ภัคภิญญา : แชร์เฟซบุ๊ก 6 ข้อความ เดินทางไกลไปสุไหงโก-ลก

อัปเดตล่าสุด: 22/10/2565

ผู้ต้องหา

ภัคภิญญา

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2564

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ขณะกล่าวหามีอายุ 39 ปี มีที่อยู่ในอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส มีอาชีพเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ เคลื่อนไหวในนามเครือข่ายประชาชนปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ (คปส.) นอกจากคดีนี้พสิษฐ์ยังกล่าวหาบุคคลอื่นๆ เป็นคดีทำนองเดียวกันที่สภ.สุไหงโก-ลกอีกจำนวนมาก ตำรวจที่สภ.สุไหงโก-ลก แจ้งอย่างไม่เป็นทางการว่ามีอย่างน้อย 20 คดี และมีคดีที่สั่งฟ้องต่อศาลโดยพสิษฐ์เป็นผู้กล่าวหาไปแล้ว 4 คดี

สารบัญ

ภัคภิญญา บรรณารักษ์ห้องสมุดชาวกทม. ถูกพสิษฐ์ จันทร์หัวโทน จากเครือข่ายประชาชนปกป้องสถาบัน (คปส.) กล่าวโทษให้ดำเนินคดีที่สภ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส โดยกล่าวหาว่าเธอแชร์โพสจากเพจเกี่ยวกับการเมืองต่างๆ บนเฟซบุ๊ก ซึ่งเบื้องต้นพสิษฐ์กล่าวหาเธอจากการแชร์ 4 โพส ด้วยข้อหามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ทำให้เธอต้องเดินทางไกลเพื่อไปรับทราบข้อกล่าวหา ต่อมาเมื่ออัยการส่งฟ้อง ก็ฟ้องเธอที่ศาลจังหวัดนราธิวาส ซึ่งอัยการสั่งฟ้องจากการแชร์โพส 6 ข้อความ เธอต้องไปต่อสู้คดีที่ศาลจังหวัดนราธิวาสด้วยเงินทุนของตัวเอง
 
 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ภัคภิญญา ขณะถูกกล่าวหาอายุ 31 ปี เป็นชาวจังหวัดกรุงเทพ ทำงานเป็นบรรณารักษ์ ในห้องสมุดของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร มีอาชีพเสริมเป็นนักร้องและนางแบบ 
 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

คำฟ้องของพนักงานอัยการฉบับลงวันที่ 5 มกราคม 2565 ระบุว่า ขณะเกิดเหตุประเทศไทยปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ดังนี้
 
1.เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 จำเลยใช้ เฟซบุ๊กชื่อ Phakpinya … ที่มีรูปของจำเลยเปิดบัญชีสาธารณะแชร์โพสจากเพจเยาวชนปลดแอกซึ่งเป็นภาพตำรวจควบคุมฝูงชนฉีดน้ำ พร้อมเขียนข้อความประกอบว่าถ้าใส่เสื้อเหลืองเมื่อเช้านี่เปิดให้เข้าได้เลยนะพ่อเค้าบอกว่ารักทุกคน เราเป็นดินแดนแห่งการประนีประนอมอ่ะ สับปลับ!! อัยการกล่าวหาว่าเป็นคำด่าและเปรียบเทียบทำให้ประชาชนที่พบเห็นข้อความดังกล่าวเข้าใจว่าสื่อถึงพระมหากษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบันเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาทและแสดงความอาฆาตมาดร้าย รัชกาลที่ 10 อันเป็นการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นศูนย์รวมศรัทธาและเคารพบูชาของประชาชนชาวไทยทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้
 
2. เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 จำเลยใช้ เฟซบุ๊กชื่อ Phakpinya … ที่มีรูปของจำเลยเปิดบัญชีสาธารณะแชร์โพสจากเพจ KTUK-คนไทยยูเค ที่มีภาพพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 10 และภาพอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กล่าวถึงบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในการชุมนุมใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น พร้อมเขียนข้อความประกอบว่า  “ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป !!!” อัยการกล่าวหาว่าเป็นคำด่าและเปรียบเทียบทำให้ประชาชนที่พบเห็นข้อความดังกล่าวเข้าใจว่าสื่อถึงพระมหากษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบันเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาทและแสดงความอาฆาตมาดร้าย รัชกาลที่ 10 อันเป็นการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นศูนย์รวมศรัทธาและเคารพบูชาของประชาชนชาวไทยทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้
 
3. เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2563 จำเลยใช้ เฟซบุ๊กชื่อ Phakpinya … ที่มีรูปของจำเลยเปิดบัญชีสาธารณะแชร์โพสจากเฟซบุ๊กชื่อ คุณมาซาร์ท เชอร์รี่บอย ที่มีข้อความว่า "ถ้าจะเก็บสนามหลวงไว้เผาศพอย่างเดียว กูก็ขอให้พวกมึงได้ใช้บ่อยละกัน" พร้อมเขียนข้อความประกอบว่า "รับสิ้นปีเลยมะ" อัยการกล่าวหาว่าเป็นคำด่าและเป็นคำสาปแช่ง ทำให้ประชาชนที่พบเห็นข้อความดังกล่าวเข้าใจว่าเสียดสีถึงพระมหากษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบัน เป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาทและแสดงความอาฆาตมาดร้าย รัชกาลที่ 10 อันเป็นการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นศูนย์รวมศรัทธาและเคารพบูชาของประชาชนชาวไทยทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้
 
4. เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2564 จำเลยใช้ เฟซบุ๊กชื่อ Phakpinya … ที่มีรูปของจำเลยเปิดบัญชีสาธารณะแชร์โพสจากเฟซบุ๊กชื่อ อานนท์ นำภา ที่มีข้อความว่า "อุ้มหายบ่อยๆ จะทำให้ในหลวงรัชกาลที่ 10 กลับเยอรมันลำบาก พวกทำไปกะเอาใจนายรับรู้ไว้ด้วย อย่าขยันแต่โง่" พร้อมเขียนข้อความประกอบว่า "5555 ว้ายยยย" อัยการกล่าวหาว่าเป็นคำด่า ทำให้ประชาชนที่พบเห็นข้อความดังกล่าวเข้าใจว่าสื่อถึงพระมหากษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบันเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาทและแสดงความอาฆาตมาดร้าย รัชกาลที่ 10 อันเป็นการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นศูนย์รวมศรัทธาและเคารพบูชาของประชาชนชาวไทยทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้
 
5. เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2564 จำเลยใช้ เฟซบุ๊กชื่อ Phakpinya … ที่มีรูปของจำเลยเปิดบัญชีสาธารณะแชร์โพสจากเพจราษฎร ซึ่งเป็นภาพและข้อความเรียกร้องให้คนไทยได้รับวัคซีนโควิด19 พร้อมเขียนข้อความประกอบว่า "เอเชียได้รับวัคซีนกันพร้อมหน้า ไทยมัวชักช้า เพราะรอประทับตราน้ำพระทัยเจ้า"  อัยการกล่าวหาว่าเป็นคำด่า ทำให้ประชาชนที่พบเห็นข้อความดังกล่าวเข้าใจว่าสื่อถึงพระมหากษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบันเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาทและแสดงความอาฆาตมาดร้าย รัชกาลที่ 10 อันเป็นการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นศูนย์รวมศรัทธาและเคารพบูชาของประชาชนชาวไทยทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้
 
6. เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2564 จำเลยใช้ เฟซบุ๊กชื่อ Phakpinya … ที่มีรูปของจำเลยเปิดบัญชีสาธารณะแชร์โพสจากเฟซบุ๊ก Theraphat Charoensuk ที่มีข้อความว่า "เพื่อคนๆ เดียวมาเจ็ดปี ยอมล้มทั้งกระบวนการนิติบัญญัติ ล้มกระบวนการยุติธรรม ล้มแม้กระทั่งหลักการสาธารณสุขพื้นฐานของประเทศ จนประเทศล้มเหลวขนาดนี้ นับมาสิบห้าปี ประเทศไทยมีอะไรดีขึ้นบ้างนอกจากพอร์ทของเจ้าสัวใหญ่สิบห้าตระกูล ถามผู้หลักผู้ใหญ่ที่ยังมีสติในบ้านเมืองนี้หน่อยเถอะ ยอมไปได้ไง" พร้อมเขียนนข้อความประกอบว่า "ฆ่าคนกว่าหกสิบล้าน เพื่อคนๆ เดียว แปลว่าถ้าคนๆ เดียวตาย มันอาจจะดีขึ้นไหมนะ" อัยการกล่าวหาว่าเป็นคำด่า ทำให้ประชาชนที่พบเห็นข้อความดังกล่าวเข้าใจว่าสื่อถึงพระมหากษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบันเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาทและแสดงความอาฆาตมาดร้าย รัชกาลที่ 10 อันเป็นการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นศูนย์รวมศรัทธาและเคารพบูชาของประชาชนชาวไทยทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้
 
การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวกฎหมายอาญา มาตรา 112 และฐานนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3)

พฤติการณ์การจับกุม

ไม่มีข้อมูล

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

อ.9/2565

ศาล

ศาลจังหวัดนราธิวาส

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
12 เมษายน 2564
 
พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ไปแจ้งความที่สภ.เมืองสุไหงโก-ลก ให้ดำเนินคดีกับภัคภิญญา โดยเอกสารที่พสิษฐ์นำไปยื่นต่อตำรวจ เป็นคำกล่าวหาว่าผู้ต้องหากระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา หมิ่นประมาทอาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จสูาระบบคอมพิวเตอร์ พร้อมกับพิมพ์เอกสารที่ถ่ายภาพจากหน้าจอโทรศัพท์ไปมอบให้ตำรวจด้วยรวม 8 แผ่น 
 
ในเอกสารที่พสิษฐ์กล่าวหา เขียนไว้ด้วยว่า พฤติกรรมของผู้ถูกกล่าวหาเป็นการก่อให้เกิดการกระทำผิดกฎหมายอาญาทั้งทางตรง และทางอ้อม ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นสถาบันหลักของบ้านเมือง และเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติ การดำเนินคดีนนี้กระทำการภายใต้กฎหมายหน้าที่พลเมืองและพ.ร.บ.ทะเบียนราษฎร มาตรา 17 ว่าด้วยการดำเนินคดีและความมั่นคง 
 
 
15 ตุลาคม 2564
 
ภัคภิญญา ได้รับหมายเรียกแล้วเดินทางจากกรุงเทพไปรับทราบข้อกล่าวหาที่สภ.สุไหงโก-ลก โดยมีทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเดินทางไปด้วย ตำรวจตั้งข้อกล่าวหาจากการแชร์โพส 6 ข้อความ ด้วยเฟซบุ๊กที่ชื่อว่า Phakpinya Kaewmat (Barbie Boo) โพรไฟล์เป็นรูปผู้หญิงผมสั้นใส่เสื้อสายเดี่ยวสีแดงมีโคมสีแดงอยู่ใกล้ๆ โดยกล่าวหาว่า หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา
 
ภัคภิญญาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า https://tlhr2014.com/archives/36666 เวลา 14.30 น. พนักงานสอบสวนได้ยื่นขอฝากขังภารดีแบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ต่อศาลจังหวัดนราธิวาส โดยอ้างเหตุผลว่า เป็นคดีที่อัตราโทษสูงและเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี แม้ผู้ต้องหาจะเดินทางมาพบตามหมายเรียกก็ตาม จากนั้นทนายความจึงได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวภารดี ด้วยวงเงินประกันจำนวน 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์
 
16.00 น. ศาลจังหวัดนราธิวาสได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวตามคำร้อง โดยให้วางหลักประกันเป็นเงินสด 150,000 บาท
 
 
5 มกราคม 2565
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ภาค 9 ยื่นฟ้องภัคภิญญาต่อศาลจังหวัดนราธิวาส โดยภัคภิญญาเดินทางไกลจากกรุงเทพเพื่อไปรายงานตัวและยื่นฟ้องคดีนี้ ก่อนศาลให้ประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี โดยใช้หลักประกันเดิมที่วางในชั้นสอบสวน เป็นเงินสด 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ ศาลนัดครั้งต่อไปเป็นนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 9 มีนาคม 2565
 
 
17-19 สิงหาคม 2565
 
นัดสืบพยานโจทก์และจำเลยที่ศาลจังหวัดนราธิวาส โดยการสืบพยานวันแรกเป็นการสืบพยานปากผู้กล่าวหา คือ พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน คนเดียวเต็มวัน และวันที่สองเป็นพยานที่มาให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อความที่โพส มีทั้งคนที่ทำงานเป็นปลัดอำเภอ และนักภาษาศาสตร์ รวมทั้งพนักงานสอบสวน ซึ่งแต่ละคนก็ให้ความเห็นแตกต่างไป โดยเห็นว่าหลายข้อความที่ฟ้องมาไม่ได้กล่าวถึงพระมหากษัตริย์และไม่ใช่ความผิดตามมาตรา 112 ส่วนการสืบพยาวันสุดท้าย เป็นการสืบพยานฝ่ายจำเลย ประกอบด้วย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จาก iLaw และดลภาค สุวรรณปัญญา ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ ซึ่งเบิกความอธิบายให้ศาลเห็นว่า หลักฐานที่ผู้กล่าวหาถ่ายภาพหน้าจอมาส่งศาลนั้น ไม่น่าเชื่อถือ สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้
 
ภายหลังสืบพยาน ภัคภิญญาให้สัมภาษณ์กับไอลอว์ถึงความคาดหวังของคำตัดสินว่า 
 
“จะบอกว่าตื่นเต้น.. แต่จริงๆ ก็ไม่เชิงลุ้น เพราะมันเหมือนต้องวัดกันหน้างาน เราอยากรู้ว่ากระบวนการยุติธรรมไทยมันจะเบี้ยวไปได้ถึงขนาดไหน เพราะว่าคนที่ทำงานด้วยความยุติธรรมก็ยังมี แต่คนที่พยายามจะปิดคดีให้มันจบๆ ไปก็ยังมี เราก็เลยอยากรู้ว่ามันจะเบี้ยวได้มากกว่านี้อีกไหมนะ เพราะว่าการสืบพยานมันก็ผ่านไปแล้ว เราก็ประเมินได้แล้วล่ะว่ามันจะไปในทิศทางไหน.. มาลุ้นกันค่ะ”
 
 
19 ตุลาคม 2565
ศาลจังหวัดนราธิวาสนัดฟังคำพิพากษา

คำพิพากษา

สรุปคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ในส่วนของข้อต่อสู้ว่า บัญชีเฟซบุ๊กว่าเป็นของจำเลยจริงหรือไม่ ศาลเห็นว่า ภาพถ่ายในทะเบียนราษฎรของจำเลยตรงกับภาพบนเฟซบุ๊กที่มีการโพสต์ข้อความตามฟ้อง ทั้งเมื่อสืบค้นบัญชีสื่อสังคมอนนไลน์อื่นๆ ยังพบว่ามีบัญชีอินสตาแกรมที่มีชื่อคล้ายชื่อบัญชีเฟซบุ๊กของจำเลยและมีภาพถ่ายที่เหมือนกับภาพบนบัญชีเฟซบุ๊กด้วย ทั้งจำเลยก็ไม่ได้นำสืบว่า ตัวเองไม่ได้ใช้เฟซบุ๊กที่มีการโพสต์ข้อความตามฟ้อง 

ทั้งจำเลยก็ไม่มีการแจ้งความว่ามีบุคคลอื่นแอบอ้างใช้นำเฟซบุ๊กดังกล่าวไปใช้ ซึ่งผิดปกติของวิญญูชน ส่วนที่จำเลยนำสืบว่าข้อความตามฟ้องทั้งหกข้อความเป็นการตัดต่อ พสิษฐ์ผู้กล่าวหาจำเลยเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า ได้นำภาพที่บันทึกจากหน้าจอโทรศัพท์ไปใส่ในโปรแกรมไมโครซอฟท์ เวิร์ด ซึ่งเป็นการจัดทำพยานหลักฐานทั่วไป และจำเลยไม่ได้นำสืบว่ามีความปกติเพิ่มเติมอย่างไร ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กและเป็นผู้โพสต์ข้อความตามฟ้อง
 
ในส่วนของเนื้อหาข้อความทั้ง 6 ข้อความ เมื่อศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า
 
1) การกระทำกรรมแรก : มีความผิด
 
จำเลยแชร์และเขียนข้อความประกอบโพสต์ของเพจเยาวชนปลดแอก พยานโจทก์นำสืบไปในทางเดียวกันว่า ประโยคที่ว่า ดินแดนแห่งการประนีประนอมเป็นพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่สิบ ซึ่งเมื่อพิจารณาความหมายของคำว่า สับปลับ ตามพจนานุกรม ทำให้คนอ่านตีความได้ว่ารัชกาลที่สิบพูดไม่จริง เป็นการดูหมิ่น ใส่ความพระมหากษัตริย์ ต่อบุคคลที่สาม
 
2) การกระทำกรรมที่สอง : มีความผิด
 
จำเลยแชร์และเขียนข้อความประกอบโพสต์ของเพจ KTUK-คนไทยยูเค พยานโจทก์นำสืบไปในทางเดียวกันว่า ข้อความดังกล่าวหมายถึงรัชกาลที่สิบและเขียนในทำนองกล่าวหารัชกาลที่สิบว่าเป็นคนไม่ดี ชอบใช้ความรุนแรง จำเลยจึงมีเจตนาใส่ความพระมหากษัตริย์
 
3) การกระทำกรรมที่สาม : มีความผิด
 
จำเลยแชร์และเขียนข้อความประกอบโพสต์ของเฟซบุ๊ก คุณมาซาร์ท เชอร์รี่บอย เห็นว่าสนามหลวงเป็นสถานที่ๆใช้ถวายพระเพลิงพระบรมศพ หรือพระศพของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศ์ศานุวงศ์ แม้ข้อความที่จำเลยโพสต์จะไม่ได้ระบุถึงบุคคลใด แต่ก็ไม่ปรากฎว่ามีประชาชนทั่วไปเคยถูกประกอบพิธีที่สนามหลวง และที่ผ่านมามีการใช้สนามหลวงประกอบพระราชพิธีพระบรมศพรัชกาลที่เก้า ย่อมแสดงให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยที่ต้องการแช่งรัชกาลที่สิบ ส่วนที่จำเลยนำสืบว่าในช่วงที่ข้อความตามฟ้องถูกโพสต์ไม่ปรากฎว่ารัชกาลที่สิบหรือสมเด็จพระราชินีจะทรงพระประชวรแต่อย่างใด ก็ไม่สามารถหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้
 
4) การกระทำกรรมที่สี่
 
จำเลยแชร์และเขียนข้อความประกอบโพสต์ของเฟซบุ๊กของอานนท์ นำภา เมื่ออ่านข้อความดังกล่าวทั้งหมดยังไม่สามารถตีความได้ว่าหมายถึงรัชกาลที่สิบ
 
5) การกระทำกรรมที่ห้า
 
จำเลยแชร์และเขียนข้อความประกอบโพสต์ของเฟซบุ๊กเพจราษฎร ข้อความว่า วัคซีนจากน้ำพระทัยไม่ใช่ข้อความดูหมิ่น และบุคคลทั่วไปก็ไม่อาจทราบได้ว่าโพสต์ดังกล่าวมุ่งหมายถึงบุคคลใด 
 
6) การกระทำกรรมที่หก
 
จำเลยแชร์และเขียนข้อความประกอบโพสต์ของเฟซบุ๊ก Theraphat Charoensuk เห็นว่าข้อความดังกล่าวเป็นการวิจารณ์การบริหารประเทศของนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2557 จนถึงขณะที่มีการโพสต์ข้อความ ซึ่งสอดคล้องกับข้อความ "เป็นเวลาประมาณ 7 ปี" ที่จำเลยโพสต์
 
การกระทำกรรมที่ 4-6 มีจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3)
 
พิพากษาว่า จำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) รวมสามกรรม เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีโทษหนักที่สุด ลงโทษจำคุกกรรมละ 3 ปี รวม 3 กรรม ลงโทษจำคุก 9 ปี ส่วนการกระทำที่เหลือให้ยกฟ้อง

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา