112 ALERT! ชวนเปิดแฟ้ม “เพชร ธนกร” คดีปราศรัย #ม็อบ6ธันวา ก่อนพิพากษา

ตัวเลข 20 คือจำนวนคดีมาตรา 112 ที่มีผู้ต้องหาเป็นเยาวชน ภายหลังการประกาศแถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรีว่าจะนำกฎหมาย “ทุกฉบับทุกมาตรา” กลับมาใช้ดำเนินคดีกับประชาชนอีกครั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ส่งผลให้นี่เป็น “ครั้งแรก” ในประวัติศาสตร์ไทย ที่มีการนำกฎหมายมาตราดังกล่าวซึ่งมีโทษสูงสุดถึง 15 ปี มาบังคับใช้กับเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี 

ภาพของนักเรียนมัธยมผูกโบขาวชูสามนิ้วระหว่างเคารพธงชาติที่ถูกเผยแพร่ในช่วงปี 2563 คือหลักฐานยืนยันว่า กระแสความตื่นตัวทางการเมืองในช่วงเวลานั้นเกิดขึ้นในหมู่เยาวชนคนรุ่นใหม่ โดยหลายคนที่อายุยังไม่ถึง 18 ปีไม่เพียงไปเข้าร่วมการชุมนุมเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทสำคัญในฐานะ “นักปราศรัย” ที่ไปขึ้นเวทีปราศรัยสลับกับบรรดารุ่นพี่อีกด้วย

เพชร ธนกร คือหนึ่งในเยาวชนอายุ 17 ปีที่ต้องโทษมาตรา 112 รวมกันถึงสามคดี จากการจับไมค์ปราศรัยตั้งคำถามถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ในประเด็นต่างๆ และต้องพบเจอกับความกดดันที่ตามมาจากการเข้าสู่กระบวนการของ “ศาลเยาวชน” ทั้งการต้องไปพบพนักงานคุมประพฤติหรือนักจิตวิทยาตามกำหนดนัด ไปจนถึงข้อกำหนดการพิจารณาคดีแบบ “ปิดลับ” ที่ไม่อนุญาตให้ทนายความและเพื่อนๆ สามารถเข้าไปร่วมฟังการพิจารณาได้

ท่ามกลางคดีมาตรา 112 ที่ผู้ต้องหาเป็นเยาวชนกว่า 20 คดี คดีของเพชรมีความสำคัญในฐานะคดีเยาวชน “คดีแรก” ที่จะมีคำพิพากษา

ภายหลังการสืบพยานเสร็จสิ้น ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางก็นัดฟังคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 ของเพชรจากการปราศรัยที่วงเวียนใหญ่ใน #ม็อบ6ธันวา เป็นวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 เวลา 09.00 น. แต่ก่อนที่นาฬิกาของคำพิพากษาจะเดินไปถึง ไอลอว์ชวนทำความรู้จักคดีมาตรา 112 ของเพชรให้มากขึ้น

(1) เพชรเป็นใคร? ทำไมโดนฟ้อง ม.112 ?

o ผู้ริเริ่มคดี: จักรพงศ์ กลิ่นแก้ว แกนนำกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.)

o ผู้ถูกกล่าวหา: เพชร ธนกร เป็นนักกิจกรรม อดีตนักเรียนอาชีวะ เกิดและเติบโตที่จังหวัดสมุทรปราการ

เพชรนิยามว่าตนเองเป็น “เด็กร้านเกม” ที่ใช้เวลาว่างไปกับการขลุกตัวอยู่ในร้านอินเทอร์เน็ตและใช้ทวิตเตอร์เป็นช่องทางในการติดตามข่าวดาราเกาหลี เพชรเล่าว่าทวิตเตอร์ทำให้ได้เห็นข่าวการเมืองหลายๆ ข่าวที่ทำให้ต้องตั้งคำถาม และเริ่มหาข่าวหรือคอมเมนต์จากอินฟลูเอนเซอร์ทางการเมืองมาอ่านมากขึ้น จนกระทั่งการติดตามเนื้อหาการเมืองกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเพชรมาตั้งแต่อายุยังไม่เข้าเลขสอง

ในวัย 17 ปี เพชรเป็นเยาวชนที่มีคดีความทางการเมืองอย่างน้อยห้าคดี ได้แก่ คดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำนวนสองคดี และคดีที่มีอัตราโทษสูงอย่างมาตรา 112 อีกจำนวนสามคดี (1) จากการปราศรัยที่วงเวียนใหญ่ใน #ม็อบ6ธันวา (2) คดีจากร่วมกิจกรรมแต่งคร็อปท็อปเดินสยามพารากอน เมื่อ 20 ธันวาคม 2563 และ (3) คดีจากปราศรัยในการชุมนุม #คนนนท์ไม่ทนเผด็จการ ที่ท่าน้ำนนทบุรี เมื่อ 10 กันยายน 2563

สำหรับคดีที่กำลังจะมีคำพิพากษาในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 คือคดีมาตรา 112 คดีแรกจากการปราศรัยเมื่อ 6 ธันวาคม 2563 ที่วงเวียนใหญ่ โดยเนื้อหากล่าวถึงบทบาทของกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยของไทย และมีผู้ริเริ่มคดีคือ จักรพงศ์ กลิ่นแก้ว แกนนำกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.)

ตามคำฟ้องของอัยการระบุใจความว่า เพชรได้ปราศรัยตั้งคำถามถึงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในปัจจุบัน การลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหาร และการปฏิรูปโครงสร้างของประเทศ ในลักษณะใส่ความรัชกาลที่ 10 ซึ่งทำให้บุคคลที่สามเข้าใจว่า “พระองค์เป็นบุคคลไม่ดี ไม่เคารพกฎหมาย ไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ทำสิ่งที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าเป็นความผิดก็ไม่ต้องรับผิดใดๆ และสามารถกระทำการใดๆ เกินกว่าที่กฎหมายจะบังคับได้” รวมทั้งใส่ความต่อรัชกาลที่ 9 ว่า “ทรงสนับสนุน อนุญาต ยอมรับหรือรู้เห็นเป็นใจให้มีการทำรัฐประหารและปกครองระบอบเผด็จการ โดยทรงลงนาม (เซ็น) ยินยอมให้มีการรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ. 2557” 

นอกจากนี้ ในวันดังกล่าวยังมีนักกิจกรรมอีกสองคนที่ขึ้นปราศรัยและถูกตั้งข้อหามาตรา 112 เช่นเดียวกับเพชร ได้แก่ ชูเกียรติ แสงวงค์ และวรรณวลี ธรรมสัตยา (ตี้ พะเยา) แต่เนื่องจากเพชรยังมีสถานะเป็นเยาวชน เจ้าหน้าที่จึงต้องดำเนินการแยกฟ้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง

(2) บาดแผลที่ต้องพบเจอใน “ศาลเยาวชน”

ในขณะที่เกิดเหตุคดีมาตรา 112 ทั้งสามคดี เพชรยังอายุไม่ถึง 18 ปี คดีทั้งหมดของเพชรจึงอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลเยาวชนซึ่งมีกระบวนการและขั้นตอนที่แตกต่างออกไปจากการพิจารณาคดีของผู้ใหญ่ เช่น ต้องไปพบนักจิตวิทยา และต้องเข้ารับการพิจารณาคดีแบบ “ปิดลับ”

เพชรเล่าว่า มีนักจิตวิทยาคนหนึ่งซึ่งมีหน้าที่พูดคุยระหว่างการถูกดำเนินคดีเขียนรายงานการติดตามความประพฤติว่า “มีทัศนคติการเมืองที่ไม่ดี” เนื่องจากเห็นว่าเพชรใช้รูปภาพของปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ และสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลเป็นภาพโปรไฟล์ในแอพลิเคชันไลน์ ซึ่งเพชรเห็นว่าโปรไฟล์ไลน์ถือเป็นพื้นที่ส่วนตัว

มากกว่านั้น นักจิตวิทยาคนดังกล่าวยังเคยสั่งให้เพชรทำการบ้านด้วยการคัดลายมือเป็นข้อความศีลห้าและข้อความอาชีพสุจริตด้วย การถูกสั่งเช่นนี้ทำให้เพชรรู้สึกถูกลดทอน เพราะเพชรมองว่าสิ่งที่ทำให้ถูกดำเนินคดีเป็นเพียงการแสดงความความคิดเห็นทางการเมืองเท่านั้น

นอกจากนี้ ข้อกำหนดที่ให้การพิจารณาคดีเด็กและเยาวชนต้อง “พิจารณาโดยลับ” ยังทำให้เพชรรู้สึกโดดเดี่ยว เนื่องจากเพชรมองว่าคดีของตนเป็นคดีการเมือง ซึ่งมีลักษณะเป็นคดีสาธารณะ การมีประชาชนที่สนใจหรือเพื่อนร่วมอุดมการณ์มาให้กำลังใจในห้องพิจารณาคดีจึงเป็นเรื่องสำคัญ ไม่เพียงเท่านั้น การมีเพียงผู้ปกครองอยู่ในห้องพิจารณาคดียังจำกัดแนวทางการต่อสู้คดีของเพชรด้วย เพราะเมื่อเวลาต้องการที่จะโต้แย้งกับผู้พิพากษา เพชรก็ต้องเผชิญความกดดันเพราะพ่อมีความคิดเห็นต่อแนวทางการต่อสู้คดีที่แตกต่างออกไป พ่อของเพชรเป็นห่วงว่า หากเพชรโต้เถียงกับผู้พิพากษาหรือมีท่าทีแข็งกร้าวเกินไป อาจจะส่งผลเสียในทางคดีได้

“มันแย่มากเลย ช่วงการสืบพยานศาลไม่อนุญาตให้ใครเข้าห้อง ไม่อนุญาตกระทั่งทีมงานของศูนย์ทนายฯ ที่จะเข้าไปช่วยจดประเด็นเพราะคดีของเราประเด็นมันเยอะ ทนายคนเดียวยังไงก็จดไม่ทัน คดี 112 เป็นคดีการเมือง ถูกเอามาใช้ในสถานการณ์ทางการเมือง แล้วเราจะเชื่อได้ยังไงว่าจะได้รับความเป็นธรรม”

“ใจจริงเราอยากให้คนนอกเข้ามานั่งฟังการพิจารณาคดีของเราได้ เราจะได้รู้สึกว่าเราเข้าถึงความยุติธรรมจริงๆ ถ้ามีตัวแทนสถานทูตหรือองค์กรสิทธิฯ มาฟังด้วยมันคงดีกว่านี้ แต่นี่ไม่มีเลย”

(3) เกิดอะไรขึ้นกับ “เพชร” หลังถูกดำเนินคดี ?

ภายหลังถูกดำเนินคดีทางการเมือง เพชรเล่าว่าชีวิตของตนในปี 2564 วนเวียนอยู่กับสถานีตำรวจ อัยการและศาล แม้จะมีทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนคอยให้ความช่วยเหลือทางคดีโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแต่ “ราคา” ของกระบวนการยุติธรรมก็ไม่ได้มีเพียงเท่านั้น เพราะคดีของเด็กและเยาวชนมีขั้นตอนพิเศษ คือการต้องเข้าพบ “พนักงานคุมประพฤติ” หรือนักจิตวิทยาตามกำหนดนัด

“คดีที่นนทบุรีนี่หนักหน่อยตรงที่สถานพินิจอยู่ไกลเหมือนเข้าไปกลางทุ่งนา แล้วเรากับพ่อเราก็อยู่คนละบ้านกัน หลังถูกดำเนินคดีเราตัดสินใจออกมาอยู่ข้างนอกเพราะไม่อยากให้การทำกิจกรรมของเราไปเป็นปัญหาเดือดร้อนที่บ้าน โดยเฉพาะการติดตามคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐ รวมแล้วค่ารถไปกลับของเรากับพ่อทั้งไปศาล ไปสถานพินิจในทุกๆ คดีรวมๆ กันแล้วก็เป็นหมื่นอยู่…”

ภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการถูกดำเนินคดีทำให้เพชรตัดสินใจมองหาลู่ทางอาชีพใหม่ๆ จากเดิมที่เคยทำงานพิเศษด้วยการรับจ้างล้างจาน การต้องไปสถานพินิจและขึ้นโรงขึ้นศาลทำให้เพชรไม่สามารถหางานประจำที่ทำงานเป็นเวลาได้ ทางเลือกของเพชรจึงจำกัดอยู่ที่การทำอาชีพอิสระ โดยมีช่วงหนึ่งที่เพชรตัดสินใจซื้อหนังสือดูดวงและไพ่มาสองชุด ในบางครั้งเพชรทำรายได้ได้ถึงวันละพันบาท แต่ก็ยังเป็นงานที่มีรายได้ขึ้นลงไม่แน่นอน

ช่วงปี 2564 เพชรยังคงไปร่วมการชุมนุมบ้าง แต่ไม่บ่อยเท่าเดิมเพราะเริ่มมีภาระมากขึ้น ก่อนที่ในปี 2565 เพชรและเพื่อนๆ ก็แทบไม่ค่อยได้ไปร่วมชุมนุมอีกต่อไป

“ช่วงแรกๆ ที่ออกมาอยู่กับเพื่อนๆ มันคือเซฟโซน แต่ตอนนี้ไม่ใช่แบบนั้นแล้ว หลายคนอยู่ในช่วงที่สภาพจิตใจไม่ดีและต้องการการพักฟื้น หลายๆ คนรวมทั้งตัวเราต่างรู้ว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองมันเป็นแค่เสี้ยวหนึ่งของชีวิต เราก็ยังมีชีวิตส่วนอื่นๆ ที่ต้องใช้ มีอีกหลายๆ เรื่องที่ต้องจัดการ”

“เพื่อนนักกิจกรรมหลายคนเริ่มถอยไปโฟกัสกับชีวิตตัวเองมากขึ้น ตัวเราเองก็เริ่มต้องหันมาหาอาชีพหาทางเลี้ยงดูตัวเอง จริงอยู่สมัยที่เราขึ้นปราศรัยอาจจะมีแฟนคลับ มีคนที่เห็นด้วยกับสิ่งที่เราออกมาเคลื่อนไหวให้การสนับสนุนเรา แต่ต้องไม่ลืมว่ามันก็เป็นแค่เรื่องเฉพาะกิจ สุดท้ายเราทุกคนก็ต้องมีอาชีพ ต้องหารายได้ ต้องมีชีวิตของตัวเอง ไม่มีใครจะมาสนับสนุนเราไปได้ตลอด เราทุกคนต่างต้องยืนด้วยตัวเอง”

o อ่านประสบการณ์ในกระบวนการยุติธรรมเยาวชนของเพชร