เอกชัย: คนขายซีดีสารคดี ABC และเอกสารวิกิลีกส์

อัปเดตล่าสุด: 04/06/2564

ผู้ต้องหา

เอกชัย

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2554

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

พ.ต.ท.ณฐกร คุ้มทร้พย์ พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม เจ้าของสำนวน / พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 สำนักงานอัยการสูงสุด

สารบัญ

เอกชัยถูกกล่าวหาว่าจำหน่ายซีดี ซึ่งบรรจุสารคดีของช่อง ABC ของประเทศออสเตรเลีย เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย และแจกจ่ายเอกสารที่พิมพ์จากเว็บไซต์วิกิลีกส์ เขาถูกตั้งข้อหาว่ากระทำผิดมาตรา 112 ว่าด้วยการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ และพ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ ข้อหาขายซีดีโดยไม่ได้รับอนุญาต

คดีนี้เอกชัยต่อสู้ว่า เจตนาในการเผยแพร่เนื้อหาเพื่อให้คนไทยทราบว่าต่างชาติมองประเทศไทยอย่างไร และเนื้อหานั้นไม่ได้ทำให้เสื่อมเสีย ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุก 5 ปี เพราะเชื่อว่าเนื้อหาเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ โดยพิจารณาจากหลั "วิญญูชน" และปรับ 100,000 บาทฐานขายซีดีโดยไม่ได้รับอนุญาต ก่อนลดโทษ 1 ใน 3 เพราะให้การเป็นประโยชน์ 

ต่อมาศาลฎีกาพิพากษาให้ลดโทษเหลือจำคุก 2 ปี 8 เดือน เอกชัยรับโทษครบและได้รับการปล่อยตัวแล้ว

 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ไม่มีข้อมูล

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา, มาตรา 54 พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวิดีทัศน์

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ข้อมูลจากศาลอาญาระบุว่า เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2554 นายเอกชัยจำหน่ายแผ่นวีดิทัศน์ (ซีดี) โดยไม่ได้รับใบอนุญาต เผยแพร่ภาพและเสียง ข้อความประกอบภาพและภาพเคลื่อนไหวให้ปรากฏต่อสายตาของบุคคลทั่วไป อันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท
 
ข้อมูลจากนายเอกชัยชี้ว่า ซีดีที่เขานำมาขายในราคาแผ่นละ 20 บาท เป็นบันทึกเทปสารคดีของช่อง ABC จากประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นสารคดีเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย
 
ในคำฟ้อง พนักงานได้กล่าวหาว่า 
 
“จำเลยได้บังอาจเผยแพร่ภาพและเสียง ข้อความประกอบภาพเคลื่อนไหวให้ปรากฏแก่สาธารณะชน  โดยนำแผ่นวีดีทัศน์ (VCD) ของสำนักข่าวเอบีซี  ซึ่งปรากฏบุคคลคล้ายกับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช  สยามมกุฎราชกุมาร และภาพคล้ายพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าศรีรัตน์ พระวรชายา รวมทั้งเอกสารวิกิลีก (WIKILEAKS) เป็นบทสนทนาระหว่างขององคมนตรี 3 ท่าน ที่มีข้อความอันมีลักษณะเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัติริย์ พระราชินี หรือรัชทายาท รวมทั้งได้ประกอบธุรกิจจำหน่ายแผ่นวีดีทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนตามกฎหมาย”
 

พฤติการณ์การจับกุม

11 มีนาคม 2554 เจ้าหน้าที่ตำรวจสน.ชนะสงคราม จับกุมตัวเอกชัยขณะกำลังกลับจากไปร่วมเวทีปราศัยเสื้อแดง กลุ่มแดงสยาม ที่เจดีย์ขาว ท้องสนามหลวง พร้อมยึดของกลางเป็นซีดีกว่า 100 แผ่น เครื่องไรท์ซีดี 1 เครื่อง และเอกสารวิกิลีกส์จำนวน 10 ฉบับ เอกชัยอ้างว่าถูกตำรวจชักชวนไปในที่ลับตาเพื่อทำการล่อซื้อซีดีก่อนแสดงตัวเพื่อจับกุม
 
การจับกุมครั้งนั้น นายเอกชัยถูกนำตัวมาแถลงข่าวต่อหน้าสื่อมวลชนด้วย
 
 
 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ประเด็นที่โจทก์นำสืบ

1. จำเลยผลิตและจำหน่ายซีดี ซึ่งมีภาพเคลื่อนไหวและคำบรรยายที่พยานโจทก์อ่านแล้วตีความได้ว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชประพฤติตัวไม่เหมาะสม อันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ให้เสื่อมเสียพระเกียรติ และจำหน่ายเอกสารจากวิกิลีกส์ ที่อ่านเนื้อหาแล้วเข้าใจได้ว่า สมเด็จพระราชินีอยู่เบื้องหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2549 อันเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาทสมเด็จพระราชินี

2. จำเลยจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์โดยหวังผลประโยชน์ตอบแทน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน ตามพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551

 

ประเด็นที่จำเลยนำสืบ

1. จำเลยไม่มีเจตนาดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท แต่เจตนานำเสนอมุมมองของต่างชาติโดยสุจริต จำเลยเห็นว่าซีดีที่จำหน่ายเป็นสารคดีของสื่อต่างประเทศที่นำเสนอข้อมูลได้รอบด้านกว่าสื่อไทย และวิเคราะห์เจาะลึกในประเด็นสถาบันกษัตริย์ ซึ่งจะช่วยให้คนไทยมีมุมมองที่ลึกขึ้น 

2. ข้อมูลในซีดีเป็นความจริงและไม่มีลักษณะหมิ่นประมาท ดูหมิ่น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ และสมเด็จพระราชินี หรือทำให้พระองค์เสื่อมเสียพระเกียรติ เป็นเพียงการวิเคราะห์ข่าวเท่านั้น ประชาชนดูแล้วไม่ทำให้รู้สึกดูหมิ่นเกลียดชัง

3. การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสิ่งที่ทำได้ เพื่อรักษาสถาบันฯ กฎหมายอาญามาตรา112 เป็นกฎหมายที่มีปัญหา ยิ่งมีคดีตามมาตรานี้มาก ยิ่งเป็นผลร้ายต่อสถาบันฯ

อ่านบันทึกสังเกตการณ์คดี ฉบับเต็มความยาว 27 หน้า คลิกที่นี่

 

บันทึกสังเกตการณ์คดีฉบับย่อ

การสืบพยานโจทก์

สืบพยานโจทก์ปากที่หนึ่ง: พ.ต.ท.สมยศ อุดมรักษาทรัพย์ สารวัตรสืบสวน สถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม ผู้จับกุมและผู้กล่าวหา

พ.ต.ท.สมยศ อุดมรักษาทรัพย์ เบิกความว่า วันที่ 10 มีนาคม 2554 บริเวณสวนหย่อมอนุสาวรีย์ทหารอาสา มีการชุมนุมของกลุ่มแดงสยามจากกรณีนายสุรชัย แซ่ด่านถูกดำเนินคดีตามมาตรา112 สายลับสังเกตการณ์การชุมนุมแจ้งว่า มีชายนำซีดีมาเร่ขายแผ่นละ 20 บาท คาดว่ามีเนื้อหาไม่เหมาะสม ตนมอบหมายให้ ด.ต.นคร คงกลิ่น กับด.ต.สกุล บุญแต่ง ติดต่อล่อซื้อโดยนำธนบัตรใบละ 20 บาท ไปทำสำเนาลงบันทึกประจำวันไว้ หลังจากนั้นด.ต.สกุลนำแผ่นซีดีมาให้ จึงเปิดดู พบว่าเป็นภาพเคลื่อนไหว เสียงบรรยายภาษาอังกฤษ มีคำบรรยายภาษาไทยใต้ภาพ “นี่หรือจะเป็นกษัตริย์องค์ต่อไป” ประกอบภาพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ กับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศม์ฯ ซึ่งอยู่ในลักษณะเกือบเปลือย ประทับอยู่ริมสระน้ำ ตนเห็นว่าเป็นการดูหมิ่นและทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ จึงนำกำลังไปยังพื้นที่ชุมนุมเข้าจับกุมจำเลย

พ.ต.ท.สมยศกล่าวว่า จำเลยให้ความร่วมมือขึ้นรถจักรยานยนต์ไปกับด.ต.นครและด.ต.สกุล จากการค้นตัวจำเลย พบธนบัตรใบละ 20 บาท ซึ่งตรงกับที่ถ่ายสำเนาไว้ในกระเป๋าสะพายพบแผ่นซีดีสีขาวยี่ห้อ BenQ และยี่ห้อ Melody เอกสารจากวิกิลีกส์ลงวันที่ 20 กันยายน 2549 จำเลยยอมรับว่าแผ่นซีดีและสำเนาเอกสารจากวิกิลีกส์นั้นนำมาจำหน่ายให้ผู้ร่วมชุมนุม จำเลยจัดทำขึ้นเองโดยดาวน์โหลดจากอินเทอร์เน็ตแล้วบันทึกใส่แผ่น จำเลยทราบว่าเป็นเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมต่อสถาบันฯ แต่ทำไปเพราะต้องการให้ประชาชนรู้ข้อเท็จจริง


พ.ต.ท.สมยศ กล่าวว่า จากนั้นเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมไปค้นบ้านพักของจำเลยโดยจำเลยยินยอมและเป็นผู้พาไป พบเครื่องเขียนซีดี (CD Writer) สีดำไม่มียี่ห้อ แผ่นซีดีสีขาว ยี่ห้อไรท์เทค ที่บันทึกแล้ว 69 แผ่น ซีดีเปล่ายี่ห้อไรท์เทค และเอกสารวิกิลีกส์ที่พิมพ์ออกมาเพื่อทำสำเนาไปจำหน่าย จำเลยรับว่าซีดีที่ตรวจพบที่บ้านมีเนื้อหาตรงกับซีดีที่ตำรวจล่อซื้อ ส่วนซีดีเปล่ามีไว้เพื่อไรท์จำหน่าย จึงแจ้งข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และจำหน่ายวีดิทัศน์โดยได้รับผลประโยชน์ตอบแทนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน จำเลยรับสารภาพว่าได้จำหน่ายซีดีโดยไม่ได้รับอนุญาตและจำหน่ายเอกสารนี้จริง แต่ให้การภาคเสธว่าเป็นการนำเสนอมุมมองต่างชาติถึงสถานการณ์ในประเทศไทย

พ.ต.ท.สมยศ กล่าวว่า ส่วนที่ตนเห็นว่าเป็นการดูหมิ่น คือช่วงนาทีที่ 3.30 คำว่า เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ หมายถึง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ และคำว่า หญิงเกือบเปลือย ราชินีในอนาคต พระชายาองค์ที่ 3 ศรีรัศมิ์ หมายถึง สมเด็จพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ฯ และข้อความว่า พระองค์เป็นกษัตริย์ที่ควบคุมฮาเร็ม คำว่าฮาเร็ม คล้ายกับมีผู้หญิงมาอยู่ด้วยจำนวนมาก สามารถควบคุมให้ทำอะไรก็ได้ ข้อความเหล่านี้ส่งผลให้เกิดภาพไม่ดีต่อพระองค์ท่านในเรื่องชู้สาว ข้อความช่วงนาทีที่ 20.50 แสดงว่าสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ไม่ค่อยสานต่องานของในหลวงเมื่อพระองค์รักษาตัวอยู่ในศิริราช มีแต่สมเด็จพระเทพฯ ที่ทรงงาน ในข้อความที่ว่า พระราชโอรสไม่มีสิ่งใดเหมือนพระองค์ ตีความได้ว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ไม่สนใจช่วยเหลือประชาชน ซึ่งเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาทรัชทายาท

         
พ.ต.ท.สมยศกล่าวว่า ในเอกสารวิกิลีกส์ ฉบับลงวันที่ 1ตุลาคม 2551 ข้อห้า อ่านได้ความว่า สมเด็จพระราชินีอยู่เบื้องหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรโดยปฏิบัติภารกิจผ่านพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระราชินี ฉบับลงวันที่ 25 มกราคม 2553 ข้อแปด ตีความได้ว่าพระบรมโอรสาธิราชฯ ชอบไปอยู่เยอรมันกับพระชายาลับ เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ

พ.ต.ท.สมยศให้การตอบคำถามทนายความว่า สารคดีข่าวในซีดีไม่ได้ฉายในประเทศไทย

 

สืบพยานปากโจทก์ที่สอง: ด.ต.นคร คงกลิ่น อายุ 46 ปี พนักงานสืบสวนผู้ล่อซื้อและร่วมจับกุม

ด.ต.นคร คงกลิ่น เบิกความว่า ตนเป็นผู้ร่วมจับกุมจำเลย มีพ.ต.ท.สมยศ อุดมรักษาทรัพย์ เป็นหัวหน้าชุด โดยเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2554 เวลา 18.00 น. มีสายลับเข้ามาแจ้งกับสารวัตรว่า มีคนนำซีดีที่มีข้อความและภาพหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์มาจำหน่ายบริเวณอนุสาวรีย์ทหารอาสา แผ่นละ 20 บาท พ.ต.ท.สมยศ จึงวางแผนล่อซื้อโดยนำธนบัตรใบละ 20 บาท ไปลงบันทึกประจำวัน ถ่ายสำเนาไว้เป็นหลักฐาน มอบหมายให้ตนกับ ด.ต.สกุล บุญแต่งไปล่อซื้อ

ด.ค.นคร เล่าว่า ตนมองหาชายตามลักษณะที่สายลับแจ้ง คือ รูปร่างสูง สะพายกระเป๋าสีแดง เมื่อเห็นว่าจำหน่ายซีดีจึงเข้าไปสอบถามเหมือนคนทั่วไป จำเลยไม่ได้บอกว่าเป็นซีดีอะไร บอกเพียงว่า มีของดีให้ไปเปิดดูเอา จึงถามราคาแล้วซื้อด้วยธนบัตร 20 บาทที่ลงบันทึกไว้ จากนั้นก็ให้ด.ต.สกุลนำซีดีไปให้สารวัตรตรวจสอบที่สน. ส่วนตนเดินตามคนขายซีดีอยู่ห่างๆ จุดที่ล่อซื้อคือบริเวณหน้าเวที ซึ่งมีแสงสว่างจากหลอดไฟฟ้าชัดเจน

ด.ต.นคร กล่าวว่า ติดตามจำเลยประมาณ 20-30 นาที จากนั้นสารวัตรก็นำกำลังเจ้าหน้าที่มาแสดงตัวเข้าจับกุม และนำตัวไปที่สน. เมื่อไปถึงได้ตรวจค้นตัวจำเลยและกระเป๋า พบธนบัตร 20 บาท ที่นำไปล่อซื้อ หมายเลขตรงกับที่ถ่ายสำเนาไว้ พบกระเป๋าสตางค์ และซีดีที่นำไปขายประมาณ 70 แผ่น ยี่ห้อตรงกับที่ล่อซื้อคือ Melody และอีกยี่ห้อหนึ่ง คือ BenQ พบเอกสารจากเว็บไซต์วิกิลีกส์ปึกหนึ่ง จำไม่ได้ว่าลงวันที่เท่าไรบ้าง จำเลยบอกว่าเนื้อหาทั้งในซีดีและเอกสารมาจากในอินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นข้อมูลที่เผยแพร่อยู่ทั่วไป สนใจจึงดาวน์โหลดมาแล้วทำสำเนาจำหน่าย จำเลยทราบว่ามีภาพและข้อความที่หมิ่นประมาท อ้างว่าในอินเทอร์เน็ตก็มีเผยแพร่ทั่วไป ตนเพียงนำออกมา

ด.ต.นคร ให้การว่า จำเลยยินยอมพาไปตรวจค้นที่บ้าน พบเครื่องไรท์ซีดีที่อยู่ในซีพียู ที่ชั้นล่างของบ้าน ซีดีที่ไรท์แล้ว 60-70 แผ่น และซีดีเปล่าอีกกว่า 100 แผ่น พบเอกสารวิกิลีกส์อีกหลายฉบับ ลงวันที่ต่างกัน จากนั้นได้ควบคุมตัวจำเลยและของกลางไปที่สน. ทำบันทึกการจับกุม และแจ้งข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ และจำหน่ายวีดีทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน จำเลยลงลายมือชื่อรับข้อกล่าวหา

ด.ต.นครให้การว่า ข้อความที่ว่า เป็นกษัตริย์ที่ควบคุมฮาเร็ม อ่านแล้วเข้าใจว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชทรงมีพระชายาหลายพระองค์ ต่างประเทศก็มองในทางที่ไม่ดี ข้อความในนาทีที่ 20.50 อ่านแล้วเข้าใจว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ไม่ปฏิบัติกิจเหมือนในหลวง อย่างเช่นสมเด็จพระเทพฯ ในการช่วยเหลือดูแลทุกข์สุขของประชาชน เอกสารวิกิลีกส์ ฉบับลงวันที่ 1 ตุลาคม 2551 อ่านแล้วเข้าใจว่า สมเด็จพระราชินีอยู่เบื้องหลังการทำรัฐประหาร ปี 2549 โดยสั่งการผ่านพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรี และร่วมกับกลุ่มพันธมิตร เหมือนเป็นการดึงสถาบันฯ เข้ามามีส่วนร่วมกับการเมือง เอกสารวิกิลีกส์ ฉบับลงวันที่ 25 มกราคม 2553 อ่านแล้วเข้าใจว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชไปอยู่กับพระชายาลับ ซึ่งการอยู่กับพระชายาลับเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม

 

สืบพยานโจทก์ปากที่สาม: พ.ต.ท.ณฐกร คุ้มทรัพย์ พนักงานสอบสวนในคดีนี้

พ.ต.ท.ณฐกร คุ้มทรัพย์ เบิกความว่า วันเกิดเหตุประมาณ 01.00 น. ฝ่ายสืบสวนจับกุมตัวจำเลยในข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท และข้อหาจำหน่ายวีดีทัศน์โดยได้รับประโยชน์ตอบแทนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน มีของกลางเป็นแผ่นซีดี เอกสารวิกิลีกส์ และเครื่องไรท์ซีดี มีหลักฐานเป็นสำเนาธนบัตรที่นำไปล่อซื้อ

พ.ต.ท.ณฐกร กล่าวว่า ข้อความในซีดี คำว่า เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ หมายถึง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ คำว่า ราชินีในอนาคต พระชายาองค์ที่ 3 ศรีรัศม์ หมายถึง พระองค์เจ้าศรีรัศม์ฯ ข้อความเป็นการกล่าวหาว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทำตัวไม่ดี ทรงควบคุมฮาเร็ม ตามความเข้าใจของตน ฮาเร็มเป็นที่อโคจร ไม่เหมาะไม่ควรในเรื่องทางเพศ ตนคิดว่าผู้ที่อ่านข้อความนี้จะเกิดความรู้สึกดูหมิ่น เกลียดชังสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ มีข้อความที่อ่านแล้วเข้าใจว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ไม่ได้ดำรงตนอย่างในหลวง เหมือนกับสมเด็จพระเทพฯ ไม่เอาใจใส่ประชาชน คนอ่านจะเกิดความรู้สึกดูหมิ่น เกลียดชังสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ข้อความในเอกสารวิกิลีกส์ อ่านแล้วเข้าใจว่า สมเด็จพระราชินีอยู่เบื้องหลังรัฐประหาร ปี 2549 โดยสั่งการผ่านพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรี และทำงานร่วมกับกลุ่มพันธมิตร ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าพระองค์ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และอีกข้อความหนึ่ง อ่านแล้วเข้าใจว่าสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชใช้ชีวิตกับพระชายาลับที่เยอรมัน แทนที่จะอยู่กับพระองค์เจ้าศรีรัศม์และพระโอรส ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดและเกลียดชังสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ

พ.ต.ท.ณฐกร ให้การว่า ในชั้นสอบสวนได้แจ้งข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่นรัชทายาท โดยตนได้ตรวจสอบจากกฎมณเฑียรบาลว่าสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เป็นรัชทายาท ตนได้ร่วมสอบสวนกับร.ต.อ.อนุรักษ์ พร้อมพงษ์ รวบรวมพยานหลักฐานแล้วเห็นพ้องกันให้ฟ้องจำเลยในข้อหาดังกล่าว

ตอบคำถามทนายความจำเลยถามค้าน พ.ต.ท.ณฐกรให้การว่า เคยทำคดีมาตรา 112 มาแล้ว 5-6 คดี ส่วนใหญ่ผู้ต้องหาจำหน่ายซีดีและกล่าวปราศรัย ส่วนใหญ่เป็นการชุมนุม มีคดีที่เป็นการจำหน่ายซีดีอื่นที่เป็นภาพส่วนพระองค์ด้วย ในชั้นสอบสวนจำเลยรับสารภาพแต่ได้ภาคเสธว่า เป็นการเสนอมุมมองของคนต่างชาติ ไม่ได้เป็นการดูหมิ่น

พ.ต.ท. ณฐกร ให้การว่า คำว่า ฮาเร็ม ตนไม่ได้สอบถามความหมายไปยังผู้รู้หรือตรวจสอบจากพจนานุกรม ในหลวงทรงงานหนักที่สุด สมเด็จพระเทพฯ มักจะทรงงานในการเยี่ยมเยียนประชาชนในที่ทุรกันดารต่างๆ ส่วนสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ มักจะเป็นงานมอบปริญญาบัตร ตนไม่เคยเรียกพลเอกเปรมมาสอบสวน ไม่เคยทำหนังสือไปยังสำนักพระราชวังเพื่อสอบถามถึงข้อเท็จจริงในเอกสารจากวิกิลีกส์ ไม่เคยทำหนังสือไปยังสถานทูตอเมริกาเพื่อสอบถามและไม่เคยสอบถามไปยังนายอีริค จี จอห์น ซึ่งปรากฏอยู่ในเอกสาร ไม่ทราบว่าซีดีที่ตรวจยึดได้เป็นของสำนักข่าว ABC คดีนี้ได้ผ่านคณะกรรมการคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยคณะกรรมการที่พิจารณาคดีหมิ่นฯ มีความเห็นว่าให้ส่งฟ้อง

 

การสืบพยานจำเลย

วันนัดสืบพยานจำเลย

19 กรกฎาคม 2555 ตามกำหนดเดิม วันนี้เป็นวันนัดสืบพยานจำเลย ศาลขึ้นบัลลังก์แล้วปรึกษากับทนายจำเลยถึงแนวทางในการสู้คดี เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาคำร้องขอออกหมายเชิญพยานสองปาก ได้แก่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์และพลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลา องคมนตรี ว่ามีความจำเป็นหรือไม่

ศาลกล่าวกับทนายจำเลยและผู้เข้าฟังการพิจารณาว่า เหมือนจำเลยจะสู้ในประเด็นว่า ข้อความในเอกสารที่จำเลยจำหน่ายนั้นเป็นเรื่องจริง แต่ตามหลักองค์ประกอบของกฎหมายหมิ่นประมาทนั้น ยิ่งจริง ยิ่งหมิ่น ไม่จริง ก็ยิ่งโคตรหมิ่น การพิสูจน์ว่าข้อความจริงหรือไม่ จึงไม่เป็นประโยชน์ต่อจำเลย การอ้างพยานถ้าไม่มีประโยชน์ก็ไม่ควรอ้าง คดีนี้ ในส่วนของเอกสารวิกิลีกส์ โจทย์ไม่ได้อ้างว่าการสัมภาษณ์นั้นไม่จริง แต่นำสืบว่าข้อความนี้เป็นการหมิ่นฯ เป็นเรื่องของการตีความ จึงอยากให้จำเลยคิดให้รอบคอบว่าเรียกพยานมาแล้วจะเป็นประโยชน์หรือไม่

ทนายจำเลย แถลงต่อศาลว่า จำเลยจะต่อสู้ในประเด็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ถ้าเป็นความจริงก็ถือเป็นเสรีภาพโดยปกติ ตนทราบว่าการขอหมายเรียกพยานทั้ง 3 คน เป็นที่ลำบากใจของศาล องคมนตรีเป็นหลักให้กับสังคม ท่านจะต้องพูดความจริง จะสู้ในประเด็นข้อเท็จจริง พระราชินีและองค์รัชทายาทไม่ได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 8 ในรัฐธรรมนูญ การพูดความจริงและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะจึงสามารถทำได้ จากนั้นทนายจำเลยขอเวลาปรึกษากับคณะทำงาน ศาลจึงให้พักการพิจารณา 20 นาที เมื่อกลับมาพิจารณาคดีต่อ ศาลชี้แจงต่อว่า ที่ผ่านมาเห็นว่าเมื่อจำเลยและทนายความยกประเด็นหนึ่งมา จะทุ่มไปที่ประเด็นนั้นเลย แต่ประเด็นอื่นหายไป ศาลเข้าใจความกังวลของจำเลย แต่ถ้าจำเลยกำลังบอกว่าไม่มีเจตนา ก็ไม่ต้องบอกว่าไม่หมิ่นฯ ถ้าสู้ว่าไม่หมิ่นฯ ก็ไม่ต้องสนใจเจตนา ถ้าบอกว่าจะสื่อทั้งสองแนว ทั้งเจตนาและเรื่องข้อความ มันไม่มีกำลังและอาจจะขัดกันเอง

ศาลสรุปว่า จะให้งดการออกหมายเรียกองคมนตรีทั้งสองท่านก่อน ถ้ายังต้องการค่อยยื่นคำร้องเข้ามาใหม่ เรื่องนี้ละเอียดอ่อน ทนายจำเลยแถลงว่าจะพิจารณาเปลี่ยนแนวทาง โดยการเชิญพยานจำเลยเพิ่มเติม เช่น สุลักษณ์ ศิวรักษ์, นักภาษาศาสตร์, นักประวัติศาสตร์ เพื่อสู้ในประเด็นการไม่มีเจตนา จึงตกลงวันนัดสืบพยานจำเลยใหม่ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2555 เวลา 9.00 น.

 

สืบพยานจำเลยปากที่หนึ่ง: นายเอกชัย ห. จำเลย

นายเอกชัย เบิกความว่า หลังรัฐประหารเมื่อปี 2549 การเมืองแบ่งขั้วชัดเจนขึ้น ต่างก็ฟังเฉพาะสื่อฝ่ายตน สื่อไทยนำเสนอข่าวไม่เป็นกลาง ขณะที่สื่อต่างประเทศเสนอรอบด้านมากกว่า สำนักข่าว ABC ของออสเตรเลียมีชื่อเสียง ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ โดยทำสารคดีเกี่ยวกับเหตุการณ์ในที่ต่างๆ ทั่วโลก เช่น ทำสกู๊ปสงครามในอิรัก ส่วนสารคดีในซีดีที่ตนขายนั้น เห็นครั้งแรกในอินเทอร์เน็ต เท่าที่ทราบไม่มีการนำเสนอหรือเผยแพร่สารคดีนี้โดยสำนักข่าวในไทย มีการสัมภาษณ์คนหลากหลาย เช่น สุลักษณ์ ศิวรักษ์, จีรนุช เปรมชัยพร, กิตติชัย ชาญเชิงศิลปกุล, ทนง ขันทอง เกี่ยวกับการเมืองไทย และการบังคับใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ตนเห็นว่าเป็นสารคดีที่ดีมาก เพราะครอบคลุมทุกประเด็น ต่างจากสื่อไทยซึ่งมองง่ายๆ ว่าคนที่เป็นเสื้อแดงคือกลุ่มสนับสนุนอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ส่วนกลุ่มเสื้อเหลืองคือกลุ่มต่อต้านอดีตนายกฯ ดูแล้วไม่มีความรู้สึกว่าเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ ตนตัดสินใจเผยแพร่สารคดีนี้ก็เพื่อให้ทุกฝ่าย มีมุมมองที่กว้างและลึกขึ้น

นายเอกชัย กล่าวว่า ต่อข้อความว่า “นี่คือกษัตริย์ไทยองค์ต่อไป” ตนรู้สึกว่าเป็นการวิเคราะห์ข่าวจากต่างประเทศเท่านั้น ที่ว่าสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช มีพระชายาหลายพระองค์ ถ้าเผยแพร่ไปก็ไม่ได้ทำให้พระองค์เสื่อมเสีย เพราะในอดีต กษัตริย์หลายพระองค์ก็มีพระชายาหลายพระองค์ ข้อความประกอบภาพที่ว่าสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ทรงประกอบพระราชกรณียกิจน้อยกว่าสมเด็จพระเทพฯ เป็นบทวิเคราะห์ว่าในหลวงทรงประกอบพระราชกรณียกิจหนักที่สุด แต่ในหลวงทรงป่วยอยู่ในโรงพยาบาล ก็ต้องเป็นภาระของสมเด็จพระบรมฯ ที่จะประกอบพระราชกรณียกิจแทน ตนเข้าใจว่ามีการมอบหมายโดยแบ่งพระราชกรณียกิจกันระหว่างสมเด็จพระบรมฯ ในด้านการทหาร และสมเด็จพระเทพฯ ในด้านสังคม งานด้านสังคมมีโอกาสออกสื่อมากกว่า ทำให้คนอาจเข้าใจว่าสมเด็จพระเทพฯ ปฏิบัติพระราชกรณียกิจมากกว่า 

นายเอกชัยกล่าวด้วยว่า กลุ่มพันธมิตรฯ มักแอบอ้างว่าได้รับการสนับสนุนจากสถาบันฯ เช่น นายสนธิ ลิ้มทองกุล พูดเรื่องผ้าพันคอสีฟ้า การนำพระสุรเสียงของพระราชินีกรณีที่พูดเกี่ยวกับพระอานนท์ไปเปิด การที่พระราชินีทรงเสด็จไปร่วมงานศพน้องโบว์ ถ้าสื่อนำเสนอเป็นกลางจะบอกว่าพระองค์มีพระเมตตาไปพระราชทานเพลิงศพ แต่ถ้าเป็นสื่อฝ่ายเสื้อเหลือง จะบอกว่าทรงสนับสนุนพันธมิตรฯ ส่วนภาพในสารคดีของ ABC สมเด็จพระบรมฯ ทรงแต่งกายสุภาพ ขณะที่พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์เกือบเปลือยนั้น มีการเบลอ และเปิดสั้นๆ เพียงแค่ประกอบการวิเคราะห์เท่านั้น

นายเอกชัย ให้การว่า มีเอกสารวิกิลีกส์หลุดออกมาเป็นข้อมูลของหลายๆ ประเทศทั่วโลก เท่าที่ทราบ ของประเทศไทย มีประมาณ 10 ฉบับ ตนอ่านและนำมาทั้งหมด ฉบับวันที่ 1 ตุลาคม 2551 เป็นการคุยกันระหว่างนายอีริค จี จอห์น กับนายสมัคร สุนทรเวช ในประเด็นสถานการณ์การเมืองในประเทศไทย ในเอกสารระบุว่านายสมัครเล่ากับเอกอัครราชทูตว่าได้เข้าเฝ้าในหลวง และเคยทูลในหลวงว่า ที่พันธมิตรฯ สร้างเรื่องผ้าพันคอสีฟ้าและพระสุรเสียง ทำให้สังคมมองว่าพระราชินีสนับสนุนพันธมิตรฯ และอยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร เมื่อตนได้อ่านก็เห็นว่าเป็นการตั้งข้อสังเกตคล้ายกับที่บอกว่าพันธมิตรฯ มักชอบอ้างการสนับสนุนจากสถาบันฯ ส่วนฉบับลงวันที่ 25 มกราคม 2553 เป็นการสนทนาระหว่างนายนายอีริค จี จอห์น กับพลเอกเปรม พลอากาศเอกสิทธิ และนายอานันท์ เกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองไทย สถาบันกษัตริย์ฯ และพูดถึงพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรด้วย

นายเอกชัย ให้การว่า รู้สึกธรรมดาเกี่ยวกับการที่สมเด็จพระบรมฯ เสด็จไปหาพระชายาที่เมืองมิวนิค ประเทศเยอรมัน เพราะตามกฎมณเฑียรบาล บุคคลระดับเจ้าฟ้าขึ้นไป ถ้าจะเสด็จไปต่างประเทศ ต้องขอพระบรมราชานุญาติก่อน จึงไม่ใช่การแอบไป และครั้งนั้นเป็นการเสด็จไปกับบิดาของพระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ ในเยอรมันมีการนำเสนอข่าวการเสด็จในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น พระองค์จึงเสด็จเป็นเรื่องเปิดเผย ไม่ได้ปิดลับ 

นายเอกชัย กล่าวว่า ตนขายซีดีแผ่นละ 20 บาท ไม่ได้ต้องการเอากำไร ส่วนเอกสารจากวิกิลีกส์จำหน่าย ชุดละ 10 ฉบับ ราคาประมาณ 50 บาท ตนไปดูและไปฟังทั้งการชุมนุมของเสื้อแดงและเสื้อเหลือง มีแผงขายเสื้อผ้า อาหาร ซีดีต่างๆ ก็เห็นว่าสามารถขายซีดีได้ ซีดีส่วนใหญ่ที่ขายเป็นซีดีบันทึกการปราศรัยในที่ต่างๆ ไม่มีใครติดใบอนุญาตและไม่มีใครถูกจับ จึงเข้าใจว่าเฉพาะซีดีภาพยนตร์เท่านั้นที่ต้องมีลิขสิทธิ์และใบอนุญาต ชั้นสอบสวนให้การโดยคำว่ารับสารภาพ หมายถึง รับว่าได้ขายซีดีจริง แต่ไม่ยอมรับว่าข้อความในซีดีและวิกิลีกส์เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท เพราะเป็นข้อความที่ต่างชาติมองเมืองไทย เจตนาคือต้องการเผยแพร่ข้อความอีกด้าน ที่เป็นกลางจากสื่อต่างประเทศ ไม่มีเจตนาดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท

นายเอกชัย ตอบคำถามอัยการถามค้านว่า ตนไม่ทราบว่าเป็นสารคดีที่ออสเตรเลียต้องการเผยแพร่ในประเทศเขาเท่านั้นหรือไม่ แต่อยู่ในกระทู้เว็บบอร์ดประชาไท เห็นว่าน่าสนใจก็เลยดู ตนคิดว่าถ้าเป็นคนติดตามการเมืองน่าจะคิดเหมือนกัน คนที่มาม็อบก็เป็นคนสนใจการเมือง มีความเข้าใจทางการเมืองระดับหนึ่งมาแล้ว ถ้ารู้เรื่องนี้จะเข้าใจลึกขึ้น ถ้าอ่านวิกิลีกส์ที่เป็นการสนทนาระหว่างนายสมัครกับท่านทูตฉบับเดียว ก็จะเข้าใจเหมือนตน

 

สืบพยานจำเลยปากที่สอง: นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม หนึ่งในผู้ให้สัมภาษณ์ในสารคดีของ ABC

นายสุลักษณ์ เบิกความว่า สถานี ABC ของออสเตรเลียได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่า ให้ความเป็นธรรมในการเสนอข่าว เคยมาทำสารคดีในประเทศไทยเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ สัมภาษณ์ตนหลายครั้ง สารคดีที่อยู่ในซีดีตนดูแล้ว เกี่ยวกับกฎหมายอาญามาตรา 112 และวิจารณ์กระบวนการยุติธรรมในมุมมองของฝรั่ง ตนเห็นว่า มาตรา 112 ไม่เอื้ออาทรต่อสถาบันกษัตริย์ ในหลวงทรงมีพระราชดำรัสชัดเจนเมื่อ 4 ธันวาคม 2548 ว่า ใครนำมาตรานี้มาฟ้องร้อง เท่ากับเป็นการทำลายพระองค์ท่าน

นายสุลักษณ์ กล่าวว่า คดีหมิ่นฯ ทุกคดีเป็นการทำร้ายพระองค์ท่าน สมัยทักษิณและยิ่งลักษณ์อ้างว่าจงรักภักดีแต่ไม่ทำตามพระราชดำรัสเลย ถ้ารัฐสภามีความกล้าหาญทางจริยธรรม มีความจงรักภักดีต่อพระเจ้าอยู่หัว ต้องยกเลิกกฎหมายนี้ หรือผ่อนโทษ เพราะมาตรา112 ใครก็สามารถฟ้องได้ ตำรวจที่ทำคดีก็เดือดร้อนต้องทำคดี โทษ 3-15 ปีก็หนักเกินไป ควรยกเลิกโทษขั้นต่ำและสูงสุดไม่เกิน 7 ปี แต่สภาไม่กล้าทำ เพราะฟังทักษิณ สื่อมวลชนในประเทศไทย ก็ไม่มีความกล้าหาญทางจริยธรรม สถาบันฯ มีไว้ให้เรารัก เคารพ และวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ใช่ให้กลัว

นายสุลักษณ์ กล่าวว่า สถาบันฯ มีบทบาทแทรกแซงการเมือง เพราะการเมืองมีเรื่องฝ่ายตรงข้าม ท่านอยู่เหนือสองฝ่ายจึงมีสิทธิแทรกแซงเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม เช่น กรณีพฤษภาทมิฬ ปี 2535 ทรงแทรกแซงเพื่อให้ยุติความรุนแรง โปรดเกล้าฯ ให้จำลองและสุจินดาเข้าเฝ้า การแทรกแซงของพระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญนั้นต้องมีต่อไป โดยพระมหากษัตริย์ต้องเตือนรัฐบาล อุดหนุนรัฐบาล และวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล แต่ไม่เปิดเผยต่อสาธารณชน

นายสุลักษณ์ กล่าวว่า ประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์ แสดงความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ได้ การวิพากษ์วิจารณ์เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในระบอบประชาธิปไตย ทุกคนควรได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ ก่อนมีรัฐธรรมนูญ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว กษัตริย์ในสมัยราชาธิปไตย ทรงมีพระราชดำรัสชัดเจนว่า ใครๆ ต้องวิพากษ์วิจารณ์ท่านได้ ถ้าใครวิจารณ์โง่ ผิด มวลชนจะด่าเอง ถ้าวิจารณ์ถูกต้อง พระองค์ก็จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ก็เคยรับสั่งชัดเจนว่า The King can do wrong สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแทนรัชกาลที่ 5 เคยพูดว่า พระเจ้าแผ่นดิน เดิมมาจากบุคคลธรรมดาสามัญ ทำอะไรผิดพลาดได้ ตนให้สัมภาษณ์กับ ABC เปรียบเปรยว่า พระมหากษัตริย์คือต้นไม้ใหญ่ที่ให้ร่มเงากับพสกนิกร อาจมีเพลี้ยมากินหรือมีกาฝากบ้าง เราต้องไม่ตัดต้นไม้ใหญ่ แต่จะกำจัดเพลี้ย กาฝาก สถาบันอยู่มานานก็มีเพลี้ยมากิน เช่น พวกประจบสอพลออาศัยหาประโยชน์ เราก็ต้องวิพากษ์วิจารณ์เอาพวกนี้ออกไป เป็นหน้าที่ทุกคนต้องทำ ดังนั้นคนที่ต้องการพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์จึงต้องกล้าพูด กล้าเขียน กล้าวิจารณ์ แต่สื่อมวลชนกระแสหลักไม่ได้ทำเลย

นายสุลักษณ์กล่าวถึงรัชทายาทองค์ปัจจุบันว่า ทรงมีบุคลิกพิเศษ คือ ทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษและออสเตรเลียมาตั้งแต่เด็ก จึงทรงมีความคิดแบบฝรั่งที่ก้าวหน้ามาก พระองค์ทรงเป็นคนขี้อายและตระหนี่พระองค์ ไม่ชอบเป็นข่าว ทรงมีพระชายาที่จดทะเบียนสมรส 3 พระองค์ การที่ทรงมีพระชายาหลายพระองค์ ไม่เป็นการเสื่อมเสียพระเกียรติเพราะจะได้มีโอรสธิดาหลายพระองค์เพื่อสืบสันตติวงศ์ ราชวงศ์จะได้มั่งคั่ง รัชกาลที่ 5 ก็ทรงมีพระชายาหลายพระองค์เช่นกัน ส่วน คำว่า ฮาเร็ม คนแรกที่ใช้คำนี้คือแหม่มแอนนา กล่าวหาว่ารัชกาลที่ 4 มีฮาเร็ม ซึ่งจริงๆ แล้วนี่เป็นราชประเพณี พระบรมหาราชวัง มีฝ่ายหน้ากับฝ่ายใน แหม่มแอนนาหาว่า ฝ่ายในเป็นฮาเร็ม เพราะพระมหากษัตริย์ทรงเสด็จไปได้พระองค์เดียว นอกนั้นเป็นผู้หญิงหมด ซึ่งเป็นพระราชประเพณี ไม่ใช่เรื่องเสียหาย

นายสุลักษณ์ กล่าวว่า พระองค์เจ้าศรีรัศม์ฯ ทรงเปิดเผยพระองค์ ในโทรทัศน์ก็มีถมเถไป สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงมีพระทัยกว้างขวางเหมือนฝรั่ง ทรงเปิดเผยภาพพระชายานุ่งน้อยห่มน้อยให้คนทั่วไปได้เห็น แสดงถึงความมีน้ำพระทัยกว้างของพระองค์ ควรจะยกย่องสรรเสริญมากกว่า อย่างดัชเชสแห่งแคมบริดจ์ ก็แต่งตัววับๆ แวมๆ หนังสือพิมพ์ไปแอบถ่ายรูปของท่าน ท่านก็ไม่เห็นกลัว ไม่เห็นมีปัญหา ท่านก็เหมือนคนธรรมดาทั่วไปที่มีอะไรดีก็อยากอวด

นายสุลักษณ์ กล่าวว่า ตามราชประเพณี หากเชื้อพระวงศ์จะออกจากกรุงเทพฯ ต้องได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ การไปเยอรมันของพระองค์ก็เช่นกัน ทูตไทยประจำประเทศดังกล่าวต้องเข้าเฝ้ารับเสด็จทุกครั้ง ถือว่าเปิดเผย การที่พระองค์ทรงเสด็จไปเยอรมันก็เพื่อศึกษาการบินเพิ่มเติมที่เมืองมิวนิค ส่วนที่บอกว่าไปพบคนรักก็ไม่เสียหาย ก็เหมือนคนทั่วไปที่มีกิ๊ก ทำไมท่านจะอยากมีบ้างไม่ได้ ท่านก็รูปหล่อ ท่านก็ไปโดยเปิดเผย ไม่ได้ปิดบัง ไม่เห็นเสียหายตรงไหน

นายสุลักษณ์ กล่าวว่า การทรงงานขึ้นอยู่กับพระเจ้าอยู่หัวจะทรงโปรดเกล้าฯ ให้ใครเสด็จแทนพระองค์ ก็แล้วแต่พระองค์จะโปรดเกล้าฯ ให้ใครเสด็จแทนในกรณีไหน สมเด็จพระบรมฯ ไม่ชอบเป็นข่าว นักข่าวก็เลยไม่ทำข่าวของท่านนัก ต่างกับสมเด็จพระเทพฯ ที่มีลักษณะนิสัยชอบโอภาปราศรัย จึงมีสื่อไปทำข่าวเยอะ ท่านทรงงานไม่น้อยกว่าสมเด็จพระเทพฯ แต่มักเป็นงานปิดทองหลังพระ จะไปเกลียดท่านได้อย่างไร ถึงท่านไม่ทำงานเลยก็ไม่มีเหตุต้องไปเกลียดท่าน ฝรั่งตั้งใจให้คนนอกประเทศไทยเข้าใจเรื่องราชวงศ์ไทย แม้จะผิดพลาดบ้าง เราก็ต้องให้อภัย ถ้าเรามีความเชื่อมั่นในตัวเรา เชื่อมั่นในสถาบันกษัตริย์ อย่างไรพระองค์ท่านก็ดีเสมอ ตนคิดว่าคนที่นำไปเผยแพร่มีความหวังดีให้เพื่อนร่วมชาติได้รู้ได้เห็น ไม่เสียหายอะไร

นายสุลักษณ์ กล่าวว่า เมื่ออ่านเอกสารวิกิลีกส์แล้วไม่เชื่อตาม เพราะนายสมัครเป็นคนที่มีความสามารถในการโกหก การที่นายสมัครพูดกับทูตสหรัฐให้ร้ายพระราชินี แสดงว่าเป็นคนอัปรีย์ ควรเผยแพร่ให้คนอื่นเห็นว่านายสมัครเป็นคนเลวที่บังอาจใส่ความพระราชินี การเผยแพร่เป็นเรื่องที่ดี เจตนาของจำเลย ตนไม่สามารถชี้ได้  แต่ถ้าเป็นตนก็จะทำเหมือนกัน การเปิดเผยสารคดีของABC ที่มีภาพส่วนพระองค์ก็เป็นความใจกว้างของสมเด็จพระบรมฯ ท่านก็เป็นมนุษย์เหมือนกับเรา ต้องเปิดเผย โปร่งใส ถ้าคนไทยร่วมสมัยตามพระองค์ทัน เราจะกว้างขวางมาก

นายสุลักษณ์ กล่าวว่า การที่คนแสดงความเห็นต่อสถาบันฯ ควรให้เขาวิจารณ์ ไม่ใช่เล่นงานทุกคน ศาลควรรับพระราชดำรัสของพระองค์ท่านว่า คดีหมิ่นฯทุกคดีทำให้สถาบันเสื่อมโทรม อย่าเอาเรื่องให้มาก เช่น อากงที่ไปลงโทษถึง 20 ปี ยึดกฎหมายเกินไปก็ไม่ดี ต้องยึดหลักยุติธรรม ถ้าเราช่วยประคับประคองคดีหมิ่นฯ ให้น้อยลง ก็น่าจะช่วยต่ออายุสถาบันฯ ให้ยืนยาวต่อไป

8 พฤษภาคม 2557
 
นัดฟังคำพิพากษาอุทธรณ์
 
เวลา 9.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 805 ศาลอาญารัชดา ศาลอุทธรณ์นัดฟังคำพิพากษาคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา112  ของเอกชัยคนขายซีดีสารคดีของ ABC
 
สำหรับนัดวันนี้ไอลอว์เพิ่งทราบเรื่องตอนเช้า จากสำนักข่าวแห่งหนึ่งโทรศัพท์มาแจ้ง เมื่อไอลอว์เดินทางไปถึงศาลประมาณ 9.30 น.พบว่าที่ห้องพิจารณาคดี 805 ศาลขึ้นบัลลังก์แล้ว และกำลังสืบพยานคดีอื่นอยู่ แต่เอกชัยยังมาไม่ถึง บรรยากาศภายในห้องพิจารณาคดีมีนักศึกษามาร่วมสังเกตการณ์ราว 7 คน และมีผู้สื่อข่าวร่วมด้วยประมาณ 4 คน
 
เอกชัยเดินทางมาถึงห้องพิจารณาคดีเวลาประมาณ 9.40 น. และนั่งรอในที่นั่งจำเลย จากนั้นทนายจำเลยเดินทางมาร่วมฟังคำพิพากษาคล้อยหลังเอกชัยไม่เกินห้านาที แม้ว่าวันนี้เอกชัยจะไม่ถูกตีตรวนแต่ก็ถูกใส่กุญแจเท้าแทน
           
เมื่อเอกชัยมาถึง ศาลถามผู้สื่อข่าวและผู้สังเกตการณ์ว่ามาฟังคดีไหน มีนักศึกษาคนหนึ่งตอบว่ามาฟังคดีเอกชัย แต่ไม่มีผู้ใดบอกกับศาลว่ามาฟังคดีอื่น ศาลจึงแจ้งว่าเนื่องจากผู้ที่อยู่ในห้องพิจารณาส่วนใหญ่มาสังเกตการณ์คดีเอกชัย ศาลจะพักการสืบพยานคดีอื่นไว้ชั่วคราวเพื่ออ่านคำพิพากษาคดีเอกชัยก่อน
 
ศาลแจ้งด้วยว่า จะอ่านเพียงแค่คำพิพากษาโทษเท่านั้น ไม่อ่านบทพิเคราะห์ เพราะศาลจำเป็นต้องกลับไปสืบพยานคดีอื่นต่อ โดยจำเลยจะดูบทพิเคราะห์ในคำพิพากษาได้ภายหลัง ซึ่งจำเลยไม่คัดค้าน ศาลจึงเริ่มอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์
 
หลังฟังคำพิพากษา เอกชัยให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวก่อนลงไปที่ห้องควบคุมใต้ถุนศาลสั้นๆ ว่า รู้สึกผิดหวังกับคำพิพากษา แต่จะสู้คดีในชั้นฎีกาต่อไป และจะยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวด้วย อย่างไรก็ตามเนื่องจากคดีนี้ต้องห้ามฎีกาเพราะโทษจำคุกต่ำกว่าห้าปี จึงต้องทำหนังสือขออนุญาตฎีกาคดีกับองค์คณะที่พิจารณาคดีในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ก่อนจึงจะฎีกาได้

 

หมายเลขคดีดำ

อ.2072/2554

ศาล

ศาลอาญา

แหล่งอ้างอิง

ศาลอาญา (อ้างอิงเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2555)

กระดานสนทนาของ กลุ่มสื่อประชาชน (อ้างอิงเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2555)

อัยการยื่นฟ้องหนุ่มขายซีดี-วิกิลีกส์คดีหมิ่นสถาบัน ศาลนัดตรวจหลักฐาน 11 ก.ค. (ที่มา ประชาไท, อ้างอิงเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2555)

11 มีนาคม 2554
 
เอกชัยถูกจับกุมตัวที่ท้องสนามหลวง
 
17 มีนาคม 2554
 
ทนายยุทธการ โสภัณนา จากสำนักกฎหมายราษฎรประสงค์ พาพ่อของเอกชัยวัย 82 ปี มายื่นคำร้องขอประกันตัว ด้วยหลักทรัพย์คือโฉนดที่ดิน แต่เนื่องจากหลักทรัพย์ยังไม่เพียงพอกับหลักทรัพย์ประกันตัวที่ศาลตั้งไว้ คือ 500,000 บาท ทำให้พ่อและแม่ของเอกชัยต้องหยิบยืมญาติพี่น้องมาอีกประมาณ 30,000 บาท จึงจะครบตามวงเงินประกันที่ศาลตั้งไว้
 
18 มีนาคม 2554
 
เอกชัยได้รับการประกันตัว 
 
21 พฤษภาคม 2554
 
ทนายความจำเลย ยื่นขอหมายเรียก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา และนายอานันท์ ปันยารชุน มาเบิกความเป็นพยาน แต่ศาลไม่ออกหมายเรียกให้
 
23 พฤษภาคม 2554
 
พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ยื่นฟ้องคดีต่อศาลอาญา
 
11 กรกฎาคม 2554
 
นัดตรวจพยานหลักฐาน
เนื่องจากทนายความจำเลยติดนัดพิจารณาคดีอื่น ศาลจึงอนุญาตให้เลื่อนวันนัดตรวจพยานหลักฐานไปเป็นวันที่ 19 กันยายน 2554
 
19 กันยายน 2554
 
นัดตรวจพยานหลักฐาน
 
17-18 กรกฎาคม 2555
 
นัดสืบพยานโจทก์ สามปาก พ.ต.ท.สมยศ อุดมรักษาทรัพย์ เจ้าหน้าที่ผู้จับกุมและผู้กล่าวหา ด.ต.นคร คงกลิ่น ผู้ร่วมจับกุม พ.ต.ท.ณฐกร คุ้มทรัพย์ พนักงานสอบสวน
 
19 กรกฎาคม 2555
 
การสืบพยานจำเลยวันนี้ ศาลให้เลื่อนไปเป็นวันที่ 20 พฤศจิกายน 2555 เนื่องจากจำเลยขอเปลี่ยนแนวทางสู้คดีและขอนัดพยานเพิ่ม
 
20 พฤศจิกายน 2555
 
นัดสืบพยานจำเลย สืบพยานจำเลย หนึ่งปาก นายเอกชัย ห. จำเลยเบิกความเป็นพยานให้ตัวเอง
 
22 กุมภาพันธ์ 2556
 
นัดสืบพยานจำเลย สืบพยานจำเลยหนึ่งปาก นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์
 
ก่อนจะมีคำพิพากษา จำเลยและทนายจำเลยได้นำส่งคำแถลงปิดคดีต่อศาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ว่า คดีเกิดขึ้นจากการที่จำเลยนำสืบข้อเท็จจริงยุติว่า จำเลยได้เผยแพร่วีดีทัศน์สารคดี ซึ่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เอบีซี (ABC)และจำเลยรับว่าได้นำเอกสารวิกิลีกส์ (Wikileaks) ที่มีการเผยแพร่ในอินเตอร์เน็ตเมื่อต้นปี 54 ไปเผยแพร่ที่บริเวณอนุสาวรีย์ทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1 เนื่องจากหลังเหตุการณ์รัฐประหาร ปี พ.ศ. 2549 ประเทศไทยก็เกิดความ แตกแยกทางความคิดออกเป็น 2 ฝ่ายคือ ฝ่ายที่เรียกตัวเองว่า "คนเสื้อแดง" และฝ่ายที่เรียกตัวเองว่า "คนเสื้อเหลือง" โดยแต่ละฝ่ายต่างอ้างความ "จงรักภักดี" ต่อสถาบันกษัตริย์ และกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามต้องการทำลายสถาบันกษัตริย์ สื่อมวลชนหลายแห่งมีการเลือกข้างอย่างชัดเจน และเลือกนำเสนอข้อมูลเฉพาะที่เป็นประโยชน์กับฝ่ายของตนเองหรือทำลายฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น ไม่นำเสนอข้อมูลที่รอบด้าน อันเป็นการซ้ำเติมความแตกแยกทางการเมืองของประเทศ จำเลยเห็นว่าวีดิทัศน์และเอกสารดังกล่าวเป็นการนำเสนอข้อมูลของสื่อมวลชนต่างประเทศที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก มีความเป็นธรรม ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในประเทศไทย แต่สื่อมวลชนไทยกลับไม่เลือกที่จะนำมาเสนอ จำเลยนำวีดีทัศน์และเอกสารดังกล่าวออกเผยแพร่ เพราะมีเจตนาที่จะเผยแพร่ข้อมูลที่รอบด้านให้กับทุกเสื้อสี โดยเฉพาะข้อมูลที่สื่อมวลชนไทยไม่นำเสนอ 
 
สำหรับกรณีที่มีภาพประกอบสารคดีข่าวซึ่งเป็นภาพของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าศรีรัศม์นั้น ก็หาได้เป็นความผิดต่อกฎหมายไม่ ทั้งนี้ย่อมเป็นพระเสรีภาพของพระองค์ในการทรงฉลองพระวรกาย และภาพที่ปรากฏก็ปรากฏเพียงไม่กี่วินาที กรณีข้อความในวิกิลีกส์ที่มีการพาดพิงถึงสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถนั้น จำเลยมีเพียงเจตนาที่ต้องการเสนอข้อเท็จจริงที่นายสมัคร สุนทรเวช เป็นผู้กล่าวเช่นนั้น แท้จริงแล้วพระราชินีทรงมีพระเมตตาต่อผู้ชุมนุมทุกฝ่าย แต่สื่อมวลชนบางแห่งกลับนำเสนอข้อมูลบิดเบือนเพื่อเป็นประโยชน์กับฝ่ายตนเอง 
 
นอกจากนี้คำแถลงปิดคดียังระบุถึงข้อหาเกี่ยวกับการจำหน่วยซีดีโดยไม่ได้รับอนุญาตว่า จำเลยจำหน่วยซีดีดังกล่าวในราคาเพียงแผ่นละ 20 บาท ซึ่งเป
 
 
28 มีนาคม 2556 นัดฟังคำพิพากษา

ศาลชั้นต้น พิพากษาว่า นายเอกชัย ซึ่งขายวีซีดีสารคดีของ ABC และเอกสารวิกิลีกส์ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำคุก 5 ปี ไม่มีใบอนุญาตจำหน่ายวีดิทัศน์ ปรับ 100,000 บาท เนื่องจากเนื้อหาในวีซีดีมีและเอกสารวิกิลีกส์มีภาพและข้อความหมิ่นประมาทสมเด็จพระราชินีและสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ จำเลยนำสืบเป็นประโยชน์ต่อคดี มีเหตุให้บรรเทาโทษหนึ่งในสาม เหลือจำคุก 3 ปี 4 เดือน และปรับ 66,666.66 บาท

ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์ว่า ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จะต้องพิจารณาจากภาพและข้อความในเอกสารที่จำเลยนำมาจำหน่ายว่าเป็นการใส่ความให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ทำให้ถูกเกลียดชังหรือไม่ และจะต้องพิจารณาถึงฐานะที่ทรงดำรงอยู่ในความรู้สึกของประชาชนชาวไทยอันมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ประกอบข้อความดังกล่าวด้วย โดยในรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 2 บัญญัติว่าประเทศไทยปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มาตรา 8 บัญญํติว่า พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้  มาตรา 70 บัญญํติว่า บุคคลมีหน้าที่พิทักษ์ไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมาตรา 77 บัญญัติว่า รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและประมวลกฎหมายอาญาดังกล่าวมาย่อมเห็นได้โดยชัดแจ้งว่า องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นทรงดำรงอยู่ในฐานะพระประมุขของประเทศ เป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดหรือใช้สิทธิเสรีภาพให้เป็นปฏิปักษ์ในทางหนึ่งทางใดมิได้ ทั้งรัฐและประชาชนต่างมีหน้าที่ต้องรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ดำรงอยู่คู่ประเทศตลอดไป ไม่เพียงแต่ในกฎหมายแม้ในความรู้สึกนึกคิดของประชาชนชาวไทยอันมีต่อสถาบัน

จากคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสามปาก สรุปได้ว่าข้อความที่ปรากฏในวีซีดีและเอกสารวิกิลีกส์ อ่านแล้วเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ องค์รัชทายาท ว่ามีพระจริยวัตรไม่เหมาะสมที่จะเป็นองค์รัชทายาท และกล่าวหาสมเด็จพระราชินีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ว่าทรงรับผิดชอบต่อการรัฐประหาร 2549 และอยู่เบื้องหลังการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการมุ่งหมายถึงสมเด็จพระราชนี และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ องค์รัชทายาท ในลักษณะจาบจ้วงล่วงเกิน หรือเปรียบเปรยให้พระองค์เสื่อมเสียพระเกียรติ ทำให้ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง อันเป็นการหมิ่นประมาทสมเด็จพระราชินี และรัชทายาท

นอกจากนี้ จากคำเบิกความของพยานโจทก์ จำเลยนำแผ่นซีดีและเอกสารวิกิลีกส์ไปขายในงานชุมนุมของกลุ่มแดงสยาม ที่มีการปราศรัยถึงนายสุรชัย แซ่ด่าน ที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ เป็นการบ่งชี้เจตนาของจำเลยที่ต้องการโฆษณาให้ผู้ชุมนุมหลงเชื่อข้อเท็จจริงในเอกสารดังกล่าว

จำเลยยอมรับว่า แผ่นซีดีและเอกสารเหล่านี้ จำเลยเป็นผู้จัดทำขึ้นมาเอง โดยดาวน์โหลดจากอินเทอร์เน็ต ในการนำสืบจำเลยก็ยอมรับว่าเห็นข่าวนี้ครั้งแรกในอินเทอร์เน็ต เมื่ออ่านบางส่วนตามฟ้องแล้วทราบว่ามีความหมิ่นเหม่ต่อการดูหมิ่น หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ ยิ่งแสดงให้เห็นว่าก่อนจำเลยจะทำวีซีดีออกมาจำหน่ายให้ผู้สนใจทั่วไป จำเลยจะต้องทราบอยู่แล้วว่ามีข้อความดูหมิ่น หมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้ายต่อสมเด็จพระราชินีและสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ

ส่วนที่จำเลยนำสืบว่าเนื้อหาในแผ่นซีดีที่นำมาจำหน่ายเป็นสารคดีของช่องเอบีซี โดยจำเลยไปดาวน์โหลดจากอินเทอร์เน็ต ไม่ได้จัดทำโดยสำนักข่าวในประเทศ และเอกสารวิกิลีกส์  ที่จำเลยอ่านแล้วรู้สึกว่าน่าเชื่อถือ ได้เข้าใจมุมมองของต่างประเทศที่มีต่อประเทศไทย อ่านแล้วไม่รู้สึกดูหมิ่นเกลียดชังสมเด็จพระราชินีและสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ นั้น จะต้องพิจารณาตามความเข้าใจของวิญญูชนทั่วไป ไม่ใช่พิจารณาจากความเข้าใจของจำเลยที่เป็นผู้ทำแผ่นวีซีดีออกมาจำหน่าย

หลังฟังคำพิพากษา ทนายความของนายเอกชัยได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ เวลาประมาณ19.30น.ศาลชั้นต้นแจ้งแก่บิดาของนายเอกชัยที่มารอฟังผลว่า ศาลชั้นต้นส่งคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของนายเอกชัยไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว ขอให้รอฟังคำสั่งของศาลอุทธรณ์ซึ่งจะใช้เวลาประมาณสามวันทำการ ในระหว่างนี้นายเอกชัยจะถูกฝากขังเป็นการชั่วคราวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ

1 เมษายน 2556

ศาลอุทธรณ์ยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวนายเอกชัย 

"พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี และศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลย ๓ ปี ๔ เดือน หากให้ปล่อยชั่วคราวไปจำเลยอาจหลบหนี กรณีไม่มีเหตุสมควรที่จะปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ จึงไม่อนุญาต ให้ยกคำร้อง"

 
5 มิถุนายน 2556 
 
ทนายความของเอกชัย ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ ขอให้กลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและยกฟ้องจำเลย ประเด็นสำคัญในคำอุทธรณ์มีดังนี้ 
 
1.ความผิดตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551
 
ศาลปรับบทกฎหมายมาใช้อย่างผิดพลาดคลาดเคลื่อน เนื่องจากซีดีที่ขายไม่ใช่ "วีดิทัศน์" ตามคำนิยามของกฎหมาย แต่เป็น "ภาพยนตร์" คือ มีลักษณะไม่สามารถตอบโต้ได้ ไม่เป็นเกมการเล่นหรือคาราโอเกะ และการกระทำของจำเลยซึ่งขายซีดีแผ่นละ 20 บาท ขายมาสองครั้ง ไม่ได้ผลกำไร จำเลยมีเจตนาเพียงเพื่อเผยแพร่ข้อมูลตามสารคดีของ ABC เท่านั้น และในการชุมนุมก็มีขายซีดีเป็นปกติ จึงไม่อาจถือว่าเป็นการ “ประกอบกิจการ”
 
2.ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
 
– ศาลชั้นต้นหยิบกฎหมายอันไม่เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดีและข้อเท็จจริงนอกสำนวนขึ้นวินิจฉัย ได้แก่ เรื่องความรู้สึกนึกคิดของประชาชนชาวไทยที่มีต่อสถาบันกษัตริย์ ทำให้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 
– ข้อความและภาพที่ปรากฏในสารคดีของ ABC และเอกสารจาก Wikileaks ไม่มีส่วนไหนที่ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ หากดูโดยตลอดทั้งหมดโดยไม่ตัดตอนเพียงข้อความใดข้อความหนึ่ง เนื้อหาสาระก็ไม่ได้ผิดกฎหมาย แต่ที่พยานโจทก์ให้การเป็นผลร้ายต่อจำเลย ก็เป็นเพียงความคิดเห็น ไม่ใช่ข้อเท็จจริง แสดงให้เห็นว่าพยานโจทก์ที่แม้จะเป็นตำรวจ แต่ก็ไม่มีความรู้เรื่องข้อเท็จจริง ให้เหตุผลไม่หนักแน่นและไม่เป็นกลาง พยานโจทก์ตกอยู่ในความกลัวต่อพระราชอำนาจและต้องแบกรับความกดดันจากสังคม คำเบิกความของพยานโจทก์ทุกปากจึงไม่อาจรับฟังได้
 
– การพิจารณาเจตนาของจำเลยโดยการอ้างถึงความเข้าใจของวิญญูชน ไม่ใช่พิจารณาตามความเข้าใจของจำเลย เป็นการพิจารณาที่ขัดต่อหลักความรับผิดทางอาญาของจำเลย คือ ต้องพิจารณาเจตนาของจำเลยเป็นหลัก ถ้าไม่มีเจตนาย่อมไม่มีความผิด ความเข้าใจของวิญญูชนจึงนำมาปรับใช้กับคดีอาญาไม่ได้  อีกทั้งโจทก์ก็ไม่ได้นำสืบถึงความเข้าใจของวิญญูชน ไม่ได้นำพยานบุคคลอื่นนอกจากพนักงานตำรวจมาสืบ
 
– จำเลยมีเจตนาเพียงต้องการให้ประชาชนทั่วไปทราบข้อมูลจากต่างประเทศอีกด้านหนึ่ง  อีกทั้ง ABC และเอกสารวิกิลีกส์ มีความน่าเชื่อถือ นำเสนอข้อมูลที่เป็นกลางและเป็นธรรมให้ประชาชนทั่วไป ไม่ได้มองว่าเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาทสมเด็จพระราชินี และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ
 
3.การวินิจฉัยลงโทษจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 
ศาลวินิจฉัยลงโทษจำเลยเรียงตามกระทงความผิดตามป.อาญา มาตรา 91 ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะความผิดฐาน 112 จะผิดสำเร็จเมื่อถูกเผยแพร่ไปยังบุคคลที่สามแล้ว และการจำหน่ายซีดีจะสำเร็จก็ต่อเมื่อจำหน่ายสำเร็จสมบูรณ์แล้ว แต่จำเลยแค่ดาวน์โหลดข้อมูลมาไรท์ลงแผ่นซีดี จึงไม่ผิดทั้งสองฐาน  แต่หากศาลรับฟังข้อเท็จจริงแล้ววินิจฉัยว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้องจริง ทั้งความผิดตามมาตรา 112 และตามพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์นั้นเป็นการกระทำอันเดียวกัน เพราะการจำหน่ายคือการกระทำเพียงครั้งเดียวจึงเป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ตามมาตรา 90 ไม่ใช่ 91 
 
ในวันเดียวกันนี้ ทนายความยังยื่นคำร้องขอประกันตัวต่อศาลอุทธรณ์ โดยอ้างเหตุว่าบิดาและมารดาของจำเลยมีอายุมาก กล่าวคือ บิดาอายุ 84 ปี และมารดาอายุ 78 ปี สุขภาพไม่แข็งแรง มารดาเดินไม่ถนัดต้องนั่งรถเข็น บิดาที่อายุมากก็ไม่แข็งแรงไม่สามารถดูแลมารดาได้ เมื่อไม่มีลูกชายคอยช่วยเหลือทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ยากลำบาก พร้อมกันนี้ทนายความยังส่งแผ่นซีดีบันทึกคลิปวีดีโอแสดงความเป็นอยู่ของบิดาและมารดาของจำเลยให้ศาล พร้อมยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งไต่สวนข้อเท็จจริงประกอบการขอประกันตัวด้วย 
 
7 มิถุนายน 2556
 
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเอกชัย
 
"พิเคราะห์ตามข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ประกอบกับศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุกจำเลย หากจำเลยได้รับการปล่อยชั่วคราว ไม่เชื่อว่าจำเลยจะไม่หลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง"
 
25 มิถุนายน 2556
 
เฟซบุคของทนายอานนท์ นำพา โพสต์คำสั่งของศาลฎีกา ให้ยกอุทธรณ์คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของเอกชัย ลงวันที่25 มิถุนายน 2556 
 
"พิเคราะห์แล้ว ตามพฤติการณ์แห่งคดี เป็นเรื่องร้ายแรง หากปล่อยชั่วคราวจำเลยอาจหลบหนี ที่ศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง" 
 
23 ธันวาคม 2556
 
ทนาย อานนท์ นำพา ทนายความของเอกชัย โพสต์เฟซบุ้คว่า ศาลอุทธรณ์สั่งให้ยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์คดี โดยระบุว่าเป็นคดีที่มีความร้ายแรง หากปล่อยตัวชั่วคราวไม่เชื่อว่าจำเลยจะไม่หลบหนี ให้ยกคำร้อง
 
8 พฤษภาคม 2557
 
นัดฟังคำพิพากษาอุทธรณ์ ที่ห้องพิจารณาคดี 805 ศาลอาญารัชดา เวลา 9.30 น. ดูรายละเอียดการพิพากษาที่ บันทึกสังเกตการณ์คดี

9 ตุลาคม 2558

นัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา

อานนท์ นำพา ทนายของเอกชัย โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กเมื่อเวลาประมาณ 13 นาฬิกา ว่า ศาลฎีกามีคำพิพากษาคดีของเอกชัยแล้ว โโยพิพากษาแก้โทษจากจำคุก 3 ปี 4 เดือน เหลือ 2 ปี 8 เดือน

ทนายอานนท์ยังระบุด้วยว่า เอกชัยน่าจะได้รับการปล่อยตัวในเดือนพฤศจิกายนนี้

เอกชัยได้รับการประกันตัวระหว่างการสู้คดีในศาลชั้นต้น เขาถูกจองจำตั้งแต่เดือนมีนาคม 2556 หลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาจำคุก 3 ปี 4 เดือนและถูกจองจำที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา   

15 พฤศจิกายน 2558

เอกชัยได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ หลังรับโทษครบ 2 ปี 8 เดือน ตามคำพิพากษาศาลฎีกา

 

 

คำพิพากษา

สรุปคำพิพากษาศาลชั้นต้น

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 คือ ความผิดฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระราชินีและรัชทายาท ให้ลงโทษจำคุกเป็นเวลาห้าปีและพิพากษาว่า จำเลยทำความผิดตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง, 82 ฐานประกอบธุรกิจจำหน่ายวิดิทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต ให้ปรับหนึ่งแสนบาท จำเลยนำสืบเป็นประโยชน์ในทางพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลย สามปี สี่เดือน และปรับเป็นเงิน 66,666 บาท

สรุปคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทำความผิดตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง, 82 นั้นไม่ถูกต้อง ที่ถูกต้องจำเลยทำความผิดตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง, 79 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โทษของจำเลยจึงเป็นไปตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษา

สรุปคำพิพากษาศาลฎีกา

 
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นที่ยุติในชั้นนี้ว่า เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2554 เวลาประมาณ 19 นาฬิกา เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยขณะเร่ขายแผ่นซีดีจำนวนหลายแผ่นที่มีการบันทึกภาพและเสียงซึ่งสามารถนำมาฉายให้เป็นภาพที่เคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ได้รับใบอนุญาต อยู่ที่บริเวณอนุสาวรีย์ทหารอาสา แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร และกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามข้อหาที่ฟ้องเป็นคดีนี้ กับยึดของกลางหลายรายการ 
 
จำเลยรู้ดีว่าแผ่นซีดีวัตถุพยาน ซึ่งเป็นของกลางที่จำเลยขายให้ผู้ล่อซื้อ มีภาพที่เคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่องและเสียงบรรยายเป็นภาษาอังกฤษกับมีข้อความแปลเป็นภาษาไทยกำกับ โดยข้อความดังกล่าวบางตอนพาดพิงถึงสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งเป็นรัชทายาท จำเลยยังรู้ดีว่าสำเนาเอกสาร Wikileaks ที่จำเลยสั่งพิมพ์ทางอินเทอร์เน็ต ฉบับลงวันที่ 1 ตุลาคม 2551 มีข้อความบางตอนพาดพิงถึงสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และฉบับลงวันที่ 25 มกราคม 2553 มีข้อความบางตอนพาดพิงถึงสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร อันเป็นข้อความตามที่โจทก์บรรยายฟ้อง 
 
ที่จำเลยฎีกาขอให้มีการสืบพยานปาก พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ และ พลอากาศเอก สิทธิ เศวตศิลา ที่ศาลชั้นต้นสั่งให้งดสืบ โดยอ้างว่าการงดสืบพยานทั้งสองปากทำให้จำเลยเสียเปรียบนั้น เห็นว่า ฎีกาของจำเลยดังกล่าวไม่ได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ขอให้มีการสืบพยานทั้งสองปากดังกล่าวไม่ถูกต้องอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย 
 
มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง, 79 ชอบหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า จำเลยเพียงจ่ายแจกแผ่นซีดีโดยคิดเอาต้นทุนคืน ไม่ได้กระทำเพื่อหากำไร  ศาลเห็นว่า แผ่นซีดีของกลางที่จำเลยนำมาขายมีภาพและเสียงที่ไม่อยู่ในลักษณะที่เป็นเกมการเล่น คาราโอเกะที่มีภาพประกอบ แผ่นซีดีของกลางดังกล่าวจึงเป็นภาพยนตร์ตามความหมายที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตรา 4 จำเลยเบิกความว่า ในการจำหน่ายแผ่นซีดีเมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วแทบไม่มีกำไรซึ่งแสดงว่าจำเลยยังได้กำไรอยู่บ้าง อันเป็นการที่จำเลยได้รับประโยชน์ตอบแทน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง, 79 กรณีไม่ใช่เรื่องที่โจทก์สืบสมตามฟ้องแต่อ้างบทมาตราผิดดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย แต่เป็นเรื่องข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง อย่างไรก็ดี ความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต แม้กฎหมายจะบัญญัติองค์ประกอบความผิดและโทษในการกระทำดังกล่าวไว้คนละมาตรา แต่ความผิดดังกล่าวล้วนมีเจตนาที่จะลงโทษผู้ประกอบกิจการที่ไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน ความผิดทั้งสองมาตราดังกล่าวจึงอยู่ที่การไม่ได้รับใบอนุญาตในการประกอบกิจการ ข้อแตกต่างระหว่างภาพยนตร์กับวีดิทัศน์จึงเป็นข้อแตกต่างที่มิใช่ข้อสาระสำคัญ เมื่อจำเลยไม่ได้หลงต่อสู้ ศาลจึงลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา มาตรา 192 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง, 79 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
 
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และคดีไม่อาจลงโทษจำเลยเป็นความผิดสองกระทงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 นั้น เห็นว่า ฎีกาของจำเลยที่ว่าไม่ได้กระทำความผิด เป็นการคัดลอกข้อความในอุทธรณ์ของจำเลยส่วนที่อุทธรณ์ว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาเป็นตอนๆ แล้วนำมาปะติดปะต่อกัน และเพิ่มเติมข้อความที่ไม่เป็นสาระสำคัญอีกเล็กน้อย แต่ใจความสำคัญยังเป็นไปตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ได้คัดลอกมาและฎีกาของจำเลยที่ว่าคดีไม่อาจลงโทษจำเลยเป็นความผิดสองกระทง ก็เป็นการคัดลอกข้อความในอุทธรณ์ของจำเลยส่วนที่อุทธรณ์ว่าคดีไม่อาจลงโทษจำเลยเป็นความผิดสองกระทงมาทั้งหมด ฎีกาของจำเลยดังกล่าวข้างต้น จึงไม่ได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าไม่ถูกต้องอย่างไร ที่ถูกควรเป็นอย่างไร เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย 
 
แต่ศาลอุทธรณ์กำหนดโทษจำคุกจำเลยหนักเกินไป จึงสมควรกำหนดโทษจำคุกจำเลยเสียใหม่ให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา มาตรา 185 วรรคสอง ประกอบ มาตรา 215 และ 225 เจ้าพนักงานได้ยึดธนบัตรล่อซื้อไว้เป็นของกลางแต่ไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานได้จัดการอย่างใด ศาลฎีกาเห็นสมควรคืนให้เจ้าของ 
 
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 4 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน คืนธนบัตรล่อซื้อของกลางแก่เจ้าของ 
 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา