แจกเอกสารโหวตโน ที่ภูเขียว

อัปเดตล่าสุด: 09/08/2561

ผู้ต้องหา

จตุภัทร์

สถานะคดี

ชั้นศาลอุทธรณ์

คดีเริ่มในปี

2559

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

พนักงานอัยการศาลจังหวัดภูเขียว

สารบัญ

จตุภัทร์ หรือ ‘ไผ่ ดาวดิน’ นักศึกษาหนุ่มวัย 25 ปี จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และวศิน ในวัย 20 ปี นักศึกษาจากสาขาวิชาวิศวกรรมธรณี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ถูกจับกุมและดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ จากการแจกเอกสารวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญที่ตลาดแห่งหนึ่ง ในอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2559 วันเดียวก่อนการลงประชามติ

หลังถูกฝากขัง จตุภัทร์ไม่ขอประกาศตัวและประกาศอดข้าวประท้วงระหว่างถูกควบคุมตัวในเรือนจำ เป็นเวลา 12 วัน ก่อนได้ประกันตัวในเวลาต่อมา

ในชั้นศาลจำเลยให้การปฏิเสธ ต่อสู้ว่า การแจกเอกสารรณรงค์เป็นสิทธิเสรีภาพ สามารถทำได้ ศาลพิพากษายกฟ้องโดยยืนยันว่า การแจกเอกสารรณรงค์เช่นนี้ไม่ผิดกฎหมาย แต่ลงโทษปรับจตุภัทร์ 500 บาท ฐานไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือในชั้นสอบสวน

 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

จตุภัทร์ หรือไผ่ อายุ 25 ปี เป็นนักศึกษานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อดีตผู้ประสานงานกลุ่มดาวดิน และเคยทำกิจกรรมลงพื้นที่พิพาทที่ป่าชุมชนบ้านบ่อแก้ว อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ก่อนถูกจับทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองกับกลุ่มประชาธิปไตยใหม่
 
จตุภัทร์ เป็น 1 ใน 5 สมาชิกกลุ่มดาวดิน ที่ไปชูสาวนิ้ว ต่อหน้าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2557 เป็น 1 ใน 7 สมาชิกกลุ่มดาวดินที่ชูป้ายต่อต้านการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 และเป็น 1 ใน 14 นักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ที่ถูกจับกุมจากการทำกิจกรรมต่อต้านรัฐประหารเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2558 และถูกคุมขังเป็นเวลา 12 วัน ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ
 
วศิน หรือ ปาล์ม นักศึกษาอายุ 20 ปี นักศึกษาจากสาขาวิชาวิศวกรรมธรณี ชั้นปี 3 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 
 
 
 

ข้อหา / คำสั่ง

อื่นๆ, พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61
ฝ่าฝืน ประกาศ คปค. ฉบับที่ 25

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

จตุภัทร์ และวศิน ถูกกล่าวหาว่าทำผิดพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติมาตรา 61 วรรค 2  หลังเดินแจกเอกสารเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ให้พ่อค้าแม่ค้าบริเวณตลาดสดภูเขียว โดยเอกสารที่ทั้งสองทำการแจกจ่าย ได้แก่ ความเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 1 เล่ม, เอกสาร 7 เหตุผลที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 128  ชุด และเอกสารแถลงการณ์คณะนิติราษฎร์จำนวน 16 เล่ม

 

พฤติการณ์การจับกุม

วันที่ 6 สิงหาคม 2559 เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารและฝ่ายปกครองนอกเครื่องแบบกว่า 10 นาย นำโดยพ.ต.อ.อร่าม ประจิตร ผู้กำกับสภ.ภูเขียว เข้าจับกุมตัวจตุภัทร์ และวศิน ขณะกำลังแจกเอกสารเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ให้พ่อค้าแม่ค้าบริเวณตลาดสดภูเขียว โดยตรวจค้นและยึดเอกสารที่ทั้งสองทำการแจกจ่าย ได้แก่ ความเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 1 เล่ม, เอกสาร 7 เหตุผลที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 128  ชุด และเอกสารแถลงการณ์คณะนิติราษฎร์จำนวน16 เล่ม
 
จนเวลาประมาณ 17.00 น. เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวทั้งสองคนมาถึงสถานีตำรวจภูธรภูเขียว โดยมีณัฐวุฒิ วีระชุนย์ นายอำเภอภูเขียว เข้ามาที่สถานีตำรวจด้วย ในช่วงเวลาเดียวกันที่บ้านจตุภัทร์  มีเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนนอกเครื่องแบบอีกกว่า 10 นาย นำหมายศาล เข้าตรวจค้นภายในบ้านของจตุภัทร์ โดยในหมายระบุวัตถุประสงค์การตรวจค้นว่าเพื่อพบและค้นหาเอกสาร ขณะนั้นมีบิดาและมารดาของจตุภัทรอยู่ที่บ้าน ซึ่งอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ตรวจค้นตามหมาย แต่ก็ไม่พบเอกสารหรือหลักฐานใดๆ
 
 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

1370/2559

ศาล

ศาลจังหวัดภูเขียว

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
6 สิงหาคม 2559
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เวลาประมาณ 16.40 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารและฝ่ายปกครองนอกเครื่องแบบกว่า 10 นาย นำโดยพ.ต.อ.อร่าม ประจิตร ผู้กำกับสภ.ภูเขียว สนธิกำลังเข้าจับกุมตัวจตุภัทร์ และวศิน ขณะกำลังแจกเอกสารเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ให้พ่อค้าแม่ค้าบริเวณตลาดสดภูเขียว โดยตรวจค้นและยึดเอกสารที่ทั้งสองทำการแจกจ่าย ได้แก่ ความเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 1 เล่ม, เอกสาร 7 เหตุผลที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 128  ชุด และเอกสารแถลงการณ์คณะนิติราษฎร์จำนวน16 เล่ม
 
จนเวลา 17.00 น. เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวทั้งสองคนมาถึงสถานีตำรวจภูธรภูเขียว โดนมีณัฐวุฒิ วีระชุนย์ นายอำเภอภูเขียว เข้ามาที่สถานีตำรวจด้วย ในช่วงเวลาเดียวกันที่บ้านจตุภัทร์  มีเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนนอกเครื่องแบบอีกกว่า 10 นาย ได้นำหมายศาล ขอเข้าตรวจค้นภายในบ้านของจตุภัทร ในหมายระบุวัตถุประสงค์การตรวจค้นว่าเพื่อพบและค้นหาเอกสาร ขณะนั้นมีบิดาและมารดาของจตุภัทรอยู่ที่บ้าน โดยได้ให้เจ้าหน้าที่ตรวจค้นตามหมาย แต่ก็ไม่พบเอกสารหรือหลักฐานใดๆ
 
ต่อมาหลังตรวจเอกสาร พนักงานสอบสวนสภ.ภูเขียวแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ถูกจับทั้ง 2 คน ในข้อหาตามพ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 วรรค 2 ก่อนจะสอบคำให้การเบื้องต้น โดยทั้งสองคนได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ก่อนทั้งสองคนจะถูกนำตัวไปคุมขังในห้องขังของสถานีตำรวจ เบื้องต้นทราบว่าต้องใช้หลักทรัพย์ในการขอประกันตัวรายละ 150,000 บาท 
 
 
8 สิงหาคม 2559
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เวลา 12.20 น. ที่ห้องพิจารณาคดีเวรชี้ ศาลจังหวัดภูเขียว พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ยื่นคำร้องขอฝากขังจตุภัทร์และวศิน 
 
คำร้องขอฝากขังระบุพฤติการณ์ที่เจ้าหน้าที่เข้าจับกุมว่า เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2559 เวลาประมาณ 17.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ภูเขียว เจ้าพนักงานตำรวจชุดสืบสวน และเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองอำเภอภูเขียวได้รับแจ้งว่า มีบุคคลแจกใบปลิวไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ที่บริเวณถนนสาธารณะราษฎร์บำรุง ตำบลผักปัง อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ จึงร่วมกันเดินทางไปตรวจสอบ พบเห็นจตุภัทร์และวศิน กำลังเดินแจกใบปลิวและเอกสารอยู่บนถนนดังกล่าว จึงแสดงตัวขอตรวจค้น ผลการตรวจค้นพบของกลาง คือ 1. ใบปลิวไม่รับร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 128 แผ่น 2. หนังสือแถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ จำนวน 16 เล่ม 3. หนังสือความเห็นแย้งคำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 1 เล่ม จึงได้ร่วมกันจับกุมผู้ต้องหาที่ 1 และผู้ต้องหาที่ 2 พร้อมของกลาง ในชั้นจับกุมและสอบสวน ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
 
พนักงานสอบสวนระบุว่า การกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯ มาตรา 61(1) และมาตรา 61 วรรค 2 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 25 พ.ศ.2549 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
พนักงานสอบสวนให้เหตุผลในการขอฝากขังว่า การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น เนื่องจากต้องสอบสวนพยานอีก 4 ปาก และรอผลการตรวจประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหา นอกจากนี้ ในคำร้องยังระบุด้วยว่า เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูง หากปล่อยตัวไปเกรงผู้ต้องหาจะหลบหนี และไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุร้ายประการอื่น และผู้ต้องหาที่ 1 (จตุภัทร์) ถูกอายัดตัวจากสถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น (สภ.เมืองขอนแก่น) จากกรณีฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. หากศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาที่ 1 โปรดแจ้งให้สถานีตำรวจภูธรภูเขียวทราบ
 
ด้านจตุภัทร์ และวศิน แถลงคัดค้านการฝากขัง เนื่องจากพยาน 4 ปาก ไม่เกี่ยวข้องกับรูปคดี และการสอบประวัติ พนักงานสอบสวนสามารถทำได้เองโดยไม่ต้องฝากขัง อีกทั้งตนเองไม่มีพฤติการณ์หลบหนี และยังศึกษาอยู่ ส่วนคดีของ สภ.เมืองขอนแก่น ที่พนักงานสอบสวนกล่าวอ้าง ยังไม่ถูกฟ้อง และเป็นคดีการเมือง
 
ศาลพิจารณาจากคำร้องของพนักงานสอบสวนแล้วเห็นว่า ผู้ต้องหาน่าจะกระทำความผิดอาญาร้ายแรง ซึ่งมีอัตราโทษอย่างสูงเกิน 3 ปี จึงอนุญาตให้ฝากขังในระหว่างสอบสวน เป็นเวลา 12 วัน ระหว่างวันที่ 8-19 สิงหาคม 2559
 
หลังศาลอนุญาตฝากขัง วศิน ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว ขณะที่จตุภัทร์ ไม่ขอปล่อยตัวชั่วคราว ทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราววศิน โดยวางเงินสด 150,000 บาท เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน
 
ด้านวิบูลย์ บิดาของจตุภัทร์ ทำหน้าที่ทนายความของจตุภัทร์ และวศินด้วย เปิดเผยว่า ตอนเช้าก่อนเดินทางมาศาล พนักงานสอบสวนได้สอบปากคำผู้ต้องหาทั้งสองเพิ่มเติม และแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเรื่องไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือ ซึ่งทั้งสองไม่ยอมพิมพ์ เพราะยืนยันว่า ไม่ได้ทำผิด ส่วนเรื่องการขอประกันตัวนั้น เดิมทั้งสองคนไม่ขอประกันตัวมาตั้งแต่ชั้นสอบสวน และอดข้าวตั้งแต่เวลาประมาณ 10.00 น. วันที่ 7 สิงหาคม 2559 แต่ในการฝากขังจตุภัทร์ขอให้วศินประกันตัวออกไปเรียน ส่วนจตุภัทร์ยังยืนยันที่จะไม่ขอประกันตัวและอดข้าวต่อในเรือนจำ เนื่องจากต้องการยืนยันว่า ตนเองไม่ได้ทำผิด และต้องการพิสูจน์กระบวนการบังคับใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม
 
ต่อมา เวลาประมาณ 15.00 น. ศาลจังหวัดภูเขียวมีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราววศิน และปล่อยตัวที่ศาลจังหวัดภูเขียว ส่วนจตุภัทร์ถูกนำตัวไปขังที่เรือนจำอำเภอภูเขียว
 
 
15 สิงหาคม 2559

มารดาของ จตุภัทร์  ยื่นหนังสือขอให้ส่งตัวจตุภัทร์เขารับการรักษาที่โรงพยาบาลภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ หลังเข้าเยี่ยมแล้วพบว่า จตุภัทร์มีอาการอ่อนเพลียมาก มีไข้สูง เจ็บปวดตามตัว และคืนที่ผ่านมามีอาการหนาวสั่น และหมดสติไป ขณะเรือนจำอำเภอภูเขียว จ่ายเพียงยาพาราเซตามอล ด้านไผ่ยังยืนยันไม่ยื่นประกันตัว หลังอดอาหารมาแล้ว 8 วัน 
 
 
16 สิงหาคม 2559 
 
เวลา10.30 น. กลุ่มทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเดินทางเข้าเยี่ยมจตุภัทร์ เพื่อสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดี จึงทราบว่าขณะนี้อาการไข้หวัดของจตุภัทร์อาการดีขึ้น ไข้ลดลงตั้งแต่เย็นวานนี้ โดยทางเรือนจำภูเขียวได้ย้ายจตุภัทร์ไปรักษาพยาบาลที่เรือนพยาบาลของเรือนจำโดยมีการให้เกลือแร่ ยาพาราเซตามอล และยาแก้อักเสบ และยังมีเพื่อนผู้ต้องขังช่วยดูแลเช็ดตัวให้ นอกจากนั้นในเช้าวันนี้แพทย์จากโรงพยาบาลภูเขียวยังได้เข้ามาตรวจและยังต้องรอผลตรวจเลือดในบ่ายวันนี้
 
จตุภัทร์ยังยืนยันจะอดอาหารต่อ แต่เนื่องจากต้องรับประทานยาเพื่อรักษาอาการจึงต้องรับประทานขนมปังเล็กน้อยเพื่อไม่ให้ยากัดกระเพาะและมีอาการกรดไหลย้อน
 
ผู้บัญชาการเรือนจำภูเขียวได้แจ้งมารดาของจตุภัทร์ว่า ได้ให้จตุภัทร์มาพักที่เรือนพยาบาล จ่ายเกลือแร่และยาพาราเซตามอล กำลังรอผลตรวจเลือดและการวินิจฉัยจากแพทย์โรงพยาบาลภูเขียวก่อน เพื่อพิจารณาคำขอของมารดาว่าให้ทางเรือนจำส่งตัวจตุภัทร์ไปรักษาที่โรงพยาบาลภูเขียว  

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า หลังการเข้าเยี่ยม ทนายความของศูนย์ทนายความเดินทางไปศาลจังหวัดภูเขียวเพื่อยื่นคำร้องให้ศาลเบิกตัวจตุภัทร์มาที่ศาลในวันครบกำหนดฝากขัง วันที่ 19 สิงหาคม 2559  หากทางพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องให้ฝากขังจตุภัทร์ต่อเป็นครั้งที่สองและให้ศาลงดการใช้วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เนื่องจากต้องการคัดค้านการฝากขังครั้งที่สองและทนายความขอถามค้านพนักงานสอบสวนถึงเหตุจำเป็นในการฝากขัง
 
ศาลจังหวัดภูเขียวมีคำสั่งให้รับคำร้องของจตุภัทร์และแจ้งแก่ทนายความที่รับมอบอำนาจเข้ายื่นคำร้องแทนว่าจะเบิกตัวจตุภัทร์มายังศาลในวันศุกร์ที่ 22 สิงหาคม 2559
 
ทนายความชี้แจงว่า เหตุที่ต้องเข้ายื่นคำร้องขอให้ศาลเบิกตัวจตุภัทร์มาศาลในครั้งนี้เนื่องจากปกติการฝากขังผู้ต้องหาตั้งแต่ครั้งที่สองขึ้นไปในกระบวนการของศาลยุติธรรมจะไม่เบิกตัวผู้ต้องหามาที่ศาลในการฝากขัง แต่จะพิจารณาการฝากขังโดยการใช้วีดีโอคอนเฟอเรนซ์แทน ไม่เหมือนกรณีการฝากขังในกระบวนการฝากขังของศาลทหาร
 
 
19 สิงหาคม 2559 
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เวลา 9.30 น. จตุภัทร์ถูกนำตัวจากเรือนจำมายังศาลจังหวัดภูเขียว พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีในทันที โดยฟ้องจตุภัทร์ เป็นจำเลยที่ 1 และวศิน เป็นจำเลยที่ 2 ข้อหาตามพ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 วรรค 2
 
ต่อมาเจ้าหน้าที่คุมตัวจตุภัทร์มายังห้องเวรชี้ และทนายจำเลยแถลงว่าคดีจะครบกำหนดส่งตัวจำเลยที่ 2 ในวันที่ 22 สิงหาคม 2559 จึงขอให้ศาลสอบคำให้การจำเลยทั้งสองคนพร้อมกัน ศาลพิเคราะห์เห็นว่าเมื่อจำเลยที่ 2 ไม่มาศาล จึงให้เลื่อนไปสอบคำให้การจำเลยทั้งสองพร้อมกันในวันที่ 22 สิงหาคม 2559 เวลา 9.00 น.
 
ขณะเดียวกันทนายจำเลยยังยื่นคำร้องคัดค้านการขังระหว่างพิจารณา โดยศาลได้ขึ้นไปปรึกษาหัวหน้าศาลด้วย ก่อนศาลจะได้พิเคราะห์เห็นว่าโจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสอง และศาลประทับฟ้องแล้ว ศาลจึงมีอำนาจออกหมายขังจำเลยที่ 1 ไว้ระหว่างพิจารณาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 71 และมาตรา 88 จึงให้ออกหมายขังจำเลยที่ 1 ไว้ เว้นแต่มีประกัน
 
ต่อมาในช่วงบ่าย ทนายความพร้อมกับวิบูลย์ บิดาของจตุภัทร์ ได้ยื่นขอประกันตัวบุตรชาย โดยในตอนแรกยืนยันขอใช้ใบอนุญาตทนายความของวิบูลย์เพียงอย่างเดียว แต่เจ้าหน้าที่ศาลระบุหลักทรัพย์ประกันตัวไว้ที่ 150,000 บาท และเมื่อได้นำใบอนุญาตทนายความของบิดาจตุภัทร์มาวางค้ำประกัน ศาลจึงให้วางเงินสดส่วนหนึ่งเพิ่มเติม เป็นจำนวน 30,000 บาท พร้อมตั้งเงื่อนไขในการประกันตัว คือห้ามเดินทางออกนอกประเทศ
 
และระหว่างเจ้าหน้าที่เรือนจำเตรียมปล่อยตัวตามหมายปล่อย เจ้าหน้าที่ตำรวจจากสภ.เมืองขอนแก่นได้เดินทางมาเตรียมขออายัดตัวจตุภัทร์ต่อในอีกคดีหนึ่ง คือ คดีฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 จากกรณีทำกิจกรรมต่อต้านการรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ซึ่งตำรวจขอนแก่นขออนุมัติหมายจับจตุภัทร์ร่วมกับนักศึกษาจากกลุ่มดาวดินอีก 6 คน จากศาลทหารขอนแก่นไว้ตั้งแต่เมื่อปี 2558 
 
เวลา 17.10 น. ระหว่างเจ้าหน้าที่จะนำตัวนายจตุภัทร์ขึ้นรถจากสภ.เมืองขอนแก่นออกจากเรือนจำไปนั้น พริ้ม มารดาและน้องสาวของจตุภัทร์ได้เข้ายืนขวางรถ ก่อนจะคุกเข่าอยู่ที่บริเวณหน้าประตูเรือนจำ เนื่องจากระบุว่าก่อนหน้านี้ได้พยายามขอพบจตุภัทร์ เพื่อให้ลงนามในเอกสารมอบฉันทะในการไปลงทะเบียนเรียน แต่เจ้าหน้าที่กลับไม่อนุญาต พริ้มกล่าวทั้งน้ำตาว่า ครอบครัวก็ได้ยื่นประกันตัวลูกแล้ว แต่กลับมาอายัดตัวลูกต่ออีก และได้ขออนุญาตให้เซ็นเอกสารลงทะเบียนเรียน แต่กลับไม่ได้รับอนุญาต โดยเอกสารลงทะเบียนเรียนดังกล่าวต้องส่งในวันนี้เป็นวันสุดท้าย
 
กระทั่ง 18.00 น. เจ้าหน้าที่ของเรือนจำภูเขียวจึงออกมาเจรจา และยินยอมให้เฉพาะมารดาของจตุภัทร์ เข้าไปพบและให้ลูกชายเซ็นเอกสารในเรือนจำได้ หลังจากแม่และน้องสาวนั่งคุกเข่าที่ประตูเรือนจำเป็นเวลาเกือบ 1 ชั่วโมง จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสภ.เมืองขอนแก่นจึงได้นำตัวจตุภัทร์ขึ้นรถเดินทางออกไปจังหวัดขอนแก่นทันที
 
26 ตุลาคม 2559
 
ศาลจังหวัดภูเขียวเลื่อนรอความเห็นอัยการ เนื่องจากจำเลยยื่นคำร้องขอให้อัยการสูงสุดพิจารณาถอนฟ้อง ศาลนัดอีกครั้งวันที่ 20 มกราคม 2560 อานนท์ นำภา ทนายจำเลยให้ข้อมูลเพิ่มว่า เหตุที่นัดนี้ทิ้งช่วงนานเนื่องจากจำเลยติดสอบเดือนธันวาคม 2559
 
22 ธันวาคม 2559
 
จตุภัทร์ถูกควบคุมตัวในเรือนจำหลังศาลจังหวัดขอนแก่นถอนประกันคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งจตุภัทร์ถูกกล่าวหาว่าทำความผิดด้วยการแชร์บทความพระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่สิบจากเว็บไซต์บีบีซีไทรวมทั้งคัดลอบเนื้อหาจากบทความบางส่วนโพสต์บนเฟซบุ๊กส่วนตัว
 
 
20 มกราคม 2560
 
นัดพร้อม
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ศาลจังหวัดภูเขียวนัดพร้อมคู่ความในวันนี้ แต่เนื่องจากจตุภัทร์ถูกควบคุมตัวในคดี 112 ที่เรือนจำและมีนัดไต่สวนคัดค้านคำร้องฝากขังที่ศาลจังหวัดขอนแก่นในวันเดียวกันจึงไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ นอกจากนี้คดีนี้ยังต้องรอความเห็นจากอัยการสูงสุดว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่หลังเพราะก่อนหน้านี้จตุภัทร์และวศินเคยยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมให้อัยการสูงสุดพิจารณาถอนฟ้องคดีนี้โดยอัยการสูงสุดยังไม่มีความเห็น ทนายของจตุภัทร์และวศินจึงขอเลื่อนนัดพิจารณาในวันนี้ออกไปก่อน 
 
ศาลจังหวัดภูเขียวอนุญาตให้เลื่อนนัดออกไปโดยกำหนดวันนัดใหม่ในวันที่ 16 มีนาคม 2560 โดยในวันดังกล่าวหากอัยการสูงสุดมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอความเป็นธรรมของจตุภัทร์และวศิน ศาลจังหวัดภูเขียวก็จะให้คู่ความตรวจพยานกันในวันนั้นเลย 
 
ศูนย์ทนายฯระบุด้วยว่า เหตุผลที่จตุภัทร์และวศินให้ไว้ในคำร้องขอความเป็นธรรมให้ถอนฟ้องคดีนี้คือ 

จำเลยไม่ได้กระทำความผิดต่อกฎหมายตามฟ้องของอัยการ อีกทั้งการฟ้องคดีไม่ได้ทำให้เกิดผลประโยชน์ต่อรัฐ เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญได้ผ่านการประชามติไปแล้ว แต่จะกระทบต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศในด้านสิทธิมนุษยชน
 
เนื่องจากพฤติการณ์ที่ถูกฟ้องว่ากระทำความผิดนั้นสืบเนื่องมาจากการแสดงความเห็นต่างในร่างรัฐธรรมนูญก่อนวันลงประชามติ ซึ่งเป็นการใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นและแสดงออกที่กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ได้รับรองไว้
 
 
16 มีนาคม 2560
 
ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 1 ศาลขึ้นพิจารณาคดี ราว 10.00 น. แต่ไม่ปรากฏตัว "ไผ่ ดาวดิน" ในห้องพิจารณาคดี มีเพียงวศินเท่านั้นที่มาศาลพร้อมทนายความอีกสองคน โดยศาลจังหวัดภูเขียว แจ้งว่า วันนี้ศาลจังหวัดขอนแก่นมีหนังสือแจ้งเหตุขัดข้องว่าไม่สามารถส่งตัวไผ่มาพิจารณาคดีที่ศาลนี้ได้ เนื่องจากศาลจังหวัดขอนแก่นมีนัดตรวจพยานหลักฐานคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 ในวันที่ 21 มีนาคม 2560 เมื่อศาลจังหวัดขอนแก่นพิจารณาคดีเสร็จเเล้วจึงจะส่งตัวมาให้ศาลจังหวัดภูเขียวพิจารณาคดีต่อไป
 
ด้านอัยการและทนายจำเลยแถลงร่วมกันว่า เนื่องจากยังระบุไม่ได้ว่า คดีที่ศาลขอนแก่นจะเสร็จสิ้นเมื่อใด จึงขอให้ศาลจำหน่ายคดีชั่วคราว และศาลจังหวัดภูเขียวเห็นสมควรว่าให้สั่งจำหน่ายคดีชั่วคราวและหากศาลจังหวัดขอนแก่นพิจารณาคดีเเล้วเสร็จให้โจทก์และจำเลยแถลงต่อศาลเพื่อให้ยกคดีขึ้นพิจารณาคดีขึ้นใหม่
 
 
13 กุมภาพันธ์ 2561

นัดสืบพยานโจทก์ปากที่หนึ่ง: พ.ต.อ.อร่าม ประจิตร ตำรวจผู้จับกุม

ที่ศาลจังหวัดภูเขียว โจทก์นำพยานปากแรกเข้าเบิกความ คือ พ.ต.อ.อร่าม ประจิตร อายุ 62 ปี  ข้าราชการบำนาญ ขณะเกิดเหตุเป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรภูเขียว เกี่ยวข้องกับคดีนี้โดยเป็นผู้จับกุมจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม  2559 โดยพยานชี้ตัวจำเลยที่ 2 ถูกต้อง

พยานเบิกความถึงเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุว่า เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2559 เวลาสายก่อนเที่ยง พยานปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ สภ.ภูเขียว ได้รับแจ้งข่าวว่า มีคนมาแจกใบปลิวชวนให้ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในเขตเทศบาลภูเขียว พยานจึงได้ประสานฝ่ายปกครองอำเภอภูเขียว และกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จ.ชัยภูมิ พร้อมทั้งแจ้งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาสืบหาข่าว

พยานเบิกความต่อว่า ต่อมา เวลา 16.45 น. ได้รับแจ้งว่า มีผู้มาแจกใบปลิว จึงขับรถของทางราชการออกไปตรวจสอบ พบจำเลยที่ 2 กำลังแจกใบปลิวบริเวณเยื้องร้าน ป.ทองคำ ใกล้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ติดวัดนครบาล ถ.ราษฎร์บำรุง ตำบลผักปัง จึงเข้าตรวจค้นและควบคุมตัว จากการตรวจค้นพบเอกสารเป็นเอกสาร “7 เหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ” มีจำนวนหลายแผ่น ซึ่งจำเลยที่ 2 ถืออยู่ในมือ โดยไม่มีเอกสารอื่นอีก จึงควบคุมตัวจำเลยที่ 2 ไปที่ สภ.ภูเขียว

พ.ต.อ.อร่าม เบิกความต่ออีกว่า เมื่อควบคุมตัวจำเลยที่ 2 ไปถึง สภ.ภูเขียวในเวลาประมาณ 17.00 น. ได้รับแจ้งทางวิทยุสื่อสารจากเจ้าหน้าที่อีกชุดว่า พบจำเลยที่ 1 แจกใบปลิวมีข้อความไม่รับร่างรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชนในตลาดเทศบาลภูเขียว เยื้อง สภ.ภูเขียว และต่อมา ตำรวจและฝ่ายปกครองควบคุมตัวจำเลยที่ 1 มาส่งที่ สภ.ภูเขียว เมื่อพยานสอบถามชุดจับกุม ได้ระบุว่า เห็นจำเลยที่ 1 แจกเอกสาร ได้แก่ 7 เหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ, แถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ และความเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญ (ปรากฏตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลย 2, 3, 4) จำนวนหลายแผ่น

พยานผู้จับกุมจำเลยที่ 2 ยังระบุอีกว่า จากการสอบถาม จำเลยที่ 2 แจ้งว่า ได้รับเอกสารจากจำเลยที่ 1 เพื่อมาแจกจ่ายให้ประชาชนในพื้นที่เขตเทศบาลภูเขียว

โจทก์ถามพยานว่า เอกสาร 7 เหตุผลฯ มีข้อความอะไรบ้าง พยานตอบไม่ได้ โจทก์จึงเอาเอกสารให้ดูแล้วถามว่าใช่ข้อความตามนี้หรือไม่ ทนายจำเลยที่ 1 ได้แถลงค้านว่า หากโจทก์ให้พยานดูเอกสารแล้วเบิกความต่อศาลก็จะไม่เป็นธรรมต่อจำเลยทั้งสอง แต่โจทก์ยืนยันให้พยานดูเอกสารเพื่ออธิบายความ ศาลอนุญาต โดยบันทึกว่า พยานจำข้อความในเอกสารไม่ได้ หลังจากพยานดูเอกสารแล้วเบิกความว่า สรุปความได้ว่า ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โหวตโนไม่รับกับอนาคตที่เลือกไม่ได้  

โจทก์ถามต่อว่า เอกสารแถลงการณ์นิติราษฎร์มีเนื้อหาอะไร หน้าสุดท้ายที่สรุปมีข้อความว่าอะไร พยานดูเอกสารแล้วตอบว่า มีข้อความไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

โจทก์เอาเอกสารท้ายฟ้องหมายเลย 4 ให้พยานดูแล้วถามว่า เป็นเอกสารอะไร พยานตอบว่า ความเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญ โจทก์ถามต่อว่า เมื่อพิจารณาเอกสารที่ยึดได้ทั้ง 3 ฉบับแล้วสรุปความได้ว่าอย่างไร พยานตอบว่า เป็นการให้ความเห็นว่า ไม่ควรรับร่างรัฐธรรมนูญ

พ.ต.อ.อร่าม เบิกความต่อว่า หลังจากพิจารณาเอกสารแล้วจึงได้แจ้งข้อหาจำเลยทั้งสองว่า ร่วมกันก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยการเผยแพร่ข้อความ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียงหรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง โจทก์ถามว่าเป็นความผิดตามกฎหมายอะไร พยานตอบว่า เท่าที่จำได้เป็น พ.ร.บ.เกี่ยวกับการลงประชามติ โดยจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ และไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกจับกุม โดยพยานไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสองมาก่อน
 
ตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้าน
 
ทนายจำเลยที่ 1 ถามพยานว่า การลงประชามติในปี 2559 มีที่มาจากการยึดอำนาจโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 แล้วประกาศให้รัฐธรรมนูญ 2550 สิ้นสุดลง ใช่หรือไม่ พยานรับว่าใช่

ทนายถามต่อไปว่า จากนั้น คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 โดยระบุว่า ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร และ คสช. ได้แต่งคณะบุคคลขึ้นมาเป็นคณะกรรมการร่างฯ โดยมีมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธาน พยานทราบหรือไม่ พ.ต.อ.อร่ามตอบว่า ทราบ และเห็นด้วยว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสำคัญ ควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างฯ แต่การที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แต่งตั้งโดย คสช. โดยที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม จะเป็นสิ่งที่น่ากังวลหรือไม่ สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยหรือไม่นั้น พยานไม่ขอออกความเห็น
 
เมื่อทนายถามว่า พยานทราบหรือไม่ว่า มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ให้อำนาจ คสช. มีอำนาจเหนือศาล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พยานตอบว่า ไม่น่าให้อำนาจ คสช. เหนือศาล น่าจะให้มีอำนาจเหนือฝ่ายนิติบัญญัติเท่านั้น ทนายย้ำว่า ถ้ามีอำนาจเหนือศาลก็ถือว่าไม่ถูกต้องใช่หรือไม่ พยานรับว่าใช่ จากนั้น ทนาย ได้นำข้อความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ให้พยานอ่าน พยานอ่านแล้ว ไม่ขอตอบว่า มาตรา 44 ให้อำนาจ คสช.เหนืออำนาจตุลาการหรือไม่ แต่รับว่ามีข้อความดังกล่าว และรับว่า มาตรา 44 ให้อำนาจ คสช. กระทำการใดๆ ดังกล่าวได้โดยไม่มีความผิด แต่พยานไม่เคยได้ยินมาก่อนว่า คสช.ใช้อำนาจ ม.44 เปลี่ยนแปลงคำสั่งศาลปกครอง  
 
พ.ต.อ.อร่าม เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ว่า ไม่ทราบว่า หน้าที่ในการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญที่ กรธ.ร่างเสร็จแล้ว เพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนเป็นของคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) แต่พยานทราบมาว่า รัฐห้ามประชาชนแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว และเห็นว่า ต้องส่งความเห็นไปให้คณะกรรมการร่างฯ เท่านั้น ทนาย ถามต่อว่า การที่พยานมีความเห็นดังกล่าวจึงเป็นที่มาที่ทำให้การกระทำของจำเลยทั้งสองที่แสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญเป็นความผิดใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ทราบ
 
พยานเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ต่อไปว่า ได้เห็นร่างรัฐธรรมนูญก่อนที่จะไปลงประชามติ และมีความเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น อีกทั้งส่วนตัวเห็นว่า จำเป็นที่ทุกภาคส่วนควรสนับสนุน ผลักดันให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวผ่านการลงประชามติ เพื่อให้ประเทศชาติเจริญก้าวหน้ามากขึ้น
 
ทนายถามพยานว่า เอกสาร “7 เหตุผล ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ” เป็นเหตุผลที่ไม่ควรรับฟังหรือไม่ พยานตอบว่า โดยส่วนตัวเห็นว่า ควรรับฟัง

พยานเบิกความต่อว่า ในร่างรัฐธรรมนูญกำหนดวิธีการได้มาซึ่ง ส.ส. คล้ายกับในรัฐธรรมนูญปี 2550 คือ ให้มีการเลือกตั้งเหมือนเดิม แต่พยานไม่ได้ศึกษาในรายละเอียดว่า ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 จะกำหนดวิธีการเลือกตั้ง ให้ประชาชนเลือกทั้งแบบแบ่งเขตและปาร์ตี้ลิสต์ โดยมีบัตรเลือกตั้งให้กา 2 ใบ เหมือนเดิมตามที่รัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดหรือไม่ รวมทั้งไม่ทราบด้วยว่า สาเหตุที่รัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้กำหนดวิธีการเลือกตั้งไว้ 2 แบบ ก็เพราะไม่ต้องการให้คะแนนเสียงของประชาชนผิดเพี้ยนไป
 
ทนายจำเลยที่ 1 นำร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 ให้พยานอ่าน พร้อมทั้งถามว่า ในมาตรา 90 และ 91 กำหนดว่า ในการเลือกตั้ง ส.ส. ประชาชนกาบัตรเลือกตั้งเพียง 1 ใบ จะมีผลให้ได้ ส.ส. ทั้งแบบแบ่งเขตและปาร์ตี้ลิสต์ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ตามที่ปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญ ทนายถามย้ำว่า หมายความว่า ถ้าเราไปเลือก ส.ส.ที่เรารัก แต่เราจะได้พรรคการเมืองที่เราไม่ชอบใช่หรือไม่ พยานตอบว่าไม่ทราบ ทนายถามต่อว่า การเลือก ส.ส.ในลักษณะเช่นนี้ เป็นเรื่องที่น่าห่วงกังวลหรือไม่ พยานตอบว่า ถ้าเป็นเช่นนี้จะไม่เลือก ส.ส.คนนั้นเลย ทนายถามต่ออีกว่า จะทำให้มีปัญหากับระบบการเลือกตั้ง ทำให้การเลือกตั้งเดินหน้าไปไม่ได้หรือไม่ พยานตอบว่า เห็นว่าไม่น่าจะมีปัญหา แต่ถ้ามีคนแสดงความห่วงกังวลในเรื่องนี้ก็ควรรับฟัง
 
อดีต ผกก.สภ.ภูเขียว ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 1 ในประเด็นต่อมาของเอกสาร “7 เหตุผลฯ” ว่า พยานไม่ทราบว่า ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 กำหนดให้ใครทำหน้าที่แทน ครม. ในกรณีที่ ครม.พ้นตำแหน่งจากการแปรญัตติเรื่องงบประมาณ พยานเห็นว่า คณะบุคคลที่บริหารบ้านเมืองควรมาจากประชาชน และทราบว่า รัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดว่า เมื่อ ครม.พ้นจากตำแหน่ง ให้ ครม. ยังคงรักษาการต่อไปจนกว่าจะมี ครม. ชุดใหม่เข้ารับทำหน้าที่ แต่ไม่ทราบว่า ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 กำหนดในมาตรา 144, 167 และ 168 ให้ข้าราชการ คือ ปลัดกระทรวงแต่ละกระทรวง ทำหน้าที่แทนรัฐมนตรี และเลือกปลัดกระทรวงด้วยกันเองเป็นนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่ ครม. รักษาการบริหารประเทศ ตามที่ทนายเอาเอกสารให้อ่าน ซึ่งหากมีคนที่ีเป็นห่วงในประเด็นนี้ก็ควรแจ้งไปที่ กรธ. ไม่ควรมาแสดงความเห็นกันเอง
 
ประเด็นต่อมาซึ่งทนายถามค้านว่า กรณีมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่บัญญัติให้บุคคล หรือคณะบุคคลใน คสช. มีอำนาจเหนืออำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยเรียกว่าเป็นเผด็จการหรือไม่ พยานไม่ขอออกความเห็น แต่พยานเห็นว่า การใช้อำนาจดังกล่าวเป็นการใช้เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ทนายถามต่อว่า จึงเป็นเหตุผลให้ต้องรีบผ่านร่างรัฐธรรมนูญ 2559 เพื่อให้ คสช.และอำนาจตาม ม.44 ยุติลง ประเทศเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น รวมทั้งบรรดาประกาศ คำสั่ง คสช. ที่จำกัดและละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น ห้ามชุมนุม ลัดขั้นตอนอีไอเอ ก็จะยุติลงใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่ จากนั้น ทนายจำเลยที่ 1 ได้นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติให้ พ.ต.อ.อร่าม พยานโจทก์อ่านในมาตรา 265 แล้วถามว่า หลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่าน คสช. ม. 44 และประกาศ คำสั่ง คสช. ยังคงอยู่จนกว่าจะมี ครม.ใหม่ ใช่หรือไม่ พยานรับว่า ใช่ แต่ คสช.จะสามารถใช้ ม.44 ให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะได้หรือไม่ พยานไม่ทราบ
 
ทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านพยานโจทก์ปากที่ 1 ในประเด็นว่า กรณีที่ไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ เดิมรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 7 กำหนดให้วินิจฉัยไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ ในมาตรา 5 เพิ่มข้อความไปจากมาตรา 7 ในรัฐธรรมนูญ 2550 โดยให้มีองค์กรอิสระมาวินิจฉัยกรณีดังกล่าวใช่หรือไม่ พร้อมกันนี้ทนายได้นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติให้พยานดู พยานรับว่าใช่ ทนายถามต่อว่า พยานทราบหรือไม่ว่า หลังร่างรัฐธรรมนูญผ่าน คสช. ได้ทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงปรมาภิไธย แต่ในหลวงไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย และส่งกลับให้มาแก้มาตรา 5 นี้ใหม่ โดยตัดส่วนที่เพิ่มมาออก พยานตอบว่า ไม่ทราบ และเห็นว่าไม่น่าจะใช่มาตรา 5 ที่ถูกแก้ไข ทนาย จึงนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ และรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ประกาศใช้แล้วให้พยานดูเทียบกัน พยานรับว่า ใช่

พ.ต.อ.อร่าม เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 อีกว่า ไม่ทราบว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมควบคุมนักการเมืองมากขึ้น เมื่อทนายนำมาตรา 219 ของร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวให้พยานดู พยานจึงรับว่า ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดเช่นนั้นจริง แต่หากมีคนห่วงกังวลควรแสดงความเห็นให้ กรธ.รับฟัง ไม่ควรแสดงความเห็นกันเอง

พยานโจทก์ปากนี้เบิกความต่อไปว่า พยานทราบว่า รัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดสิทธิในการเรียนฟรี 12 ปี ตั้งแต่ ป.1 – ม.6 แต่ไม่ทราบว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติกำหนดใหม่ ในมาตรา 54 ให้เรียนฟรี 12 ปี เหมือนเดิม แต่เริ่มตั้งแต่อนุบาล โดยจะครอบคลุมไปถึงแค่ ม.3 อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงเช่นที่ว่านี้พยานเห็นว่า ไม่น่าห่วง แต่ควรรับฟังไว้
 
เวลา 11.50 น. พักการสืบพยานในช่วงเช้า
 
เวลา 13.50 น. สืบพยานต่อในช่วงบ่าย
 
ทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านต่อในประเด็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ซึ่ง พ.ต.อ.อร่าม ไม่ทราบว่าในร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติต่างไปจากเดิมในรัฐธรรมนูญ 2550 อย่างไร ทนาย จึงนำรัฐธรรมนูญ 2550 ให้พยานดูมาตรา 29 ซึ่งระบุว่า การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลจะกระทำมิได้เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และเท่าที่จำเป็น จะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้ เปรียบเทียบกับมาตรา 25 ในร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ซึ่งข้อความดังกล่าวถูกตัดออก พยานดูแล้วรับว่าไม่เหมือนกัน  ทนายถามต่อไปว่า การจำกัดสิทธิเสรีภาพในร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ใช้คำว่า เพื่อความมั่นคงของรัฐ ซึ่งมีความหมายกว้างกว่าข้อความที่ใช้ในรัฐธรรมนูญ 2550 ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่ แต่ไม่ขอตอบว่า ประชาชนจะสามารถแสดงความคิดเห็นต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้หรือไม่

พยานผู้จับกุมจำเลยตอบคำถามค้านต่อว่า ไม่ทราบว่าตามร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ส.ว. มีที่มาอย่างไร และไม่ทราบด้วยว่าตามหลักการประชาธิปไตย ที่ต้องมีการเลือกตั้ง ส.ว. ก็เพื่อให้ยึดโยงกับประชาชน ส่วน ส.ว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งควรมีสิทธิเลือกนายกฯ หรือไม่นั้น พยานไม่ขอตอบ พยานทราบว่า รัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ได้กำหนดให้ ส.ว. เลือกนายกฯ ได้ มีแต่ ส.ส.เท่านั้นที่โหวตเลือกนายกฯ เมื่อได้ดูมาตรา 269 แล้วพยานรับว่า ส.ว.ชุดแรกมีที่มาจากการการแต่งตั้งของ คสช. รวมทั้งกำหนดล็อคให้ทหาร ได้แก่ ผู้บัญชาทั้งสามเหล่าทัพ, ผบ.สส., ปลัดกระทรวงกลาโหม และผบ.ตร. รวม 6 ตำแหน่ง ได้เป็น ส.ว.
อดีต ผกก.สภ.ภูเขียวเบิกความต่อว่า ได้ไปออกเสียงลงประชามติ โดยในบัตรออกเสียงมีคำถามพ่วงระบุว่า ใน 5 ปีแรก ส.ว. มีสิทธิโหวตเลือกนายกฯ ซึ่งแปลว่า ส.ว. ชุดแรกที่มาจากการแต่งตั้งจะเลือกนายกฯ ได้ 2 สมัย คนที่ห่วงกังวลในประเด็นนี้ พยานเห็นว่า ควรไปแสดงความเห็นกับ กกต. ไม่ควรมาแสดงความเห็นกันเอง
 
พยานโจทก์ปากแรกตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 1 ในประเด็นสุดท้ายของเอกสาร “7 เหตุผลฯ” ว่า พยานทราบว่า รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 กำหนดเหมือนกันว่า นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง และทราบด้วยว่า หลักการนี้ได้มาจากการต่อสู้ของประชาชนในปี 2535 พยานยังทราบอีกว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ กำหนดให้นายกฯ มาจากบุคคลภายนอกได้ รวมทั้งพอทราบว่า ปัจจุบันมีกระแสเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อ แต่กรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติให้ คสช. แต่งตั้ง ส.ว. และ ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ ได้ รวมทั้งเปิดให้คนนอกเป็นนายกฯ ได้ แล้วมีคนแสดงความห่วงกังวลก็ควรไปแสดงความกังวลผ่าน กกต. ไม่ควรมาแสดงความเห็นกันเอง
 
ทนายจำเลยที่ 1 ถาม พ.ต.อ.อร่าม อีกว่า ข้อความ “ไม่รับกับอนาคตที่ไม่ได้เลือก” เป็นความเห็นที่คนทั่วไปมีสิทธิแสดงความเห็นหรือไม่ พยานไม่ขอตอบ ทนายถามต่อไปว่า พยานได้อ่านเอกสาร “7 เหตุผลฯ” เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 59 แล้ว พยานเชื่อเหตุผลในเอกสารดังกล่าวหรือไม่ พ.ต.อ.อร่ามตอบว่า ไม่เชื่อ พยานตอบอีกว่า เอกสารดังกล่าวระบุว่า จัดทำขึ้นโดยกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ แต่พยานไม่รู้จักกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ และไม่รู้จักนายรังสิมันต์ โรม

ทนายถามค้านพยานโจทก์ปากนี้ต่อไปว่า ทราบหรือไม่ว่าคณะนิติราษฎร์ เป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พยานตอบว่า ไม่เคยได้ยิน เมื่อดูแล้วเอกสาร “แถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ” ข้อ 1.1 แสดงความกังวลต่อเรื่องการจำกัดสิทธิ สอดคล้องกับเอกสาร “7 เหตุผลฯ”

พยานไม่ขอตอบหรือออกความเห็นเมื่อทนายความถามเกี่ยวกับข้อ 1.2 ของเอกสาร “แถลงการณ์ฯ” ว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ ตามมาตรา 279 รับรองการกระทำของ คสช. โดยไม่สามารถตรวจสอบได้ เท่ากับ คสช. อยู่เหนือกฎหมาย ขัดกับหลักการประชาธิปไตย

พยานยอมรับว่า ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ถูกตั้งชื่อว่า รัฐธรรมนูญปราบโกง แต่ในความเป็นจริงการปราบโกงจะต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ส่วนการตรวจสอบนักการเมืองที่กำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจะใช้มาตรฐานเดียวกับการตรวจสอบประธานศาลฎีกาและประธานศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ พยานไม่ทราบ
 
ทนายจำเลยที่ 1 ถามต่อไปว่า ในข้อ 3 ของ “แถลงการณ์ฯ” ที่ตั้งข้อสังเกต แสดงความเป็นห่วงเรื่องที่มาของ ส.ส. เหมือนกับเอกสาร “7 เหตุผลฯ” หรือไม่ พ.ต.อ.อร่ามตอบว่า ไม่ทราบ รวมทั้งไม่ทราบว่า ข้อห่วงกังวลดังกล่าวจะเป็นจริงตามนั้นหรือไม่
พยานยอมรับว่า ตามรัฐธรรมนูญ 2550 นักการเมืองสามารถกำหนดนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดินได้อย่างอิสระตามความต้องการของประชาชน พยานทราบด้วยว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ มาตรา 162 กำหนดให้พรรคการเมืองต้องกำหนดนโยบายตามแผนยุทธศาสตร์ชาติที่ คสช. วางไว้ โดยไม่ได้ผ่านการรับฟังความเห็นของประชาชน เมื่อถามว่า กรณีเช่นนี้ถือว่าไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยหรือไม่ พยานไม่ขอตอบ
 
พ.ต.อ.อร่าม เบิกความตอบทนายต่อไปว่า ตามร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ส.ว.จะมาจากทั้งการเลือกตั้งและแต่งตั้ง ก่อนไปลงประชามติ พยานได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวแบบผ่าน ๆ เมื่อทนายเอาให้อ่านมาตรา 107 วรรคแรก พยานก็รับว่า รัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติกำหนดให้ ส.ว. มาจากการแต่งตั้ง โดยให้ตัวแทนกลุ่มอาชีพเลือกกันเองเท่านั้น ซึ่งไม่ตรงกับที่พยานเข้าใจ
 
ทนายจำเลยที่ 1 ถามพยานโจทก์อีกว่า ตามร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว ส.ว. จะมีอำนาจมากกว่าเดิมมากน้อยเพียงใด พยานตอบว่า ไม่ทราบ ทนายถามต่อว่า หากจะมีคนที่ห่วงกังวลว่า ส.ว.ชุดแรกจะถูกครอบงำโดย คสช. เขาสามารถแสดงความเห็นได้หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่น่าเป็นห่วง แต่หากจะแสดงความเห็นก็ควรไปแสดงผ่าน กกต. ไม่ควรแสดงความเห็นกันเอง

ทนายถามเกี่ยวกับเนื้อหาในเอกสาร “แถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ฯ” ต่อไปในข้อ 4.4 ว่า คำว่า “ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” มีความหมายกว้าง ต้องใช้ดุลพินิจพิจารณาเป็นราย ๆ หรือไม่ พยานไม่ขอตอบ แต่รับว่าถ้อยคำดังกล่าวปรากฏอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญ 2559 มาตรา 160(4) ซึ่งกำหนดคุณสมบัติของรัฐมนตรี โดยพยานทราบว่า ไม่เคยปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ
 
พ.ต.อ.อร่าม เบิกความตอบที่ทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านต่อไปอีกว่า ทราบว่า การเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติ จะมีขึ้นเมื่อจัดทำ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ซึ่งปัจจุบันมีการแปรญัตติให้ขยายการบังคับใช้ พ.ร.บ ประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวไปอีก 90 วัน
 
อดีต ผกก.สภ.ภูเขียว ยอมรับว่า การปฏิรูปการเมืองและสร้างความปรองดองต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และข้อ 6 ในเอกสารของกลางชิ้นนี้ ก็กล่าวเช่นเดียวกันนี้ ส่วนที่ทนายถามว่า ในการทำประชามติควรเปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความเห็นได้เต็มที่หรือไม่นั้น พยานเห็นว่า กกต. เปิดรับฟังความคิดเห็นอยู่แล้ว ประชาชนไม่ควรมาแสดงความเห็นกันเอง และการเปิดให้ประชาชนแสดงความเห็นได้เฉพาะในเวทีของ กกต. ก็เป็นไปตามหลักสากล อย่างไรก็ตาม พยานเห็นว่า การให้ความรู้กันเองโดยไม่ชี้นำคนอื่นให้ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ก็สามารถทำได้
ทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านต่อไปเกี่ยวกับเอกสารท้ายฟ้องฉบับที่ 4 “ความเห็นแย้ง คำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ” ซึ่งเป็นของกลางอีกชิ้นว่า เอกสารดังกล่าวเป็นข้อโต้แย้งคำอธิบายของ กรธ. ที่ได้อธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ โดยไม่ได้ระบุข้อห่วงกังวล หรือข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญตามที่ทนายได้ถามมาแล้วใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่

พ.ต.อ.อร่าม เบิกความเกี่ยวกับเอกสารดังกล่าวว่า ความเห็นที่แย้งกับ กรธ. ในเรื่องการคุ้มครองเสรีภาพ เป็นความเห็น ไม่ใช่ข้อเท็จจริง ซึ่งควรไปแสดงในเวที กกต. ไม่ควรมาแสดงความเห็นกันเอง

พยานเบิกความรับว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติรับรองคำสั่ง คสช. ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตาม ม.44 ที่ละเมิดสิทธิของประชาชน เช่น ยกเว้นการใช้กฎหมายผังเมือง ลัดขั้นตอนอีไอเอ ซึ่งประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จะไม่สามารถโต้แย้ง ฟ้องศาลได้ ตามมาตรา 279 ของร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว
 
ประเด็นสิทธิทางสาธารณสุข ซึ่งมาตรา 55 ในร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ตัดถ้อยคำว่า บุคคลย่อมมี “สิทธิเสมอกัน” ในการรับบริการทางสาธารณสุขออก ทำให้มีข้อน่ากังวลว่า จะยกเลิกนโยบาย “30 บาท รักษาทุกโรค” พยานดูรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบกับฉบับปี 2550 ตามที่ทนายเอาให้ดูแล้วตอบว่า มีการตัดถ้อยคำดังกล่าวออกจริง แต่มีการบัญญัติว่า รัฐต้องดําเนินการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง ซึ่งพยานเห็นว่า มีความหมายใกล้เคียงกัน แล้วแต่จะตีความ ส่วนตัวพยานเห็นว่า ถ้อยคำในร่างรัฐธรรมนูญ 2559 มีความหมายกว้างกว่า คนที่กังวลว่าจะเป็นการยกเลิกหลักประกันสุขภาพทั่วหน้า ไม่ควรแสดงความกังวลโดยไม่มีข้อเท็จจริง
ในประเด็นรัฐธรรมนูญคุ้มครองทั้งชีวิต และหน้าที่ของประชาชน พยานโจทก์ปากนี้เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ว่า เนื้อหาของ “ความเห็นแย้งฯ” ต่อประเด็นดังกล่าวก็เป็นเพียงความเห็นไม่ใช่ข้อเท็จจริง ซึ่ีงควรไปแสดงความเห็นกับ กกต. ไม่ควรมาแสดงความเห็นกันเอง

พยานไม่ทราบว่า ที่มาของ ส.ว. ตามร่างรัฐธรรมนูญจะขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่หากมีคนกังวลว่า ที่มาของ ส.ว.จะไม่ครอบคลุมตัวแทนทุกกลุ่มในสังคมอย่างทั่วถึง ก็ควรไปแสดงความเห็นต่อ กกต.

ทนายจำเลยที่ 1 ให้อดีต ผกก.สภ.ภูเขียว ดูเอกสาร “ความเห็นแย้งฯ” ซึ่งด้านซ้ายเป็นคำอธิบายของ กรธ. แล้วถามว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติจะปราบโกงได้ตามที่ กรธ. อธิบายไว้หรือไม่ และศาลรัฐธรรมนูญจะเข้มแข็งฉับไวขึ้นหรือไม่ พ.ต.อ.อร่ามตอบว่า ไม่ทราบ

ทนายถามค้านพยานต่อไปว่า ตามร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ประชาชนจะไม่สามารถรู้ล่วงหน้าว่า จะได้ใครเป็นนายกฯ เนื่องจากนายกฯ จะมาจากคนนอกที่ไม่ได้ลงสมัคร ส.ส. ก็ได้ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่ ส่วนจะมีการกำหนดเกี่ยวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เปลี่ยนแปลงไปจากรัฐธรรมนูญ 2550 อย่างไรบ้างนั้น พยานไม่ทราบ
 
พ.ต.อ.อร่าม เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยที่ 1 ว่า การเผยแพร่สื่อสิ่งพิมพ์ในช่วงก่อนลงประชามติไม่สามารถทำได้ ต้องให้ กกต. เป็นผู้เผยแพร่เท่านั้น ส่วนการออกเสียงลงประชามติ ไม่ว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เป็นสิทธิที่สามารถทำได้ ไม่ผิดกฎหมาย
 
ทนายถามอีกว่า ก่อนลงประชามติมีคำสั่งให้ อปท. ฝ่ายปกครอง ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ไปให้ความรู้เกี่ยวกับข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ พ.ต.อ.อร่าม ตอบว่า ไปรณรงค์ให้ประชาชนไปออกเสียงลงประชามติ โดยไม่ได้ชี้ว่าดีหรือไม่ ทนาย ถามต่อไปว่า ด้านซ้ายมือของเอกสาร “ความเห็นแย้งฯ” เป็นความเห็นของ กรธ. ต่อร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ซึ่งไม่ปรากฏข้อท้วงติงดังที่มีปรากฏในเอกสารที่จำเลยแจกใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่ ดังนั้น  เอกสารของ กรธ. ที่ให้ฝ่ายปกครอง และ อปท. แจกประชาชนเพื่อรณรงค์ให้ไปออกเสียงประชามติจึงบอกแต่ข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ทราบ
พ.ต.อ.อร่าม เบิกความรับว่า ก่อนการออกเสียงประชามติ เจ้าหน้าที่ได้รับการกำชับจากผู้บังคับบัญชาให้เฝ้าระวังไม่ให้มีการเคลื่อนไหวแสดงออก หรือเผยแพร่ความเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติ

อดีต ผกก.สภ.ภูเขียว เบิกความอีกว่า นายอำเภอภูเขียวไปร่วมจับกุมจำเลยที่ 2 พร้อมกับพยาน แต่จำไม่ได้ว่า ประเสริฐ วชิรญาณุวัฒน์ ปลัดอำเภอภูเขียว ได้ร่วมจับกุมจำเลยที่ 2 ด้วยหรือไม่ และในการจับกุมจำเลยที่ 2 ได้มีการถ่ายภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวไว้

พ.ต.อ.อร่าม ไม่ขอตอบว่า ไปออกเสียงลงประชามติอย่างไร และเห็นด้วยหรือไม่ว่า ร่างรัฐธรรมนูญควรจะผ่าน เมื่อทนายจำเลยที่ 1 ถามอีกว่า ระหว่างร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ผ่านการลงประชามติกับไม่ผ่าน แบบไหนดีกว่ากัน นายตำรวจนอกราชการตอบว่า ไม่ผ่านดีกว่า อย่างไรก็ตาม พยานไม่เชื่อเนื้อหาในเอกสารที่ยึดได้จากจำเลยทั้ง  3 ชิ้น
 
ตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้าน
 
พ.ต.อ.อร่าม นายตำรวจชุดจับกุมจำเลยที่ 2 ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 2 ว่า ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย โดยในระบอบประชาธิปไตย เสรีภพในการแสดงความเห็น การพูด การเขียน การโฆษณา เป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญเรื่อยมา รวมถึงรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่ประกาศใช้อยู่ขณะเกิดเหตุก็รับรองไว้เช่นกัน

พยานเบิกความตอบทนายต่อไปว่า เหตุที่เสรีภาพในการแสดงความเห็นเป็นสิ่งสำคัญและเป็นรากฐานประชาธิปไตย เพราะถือหลักว่า ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในนโยบายที่สำคัญของประเทศ และการที่ประชาชนจะตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพ จะต้องรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างรอบด้าน การออกเสียงลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญก็ถือว่า เป็นการตัดสินใจที่มีความสำคัญของประชาชน เพราะรัฐธรรมนูญจะเป็นกติกาของบ้านเมืองตลอดไปจนกว่าจะมีการรัฐประหารครั้งใหม่ (ศาลบันทึกว่า จนกว่าจะมีการแก้ไขใหม่)

เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ 2559 พยานเบิกความว่า มีโอกาสได้อ่านเป็นบางส่วน เนื่องจากเอกสารดังกล่าวมีเนื้อหายาว เยอะ และเป็นภาษากฎหมายที่คนทั่วไปต้องใช้เวลาทำความเข้าใจหรือสอบถามผู้รู้ พยานได้รับเอกสารดังกล่าว เพราะมีการส่งไปที่บ้าน นอกจากพยานแล้ว ตำรวจคนอื่นใน สภ.ภูเขียวก็ได้รับทุกคน พยานยังได้รับฉบับย่อ ซึ่งก็คือ คำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจัดทำโดย กรธ. นอกจากนี้ พยานยังได้รับข้อมูลเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญผ่านการเข้าร่วมเวทีของ กกต. ที่ศาลากลางจังหวัดชัยภูมิ ส่วนที่ กรธ. จัด พยานไม่ได้เข้าร่วม
ทนายจำเลยที่ 2 ถาม พ.ต.อ.อร่าม ว่า เวทีของ กกต.ที่พยานเข้าร่วม มีการเปิดให้ผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นหรือไม่ อดีตนายตำรวจตอบว่า ผู้จัดเวทีแจ้งว่า จะมีเวทีในระดับอำเภอที่จะเปิดให้ประชาชนมาร่วมรับฟังและแสดงความเห็น โดยเวทีดังกล่าวจัดขึ้นหลังจากมีการแจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญไปให้กับประชาชน
 
ทนายจำเลยที่ 2 ถามค้านเกี่ยวกับเอกสารของ กรธ. ว่า เป็นเอกสารสรุปเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ โดยสื่อสารด้วยถ้อยคำสั้นๆ เช่น รัฐธรรมนูญคุ้มครองทั้งชีวิต ตั้งแต่ท้องแม่จนแก่เฒ่า เมื่อพยานได้ฟัง คิดว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวดีหรือแย่ พยานตอบว่า คิดว่าดี ส่วนในข้อ 6 ของเอกสารชิ้นเดียวกัน ที่กล่าวว่า ปราบโกงอย่างจริงจัง ทำให้เข้าใจว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญที่ดีใช่หรือไม่ พยานยอมรับว่า ใช่ และรับด้วยว่า ผู้ที่ได้ฟังและอ่านเอกสารชิ้นนี้ ย่อมมีความเห็นอยากให้ร่างรัฐธรรมนูญได้ผ่านประชามติ
 
ทนายถามต่อไปอีกว่า พยานเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ เคยได้ยินว่า คสช. ใช้อำนาจตาม ม.44 ให้นักการเมืองท้องถิ่นพ้นตำแหน่ง โดยผู้ได้รับผลกระทบไม่มีโอกาสได้ชี้แจงใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่ พยานทราบด้วยว่า คสช. ใช้อำนาจออกกฏหมายในลักษณะกำหนดความผิดทางอาญา เช่น กำหนดให้การชุมนุมทางการเมืองมีโทษทางอาญา การที่ คสช. มีอำนาจเหนืออำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ทำให้ คสช. มีอำนาจเบ็ดเสร็จ ซึ่งสามารถให้คุณให้โทษเป็นอย่างมากใช่หรือไม่ พยานรับว่า ใช่
 
ทนายจำเลยที่ 2 ถามอดีตนายตำรวจว่า เอกสารของ กรธ. มีการชี้แจงหรือไม่ว่า หลังร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ผ่านประชามติ จนถึงคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้าปฏิบัติหน้าที่ อำนาจของ คสช. ตาม ม.44 จะยังคงมีอยู่ พ.ต.อ.อร่าม ตอบว่า ไม่จำเป็นต้องชี้แจง เนื่องจากมีอยู่ในกฎหมายอยู่แล้ว ทนายถามต่ออีกว่า กรธ. ก็ไม่เคยชี้แจงว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่มีบทบัญญัติห้าม คสช.ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง และห้าม คสช.สนับสนุนพรรคการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ทราบและไม่เคยได้ยิน
 
ทนายถามค้านต่อไปว่า เอกสารของ กรธ. และเอกสารที่แจกจ่ายในคดีนี้ เป็นเอกสารที่มีลักษณะให้ข้อมูล และแสดงความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ พยานตอบว่า เป็นส่วนหนึ่ง ทนายถามต่อว่า เนื้อหาในเอกสารก็เป็นเพียงการให้ข้อมูลที่ไม่สามารถทำให้ผู้อ่านตัดสินใจทางใดทางหนึ่งได้ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า เข้าใจว่าเอกสารในคดีนี้ มีคำว่า vote no ซึ่งมีความหมายว่า ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ อันเป็นการชี้นำ แต่จะเป็นการประกาศจุดยืนของกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ได้หรือไม่ พยานไม่ขอตอบ
 
อดีตนายตำรวจตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 2 ต่อว่า ไม่เคยทราบว่า ก่อนการลงประชามติ มีคนที่มีชื่อเสียงในบ้านเมืองหลายท่านออกมาประกาศจุดยืนผ่านสื่อมวลชนว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เช่น พล.อ.ประยุทธ์แถลงและให้สัมภาษณ์ว่าจะไปรับร่างรัฐธรรมนูญ สุเทพประกาศผ่านสื่อว่าจะลงคะแนนรับร่างรัฐธรรมนูญ และอภิสิทธิ์แถลงจุดยืนว่า ไม่รับ ตามเอกสารข่าวที่ทนายเอาให้ดู แต่เคยได้ยินข่าวว่าพรรคเพื่อไทย
 
แถลงการณ์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ อย่างไรก็ตาม พยานไม่เคยเห็นเอกสารข่าวที่ทนายเอามาให้ดู ไม่เคยได้ยินข่าวว่า วิษณุ เครืองาม ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า การที่นักวิชาการออกมาประกาศ vote no ไม่ถือว่าผิดกฎหมาย

ทนายจำเลยที่ 2 ถาม พ.ต.อ.อร่าม อีกว่า การที่คนเหล่านี้แถลงผ่านสื่อมวลชน ย่อมมีคนรับรู้ในวงกว้างใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ได้ติดตามข่าว ส่วนการประกาศจุดยืนว่าจะออกเสียงลงประชามติอย่างไร จะผิดกฎหมายหรือไม่ พยานเห็นว่า ถ้าเป็นการบอกความเห็นของตัวเอง โดยไม่ได้ชี้นำคนอื่นให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ถือว่าเป็นความผิด
 
ตอบโจทก์ถามติง
 
พ.ต.อ.อร่าม เบิกความตอบที่โจทก์ถามติงว่า เอกสาร “7 เหตุผลฯ” ที่ยึดได้ในคดีนี้ มีข้อความ “vote no” แสดงความเห็นให้ไปออกเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการชี้แนะให้ผู้ที่ได้รับเอกสารไปออกเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ที่พยานตอบทนายจำเลยว่า เมื่ออ่านเอกสารในคดีทั้ง 3 ชิ้น แล้วไม่เชื่อ หมายถึงไม่เชื่อข้อความและเหตุผลที่ปรากฏในเอกสารดังกล่าว แต่ประชาชนทั่วไปเมื่อได้อ่านอาจเชื่อบ้าง ไม่เชื่อบ้าง แล้วแต่ดุลพินิจของแต่ละคน
 
 

14 กุมภาพันธ์ 2561

สืบพยานโจทก์ปากที่สอง: ประเสริฐ วชิรญาณุวัฒน์ ปลัดอำเภอภูเขียวผู้จับกุม

เริ่มสืบพยานเวลาประมาณ 10.00 น. ประเสริฐ เบิกความว่า อายุ 48 ปี  เกี่ยวข้องกับคดีนี้ โดยเป็นผู้จับกุมจำเลยที่ 2 และร่วมจับกุมจำเลยที่ 1 พยานชี้ตัวจตุภัทร์ และวศิน ที่นั่งอยู่ในห้องได้ถูกต้อง พยานรับราชการในตำแหน่งปลัดอำเภอภูเขียว ตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน
 
ประเสริฐเบิกความถึงเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุว่า เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2559 เวลา 08.30 น. พยานไปแจกหีบลงคะแนนเสียงประชามติให้แก่ กกต. ทุกหน่วย ที่หอประชุมอำเภอภูเขียว ต่อมา เวลา 11.00 น. ได้รับแจ้งจากราษฎรในตำบลผักปังว่า มีคนมาแจกใบปลิวในเขตเทศบาลตำบลภูเขียว พยานจึงได้พาผู้ใต้บังคับบัญชา ซึ่งเป็นสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (อส.) ออกตรวจหาข่าว พบเอกสาร 1 แผ่น ที่ร้านส้มตำ ทางเข้า บขส. ตำบลผักปัง เป็นเอกสารรณรงค์ vote no ภายในมีรูปคล้ายยักษ์ และมีข้อความรณรงค์ vote no เอกสารดังกล่าวไม่ปรากฏแหล่งผลิต หรือที่มา แต่ด้านล่างมีข้อความว่า ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ พยานเคยทราบผ่านสื่อว่า จตุภัทร์ จำเลยที่ 1 เคยรณรงค์ไม่รับ คสช. จึงเข้าใจว่า จตุภัทร์น่าจะเป็นผู้แจกใบปลิวดังกล่าว พยานจึงติดตามไปที่บ้านของจตุภัทร์ จำเลขที่ไม่ได้ อยู่หมู่ที่ 1 ตำบลผักปัง แต่ไม่ได้เข้าไปในบ้าน เนื่องจากไม่มีคนอยู่
 
พยานเบิกความต่อว่า จากนั้น พยานจึงออกมาหาข่าวในเขตเทศบาลตำบลภูเขียว เวลา 16.40 น. พยานเดินมาถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ใกล้วัดนครบาล ฝั่งตรงข้ามร้าน ป.ทองคำ พบจำเลยที่ 2 กำลังถือใบปลิว มีผู้หญิง 1 คน ถือกล้องถ่ายภาพโดยตลอด ผกก.สภ.ภูเขียว โดยมีชุดสืบกระจายกำลังอยู่บริเวณโดยรอบ จึงได้ขอตรวจค้นเบื้องต้น และพบว่า ที่เป้ด้านหลังจำเลยที่ 2 มีเอกสารคล้ายกับที่ถืออยู่ในมืออีกจำนวนหนึ่ง และเป็นเอกสารลักษณะเดียวกับที่พบที่ร้านส้มตำ พร้อมด้วยหนังสือ
 
ปลัดอำเภอภูเขียวให้การต่อไปว่า ไม่ได้เห็นจำเลยที่ 2 แจกเอกสาร เห็นแต่เดินถือ เมื่อตรวจสอบร้านค้าในบริเวณดังกล่าว พบเอกสารเช่นเดียวกับที่พบที่ตัวจำเลยที่ 2 วางอยู่ที่หน้าบ้านประมาณ 5 หลัง และเมื่อสอบถาม เจ้าของร้านแจ้งว่า วัยรุ่นชายเป็นผู้มาแจกเอกสาร พยานไม่ได้นำตัวจำเลยที่ 2 ไปให้ร้านค้าดูว่า เป็นผู้แจกเอกสารดังกล่าวหรือไม่ เนื่องจาก ผกก.สภ.ภูเขียว ได้ควบคุมตัวจำเลยที่ 2 ไป สภ.ภูเขียวแล้ว   
 
ประเสริฐเบิกความต่ออีกว่า ระหว่างควบคุมตัวจำเลยที่ 2 ไปที่สภ.ภูเขียวแล้ว ต่อมาเวลาประมาณ 17.00 น. พยานได้รับแจ้งทางโทรศัพท์เคลื่อนที่จากผู้ใต้บังคับบัญชาว่า พบจำเลยที่ 1 กำลังเดินแจกเอกสารในตลาดสดเทศบาลภูเขียว ตำบลผักปัง จึงออกจาก สภ.ภูเขียว ไปที่ตลาดดังกล่าว พบตำรวจชุดสืบสวน สภ.ภูเขียว และน่วม ลือชา กำนันตำบลผักปัง กำลังเข้าควบคุมตัวจำเลยที่ 1 ซึ่งถือเอกสารใบปลิว vote no สะพายเป้อยู่ด้านหลัง ในเป้มีโปสเตอร์ vote no มีรูปยักษ์ ลักษณะเดียวกับที่พบที่ตัวจำเลยที่ 2 หนังสือมีข้อความต่างๆ เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ จึงควบคุมตัว มาส่งที่ สภ.ภูเขียว
 
พยานผู้ร่วมจับกุมจำเลยทั้งสองเบิกความต่อไปว่า พนักงานสอบสวนได้สอบถามจตุภัทร์และวศินโดยพยานอยู่ด้วยว่า นำเอกสารมาทำอะไร ทั้งสองตอบว่า เอามาแจกให้ประชาชน ผกก.สภ.ภูเขียว จึงได้แจ้งข้อหาจำเลยทั้งสองในชั้นสอบสวนว่า เผยแพร่โปสเตอร์ ใบปลิว ข้อความ ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง ก่อให้เกิดความสับสนในหมู่ประชาชน มีข้อความในลักษณะรุนแรง น่ากลัว อันเป็นความผิดตใ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ และไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกจับกุม โจทก์ถามพยานย้ำอีกว่า สาเหตุที่แจ้งข้อหาจำเลยทั้งสองดังกล่าวคืออะไร ปลัดอำเภอภูเขียวตอบว่า เพราะจำเลยทั้งสองแจกใบปลิวที่มีเนื้อหารุนแรง ข่มขู่ คุกคาม ไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริง ซึ่งขัดต่อ พ.ร.บ.ประชามติฯ

พยานเบิกความอีกว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำบัญชีของกลางที่ตรวจยึด อัยการโจทก์ยังนำภาพถ่ายของกลาง และภาพถ่ายจำเลยทั้งสองในวันเกิดเหตุ ให้พยานรับรอง พยานดูแล้วรับว่า ใช่ อัยการถามพยานว่า เอกสารที่ยึดได้มีข้อความอย่างไร พยานตอบว่า โหวตโนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการชี้นำประชาชน
 
ตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้าน
 
ปลัดอำเภอภูเขียวตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านว่า จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ สาขาการปกครอง และปริญญาโท รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท ตัวพยานมีความศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
 
ที่พยานเบิกความว่า ไม่รู้จักจำเลยที่ 1 ที่จริงแล้วจำเลยรู้จักผ่านสื่อมาก่อนหน้านี้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นกลุ่มคนที่ไม่ยอมรับ คสช. ซึ่งเป็นคณะรัฐประหาร ทนายจำเลยที่ 1 ถามว่า พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ไม่ยอมรับรัฐประหารสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ พยานไม่ขอตอบ เนื่องจากพยานไม่ทราบว่า การต่อต้านรัฐประหารผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทนายถามอีกว่า พยานมีทัศนคติทางการเมืองตรงข้ามกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ พยานยอมรับรัฐประหารหรือไม่ ประเสริฐยืนยันว่า ไม่ขอตอบ
พยานตอบทนายจำเลยที่ 1 ต่อไปว่า ทราบว่าการลงประชามติในปี 2559 มีที่มาจากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ายึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 แล้วฉีกรัฐธรรมนูญ 2550 จากนั้นแต่งตั้ง สนช. ขึ้นทำหน้าที่แทน ส.ส. และ ส.ว. แต่การฉีกรัฐธรรมนูญ และล้มรัฐสภาจะเป็นความผิดฐานเป็นกบฎในราชอาณาจักรหรือไม่ พยานไม่ขอตอบ ทนายถามว่า เหตุที่พยานไม่ตอบเพราะเกรงจะกระทบหน้าที่การงานหรือเพราะพยานมีความรู้ไม่พอ พยานตอบว่า เป็นสิทธิส่วนบุคคล

ทนายจำเลยที่ 1 ถามในประเด็นต่อไปว่า พยานทราบหรือไม่ว่า คสช. ประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 โดยมีมาตราสำคัญคือ มาตรา 44 ให้ คสช. มีอำนาจเหนือฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ เป็นอำนาจเบ็ดเสร็จที่ทำแล้วไม่มีความผิด พยานตอบว่า ทราบ แต่การที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลมีอำนาจเหนืออำนาจอธิปไตยดังกล่าวเรียกว่าเผด็จการหรือไม่ สมควรให้ลักษณะดังกล่าวปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ ปลัดอำเภอภูเขียวไม่ขอตอบ ทนายถามว่า ที่พยานเรียนปริญญาตรีและโท มีการสอนถึงความแตกต่างระหว่างเผด็จการกับประชาธิปไตยหรือไม่ ทำให้พยานแยกสองสิ่งนี้ได้หรือไม่ ปลัดฯ ก็ไม่ขอตอบเช่นเดิม ส่วนมาตรา 44 จะขัดกับหลักการประชาธิปไตยหรือไม่ พยานไม่ขอตอบ เพราะไม่ได้เป็นผู้ใช้ ม.44
 
พยานทราบว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราวยังระบุให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร และ คสช. ได้แต่งคณะบุคคลขึ้นมาเป็นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธาน การกระทำเช่นนี้สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยหรือไม่ ดีกว่าการที่ประชาชนเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญมาทำการร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ พยานไม่ขอตอบ
 
ประเสริฐเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านว่า การให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับการลงประชามติเป็นหน้าที่ของรัฐ การที่ประชาชนจะให้ความรู้กันเองสามารถทำได้ แต่ต้องไม่ใช่การชี้นำ พยานไม่ตอบด้วยว่า การให้ประชาชนได้เผยแพร่ความรู้ถือเป็นประโยชน์ในการทำประชามติหรือไม่ แต่ระบุว่า ก่อนการออกเสียงประชามติ ไม่มีการกำชับในฝ่ายปกครองให้เฝ้าระวังประชาชนไม่ให้เผยแพร่ความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ
พยานโจทก์ปากนี้ตอบคำถามค้านทนายจำเลยที่ 1 ด้วยการไม่ขอตอบอีกว่า ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 มีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่ารัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ใช่หรือไม่ เมื่อทนายนำโปสเตอร์ “7 เหตุผล ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ” ให้ดู แล้วถามถึงกราฟฟิกรูปทหารคายพานรัฐธรรมนูญว่า พยานเข้าใจไปเองว่าเป็นรูปยักษ์ใช่หรือไม่ พยานไม่ขอตอบ ทนายจำเลยที่ 1 ถามอีกว่า พยานกลัวคำว่า vote no ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ พยานไม่ขอตอบ เมื่อทนายชี้ให้ดูคำดังกล่าวในโปสเตอร์ “7 เหตุผลฯ” ประเสริฐตอบว่า ไม่กลัว
 
ทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านพยานถึงเนื้อหาในโปสเตอร์ “7 เหตุผล ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ” ซึ่งเป็นของกลางในคดี ในประเด็นแรกว่า วิธีการได้มาซึ่ง ส.ส. ที่กำหนดอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญ 2559 แตกต่างจากรัฐธรรมนูญปี 2550 หรือไม่ ปลัดอำเภอภูเขียวไม่ขอตอบ ทนายถาม ในประเด็นต่อมาว่า ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 กำหนดให้ใครทำหน้าที่แทน ครม. ในกรณีที่ ครม.พ้นตำแหน่ง ตามหลักการประชาธิปไตยบุคคลที่รักษาการแทนต้องมาจากประชาชนหรือไม่ การให้ข้าราชการประจำทำหน้าที่ ครม.รักษาการ และเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นนายกฯ รักษาการ ขัดหลักการประชาธิปไตยหรือไม่ พยานก็ไม่ขอออกความเห็นทั้งหมด
 
ประเสริฐเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านต่อไปว่า ทราบว่าเมื่อร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ผ่านการลงประชามติ และประกาศใช้ ม.44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ก็ยังมีผลใช้บังคับอยู่ แต่ไม่ขอตอบในประเด็นที่ว่า กรณีที่ไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ที่จากเดิมรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 7 กำหนดให้วินิจฉัยไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติจะบัญญัติแตกต่างไปจากเดิมหรือไม่
 
ทนายจำเลยที่ 1 ยังคงถามค้านประเสริฐเกี่ยวกับเอกสารชิ้นเดิมว่า พยานทราบหรือไม่ว่ารัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดสิทธิในการเรียนฟรี 12 ปี ตั้งแต่ ป.1 – ม.6 พยานตอบว่า ทราบ ส่วนร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติกำหนดให้เรียนฟรี 12 ปี เหมือนเดิม แต่เริ่มตั้งแต่อนุบาลถึงแค่ ม.3 หรือไม่ พยานไม่ขอตอบ และในประเด็นที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 จะบัญญัติแตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญ 2550 อย่างไร พยานก็ไม่ขอตอบเช่นเดิม

พยานผู้ร่วมจับกุมจำเลยยังคงไม่ขอตอบ เมื่อทนายจำเลยที่ 1 ถามต่ออีกหลายคำถามในประเด็นที่มาและอำนาจหน้าที่ของ ส.ว. ตามร่างรัฐธรรมนูญ 2559
 
ปลัดอำเภอภูเขียวทราบว่า นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจในการบริหารประเทศแทนปวงชนชาวไทย แต่ไม่ขอตอบว่า ชอบนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งหรือไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมากกว่ากัน ทนายจำเลยที่ 1 ถามว่า พยานทราบหรือไม่ว่า หลักการนายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้งได้มาจากการต่อสู้ของประชาชนในปี 2535 พยานไม่ขอตอบ แต่พยานทราบว่า รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 บัญญัติเรื่องนี้ไว้ ส่วนร่างรัฐธรรมนูญ 2559 จะมีการเปลี่ยนแปลงให้นายกฯ ไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. ที่ได้รับการเลือกตั้งมาหรือไม่ พยานไม่ขอตอบ
 
ทนายจำเลยที่ 1 ถามต่อว่า คำถามที่ทนายถามค้านมาทั้งหมดถือว่ามีเหตุผลหรือไม่ พยานไม่ขอตอบ ทนายให้พยานดูกราฟฟิกในโปสเตอร์ “7เหตุผลฯ” อีกครั้ง แล้วถามว่า เป็นรูปทหาร ไม่ใช่ยักษ์ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า เด็กเห็นแล้วกลัว แต่ตัวพยานไม่กลัว ส่วนบุคคลที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไปจะกลัวหรือไม่ พยานไม่ขอตอบ ทนายถามต่อไปอีกว่า หากมีคนยื่นรูปนี้ให้พยานดู จะรู้สึกเหมือนถูกข่มขู่หรือไม่ ประเสริฐตอบว่า ไม่
 
ทนายถามค้านต่อไปว่า พฤติการณ์ที่ คสช. แต่งตั้งคณะบุคคลขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญ แล้วทำประชามติในช่วงที่ คสช.ยังมีอำนาจอยู่ ถือว่า รัฐธรรมนูญดังกล่าวคลอดจากปาก คสช. ได้หรือไม่ พยานไม่ขอตอบ คำถามต่อๆ มาที่ว่า ขณะพยานจับกุมจำเลยทั้งสองมีเจ้าหน้าที่ที่ร่วมจับกุมเห็นโปสเตอร์แล้วตกใจกลัวหรือไม่  7 เหตุผลที่อธิบายอยู่ในโปสเตอร์เป็นเหตุผลที่น่ารับฟัง และน่านำไปพิจารณาประกอบการตัดสินใจลงประชามติหรือไม่ และหากข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่กล่าวอยู่ในโปสเตอร์ จะถือว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติไม่เป็นประชาธิปไตยใช่หรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วพยานจะออกเสียงลงประชามติอย่างไร คำถามค้านเหล่านี้ พยานไม่ขอตอบทั้งสิ้น    
 
ทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านพยานโจทก์ปากที่ 2 ถึงเนื้อหาในเอกสารของกลางชิ้นต่อไป คือ “แถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ฯ” ว่า ในข้อ 1.2 เขียนว่า ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 รับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญให้แก่การใช้อำนาจของ คสช. ให้อยู่เหนือรัฐธรรมนูญและเหนือประชาชนไทยทุกคน พยานมีความเห็นอย่างไร และหากเป็นเช่นนั้น แล้วมีคนกล่าวว่า คสช.ถูกเสมอ เขากล่าวถูกต้องหรือไม่ พยานไม่ขอตอบ และกล่าวว่า พยานไม่ได้เปิดดูเนื้อหาด้านในเอกสาร ดูแต่เพียงหน้าปกเท่านั้น จึงไม่ขอตอบคำถามค้านที่ถามเกี่ยวกับเนื้อหาในเอกสารนี้ทั้งฉบับ ทนายถามอีกว่า พยานเห็นเอกสารฉบับนี้แล้วกลัวหรือไม่ ประเสริฐตอบว่า ไม่กลัว เจ้าหน้าที่ที่ร่วมจับกุมจำเลยทั้งสองก็ไม่มีใครกลัว ส่วนคณะนิติราษฎร์จะเป็นคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือไม่ พยานไม่ขอตอบ

เกี่ยวกับเอกสารของกลางที่โจทก์นำมาฟ้องฉบับสุดท้ายคือ “ความเห็นแย้ง คำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ” ปลัดอำเภอภูเขียว ก็เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ว่าไม่ได้เปิดดูรายละเอียดเช่นกัน อีกทั้งเมื่อเห็นเอกสารดังกล่าวก็ไม่ได้รู้สึกกลัว หรือรู้สึกถูกข่มขู่
 
ประเสริฐ เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองซึ่งร่วมจับกุมจำเลยในคดีนี้ตอบคำถามทนายจำเลยที่ 1 ด้วยว่า เอกสารที่ตรวจยึดและส่งมอบให้พนักงานสอบสวน เป็นเอกสารที่จำเลยถืออยู่ในมือ และอยู่ในเป้สะพายหลัง รวมถึงเอกสารที่จำเลยได้แจกไปแล้ว จำนวนตามที่ปรากฏในคำฟ้อง ข้อกล่าวหาที่แจ้งจำเลยทั้งสองตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ จึงหมายถึงเอกสาร “7 เหตุผลฯ” ฉบับเดียว อีก 2 ฉบับ นำมาประกอบการแจ้งข้อหาเท่านั้น เนื่องจากพยานไม่ได้เปิดดู รวมทั้งไม่ได้มีการปรึกษากับ ผกก.สภ.ภูเขียว เกี่ยวกับเอกสาร 2 ฉบับดังกล่าว
 
ปลัดอำเภอภูเขียวระบุอีกว่า ในการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 พยานได้รับข้อมูลเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญอย่างเพียงพอ โดยได้รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับเต็มที่ กรธ. พิมพ์แจก รวมทั้งอ่านและทำความเข้าใจเป็นอย่างดี แต่ไม่ขอตอบว่า ได้รับเอกสารสรุปของ กรธ. (คำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ) หรือไม่ และเอกสารดังกล่าวกล่าวถึงเฉพาะข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ เมื่อทนายนำมาให้ดู พยานก็ไม่เปิดอ่าน ทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านพยานปากนี้ว่า เมื่อพยานได้อ่านและทำความเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติดีแล้ว การที่พยานไม่ตอบคำถามทนายจำเลยที่ 1 เป็นไปเพื่อปรักปรำจำเลยทั้งสองให้ได้รับโทษ ไม่ได้เบิกความตามความจริงใช่หรือไม่ พยานไม่ขอตอบ
 
ตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้าน
 
ประเสริฐ  เจ้าหน้าที่ผู้ร่วมจับกุมจำเลยทั้งสอง ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 2 ว่า พยานเคยได้ยินชื่อกลุ่มประชาธิปไตยใหม่จากข่าวที่มีการแสดงออกที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทราบว่าเป็นกลุ่มที่ทำกิจกรรมเรียกร้องประชาธิปไตย

โปสเตอร์ “7 เหตุผล ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ” มีข้อความด้านล่างว่า “ประชาธิปไตยใหม่” พยานเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 2 ว่า เห็นแล้วเข้าใจว่าเอกสารดังกล่าวจัดทำโดยกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ส่วนข้อความ “vote no ไม่รับกับอนาคตที่ไม่ได้เลือก” จะแสดงถึงจุดยืนของกลุ่มประชาธิปไตยใหม่หรือไม่ พยานไม่ขอตอบ แต่พยานเห็นแล้วทราบว่า กลุ่มประชาธิปไตยใหม่มีเจตนาจะรณรงค์ให้ประชาชนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

ทนายจำเลยที่ 2 ถามค้านพยานโจทก์อีกว่า ใบปลิว “7 เหตุผลฯ” ไม่ได้ปรากฏข้อความเชิญชวนให้ประชาชนไม่ไปรับร่างรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ พยานตอบว่า มีข้อความว่า “7 เหตุผล ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ” แต่ไม่มีข้อความเชิญชวนเรียกร้องต่อประชาชน ในหน้าหลังของโปสเตอร์ก็เป็นเพียงเหตุผลที่ชี้แจงเท่านั้น

ปลัดอำเภอภูเขียวเบิกความด้วยว่า นอกจากร่างรัฐธรรมนูญ พยานยังได้รับเอกสารชี้แจงของ กรธ. และ กกต. ซึ่งส่งมาที่อำเภอเพื่อให้เผยแพร่ให้ประชาชน ซึ่ีงพยานได้อ่านเอกสารเหล่านั้นด้วย แต่พยานไม่ขอตอบว่าได้อ่าน “คำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ” หรือไม่

ทนายจำเลยที่ 2 ถามค้านประเสริฐในประเด็นการแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญในช่วงการลงประชามติว่า ประชาชนโดยทั่วไปมีสิทธิแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ติชมหรือไม่ และบุคคลจะประกาศจุดยืนของตนเองว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญโดยไม่ได้ปิดกั้นสิทธิของคนอื่นได้หรือไม่ พยานไม่ขอตอบ
 
ประเสริฐเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 2 อีกว่า เหตุที่เจ้าหน้าที่เข้าจับกุมจำเลยที่ 2 เพราะได้ไปสอบถามคนในตลาดก่อนแล้ว พยานจำได้ว่า คนที่เข้าไปสอบถามเป็นเจ้าของร้านแห่งหนึ่งที่ไม่มีชื่อร้าน ปัจจุบันร้านดังกล่าวยังเปิดขายของอยู่ แต่พยานไม่เห็นจำเลยที่ 2 ยืนแจกเอกสารให้ประชาชน
 
ตอบโจทก์ถามติง
 
ประเสริฐเบิกความตอบที่อัยการโจทก์ถามติงว่า พยานไม่เห็นจำเลยที่ 2 ยืนแจกเอกสารให้ประชาชน แต่พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 สรุปได้ว่า จำเลยได้ไปแจกเอกสาร “7 เหตุผลฯ” ตามร้านค้าเพื่อให้พ่อค้าแม่ค้าและประชาชนทั่วไปได้อ่าน โดยที่เอกสารดังกล่าวมีข้อความ “vote no” ซึ่งเข้าใจได้ว่า เป็นการบอกให้ประชาชนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และรูปถ่ายที่โจทก์เอาให้พยานดูก็เป็นรูปขณะจำเลยแจกเอกสารตามบ้านเรือน
 

15 กุมภาพันธ์ 2561
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สาม: พ.ต.ต.เดชพล กอสนาน กกต.จังหวัดชัยภูมิ

ศาลเริ่มสืบพยาน 10.15 น. พยานวันนี้คือ พ.ต.ต.เดชพล อายุ 48 ปี ขณะเกิดเหตุอยู่ในตำแหน่งผู้อำนวยการการเลือกตั้งจังหวัดชัยภูมิ ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการการเลือกตั้งจังหวัดปทุมธานี
 
พยานเบิกความว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กำหนดให้วันที่ 7 สิงหาคม 2559 เป็นวันลงประชามติ จังหวัดชัยภูมิมีกำหนดอบรมเผยแพร่ความรู้เรื่องรัฐธรรมนูญและรณรงค์ให้ประชาชนในพื้นที่ออกมาใช้สิทธิออกเสียงประชามติ ได้แก่ การอบรม รด.จิตอาสา รณรงค์เพื่อให้ไปเผยแพร่เกี่ยวกับการออกเสียงประชามติ 7 สิงหาคม 2559 , ประสานครูโรงเรียนมัธยมเพื่อให้ความรู้หกสัปดาห์เรื่องการออกเสียงประชามติ, Big Day รณรงค์ให้ประชาชนตื่นตัว ออกมาใช้สิทธิ์ออกเสียง, ปั่นจักรยานเพื่อรณรงค์ให้ประชาชนออกมารณรงค์ประชามติ , จัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับ ร่างรัฐธรรมนูญ และประเด็นคำถามเพิ่มเติม เพื่อให้ประชาชนเข้ามาแลกเปลี่ยน แสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้มีการแจกเอกสารร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ประเด็นคำถามเพิ่มเติมให้กับส่วนราชการในจังหวัดชัยภูมิทุกแห่ง โดยทั้งหมดนั้นเป็นการสร้างความเข้าใจกับประชาชน ผ่านทางศูนย์ศึกษาประชาธิปไตย (ศ.ส.ป.ช.ต.) ส่วนใครจะไปใช้สิทธิอย่างไรนั้น เป็นสิทธิแต่ะคน

พยานตอบคำถามอัยการว่า เอกสารหมาย จ.7 ที่จำเลยแจก เป็นเรื่อง 7 เหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 7 สิงหาคม 2559 เป็นความเห็นแย้งกับรัฐธรรมนูญและไม่ใช่เอกสารของ กกต. พยานไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสองมาก่อน
 
ตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้าน
 
พยานตอบคำถามทนายว่า จบการศึกษาชั้นนายร้อยจากประเทศไต้หวัน และเรียนนิติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยศรีปทุม เริ่มทำงานที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง ตั้งแต่ปี 2549 พยานตอบคำถามทนายว่า เนื่องจากมีข้อจำกัดในงบประมาณ จึงแจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 ไม่ทั่วถึง ส่วนร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามตินั้นประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นว่าจะรับหรือไม่รับได้ และสามารถบอกเหตุผลว่าจะรับหรือไม่รับได้ การอบรมของศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตย (ศ.ส.ป.ร.ต.) จำจำนวนผู้เข้าอบรมไม่ได้ แต่มีตัวแทนมาทุกตำบล ทั่วจังหวัด
และเนื้อหาที่แจกให้ประชาชนเป็นเรื่องร่างรัฐธรรมนูญและวิธีการร่างฯ รวมถึงขั้นตอนร่างฯ กกต.เป็นคนกำหนดเนื้อหา ส่วนกิจกรรมทั้งหกนั้น รด.จิตอาสา รด.ที่ว่า คือ เด็กมัธยม การอบรมนักเรียน คือ เพื่อให้ไปเล่าให้พ่อแม่ฟัง ส่วนการอมรมที่โรงแรมนั้น ทางโรงแรมเป็นผู้บันทึกเสียงเอง ไม่มีการถอดเทป

ส่วนร่างรัฐธรรมนูญนั้น ที่เห็นเป็นเล่มที่ กกต. ทำเผยแพร่ เมื่อทนายถามว่า ในร่างนี้เรื่องสิทธิเสรีภาพเป็นอย่างไร  พยานตอบว่า ใช้ได้ ส่วนเรื่องหน้าที่ของรัฐอ่านแล้ว ส่วนตัวคิดว่าใช้ได้เหมือนกัน หัวข้อที่เขียนว่าการได้รับการคุ้มครองจนแก่เฒ่า ความเห็นส่วนตัวคิดว่าเป็นมาตรฐาน ส่วนที่มา ส.ส./ ส.ว. เป็นวิธีการใหม่ ยังเปรียบเทียบไม่ได้ เรื่องการปฏิรูปเขียนเป็นเค้าโครง ไม่ได้เอาบทมาตรามาใส่

ทนายถามว่า พยานไปลงประชามติ อย่างไร พยานตอบว่าไปลงประชามติ ให้ผ่าน นอกจากนี้พยานยังตอบคำถามทนายอีกว่า บุคคลสามารถเห็นแย้งได้กับร่างรัฐธรรมนูญฯ 2559  ข้อแตกต่างระหว่างปี 2550 กับ ปี 2559 คือปี 2559 ให้เลือกทั้งคนทั้งพรรคไปด้วย พยานเห็นว่าเป็นวิธีการใหม่ ไม่สามารถเปรียบเทียบได้ และหลักการเรื่องที่มาของนายกรัฐมนตรีจะขัดหรือแย้งกับหลักการประชาธิปไตยหรือไม่นั้น แล้วแต่มุมมอง

พยานเบิกความว่า  ทราบว่า แม้ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 จะผ่านไปแล้ว อำนาจตามมาตรา 44 ยังคงอยู่ และทราบว่ามาตรา 44 ยังใช้อยู่ทุกวันนี้ และมีอำนาจเหนืออำนาจอธิปไตย ส่วนจะเป็นการสืบทอดอำนาจหรือไม่นั้น แล้วแต่มุมมอง พยานทราบอีกว่า ร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 มีมาตรา 5 ที่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องที่ประเทศหาทางออกไม่ได้ และมีการกำหนดมาตรฐานจริยธรรมนักการเมือง กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ ทำให้ทำงานด้วยความอิสระน้อยลง และให้องค์กรอิสระควบคุมนักการเมือง พยานทราบว่ามีกลุ่มคนที่กังวลเรื่องสิทธิเรียนฟรีที่หดหายไปในร่างรัฐธรรมนูญฯ

พยานเบิกความรับว่า ในห้าปีแรกสมาชิกวุฒิสภา เป็นผู้บังคับบัญชาเหล่าทัพ และที่เหลือรวม 250 คน มาจากการแต่งตั้ง และมีสิทธิโหวตเลือกนายกฯ ได้ 2 สมัย ส่วนจะขัดหรือแย้งกับหลักการประชาธิปไตยหรือไม่นั้น แล้วแต่มุมมอง
 
ในร่างรัฐธรรมนูญ 2559 เปิดทางให้มีนายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งได้ ส่วนจะขัดกับสิ่งที่วีรชน ปี 2535 ทำไว้หรือไม่นั้น ไม่ทราบ เพราะตอนนั้นอยู่ต่างประเทศ และหลักการที่มาของ ส.ว. 250 คน มีอำนาจเลือกนายกฯ นั้น ยังไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าประชาชนจะเป็นห่วงก็มีสิทธิทำได้ พยานรู้จักและเคยได้ยินชื่อกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ และรังสิมันต์ โรม และรู้จักโคทม อารียา อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง ส่วนจะมีความเห็นอย่างไรนั้นไม่ทราบ และทราบว่ามีกลุ่มนิติราษฏร์ ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ส่วนตัวเห็นว่าเป็นประโยชน์ เคยอ่านผ่านๆ พบว่าความเห็นของกลุ่มนิติราษฎร์น่าฟัง แต่จะเห็นด้วยหรือไม่นั้นเป็นดุลพินิจของแต่ละคน

นอกจากนี้พยานยังเบิกความว่า ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการกล่าวหาคดีนี้ รู้จักจำเลยที่ 1 ว่า เป็นที่รู้จักในนาม “ไผ่ ดาวดิน” และการที่คนรุ่นใหม่ตื่นตัวทางการเมืองเป็นเรื่องที่ดี
 
ตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้าน   

พยานเบิกความว่า กระบวนการประชามติ จัดทำเฉพาะการหยั่งเสียงมติเรื่องใหญ่ๆ ที่กระทบกับคนในประเทศ กระบวนการนั้นต้องได้รับการรับรู้จากผู้ที่จะออกเสียง ทุกฝ่ายควรได้เผยแพร่ความคิดเห็นเท่าๆ กัน พยานตอบคำถามอีกว่า ได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญเพียงบางประเด็นที่เกี่ยวข้องกับงาน ส่วนเอกสารที่ กกต. แจกนั้นเป็นการรณรงค์ให้ประชาชนทราบว่าลงประชามติอย่างไร อะไรที่ทำได้ อะไรที่ทำไม่ได้ เป็นเรื่องกระบวนการขั้นตอน ที่กระตุ้นให้คนมาออกเสียง พยานยอมรับว่า กิจกรรมของ กกต. ไม่ได้ทำเพื่อเผยแพร่เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ เพราะคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญจัดทำอยู่แล้ว

การทำกิจกรรม ทั้ง 6 กิจกรรมในจังหวัดชัยภูมิ ก็เป็นการรณรงค์ให้คนไปออกเสียงประชามติ ไม่ได้พูดถึงเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญเลย พยานตอบคำถามทนายจำเลยถามค้านว่า ทราบว่าในระหว่างการทำประชามติ รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 นั้น กกต. ได้จัดส่งร่างรัฐธรรมนูญให้กับทุกครัวเรือน โดยจัดส่งตามทะเบียนบ้าน เพื่อให้ประชาชนเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญอย่างทั่วถึง
 
ทนายจำเลยถามว่า ในการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 นั้น มีการจัดส่งร่างรัฐธรรมนูญเพียง 3 ฉบับต่อหมู่บ้านใช่หรือไม่ พยานตอบว่า พยานจำไม่ได้ เนื่องจาก กกต. ไม่ได้มีหน้าที่จัดส่งร่างรัฐธรรมนูญ แต่เป็นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่จัดส่ง แต่พยานเห็นว่าเป็นไปตามเอกสารหมาย จ.5 ที่แสดงถึงการจัดส่งให้ผู้ใหญ่บ้าน หมู่บ้านละ 3 ชุด ทนายจำเลยถามต่อว่า หมายความว่าหากผู้ใดสนใจอยากอ่านร่างรัฐธรรมนูญก็ต้องไปขอจากผู้ใหญ่บ้านใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่
 
ต่อมาทนายจำเลยเปิดคลิปวีดีโอ ที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา แถลงข่าวแสดงจุดยืนรับร่างรัฐธรรมนูญและถามว่า จากคลิปวีดีโอดังกล่าว นายกรัฐมนตรีแสดงจุดยืนโหวต Yes ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่ ซึ่งเป็นการแถลงข่าวอธิบายเกี่ยวกับประโยชน์ของการรับร่างรัฐธรรมนูญ ทนายจำเลยถามต่อว่า ในการแถลงข่าวของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้น แต่งเครื่องแบบทหารเต็มยศ มีโพเดี้ยมเหมือนการแถลงข่าวที่เป็นทางการ ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่ และขณะแถลงข่าวได้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ทนายจำเลยถามต่อว่า ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถือว่าเป็นผู้บังบัญชาสูงสุดในสายข้าราชการใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยถามต่อว่า ในทางกฎหมายพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีอำนาจในการใช้ มาตรา 44 มีอำนาจเด็ดขาด และเคยใช้มาตรา 44 ในการปลดข้าราชการมาแล้วใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่ ทั้งยังเคยใช้อำนาจในการปฏิรูปกฎหมายด้วย

ทนายจำเลยถามว่า การแถลงข่าวของพลเอกประยุทธ์ มีผลต่อการโหวต Yes รับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ พยานตอบว่า แล้วแต่ความเชื่อของแต่ละบุคคล มีสิทธิที่จะเชื่อหรือไม่ก็ได้ ทนายจำเลยถามต่อว่า การแสดงความเห็นของพลเอกประยุทธ์ ดังกล่าวเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ พยานตอบว่า เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย
 

16 กุมภาพันธ์ 2561

สืบพยานโจทก์ปากที่สี่: กำนัน ตำบลผักปัง อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ผู้ร่วมจับกุม

พยานเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุเป็นกำนัน ตำบลผักฝัง อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เป็นตั้งแต่ปี 2552 เพิ่งเกษียนไป ความเกี่ยวข้องในคดีนี้ เป็นผู้ร่วมจับกุมจำเลยทั้ง 2 คน รู้จักกับพ่อของจำเลยมาก่อน พยานจำได้ว่า คดีนี้เหตุเกิดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2559 โดยได้รับแจ้งจากปลัดอำเภอว่า ให้ไปพบที่ สภ.ภูเขียวด่วน เพราะว่าได้รับแจ้งจากคนในเขตเทศบาลอีกทีว่า มีคนคัดค้านการลงประชามติ และมีการบอกว่าจำเลยทั้งสองได้แจกใบปลิวให้กับชาวบ้าน จึงเข้าร่วมตรวจสอบว่า เอกสารนั้นเกี่ยวข้องกับอะไร จึงได้รู้ว่าเป็นเอกสารคัดค้านการลงประชามติ จากนั้นจึงร่วมกับผู้กำกับสภ.ภูเขียวไปออกตรวจพื้นที่ต่อที่ตลาดสดเทศบาลตำบลภูเขียว แล้วเจอ “ไผ่ ดาวดิน” กับแผ่นพับที่แจก
 
พยานเบิกความว่า เห็นเอกสารดังกล่าวแต่ไม่ได้ดูรายละเอียด และมีการแจ้งข้อกล่าวหากับจำเลยที่ 2 ว่าแจกเอกสารคัดค้านการลงประชามติ โดยชั้นจับกุมจำเลยให้การปฏิเสธ พยานรับว่ารู้จักกับจตุภัทร์หรือ ไผ่ ดาวดิน ตั้งแต่เด็ก ส่วนวศิน จำเลยที่สอง ไม่รู้จัก และไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสอง
ตอบทนายถามค้าน
 
พยานเบิกความว่า อ่านภาษาอังกฤษไม่ออก ทนายถามว่า คำว่าโหวตโน คือ การไปลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ทราบ ที่พยานไปจับกุมจำเลยที่ 2 นั้นไปพร้อมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและปลัดอำเภอ พยานรู้จักพ่อของจำเลย เพราะพ่อของจำเลยเคยไปคัดค้านการสร้างเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทำให้การประชุมวันนั้นล้มไป เสาไฟฟ้ายุติไปแล้ว
 
ทนายถามว่า การลงประชามติของประเทศนั้น ต้องเป็นไปทางเดียวกันหรือไม่นั้น พยานตอบว่า ใช่ พยานรับว่าไม่ได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญก่อนไปลงประชามติ ที่มาของ ส.ส. และ ส.ว.ในร่าง จะเป็นอย่างไรนั้นไม่ทราบ และไม่ขอตอบ เมื่อ ครม. พ้นจากตำแหน่งแล้วใครจะมารักษาการแทน หรือไม่ อย่างไรนั้น ไม่ขอตอบ
 
อำนาจในมาตรา 44 ที่คงกำหนดไว้นั้น พยานไม่ขอตอบ มาตรา 7 ในร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 ต่างอย่างไรกับของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 นั้น ไม่ขอตอบ ทนายถามอีกว่าพยานกลัวยักษ์หรือกลัวทหารหรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ขอตอบ  ทนายถามว่า การที่พยานไม่ขอตอบนั้นเป็นเพราะปลัดอำเภอไปบอกไว้ว่า ต้องตอบว่าไม่ขอตอบใช่หรือไม่ พยานก็ไม่ขอตอบ

ทนายถามอีกว่า ก่อนหน้านี้ เคยไปบ้านของจำเลยที่หนึ่ง เพื่อถามข่าวคราวเกี่ยวกับเรื่องชูป้ายรัฐประหารหรือไม่ พยานตอบว่า จำไม่ได้ ไม่ทราบ ไม่ขอตอบ และไม่ขอตอบว่า ตนเองเห็นด้วยกับความคิดเรื่องนี้ของลูกบ้านหรือไม่

ตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้าน
 
พยานตอบคำถามทนายความว่า ทราบว่าปลัดอำเภอเคยมาให้การเรื่องที่พยานต้องตอบคำถามวันนี้เช่นกัน และเป็นเรื่องเดียวกัน ทนายถามว่า ระหว่างการออกเสียงประชามติ มีการเฝ้าระวังไม่ให้คนมาเคลื่อนไหวในพื้นที่ใช่หรือไม่ พยานไม่ขอตอบ เมื่อทนายถามว่า ทางปลัดอำเภอและนายอำเภอกำชับกับกำนันผู้ใหญ่บ้านให้ไปลงประชามติรับร่าง เพื่อให้ประเทศเจริญก้าวหน้าใช่หรือไม่ พยานไม่ขอตอบ

ตอบโจทก์ถามติง
 
พยานทราบคำภาษาอังกฤษ No แปลว่า ไม่ Yes แปลว่า ใช่ และเอกสารที่จำเลยนำไปแจก ดูข้อความแล้วเป็นเอกสารที่ระบุว่า ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

สืบพยานโจทก์ปากที่ห้า: สุขสันต์ ผาจันทร์ กองอาสารักษาดินแดน ผู้ร่วมจับกุมจำเลย
 
พยานเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งกองอาสารักษาดินแดน ประจำอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ตั้งแต่ปี 2553 วันเกิดเหตุมีชาวบ้านโทรศัพท์ประสานกับปลัดอำเภอว่า พบคนกระทำความทำผิดเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติ บริเวณตลาดสดเทศบาลภูเขียว จึงได้ออกตรวจสอบเมื่อช่วงเวลา 14.00 น. เห็นจำเลยที่ 1 เดินแจกแผ่นพับให้กับแม่ค้าและประชาชนที่มาแจกจ่ายซื้อของ เอกสารเขียนว่า โหวตโน โดยวันนั้นนอกจากพยานก็มีตำรวจร่วมเชิญตัวจำเลย ไปสภ.ภูเขียว และค้นตัวก่อนพบว่า ในกระเป๋ามีหนังสือและแผ่นพับรวมกันสามแผ่น
 
เอกสารที่ว่า คือ เอกสาร ความเห็นแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และที่ สภ.ภูเขียว พยานยังเห็นวศินที่ถูกควบคุมตัวมาก่อน กระทั่งมีการแจ้งข้อหาร่วมกันก่อความไม่สงบในการออกเสียงประชามติ พยานเบิกความกับอัยการอีกว่า ที่มีการจับกุมเพราะทั้งสองกระทำการให้การลงประชามติไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
พยานรับว่ารู้จัก “ไผ่ ดาวดิน” แต่ไม่รู้จักเป็นการส่วนตัว ส่วนจำเลยอีกคนนั้นไม่รู้จักมาก่อน อีกทั้งไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน
 
ตอบทนายถามค้าน
 
ทนายความถามว่า การไปลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายหรือไม่ พยานตอบว่าไม่ขอตอบ พยานตอบคำถามทนายอีกว่า เมื่อเห็นคำว่า Vote No แล้วไม่รู้สึกกลัว และคำว่า Vote No เป็นคำที่ไม่หยาบคาย ส่วนการไปลงประชามติ พยานจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้น ไม่ขอตอบ คำถามของทนายความในประเด็นที่มาของ ส.ส. ส.ว. นั้น พยาน ไม่ขอตอบ
 
สำหรับประเด็นเรื่องคนที่จะมารักษาการตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ นั้น พยานไม่ขอตอบ และเมื่อทนายความถามถึงเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับเรื่องมาตรา 44} หน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ, สิทธิเสรีภาพของประชาชน, ที่มาของนายกรัฐมนตรี พยาน ไม่ขอตอบคำถามเลย เมื่อทนายความถามว่า สาเหตุที่พยานไม่ขอตอบเพราะไปเตรียมมากับปลัดอำเภอใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ใช่
 
ทนายถามอีกว่า ร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 ดีหรือไม่นั้น พยานไม่ขอตอบ เมื่อทนายถามว่า สาเหตุที่พยานไม่ขอตอบเพราะเกรงจะกระทบหน้าที่การงานหรือไม่งั้น พยานตอบว่า ไม่ขอตอบอีกเช่นกัน


21 กุมภาพันธ์ 2561
 
สืบพยานจำเลย

พยานจำเลยปากที่ 1 จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา จำเลย

ศาลเริ่มเริ่มพิจารณาคดีเวลาประมาณ 10.15 น. ท่ามกลางผู้สังเกตการณ์คดีและผู้สนใจเข้าฟังประมาณ 20 คน
จตุภัทร์เริ่มเบิกความว่า อายุ 26 ปี จบการศึกษาแล้ว ยังไม่ได้ประกอบอาชีพ ขณะเกิดเหตุในปี 2559 เป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
 
จตุภัทร์เบิกความถึงภูมิหลังการทำกิจกรรมของเขาว่า คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีกลุ่มนักศึกษาที่ทำกิจกรรมเพื่อสังคม ชื่อกลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม หรือกลุ่มดาวดิน ซึ่งตัวเขาเป็นสมาชิก การทำกิจกรรมของกลุ่มดาวดินมีแนวคิดมาจากการเรียนนิติศาสตร์ซึ่งเป็นการศึกษาถึงความยุติธรรมทางทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติสังคมอาจไม่มีความยุติธรรม จึงได้ออกไปเรียนรู้เรื่องสิทธิทางทรัพยากรในพื้นที่ที่มีโครงการพัฒนา เช่น เหมืองแร่ทองคำ เหมืองโปแตช ปิโตรเลียม โรงงานแป้งมัน และให้คำปรึกษาชาวบ้านในเรื่องสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ
 
จตุภัทร์เบิกความต่อไปว่า จากการทำกิจกรรมในลักษณะดังกล่าวของกลุ่มดาวดิน ทำให้ในปี 2556 ได้รับรางวัลเยาวชนต้นแบบจากรายการโทรทัศน์ ฅนค้นฅน และประมาณปี 2557 ได้รับรางวัลองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านสิทธิมนุษยชนจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตามภาพข่าวที่ทนายจำเลยให้ดู นอกจากนี้ ตัวเขาเองยังได้รับรางวัลนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน หรือรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน จากประเทศเกาหลีใต้ ในปี 2560
 
จตุภัทร์หรือไผ่ ชี้ว่า จากการทำกิจกรรมทางสังคมและทำกิจกรรมกับชาวบ้านทำให้เขาเห็นข้อเท็จจริงว่า ฝ่ายรัฐและนายทุนร่วมมือกันใช้กฎหมายเพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของประเทศ ขณะเดียวกัน อีกฝ่ายหนึ่งคือชาวบ้านก็ใช้กฎหมายเช่นเดียวกันในการปกป้องทรัพยากร ในช่วงที่เขาทำกิจกรรมนั้นเป็นช่วงที่รัฐธรรมนูญ 2550 บังคับใช้อยู่  ซึ่งกำหนดเรื่องสิทธิชุมชน คือ ชาวบ้านมีสิทธิที่จะรวมตัวกันปกป้องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในชุมชน นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายที่กำหนดให้ ในการทำโครงการพัฒนาขนาดใหญ่จะต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรือ EIA และรายงานการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ หรือ EHIA ซึ่งในทางปฏิบัติ
 
แม้กฎหมายจะกำหนดขั้นตอนดังกล่าว แต่กลุ่มดาวดินเรียนรู้จากการทำกิจกรรมว่า รัฐและนายทุน ไม่ได้จัดทำ EIA และ EHIA ตามข้อเท็จจริง แต่ทำเพื่อให้ผ่านตามกฎหมาย ซึ่งชาวบ้านก็จะใช้หลักสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญโต้แย้งกับนายทุนและรัฐบาล
 
ทนายจำเลยถามจตุภัทร์ว่า ช่วงที่เขาทำกิจกรรมทางสังคมในปี 2556 มีสถานการณ์ทางการเมืองอย่างไร จตุภัทร์เล่าว่า กลุ่ม กปปส. และ คปท. ซึ่งจำชื่อเต็มไม่ได้ เคลื่อนไหวไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม “เหมาเข่ง” ของรัฐบาล กลุ่มนักศึกษาซึ่งรวมถึงตัวเขาเองก็ได้ออกไปร่วมเคลื่อนไหวด้วย เขาเห็นด้วยที่นักโทษการเมืองจะได้รับอิสรภาพจากกฎหมายนี้ แต่ไม่เห็นด้วยที่นักการเมืองที่คอร์รัปชั่น รวมทั้งผู้ที่สั่งฆ่าประชาชนจะได้รับประโยชน์ด้วย ผลจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ทำให้ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมไม่ผ่านสภา ซึ่งนายกรัฐมนตรีรับผิดชอบด้วยการประกาศยุบสภา หลังจากนั้นกลุ่มนักศึกษาและกลุ่มอื่นๆ ก็ยุติการเคลื่อนไหว คงมีแต่ กปปส. และ คปท. ที่ยังเคลื่อนไหวอยู่ โดยมีข้อเสนอให้ปฏิรูปประเทศ

จำเลยที่ 1 เบิกความต่อว่า กลุ่มดาวดินวิตกกังวลว่า การเคลื่อนไหวของ กปปส. ที่ประกาศปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้ง และขัดขวางการเลือกตั้งในปี 2557 จะนำไปสู่การรัฐประหาร จึงออกแถลงการณ์คัดค้านการเคลื่อนไหวของ กปปส. โดยวิเคราะห์ว่า จะนำไปสู่การรัฐประหาร นอกจากนี้ จากการที่ กปปส. ขัดขวางการเลือกตั้ง ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า การเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้นโดยไม่สงบ และให้การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นโมฆะ กลุ่มดาวดินเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไม่ถูกต้อง จึงไปฟ้องศาลปกครองว่า คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 
จตุภัทร์ยังเบิกความถึงสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงปี 2557 ต่อไปว่า มีการชุมนุมใหญ่ของ กปปส. และ นปช. ที่กรุงเทพฯ กปปส. มีข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ส่วน นปช.เสนอให้เลือกตั้งก่อนการปฏิรูป ซึ่งกลุ่มดาวดินก็ได้ออกมาแสดงความเห็นในเรื่องนี้ โดยยอมรับความหลากหลายทางความคิด แต่เห็นว่า การใช้เสรีภาพของตนเองละเมิดสิทธิทางการเมืองของคนอื่นด้วยการล้มการเลือกตั้งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง การชุมนุมใหญ่ของทั้งสองกลุ่มนำไปสู่การเข้ายึดอำนาจโดย คสช. เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม  2557 โดยอ้างเหตุผลว่า มีการชุมนุมของประชาชน  2 กลุ่ม ซึ่งไม่เป็นเหตุผลที่เพียงพอ เป็นเพียงการสร้างความชอบธรรมในการเข้ายึดอำนาจเท่านั้น

จตุภัทร์เบิกความตอบทนายจำเลยอีกว่า หลังการเข้ายึดอำนาจ คสช. ได้ฉีกรัฐธรรมนูญ 2550 และประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 รวมทั้งออกประกาศ คำสั่งต่างๆ ห้ามการเคลื่อนไหว และชุมนุมทางการเมือง จากนั้น ยุบสภา ปลดคณะรัฐมนตรี แล้วแต่งตั้ง สนช. ขึ้นทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติ และเข้าเป็นรัฐบาลบริหารประเทศเอง โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เป็นนายกรัฐมนตรี การกระทำดังกล่าวของ คสช. เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ฐานเป็นกบฏในราชอาณาจักร ตัวเขาร่วมกับบุคคลอื่นเคยไปฟ้องศาลอาญาที่กรุงเทพฯ แต่ศาลไม่รับฟ้อง ในฐานะนักเรียนกฎหมาย เขาเห็นว่า การทำรัฐประหารเป็นการตบหน้านักกฎหมาย กลุ่มดาวดินจึงเคลื่อนไหวคัดค้านรัฐประหารตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ทนายจำเลยถามว่า ทำอะไรบ้างในการคัดค้านรัฐประหาร จตุภัทร์ตอบว่า เช่น ไปที่ห้างเซ็นทรัล ขอนแก่น แยกกันไปอยู่คนละชั้น แล้วตะโกนถามกันว่า ทำไมมีทหารเต็มบ้านเต็มเมือง เป็นกิจกรรมที่ต้องการกระตุ้นให้คนตั้งคำถามกับการที่มีทหารเข้าควบคุมสถานที่ต่างๆ ในขอนแก่น การเคลื่อนไหวของกลุ่มดาวดินมีเยอะมาก และที่สังคมให้ความสนใจมากที่สุดคือ การไปชู 3 นิ้ว ต่อหน้า พลเอกประยุทธ์ ขณะมาตรวจราชการที่ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น พร้อมทั้งใส่เสื้อที่ติดสติ๊กเกอร์ว่า ไม่-เอา รัฐ-ประ-หาร ทั้งนี้ การชู 3 นิ้ว เป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ที่พวกเขานำมาจากหนังเรื่อง The Hunger Games หมายถึง สิทธิ เสรีภาพ และภราดรภาพ การทำกิจกรรมในครั้งนี้ ทำให้ทหารโกรธเคืองอย่างมาก และควบคุมตัวเขากับเพื่อน รวม 5 คน ไปปรับทัศนคติที่ค่ายศรีพัชรินทร์ จังหวัดขอนแก่น  

จตุภัทร์เบิกความต่อไปว่า ในวันครบรอบ 1 ปี รัฐประหาร กลุ่มดาวดินออกมาทำกิจกรรมเพื่อบอกว่า ใน 1 ปี เกิดปัญหาและผลกระทบกับชาวบ้านอย่างไรบ้าง เช่น เดิมชาวบ้านใช้สิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญต่อสู้ได้ แต่หลังรัฐประหารก็ทำไม่ได้เลย มีการชูป้ายและพูดถึงเหตุผลที่คัดค้านรัฐประหาร 7 ประการ เช่น ทหารร่วมมือกับนายทุนสร้างเขื่อน ทำเหมือง ขุดเจาะปิโตรเลียม ทหารไล่ยึดที่ดิน ทหารบังคับให้ มข.ออกนอกระบบ ใช้ ม.44 ร่างรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย เนื่องจากร่างโดยเผด็จการ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จังหวัดขอนแก่น การทำกิจกรรมครั้งนี้เขาถูกทหารและตำรวจควบคุมตัวโดยใช้ ม.44 ถูกดำเนินคดีขัดคำสั่ง คสช. ต้องขึ้นศาลทหาร

ไผ่ยังเบิกความตอบทนายจำเลยที่ถามในรายละเอียดของผลกระทบจากการรัฐประหารที่มีต่อชาวบ้านว่า ทหารจะไปควบคุมการทำกิจกรรมของชาวบ้านในชุมชนโดยอ้างคำสั่งหัวหน้า คสช. ตาม ม.44 หรือในกรณีที่ดิน ช่วงที่มีรัฐธรรมนูญ 2550 การต่อสู้ระหว่างรัฐกับชุมชน ชาวบ้านสามารถใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญคัดค้านจนกระทั่งมีข้อเสนอเรื่องโฉนดชุมนุมและออกข้อบัญญัติชุมชนเพื่อปกป้องทรัพยากรได้ แต่เมื่อมีรัฐประหาร คสช. สามารถไล่รื้อชาวบ้านออกจากที่ดินได้เลย นอกจากนี้ ในการทำโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ซึ่งต้องจัดทำ EIA ที่มีขั้นตอนมากมาย ทำให้โครงการขนาดใหญ่ทำได้ยาก แต่ คสช. ก็ลดขั้นตอนการทำ EIA โดยกำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ทำให้โครงการขนาดใหญ่ทำได้ง่ายและเร็วขึ้น  รวมทั้ง ประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยใช้ ม.44 ซึ่งในรัฐบาลปกติทำไม่ได้ เพราะชาวบ้านคัดค้าน และมีขั้นตอนให้ชาวบ้านใช้สิทธิโต้แย้ง แต่ช่วงรัฐบาล คสช. ซึ่งใช้ ม.44 สามารถประกาศได้เลยโดยชาวบ้านไม่สามารถคัดค้านได้ เนื่องจากถ้าชาวบ้านออกมาคัดค้านเกิน 5 คน ก็จะขัดประกาศ คสช.ที่ 7/2557 ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ถ้าชาวบ้านไม่เชื่อ ทหารก็มีอำนาจนำตัวไปปรับทัศนคติในค่ายทหาร หรือบุกเข้าค้นบ้าน เพื่อตรวจสอบความเคลื่อนไหวได้ เคยมีกรณีที่ชาวบ้านไปกินข้าวด้วยกัน ทหารเห็นมีรองเท้าถอดอยู่หน้าบ้านเกิน 5 คู่ ก็เข้าค้นบ้าน
 
ทนายจำเลยที่ 1 ถามจตุภัทร์อีกว่า พยานและกลุ่มดาวดินมีความกังวลต่อ ม.44 อย่างไร จตุภัทร์ตอบว่า ม.44 ให้ คสช. มีอำนาจเหนือฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ขาดการตรวจสอบถ่วงดุลตามหลักประชาธิปไตย ซึ่งเป็นดาบสองคม เป็นปัญหา เดิมอำนาจ 3 ฝ่าย ถ่วงดุลกัน เมื่อ คสช. ยุบสภาทำให้การตรวจสอบหายไป และทำไม่ได้ อีกทั้งคำสั่ง คสช. ถือเป็นกฎหมาย ไม่สามารถตรวจสอบได้
 
ไผ่ เบิกความต่อไปว่า นอกจาก มาตรา 44 แล้ว รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ยังกำหนดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร และให้มีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ มีนายมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธาน โดยประชาชนไม่มีส่วนร่วม ซึ่งไม่เหมือนการร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ และปี 2550 ที่มีการรับฟังความเห็นของประชาชน จนเป็นที่มาของการบัญญัติเรื่องสิทธิชุมชน ไผ่กล่าวต่ออีกว่า เมื่อครั้งเป็นนักศึกษา อาจารย์สอนว่า ชนชั้นใดร่างกฎหมายก็จะร่างเพื่อประโยชน์ของชนชั้นนั้น ในการร่างรัฐธรรมนูญ 2550 กลุ่มบุคคลที่ร่าง ทำเพื่อสิทธิประโยชน์ของตนเอง แต่เมื่อรัฐธรรมนูญ 2550 ประกาศใช้ กลุ่มบุคคลนั้นก็ไม่มีตัวตนในสังคม ในการร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อปี 2559 กลุ่มดังกล่าวก็แก้ไขข้อบกพร่องที่ผ่านมา โดยเขียนให้มีตัวตนและอำนาจกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญดังที่ปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญ 2559
 
จตุภัทร์เบิกความเป็นพยานตนเองเกี่ยวกับการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ว่า มีการประกาศให้ประชาชนไปออกเสียงลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 โดยมีพ.ร.บ.ประชามติฯ กำหนดให้ กรธ. และ กกต. ทำหน้าที่เผยแพร่สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ และให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการลงประชามติ ก่อนหน้าวันที่ 7 สิงหาคม 2559 โดย กรธ. และ กกต. อาจมอบหมายให้หน่วยงานอื่น เช่น หน่วยราชการ นักเรียนรักษาดินแดน ช่วยเผยแพร่ได้ แต่ในความเป็นจริง กรธ. และ กกต. ไม่มีการมอบหมาย นอกจากนี้ รัฐเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญ การให้เฉพาะ กรธ. ซึ่งเป็นผู้ร่าง และ กกต. เป็นผู้เผยแพร่ให้ความรู้ ก็ยากที่จะทำให้ข้อเท็จจริงในร่างรัฐธรรมนูญถูกนำเสนอแก่ประชาชน อีกทั้งร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ก็ไม่ได้ถูกจัดส่งให้ประชาชนครบทุกครัวเรือน ต่างจากการทำประชามติในปี 2550
 
เกี่ยวกับการแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ จตุภัทร์เบิกความว่า การร่างรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 เอื้อให้ทุกกลุ่มแสดงความเห็นได้อย่างเสรี ซึ่งโดยทั่วไปจะมี 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เห็นด้วย กลุ่มที่ไม่เห็นด้วย และกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับกระบวนร่างรัฐธรรมนูญ หรือกลุ่ม no vote มีกระบวนการรับฟังความเห็น และสามารถจัดเวทีอภิปรายได้อย่างอิสระ ต่างไปจากกระบวนการร่างและลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559
อย่างไรก็ตาม จตุภัทร์ได้ใช้สิทธิตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ประชามติ 2559 รณรงค์ให้ความรู้ประชาชนในนาม กลุ่มประชาธิปไตยใหม่ หรือ NDM ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยเวทีที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้เชิญ อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และรังสิมันต์ โรม จากกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ (NDM) รวมทั้งชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ มาเป็นวิทยากรและแสดงความเห็น ใช้ชื่องานว่า “รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2559 ซึ่งก็ถูกทหารเข้ายึดเวที เก็บเก้าอี้ เครื่องเสียง และหลังจากงาน ก็ถูกดำเนินคดี ข้อหาขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ต้องขึ้นศาลทหาร แต่ไม่มีการดำเนินคดีข้อหา ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประชามติฯ ซึ่งก็ยืนยันว่า ในการจัดเวทีดังกล่าว ตนใช้สิทธิตามมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557, มาตรา 7 พ.ร.บ.ประชามติฯ และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งบัญญัติว่า บุคคลมีเสรีภาพในการแสดงความเห็น  
 
จำเลยที่ 1 เบิกความในฐานะพยานต่อไปว่า สาเหตุที่ NDM ออกมาให้ความรู้เรื่องร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเราเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ตื่นตัวทางการเมือง ซึ่งเห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะอยู่กับสังคมไทยไปอีกนาน แต่ตัวพยานซึ่งเป็นนักกฎหมายอ่านร่างรัฐธรรมนูญก็ยังยากที่จะทำความเข้าใจ และมีเนื้อหาเยอะด้วย สิทธิหลายอย่างถูกตัดไปในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เช่น สิทธิทางการศึกษา สาธารณสุข ซึ่งชาวบ้านไม่รู้ จึงอยากจัดกิจกรรมเพื่อให้ชาวบ้านเข้าใจได้ง่าย ซึ่งหากประชาชนเข้าใจก็จะทำให้ไปใช้สิทธิออกเสียงได้อย่างมีประสิทธิภาพ การจัดกิจกรรมก็เป็นการใช้สิทธิทางการเมือง และสิทธิในการแสดงความเห็น แต่ก็ถูกขัดขวางโดยทหาร แม้แต่การจัดกิจกรรมชวนคนมานั่งอ่านร่างรัฐธรรมนูญ ก็ยังถูกทหารขู่จะจับ   

ทนายจำเลยถามว่า NDM มีการจัดกิจกรรมเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญในพื้นที่อื่นๆ อย่างไรอีกบ้าง จตุภัทร์ตอบว่า มีการแจกเอกสารที่ราชบุรีและสมุทรปราการ แต่ก็ถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ ซึ่งที่ราชบุรี พยานทราบว่า ศาลยกฟ้องจำเลยทั้ง 5 คน อย่างไรก็ตาม การที่รัฐแจ้งความจับคนที่เผยแพร่เอกสารเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญในหลายพื้นที่ ได้สร้างบรรยากาศที่คนคิดต่างมีความผิด ทำให้คนกลัว ไม่สามารถพูดคุยแสดงความเห็นกันได้ ทั้งที่เนื้อหาของเอกสารดังกล่าวก็เอามาจากร่างรัฐธรรมนูญ และการศึกษาทำความเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญก็เป็นหน้าที่ของประชาชน เนื่องจากเป็นสิ่งที่จะอยู่กับเราไปอีกนาน
 
ทนายจำเลยถามอีกว่า พยานเห็นด้วยที่มีการแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนกันใช่หรือไม่ ไผ่ตอบว่า เห็นด้วย สังคมต้องการพื้นที่เพื่อให้คนที่มีหลากหลายความคิด ความเชื่อทางการเมือง อยู่ร่วมกันได้ เช่น กรณีที่ พลเอกประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ผ่านโทรทัศน์ว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ พยานก็เห็นว่า สามารถทำได้ เพราะเป็นความคิดหนึ่งในฝ่ายที่เห็นด้วย เป็นความเชื่อส่วนบุคคล คนสำคัญหลายคนก็ออกมาแสดงความเห็น เช่น อภิสิทธิ์ สุเทพ ยิ่งลักษณ์ ซึ่งต่างก็บอกว่าหวังดีต่อประเทศ แต่ทั้งนี้ หากทุกคนเอาแต่ความคิดความเชื่อมาพูด ไม่นำข้อเท็จจริงมาพูดคุย ประเทศก็เดินหน้าไปไม่ได้ นอกจากนี้ บางคนใช้ชุดความคิดในการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ว่า รับร่างรัฐธรรมนูญไปก่อน ค่อยเลือกตั้งทีหลัง แต่ชุดประสบการณ์ดังกล่าวไม่สามารถใช้ได้กับการลงประชามติปี 2559
 
จตุภัทร์เบิกความยืนยันว่า จุดยืนของ NDM คือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เนื้อหาในเอกสารที่เผยแพร่ก็เอามาจากร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ซึ่งทางกลุ่มเอามานั่งวิเคราะห์ แล้วทำให้อ่านเข้าใจง่ายขึ้น พร้อมทั้งมีภาพประกอบสวยงาม
เกี่ยวกับเอกสาร “7 เหตุผล ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ” ซึ่งเป็นของกลางในคดี จตุภัทร์เบิกความว่า จัดทำขึ้นโดย NDM คำว่า “Vote No” หมายถึง ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีแนวคิดว่า ไม่รับกับอนาคตที่ไม่ได้เลือก ซึ่งเป็นจุดยืนของ NDM เนื้อหาในเอกสารแสดงเหตุผล 7 ข้อ ที่ไม่ควรรับร่างรัฐธรรมนูญ โดยสรุปมาจากร่างรัฐธรรมนูญ 2559 นั่นเอง

โดยเหตุผลข้อแรกที่ระบุว่า “เลือกคนที่ชอบ แต่ได้พรรคที่เกลียด” เป็นการกล่าวถึงวิธีการได้มาซึ่ง ส.ส. ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญ 2559 เขียนไว้แตกต่างไปจากเดิม เดิมมีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เลือก ส.ส. แบบแบ่งเขตและเลือกพรรค ทำให้ประชาชนมีสิทธิเลือกทั้งคนและพรรคที่ชอบ แต่ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 กำหนดให้ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ทำให้ประชาชนไม่สามารถเลือกบุคคล หรือนโยบายพรรคได้ วิธีการดังกล่าวนี้ ไม่ใช่วิธีใหม่ และไม่ใช่วิธีการที่ดี แต่เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการใช้สิทธิเลือกทั้ง ส.ส. ที่ดี และพรรคที่มีนโยบายเป็นประโยชน์ ซึ่งวิธีการเดิมเป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยมากกว่า ทำให้ผู้จะเป็นนายกรัฐมนตรีต้องต่อสู้ด้วยนโยบาย และ ส.ส. ต้องทำตัวให้เป็นที่ชื่นชอบ วิธีการได้มาซึ่ง ส.ส. นั้นปรากฏตามร่างรัฐธรรมนูญ 2559 มาตรา 83, 87, 90 และ 91
 
สำหรับเหตุผลข้อที่ 2 ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 มาตรา 144, 167 และ 168 กำหนดให้ปลัดกระทรวงแต่ละกระทรวงทำหน้าที่เป็น ครม.รักษาการ ในกรณีที่ ครม. พ้นตำแหน่งจากการแปรญัตติเรื่องงบประมาณ และปลัดกระทรวงเลือกกันเองเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ หลักการนี้จตุภัทร์เบิกความว่า ไม่เห็นด้วย เนื่องจากขัดกับหลักการประชาธิปไตย ที่คนซึ่งจะมาใช้อำนาจบริหารประเทศควรมาจากประชาชน

จตุภัทร์เบิกความอธิบายเหตุผลข้อที่ 3 ในเอกสาร “7 เหตุผลฯ” ว่า แม้ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 จะผ่านการลงประชามติ และประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแล้ว ม.44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ก็ยังมีผลใช้บังคับอยู่ คสช. ยังสามารถใช้อำนาจตาม ม.44 รวมทั้งประกาศ คำสั่ง ของ คสช. ที่ออกมาก่อนหน้านี้ก็ยังใช้บังคับอยู่ ปรากฏตามมาตรา 265 และเหตุผลข้อที่ 4 กรณีที่ไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเดิมรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 7 กำหนดให้วินิจฉัยไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 บัญญัติไว้ในมาตรา 5 ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระวินิจฉัยกรณีดังกล่าว

ไผ่อธิบายต่อว่า ในเหตุผลข้อที่ 5 กล่าวถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพ ซึ่งก็มีการเปลี่ยนแปลงไป ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ยังรับรองสิทธิเสรีภาพเท่าที่ไม่กระทบกับความมั่นคงของรัฐ การบัญญัติเช่นนี้ทำให้เจ้าหน้าที่หรือรัฐบาลตีความจำกัดสิทธิประชาชนได้มากขึ้น เช่น กลุ่มดาวดินไปชู 3 นิ้ว หรือชูป้ายข้อความคัดค้านรัฐประหาร และแสดงเหตุผลในการคัดค้านรัฐประหาร เจ้าหน้าที่ก็แปลความว่า การกระทำและป้ายข้อความเหล่านั้นเป็นภัยต่อความมั่นคง นอกจากนี้ ในเอกสาร “7 เหตุผลฯ” ยังยกตัวอย่างเรื่องสิทธิในการเรียนฟรี 12 ปี ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2550 และร่างรัฐธรรมนูญ 2559 มาตรา 54 กำหนดให้เรียนฟรี 12 ปี เหมือนกัน แต่แก้ไขให้เริ่มตั้งแต่อนุบาล จึงเรียนฟรีได้ถึงแค่ ม.3 ซึ่งแตกต่างจากเดิมที่เรียนฟรีได้ถึง ม.6 รัฐธรรมนูญที่ดีควรเพิ่มสิทธิให้กับประชาชน ไม่ใช่ลด เพื่อเป็นการพัฒนากฎหมาย
 
เหตุผลข้อที่ 6  เรื่องที่มาของ ส.ว. จตุภัทร์เบิกความตอบทนายจำเลยว่า ตามร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ใน 5 ปี แรก กำหนดให้ คสช. แต่งตั้ง ส.ว. 250 คน และล็อคไว้ให้ผู้บัญชาการ 4 เหล่าทัพ, ผบ.สส. และปลัดกระทรวงกลาโหม รวม 6 ตำแหน่ง เป็น ส.ว. โดยตำแหน่ง และจากคำถามพ่วงที่ระบุว่า ใน 5 ปีแรก ให้ ส.ว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเหล่านี้มีสิทธิโหวตเลือกนายกฯ ด้วย วิธีการเช่นนี้เป็นการออกแบบให้ คสช. ยึดเสียงข้างมากในรัฐสภาได้ เนื่องจาก ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งมี 500 คน คสช. มีเสียง ส.ว. อยู่ในมือแล้ว 250 เสียง หากมีเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.อีกเพียง 125 เสียง ก็จะกลายเป็นเสียงข้างมาก และสามารถดำเนินการในสิ่งที่ คสช. ประสงค์ได้โดยไม่ต้องยึดโยงกับประชาชน ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย  นอกจากนี้ เนื่องจาก ส.ส.มีวาระ 4 ปี ส่วน ส.ว.มีวาระ 5 ปี การกำหนดให้ใน 5 ปีแรก ส.ว.มีสิทธิโหวตเลือกนายกฯ จึงเท่ากับ ส.ว. ชุดแรกที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. จะโหวตเลือกนายกฯ ได้ 2 สมัย บริหารประเทศเป็นเวลา 8 ปี
 
จตุภัทร์เบิกความอธิบายเหตุผลข้อที่ 7 ซึ่งเป็นข้อสุดท้ายเกี่ยวกับที่มาของนายกรัฐมนตรีว่า ตามรัฐธรรมนูญ 2550 นายกฯ ต้องเป็น ส.ส. ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง แต่ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 กำหนดให้นายกฯ มาจาก ส.ส. ที่ได้รับการเลือกตั้งมา หรืออาจมาจากบุคคลภายนอกที่ไม่ได้เป็น ส.ส. ก็ได้ ซึ่งกรณีเช่นนี้ ประชาชนที่ไปใช้สิทธิก็จะไม่สามารถทราบล่วงหน้าว่า จะได้ใครเป็นนายกฯ และนอกจากเรื่องนายกฯ คนนอก กลุ่ม NDM ยังห่วงกังวลกรณีแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ คสช. วางไว้ โดยประชาชนไม่มีส่วนร่วม และร่างรัฐธรรมนูญ 2559 กำหนดให้พรรคการเมืองต้องกำหนดนโยบายตาม ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในปัจจุบัน นโยบายของรัฐบาลควรจะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพความเป็นจริงและความต้องการของประชาชน เดิมเรามีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นแผน 5 ปี ยังสร้างความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนเป็นอย่างมาก หากกำหนดแผน 20 ปี ทำให้รัฐบาลในภายหลังไม่สามารถกำหนดนโยบายตามสภาวะความเป็นจริง จะทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรง

เอกสาร “7 เหตุผลฯ” ยังระบุว่า มาตรา 219 ของร่างรัฐธรรมนูญ 2559 กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมควบคุมตุลาการและนักการเมือง ซึ่งจตุภัทร์เบิกความว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการก้าวก่ายอำนาจหน้าที่ของนักการเมือง ไม่ใช่การถ่วงดุลระหว่างกัน
 
ทนายจำเลยถามจตุภัทร์ซึ่งเบิกความเป็นพยานตนเองว่า หากมีใครไม่เห็นด้วยกับ 7 เหตุผลที่แสดงในเอกสาร สามารถโต้แย้งได้หรือไม่ จตุภัทร์ตอบว่า โต้แย้งได้
 
ต่อมา ไผ่ เบิกความถึงเอกสารของกลางชิ้นต่อไป คือ “แถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ” ว่า กลุ่ม NDM จัดพิมพ์โดยนำเนื้อหามาจากความเห็นของคณะนิติราษฎร์ ซึ่งเป็นคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เช่น อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล, อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์, อ.ธีระ สุธีวรางกูร เป็นต้น พร้อมทั้งอธิบายสาระสำคัญของเอกสารดังกล่าวในประเด็นที่กล่าวว่า “คสช. ถูกเสมอ” มีความหมายว่า คสช. เข้ายึดอำนาจ มีความผิดฐานเป็นกบฏ แต่ออกกฎหมายนิรโทษกรรมตัวเอง ส่วนประกาศ คำสั่ง คสช. ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 2559 เสมอ ตามที่ปรากฏในมาตรา 265 ในส่วนที่มีการกล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 เป็นรัฐธรรมนูญปราบโกงนั้น ความจริงเป็นเพียงแค่วาทกรรม ไม่สามารถปราบโกงได้จริง เนื่องจากการปราบโกงต้องอาศัยการตรวจสอบของภาคประชาชน และความร่วมมือจากหลายภาคส่วน
 
ทนายจำเลยที่ 1 ถามจตุภัทร์ว่า เนื้อหาอื่น ๆ  ในเอกสาร “แถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ฯ” สอดคล้องกับเอกสาร “7 เหตุผลฯ” พยานเบิกความไปแล้วหรือไม่ จตุภัทร์ตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยถามอีกว่า คณะนิติราษฎร์มีความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติโดยสรุปอย่างไร จตุภัทร์ตอบว่า ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยบุคคลอื่นสามารถแสดงความเห็นโต้แย้งได้
 
จำเลยที่ 1 เบิกความอีกว่า เอกสารของกลางชิ้นที่ 3 เป็นความเห็นแย้งต่อความเห็นของ กรธ. โดยเนื้อหาในเอกสารชิ้นนี้สอดคล้องกับเอกสาร “7 เหตุผลฯ” ซึ่งคนที่ไม่เห็นด้วยก็สามารถโต้แย้งได้เช่นเดียวกัน
 
จตุภัทร์กล่าวสรุปว่า NDM ทำการเผยแพร่ข้อมูลความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ โดยจัดทำเอกสารทั้ง 3 ชิ้น ตามที่เบิกความมาแล้ว มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญอย่างรอบด้าน ก่อนการลงประชามติ โดยเชื่อว่าประชาชนมีวิจารณญาณของตนเอง หากได้รับข้อมูลอย่างรอบด้านจากทั้งสองฝ่าย จะนำไปประกอบการตัดสินใจลงประชามติอย่างมีประสิทธิภาพ คะแนนเสียงที่ได้มาก็มีคุณภาพและมีความสมบูรณ์ เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสำคัญของประเทศ
 
ทนายจำเลยถามว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ประเทศเดินหน้าไม่ได้ กลุ่มดาวดินมีข้อเสนออะไร จตุภัทร์ตอบว่า ระหว่าง กรธ. ร่างรัฐธรรมนูญ ชาวบ้านก็ได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยกลุ่มดาวดินลงไปพูดคุยสอบถามชาวบ้าน แล้วเอาความคิดชาวบ้านมาแปลเป็นกฎหมาย ใช้ชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับสามัญชน เพื่อให้เห็นความแตกต่างระหว่างรัฐธรรมนูญที่ชนชั้นนำและ คสช. ร่าง กับที่ประชาชนร่าง อย่างไหนจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากกว่ากัน และเพื่อให้เห็นว่าเราไม่ได้แย้งอย่างเดียว แต่มีข้อเสนอด้วย เช่น เรื่องสิทธิทางการศึกษา ฉบับสามัญชนให้เรียนฟรีถึงมหาวิทยาลัย ประชาชนไม่ต้องเกณฑ์ทหาร รักษาพยาบาลฟรี เกษตรกรมีส่วนร่วมในการกำหนดราคาสินค้าเกษตร และห้ามไม่ให้มีการรัฐประหาร เป็นต้น มีการประกาศรัฐธรรมนูญฉบับสามัญชนต่อสาธารณะที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อต้นปี 2559
 
ทนายจำเลยที่ 1 ถามอีกว่า โจทก์นำเอกสารทั้ง 3 ฉบับมาฟ้อง กล่าวหาว่าเป็นข้อความผิดข้อเท็จจริง มีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม ข่มขู่ พยานเห็นว่า เอกสารทั้ง 3 ฉบับมีลักษณะเช่นนั้นหรือไม่ จตุภัทร์ตอบว่า ไม่ เพราะข้อมูลก็เอามาจากตัวบทของร่างรัฐธรรมนูญ 2559
 
โดยเอามาตีความและอธิบายให้ง่าย ในชั้นพิจารณา จึงยืนยันปฏิเสธ จากเหตุผลข้างต้น โดยยืนยันว่า ได้ใช้สิทธิตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ประชามติฯ ที่บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย, ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR ข้อ 19 ที่รับรองว่า ทุกคนมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง และมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก แสวงหา รับและเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสาร และความคิดทุกประเภท โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน รวมทั้งรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 4 ที่ระบุว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค ที่ประชาชนเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครอง

ทนายจำเลยที่ 2 แถลงไม่ถามพยานจำเลยปากนี้
 
ตอบโจทก์ถามค้าน
 
จตุภัทร์ ตอบคำถามค้านของอัยการโจทก์ว่า จบคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เข้าร่วมกิจกรรมกับ NDM ซึ่งมีจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดย NDM เป็นผู้ผลิตเอกสาร ทั้ง 3 ฉบับ ตามที่ปรากฏอยู่ด้านล่างของแผ่นพับ และหน้าปกของ “แถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ฯ” และ “ความเห็นแย้งฯ” แต่เอกสารที่พยานนำไปแจกให้ประชาชนในวันที่ 6 สิงหาคม 59 ที่ตลาดสดเทศบาลภูเขียว มีเฉพาะ “7 เหตุผลฯ” เพราะสั้นกะทัดรัด เข้าใจง่ายกว่า ส่วนเอกสารอีก 2 ฉบับ พยานนำติดไปด้วยเท่านั้น
 
จตุภัทร์ตอบโจทก์ถามค้านต่อไปว่า ได้ให้การกับพนักงานสอบสวนตามที่ปรากฏในบันทึกคำให้การชั้นสอบสวน (หมาย จ.15) ซึ่งมีข้อความที่พนักงานสอบสวนถามว่า ของกลางในคดีนี้ได้มาอย่างไร และพยานตอบว่า เป็นเอกสารที่เหลือมาจากการจัดงานพบปะพูดคุยเรื่องรัฐธรรมนูญที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2559
 
โจทก์ถามจตุภัทร์อีกว่า เอกสารทั้ง 3 ฉบับ พยานได้ดูก่อนแจกแล้วใช่หรือไม่ จตุภัทร์ตอบว่า ใช่ โจทก์จึงถามค้านในรายละเอียดของเอกสารชิ้นแรก (หมาย จ.7) ว่า มุมบนขวามีข้อความว่า 7 เหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ วงกลมสีน้ำเงินตัวใหญ่มีคำว่า vote no ไม่รับกับอนาคตที่ไม่ได้เลือก 7 สิงหา 59 ประชามติเพื่ออนาคต ตัวใหญ่ เห็นได้ชัดเจน ในระยะไกล ด้านหลังเอกสาร ตรงกลางด้านบน มีข้อความ 7 เหตุผล ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และมีเหตุผล 7 ข้อ ในการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ตามที่พยานอธิบายไปแล้ว พร้อมทั้งมีกราฟฟิกเป็นรูปทหารกำลังกินพานรัฐธรรมนูญ เป็นภาพใหญ่เห็นได้ชัดเจนใช่หรือไม่ ซึ่งจตุภัทร์รับว่า ใช่ตามที่โจทก์ถามทั้งหมด
 
โจทก์ถามเกี่ยวกับแผ่นพับ “7 เหตุผลฯ” ต่อไปอีกว่า เอกสารดังกล่าวกับเหตุผลที่พยานอธิบาย แสดงว่า ทหารใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ จตุภัทร์ตอบว่า ตั้งแต่รัฐประหารมาทหารก็ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญมาตลอด
 
โจทก์ถามค้านเหตุผลที่อธิบายในเอกสารที่ว่า เลือกคนที่ชอบ แต่ได้พรรคที่เกลียด จริงๆ แล้วเป็นไปได้ที่จะได้ทั้งคนทั้งพรรคที่ชอบใช่หรือไม่ จตุภัทร์ตอบว่า ความเห็นส่วนตัวคือ เป็นไปไม่ได้ แต่ในอนาคตหากมีการเลือกตั้งก็อาจเป็นไปได้ทั้งสองกรณี
 
กรณีสิทธิในการศึกษา โจทก์ถามค้านพยานจำเลยว่า ที่ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 กำหนดให้เรียนฟรีตั้งแต่ชั้นอนุบาล เพราะค่าใช้จ่ายในการเรียนอนุบาลแพงกว่าใช่หรือไม่ จตุภัทร์ตอบว่า ไม่ใช่ รัฐแค่ต้องการลดภาระในการดูแลเรื่องการศึกษาของประชาชน โจทก์ถามต่อว่า ที่พยานตอบเช่นนี้เพราะพยานไม่ทราบว่า ค่าใช้จ่ายในการเรียนชั้นอนุบาลแพงกว่าใช่หรือไม่ จตุภัทร์ยืนยันว่า ไม่ใช่ ถ้ารัฐบาลเป็นห่วงว่าชั้นอนุบาลมีค่าใช้จ่ายสูงก็ควรกำหนดให้เรียนฟรีตั้งแต่อนุบาลจนถึง ม.6 จะเป็นประโยชน์มากกว่า
 
อัยการถามค้านในประเด็นนายกฯ คนนอกว่า นายกฯ คนนอกก็อาจเป็นคนดี บริหารประเทศเก่งก็ได้ใช่หรือไม่ จตุภัทร์ตอบว่า ไม่ใช่ ปัจจุบันก็อ้างวาทกรรมคนดี แต่ไม่มีระบบตรวจสอบ คนดีก็อาจไม่ดีจริง รัฐธรรมนูญที่ดีจึงต้องสร้างระบบตรวจสอบ เพื่อให้ตรวจสอบทั้งคนดีและคนไม่ดี หากได้นายกฯ ที่ไม่ดีก็สามารถโค่นล้ม และเลือกตั้งใหม่ได้
 
โจทก์ถามจตุภัทร์ในฐานะพยานจำเลยว่า ที่พยานตอบคำถามค้านมาทั้งหมดนี้มุ่งโจมตี คสช. และทหารใช่หรือไม่ จตุภัทร์ตอบว่า ไม่ใช่ พยานไม่ได้มุ่งโจมตีหรือเกลียดทหาร แต่เป็นเพราะ คสช. เป็นทหาร แต่เข้ามาทำหน้าที่แทรกแซงการบริหารประเทศ ไม่ทำตามบทบาทหน้าที่ของตนตามปกติ พยานจึงต่อต้าน เมื่อความอยุติธรรมเป็นกฎหมาย การต่อต้านจึงเป็นหน้าที่ของประชาชน
 
โจทก์ถามค้านสรุปว่า แผ่นพับ “7 เหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ” เป็นการบืดเบือนข้อเท็จจริงหรือไม่ จตุภัทร์ตอบว่า ไม่ใช่ เพราะเหตุผลที่ปรากฏในแผ่นพับก็มาจากร่างรัฐธรรมนูญ
เกี่ยวกับเอกสาร “แถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ฯ” จตุภัทร์ตอบโจทก์ถามค้านรับว่า ในแผ่นแรกด้านหลัง ซึ่งเป็นคำนำมีข้อความระบุว่า “ขบวนการประชาธิปไตยใหม่จึงได้นำข้อความคิดของคณะนิติราษฎร์: นิติศาสตร์เพื่อราษฎร มาจัดทำเป็นคู่มือฉบับนี้ขึ้น เพื่อให้ประชาชนเห็นข้อมูลอีกด้านหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นว่า หากรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้วจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศไทยอย่างไร” และในย่อหน้าสุดท้ายเขียนว่า “ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ขอแสดงจุดยืนว่า ประชาชนต้องเป็นผู้กำหนดอนาคตของตนเอง แม้ในวันนี้ประชาชนจะยังไม่สามารถเลือกตัวแทนขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญเองได้ แต่ประชาชนก็ยังมีช่องทางในการกำหนดอนาคตของตนเองโดยการลงประชามติ ซึ่งหากประชาชนเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวจะนำพาประเทศและประชาชนไปสู่ความเสียหายมากกว่าที่จะเป็นความเจริญรุ่งเรืองแล้ว ก็ควรที่จะลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้นเสีย”
 
ใช่ตามที่โจทก์ให้ดู พร้อมทั้งรับว่า รูปภาพประกอบ NDM ก็ทำขึ้นเอง ไม่ใช่นิติราษฎร์ทำ รวมทั้งภาพในหน้า 7 ที่มีตัวหนังสือว่า “ข้าพเจ้า ‘ถูก’ เสมอ” และหน้า 31 ที่เป็นรูปหมวกทหาร มีข้อความว่า ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยจัดทำขึ้นจากข้อเท็จจริงที่เห็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม

อัยการถามค้านถึงเอกสาร “ความเห็นแย้งฯ” จตุภัทร์เบิกความตอบว่า เป็นความเห็นแย้งกับคำอธิบายร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ. ซึ่งย่อหน้าสุดท้ายมีข้อความว่า “รัฐอาจกล่าวว่าคู่มือฉบับนี้ขัดต่อกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ แต่เราก็จะขอยืนยันในเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน” จริง ซึ่งอาจกล่าวว่า ทุกครั้งที่เราใช้เสรีภาพในการแสดงออก รัฐก็กล่าวหาว่าผิดกฎหมาย
 
โจทก์ถามค้านต่อไปว่า เอกสารทั้ง 3 ฉบับ เป็นการสรุปข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ ไผ่ตอบว่า ไม่ใช่ เป็นการสรุปข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นเหตุผลที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ โจทก์ถามต่อว่า ไม่ได้พูดถึงข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญเลยใช่มั้ย ไผ่ตอบว่า ไม่ได้มองแค่ว่าอะไรดีหรือไม่ดี แต่พยายามมองว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากร่างนี้ผ่าน และประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญ
 
โจทก์ถามอีกว่า นอกเหนือจากที่กล่าวถึงในเอกสารทั้ง 3 ฉบับ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ดีหมดใช่หรือไม่ จตุภัทร์ตอบว่า กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญเป็นส่วนสำคัญ ซึ่งต้องการการมีส่วนร่วม เมื่อกระบวนการผิดตั้งแต่ต้นผลที่ได้ก็ไม่ดี เมื่อต้นไม้เป็นพิษ ผลไม้ก็เป็นพิษ ถ้าปล่อยให้กระบวนการผิดๆ เดินต่อไปก็เป็นการสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองที่ไม่ดี หากไม่รับร่างรัฐธรรมนูญแต่แรกก็เป็นการสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองที่ดี โจทก์ถามต่อว่า ถ้าเช่นนั้น มาตรา 1 ที่บัญญัติว่า ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้ และมาตรา 2 ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็ถือเป็นผลไม้พิษใช่หรือไม่ จตุภัทร์ตอบว่า พยานพูดถึงที่มาของร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เจาะจงมาตราใดมาตราหนึ่ง
 
อัยการตั้งคำถามต่อว่า ส่วนตัวพยานไม่รับร่างใช่หรือไม่ ไม่อยากให้ร่างนี้ผ่านใช่หรือไม่ จตุภัทร์ตอบว่า ใช่ อัยการจึงถามต่อว่าที่พยานไปแจกเอกสารเพราะไม่ต้องการให้ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ จตุภัทร์ตอบว่า ไม่ใช่ พยานเป็นลูกหลานของภูเขียว จะมาลงประชามติที่บ้านก็อยากเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญให้เขาได้รับข้อมูลหลายด้าน
 
จตุภัทร์เบิกความตอบโจทก์ซึ่งถามเกี่ยวกับคดีที่ยกฟ้องที่ราชบุรีว่า จำไม่ได้ในรายละเอียดว่า เจ้าหน้าที่ค้นพบสติ๊กเกอร์โหวตโนในรถหรือไม่ จำได้แต่ว่านอกจากสติ๊กเกอร์แล้วยังมีเอกสารอื่นด้วย ส่วนที่โจทก์ถามว่า พยานไม่มีเหตุขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ที่จับกุมใช่หรือไม่ จตุภัทร์ตอบว่า มีเหตุขัดแย้งกับกำนันบุญร่วม เรื่องการตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์ตามที่กำนันเบิกความไปแล้ว แต่ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ
 
ตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามติง
 
จตุภัทร์เบิกความตอบทนายเกี่ยวกับที่เบิกความไปว่า เลือกคนที่ชอบได้พรรคที่เกลียด หมายถึงวิธีกาบัตรและวิธีการคำนวณตามมาตรา 91 ของร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งทำให้เลือกคนแต่ไม่ได้พรรคโดยแปรผกผันกัน ส่วนที่โจทก์ถามเรื่องนายกฯ ว่าอาจจะได้คนดีก็ได้ ที่จริงคนที่จะตัดสินว่า เป็นคนดีหรือไม่ดีคือประชาชน ดังนั้น คนที่อ้างว่าเป็นคนดี ถ้าอยากเป็นนายกฯ ก็ควรมาลงเลือกตั้ง ส่วนที่พยานตอบโจทก์ไปว่า NDM เป็นผู้ทำภาพประกอบในเอกสาร “แถลงการณ์คณะนิติราษฎร์” เองนั้น ที่จริงเอกสารสรุปสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญของ กกต. ก็มีภาพวาดที่ไม่ได้ปรากฏอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน การวาดก็ไม่ได้แตกต่างกันเลย นอกจากนี้ เอกสารที่ กกต. จัดทำแจกจ่ายแม้ไม่มีข้อความบอกให้รับร่างหรือบอกว่า เป็นข้อดี แต่อ่านรวมๆ ตามที่ทนายจำเลยให้ดูแล้ว เอกสารนี้ก็บอกแต่ข้อดีซึ่งแปลความได้ว่า ให้รับร่างรัฐธรรมนูญ
 
จตุภัทร์เบิกความตอบทนายจำเลยถามติงอีกว่า การทำประชามติครั้งนี้เป็นการทำประชามติให้ร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ไม่ใช่เฉพาะบางมาตรา การเลือกว่า จะรับหรือไม่รับต้องดูที่ที่มา ประกอบกับสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ดูแค่ว่ามีข้อดีมากกว่าข้อเสียหรือไม่ ซึ่งข้อกำหนดเรื่องที่มาของ ส.ส., ส.ว., นายกฯ, องค์กรอิสระ และสิทธิเสรีภาพ เป็นสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนที่โจทก์ยกบทบัญญัติมาตรา 1 และมาตรา 2 ของร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาถามว่า ถือเป็นผลไม้พิษใช่หรือไม่ ที่จริงแล้วมาตรา 1 และมาตรา 2 รวมทั้งมาตรา 7 มีบัญญัติอยู่ในทุกรัฐธรรมนูญ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วก็ไม่ควรถกเถียงกันเรื่องนี้
ทนายจำเลยที่ 2 แถลงต่อศาลว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีส่วนรู้เห็นเรื่องการจัดทำเอกสารจึงไม่ประสงค์จะสืบจำเลยที่ 2 เป็นพยาน


27 กุมภาพันธ์ 2561
 
นัดสืบพยานจำเลย

พยานจำเลยปากที่ 2 ธีระ สุธีวรางกูร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ธีระเริ่มเบิกความต่อทนายจำเลยที่ 2 ว่า จบการศึกษาระดับปริญญาโทจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 
ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สอนวิชากฎหมาย ระบบศาลและหลักทั่วไปว่าด้วยการพิจารณาคดี วิชาศาลรัฐธรรมนูญ และวิธีพิจารณาคดีในศาลรัฐธรรมนูญ และวิชากฎหมายปกครอง เริ่มทำงานตำแหน่งอาจารย์ตั้งแต่เดือนกันยายน 2543
 
ธีระตอบคำถามทนายว่า เป็นหนึ่งในบุคคลที่ก่อตั้งกลุ่มดังกล่าว กลุ่มนิติราษฎร์ประกอบไปด้วยตัวเขาเอง ดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา, ดร.ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล, อ.ปูนเทพ ศืรินุพงศ์, ดร.ปิยะบุตร แสงกนกกุล, ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ และอ.สาวตรี สุขศรี เหตุของการก่อตั้งกลุ่มนิติราษฎร์ เนื่องจากตั้งแต่ปี 2549 – 2554 มีการทำลายหลักนิติรัฐและนิติธรรม ดังนั้นกลุ่มนิติราษฏร์จึงแสดงความคิดเห็นเพื่อให้สาธารณชนรับรู้ว่าสถานการณ์ของประเทศเป็นอย่างไรและหลักนิติรัฐนิติธรรมมีความจำเป็นและสำคัญอย่างไรต่อประเทศชาติ
 
กลุ่มนิติราษฎร์แสดงจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 พร้อมเหตุผลที่ไม่รับร่าง และแสดงออกทางสื่อสิ่งพิมพ์รวมทั้งโทรทัศน์และอีกหลายช่องทาง
เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 กลุ่มนิติราษฎร์แสดงความไม่เห็นด้วยตั้งแต่กระบวนการได้มาของร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมาจากรัฐประหาร 2557
 
ด้านเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ ธีระเบิกความว่า เรื่องสิทธิเสรีภาพ รัฐธรรมนูญฉบับนี้จำกัดสิทธิมาก และระบุเนื้อหาเชิงนามธรรม ทำให้ตีความได้กว้าง ซึ่งอาจจะผิดไปจากความมุ่งหมายและเจตารมณ์ของรัฐธรรมนูญได้ง่าย
 
เกี่ยวกับวิธีการได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ร่างกำหนดให้ประชาชนเลือกตั้งด้วยบัตรใบเดียว เป็นการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต และ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ กรณีดังกล่าวเป็นการไม่สะท้อนถึงเจตน์จำนงแท้จริงของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
นอกจากนี้สำหรับสมาชิกวุฒิสภาหรือ ส.ว.แม้จะให้สรรหาจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่ท้ายที่สุดแล้ว ส.ว. ต้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เป็นคนคัดเลือกในขั้นตอนสุดท้าย ดังนั้นจึงถือว่า ส.ว. มาจากการคัดเลือกของ คสช. ซึ่งจะง่ายในการสืบทอดอำนาจ
 
เกี่ยวกับอำนาจของ คสช. ตามร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 กำหนดไว้ในมาตรา 265 วรรคสอง ให้หัวหน้า คสช. มีอำนาจใช้มาตรา 44 ซึ่งมีอำนาจเหนือคณะนิติบัญญัติ, คณะบริหาร และตุลาการ อำนาจดังกล่าวยังถูกทำให้ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการทำลายหลักนิติรัฐ คือ หลักการตรวจสอบถ่วงดุล
 
ธีระเบิกความต่อว่า เกี่ยวกับนโยบายปกครองประเทศ จะกำหนดในรัฐธรรมนูญก็ได้ แต่โดยหลักสากลแล้วจะกำหนดไว้ในหลักกว้างๆ แต่ในร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 กำหนดนโยบายตามแผนปฏิรูปประเทศ 20 ปี ดังนั้น หากมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในยุคต่อๆ มา ย่อมมีความยากลำบากในการกำหนดนโยบาย ตามความต้องการของประชาชน อาจไม่สามารถทำได้ เพราะอาจขัดแย้งกับแผนปฏิรูปประเทศ 20 ปี ที่กำหนดไว้แล้วเท่านั้น
 
ส่วนที่ระบุว่าร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 เป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงนั้น ธีระและกลุ่มนิติราษฎร์เห็นว่าเป็นเพียงวาทกรรมที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เนื่องจากกฎหมายรัฐธรรมนูญว่าด้วยอำนาจสูงสุดและเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ และความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับประชาชนเท่านั้น การปราบรามทุจริตคอร์รัปชั่น มักจะบัญญัติไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เช่น พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ การกำหนดไว้ว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2559 คือฉบับปราบโกง จึงไม่เป็นความจริง
 
อีกทั้งร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 หากลงประชามติผ่านไปแล้ว ทางคณะนิติราษฎร์เห็นว่า การแก้ไขภายหลังยากมาก แทบเป็นไปไม่ได้เลย เนื่องในวาระแรก หากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์หรือ ส.ส. ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง เห็นว่าควรจะแก้ไข จะผ่านวาระแรกได้ แล้วต้องได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบจากสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งมาจากการคัดเลือกหรือแต่งตั้งของ คสช. ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม
 
ถึงจะผ่านวาระแรกและรับหลักการได้ และท้ายที่สุดการลงมติต้องได้คะแนนเสียงจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์หรือ ส.ส. ฝ่ายที่ไม่ได้เป็นรัฐบาลไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ซึ่งทั้งสองเงื่อนไข แทบจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย  
ธีระย้ำว่า จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ก็เพียงพอที่คณะนิติราษฎร์จะมีความเห็นว่าไม่ควรรับร่างรัฐธรรมนูญปี 2559
หลังจากคณะนิติราษฎร์ออกแถลงการณ์ประเด็นดังกล่าวไปแล้ว ก็มีหลายกลุ่มที่มาขออนุญาตนำหลักการและเหตุผลไปตีพิมพ์และเผยแพร่
 
ตามเอกสารที่โจทก์อ้างว่าจำเลยแจกจ่าย เป็นแถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ จัดทำโดยกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ธีระรับว่า เคยเห็นเอกสารดังกล่าว และเนื้อหาสาระไม่ได้บิดเบือนไปจากข้อเท็จจริงที่ได้แถลงออกไป
 
ทนายถามว่า ที่พยานประกาศจุดยืนหรือเผยแพร่เอกสารดังกล่าวเกี่ยวกับการรับหรือไม่รับร่างรับธรรมนูญ ทำได้หรือไม่ ธีระตอบว่า ทำได้ เนื่องจากบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
 
เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ซึ่งรับรองไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้กฎหมายรัฐธรรมนูญทุกฉบับ ก็รับรองไว้ เช่นมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557, มาตรา 7 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯ ที่บอกรวมๆ ไว้ว่า บุคคลสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย จากหลักการดังกล่าว ประชาชนควรมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เนื่องจากเป็นการติชมร่างกฎหมายของรัฐ ที่รัฐต้องเคารพและรับฟังความเห็นของประชาชน

ตอบโจทก์ถามค้าน
 
อัยการถามว่าจากเอกสารแถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ กลุ่มประชาธิปไตยใหม่ได้วาดภาพเพิ่มเติม และในหน้าสุดท้ายเขียนว่า ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ใช่หรือไม่ ธีระตอบว่า ใช่ เห็นตามภาพที่ให้ดู และในแผ่นแรกด้านหลังในส่วนของคำนำ ระบุข้อความว่า “ขบวนการประชาธิปไตยขอแสดงจุดยืนว่าประชาชนต้องเป็นผู้กำหนดอนาคตของตนเอง แม้ในวันนี้ประชาชนจะยังไม่สามารถเลือกตัวแทนขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญเองได้
 
แต่ประชาชนก็ยังมีช่องทางกำหนดอนาคตตัวเอง โดยการลงประชามติ” “หากประชาชนเห็นว่า รัฐธรรมนูญดังกล่าวจะนำพาประเทศไปสู่ความเสียหาย ควรลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ” ข้อความดังกล่าวถูกเขียนเพิ่มเติมโดยกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ แต่ก็มีเนื้อหาวัตถุประสงค์เดียวกับกลุ่มนิติราษฎร์ ใช่หรือไม่ ธีระ ตอบว่าใช่ แต่ท้ายที่สุดแล้วผู้ที่อ่านเอกสารดังกล่าวจะไปลงประชามติอย่างไร แล้วแต่ดุลพินิจของประชาชนคนนั้นๆ
 
อัยการถามอีกว่า การแสดงสิทธิและเสรีภาพต้องกระทำโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย และไม่กระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นด้วยใช่หรือไม่ ธีระตอบว่า การจำกัดสิทธิเสรีภาพ จะกระทำได้ต้องมีกฎหมายให้อำนาจ กฎหมายที่จะไปจำกัดเสรีภาพของประชาชน ต้องเพื่อประโยชน์แก่สาธารณะ ต่อความมั่นคงของประเทศ ต้องกระทำเท่าที่จำเป็น
โจทก์ถามว่า
 
การที่รัฐออกพ.ร.บ.ประชามติฯ มีมาตรา 61 เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ หรือไม่ ธีระตอบว่าไม่ใช่ เพราะรัฐบาลต้องอธิบายให้ได้ว่าบทบัญญัติดังกล่าวเกี่ยวกับความมั่นคงอย่างไร ความเห็นส่วนตัวเห็นว่า ไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผล หากจะสอดคล้องด้วยเหตุผล ต้องเป็นภาวะสงคราม หรือเกิดเหตุจลาจล จนมีประกาศกฎอัยการศึกหรือในภาวะฉุกเฉินที่บ้านเมืองไม่ปลอดภัยอย่างยิ่ง เช่นนี้รัฐบาลสามารถออกกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐได้ว่า ห้ามโฆษณาหรือเผยแพร่แสดงความคิดเห็นใดๆ แต่คดีนี้เป็นเรื่องการลงประชามติ เป็นภาวะของบ้านเมืองปกติ ดังนั้นมาตรา 61 ของพ.ร.บ.ออกเสียงประชามติฯ จึงไม่เป็นกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคง
 
อัยการถามอีกว่า ที่รัฐตรากฎหมาย พ.ร.บ.ประชามติฯ เพื่อให้การออกเสียงเป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย ใช่หรือไม่ ธีระตอบว่า ใช่

ตอบทนายถามติง
 
ธีระ ตอบคำถามว่า เอกสารแถลงการณ์นิติราษฎร์ที่กลุ่มประชาธิปไตยใหม่จัดทำนั้น ระบุว่า ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ตรงกับจุดยืนของคณะนิติราษฎร์และข้อความประกอบไม่ผิดไปจากสาระสำคัญที่คณะนิติราษฎร์แถลงไว้ และยืนยันว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นที่ประชาชนทั่วไปทำได้
 
ทั้งนี้เอกสารอื่นๆ ในคดีนี้ ก็ไม่ปรากฏข้อความส่วนใดที่ไปกระทบต่อร่างกาย เสรีภาพ หรือชื่อเสียงของบุคคลอื่นหรือชักชวนให้ประชาชนต่อต้านอำนาจของรัฐ




พยานจำเลยปากที่ 3 ชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์
 
ชำนาญเริ่มเบิกความว่า จบปริญญาตรีจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโทจากคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นอกจากนี้ยังจบปริญญาตรีจากนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช  ชำนาญมีประสบการณ์สอนทั้งรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และที่อื่นๆ ปัจจุบันเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์ของประเทศไทย ของมหาวิทยาลัยโกเทนเบิร์ก ประเทศสวีเดน
 
เกี่ยวกับการทำประชามติ ชำนาญเบิกความว่า เมื่อปี 2555 เคยไปเป็นแขกของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เพื่อสังเกตการณ์การเลือกตั้งประธานาธิบดี และก่อนการเลือกตั้งครั้งนั้น มีการทำประชามติด้วย และการออกเสียงจะมีอยู่ 2 แบบใหญ่ คือ
 
1.เลือกตั้งทั่วไป เช่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หรือเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาหรือ (ส.ว.) เป็นการเลือกตั้งแบบตัวแทน 2. การออกเสียงประชามติ เป็นการออกเสียงประชาธิปไตยแบบทางตรง  
 
ทั้งนี้การออกเสียงประชามติ จะทำในสิ่งสำคัญของประเทศ เช่น นโยบายสำคัญของรัฐบาล หรือกฎหมายสำคัญ เช่น รัฐธรรมนูญ
 
โดยหลักทั่วไปการลงประชามติ รัฐบาลต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิรณรงค์เต็มที่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงประชามติในเรื่องนั้นๆ และด้วยเหตุผลอะไร
ส่วนการออกเสียงประชามติของประเทศไทยนั้น กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2492 แต่ไม่เคยได้ใช้จนกระทั่ง การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 และเกี่ยวกับคดีนี้ ส่วนที่มีปัญหา คือ การร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 นับเป็นการออกเสียงประชามติครั้งที่ 2
 
ชำนาญย้อนเล่าว่า การออกเสียงประชามติปี 2550 บรรยากาศเปิดกว้างกว่าปี 2559 อย่างมาก เปิดให้รณรงค์ออกทั้งโทรทัศน์และสื่อต่างๆ อย่างกว้างขวาง
ส่วนการออกเสียงประชามติปี 2559 มีข้อจำกัดมาก เช่น การออกสื่อต่างๆ และทางด้านกฎหมายก็มีพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯ  
 
ด้านคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช. แต่งตั้งคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญโดยมี บวรศักดิ์  อุวรรณโณ เป็นประธานกรรมการ เมื่อร่างเสร็จได้เสนอสภาปฏิรูปแห่งชาติ แต่ไม่ผ่าน ต่อมาแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ โดยมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธานร่างฯ
 
ที่มาของ ส.ส.ในร่างรัฐธรรมนูญ 2559 นั้น ไม่มีที่ไหนในโลกทำมาก่อน เนื่องจากการเลือกตั้ง ส.ส.ทั้งบุคคลและพรรค กำหนดให้เลือกตั้งในบัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว และกากบาทเลือกได้ครั้งเดียว การเลือกตั้งแบบนี้จะสะท้อนความต้องการของประชาชนได้น้อยกว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมา จึงขัดกับความเป็นจริง
 
เพราะหากเป็นเช่นนั้น ก็ควรกำหนดให้เหมือนต่างประเทศที่ให้มีเพียงการเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตทั่วประเทศ โดยตัดการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อออกไป หรือไม่ก็ไม่มีการเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต แต่ให้มีการเลือกแบบ ส.ส.บัญชีรายชื่อทั้งหมด จากนั้นเมื่อได้แล้วค่อยมาคำนวณสัดส่วน
ด้านที่มาของ ส.ว. ทั้งหมด 250 คน เป็นไปโดยตำแหน่ง 6 คน คือ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และปลัดกระทรวงกลาโหม และอีก 194 คน คสช. แต่งตั้ง สรุปแล้วทั้ง 250 คน ในส.ว.ชุดแรก ในเวลา 5 ปี ต้องมาจากการแต่งตั้งของ คสช.
 
ตามรัฐธรรมนูญ 2559 การให้สิทธิ ส.ว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ร่วมออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. จะขัดกับหลักสากลที่ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน
 
นอกจากนี้ ที่มาของนายกรัฐมนตรียังกำหนดให้พรรคการเมืองเสนอชื่อ 3 คน ว่า ถ้าได้รับเลือกตั้งแล้วจะเสนอทั้ง 3 คนนี้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งสามคนนี้อาจจะเป็น ส.ส. หรือบุคคลใดก็ได้ นอกจากนี้หากบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอมา 3 คนนี้ ไม่ได้รับการคัดเลือก ก็มีสิทธิเสนอบุคคลอื่นนอกเหนือจากนี้มาก็ได้ สรุปแล้ว บุคคลจะได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. มาก่อนก็ได้ หรือที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “นายกฯคนนอก”
ชำนาญเบิกความต่อว่า ร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 กำหนดให้อำนาจของ คสช. หมดไป
 
เมื่อมีรัฐบาลชุดใหม่ขึ้นมา แต่การที่รัฐบาลชุดใหม่ขึ้นมาจะมีปัญหาตามที่กล่าวไว้ข้างต้น คือ ถ้าบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอรายชื่อมาครั้งแรก 3 คน ไม่ผ่านการคัดเลือก บุคคลที่จะถูกเสนอชื่อใหม่ ต้องมีคะแนนเสียงในรัฐสภา (ส.ส.และส.ว.) รวมกันแล้ว 2 ใน 3 ถึงจะเสนอชื่อได้ ส.ส. มี 500 คน ส.ว.มี 250 คน ดังนั้น 2 ใน 3 คือ 500 คน ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีคะแนนเสียงมากขนาดนี้ ทำให้ติดล็อคตามเงื่อนไข และเดินต่อไปไม่ได้ ทำให้ คสช. จะยังอยู่ต่อไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ได้ และขยายกรอบเวลาการอยู่ในอำนาจต่อไป
 
ทั้งนี้ประกาศและคำสั่งต่างๆ กฎหมายต่างๆ ที่ออกโดย คสช. ก็ยังคงมีอยู่ จนกว่าจะมีพระราชบัญญัติมายกเลิกในภายหลัง
และในร่างรัฐธรรมนูญ 2559
 
กำหนดไว้ในมาตรา 5 ว่า หากมีปัญหาที่รัฐธรรมนูญไม่มีบัญญัติทางออกไว้ ให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เรียกฝ่ายนิติบัญญัติและตุลาการทั้งองค์กรอิสระอื่นๆ มาประชุมกัน หากมีข้อวินิจฉัยอย่างไรให้ปฏิบัติตามนั้น ซึ่งแตกต่างจากรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ที่กำหนดให้วินิจฉัยไปตามประเพณีการปกครอง อย่างไรก็ดีต่อมาเมื่อมีการผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้วจะแก้ไขเกี่ยวกับมาตรานี้ ให้กลับไปใช้เหมือนเดิมตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2550
 
ชำนาญเบิกความถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพที่เปลี่ยนไปอย่างมาก โดยสรุปแล้วร่างรัฐธรรมนูญมุ่งจำกัดเสรีภาพของประชาชน แล้วกลับเพิ่มอำนาจของรัฐและข้าราชการให้มากขึ้น มีประเด็นที่สำคัญอีก 2 อย่างที่น่าเป็นห่วง คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำได้ยาก ถึงขนาดทำไม่ได้เลย และสอง แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่กำหนดไว้โดย คสช. ซึ่งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต่อๆ มา หากไม่ทำตามจะต้องมีโทษ ทำให้ ส.ส. ในคราวต่อๆ มาไม่สามารถหาเสียงได้ว่าเมื่อเข้ามาแล้วจะทำอะไรบ้าง เพราะต้องทำตามยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้
การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของประชาชน ย่อมทำได้ ในเมื่อรัฐบาลสามารถรณรงค์ให้รับร่างรัฐธรรมนูญได้ก็เป็นลักษณะในทางกลับกันว่า ประชาชนที่ไม่เห็นด้วย ย่อมรณรงค์ให้ไม่รับได้
 
อย่างของตนจะใส่เสื้อยืดคำว่า “โหวตโน” และโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กไว้ด้วย สิ่งที่ พ.ร.บ.ประชามติฯ ห้ามไว้ คือ มิให้รณรงค์โดยการปลุกระดมหรือปลุกเร้า ใช้ข้อความเป็นเท็จ เกินความเป็นจริงหรือข่มขู่ ชำนาญเบิกความอีกว่า ที่จำเลยทั้งสองแจกเอกสารให้ประชาชน เป็นเพียงความเห็น และหลังจากผ่านการออกเสียงประชามติแล้ว หลายๆ อย่างในเอกสารที่แจกก็เป็นความจริง
ทั้งนี้เอกสารที่จำเลยแจก ไม่มีข้อความที่ก้าวร้าว ปลุกระดม หรือข่มขู่ แต่อย่างใด เป็นการรณรงค์ให้ความรู้และให้ความเห็นกับประชาชนว่า ฝ่ายที่รณรงค์ไม่รับร่าง มีเหตุผลดังนี้ และบุคคลใดที่ไม่เห็นด้วยกับเอกสารดังกล่าวย่อมโต้แย้งได้ นอกจากนี้บุคคลผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปย่อมมีวิจารณญาณที่จะอ่านเอกสารเพื่อตรวจสอบและไม่ถูกชักจูงได้เพียงเอกสารที่จำเลยแจก


ตอบโจทก์ถามค้าน
 
อัยการโจทก์เริ่มถามชำนาญว่า ในการร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 ตนได้รับเชิญจากนักวิชาการและสื่อมวลชนให้ไปแสดงความคิดเห็นต่อร่างฯ แต่ไม่ได้เป็นคณะกรรมการหรืออนุกรรมการในคณะร่างรัฐธรรมนูญ
 
ชำนาญตอบคำถามยืนยันว่า ตามรัฐธรรมนูญปี 2559 การเลือกตั้งโดยบัตรใบเดียว กากบาทเลือกตั้งครั้งเดียว ยังไม่เคยเกิดขึ้นในโลก ซึ่งทางคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญเคยระบุว่า วิธีการเลือกตั้งแบบนี้นำมาจากประเทศเยอรมัน ซึ่งเยอรมันใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว แต่กากบาทได้ 2 ครั้ง โดยให้เลือกพรรคการเมืองช่องหนึ่ง อีกช่องหนึ่งให้เลือก ส.ส.
 
เมื่ออัยการถามว่า การเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียวกาได้ครั้งเดียว เป็นเรื่องอนาคต ซึ่งอาจจะดีก็ได้ไม่ดีก็ได้ใช่หรือไม่ ชำนาญตอบว่า โดยหลักการแล้วเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2559 กำหนดให้การสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. จะเลือกสมัครเฉพาะระบบบัญชีรายชื่อหรือ ส.ส. แบบแบ่งเขตเพียงอย่างเดียวอย่างเช่นแต่ก่อนไม่ได้ โดยต้องส่งแบบ ส.ส. แบบแบ่งเขตก่อน ถึงจะมีสิทธิส่งผู้สมัครในระบบบัญชีรายชื่อ
การเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียวและกากบาทได้ครั้งเดียว อาจจะเป็นไปได้ที่ได้ทั้งพรรคที่ชอบและคนที่ชอบ แต่ถือว่าเป็นไปได้น้อยมาก
 
ชำนาญยังอธิบายเพิ่มเติมว่า คำว่าได้ ส.ส. ที่ชอบ ได้พรรคที่ชอบ เป็นไปได้น้อยนั้น หมายถึง เป็นไปได้ที่เรื่องนี้จะเกิดขึ้น แต่จะได้น้อยเขตในทั่วประเทศ อย่างเช่น ในพื้นที่ภาคเหนือที่พรรคประชาธิปัตย์เชื่อว่าอย่างไรก็เลือกตั้งสู้พรรคเพื่อไทยไม่ได้ ดังนั้นจะส่งใครก็ได้ลงเลือกตั้ง หรือในทางกลับกันในแถวภาคใต้ พรรคเพื่อไทยรู้ว่าสู้พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ ก็ส่งใครก็ได้ไปลงสมัคร ดังนั้น หากประชาชนในเขตเลือกตั้งของภาคเหนือและภาคใต้ที่ชอบพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ก็จะเลือกพรรคที่ตนเองชอบ แต่กลายเป็นว่าได้ ส.ส. เป็นใครก็ไม่รู้
 
ชำนาญตอบคำถามอีกว่า เป็นไปได้ที่ อำนาจของ คสช. จะหมดไปเมื่อมีรัฐบาลชุดใหม่ แต่เป็นไปได้ยาก ดังเช่นที่ตอบคำถามทนายไปแล้ว อัยการถามว่าแม้รัฐธรรมนูญ 2559 จะแก้ไขได้ยาก แต่ก็แก้ไขได้ใช่หรือไม่ ชำนาญตอบว่า แก้ไขได้ แต่ยากมาก เนื่องจากต้องใช้คะแนนเสียงเกือบเป็นเอกฉันท์ คือ
 
ต้องเห็นชอบจากพรรคการเมืองทุกพรรค และพรรคการเมืองที่คะแนนเสียงรวมกันได้เกิน 10 % ขึ้นไป ต้องเห็นด้วย
ส่วนเอกสารแถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ และ 7 เหตุผลประกอบไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้น มีข้อความบางส่วนเขียนว่า “โหวตโน ไม่รับกับอนาคตที่ไม่ได้เลือก” นั้น ใช่ตามที่โจทก์ให้ดู และเบิกความต่อไปว่า เมื่อประชาชนได้รับเอกสารดังกล่าวก็สามารถเข้าใจได้ว่า เป็นเอกสารไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และถ้าประชาชนดังกล่าวเห็นด้วยกับเหตุผลที่ไม่ควรรับร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะไปโหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
 
อัยการยังถามถึงข้อเท็จจริงคดีที่ศาลจังหวัดราชบุรี มีการจับกุมจำเลยที่กระทำความผิดในคดีเดียวกันนี้ ชำนาญตอบว่า ทราบ แต่คิดเห็นว่าเอกสารนั้นมีไว้เพื่อแจก ไม่ใช่เอกสารที่มีความผิด และต่อให้แจกหรือไม่แจกนั้นก็ไม่ผิดกฎหมาย สรุปว่า ข้อเท็จจริงที่ศาลจังหวัดราชบุรียังไม่มีการแจกเอกสาร ทั้งนี้มีการแจกเอกสารที่จังหวัดเชียงใหม่ และศาลจังหวัดเชียงใหม่พิพากษายกฟ้อง
 
อัยการถามอีกว่า ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่พิพากษายกฟ้องเพราะวินิจฉัยว่า ไม่มีข้อความใดเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 ใช่หรือไม่ ชำนาญตอบว่า ไม่ใช่ เนื่องจากเอกสารดังกล่าวมีตัวอักษรเล็กๆ แต่ก็ไม่เล็กมาก สามารถอ่านออกได้ว่า 7 สิงหา ไม่รับ ซึ่งวิญญูชนทั่วไปย่อมเข้าใจได้ว่า 7 สิงหา คือ วันอะไร และนอกจากเอกสารดังกล่าวแล้ว ยังมีเอกสารอื่นๆ อีกหลายแผ่น และเท่าที่จำได้ ไม่มีคำว่า ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
อัยการถามย้ำอีกว่า ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่พิพากษายกฟ้องเพราะวินิจฉัยว่า ไม่มีข้อความเกี่ยวกับกับว่าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 ใช่หรือไม่ ชำนาญตอบว่า ไม่ใช่ เนื่องจากศาลวินิจฉัยว่าข้อความดังกล่าวไม่สามารถไปโน้มน้าวประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียง ซึ่งเป็นวิญญูชนทั่วไปได้เลยต่างหาก
 
ชำนาญตอบคำถามทิ้งท้ายอีกว่า ตามความเห็นส่วนตัว การกระทำลักษณะโน้มน้าวก็ไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมายแต่อย่างใด


พยานจำเลยปากที่ 4  โคทม อารียา อดีตกรรมการการเลือกตั้ง

 
โคทมเริ่มเบิกความตอบคำถามทนายว่า รับราชการตำแหน่งอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี 2512 กระทั่งปี 2540 ได้รับโปรดเกล้าเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง ดำรงตำแหน่งจนถึงปี 2544 มีหน้าที่จัดการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและยุติธรรม

โคทมตอบคำถามว่า คำว่าประชามติหมายถึง การจัดให้ประชาชนไปออกเสียงลงประชามติในกิจการสำคัญของประเทศ โดยหลักสากลแล้ว การลงประชามติ ประชาชนต้องได้รับทราบข้อมูลข่าวสารอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ประชาชนยังมีสิทธิแสดงออกว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยในการลงประชามติ และรัฐบาลต้องสนับสนุนให้ประชาชนแสดงออกอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ก็รับรองเรื่องสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไว้ในมาตรา 4 และมาตรา 5

รัฐธรรมนูญ นับตั้งแต่ปี 2492,2511,2517,2534 แก้ไขเพิ่มเติม ปี 2539 กำหนดไว้ว่า ให้ออกเสียงประชามติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และยังให้มีการออกเสียงประชามติเกี่ยวกับผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน โดยมีมาตราที่กำหนดให้รัฐต้องดำเนินการให้บุคคลฝ่ายที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบเกี่ยวกับกิจการนั้นแสดงความคิดเห็นได้โดยเท่าเทียม

ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็กำหนดไว้คล้ายคลึงกัน ในมาตรา 165 ว่า การออกเสียงประชามตินั้น รัฐต้องดำเนินการให้ข้อมูลอย่างเพียงพอ ให้บุคคลฝ่ายที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบพร้อมกิจการนั้นมีโอกาสแสดงความคิดเห็นได้อย่างเท่าเทียม

โคทมอธิบายต่อว่า ก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2550 มีการลงประชามติโดยใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญปี 2541 ว่าด้วยการออกเสียงลงประชามติ และพระราชบัญญัติประชามติ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย หลักๆ คือ กำหนดห้ามมิให้ซื้อสิทธิขายเสียงและก่อความวุ่นวายในการลงประชามติ นอกจากนี้ยังจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 จำนวนประมาณ 3 ล้านเล่ม แจกจ่ายทั่วประเทศ

สำหรับบรรยากาศการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ประชาชนมีความตื่นตัวน้อย ส่วนตัวเห็นว่า รัฐบาลมอบให้หน่วยงานในท้องที่เป็นผู้อธิบายให้กับประชาชน ซึ่งเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญมีมากมาย

ทั้งคนที่อธิบายและคนที่รับการอธิบายไม่มีความเข้าใจในรายละเอียดหรือเข้าถึงข้อมูลได้เพียงพอ จึงทำให้ประชาชนตื่นตัวน้อย

นอกจากนี้การทำความเข้าใจกับ พ.ร.บ.ประชามติฯ ปี 2559 ว่า การรณรงค์ทำได้แค่ไหนเพียงใดนั้น มีความเข้าใจที่แตกต่างกันมาก โดยเฉพาะมาตรา 7 ที่กำหนดให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่ฝ่ายปฏิบัติ กลับยึดมาตรา 61(2) ในกฎหมายดังกล่าวจำกัดสิทธิของประชาชน

ส่วนตัวโคทมเห็นว่า ตามมาตรา 7 ที่วางหลักไว้ว่าประชาชนย่อมมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ถือว่าผูกพันต่อรัฐ ซึ่งรัฐบาลต้องให้หลักประกันในเรื่องดังกล่าว และพึงสนับสนุนให้ประชาชนไปออกเสียงลงประชามติ โดยรู้เท่าทันและเข้าถึงข้อมูล

ทั้งนี้ตามมาตรา 61(1) ของ พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติฯ กำหนดไว้ว่าเพื่อให้การออกเสียงเป็นไปด้วยความเรียบร้อยต้องไม่วุ่นวาย และเพื่อขยายความของคำว่าวุ่นวาย จึงมีเขียนไว้ในวรรคสอง แต่การขยายความดังที่กล่าวมา ต้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายหรือเริ่มต้นจากเสรีภาพก่อน ซึ่งหากไม่มีความวุ่นวาย ก็ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะนำความในวรรคสอง ของมาตรา 61 มาใช้

โคทมยังอธิบายว่า ความผิดตามมาตรา 61 นั้น ต้องประกอบด้วย องค์ประกอบดังนี้ 1.เผยแพร่ข้อมูลให้ผิดไปจากข้อเท็จจริง 2.กระทำโดยรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดมหรือข่มขู่ เพื่อมุ่งหวังให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไปลงประชามติออกเสียงทางใดทางหนึ่ง

โคทมเบิกความเพิ่มเติมว่า ในความเห็นของเขา คำว่าปลุกระดม ขออ้างอิงคำในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน มีความหมายว่า เร้าใจ ยุยง ให้ประชาชนลุกฮือขึ้น

ทั้งนี้การให้เหตุผลหรือแสดงความคิดเห็น เช่น แจกเอกสาร โดยไม่มีพฤติการณ์อื่นที่ปลุกเร้าหรือยุยงให้ประชาชนลุกฮือขึ้น โคทมเห็นว่า ไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61

 

ตอบโจทก์ถามค้าน

โคทมตอบคำถามอัยการว่า จบปริญญาตรีด้านวิศวกรรมศาสตร์ ส่วนปริญญาโทและปริญญาเอกด้านวิทยาศาสตร์ ไม่ได้จบการศึกษาด้านกฎหมายหรือนิติศาสตร์

ตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติฯ การแสดงความคิดเห็นต้องกระทำโดยสุจริต และไม่ขัดต่อกฎหมาย และไม่ว่าบุคคลใดจะแสดงออกเพื่อชักจูงให้บุคคลอื่นรับร่างหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ตนก็เห็นด้วย เนื่องจากเป็นไปตามหลักเสรีภาพว่าบุคคลย่อมแสดงออกไม่ว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยได้ โดยเสมอภาคกัน

สรุปแล้วความผิดตามมาตรา 61 ของพ.ร.บ.ประชามติฯ ต้องมี 2 อย่าง คือ 1.บิดเบือนข้อเท็จจริง รุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ข่มขู่หรือปลุกระดม 2. มุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียงหรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียง  

หลังเสร็จสิ้นการสืบพยานปากนี้ ศาลจังหวัดภูเขียวนัดอ่านคำพิพากษา วันที่ 29 มีนาคม 2561
 
9 สิงหาคม 2561
 
สงวน คุ้มรุ่งโรจน์ ผู้สื่อข่าวอิสระโพสต์ข้อความว่าแม่ของจตุภัทร์ไปติดตามความเคลื่อนไหวของคดีที่ศษลจังหวัดภูเขียว ปรากฎว่าอัยการไม่อุทธรณ์คดี คดีจึงเป็นอันยุติ

คำพิพากษา

สรุปคำพิพากษาศาลชั้นต้น

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2559 จำเลยทั้งสอง คือ จตุรภัทร และ วศิน ร่วมกันดำเนินการเผยแพร่ข้อความและภาพในสื่อสิ่งพิมพ์แก่ประชาชนทั่วไป โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญไม่ไปใช้สิทธิออกเสียงหรือไปใช้สิทธิออกเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 อันเป็นการร่วมกันก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นด้วยความเรียบร้อย และเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2559 จำเลยทั้งสองคนได้ฝ่าฝืนคำสั่งของพนักงานสอบสวนโดยการไม่พิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อตรวจสอบการต้องโทษทางอาญา จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่ก่อนการสืบพยานจำเลยทั้งสองได้ถอนคำให้การและให้การใหม่เป็นรับสารภาพในข้อหาไม่พิมพ์ลายนิ้วมืออันเป็นการฝ่าฝืนขัดขืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน 
 
โดยคดีนี้มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยท้้งสองร่วมกันกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 61 (1) วรรคสอง วรรคสาม ตามฟ้องหรือไม่
 
พยานโจทก์ประกอบด้วยพันตำรวจอร่าม ประจิตร อดีตผู้กำกับการสถานีตำรวจภูเขียวและประเสิรฐ วชิรญานุวัฒน์ ปลัดอำเภอภูเขียว เป็นผู้ร่วมจับกุมจำเลยที่ 2 กับ บุญน่วม ฤาชา อดีตกำนันตำบลผักปัง และหมู่ตรีสุขสันต์ ผาจันทร์ อาสาสมัครรักษาดินแดน เป็นผู้ร่วมจับจำเลยที่ 1 พยานโจทก์ได้เบิกความในทำนองเดียวกันว่า วันเกิดเหตุคือวันที่ 6 สิงหาคม 2559 เวลาประมาณ 11 ถึง 12 นาฬิกา พันตำรวจเอกอร่ามและประเสริฐ ได้รับแจ้งจากประชาชนว่ามีบุคคลมาแจกจ่ายใบปลิวและเอกสารไม่รับร่างรัฐธรรมนูญจึงร่วมกันตรวจสอบ และเมื่อเวลา 16.40 น. พยานทั้งสองได้พบวศิน กำลังเดินแจกใบปลิวให้แก่ประชาชนอยู่บริเวณใกล้กับอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ โดยมีผู้หญิงถือกล้องลักษณะบันทึกภาพ จึงได้ควบคุมตัววศิน ไปที่สถานีตำรวจภูเขียว ต่อมาเวลาประมาณ 17.00 น. หมู่ตรีสุขสันต์และบุญน่วม ได้พบจตุรภัทร์ กำลังเดินแจกเอกสารให้แก่พ่อค้าแม่ค้าในตลาดสดเทศบาลภูเขียว จึงควบคุมตัวไปที่ สภ.ภูเขียว และทำการตรวจค้นตัวทั้งสองคนพบเอกสารที่อยู่ในมือคือ เอกสาร "7 เหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 7 สิงหา 59 ประชามติเพื่ออนาคต VOTE NO ไม่รับกับอนาคตที่ไม่ได้เลือก" และภายในกระเป๋ามีหนังสือแถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ต่างร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติและหนังสือความเห็นแย้งคำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ 10 เรื่องที่ต้องรู้
 
โดยลักษณะของเอกสารเป็นการเผยแพร่ชี้นำให้ประชาชนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 และเอกสารดังกล่าวไม่ตรงกับข้อเท็จจริง มีลักษณะรุงแรง น่ากลัว และเป็นการก่อความวุ่นวาย โดยพันตำรวจเอกอร่ามและประเสริฐ เป็นประจักษ์พยานในการพบเห็นจำเลยที่สองคือวศินกำลังแจกใบปลิว 7 เหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชนและมีเอกสารอยู่ในมือ ถือว่ามีการแจกจริง
 
จากการที่ทนายจำเลยถามค้านพยานโจทก์ทั้งเจ้าพนักงานตำรวจและเจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง แสดงให้เห็นว่า เอกสารที่จำเลยทั้งสองแจกมีลักษณะเนื้อหารุนแรง ข่มขู่ คุกคามไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เป็นการสร้างความแตกแยก และก่อความวุ่นวาย ทำให้การออกเสียงประชามติไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อยนั้นล้วนแต่มีลักษณะเป็นความคิดเห็นส่วนตัวของพยานเอง เมื่อพิจารณาข้อความในเอกสาร "7 เหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ" ว่าเป็นการปลุกระดมหรือไม่ คำว่า "ปลุกระดม" ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2559 ไม่ได้ให้คำอธิบายหรือให้คำจำกัดความไว้ จึงต้องแปลความหมายจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ซึ่งคำว่า "ปลุกระดม" หมายถึง "เร้าใจและยุยงให้ประชาชนลุกฮือ" ซึ่งต้องเป็นการกระทำที่เร้าใจประชาชนและต้องยุยงให้ประชาชนลุกฮือขึ้น ประกอบกับตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 9204-9207/2559 ระบุว่าการปลุกระดมต้องเร้าใจให้ประชาชนลุกฮือขึ้นในทางที่ไม่สุจริตผิดกฎหมาย เมื่อพิจารณาถึงข้อความในเอกสาร "7 เหตุผลที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ"แล้วก็มีลักษณะเป็นการแสดงความเห็นว่าตามร่าง รธน. พ.ศ.2559 มีข้อกำหนดอย่างไรบ้างที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนและข้อความ "7 เหตุผลที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ" ล้วนเอามาจากที่กำหนดในร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว กรณีนี้จึงเป็นการแสดงความเห็นว่าบุคคลนั้นไม่เห็นด้วยและยังไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นการ "ปลุกระดม" แต่อย่างใด อีกทั้งเมื่อพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อจำกัดสิทธิและเสรีภาพของทั้งฝ่ายที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ ที่บัญญัติไว้ว่า "บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย" และในส่วนมาตรา 61 ของ พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ เป็นบทที่มีโทษทางอาญา จึงต้องตีความตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด การกระทำของจำเลยทั้งสองที่ร่วมกันแจกเอกสาร "7 เหตุผลที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ" จึงไม่ถือเป็นการกระทำที่ผิดตามฟ้อง ส่วนเอกสารที่ตรวจพบในกระเป๋าทั้ง 2 ฉบับ ไม่มีพยานพบเห็นการแจกจ่ายจึงไม่เข้าองค์ประกอบการกระทำความผิด "เผยแพร่" ตามมาตรา 61 แห่งพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ เป็นเพียงการตระเตรียมเท่านั้นและกรณีนี้ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยเนื้อหาของเอกสารเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลียนไป 
 
ศาลชั้นต้นจึงมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 25 เรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับการยุติธรรมทางอาญา ให้ปรับคนละ 1,000 บาท จำเลยทั้งสองทำการสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงเหลือปรับคนละ 500 บาท ในส่วนข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง และคืนของกลางทั้งหมดแก่เจ้าของ

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา