บก.ลายจุดฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน : ใต้ทางด่วนดินแดง

อัปเดตล่าสุด: 02/12/2559

ผู้ต้องหา

นายสมบัติ บุญงามอนงค์

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2552

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

พนักงานอัยการ สำนักอัยการสูงสุด เป็นผู้ฟ้องคดี พันตำรวจโทรณกร วงศ์ภู่มณี และร้อยตำรวจโท ภาคิน ไกรกิตติชาญ เจ้าหน้าที่ผู้เข้าไปดูแลการชุมนุม เป้นผู้กล่าวหา

สารบัญ

18 พ.ค.53 นายสมบัติ บุญงามอนงค์ จัดกิจกรรม "เปลือยเพื่อชีวิต" รณรงค์สันติวิธีระหว่างการสลายการชุมนุมเสื้อแดง เขาถูกจับและดำเนินคดีข้อหาชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ศาลพิพากษายกฟ้อง เพราะการแสดงออกเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน กฎหมายหรือกองกำลังใดๆ จะมาจำกัดสิทธิไม่ได้

ภูมิหลังผู้ต้องหา

สมบัติ บุญงามอนงค์ ชื่อเล่น หนูหริ่ง หรือนามแฝงที่ใช้ในอินเทอร์เน็ท คือ บ.ก.ลายจุด เป็นแกนนำกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง เว็บมาสเตอร์ของเว็บไซต์เพื่อสังคมหลายแห่ง และอดีตประธานกรรมการมูลนิธิกระจกเงา

 
กิจกรรมด้านสังคมในอดีต สมบัติ เคยเป็นอาสาสมัครของกลุ่มละครมะขามป้อม เป็นผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการมูลนิธิกระจกเงา เป็นผู้ก่อตั้งสถานีโทรทัศน์ชุมชน "บ้านนอกทีวี" เป็นผู้ก่อตั้งศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ มีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการอาสาสมัครในช่วงภัยพิบัติสึนามิปี 2546 และเหตุการณ์มหาอุทกภัยปี 2554
 
กิจกรรมด้านการเมือง สมบัติ เป็นแกนนำกลุ่มพลเมืองภิวัฒน์ ต่อต้านการทำรัฐประหารและรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับของ คมช. โดยก่อนหน้านั้น เป็นหนึ่งในแกนนำเครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร และต่อมามีชื่อกลุ่มที่ตั้งใหม่ว่า แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) โดยนายสมบัติ เป็นแกนนำ นปก.รุ่น 2 ภายหลังแกนนำ นปก.รุ่นแรก ถูกคุมขัง อีกทั้งยังเป็นผู้เสนอการรณรงค์ "แดงไม่รับ" เป็นสีตรงข้ามกับ สีเขียว ในการรณรงค์การลงมติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ทำให้ผู้ที่ต่อต้านการรัฐประหาร โดยเฉพาะคณะรัฐประหาร ของพลเอกสนธิ บุญยรัตกลินนิยมใส่เสื้อสีแดงมาร่วมชุมนุมหรือกิจกรรมการเมืองจนถึงปัจจุบัน
 
หลังจากการเลือกตั้งและ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร เดินทางกลับเมืองไทย กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กลับออกมาประท้วง เพื่อต่อต้านรัฐบาลที่อ้างว่าอยู่ภายใต้อำนาจของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ในช่วงเวลานั้น นายสมบัติ ร่วมจัดตั้ง ศูนย์เฝ้าระวังการรัฐประหารแห่งชาติ เพื่อต่อต้านพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นอกจากนี้ นายสมบัติ ยังเป็นผู้จัดทำสติกเกอร์ข้อความ "เบื่อม๊อบ พันธมิตร"
ภายหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือนพฤษภาคม 2553 แกนนำหลายคนถูกจับกุมตัว สมบัติมีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งโรงเรียนแกนนอน และจัดตั้งกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง ทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่องในทุกวันอาทิตย์เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้คนไม่ลืมเหตุการณ์นองเลือดจากการสลายการชุมนุม
 
 

ข้อหา / คำสั่ง

พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

18 พฤษภาคม 2553  

เวลา 16.00 น. ผู้ชุมนุมและผู้สนับสนุนเสื้อแดงทั้งชายและหญิงที่ปักหลักอยู่บริเวณใต้ทางด่วนดินแดงกว่าห้าสิบคนทำกิจกรรม “เปลือยเพื่อชีวิต” (Naked for Life) โดยการถอดเสื้อเหลือเพียงชุดชั้นใน เพื่อสื่อให้สังคมไทยและทั่วโลกรับรู้ว่าผู้ชุมนุมเสื้อแดงมีเพียงตัวเปล่า ไร้อาวุธ และไม่ใช่ผู้ก่อการร้ายตามที่รัฐบาลและศอฉ.กล่าวหา

“เราต้องการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อให้สังคมเห็นว่าเราต่างมีเลือดมีเนื้อ เป็นมนุษย์เหมือนๆกันกับคนอื่นๆ และที่สำคัญเรามาชุมนุมด้วยมือเปล่า เหตุใดจึงต้องระดมกำลังทหาร และอาวุธสงครามจำนวนมากเพื่อมาปราบปรามประชาชน ชีวิตของคนเสื้อแดงมีค่าน้อยกว่าคนอื่นๆอย่างนั้นหรือ?” ขวัญระวี วังอุดม ผู้ประสานงานกิจกรรมกล่าว

“เราอยากรู้ว่าทำไมรัฐบาลต้องฆ่าประชาชน หากรัฐบาลอ้างว่าผู้ชุมนุมมีอาวุธ หรือมีผู้ก่อการร้ายแฝงมาในผู้ชุมนุม ทำไมรัฐบาลไม่ลองมาในที่ชุมนุม มาลองพูดคุยกับชาวบ้านดูบ้าง” ป้าน้อยกล่าวกับสื่อมวลชนที่มาถ่ายภาพ “เราต้องการเพียงให้รัฐบาลต้องถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ทั้งหมด เพราะว่าความรุนแรงเกิดจากอาวุธของทหาร และต้องหยุดฆ่าประชาชนทันที”

พฤติการณ์การจับกุม

คดีนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจสน.ดินแดงมีหมายเรียกตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาที่นายสมบัติ นายสมบัติจึงไปรายงานตัวตามหมายเรียก แต่เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่ได้สั่งขัง จึงไม่ต้องมีการขอประกันตัว

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

131/2554

ศาล

ไม่มีข้อมูล

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

 

เปิดคำพิพากษา

คดีฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินคดีที่สองของบก.ลายจุด (คดีหมายเลขแดงที่ 557/2555) เกิดขึ้นจากกรณีที่นายสมบัติไปร่วมกล่าวปราศรัยและร่วมจัดกิจกรรมเปลือยเพื่อชีวิต เมื่อ 18 พ.ค.53 ท่ามกลางสถานการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากจากการสลายการชุมนุม ก่อนที่ทุกอย่างจะยุติในวันรุ่งขึ้น

เว็บไซต์‘ประชาไท’ ได้คัดลอกเหตุผล การวินิจฉัยช่วงหนึ่งที่น่าสนใจของศาลแขวงพระนครเหนือซึ่งลงชื่อผู้พิพากษา "จิระวงศ์ เชาน์วรนันท์" มานำเสนอ ดังนี้

“นับตั้งแต่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เกิดการแย่งชิงอำนาจขึ้นภายในประเทศหลายครั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำกำลังทหารเข้ายึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ซึ่งควรจะเป็นของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย แต่กลับถูกกลุ่มบุคคลแย่งชิงและตั้งตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์จนเกิดการชุมนุมและความขัดแย้งทางการเมืองมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ซึ่งนำโดยกองทัพอันมีพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน กับพวก ทำการยึดอำนาจจากรัฐบาล ซึ่งประชาชนได้ให้ฉันทามติในการบริหารประเทศแล้ว นับแต่นั้นความแตกแยกและขัดแย้งทางความคิดทางการเมืองของประชาชนในประเทศยิ่งขยายกว้างออกไป เมื่อคณะบุคคลกลุ่มหนึ่งซึ่งมีกองทัพให้การหนุนหลัง รวมทั้งผู้มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายบางส่วนสนับสนุนก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นมาในบ้างเมือง และมีการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐบาลซึ่งประชาชนเลือกมาภายหลังจากการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 จนเปลี่ยนมาเป็นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ความขัดแย้งดังกล่าวยังคงดำรงอยู่และก่อให้เกิดความเครียดแค้นชิงชังของประชาชน ผู้เห็นว่าอำนาจอธิปไตยของตนถูกปล้นไปครั้งแล้วครั้งเล่า

จำเลยซึ่งเป็นนักกิจกรรมทางสังคมและดำเนินกิจกรรมในฐานะองค์กรพัฒนาสังคมนอกเหนือจากการใช้อำนาจรัฐ และเป็นผู้ที่รังเกียจเดียดฉันท์การยึดอำนาจหรือรัฐประหารรัฐบาลซึ่งประชาชนมอบฉันทามติมาโดยแสดงออกจากการต่อต้านการยึดอำนาจจนกระทั่งถูกหัวหน้าคณะรัฐประหารซึ่งนำโดยพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาท จำเลยก็ยังคงเดินหน้าต่อสู้เกี่ยวกับความ อยุติธรรมของประชาชนผู้ด้อยโอกาสมาโดยตลอด ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยเกี่ยวข้องกับการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. โดยได้ความจากนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เบิกความเป็นพยานจำเลยว่า ได้แต่งตั้งให้จำเลยเป็นอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการใช้อำนาจรัฐในการประกาศพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งมีการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมจนเป็นเหตุให้มีประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่าจำเลยหาใช่ผู้เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่ม นปช. ตั้งแต่ต้น แต่เข้าไปอยู่ในที่ชุมนุมจากการได้รับแต่งตั้งและมอบหมายจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อันเป็นองค์กรหนึ่งที่มุ่งเสาะแสวงหาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการละเมิดสิทธิของประชาชนโดยอำนาจของรัฐ

เมื่อปรากฏว่าในระหว่างเกิดเหตุ รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยให้อำนาจของกองทัพส่งกำลังทหารกับเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช. อันเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก จำเลยในฐานะผู้ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอันเป็นองค์กรอิสระองค์กรหนึ่งซึ่งมีหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับการหาข้อเท็จจริงของความรุนแรงที่เกิดขึ้น ย่อมมีเหตุสมควรที่จะเข้าไปในสถานที่ชุมนุมของผู้ชุมนุมดังกล่าว

การที่จำเลยขึ้นกล่าวปราศรับกับประชาชนโดยชักชวนให้ประชาชนทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ใช้ชื่อว่า “เราไม่มีอาวุธ” ตามภาพถ่ายหมาย ล.1 เพื่อแสดงให้รัฐบาลและกองทัพเห็นว่า ผู้ที่เข้าร่วมชุมนุมปราศจากอาวุธที่จะทำอันตรายผู้มีอำนาจรัฐได้

การที่จำเลยกล่าวปราศรัยในทำนองไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลส่งทหารเข้าสลาลการชุมนุมและมีการใช้อาวุธปืนสงครามยิงประชาชนและผู้เข้าร่วมชุมนุมจนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต อันเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลาที่รัฐบาลซึ่งนำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เริ่มประกาศใช้พระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน ตามเอกสารหมาย จ. 1 ถึง จ.3 สอดคล้องกับพันตำรวจโทรณกร และร้อยตำรวจโทภาคิน พยานโจทก์ทั้งสองปากเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านรับว่า พยานทั้งสองเห็นทหารใช้อาวุธปืนยิงประชาชนจนเสียชีวิตและทหารได้ปิดป้ายประกาศเขตใช้กระสุนจริง รวมทั้งปิดกั้นเส้นทางมิให้ผู้เข้าไปในเขตที่ชุมนุมด้วย

นางสาวขวัญระวี วังอุดม พยานจำเลยเบิกความว่า เป็นผู้ชักชวนให้จำเลยจัดกิจกรรมเพื่อแสดงให้รัฐบาลและทหารเห็นว่า ประชาชนผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธ ทั้งช่วยผ่อนคลายความโกรธของประชาชน จึงได้จัดกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ “เราไม่มีอาวุธ” ดังนั้นการที่จำเลยซึ่งไม่ได้เป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมปราศรัยหรือปิดกั้นเส้นทางจราจร หรือจุดไฟเผายางรถยนต์ดังที่โจทก์ฟ้องมาตั้งแต่ต้น ได้เข้าไปในที่เกิดเหตุขึ้นกล่าวปราศรัยต่อผู้เข้าร่วมชุมนุมในวันเกิดเหตุ ก็เข้าไปในฐานะประชาชนคนหนึ่งซึ่งไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลใช้ความรุนแรงโดยส่งกำลังทหารและอาวุธสงครามเข้าสลายการชุมนุมของประชาชน ทั้งจำเลยกระทำไปในสถานะที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์ใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับประชาชน

ประกอบกับจำเลยได้ปราศรัยและจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ในวันเกิดเหตุ ตามภาพถ่ายหมาย ล.1 และ ล.9 ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวไม่ปรากฏว่ามีลักษณะการยั่วยุให้ผู้ชุมนุมก่อความไม่สงบ หรือปลุกระดมให้ประชาชนใช้กำลังประทุษร้ายหรือใช้กำลังปะทะกับทหารที่มาปฏิบัติหน้าที่ตามโจทก์ฟ้อง แต่การกระทำดังกล่าวกลับทำให้ประชาชนซึ่งกำลังโกธรแค้นและชิงชังรัฐบาลและกองทัพลดความรุนแรงและสงบสติอารมณ์ ทำให้สถานการณ์ความไม่สงบบรรเทาเบาบางลง อันเป็นวิถีทางหนึ่งซึ่งทำให้สังคมลดความขัดแย้งลงได้ การกระทำของจำเลยดังกล่าวย่อมเป็นหนทางหนึ่งในการช่วยให้สังคมเกิดความสงบเรียบร้อยขึ้น หาใช่เกิดจากที่รัฐบาลจะใช้กฎหมายหรือกำลังอาวุธเพื่อยุติการชุมนุมของมวลชนเพียงประการเดียวไม่ เพราะการกระทำเช่นว่านั้น ยิ่งจะก่อให้เกิดความเคียดแค้นชิงชังต่อทั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และคณะรัฐบาลรวมถึงผู้ที่ก่อการให้นายอภิสิทธิ์และพวกขึ้นมาบริหารประเทศ

ซ้ำยังอ้างการประกาศใช้พระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉินอันเป็นการเปิดช่องให้กองทัพส่งกำลังทหาร ซึ่งควรมีไว้เพื่อป้องกันประเทศ อันก่อให้เกิดผลกระทบต่ออธิปไตยของชาติ เข้ามาสลายการชุมนุมทางการเมืองของประชาชน โดยรัฐบาลทราบดีอยู่แล้วหากใช้กองทัพซึ่งมิได้ถูกฝึกมาเพื่อควบคุมและยุติการชุมนุมเรียกร้องทางการเมือง รัฐบาลย่อมเล็งเห็นได้ว่าเมื่อใดที่กองทัพใช้อาวุธยุทโธปกรณ์เข้าจัดการกับการชุมนุมทางการเมืองของประชาชนแล้ว ย่อมก่อให้เกิดความสูญเสียไม่ว่าชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ดังที่พันตำรวจโทรณกร

พยานโจทก์ตอบคำถามค้านรับว่า ทหารได้ใช้ลวดหนามปิดกั้นเส้นทางจราจรและปิดป้ายประกาศเขตใช้กระสุนจริง และยิงผู้ชุมนุมจนเสียชีวิต การที่จำเลยซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวมถึงเป็นนักกิจกรรมเชิงสันติวิธี ย่อมใช้สิทธิพลเมืองของตนในการแสดงความไม่เห็นด้วย และเรียกร้องให้รัฐบาลซึ่งเป็นผู้บริหารและใช้อำนาจรัฐยุติการกระทำเช่นที่ว่านั้นได้ อีกทั้งการกระทำของจำเลยดังกล่าวย่อมมีผลให้ประชาชนมีช่องทางระบายออกถึงความคับแค้นจากการใช้อำนาจรัฐ ให้รัฐบาลหันกลับมามองประชาชนแม้จะมีความคิดเห็นที่แตกต่าง ยอมรับฟังข้อเรียกร้องและเจรจาเพื่อหาทางออกโดยสันติได้ การที่จำเลยเพียงแต่กล่าวปราศรัยแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการใช้กำลังอาวุธเข้าสลายการชุมนุมจนเป็นเหตุให้มีประชาชนต้องบาดเจ็บและเสียชีวิตนั้น ย่อมเป็นการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานของการปกครองในระบบประชาธิปไตย ซึ่งไม่ว่ากฎหมายหรือกำลังใดๆ ก็หาอาจตัดสิทธิหรือจำกัดสิทธิเช่นว่านั้นได้ เพราะการใช้สิทธิดังกล่าวหาก่อให้เกิดความรุนแรงหรือความไม่สงบขึ้นมาในการบริหารประเทศแต่อย่างใด

เมื่อโจทก์นำสืบรับฟังได้เพียงว่า จำเลยขึ้นกล่าวปราศรัยในทำนองที่ไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บล้มตาย จำเลยหาได้กระทำการใดๆอันเป็นการประทุษร้ายหรือใช้กำลังประทุษร้ายต่อกำลังทหารเจ้าหน้าที่รัฐ หรือทำการปิดกั้นขีดขวางการจราจรรวมถึงการใช้ความรุนแรงดังฟ้อง การกระทำของจำเลยเป็นการใช้สิทธิที่ชอบโดยพื้นฐานและเป็นไปตามเจตจำนงของการปกครองในระบบประชาธิปไตยแล้ว การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง

พิพากษายกฟ้อง”

 

ดูคดีอื่นๆ ของสมบัติ บุญงามอนงค์

คดี 112 หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ

 
 

 

แหล่งอ้างอิง

27 มกราคม 2554

ที่ศาลแขวงพระนครเหนือ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พนักงานอัยการได้ส่งฟ้องคดีที่อัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด เป็นจำเลยในข้อหา มั่วสุมทางการเมืองเกิน 5 คน กีดขวางทางจราจร และ ก่อความไม่สงบแก่ประชาชน  ในพื้นที่ซึ่งมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งศาลได้รับฟ้องและนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 18 มี.ค.54 เวลา 9.00 น.

ทั้งนี้ ในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาในชั้นสอบสวนระบุว่า เหตุเกิดเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2553 เวลา 13.50 น. ผู้ต้องหาปราศรัยอยู่บนเวทีชั่วคราวใต้ทางด่วนดินแดง ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง มีการจุดไฟเผายางรถยนต์ให้เกิดควันไฟบดบังวิสัยทัศน์ทำให้ประชาชนเดือดร้อน

นายสมบัติ ให้สัมภาษณ์ว่า ตนโดนฟ้องในคดีฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินรวมแล้ว 2 คดี ก่อนหน้านี้คือกรณีที่นัดหมายประชาชนประมาณ 80 คนไปรวมตัวกันที่บริเวณสวนหย่อมถนนเลียบทางด่วน ลาดพร้าว 71 เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกัน ไม่มีการใช้เครื่องขยายเสียงใดๆ แต่เจ้าหน้าที่ถือว่าเป็นการชุมนุมกันเกิน 5 คน ส่วนกรณีนี้คือการตั้งเวทีชั่วคราวใต้ทางด่วนดินแดงในสถานการณ์ซึ่งมีการปราบปรามประชาชนเสียชีวิตไปแล้วเป็นจำนวนมาก จึงได้จัดกิจกรรม “เปลือยเพื่อชีวิต” บริเวณนั้นเพื่อสื่อสารให้ทหารหยุดยิงและสื่อว่าประชาชนไม่มีอาวุธ มีคนร่วมกิจกรรมประมาณ 40-50 คน อย่างไรก็ตาม จากกิจกรรมนั้นตนถูกดำเนินคดีเพียงคนเดียว คาดว่าเป็นเพราะรัฐบาลต้องการจะหยุดการเคลื่อนไหว การทำกิจกรรมของตนด้วยคดีความ ให้เกิดความหวาดกลัวหรือหวั่นไหว ซึ่งไม่เป็นผล

 

10 เมษายน 2555  

ที่ศาลแขวงพระนครเหนือ ผู้พิพากษาจีระวงศ์ เชาวน์วรนันท์อ่านคำตัดสินคดีที่นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด เป็นผู้ต้องหาในคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มั่วสุมทางการเมืองเกิน 5 คน กีดขวางทางจราจร และก่อความไม่สงบแก่ประชาชน ในพื้นที่ซึ่งมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจากกรณีที่จัดกิจกรรม “เปลือยเพื่อชีวิต” และเวทีชั่วคราวบริเวณใต้ทางด่วนดินแดง เมื่อวันที่ 18 พ.ค.53 โดยศาลยกฟ้องคดีนี้

ภาวิณี ชุมศรี ทนายความจำเลยระบุถึงเหตุผลในคำพิพากษาว่า ศาลเห็นว่าเหตุการณ์ความรุนแรงได้เกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้น มีการใช้กระสุนจริงจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก การตั้งเวทีเล็กก็ดำเนินมาก่อนที่นายสมบัติจะมีการจัดกิจกรรม นอกจากนี้กิจกรรมที่นายสมบัติจัดก็เป็นไปโดยสันติ ปราศจากอาวุธ ซึ่งเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การยุยงปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรงตามฟ้อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินจึงไม่สามารถลิดรอนสิทธิดังกล่าวได้ โดยเฉพาะเมื่อนายสมบัติเป็นอนุกรรมการในคณะอนุกรรมการของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ศึกษาเรื่องการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ย่อมต้องเข้าไปอยู่ในที่ชุมนุมเพื่อสังเกตการณ์อยู่แล้ว 

นายสมบัติ กล่าวว่า วันนี้ได้เตรียมตัวไปฟังคำพิพากษาโดยคาดว่าจะถูกพิพากษาลงโทษโดยให้รอลงอาญา เช่นเดียวกับคดีลักษณะเดียวกันอีกคดีหนึ่งที่ตัดสินไปก่อนหน้านี้ เป็นความผิดเกี่ยวกับการฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน บริเวณเรียบทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์ จึงรู้สึกค่อนข้างประหลาดใจเมื่อศาลตัดสินยกฟ้อง โดยยืนยันหลักการสิทธิตามรัฐธรรมนูญของประชาชนในการชุมนุม ไม่มีอำนาจใดจะมาลิดรอนความเป็นมนุษย์ได้ อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้ว่ากิจกรรมดังกล่าวชัดเจนมากว่าไม่ได้ยั่วยุความรุนแรงและทำให้ประชาชนสงบลงด้วยซ้ำ ศาลจึงยกฟ้อง โดยคาดว่าคดีนี้จะเป็นบรรทัดฐานที่สำคัญ

เมื่อถามว่าคิดอย่างไรกับคดีฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ก่อนหน้านี้ประชาชนจำนวนมากถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลาหลายเดือน สมบัติกล่าวว่า คดีฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นคดีทางการเมือง และต้องยอมรับว่ามีการพิจารณาจากบรรยากาศทางการเมือง เกี่ยวพันกับสถานการณ์ทางการเมือง ในช่วงหลังเกิดเหตุใหม่ๆ ถูกใช้อย่างเกินเลยมากเพราะต้องการให้เกิดความเข็ดหลาบเพื่อหยุดสถานการณ์  แค่เพียงคนไปส่งข้าวส่งน้ำในม็อบก็ถูกตัดสินลงโทษจำคุกแล้ว

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา