สมบัติ บุญงามอนงค์ : 116

อัปเดตล่าสุด: 19/06/2563

ผู้ต้องหา

สมบัติ บุญงามอนงค์

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2557

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือหนูหริ่ง หรือ บ.ก.ลายจุด ได้ถูกตั้งข้อหา ป.อาญา ม.116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หลังถูกจับกุมเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2557 หลังฝ่าฝืนไม่เข้ารายงานตัวคามคำสั่ง คสช. มีความผิดตามคำสั่ง 41/2557 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

สมบัติ บุญงามอนงค์ ชื่อเล่นว่า "หนูหริ่ง" และมีนามแฝงที่ใช้ในอินเทอร์เน็ตว่า "บ.ก.ลายจุด" เป็นอดีตประธานกรรมการมูลนิธิกระจกเงา เป็นเว็บมาสเตอร์ของเว็บไซต์เพื่อสังคมหลายแห่ง นอกจากนี้ยังเป็นแกนนอนกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง 
 
สมบัติทำงานด้านสังคมมาตลอด กระทั่งเกิดเหตุการณ์รัฐประหารในปี 2549 เขาแสดงจุดยืนคัดค้านการรัฐประหารอย่างชัดเจน พร้อมเป็นแกนนำ "กลุ่มพลเมืองภิวัฒน์ต่อต้านรัฐประหาร"  เป็นแกนนำ "เครือข่าย 19 กันยายน ต้านรัฐประหาร" และยังได้รวมตัวกับเพื่อนก่อตั้ง "กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.)" เพื่อต่อต้านการรัฐประหารและเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง 
 
ในปี 2553 กลุ่ม นปก. ซึ่งเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)" ได้จัดกิจกรรมต่างๆ เช่น การนำผ้าสีแดงไปผูกไว้ที่ป้ายแยกราชประสงค์เพื่อเรียกร้องให้มีการรับผิดชอบต่อการกระชับพื้นที่จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก
 
นอกจากนี้ยังจัดกิจกรรม "ที่นี่มีคนตาย" ทุกวันอาทิตย์ที่ราชประสงค์ ในนามกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง ในปี 2556 รัฐบาลพรรคเพื่อไทยเร่งผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมเหมาเข่งจนเกิดกระแสคัดค้านในสังคม สมบัติก็เป็นอีกหนึ่งคนที่รวบรวมมวลชนผ่านสื่อออนไลน์เพื่อแสดงพลังคัดค้านที่แยกราชประสงค์ด้วย
 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ภายหลังการเข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ได้ประกาศและออกคำสั่งห้ามบุคคลชุมนุม เผยแพร่ข่าวสารหรือส่งข้อความทางสื่อออนไลน์ หรือกระทำการใดๆ ที่จะก่อให้เกิดความปั่นป่วน วุ่นวายถึงขนาดก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้น

โดยระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม – 5 มิถุนายน 2557 สมบัติได้โพสต์ข้อความในเว็บไซต์ Twitter และ Facebook ส่วนตัวว่า "นัดใหญ่ 3 นิ้ว วันอาทิตย์ที่ 8 มิย เที่ยงตรง เห็นชอบกด Like ไปร่วมกด Share" "มีรุ่นใหญ่บอกผมว่าเราล้ม คสช ไม่ได้ผมไม่อยากฟันธง หลุดจากอาทิตย์ ผมจะเสนอกิจกรรม ล้ม คสช" และอีกหลายข้อความซึ่งอาจเป็นการทำให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนและยุยงส่งเสริมให้ประชาชนทำผิดกฎหมายถึงขนาดก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร

พฤติการณ์การจับกุม

ช่วงกลางคืนวันที่ 5 มิถุนายน 2557 สมบัติถูก ผบก.ปอท. ร่วมกับ ร.21 เข้าจับกุมตัวที่บ้านพักที่ อ.พานทอง จ.ชลบุรี หลังจากสำนักข่าวกรองแห่งชาติตรวจสอบหมายเลขไอพีที่ใช้โพสต์ข้อความผ่านอินเทอร์เน็ต จากนั้นจึงนำตัวไปสอบสวนที่ค่ายกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ จ.ชลบุรี (ร.21 รอ.) ก่อนนำตัวขึ้นศาลทหารเพื่อดำเนินคดีต่อไป

ภายหลังถูกจับกุมตัวสมบัติได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า "ผมโดนจับแล้ว" จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวสมบัติไปสอบสวนต่อที่ค่ายทหารแห่งหนึ่ง

 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

24 ก./2557

ศาล

ศาลทหารกรุงเทพ

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล

 

 

 

10 มิถุนายน 2557
 
เกศสุดา บุญงามอนงค์ ภรรยาสมบัติ ประสานงานกับ คสช. ขอเข้าเยี่ยมสามี โดยได้รับแจ้งว่าอยู่ที่หอประชุมกองทัพบก เทเวศร์ เมื่อไปถึงกลับได้รับคำตอบว่านายสมบัติไม่เคยมาที่นี่ เกศสุดากล่าวว่ามีข่าวจากสื่อต่างๆ ว่ามีการนำตัวสมบัติไปที่ ค่ายทหาร ร.21 รอ. ชลบุรี จึงเดินทางไปพร้อมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อไปถึงเจ้าหน้าที่ทหารผู้ดูแลแจ้งว่าสมบัติไม่เคยอยู่ที่นี่ ทำให้ไม่ได้พบกับสามี จึงเรียกร้องถึง คสช. ให้คำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของสามี โดยควรแจ้งให้ญาติได้รู้ว่าเขาอยู่ที่ไหน
 
 
11 มิถุนายน 2557 
 
พลตำรวจตรีพิสิษฐ์ เปาอินทร์ กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินคดี หลังจากสมบัติถูกควบคุมวันครบกำหนด 7 วัน ว่าศาลทหารอนุมัติหมายจับสมบัติแล้วใน 2 ข้อหา คือ ยุยงปลุกปั่น ให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และ ความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยได้รับการประสานจากทหารว่าจะคุมตัวสมบัติให้ ปอท. ในช่วงบ่ายวันนี้เพื่อให้ดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
 
 
12 มิถุนายน 2557 
 
เวลา 10.00 น. เจ้าหน้าที่ทหารนำตัวสมบัติมาส่งมอบให้พนักงานสอบสวนที่กองปราบเพื่อสอบสวนและแจ้งข้อหา 
 
เวลาประมาณ 12.10 น. สมบัติเดินทางมายังศาลทหาร ซึ่งถูกตั้งข้อหา 3 ข้อหา โดยถูกแจ้งข้อหาแรก 2 กรรม คือ ขัดคำสั่ง คสช. ที่ประกาศเรียก 2 ครั้งแล้วไม่รายงานตัว, ข้อหาที่สองคือ มาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา, ข้อหาที่สามคือ มาตรา 14(3) ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ว่าด้วยการนำเข้าข้อมูลความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง โดยมีทนายความทำเรื่องประกันตัวแต่พนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัว สมบัติจึงถูกควบคุมตัวไปฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
 
 
23 มิถุนายน 2557 
 
เวลา 10.45 น. ที่ศาลทหาร มีการพิจารณาคำร้องขอฝากขังสมบัติ ผลัดสอง 12 วัน ระหว่างวันที่ 24 มิถุนายน – 5 กรกฎาคม โดยพนักงานสอบสวนยืนยันต่อศาลว่ามีความจำเป็นต้องขอควบคุมตัวผู้ต้องหาเพื่อตรวจสอบประวัติอาชญากรรมจากลายนิ้วมือและหาข้อมูลหลักฐานเพิ่มเติมตามฐานความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
 
สมบัติลุกขึ้นคัดค้านคำขอฝากขังว่ากระบวนการต่างๆ ของพนักงานสอบสวนดำเนินการได้โดยไม่จำเป็นต้องสอบสวนตนแล้ว จึงไม่จำเป็นจะต้องขอฝากขังตนในผลัดที่สองอีก แต่ศาลทหารอนุญาตให้ฝากขังนายสมบัติผลัดสอง อานนท์ นำภา ทนายของสมบัติจึงดำเนินเรื่องขอปล่อยตัวชั่วคราวทันที
 
หลังจากนั้นทนายอานนท์ ยื่นหลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 4 แสนบาท พร้อมคำร้องประกอบว่าสมบัติพร้อมยุติบทบาท ไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ หากได้ประกันก็จะกลับมาทำงานเพื่อสังคมและอยู่ดูแลลูกสาวกับครอบครัว และหากศาลออกเงื่อนไข ผู้ต้องหาก็พร้อมจะปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
 
เวลา 14.20 น. อานนท์ นำภา เปิดเผยว่า ศาลไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวสมบัติ เนื่องจากถูกจับกุมตัวตามหมายจับ จึงเกรงว่าจะหลบหนี ซึ่งทีมทนายจะหารือแนวทางขอประกันตัวต่อไปว่าจะเพิ่มหลักทรัพย์และหาพยานบุคคลมายืนยันว่าจะไม่หลบหนี 
 
 
4 กรกฎาคม 2557 
 
ศาลทหารกรุงเทพฯ อนุญาตฝากขัง สมบัติ ในผลัดที่ 3 เนื่องจากพนักงานสอบสวนต้องสอบพยานเพิ่มเติม 1 ปาก เพื่อตรวจสอบประวัติอาชญากรและสรุปสำนวนส่งผู้บังคับบัญชา จึงอนุญาตให้ฝากขังผลัดที่ 3 เป็นเวลา 12 วัน ตั้งวันที่ 7 ก.ค. – 16 ก.ค.
 
อย่างไรก็ตาม ศาลได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจากสัญญาประกันตัวยังคงมีผลอยู่ตามเงื่อนไขเดิม คือ ห้ามยุ่งเกี่ยวทางการเมือง และห้ามเดินทางออกนอกประเทศ สมบัติ ยืนยันว่าหลังจากได้รับการประกันตัวจะกลับไปทำงานที่มูลนิธิกระจกเงา ส่วนการทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือการต่อต้านรัฐประหารคงต้องหยุดไว้ก่อน ส่วนที่ตนเองได้มีโอกาสพูดคุยกับบุคคลที่มีมุมมองทางการเมืองที่แตกต่างกัน ซึ่งถูกจองจำอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครนั้น ก็เป็นโอกาสที่ได้เรียนรู้ทำความเข้าใจซึ่งกันและกันในมิติที่กว้างขึ้น แต่ก็ไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนทัศนคติความเชื่อเดิมแต่อย่างใด
 
ในประเด็นการเมือง สมบัติเห็นว่า การยึดอำนาจได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว สังคมควรมองไปข้างหน้า หาทางออกร่วมกัน จึงขอยุติบทบาทตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป ส่วนคดีความก็จะขอประกันตัวออกมาใช้ชีวิตกับลูกสาว และให้ความร่วมมือกับภาครัฐต่อไป
 
อย่างไรก็ตาม นายสมบัติกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า เขาอยากให้ประชาชนหยุดออกไปเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหาร เพราะที่ผ่านมา ประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้แล้วว่ามีคนต่อต้านรัฐประหารเป็นจำนวนมาก ต่อจากนี้ไปอยากให้เปลี่ยนมาเป็นการใส่เสื้อแดงทุกวันอาทิตย์แทน และโฟกัสที่การตรวจสอบกระบวนการต่อจากนี้ เช่น กระบวนการปรองดองและกระบวนการปฏิรูป
 
นอกจากนี้และสมบัติยังกล่าวว่า เขาพร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการปรองดอง เพราะตนมีแนวทางการเคลื่อนไหวอย่างสันติ การปรองดองของคนในชาติควรให้โอกาสผู้ที่เคลื่อนไหวอย่างสันติร่วมด้วย
 
แหล่งอ้างอิง: ประชาไท
 
 
17 กรกฎาคม 2557 
 
พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องฝากขังในผลัดที่สี่ โดยมีกำหนดตั้งแต่วันที่ 18- 29 ก.ค. หลังจากครบกำหนดฝากขังในผลัดที่สามในวันนี้เนื่องจากการสอบสวนพยานและรวบรวมหลักฐานยังไม่เสร็จทั้งนี้ศาลให้ประกันตีราคาประกัน 600,000 บาทพร้อมกำหนดเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวด้วยว่าห้ามไปยุ่งเกี่ยวทางการเมือง และห้ามเดินทางออกนอกประเทศเว้นแต่ได้รับอนุญาต
 
 
4 กันยายน 2557 
 
ที่ศาลทหาร กรุงเทพฯ เวลาประมาณ 11.00 น. ห้องพิจารณาคดี 3 ศาลนัดสอบคำให้การ โดยศาลเริ่มอ่านคำฟ้อง ว่าคดีนี้อัยการศาลทหารกรุงเทพฯ ฟ้องจำเลยว่ากระทำการให้ปรากฏต่อประชาชน โดยวิธีการที่มิได้แสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบในราชอาณาจักรหรือเพื่อให้ประชาชนละเมิดกฎหมายแผ่นดิน และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการทำความเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 
 
จำเลยได้กระทำการผิดกฎหมายดังกล่าวคือ ระหว่างวันที่ 30 พ.ค.2557 – 4 มิ.ย.2557 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกันอันเป็นเวลาที่ คสช.เข้าควบคุมอำนาจประเทศ และต้องการรักษาความสงบและการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยจำเลยได้รับทราบประกาศที่กล่าวมาข้างต้น แต่จำเลยบังอาจพิมพ์และส่งข้อความเป็นหนังสือภาษาไทยในเว็บไซต์ทวิตเตอร์และเว็บไซต์เฟซบุ๊กของจำเลยหลายครั้งเพื่อปลุกปั่นยุยง โดยนัดหมายให้ประชาชนทั่วไปออกมาชุมนุมต่อต้าน คสช.และท้าทาย เป็นการปฏิเสธไม่ยอมรับอำนาจการปกครองประเทศของ คสช. ให้ประชาชนทั่วไปเกิดความปั่นป่วนและกระด้างกระเดื่องที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบภายในราชอาณาจักร และเพื่อให้ประชาชนฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั้งของ คสช.อันเป็นการล่วงละเมิดกฏหมายแผ่นดิน ซึ่งมิใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต ทั้งนี้จำเลยถูกควบคุมตัวตั้งแต่ 12 พ.ค.2557 ถึง 30 มิ.ย.2557 
 
อย่างไรก็ตาม นายสมบัติให้การปฏิเสธตลอดของกล่าวหาและขอต่อสู้คดี โดยศาลนัดตรวจพยานหลักฐาน 25 พ.ย.2557 
 
 
25 พฤศจิกายน 2557
 
นัดตรวจพยานหลักฐาน
 
ที่ห้องพิจารณาคดี 1 ศาลทหารกรุงเทพ ศาลนัดตรวจพยานหลักฐาน คดีที่อัยการทหารเป็นโจทก์ ฟ้องสมบัติ บุญงามอนงค์ ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ ตามมาตรา 14 (3)ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ในวันนี้มีตัวแทนจากสถานทูตเนเธอร์แลนด์และฝรั่งเศส เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย ศาลเริ่มกระบวนพิจารณาในเวลา 10.15 น.
 
ทนายความของสมบัติแถลงขอให้ศาลทหารส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า ประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 และ 38/2557 ที่ให้คดีอยู่ในเขตอำนาจศาลทหาร ขัดต่อรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 4 หรือไม่ เพราะมาตราดังกล่าวกำหนดว่า พันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้ 
 
ประเทศไทยเป็นภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ระบุว่า ศาลต้องเป็นอิสระ และ จำเลยในคดีอาญาต้องมีสิทธิอุทธรณ์คำตัดสิน แต่กรณีนี้ เป็นการให้พลเมืองขึ้นศาลทหาร ในที่มีการประกาศกฎอัยการศึก คำตัดสินของศาลทหารถือเป็นที่สุด ไม่สามารถอุทธรณ์หรือฎีกาได้ จึงขัดต่อพันธกรณีดังกล่าว
 
ศาลรับเรื่องไว้พิจารณา แต่อัยการทหารแถลงคัดค้านว่า ประกาศดังกล่าว ไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ศาลจึงสั่งให้อัยการยื่นคำร้องคัดค้านภายใน 30 วัน และนัดให้มาฟังคำสั่งคำร้อง พร้อมทั้งตรวจพยานหลักฐานอีกครั้งในวันที่ 23 มกราคม 2558 เวลา 09.00 น.
 
 
23 มกราคม 2558
 
นัดฟังคำสั่งคำร้องและตรวจพยานหลักฐาน
 
ที่ศาลทหารกรุงเทพ ศาลนัดฟังคำสั่งคำร้องและตรวจพยานหลักฐาน มีเจ้าหน้าที่จากสถานทูตสหรัฐอเมริกามาสังเกตการณ์ ในวันนี้ศาลทหารสั่งยกคำร้องที่สมบัติขอให้ศาลทหารส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าประกาศ คสช. ฉบับที่ 37 และ 38 ขัดหรือแย้งต่อข้อความตามมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 หรือไม่
 
ศาลทหารยกคำร้องโดยระบุว่าศาลทหารไม่มีอำนาจส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 45 ประกอบกับมาตรา 5  มีบทบัญญัติให้อำนาจส่งความเห็นหรือคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดเฉพาะเมื่อมีมติที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา หรือที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดเท่านั้น ไม่มีบทบัญญัติให้อำนาจศาลทหารส่งความเห็นหรือคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ 
 
นอกจากนี้ ศาลทหารมีอำนาจในการพิจารณาคดีและพิพากษาคดีตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 เนื่องจากรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 47 ได้รับรองบรรดาประกาศและคำสั่งของ คสช. ไว้แล้ว
 
ส่วนความเป็นอิสระของศาลทหารนั้น แม้ศาลทหารจะสังกัดกระทรวงกลาโหม แต่ก็มีความเป็นอิสระ เพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีอำนาจในส่วนของงานธุรการของศาลเท่านั้น ส่วนการพิจารณาและตัดสินคดี ผู้พิพากษามีอำนาจตัดสินคดีอย่างเป็นอิสระ
 
จากนั้นศาลได้ตรวจพยานหลักฐานและนัดสืบพยานโจทย์นัดแรกวันที่ 10 มีนาคม 2558 โดยพยานโจทก์มี 11 ปาก พยานจำเลย 5 ปาก
 
 
10 มีนาคม 2558
 
นัดสืบพยานโจทก์  
 
ศาลทหารกรุงเทพนัดสืบพยานโจทก์เป็นวันแรก
 
พยานโจทก์ปากที่ 1 คือ พ.ต.อ.ปรัชญา ประสานสุข รองผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ซึ่งเป็นผู้กล่าวหาจำเลย
 
พ.ต.อ.ปรัชญาเบิกความว่า เหตุในคดีนี้เกิดระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม 2557 – 4 มิถุนายน 2557 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก 
 
ก่อนหน้านั้น ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มีคำสั่งฉบับที่ 65/2557 แต่งตั้งคณะทำงานกำกับดูแลการใช้สื่อสังคมออนไลน์ โดย พ.ต.อ.ปรัชญา เป็นหนึ่งในคณะทำงานสืบสวนสอบสวนและปราบปราม มีหน้าที่สืบสวน จับกุมผู้ทำผิด นำเข้าข้อมูลที่ผิดกฎหมายเข้าไปในสื่อสังคมออนไลน์ 
 
พ.ต.อ.ปรัชญาติดตามพฤติกรรมของจำเลย ซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่าเป็นแกนนอนวันอาทิตย์สีแดง จนพบว่าวันที่ 30 พฤษภาคม 2557 กลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยพิมพ์ข้อความลงทวิตเตอร์ของตนเอง 4 ข้อความ ซึ่งมีลักษณะต่อต้านการรัฐประหาร เช่น
 
“มีผู้ใหญ่บอกว่าตนล้ม คสช. ไม่ได้ หลังจากจบกิจกรรมอาทิตย์นี้ ตนจะเสนอกิจกรรมล้ม คสช.” เขียนต่อต้านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. ว่า “ตอนออกทีวี เวลาสวัสดีไม่ยกมือไหว้ประชาชน” เป็นต้น โดยมีหลักฐานเป็นเอกสารพิมพ์ข้อความบนทวิตเตอร์จากบัญชีชื่อ “บก.ลายจุด@ing”
 
ต่อมาวันที่ 31 พฤษภาคม 2557 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน มีการทวิตข้อความ 3 ข้อความ ในลักษณะสนับสนุนให้ชุมนุมต่อต้านรัฐประหาร จากนั้นวันที่ 3 มิถุนายน 2557 จำเลยพิมพ์อีก 1 ข้อความในทวิตเตอร์ว่า “ถ้าคุณห้ามประชาชน ประชาชนหยุด คุณชนะ ถ้าคุณห้าม ประชาชนต้าน คุณแพ้” วันต่อมา 4 มิถุนายน 2557 จำเลยได้โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อบัญชี “สมบัติ บุญงามอนงค์” จำนวน 6 ข้อความ 
 
พ.ต.อ.ปรัชญากล่าวว่า ข้อความทั้งหมดมิใช่การติชมโดยสุจริต แต่เป็นข้อความที่ก่อให้เกิดการต่อต้านการปกครองประเทศของ คสช. ซึ่งถือเป็นการสร้างความปั่นป่วนในราชอาณาจักร รวมถึงเป็นการท้าทายเจ้าหน้าที่ เพราะจำเลยมีชื่อในประกาศที่คสช.เรียกบุคคลมารายงานตัว ซี่งประกาศออกสื่อทุกแขนง แต่จำเลยไม่ไป จึงท้าทายให้เจ้าหน้าที่มาจับกุม
 
พ.ต.อ.ปรัชญาเบิกความอีกว่า ชุดสืบสวนทำการสอบสวนจนได้ IP Address ต้องสงสัย (IP Address คือ หมายเลขที่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตจัดให้สมาชิกใช้) จึงสอบถามไปยัง 2 บริษัทคือ บริษัททริปเปิลทรี และบริษัทเอไอเอส จนทราบว่าเจ้าของ IP Address ต้องสงสัยคือนายอนุชา 
 
พ.ต.อ.ปรัชญา จึงผสานกองทัพภาค 1 ขอกำลังทหาร เพื่อใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกเข้าค้นบ้านของนายอนุชา ในวันที่ 5 มิถุนายน 2557 เวลา 20.30 น. ตำรวจประมาณ 20 นาย มีพ.ต.อ.ปรัชญาเป็นหัวหน้าชุด  เข้าค้นบ้านที่จ.ชลบุรี เป็นทาวเฮ้า 2 ชั้น มีนายอนุชาเป็นผู้พาเข้าไป
 
บ้านชั้นล่างไม่ได้ใช้ทำอะไร ส่วนชั้น 2 มีห้องล็อคประตูไว้ ตำรวจเกรงว่าจะมีการยิงสวนมาจากในห้อง จึงตัดสินใจทำลายประตู พบนายสมบัติอยู่ภายในห้องกับนางสาวดวงฤดี
 
เจ้าหน้าที่ยังพบว่า คอมพิวเตอร์เปิดค้างหน้าจอบัญชีเฟซบุ๊กของนายสมบัติ พิมพ์ข้อความสุดท้ายว่า “ผมถูกจับแล้ว” จากนั้นเจ้าหน้าที่ตรวจค้น แจ้งข้อหา และแจ้งสิทธิผู้ต้องหาให้จำเลยทราบ ในชั้นจับกุม จำเลยให้การปฏิเสธโดยตลอด ส่วนของกลางก็ตรวจยึดและทำบัญชีของกลาง
 
8 มิถุนายน 2557 พ.ต.อ.ปรัชญา เป็นผู้กล่าวหาและแจ้งความร้องทุกข์ที่ ปอท. ทั้งนี้พยานไม่รู้จักจำเลยมาก่อน รวมถึงไม่เคยโกรธเคืองกัน
 
เนื่องจากเวลาในการสืบพยานหมดลง แต่ทนายจำเลยยังไม่ได้ถามค้าน ศาลจึงนัดสืบพยานปากนี้ต่อครั้งหน้าวันที่ 30 มีนาคม 2558
 
 
13 มีนาคม 2558
 
สืบพยานโจทก์ปากที่ 2 
 
ศาลทหารกรุงเทพ นัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 2 ร.อ.เมธาสิทธิ์ พิมพ์อภิฤติยา นายทหารการยิงสนับสนุน ปฏิบัติหน้าที่ผู้บังคับกองร้อยทหารปืนใหญ่ที่ 12  ผู้กล่าวหาจำเลยในข้อหา ยุยงปลุกปั่นเพื่อให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนละเมิดกฎหมายบ้านเมืองโดยการนำเข้าข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงในราชอาณาจักรสู่ระบบคอมพิวเตอร์ 
 
ร.อ.เมธาสิทธิ์เบิกความว่า ได้รับมอบหมายจากผู้บัญชา ให้ติดตามพฤติการณ์ของจำเลย เนื่องจากจำเลยเป็นแกนนำกลุ่มกิจกรรมทางการเมืองชื่อว่า “กลุ่มวันอาทิตย์สีแดง” นอกจากนี้ คสช. มีประกาศฉบับที่ 3/2557 ให้จำเลยไปรายงานตัวในวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 แต่จำเลยไม่ไปรายงานตัวตามกำหนด 
 
จากการติดตามพฤติการณ์ของจำเลยพบว่า จำเลยโพสต์ข้อความยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งและประกาศของ คสช. ซึ่งอาจก่อให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมือง และมีการท้าทายให้มาจับกุมตัวจำเลย โดยจำเลยโพสต์ข้อความลงในทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กส่วนตัว ระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม 2557 – 4 มิถุนายน 2557 ซึ่งอยู่ในช่วงประกาศกฎอัยการศึก
 
หลังติดตามพฤติการณ์ของจำเลย ตนจึงรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบและเข้าแจ้งความที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เพื่อดำเนินคดี ร.อ.เมธาสิทธิ์เบิกความว่า ไม่เคยรู้จักหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน
 
ทนายจำเลยถามค้านในประเด็นเกี่ยวกับ หลักการประชาธิปไตย พร้อมกับยกประเด็นสิทธิหน้าที่ของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 69 ที่กำหนดให้บุคคลมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีต่อการกระทำที่ให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 
 
ร.อ.เมธาสิทธิ์ตอบคำถามค้านทนายตอนหนึ่งว่า ตนศรัทธาในการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ฝักใฝ่ในการปกครองแบบเผด็จการ การปกครองทั้งสองแบบมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันอยู่ที่ว่าจะนำไปใช้ในสถานการณ์ใด ในบางสถานการณ์ก็มีความจำเป็นต้องใช้ระบอบเผด็จการ และในสถานการณ์ปัจจุบัน ตนเห็นว่า ตนศรัทธาในระบอบเผด็จการ
 
ร.อ.เมธาสิทธิ์ เบิกความอีกว่า เหตุที่ตนมาแจ้งความคดีนี้เพราะเห็นว่าจำเลยต่อต้านรัฐประหารโดยไม่มีเหตุผล หากมีเหตุผลตนก็จะไม่แจ้งความ
 
ร.อ.เมธาสิทธิ์เบิกความยืนยันว่า ถ้าการปกครองระบอบประชาธิปไตยสามารถทำให้ประเทศชาติอยู่ได้อย่างสงบสุข ก็จะไม่เกิดเหตุการณ์เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ขึ้น
 
ทั้งนี้ ทนายจำเลยคัดค้านที่ศาลไม่ได้บันทึกคำถามและคำตอบเกี่ยวกับการปฏิวัติและรัฐประหารในอดีตปี 2516 และ 2549
 
เนื่องจากทนายจำเลยถามค้านพยานยังไม่แล้วเสร็จ ศาลจึงขอเลื่อนการถามค้านพยานปากนี้ออกไปเป็นวันที่ 3 เมษายน 2558
 
 
30 มีนาคม 2558
 
นัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 1 พ.ต.อ.ปรัชญา ประสานสุข ผู้กล่าวหา (สืบต่อจากนัดวันที่ 10 มีนาคม 2558)
 
ศาลทหารกรุงเทพ  นัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 1 พ.ต.อ.ปรัชญา ประสานสุข ผู้กล่าวหาจำเลย การสืบในวันนี้เป็นการสืบต่อจากวันที่ 10 มีนาคม 2558 ในนัดก่อน อัยการทหารถามคำถามพยานเสร็จแล้วแต่ทนายจำเลยยังไม่ได้ถามค้าน กระบวนพิจารณาในวันนี้จึงเริ่มที่การถามค้าน โดยทนายจำเลยถามค้านในประเด็นเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขกับระบอบเผด็จการ และสิทธิ หน้าที่ของประชาชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญ 2550
 
พ.ต.อ.ปรัชญาเบิกความว่า ตนเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพราะระบอบดังกล่าวเปิดโอกาสให้ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐได้ พ.ต.อ.ปรัชญาเบิกความต่อว่า ตนจบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน และเคยปฏิญาณว่าจะจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และจะปกป้องประชาธิปไตย ตนทราบว่าบุคคลมีสิทธิต่อต้านการกระทำที่ทำให้ได้อำนาจการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 69
 
ทนายจำเลยนำรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาให้พ.ต.อ.ปรัชญาดูเนื้อหาในมาตรา 48 ที่กำหนดให้การยึดอำนาจการปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติไม่เป็นความผิด ซึ่งประกาศราชกิจจานุเบกษาลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 ทนายจำเลยถามว่า แสดงว่าก่อนวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 การกระทำของ คสช. ถือว่าผิดกฎหมาย และจำเลยโพสต์ข้อความต่อต้านคสช.ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน อันเป็นช่วงก่อนการประกาศราชกิจจานุเบกษา ถูกต้องหรือไม่ พยานตอบว่าใช่ 
 
ทนายจำเลยถามว่า ข้อความของจำเลยหยาบคายหรือยุยงให้ผู้อ่านก่อความรุนแรงหรือไม่ พ.ต.อ.ปรัชญาตอบว่า ข้อความของจำเลยไม่หยาบคาย และไม่ก่อให้เกิดรุนแรง ทนายจำเลยให้พยานดูข้อความอื่นๆ ของจำเลยที่อัยการไม่ได้ส่งให้ศาล พยานให้การว่าบางข้อความเป็นข้อความธรรมดา แต่ถ้าดูข้อความรวมๆ กันแล้วอาจเป็นการยั่วยุปลุกปั่น
 
ทนายจำเลยยกบางข้อความของจำเลยมาถาม เช่น แถลงการณ์กิจกรรม 3 นิ้ว 3 เวลา  ทนายจำเลยชู 3 นิ้ว แล้วถามพ.ต.อ.ปรัชญาว่า การชู 3 นิ้วในห้องพิจารณาคดีเป็นการยั่วยุปลุกปั่นหรือไม่ พ.ต.อ.ปรัชญาตอบว่า ต้องพิจารณาว่า ใครเป็นคนชู 3 นิ้ว และชูด้วยเจตนาใด ในสถานที่และช่วงเวลาใด ซึ่งตนทราบว่าการชู 3 นิ้วเป็นสัญลักษณ์ของเสรีภาพ มีที่มาจากภาพยนตร์ต่างประเทศ
 
ทนายจำเลยถามว่า พ.ต.อ.ปรัชญาเห็นด้วยกับการปกครองแบบเผด็จการหรือไม่ พ.ต.อ.ปรัชญาไม่ตอบ
 
ศาลนัดสืบพยานปากนี้ต่อในวันที่ 29 เมษายน 2558 เนื่องจากทนายยังถามค้านจำเลยไม่เสร็จ
 
 
3 เมษายน 2558
 
นัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 2 ร.อ.เมธาสิทธิ์ พิมพ์อภิฤติยา ผู้กล่าวหา (สืบต่อจากนัดวันที่ 13 มีนาคม 2558)
 
ศาลทหารกรุงเทพ  นัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 2 ร.อ.เมธาสิทธิ์ พิมพ์อภิฤติยา ผู้กล่าวหาจำเลย การสืบในวันนี้เป็นการสืบต่อจากวันที่ 13 มีนาคม 2558 ซึ่งทนายจำเลยยังถามค้านไม่เสร็จ 
 
ร.อ.เมธาสิทธิ์ตอบคำถามทนายจำเลยตอนหนึ่งว่า ข้อความที่จำเลยโพสต์ลงเฟซบุ๊ก เป็นข้อความที่คนทั่วไปสามารถอ่านและแสดงความคิดเห็นตอบโต้ได้หรือไม่ พยานตอบว่าใช่ ทนายจำเลยถามต่อว่า พยานได้เข้าไปแสดงความคิดเห็นหรือเตือนว่าข้อความดังกล่าวผิดกฎหมายหรือไม่ พยานตอบว่าไม่ได้เข้าไปเตือน
 
ร.อ.เมธาสิทธิ์ไม่แน่ใจว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.เป็นบุคคลสาธารณะที่ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ได้หรือไม่ สำหรับการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองร.อ.เมธาสิทธิ์เห็นว่า จะต้องเป็นการแสดงออกโดยสุจริต มีมูลความจริง ไม่ใช่การใส่ร้ายป้ายสี หรือกุเรื่องขึ้นมา
 
ทนายจำเลยให้ร.อ.เมธาสิทธิ์ดูข้อความตามฟ้องหลายข้อความ และ ถามคำถาม เช่น ข้อความที่ว่า “ประยุทธ์ตอนออกทีวี พูดคำว่าสวัสดีแต่ไม่ยกมือไหว้ประชาชน แถมยักคิ้วให้ด้วย สุดยอดจริงๆ ” ร.อ.เมธาสิทธิ์ตอบว่า ไม่ทราบว่าข้อความดังกล่าวเป็นการวิพากษ์วิจารณ์และแสดงความคิดเห็นหรือไม่ เพราะไม่เคยได้ยินข้อความนี้มาก่อน
 
ข้อความ “ต้านรัฐประหารเป็นผู้ร้าย ทำรัฐประหารเป็นคนดี เหนื่อยนะ” ร.อ.เมธาสิทธิ์เห็นว่าเป็นการแสดงความคิดเห็น แต่ไม่แน่ใจว่าผู้โพสต์มีเจตนาอย่างไร เข้าใจว่าน่าจะมีเจตนาเหน็บแนม อย่างไรก็ตาม ไม่แน่ใจว่า จะถึงขนาดยุยงปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรงหรือไม่
 
ข้อความ “การชุมนุมต้าน รปห. ไม่สามารถล้มล้าง คสช. ได้ แต่มันเป็นการประกาศจุดยืนว่าคนไทยกลุ่มนี้ไม่เห็นด้วยกับเผด็จการทหาร” ร.อ.เมธาสิทธิ์ไม่แน่ใจว่าข้อความนี้เป็นการแสดงออกเพื่อต่อต้านการปกครองแบบเผด็จการหรือไม่ แต่เมื่อฟังข้อความนี้แล้วตนรู้สึกเฉยๆ ไม่ต้องการออกไปก่อความรุนแรง
 
เนื่องจากทนายจำเลยยังมีประเด็นที่ต้องถามค้านพยานปากนี้อีกมาก ศาลจึงให้สืบพยานต่อนัดหน้าโดยจะกำหนดวันภายหลัง
 
 
29 เมษายน 2558
 
นัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 1 พ.ต.อ.ปรัชญา ประสานสุข ผู้กล่าวหา (สืบต่อจากนัดวันที่ 30 มีนาคม 2558)
 
ศาลนัดสืบพยานโจทก์ พ.ต.อ.ปรัชญา ประสานสุข เป็นผู้กล่าวหาจำเลย วันนี้เป็นการสืบพยานต่อจากวันที่ 30 มีนาคม 2558 ซึ่งทนายจำเลยยังถามค้านไม่แล้วเสร็จ
 
พยานเบิกความว่า ทราบว่าหัวหน้า คสช. ในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ออกคำสั่งที่ 3/2557 แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ทหารเป็นเจ้าพนักงาน ซึ่งคำสั่งดังกล่าวอาจกระทบต่อสิทธิเสรีภาพประชาชนทั่วไป แต่ในทางปฏิบัติก็ไม่ได้นำใช้กับทุกคน แต่ใช้เท่าที่จำเป็นเพื่อรักษาความสงบในชาติ และถ้าใช้อย่างมีคุณธรรมแล้วน่าจะเหมาะสมกับสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน
 
พยานกล่าวว่า ตนร่วมควบคุมตัวจำเลยและตรวจค้นบ้านจำเลยเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2557 โดยใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกของฝ่ายทหาร ในวันเดียวกันนั้น ตนได้บันทึกการตรวจยึดคอมพิวเตอร์และหลักฐานต่างๆ จากนั้นควบคุมตัวจำเลยและพวกอีก 3 คน ตามอำนาจกฎอัยการศึกส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร แต่ตนไม่ได้เป็นผู้ทำบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลย ส่วนเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารจะเป็นผู้ทำบันทึกหรือไม่ ตนไม่ทราบ
 
ส่วนผู้ที่ถูกควบคุมตัวไปพร้อมกับจำเลยมีผู้หญิงหนึ่งคน ทั้งหมดถูกนำตัวไปควบคุมในหน่วยทหารตามอำนาจกฎอัยการศึก จำนวน 7 วัน โดยตนขับรถตามไปแต่ไม่ได้เข้าไปในหน่วยทหาร แล้วตนก็กลับไป ตนไม่ทราบว่าจำเลยกับพวกถูกปิดตาและถูกสอบสวนโดยไม่ให้พบญาติและทนายหรือไม่ และไม่ทราบว่าจำเลยถูกแจ้งข้อกล่าวหาในวันเวลาใด
 
นอกจากนี้ พยานกล่าวถึงข้อความที่จำเลยโพสต์ว่า ถ้าอ่านข้อความตามฟ้อง ประกอบกับสถานการณ์ในขณะนั้น ซึ่งจำเลยมีบทบาทและเป็นผู้นำในการแสดงความคิดเห็นก็อาจก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในบ้านเมืองขณะนั้นได้
 
ขณะที่ ช่วงเวลาตั้งแต่ 30 พฤษภาคม – 4 มิถุนายน 2557 ระหว่างที่จำเลยโพสต์ข้อความไม่มีเหตุการไม่สงบเกิดขึ้น แต่มีการชุมนุมทุกวันอาทิตย์โดยมีจำเลยเป็นผู้นำในการนัดชุมนุม
 
ส่วนการได้ IP Address ของจำเลย มีเจ้าหน้าที่นำมาให้ตนตรวจสอบตามเลขดังกล่าว ซึ่งได้มาโดยวิธีทางเทคนิคติดตามเฟซบุ๊กส่วนตัวของจำเลยเท่านั้น
 
พยานตอบการถามติงของอัยการว่า คสช.ออกคำสั่งและประกาศต่างๆ โดยอาศัยอำนาจความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ หมายถึง ผู้ใช้ผู้ใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์จะมีอำนาจเต็มในการบริหารประเทศ การที่จำเลยโพสต์เฟซบุ๊กชักชวนให้ประชาชนออกมาชุมนุมถือว่าละเมิดคำสั่ง คสช. ซึ่งเป็นคำสั่งที่ออกโดยรัฏฐาธิปัตย์ที่ถือว่าเป็นกฎหมายแล้ว
 
 
4 กรกฎาคม 2558
 
นัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 2 ร.อ.เมธาสิทธิ์ พิมพ์อภิฤติยา (สืบต่อจากนัดวันที่ 29 เมษายน 2558)
 
ศาลทหารกรุงเทพ  นัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 2 ร.อ.เมธาสิทธิ์ พิมพ์อภิฤติยา ผู้กล่าวหาจำเลย การสืบในวันนี้เป็นการสืบต่อจากวันที่ 13 มีนาคม 2558 ซึ่งทนายจำเลยยังถามค้านไม่เสร็จ
 
พยานตอบคำถามทนายจำเลยที่ว่า ข้อความตามที่ปรากฏในคำฟ้องว่า "ถ้าคุณห้าม แต่ประชาชนหยุด คุณชนะ ถ้าคุณห้าม แต่ประชาชนต้าน คุณแพ้" ซึ่งจำเลยพิมพ์ผ่านทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2557 นั้นเป็นข้อความที่แสดงความไม่เห็นด้วยกับ คสช. ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่
 
พยานตอบคำถามทนายจำเลยที่ว่า ข้อความตามที่ปรากฏในคำฟ้องว่า "ทหารไทยกำลังใช้โมเดลเดียวกับที่ทำไม่สำเร็จในภาคใต้ มาใช้กับคนไทยทั่วประเทศ ล้มเหลวแล้วล้มเหลวอีก งานการเมืองไม่เหมาะกับทหาร ผมยืนยัน" ซึ่งจำเลยพิมพ์ผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2557 นั้นเป็นข้อความที่แสดงความเห็นว่าทหารไม่ควรมาเกี่ยวกับการเมืองใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่
 
พยานตอบคำถามทนายจำเลยที่ว่า ข้อความตามที่ปรากฏในคำฟ้องว่า "สังหรณ์ใจว่าร่าง รธน. ของ คสช. อาจมีเนื้อหาว่า สส.(ผู้แทนราษฎร) ส่วนหนึ่งมาจากการสรรหา (ลากตั้ง) แบบ รธน. พม่า" ซึ่งจำเลยพิมพ์ผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2557 นั้นเป็นข้อความที่จำเลยวิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่
 
พยานตอบคำถามทนายจำเลยที่ว่า ข้อความตามที่ปรากฏในคำฟ้องว่า "ผมพูดชัดๆ อีกครั้งนะครับ เผื่อสมองเสื่อม ผมไม่ไปรายงานตัวกับพวกกบฏปล้นอำนาจประชาชน ถ้าอยากได้ตัวผม มาจับผมไป กรูอยู่ประเทศของกรูนี่แหละ" ซึ่งจำเลยพิมพ์ผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2557 นั้นเป็นข้อความที่แสดงว่าจำเลยไม่เห็นด้วยกับ คสช. และแสดงการอารยะขัดขืนไม่ไปรายงานตัวใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่
 
พยานตอบคำถามทนายจำเลยว่า ข้อความที่นำมาใช้ฟ้องจำเลยคดีนี้เป็นข้อความบางส่วนเท่านั้นไม่ใช่ทั้งหมด และทราบเฉพาะข้อความที่นำมาใช้ฟ้องจำเลยเท่านั้น
 
ทนายจำเลยได้นำกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2539 และ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ให้พยานดูและถามว่าพยานได้นำมาใช้พิจารณาในการฟ้องคดีของจำเลยด้วยหรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ได้นำมาพิจารณาในการดำเนินคดีกับจำเลยด้วย
 
พยานไม่ทราบว่าการกระทำของจำเลยจะชอบด้วยรัฐธรรมนูญปี 2550 และกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่ แต่การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำในขณะที่มีสถานการณ์พิเศษ
 
หลังสืบพยานเสร็จสิ้น อัยการแถลงต่อศาลว่า นัดสืบพยาน พ.ต.ท.วันพิชิต วัฒนศักดิ์มณฑา ในวันที่ 5 สิงหาคม 2558 พยานไม่สามารถมาศาลได้ เนื่องจากติดธุระราชการ จึงขอเลื่อนการสืบพยานไปเป็นวันที่ 24 สิงหาคม 2558 
 
 
24 สิงหาคม 2558
 
นัดสืบพยาน
 
ศาลนัดสืบพยานช่วงเวลา 08.30 น. แต่ได้ออกนั่งพิจารณาคดีเวลาประมาณ 09.30.  พยานโจทก์วันนี้คือ พันตำรวจโทวันพิชิต วัฒนศักดิ์มณฑา  โดยทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานผู้ตรวจค้นและพบตัวสมบัติที่บ้านพัก
 
พยานเบิกความว่าได้รับทราบจากผู้บังคับบัญชาเรื่อง สมบัติ  เป็นบุคคลที่ถูกเรียกให้รายงานตัวต่อ คสช. ตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 3/2557 ลำดับที่ 60 ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 แต่ไม่ไปรายงานตัวตามประกาศดังกล่าว
 
ตนจึงได้รับคำสั่งให้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารเข้าตรวจค้นสถานที่ที่คาดว่าจะพบตัวสมบัติ และก็ได้พบตัว สมบัติ ในสถานที่นั้นจริง 
 
เจ้าหน้าที่ทหารจึงใช้อำนาจตาม กฎอัยการศึก เข้าควบคุมตัวสมบัติ  ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจยึดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ตรวจค้นพบ และนำส่งของกลางต่อพนักงานสอบสวนเพื่อตรวจพิสูจน์
 
ทนายถามค้าน  โดย พยานเบิกความตอบคำถามทนายว่า พยานไม่ทราบว่าการรัฐประหารนั้นจะถือว่ามีผลสมบูรณ์เมื่อใด
  
 ทั้งนี้ยังตอบคำถามทนายโดยยอมรับว่า ที่สมบัติ  ออกมาต่อต้านการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองของ คสช. นั้น สมบัติ กระทำโดยสันติวิธี ถือเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่จะทำได้ และได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และฉบับ 2550 และย่อมได้รับการคุ้มครองสิทธิดังกล่าวด้วย ตามมาตรา 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ด้วย
    
โดยวันนี้ศาลสืบพยานปากนี้ยังไม่เสร็จ จึงเลื่อนไปสืบพยานต่อในนัดหน้า วันที่ 15 กันยายน 2558  โดยฝ่ายโจทก์ยังมีพยาน ที่จะนำมาสืบอีกจำนวน 8 ปาก
 
 
15 กันยายน 2558

ศาลออกนั่งพิจารณาคดีเวลา 10.00 น. วันนี้เป็นการสืบพยานโจทย์ต่อจากวันที่ 24 สิงหาคม 2558 พยานคือ พ.ต.ท.วันพิชิต วัฒนศักดิ์มณฑา เป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานผู้ตรวจค้นและพบตัวสมบัติที่บ้านพัก

ทนายจำเลยให้พยานว่าดูรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 47 ที่นิรโทษกรรมให้การทำรัฐประหาร พยานรับทราบ ทนายจำเลยถามว่า ก่อนที่คสช.จะประกาศให้การแสดงออกเป็นการกระทที่ำผิดกฎหมาย ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจสามารถแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีตามช่องทางต่างๆ รวมถึงในโลกออนไลน์ โดยที่ผู้รับสารก็มีวิจารณญาณที่จะไม่ถูกโน้มน้าวชักจูงได้โดยง่ายใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่

ทนายจำเลยถามอีกว่า เท่าที่พยานทราบ สมบัติเป็นผู้ที่เคยทำงานเพื่อประโยชน์สังคม เช่น มูลนิธิกระจกเงา ตามหาคนสูญหาย และไม่เคยใช้ความรุนแรงใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่

ทนายจำเลยให้พยานดูข้อความตามฟ้อง แล้วถามว่าพยานรู้สึกว่าข้อความดังกล่าวจะกระทบต่อความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติหรือไม่ พยานตอบว่า ข้อความของจำเลยไม่ก่อให้เกิดความไม่สงบ แต่อาจทำให้ผู้ที่มีความคิดเห็นเหมือนกันออกมารวมตัวกันมากขึ้นในการวมตัวครั้งต่อไป

ทนายจำเลยให้พยานดูเอกสารและถามต่อไปว่า ประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 แต่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังจากมีประกาศฉบับที่ 7 ใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่ ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม

อัยการถามติงว่า เหตุใดพยานไม่มีหมายค้นก่อนเข้าค้นที่พักของจำเลย พยานตอบว่า เจ้าหน้าที่ทหารใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกเข้าตรวจค้น โดยพยานเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งมีหน้าที่ช่วยทหารในการตรวจค้นเท่านั้น

นัดสืบพยานโจทก์ปากต่อไปวันที่ 26 พฤศจิกายน 2558
 
 
26 พฤศจิกายน 2558
 
ศาลนัดสืบพยานโจทก์ คือ พ.ต.ท.พิพัฒน์ เฉวงราษฎร์ สารวัตรกลุ่มงานสนับสนุนเทคโนโลยี กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เป็นผู้ตรวจค้นและยึดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ของสมบัติที่บ้านพัก แต่วันนี้พยานไม่มาเพราะหมายเรียกพยานส่งไปไม่ถึง เนื่องจากพยานออกราชการแล้ว ศาลจึงเลื่อนการสืบพยานปากนี้ไปเป็นวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา 8.30 น. โดยจะส่งหมายไปที่บ้านของพยานที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี
 
ทั้งนี้ ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า พ.ต.ท.ณภัค หรือ พิพัฒน์ เฉวงราษฎร์ เป็นหนึ่งในเครือข่ายพล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ โดยพ.ต.ท.พิพัฒน์เป็นผู้ต้องหาในข้อหาร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับสินบนระหว่างปฏิบัติหน้าที่ปราบปรามการพนันฟุตบอลออนไลน์ หรือ อาบูบาก้า พ.ต.ท.พิพัฒน์ถูกนำตัวมาฝากขังครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2558 ซึ่งต่อมาได้รับการประกันตัว 
 
 
23 กุมภาพันธ์ 2559
 
ศาลทหารกรุงเทพนัดสืบพยานโจทก์ คือ พ.ต.ท.พิพัฒน์ เฉวงราษฎร์ สารวัตรกลุ่มงานสนับสนุนเทคโนโลยี บก.ปอท. เป็นผู้ตรวจค้นและยึดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ของสมบัติที่บ้านพัก ปัจจุบันลาออกจากราชการมาประกอบอาชีพส่วนตัว 
 
พยานเบิกความว่า ตนเป็นผู้ร่วมตรวจค้นบ้านทาวเฮ้าสองชั้นที่สมบัติพักอยู่กับอนุชา โดยการนำของ พ.ต.อ.ปรัชญา ประสานสุข เจ้าหน้าที่ฝ่ายตำรวจ และ ร.อ.เอกสิทธิ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร การตรวจค้นและจับกุมอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก พยานเข้าไปในห้องชั้นสองหลังจากที่ตำรวจและทหารเข้าคุมตัวสมบัติแล้ว เนื่องจากตนเป็นเจ้าหน้าที่ชุดเก็บของกลาง
 
พยานเบิกความอีกว่า ขณะเจ้าหน้าที่ชุดตรวจค้นจับกุมเข้าควบคุมตัวจำเลย จำเลยนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คของจำเลยเอง ปรากฏหน้าจอสีดำ ตนจึงขอดูเครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าว เมื่อขยับเม้าส์ จอคอมพิวเตอร์เปิดขึ้นเป็นหน้าเพจเฟซบุ๊กชื่อ สมบัติ บุญงามอนงค์ และปรากฏข้อความว่า ผมถูกจับแล้ว จากนั้นตนได้ถ่ายภาพไว้เป็นหลักฐาน และได้นำคอมพิวเตอร์ของกลางมาห่อเพื่อจัดเก็บหลักฐาน เจ้าหน้าที่ตรวจค้นได้ร่วมกันจัดเก็บพยานหลักฐานในห้องที่เกิดเหตุเพื่อนำส่งพนักงานสอบสวน บก.ปอท.
 
เมื่อพยานส่งของกลางไปที่ บก.ปอท. แล้ว หน่วยงานดังกล่าวได้ส่งของกลางไปตรวจพิสูจน์ที่กลุ่มงานสนับสนุนเทคโนโลยี บก.ปอท. 
 
พยานโจทย์ตอบทนายจำเลยถามค้าน ดังนี้
 
พยานไปร่วมตรวจค้นในคดีนี้ตามคำสั่งของ พ.ต.อ.ปรัชญา เท่านั้น แต่ไม่ทราบว่าฝ่ายทหารจะเข้าตรวจค้นโดยรับมอบอำนาจจากหน่วยงานใด ตนไม่ทราบว่าจับกุมจำเลยด้วยสาเหตุใดและมีการแจ้งความจำเลยมาก่อนหรือไม่ การตรวจค้นครั้งนี้เป็นการตรวจค้นตามอำนาจประกาศกฎอัยการศึก ไม่มีหมายยึดหรือหมายตรวจค้น
 
พยานได้รับอนุญาตให้เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยคอมพิวเตอร์ การตรวจยึดการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์โดยปกติต้องมีการกระทำผิดและแจ้งความร้องทุกข์ตามกฎหมายก่อน  คดีนี้มีการจับกุมจำเลยเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2557 ต่อมาวันที่ 8 มิถุนายน 2557 พ.ต.อ.ปรัชญา จึงมาแจ้งความกับพนักงานสอบสวน
 
ก่อนคดีนี้ พยานทราบว่า คสช. ยึดอำนาจและประกาศกฎอัยการศึก รวมถึงยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 การล้มล้างรัฐธรรมนูญมีความผิดหรือไม่ พยานไม่ทราบ และถ้าการยึดอำนาจไม่สำเร็จ ผู้นั้นจะถือเป็นกบฏหรือไม่ พยานไม่ทราบ โดยภายหลังการยึดอำนาจ พยานทราบว่ามีกลุ่มคนออกมาชุมนุมคัดค้านการยึดอำนาจ
 
ทนายจำเลยให้พยานโจทก์ดูสำเนารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 69 และ 70 เกี่ยวกับการที่บุคคลมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธี และมีหน้าที่รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
 
การแสดงความคิดเห็นของจำเลยในสังคมออนไลน์ ผู้ที่เข้าไปดูจะเห็นด้วยหรือไม่ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแต่ละคน
 
พยานเปิดเฟซบุ๊คจำเลยเฉพาะหน้าที่เปิดค้างไว้เท่านั้น ไม่ได้เปิดดูรายละเอียดที่ปรากฏอยู่ในคอมพิวเตอร์ ส่วนหน้าเว็บเพจทวิตเตอร์ พยานไม่ได้ดู
 
ข้อความที่จำเลยแสดงความเห็นในคดีนี้ ในสถานการณ์ปัจจุบัน เป็นการแสดงความเห็นที่สันติหรือไม่ พยานไม่ทราบ แต่การที่จำเลยกล่าวพาดพิง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานั้น พยานเห็นว่าไม่เหมาะสม 
 
 
27 เมษายน 2559
 
ศาลทหารกรุงเทพนัดสืบพยานโจทก์ คือ พ.ต.ท.สันติพัฒน์ พรหมะจุล ผู้เชี่ยวชาญตรวจพิสูจน์หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ไม่มาศาลในวันนี้ เนื่องจากติดราชการเร่งด่วน ไม่สามารถมาเบิกความเป็นพยานได้ แต่อัยการโจทก์ยังมีความประสงค์จะนำพยานปากนี้เข้าสืบอยู่ จึงขอเลื่อนการสืบพยานปากนี้ไปนัดหน้า ทนายจำเลยไม่คัดค้าน  ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่ามีเหตุสมควร จึงให้เลื่อนการสืบพยานปากนี้เป็นวันที่ 22 กรกฎาคม 2559 และให้เพิ่มวันนัดพิจารณาคดีอีก 3 นัด ในวันที่ 15 และ 30สิงหาคม 2559 และ 6 กันยายน 2559 ทุกนัดเริ่มพิจารณาคดีเวลา 08.30 น.
 
 
22 กรกฎาคม 2559 
 
สืบพยานโจทก์
 
ที่ศาลทหาร เวลา 10.00 น. คณะตุลาการออกนั่งพิจารณาคดี โดยนัดนี้เป็นนัดสืบพยานโจทก์ พ.ต.ท.สันติพัฒน์ พรหมะจุล ผู้ควบคุม ตรวจสอบ และวิเคราะห์ผลพยานหลักฐานคอมพิวเตอร์
 
พ.ต.ท.สันติพัฒน์ ให้การว่า จากผลการตรวจพิสูจน์ข้อมูลคอมพิวเตอร์พบว่า วันที่ 5 มิถุนายน  2557 มีการเข้าถึงเฟซบุ๊ก ชื่อบัญชี facebook.com/nuling และโพสต์ข้อความว่า “นัดใหญ่ 3 นิ้ว วันอาทิตย์ที่ 8 มิถุนายน เที่ยงตรง และมีประวัติการเข้าถึง twitter.com/nuling ตั้งแต่วันที่ 2-5 มิถุนายน 2557
 
พยานผู้ตรวจวิเคราะห์พยานหลักฐานคอมพิวเตอร์ เบิกความต่อศาลว่า จากการตรวจพิสูจน์มีทั้งที่ตรวจพบข้อความตามฟ้องบ้าง ไม่พบบ้าง เนื่องจากหลักการทำงานของทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก เมื่อมีการโพสต์ข้อความเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ระบบคอมพิวเตอร์จะบันทึกข้อความนั้นไว้ในหน่วยความจำชั่วคราว แล้วจึงจะส่งไปที่เว็บไซต์ กรณีที่ผู้ใช้ตั้งค่าในเครื่องคอมพิวเตอร์ให้ล้างหน่วยความจำนี้ก็จะตรวจไม่พบข้อมูลที่ได้โพสต์ไว้ การตรวจครั้งนี้จึงพบข้อมูลที่บันทึกไว้ในวันที่ 2-5 มิถุนายน 2557 เท่านั้น
 
ต่อมา พ.ต.ท.สันติพัฒน์ ตอบคำถามค้านของทนายความจำเลยว่า การตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานคอมพิวเตอร์นี้ ตัวพยานไม่ได้ทำการตรวจพิสูจน์เอง มีเจ้าหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบ แต่ พ.ต.ท.สันติพัฒน์ เป็นผู้ควบคุมกำกับดูแลไม่ให้มีการปนเปื้อนของพยานหลักฐาน และตามเอกสาร บก.ปอท.ที่ 0026.(12)4/215 ลงวันที่ 20 มิ.ย. 2557 เรื่องแจ้งผลการตรวจข้อมูลคอมพิวเตอร์ จำนวน 205 หน้า ตามระเบียบของ บก.ปอท. (กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี) จะรับรองผลการตรวจเอกสารเพียงเอกสารใบหน้าใบเดียว ในเอกสารแต่ละหน้าไม่มีการลงลายมือชื่อรับรองไว้
 
พ.ต.ท.สันติพัฒน์ ตอบคำถามค้านทนายความจำเลยอีกว่า ตามโปรแกรม Chrome เพื่อเข้าอินเทอร์เน็ตจะพบเพียงว่าได้มีการเข้าถึงเฟซบุ๊ก แต่ระบุไม่ได้ว่ามีการโพสต์ข้อความลงไปหรือไม่ ตามปกติ คดีเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ไม่จำเป็นต้องทำสำเนาการตรวจสอบข้อมูลในวันที่ตรวจยึด เนื่องจากสามารถทำค่าของการเข้ารหัสฮาร์ดดิสก์ เพื่อให้ได้ค่าเปรียบเทียบย้อนหลังได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลในสำเนาหรือไม่ แต่คดีนี้จะมีการจัดทำค่าของการเข้ารหัสฮาร์ดดิสก์ดังกล่าวหรือไม่นั้น พยานไม่ทราบ
 
นอกจากนี้ พยานยังตอบคำถามค้านเรื่องการชู 3 นิ้วอีกว่า ไม่สามารถให้ความเห็นได้ว่าจะก่อให้เกิดความไม่สงบ หรือความรุนแรงหรือไม่ การปฏิญาณตนของลูกเสือ หรือเรื่องอื่นก็ใช้สัญลักษณ์การชู 3 นิ้ว ส่วนการใช้สัญลักษณ์ชู 3 นิ้วของประชาชนจะสื่อความหมายอื่น ๆ หรือไม่ พยานไม่ทราบ
 
ทั้งนี้ ศาลทหารกรุงเทพนัดสืบพยานโจทก์ครั้งต่อไปเป็นพยานโจทก์ลำดับที่ 5 ร.ต.ต.นเรศ วันที่ 15 สิงหาคม 2559 
 
 
15 สิงหาคม 2559
 
เลื่อนนัดสืบพยานฝ่ายโจทก์ลำดับที่ 5 ร.ต.ต.นเรศ ปลื้มญาติ เป็นวันที่ 30 สิงหาคม 2559 เนื่องจากพยานป่วยเป็นไข้เลือดออก
 
 
30 สิงหาคม 2559
 
สืบพยานโจทก์ลำดับที่ 5
 
ร.ต.ท.นเรศ ปลื้มญาติ เจ้าหน้าที่ฝ่ายอำนวยการ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.)
 
ร.ต.ท.นเรศได้เริ่มสาบานตน และเริ่มเบิกความต่อศาลว่า ได้รับการเลื่อนยศจาก ร้อยตำรวจตรี เป็น ร้อยตำรวจโท ในเดือนมกราคม 2558 ปัจจุบันรัชราชการในฝ่ายอำนวยการ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ปฏิบัติราชการกลุ่มงานสนับสนุนเทคโนโลยี บก.ปอท. ตั้งแต่ปี 2555 มีหน้าที่ ตรวจพิสูจน์หลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ และจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี สาชาวิทยาการคอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2554
 
ร.ต.ท.นเรศเบิกความต่อว่า ในคดีนี้มีหน้าที่เป็นผู้ตรวจพิสูจน์หลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีของกลางในคดีนี้คือคอมพิวเตอร์แม็คบุ๊คแอร์หนึ่งเครื่อง ส่งมาจากกองกำกับการ 2 บก.ปอท. มีวัตถุประสงค์ในการตรวจเพื่อขอทราบว่ามีการโพสต์ข้อความลงบนทวีตเตอร์ ชื่อบัญชี “บก.ลายจุด” แอ็ดหนูหริ่ง และเฟซบุ๊กชื่อบัญชีสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือไม่ ผลการตรวจพิสูจน์ปรากฎดังนี้ วันที่ 5 มิถุนายน  2557 มีการเข้าถึงเฟซบุ๊ก ชื่อบัญชี facebook.com/nuling และโพสต์ข้อความว่า “นัดใหญ่ 3 นิ้ว วันอาทิตย์ที่ 8 มิถุนายน เที่ยงตรง และมีประวัติการเข้าถึง twitter.com/nuling ตั้งแต่วันที่ 2-5 มิถุนายน 2557ร.ต.ต.นเรศ เบิกความเพิ่มเติมว่า จากการตรวจพิสูจน์มีทั้งที่ตรวจพบข้อความตามฟ้องบ้าง ไม่พบบ้าง เนื่องจากผู้โพสต์ข้อความอาจจะไม่ได้ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์แม็คบุ๊คแอร์ของกลางในการโพสต์ข้อความ หรือหน่วยความจำของคอมพิวเตอร์มีจำนวนจำกัด หากมีการโพสต์ข้อความใหม่เข้าไปข้อความเดิมจะถูกทับโดยข้อความใหม่
 
ร.ต.ต.นเรศ เบิกความว่า การตรวจพิสูจน์ทั้งหมดนอกจากมีการทำเป็นบันทึกรายงานแจ้งผลการตรวจแล้ว ยังได้ทำเป็นแผ่นซีดีไว้ด้วย ตามที่อัยการอ้างส่งศาล ขอยืนยันพยานแผ่นซีดีดังกล่าว
พยานไม่เคยรู้จัก และมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
 
ร.ต.ต.นเรศตอบทนายจำเลยถามค้านในเรื่องผู้บังคับบัญชาว่า ปกติแล้วมีหน้าที่ในการตรวจพิสูจน์เครื่องคอมพิวเตอร์ของกลาง แล้วรายงานให้กับ พ.ต.อ.สันติพัฒน์ พรหมะจุล เป็นผู้มีอำนาจลงชื่อเสนอรายงานผลการตรวจพิสูจน์ โดยได้รับเครื่องคอมพิวเตอร์ในการตรวจพิสูจน์เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2557 และเริ่มทำการตรวจพิสูจน์เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2557
 
ร.ต.ต.นเรศตอบทนายจำเลยถามค้านในเรื่องวิธีการได้มาซึ่งข้อมูลว่า เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้ส่งเครื่องคอมพิวเตอร์ของกลางที่แพ็คเรียบร้อยแล้วมาให้ โดยร.ต.ต.นเรศได้เป็นผู้สำเนาข้อมูลในคอมพิวเตอร์ทั้งหมดออกมาจากคอมพิวเตอร์ดังกล่าว และไม่ทราบชื่อของเจ้าหน้าที่ที่ทำการตรวจค้น และแพ็คคอมพิวเตอร์ของกลางมาให้ตรวจสอบ และหากของกลางมีการแกะหีบห่อก่อนที่จะส่งมาถึงตัวของร.ต.ต.นเรศก็จะสามารถทราบได้ว่ามีการแกะมาก่อน 
 
ร.ต.ต.นเรศตอบทนายจำเลยถามค้านในประเด็นการทำรายงานการตรวจสอบว่า ในการตรวจพิสูจน์ไม่จำเป็นต้องมีการออกรายงานในวันที่ทำการตรวจ โดยร.ต.ต.นเรศเป็นผู้ทำสำเนาเอกสารที่สำเนาออกมาจากเครื่องคอมพิวเตอร์ของกลาง ส่วน พ.ต.อ.สันติพัฒน์ เป็นผู้เสนอรายงาน ส่วนสำเนาที่ทำออกมานั้นไม่ได้ทำการรับรองสำเนาถูกต้องไว้แต่อย่างใด และไม่มีข้อความใดที่ระบุว่าเป็นผู้ตรวจสอบ 
 
ร.ต.ต.นเรศตอบทนายถามค้านในประเด็นการตรวจสอบข้อความที่โพสต์ว่า จากการที่ได้รับมอบหมายให้ตรวจสอบการโพสต์ข้อความหลายข้อความ พบว่ามีการโพสต์ข้อความตามที่ให้ตรวจสอบเพียงข้อความเดียว ซึ่งอาจจะเกิดจากการโพสต์ข้อความในวันเดียวกัน ข้อความใหม่อาจทับข้อความเก่าในบางส่วนเท่านั้น แต่ก็ไม่สามารถตรวจพบข้อความที่มาแทนที่ได้ 
ทนายจำเลยหมดคำถาม
 
ถามติง
 
อัยการไม่ถามติง
 
ศาลนัดสืบพยานฝ่ายโจทก์ลำดับที่ 6 ร.ต.ท.พงษ์เทพ วัจนามัย ในนัดถัดไป วันที่ 6 กันยายน 2559
 
 
6 กันยายน 2559
 
เลื่อนนัดสืบพยานฝ่ายโจทก์ลำดับที่ 6 ร.ต.ท.พงษ์เทพ วัจนามัย เป็นวันที่ 6 ธันวาคม 2559 เนื่องจากพยานไม่มาศาลโดยไม่ทราบสาเหตุ และผลของการส่งหมาย และขอให้เพิ่มนัดในการสืบพยานโจทก์อีกหนึ่งนัดในวันที่ 17 มกราคม 2560
 
 
6 ธันวาคม 2559 
 
นัดสืบพยานโจทก์ 
 
ที่ศาลทหารกรุงเทพ เวลา 9.30 น.  ผู้พิพากษาออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคดี โดยวันนี้เป็นการสืบพยานโจทก์ ร้อยตำรวจเอก จิรภัทร ผกาแก้ว รองสารวัตรงานจราจร สภ.บ้านโป่ง สถานีตำรวจภูธร เดิมดำรงตำแหน่ง รองสารวัตรปราบปรามอยู่ที่กองปราบปรามกระทำผิดทางเทคโนโลยี ซึ่งมีหน้าที่สืบสวน ปราบปรามผู้ที่กระทำความผิดทางอาญา 
 
จิรภัทรเบิกความตอบศาลว่า เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2557 ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้นำหมายจับไปจับกุม สมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้ถูกกล่าวหาด้วยข้อหา ยุยงปลุกปั่น ก่อให้เกิดความไม่สงบภายในราชอาณาจักร มาตรา 116 และนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1)โดยจิรภัทรได้ไปจับกุมสมบัติที่กรมสวัสดิการทหารบก แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กทม. เมื่อพบกับสมบัติจึงได้แจ้งข้อกล่าวหา พร้อมกับนำหมายจับแสดงให้สมบัติดู และขอบัตรประชาชนเพื่อตรวจสอบ หลังจากแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว สมบัติได้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา จิรภัทรจึงนำตัวสมบัติส่งที่กรมสวัสดิการทหารบก และสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ของเขา
 
ทนายจำเลยถามค้าน
 
จิรภัทรเบิกความตอบศาลว่า ตนไม่ทราบมาก่อนว่า สมบัติถูกจับกุมตัวภายใต้กฎอัยการศึก 2557 ที่ชลบุรีมาก่อน เนื่องจากเจ้าหน้าที่อีกคนหนึ่งเป็นคนทำบันทึกการจับกุม ทนายจำเลยถามต่อว่า เพราะเหตุใดจิรภัทรไม่ดำเนินการจับกุมสมบัติในวันที่ 9 มิถุนายน 2557 หลังจากที่สมบัติถูกปล่อยตัว ทำไมต้องรอให้เวลาผ่านไป 3 วัน แล้วจึงดำเนินการจับกุม จิรภัทรให้เหตุผลว่า ไม่ทราบ เพราะตนเองก็ได้รับมอบหมายให้ไปดำเนินการจับกุมในวันที่ 12 มิถุนายน 2557 เมื่อพยานได้นำตัวสมบัติส่งให้กับกรมสวัสดิการทหารก็ถือว่าเป็นการเสร็จสิ้นภารกิจ 
 
หลังเสร็จสิ้นการสืบพยานโจทก์ ศาลทหารกรุงเทพนัดสืบพยานโจทก์ลำดับที่ 7 และ 8  อีกครั้งในวันที่ 17 มกราคม 2560
 
 
17 มกราคม 2560
 
นัดสืบพยาน
 
ที่ศาลทหารกรุงเทพ เวลา 9.50 น. ผู้พิพากษาออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคดี โดยวันนี้นัดสืบพยานโจทก์ ศรัณ ปรีชา ผู้จัดการ ส่วนงานกฎหมาย บริษัทแอดวานซ์ อินโฟ เซอร์วิส จำกัด 
 
ศรัณเบิกความต่อศาลว่า เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2557 ได้รับหนังสือจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.)ให้ตรวจสอบข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ หมายเลข IP Address สองหมายเลข คือ 4.9.0.1.1.8.1.1.2.9 และ 4.9.0.1.1.5.8.6 โดยผลการตรวจสอบปรากฎว่า หมายเลขที่ลงท้ายด้วย 1.2.9 จัดสรรให้กับลูกค้าสามราย คือ ณัฐวุธ, จินดารัตน์ และอนุชา ส่วนหมายเลขที่ลงท้ายด้วย 5.8.6 จัดสรรให้กับลูกค้าชื่่ออนุชา โดยมีอุปกรณ์รับสัญญาณเป็น Air net ติดตั้งที่ ตำบลหนองตำลึง อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี
 
ทนายจำเลยถามค้าน 
 
ศรัณเบิกความต่อศาลว่า วิธีการที่จะได้มาซึ่ง IP address นั้นต้องตรวจสอบจากปลายทาง เช่น เว็บไซต์พันทิป เฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์ แต่ หมายเลข IP Address ทั้งสองหมายเลขที่ ปอท. ส่งมาให้ตรวจสอบนั้นศรัณไม่รู้ว่าได้มาอย่างไร โดยตามกฎหมายกำหนดให้ผู้ให้บริการต้องเก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ไว้ 90 วัน และบริษัทมีหน้าที่ต้องรักษาข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าตามกฎหมายกำหนด แต่สามารถเปิดเผยให้กับหน่วยงานของรัฐได้ถ้ามีการร้องขอ ซึ่งต้องทำหนังสือราชการ หรือเป็นหมายเรียกเอกสารมายังบริษัท
 
การตรวจสอบหมายเลข IP Address ของบริษัทเป็นการตรวจสอบจากที่ตั้งอุปกรณ์ air net โดยในการใช้งานแต่ละครั้งหมายเลข IP Address ก็จะเปลี่ยนไปตามการใช้งานทุกครั้งที่มีการเชื่อมต่อ ศรัณกล่าวว่า ไม่ทราบวิธีการซ่อน IP address สำหรับการค้นหาที่อยู่ IP address จากคนนอกที่ไม่ใช่ผู้ให้บริการ ศรัณไม่ได้เป็นผู้ตรวจสอบด้วยตนเอง แต่ศรัณส่งอีเมล์ให้กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิค ซึ่งศรัณไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ตรวจสอบในกรณีนี้ 
 
ผลของการตรวจสอบปรากฎว่า IP address ทั้งสองหมายเลขนั้นไม่มีความเกี่ยวข้องกับจำเลยในคดีนี้ ซึ่งก็คือ สมบัติ บุญงามอนงค์ 
นัดสืบพยานโจทก์ ครั้งต่อไป 5 เมษายน 2560 พิริยะ สุวิระ 
 
 
5 เมษายน 2560
 
สืบพยานโจทก์ 
 
พยานคือ พิริยะ เป็น พนักงานบริษัท triple tree internet
พยานเบิกความสรุปได้ว่าพนักงานสอบสวนของกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ได้ส่งหนังสือราชการขอให้มีการตรวจสอบหมายเลข IP จำนวน 1 หมายเลข ผลจากการตรวจสอบเป็นของผู้สมัครใช้บริการกับทางบริษัทชื่อนายอนุชา(สงวนนามสกุล) ติดตั้งอยู่ที่บ้านพักหลังหนึ่งในอำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี จากนั้นได้ทำหนังสือตอบกลับถึงบก.ปอท.
 
ช่วงทนายความถามค้านพยานเบิกความตอบว่าหมายเลข IP address ที่พนักงานสอบสวนส่งมาให้ตรวจสอบเป็นหมายเลขที่บริษัทออกให้กับผู้มาขอใช้บริการ โดยการตรวจสอบจะนำหมายเลข IP address ที่พนักงานสอบสวนส่งมานำเข้าตรวจสอบกับระบบของบริษัทว่ามีหมายเลขดังกล่าวหรือไม่ ถ้ามีหมายเลข IP อยู่ในระบบก็แสดงว่าเป็นของบริษัท ซึ่งจะสามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นผู้ขอบริการคนใดและติดตั้งอยู่ที่ใด แต่เขาไม่ทราบว่าพนักงานที่ทำการตรวจสอบเป็นใครเพราะมีหลายคน และไม่ทราบขั้นตอนทางเทคนิกการตรวจสอบหมายเลข IP ของบริษัท
 
ทนายความถามว่าก่อนหน้าที่จะมีหนังสือจาก ปอท. ขอให้ตรวจสอบหมายเลข IP เคยมีการติดต่อจากพนักงานสอบสวนโทรศัพท์มาขอให้มีการตรวจสอบหมายเลข IPนี้มาก่อนหรือไม่ พยานตอบว่าไม่เคย และให้ไม่ได้ เจ้าหน้าที่ที่มาขอต้องเป็นเจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เท่านั้นและต้องส่งเรื่องมาตามช่องทางที่ทางบริษัทจัดไว้ให้เท่านั้น และทางบริษัทไม่มีนโยบายที่จะให้ความร่วมมือเป็นการส่วนตัวกับเจ้าหน้าที่รัฐ ส่วนทาง ปอท. จะได้หมายเลข IP มาอย่างไรเขาไม่ทราบ
 
หลังเสร็จสิ้นสืบพยานปากนี้ ศาลนัดสืบพยานปากที่ 10 ร.ต.อ. เกรียงไกร ทองไพร วันที่ 24 เมษายน 2560
 
 
24 เมษายน 2560

นัดสืบพยานโจทก์
 
อัยการทหารแถลงว่าพยานจำเลยปากที่สิบ เลื่อนนัดสืบพยานโจทก์ปากที่สิบ ร.ต.อ. เกรียงไกร ทองไพรติดราชการด่วนไม่สามารถมาศาลได้ ศาลทหารกรุงเทพจึงให้เลื่อนการสืบพยานปากนี้เป็นวันที่ 2 สิงหาคม 2560 
 
สืบพยานโจทก์ปากที่ 10 พ.ต.ต. เกรียงไกร ทองไพร รับราชการพนักงานสืบสวน กรมคุ้มครองผู้บริโภค
 
พยานเบิกความว่า ปัจจุบันทำงานเป็นพนักงานสืบสวน กรมคุ้มครองผู้บริโภค ในขณะเหตุเกิดคดีนี้ พยานทำหน้าที่เป็นพนักงานสืบสวน ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ทำหน้าที่สอบสวนคดีอาญาที่กระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หากเกิดคดีที่มีความสำคัญจะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อพิจารณา 
 
สำหรับคดีนี้ พยานมีความเกี่ยวข้องเป็นหนึ่งในตำรวจชุดสอบสวน พยานเบิกความว่า จำเลยกระทำผิดตามข้อหา มาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) ในระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม – 5 มิถุนายน 2557 ณ อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี โดยปรากฏข้อความบนทวิตเตอร์ ชื่อ บก.ลายจุด และ เฟซบุ๊ก ชื่อบัญชี สมบัติ บุญงามอนงค์ ที่มีลักษณะยุยง ส่งเสริมให้ต่อต้าน คสช. หลายข้อความ 
 
พยานเบิกว่า ได้มีการสอบสวนทางเทคนิคจนทราบที่ตั้งของผู้ใช้งานบัญชีดังกล่าว จึงนำทีมชุดสืบสวน ทหาร และตำรวจเข้าตรวจค้นบ้านตามตำแหน่ง พบสมบัติ บุญงามอนงค์, อนุชา ลำพูน และหญิงอีก 1 คน ซึ่งพยานจำชื่อไม่ได้ และอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึกควบคุมตัวบุคคลในบ้าน และยึดอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสาร พร้อมคอมพิวเตอร์แมคบุ๊กของสมบัติ หลังจากสมบัติถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกนำไปคุมขังไว้ พยานได้รายงานผู้บังคับบัญชาทราบ และนำหลักฐานกลับมาที่ ปอท. 
 
หลังจากนั้น ปอท. ได้แต่งตั้งพนักงานสอบสวน และทำเรื่องยื่่นต่อศาลทหารกรุงเทพในการออกหหมายจับ และจับกุมตัวสมบัติ ในวันที่ 12 มิถุนายน 2557 ที่กรมสวัสดิการทหาร นำส่งให้พนักงานสอบสวน แจ้งข้อกล่าวหา ทำบันทึกข้อกล่าวหาและแจ้งสิทธิของผู้ต้องหา มีการสอบสวนพยานปากอื่นเพิ่มเติม และสอบปากคำจำเลย ซึ่งจำเลยให้การปฏิเสธ หลังจากนั้นคณะทำงานจึงมีความเห็นร่วม สั่งฟ้องสมบัติตามมาตรา 116 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)
 
ทนายจำเลยถามค้าน 
 
พยานตอบคำถามทนายความว่า จบการศึกษาระดับปริญญาตรี นิติศาสตร์บัณฑฺิต รับราชการเป็นพนักงานสอบสวนมาตั้งแต่ พ.ศ. 2550 และพยานไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ การจับกุมตัวจำเลยเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการร้องทุกข์กล่าวโทษ หมายความว่าขณะที่มีการแจ้งความนั้นจำเลยยังถูกควบคุมตัวอยู่กรมสวัสดิการทหาร และพยานไม่ทราบว่าจำเลยถูกเรียกให้ไปรายงานตัวตามคำสั่งของ คสช. 
 
ทนายจำเลยถามว่า ในขณะที่จำเลยโพสต์ข้อความคือวันที่ 30 พฤษภาคม – 5 มิถุนายน 2557 ซึ่งในขณะนั้นไม่มีรัฐธรรมนูญบังคับใช้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ได้ถูกยกเลิกเพราะรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และพยานแจ้งข้อกล่าวหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ไม่ทราบว่าการที่พยานแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยนั้นทำตามความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญฉบับใด พยานแย้งว่าคำถามของทนายจำเลยนั้นไม่เกี่ยวข้องกับหน้าที่การสอบสวนในคดีนี้ พยานจึงไม่ตอบ 
 
ทนายจำเลยจึงถามใหม่ว่า พยานทราบหรือไม่ว่า รัฐธรรมนูญให้สิทธิในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ พยานตอบว่าทราบ และทนายจำเลยถามต่อว่า พยานทราบหรือไม่ว่า รัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดให้ประชาชนมีหน้าที่รักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ ดังนั้นการประกาศยึดอำนาจของ คสช. ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นการล้มการปกครองตามรัฐธรรมนูญ จำเลยจึงทำหน้าที่ในการรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ พยานไม่ตอบโดยให้เหตุผลว่า ไม่เกี่ยวข้องกับคดี แต่ทนายจำเลยแย้งว่า ต้องถามคำนี้เพราะ มันมีความเกี่ยวเนื่องกันกับการโพสต์ของจำเลย 
 
ทนายจำเลยถามพยานอีกว่า การรัฐประหารไม่ได้เป็นการบริหารประเทศตามรัฐธรรมนูญ 2550 ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่ 
 
ทนายจำเลยถามต่อว่า ข้อความที่จำเลยโพสต์ไม่ปรากฎข้อความในลักษณะการปลุกระดมให้ใช้อาวุธ หรือความรุนแรงใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่ แต่ภายหลังจากศาลอ่านคำเบิกความแล้ว พยานขอแก้ไขให้ตัดคำว่า "ในลักษณะ" ออก เพราะเข้าใจคำว่า ข้อความที่จำเลยโพสต์นั้นไม่มีคำว่า การปลุกระดม ใช้อาวุธ หรือความรุนแรง ทนายจำเลยถามต่อว่า การที่จำเลยแสดงความคิดเห็นในการต่อต้านรัฐประหารโดยสันติ เป็นไปตามจุดมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ ปี 2550 หรือไม่ พยานตอบว่า มีความเห็นตามเอกสารรายงานการสอบสวนที่ส่งไปแล้ว 
 
ทนายจำเลยถามถึงสัญลักษณ์การชู 3 นิ้ว พยานไม่ทราบความหมายของสัญลักษณ์ชู 3 นิ้ว ว่า เป็นสัญลักษณ์ก่อให้เกิดความรุนแรง และพยานจำไม่ได้ว่า การปฏิญาณตนของลูกเสือนั้นใช้สัญลักษณ์ชู 3 นิ้ว หรือ 2 นิ้ว และเมื่อทนายทำสัญชักษณ์ชู 3 นิ้วให้พยานดูและถามความรู้สึกพยานว่าพยานรู้สึกอย่างไร พยานตอบว่า ไม่ได้รู้สึกอะไร แต่ถ้ามีคนออกมายืนชู 3 นิ้ว เยอะๆ แล้วจะก่อให้เกิดความวุ่นวายหรือไม่ก็ได้ และคำถามสุดท้ายทนายจำเลยถามว่า มาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 มีผลย้อนหลังให้ประกาศ/คำสั่งของ คสช. ก่อนหน้านั้นชอบด้วยกฎหมาย แสดงว่าก่อนที่จะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ คำสั่งของ คสช. นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายใช่หรือไม่ พยานตอบว่า คำสั่งคสช. มีลักษณะเป็นคำสั่งที่ต้องปฏิบัติตาม และชอบด้วยกฎหมายภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 
 
จนเวลาประมาณ 12.00 การสืบพยานปากนี้ก็ยังไม่เสร็จสิ้น ศาลจึงนัดสืบพยานครั้งต่อไป เป็นการสืบพยานปากนี้ต่อ ในวันที่ 5 กันยายน 2560 เนื่องจากทนายฝ่ายจำเลยยังมีข้อซักถามจำเลยอีกหลายข้อไม่สามารถดำเนินการให้เสร็จภายในนัดนี้ได้ นัดสืบพยานต่อนัดถัดไป 22 สิงหาคม 2562
 
 
5 กันยายน 2560 
 
เลื่อนสืบพยานโจทก์ปากที่ 10 ต่อ เนื่องจาก พยานติดราชการ 
 
 
24 มกราคม 2561 
 
สืบพยานโจทก์ปากที่ 10  ต่อจากครั้งก่อน  พ.ต.ต. เกรียงไกร ทองไพร
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน (ต่อ)
 
พยานตอบคำถามทนายความว่า คดีนี้ไม่ได้สอบปากคำคนกลาง หรือความคิดเห็นของคนทั่วไปเกี่ยวกับโพสต์ของจำเลยในขั้นของการรวบรวมหลักฐาน และการพิจารณาสั่งฟ้องไม่ได้เป็นความคิดเห็นเพียงคนเดียวของพยาน แต่เป็นความคิดเห็นร่วมกัน ในด้านการแสดงความคิดเห็น ถ้าหากจำเลยแสดงความคิดเห็นเชิญชวนให้ประชาชนออกมาทำรัฐประหารนั้นไม่สามารถทำได้ แต่การออกมาแสดงความคิดเห็นเพื่อปกป้องรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ควรทำ การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หรือรัฐบาลเผด็จการนั้นเป็นสิ่งที่กระทำได้ เพราะเป็นการแสดงออกทางความคิด 
 
พยานทราบว่า อนุสัญญาระหว่างประเทศ ปฏิญญาสากลว่าด้วยเรื่องสิทธิของพลเมืองตามข้อ 19 และ 20 เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานดังที่ปรากฎในเอกสารที่ทนายนำมาให้จำเลยดู ส่วนรูปภาพที่ทนายให้พยานดูนั้นเป็นภาพการชุมนุมที่เขียนว่า "การชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ" ซึ่งพยานให้ความเห็นว่า การชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ สงบและสันติวิธีเป็นการชุมนุมที่กระทำได้ แต่สำหรับในภาพพยานไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นการชุมนุมที่ปราศจากอาวุธจริงหรือไม่ เพราะไม่ทราบเหตุผลเบื้องหลังของภาพ 
 
สำหรับข้อความ "นัดใหญ่ 3 นิ้ว ชอบกดไลก์ ไปร่วมกดแชร์" ที่จำเลยโพสต์บนบัญชีเฟซบุ๊กของจำเลยนั้น พยานเห็นว่า ข้อความดังกล่าว มีลักษณะเนื้อหาเชิญชวนให้คนออกมาร่วมชุมนุม และจำเลยเป็นบุคคลที่ทำงานทางด้านสังคม และด้านอื่นๆ เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง และมีพลังในการทำอะไรบางอย่าง อาจจะทำให้เกิดการรวมตัวชุมนุม ดังที่ปรากฎในข้อความ 
 
พยานไม่ทราบว่า ศาลได้พิพากษาคดีของจำเลย เรื่องการก่อความไม่สงบและฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินในสมัยรัฐบาลของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พ.ศ.2553 ซึง คำพิพากษาของศาลฎีกา ได้ยกฟ้อง ตามเอกสารที่ปรากฎ สรุปได้ว่า การแสดงออกเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนตามหลักประชาธิปไตย ไม่มีกฎหมายใดที่จะมาตัดสิทธินี้ได้ 
 
อัยการถามติง 
 
พยานสั่งฟ้องจำเลยในข้อหาสร้างความปั่นป่วน ยุยงปลุกปั่น มาตรา 116 และ การการะทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นข้อความที่ปรากฎในคำฟ้อง เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2557 ในขณะนั้นเหตุการณ์ในบ้านเมืองอยู่ในความวุ่นวาย การโพสต์ของจำเลยอาจจะก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองได้
 
การสั่งฟ้องคดีนี้ได้พิจารณาตามหลักฐานที่ปรากฎ และมีความเห็นว่าควรสั่งฟ้องจำเลยในข้อหาดังกล่าว ตามหลักการของประมวลกฎหมายอาญา เจ้าหน้าที่มีหน้าที่ในการรวบรวมหลักฐานเพื่อพิสูจน์การการกระทำความผิดและความบริสุทธิ์ของจำเลย และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิขั้นพื้นฐานนั้นเป็นสิ่งที่ต้องใช้ในการพิจารณาร่วมด้วย แต่ไม่ต้องนำมาเป็นหลักฐานในการพิจารณาคดีนี้
 
หลังเสร็จสิ้นการสืบพยาน ศาลนัดสืบพยานครั้งต่อไป เป็น พยานปากที่ 11 พ.ต.ต.วสิน จินตเสถียร วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2561 
 
 
5 กุมภาพันธ์ 2561  
 
สืบพยานโจทก์ปากที่ 11 พ.ต.อ. วศิน จินตเสถียร์ พนักงานสอบสวน ปอท.
 
พ.ต.อ. วศิน จินตเสถียร์ เบิกความว่า ปัจจุบันทำงานเป็นผู้กำกับการกองสอบสวน ปอท. ในขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งเป็นพนักงานสอบสวน ทำหน้าที่สอบการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ และตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ความเกี่ยวข้องกับคดีนี้คือ เป็นพนักงานสอบสวนร่วมกับ พ.ต.ท.เกรียงไกร พยานปากที่ 10 และเจ้าหน้าที่อื่นรวมประมาณ 7 คน และคณะกรรมการ 13 คน 
 
เหตุการณ์ของคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2557 – 5 มิถุนายน 2557 ที่จังหวัดชลบุรี เขตทุ่งสองห้อง และทั่วราชอาณาจักร โดยวันที่ 5 มิถุนายน 2557 ทหารได้ใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกเข้าค้นบ้านหลังหนึ่งที่จังหวัดชลบุรี พบจำเลยอยู่ที่บ้านหลังดังกล่าว และพบข้อความสุดท้ายของจำเลยบนเฟซบุ๊กก่อนถูกจับ คือ "ผมถูกจับแล้ว" หน้าที่ของตนเองเกี่ยวกับคดีนี้ คือ สอบสวนพยานทั้งหมด 3 ปาก และจำเลยซึ่งปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา 
 
จากการสอบสวน ปรากฏข้อความบนเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ตามเอกสารที่ให้ไว้แก่ศาล ข้อความดังกล่าวประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ จากการสอบสวน คณะกรรมการมีความเห็นว่า เหตุการณ์บ้านเมืองในขณะนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องการให้บ้านเมืองมีความสงบสุข ข้อความที่ปรากฎบนเฟบุ๊กของจำเลยมีลักษณะปลุกระดม และเรียกร้องให้ต่อต้าน คสช. ซึ่งอาจจะนำไปสู่การต่อต้านเดินขบวน เกิดความวุ่นวาย และ ในขณะนั้น คสช. ไม่ต้องการให้กลุ่มทุกกลุ่มออกมาแสดงความคิดเห็น จึงมีความเห็นสั่งฟ้องจำเลยตามความผิดมาตรา 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ รวมทั้งได้แจ้งสิทธิของผู้ต้องหาให้แก่จำเลยทราบแล้ว  
 
ทนายจำเลยถามค้าน 
 
พยานจบการศึกษานิติศาสตร์ มีความเลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก่อนเข้ารับราชการปฏิญาณว่าจะรักษาระบอบประชาธิปไตยให้ได้ การทำรัฐประหาร หรือการปกครองแบบเผด็จการ คือ การกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองประชาธิปไตย การแสดงความไม่เห็นด้วยกับระบอบปกครองทหารย่อมทำได้ 
 
พยานทราบว่า ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550 มาตรา 69 บัญญัติไว้ว่า ปวงชนชาวไทยมีสิทธิหน้าที่ต่อต้านการปกครองที่ได้อำนาจมาโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งการได้อำนาจมาของพลเอกประยุทธ์ ในขณะนั้นไม่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ หลังจากยึดอำนาจพลเอกประยุทธ์สั่งให้รัฐบาล ส.ส. และ ส.ว. ในขณะนั้นยุติการปฏิบัติหน้าที่ และสั่งให้รัฐธรรมนูญสิ้นสุดลง
 
การทำรัฐประหารของ คสช. นั้นมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 และได้ทำการนิรโทษกรรมตนเองไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ซึ่งประกาศใช้หลังจากที่เกิดคดีนี้ หลังจากนั้น พลเอกประยุทธ์ทำการแต่งตั้ง สนช. และ สนช. เลือกพลเอกประยุทธ์มาเป็นนายกรัฐมนตรี และสั่งให้ตุลาการนำคดีทางการเมืองของพลเรือนขึ้นศาลทหาร ซึ่งขัดกับหลักการปกครอง และระบอบประชาธิปไตย และ คณะ คสช. แต่งตั้งพล.อ.ประยุทธ์เป็นรัฏฐาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งการแต่งตั้งดังกล่าวไม่ได้เกิดจากความยินยอมพร้อมใจจากประชาชนชาวไทย แต่ไม่ทราบว่าได้รับการยินยอมจากชาวต่างชาติหรือไม่ ในขณะที่ออกคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 7/2557 ยังไม่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งใหัพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งหัวหน้า คสช.  (มีประกาศแต่งตั้งเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2557)
 
ในชั้นสอบสวนพยานไม่ได้นำเอกสารที่แสดงความไม่เห็นด้วยของนักวิชาการ มาประกอบการพิจารณาและเพิ่งทราบว่ามีเอกสารดังกล่าวอยู่ การสอบปากคำพยานในชั้นสอบสววน มีเพียงทหารและตำรวจ ไม่มีการสอบถามประชาชนทั่วไปว่า มีความคิดเห็นอย่างไรกับข้อความที่จำเลยโพสต์ 
 
พยานทราบว่าการชู 3 นิ้ว เป็นการชุมนุมที่ปราศจากอาวุธ แต่ไม่ทราบความหมายของการชูสามนิ้วว่าหมายถึง เสรีภาพ ภราดรภาพ และความเสมอภาค และถ้าหากมีการชุมนุมชู 3 นิ้ว หรือการต่อต้านรัฐประหาร หรือ คสช. พยานบอกว่า ทำได้ แต่ถ้าเกิน 5 คน ถือว่ามีความผิดตามประกาศของ คสช. สำหรับข้อความ "นัดใหญ่สามนิ้ว วันอาทิตย์ที่ 8 มิ.ย. เห็นชอบกดไลก์…" เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต แต่ถ้าออกไปชุมนุมเกิน 5 คนก็จะมีความผิดตามประกาศของ คสช. 
 
พยานรับว่า นอกจากนั้นในโพสต์ดังกล่าวไม่ได้ระบุสถานที่ และเหตุการณ์การชุมนุมไม่ได้เกิดขึ้นจริงเพราะว่าจำเลยถูกควบคุมตัวในวันที่ 5 มิถุนายน 2557 พยานทราบว่า การแสดงออกเป็นสิทธิตามกฎหมายระหว่างประเทศของ ICCPR ที่จำเลยสามารถกระทำได้ พยานทราบว่าจำเลยมีประวัติดี ทำงานด้านการช่วยเหลือสังคมและเป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิกระจกเงา
 
อัยการถามติง
 
พยานตอบคำถามอัยการทหารว่า จากการสอบสวน จำเลยไม่เห็นด้วยกับการปกครองของ คสช. แต่การปกครองเป็นเรื่องการเมืองและความมั่นคง ประกอบกับจำเลยเป็นบุคคลมีชื่อเสียง และมีความสนใจทางด้านการเมือง การโพสต์แสดงความคิดเห็็นบนเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ของจำเลย อาจทำให้เกิดการชี้นำ ชาวบ้านอาจจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ได้ 
 
ในส่วนของข้อความที่จำเลยโพสต์นั้น แสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่เห็นด้วยกับการปกครองแบบเผด็จการ ถ้าเกิดอ่านข้อความทั้งหมดโดยรวมแล้วประชาชนอาจจะมาชุมนุม ถ้าเกิดมีการชุมนุมก็อาจเกิดความไม่สงบในบ้านเมืองขึ้น แต่จำเลยถูกควบคุมตัวก่อนส่วนการโพสต์ชูสามนิ้วของจำเลย พยานมองว่า เป็นการโพสต์เชิงสัญลักษณ์ ไม่มีเหตุการณ์การชุมนุมเกิดขึ้นจริงเพราะจำเลยถูกควบตัวตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2557 
 
หลังจากสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้นทั้ง 11 ปาก แล้ว นัดหน้าจะเป็นการสืบพยานฝ่ายจำเลยนัดแรก ในวันที่ 6 มีนาคม 2561
 
 
6 มีนาคม 2561
 
นัดสืบพยานจำเลย
 
สืบพยานจำเลยปากที่หนึ่ง สมบัติ บุญงามอนงค์ จำเลยเบิกความเป็นพยานให้ตัวเอง 
 
สมบัติเบิกความว่า เขาจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่สามจากโรงเรียนปทุมคงคา เริ่มทำงานด้านการพัฒนาในปี 2531 กับโครงการพัฒนาเพื่อการพัฒนาเยาวชน กลุ่มมะขามป้อม ต่อมาจดทะเบียนเป็นมูลนิธิมะขามป้อม โดยมีตำแหน่งเป็นอาสาสมัครโครงการ ต่อมาในปี 2532 จึงเลื่อนเป็นเจ้าหน้าที่โครงการ 
 
ในปี 2534 เขาก่อตั้งกลุ่มศิลปวัฒนธรรมกระจกเงา ปัจจุบันคือมูลนิธิกระจกเงา มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมนวัตกรรมทางด้านสังคม เช่น การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลบุคคลที่สูญหายออกจากครอบครัว และอาสาสมัครสึนามิ โดยตัวเขาเคยดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิกระจกเงา นอกจากนี้เขายังเคยเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาศิลปากรหนึ่งเทอม และเป็นอาจารย์สอนที่โรงเรียนรุ่งอรุณทางด้านเทคโนโลยี

เกี่ยวกับการทำกิจกรรมทางการเมือง สมบัติเบิกความว่าเขาลาออกจากงานประจำเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่ ปี 2534 และทำกิจกรรมทางการเมืองเรื่อยมานับตั้งแต่บัดนั้น เช่นในปี 2540 เขามีส่วนนร่วมในการเคลื่อนไหวเพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน  
 
เกี่ยวกับอุดมการณ์ทางการเมือง สมบัติเชื่อว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน และเชื่อว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นการปกครองที่เคารพสิทธิมนุษยชน และอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย 
 
รัฐธรรมนูญฉบับ ปี 2540 ะบุเรื่องสิทธิและเสรีภาพที่สอดคล้องกับระบอบการปกครองข้างต้น คือ มาตรา 65 "บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธี ซึ่งการกระทำใด ๆ ที่เป็นไป เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้" และ รัฐธรรมธรรมฉบับ ปี 2550 มาตรา 69 ระบุไว้ในทำนองเดียวกัน คือ "บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใด ๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้" 
 
เมื่อเกิดเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 สมบัติเห็นว่าเป็นการได้มาซึ่งอำนาจที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ฉบับ ปี 2550 และผิดกฎหมายอาญา มาตรา 113 หรือความผิดฐานก่อกบฏ ล้มล้างการปกครอง เมื่อถูกคสช. เรียกรายงานตัว สมบัติจึงไม่ไปรายงานตัว และเขียนข้อความลงในเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ส่วนตัวของเขาเพื่อแสดงจุดยืนต่อการได้มาซึ่งอำนาจของ คสช. จากการรัฐประหารที่ทำให้คณะรัฐบาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่  
 
สมบัติเบิกความต่อว่า การรัฐประหารขัดกับหลักนิติรัฐ นิติธรรม รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารจะลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และนานาชาติไม่ให้การยอมรับรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร จะถูกกีดกันทางด้านการค้า นอกจากนี้การตรวจสอบการใช้อำนาจก็ใช้ได้อย่างจำกัด และในทางปฏิบัติมีการจับกุมดำเนินคดีต่อผู้ที่แสดงความคิดเห็นต่างจากรัฐบาล

สำหรับการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ส่วนตัวซึ่งเป็นเหตุแห่งคดีนี้ สมบัติให้เหตุผลว่าเป็นการแสดงจุดยืน และเป็นการแสดงออกโดยสุจริตเพื่อประโยชน์สาธารณะ ส่วนถ้อยคำที่โพสต์ก็เป็นถ้อยคำทั่วไปที่ใช้ในสังคมออนไลน์ ไม่ได้มีคำที่แสดงถึงความรุนแรงและยั่วยุ ซึ่งการแสดงความคิดเห็นดังกล่าวเป็นสิทธิที่ทำได้ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 และรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) ฉบับปี 2557 ก็ได้ระบุไว้เช่นกัน 
 
กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีก็ได้มีการรับรองสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอยู่ในข้อที่ 19 คือ "บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง" และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีก็ได้ระบุสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นไว้ใน ข้อ 19 เช่นกันคือ "ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความเห็นและการแสดงออก ทั้งนี้ สิทธินี้รวมถึงอิสรภาพที่จะถือเอาความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง และที่จะแสวงหา รับ และส่งข้อมูลข่าวสารและข้อคิดผ่านสื่อใด และโดยไม่คำนึงถึงพรมแดน"
 
ข้อความ "ชู 3 นิ้ว" ตามฟ้องสมบัติให้ความหมายว่า สื่อถึง สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพ ซึ่งมาจากภาพยนตร์เรื่อง เดอะฮังเกอร์เกมส์ และข้อความดังกล่าว ไม่สามารถทำให้เกิดความกระด้างกระเดื่อง หรือเกิดความไม่สงบต่อราชอาณาจักรได้ และเป็นการยืนยันอำนาจของประชาชนและแสดงความไม่เห็นด้วยกับอำนาจที่ได้มาของ คสข. 
 
สมบัติเบิกความต่อศาลว่า ที่ผ่านมาเขาไม่เคยต้องโทษจำคุก และคดีที่เกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของเขาที่ศาลแขวงพระนครเหนือ ศาลฎีกาก็พิพากษายกฟ้อง โดยสาระสำคัญคือ ให้รัฐบาลเคารพความเห็นที่แตกต่างของประชาชนและการแสดงความคิดเห็นโดยสันติ ปราศจากอาวุธนั้นเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชน
 
นอกจากนี้ยังมีความเห็นของนักวิชาการ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่เบิกความต่อศาลไว้ว่า การแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกทางด้านการเมืองถือเป็นสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย และหลักการรัฐธิปัตย์ อำนาจเป็นของประชาชน หากประเทศมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่ถ้าหากปกครองแบบเผด็จการ อำนาจจะอยู่ที่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง 
 
สมบัติเบิกความด้วยว่าเขาเคยเป็นอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ภายใต้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เคยได้รับรางวัลจากสภาการพัฒนาเด็กและเยาวชน รางวัล "เยาวชนดีเด่นนักพัฒนา" รางวัลจากมูลนิธิโกมลคีมทอง ในฐานะผู้บำเพ็ญตนเพื่อประโยชน์ต่อสังคม และรางวัลอาโชกา เฟลโล่ จากองค์การ อาโชกา เฟลโล่ ซึ่งให้รางวัลกับบุคลที่ส่งเสริมงานด้านการศึกษา 
 
ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม
 
อัยการทหารแถลงขอเลื่อนไปถามค้านในนัดหน้า ศาลนัดสืบพยานต่อในวันที่ 25 มิถุนายน 2561 
 
 
25 มิถุนายน 2561 
 
การพิจารณาคดีในครั้งนี้เป็นการสืบพยานจำเลยต่อจากครั้งที่แล้ว โดยอัยการจะเป็นฝ่ายถามค้าน พยานจำเลยปากที่ 1 คือ สมบัติ บุญงามอนงค์ ตัวจำเลย ก่อนการเริ่มพิจารณาคดีศาลแจ้งผู้สังเกตการณ์ว่า ไม่ให้จดบันทึกระหว่างการสืบพยาน ให้ฟังอย่างเดียว
 
อัยการถามค้าน 
 
อัยการทหารถามว่า จำเลยทราบหรือไม่ว่า มีประกาศ คสช. ฉบับที่ 1/2557 เรื่องการยึดอำนาจการปกครองประเทศ จำเลยตอบว่า ทราบ แต่จำเลยไม่ทราบว่ามีประกาศ คสช. ฉบับที่ 2/2557 เรื่องการใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร แต่ทราบว่า มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2557 ก่อนที่จะเกิดการรัฐประหาร ต่อมาจำเลยทราบว่าคณะรัฐประหารมีการประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับ 2550 สิ้นสุดลง 
 
จำเลยจำไม่ได้ว่าตนเองถูกเรียกให้ไปรายงานตัวตามคำสั่งของ คสช. ตามประกาศฉบับใด และไม่ได้ไปรายงานตัวตามประกาศฉบับดังกล่าว จึงทำให้จำเลยถูกดำเนินคดีในข้อหาไม่ไปรายงานตัว อัยการได้นำคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยดู และจำเลยรับว่าใช่คำพิพากษาคดีของตนเอง โดยในคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนั้น ศาลให้จำเลยมีความผิดฐานไม่มารายงานตัวตามคำสั่งของ คสช. ให้ลงโทษจำคุกสองเดือน รอลงอาญา ปรับ 3,000 บาท
 
ทนายจำเลยถามติง 
 
สมบัติ เบิกความว่า สาเหตุที่ไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งของ คสช. เพราะว่า คสช. ไม่ใช่องค์กร หรือคณะบุคคลที่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่รู้ว่า เรียกให้ไปรายงานตัวด้วยเหตุผลอะไร และมีสิทธิอะไรมาเรียก การยึดอำนาจดังกล่าวเป็นการได้มาซึ่งอำนาจที่ไม่เป็นไปตามการปกครองระบอบประชาธิปไตย 
 
ส่วนคำพิพากษาคดีไม่ไปรายงานตัวของจำเลย จำเลยต่อสู้ในประเด็นสิทธิและหน้าที่ตามมาตรา 69 และ 70 ในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 ที่กล่าวว่า "บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใดๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้" และ "บุคคลมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้" ศาลเห็นว่า คสช. ยึดอำนาจการปกครองได้สำเร็จแล้วถือเป็นรัฐาธิปัตย์ มีอำนาจในการปกครองและยกเลิกรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2550 จึงทำให้จำเลยไม่สามารถอ้างสิทธิดังกล่าวได้ แต่อย่างไรก็ตาม จำเลยทราบว่าในบางครั้งคำพิพากษาศาลฎีกามีการเปลี่ยนแปลงได้ภายหลัง
 
จำเลยยังทราบว่า ถึงแม้จะมีการประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2550 แต่สิทธิในการต่อต้านโดยสันติวิธีนั้นยังคงอยู่ เพราะเป็นสิทธิตามธรรมชาติ และยังเป็นสิทธิตามปฏิญาสากลระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่ประเทศไทยได้ร่วมลงนามในปฏิญญาดังกล่าวด้วย 
 
หลังเสร็จการสืบพยานปากนี้ ทนายจำเลยแถลงขอสืบพยานนัดต่อไป โดยจะนำนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มาเบิกความ ทุกฝ่ายตกลงนัดวันสืบพยานจำเลยปากที่สอง เป็นวันที่ 3 กันยายน 2561 
 
 
6 สิงหาคม 2562
 
นัดฟังคำสั่งโอนย้ายคดี
 
สมบัติ เดินทางมาถึงศาลทหารกรุงเทพในเวลาประมาณ 13.00 น.  
 
เนื่องจากทนายจำเลยติดภารกิจในการฟังคำสั่งโอนย้ายคดีของอีกคดีหนึ่งที่ห้องพิจารณาคดีที่ 5 ทนายจึงแจ้งต่อเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ว่าขออนุญาตไปฟังคำสั่งที่ห้องพิจารณาคดีที่ 5 ให้แล้วเสร็จเสียก่อนจึงจะมาฟังคำสั่งคดีนี้
 
ในเวลาประมาณ 13.40 น. สมบัติ และทนายของเขามาที่ห้องพิจารณาคดีที่ 1 หลังจากนั้นประมาณห้านาทีศษลก็ขึ้นบัลลังก์และเริ่มอ่านกระบวนพิจารณาคดีทันทีว่า

เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม2562 ได้มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 9/2562 การยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ บางฉบับที่หมดความจำเป็น 

ตามข้อ 2 ให้ยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเกี่ยวกับการกำหนดให้คดีอยู่ในอำนาจของศาลทหาร ตามที่ระบุในบัญชีสองท้ายคำสั่งนี้ กำหนดให้คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลทหารตามประกาศและคำสั่งดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหารตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป แต่ให้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

จึงให้งดการสืบพยานจำเลยในวันนี้และงดการพิจารณาไว้ชั่วคราวและให้โอนคดีไปศาลยุติธรรมกับจำหน่ายคดีจากสารบบความในศาลนี้ ให้มีหนังสือไปสำนักงานศาลยุติธรรม ให้จ่าศาลคัดถ่ายสำนวนคดีเก็บไว้ที่ศาลนี้ด้วย และสัญญาประกันให้มีผลต่อไป
 
ทนายของสมบัติแถลงต่อศาลว่า ขออนุญาตศาลบันทึกในกระบวนการพิจารณาคดีว่า เนื่องจากในคำสั่งประกันตัวของสมบัติ มีการกำหนดหลักเกณฑ์ห้ามเดินทางออกนอกประเทศเอาไว้ ซึ่งหากจะเดินทางออกนอกประเทศ สมบัติต้องเดินทางมาขออนุญาตศาลเป็นครั้งๆไปเพื่อให้ศาลอนุญาต

แต่ในช่วงวันที่ 15 กันยายน 2562 สมบัติจะเดินทางไปเยี่ยมลูกที่ไม่ได้พบกันมา 5 ปี ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่การโอนย้ายคดีจากศาลทหารไปศาลยุติธรรมจะมีช่องว่างของเวลาซึ่งเกรงว่าจะมาขออนุญาตศาลไม่ทันต่อการเดินทางไปต่างประเทศ จึงขอให้ศาลพิจารณาให้อนุญาตเดินทางออกนอกประเทศได้ และบันทึกไว้ในกระบวนพิจารณาคดี ก่อนจะส่งสำนวนไปศาลยุติธรรม
 
ศาลชี้แจงว่า เนื่องจากคำสั่งหัวหน้าคสช. ประกาศออกมาแล้วทำให้ศาลไม่มีอำนาจในการพิจารณาคดีนี้แล้ว จึงไม่สามารถพิจารณาสิ่งที่ทนายแถลงต่อศาลได้ หากพิจารณาไปอาจจะขัดต่อกฎหมายได้ และอาจจะมีปัญหาตามมาภายหลัง
ศาลแนะนำให้ทนายแถลงต่อศาลยุติธรรมที่จะรับคดีนี้ต่อไป

โดยศาลทหารจะทำการส่งคดีทั้งหมดสู่ศาลยุติธรรมประมาณวันที่ 24 สิงหาคม 2562 น่าจะเสร็จสิ้นทั้งหมด หลังจากนั้นศาลยุติธรรมน่าจะมีวันนัดหมายคดีออกมา ซึ่งคดีนี้ต้องไปพิจารณาคดีที่ศาลอาญา ทนาย และจำเลยสามารถไปขออนุญาตที่ศาลอาญาได้หลังจากศาลทหารโอนคดีไป
 
ทนายจำเลยและสมบัติรับทราบคำสั่งศาล การพิจารณาคดีเสร็จสิ้นในเวลาประมาณ 14.00 น.
 
ในเวลาต่อมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนูษยชนให้ข้อมูลว่าศาลอาญากำหนดวันนัดพร้อมคดีนี้แล้วเป็นวันที่ 28 มกราคม 2563 เวลา 9.00 น.
 
28 มกราคม 2563
 
นัดพร้อม
 
ศาลอาญานัดสืบพยานจำเลยคดีนี้วันที่ 19 มิถุนายน 2563 

19 มิถุนายน 2563

นัดสืบพยานจำเลย


สืบพยานจำเลยปากที่สี่ (ปากสุดท้าย) ชำนาญ จันทร์เรือง พยานผู้เชี่ยวชาญทางด้านรัฐศาสตร์ 

ศาลนัดพิพากษาคดีนี้วันที่ 30 กรกฎาคม 2563

 


 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา