปที่สี่แยกดอยติมีจำนวนเท่าใดไม่ทราบ
 
ตอบทนายจำเลยถามติง
 
ทนายความถามว่า ที่พยานบอกว่า “ใช้ช่องทางคลื่น 92.5 Mhz ออกความเห็นทางการเมือง” คลื่น92.5 มีการใช้วิธีผิดกฎหมายไหม นายจักรพันธ์ตอบว่า ไม่มี ตนไม่เคยเป็นสมาชิกทั้งสองพรรค และความขัดแย้งทางการเมืองนั้นกระทบต่อตัวเองโดยตรง เพราะเราหวังว่าพรรคการเมืองจะมีนโยบายดีๆ ให้กับเรา ผลปรากฏว่ามีการรัฐประหาร บางคนอาจไม่ได้ค้าขาย เงินเดือนประจำไม่มี เหมือนปล้นเราโดยตรง 
 
เสร็จสิ้นการสืบพยานปากนี้เวลาประมาณ 14.50น.
 
สืบพยานจำเลยปากที่ 2 ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์
ศ.ดร.นิธิ เบิกความว่า ปัจจุบันอายุ 73 ปี เป็นข้าราชการบำนาญ ไม่เกี่ยวข้องกับจำเลย จบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา สาขาประวัติศาสตร์ เคยรับราชการที่คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภาควิชาประวัติศาสตร์ สนใจเรื่องสังคมการเมืองการปกครอง และเขียนบทความในมติชนสุดสัปดาห์และมติชนรายวัน ศึกษาเรื่องสิทธิพลเมือง เพราะเป็นประเด็นสำคัญในการวิเคราะห์การปกครองของโลกสมัยใหม่
ศ.ดร.นิธิ กล่าวว่า ในโลกสมัยใหม่ทุกระดับ การจำกัดสิทธิของระบอบที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยก็มีข้อจำกัดว่าทำได้มากน้อยเพียงใด เรื่องสิทธิในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญปี 2550 กำหนดว่า การชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ จะอ้างสิทธิโดยไปละเมิดกฎหมายไม่ได้ ในขณะที่รัฐธรรมนูญบอกว่าสิทธิมีอยู่ ต่อให้มีการละเมิดกฎหมาย สิทธิก็ยังมีอยู่ การละเมิดกฎหมายมีอยู่เกือบทุกแห่งบนโลก ปัญหาคือ กฎหมายที่เขาละเมิดเป็นกฎหมายที่จำเลยถูกฟ้องหรือเปล่า
 
ศาลกล่าวว่า อาจต้องขอให้อาจารย์พูดย้อนบ่อยสักหน่อย ถ้าความหมายไม่ตรง ขอความกรุณาทักท้วงทันที เพราะสืบมาแต่เช้า ศาลมีความอ่อนล้า
 
ศ.ดร.นิธิ กล่าวต่อว่า ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 คำว่า “โดยวิธีอื่นใดภายใต้ความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ” นั้น การชุมนุมเป็นความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ กฎหมายอื่นๆ ต้องใช้โดยไม่ให้รัฐธรรมนูญเป็นหมัน เนื่องจากมาตรานี้อยู่ในหมวดความมั่นคง ต้องดูว่าเจตนาของจำเลยเป็นเจตนาทำลายความมั่นคงของรัฐหรือไม่ ส่วนคำว่า “ละเมิดกฎหมายแผ่นดิน” ก็ต้องเป็นกฎหมายที่กระทบความมั่นคงของรัฐ
 
ทนายความถามว่า ถ้าผิดพ.ร.บ.จราจร เป็นกฎหมายที่มีเจตนารมณ์เพื่อรักษาความมั่นคงหรือไม่ ศ.ดร.นิธิ ตอบว่า ชัดเจนว่าไม่ใช่ กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคง ตามภาษาชาวบ้านคือกบฏภายในราชอาณาจักร กฎหมายจราจรทางบกไม่ได้เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐ ทนายความถามต่อว่า การไปชุมนุมที่แยกดอยติ ผู้ชุมนุมมีสิทธิหรือไม่ ศ.ดร.นิธิ ตอบว่า แน่นอน แม้ไม่มีสิทธิปิดถนน เพราะผิดพ.ร.บ.จราจร แต่สิทธิในการชุมนุมยังอยู่ และไม่ควรจะผิดตามมาตรา 116
 
ศาลถามว่า ผู้ประกาศเรียกให้ไปชุมนุมแล้วการชุมนุมของประชาชนละเมิดพ.ร.บ.จราจร ผู้ประกาศมีความผิดหรือไม่อย่างไร ศ.ดร.นิธิ ตอบว่า ไม่มีการส่อให้เห็นเจตนาชัดเจนว่า ต้องการสร้างความไม่สงบ หรือทำให้ประชาชนกระด้างกระเดื่อง ในกฎหมายมาตราที่มีโทษร้ายแรงขนาดนี้ การที่มีผู้ประกาศเรียกให้ประชาชนปิดถนนสายหนึ่ง ไม่น่าจะเป็นความผิด เพราะขาดเจตนาทำลายความมั่นคงของรัฐ แต่เป็นความผิดว่าด้วยกฎหมายจราจรทางบก
 
ศ.ดร.นิธิ กล่าวด้วยว่า คนที่จัดการชุมนุมอาจตั้งใจละเมิดกฎหมายเล็กๆ น้อยๆ เช่น กฎหมายจราจรทางบก เพื่อจะทำให้เป็นข่าว ให้สังคมโดยรวมรู้ว่า คนกลุ่มนี้มีความเห็นอย่างไรในเรื่องนั้นๆ 
ทนายความถามว่า กรณีที่ผู้ชุมนุมไม่ได้ตั้งใจละเมิดกฎหมาย แต่เมื่อผู้ชุมนุมเยอะขึ้น จึงลงไปบนถนน ถือว่ามีเจตนาปิดกั้นถนนหรือไม่ ศ.ดร.นิธิ กล่าวว่า มี แต่ไม่ใช่มาตรา 116 เมื่อจัดการชุมนุมก็ควรคิดถึงผลล่วงหน้าไว้ด้วย ถ้าคนมามาก เมื่อคาดการณ์สภาพแวดล้อมได้ ก็ต้องยอมรับผลในส่วนที่ทำผิด ยิ่งมีเจตนาด้วยก็ต้องยอมรับผลในส่วนที่ละเมิดจริงๆ 
 
ทนายความถามว่า พยานเคยเขียนบทความ ชื่อ “ขบวนการคนเสื้อแดงกับสังคม-การเมืองไทย ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 19 กันยายน 2554 สรุปได้ไหมว่า เสื้อแดงมีอารมณ์อย่างไร ศ.ดร.นิธิ ตอบว่า คนที่ศึกษาคือ อาจารย์อภิชาต สถิตนิรามัย เป็นอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ไปสัมภาษณ์คนเสื้อแดงใน 4 จังหวัด ทำให้ได้เห็นภาพเสื้อแดงชัด เสื้อแดงเป็นการจัดองค์กรที่หลวมมากๆ การเคลื่อนไหวจึงต้องอาศัยการปลุกอารมณ์ซึ่งกันและกัน ไม่มีลักษณะแกนนำไปพามา 
 
ศาลถามว่า ไม่ใช่สายบังคับบัญชาแบบราชการ หรือว่ามีการจ่ายเงิน แต่การปลุกเร้าอารมณ์ก็ต้องมีคนทำ ศ.ดร.นิธิ กล่าวว่า เป็นการกระทำที่ไม่มีการจัดองค์กร แต่ละสถานีบางครั้งทะเลาะกันเอง แต่บางสถานการณ์ก็จะออกมาพูดคล้ายๆ กัน ช่วงหนึ่ง ในปี 2552-2553 ที่เชียงใหม่ ใช้เพลง “มีงานเข้า” เป็นสัญญาณ คนจะรู้กันเองเลยว่า ต้องไปที่ไหน คนมีทรัพย์ก็อาจซื้อข้าวมันไก่ไปร้อยถุง
 
ศ.ดร.นิธิ เบิกความอธิบายว่า สังคมไทยเปลี่ยนไปมาก คนไทยส่วนใหญ่คือคนที่ทำงานรับจ้างในบริษัท หรือรับจ้างตัวเอง เป็นพ่อค้าขายหมู ต้องรู้ข่าวสารเหตุการณ์บ้านเมืองความเป็นไป ไม่ถึงกับอ่านหนังสือพิมพ์ แต่พบว่าหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต ขณะเดียวกันตอนเย็นที่ร้านชำก็มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารผ่านการพูดคุย เวลานี้ไม่เฉพาะคนเสื้อแดงที่มีความรู้เกี่ยวกับการเมืองเยอะกว่าคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ จะพูดว่า ไม่มีใครยุเลยก็ไม่ได้เสียทีเดียว ขณะเดียวกัน จะทำได้ก็ต้องมีข้อมูลมากพอ ยกตัวอย่าง ในสมัยการต่อสู้ของ พคท. (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) ตอนนั้นชาวนาไม่มีข้อมูลในการรับฟัง พคท. แต่ปัจจุบันมีข้อมูลมากพอแล้ว ข้อมูลไหลมาจากความเปลี่ยนแปลงของสังคม ปัจจุบันคนส่วนใหญ่จบ ม.3 ฟังวิทยุ ดูทีวีมากกว่าสมัยก่อน
 
ศาลกล่าวว่า ชอบฟังความเห็นของอาจารย์ เพื่อไม่รบกวนเวลาของอาจารย์มาก อยากรบกวนให้ทนายถามให้ตรงประเด็นสักนิด
ทนายถามว่า ในภาวะปัจจุบัน ประชาชนมีโอกาสที่จะแสวงหาข้อมูลข่าวสารมากกว่าเดิม การชุมนุมทางการเมือง ไม่ว่าจะได้รับข้อมูลข่าวสารจากที่ใด ก็มีโอกาสในการจะตัดสินใจด้วยตัวเอง พยานตอบว่า ใช่ 
 
ตอบอัยการถามค้าน
 
อัยการถามว่าปกติขบวนการทางการเมืองไม่สามารถเป็นไปตามครรลองกฎหมาย ส่วนใหญ่ใช้วิธีการใดบ้าง ศ.ดร.นิธิ ตอบว่า ในเมืองไทยกับในต่างประเทศมีเงื่อนไขต่างกัน จุดสำคัญคือไม่มีพรรคการเมืองเป็นตัวแทนของประชาชนแต่ละกลุ่มอย่างแท้จริง กลไกในระบอบการเมืองที่สะท้อนเสียงได้จริงยังไม่มี สมัยหนึ่งเราใช้วิธีต่อรองโดยการไปร้องไทยรัฐได้ เวลาคนไปชุมนุมปิดถนน ยึดราชประสงค์ ยึดทำเนียบ ทั้งหมดนี้คือการต่อรองทางการเมืองโดยคนที่ไม่มีเสียงหรือเสียงไม่ดังพอ ซึ่งในบางครั้งก็จำเป็นต้องละเมิดต่อกฎหมายเพื่อเรียกร้องความสนใจ ให้เสียงเรียกร้องดังขึ้น
 
ศ.ดร.นิธิ ขออธิบายเสริมว่า ในทุกสังคม กฎหมายอย่างเดียวไม่พอที่จะให้คนเข้าไปต่อรองในสังคมได้ ยังต้องมีวัฒนธรรมสังคม เศรษฐกิจ ที่เอื้อให้ทุกฝ่ายเข้าไปต่อรองได้ เช่น วันแก้ผ้าขี่จักรยาน ผิดกฎหมายแน่นอน เขาตั้งใจละเมิดเพื่อให้สังคมให้ความสนใจต่อผู้ใช้จักรยาน รัฐธรรมนูญบอกว่า พลเมืองมีสิทธิชุมนุม “โดยสงบปราศจากอาวุธ” แต่ไปขโมยของเพราะว่าชุมนุมอยู่ไม่ได้
 
อัยการถามว่า พยานตอบทนายจำเลยว่า คดีนี้ไม่ถึงขั้นมาตรา 116 จริงๆ แล้วถึงขึ้นมาตรา 215 ได้หรือไม่
 
ศ.ดร.นิธิตอบว่า ไม่มีข้อพิสูจน์ เท่าที่ทราบก็ไม่น่าจะไปถึงได้ หลังจากนั้นอัยการแถลงต่อศาลว่า คำถามนี้ไม่เกี่ยวกับประเด็น ศาลจะไม่บันทึกก็ได้
 
อัยการถามว่า ในส่วนของการไปชุมนุม เป็นเรื่องของแต่ละคน แต่การที่คนจะไปชุมนุม ถ้าไม่มีการนัดแนะ ก็คงจะไม่ไปจุดเดียวกัน ใช่หรือไม่ ศ.ดร.นิธิ ตอบว่า ใช่ มีการนัดหมายกันล่วงหน้า อัยการถามว่า ดังนั้น กลุ่มคนจะไป ณ ที่ใดต้องนัดกัน ไปที่ใด เวลาใด ไปทำอะไร ใช่หรือไม่ ศ.ดร.นิธิ ตอบว่า ไปทำอะไรไม่ได้บอก แต่บอกว่าไปชุมนุม การเรียกคนไปชุมนุม ไม่ได้บอกว่าไปทำอะไร คนก็พากันไปแล้ว
 
อัยการถามว่า การไปชุมนุมกับการไปปิดถนน เหมือนหรือต่างกัน ศ.ดร.นิธิ ตอบว่า ในทางการเมือง บอกให้ปิดถนน ให้ละเมิดต่อกฎหมายบางส่วน เป็นการยกระดับให้ข้อเรียกร้องถูกฟังโดยคนอื่นๆ ทั่วไปที่อยู่บนท้องถนน และพื้นที่สื่อ เพราะจะทำให้สังคมเกิดความเดือดร้อนและตื่นตัวได้ดีกว่าถึงข้อเรียกร้อง
 
อัยการถามว่า การที่จำเลยอยู่สถานีแล้วเชิญชวนคนให้ไปปิดถนน จำเลยจะสามารถควบคุมมวลชนที่อยู่คนละที่ได้ไหม ศ.ดร.นิธิตอบว่า เท่าที่รู้จักกันเผินๆ คิดว่าไม่สามารถควบคุมมวลชนได้จริง ไม่สามารถแม้แต่จะเรียกคนไปปิดถนนได้ด้วยซ้ำไป อย่าไปพูดถึงว่าจะควบคุมได้หรือไม่เลย เท่าที่รู้จักเป็นการส่วนตัวไม่นานนี้ ได้ทราบว่าจำเลยมีบทบาทในกลุ่มคนเสื้อแดงมานานแล้ว แต่ไม่เชื่อว่าจำเลยมีอิทธิพลพอ
 
ศ.ดร.นิธิ กล่าวด้วยว่า ทราบว่าจำเลยมีการพูดความเห็นทางการเมืองมานานแล้วตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ ส่วนวันเกิดเหตุประชาชนเสื้อแดงที่ไปปิดถนนดอยติจะเป็นเพราะได้ฟังวิทยุจากจำเลยหรือไม่ ไม่ทราบ
 
ทนายความจำเลยไม่ถามติง แต่ศาลถามต่อ
 
ศาลถามว่า เท่าที่จำได้ หลังเหตุการณ์พฤษภา 53 พยานเคยได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการอะไร ศ.ดร.นิธิ ตอบว่า คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ไม่ใช่แต่งตั้งโดยรัฐบาลโดยตรง ประธานกรรมการคือ นายอานันท์ ปันยารชุน มาเชิญไปเป็นกรรมการ ศาลถามว่า ในการปฏิรูป มีการทบทวนเหตุการณ์หรือไม่ ศ.ดร.นิธิ ตอบว่า ไม่ได้ทบทวนเหตุการณ์ แต่ทบทวนสาเหตุของความรุนแรงที่สืบเนื่องกันมาและเหตุการณ์นั้นด้วย ข้อสรุป เราโทษความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การศึกษา การเมือง ทุกๆ ด้าน ไม่ได้โทษตัวเหตุการณ์โดยเฉพาะ
 
ศาลถามว่า เฉพาะเหตุการณ์เมษา 52 ที่จำเลยถูกกล่าวหา ถ้าปรากฏว่าประชาชนไม่พอใจเรื่องการเข้าสู่อำนาจของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เกิดการเรียกร้อง เหตุการณ์ก่อนหน้านั้นที่เป็นข้อเท็จจริง มีการศึกษาหรือไม่ว่า ทำไม นปช. ถึงจัดการชุมนุมในเดือนช่วงเวลานั้น ศ.ดร.นิธิ ตอบว่า เสื้อแดงบอกว่า ถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำอีก นับจากปี 49 รัฐประหาร ไล่มาเรื่อยๆ รวมถึงการตัดสินยุบพรรคโดยศาลรัฐธรรมนูญ โดยใช้กฎหมายย้อนหลัง ยุบพรรคไทยรักไทย ยุบพรรคพลังประชาชน คนเสื้อแดงรู้สึกถูกกดดันอย่างไม่เป็นธรรม แล้วรัฐบาลก็ขึ้นมาภายใต้อำนาจการจัดการของกองทัพ นี่คือมุมมองของคนเสื้อแดง
 
ศาลกล่าวด้วยความสุภาพว่า ผมชอบฟังความเห็นของอาจารย์ ศาลให้โอกาสต่อสู้และบันทึกไว้อย่างละเอียด แต่หน้าที่ของพยานคือให้ข้อเท็จจริงต่อศาล เรื่องการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ศาลพยายามทำหน้าที่ให้เป็นกลาง และเชื่อว่าอาจารย์ก็เป็นกลาง อยากฟังข้อเท็จจริงจากอาจารย์ อยากจะอัดเทปไว้ฟังเองด้วยซ้ำไป แต่นี่ผมไม่ได้กล่าวหาว่าอาจารย์พูดไม่จริงนะครับ
 
ศาลถามว่า คณะกรรมการมีมุมมองอย่างไร ศ.ดร.นิธิตอบว่า กรรมการตกลงกันตั้งแต่ต้นว่าจะไม่แตะในเรื่องนี้ ข้อสรุปจึงออกมาว่า คือความเหลื่อมล้ำ 
 
เสร็จสิ้นการสืบพยานปากนี้เวลาประมาณ16.00น.
 
14 มิถุนายน 2556 ณ ศาลจังหวัดเชียงใหม่
ทนายวัฒนา เจนนภา มาศาล อัยการไม่มาศาล 
 
ศาลขึ้นบัลลังก์เวลาประมาณ 10.15 นาฬิกา พร้อมกล่าวว่า “ขออภัยทุกท่านที่ล่าช้า” มีการสืบพยานคดีอื่นก่อน เริ่มสืบพยานจำเลยในคดีนี้เวลาประมาณ 11.00 น.
 
สืบพยานจำเลยปากที่ 3 นางยุพิณ เศษห้า แฟนรายการวิทยุ
นางยุพิณอายุ 49 ปี อาชีพค้าขาย เบิกความว่า รู้จักจำเลยจากการฟังวิทยุคลื่นเอฟเอ็ม92.5 Mhz ก่อนหน้านี้ ไม่เคยเจอตัว ฟังรายการมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2552 มีดีเจเยอะมาก จำเลยเป็นหนึ่งในนั้น ใช้ชื่อว่า ดีเจหนึ่ง จัดรายการตั้งแต่เที่ยงถึงบ่ายสองโมง วันจันทร์ถึงศุกร์ ช่วงของดีเจคนอื่นก็ฟังด้วย
 
นางยุพิณ เบิกความว่า สถานีเอฟเอ็ม 92.5 Mhzตั้งอยู่ที่โรงแรมวโรรส บริเวณหลังวัดพระสิงห์ สถานีนี้ไม่เหมือนคนอื่น อย่างช่วงรายการของดีเจอ้อมจะด่าคนนั้นคนนี้แล้วเปิดเพลง มีเนื้อหาทางการเมือง ส่วนดีเจหนึ่งจะอ่านข่าวจากเว็บไซต์ ข่าวต่างประเทศ วิเคราะห์ข่าวสลับกับการเปิดเพลง 
 
ทนายความถามว่าพยานไปที่สถานีทำไม นางยุพิณตอบว่า ไปร่วมต้านรัฐประหาร ฟังแล้วไม่ชอบรัฐประหาร ค้าขายลำบาก ไปช่วยทำอาหาร ไปช่วยเขาทำทุกอย่าง รับส่งของบริจาค เพราะที่สถานีมีคนไปชุมนุมเยอะ จึงพบปะพูดคุยกับผู้คนที่ไปชุมนุมที่สถานีนั้น งานที่สถานีมีทั้งงานบุญ งานเคลื่อนไหวทางการเมือง ถ้าสถานีเปิดเพลง “มีงานเข้า” ก็ ขี่มอเตอร์ไซค์ไปเลย ช่วงที่ดีเจนก มหาวรรณ จัดรายการ จะมีการแจ้งข่าวกิจกรรม เชิญชวนถวายเทียนพรรษา ทอดผ้าป่า เลี้ยงพระ งานบุญ งานสาธารณะ รับบริจาคช่วยน้ำท่วม 
 
นางยุพิณ ตอบคำถามต่อว่า ในพ.ศ. 2552 มีเหตุการณ์ทางการเมือง มีคนเสื้อแดงไปชุมนุมที่กรุงเทพฯ อยากให้นายอภิสิทธิ์ลาออกจากตำแหน่ง คนที่อยู่ก็อยู่ช่วยกันแพ็คของส่งไปกรุงเทพฯ มีน้ำ มีปลาหมึก ของสด คนที่ไปชุมนุมที่กรุงเทพฯ บางส่วนเคยมาร่วมงานกับสถานี
 
นางยุพิณ เล่าว่า ช่วงที่เดินทางไปชุมนุมที่กรุงเทพฯ ทางสถานีตั้งโต๊ะสี่เหลี่ยมใหญ่หน้าสถานีเพื่อรับบริจาค มีดีเจรับอยู่ เพื่อรวบรวมเป็นเสบียงให้คนเสื้อแดงที่ไปชุมนุมกรุงเทพฯ การจัดรายการออกมาจัดข้างนอกหน้าประตูโรงแรม มีดีเจหลายคนช่วยกันประกาศเชิญชวนบริจาคออกอากาศ เช่น ดีเจอ้อม ผอ.เพชร แดงสองแคว จำไม่ได้ว่ามีจำเลยด้วยหรือไม่ 
 
นางยุพิณ เล่าว่าในวันเกิดเหตุ วันที่ 12 เมษายน 2552 นั้น เป็นอย่างไร ตนอยู่ที่หน้าโรงแรม แต่ไม่ได้ฟังวิทยุเพราะมัวแต่จัดของยุ่งอยู่ จำได้ว่าถ้ามีข่าวสารอะไรมาเพิ่มเติม หรือมีคนมาขอให้ประกาศอะไรก็จะประกาศตรงนั้นเลย เมื่อ เขียนใส่กระดาษเล็กๆ ส่งให้ ผู้ประกาศก็ประกาศไปสดๆ
 
นางยุพิณเบิกความว่า เคยร่วมการชุมนุมเสื้อแดงตามสถานที่ต่างๆ เมื่อสถานีวิทยุเปิดเพลง “มีงานเข้า” ไม่ต้องบอกว่าต้องมาก็รู้เลย ว่าจะต้องไปชุมนุมที่ใด ซึ่งก็คือที่โรงแรม แม้จะไม่ได้แจ้งว่าไปทำอะไรก็ไปกันก่อนเป็นอย่างนี้มานานแล้วก่อนปีพ.ศ. 2552 ไม่ได้บังคับ แล้วแต่ว่าใครจะไปหรือไม่ไป ไม่เคยเห็นจำเลยไปชุมนุม ได้ยินแต่เสียง เพิ่งได้รู้จักกับจำเลยหลังสงกรานต์ปี 2552 เพิ่งเห็นตัวเพราะมาจัดรายการด้านนอก แต่ไม่เคยเห็นไปชุมนุมตามที่ต่างๆ 
 
ทนายความถามว่า จำเลยเคยพูดออกอากาศเรียกให้ไปชุมนุมไหม นางยุพิณตอบว่า ปกติจำเลยจะอ่านข่าว อ่านบทความของนักวิชาการ เปิดเพลงฝรั่ง ดีเจหนึ่งมีแฟนรายการไม่เยอะ ไม่มีการด่าออกอากาศ ทนายความถามว่า หลังจากเหตุการณ์เดือนเมษายน ปีพ.ศ. 2552 จำเลยยังจัดรายการอีกนานหรือไม่ นางยุพิณตอบว่า ประมาณปี 2553 ก็ยังฟังอยู่ แล้วก็เงียบหายไป แต่ตนก็ยังไปที่สถานีวิทยุอยู่ แม้ไม่มีจำเลยเราก็ไปอยู่
 
เสร็จสิ้นการสืบพยานปากนี้เวลาประมาณ 11.20 น.
 
สืบพยานจำเลยปากที่ 4 นายอุดมศักดิ์ พรหมสิทธิ์ สมาชิกกลุ่มลำพูน51 ที่ไปชุมนุมบริเวณแยกดอยติ
นายอุดมศักดิ์ เบิกความว่า ปัจจุบันอายุ 60 ปี อาชีพค้าขาย ไม่มีความเกี่ยวข้องกับจำเลย ปัจจุบันทำธุรกิจอยู่ที่จังหวัดลำพูน เป็นนายหน้าขายที่ดิน ขายรถมือสอง อดีตเคยเป็นสารวัตรกำนัน ตำบลเวียงยอง เคยเป็นเลขานุการนายกเทศมนตรีตำบลเวียงยอง ลาออกมาเมื่อ 4 ปีก่อน 
 
ทนายความถามว่าในจังหวัดลำพูน มีสถานีวิทยุกี่แห่ง นายอุดมศักดิ์ตอบว่า มีสถานี FM92.5 Mhz มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2549 เพียงที่เดียว ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.ริมปิง อ.เมือง จ.ลำพูน หลังปีพ.ศ.2549 ก็ดำเนินกิจการกระจายเสียงมาตลอด เนื้อหารายการส่งเสริมประชาธิปไตย ให้ข่าวสารด้านการเมือง
 
นายอุดมศักดิ์ เบิกความต่อว่า ในเมืองลำพูนมีกลุ่มคนเสื้อแดงเริ่มรวมตัวตั้งแต่ปี 2551 เรียกว่ากลุ่มลำพูน51 เพราะหลังเหตุกาณ์รัฐประหารในปีพ.ศ. 2549 มีการยุบพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชน เห็นว่าไม่มีความเป็นธรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อมาพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องการเมืองทั่วไป เรื่องความไม่เป็นธรรม ตนก็อยู่ในกลุ่มนี้มาตั้งแต่ปี 2551 การเข้ากลุ่มก็ไม่ได้สมัคร ไม่มีบัตรสมาชิก เป็นที่รู้กัน 
 
ศาลถามว่าเดี๋ยวนี้มีบัตรใช่หรือไม่ นายอุดมศักดิ์ตอบว่า ใช่ เป็นบัตรนปช.ของกรุงเทพ ซึ่งเป็นคนละส่วนกัน ศาลถามว่า นปช.ย่อมาจากอะไร นายอุดมศักดิ์ตอบว่า จำไม่ได้ (ศาลหัวเราะ)
ทนายความถามว่า ลำพูนมีกิจกรรมอะไรบ้าง นายอุดมศักดิ์ตอบว่า สถานีลำพูนรับถ่ายทอดสด ถ้ามีเหตุการณ์ที่กรุงเทพฯ ก็จะมารวมกลุ่มกันที่สถานี การชุมนุมที่กรุงเทพตนไม่ได้ไป แต่มีคนลำพูนคนอื่นไปตั้งแต่วันที่ 7 หรือ 8 เมษายน 2552
 
ทนายความถามว่า กลุ่มลำพูน 51 ทำกิจกรรมอย่างไร นายอุดมศักดิ์ตอบว่า ฟังวิทยุ FM92.5 Mhz ลำพูน ซึ่งกระจายคลื่นจากกรุงเทพฯ จากดีสเตชั่น หรือ ดีเอ็นเอ็น จำไม่ได้แน่นอน ช่วงต้นเดือนเมษายน พ.ศ. 2552 มีชุมนุมที่กรุงเทพฯ ทางกลุ่มลำพูน51 ก็ส่งสมาชิกบางส่วนไปร่วมชุมนุมด้วย ส่วนคนที่อยู่ที่ลำพูนก็อยู่บ้านใครบ้านมัน 
 
นายอุดมศักดิ์เบิกความว่า ตอนที่มีชุมนุม รัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์เอาทหารเข้ามาในวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2552 แกนนำที่กรุงเทพฯ ประกาศทางสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมดีสเตชั่นให้เสื้อแดงในแต่ละจังหวัดออกมาเฝ้าศาลากลางไว้ รวมตัวกัน ตนก็ไปที่ศาลากลาง ใช้โทรโข่งในการสื่อสาร ไม่มีเครื่องขยายเสียงอื่น เรียกร้องให้รัฐบาลคืนอำนาจให้ประชาชนด้วยการยุบสภา อย่าใช้กำลังทหารทำร้ายประชาชน (ศาลบันทึกว่า “เข้าปราบปราม”)
 
นายอุดมศักดิ์ เล่าต่อว่า ในวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2552 เมื่อไปถึงหน้าศาลากลางจังหวัดลำพูนประมาณ 10 โมงเช้า ศาลากลางปิดเนื่องจากเป็นวันหยุดราชการ จึงอยู่นอกรั้ว ขอพบผู้มีอำนาจ ให้เปิดประตูให้คนเสื้อแดงเข้าไปบริเวณสนามหญ้าเพื่อความเป็นระเบียบ เพราะด้านหน้าเป็นถนนจะกีดขวางการจราจร ตนได้ไปขอคุยกับรองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน นายธานินทร์ สุภาเสน ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ต่อมาได้เปิดประตูให้เข้าไป และมีผู้มาชุมนุมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเต็มสนามศาลากลาง
 
นายอุดมศักดิ์ เล่าว่า ประมาณครึ่งชั่วโมงก็ตั้งตัวแทน5-10 คน ไปคุยกับรองผู้ว่าราชการจังหวัด และกอ.รมน. ทางทหารและปลัดจังหวัด ขอร้องให้ชุมนุมด้วยความสงบปราศจากอาวุธ ไม่ทำลายสิ่งของ เราก็รับมาปฏิบัติ เมื่อเวลาประมาณบ่ายสองโมง มีข่าวว่าทางกรุงเทพฯ ทหารใช้กำลังเข้าสลายกลุ่มเสื้อแดงที่ชุมนุมเป็นบางจุดในเวลาระหว่าง 13.00-14.00 น. เมื่อดูถ่ายทอดสดผ่านทีวีดาวเทียม แล้วก็กลัวคุมผู้ชุมนุมไม่อยู่ กลัวเวลากลางคืนจะมีมือที่สามเข้ามา จึงออกจากศาลากลาง โดยมีนายสถาพร มณีรัตน์ ส.ส.จังหวัดลำพูน แนะนำให้ไปสามแยกดอยติ เพราะว่าพื้นที่กว้างกว่า และไม่มีสถานที่ราชการ เวลาประมาณ 15.00-16.00 น. จึงย้ายไป
 
ทนายความถามว่า มีการปรึกษากันหรือไม่ ทำไมจึงเลือกสามแยกดอยติ นายอุดมศักดิ์ตอบว่า ส.ส.สถาพร เป็นผู้เสนอ ขณะนั้นตำรวจแจ้งว่า ไม่มีชุดปราบจราจล ตำรวจมาอำนวยความสะดวกให้ชาวบ้านที่ไปปิดถนน ทนายความถามว่า ตั้งใจไปปิดถนนหรือไม่ นายอุดมศักดิ์ตอบว่า ไปชุมนุม ตรงนั้นมีสวนป่าอยู่ใกล้ๆ แยกดอยติ แต่ต่อมามีผู้เข้าร่วมชุมนุมมีจำนวนมาก ทำให้ลามไปที่ถนนสามแยกดอยติ
 
นายอุดมศักดิ์ เบิกความว่า ได้ประสานงานกับตำรวจว่า มีทางแยกให้รถอ้อมเลี่ยงไปได้ ไม่อยากให้เดือดร้อนประชาชน ขาขึ้นจากลำปางมาเชียงใหม่ก็ไปได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะคอยบอกตั้งแต่สี่แยกนิคมอุตสาหกรรม ว่าทะลุบ้านม้าได้ ส่วนรถที่ขับเลยมาผู้ชุมนุมบอกให้ย้อนกลับไปทางเดิม ทางเลี่ยงใช้เวลาไม่ถึง 15 นาที
 
นายอุดมศักดิ์ เล่าต่อว่า พอเวลาประมาณ 16.00-20.00 น. มีคนมาจากอำเภอสันป่าตอง แม่วาง ดอยหล่อ ดอยเต่า ของจังหวัดเชียงใหม่มาร่วมด้วย จนถึงเวลาประมาณ 20.00-21.00 น. ของวันที่ 12 เมษายน การชุมนุมก็เลิก พอวันที่ 13 เมษายน 2556 ก็มีการไปชุมนุมที่ปั๊มน้ำมันคอสโม มีส.ส.สถาพรนำไป แต่ตนไม่ได้ไป เพราะต้องเลี้ยงลูก
 
การสืบพยานปากนี้เสร็จเวลาประมาณ 11.45 น. ทนายจำเลยแถลงขอส่งคำแถลงปิดคดี ศาลอนุญาตให้ส่งภายในวันที่ 1 กรกฎาคม 2556 ศาลอ่านคำให้การพยานสองปาก อ่านรายงานกระบวนพิจารณา แล้วนัดฟังคำพิพากษาในวันพฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม 2556 เวลา 13.30 น.
 
1 สิงหาคม 2556

ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดฟังคำพิพากษา คดีดีเจหนึ่งจัดรายการเชิญชวนคนออกมาชุมนุม
 
มีประชาชนมาร่วมรอฟังคำพิพากษาประมาณสิบคน โดยมีทั้งผู้ติดตามรายการวิทยุของดีเจหนึ่ง สื่อมวลชน นักกิจกรรม ตัวแทนจากกลุ่มครอบครัวคดีเสื้อแดงเชียงใหม่มาร่วมสังเกตการณ์ด้วย

อัยการไม่มาฟังคำพิพากษา ส่วนทนายจำเลยมาเพียงคนเดียวคือทนายวัฒนา เจนนภา

เวลา 13.45 น. ผู้พิพากษา พิทักษ์ แสงสายัณห์ ขึ้นบัลลังก์

ศาลชี้แจงว่า ได้ส่งรายงานคดีพร้อมร่างคำพิพากษาไปยังสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 เพื่อตรวจทาน เพราะพิจารณาแล้วเห็นว่าคดีนี้มีความสำคัญ ซึ่งขณะนี้ ทางสำนักงานอธิบดีฯ ยังไม่ส่งสำนวนกลับมาเนื่องจากยังตรวจทานไม่เสร็จ จึงต้องเลื่อนการอ่านคำพิพากษาไปก่อน
 
 
5 กันยายน 2556
 
วันนี้ศาลนัดฟังคำพิพากษา ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ห้องพิจารณาคดีที่ 8 ศาลขึ้นบัลลังก์เวลาประมาณ 9.30น. เพียงท่านเดียวคือนายกริชชัย เชื้อชมพู  ทนายความจำเลยมาศาล 1 คน  คือทนายวัฒนา เจนนภา มีประชาชนเข้าร่วมรับฟังประมาณ 10 คน  เป็นแฟนรายการวิทยุของดีเจหนึ่ง และสื่อมวลชน  และมีนางกัญญาภัคร มณีจักร (ดีเจอ้อม) อดีตแกนนำกลุ่มรักเชียงใหม่ 51  พร้อมผู้ติดตามอีก 1 คนมารอฟังผลพิจารณาหน้าห้องพนักงานอัยการไม่มาศาล
 
ศาลพิจารณาคดีอื่นก่อน จนถึงเวลาประมาณ 9.50 น. เจ้าหน้าที่ศาลได้มาแจ้งให้ย้ายไปห้องพิจารณาคดีที่ 2  จนเวลาประมาณ 10.15 น. นายพิทักษ์ แสงสายัณห์ ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนขึ้นบัลลังก์นายเดียว  แจ้งว่า  ขออภัยที่ล่าช้าเนื่องจากกำลังทำคำพิพากษาตัวจริง 
 
ศาลเริ่มอ่านคำพิพากษา มีใจความว่า พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในเบื้องต้นว่า  ในช่วงต้นเดือนเมษายน 2552  แกนนำ นปช. ประกาศทางสถานีโทรทัศน์ D-Station ให้คนเสื้อแดงชุมนุมที่กรุงเทพ  ส่วนต่างจังหวัดชุมนุมที่ศาลากลาง  และปิดถนนสายสำคัญเพื่อต่อต้านการบริหารของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์  ให้ดำเนินคดีกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย  ในเหตุการณ์ปิดทำเนียบและสนามบินสุวรรณภูมิ  ปลดนายกษิต ภิรมย์จากตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ  ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 และให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 แทน  และให้นายอภิสิทธิ์ยุบสภาเลือกตั้งใหม่  ต่อมามีการชุมนุมคนเสื้อแดงที่โรงแรมวโรรสแกรนด์พาเลซหลังวัดพระสิงห์ ที่ตั้งสถานีวิทยุชุมชน 92.5 Mhz  และมีการชุมนุมตามสถานที่ต่างๆ ในจ.เชียงใหม่
 
คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า จำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่  โดยที่รับฟังข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่า  ในเวลาเกิดเหตุจำเลยจัดรายการวิทยุสถานี 92.5 Mhz พูดออกอากาศว่า  ให้ประชาชนชุมนุมปิดถนนบริเวณที่เกิดเหตุ การที่จำเลยพูดข้อความดังกล่าวผ่านรายการวิทยุที่กระจายเสียงไปยังประชาชนเป็นการทั่วไปย่อมทำให้ประชาชนที่ฟังรายการวิทยุทราบข้อความที่จำเลยพูด  ถือเป็นวิธีการทำให้ปรากฏแก่ประชาชนอย่างหนึ่ง  แม้เป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่จำเลยก็ได้พูดเชิญชวนวนเวียนซ้ำไปมาหลายรอบ มีรายละเอียดเกี่ยวกับผู้เกี่ยวข้อง วิธีการปฏิบัติ และมูลเหตุจูงใจว่าเป็นการชุมนุมร่วมกันกับกลุ่มลำพูน 51 เพื่อปิดถนน  และย้ำการปิดถนนถึง 3 ครั้ง ย่อมเป็นการแสดงถึงเจตนาต่อผลให้ประชาชนปิดถนน  มิใช่เป็นเพียงการเรียบเรียงคำพูดไม่ถูกต้อง ตามที่จำเลยนำสืบ  
 
เมื่อพิจารณาประกอบกับส่วนอื่นๆ ของบันทึกการถอดเทปจากแผ่นซีดี เห็นได้ว่าเป็นการพูดออกอากาศเรียกร้องให้ประชาชนออกมาชุมนุม  สลับกับการถ่ายทอดเสียงการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ที่กรุงเทพ ที่ให้มีการชุมนุมที่ต่างจังหวัดด้วย  การชักชวนของจำเลยจึงเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการชุมนุมของแกนนำ นปช. ด้วย  ที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพในการสื่อสารแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 มาตรา 36
แต่ที่จำเลยประกาศชักชวนให้ประชาชนปิดถนนนั้น  แม้รัฐธรรมนูญ มาตรา 63 จะบัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมไว้ในวรรคหนึ่งว่า  บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ แต่ในวรรคสองของมาตราดังกล่าว ก็ได้ระบุด้วยว่าการจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม เมื่อพิเคราะห์พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ. 2535 และพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 เห็นได้ว่ามีเจตนารมณ์คุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการเดินทาง ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 34 บัญญัติรับรองไว้  นอกจากนี้ ทางหลวงตามพ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ. 2535 และทาง ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522    เป็นทั้งพื้นที่สาธารณะและเป็นเครื่องมือที่ประชาชนใช้ในการเดินทางไปสู่ที่สาธารณะอื่นๆ พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับดังกล่าวจึงมีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชน ที่จะใช้ที่สาธารณะ  อันเป็นข้อยกเว้นให้จำกัดเสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญได้ บุคคลไม่สามารถอ้างเสรีภาพในการชุมนุมเพื่อปฏิเสธหน้าที่และความรับผิด ตามตามพ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ. 2535 และ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ได้  การชุมนุมโดยมีเจตนาปิดถนนย่อมเป็นความผิดตามพ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ. 2535 มาตรา 38,39 ซึ่งมีโทษอาญาตามมาตรา 62 และพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 108, 110, 114  จะถือไม่ได้ว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบ  
 
ดังนั้นการกระทำของจำเลยจึงเป็นการทำให้ปรากฏแก่ประชาชน โดยวิธีอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 โดยได้กระทำในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งมีประเพณีรดน้ำดำหัวที่ประชาชนเดินทางไปมาหาสู่กันมากกว่าปรกติ เป็นเทศกาลท่องเที่ยวสำคัญที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่มากเป็นพิเศษ โดยใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 เป็นเส้นทางสำคัญที่เชื่อมต่อกรุงเทพฯ กับจังหวัดต่างๆ ไปยังจังหวัดเชียงใหม่ ทำให้การจราจรในเส้นทางดังกล่าวคับคั่งกว่าปรกติหลายเท่าตัว หากมีเหตุกีดขวางจราจรจะทำให้ติดขัดต่อๆ กันไปแผ่ขยายเป็นวงกว้าง  ดังปรากฏเป็นข่าวตามสื่อต่างๆ ทุกปี อันเป็นข้อเท็จจริงที่รู้โดยทั่วไป  
 
การที่จำเลยชักชวนให้ประชาชนชุมนุมเพื่อปิดถนนดังกล่าว จึงเป็นการกระทำโดยเจตนาประสงค์ต่อผลให้มีการกีดขวางปิดกั้นทางหลวงและกีด ขวางการจราจร ฝ่าฝืนต่อพ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ. 2535 และพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522  อันเป็นความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน และย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าการปิดถนนดังกล่าวทำให้การจราจรติดขัดอย่างรุนแรง ขยายเป็นวงกว้าง เกิดความปั่นป่วนในหมู่ประชาชน ถึงขั้นที่จะก่อความไม่สงบให้เกิดขึ้นในราชอาณาจักรได้  การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา  เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน  ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 อนุมาตรา 2 และ 3
 
การนำสืบของโจทก์เกี่ยวกับผลการกระทำของจำเลย  พยานโจทก์เบิกความกลับไปกลับมา  ขัดแย้งกับที่ให้การในชั้นสอบสวน  ไม่อยู่กับร่องกับรอย  จึงไม่อาจรับฟังว่าพยานได้ไปชุมนุมตามที่จำเลยชักชวนให้ชุมนุมปิดถนนทางสถานี 92.5 Mhz  หรือไม่  ทั้งโจทก์มิได้นำสืบว่าสถานีวิทยุ 92.5 MHz มีกำลังส่งกระจายได้ถึงจังหวัดลำพูนหรือไม่  และตามพยานหลักฐานของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าการชุมนุมปิดถนนบริเวณที่เกิดเหตุ เกิดจากการชักชวนของจำเลยดังกล่าว ตรงกันข้ามการนำสืบของโจทก์ยังเจือสมกับฝ่ายจำเลยด้วยว่ามีการชุมนุมของ กลุ่มคนเสื้อแดงในจังหวัดต่างๆ ซึ่งในจังหวัดลำพูนมีการชุมนุมของกลุ่มลำพูน 51 และกลุ่มดังกล่าวได้ไปชุมนุมในที่เกิดเหตุในเวลา 16.00 น. ซึ่งเป็นเวลาหลังจากจำเลยออกอากาศหลายชั่วโมง ทำให้ไม่อาจยืนยันได้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการกระทำของจำเลย  กลับทำให้เห็นว่าอาจเป็นผลมาจากเหตุอื่นๆ ด้วย  
 
แต่ด้วยเหตุที่องค์ประกอบของมาตรา 116 อนุมาตรา 2 และ 3 เป็นความผิดสำเร็จ โดยไม่ต้องคำนึงว่าได้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่ก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือประชาชนละเมิดกฎหมายแผ่นดินหรือไม่   
แม้ข้อเท็จจริงไม่อาจฟังได้ว่าการปิดถนนเป็นผลจากการกระทำของจำเลย  หรือเป็นผลมาจากเหตุอื่น  ก็หาได้ทำให้จำเลยไม่ต้องรับผิดอาญาในการกระทำของตน  ถือเป็นการลงมือทำความผิดแต่ทำไปไม่ตลอด  หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล  การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 อนุมาตรา 2 และ 3  
 
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า  มีเหตุยกเว้นความผิดหรือไม่  จำเลยนำสืบต่อสู้ว่า  การกระทำของจำเลยเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ  เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญแสดงออกถึงความต้องการทางการเมืองด้วยการชุมนุม  ซึ่งจำเป็นต้องแสดงในที่สาธารณะเพื่อให้พบเห็นโดยทั่วไป  ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 36, 45 และ 63  เมื่อเป็นการกระทำอันมิใช่ด้วยวิธีตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญตามที่วินิจฉัยในข้างต้นแล้ว  จึงไม่ได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 63  ส่วนเสรีภาพในการสื่อสารตามมาตรา 36 ให้คุ้มครองเฉพาะการตรวจ การกัก หรือการเปิดเผยสิ่งสื่อสารที่บุคคลมีติดต่อถึงกัน  รวมทั้งการกระทำด้วยประการอื่นใดเพื่อให้ล่วงรู้ถึงข้อความในสิ่งสื่อสารทั้งหลายที่บุคคลมีติดต่อถึงกัน  แต่เนื่องจากข้อความในสิ่งสื่อสารเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงความคิดเห็นในแง่ที่เป็นการสื่อความหมายอย่างหนึ่งที่รัฐธรรมนูญมาตรา 45 บัญญัติคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น  โดยให้มีการจำกัดเสรีภาพ  โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ  อันมีความหมายครอบคลุมถึงประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116  ซึ่งเป็นบทบัญญัติในภาค 2 ลักษณะความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงในราชอาณาจักร  จำเลยจึงไม่อาจอ้างการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 36 และ 45 ได้  จึงไม่ได้รับยกเว้นความผิดตามกฏหมายอาญา
 
จึงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า  ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ  จำเลยทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา  ประกาศผ่านวิทยุชุมชน 92.5 Mhz ชักชวนให้ประชาชนที่รับฟังรายการร่วมกันปิดกั้นถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 สายเชียงใหม่ – ลำปาง บริเวณแยกดอยติ สถานที่เกิดเหตุ  อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ  หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริต  เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน  ฝ่าฝืนต่อพ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ. 2535 และพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522
 
พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 อนุมาตรา 2 และ 3
 
พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่า  มูลเหตุการกระทำผิดของจำเลยสืบเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมือง ที่ทราบโดยทั่วไปว่ามีความรุนแรงและเรื้อรังสั่งสมเป็นเวลานานหลายปี  ส่งผลกระทบต่อความเป็นปกติในการดำเนินชีวิตของประชาชนตลอดมา โดยจำเลยกระทำผิดครั้งเดียวเป็นระยะเวลาสั้นๆ ไม่น่าจะส่งผลในวงกว้าง ทั้งไม่ปรากฏโดยแจ้งชัดว่า  ความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการกระทำของ จำเลย หรือผลจากเหตุอื่นด้วย  ทั้งการลงโทษทางอาญาโดยทันที  มิใช่วิธีที่เหมาะสมในการแก้ไขเยียวยาผู้กระทำผิดที่มีมูลเหตุมาจากความขัด แย้งทางการเมืองในลักษณะเช่นนี้  ประกอบกับจำเลยมิเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน  จึงเห็นควรให้รอการกำหนดโทษไว้ ปล่อยตัวไป  เพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตัวในระยะเวลา 3 ปี  โดยกำหนดเงื่อนไขให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 9 ครั้ง ภายในเวลา 2 ปี  และให้จำเลยทำงานบริการสังคมหรือสาธารณะประโยชน์ ตามที่พนักงานคุมความประพฤติและจำเลยเห็นสมควร  เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 40 ชั่วโมง  ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56.
 
เสร็จสิ้นการอ่านคำพิพากษาเวลาประมาณ 10.40 น.
 

หมายเลขคดีดำ

อ.1970/2554

ศาล

ไม่มีข้อมูล

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ประชาไท, อัยการส่งฟ้องคดีเสื้อแดง ดีเจหนึ่ง" ข้อหาปลุกปั่นฯ คดีเก่าปี 52http://prachatai.com/journal/2011/08/36490, (เข้าถึงเมื่อ 30 ก.ค. 2013)

 

12 เมษายน 2552 นายจักรพันธุ์จัดรายการวิทยุทาง FM 92.5 Mhz รายการ "รายงานสถานการณ์การชุมนุม" ซึ่งต่อมานายจักรพันธุ์ถูกกล่าวหาว่าพูดจาชักชวนให้คนฟันร่วมกันปิดทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 สายเชียงใหม่ ลำปาง
 
พฤษภาคม 2552 นายจักรพันธุ์ถููกจับกุมและกักตัวไว้ในห้องขังสถานีตำรวจ 1 คืน ต่อมาได้รับการประกันตัวและต้องรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ 3 ครั้ง
 
24 มิถุนายน 2553 นายจักรพันธุ์ถูกจับกุมที่ร้าย Red Coffee Corner ของตน และได้รับการประกันตัวด้วยหลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 200,000 บาท
 
15 สิงหาคม 2554 อัยการจังหวัดเชียงหม่ส่งฟ้องคดี เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.1970/2554
 
14 พฤษภาคม 2555 สืบพยานโจทก์ที่ศาลจังหวัดลำพูน คือ นายวิวัฒน์  อูนจะนำ และ นายสาธิต ศรีสุดา
 
14 มิถุนายน 2555 สืบพยานโจทก์ที่ศาลจังหวัดลำพูน คือ นายศรัญญู  ลีละศาสตร์ และ นายสุนัย จันทร์สว่าง
 
20 กรกฎาคม 2555 สืบพยานโจทก์ที่ศาลจังหวัดลำพูน คือ ด.ต. สุรศักดิ์  เนคะมานุรักษ์ สภ.เหมืองจี้
 
10 กันยายน 2555 สืบพยานโจทก์คือศาลจังหวัดลำพูน คือ นางสาวเกษราภรณ์  ชุ่ยอาภัย พ.ต.ท. ยุทธนา  ยะนันโต สภ.เมืองลำพูน และ พ.ต.ท.ชัชวาล สุธาวา สภ.เหมืองจี้
 
19 พฤศจิกายน 2555 สืบพยานโจทก์ที่ศาลจังหวัดลำพูน พยานโจทก์คือ นายวิษณุ  ก๋งเจียม พยานผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม
 
28 พฤศจิกายน 2555 นัดสืบพยานโจทก์ที่ศาลจังหวัดลำพูน คือ นางกฤษณา วิเทศ เจ้าหน้าที่สถานีขนส่งฯ จังหวัดลำพูน นายประสิทธิ์ กันดี เจ้าหน้าที่สถานีรถไฟจังหวัดลำพูน นายพรรนา มูลกลาง และนายสุนทร วิเลิศสัก
 
12 ธันวาคม 2555 นัดสืบพยานโจทก์ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ แต่พนักงานอัยการไม่มา
 
25 ธันวาคม 2555 นัดพร้อม
 
11 มิถุนายน 2556 นัดสืบพยานโจทก์ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ฝ่ายจำเลยรับข้อเท็จจริงตามเอกสารการสอบสวน ของ พ.ต.อ.ปฐม พ.ต.อ.พงษ์สักก์ พ.ต.ท.ชัชวรินทร์ และส่วนของผู้กล่าวหา คือ พ.ต.อ.ประหยัชว์ บุญศรี
 
12 มิถุนายน 2556 สืบพยานโจทก์ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ คือ พ.ต.ท. สมัย มูลประการ พนักงานสอบสวน สภ.ไชยปราการ พ.ต.ท. สวัสดิ์ หล้ากาศ สวญ. นาหวาย อ.เชียงดาว และ พ.ต.ท. ไกรศรี จุฬพรรค์ พนักงานสอบสวน สภ.สันทราย
 
13 มิถุนายน 2556 ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ สืบพยานจำเลยปากที่ 1 นายจักรพันธ์ บริรักษ์ จำเลย อาชีพนักจัดรายการวิทยุ และสืบพยานจำเลยปากที่ 2 นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ อายุ 73 ปี นักวิชาการ
 
14 มิถุนายน 2556 ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ สืบพยานจำเลยปากที่ 3 นางยุพิณ เศษห้า อายุ 49 ปี อาชีพค้าขาย พยานจำเลยปากที่ 4 นายอุดมศักดิ์ พรหมสิทธิ์ อายุ 60 ปี อาชีพค้าขาย
 
1 กรกฎาคม 2556 ทนายจำเลยยื่นคำแถลงปิดคดี มีใจความว่า โจทย์ยื่นฟ้องว่าเมื่อวันที่ 12 -13 เมษายน พ.ศ. 2552 จำเลยกล่าวผ่านรายการวิทยุ FM 92.50 Mhz ชักชวน ปลุกปั่น ยุยงให้ประชาชนไปร่วมปิดกั้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 สายเชียงใหม่-ลำปาง บริเวณแยกดอยติ ก่อให้เกิดความไม่สงบ อันเป็นการกระทำเพื่อให้ประชาชนละเมิดกฎหมายของแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2555 และพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ทั้งนี้ไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญหรือมิใช่เพื่อแสดงความเห็นโดยสุจริต ถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 แต่จำเลยได้ปฏิเสธ
 
ในการพิจารณาคดี จำเลยยอมรับว่าเป็นผู้พูดออกอากาศชักชวนให้ประชาชนไปชุมนุม แต่มิได้มีเจตนาที่จะให้ประชาชนไปปิดถนน ซึ่งจำเลยเพียงแต่ต้องการจะแจ้งให้ประชาชนไปชุมนุมที่สามแยกดอยติ ตามที่มีผู้ขอให้พูดจึงได้พูดออกอากาศไปทันทีโดยมิได้เรียบเรียงคำพูด จึงใช้คำว่าปิดถนนโดยมิได้ตั้งใจ แม้พูดไปแล้วปรากฏว่าการพูดนั้นมิได้มีผลชักจูงผู้ใดให้ไปกระทำการชุมนุมหรือปิดถนน ดังเห็นได้จากการชุมนุมเริ่มหลังจากจำเลยพูดไปแล้วกว่า 6 ชั่วโมง โดยที่พื้นที่ชุมนุมนั้น สัญญาณวิทยุคลื่น 92.50 เชียงใหม่ก็ส่งไปไม่ถึงพื้นที่
 
ดังนั้นการที่โจทย์ยื่นฟ้องจำเลยยุยงให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ที่อยู่ในความผิดต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรนั้น ไม่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ อย่างไรก็ตามแม้จำเลยจะใช้คำพูดเกินเลยไปบ้างแต่จำเลยเชื่อโดยสุจริตว่า การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ เป็นการแสดงออกของประชาชนซึ่งมีสิทธิกระทำได้ตามรัฐธรรมนูญส่วนการขีดขวางการจราจรเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่มีคนหมู่มากมาชุมนุม
 
1 สิงหาคม 2556
 
ศาลนัดฟังคำพิพากษา แต่เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีสำคัญ ศาลจึงส่งร่างคำพิพากษาไปให้สำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาคห้าตรวจทานเสียก่อน อย่างไรก็ดี สำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาคห้ายังตรวจร่างคำพิพากษาไม่เสร็จ จึงขอเลื่อนนัดอ่านคำพิพากษาออกไปเป็นวันที่ 5 กันยายน 2556
 
5 กันยายน 2556

ศาลนัดฟังคำพิพากษา คดีดีเจหนึ่งประกาศปิดถนนดอยติ-ลำพูน ศาลพิพากษาว่า จำเลยกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา116 อย่างไรก็ดี เนื่องจากโจทก์ไม่สามารถนำสืบได้ว่าคนที่ไปปิดถนนเป็นคนที่ฟังรายการของจำเลย อีกทั้ง การลงโทษทางอาญาในคดีที่มีเหตุจูงใจทางการเมืองในทันทีไม่ใช่หนทางแก้ปัญหา ให้รอการกำหนดโทษไว้สามปี โดยให้จักรพันธ์เข้าพบเจ้าหน้าที่คุมประพฤติทั้งหมดเก้าครั้งในเวลาสองปี  เพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตัว และให้จำเลยทำงานบริการสังคมหรือสาธารณะประโยชน์ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 40 ชั่วโมง

 

 

 

 

คำพิพากษา

คำพิพากษาศาลชั้นต้น

พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในเบื้องต้นว่า  ในช่วงต้นเดือนเมษายน 2552  แกนนำ นปช. ประกาศทางสถานีโทรทัศน์ D-Station ให้คนเสื้อแดงชุมนุมที่กรุงเทพ  ส่วนต่างจังหวัดชุมนุมที่ศาลากลาง  และปิดถนนสายสำคัญเพื่อต่อต้านการบริหารของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์  ให้ดำเนินคดีกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย  ในเหตุการณ์ปิดทำเนียบและสนามบินสุวรรณภูมิ  ปลดนายกษิต ภิรมย์จากตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ  ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 และให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 แทน  และให้นายอภิสิทธิ์ยุบสภาเลือกตั้งใหม่  ต่อมามีการชุมนุมคนเสื้อแดงที่โรงแรมวโรรสแกรนด์พาเลซหลังวัดพระสิงห์ ที่ตั้งสถานีวิทยุชุมชน 92.5 Mhz  และมีการชุมนุมตามสถานที่ต่างๆ ในจ.เชียงใหม่

 
คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า จำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่  โดยที่รับฟังข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่า  ในเวลาเกิดเหตุจำเลยจัดรายการวิทยุสถานี 92.5 Mhz พูดออกอากาศว่า  ให้ประชาชนชุมนุมปิดถนนบริเวณที่เกิดเหตุ การที่จำเลยพูดข้อความดังกล่าวผ่านรายการวิทยุที่กระจายเสียงไปยังประชาชนเป็นการทั่วไปย่อมทำให้ประชาชนที่ฟังรายการวิทยุทราบข้อความที่จำเลยพูด  ถือเป็นวิธีการทำให้ปรากฏแก่ประชาชนอย่างหนึ่ง  แม้เป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่จำเลยก็ได้พูดเชิญชวนวนเวียนซ้ำไปมาหลายรอบ มีรายละเอียดเกี่ยวกับผู้เกี่ยวข้อง วิธีการปฏิบัติ และมูลเหตุจูงใจว่าเป็นการชุมนุมร่วมกันกับกลุ่มลำพูน 51 เพื่อปิดถนน  และย้ำการปิดถนนถึง 3 ครั้ง ย่อมเป็นการแสดงถึงเจตนาต่อผลให้ประชาชนปิดถนน  มิใช่เป็นเพียงการเรียบเรียงคำพูดไม่ถูกต้อง ตามที่จำเลยนำสืบ  
 
เมื่อพิจารณาประกอบกับส่วนอื่นๆ ของบันทึกการถอดเทปจากแผ่นซีดี เห็นได้ว่าเป็นการพูดออกอากาศเรียกร้องให้ประชาชนออกมาชุมนุม  สลับกับการถ่ายทอดเสียงการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ที่กรุงเทพ ที่ให้มีการชุมนุมที่ต่างจังหวัดด้วย  การชักชวนของจำเลยจึงเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการชุมนุมของแกนนำ นปช. ด้วย  ที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพในการสื่อสารแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 มาตรา 36
แต่ที่จำเลยประกาศชักชวนให้ประชาชนปิดถนนนั้น  แม้รัฐธรรมนูญ มาตรา 63 จะบัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมไว้ในวรรคหนึ่งว่า  บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ แต่ในวรรคสองของมาตราดังกล่าว ก็ได้ระบุด้วยว่าการจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม เมื่อพิเคราะห์พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ. 2535 และพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 เห็นได้ว่ามีเจตนารมณ์คุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการเดินทาง ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 34 บัญญัติรับรองไว้  นอกจากนี้ ทางหลวงตามพ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ. 2535 และทาง ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522    เป็นทั้งพื้นที่สาธารณะและเป็นเครื่องมือที่ประชาชนใช้ในการเดินทางไปสู่ที่สาธารณะอื่นๆ พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับดังกล่าวจึงมีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชน ที่จะใช้ที่สาธารณะ  อันเป็นข้อยกเว้นให้จำกัดเสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญได้ บุคคลไม่สามารถอ้างเสรีภาพในการชุมนุมเพื่อปฏิเสธหน้าที่และความรับผิด ตามตามพ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ. 2535 และ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ได้  การชุมนุมโดยมีเจตนาปิดถนนย่อมเป็นความผิดตามพ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ. 2535 มาตรา 38,39 ซึ่งมีโทษอาญาตามมาตรา 62 และพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 108, 110, 114  จะถือไม่ได้ว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบ  
 
ดังนั้นการกระทำของจำเลยจึงเป็นการทำให้ปรากฏแก่ประชาชน โดยวิธีอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 โดยได้กระทำในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งมีประเพณีรดน้ำดำหัวที่ประชาชนเดินทางไปมาหาสู่กันมากกว่าปรกติ เป็นเทศกาลท่องเที่ยวสำคัญที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่มากเป็นพิเศษ โดยใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 เป็นเส้นทางสำคัญที่เชื่อมต่อกรุงเทพฯ กับจังหวัดต่างๆ ไปยังจังหวัดเชียงใหม่ ทำให้การจราจรในเส้นทางดังกล่าวคับคั่งกว่าปรกติหลายเท่าตัว หากมีเหตุกีดขวางจราจรจะทำให้ติดขัดต่อๆ กันไปแผ่ขยายเป็นวงกว้าง  ดังปรากฏเป็นข่าวตามสื่อต่างๆ ทุกปี อันเป็นข้อเท็จจริงที่รู้โดยทั่วไป  
 
การที่จำเลยชักชวนให้ประชาชนชุมนุมเพื่อปิดถนนดังกล่าว จึงเป็นการกระทำโดยเจตนาประสงค์ต่อผลให้มีการกีดขวางปิดกั้นทางหลวงและกีด ขวางการจราจร ฝ่าฝืนต่อพ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ. 2535 และพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522  อันเป็นความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน และย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าการปิดถนนดังกล่าวทำให้การจราจรติดขัดอย่างรุนแรง ขยายเป็นวงกว้าง เกิดความปั่นป่วนในหมู่ประชาชน ถึงขั้นที่จะก่อความไม่สงบให้เกิดขึ้นในราชอาณาจักรได้  การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา  เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน  ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 อนุมาตรา 2 และ 3
 
การนำสืบของโจทก์เกี่ยวกับผลการกระทำของจำเลย  พยานโจทก์เบิกความกลับไปกลับมา  ขัดแย้งกับที่ให้การในชั้นสอบสวน  ไม่อยู่กับร่องกับรอย  จึงไม่อาจรับฟังว่าพยานได้ไปชุมนุมตามที่จำเลยชักชวนให้ชุมนุมปิดถนนทางสถานี 92.5 Mhz  หรือไม่  ทั้งโจทก์มิได้นำสืบว่าสถานีวิทยุ 92.5 MHz มีกำลังส่งกระจายได้ถึงจังหวัดลำพูนหรือไม่  และตามพยานหลักฐานของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าการชุมนุมปิดถนนบริเวณที่เกิดเหตุ เกิดจากการชักชวนของจำเลยดังกล่าว ตรงกันข้ามการนำสืบของโจทก์ยังเจือสมกับฝ่ายจำเลยด้วยว่ามีการชุมนุมของ กลุ่มคนเสื้อแดงในจังหวัดต่างๆ ซึ่งในจังหวัดลำพูนมีการชุมนุมของกลุ่มลำพูน 51 และกลุ่มดังกล่าวได้ไปชุมนุมในที่เกิดเหตุในเวลา 16.00 น. ซึ่งเป็นเวลาหลังจากจำเลยออกอากาศหลายชั่วโมง ทำให้ไม่อาจยืนยันได้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการกระทำของจำเลย  กลับทำให้เห็นว่าอาจเป็นผลมาจากเหตุอื่นๆ ด้วย  
 
แต่ด้วยเหตุที่องค์ประกอบของมาตรา 116 อนุมาตรา 2 และ 3 เป็นความผิดสำเร็จ โดยไม่ต้องคำนึงว่าได้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่ก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือประชาชนละเมิดกฎหมายแผ่นดินหรือไม่   
แม้ข้อเท็จจริงไม่อาจฟังได้ว่าการปิดถนนเป็นผลจากการกระทำของจำเลย  หรือเป็นผลมาจากเหตุอื่น  ก็หาได้ทำให้จำเลยไม่ต้องรับผิดอาญาในการกระทำของตน  ถือเป็นการลงมือทำความผิดแต่ทำไปไม่ตลอด  หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล  การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 อนุมาตรา 2 และ 3  
 
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า  มีเหตุยกเว้นความผิดหรือไม่  จำเลยนำสืบต่อสู้ว่า  การกระทำของจำเลยเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ  เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญแสดงออกถึงความต้องการทางการเมืองด้วยการชุมนุม  ซึ่งจำเป็นต้องแสดงในที่สาธารณะเพื่อให้พบเห็นโดยทั่วไป  ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 36, 45 และ 63  เมื่อเป็นการกระทำอันมิใช่ด้วยวิธีตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญตามที่วินิจฉัยในข้างต้นแล้ว  จึงไม่ได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 63  ส่วนเสรีภาพในการสื่อสารตามมาตรา 36 ให้คุ้มครองเฉพาะการตรวจ การกัก หรือการเปิดเผยสิ่งสื่อสารที่บุคคลมีติดต่อถึงกัน  รวมทั้งการกระทำด้วยประการอื่นใดเพื่อให้ล่วงรู้ถึงข้อความในสิ่งสื่อสารทั้งหลายที่บุคคลมีติดต่อถึงกัน  แต่เนื่องจากข้อความในสิ่งสื่อสารเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงความคิดเห็นในแง่ที่เป็นการสื่อความหมายอย่างหนึ่งที่รัฐธรรมนูญมาตรา 45 บัญญัติคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น  โดยให้มีการจำกัดเสรีภาพ  โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ  อันมีความหมายครอบคลุมถึงประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116  ซึ่งเป็นบทบัญญัติในภาค 2 ลักษณะความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงในราชอาณาจักร  จำเลยจึงไม่อาจอ้างการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 36 และ 45 ได้  จึงไม่ได้รับยกเว้นความผิดตามกฏหมายอาญา
 
จึงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า  ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ  จำเลยทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา  ประกาศผ่านวิทยุชุมชน 92.5 Mhz ชักชวนให้ประชาชนที่รับฟังรายการร่วมกันปิดกั้นถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 สายเชียงใหม่ – ลำปาง บริเวณแยกดอยติ สถานที่เกิดเหตุ  อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ  หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริต  เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน  ฝ่าฝืนต่อพ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ. 2535 และพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522
 
พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 อนุมาตรา 2 และ 3
 
พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่า  มูลเหตุการกระทำผิดของจำเลยสืบเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมือง ที่ทราบโดยทั่วไปว่ามีความรุนแรงและเรื้อรังสั่งสมเป็นเวลานานหลายปี  ส่งผลกระทบต่อความเป็นปกติในการดำเนินชีวิตของประชาชนตลอดมา โดยจำเลยกระทำผิดครั้งเดียวเป็นระยะเวลาสั้นๆ ไม่น่าจะส่งผลในวงกว้าง ทั้งไม่ปรากฏโดยแจ้งชัดว่า  ความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการกระทำของ จำเลย หรือผลจากเหตุอื่นด้วย  ทั้งการลงโทษทางอาญาโดยทันที  มิใช่วิธีที่เหมาะสมในการแก้ไขเยียวยาผู้กระทำผิดที่มีมูลเหตุมาจากความขัด แย้งทางการเมืองในลักษณะเช่นนี้  ประกอบกับจำเลยมิเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน  จึงเห็นควรให้รอการกำหนดโทษไว้ ปล่อยตัวไป  เพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตัวในระยะเวลา 3 ปี  โดยกำหนดเงื่อนไขให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 9 ครั้ง ภายในเวลา 2 ปี  และให้จำเลยทำงานบริการสังคมหรือสาธารณะประโยชน์ ตามที่พนักงานคุมความประพฤติและจำเลยเห็นสมควร  เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 40 ชั่วโมง  ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56.

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา