รู้ไหมใครร้อง?? : “ศรีสุวรรณ จรรยา” ก็ริเริ่มคดี ม.112 ด้วย!?

270 คดี คือยอดล่าสุดของจำนวนคดีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือความผิดฐาน “หมิ่นประมาท” พระมหากษัตริย์ (ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2566) 

เหตุผลหนึ่งที่จำนวนคดีมาตรา 112 พุ่งสูงขึ้นหลังปี 2563 ก็เพราะกฎหมายมาตรานี้มีคุณสมบัติสำคัญ คือ เป็นความผิดที่เขียนอยู่ในหมวด “ความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” กฎหมายจึงอนุญาตให้ “ใครก็ได้” ที่พบเห็นการกระทำที่เข้าข่าย ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เสียหาย ก็สามารถเดินไปริเริ่มคดีที่สถานีตำรวจใกล้บ้านได้เลย

ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในสังคม สถิติของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า จากจำนวนคดีทั้งหมด แบ่งเป็นคดีที่มี “ประชาชนธรรมดา” เป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษจำนวน มากถึง 126 คดี หรือประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนคดีทั้งหมด และเมื่อพิจารณาจากรายชื่อผู้ริเริ่มคดีทั้งหมดก็จะพบว่า มี “พลเมืองดี” อยู่ไม่กี่คนที่ร่วมกันอาศัยช่องว่างของกฎหมายไปริเริ่มคดีจนเป็นปรากฏการณ์นักร้อง “หน้าซ้ำ”

หากนึกถึง นักร้อง(เรียน)ในไทย ชื่อของ “ศรีสุวรรณ” ก็คงปรากฏขึ้นมาเป็นลำดับแรกๆ

ทันทีที่เรื่องใดๆ กลายเป็นประเด็นถกเถียงของสังคมบนโลกออนไลน์ หน้าข่าวในเช้าวันต่อมาก็มักปรากฏชื่อของ “ศรีสุวรรณ จรรยา” เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ว่าได้ไปดำเนินการยื่นเรื่องกับหน่วยงานต่างๆ ให้เข้าตรวจสอบที่มาของประเด็นนั้นๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้วอยู่เสมอๆ

ตัวอย่างผลงานโดดเด่นของศรีสุวรรณที่หลายคนอาจจดจำได้ อาทิ การดำเนินการฟ้องร้อง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กับ โน้ต-อุดม แต้พานิช เมื่อเดือนตุลาคม 2565 จากการพาดพิงถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการแสดงเดี่ยวไมโครโฟน 13  หรือการยื่นเรื่องให้ กกต. ตรวจสอบนโยบาย “เงินดิจิตัล” ของพรรคเพื่อไทยเมื่อพฤษภาคม 2566 เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า ในส่วนของเทรนด์ “ประชาชนการริเริ่มฟ้องประชาชนด้วยกันเอง” ด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น นักร้องมือฉมังคนนี้ก็ไม่พลาดที่จะทำสถิติไว้มากถึงสี่คดี และมักเลือกริเริ่มคดีซึ่งมีที่มาจากกระแสข่าวในโลกออนไลน์เช่นเดียวกัน

แม้จำนวนคดีอาจไม่มากเป็นลำดับต้นๆ ในทำเนียบนักร้องมาตรา 112 มือฉมัง แต่ความโดดเด่นอย่างหนึ่งที่ทำให้ศรีสุวรรณต่างจากนักร้องคนอื่นๆ นั้นคือการ “ลงทุน” เดินทางข้ามภูมิภาคไปริเริ่มคดีที่สถานีตำรวจต้นทางในบางคดี เพราะหากพิจารณาจากช่องว่างของกฎหมายที่อนุญาตให้คนทั่วไปสามารถริเริ่มคดีจากที่ไหนก็ได้โดยไม่ต้องคำนึงว่าบ้านของผู้ที่ถูกกล่าวหาอยู่แถวนั้นด้วยหรือไม่ ส่งผลให้ในบางพื้นที่เกิดปัญหาการกระจุกตัวของคดีในแต่ละจังหวัด แต่ศรีสุวรรณกลับเลือกที่จะไม่ทำเช่นนั้น 

และแม้ว่าเมื่อ 9 มิถุนายน 2566 อธิบดีกรมการปกครองจะมีคำสั่งยุบ “สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย” ของศรีสุวรรณหลังพบการแอบอ้างชื่อของผู้อื่นมาจดจัดตั้งสมาคม อย่างไรก็ตาม ศรีสุวรรณระบุว่าหลังจากนี้ภายใน 15 วันจะทำการยื่นอุทธรณ์ต่ออธิบดีกรมการปกครอง ซึ่งหากพิจารณาแล้วว่าคำอุทธรณ์มีน้ำหนักไม่เพียงพอ ตนก็ยินยอมให้เพิกถอนสมาคมได้ พร้อมยืนยันว่าไม่ว่าจะมีตำแหน่งหรือไม่ ตนก็จะทำหน้าที่ยื่นเรื่องร้องเรียนเช่นเดิมในนามปัจเจกบุคคล 

สำหรับคดีมาตรา 112 ที่ศรีสุวรรณเป็นผู้ไปริเริ่ม มีดังต่อไปนี้

1) คดีรามิล-เท็น แสดงงานศิลปะคล้ายธงชาติไทยโดยไม่มีสีน้ำเงิน

คดีนี้สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2564 มีการแสดงงานศิลปะระหว่างการชุมนุม “ยุทธการไล่ประยุทธ์” ที่บริเวณสนามรักบี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยภายในงานมีการแสดงผลงานชิ้นสำคัญของรามิล-ศิวัญชลี วิชญเสรีวัฒน์ และเท็น-ยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ สองนักศักษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่จากกลุ่มศิลปิน “artn’t” ได้แก่ ป้ายผ้าลักษณะคล้ายธงชาติไทย โดยพื้นที่บริเวณช่องกลางถูกแทนที่ด้วยแผ่นพลาสติกใสพร้อมหุ่นคล้ายศพนอนอยู่ด้านใน

ในระหว่างการจัดงาน ผู้จัดงานได้กล่าวเชิญชวนมวลชนที่ร่วมกิจกรรมให้เข้ามาเขียนความคิดเห็นลงในแผ่นพลาสติกดังกล่าว ซึ่งภายหลังปรากฏข้อความ อาทิ  “FUCK 112 IF YOU USE 112 FUCK YOU TOO”, “พอแล้วไอ้ษัตร์”, “สุนัขทรงเลี้ยงออกไป”, “พอทีภาษีกูเลี้ยงหอย” 

ต่อมา ผลงานชิ้นดังกล่าวปรากฏในหน้าข่าวอีกครั้งเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2564 หรือวันเดียวกันกับที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชินีเสด็จพระราชดำเนินไปเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ กองพลทหารราบที่ 7 อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ สืบเนื่องจากในคืนก่อนหน้า (21 มีนาคม 2564) มีรายงานกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาตรวจสอบงานศิลปะในพื้นที่จัดแสดงงาน และผู้บริหารของคณะวิจิตรศิลป์ได้เข้ามาเก็บงานแสดงศิลปะของนักศึกษาจำนวนหนึ่งใส่ถุงดำ โดยระบุเหตุผลถึงเรื่องความสะอาดของพื้นที่ 

ข่าวดังกล่าวส่งผลให้ในวันที่ 26 มีนาคม 2564 ศรีสุวรรณเดินทางไกลไปที่ สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ โดยเขาระบุว่าเหตุการณ์ที่กลุ่มคณบดี คณะวิจิตรศิลป์เข้ามายึดผลงานศิลปะของนักศึกษาใส่ถุงดำ ปรากฏพบวัตถุคล้ายธงผืนดังกล่าวนี้ในข่าว จึงต้องการมาร้องเรียนเพื่อดำเนินคดีกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแสดงงานศิลปะชิ้นนี้ 

ในคดีนี้ อัยการมีคำสั่งฟ้องในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ธงฯ มาตรา 51 โดยระบุว่า แผ่นพลาสติกคล้ายธงชาติไทยที่ไม่มีแถบสีน้ำเงิน สื่อว่านักศึกษาทั้งสองคนไม่ประสงค์ให้มีสถาบันกษัตริย์ในประเทศไทย รวมทั้งข้อความที่ผู้ชุมนุมเขียนบนงานศิลปะดังกล่าวก็เข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์ 

2) คดีสายน้ำ แปะกระดาษและพ่นสีสเปรย์ทับพระบรมฉายาลักษณ์

คดีนี้สืบเนื่องมาจากการชุมนุม #ทวงคืนประเทศไทยขับไล่ปรสิต เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 ซึ่งเป็นการเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังทําเนียบรัฐบาล ภายในวันดังกล่าวมีเหตุการณ์หลายอย่างเกิดขึ้นพร้อมกัน หนึ่งในนั้นคือพฤติการณ์ตามคำฟ้องมาตรา 112 ที่อัยการสั่งฟ้องต่อสายน้ำ นักกิจกรรมเยาวชน โดยระบุว่า สายน้ำเป็นผู้แปะกระดาษที่มีข้อความว่า “CANCLE LAW 112” และ “เอาช่วงเวลาชีวิตพวกกูคืนมา” ปิดทับบนพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สิบซึ่งตั้งอยู่บริเวณด้านหน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ใกล้แยกนางเลิ้ง พร้อมกับใช้สีสเปรย์สีดำพ่นทับข้อความ “ทรงพระเจริญ” ด้วยคำหยาบคาย ก่อนจะจุดไฟเผาจนมีไฟลุกไหม้ผ้าแพรที่ประดับอยู่ด้านล่างของกรอบรูป 

ภายหลังการชุมนุมวันดังกล่าวสิ้นสุดลง บนโลกโซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ก “ปราชญ์ สามสี” ได้โพสต์รูปภาพบุคคลสวมใส่เสื้อกับกางเกงสีดำ สวมเสื้อเกาะอ่อนและหมวก พร้อมระบุชื่อว่าบุคคลในภาพคือสายน้ำ 

ต่อมา เมื่อศรีสุวรรณพบเห็นภาพดังกล่าว จึงเดินทางไปริเริ่มแจ้งความดำเนินคดีที่ สน.นางเลิ้ง เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 โดยเขาเบิกความต่อศาลในการสืบพยานว่า ได้หาข้อมูลจากโซเชียลมีเดียและพบว่าชายผู้กระทำผิดมีรูปพรรณคล้ายสายน้ำ รวมถึงในโซเชียลมีเดียก็ยืนยันว่าผู้กระทำผิดคนดังกล่าวคือสายน้ำจริง ซึ่งตนเห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม จึงตัดสินใจมาแจ้งความดำเนินคดีนี้ นอกจากนี้ ศรีสุวรรณยังมองว่าการชุมนุมในวันดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีกทั้งการชุมนุมก็ไม่ได้เป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย จึงยื่นฟ้องร้องสายน้ำในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ด้วย

24 กรกฎาคม 2564 สายน้ำเข้าแสดงตัวต่อพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้งด้วยตนเอง จากนั้นตำรวจจึงแสดงหมายจับเพื่อนำตัวสายน้ำเข้าสู่กระบวนการสอบสวน และเนื่องจากสายน้ำมีอายุ 17 ปีในวันที่ไปรายงานตัว คดีของเขาจึงอยู่ภายใต้ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง พร้อมกับต้องเดินทางไปตามกำหนดนัดของสถานพินิจตลอดระยะเวลาที่คดียังไม่สิ้นสุด 

ล่วงเลยมาเป็นเวลาเกือบสองปี ศาลเยาวชนฯ มีคำพิพากษาเมื่อ 30 มีนาคม 2566 ให้ยกฟ้องในข้อหามาตรา 112 โดยระบุว่าภาพหลักฐานไม่สามารถพิสูจน์ได้แน่ชัดว่าเป็นผู้กระทำการตามข้อกล่าวหาจริงหรือไม่ ส่วนข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ศาลลงโทษปรับ 6,000 บาท ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษปรับ เหลือ 4,000 บาท 

3) คดีมัมดิว-นารา-หนูรัตน์ โพสต์คลิปแคมเปญโฆษณา LAZADA

คดีนี้กลายเป็นข่าวดังในโซเชียลมีเดียเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 ภายหลังเว็บไซต์ LAZADA ได้โพสต์คลิปวิดีโอโฆษณาโปรโมทแคมเปญ 5.5 ผ่านทางแอพลิเคชั่น Tiktok เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2565 โดยมีนักแสดงปรากฏในคลิปสามคนได้แก่ กิตติคุณ ธรรมกิติราษฎร์ หรือมัมดิว, ธิดาพร ชาวคูเวียง หรือหนูรัตน์ และอนิวัต ประทุมถิ่น หรือนารา ซึ่งต่อมา มีเสียงวิพากษ์ว่าคลิปดังกล่าวเป็นการล้อเลียนคนป่วย รวมทั้งมีเจตนาหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ จนเกิดเป็นแฮชแท็ก #BanLAZADA ก่อนที่ในวันรุ่งขึ้น (5 พฤษภาคม 2565) ทางเอเจนซี่ผู้จัดทำโฆษณาจะออกแถลงการณ์ขอโทษและลบคลิปดังกล่าวออกไป  

7 พฤษภาคม 2565 ศรีสุวรรณเดินทางไปที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เพื่อยื่นเรื่องแจ้งความดำเนินคดีกับสามนักแสดง เอเจนซี่ที่จัดทำโฆษณา รวมทั้งแอพพลิเคชั่น LAZADA โดยระบุว่าเนื้อหาในคลิปเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามผู้พิการ และดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นการกระทำที่คนไทยทั้งประเทศยอมรับไม่ได้ ตนจึงต้องแจ้งความเอาผิดตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 

ประมาณหนึ่งเดือนต่อมา 16 มิถุนายน 2565 ศูนย์ทนายฯ รายงานว่า ในเวลา 10.00 น. มัมดิวถูกตำรวจ บก.ปอท. เข้าแสดงหมายจับถึงบ้านพักและควบคุมตัวไปทำบันทึกการจับกุมตามหมายจับของศาลอาญา ก่อนที่นาราและหนูรัตน์จะถูกจับกุมและควบคุมตัวมาที่ บก.ปอท. ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน 

หนึ่งปีต่อมา 24 พฤษภาคม 2566 อัยการมีคำสั่งฟ้อง โดยทั้งสามคนได้ประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี พร้อมเงื่อนไขห้ามกระทำการในลักษณะเดียวกันที่อาจทำให้เสื่อมเสีย และห้ามชุมนุมที่อาจทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยวางหลักทรัพย์ประกันคนละ 90,000 บาท และศาลนัดตรวจพยานหลักฐานอีกครั้ง 24 กรกฎาคม 2566 

ทั้งนี้ รายงานการสอบสวนและคำบรรยายฟ้องที่ศูนย์ทนายฯ เผยแพร่ ระบุพฤติการณ์ความผิดว่า นาราเป็นผู้ผลิตและอัปโหลดคลิปบน TikTok โดยปรากฏในคลิปว่าหนูรัตน์ได้แสดงบทบาทเป็นหญิงพิการแต่งชุดไทยประยุกต์ในสมัยรัชกาลที่ห้า นั่งรถเข็นในลักษณะเอียง ก่อนที่จะลุกขึ้นยืนเพื่อแสดงว่าตนเองไม่ได้พิการจริง ซึ่งเป็นการล้อเลียน และหมิ่นประมาทเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ ว่าไม่ได้มีอาการป่วยจริง ขณะที่มัมดิวนั่งอยู่บนโซฟา ใช้สำเนียงการพูดช้าๆ มีลักษณะเฉพาะ มิใช่น้ำเสียงตามธรรมชาติ โดยสวมเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ แต่งหน้า และทําทรงผม มีลักษณะที่ทำให้คนทั่วไปเข้าใจได้ว่าเป็นการแสดงเลียนแบบสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ 

4) คดีแพทย์ระยอง คอมเมนต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก

คดีนี้ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2563 นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฏวัฒนะ ได้โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีแพทย์จากโรงพยาบาลเอกชนรายหนึ่งโพสต์ข้อความหมิ่นเบื้องสูง ดังนี้

“นพ.ศราวิน ทองรอง แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน สำเร็จการศึกษาจาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้โพสต์ข้อความวิวาทะในโลกออนไลน์ด้วยการใช้สรรพนามลบหลู่พระเกียรติยศพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาชฯ รพ.ใดที่รับนายแพทย์คนนี้ทำงานไม่ว่าจะ Full Time หรือ Part Time ขอให้เลิกจ้างมันเสียโดยเร็ว มิฉะนั้นผมจะดำเนินมาตรการทางสังคมต่อต้าน รพ.ต้นสังกัดอริราชศัตรูคราบเสื้อกาวน์ตัวนี้อย่างรุนแรง”

โพสต์ดังกล่าวเป็นเหตุให้ต่อมา วันที่ 6 มกราคม 2564 ทางโรงพยาบาลกรุงเทพระยองและโรงพยาบาลจอมเทียนได้ออกแถลงการณ์ถึงคำสั่งให้ นพ.ศราวิน พ้นสภาพจากการเป็นแพทย์ของโรงพยาบาล เนื่องจากกระทำการไม่เหมาะสม ผิดระเบียบบริษัทของโรงพยาบาล 

จากนั้น 8 มกราคม 2564 ศรีสุวรรณเดินทางไปริเริ่มคดีกับทาง บก.ปอท. เพื่อให้ฟ้องร้อง นพ.ศราวิน ในข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยระบุว่า นพ.ศราวิน ได้แสดงความคิดเห็นในโพสต์เฟซบุ๊กของโรงพยาบาลกรุงเทพระยอง โดยใช้ถ้อยคำลบหลู่ดูหมิ่นต่อสถาบันเบื้องสูงซึ่งคนไทยทั้งประเทศเทิดทูนเคารพ และทราบว่าปัจจุบันเฟซบุ๊กดังกล่าวได้ปิดแอคเคาท์ไปแล้ว แต่บนโลกออนไลน์ยังมีการส่งต่อข้อมูลกันอยู่